Rab Ne Bana Di Jodi (2008)
: Aditya Chopra ♥♥♥♥♥
ความรักมักเริ่มต้นจากโชคชะตาฟ้ากำหนด แต่สิ่งจะทำให้กลายเป็นรักแท้ยั่งยืนยงอยู่ที่ตัวเราเอง, หนังแจ้งเกิดของ Anushka Sharma ประกบ Shah Rukh Khan ในการร่วมงานครั้งที่ 3 กับ Aditya Chopra ถัดจาก Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995) และ Mohabbatein (2000), “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ในบรรดาหนังของ Shah Rukh Khan ที่เคยรับชมมา จะบอกว่า Rab Ne Bana Di Jodi เป็นเรื่องที่ผมชื่นชอบประทับใจการแสดงของพี่แกที่สุดแล้ว แม้ตอนนั้นจะอายุ 40+ ประกบกับ Anushka Sharma ที่เพิ่งจะ 19-20 แต่ด้วยความ Greek/Nerd ของตัวละคร ทำให้ SRK ดูเด็กลงมากๆ ยิ่งการพูด แนวคิดความเฉลียวฉลาด และการกระทำที่โคตรทุ่มเท ต้องถือว่าผู้กำกับ Aditya Chopra สร้างตัวละครนี้ขึ้นมาเพื่อ King of Bollywood โดยแท้
วันก่อนรับชมหนังเป็นครั้งที่ 2 ผ่านไปเพียงปีกว่าๆจากครั้งแรก ถ้าไม่ดีเยี่ยมจริง ความรู้สึกประทับใจจากครั้งก่อนต้องไม่เกิดซ้ำแน่ แต่ผมกลับยิ่งๆหลงรักหนังมากขึ้นไปอีก นั่นเพราะมนต์เสน่ห์ของความทุ่มเทพยายาม เป็นสิ่งที่ดูกี่รอบต่อกี่รอบก็ไม่มีวันเบื่อ การกระทำเพื่อคนรักโดยไม่หวังผลตอบแทน มันคือสิ่งสวยงามที่สุดของความรัก และเมื่อใดที่เธอได้รับรู้ เข้าใจเหตุผลของทุกการกระทำนั้น ก็ไม่รู้จะเรียกความรู้สึกว่าอะไร ตื้นตัน ประทับใจ อิ่มเอิบ หลงใหล คลั่งไคล้ … เอาเป็นภาษาวัยรุ่น ‘รักตาย’ น่าจะตรงสุด
ผมพยายามจินตนาการถึงตอนหญิงสาวรับรู้ความจริงทั้งหมด จะรู้สึก คิด พูดกับเขาอย่างไร บอกตามตรงไม่สามารถหาประโยคใดๆบรรยายออกมาได้ มันเหมือนการได้ค้นพบสิ่งล้ำค่าที่สุดในโลก ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้ใช้’พระเจ้า’เป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบแทนระดับสูงสุดของความรัก
“Tujh Mein Rab Dikhta Hai”
“I see my god in you.”
จริงๆผมไม่ค่อยชอบแนวคิดนี้เท่าไหร่นะ ยิ่งเสียงร้องคำว่า ‘Rab Ne…’ (O God…) ที่ดังตลอดเรื่อง ใครรู้ความหมายคงรู้สึกอึดอัดแอบรำคาญ แต่ผมมองข้ามไม่สนใจโดยสิ้นเชิง เพราะเข้าใจว่าสุดท้ายไม่ใช่พระเจ้าที่ทำให้ทั้งสองตกหลุมรักกัน เป็นเพียงข้ออ้างที่ใช้อธิบายสิ่งเกิดขึ้นทั้งหมด อาจจะใช่ที่พวกเขาพบกันโดยบุญพาวาสนาส่งจากเทพเทวดาสักตนดลบันดาล แต่เรื่องราวต่อจากนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับพระเจ้าทั้งนั้น
Rab แปลว่า God,
Ne แปลว่า has,
Bana แปลว่า made,
Di แปลว่า this,
Jodi แปลว่า couple,
ชื่อหนัง Rab Ne Bana Di Jodi แปลว่า God has made this couple, พระเจ้าเป็นผู้จับคู่รักทั้งสอง ส่วนชื่อไทย แร็พนี้เพื่อเธอ เป็นอะไรที่ไม่ได้ใกล้เคียง
การเปรียบเทียบ’ที่สุด’ของความรักกับพระเจ้า ตอนผมรับชมหนังครั้งแรกบอกเลยว่าไม่เข้าใจเท่าไหร่ ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้เราเคารพบูชา ศรัทธายกย่องสิ่งที่เป็น’ความเชื่อ’ แต่สอนให้เราค้นหาคำตอบของทุกปริศนาบนโลกด้วยตนเอง ดังนั้นความรักต่อพระเจ้าคืออะไร? กับคนที่ไม่ได้มีความเชื่อหรือศรัทธาในพระเจ้า ย่อมตอบไม่ได้แน่นอน, แต่เมื่อผมได้รับชมหนัง Bollywood หลายๆเรื่อง เริ่มจะมองเห็นเข้าใจอิทธิพลความสำคัญของพระเจ้าที่มีต่อชาวอินเดีย ทั้งคริสต์ อิสลามและฮินดู (เราจะเห็นทั้งวัด โบสถ์ มัสยิด) เลยรู้ว่าสูงสุดระดับ’เหนือชีวิต’, การเปรียบความรักต่อหญิงสาว เทียบเท่าสูงกว่าความรักต่อต่อพระเจ้า ถือเป็นการล้ำเส้นที่หาญกล้ามากๆ หนังจึงมีความทรงพลังอย่างยิ่ง และสามารถมองเป็น Blasphemy ได้อีกด้วย (แต่ก็ไม่เห็นมีใครมองกันนะครับ)
Aditya Chopra (เกิดปี 1971) เป็นลูกชายของ Yash Chopra ผู้ก่อตั้ง Yash Raj Films สตูดิโอ/ตระกูล ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการภาพยนตร์ Bollywood, เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยพ่อตั้งแต่อายุ 18 (ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น) ตอนอายุ 23 กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ที่ใครเป็นชาวอินเดียต้องรู้จัก Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995) นำแสดงโดย Shah Rukh Khan กับ Kajol
มักเป็นโปรดิวเซอร์ หรือ Distributor จัดจำหน่ายหนังมากกว่าที่จะกำกับภาพยนตร์ด้วยตนเอง เรื่องดังๆที่ Adiya ดูแลงานสร้างเบื้องหลัง อาทิ Dhoom Trilogy, Dil To Pagal Hai (1997), Veer-Zaara (2004), Fanaa (2006), Band Baaja Baaraat (2010), Ek Tha Tiger (2012), Jab Tak Hai Jaan (2012), Sultan (2016) ฯ สำหรับผลงานกำกับถึงปี 2016 มีทั้งหมดเพียง 4 เรื่อง Dilwale Dulhania Le Jayenge (1995), Mohabbatein (2000), Rab Ne Bana Di Jodi (2008), Befikre (2016) เน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ
Aditya มีแนวคิด ความตั้งใจจะสร้าง Rab Ne Bana Di Jodi ตั้งแต่ก่อนสร้าง Mohabbatien (2000) เสียอีก ตั้งใจให้ Shah Rukh Khan ประกบคู่ Manisha Koirala แต่เพราะ Dil Se.. (1998) ที่ทั้งสองนำแสดง flop เจ๋งสนิท จึงขึ้นหิ้งโปรเจคนี้ไว้จนกระทั่งต้นปี 2008 นำมาปัดฝุ่นคิดสร้างอีกครั้ง ยังคงตั้งใจให้ SRK รับบทนำชาย ส่วนนักแสดงหญิงประกาศจะใช้การคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่
พอข่าวกระจายออกไป ทำให้มีหญิงสาวนับร้อยนับพันสมัครคัดเลือก Audition ส่วนหนึ่งที่พอมีความสามารถได้กลายเป็นตัวประกอบในหนัง ส่วนหญิงสาวเข้าตา Anushka Sharma ไม่เคยมีประสบการแสดงมาก่อน แต่รัศมีของเธอเจิดจรัสจ้า โดดเด่นกว่าใคร ขนาดยืนเคียงข้าง SRK แล้วไม่ถูกรัศมีของเขากลบบดบัง จึงได้รับโอกาส
ความตั้งใจของ Aditya ต้องการเล่าเรื่องของคนชนชั้นกลาง (Middle Class) ผู้มีความธรรมดาสามัญทั่วไป ที่ก็สามารถมีชีวิตตื่นเต้นเร้าใจไม่ธรรมดาได้
“As middle-class people, so many of us have a routine life. We wake up in the morning, get dressed, go to office, come back, sometimes for a change we buy things to take home, watch TV, eat dinner and go to sleep. And then we repeat this day after day, week after week. Rab Ne Bana Di Jodi talks about one such man who lives a routine life. It is simple film at heart.”
วันหนึ่ง Surinder ‘Suri’ Sahni (รับบทโดย Shah Rukh Khan) ไปร่วมงานแต่งของ Taani Gupta (รับบทโดย Anushka Sharma) แต่ยังไม่ทันงานเริ่ม รถฝั่งเจ้าบ่าวพลิกคว่ำเสียชีวิตทั้งครอบครัว ความช็อคตกใจทำให้พ่อของ Taani หัวใจวายเฉียบพลัน ลมหายใจเงือกสุดท้ายได้ขอให้ Suri แต่งงานกับ Taani โดยไม่รู้ตัวทั้งสองกลายเป็นสามีภรรยา
Suri หนุ่ม Nerd ทึ่มทือบื้อไร้เดียงสา ตกหลุมรักแรกพบ Taani รู้ตัวมิอาจเอื้อม แต่เหตุการณ์นี้เหมือนฟ้าดลบันดาล
Taani หญิงสาวแรกรุ่นสดใสร่าเริงเป็นตัวของตนเอง พอพบกับความสูญเสียโดยฉับพลันไม่ได้เตรียมใจ เลยต้องปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามโชคชะตา
ในชายคาบ้านหลังเดียวเป็นสามีภรรยา แต่ Suri ไม่เคยคิดกระทำการล่วงเกินฝืนใจ Taani ด้วยความรักจึงเสียสละทุกสิ่งอย่าง กระทั่งแอบปลอมตัว เปลี่ยนทรงผม โกนหนวด กลายเป็นชายอีกคน คู่ซ้อมเต้นร่วมแข่งขัน เพื่อเปิดหัวใจเธอออก ท้าทายพิสูจน์ความรัก ยินยอมรับเขาเข้าไปข้างใน
Shah Rukh Khan ในบทบาทที่ผมประทับใจการแสดงมากที่สุด, ครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์พูดถึงตัวเองว่าคือ ‘ฉันก็แค่คนธรรมดาหนึ่งที่ได้รับโอกาสทำโน่นนี่นั่น จนประสบความสำเร็จกลายเป็นตำนาน … ตำนานที่ชื่อ Shah Rukh Khan ที่มีผมเป็นลูกจ้าง และต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาชื่อของตำนานนั้นไว้’
“Such great things have happened to such a normal guy like me. I am a nobody who shouldn’t have been able to do all this but I have done it. I tell everyone that there’s this myth I work for; there is this myth called Shahrukh Khan and I am his employee. I have to live up to that … I’ll do it, I am an actor. But I can’t start believing in this myth.”
– Shah Rukh Khan พูดถึงตัวเองเมื่อปี 2007 เมื่อได้รับการยกย่องว่า ‘King of Bollywood’
พูดบอกแบบนี้ยากจะมีใครเชื่อ SRK ผู้ยิ่งใหญ่เนี่ยนะ โคตรถ่อมตัวเลย, หนังเรื่องนี้ทำให้ผมเชื่อคำพูดของเขานะครับ จากสองตัวละครที่รับบท มันคือนักแสดงชื่อ Shah Rukh Khan กับชายคนที่ชื่อ Shah Rukh Khan ที่ต่างกันสุดขั้ว
- Surinder ‘Suri’ Sahni คนธรรมดาๆที่มีชีวิตโคตรธรรมดา ปัดผมเรียบร้อย ไว้หนวด ใส่แว่นสายตา สวมเสื้อผ้าหลวมๆ ทำงานเป็นพนักงานในบริษัท Punjab Power lighting up your life. ชีวิตไม่มีอะไรตื่นเต้นแต่มั่นคง และเป็นคนที่มีอุดมการณ์ชีวิตชัดเจน
- Raj Kapoor เป็นชื่อของโคตรผู้กำกับ/นักแสดงดัง ในยุค 50s – 60s, ผมตั้งใส่เจล โกนหนวก ใส่แว่นกันแดดเท่ห์ๆ แต่งตัวฟิตๆโชว์กล้าม เป็นเจ้าของอู่ Raju Motors ตัวละครมีนิสัยกะล่อนปลิ้นปล้อน ชอบพูดเกี้ยวหยอก ยืดอกสามศอก (macho) แม้จะปากดี แต่มีความกล้า สามารถกระทำได้ทุกสิ่งอย่าง ใน pace ของตนเอง
สองตัวละครต่างกันสุดขั้วจากภาพลักษณ์ภายนอก นิสัยคำพูดท่าทาง แต่ข้างในจิตใจตัวตนนั้นเป็นคนๆเดียวกัน ต้องการทำทุกอย่างเพื่อให้ Taani หลงลืมความทุกข์เศร้าหมอง
Anushka Sharma ยากจะเชื่อจริงๆที่บอกว่า ไม่เคยผ่านการแสดงใดๆมาก่อน เกิดที่ Ayodhya, Uttar Pradesh เติบโตขึ้นที่ Bangalore พ่อเป็นนายพัน (Colonel) รับราชการทหาร เข้าเรียนที่ Army School ต่อด้วย Bangalore University ตั้งใจเป็นโมเดลลิ่งไม่ก็นักข่าว เรียนจบย้ายมา Mumbai จับพลัดจับพลูได้เป็นตัวประกอบหนังเรื่อง Lage Raho Munna Bhai (2006) ทำให้เกิดความสนใจด้านการแสดง ส่วนเดินแบบได้รับโอกาสครั้งแรกปี 2007 ในงาน Lakme Fashion Week
ได้รับคัดเลือก Audition จาก Aditya Chopra เซ็นสัญญาเล่นหนังกับ Yash Raj Film ทั้งหมด 3 เรื่อง [อีก 2 เรื่องคือ Badmaash Company (2010) และ Band Baaja Baaraat (2010) ประสบความสำเร็จทั้งคู่] รับบท Taani Gupta เรียกว่าสาวเปรี้ยวก็คงได้ สนุกสนานร่าเริง มีความคิดอ่านต้องการเป็นของตนเอง แต่โชคชะตาพลิกผันให้สูญเสียทั้งพ่อและคนรัก แต่งงานกับคนไม่รู้จัก จึงตัดสินใจปิดประตูห้องหัวใจ ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะตกหลุมรักใครได้อีก
Sharma เป็นหญิงสาวที่มีความน่ารักสดใสมากๆ รอยยิ้มของเธอทำให้โลกสดใส หลายคนคงจดจำได้จากหนังเรื่อง pk (2014) ประกบ Aamir Khan แต่เรื่องนั้นไม่ได้ขายการแสดงเท่าไหร่, ตัวละคร Taani มีการแสดงออกที่เป็นสองขั้วอารมณ์ สนุกสนานร่าเริงแบบสุดๆ กับทุกข์เศร้าหมองทรมาน (ตรงกันข้ามกับ Suri ที่ภาพลักษณ์ภายนอกเปลี่ยน แต่ภายในเหมือนเดิม) ถือว่า Sharma ใช้สายตาถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมาได้ค่อนข้างดี ใครเป็นแฟนๆของเธอคงได้ตกหลุมรักหลงใหลยิ่งๆขึ้นไปแน่
ผมว่ามันตลกนะ ที่ Taani จดจำ Suri ไม่ได้ แต่ก็เหมือน Superman ไม่ใช่เหรอ แค่ปัดเปลี่ยนทรงผม ใส่ชุดสีน้ำเงิน ผู้คนก็มองไม่ออกแล้วว่านั่นคือ Clark Kent (ผมว่าถ้าคุณยังจดจำใบหน้า SRK ไม่ได้ ก็มีแนวโน้มจะจำเขาไม่ได้จริงๆนะครับ)
ขอแถมอีกหนึ่งนักแสดงจอมแย่งซีน ช่างตัดผม Balwinder ‘Bobby’ Khosla เพื่อนสนิทของ Suri ก็ไม่รู้สองคนนี้สนิทกันได้ยังไง (แต่พอเดาได้ว่าอาจเป็นเพื่อนข้างบ้าน), นำแสดงโดย Vinay Pathak ใบหน้าของพี่แกเครียดฮา แต่งตัวฟิตๆ ทรงผมแรดๆ มาดเหมือนนักเลง ทำท่า Macho แต่ดันเหมือนตุ๊ดมากๆ ปรากฎตัวทีไรเรียกเสียงหัวเราะได้เรื่อยๆ
Bobby เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนแท้ของ Suri (มีคนรักแท้ก็ต้องมีเพื่อนแท้ เป็นของคู่กัน) ให้การช่วย Support ทุกสิ่งอย่าง น้ำใจหมอนี่ให้ร้อยเต็มร้อยไม่ทิ้งกัน ใครมีเพื่อนแบบนี้อย่าทิ้งนะครับ ไม่ได้หากันง่ายๆ ชาตินี้อาจหาไม่ได้อีกแล้ว
ถ่ายภาพโดย Ravi K. Chandran ตากล้องยอดฝีมือที่มีผลงานกับหนังภาษา Hindi และ Tamil อาทิ Virasat (1997), Minsaara Kanavu (1997), Punaradhivasam (1999), Kandukondain Kandukondain (2000), Dil Chahta Hai (2001), Black (2005), Fanaa (2006) ฯ
ผมประทับใจการเคลื่อนกล้องของหนังมาก มีความลุ่มลึกเรียบง่ายอย่างไม่รีบร้อน ไม่ฉาบฉวดรวดเร็วฉับไว ซึ่งสะท้อนกับบทเพลง Haule Haule ที่แปลว่า Soft, Sweet, Slow เพราะชีวิตไม่ได้มีอะไรต้องรีบเร่งขนาดนั้น และจะเห็นว่าหนังนำเสนอกิจวัตร ตอนเช้าอาบน้ำ, กินข้าว, ทำงาน, เข้านอน ฯ คือวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์
หลายครั้งงานภาพจะมีการแบ่งเฟรมออกเป็นสองฝั่งชัดเจน เหมือนสองตัวละครที่ต่างก็มี 2 สิ่งต่างกันสุดขั้ว
– Suri มี 2 รูปลักษณ์
– Taani มี 2 อารมณ์ความรู้สึก
เกร็ด: โลโก้ Punjab Power ตัวอักษร P | P ยังแบ่งแยกขั้นกลางด้วยสายฟ้าเลย
การโฟกัสภาพก็มีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะ Close-Up Shot จะเห็นภาพพื้นหลังเบลอๆ แสดงถึงว่าการสนทนานั้น ตัวละครไม่มีสนใจอะไรอย่างอื่นรอบข้างเลย, ช็อตเด่นสุดคือ ช่วงท้ายที่ Taani อธิษฐานถึงพระเจ้า แล้ว Suri เดินเข้ามา ภาพจะค่อยๆปรับโฟกัสชัดขึ้นเรื่อยๆ นี่แหละสิ่งที่หญิงสาวตามหา
ผมชอบจ้องมองนัยน์ตาของนักแสดงนะครับ สองช็อตนี้จะมีหลอดไฟดวงกลมๆเล็ก นั่นคือประกายของการค้นพบ แสงสว่างของชีวิต
ฉากไฟดับ I Love You โคตรเว่อละครับ บริษัท Punjab Power ได้ล้มละลายแน่ถ้าทำแบบนี้บ่อยๆ, ผมไม่รู้สถานที่ช็อตนี้ในอินเดียมีจริงไหม แต่มันคล้ายๆกับสถานที่ฮิตใน Hollywood, Los Angeles หนังเรื่อง La La Land (2016) ก็ใช้มุมนี้
Extreme Close-Up ช็อตที่ผมแคปมานี้มีแต่คนบอกว่า ผิดเพี้ยนจากความจริง เพราะภาพถ่ายดวงตาควรจะเป็นภาพสะท้อนเหมือนกระจกมากกว่าเป็นภาพที่เห็น แต่ผมว่าผู้กำกับมีนัยยะให้ผู้ชมมองเห็นภาพมากกว่านะครับ ไม่ได้เน้นความสมจริงขนาดนั้น, ผมชอบช็อตนี้นะ มันคือการเปิดโลกทัศน์ของหญิงสาว คุ้นๆเธอเคยพูดประมาณว่า “When a girl begins to dream with open eyes then her whole world changes.”
ตัดต่อโดย Ritesh Soni ขาประจำของสตูดิโอ Yash Raj มีผลงานดังอย่าง Veer-Zaara (2004), Fanaa (2006), Dhoom 3 (2013) หนังใช้มุมมองของ Suri กับ Raj ทั้งหมด เราจะได้เห็น Expression มุมส่วนตัว และเสียงพูดในความคิดของเขาด้วย
การเล่าเรื่องมีทั้งย้อนอดีต, ในความฝัน-จินตนาการ, กำลังดูหนังอยู่ เข้าไปเป็นนักแสดงอยู่ข้างในเลยก็มี ฯ สำหรับบทเพลง มักใช้เพื่อแสดงความรู้สึก, เร่งเวลา Fast Foward สรุปรวบรัดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฯ
ช่วงตัดต่อที่ผมประทับใจสุด อยู่ในบทเพลง Tujh Mein Rab Dikhta Hai (แปลว่า I see my god in you.) เมื่อกล้องหมุนนักแสดงเคลื่อนไหว Suri กับ Raj จะสลับร่างกันไปมา โดยมี Taani เป็นจุดหมุน ราวกับเธอเป็นพระเจ้าในสายของเขา, เอาทั้งคลิปไปดูเลยแล้วกันนะครับ
เกร็ด: เพลงนี้ 3 ศาสนาเลยนะครับ เรียงลำดับคือ วัด-ฮินดู, โบสถ์-คริสต์, มัสยิด-อิสลาม
เพลงประกอบโดยสองพี่น้อง Salim Merchant กับ Sulaiman Merchant ในชื่อ Salim–Sulaiman, เป็นการผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดีย กับดนตรีคลาสสิก ซึ่งเสียงที่ได้ยินบ่อยๆมาจากเครื่องดนตรี Accordion
ผมค่อนข้างชอบ Soundtrack ของหนัง ที่มักจะวนเวียนอยู่กับทำนองของเพลง Haule Haule (แปลว่า Soft, Sweet, Slow) มีการดัดแปลงหลากหลายรูปแบบ ตามอารมณ์สถานการณ์ต่างๆของหนัง มีทั้งตื่นเต้นสนุกสนาน เศร้าเสียใจ ซึ้งรัก ฯ
Haule Haule ขับร้องโดย Sukhwinder Singh บทเพลงนี้ในหนังเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกเป็นสุขของ Suri, เห็นว่า SRK คิดท่าเต้นเพลงนี้เองทั้งหมดไม่ได้พึ่งใคร ถ่ายทำในตลาดอยู่เพียง 3 รอบก็พึงพอใจ
เกร็ด: ขณะทั้งสองดูหนัง พระเอกจะพูดว่า ‘Raj, you must have heard of me’ นี่คือจุดเริ่มต้นของอีกชื่อ Raj Kapoor
สำหรับบทเพลงที่ผมชอบสุดในหนัง Tujh Mein Rab Dikhta Hai เสียงผู้ชายขับร้องโดย Roop Kumar Rathod กับ Shreya Ghoshal ยังไม่จี๊ดเท่าไหร่ แต่พอ Shreya Ghoshal ขับร้องช่วงท้าย เล่นเอาผมขนลุก น้ำตาคลอเบ้า เพราะในฉากนี้เรียกได้ว่าเป็นวินาทีแรกที่ตัวละคร Taani ได้พบพระเจ้าของเธอ
บทเพลง Phir Milenge Chalte Chalte มีการอัญเชิญ 5 นักแสดงหญิงชื่อดัง มาร่วมร้องเล่นเต้นกับ Shah Rukh Khan เพื่อเป็นการคารวะดารานักแสดงคู่ขวัญอมตะในอดีต ประกอบด้วย
– Kajol รับบท Nargis คู่ขวัญของ Raj Kapoor
– Bipasha Basu รับบท Sadhana คู่ขวัญของ Dev Anand
– Lara Dutta รับบท Helen คู่ขวัญของ Shammi Kapoor
– Preity Zinta รับบท Sharmila Tagore คู่ขวัญของ Rajesh Khanna
– Rani Mukerji รับบท Neetu Singh คู่ขวัญของ Rishi Kapoor
การเชิญ Kajol ที่ตอนนั้นกำลังพักงานแสดงชั่วคราว (เพราะไปเลี้ยงลูก) เป็นการหวนระลึกคู่ขวัญระหว่างเธอกับ Shah Rukh Khan เองด้วยนะครับ ซึ่งหลังจากนี้ไม่นานเธอก็หวนคืนกลับมาเล่นหนังอีกครั้ง
เกร็ด: เพลงนี้จะมีท่อนหนึ่ง ‘Hum Hain Rahi Pyar Ke, Phir Milenge Chalte Chalte,’ นี่มาจากชื่อหนัง bollywood 3 เรื่องของ 3 นักแสดงผู้ได้รับฉายา King Khans ประกอบด้วย
– Hum Hain Rahi Pyar Ke (1993) ของ Aamir Khan
– Phir Milenge (2004) ของ Salman Khan
– Chalte Chalte (2003) ของ Shah Rukh Khan
นิยามความรักของหนังเรื่องนี้ เริ่มต้นจาก ‘ความรักคือการเสียสละ’ จากนั้นจะแปรสภาพเป็น ‘โอกาส’ ที่จะได้พิสูจน์จิตวิญญาณของตัวเองและคนรัก ว่ามีคุณค่าความเข้าใจเพียงพอต่อกันและกันหรือเปล่า
ไปเจอใน Wikipedia นิยามความรัก ในคดีของศาลฎีกา มีคำวินิจัยว่า (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2546)
“…ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริงคือความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรักความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวังจำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ทั้งเป็นความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง…”
มันไม่ผิดอะไรที่เราจะเชื่อใน พรหมลิขิต โชคชะตาฟ้ากำหนด พระเจ้าดลบันดาล เรื่องเหนือธรรมชาติ อะไรแบบนั้นนะครับ เพราะในทางพระพุทธเจ้าก็เคยพูดถึง’ความรัก’ ในลักษณะนี้เช่นกัน, คัดลอกจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ – หน้าที่ ๒๔๕
แท้จริง ลูกสาวเศรษฐีนั้น เป็นภรรยาของนายโฆสกะนั้นในเวลา ที่เขาเป็นนายโกตุหลิก
ได้ถวายข้าวสุกทะนานหนึ่ง แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
ด้วยอานุภาพแห่งผลทานนั้น นางจึงมาเกิดในตระกูลเศรษฐีนี้.
ความรักในปางก่อน ได้ท่วมทับยึดลูกสาวเศรษฐีนั้นไว้ ด้วยประการฉะนี้.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า“ความรักนั้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑,
เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑
เปรียบเหมือนดอกบัวเกิดในน้ำได้ (เพราะอาศัยเปือกตมและน้ำ) ฉะนั้น.”
นี่ทำให้ผมคิดนะครับว่า คู่รักชายหญิงไหนที่ถ้าได้คบหาเป็นแฟน-ได้แต่งงาน-อยู่ร่วมกันจนวันตาย นั่นเพราะบุญบารมีของทั้งสองสะสมเกื้อกูลเสริมกันมาหลายร้อย-พัน-หมื่นชาติแล้ว จึงสามารถค้นพบหากันเจอได้โดยง่าย, ส่วนคนที่ชาตินี้ทำยังไงก็หาใครไม่พบ หรือเจอแต่คนที่ชอบหักอก ก็เพราะคุณสะสมเวรกรรมทำไว้กับผู้อื่นมากมายหลายร้อย-พัน-หมื่นชาติ ไม่ต่างกัน
ผมคงไม่โยงหนังเรื่องนี้เข้ากับพุทธศาสนานะครับ แค่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ‘โชคชะตา’ ก็มีส่วนอยู่บ้างที่ทำให้ชายหญิงสองคนพบเจอ ตกหลุมรัก แต่งงานอยู่กินกัน, แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่ใช่ฟ้าดินเป็นผู้กำหนดแล้วนะครับ อยู่ที่ตัวของทั้งสองเองล้วนๆ จะคิด-กระทำ-ตัดสินใจ อะไรเพื่อให้ชีวิตคู่ดำเนินต่อ/แยกจาก มีชีวิตไม่เป็นสุขอย่าโทษดวง เลิกกันก็อย่าโทษโชคชะตา มัวแต่โทษผู้อื่นแล้วชีวิตจะพบเจอสิ่งดีๆได้อย่างไร
นี่คือสิ่งที่ผมมองเป็นใจความของหนัง ซึ่งน่าจะต่างจากความตั้งใจของผู้กำกับพอสมควรเลยนะครับ เพราะบริบทของหนังมันไปทางค่อนข้างชัดมากว่า ‘ปล่อยให้ความรักเป็นเรื่องของโชคชะตาในมือของพระเจ้า’ แต่ผมมองว่า ‘ความรักเริ่มต้นจากโชคชะตา แต่สมบูรณ์แบบได้ด้วยตัวเราเอง’
ด้วยทุนสร้างสูงถึง ₹22 Crore แต่หนังกลับไม่ได้รับการโปรโมทเท่าไหร่ เพราะช่วงนั้นเกิดการก่อการร้ายที่ Mumbai แต่หนังก็กลายเป็น Sleeper Hit ทำเงินทั่วโลก ₹158 Crore (=$24 ล้านเหรียญ) จัดเป็น Blockbuster รายรับทั่วโลกสูงสุดแห่งปี และเป็นหนังทำเงินสูงสุดของ Shah Rukh Khan ขณะนั้นด้วย
หนังเข้าชิง Filmfare Award 8 สาขา ได้มาเพียง 2 รางวัล กับคุณภาพระดับนี้ถือว่าน่าเสียดายจริงๆ
– Best Film
– Best Director
– Best Actor (Shah Rukh Khan)
– Best Actress (Anushka Sharma)
– Best Supporting Actor (Vinay Pathak)
– Best Male Playback Singer บทเพลง Haule Haule ** ได้รางวัล
– Best Female Playback Singer บทเพลง Dance Pe Chance
– Best Scene of the Year (ฉากอาหารเช้าครั้งแรก ที่มีการหยิบดอกไม้เข้าออกแจกัน) ** ได้รางวัล
วินาทีที่ Suri กลายร่างเป็น Raj นี่กลายเป็นหนังเรื่องโปรดของผมโดยทันที หัวเราะทั้งน้ำตากับภาพลักษณ์ของ Shah Rukh Khan การจะทุ่มเททำบางสิ่งอย่างเพื่อคนที่เรารัก นี่เป็นการกระทำที่ซาบซึ้ง ประทับ กินใจ ที่สุดแล้ว
เฝ้ารอวินาทีที่ทุกสิ่งอย่างได้รับการเฉลย อยากเห็นปฏิกิริยา สีหน้า คำพูด การแสดงออกของหญิงสาว มันอาจไม่เป็นดั่งที่ผมจินตนาการไว้ แต่ก็ถือว่ายังได้ยิ้มอิ่มร่า เอมทั้งกาย สุขทั้งใจ ดูจบแล้วอิ่มอร่อยกว่ากินข้าวเสียอีก
สิ่งที่ผมชอบสุดของหนัง คือความกล้าท้าพิสูจน์ของ Suri การกระทำของเขาไม่ใช่ ‘รักข้างเดียว’ แบบหัวปลักหัวปลำ มิได้คำนึงถึงผลลัพท์ว่า Taani เลือกใครฉันก็จะกลายเป็นแบบนั้น … เป้าหมายคือการทำให้หญิงสาวเปิดประตูหัวใจออก ยอมรับตัวตนของเขา และเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเธอแต่งงานแล้ว การได้พบเจอชายหนุ่มอีกคนที่ทำให้ตกหลุมรัก ถ้าสุดท้ายเลือกหนีไปกับ Raj นั่นแปลว่าจิตใจของ Taani มองไม่เห็นคุณค่าของ Suri แม้แต่น้อย เป็นผู้หญิงประเภทไม่ควรค่าคบหาอย่างยิ่ง (จะเห็นว่า ถ้า Taani เลือก Raj เขาจะตัดสินใจทิ้งทุกอย่างไม่ไปกับเธอ) ผิดกับถ้าเลือก Raj หนุ่มคนธรรมดาๆที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ นี่แปลว่าเธอยอมรับเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้แล้ว
มันเป็นการลุ้นที่บีบหัวใจมากๆ Taani จะเลือกใครระหว่าง Suri กับ Raj ผลลัพท์ใครๆคงคาดเดาได้ แต่ความรู้สึกจากหนัง วินาทีของการเลือก ไม่มีคำพูดใดสามารถบรรยายออกมาได้
แนะนำกับคอหนัง Bollywood ร้องเล่นเต้น รักโรแมนติก หวานๆน่ารัก แฝงข้อคิดเป็นอย่างดี, แฟนๆ Shah Rukh Khan และ Anushka Sharma ไม่ควรพลาด
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาว และผู้ใหญ่ที่กำลัง/เพิ่งจะแต่งงาน หนังเรื่องนี้จะทำให้คุณมีความเข้าใจนิยาม’ความรัก’มากขึ้น กล้าที่จะทดสอบท้าทาย มีกำลังใจและอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อคนที่คุณรัก, กับคนสูงวัยหน่อยอาจจะไม่อินนัก แต่คงหวนระลึกถึงความรักสมัยหนุ่มสาวได้ไม่ยาก
จัดเรตทั่วไป
Leave a Reply