Raging Bull (1980) : Martin Scorsese ♠♠♠♠♠
(15/10/2023) ผู้กำกับ Martin Scorsese ไม่เคยชื่นชอบกีฬาชกมวย หลายต่อหลายครั้งบอกปัด Robert De Niro ไม่อยากสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติ Jake LaMotta เจ้าของฉายา The Bronx Bull หรือ Raging Bull จนกระทั่งความล้มเหลวย่อยยับของ New York, New York (1977) เกือบจะเสพยาเกินขนาด ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลตระหนักถึงนัยยะการต่อสู้บนสังเวียนพื้นผ้าใบ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
A boxer? I don’t like boxing… Even as a kid, I always thought that boxing was boring… It was something I couldn’t, wouldn’t grasp.
Martin Scorsese
แซว: ในบรรดาภาพยนตร์เกี่ยวกับการชกมวย เรื่องที่ผกก. Scorsese ชื่นชอบมากสุดก็คือ Battling Butler (1926) กำกับ/นำแสดงโดย Buster Keaton ให้คำนิยามว่า “the only person who had the right attitude about boxing in the movies.”
ไม่ใช่ว่าการสร้างภาพยนตร์ Raging Bull (1980) จะทำให้ผกก. Scorsese ค้นพบความชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ขึ้นมา ระหว่างที่เขาเดินทางไปรับชมการชกมวยยัง Madison Square Garden เพื่อเก็บข้อมูลเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ สังเกตเห็นสองสิ่งที่เป็นภาพบาดตาบาดใจ หนึ่งคือฟองน้ำเช็ดตัวโชกด้วยเลือด และคราบเลือดหยดลงจากหุ้มเชือก … นี่นะหรือสิ่งที่เรียกว่ากีฬา “And they call this sport?”
ถึงหน้าหนังจะนำเสนอเรื่องราวชีวประวัตินักมวยชื่อดัง Jake LaMotta แต่แท้จริงแล้ว Raging Bull (1980) ไม่ได้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับกีฬาชกมวยโดยตรง ไร้ซึ่งแท็กติก ทักษะการต่อสู้ ฉากบทสังเวียน 7-8 ไฟต์ รวมระยะเวลาเพียงแค่ 10 กว่านาที (จากหนังความยาว 129 นาที) นี่ยังไม่รวมกติกาผิดๆเพี้ยนๆ ขนาดสังเวียนเดี๋ยวเล็ก-เดี๋ยวใหญ่ กล้องเข้าไปถ่ายทำภายในเวที แล้วผู้ชมหายตัวไปไหน?? … สำหรับผกก. Scorsese การต่อสู้บนสังเวียนพื้นผ้าใบ เปรียบดั่งเวทีสำหรับสรรค์สร้างศิลปะภาพยนตร์
เมื่อตอนเขียนถึงหนังคราวก่อน ผมยังไม่ค่อยมีความเชี่ยวชำนาญ สังเกตรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเหล่านี้สักเท่าไหร่ แต่พอประสบการณ์รับชมภาพยนตร์เพิ่มสูงขึ้น ครานี้บอกเลยว่ารู้สึกตื่นตาตะลึง ไม่ใช่แค่เทคนิคอันแพรวพราวบนเวทีมวย แต่ยังเนื้อหาสาระที่ผกก. Scorsese ต้องการเปรียบเทียบความรุนแรงในชีวิต = การต่อสู้บนสังเวียนพื้นผ้าใบ ซึ่งมีคำพูดประโยคหนึ่งโคตรๆประทับใจ
I don’t know, I got a problem if I should fuck him or fight him.
Jake LaMotta
สรุปแล้วใจความของหนังก็คือ “fuck = fight” นำเสนอเรื่องราวรักๆใคร่ๆ ชีวิตนอกสังเวียนที่ส่งผลกระทบต่อการต่อสู้บนพื้นผ้าใบ เพื่อพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย ได้เธอมาครอบครอง เมื่อเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่างก็เริ่มเกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต ครุ่นคิดว่าใครจะมาแก่งแย่งชิงดี แปรสภาพเป็นอิจฉาริษยา กล่าวหาผู้อื่นไปทั่ว ค่อยๆสูญเสียคนใกล้ตัว จนท้ายที่สุดไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง
ผมชื่นชอบความคิดเห็นของนักวิจารณ์ Roger Ebert กล่าวว่า Raging Bull (1980) เปรียบได้กับ Othello (1603) หนึ่งในบทประพันธ์เลื่องชื่อของ William Shakespeare กล่าวถึง ‘ความอิจฉาริษยา’ ถูกลูกน้องเป่าหูจนหลงเชื่อสนิทใจ ถึงขนาดเข่นฆาตกรรมภรรยาได้ลงคอ
Raging Bull is the most painful and heartrending portrait of jealousy in the cinema — an Othello for our times.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 พร้อมจัดเป็น Great Movie
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Giacobbe ‘Jake’ LaMotta (1922-2017) อดีตนักมวยอาชีพ แชมป์โลกรุ่น Middleweight (ระหว่าง ค.ศ. 1949-51) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ในครอบครัวผู้อพยพชาวอิตาเลี่ยน ตั้งแต่ยังเด็กมักถูกบิดาบีบบังคับให้ขึ้นเวที ต่อยโชว์กับเด็กๆในละแวกเพื่อหาเงินมาเป็นค่าเช่าบ้าน ช่วงไหนค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอก็ลักขโมย ก่ออาชญากรรม เลยถูกจับส่งตัวเข้าสถานพินิจ ทำให้มีโอกาสฝึกฝนการต่อยมวยอย่างจริงจัง ไม่เคยพ่ายแพ้ใครตอนเป็นสมัครเล่น ก้าวสู่อาชีพตอนอายุ 19 ปี ต้องการอาสาสมัครทหารเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ถูกละเว้นเพราะตรวจพบว่ามีปัญหาการได้ยิน (คาดกันว่านั่นอาจคือสาเหตุที่ LaMotta ชอบใช้ความรุนแรง เพราะได้ยินเสียงอะไรไม่ค่อยชัด เลยเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต หมกมุ่นครุ่นคิดมาก)
สไตล์การชกของ LaMotta มีความดุดัน ไม่เกรงกลัวใคร ท่าทางคล้ายกระทิง เลยได้รับฉายา The Bronx Bull หรือ Raging Bull ขณะเดียวกันก็มักบุกเข้าหาคู่ต่อสู้จนดูเหมือนการ ‘bully’ ปัจจุบันมีคำเรียกสไตล์การต่อยมวยนี้ว่า Swarmer (เน้นการกดดันคู่ต่อสู้ พยายามสร้างช่องโหว่แทนที่จะรอให้คู่ต่อสู้เปิดเผยออกมาเอง ทำให้สามารถควบคุมเกม ดำเนินตามกลยุทธ์วางแผนไว้) และ Slugger (สไตล์การต่อยมวยไม่เน้นความสง่างาม แต่จะใช้เทคนิคที่รุนแรง รวดเร็ว ไร้เล่ห์เหลี่ยม แต่ดุดัน ทรงพลัง)
คู่ต่อสู้ที่ถือว่าเป็นคู่ปรับตลอดกาลก็คือ Sugar Ray Robinson เผชิญหน้ากันทั้งหมด 6 ครั้ง สามารถเอาชนะได้เพียงครั้งแรกครั้งเดียว แต่กลับทำให้อีกฝ่ายล้มลงนับ 8 ในแทบทุกๆไฟต์ (โดยที่ LaMotta ไม่เคยถูกนับเลยสักครั้ง) ผลการตัดสินจึงค้านสายตาผู้ชมอย่างมากๆ, ไฮไลท์คือไฟต์สุดท้ายตอนเสียแชมป์โลก วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951 ณ Chicago Stadium พอถึงยกที่ 13 เหมือนว่า LaMotta จะสูญเสียการ์ด ทำให้ Robinson ออกหมัดเข้าใบหน้าอย่างอุกอาจ เลือดอาบจนกรรมต้องยุติการชก มีคำเรียกการต่อสู้ไฟต์นี้ว่า Saint Valentine’s Day Massacre of boxing (แต่หลังการชก LaMotta ไม่เคยเข้าไปพูดบอกกับ Robinson ว่า “You never knocked me down.”)
เกร็ด: Jake LaMotta ได้รับการโหวตจากนิตยสาร Ring Magzaine ติดอันดับ 52 ชาร์ท 80 Best Fighters of the Last 80 Years เมื่อปี ค.ศ. 2014 และยังติด Top 10 Greatest Middleweights of All-Time
หลังสูญเสียแชมป์โลก LaMotta พยายามเพิ่มน้ำหนักเพื่อไปชิงแชมป์ Light Heavyweight แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เลยตัดสินใจรีไทร์จากสังเวียนเมื่อปี ค.ศ. 1954 แล้วซื้อกิจการบาร์ที่ Miami Beach ขึ้นเวทีเล่นตลก แสดงสดทอล์กโชว์, ค.ศ. 1958 ถูกจับกุมข้อหาอนุญาตให้เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้บริการสถานบันเทิง แต่เหตุผลที่ติดคุกนานถึง 6 เดือน เพราะโดนกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกลุ่มมาเฟียมวยใต้ดิน ก่อนสุดท้ายได้รับการปล่อยตัวเพราะไร้หลักฐาน, จากนั้นแวะเวียนเข้าสู่วงการบันเทิง เคยเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ The Hustler (1961), ซีรีย์โทรทัศน์ Car 54 Where Are You? (1961–63), ตีพิมพ์หนังสือชีวประวัติ Raging Bull: My Story (1970) เรียบเรียงโดย Joseph Carter และ Peter Savage
Robert De Niro ได้อ่านหนังสือชีวประวัติ Raging Bull: My Story (1970) ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ The Godfather Part II (1974) อยู่ที่ Sicily แม้ไม่ค่อยประทับใจลีลาการเขียน แต่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของ Jake LaMotta เข้ากับตัวตนเอง
I was interested in fighters. The way they walk, the weight thing – they always blow up – and there was just something about Jake LaMotta that was, for me, interesting.
It wasn’t great literature, but something about it had a lot of heart.
Robert De Niro
มองเห็นเป็นโอกาสร่วมงานผกก. Scorsese เลยนำไปพูดคุยในกองถ่าย Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974) แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธทันควัน เพราะไม่เคยสนใจภาพยนตร์แนวกีฬา (Sport) มองการชกมวยคือสิ่งน่าเบื่อหน่าย น่าจะอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวไม่จบด้วยซ้ำ
แม้ว่า Marty จะยังไม่ตอบตกลง แต่ De Nero ก็ติดต่อเข้าหาโปรดิวเซอร์สัญชาติอิตาเลี่ยน Dino De Laurentiis ชักชวนให้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือ Raging Bull: My Story (1970) ไม่รู้สำเร็จหรือเปล่า แต่ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น Robert Chartoff และ Irwin Winkler สองโปรดิวเซอร์ที่ดูแลงานสร้าง Rocky (1974) ว่ากันว่าพวกเขาช่วยต่อรองสตูดิโอ United Artists จะยินยอมทำภาคต่อ Rocky II (1979) ถ้าอนุมัติเงินทุนโปรเจค Raging Bull (1980)
ในส่วนบทภาพยนตร์ Chartoff & Winkler เริ่มต้นจากการติดต่อ Mardik Martin (ผู้ร่วมเขียนบท Mean Street (1973)) ยินยอมพัฒนาบทร่างแรก เพราะมองว่าเรื่องราวมีลักษณะคล้ายๆการต่อสู้ของ Roman Gladiator ทำออกมาในมุมมองนักข่าว (Journalist)
Think of them as gladiators, fighting in an arena packed with people. Then think of them exchanging blows, and the sweat and the blood flying all over the place, onto their tuxedos, their mink coats.
Mardik Martin
ผลลัพท์ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้โปรดิวเซอร์ จึงส่งไม้ต่อให้กับ Paul Schrader (ผู้เขียนบท Taxi Driver (1976)) ขณะนั้นกำลังกำกับภาพยนตร์ Hardcore (1979) ทำการปรับแก้ไขโน่นนี่นั่น เพิ่มเติมความสัมพันธ์กับน้องชาย Joey LaMotta รวมถึงเรื่องราวสเต็กไม่สุก จับไอ้จ้อนยัดใส่น้ำแข็ง (ลดอารมณ์ทางเพศก่อนขึ้นชก) ช่วยตัวเองในเรือนจำ ฯ ปรากฎว่าผู้บริหารสตูดิโอ United Artists กลับพบเห็นพัฒนาการที่น่าสนใจ ซะงั้น!
แซว: Paul Schrader บอกว่าตนเองไม่ได้รู้สึกมีความสัมพันธ์ใดๆต่อเรื่องราวกับ Raging Bull: My Story (1970) จึงทำการทดลองใส่เหตุการณ์ที่มีลักษณะ ‘shocking moments’ เพื่อดูว่าจะสามารถผ่านการอนุมัติจากสตูดิโอหรือไม่ … สุดท้ายฉากช่วยตนเอง ถูกปรับเปลี่ยนเป็นเอาน้ำแข็งราดใส่กางเกง เพราะต้องการหลีกเลี่ยงเรตติ้ง X
I wasn’t interested in doing a boxing movie. Bobby talked me into it. One reason it was so flat was it had no Joey LaMotta. It was just a cavalcade of events. So after I wrapped Hardcore, I did my own research. And I started reading about these fighting LaMotta brothers who were both boxers. They’d made this unspoken deal that Joey would manage and get the girls, while Jake would fight, and they would split the money, which was a surefire recipe for disaster. So now I had a sibling story, and I knew how to write that.
Paul Schrader
ความล้มเหลวย่อยยับของ New York, New York (1977) ทำให้ผกก. Scorsese ตกอยู่ในสภาวะท้อแท้สิ้นหวัง เกือบจะเสพโคเคนเกินขนาด เลือดไหลออกทางทวารทั้งเจ็ด จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล, De Niro เดินทางมาเยี่ยมเยียนแล้วพูดเตือนสติ
What’s the matter with you? Why are you doing this to yourself? Don’t you want to make this picture? You can do it better than anybody.
Robert De Niro
มันเหมือนมีบางสิ่งอย่าง ‘คลิก’ ขึ้นมาภายใน ทำให้ตระหนักถึงนัยยะถึงเรื่องราว/ความสัมพันธ์ของตนเองกับ LaMotta “I knew what it was: I was [LaMotta]. I could do it then; I’d make the movie about me.” เข้าใจนัยยะการชกมวย “an allegory for whatever you do in life” รวมถึงลักษณะคู่ขนานระหว่างสังเวียนพื้นผ้าใบและการสรรค์สร้างภาพยนตร์ “you make movies, you’re in the ring each time.”
What I had just gone through, Jake had known before me. We each lived it our own way. The Catholic background, the guilt feelings, the hope for redemption. Maybe it’s a little pretentious to talk about redemption. More than anything, it’s about learning to accept yourself. That’s what I understood the instant that I answered yes, without really knowing what I was saying.
Martin Scorsese
Martin Charles Scorsese (เกิดปี 1942) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Queen, New York City ก่อนย้ายมาเติบโตยัง Little Italy, Manhattan ครอบครัวเชื้อสาย Italian อพยพมาจาก Palermo, Sicily นับถือศาสนา Roman Catholic อย่างเคร่งครัด! วัยเด็กป่วยโรคหอบหืดทำให้ไม่สามารถเล่นกีฬา ออกไปทำกิจกรรมภายนอก พ่อ-แม่และพี่ๆจึงมักพาไปดูหนัง เช่าฟีล์มกลับมารับชมที่บ้าน ค่อยๆเกิดความหลงใหลในสื่อภาพยนตร์ โตขึ้นศึกษาสาขาภาษาอังกฤษ Washington Square College (ปัจจุบันชื่อ College of Arts and Science) แล้วต่อปริญญาโทวิจิตรศิลป์ School of the Arts (ปัจจุบันชื่อ Tisch School of the Arts)
ระหว่างร่ำเรียน Tisch School of the Arts ก็เริ่มกำกับหนังสั้น What’s a Nice Girl like You Doing in a Place like This? (1963), It’s Not Just You, Murray! (1964), The Big Shave (1967), พอสำเร็จการศึกษาก็สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Who’s That Knocking at My Door (1967), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Mean Streets (1973), Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974), Taxi Driver (1976)
ภายหลังออกจากโรงพยาบาล ผกก. Scorsese เดินทางไปหา(ว่าที่ภรรยาคนที่สาม) Isabella Rossellini ทางตอนเหนือของอิตาลี จากนั่นร่วมกับ De Nero ขึ้นเรือสู่เกาะ Saint Martin ในทะเล Caribbean ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของประเทศ Puerto Rico สถานที่แห่งนี้ไม่มีโทรทัศน์ โรงภาพยนตร์ สิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก นำเอาบทของ Schrader มาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องความสนใจของตนเอง (หนังไม่ขึ้นเครดิต Marty & Bobby เพราะพวกเขาไม่ใช่สมาชิก WGA)
When I got out of the hospital, we left for San Martin, an island in the Caribbean where there are no films and no television. We were on the same wavelength, and now we were talking the same language. In ten days, we wrote a hundred-page script.
Martin Scorsese
หน้าสุดท้ายของบทหนัง ผกก. Scorsese ใส่อัญพจน์/คำอ้างอิงจากคำสนทนาระหว่าง Nicodemus และ Jesus Christ เกี่ยวกับความจำเป็นในการถือกำเนิดใหม่ก่อนเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า แต่นี่ไม่ใช่ข้อความปรากฎตอนจบของหนังนะครับ เพียงสิ่งที่ย้ำเตือนความทรงจำ และให้ผู้อ่านตระหนักว่าเรื่องราวทั้งหมดสะท้อนถึงตัวเขาเอง
On the last page, I added a quotation from the Gospel of St. John, the exchange between Nicodemus and Christ. Jesus told the High Priest that it was necessary to be reborn of the spirit before one could enter the Kingdom of God. I wasn’t planning to use it in this form, but I wanted to warn everyone who would read the script just what it meant to me.
แซว: วันสุดท้ายที่ Marty และ Bobby อาศัยอยู่บนเกาะ Saint Martin พวกเขาตัดสินใจที่จะแสร้งว่ามาเที่ยวเล่น สนุกสนาน วันๆไม่ได้ทำงาน เลยถ่ายภาพพวกนี้เก็บไว้
เรื่องราวของนักมวยอาชีพ Jake LaMotta (รับบทโดย Robert De Niro) เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1941 พ่ายแพ้คะแนนบนสังเวียนพื้นผ้าใบครั้งแรกแบบค้านสายตากับ Jimmy Reeves เลยนำความหงุดหงิด ฉุนเฉียว มาลงกับภรรยาขณะนั้น Irma ไม่พึงพอใจอะไรสักอย่างเกี่ยวกับสเต็กไม่สุก จู่ๆขึ้นเสียง ใช้อารมณ์รุนแรง แสดงความไม่พึงพอใจ จนทำให้น้องชาย Joey LaMotta (รับบทโดย Joe Pesci) ต้องเข้ามาห้ามปราม … ไม่นานทั้งสองก็เลิกราหย่าร้าง
วันหนึ่ง Jake ได้พบเจอ ตกหลุมรักแรกพบ Vickie (รับบทโดย Cathy Moriaty) เด็กสาวอายุ 15 ปี สานสัมพันธ์จนได้แต่งงาน แต่หลังจากครองรักไม่นาน เขาก็เริ่มแสดงสันดานธาตุแท้ พยายามควบคุมครอบงำ ใช้คำพูดบีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น เกิดความหวาดระแวงว่าเธอจะแอบคบชู้นอกใจ ระบายอารมณ์ใส่คู่ต่อสู้บนสังเวียน จนสร้างความไม่พึงพอใจเจ้าพ่อมาเฟียวงการมวย สั่งให้เขาล้มมวยกับ Billy Box แม้ถูกสหพันธ์สั่งแบน แต่ก็ทำให้มีโอกาสชิงแชมป์โลก Middleweight และสามารถเอาชนะ Marcel Cerdan โดยกรรมการยุติการชกก่อนเริ่มยกสุดท้าย
อาการหวาดระแวงของ Jake มาถึงขีดสุดเมื่อครุ่นคิดว่าน้องชาย Joey แอบสานสัมพันธ์กับภรรยา จนทำให้อีกฝ่ายเลิกคบหา เปิดการ์ดปล่อยให้คู่ปรับตลอดกาล Sugar Ray Robinson พ่ายแพ้สูญเสียแชมป์โลก แล้วรีไทร์จากอาชีพชกมวย ผันตัวมาเป็นเจ้าของบาร์ ขึ้นเวทีเล่นตลก แสดงสดทอล์กโชว์ ถูกจับกุมข้อหาอนุญาตให้เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าใช้บริการสถานบันเทิง ติดคุกอยู่หลายปีจึงเริ่มสาสำนึกผิด
Robert Anthony De Niro Jr. (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York พ่อมีเชื้อสาย Irish-Italian ประกาศตนว่าเป็นเกย์หย่าขาดกับแม่ตอน De Niro อายุได้ 2 ขวบ เติบโตขึ้นในบริเวณ Little Italy เคยแสดงละครเวทีงานโรงเรียน รับบทเป็น Cowardly Lion เรื่อง The Wizard of Oz ทำให้เริ่มมีความสนใจด้านนี้ พออายุ 16 มุ่งสู่ HB Studio, Stella Adler Conservatory และ Actors Studio กลายเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของ Lee Strasberg, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Wedding Party (1963) ของผู้กำกับ Brian De Palma แนะนำให้รู้จักจนกลายเป็นขาประจำกับ Martin Scorsese ร่วมงานครั้งแรก Mean Streets (1973) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Godfather: Part II (1974) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actor, Taxi Driver (1976), The Deer Hunter (1978), Raging Bull (1980) ** คว้า Oscar: Best Actor, Cape Fear (1991), Silver Linings Playbook (2012) ฯ
รับบทนักมวยอาชีพ Jake LaMotta เป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย เมื่อไม่พึงพอใจอะไรก็มักขึ้นเสียง ใช้ความรุนแรง ทำลายสิ่งข้าวของ ทุบตีทำร้ายร่างกาย ไม่ใช่แค่บนเวทีมวย แต่ยังชีวิตจริงกับภรรยา (ทั้ง Irma และ Vickie) รวมถึงน้องชายแท้ๆอย่าง Joey ยังเกิดอาการหวาดระแวง วิตกจริต จนสุดท้ายสูญเสียทั้งเข็มขัดแชมป์โลก ภรรยาฟ้องหย่าร้าง ถูกจับติดคุกติดตาราง เมื่อได้รับการปล่อยตัวจึงพยายามหาหนทางไถ่โทษ (redemption)
การเตรียมตัวของ De Niro ฝึกฝนการต่อยมวยจาก Jake LaMotta และเทรนเนอร์ Al Sivani นานเกือบปี เพื่อทำน้ำหนัก สร้างร่างกาย ซึมซับสไตล์การต่อสู้ ทั้งยังเคยขึ้นชกสมัครเล่น Middleweight ชนะรวดสามไฟต์ ได้รับฉายา “young LaMotta” ก็ขนาดว่า LaMotta แสดงความคิดเห็น De Niro เป็นนักมวยอาชีพได้สบายๆ
ผมรู้สึกว่า De Niro ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านการต่อสู้บนสังเวียนได้อย่างรุนแรง เกรี้ยวกราด ทรงพลัง เหมือนดั่งกระทิงดุ (แค่นั่นก็สมควรค่ารางวัล Oscar: Best Actor) สมจริงยิ่งกว่าชีวิตจริงๆที่ดูปลอมๆ เพราะใบหน้าเต็มไปด้วยซิลิโคน รอยแผลฟกช้ำดำขาว โดยเฉพาะจมูกช่างดูอัปลักษณ์ ปกปิดซ่อนเร้นความรู้สึกที่ควรแสดงออกมา … มันเหมือนถ้าแสดงปฏิกิริยาบนใบหน้ามากเกินไป อาจทำให้ซิลิโคนเหล่านั้นร่วงหล่นลงมา เลยดูฝืดๆฝืนๆ ไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังไม่เลวร้ายเท่าเทคโนโลยี ‘de-aging’ หรือนะ
สำหรับไฮไลท์ไม่ใช่ทั้งการแสดงหรือลีลาชกต่อยบนเวที แต่คือการทำน้ำหนักภายหลังเลิกชก ซึ่งผกก. Scorsese ยินยอมหยุดกองถ่ายนานถึงสี่เดือน (แต่ยังจ่ายเงินให้ทีมงานทั้งหมด) เพื่อมอบเวลาให้กัย De Nero กินๆนอนๆ (มีคำเรียก ‘eating trip’ เดินทางไปอิตาลี ฝรั่งเศส เพื่อการกินโดยเฉพาะ) จนร่างกายอวบอ้วนขึ้นกว่า 60 ปอนด์ = 27.2 กิโลกรัม ถือเป็นสถิติการเพิ่มน้ำหนักตัวสูงสุดขณะนั้น (ก่อนถูกโค่นล้มโดย Vincent D’Onofrio เพิ่มน้ำหนัก 70 ปอนด์ ภาพยนตร์ Full Metal Jacket (1987)) ทุ่มเทให้กับการแสดงจนสร้างความตกตะลึงให้กับผู้ชม … ยุคสมัยก่อนหน้านั้น นักแสดงมักสวมใส่แค่ ‘fat suit’ อย่าง Orson Welles จากภาพยนตร์ Citizen Kane (1942) ไม่ได้ทุ่มเทให้กับการเปลี่ยนแปลงทายกายภาพเหมือนยุคสมัยนี้
It was very easy. I just had to get up at 6.30 in the morning and eat breakfast at seven in order to digest my food to eat lunch at 12 or one in order to digest my food to eat a nice dinner at seven at night. So it was three square meals a day, that’s all. You know, pancakes, beer, milk.
Robert De Niro
ปล. การเพิ่ม-ลดน้ำหนักตัวของนักแสดง ผมมองว่ามันคือส่วนหนึ่งของการแสดง ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมทุ่มเทให้กับบทบาทมากน้อยเพียงไหน แต่มันไม่ควรถูกใช้เป็นกระแสนิยมสำหรับการันตีรางวัลความสำเร็จ
หลายคนอาจมองว่าบทบาท Jake LaMotta คือจุดสูงสุดในอาชีพการงานของ De Niro ถือเป็น ‘passion project’ ตราตะลึงมากๆระหว่างขึ้นชกบนเวที ดูเหมือนมืออาชีพ รุนแรง เกรี้ยวกราด ทรงพลัง แสดงออกได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่ส่วนตัวกลับชื่นชอบความอ้ำๆอึ้งๆ พูดจาไม่ได้สดับของ Travis Bickle จาก Taxi Driver (1976) เพราะเป็นตัวละครโคตรๆสลับซับซ้อน พบเห็นวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไป แถมยังเปิดกว้างในการตีความมากกว่า
Joseph Frank Pesci (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Newark, New Jersey ตั้งแต่อายุ 10 ขวบเป็นพิธีกร/แขกรับเชิญประจำของรายการ Startime Kids, ตอนวัยรุ่นสนิทสนมกับ Frankie Valli และ Tommy DeVito [นักร้องนะครับไม่ใช่นักเลง] เป็นคนแนะนำให้พวกเขาก่อตั้งวงดนตรี The Four Seasons ส่วนตัวเองกลับไปทำงานช่างตัดผม เล่นกีตาร์ตามไนท์คลับ ออกอัลบัมแรก Little Joe Sure Can Sing! (1968)
รับบท Joey LaMotta แม้ไม่ได้มีร่างกายกำยำเหมือนพี่ชาย Jake แต่คอยอยู่เคียงข้างทั้งในชีวิตจริงและพี่เลี้ยงบนเวทีมวย เป็นคนเฉลียวฉลาด เจ้าคารม รู้หลบเป็นปีก-รู้หลีกเป็นหาง ไม่เคยครุ่นคิดทรยศหักหลัง ตรงกันข้ามยังเคยรักษาเกียรติพี่ชาย แต่กลับถูกความหวาดระแวง เข้าใจ จนจำต้องตีตนออกห่าง
De Niro มีโอกาสรับชมภาพยนตร์โทรทัศน์ The Death Collector (1976) เกิดความประทับใจการแสดงของ Joe Pesci เลยแนะนำบอกต่อให้ผกก. Scorsese ซึ่งระหว่างติดต่อหา Persci เลิกรับงานแสดงมาสี่ปี ทำงานภัตตาคารอิตาเลี่ยนแห่งหนึ่งใน New Jersey มีความโล้เล้ลังเลใจพอสมควรก่อนยินยอมตอบตกลง … นี่มันสถานการณ์เดียวกันกับตอน Pesci ถูกโน้มน้าวให้หวนกลับมาแสดงภาพยนตร์ The Irishman (2019)
บทบาทนี้อาจไม่ได้ดูตลกขบขันนัก แต่ผมรู้สึกว่า Pesci เหมาะสมกับฉายา ‘little funny man’ ที่จะได้รับภายหลัง (ตั้งแต่ Goodfellas (1990)) เป็นคู่กัดเข้าขาได้ดีกับ De Niro กล้าต่อล้อต่อเถียง สีหน้าเคร่งเครียด โดยเฉพาะทำหน้าตายระหว่างกล่าวคำโกหกหลอกลวง แต่เหตุผลที่ทำเช่นนั้นเพราะไม่ต้องการพูดบอกความจริง ให้พี่ชายเกิดความเข้าใจผิดๆ แล้วเรื่องราวเตลิดเปิดเปิงไปไกล
โดยไม่รู้ตัวนี่คือบทบาทแจ้งเกิด Pesci ทำให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor (พ่ายให้กับ Timothy Hutton จากภาพยนตร์ Ordinary People (1980)) และกลายเป็นขาประจำร่วมงานบ่อยครั้งกับทั้ง De Niro และผกก. Scorsese
เกร็ด: ในฉากซ้อมมวย Robert De Niro บังเอิญต่อยซี่โครงของ Joe Pesci ได้รับบาดเจ็บร้องโอดโอย และ 15 ปีถัดมาโดยคนเดิม ตำแหน่งเดิม ผู้กำกับคนเดิม เปลี่ยนภาพยนตร์ Casino (1995)
Cathy Moriarty (เกิดปี 1960) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ The Bronx New York ในครอบครัวผู้อพยพเชื้อสาย Irish นับถือคาทอริกเคร่งครัด เมื่อตอนอายุ 18 หลังเรียนจบมัธยม ถูกเพื่อนๆผลักดันให้เข้าประกวดนางงามชุดอาบน้ำในบาร์แห่งหนึ่ง คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง มีช่างภาพมาขอถ่ายรูป อีกสามสัปดาห์ถัดมาได้รับโทรศัพท์จากชายแปลกหน้าชื่อ Joe Pesci ชักชวนมาทดสอบหน้ากล้องภาพยนตร์ Raging Bull (1980)
รับบท Vickie เด็กหญิงอายุ 15 ปี แม้สนิทสนมกับคนในแวดวงมาเฟีย แต่ตกหลุมรัก ยินยอมแต่งงานกับ Jake LaMotta มีความจงรักภักดี ไม่เคยครุ่นคิดนอกใจ แต่กลับถูกเขากระทำร้ายทั้งร่างกาย ถ้อยคำพูด โดนบีบบังคับให้ต้องทำโน่นนี่นั่น กักขังหน่วงเหนี่ยว จนสูญเสียสิ้นอิสรภาพ
มีนักแสดงมากมายที่สนใจบทบาทนี้ Beverly D’Angelo, Debbie Harry, รวมถึง Jodie Foster พยายามล็อบบี้อยากร่วมงานผกก. Scorsese แต่ภาพลักษณ์ของเธอดูทอมบอย แก่นแก้วเกินไป, เห็นว่าเป็น Pesci เคยพบเห็นภาพถ่ายที่ Moriarty เคยชนะการประกวด เลยแนะนำบอกต่อ De Niro และผกก. Scorsese ชักชวนมาทดสอบหน้ากล้องอยู่หลายรอบ ประทับใจในน้ำเสียงแหบแห้ง (Husky Voice) ทรวดทรงองค์เอวเหมือนผู้ใหญ่ และมองบางมุมก็ละม้ายคล้าย Vikki LaMotta
As soon as Cathy walked into our office. I knew we had our Vickie. Cathy possessed a sophistication that many young women in the 1940s had. She was older than her years.
Cis Corman ผู้เป็น Casting Director
บทบาท Vickie ไม่มีอะไรไปมากกว่าวัตถุทางเพศ ‘sex object’ หรือ ‘object of desire’ แรกๆสวมใส่ชุดว่ายน้ำ สวยเซ็กซี่ ราวกับนางฟ้า หญิงสาวในอุดมคติ แต่หลังจากแต่งงาน ครองรักกับ Jake LaMotta ราวกับตกอยู่ในขุมนรก มอดไหม้ สีหน้าอมทุกข์ทรมาน สูญสิ้นอิสรภาพในการครุ่นคิดทำอะไร … หลายๆผลงานของผกก. Scorsese ตัวละครเพศหญิงมักมีลักษณะสองขั้วตรงกันข้ามเสมอๆ ‘Madonna–Whore complex’
ด้วยความที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน Moriarty (แบบเดียวกับ Jodie Foster ตอนแสดงภาพยนตร์ Taxi Driver (1976)) ได้รับความช่วยเหลือจาก De Niro แนะแนวทาง สอนการครุ่นคิด ให้เข้าใจตัวละคร สวมวิญญาณการแสดง
Robert De Niro taught me how to listen, and how to be part of the conversation. It’s not just about reading your lines and saying what’s in the script, you have to understand your character, along with the other characters so that you can always respond.
Cathy Moriarty
ชื่อเสียงชั่วข้ามคืนของ Moriarty เกิดขึ้นโดยที่เธอไม่ทันตั้งตัวสักเท่าไหร่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการปรับตัวเตรียมใจ ชีวิตหลังจากนี้เลยมีขึ้นๆลงๆ ภายหลังสมทบภาพยนตร์ Neighbors (1981) ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ จนต้องพักการแสดงนานถึงหกปี สูญเสียโอกาสสานต่อความสำเร็จ แต่ก็ยังอยู่รอดในฐานะนักแสดงตัวประกอบจนถึงปัจจุบัน
ถ่ายภาพโดย Michael Crawford Chapman (1935-2020) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City แต่ไปเติมโตยัง Wellesley, Massachusetts วัยเด็กชื่นชอบเล่นกีฬา ไม่เคยมีความสนใจการถ่ายภาพหรือวงการภาพยนตร์แม้แต่น้อย โตขึ้นเข้าศึกษาสาขาภาษาอังกฤษ Columbia University จากนั้นทำงานช่างเบรค (Breakman) ให้กับ Erie Lackawanna Railroad, หลังกลับจากอาสาสมัครทหาร พ่อตาฝากฝังให้ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง ปรับโฟกัส ถ่ายทำโฆษณาใน New York City จับพลัดจับพลูกลายเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ภาพยนตร์ The Godfather (1975), Jaws (1975), จนได้รับเครดิตถ่ายภาพ Taxi Driver (1976), Invasion of the Body Snatchers (1978), Raging Bull (1980), Ghostbusters II (1989), The Fugitive (1993) ฯ
ด้วยความที่ผกก. Scorsese ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกีฬาชกมวยมาก่อน จึงทดลองถ่ายทำด้วยฟีล์ม 8mm แล้วนำไปฉายให้เพื่อน/อาจารย์ Michael Powell แสดงความคิดเห็นว่านวมสีแดงที่แปดเปื้อนเลือดดูแปลกๆ “There’s something wrong about the red gloves.” นั่นคือเหตุผลให้ Marty ตัดสินใจเปลี่ยนมาถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ … อีกเหตุผลสำคัญคือต้องการแบ่งแยกหนังออกจากแฟนไชร์ Rocky ที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษนั้น
เกร็ด: ในหนังสือ Raging Bull: My Story (1970) มีคำกล่าวของ Jake LaMotta แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ผกก. Scorsese เลือกถ่ายทำหนังด้วยฟีล์มขาว-ดำ (เพราะเขาไม่ได้สนใจรายละเอียดใดๆจากหนังสือชีวประวัติ เป็นความบังเอิญคาดไม่ถึงเท่านั้นเอง)
Now, sometimes, at night, when I think back, I feel like I’m looking at an old black and white movie of myself. Why it should be black and white I don’t know, but it is.
Jake LaMotta
My reasons for shooting in black-and-white, as you know, have nothing to do with this quotation. When we were screening Bobby’s training sequences, which had been shot in 8mm, I was struck by a remark made by Michael Powell: “But his gloves are red!” Yes, Michael Powell, the man who made The Red Shoes! Nowadays, boxers use gloves and pants that are colored, whereas our memories of boxing from the 40s are in black-and-white, like the newsreels and photographs of that time. Powell was right. You also know how much I worry about the instability and the changes in color film stock. The final reason was that several films on boxing were in preparation: The Champ, Rocky II, The Main Event, Matilda. I wanted Raging Bull to be very different visually and to evoke, if a reference is necessary, the admirable photography of James Wong Howe in The Sweet Smell of Success.
Martin Scorsese อธิบายเหตุผลถ่ายทำหนังด้วยฟีล์มขาว-ดำ
โดยปกติแล้วภาพยนตร์เกี่ยวกับการชกมวย มักถ่ายทำจากมุมมองผู้ชม ภายนอกเวที แต่เพราะ Raging Bull (1980) เพียงใช้กีฬาชนิดนี้ในเชิงสัญลักษณ์ แฝงนัยยะเกี่ยวกับการใช้ชีวิต มันจึงไม่จำเป็นต้องทำตามขนบธรรมเนียมที่เคยมีมา ยกกล้องเข้าไปในสังเวียนพื้นผ้าใบ ทดลองใช้สารพัดเทคนิค ออกหมัดใส่หน้ากล้อง (มุมมองบุคคลที่หนึ่ง), ขยับเคลื่อนเลื่อนไปมา โยกซ้าย-โยกขวา, มุมก้ม-เงย, Whip Pan, Fast Editing, Slow Motion, Dolly Zoom (Vertigo Shot), ปรับเปลี่ยนขนาดเวที เดี๋ยวเล็ก-เดี๋ยวใหญ่, คละคลุ้งด้วยหมอกควัน บริเวณรอบข้างพบเห็นเพียงความมืดมิด ตรงกันข้ามกับบนเวทีสาดส่องแสงสว่างจร้า ฯลฯ
นี่ยังไม่รวมสารพัด Sound Effect เสียงหมัดกระแทก หลอดไฟแตก (แฟลชถ่ายรูป) เดี๋ยวอื้ออึง เดี๋ยวเงียบงัน และโดยเฉพาะเสียงคำรามสิงสาราสัตว์ ช้าง สิงโต ฯ (เพื่อสื่อถึงสันชาติญาณสัตว์ ‘animal instinct’ ของ Jake LaMotta) แม้ระยะเวลาเพียงแค่ 10 กว่านาที สังเวียนแห่งนี้ได้กลายเป็นเวทีสำหรับสรรค์สร้างผลงานศิลปะ!
เกร็ด: แนวทางดังกล่าวของผกก. Scorsese ชวนให้ผมนึกถึงโคตรภาพยนตร์ The Red Shoes (1948) กำกับโดย Michael Powell & Emeric Pressburger ที่เมื่อถึงซีเควนซ์การแสดงบัลเล่ต์ความยาวสิบกว่านาที ก็แพรวพราวด้วยลูกเล่น จัดเต็มเทคนิคภาพยนตร์ สร้างความตื่นตระการตา แลดูน่าประทับใจยิ่งๆนัก
โปรดักชั่นของหนังแบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา โดยมีการพักกองถ่าย 4 เดือน (แต่จ่ายค่าแรงตามปกติ) เพื่อให้เวลา De Niro ไปทำน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นกว่า 60 ปอนด์
- โปรดักชั่นเริ่มต้นกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 1979 ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์แรกถ่ายทำฉากทั่วๆไป จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคมย้ายมาปักหลัก Culver City Studio ณ เวทีที่สาม (Stage 3) เพื่อถ่ายทำการชกมวยบนเวที โดยช่วงแรกนี้วางแผนไว้แค่ 5 สัปดาห์ แต่ล่าช้า(เพราะฉากการชกมวยบนเวทีมวยล้วนๆ)จนถึงกลางเดือนมิถุนายน
- สนามชกมวยที่มีผู้ชม ถ่ายทำยัง Olympic Auditorium ตั้งอยู่ Downtown, Los Angeles
- อพาร์ทเม้นท์ของ Jake ตั้งอยู่ 443 West 56th Street, Manhattan
- ละแวกที่อยู่อาศัยของ Jake คือ Hell’s Kitchen, Manhattan
- สระว่ายน้ำตั้งอยู่ Clarkson Street, Manhattan
- Copacabana ไนท์คลับที่ Joey มีเรื่องชกต่อยกับมาเฟีย 10 East 60th Street, Manhattan
- หลังหยุดกองถ่ายประมาณสี่เดือน ก็เริ่มกลับมาถ่ายทำอีกครั้งช่วงปลายเดือนตุลาคม เสร็จสิ้นก่อนถึงวันคริสต์มาส รวมระยะเวลาอีกประมาณ 7-8 สัปดาห์
- ไนท์คลับของ Jake ตั้งอยู่ 1331 South Pacific Ave, Los Angeles
- บ้านที่ Florida ของ Jake ตั้งอยู่ 3460 Cabrillo Boulevard, Los Angeles
- สถานที่ที่ Jake ซักซ้อมหน้ากระจกก่อนขึ้นแสดง Barbizon-Plaza Hotel, Manhattan
เป็นหนึ่งในไม่กี่ช็อตที่ปรากฎสีสัน ชื่อหนัง RAGING BULL (ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด) โดยสีแดงสื่อถึงเลือด ความรุนแรง การต่อสู้เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย, แม้พื้นหลังทำการสโลโมชั่น (Slow Motion) แต่ถือเป็นการเตรียมพร้อม ซักซ้อม วอร์มร่างกาย เรียกได้ว่าคือการอารัมบท รอคอยคู่ชกขึ้นเวที จะได้เริ่มต้นภาพยนตร์เรื่องนี้
แซว: แม้ว่าแสงแฟลชสว่างขึ้นจากหลายทิศทาง แต่มีบุคคลเดียวเท่านั้นที่วิ่งไปวิ่งมา สวมฮูดดำ หลบซ่อนตัวอยู่ในหมอกควัน นั่นคือตากล้อง Michael Chapman
I remember those cheers, they still ring in my ears, and for years they remain in my thoughts, ’cause one night, I took off my robe, and what’d I do? I forgot to wear shorts. I recall every fall, every hook, every jab, the worst way a guy can get rid of his flab, as you know, my life wasn’t drab. Though I’d much… Though I’d rather hear you cheer when you delve… Though I’d rather hear you cheer when I delve into Shakespeare… “A horse! A horse! My kingdom for a horse!” I haven’t had a winner in six months. And though I’m no Olivier, I would much rather… And though I’m no Olivier, if he fought Sugar Ray, he would say that the thing ain’t the ring, it’s the play. So, give me a stage where this bull here can rage, and though I can fight, I’d much rather recite. That’s entertainment.
Jake LaMotta
ผมไม่แน่ใจว่านี่คือการดั้นสดของ De Niro หรือใครสักคนเขียนออกมาในลักษณะกวีนิพนธ์ มีความสอดคล้องจอง เต็มไปด้วยสัมผัสนอก-ใน และที่สำคัญคือทำการเปรียบเทียบการต่อสู้บนสังเวียนพื้นผ้าใบ ไม่แตกต่างจากการแสดงละครเวที เล่นตลก แสดงสดทอล์กโชว์ … ทั้งหมดรวมเรียกว่าความบันเทิง That’s entertainment!
มันเลยเป็นความโคตรๆ ‘ironic’ ที่ชีวิตจริงของ Jake LaMotta หลังรีไทร์จากวงการมวย ผันตัวมาเล่นตลก ทอล์กโชว์ รับงานการแสดงบ้างประปราย เพราะต่างเป็นอาชีพมีความละม้ายคล้าย ขายความบันเทิงให้กับผู้ชม
ทุกซีเควนซ์การต่อสู้บนสังเวียนพื้นผ้าใบ จะมีการวาดภาพ Storyboard สำหรับอธิบายรายละเอียด ทิศทางมุมกล้อง องค์ประกอบฉาก รวมถึงเทคนิคที่จะใช้ในการถ่ายทำ นี่เป็นเทคนิคที่ผกก. Scorsese นิยมใช้กับซีเควนซ์สำคัญๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นระหว่างการถ่ายทำ
Drawing the storyboards is my way of visualizing the entire film before I shoot it. In a sense, drawing the film as I wish to see it.
Martin Scorsese
ไฟต์แรกของหนัง นำเสนอความพ่ายแพ้แรกในการชกอาชีพของ Jake LaMotta ทั้งๆต่อยคู่ต่อสู้ Jimmy Reeves ร่วงลงไปนับแปดอยู่หลายครั้ง แต่กรรมการกลับตัดสินให้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เลยคาดการณ์กันว่าอาจมีมาเฟียมวยคอยควบคุมผลการแข่งขันอยู่เบื้องหลัง
เมื่อผู้ชมไม่ยอมรับคำตัดสินของกรรมการ จึงเกิดความโกลาหลวุ่นวาย ปีนป่ายขึ้นไปบนเวที (ชีวิตจริง=การต่อสู้บนสังเวียน) แต่สิ่งน่าสนใจคือช็อตนี้ที่พิธีกรส่งสัญญาณมือให้นักออร์แกนบรรเลงบทเพลง The Star-Spangled Banner แน่นอนว่ามันไม่ใช่วิธีทำให้ฝูงชนสงบลง แค่พยายามกลบเกลื่อน บิดเบือน หรือจะมองเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง
Don’t overcook it. You overcook it, it’s no good. It defeats its own purpose.
Jake LaMotta
จริงๆมันไม่ใช่ประเด็นสเต็กสุก-ไม่สุก แต่คือความ’ดิบ’เถื่อน หาเรื่องระบายอารมณ์ของ Jake ภายหลังความพ่ายแพ้ครั้งแรกในการชกมวย จึงมีอาการร้อนรน กระวนกระวาย หงุดหงิดรำคาญใจ พอภรรยา Irma ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ อาหารไม่มาเสิร์ฟสักที จึงขึ้นเสียงด่ากราด ใช้ความรุนแรง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป
มุมกล้องช็อตนี้ถ่ายภรรยา Irma อยู่ภายใต้กรอบสี่เหลี่ยม สื่อถึงชีวิตที่ถูกควบคุมครอบงำโดยสามี ไร้ซึ่งอิสรภาพเสรี ต้องคอยรับใช้ ปรนิบัติ รองมือรองเท้า รองรับอารมณ์ ไม่ต่างจากขี้ข้าทาส เมื่อถึงจุดๆหนึ่งใครกันจะอดรนทนไหว
Jake แรกพบเจอ Vickie ยังสระว่ายน้ำข้างอพาร์ทเม้นท์ เห็นกำลังพูดคุยกับ Joey และพรรคพวกมาเฟีย เพราะเธอเพิ่งอายุ 15 จึงไม่มีใครกล้าทำอะไรล่วงเกิน แค่เพียงเชยชมดอกฟ้า แต่ละช็อตที่หนังถ่ายทำ ท่าทางช่างมีความยั่วเย้ายวน ระยิบระยับ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ทางเพศทั้งนั้น
From LaMotta’s point of view, Vickie sometimes floats in slow motion toward another man. The technique fixes the moment in our minds; we share LaMotta’s exaggeration of an innocent event
นักวิจารณ์ Roger Ebert
แซว: ผมแอบรู้สึกว่าช็อตที่ถ่ายเรียวขาระหว่างเล่นน้ำของ Cathy Moriarty เป็นการเคารพคารวะ Alfred Hitchcock บุคคลผู้มีความหมกมุ่น ลุ่มหลงใหลในเรียวขาอิสตรีเหลือเกิ้น
การพูดคุยครั้งแรกกับ Vickie ผ่านการแนะนำของ Joey สังเกตว่า Jake ต้องสนทนาผ่านรั้วเหล็ก ดูราวกับเธอเป็นสิ่งต้องห้าม ต้องการเตือนว่าไม่ควรก้าวล้ำขอบเขต (อาจเพราะ Vickie เพิ่งจะอายุ 15 ยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นเยาวชน ยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
เกร็ด: ฉากแรกพบสนทนาครั้งแรกนี้ เห็นว่า Robert De Niro และ Cathy Moriarty ต่างทำการดั้นสด ‘improvised’ เพื่อสร้างความกระอักกระอ่วน ไม่รู้จะพูดคุยสนทนาอะไร
สถานที่เดทของ Jake กับ Vickie มาตีกอล์ฟมุดลอดโบสถ์เล็กๆหลังหนึ่ง แต่หลังจากออกวงสวิง พัตลูกกอล์ฟ กลับสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย? นี่เป็นซีนที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ผกก. Scorsese นับถือคาทอลิกอย่างเคร่งครัด ใช้โบสถ์หลังนี้แทนจิตสามัญสำนึก การตัดสินทางศีลธรรม เพื่อบอกว่าพวกเขายังไม่ควรตีกอล์ฟลงหลุม (สัญลักษณ์ของการร่วมเพศสัมพันธ์) มันเลยสูญหายระหว่างลอดผ่านโบสถ์หลังนี้
ก่อนการแต่งงาน Vickie เปรียบดั้ง ‘Madonna’ แม่พระมาโปรด Jake พยายามทำทุกสิ่งอย่าง เอาอกเอาใจ ให้ได้มาซึ่งการร่วมเพศสัมพันธ์ แต่การเป็นนักมวยก่อนขึ้นชกต้องรู้จักอดกลั้น (นั่นเป็นความเชื่อของนักกีฬาทุกประเภท ว่าการอดกลั้นห้ามมีเพศสัมพันธ์รวมถึงช่วยตนเอง จะทำให้มีสมาธิ เรี่ยวแรงกระตุ้นในการแข่งขัน) เพียงให้เธอเข้ามายั่วเย้า ถ้าตามบทหนังเขาต้องช่วยตนเองในถังน้ำแข็ง แต่ผกก. Scorsese ตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นราดน้ำแข็งใส่กางเกง เพื่อให้อารมณ์ทางเพศสงบลง
เมื่อตอน Mean Street (1973) และ Taxi Driver (1976) จะมีช็อตที่ตัวละครเอามือเล่นกับไฟ เพื่อท้าพิสูจน์ความเข้มแข็งของจิตใจ ว่าจะสามารถอดรนความเจ็บปวดทางร่างกายได้นานเพียงไหน, Raging Bull (1980) ทำในสิ่งตรงกันข้ามคือจุ่มหมัดในถังน้ำแข็ง ด้วยเหตุผลบรรเทาอาการเจ็บปวดหลังการชก ขณะเดียวกันยังให้จิตใจสงบร่มเย็นลง (เหมือนตอนเอาน้ำแข็งราดใส่กางเกงเพื่อให้อารมณ์ทางเพศสงบลง)
ผกก. Scorsese ได้แรงบันดาลใจจาก ‘home movie’ ที่ครอบครัว LaMotta ถ่ายเก็บไว้วันแต่งงาน แต่เขาไม่สามารถเข้าถึงฟุตเทจดังกล่าว จึงใช้กล้อง 8mm ถ่ายภาพสี ทำออกมาในลักษณะอดีตเลือนลาง วันวานพานผ่าน ภาพความทรงจำที่ไม่มีวันหวนกลับคืนมา ช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ (เลยเต็มไปด้วยสีสัน)
ในขณะที่พิธีแต่งงานระหว่าง Jake และ Vickie เหมือนแค่จะทำพิธีในศาลากลาง พบเห็นญาติมิตรไม่กี่คนเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ตรงกันข้ามกับ Joey จัดงานใหญ่โตบนชั้นดาดฟ้า เต็มไปด้วยพรรคพวกพ้องมากมายเต็มไปหมด!
เกร็ด: ฉากงานแต่งงานของ Joey เห็นว่าถ่ายทำโดย Charles Scorsese บิดาของผกก. Scorsese ที่วันนั้นล้มป่วยลุกไม่ขึ้นจากเตียง เลยฝากให้บิดาถ่ายทำแทน ซึ่งก็ยังปรากฎตัว Cameo ในฉากนี้ด้วยนะครับ
และการดำเนินเรื่องช่วงนี้ ยังมีแทรกภาพการต่อสู้ของ Jake แต่นำเสนอในลักษณะเหมือนภาพนิ่ง คล้ายๆแสงแฟลช ปรากฎแว๊บขึ้นมาแล้วก็พานผ่านไป คงเป็นชัยชนะที่ง่ายดาย ไม่ค่อยน่าจดจำ เพียงเสี้ยวส่วนความทรงจำ (แต่ก็เป็นการบอกใบ้ความรุนแรงที่กำลังจะแทรกซึมในชีวิตแต่งงาน)
หลายคนอาจไม่ได้เอะใจกับคำพูดประโยคนี้ของ Jake LaMotta ฟังดูเหมือนคำพูดเล่นๆ ชวนให้หัวเราะขบขัน แต่อย่างที่ผมอธิบายไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ “fuck = fight” ไม่ได้หมายความว่าต้องการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ต่อสู้ หรือศัพท์แสลงที่หมายถึงการทำให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ย่อยยับเยิน แต่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างบนสังเวียน=ชีวิตจริง
เพราะใบหน้าหล่อเหลาของคู่ต่อสู้ Tony Janiro สร้างความหวาดระแวงให้กับ Jake กลัวว่าภรรยาจะแอบชื่นชอบ (ทั้งๆที่เธอไม่เคยเหลียวแลมองด้วยซ้ำ) เขาจึงพุ่งเป้าออกหมัดไปที่ใบหน้า เลือดตกยางออก จนแทบจะสูญเสียรูปโฉม ล้มลงไปนอนกองนับสิบ เป็นการแสดงความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อ้างอวดดี เสี้ยมสอนศรีภรรยาไม่ให้หือรือกับตนเอง
ด้วยพฤติกรรมเจ้ากี้เจ้าการ ชอบวางอำนาจบาดใหญ่ของ Jake ทำให้ Vickie รู้สึกเหมือนตนเองได้สูญเสียอิสรภาพ กลายเป็นนกในกรงขัง ทั้งๆเธอยังสวยสาว (ขณะนี้ในหนังน่าจะอายุยังไม่ถึง 20 ด้วยกระมัง) จึงอยากออกมาเที่ยวเล่น พบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง แต่กลับถูกพบเจอโดย Joey เข้ามาขัดขวาง พยายามพูดเตือนสติ แต่มันคือการควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่นไม่แตกต่างจากพี่ชาย
ช็อตนี้ให้สังเกตด้านหลังฝ่ายหญิง ห้อมล้อมรอบด้วยกระจกเงา พบเห็นภาพสะท้อนที่ดูเหมือนจนตรอก (ชีวิต)ไร้หนทางออก ถูกควบคุมครอบงำโดยบุรุษ
ในวันที่ฝนตกพรำ Joey แจ้งข่าวร้าวกับ Jake ว่าถ้าต้องการได้รับโอกาสขึ้นชิงแชมป์โลกรุ่น Middleweight จำเป็นต้องล้มมวยพร้อมต่อน้ำหนักให้กับ Billy Fox (รุ่น Light Heavyweight) ซึ่งภายหลังความพ่ายแพ้ได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจ ร่ำไห้ออกมาขนานใหญ่ พร้อมถูกสหพันธ์สั่งแบนอยู่หลายเดือน
จริงๆแล้วเหตุการณ์ล้มมวยครานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่โตอยู่ไม่น้อย ในหนังสือชีวประวัติ Raging Bull: My Story (1970) ก็มีการกล่าวถึงอยู่มาก เพราะพาดพิงสมาชิกกลุ่มมาเฟียใต้ดิน Frank ‘Blinky’ Palermo แต่ผกก. Scorsese เลือกตัดทิ้งประเด็นนี้เพื่อโฟกัสแค่เรื่องราวชีวิตของ Jake ก็วุ่นๆวายๆมากเพียงพอแล้ว
ผมนึกถึง Mean Street (1973) มีใครบางคนริเริ่มคำว่า ‘Mook’ มาวันนี้เป็นคำภาษาอิตาเลี่ยน ‘Mameluke’ แปลว่า a fool, ไอ้โง่ ไอ้งั่ง ก็แล้วแต่จะแปลกัน น่าจะเพี้ยนมาจากภาษาอาราบิก مَمْلُوك อ่านว่า mamlūk แปลว่า slave, possessed
แม้วันชิงแชมป์โลกของ Jake จะฝนตกฟ้าคะนองไม่แตกต่างจากตอนล้มมวย แต่ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างการต่อสู้บนพื้นผ้าใบ คือความหวาดระแวงต่อภรรยา พบเห็นกอดจูบทักทายกับคนแปลกหน้า นั่นสร้างความหงุดหงิด ไม่พึงพอใจ ถึงขนาดตะโกนขึ้นเสียง ไม่รับฟังคำแก้ต่างใดๆ
หนึ่งใน ‘Signature’s Shot’ ของผกก. Scorsese ถ่ายทำแบบ ‘Long Take’ ด้วยกล้อง Steadicam เคลื่อนติดตามจากด้านหลังสู่เบื้องหน้า ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ Jake LaMotta เริ่มจากกำลังเตรียมความพร้อมอยู่ห้องด้านหลัง จากนั้นก้าวออกเดินเข้าสู่ Olympic Auditorium พานผ่านผู้คน มาจนขึ้นบนเวที ระยะเวลาประมาณ 90+ วินาที
ตั้งแต่ที่กรรมการเข้าไปตรวจสอบคู่ชก Marcel Cerdan แล้วพบว่าอีกฝ่ายสู้ต่อไม่ไหว เลยเดินไปเข้ามุมของ Jake LaMotta ประกาศยุติการชก ยกมือให้กับแชมป์โลกคนใหม่ สังเกตว่าตลอดทั้งซีนนี้จะถ่ายภาพระยะประชิดใกล้ (Close-Up) ในแบบสโลโมชั่น (Slow Motion) เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นปฏิกิริยา สีหน้า ความยินดีปรีดา สัมผัสช่วงเวลาแห่งชัยชนะ มาถึงจุดสูงสุดชีวิตแบบไม่ทันตั้งตัว … ดูสภาพยังมึนๆงงๆ นี่ฉันชนะแล้วจริงๆนะหรือ แทบไม่อยากเชื่อว่าจะสามารถทำสำเร็จ
ตอนคาดเข็มขัดแชมป์โลก ผมรู้สึกคุ้นๆชายผิวดำที่ยืนอยู่ด้านขวามือ เลยลองหาข้อมูลพบว่าคือ Coley Wallace (1927-2005) อดีตนักมวยรุ่น Heavyweight เชิญมารับบทเป็น Joe Louis … ในหนังจะมีการถึงไอดอลของ Jake ว่าอยากขึ้นชกกับ Joe Louis แต่น้ำหนักตัวอยู่คนละรุ่น เป็นไปได้ยากที่ Middlewight จะสามารถเอาชนะ Heavyweight
เกร็ด: แชมป์ที่ Jake LaMotta ได้รับจากชัยชนะเหนือ Marcel Cerdan มีทั้งหมดสามสถาบัน
- New York State Athletic Commission (NYSAC)
- National Boxing Association (NBA) [ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น World Boxing Association (WBA)]
- และนิตยสาร The Ring
หลังจากได้แชมป์โลก Jake พยายามปรับจูนสัญญาณโทรทัศน์ สื่อนัยยะถึงการไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกับใคร เต็มไปด้วยความระแวง แม้กระทั่งกับน้องชาย Joey สอบถามอีกฝ่ายว่าความสัมพันธ์ชู้สาวกับภรรยาหรือไม่ นั่นมันเกินกว่าที่อีกฝ่ายจะอดรนทนไหว
แซว: นี่ก็อีกฉากที่ทั้ง De Niro และ Pesci ต่างทำการดั้นสด ‘improvised’ และเพื่อให้ได้ปฏิกิริยาใบหน้ารับไม่ได้ของ Persci จึงมีการปรับเปลี่ยนคำถามไปเรื่อยๆ ซึ่งภาพขณะนี้เบื้องหลัง De Niro พูดถามว่า “Did you fuck your mother?”
เกร็ด: มีคนนั่งนับการใช้คำว่า ‘fuck’ ได้ยินในภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมด 114 ครั้ง ไม่รู้มากถึงสถิติเลยหรือเปล่า (มันคือ ‘trademark’ ของผกก. Scorsese นับตั้งแต่ Mean Streets (1973) ที่ได้เคยสร้างสถิติเอาไว้ก่อนหน้านั้น)
ในบรรดาสารพัดเทคนิคภาพยนตร์ที่ถ่ายทำบนสังเวียนพื้นผ้าใบ ลูกเล่นที่น่าประทับใจมากสุดก็คือ Dolly Zoom หลายคนอาจรับรู้จักในชื่อ Vertigo Shot หรือ Jaws Effect ประกอบด้วยการเคลื่อนเลื่อนกล้องไปข้างหน้า (หรือถอยหลัง) พร้อมๆกับการซูมเข้า (หรือซูมออก) ทำให้ได้ผลลัพท์ที่ดูวูบวาบ เหมือนมีมิติลึกล้ำเข้าไปภายใน (นี่เป็นซีนที่ต้องใช้เวทีมวยขนาดใหญ่กว่าปกติถึงสี่เท่าตัว ไม่เช่นนั้นจะไม่พื้นที่เพียงพอสำหรับกล้องเคลื่อนถอยหลัง)
สำหรับ Raging Bull (1980) ใช้ในขณะที่ Jake LaMotta เผชิญหน้ากับ Sugar Ray Robinson ยกที่สิบสาม ทำการเปิดการ์ด พยายามท้าทายอีกฝ่ายให้ออกหมัด ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อน็อคตนเองล้มลง ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการสังหารโหด ‘Saint Valentine’s Day Massacre of boxing’ ตัดสลับไปมาระหว่างการออกหมัด กระแทกหน้า เลือดสาดกระเซ็น (เหมือนจะได้รับอิทธิพลจากลีลาตัดต่อของ Psycho (1960) อยู่ไม่น้อยเลยละ)
เกร็ด: ในชีวิตจริงจากคลิปที่ผมแนบมาตอนต้น ไฟต์นี้เหมือนว่า Jake LaMotta ใกล้หมดเรี่ยวแรง การ์ดตก เลยโดย Sugar Ray Robinson อัดน่วมจนเกือบล้มลง โชคดีกรรมการยุติการชก และเขาก็ไม่ได้พูดเย้ยหยัน “You never knocked me down.”
จากเคยอยู่จุดสูงสุด เป็นแชมป์โลก แต่งงานภรรยาสวยสาว เป็นเจ้าของกิจการบาร์ มีพร้อมทุกสิ่งอย่าง แต่ชีวิตก็เหมือนการรินแชมเปญช็อตนี้ เทจากแก้วบนไหลลงเบื้องล่าง หลังจากนี้ Jake กำลังจะสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ชีวิตตกต่ำถึงขีดสุด เพราะไม่รู้จักควบคุมอารมณ์/สันชาตญาณของตนเอง
ในชีวิตจริง Jake ติดคุกเพราะถูกกล่าวหาว่าเคยล้มมวย พัวพันกลุ่มมาเฟียใต้ดิน ภายหลังได้รับการปล่อยตัว เพราะมีพยานให้ปากคำว่าไม่จริง แต่ในหนังทำเหมือนแค่คดีปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์เข้าใช้บริการสถานบันเทิง ซึ่งผมมองว่าผกก. Scorsese ต้องการให้ผู้ชมมองความตกต่ำของตัวละครเกิดจาก ‘ตัวตนเอง’ ใช้อารมณ์/สันชาติญาณในการดำรงชีวิต (คือถ้าอ้างอิงตามเหตุการณ์จริง คดีพัวพันกับมาเฟียมันสื่อถึง ‘ปัจจัยภายนอก’ ที่ควบคุมไม่ได้มากกว่า)
การติดคุกครั้งนี้มันจึงเป็นการเผชิญหน้ากับตัวตนเอง สามารถใช้ความมืด(สไตล์หนังนัวร์)เข้าปกคลุม ตัวละครพร่ำรำพัน “Dummy dummy dummy” “Why? Why? Why?” กำหมัดไม่ได้ชกต่อยกับใคร ทำได้แค่เพียงระบายอารมณ์กับกำแพง … เพราะการต่อสู้ภายในจิตใจ ไม่ได้ต่อสู้กับใครนอกจาก ‘ตัวเราเอง’
ณ ลานจอดรถ Jake จู่ๆเดินตรงเข้าหา Joey พยายามจะกล่าวคำขอโทษ เรียกร้องขออภัยสิ่งต่างๆพานผ่านมา แต่ผมว่าผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะรู้สึกได้ว่ามันเหมือนการบีบบังคับ พยายามทำให้น้องชายยินยอมรับ หมอนี่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยสักนิด! แต่ในมุมของผกก. Scorsese ซีนเล็กๆนี้ถือเป็นการไถ่โทษ (redemption) จุดประกายความหวังสำหรับเริ่มต้นชีวิตใหม่
ผมพยายามขบครุ่นคิดว่าทำไมถึงเลือกสถานที่ลานจอดรถ? มันอาจฟังดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่แต่ก็พอถูๆไถๆ รถคือสัญลักษณ์การเดินทาง จอดทิ้งไว้เปรียบดั่งชีวิต/ความสัมพันธ์หยุดนิ่ง หรือก็คือ Jake & Joey ที่ไม่ได้พบเจอกันมานาน หลังจากนี้หลังจากยินยอมพูดคุย ยกโทษให้อภัยกันและกัน พวกเขาก็จะสามารถเริ่มต้นออกเดินทางร่วมกันอีกครั้ง
It wasn’t him, Charley, it was you. Remember that night in the Garden you came down to my dressing room and you said, “Kid, this ain’t your night. We’re going for the price on Wilson.” You remember that? “This ain’t your night”! My night! I coulda taken Wilson apart! So what happens? He gets the title shot outdoors on the ballpark and what do I get? A one-way ticket to Palooka-ville! You was my brother, Charley, you shoulda looked out for me a little bit. You shoulda taken care of me just a little bit so I wouldn’t have to take them dives for the short-end money.
You don’t understand. I coulda had class. I coulda been a contender. I coulda been somebody, instead of a bum, which is what I am, let’s face it. It was you, Charley.
Terry Malloy (Marlon Brando) พูดคุยกับพี่ชาย Charlie (Rod Steiger) จากภาพยนตร์ On the Waterfront (1954)
หลายคนอาจเข้าใจผิดๆครุ่นคิดว่า Robert De Niro ทำการเลียนแบบ Marlon Brando จากภาพยนตร์ On the Waterfront (1954) แต่ในความเป็นจริงมันคือ De Niro เล่นเป็น Jake LaMotta เลียนแบบ Terry Malloy เผื่อใครงงๆลองอ่านความเห็นของนักวิจารณ์ Roger Ebert นี้ดูนะครับ
It’s not De Niro doing Brando, as is often mistakenly said, but De Niro doing LaMotta doing Brando doing Terry Malloy. De Niro could do a “better” Brando imitation, but what would be the point?
นักวิจารณ์ Roger Ebert
นี่เป็นฉากสุดท้าย/วันสุดท้ายของการถ่ายทำ (ทั้งวันถ่ายเพียงซีนนี้ซีนเดียว) ผกก. Scorsese ต้องการให้ De Niro ปรับเปลี่ยนสไตล์การพูด ซึ่งมีการทดลองผิดลองถูกทั้งหมด 19 ครั้ง ก่อนตัดสินใจเลือกฉบับที่ดูจืดชืด เย็นชา ไร้อารมณ์ที่สุดจากเทคที่ 13 เพื่อสะท้อนวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่าง Jake กับน้องชาย Joey ต้องการหวนกลับมาคืนดี แต่ไม่รู้จะแสดงอารมณ์อะไรยังไงออกมา … เห็นว่านี่เป็นประโยคอ้างอิง (Quote) ที่ Jake LaMotta ตัวจริงชื่นชอบมากที่สุดด้วย
เผื่อหลายคนไม่ทันสังเกต หลังเสร็จจากกล่าวคำปลุกใจตนเอง Jake ลุกขึ้นทำท่าออกหมัด เหมือนกำลังซ้อมมวย แต่ขณะนี้คือการเตรียมพร้อมก่อนขึ้นเวทีทอล์คโชว์ (สื่อถึงการต่อสู้บนสังเวียนพื้นผ้าใบ == การแสดงละครเวที เล่นตลก แสดงสดทอล์กโชว์) และคำพูดปลุกใจคือ “I’m the boss. I’m the boss.” ถึงอย่างนั้นเมื่อได้ยินประโยคนี้ ตัวเขากลับไม่อยู่ในเฟรม ไม่เห็นแม้แต่ภาพสะท้อนในกระจก ก็น่าจะสื่อว่าความเป็นหัวหน้า จอมบงการ ทิฐิของตัวละครกำลังค่อยๆสูญหายไป
ตัดต่อโดย Thelma Schoonmaker (เกิดปี 1940) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Algiers ขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของ French Algeria, บิดาทำงานบริษัท Standard Oil Company เลยมีโอกาสเดินทางไปหลายๆประเทศ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ย้ายไปอาศัยอยู่บนเกาะ Aruba ในทะเล Caribbean (อาณานิคมของ Holland) มีโอกาสกลับสู่สหรัฐตอนวัยรุ่น ค.ศ. 1955 เลยประสบปัญหา ‘cultural shock’ เข้าศึกษาต่อรัฐศาสตร์และภาษารัสเซีย Cornell University จบออกมาทำงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เพราะเธอแสดงออกต่อต้านสงครามเวียดนาม ให้การสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวแรงงาน เลยจำต้องลาออกมาหางานใหม่ พบเห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์ The New York Times รับสมัครเด็กฝึกงานตัดต่อ หลังจากนั้นสมัครเขียนเรียนคอร์สภาพยนตร์ระยะสั้นที่ New York University ทำให้มีโอกาสรับรู้จัก Martin Scorsese ช่วยตัดต่อหนังสั้น What’s a Nice Girl Like You Doing in a Place Like This? (1963), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Who’s That Knocking at My Door (1967), แล้วมีโอกาสตัดต่อสารคดี Woodstock (1970) คว้ารางวัล Oscar: Best Documentary Features และยังได้เข้าชิง Best Film Editing ครั้งแรก
ในช่วงทศวรรษ 70s จริงๆแล้ว Schoonmaker อยู่เบื้องหลังช่วยงานตัดต่อผลงานของผกก. Scorsese แทบทุกเรื่อง แต่ที่ไม่ปรากฎเครดิตเพราะ Motion Picture Editors Guild มีข้อบังคับเคร่งเครัดเกี่ยวกับภาพยนตร์ขนาดยาว (Feature Length) ว่าจักต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น (Who’s That Knocking at My Door (1967) เป็นโปรเจคอินดี้ที่ไม่ได้พึ่งพาเงินทุนจากสตูดิโอ และ Woodstock (1970) ถือเป็นภาพยนตร์สารคดี จึงไม่เข้ากฎเกณฑ์ของ MPEG) ซึ่งกำหนดว่าต้องผ่านการฝึกงานห้าปี (Apprentice Editor) แล้วทำงานผู้ช่วยอีกสามปี (Assistant Editor)
And I just couldn’t see why I, who had been a full editor and had been nominated for an Academy Award, should suddenly have to become an apprentice. …And of course, they couldn’t see the sense of why I, who had never been in the union all those years and had never paid dues all those years and had never served my time in their sense, should be allowed as a full editor. So it was quite understandable on both sides. It was just insane.
Thelma Schoonmaker
ในที่สุด Schoonmaker ก็สามารถได้รับเครดิตตัดต่อภาพยนตร์ขนาดยาวตั้งแต่ Raging Bull (1980) และกลายเป็นขาประจำผกก. Scorsese คว้ารางวัล Oscar: Best Film Editing ทั้งหมดสามครั้งจาก Raging Bull (1980), The Aviator (2004) และ The Departed (2006)
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Jake LaMotta เริ่มต้น ค.ศ. 1964 ดูราวกับกำลังสัมภาษณ์ก่อนขึ้นเวทีทอล์คโชว์ จากนั้นทำเหมือนเล่าย้อนอดีต (Flashback) ไล่ตั้งแต่ ค.ศ. 1944 นำเสนอเหตุการณ์คู่ขนานระหว่างเรื่องราวชีวิต กับการต่อสู้บนสังเวียนพื้นผ้าใบ เปรียบเทียบได้ประมาณนี้ …
- ความพ่ายแพ้แรกของ Jake ต่อ Jimmy Reeves = เลิกราหย่าร้างกับภรรยาคนแรก Irma
- ตกหลุมรักแรกพบ Vickie = ซ้อมมวยกับ Joey
- เกี้ยวพาราสีจนได้ครอบครอง ร่วมรักหลับนอน = ชัยชนะเหนือ Sugar Ray Robinson (ครั้งแรกครั้งเดียว)
- Jake ต้องอดกลั้นการยั่วยวนของ Vickie = พ่ายแพ้คะแนน Sugar Ray Robinson
- ระหว่างการแต่งงาน = ร้อยเรียงสารพัดชัยชนะจนแทบไร้คู่ต่อสู้ในรุ่น Middleweight
- เริ่มเกิดความหวาดระแวงต่อ Vicke = ต่อยนักมวย Tony Janiro จนเสียความหล่อ
- สร้างความไม่พึงพอใจให้กลุ่มมาเฟียใต้ดิน = เลยถูกบังคับให้ล้มมวยข้ามรุ่นกับ Billy Fox
- ความหวาดระแวงของ Jake มาถึงจุดสูงสุด = คว้าแชมป์โลกด้วยการเอาชนะ Marcel Cerdan
- Jake ลงไม้ลงมือ ทำร้ายร่างกายน้องชาย Joey เพราะครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายแอบสานสัมพันธ์กับภรรยา แต่ครั้งนี้ยังสามารถคืนดีกับภรรยา = ป้องกันแชมป์โลกกับ Laurent Dauthuille
- พยายามติดต่อหา Joey แต่ยังไม่สามารถให้อีกฝ่าย พวกเขาจึงถือว่าตัดขาดความสัมพันธ์ = สูญเสียแชมป์โลกให้กับ Sugar Ray Robinson
หลังเลิกอาชีพชกมวย Jake กลายเป็นเจ้าของกิจการบาร์ ขึ้นเวทีเล่นตลก แสดงสดทอล์กโชว์ แล้วถูกภรรยาฟ้องหย่า ตำรวจจับกุมข้อหาพรากผู้เยาว์ ติดคุกติดตาราง เริ่มเกิดความสำนึกผิด หลังได้รับการปล่อยตัวพยายามหาหนทางคืนดีกับน้องชาย Joey และหนังจบลงด้วยการเตรียมตัวขึ้นทำการแสดงทอล์กโชว์ (จากตอนต้นเรื่อง)
เกร็ด: บทหนังของ Paul Schrader จะมีการเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน แต่ผกก. Scorsese และนักตัดต่อ Schoonmaker ตัดสินใจปรับเปลี่ยนให้เหลือเพียงเล่าย้อนอดีตลากยาวเพียงครั้งเดียว เพื่อให้ผู้ชมสามารถเปรียบเทียบคู่ขนานระหว่างเรื่องราวชีวิต = การต่อสู้บนสังเวียน (คือถ้ามีเหตุการณ์จากอนาคตแทรกเข้ามา อาจจะสร้างความสับสนมึนงง ไม่รู้จะเปรียบเทียบอะไรกันยังไง)
จริงๆหนังสามารถแบ่งออกเป็นองก์ๆได้แบบทั่วไป ผมจะแยกแยะไว้ด้วยเพื่อว่าจะได้เห็นโครงสร้างของหนังชัดขึ้น
- อารัมบท Jake จากอนาคต
- เริ่มต้น-สิ้นสุด, เลิกราภรรยาเก่า-แต่งงานเมียใหม่
- Jake ระบายความพ่ายแพ้แรกบนสังเวียนกับภรรยา Irma ไม่นานก็เลยต้องเลิกราหย่าร้าง
- Jake พบรักครั้งใหม่กับ Vickie เด็กหญิงอายุ 15 ปี ผ่านการแนะนำของ Joey
- เกี้ยวพาราสี พิสูจน์ความอดทน จนได้ครองคู่แต่งงาน Jake & Vickie
- น้ำตาลเริ่มขม
- หลังแต่งงาน Jake เริ่มมีความหวาดระแวงต่อ Vickie พูดบอกกับ Joey กลัวว่าเธอจะคบชู้นอกใจ
- Joey มีเรื่องกับมาเฟีย เพราะต้องการปกป้อง Jake
- เพื่อแลกกับโอกาสชิงแชมป์โลก Middleweight ทำให้ Jake ต้องยอมล้มมวย
- ในที่สุดก็มีโอกาสชิงแชมป์โลก และได้รับชัยชนะ ถึงจุดสูงสุดในอาชีพนักมวย
- สาละวันเตี้ยลง จนสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง
- ความหวาดระแวงของ Jake มาถึงจุดสูงสุดเช่นกัน ถึงขนาดลงไม้ลงมือ ทำร้ายร่างกายน้องชาย Joey
- พ่ายแพ้การต่อสู้ สูญเสียแชมป์โลกให้กับ Sugar Ray Robinson
- หลังเลิกชกมวยซื้อต่อกิจการบาร์ ขึ้นเวทีเล่นตลก แสดงสดทอล์กโชว์ ขณะเดียวกันถูกภรรยาฟ้องหย่า
- ถูกตำรวจจับกุมข้อหาพรากผู้เยาว์ ทำให้ต้องติดคุกติดตาราง
- ปัจฉิมบท
- หลังได้รับการปล่อยตัวหวนกลับ Manhattan พยายามจะคืนดีกับน้องชาย Joey
- ย้อนกลับสู่อารัมบท Jake เตรียมตัวขึ้นทำการแสดงทอล์กโชว์
เท่าที่ผมอ่านความคิดเห็นของนักวิจารณ์หลายๆสำนึก ความล้มเหลวของ New York, New York (1977) ส่วนหนึ่งเกิดจากผกก. Scorsese ให้อิสระนักแสดงในการดั้นสด ‘improvised’ มากเกินไป (เห็นว่าตอนถ่ายทำ Marty ก็เริ่มเล่นยาขนานใหญ่) ซึ่งพอเข้าสู่กระบวนการตัดต่อ ค้นพบความยุ่งยากลำบากในการควบคุมทิศทางเรื่องราว จนทุกสิ่งอย่างเตลิดเปิดเปิงไปไกล
ในขณะที่ Raging Bull (1980) แม้ก็เต็มไปด้วยการดั้นสด แต่ด้วยความทุ่มเท-มุ่งมั่น-ตั้งใจของผกก. Scorsese ยามค่ำคืนไม่หลับไม่นอน (คล้ายๆแบบ Travis Bickle จาก Taxi Driver (1976)) รับรู้เป้าหมาย ความต้องการของตนเอง และส่วนหนึ่งอาจเพราะ Schoonmaker รู้จักกันมานาน มองตารู้ใจ ช่วยกันปรับแก้ไข จนได้ผลลัพท์ที่น่าพึงพอใจ
ไฮไลท์การตัดต่อต้องยกให้ระหว่างการต่อสู้บนสังเวียนพื้นผ้าใบ แพรวพราวด้วยลูกเล่นไม่น้อยกว่าการถ่ายภาพ Jump Cut, Match Cut, Parallel Cut, Dynamic Cut, Cut Away, Fast-Cutting, Freeze Frame, Montage ฯลฯ จุดประสงค์เพื่อสร้างความตื่นเต้น รุกเร้าใจ ราวกับโลกคนละใบจากชีวิตปกติ เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรุนแรง เวทีสำหรับประหัดประหาร ต้องมีผู้แพ้-ชนะ ตกตายกันไปข้าง
เกร็ด: เมื่อปี ค.ศ. 2012 สมาคม Motion Picture Editors Guild (MPEG) ได้ทำการจัดอันดับ The 75 Best Edited Films Of All Time (จริงๆต้องเพิ่มคำว่า ‘เฉพาะภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน’ เข้าไปด้วย) โดยเลือกให้ Raging Bull (1980) ติดอันดับ #1
หนังไม่มีเครดิตเพลงประกอบ เพราะผกก Scorsese ต้องการเลือกใช้บทเพลงชื่นชอบส่วนตัว ได้ยินจากวิทยุ ผับบาร์ สระว่ายน้ำ ฯ ในลักษณะของ ‘diegetic music’ สร้างบรรยากาศเบาๆคลอประกอบพื้นหลัง บางเนื้อเพลงก็จะมีเนื้อคำร้องความสอดคล้องเรื่องราวขณะนั้นๆอีกด้วย
สำหรับ Main Theme เลือกใช้บทเพลง Intermezzo นำจากอุปรากรหนึ่งองก์ Cavalleria rusticana (1890) แปลว่า Rustic Chivalry ประพันธ์โดย Pietro Mascagni (1863-1945) คีตกวีสัญชาติอิตาเลี่ยน ดัดแปลงจากบทละครเวที/เรื่องสั้นแต่งโดย Giovanni Verga ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1883
เรื่องราวของชายหนุ่มบ้านนอกคอกนา Turiddu Macca ตกหลุมรักหญิงสาวสวย Lola หลังกลับจากรับใช้ชาติ รับรู้ว่าเธอแต่งงานกับ Alfio จึงปล่อยตัวปล่อยใจให้หญิงสาวอีกคน Santuzza สร้างความไม่พึงพอใจให้แก่อดีตคนรัก ครุ่นคิดว่าฝ่ายหญิงไม่เหมาะสมสำหรับเขา เนื่องจากสามีไม่ค่อยอยู่บ้านจึงแอบสานสัมพันธ์ คบชู้นอกใจ จนกระทั่ง Santuzza ตระหนักว่าตนเองตั้งครรภ์ จึงพยายามอ้อนวอนร้องขอสามีให้หวนกลับมา แต่พอเขาตอบปฏิเสธจึงนำความไปบอก Alfio ประกาศว่าจะทำการล้างแค้น ตัดสินใจท้าดวล Turiddu … ตอนจบ Turiddu เป็นผู้ปราชัย ถูกสังหารสิ้นใจในอ้อมอกหญิงสาวในหมู่บ้าน
สำหรับบทเพลง Intermezzo ดังขึ้นหลังจาก Santuzza บอกเล่าความจริงทั้งหมดกับ Alfio ประกาศว่าจะทำการล้างแค้น สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้กับฝ่ายหญิง นั่นไม่ใช่สิ่งที่ตนเองต้องการ พยายามอ้อนวอนร้องขอไม่ให้เขาทำเช่นนั้น แต่ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข, ท่วงทำนองสะท้อนความเศร้าหมองของ Santuzza ฉันไม่น่าบอกเรื่องราวทั้งหมดแก่เขาเลย
ผมมองเหตุผลที่ผกก. Scorsese เลือกใช้บทเพลงนี้เป็น Main Theme ต้องการสะท้อนความสิ้นหวังของ Jake LaMotta (และตัวของ Marty ขณะนั้น) ความอิจฉาริษยา อารมณ์ชั่ววูบนำไปสู่การสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ขณะที่ภาพสโลโมชั่นซ้อมเต้นบนเวที นั่นคือการเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องราวหายนะที่กำลังจะบังเกิดขึ้น
เกร็ด: บทเพลงนี้ยังเคยถูกนำไปใช้ช่วงท้ายของภาพยนตร์ The Godfather Part III (1990)
ภาพงานแต่งงานของ Jake และ Vickie คลอประกอบด้วยบทเพลง Barcarolle จากอุปรากรสององก์ Silvano (1895) แต่งโดย Pietro Mascagni, คำร้อง (Libretto) โดย Giovanni Targioni-Tozzetti, ดัดแปลงจากนวนิยายของ Alphonse Karr
เรื่องราวแทบจะโคลนนิ่งมาจาก Cavalleria rusticana (1890) เปลี่ยนพื้นหลังมาเป็นหมู่บ้านชาวประมงหาปลา Silvano ตกหลุมรัก Mathilde แต่เธอกลับนอกใจเขาไปแต่งงานกับ Renzo แค่ตอนจบสลับเปลี่ยนผู้เสียชีวิตเท่านั้นเอง
บทเพลงมีท่วงทำนองเศร้าโศก สัมผัสความสูญเสีย แต่กลับดังขึ้นในซีเควนซ์งานแต่งงาน (ด้วยฟีล์มสี) ที่ควรมีความสนุกสนานครื้นเครง นั่นเพราะหนังนำเสนอซีเควนซ์นี้ออกมาในลักษณะอดีตเลือนลาง วันวานพานผ่าน ภาพความทรงจำที่ไม่มีวันหวนย้อนกลับคืนมา
อีกหนึ่งบทเพลงของ Pietro Mascagni ที่สร้างความฮึกเหิม ลำพอง ดังขึ้นขณะ Jake LaMotta เดินเข้าสู่สนามนัดชิงแชมป์โลก ชื่อเพลง Intermezzo จากอุปรากรโศกนาฎกรรมสี่องก์ Guglielmo Ratcliff (1895) แปลว่า Ratcliff’s Dream ดัดแปลงจากบทละครเยอรมัน Wilhelm Ratcliff (1822) ประพันธ์โดย Heinrich Heine
เรื่องราวของอุปรากรก็คล้ายๆเดิมอีกนะแหละ (แต่เรื่องนี้เขียนขึ้นก่อน Cavalleria rusticana (1890)) เปลี่ยนชื่อตัวละครมาเป็น Douglas ครองรักกับ Maria แต่เธอคบชู้กับ Ratcliff ซึ่งบทเพลงนี้ดังขึ้นระหว่าง Douglas เดินทางมาถึง Black Rock เพื่อท้าดวลกับ Ratcliff สอดคล้องเข้าเรื่องราวของหนังที่ Jake LaMotta ก้าวเดินสู่สนามนัดชิงแชมป์โลกกับ Marcel Cerdan
เกร็ด: ในบรรดาอุปรากรของ Pietro Mascagni ผลงานโด่งดังที่สุดคือ Cavalleria rusticana (1890) แต่เรื่องที่เจ้าตัวโปรดปราน และครุ่นคิดว่าคือ ‘magnum opus’ ของตนเองนั้นคือ Guglielmo Ratcliff (1895)
Jake LaMotta เป็นบุคคลใช้ชีวิตตอบสนองตัณหา อารมณ์ อยากได้อะไรต้องได้ ไม่ได้ดั่งใจก็ใช้ความรุนแรง ชอบการบีบบังคับ กดขี่ข่มเหง ดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองสันชาตญาณ ไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉาน … คงไม่มีใครถกเถียงว่าชายคนนี้คือขยะสังคม (Scum) สมควรต้องตีตนออกห่างไกล
บนสังเวียนพื้นผ้าใบ การใช้ความรุนแรง ต่อสู้ชกต่อย เลือดอาบไหลนอง นั่นคือสิ่งที่สังคมให้การยินยอมรับ เพราะนักกีฬาทั้งสองต่างเตรียมตัวเตรียมใจ ปฏิบัติทำตามข้อตกลง กติกาสากล ให้เกียรติคู่แข่งขัน มีความเป็นมืออาชีพ เพื่อชัยชนะ ชื่อเสียงเงินทอง เกียรติยศความสำเร็จ ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ พิสูจน์การมีตัวตนบนโลกใบนี้
ภาพยนตร์ก็เฉกเช่นเดียวกับสังเวียนพื้นผ้าใบ มันคือสื่อศิลปะ ความบันเทิง สะท้อนความสนใจของผู้สร้าง จึงไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ อิสรภาพศิลปินในการสรรค์สร้างผลงาน ดี-ชั่ว งดงาม-อัปลักษณ์ เรื่องราวของ Raging Bull (1980) แม้เต็มไปด้วยความรุนแรง พฤติกรรมโฉดชั่วร้าย สังคมไม่ให้การยินยอมรับ แต่อาจมีคนบางกลุ่มสามารถปืนป่ายบันได เข้าใจเหตุผล พบเห็นสรวงสวรรค์ เป้าหมายแท้จริงของผู้สร้าง
ผกก. Scorsese เคยรู้สึกพ่ายแพ้ ซึมเศร้าโศก สูญเสียใจอย่างหนักกับความล้มเหลวย่อยยับของ New York, New York (1977) ยินยอมรับความจริงไม่ได้ ถึงขนาดลงโทษทัณฑ์ตนเองด้วยการเสพโคเคน(เกือบจะ)เกินขนาด ต้องการจะจบสิ้นชีวิตลงในบัดดล ถ้าไม่เพราะได้รับการเตือนสติจากเพื่อนสนิท De Niro ทำให้ตระหนักว่าฉัน(ขณะนั้น)ทำตัวดื้อรั้น เอาแต่ใจ อยู่ในจุดตกต่ำสุดในชีวิตเหมือน Jake LaMotta เลยยินยอมสรรค์สร้าง Raging Bull (1980) ด้วยความมุ่งมั่น จริงจัง ใส่ทุกสิ่งอย่างเท่าที่มี ดึกดื่นไม่หลับนอน หมกตัวอยู่ในห้องตัดต่อกับ Thelma Schoonmaker เผื่อว่านี่อาจคือผลงานเรื่องสุดท้ายก่อนตาย
I put everything I knew and felt into that film, and I thought it would be the end of my career. It was what I call a kamikaze way of making movies: pour everything in, then forget all about it and go find another way of life.
I made it as if this was the end of my life. Suicide film. I didn’t care if I made another movie … In a way, it wiped me out. I had to start all over and learn again. Every day on the shoot, ‘This is the last one, and we’re going for it.’”
Martin Scorsese
คล้ายๆกับ Taxi Driver (1976) ที่นักเขียน Paul Schrader ให้คำนิยามว่าบทหนังตนเองว่าได้ช่วยชีวิต “exorcise the evil I felt within me.” ภาพยนตร์ Raging Bull (1980) เปรียบเสมือนการไถ่โทษ/ไถ่บาป (redemption) ของผกก. Scorsese หลังพานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย ตระหนักได้ถึงความสำคัญของชีวิต สะท้อนผ่านเรื่องราวของ Jake LaMotta ก้าวสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงาน แต่เพราะความหลงระเริง ปล่อยตัวปล่อยใจ หวาดระแวงคนข้างกาย ทำให้เกือบหมดสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง
ปัจฉิมบทของหนังอาจมีทั้งคนที่ชอบ-ไม่ชอบ หลายคนอาจไม่คิดว่าคนอย่าง Jake LaMotta จะสามารถกลับตัวกลับใจ แต่ผกก. Scorsese ใกล้ชิดศาสนามาตั้งแต่เด็ก จึงมีความเชื่อมั่น มองโลกในแง่ดี กับทั้ง Jake และตนเอง ย่อมเรียนรู้ข้อผิดพลาด “If you don’t accept yourself, you self-destruct.” พบเห็นประกายแสงสว่างนำทาง ก้าวออกเดิน เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
Whether or not he is a sinner, I do not know
John IX, 24-26 ฉบับ New English Bible
All I know is this: Once I was blind and now I can see.
เกร็ด: Jake LaMotta เมื่อได้รับชมภาพยนตร์ครั้งแรก ถึงกับบ่อน้ำตาแตก เพิ่งตระหนักได้ครั้งแรกอย่างจริงจัง สอบถามอดีตภรรยา Vickie นี่ฉันเลวร้ายขนาดนั้นเชียวหรือ เธอตอบว่า “You were worse!”
แม้ตอนจบจะมีทิศทางไปสู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ผกก. Scorsese กลับไม่ค่อยพึงพอใจตัวหนังสักเท่าไหร่ เหมือนบางสิ่งอย่างขาดหายไป ยังไม่ได้ผลลัพท์คาดหวังไว้ ซึ่งกว่าที่เขาจะสามารถเติมเต็มความรู้สึกดังกล่าว ก็น่าจะตอนสรรค์สร้าง The Last Temptation of Christ (1988) ระบายความเจ็บปวด อัดอั้น ทัณฑ์ทรมาน
At the end of Raging Bull you have Jake LaMotta looking in the mirror and doing the speech from On the Waterfront. For me, here was a person who had gone through terrible times, had treated himself badly, treated everybody else around him badly, and then evolved to the point where he was at some sort of peace with himself and the people around him. But I didn’t get there. I had become manic again.
Martin Scorsese
จากทุนสร้างตั้งต้น $6 ล้านเหรียญ พุ่งทะยานขึ้นสามเท่าตัว $18 ล้านเหรียญ เสียงตอบรับเมื่อตอนออกฉายช่วงแรกๆออกไปทางผสมๆ ผู้ชมไม่ค่อยประทับใจความรุนแรงของหนังสักเท่าไหร่ แตกต่างตรงกันข้ามจาก Rocky (1976) ที่เป็นหนังครอบครัวเกินไป เลยสามารถทำเงินได้แค่ $23.38 ล้านเหรียญ ถือว่าขาดทุนย่อยยับพอสมควร
ถึงอย่างนั้นกระแสจากนักวิจารณ์กลับค่อยๆดีเพิ่มขึ้นตามลำดับ หลายสำนักยกให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี เลยมีลุ้นรางวัลทั้ง Oscar และ Golden Globe หลายสาขาทีเดียว
- Academy Award
- Best Picture พ่ายให้กับ Ordinary People (1980)
- Best Director
- Best Actor (Robert De Niro)**คว้ารางวัล
- Best Supporting Actor (Joe Pesci)
- Best Supporting Actress (Cathy Moriarty)
- Best Cinematography
- Best Film Editing**คว้ารางวัล
- Best Sound
- Golden Globe Awards
- Best Motion Picture – Drama
- Best Actor in a Motion Picture – Drama (Robert De Niro)**คว้ารางวัล
เกร็ด: งานประกาศรางวัล Oscar ปีนี้ดั้งเดิมจะจัดขึ้นวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1981 แต่ดันเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารปธน. Ronald Regan เลยจำต้องเลื่อนไปหนึ่งวัน 31 มีนาคม ซึ่งผู้ร้าย John Hinckley ให้การว่าได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Taxi Driver (1976) เพราะต้องการสร้างความประทับใจแก่ Jodie Foster นั่นทำให้ระหว่างงานประกาศรางวัล เมื่อผกก. Scorsese แวะออกไปเข้าห้องน้ำ ถูกห้อมล้อมโดย FBI เชิญตัวไปให้ปากคำ พยายามต่อรองขอฟังประกาศสองรางวัลสุดท้าย (Best Picture กับ Best Director) เพราะครุ่นคิดว่าตนเองจะมีลุ้น แต่พวกเขากลับไปล้วงข้อมูลมาเรียบร้อยแล้ว “No need, we already asked: they both go to Ordinary People (1980).”
ถึงแม้จะไม่ได้คว้ารางวัลใหญ่ Oscar แต่กาลเวลาก็ทำให้ Raging Bull (1980) ได้รับการยกย่อง Modern Classic ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี แต่ยังทั้งทศวรรษ 1980s รวมถึงติดอันดับ “Greatest Film of All-Time” จากหลากหลายสำนัก
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 อันดับ 53 (ร่วม)
- Sight & Sound: Director’s Poll 2012 อันดับ 12
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 อันดับ 129 (ร่วม)
- AFI: Greatest American Films Of All Time 1998 อันดับ 24
- AFI: Greatest American Films Of All Time 1998 อันดับ 4
- AFI: 100 Years… 100 Thrills อันดับ 51
- AFI: 10 Top 10 หมวดหมู่กีฬา (Sport) อันดับ 1
- TIME: All-TIME 100 Movies 2005 ไม่มีจัดอันดับ
- Empire: The 500 Greatest Movies of All Time 2008 อันดับ 11
- Total Film: The 100 Greatest Movies of All Time 2010 ไม่มีจัดอันดับ
- Entertainment Weekly: 100 Greatest Movies of All Time 2014 อันดับ 5
- BBC: 100 Greatest American Films 2015 อันดับ 29
หนังได้รับการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง ออกฉบับครบรอบ Aniversary มากมายจนผมขี้เกียจหาข้อมูล เอาเฉพาะล่าสุดก็คือ 4K Ultra HD ผ่านการตรวจอนุมัติโดยผกก. Scorsese แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2021 สามารถหาซื้อ Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel (อย่าไปเสียเวลาหาซื้อฉบับของ MGM คุณภาพต่ำต้อยด้อยกว่ามากๆ)
ผมเคยเต็มไปด้วยอคติต่อ Raging Bull (1980) เพราะไม่เข้าใจว่าหนังจะนำเสนอความรุนแรงสุดโต่งเหล่านั้นไปเพื่ออะไร แต่การรับชมครั้งนี้สามารถรู้แจ้งเห็นจริงเสียที จากช่วงท้ายดูคล้ายๆการไถ่โทษ (redemption) ซึ่งสามารถใช้เป็นบทเรียนสอนชาย ควรค่าแก่การ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
การนำเสนอสารพัดความรุนแรงสุดโต่ง ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) ถ้าคุณรู้สึกว่ามันมากเกินไป ขยะแขยงเกินกว่าจะรับไหว แสดงว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บรรลุจุดประสงค์แล้วนะครับ! คือสามารถสร้างความตระหนักให้กับผู้ชม เกิดอคติต่อต้านความรุนแรง ระวังการใช้อารมณ์มากเกินไป ควรไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่น รับฟังคำแนะนำจากคนรอบข้าง และรู้จักประณีประณอม อ่อนน้อมกับทุกสรรพสิ่งอย่าง
ถ้าว่ากันด้วยลูกเล่น แพรวพราวเทคนิคภาพยนตร์ Raging Bull (1980) ถือว่าทรงคุณค่าทางศาสตร์ศิลปะมากกว่า แต่ในแง่สัมผัสอารมณ์ เรื่องราวการเข้าถึงผู้ชมวงกว้าง หลายๆสำนักมักโหวตให้ Taxi Driver (1976) อันดับสูงกว่า … ก่อนหน้านี้ผมเคยชื่นชอบประทับใจ Taxi Driver แต่วันนี้เริ่มเอนเอียงไปทาง Raging Bull (เพราะเพิ่งเข้าใจว่าหนังต้องการจะสื่ออะไร) เอาว่ามันคือสองผลงานชิ้นเอก มาสเตอร์พีซของ Martin Scorsese แค่นั้นก็เพียงพอแล้วละ
I’m proud of both of them, but I prefer Taxi Driver as a movie. Raging Bull is a technically perfect movie, it’s just that I got more emotion from Taxi Driver.
Martin Scorsese
จัดเรต 18+ กับสารพัดความรุนแรง จากอารมณ์อิจฉาริษยา
คำโปรย | Raging Bull พุ่งเข้าใส่ด้วยอารมณ์ เผชิญหน้าทุกคนด้วยความรุนแรง แม้ได้รับชัยชนะบนสังเวียน แต่ท้ายสุดอาจไม่หลงเหลืออะไร ภาพยนตร์แห่งการไถ่บาปของผู้กำกับ Martin Scorsese
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | เห็นทางธรรม
Raging Bull (1980) : Martin Scorsese ♠♠♠♠♠
(25/12/2016) หนึ่งในภาพยนตร์ Masterpiece ของ Martin Scorsese กับความหลงใหล ครอบงำ (Obsession) ต้องทำให้ได้ของ Robert De Niro กลายมาเป็นชีวประวัติของ Jake LaMotta นักมวยอาชีพ แชมป์โลกมิดเดิ้ลเวท เจ้าของฉายาไอ้กระทิงดุ ชอบเอาหัวพุ่งขวิด ทั้งบนเวทีและในชีวิตจริง
ผมเคยรับชมหนังเรื่องนี้เมื่อครั้นนานมาแล้ว จำได้รางๆว่าไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ มาดูครั้งนี้ก็ยังคงส่ายหัวอีกเช่นกัน คือถ้าคุณไม่ได้มีชีวิตบัดซบๆแบบ Jack LaMotta หรือ Martin Scorsese หรือ Robert De Niro คงไม่มีทางที่จะชื่นชอบ หลงใหล ครอบงำ (Obsession) หนังเรื่องนี้ได้เป็นแน่
Martin Scorsese เป็นผู้กำกับที่ชื่นชอบทำหนังเกี่ยวกับ ‘คน’ ประเภทที่มีปมปัญหาอะไรสักอย่าง ไม่ว่ากับครอบครัว กับพ่อแม่ หรือกับตัวเอง ลองสังเกตจาก
– Taxi Driver (1976) คงไม่มีใครบอกว่า Travis Bickle มันสติดีนะครับ
– Gangs of New York (2002) William ‘Bill the Butcher’ Cutting แค่ชื่อก็อันตรายแล้ว
– The Aviator (2004) พระเอก Howard Hughes ช่วงท้ายย้ำคิดย้ำทำ จนกลายเป็นบ้า
– The Wolf of Wall Street (2013) ฉลาดแกมโกง Jordan Belfort รวยแล้วก็ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง
ฯลฯ
ผมเคยไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของ Marty ที่บอกว่า ความสนใจของเขาคือ Character Driven ให้ตัวละครเป็นผู้นำพาทิศทางของหนัง, คิดว่าอิทธิพลนี้มาจาก ปัญหาของตัวเขาเอง มองง่ายๆอย่างชีวิตคู่ Marty แต่งงานทั้งหมด 5 ครั้ง (แทบจะทศวรรษละคน) ไฉนเป็นเช่นนั้นละ? แสดงว่าเขาต้องมีปัญหา เรื่องการยอมรับ และเข้ากับผู้อื่น (โดยเฉพาะผู้หญิง) ตัวละครที่มีความผิดแปลกจากสังคม จึงถือเป็นพวกเดียวกับเขา ทำความเข้าใจกันได้ง่าย
แต่สิ่งที่ทำให้ Raging Bull กลายเป็นอมตะ เพราะไม่ใช่แค่เฉพาะความเป็นศิลปินของ Martin Scorsese เท่านั้น แต่ยังรวมถึง Robert De Niro ที่ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน
คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีแรกของโปรเจคนี้คือ Robert De Niro ได้มีโอกาสอ่านหนังสืออัตชีวประวัติ Raging Bull: My Story ขณะกำลังถ่ายทำ The Godfather Part II (1974) ที่อิตาลี, แม้ว่าสไตล์การเขียนจะไม่น่าพึงพอใจ แต่เขาสนใจ Jake LaMotta จึงตัดสินใจนำหนังสือเล่มนี้ไปให้ Martin Scorsese ถึงกองถ่าย Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974) แต่เขาบอกปัดไม่สนใจ ไม่เข้าใจว่า Raging Bull เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร และไม่เคยคิดทำหนังเกี่ยวกับกีฬา โดยเฉพาะมวย เพราะมันเป็นกีฬาที่น่าเบื่อสิ้นดี
“A boxer? I don’t like boxing…Even as a kid, I always thought that boxing was boring… It was something I couldn’t, wouldn’t grasp.”
ในยุค 70s Martin Scorsese ได้ฉายาว่า ‘movie brats’ ร่วมกับ Brian De Palma, Francis Ford Coppola, George Lucas และ Steven Spielberg คือมีหนังทั้งที่ทั้งประสบความสำเร็จอย่าง Taxi Driver (1976) และล้มเหลวโดยสิ้นเชิงกับ New York, New York (1977) ชีวิตปรับตัวกับชื่อเสียงขึ้นๆลงๆไม่ทัน ทำให้ครั้งหนึ่ง Marty หันไปพึ่งพาโคเคนอย่างหนัก (จนเลิกกับภรรยาคนที่ 2) เสพเกินขนาดจนเกือบตาย ขณะนอนในโรงพยาบาลเริ่มตระหนักคิดได้ เข้าใจความหมายของ Raging Bull ซึ่งเรื่องราวของ Jack LaMotta ถือได้ว่าช่วยชีวิตเขาไว้เลย เริ่มมองเห็นความสำคัญของกีฬามวย ‘ว่าเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันอะไรทุกสิ่งอย่างในชีวิต’ เปรียบเทียบ ‘การสร้างหนัง ก็เหมือนการต่อสู้บนเวทีตลอดเวลา’
ฟังดูไม่น่าเชื่อ กับหนังมวยเรื่องนี้ ที่ได้รับการยกย่องสูงสุด (ว่าเป็นหนังเกี่ยวกับมวยที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก) แต่ผู้กำกับกลับไม่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้เลยแม้แต่น้อย, Marty ให้สัมภาษณ์ใน เบื้องหลังของแผ่น DVD หนัง Raging Bull บอกว่าจนถึงปัจจุบัน เขาก็ไม่เคยชื่นชอบกีฬาชนิดนี้เลย แม้ตอนเตรียมงานจะต้องศึกษาค้นคว้าทำความเข้าใจ เข้าชมการชกมวยเพื่อซึมซับบรรยากาศการต่อสู้ที่ Madison Square Garden แต่พอเห็นเลือดไหลสดๆจากฟองน้ำหยดลงถัง เขาคิดถามตัวเอง ‘นี่หรือคือสิ่งที่เรียกว่า กีฬา!’ (And they call this sport.)
ผมขอชี้แจงรสนิยมตัวเองที่ตรงนี้เลยแล้วกัน (เพราะคิดว่านี่น่าจะเป็นหนังเกี่ยวกับมวย เรื่องที่มีคนอ่านมากที่สุด) โดยส่วนตัวผมไม่ชอบกีฬามวยนี้เลยนะครับ ออกไปทางต่อต้านรุนแรง เพราะนี่เป็นกีฬาที่แฝงความรุนแรง อันตรายไร้สาระที่สุด, ผมมองว่า มวย เป็นกีฬาของคนทั้ง Maso และ Sado ผู้ชื่นชอบความเจ็บปวดของตนเอง และสุขใจเมื่อเห็นผู้อื่นทนทุกข์ทรมาน, กับนักมวย มันแทบเป็นไปไม่ได้ เมื่ออยู่บนเวที จะแสดงท่าทีอ่อนน้อม ถ่อมตน น้ำใจไมตรี มีแต่ต้องส่งจิตอาฆาต เคียดแค้น ต้องการเอาชนะ ฆ่าให้ตาย, ส่วนผู้ชม เมื่อเห็นสองคนสู้กัน ด้วยหยาดเหงื่อเลือดเนื้อแรงกาย กระตุ้นให้อะดรีนาลีนหลั่ง ความตื่นเต้นบ้าคลั่งทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวา, ผมเปรียบทั้งนักมวยและผู้ชมที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ เหมือนกับสัตว์ป่าเดรัจฉานที่มีแต่สัญชาติญาณการใช้ชีวิต ไร้ซึ่งสติปัญญาของสัตว์ประเสริฐที่ชอบความสุขสันติ
ถ้าคุณชื่นชอบกีฬามวย หรือชอบดูหนังประเภทนี้ อ่านบทความจากบล็อคนี้ ขอให้ทำใจสักนิด เพราะคงจะเห็นอคติอย่างชัดเจน แต่ผมจะพยายามไม่นำความคิดของตนเอง บดบังการวิเคราะห์เนื้อหา ใจความสำคัญ ประเมินคุณค่า และคุณภาพของหนังนะครับ
Giacobbe ‘Jake’ LaMotta (เกิด 1921 – ยังมีชีวิตอยู่) เจ้าของฉายา ‘The Bronx Bull’ และ ‘The Raging Bull’, เกิดที่ The Bronx, New York ชีวิตวัยเด็กถูกพ่อบังคับให้ต่อสู้กับคนอื่น แลกกับความบันเทิง เศษเงินเล็กๆน้อยๆ พออายุ 19 ได้กลายเป็นนักมวยอาชีพ รุ่นมิดเดิ้ลเวท ชกที่ Madison Square Garden ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 1942 คู่ต่อสู้คือ Sugar Ray Robinson ที่แม้จะสามารถต่อย Robinson ลงนับกับพื้นได้ แต่สุดท้ายแพ้คะแนนครบสิบยก
สำหรับนัดชิงแชมป์โลก LaMotta สู้กับ Marcel Cerdan วันที่ 16 มิถุนายน 1949 ที่ Detroit, ในยกแรก LaMotta ได้เปรียบ (สามารถน็อค Cerdan ลงพื้นนับ 8) แต่ยกสอง Cerdan กลับเป็นฝ่ายได้เปรียบ และยกสามเสมอกัน นี่แสดงว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น มารู้ตอนหลังว่า Cerdan แขนหลุดตอนยกแรก เป็นผลจากการถูกน็อคล้ม ซึ่งก่อนเริ่มต้นยก 10 สุดท้าย เขายกธงขาวยอมแพ้
จริงๆมีการจัด rematch ของทั้งคู่ด้วยนะครับ แต่ Cerdan หมดบารมีถึงคราวเคราะห์ เพราะขณะขึ้นเครื่องเดินทางมาชก เครื่องบินตกเหมาลำที่ Azores
LaMotta สู้กับ Sugar Ray Robinson ทั้งหมด 6 ครั้ง ช่วงทศวรรษนั้นถือว่าเป็นศัตรูคู่ต่อสู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งยุค แม้ LaMotta จะชนะแค่ครั้งเดียว แต่ก็สามารถทำให้ Robinson ล้มลงนับครั้งไม่ถ้วน (LaMotta ไม่เคยล้มนับเลยสักครั้งที่สู้กับ Robinson), สำหรับครั้งสุดท้ายคือตอนเสียเข็มขัดแชมป์โลกให้ Robinson ชกกันวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1951 วันวาเลนไทน์ ในยกที่ 13 LaMotta ถูก Robinson จัดหนักเข้าหลายหมัดจนไม่สามารถยกมือขึ้นป้องได้ แต่ LaMotta ปฏิเสธที่จะล้มลง เกิดเป็นเหตุการณ์เลือดสาดที่สุดในประวัติศาสตร์การชกมวย ได้รับเรียกว่า Saint Valentine’s Day Massacre ผู้ตัดสินต้องยุติการแข่งขันในยกนั้น ให้ LaMotta แพ้คาเชือก โดยไม่ล้มลงหรือถูกนับ
สไตล์การชกของ LaMotta มักจะโน้มตัวไปข้างหน้า เดินเขาหาวอนต่อยตี เหมือนวัวกระทิง (เลยได้ฉายา Raging Bull) ชอบปล่อยหมัด (ขวิด) เข้าลำตัว แต่เพราะการเลือกเข้าปะทะทำให้คู่ต่อสู้สวนหมัดกลับมากมาย แต่จะมีน้ำหนักไม่มาก เพราะไม่ได้ระยะที่เหมาะสม (อยู่ประชิดตัวเกินไป ทำให้ต่อยสวนได้ไม่เต็มแรง), LaMotta ได้รับการจดจำว่าเป็นผู้มี ‘คาง’ แข็งแกร่งที่สุดในวงการมวย (คือโดนต่อยกี่ทีก็ไม่เคยล้มลง) ตอนสู้กับ Robinson ยก 13 ผู้ประกาศถึงขนาดพากย์ว่า ‘No man can take that kind of punishment!’ แต่ LaMotta กลับไม่ล้มลง (ก็หมอนี่แหละครับ ที่ทนการลงโทษที่โหดเหี้ยมที่สุดนี้ได้)
ถึงเขาจะเคยขี้โอ่ว่า ไม่มีใครหน้าไหนน็อคเขาล้มได้ (No son-of-a-bitch ever knocked me off my feet) แต่ตอนขึ้นมาชกรุ่นไลท์เฮวี่เวท หลังจากเสียแชมป์โลกมิดเดิ้ลเวท เดือนธันวาคม 1952 ถูก Danny Nardico ต่อยร่วงนับแปดในยกที่ 7 แล้วไม่สามารถกลับออกมาชกในยกถัดไปได้ พ่ายน็อคเอ้าท์เป็นครั้งแรก (ตอนนั้นจะถือว่าอายุเริ่มมาก ใกล้หมดไฟแล้ว)
หลังจากเลิกชกมวย LaMotta กลายเป็นเจ้าของ ผู้จัดการบาร์ และกลายเป็นนักแสดงตลก (Stand-Up Comedy) ในปี 1958 ถูกจับข้อหาแนะนำอนุญาติให้เด็กอายุต่ำกว่า 21 เข้าผับ, ปี 1960 ถูกศาลเรียกสอบปากคำ เพื่อหากลุ่มคนที่อิทธิพลใต้ดินของวงการมวย และเขารับสารภาพว่า ตอนชกกับ Billy Fox ได้ทำการล้มมวย ต่อแพ้เพื่อให้ได้สิทธิ์ชิงแชมป์โลก
นำแสดงโดย Robert De Niro ผู้หลงใหล คลั่งไคล้ในตัวละครนี้เป็นที่สุด (จะเรียกว่าเป็นโปรเจคในฝันของเขาเลยก็ได้) แน่นอนว่าทุ่มเทสุดตัว ทั้งฟิตร่างกาย ลดน้ำหนัก/เพิ่มน้ำหนัก จนได้ Oscar: Best Actor ไปครอง, ตอนที่ De Niro สนใจโปรเจคนี้ เขาบอกว่า ผู้กำกับคนเดียวในโลกที่สามารถสร้างหนังเรื่องนี้ได้คือ Martin Scorsese (นี่เป็นคำพูดประโยคเดียวกับตอน Leonardo DiCaprio นำ The Wolf of Wall Street ไปเสนอให้ Marty ทำเลยนะครับ) แต่ก็หลายปีทีเดียวกว่า Marty จะยอมตกลงสร้าง นี่เป็นการร่วมงานครั้งที่ 4 จาก 8 ครั้งของทั้งคู่
ความบ้าคลั่งสุดทุ่มเทของ De Niro คงไม่มีอะไรต้องพิสูจน์ ในทศวรรษนั้นเขารับบทคนหนุ่มหัวรุนแรงมาแล้วทุกรูปแบบ จาก The Godfather Part II (1974), Taxi Driver (1976), The Deer Hunter (1978) ฯ มารับบทคนบ้าอีกคนคงไม่แปลกอะไร
ตัวตนของ LaMotta อธิบายตรงตัวที่สุดก็คือ กระทิง สัตว์ป่าที่เอาสันชาติญาณนำหน้าสติปัญญา, กระทิงเป็นสัตว์ที่ ทนต่อความยั่วยุไม่ได้เลย (ถ้าเอาผ้าแดงมาสะบัด ก็จะวิ่งไล่ขวิดทันทีโดยไม่สนอะไรอื่น) เช่นกันกับ LaMotta ที่พออะไรบางอย่างคับข้อง ติดใจขึ้นมา เขาก็จะตามตื้อจนกว่าจะได้คำตอบที่พึงพอใจถึงยอมหยุด และบทเวทีมวย สไตล์การชกที่ตามตื้อติดคู่ต่อสู้ ไม่ยอมปล่อยห่าง ดื้อด้าน เอาหัวชน จนได้ฉายาว่า ไอ้กระทิงดุ
ฉากที่ผมชอบที่สุด คือขณะ LaMotta จูนทีวีไม่ติด ไม่มีสัญญาณ ซึ่งขณะนั้นเขาขอให้พี่ชาย Joey เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีเรื่องชกต่อยกับคนอื่น แล้วลามไปถึงถามว่า เคยมี Sex กับภรรยาเขาหรือเปล่า … ประมาณว่าความคิดหมอนี่เตลิดไปไกลมาก จนจูนสัญญาณเข้ากับคนอื่นไม่ได้แล้ว (ไม่ใช่แค่กับสัญญาณทีวีเท่านั้น)
กับฉากที่ LaMotta คิดได้ เข้าใจตนเอง เขาถูกลากเข้าไปอยู่ในคุก ดื้อด้านไม่ยอมเข้า แต่พออยู่ข้างในก็กรีดร้องโหยหวน พูดขึ้นมาว่า ตนไม่ใช่สัตว์ แล้วชกหมัด หัวโขกกำแพง … เหมือนกระทิงทุกกระเบียดนิ้ว
เป็นเรื่องแปลกที่น่าพิศวง เพราะ Oscar สองครั้งที่ De Niro ได้รับ ล้วนมาจากการเลียนแบบ Marlon Brando ที่ก็ได้ Oscar จาก 2 ครั้งนั้นเช่นกัน
– Oscar: Best Supporting Actor ได้จาก The Godfather Part II บท Vito Corleone วัยหนุ่ม ที่ Brando ได้ Oscar:Best Actor จากการรับบท Vito วัยแก่
– Oscar: Best Actor จาก Raging Bull ตอนจบมีการเลียนแบบคำพูดของ Brando จาก On the Waterfront (1954) ที่ Brando ได้ Oscar ตัวแรก
ในยุคหลังๆเมื่อแก่ตัว บทที่ De Niro ได้รับมักเป็นตัวตลก (แบบเดียวกับ LaMotta ที่กลายเป็นนักตลกอาชีพ) อาทิ Meet the Fockers (2004), Silver Linings Playbook (2012) ฯ น่าเสียดายเป็นนักแสดงที่ฝีมือจางหายไปตามกาลเวลา
เกร็ด: Jake LaMotta ตัวจริงเข้ามาช่วยเทรน De Niro ในฉากต่อยมวยด้วยนะครับ แต่ Marty ขอให้เขาไม่เข้ามาเยี่ยมขณะถ่ายทำฉากอื่น เพราะกลัวจะทำให้ De Niro เกิดความกดดัน ประมาณว่า เห็นการแสดงแล้วบอกว่า นั่นไม่ใช่ฉันสักหน่อย … ก็ใช่เรื่องนะครับ
สำหรับบท Joey LaMotta พี่ชายของ Jake (ตัวจริง Joey เคยขึ้นชกมวยด้วยนะครับ แต่ไม่นานก็เลิก เปลี่ยนมาเป็นผู้จัดการให้น้อง) รับบทโดย Joe Pesci ตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ De Niro เป็นคนพบเจอ จากการแสดงในหนังทุนต่ำฉายทีวีเรื่อง The Death Collector (1976) ตอนที่ติดต่อไปหา Pesci เขาเลิกเอาดีกับการแสดง มาทำงานร้านอาหารอิตาเลี่ยนที่ New Jersey แต่เพราะเห็นบทน่าสนใจจึงรับพิจารณา และตกลงรับเล่น ถือเป็นหนังแจ้งเกิดของเขาเลยละ
บท Joey ถือว่าเป็น counterpart ของคู่กันกับ Jake เป็นพี่น้องที่รู้จัก รักเข้าใจกันเป็นอย่างดี เพียงแต่ความบ้าคลั่งของ Jake มันล้นไปถึงระดับที่ แม้แต่ Joey ก็ยังรับไม่ได้, ซึ่งเมื่อตอนที่ Jake คิดได้ คงอยากจะขอโทษ แต่เอ่ยปากพูดไม่ได้ Joey พยายามเดินหนีในฉากนั้น แต่เพราะดื้อด้าน และวิธีการสุดประหลาด สายใยพี่น้องที่ตัดไม่ขาด ทำให้ Joey ยอมให้อภัยเขา (ทั้งๆที่ผมไม่ได้ยินคำขอโทษเลยนะ)
การแสดงของ Perci ผมเรียกว่าเก๋า เจ๋ง ดูเป็นเจ้าพ่อมาเฟียเท่ห์ๆได้สบาย ระดับความบ้าคลั่งพอกัน แต่ดูมีสติ จับต้องได้มากกว่า De Niro, Perci ร่วมงานกับ De Niro และ Marty ทั้งหมด 3 ครั้ง นอกจาก Raging Bull ยังมี Goodfellas (1990) [ได้ Oscar: Best Supporting Actor] และ Casino (1995) ปัจจุบันปี 2016 Pesci ยังมีชีวิตอยู่นะครับ เกษียนตัวเองจากการแสดงไปตั้งแต่ปี 1999 หนังเรื่องสุดท้ายคือ Lethal Weapon 4 (1998) แต่เคยกลับมา Cameo รับเชิญเล็กๆ 2-3 ครั้ง
บท Vikki ภรรยาคนที่สองของ Jake รับบทโดย Cathy Moriarty แนะนำโดย Perci ที่เคยเห็นภาพของเธอในดิสโก้แห่งหนึ่งที่ New Jersey รู้สึกว่าใบหน้าเธอเด็กเกินอายุ และน้ำเสียงที่แหบแห้ง (ตอนเล่นหนังเรื่องนี้ Moriarty อายุ 19 แล้วนะครับ รับบทหญิงสาวอายุ 15-25 ได้พบดีเลย) น่าเสียดายหลังจากหนังเรื่องนี้ แม้เธอจะยังอยู่ในวงการ แต่ไม่เป็นที่จดจำ กลายเป็นนักแสดงเกรด B ที่ผู้คนคงหลงลืมเธอไปแล้ว
Vikki เป็นผู้หญิงที่ใช้ สัญชาติญาณ ความต้องการเป็นเครื่องชักนำตนเอง ตอนแรกดูเหมือนเธอจะมีสติปัญญา แต่ก็ไม่รู้หลวมตัวไปตกหลุมรัก Jake เอาตอนไหน ถึงยินยอมพร้อมใจ แต่ก็ค่อยๆคิดได้ตอนหลัง ในที่สุดก็จากไป
ในยุคที่หนังมวยกำลังมาแรง จุดเริ่มต้นจาก Rocky (1976) ประสบความสำเร็จทั้งเงินและกล่อง หลายสตูดิโอมีความยินดีถ้าใครจะนำโปรเจคที่เกี่ยวกับ มวย มานำเสนอ, Raging Bull ถือว่าเป็นหนึ่งในนั้นที่ได้อิทธิพลจากความสำเร็จของ Rocky ทำให้การเสนอขอทุนสร้างแทบไม่มีปัญหาใดๆ
ถ่ายภาพโดย Michael Chapman มีหลายเหตุผลที่หนังถ่ายด้วยฟีล์มขาว-ดำ อาทิ
– ภาพความรุนแรงเลือดสาดกระเซ็น มันดูแรงเกินไป (มีแนวโน้มจะได้เรต X มากกว่าเรต R)
– ยุคฟีล์มหนังขาว-ดำ กำลังหมดสิ้นไปแล้ว Marty จึงต้องการให้ผู้ชมไม่หลงลืมว่า ก็ยังมีหนังภาพขาวดำ หลงเหลืออยู่บ้างนะ
– การจัดบรรยากาศ โทนสีของหนัง อย่างบนเวที นวมของนักมวย สองฝั่งมักจะคนละสี น้ำเงิน-แดง ซึ่งเมื่อเลือดสาดกระเซ็นใส่นวม ถ้าไม่กลืนไปกับสีนวม ก็ตัดกันตรงข้าม มันเลยดูไม่สมจริงเท่าไหร่ เปลี่ยนเป็นภาพขาวดำ แล้วให้จินตนาการเอาเอง แบบนี้โหดกว่ามาก
หนังเริ่มต้นถ่ายทำฉากต่อยมวยก่อน สร้างเวทีจำลองขึ้นมาในหอประชุมขนาดใหญ่ ด้านหลังไกลๆปกคลุมด้วยผ้าสีดำ และมีเครื่องพ่นควันอยู่รอบๆ, เห็นว่าแต่ละการต่อสู้ เวทีมวยขนาดไม่เท่ากันนะครับ ช่วงแรกๆเวทีจะกว้างเป็นพิเศษ นักแสดงสามารเดินไปมารอบๆเวทีได้ แต่ช่วงท้ายๆ เวทีจะแคบลง เดินไม่ไกลก็ติดเชือกแล้ว, ในยุคก่อนหน้านี้ หนังเกี่ยวกับมวย มักจะถ่ายจากด้านนอกเวที เป็นสายตาของผู้ชม แต่ Marty ประกาศกร้าวกับผู้กำกับภาพ ว่าจำเป็นต้องถ่ายจากบนเวที มุมมองของนักมวย … นี่แหละครับจุดเปลี่ยนของหนังมวย ที่เราจะได้เห็นการต่อสู้ระยะกระชั้นชิด เห็นหมัดต่อยโดนคู่ต่อสู้แบบจังๆ, ชกเข้าหน้ากล้อง, เห็นเลือดพุ่งสดๆ (เอาเลือดปลอมใส่ถุง/หลอดเล็กๆ ติดแปะเข้ากับผิวปลอมบนใบหน้านักแสดง พอชกเบาๆก็จะเห็นเลือดพุ่งออกเป็นสาย) แผนเดิมใช้เวลา 5 สัปดาห์ ถ่ายจริง 2 เดือนกว่า
ฝั่งซ้ายคือรูปพระเยซู ฝั่งขวาคือพระแม่มารี, นี่คือจุดที่ LaMotta กลายเป็นคนมีปม ไม่สามารถมี Sex กับ Vickie ได้อีกแล้ว
กระจกหน้ารถ แบ่งคั่นความแตกต่างระหว่างทั้งสอง
ระหว่างถ่ายทำ หนังต้องหยุดกองถ่าย 4 เดือน เพื่อให้เวลา De Niro เพิ่มน้ำหนักตัวเอง เขาออกทริปกินเที่ยวไปอิตาลี ฝรั่งเศส กลับมาน้ำหนักขึ้นจาก 145 เป็น 215 ปอนด์ (66 เป็น 97 กิโลกรัม) เปลี่ยนไปเป็นคนละคน แทบจำหน้าไม่ได้
สำหรับฉากสุดท้ายของหนัง LaMotta มองกระจก พูดเลียนแบบ Marlon Brando ใน On the Waterfront (1954) นี่เป็นฉากจบที่ลึกล้ำมาก ถ่ายทำกันวันสุดท้าย ทั้งหมด 19 เทค (ใช้เทคที่ 13), ภาพสะท้อนกระจก คืออีกตัวตน/ที่อยู่ในใจของตัวละคร กับใจความที่พูด มีลักษณะตัดพ้อ เสียใจ สำนึกผิด คิดว่าถ้าตัวเองวันนั้นเข้าใจตัวเอง ประพฤติตนดีกว่านี้ วันนี้คงไม่มีสภาพเช่นนี้
หนังมีการใช้ภาพสโลโมชั่นด้วยนะครับ แต่เชื่อว่าน้อยคนจะทันสังเกตเห็น เพราะปกติแล้วถ้าภาพช้า ก็จะช้ามาก ความเร็วปกติที่ 25-29 ภาพต่อวินาที สโลโมชั่นจะ 50-60 ภาพต่อวินาที แต่กับหนังเรื่องนี้ ดูแล้วใช้ความเร็วประมาณ 30-35 ภาพต่อวินาทีเท่านั้น นี่จะทำให้รู้สึกช้า แต่ไม่ถึงขนาดสัมผัสได้ ต้องใช้การสังเกตสักหน่อย เห็นชัดกับฉากที่ต้องการเน้นๆ ขณะกระแทกหมัด เห็นเลือดพุ่งกระฉูด ฯ
หนังมีฟุตเทจภาพสีด้วยนะครับ แต่ฉายเป็น filmreel เก่าๆขาดๆ เป็นขณะ Jake แต่งงานกับ Vickie คงเพราะนั่นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของ Jake สดใสที่สุด (ที่เหลือคือความมืดหม่น)
งานภาพของหนังเรื่องนี้ ดูยังไงก็ไม่สวยนะครับ แต่ Michael Chapman ได้สร้างบรรยากาศเข้มข้น จริงจัง สมจริง โดยเฉพาะแสงและควัน ที่ให้ลักษณะเหมือนในความเพ้อฝัน ไม่ใช่ในโลกความเป็นจริง (มองเป็น Expressionist ภายในจิตใจของตัวละครก็ได้)
ตัดต่อโดย Thelma Schoonmaker ภรรยาของ Michael Powell ขาประจำนักตัดต่อของ Marty นี่ถือเป็นการร่วมงานกันครั้งแรก คว้า Oscar: Best Edited มาแล้ว 3 ครั้ง ล้วนมาจากหนังของ Marty ทั้งหมด (Raging Bull, The Aviator, The Departed)
นักวิจาณ์ชื่อดัง Roger Ebert เปรียบการตัดต่อในหนังเรื่องนี้ เหมือนการออกหมัดของชีวิต, เริ่มเรื่อง การสู้ครั้งแรก เทียบได้คือการต่อยลองเชิงยกแรก ศึกษา อ่านใจคู่ต่อสู้ -> จากนั้นจะเป็นเรื่องราวชีวิตของ Jake จีบหญิงจนติด ตอนแต่งงานใช้การตัดสลับกับภาพเกือบนิ่งของการชกอีกหลายครั้ง เหมือนปล่อยหมัดฮุครัวๆ เริ่มโจมตีศัตรู -> การได้เป็นผู้ท้าชิงคือเป้าหมาย ช่วงเอาจริง ปล่อยหมัดรัวๆหนักๆ -> ชัยชนะ คือการน็อคคู่ต่อสู้ให้ล้ม
ความโดดเด่นของการตัดต่อ คือสามารถทำให้ผู้ชมรับรู้ความต่อเนื่องของหนังได้ โดยไม่ต้องเข้าใจรายละเอียดทั้งหมด เช่นว่า LaMotta กำลังต่อยยกไหน, เหลือเวลาอีกกี่นาที, สถานการณ์ขณะนั้นเป็นอย่างไร ฯ นี่เป็นสิ่งที่ผู้ชมแทบไม่รู้เลย คือเอาแค่สัมผัส ว่ามีการต่อสู้มา รู้ว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไร แพ้ชนะ รายละเอียดเล็กน้อยไม่ใช่สาระสำคัญของหนัง
ผมทึ่งสุดก็ตอน LaMotta ต่อยกับ Robinson ครั้งสุดท้าย เริ่มต้นทั้งสองยืนจ้องกันอยู่กลางภาพ จากนั้นกล้องซูมออกเลื่อนเข้า (เห็นภาพเหมือน Vertigo) จากนั้นตัดภาพออกหมัด ตัดไปโดยต่อย แสงแฟลช ตัดไปมือเกี่ยวเชือก ตัดไปเห็นเลือดไหล ตัดไปออกหมัด วนซ้ำ, นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วมาก จนแทบไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จริงอยู่มันอาจดูมั่วๆ แต่คือความจงใจนำเสนอความอลม่าน ปั่นป่วน ก็เพราะไม่รู้อะไรเกิดขึ้น มันจึงดูบ้าคลั่ง รุนแรง เจ็บปวด
สำหรับเพลงประกอบ Marty ตัดสินใจเลือก Soundtrack ที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น ด้วยความช่วยเหลือของ Robbie Robertson ที่ช่วยตัดสินว่า จะเอาเพลงไหนที่ดังๆ เข้ากับบริบทของหนังบ้าง, Cavalleria Rusticana: Intermezzo (แปลว่า rustic chivalry) เพลงประกอบ Opera 1 องก์ บทละครของ Giovanni Verga แต่งเพลงโดยของ Giovanni Targioni-Tozzetti และ Guido Menasci ได้รับเลือกให้เป็นเพลงประกอบหลัก ที่ถือว่ากลมกล่อมกับหนังมาก โหยหวน เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน แทนด้วยสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจของ LaMotta ได้เข้ากันเป็นที่สุด
เสียงประกอบ (Mixing) โดย Frank Warner ใช้เวลาถึง 6 เดือนกว่าจะเสร็จ, ปกติผมจะไม่พูดถึงสายงานนี้เท่าไหร่ แต่ต้องบอกว่าบ้าคลั่งมาก โดยเฉพาะฉากสู้กันระหว่าง LaMotta กับ Robinson ช่วงกลางเรื่องเงี่ยหูฟังให้ดีๆ จะได้ยินเสียงสรรพสัตว์ช้าง ลิง กระทิง นก ฯ ยังกะอยู่ในสวนสัตว์/ในป่า นี่เป็นความตั้งใจของ Marty ที่ต้องการให้สัมผัสของหนัง เหมือนเห็นสัตว์สองชนิดต่อสู้ ฆ่ากันให้ตายไปข้าง (แสดงถึงสันดานดิบในตัวของของ LaMotta ด้วย)
ถึงนี่จะเป็นหนังเกี่ยวกับนักมวย กีฬาต่อยมวย แต่ใจความของหนังเป็นชีวประวัติของคน ประเภทที่ใช้ชีวิตแบบไม่แคร์อะไร มีปมเรื่อง Madonna-Whore Complex ต่างกันสองขั้ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย อยากรู้เข้าใจอะไรต้องย้ำคิดย้ำทำ กัดไม่ปล่อย จนถึงที่สุดให้ได้คำตอบ จากที่เคยมีคนรอบข้างตัวมากมาย แต่ก็ถูกผลักไสออกห่างจนไม่เหลืออะไร ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง เขาก็ยอมแพ้ เข้าใจตัวเอง และต้องการกลับตัวเริ่มต้นใหม่
Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ได้อธิบายจิตสำนึกของผู้ชาย ต่อเรื่อง Sex กับผู้หญิง ว่าแบ่งเป็นสองขั้ว คือ นักบุญหรือมาดอนน่า (Madonna) กับ โสเภณี (Whore), ขั้วหนึ่งเป็นนักบุญ นางฟ้า คนดี กุลสตรี เป็นแม่ของลูก (มาดอนน่า) ยิ่งเขารู้สึกว่าเธอดีเพียงใด เช่นเห็นเธอทนความเจ็บปวดเพื่อคลอดลูก เห็นเธอทำหน้าที่ของแม่ ก็จะยิ่งเทิดทูนเธอ หลงรักเธอ แต่ด้วยจิตใต้สำนึกที่เห็นภรรยาเป็นนักบุญ จึงหวาดกลัวที่จะมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีอารมณ์ทางเพศ ไม่สามารถปลุกเร้าได้, เช่นกันในแบบตรงข้าม กับผู้หญิงที่ผู้ชายดูถูก ว่าเป็นคนไม่ดี ทำตัวแย่ๆ แต่กลับมีอารมณ์ และมีต้องการ Sex ด้วย เพราะถือว่าควรถูกลงโทษ
Where such men love they have no desire and where they desire they cannot love.
– Sigmund Freud
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Jake LaMotta ในหนังคือ หลังจากแต่งงานกับ Vickie ก็ยกย่องเทิดทูนเธอดั่งแม่พระมาโปรด (นี่น่าจะเกิดขึ้นหลังมีลูกด้วยกันแล้ว) แต่พอเขาเห็นเธอพูดให้ความสนใจกับผู้อื่น มันเหมือนเป็นการทำลายภาพความบริสุทธิ์สูงส่งที่จับต้องไม่ได้ เป็นความผิดมองเห็นเหมือนเป็นโสเภณี จึงลงโทษทำร้ายร่างกายเธอ (ทั้งๆที่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรนอกจากคำพูด)
ปม Madonna-Whore มีการวิเคราะห์ว่าอาจเกิดจากแม่ที่เลี้ยงดูแบบเย็นชาเหมือนจะไม่สนใจ แต่บางครั้งหวงแหน ปกป้องเกินเหตุ (cold but overprotective mother) นี่ทำให้ลูกจดจำฝังใจ แบ่งผู้หญิงออกเป็น 2 ประเภทตรงข้ามแบบสุดขั้ว หนึ่งคือรักมาก อีกหนึ่งคือเกลียดมาก นี่ทำให้นิสัยทั่วไปของคนประเภทนี้ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้
So, for the second time, [the Pharisees] summoned the man who had been blind and said:
“Speak the truth before God. We know this fellow is a sinner.”
“Whether or not he is a sinner, I do not know,” the man replied.
“All I know is this: Once I was blind and now I can see.”John IX. 24–26, The New English Bible
ประโยคท่อนนี้ เป็นการอุทิศให้กับอาจารย์ของ Marty, Haig P. Manoogian (1916 – 1980)
กับตอนจบแบบนี้ ผมรู้สึกเหมือน Marty ต้องการเรียกร้อง ขอให้ผู้ชมยกโทษให้กับ Jack LaMotta และตัวเขาเอง, แม้ในบริบทของหนัง ดูไปหมอนี่ก็ไม่น่าให้อภัยเท่าไหร่ แต่ถ้าสามารถกลับตัวกลับใจได้จริงๆ ‘จากเคยเป็นคนบาปไม่สนใจอะไรเหมือนคนตาบอด ตอนนี้เข้าใจมองเห็นรับรู้ได้ทุกสิ่งแล้ว’ เราก็ควรให้อภัยพวกเขานะครับ เช่นกันกับ Martin Scorsese และ Robert De Niro เชื่อว่าไม่ต้องขอออกนอกหน้าแบบนี้ ผู้ชมส่วนใหญ่คงพร้อมให้อภัยพวกเขาแน่
ด้วยทุนสร้าง $18 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้เพียง $23.4 ล้านเหรียญ ถือว่าขาดทุนครึ่งต่อครึ่ง แต่ไม่ถือว่ากระเทือนอะไรนัก เพราะหนังได้เข้าชิง Oscar 8 สาขา ได้มา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Robert De Niro) ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actress (Cathy Moriarty)
– Best Supporting Actor (Joe Pesci)
– Best Cinematography
– Best Sound
– Best Editing ** ได้รางวัล
ในการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
– อันดับ 53 นิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll ปี 2012
– อันดับ 12 นิตยสาร Sight & Sound: Director’s Poll ปี 2012
– อันดับ 24 ในชาร์ท AFI: Greatest American Films Of All Time ปี 1998
– อันดับ 4 ในชาร์ท AFI: Greatest American Films Of All Time ปี 2007
– อันดับ 23 นิตยสาร TIMEOUT: The 100 Best Movies Of All Time
– ติดอันดับ TIME: All-TIME 100 Movies
ส่วนตัวไม่ชอบหนังเรื่องนี้เลยนะครับ มันอาจเพราะชีวิตผมไม่บัดซบ พุ่งถลาเอาหัวเข้าขวิดแบบ Jack LaMotta เลยไม่เห็นว่า ชีวประวัติของหมอนี่มีความน่าสนใจอะไร, แต่คุณภาพของหนัง การันตีได้ว่า ถ้าคุณดูเป็นจะพบเห็นสวยงามแบบแปลกประหลาดพิศดารลึกล้ำ โหดเหี้ยมเลือดสาดที่สุดเท่าที่เคยมีมา
แนะนำกับคน S&M ชื่นชอบความเจ็บปวด รุนแรง โหดเหี้ยม, กับนักกีฬา โดยเฉพาะนักมวย … จะดูรู้เรื่องไหมเนี่ย, ผู้ชื่นชอบ Jack LaMotta หรือคอมวยในยุคนั้น
แนะนำอย่างยิ่งกับคนทำงานสายภาพยนตร์ ศึกษา วิเคราะห์ ทำความเข้าใจให้ครบทุกรายละเอียดของหนัง
และแฟนๆ Martin Scorsese, Robert De Niro, Joe Pesci และตากล้อง Michael Chapman ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง
จัดเรต R กับเลือด ความบ้าคลั่ง และความรุนแรงไร้ขอบเขต
Leave a Reply