Raining in the Mountain (1979) : King Hu ♥♥♥♥♡
ผลงาน Masterpiece ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนักของปรมาจารย์ผู้กำกับหูจินเฉวียน (King Hu) สงสัยเพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักปรัชญา คำสอนของพุทธศาสนา มีศิษย์เอกถึงสามคนในสำนัก แต่กลับเลือกหัวขโมยที่เพิ่งบวชเป็นเจ้าอาวาสคนใหม่ แบบนี้ใครที่ไหนจะไปยอม แต่แค่การคิดว่าไม่เห็นด้วย พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่คู่ควรกับตำแหน่งแล้ว, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
พอจะเข้าใจที่ผมเกริ่นไว้หรือเปล่าเอ่ย นี่คือปริศนาธรรมข้อหนึ่งของหนัง กับคนที่บวชพระในพุทธศาสนา เป้าหมายคือลดละเลิกตัดกิเลสตัณหา เช่นกันกับความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง มันใช่เรื่องที่ไหนกับพระที่พูดว่า ต่อไปฉันต้องได้เป็นใหญ่ เจ้าอาวาส สังฆราช ฯ นี่ไม่ได้แปลว่าบุคคลผู้นั้นยังหลงใหลยึดติดกับลาภ ยศ สรรเสริญ คู่ควรที่ไหนกับตำแหน่งผู้ปกครองสงฆ์ ดูแลสืบทอดกิจการของพุทธศาสนา
ในบรรดาหนังของ King Hu ที่มีชื่อเสียงระดับโลก Come Drink with Me (1966), Dragon Inn (167) และ A Touch of Zen (1971) มีความโดดเด่นด้านการใช้ภาษาภาพยนตร์ระดับสูง อันสอดคล้องรับกับเรื่องราวที่มีความลึกซึ้ง ในรสนิยมความเป็นศิลปินของผู้กำกับ ปรัชญา(ขงจื้อ), ธรรมชาติ(Zen), ศาสนา(พุทธ) และการเมืองของประเทศจีน ฯ
สำหรับ Raining in the Mountain (1979) ถือเป็นอีกผลงานหนึ่งที่มีความโดดเด่น ถึงขนาดเป็นตัวแทนของประเทศจีนส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่เหตุผลที่ไม่เข้ารอบ และหนังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เพราะความยากในการรับรู้ตีความเข้าใจ คุณจำเป็นต้องนับถือพุทธศาสนา และเข้าใจหลักการแนวคิดของ Zen ถึงมีโอกาสมองเห็นความสวยงามแท้จริงของหนังเรื่องนี้ ระดับ Masterpiece เลยละ,
จะถือว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ‘ปรัชญาตะวันออก’ โดยแท้ ยากนักที่ชาวตะวันตกจะสามารถรับเรียนรู้เข้าใจได้
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สำหรับคนไทยที่นับถือพุทธศาสนา นี่เป็นภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่าในการนำเสนอตีความกิเลสรูปแบบต่างๆ ยึดติดในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส และค้นหาว่าอะไรคือสมบัติล้ำค่าที่สุดของพุทธศาสนา, กระนั้นรับชมหนังเรื่องนี้ คงไม่สามารถทำให้ใครบรรลุหลุดพ้นตัดกิเลสได้ แต่นี่คือบทเรียน ‘ปริศนาธรรม’ ที่เป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชน ลองตรวจสอบความเข้าใจของตนเองว่าตรงกันไหม ตรัสรู้หนังเรื่องนี้ ก็เท่ากับมีความเข้าใจเบื้องต้นของพุทธศาสนาที่ดีได้แล้ว
ขอเอ่ยถึง Zen ก่อนสักเล็กน้อย ผมได้เขียนอธิบายไว้อย่างเยอะในบทความหนังเรื่อง A Touch of Zen (1971), จุดเริ่มต้นของ Zen เกิดจากการที่ยุคหนึ่งในจีน-อินเดีย (ประมาณ พ.ศ. 1000+) มีหนังสือตำราพระไตรปิฏก ที่ตีความคำสอนของพุทธศาสนาแตกต่างออกไปมากมาย จนไม่รู้ใครล่วงรู้ถูกผิด, ภิกษุฝ่ายมหายานกลุ่มหนึ่งจึงได้ตัดสินใจ ‘ทิ้งตำรา’ แล้วหันมา ‘อ่านธรรมชาติ’ ให้เกิดความรู้แจ้งในจิตใจด้วยตนเอง
แนวคิดของ Zen สามารถสรุปเป็นคำพูดปริศนาธรรมได้ 4 วลี
– “ไม่อิงหนังสือ” หมายถึง การแสดงออกถึงสัจธรรมแห่งชีวิต ความคิด และวิญญาณ ด้วยการไม่ยึดอิงกับตำราหลักตรรกะ เพื่อไปเสาะหาสัจธรรมความจริง
– “ไม่สอนโดยตรง” หมายถึง มิใช่มุ่งเอาแต่สอนสั่ง(ยัดเยียด)โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ อีกฝ่ายเป็นผู้รับเท่านั้น การถ่ายทอดหลักธรรม เรียกกันว่า ‘ส่งต่อโคมไฟ’ จะถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ความหมายแท้จริงมิได้อยู่ที่การรับส่ง แต่อยู่ที่วิธีการส่งทอดของผู้ส่งที่แสดงออกในรูปแบบต่างๆ ให้ผู้รับตื่นตัวรู้แจ้งเห็นธรรม
– “รู้แจ้งในใจ” หมายถึง ไม่เน้นความสำคัญของรูปแบบภายนอก แต่หันมาสำรวจจิตใจของตนเอง เพราะสมรรถนะแห่งความเข้าใจในสรรพสิ่งของเรา จะซ่อนฝังและบดถูกบดบังอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ
– “เห็นธรรมเป็นอรหันต์” คือ ไม่ใช่วิธีการคิดอย่างสลับซับซ้อนไปสัมผัสธรรม เห็นธรรม เพราะสัจธรรมมักแฝงฝังอยู่ในเหตุการณ์ธรรมดาๆที่สุด ผู้ฉลาดมองเห็นโลกทั้งใบในทรายเม็ดเดียว, สิ่งที่เคยอยู่ไกลสุดขอบฟ้า กลับอยู่ข้างกายตน และสิ่งที่เคยอยู่ในกำมือของตน แท้จริงคือความว่างเปล่า
Zen ก็คือพุทธศาสนานิกายหนึ่ง แก่นแท้เนื้อหาสาระเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว เพียงแต่นำเสนอแนะวิธีการบรรลุหลุดพ้น เข้าถึงสัจธรรมของโลก ด้วยหลักการที่แตกต่าง อันเกิดจากวิวัฒนาการข้อบกพร่องของยุคสมัยเท่านั้น, ความยิ่งใหญ่ของ Zen อยู่ที่การทลายป้อมปราการอันแน่นหนาทางความคิดนี้ลงไป ย้ำนักย้ำหนาคืออย่ายึดติดกับสิ่งใด จงทำให้ความคิดมีความอิสระไหลเลื่อน แปรเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เสมอ
แม้ปัจจุบันคนที่นับถือ Zen ส่วนใหญ่ได้ละทิ้งแนวคิดอะไรหลายๆอย่าง นี่ก็ถือเป็นไปตามสังสารของโลก เหมือนพุทธศาสนาในประเทศไทยเรา ที่ถูกสังคมนิยมค่อยๆแทรกซึมเกาะหากินกับความเชื่อศรัทธา จนปนเปรื้อนไปด้วยความเสื่อมคอรัปชั่นภายใน, นับถือศาสนาพุทธ อย่ายึดที่ตัวบุคคล พระสงฆ์ วัตถุมงคล หรือแม้แต่พระไตรปิฏก ให้ครุ่นคิดหาคำตอบโดยอิงจากหลักคำสอน ค้นพบสัจธรรมความจริงด้วยตนเอง นี่คือแก่นสาระหลักของ Zen และพุทธศาสนา
เรื่องราวมีพื้นหลังสมัยราชวงศ์หมิง (1368–1644) ณ วัดซานถุง (Sanbao, Three Treasures) [แปลไทยคือ วัดไตรรัตน์, แก้ว ๓ ประการ ประกอบด้วย พระพุทธเจ้า, พระธรรม, พระสงฆ์] ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง เจ้าอาวาสสูงวัยมีความต้องการเกษียณตนเอง กำลังหาผู้สืบทอดตำแหน่ง ส่งเทียบเชิญ
– นายพลหวัง (General Wang) รับบทโดย Tien Feng, มาพร้อมกับผู้หมวดฉางเฉิง (Chang Cheng) รับบทโดย …
– มหาเศรษฐีเวิ่น (Wen) รับบทโดย Sun Yueh, มาพร้อมกับสองหัวขโมยจิ้งจอกขาว (White Fox) รับบทโดย Feng Hsu กับสลักทอง (Gold Lock) รับบทโดย Wu Ming-tsai
– และมหาบัณฑิตหวูเว่ย (Wu Wei) รับบทโดย Wu Chia-hsiang, นั่งเกี้ยวมาพร้อมกับสาวๆ
ให้มาเป็นที่ปรึกษาสำหรับการคัดเลือก โดยศิษย์เอกทั้ง 3 ประกอบด้วย
– หลวงพี่ฮุ่ยทัง (Hui Tung) รับบทโดย Chun Shih
– หลวงพี่ฮุ่ยเวิ่น (Hui Wen) รับบทโดย …
– หลวงพี่ฮุ่นซุ (Hui Ssu) รับบทโดย Paul Chun
แต่สุดท้ายแล้วเจ้าอาวาสตัดสินใจเลือกอดีตหัวขโมยเฉาหมิง Chiu Ming รับบทโดย Tung Lin ขึ้นมาเป็นผู้นำสงฆ์ โดยไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน
ถ้าคุณสามารถคิดตามได้ทัน จะพอรับรู้ได้ตั้งแต่ตอนที่หัวขโมยเฉาหมิงเข้ามาพึ่งใบบุญพุทธศาสนาแล้ว เมื่อตอนทำความสะอาดทั่ววัด มีหลายฉากทีเดียวที่นำเสนอความเสื่อมโทรมของลูกศิษย์ทั้งหลายภายในวัด อาทิ ซื้ออาหารเหล้าสุราจากบุคคลภายนอก, นั่งสมาธิแต่ยังลืมตาเหล่สาว ฯ ซึ่งไฮไลท์อยู่ตอนคัดเลือกที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสสั่งให้ศิษย์เอกทั้งสามไปตักน้ำใส
– หลวงพี่ฮุ่ยทัง ขอความร่วมมือลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย ช่วยกันตักน้ำใสถัง แล้วตัวเองตักเอาใบไม้ที่ทำให้ขุ่นออก
– หลวงพี่ฮุ่ยเวิ่น ไม่ได้ขอความร่วมมือใคร ตัวคนเดียวค่อยๆตักน้ำแล้วกรองใบไม้ใส่ถัง
– หลวงพี่ฮุ่นซุ ไม่ได้ตักน้ำจากขันเล็กสู่ถังใหญ่ หาจังหวะครั้งเดียวใช้ถังใหญ่ตักใส่น้ำใสมา ถือว่าใสบริสุทธิ์ที่สุดแล้ว
ปริศนาธรรมข้อนี้ต้องการค้นหาว่า จิตใจของพวกเขาใสบริสุทธิ์ดั่งน้ำในถังหรือเปล่า (ไม่ได้สั่งให้พวกเขาไปตักน้ำจริงๆ) ซึ่งคำถามถึงวิธีการ มีนัยยะถึง แนวคิดการปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นของพวกเขา
– หลวงพี่ฮุ่ยทัง อ้างหลักที่ว่า ‘คนเดียวหัวหาย รวมกันเราอยู่’ … แต่การปฏิบัติธรรมให้บรรลุธรรม ผู้อื่นจะสามารถช่วยเหลือหลุดพ้นได้ร่วมกับเราหรือ?
– หลวงพี่ฮุ่ยเวิ่น อ้างหลักที่ว่า ‘อยู่ที่ตัวเราคนเดียว จะกรองสิ่งสกปรกชั่วร้ายออกจากจิตใจ’ … แต่การกระทำเช่นนี้โดยไม่สนผู้อื่น หลุดพ้นคนเดียวแล้วจะมีประโยชน์อันใด
– หลวงพี่ฮุ่นซุ อ้างหลักที่ว่า ‘ธรรมชาติสิ่งที่มีอยู่ ล้วนมีความใสบริสุทธิ์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องคัดกรองใดๆ’ … ถ้าเช่นนั้น ธรรมชาติที่ปนเปื้อน จะไม่ทำให้จิตใจของมนุษย์สกปรกไปด้วยหรอกหรือ?
มันอาจไม่ได้มีนัยยะใจความนี้ตรงๆ แต่ถือเป็นการตีความลักษณะหนึ่ง ซึ่งการกระทำของหลวงพี่ทั้งสาม ถือว่ายึดติดอยู่ในหลักสาธยายธรรม ตำราคำสอน ราวกับท่องมา หาได้มีความเข้าใจพุทธศาสนาโดยแท้จริงไม่, ในหนังไม่ได้บอกไว้ แต่ถ้าเป็นผมสิ่งที่จะทำก็คือไม่เสียเวลาเดินไปตักน้ำหรอก เพราะสิ่งที่ใสไม่ใช่น้ำ แต่คือจิตใจของมนุษย์ วิธีการคือใช้ใจตักน้ำให้เต็ม (แต่คงไม่มีใครมองเห็น) ไม่จำเป็นต้องใช้กายเดินทางไปตักถึงลำธาร
สำหรับเหตุผลที่หัวขโมยเฉาหมิง ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าอาวาสคนใหม่ สามารถมองได้คือ เขาไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งใด และเป็นคนซื่อสัตย์เถรตรง มีความตั้งใจจริงที่จะกลับตัวเอง ซึ่งก็ได้พิสูจน์ตัวเองเล็กๆ ว่าสามารถให้อภัย หักห้ามจิตใจกับผู้ที่มากระทำร้ายตนได้ นี่เป็นสิ่งที่แม้แต่พระสงฆ์ระดับสูงยังยากจะปฏิบัติได้
สำหรับสามที่ปรึกษา บุคคลภายนอกของเจ้าอาวาส แต่ละคนล้วนมีกิเลส ความต้องการภายในจิตใจอะไรบางอย่าง ‘อกุศลมูล ๓’ รากเหง้าของความชั่วร้าย ประกอบด้วย โลภะ-โทสะ-โมหะ สามารถใช้แทนแต่ละคนได้เลย
– นายพลหวังและผู้หมวดฉางเฉิง เป็นผู้มีอำนาจยศฐาใหญ่โต ต้องการขโมยคัมภีร์ม้วนพระไตรปิฏก (Tripitaka) แต่เมื่อพบเจอผู้มีเบื้องหลังไม่บริสุทธิ์ เกิดบันดาลโทสะคิดประทุษร้ายผู้อื่น ไม่พึงพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
– มหาเศรษฐีเวิ่น เป็นผู้มีเงินทองทรัพย์สินมากมายเหลือล้น ร่วมกับจิ้งจอกขาวและสลักทอง เพื่อหาทางลักขโมยพระไตรปิฏก เป็นความโลภะต้องการครอบครองสิ่งล้ำค่าที่สุดในโลกแต่เพียงผู้เดียว
– มหาบัณฑิตหวูเว่ย คือผู้เฉลียวฉลาดรอบความรู้ในพระไตรปิฏกอย่างมาก แต่ยังเต็มไปด้วยโมหะ ความหลงมัวเมายึดมั่นถือมั่นใน รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส
เกร็ด: อาจมีหลายคนที่ชอบจำ อกุศลมูล ๓ เป็น ราคะ-โทสะ-โมหะ ซึ่งเราสามารถใช้ โลภะ=ราคะ ได้ขึ้นกับบริบท แต่ความจริงคือ โลภะ>ราคะ กล่าวคือราคะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในโลภะเท่านั้น
บุคคลผู้มีอำนาจยศฐานใหญ่โต และผู้มีเงินทองทรัพย์สินมากมาย ต่างมีความทะเยอทะยานต้องการไขว่คว้าทรัพย์สมบัติล้ำค่าที่สุดในสามโลก แต่ผู้เฉลียวฉลาดรอบความรู้ หาได้มีความสนใจครอบครองสิ่งนั้นไม่ คงเพราะสามารถรับรู้ท่องจนขึ้นใจ ไม่จำเป็นต้องได้ครอบครองก็คิดว่าตนเองได้เป็นเจ้าของสิ่งนั้นแล้ว
แต่คัมภีร์พระไตรปิฏกนี้ ได้ครอบครองเป็นเจ้าของแล้วยังไง? ถ้าไม่สามารถศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจ ขึ้นหิ้งยกไว้บูชา นำไปใช้ปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันไม่ได้ ก็เปรียบเสมือนเศษกระดาษไร้ค่า หาประโยชน์อันใดไม่
ผมละอยากอ่านข้อความในพระไตรปิฏก ที่ปรากฏเห็นอยู่แวบๆออกเสียจริง ใครแปลได้รู้ความหมายรบกวนแบ่งปันเสียหน่อยนะครับ อ่านภาษาจีนเลยจำต้องมองเป็น MacGuffin เท่านั้นเอง
สำหรับนักแสดง ผมขอไม่ลงรายละเอียด แต่ถ้าคุณรับชมหนังของ King Hu หรือแนว Wuxia ในทศวรรษ 70s มาพอสมควร จะจดจำนักแสดงทั้งหลายแทบทั้งหมดของหนังได้ ซึ่งบทบาทในหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นความจงใจของผู้กำกับ คือกลับตารปัตร, นักแสดงที่มักได้รับบทพระเอก อย่าง Tien Feng, Shih Chun, Hsu Feng กลับได้บทผู้มาร้ายมีลับลมคมใน ในขณะที่ Tung Lin ปกติมักได้รับบทตัวร้าย เรื่องนี้รับบทหัวขโมยกลับตัวกลับใจเป็นคนดี … นี่ก็เป็นปริศนาธรรมอีกข้อหนึ่ง แปลว่า ภาพลักษณ์ การกระทำ และจิตใจของมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องเหมือนตรงกัน
– คนที่ภายนอกต่อหน้าดี ลับหลังอาจเป็นคนจิตใจชั่วร้ายก็ได้
– เช่นกันกับคนที่เคยกระทำชั่วเลวทราม ถ้าสามารถกลับตัวกลับใจ ก็กลายเป็นคนดีได้
ผู้กำกับ King Hu ได้ไปเสาะแสวงหาสถานที่ถ่ายทำของหนัง พบเจอวัดในป่า Bulguksa เมือง Gyeongju ประเทศเกาหลีใต้ มรดกของชาติ คาดการณ์สร้างขึ้นในยุคสมัยของราชอาณาจักร Silla (พ.ศ. 486 – 1478), เพื่อไม่ให้เป็นการเดินทางเสียเที่ยว จึงถ่ายทำหนัง 2 เรื่องติด (back-to-back) ประกอบด้วย Raining in the Mountain และ Legend of the Mountain (1979)
ถ่ายภาพโดย Henry Chan, หนังไม่ได้ใช้ความพยายามถ่ายพระอาทิตย์มากแบบ A Touch of Zen (1971) แต่ก็มีหลายช็อตที่จงใจถ่ายให้ติดพระอาทิตย์ย้อนแสง
งานภาพของหนังมีการเก็บรายละเอียดยิบย่อยเล็กๆน้อยๆเป็นอย่างมาก เพราะหลายครั้งจะไม่มีการสนทนา ใช้ตัวละคร การเคลื่อนไหว ภาพของหนังเล่าเรื่อง เป็นภาษาภาพยนตร์, โดดเด่นมากขณะที่จิ้งจอกขาวและสลักทอง พยายามหาทางเพื่อไปขโมยม้วนคัมภีร์พระไตรปิฏก พวกเขาไม่สามารถพูดคุยสนทนากันได้ แต่เราสามารถติดตามทำความเข้าใจเรื่องราว จากสายตา ท่าทาง และการกระทำของพวกเขา ที่ตรงไปตรงมา ตั้งใจสังเกตดูก็สามารถรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
ความสวยงามของธรรมชาติ เป็นการคัดสรรเลือกสถานที่ถ่ายทำได้อย่างสวยงามและมีนัยยะสำคัญ,
– ฉากช่วงท้ายที่มี 2 ตัวละครถูกฆ่าตายพร้อมกัน (ไม่ขอสปอยแล้วกันว่าใคร) ในป่าที่เต็มไปด้วยใบไม้ร่วงโรย ต้นไม้มีแต่กิ่งก้านไร้ใบ ความหมายก็ตรงตัวกับฤดูใบไม้ร่วง จุดสิ้นสุดของ…
– ฉากที่จิ้งจอกขาวถูกล้อมจับ เธออยู่บนสะพาน ถูกผ้าผืนยาวสีเหลืองกับแดง (ทำเป็นคล้ายเชือก) จับมัดรัดแขน กดลงกับพื้นแล้วย่ำเหยียบ, สะพาน=สถานที่เชื่อมต่อระหว่าง โลกนี้/โลกหน้า, ความดี/ความชั่ว, เกิด/ตาย ฯ ตัวของจิ้งจอกขาวแทนด้วยกิเลสโลภะ วิธีเอาชนะก็คือกดย่ำเหยียบความต้องการไว้ เมื่อสู้ไม่ได้ก็ยินยอมแพ้ ปล่อยวาง (เข้าใจสิ่งนี้ก็สามารถออกบวชได้)
– ฉากริมหน้าผา เลือกบริเวณที่มีโขดหินแข็งแกร่งมั่นคง หลวงจีนฮุ่ยเวิ่นพยายามเกลี้ยกล่องให้ยอมแพ้ แต่ตัวละครกลับไม่สนใจ สุดท้ายสะดุดล้มตกหน้าผาตายเอง, สถานที่นี้เปรียบกับดินแดนแห่งสุดท้ายที่สามารถหวนกลับได้ หลังจากนี้มีแต่ผืนทะเลกับหน้าผา
ตัดต่อโดย King Hu ได้ช่วยให้การเล่าเรื่องมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความรวดเร็วในฉากการต่อสู้ เป็นการสร้างบรรยากาศให้เกิดความลุ้นระทึกขวัญ ไม่ให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อ (แต่คงมีหลายคนที่หลับสบายกับหนังแนวนี้)
มุมมองการเล่าเรื่องจะเริ่มจากมหาเศรษฐีเวิ่น จิ้งจอกขาว และสลักทอง เดินทางมายังวัดซานถุง จากนั้นเราสามารถมองว่า หนังใช้มุมมองของวัด ผ่านสายตาของศิษย์เอกทั้ง 3 + 1 และอดีตหัวขโมยเฉาหมิง ตัดต่อสลับไปมาโดยให้ความสำคัญเท่าๆกัน
ทำไมหนังถึงต้องเริ่มต้นด้วยมุมมองของมหาเศรษฐีเวิ่น? กล่าวคือ จะใช้มุมมองของนายพลหวัง และ/หรือ มหาบัณฑิตหวูเว่ย นำมาก็ยังได้, คำตอบที่ผมค้นพบก็คือ มหาเศรษฐีเวิ่นเป็นตัวแทนของโลภะ หรือความโลภ กิเลสที่ชักชวนให้มนุษย์เกิดความต้องการ ไขว่คว้าแสวงหา อยากได้มาครอบครอง จึงเป็นผู้เริ่มต้นออกเดินทาง ซึ่งต่างจากนายพลหวัง (โทสะ) และมหาบัณฑิตหวูเว่ย (โมหะ) ที่แสดงออกถึงความต้องการในลักษณะแตกต่างออกไป
แต่หนังก็ถือว่าให้เวลากับฝั่งมหาเศรษฐีเวิ่นเยอะพอสมควรเหมือนกัน เพราะช่วงท้ายเป็นเขาที่ขโมยพระไตรปิฏกสำเร็จ และขณะกำลังออกหนี … ความโลภช่างไม่เข้าใครออกใคร
เพลงประกอบโดย Wu Ta-chiang ที่เคยร่วมงานกับ King Hu เรื่อง A Touch of Zen (1971) นี่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของหนังเลย มีส่วนผสมของวงดนตรีพื้นบ้าน การทดลอง Avant-Gard และงิ้วปักกิ่งของจีน คลุกเคล้าผสมเข้ากันได้อย่างลงตัว
แค่บทเพลงแรก Opening Credit ก็ทำให้ผมขนลุกซู่แล้ว มีความอลังการที่มาพร้อมกับเสียงฝนตกฟ้าร้อง และเสียงร้องคลอรัสของหญิงสาว ให้สัมผัสถึงพายุมรสุม (ดั่งชื่อหนัง) ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนเทือกเขาแห่งหนึ่ง
บทเพลงต่อมา, มหาเศรษฐีเวิ่น จิ้งจอกขาว และสลักทอง ออกเดินเท้าผ่านต้นไม้ ลำธาร ภูเขา มุ่งสู่วัดซานถุง ถือเป็นบทเพลงสไตล์ Impression พรรณาความสวยงามของธรรมชาติ ที่ให้สัมผัสเพลินเพลิน ผ่อนคลาย ฟังสบาย และเสียงขลุ่ยจีนล่องลอย ตราตรึงเป็นอย่างยิ่ง (น่าเสียดายผมหา Soundtrack มาให้รับฟังไม่ได้เลยนะครับ)
สำหรับไฮไลท์ของเพลงประกอบ อยู่ในฉากที่จิ้งจอกขาว กับสลักทอง กำลังแอบลักลอบเข้าไปในวัด เพื่อค้นหาคัมภีร์พระไตรปิฏก, ผมเรียกลักษณะงานเพลงนี้ว่า Surrealist แบบ Avant-Garde คือใช้เครื่องดนตรีดีดสีตีเป่าเคาะ เหมือนจะเล่นแบบไม่มีทำนอง แต่มีการแทรกใส่มีตำแหน่ง จังหวะ ที่สอดคล้องรับ ให้ความรู้สึกพิศวงเป็นปริศนา (ฟังดูเหมือนเสียง Sound Effect มากกว่าบทเพลง แต่ต้องถือว่านี่คือการทดลองแนวใหม่ Avant-Garde นะครับ) นี่อาจมองได้เป็นปริศนาธรรมลักษณะหนึ่ง
หลังจากเจ้าอาวาสคนเก่า มอบอำนาจให้กับเจ้าอาวาสคนใหม่เสร็จสรรพ ตัดสินใจอำลาจากสำนักเพื่อฝึกจิตใจรอวันนิพพาน น่าสนใจที่หนังทำให้ท่านกลายเป็นคนขับเรือ รับส่งขนคนข้ามฟาก (ราวกับจะจากอีกโลกหนึ่ง ไปสู่อีกโลกหนึ่ง), จริงๆนัยยะของเรือข้ามฟาก มักใช้กับ ‘ครู’ ผู้มีอาชีพเรือแจว แต่กับพระในบริบทนี้ ย่อมหมายถึงการขนส่งจิตวิญญาณสรรพสัตว์ในวัฏฏะสังสาร เป้าหมายคือโลกหน้าหรือมุ่งสู่นิพพาน … แต่เพราะตัวละครทั้งหลายไม่มีใครได้บรรลุหลุดพ้น การส่งมหาเศรษฐีเวิ่น กับจิ้งจอกขาว จึงเป็นความพยายามชี้ชักนำให้พวกเขาหันหน้ากลับสู่หนทางที่ถูกต้องของวิถีชีวิต
เรื่องราวของหนัง นำเสนอแก่นสาระของพุทธศาสนา และการสืบทอดส่งต่อเผยแพร่หลักธรรมคำสั่งสอน, ผมเปรียบหนังเรื่องนี้ประหนึ่งคัมภีร์สอนพุทธศาสนา นิกาย Zen ที่รวบรวมแนวคิด หลักการ วิถีปฏิบัติ และวิธีปรับเอาตัวรอดของผู้มีศรัทธาในโลกยุคสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นการวิพากย์ศรัทธา จิตใจคนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย น้อยนักที่จะยังหนักแน่นมั่นคง รู้จริงในเบื้องลึก ซึ่งสาระสำคัญที่สุดของหนังก็คือ บุคคลที่จะทำให้ศาสนาสืบทอดธำรงต่อไปได้ ก็คือผู้ที่สามารถนำคำสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน (ไม่ใช่สักแต่พูด แต่ตัวตน กาย-ใจ กลับทำไม่ได้)
แต่การจะหาบุคคลที่สามารถทั้งกาย-ใจ ยึดถือปฏิบัติตามหลักคำสอนได้อย่างเคร่งครัดแน่วแน่มั่นคง มีน้อยลงเรื่อยๆ วิธีการการคัดสรรของหนังเรื่องนี้คงใช้ไม่ได้จริงในโลกปัจจุบัน แต่ก็ถือเป็นบทเรียนที่ศึกษารู้ไว้ก็ไม่เสียหาย อาจเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำเพราะจะทำให้เราได้ทบทวนความเข้าใจ หลักการของ Zen ที่มีว่า
“ไม่อิงหนังสือ”
“ไม่สอนโดยตรง”
“รู้แจ้งในใจ”
“เห็นธรรมเป็นอรหันต์”
1975 คือปีที่เจียงไคเชกเสียชีวิต ผมคิดว่า King Hu คงเกิดอาการเคว้งมากๆ เพราะไม่มีใครจะสามารถสานต่อตำแหน่งผู้นำที่จะกอบกู้ผืนแผ่นดินจีนกลับคืนมาลัทธิคอมมิวนิสต์ได้, เปรียบกับหนังเรื่องนี้ ที่เจ้าอาวาสวัดใกล้สิ้นอายุไข ท่านมีความตั้งใจเลือกบุคคลผู้มาสานต่อตำแหน่งสืบทอดพุทธศาสนา ก็มีศิษย์เอกอยู่ 3 คน แต่กลับไม่มีใครที่น่าพึงพอใจแม้แต่น้อย
นัยยะของผู้กำกับคงเป็นการแสดงทัศนะ ต่อบุคคลที่จะสามารถสานต่อผู้นำเจียงไคเชกได้ อาจมีเพียงบุคคลนอกแบบตัวละครเฉาหมิง ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียผลประโยชน์กับใคร แต่มีความยึดถือเชื่อมั่นคงในอุดมการณ์ที่บริสุทธิ์แน่วแน่ซื่อตรง … แต่บุคคลนั้นจะเป็นใคร ในประวัติศาสตร์ผ่านมาไม่มีใครสามารถเป็นตัวตายตัวแทนของเจียงไคเชก ได้เลยนะครับ
ถึงหนังจะชื่อ Raining in the Mountain แต่หนังทั้งเรื่องมีฉากฝนตกแค่ตอน Opening Credit เท่านั้น นี่ถือเป็นอีกปริศนาธรรมที่น่าสนใจมีนัยยะสำคัญ
– ฝนตก = ความสดชื่นชุ่มฉ่ำเปียกปอน, ความสับสนอลม่านวุ่นวาย, เหตุที่คาดการณ์การเกิดขึ้นไม่ได้
– ภูผา = ความมั่นคงถาวร, วัดซานถุง ที่ตั้งอยู่บนเขา, บริเวณที่แอบซ่อนเร้นอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ/ในจิตใจของมนุษย์
เราสามารถวิเคราะห์คำว่า ‘ฝนตกในภูผา’ ได้หลายความหมาย อาทิ
– ความสับสนอลม่านวุ่นวาย ที่เกิดขึ้นในวัดซานถุง
– กิเลสทั้งหลายที่ดิ้นรนอยู่ในจิตใจ ธรรมชาติของมนุษย์
– หยิน กับ หยาง (ฝน=น้ำ เคลื่อนไหวเปลี่ยนรูปได้, ภูผา=ดิน มั่นคงแข็งแกร่งเปลี่ยนรูปไม่ได้)
ฯลฯ
ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ตั้งแต่จิ้งจอกขาวหูผึ่ง ได้ยินเกี่ยวกับคัมภีร์ไตรปิฏกล้ำค่าที่สุดในโลก วินาทีนั้นผมรู้เลยว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถขโมยสำเร็จแน่ (เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่จะขโมยกันได้) เรื่องราวต่อจากนั้นก็มีความน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ ชื่นชอบสุดก็เลือกเจ้าอาวาสที่เป็นไปตามคาดคิดไม่มีผิด (ผมว่าใครที่อ่านภาษาภาพยนตร์ออก น่าจะคาดเดากันได้ตั้งแต่ต้นๆเลย ว่าผลลัพท์จะคือใคร) และการได้นำแนวคิดของหนังมาครุ่นคิดต่อ เป็นอะไรที่เพลิดเพลิน ทบทวนแนวคิดของตนเองเกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งก็มิได้ผิดเพี้ยนจากความเข้าใจแม้แต่น้อย
แนะนำกับคอหนังจีน ที่ชื่นชอบการคิดวิเคราะห์ แนวปรัชญา Zen และพุทธศาสนา, แฟนๆผู้กำกับ King Hu, นักแสดง อาทิ Chun Shih, Hsu Feng, Tien Feng, Tung Lin, Paul Chun ฯ
โดยเฉพาะกับนักบวช สามเณร พระสงฆ์ ในพุทธศาสนาทั้งหลาย หนังมีแนวคิด ปริศนาธรรมที่น่าสนใจ และไม่ขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาพุทธแม้แต่น้อย
จัดเรต 13+ เหมาะสำหรับบุคคลที่คิดวิเคราะห์ด้วยตนเองเป็นแล้ว จะสามารถเข้าใจเรื่องราวของหนังได้
Leave a Reply