Raise the Red Lantern (1991) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♥

(1/5/2022) ผู้หญิงคนที่สี่ชิงโคมแดง คือผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับจางอี้โหมว ทุกช็อตฉากล้วนมีความสมมาตร ห้อมล้อมด้วยกฎกรอบ ขนบธรรมเนียมประเพณี แต่วิถีชีวิตเมียน้อยกลับต้องต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางเอาอกเอาใจสามี เพื่อค่ำคืนนี้แสงประทีปโคมแดง จักสว่างไสวไปทั่วเรือนพักอาศัยของตน

ขณะที่ผู้ชมชาวจีนต่างถกเถียงกันว่า Red Sorghum (1987), Ju Dou (1990) หรือ To Live (1994) คือผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับจางอี้โหม่ว ทางฝั่งนักวิจารณ์ตะวันตก (และผมเอง) ล้วนซูฮก Raise the Red Lantern (1991) ว่ามีความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ ทุกองค์ประกอบ ทุกการจัดวาง ทุกแสงสีสัน ทุกการขยับเคลื่อนไหว ล้วนให้ความรู้สึกเหมือนทุกสิ่งอย่างถูกควบคุมครอบงำ ดำเนินไปตามกฎกรอบข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณี ตามวิถีเคยยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

เรื่องราวที่ดูเหมือนเกี่ยวกับความรักๆใคร่ๆ เมียน้อยใช้ลูกเล่ห์ มารยาเสน่ห์หา พยายามแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เพื่อค่ำคืนนี้จะมีโอกาสปรนเปรอนิบัติสวามี แต่ไม่ว่าผมมองทิศทางไหน ล้วนพบเห็นเกมการเมืองที่เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น ตั้งแต่ผู้นำยึดถือมั่นในกฎกรอบ ขนบประเพณี สนเพียงผลลัพท์ แสร้งไม่รับรู้ว่ามีสิ่งชั่วร้ายซุกซ่อนเร้นอยู่ ขณะที่บรรดาผู้อยู่ภายใต้การปกครอง พร้อมกระทำทุกสิ่งอย่างรวมถึงการคิดคดทรยศหลักหลัง เพียงเพื่อตอบสนองกิเลสตัณหา แสดงความเย่อหยิ่งจองหองออกมา

Songlian is the individual, the master is the government, and the customs of the house are the laws of the country. It’s an archaic system that rewards those who play within the rules and destroys those who violate them.

นักวิจารณ์ James Berardinelli

แม้จางอี้โหมวจะพยายามปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างหนังเรื่องนี้กับประเด็นการเมืองร่วมสมัย แต่ถ้าใครอ่านภาษาภาพยนตร์ออก สามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ รับรู้สิ่งบังเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จีน ย่อมตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่เขาพยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นไว้ (เรื่องพรรค์นี้มันยอมรับกันตรงๆได้เสียที่ไหน!)

the perpetual struggle for power that precludes any unity among the wives provides a depressingly apt metaphor for the fragmented civil society of post-Cultural Revolution China.

นักวิจารณ์ Jonathan Crow

จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลฉ่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง

ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

ระหว่างการสรรค์สร้าง Ju Dou (1990) จางอี้โหมวได้รับคำแนะนำให้รู้จักนวนิยาย 妻妾成群 (1990) อ่านว่า Qīqiè Chéngqún, ชื่อภาษาอังกฤษ Wives and Concubines ประพันธ์โดยซูถง, Su Tong (เกิดปี 1963) ที่เพิ่งตีพิมพ์วางจำหน่าย อ่านแล้วบังเกิดความหลงใหลประทับใจ ติดต่อหาผู้แต่งเพื่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์โดยทันที!

เกร็ด: ถ่ายเถา สุจริตกุล นักเขียนชื่อดังชาวไทย ได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงบทประพันธ์ Wives and Concubines (1990) แล้วนำมาปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้กลายเป็น มงกุฎดอกส้ม (พ.ศ. ๒๕๓๘) เคยถูกสร้างเป็นละครมาแล้วสองครั้ง พ.ศ. ๒๕๓๙ (ฉายช่อง 7) และ พ.ศ. ๒๕๕๓ (ฉายช่อง 3)

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดยนีเจิน, Ni Zhen (เกิดปี 1964) แม้เนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงไว้เหมือนต้นฉบับนวนิยาย แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนพื้นหลังจากต้นทศวรรษ 30s มาเป็น 20s เพื่อให้เรื่องราวอยู่ช่วงระหว่างยุคสมัยขุนศึก Warlord Era (1916–1928) แทนสงครามกลางเมืองครึ่งแรก Chinese Civil War (1927-36) และอีกรายละเอียดที่เพิ่มเติมเข้ามาคือประเพณีจุดประทีปโคมแดง ส่องแสงสว่างยังเรือนหลังไหน แสดงถึงค่ำคืนนี้สามีจะหลับนอนกับภรรยาคนนั้น

หนังเป็นการร่วมทุนสร้างระหว่าง China Film Co-Production Corporation (จีน) และ Era International (ฮ่องกง) รายหลังเป็นของชูฟูเช็ง, Chiu Fu-sheng โปรดิวเซอร์ชาวไต้หวัน ก่อนหน้านี้เคยสรรหาทุนสร้าง A City of Sadness (1989) ให้ผู้กำกับโหวเสี้ยวเสียน แต่ถูกต่อต้านจากรัฐบาลก๊กมินตั๋ว จึงโดนขับออกนอกประเทศ ย้ายมาปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ฮ่องกง มีโอกาสรับชมผลงานผู้กำกับจางอี้โหมว เลยติดต่อเข้าหา (ลากพาโหวเสี้ยวเสียน ให้มาเป็นผู้ช่วยเหลือตนเองในการฐานะโปรดิวเซอร์) และได้ร่วมงานกันสองครั้ง Raise the Red Lantern (1991) และ To Live (1994)


เรื่องราวของซ่งเหลียน (รับบทโดย กงลี่) หญิงสาวอายุเพียง 19 ปี ภายหลังจากบิดาพลันด่วนเสียชีวิต จำต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย ยินยอมแต่งงานเข้าตระกูลเฉิน กลายเป็นคุณนายสี่ (ภรรยาคนที่สี่) อาศัยอยู่ในปราสาทที่ห้อมล้อมรอบด้วยขนบประเพณี ทุกค่ำคืนจะมีการจุดประทีปโคมแดง ส่องแสงสว่างเรือนพักอาศัยผู้ใด ก็จักได้รับสิทธิ์ในการปรนเปรอนิบัติสวามี

หลังพานผ่านค่ำคืนแต่งงาน ซ่งเหลียนได้รับการแนะนำให้รู้จักสมาชิกในครอบครัว

  • คุณนายใหญ่ อวี้หรู, อายุน่าจะย่างเข้าวัยห้า-หกสิบ เลยไม่ได้รับความสนใจจากคุณชายเฉินอีกต่อไป จึงมักแสดงสีหน้าเย็นชา บ่งบอกว่าอย่ามาจุ้นวุ่นวายอะไรกับฉัน แต่กลับมักชอบแสดงความครุ่นคิดเห็นต่อพฤติกรรมของภรรยาน้อยทั้งสาม ที่มักขัดต่อกฎระเบียบ ขนบประเพณีเคยยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
  • คุณนายสอง จั๋วอวิ๋น (รับบทโดย ฉาวชุ่ยเฟิน), เป็นคนหน้าเนื้อใจเสือ/ปากว่าตาขยิบ ภายนอกแสดงออกอย่างดูดี แต่จิตใจกลับเต็มไปด้วยแผนการอันชั่วร้าย พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้รับความสนใจจากคุณชายเฉิน
  • คุณนายสาม เหมยซาน (รับบทโดย เหอไซ่เฟย), อดีตนักร้องอุปรากรจีน ยังมีความสวยสาว ขี้เหงาเอาใจเก่ง จึงได้รับการเอ็นดูจากคุณชายเฉิน แม้เริ่มต้นเหมือนจะสร้างปัญหาให้ซ่งเหลียน แต่ก็ไม่เคยครุ่นคิดกระทำร้ายใคร เพียงมารยาหญิงตอบสนองตัณหาพึงพอใจ เพราะเธอแอบคบชู้หมอเกา ลักลอบได้เสียกันบ่อยครั้ง เลยไม่ค่อยยี่หร่าอะไรใคร

นอกจากนี้ซ่งเหลียน ยังมีสาวรับใช้เยี่ยนเอ๋อร์ (รับบทโดย ข่งหลิน) ด้วยความที่อายุไล่เลี่ย มองตาเลยเห็นนมไก่ ต่างฝ่ายต่างไม่ชอบขี้หน้า จึงมักกระทำสิ่งสร้างความน่ารำคาญให้กัน นั่นเพราะเธอเองก็มีความทะเยอทะยาน เพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นภรรยาคุณชายเฉิน ยกระดับวิทยฐานะของตนเอง จักได้รับนับหน้าถือตาจากผู้คนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม แต่ก็ถูกขัดขวาง ตำหนิต่อว่าไม่เจียมกะลาหัว จนกระทั่งเมื่อความจริงบางอย่างได้รับการเปิดเผย ผลกรรมเลยติดตามทันสาวๆทั้งสอง


กงลี่, Gong Li (เกิดปี 1965) นักแสดง สัญชาติจีน เกิดที่นครเสิ่นหยาง, มณฑลเหลียวหนิง เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสี่คน บิดา-มารดาต่างทำงานสอนหนังสือ วัยเด็กหลงใหลด้านการร้องเพลง เต้นรำ วาดฝันโตขึ้นโตขึ้นอยากเป็นศิลปินออกอัลบัม ระหว่างเข้าศึกษาต่อ Central Academy of Drama ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Red Sorghum (1988) ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง (รวมถึงสานสัมพันธ์โรแมนติกช่วงระยะเวลาหนึ่ง) อาทิ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Curse of the Golden Flower (2006), ส่วนผลงานเด่นๆผู้กำกับอื่น อาทิ Farewell My Concubine (1993), 2046 (2004), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ

รับบทคุณนายสี่ ซ่งเหลียน, Songlian (颂莲 แปลว่า ดอกบัว) หญิงสาวนิสัยดื้อรั้น ไม่ชอบยอมคน แต่เหลืออดต่อคำพูดพร่ำของแม่เลี้ยง เลยตัดสินใจแต่งงานกลายเป็นเมียน้อยเข้าตระกูลเฉิน ค่อยๆร่ำเรียนวิถีภรรยา แตกต่างจากวิชาความรู้เคยศึกษา เพราะต้องใช้ลูกเล่ห์ มารยาเสน่ห์ แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เติมเต็มความสุขเล็กๆจากการได้นวดฝ่าเท้า

แม้แรกเริ่มซ่งเหลียนจะมีความขัดแย้งต่อจั๋วอวิ๋น (คุณนายสาม) แต่ไม่นานก็รับรู้จักศัตรูแท้จริงเหมยซาน (คุณนายสอง) เลยครุ่นคิดแผนการแสร้งว่าตั้งครรภ์ เพื่อว่าทุกค่ำคืนครองรักคุณชายเฉิน จะมีโอกาสได้บุตรสำเร็จสมหวัง กลับถูกทรยศหักหลังโดยสาวใช้เยี่ยนเอ๋อร์ ทำให้โชคชะตาชีวิตของพวกเธอหลังจากนั้น ต้องทนหนาวเหน็บ ก่อนพบเห็นโศกนาฎกรรม และบังเกิดอาการคลุ้มบ้าคลั่ง

ผมรู้สึกว่ากงลี่ ไม่ได้มีความสวยกว่าฉาวชุ่ยเฟิน แต่ภาพลักษณ์ของเธอเหมือนคนมีการศึกษา สติปัญญาเฉลียวฉลาด แถมใบหน้ายังละอ่อนเยาว์วัย จึงเต็มไปด้วยแรงดึงดูดน่าหลงใหล นั่นทำให้ผู้ชมอยากติดตามเป็นกำลังใจ ให้ตัวละครสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิต โต้ตอบกลับศัตรูผู้มาระรานความสุข ทำลายรอยลักยิ้มไปจากใบหน้า

ในส่วนของการแสดงต้องชมเลยว่าจริตจัดจ้าน ร้อยมารยาหญิง Charisma ของกงลี่ ไม่ย่อหย่อนไปกว่าคุณนายคนอื่นๆ หลังจากเรียนรู้ขนบประเพณี ก็สามารถปรับตัวเข้ากับวิถี พร้อมเผชิญหน้าเล่นเกมแก่งแย่งชิงสวามี เป็นการหักเหลี่ยมเฉือนคม ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ไม่มีใครย่อหย่อนไปกว่า ถึงอย่างนั้นไฮไลท์ด้านการแสดง กลับอยู่ที่พัฒนาการตัวละคร บทเรียนจากความผิดพลาด ทำให้เริ่มตระหนักถึงอะไรหลายๆอย่าง สภาพภายในจิตใจก็ค่อยๆผันแปรเปลี่ยนไปเช่นกัน

หลายคนอาจรู้สึกว่าซ่งเหลียนไม่ได้ประโยชน์จากวิชาความรู้ที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมา นั่นก็จริงอยู่เพราะหน้าที่ภรรยา ไม่มีพร่ำสอนในตำรับตำราเล่มไหน แต่การศึกษาทำให้เธอสามารถครุ่นคิด ตั้งคำถาม ตระหนักถึงความไร้สาระของขนบประเพณี ทำไมต้องพิธีรีตองมากมาย? แก่งแย่งชิงโคมแดงไปเพื่ออะไร? และด้วยความอยากรู้อยากเห็น เมื่อเผชิญหน้าเหตุการณ์ชั่วร้าย โศกนาฎกรรมที่ใครต่อใครพยายามบิดเบือน ลบเลือน แสร้งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่นก่อให้เกิดความขัดแย้งภายใน ยินยอมรับความจริงไม่ได้อีกต่อไป เลยแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง กลายเป็นคนวิกลจริต สูญเสียสติแตก … ผมรู้สึกว่าตอนกงลี่กำลังจะกลายเป็นคนบ้า คือช่วงเวลาพีคสุดๆเลยละ!


เหอไซ่เฟย, He Saifei (เกิดปี 1963) นักแสดงงิ้วจีน (Yue Opera) เกิดบนเกาะ Daishan County เมืองโจวชาน มณฑลเจ้อเจียง, ครอบครัวหย่าร้างในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวสิ้นสุด การแสดงอุปรากร/งิ้วจีน ค่อยๆได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกใหม่ ขณะนั้นเธออายุ 16 ได้เข้าร่วมฝึกฝน จนกลายเป็นสมาชิก Zhejiang Xiaobaihua Yue Opera Troupe มีชื่อเสียงจาก Five Daughters Offering Felicitations (1984) ซึ่งเป็นการบันทึกการแสดงงิ้วนำออกฉายโรงภาพยนตร์ ได้รับรางวัลพิเศษ Golden Rooster Awards: Best Opera Film

เกร็ด: Yue Opera หรือ Shaoxing Opera เป็นหนึ่งในประเภทการแสดงงิ้ว ที่นิยมให้นักแสดงหญิง ร้อย-เล่น-เต้น ในบทตัวละครผู้ชาย ได้รับความนิยมแถบเช่าซิง มณฑลเจ้อเจียง (ได้รับความนิยมอันดับสอง รองเพียงจาก Peking Opera)

รับบทคุณนายสาม เหมยซาน Meishan (梅珊 แปลว่า Coral, ปะการัง) ความที่เป็นอดีตนักแสดง จึงมีความสามารถในการสวมหน้ากาก เล่นละคอนตบตา เต็มไปด้วยมารยาหญิงร้อยเล่มเกวียน ถึงขนาดฉกแย่งชิงคุณชายเฉินในค่ำคืนแต่งงานของซ่งเหลียน และพร้อมก่อกวนความสงบสุขด้วยการขับร้องรำงิ้วโดยไม่สนเวล่ำเวลา ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาฆาตมาดร้าย กระทำสิ่งใดๆที่เป็นภัยคุกคาม เพราะเธอลักลอบคบชู้อยู่กับหมอเกา ไม่ค่อยยี่หร่ากับการแก่งชิงโคมแดงสักเท่าไหร่

ใบหน้าของเหอไซ่เฟย ช่างมีความสวยบาดตาบาดใจ (กว่ากงลี่ กว่าจางชี่ยี่ หรือนักแสดงหญิงจีนยุค 90s ส่วนใหญ่) เสียงร้องก็มีความไพเราะเสนาะหู พร้อมท่าเต้นยั่วเย้ายวนใจ น่าเสียดายไม่ค่อยมีโอกาสแสดงภาพยนตร์มากนัก หลังจากเลิกเล่นงิ้ว ก็เน้นรับงานซีรีย์โทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่

ผมมีความหลงใหลในรูปลักษณ์ Charisma ของเห่อไซ่เฟยอย่างรุนแรง (ถ้าผมเป็นคุณชายเฉิน คงไม่สนภรรยาอื่นหรอก) เต็มไปด้วยลูกเล่ห์ มารยาเสน่ห์ เรื่องบนเตียงคงไม่ต้องพูดถึง แต่น่าเสียดายทั้งหมดเป็นการเสแสร้งสร้างภาพ เล่นละคอนตบตา เพราะความรู้สึกแท้จริงของเธอมอบให้ชายชู้รัก เลยไม่ใคร่สนการแก่งแย่งชิงดีสักเท่าไหร่ เพียงต้องการโต้ตอบศัตรูผู้มาร้าย (โดยเฉพาะคุณนายสอง) และไม่ต้องเงียบเหงาในยามค่ำคืน … ผมคิดว่าการตัดสินใจแต่งงานของตัวละครนี้ น่าจะเรื่องเงินๆทองๆ ต้องการเป็นหนูตกถังข้าวสาร คาดหวังว่าคงมีชีวิตสุขสบาย แต่ที่ไหนได้!


ฉาวชุ่ยเฟิน, Cao Cuifen (เกิดปี 1944) นักแสดงชาวจีน เกิดที่เซี่ยงไห้ โตขึ้นเข้าฝึกฝนด้านการแสดงยัง Beijing Film Academy แต่เรียนไม่จบเพราะการมาถึงของช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม กลายเป็นเกษตรกรทำนาอยู่หลายปี จนกระทั่งถูกส่งตัวมายัง Beijing Film Studio แสดงภาพยนตร์ Civil War (1974), Dancing Flames (1984), Raise the Red Lantern (1991), Shanghai Family (1991), Orphan Tears (1995) ฯ

รับบทคุณนายสอง จั๋วอวิ๋น, Zhuoyun (卓云 แปลว่า เมฆหมอก) หญิงสาววัยกลางคน แรกเริ่มต้นดูมีอัธยาศัยงดงาม พูดพร่ำคำหวาน เบิกบานด้วยรอยยิ้ม ทั้งยังมอบผ้าไหมราคาแพง ใครๆย่อมครุ่นคิดว่าเป็นคนดี แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นพวกหน้าเนื้อใจเสือ/ปากว่าตาขยิบ ครุ่นคิดแต่สิ่งโฉดชั่วร้าย สั่งให้สาวใช้เยี่ยนเอ๋อร์คอยสอดแนมซ่งเหลียน หรือเมื่ออยู่กับคุณชายเฉินก็พยายามพูดใส่ร้ายป้ายสีเหมยซาน สบโอกาสก็พร้อมกระทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้อีกฝั่งฝ่ายได้รับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ตกตายได้เลยยิ่งดี

เชื่อว่าหลายคนคงหลงคารมคุณนายสองตั้งแต่แรกรับชม (ผมก็คนหนึ่ง) นี่ต้องชมความแนบเนียนในการแสดงของฉาวชุ่ยเฟิน ใบหน้าของเธอไม่ได้แฝงความโฉดชั่วร้าย หรือดูมีลับลมคมใน สามารถปกปิดธาตุแท้ตัวตนได้อย่างมิดชิด จนกระทั่งเมื่อความจริงค่อยๆเปิดเผยออก ถึงพบเห็นความดัดจริต เสแสร้ง สร้างภาพ โดยเฉพาะการนวดหลังให้กับซ่งเหลียน เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจ ถ้าไม่เพราะคุณชายเฉิน ฉันคงไม่ต้องมาออกแรงเหน็ดเหนื่อย เสียเวลาทำสิ่งไร้สาระนี้เพื่อผู้อื่น

สามัญสำนึกของใครหลายคนอาจครุ่นคิดว่าการกระทำของคุณนายสองนั้นโฉดชั่วร้าย บุคคลอันตราย แต่จริงๆแล้วเธอเล่นตามเกม ปฏิบัติตามขนบประเพณี ไม่ออกนอกลู่นอกทางเหมือนคุณนายสาม (ที่ลักลอบคบชู้นอกใจสามี เลยได้รับการลงโทษอย่างสาสม) นั่นแปลว่าเธอเรียนรู้ที่จะต่อสู้ดิ้นรนภายใต้กฎกรอบสังคม … มันจึงไม่ใช่ความผิดของตัวละครนี้ที่ฉกฉวยโอกาส หน้าไหว้หลังหลอก กลับกลอกปอกลอก แต่คือสิ่งที่ห้อมล้อมกรอบความคิดเธอไว้ต่างหาก


ข่งหลิน, Kong Lin (เกิดปี 1969) นักร้อง/นักแสดงชาวจีน เกิดที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ต้นตระกูลสืบเชื้อสายขงจื้อ รุ่นที่ 76 บิดาเป็นนักร้อง/นักแสดง เลยเสี้ยมสอนบุตรสาวจนมีความหลงใหลด้านการร้อง-เล่น-เต้น รวมถึงเล่นไวโอลิน เชลโล่, พอเติบโตขึ้นถูกส่งเข้าเรียน Beijing Film Academy ไปเข้าตาผู้กำกับหลี่เชาหง แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Bloody Morning (1989), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Raise the Red Lantern (1991) เลยติดภาพลักษณ์ตัวร้ายในผลงานหลายๆเรื่องต่อจากนั้น

รับบทสาวรับใช้เยี่ยนเอ๋อร์, Yan’er (燕儿 แปลว่า นกนางแอ่น) แม้หน้าตาบ้านๆแต่ก็มีความเยาว์วัย เลยได้รับการเอ็นดูจากคุณชายเฉิน ทำให้หลงตนเอง เกิดความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง โกรธรังเกียจซ่งเหลียน (เพราะครุ่นคิดว่าเธอแก่งแย่งสถานะคุณนายสี่ไปจากตน) แถมถูกบังคับให้กลายเป็นคนรับใช้ส่วนตัว ด้วยเหตุนี้จึงมักสอดรู้สอดเห็น กระทำสิ่งสร้างความน่ารำคาญ นำความลับๆไปบอกคุณนายสอง ก่อนได้รับผลกรรมคืนสนองอย่างสาสม

การที่หนังนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของซ่งเหลียน ทำให้ผู้ชมมักมองเยี่ยนเอ๋อร์เป็นตัวร้าย บุคคลอันตราย (ไม่ต่างจาก จั๋วอวิ๋น) แต่ในสายตาคนอื่นเธอก็แค่สาวรับใช้ ไม่ได้มีพิษมีภัย พฤติกรรมของเธอแค่เพียงตอบสนองความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง (มันผิดอะไรที่หมาวัดจะเห่าหอนดอกฟ้า) ลงโทษด้วยการประจาน ทำให้อับอายขายขี้หน้า มันรุนแรงเกินกว่าเหตุไปไหม … แต่ตัวละครนี้ก็ซื้อบื้อ ดื้อรั้นเกินเยียวยาเช่นกัน

ตั้งแต่ฉากแรกปรากฎตัว ข่งหลินก็สร้างความน่าสนใจให้เหยียนเอ๋อร์โดยทันที ทั้งน้ำเสียงพูดแดกดัน สีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความหยามเหยียด แม้หลายๆฉากไม่ปรากฎตัว (หรือยืนนิ่งๆอยู่เฉยๆ) กลับสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ซ่งเหลียน จนผู้ชมอาจรู้สึกว่าตัวละครนี้กำลังแอบถ้ำมองอยู่ตลอดเวลา สูญเสียความเป็นส่วนตัวไปโดยสิ้นเชิง!

ผมประหลาดใจมากๆที่คนมีการศึกษาอย่างซ่งเหลียน ปฏิบัติต่อเยี่ยนเอ๋อร์ ด้วยการดูถูกเหยียดหยาม ปฏิเสธความเสมอภาคเท่าเทียม แม้อีกฝั่งฝ่ายจะไม่ใช่คนดี แต่ก็ใช่เรื่องแสดงออกลักษณะเช่นนี้! บางคนอาจมองว่านี่คือ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ เพราะสาวใช้แสดงพฤติกรรมเช่นนั้นออกมาก่อน ก็สมควรได้รับการโต้ตอบกลับอย่างสาสมควร อย่างไรก็ดีทำไมทั้งสองไม่พูดคุย ปรับความเข้าใจละ??? … นี่อาจสะท้อนทัศนคติของคนจีนเกี่ยวกับความแตกต่างทางชนชั้น เจ้านาย-คนรับใช้ ขุนนาง-สามัญชน เลยปฏิเสธการเผชิญหน้า หรือมีปฏิสัมพันธ์อีกฝั่งฝ่าย


ถ่ายภาพโดยเจาเฟย, Zhao Fei (เกิดปี 1961) ตากล้องชาวจีน เกิดที่ซีอาน มณฑลส่านซี, หลังพานผ่านช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ได้เข้าเรียนการถ่ายภาพ Beijing Film Academy รุ่นเดียวผู้กำกับรุ่นห้า แล้วได้ร่วมงานผู้กำกับเทียนจวงจวง The Horse Thief (1986), The Last Eunuch (1991), ผลงานเด่นๆ อาทิ Raise the Red Lantern (1992), The Emperor and the Assassin (1998), The Sun Also Rises (2007), Let the Bullets Fly (2010) ฯ

อีกเครดิตถ่ายภาพคือ หยางลัน, Yang Lun ได้ร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวสามครั้ง Codename Cougar (1989), Ju Dou (1990) และ Raise the Red Lantern (1991)

ผู้กำกับจางอี้โหมว นำแนวคิดการยึดถือมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยกฎกรอบข้อบังคับ มาตีความในเชิงภาษาภาพยนตร์ ผ่านทิศทางมุมกล้อง จัดองค์ประกอบภาพให้มีความสมมาตร แทบทุกช็อตฉากห้อมล้อมด้วยผนังกำแพง เพื่อสร้างความอึดอัดคับแคบ ตัวละครไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นจากกรงขัง ขณะเดียวกันผู้ชมยังรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งอย่างควบคุมครอบงำ แอบจ้องจับผิดการกระทำอยู่ตลอดเวลา

ระยะภาพส่วนใหญ่จะคือ Long Shot หรือ Extreme-Long Shot เป็นสร้างพื้นที่ว่าง ระยะห่างจากตัวละคร เพื่อให้พบเห็นเพียงการกระทำ ขยับเคลื่อนไหว ชีวิตดำเนินไป อะไรไม่สำคัญก็ไม่ต้องเอามาใส่ใจ อย่างใบหน้าคุณชายเฉิน มักมีบางสิ่งกีดกั้นขวาง หรืออยู่ห่างเกินกว่าจะมองไม่เห็นอะไร (แบบเดียวกับ Yellow Earth (1984) และ Red Sorghum (1988) จงใจไม่ถ่ายให้เห็นใบหน้าเจ้าบ่าว มีความหนุ่ม-แก่ หล่อ-อัปลักษณ์ เพื่อนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว)

แม้โดยส่วนตัวจะชื่นชอบพัฒนาการสีสันอันจัดจ้านของ Red Sorghum (1988) แต่ในส่วน ‘camera work’ ลีลาการถ่ายภาพของ Raise the Red Lantern (1991) มีความสมบูรณ์แบบระดับเดียวกับ Citizen Kane (1941) ทุกช็อตฉากคละคลุ้งด้วยสัมผัสทางอารมณ์ และซุกซ่อนเร้นนัยยะความหมายอย่างลุ่มลึกซึ้ง


ในต้นฉบับนวนิยาย เรื่องราวมีพื้นหลังบริเวณเจียงหนาน, Jiangnan (แปลว่า ทางใต้ของแม่น้ำแยงซี) รายล้อมด้วยทิวเขา หมอกปกคลุมหนายามเช้า ซึ่งผู้กำกับจางอี้โหมว รู้สึกว่านั่นเป็นไม่ใช่สภาพอากาศเหมาะสักเท่าไหร่ เลยตัดสินใจค้นหาสถานที่สำหรับถ่ายทำแห่งใหม่ ก่อนค้นพบเจอ Qiao Family Compound ดั้งเดิมชื่อว่า Zaizhong Hall หรือชื่อทางการ Qiao’s Grand Courtyard ตั้งอยู่เมือง Qi Country จังหวัดจงจิน มณฑลซานซี

ปราสาทหลังนี้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1756 ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ครองราชย์ ค.ศ. 1735-96) แห่งราชวงศ์ชิง อาณาบริเวณกว่า 9,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 6 ลานใหญ่, 20 ลานเล็ก, 313 ห้องพัก สำหรับเป็นที่พักอาศัยของตระกูลเชา พ่อค้ารายใหญ่แห่งมณฑลซานซี ร่ำรวยถึงขนาดสามารถก่อตั้งธนาคาร Dadetong Bank

เกร็ด: ปัจจุบันปราสาทหลังนี้ได้รับการอนุรักษ์ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงวัตถุโบราณมากมาย โด่งดังจากภาพยนตร์ Raise the Red Lantern (1991) และซีรีย์ Qiao’s Grand Courtyard (2006)

เหตุผลของการเลือกปราสาทหลังนี้ นอกจากสถาปัตยกรรมจีนโบราณดูเก่าแก่ มีมนต์ขลัง ก็เพราะความสมมาตรของสถานที่ ห้อมล้อมด้วยผนังกำแพง แบ่งสัดส่วนเรือนพักอาศัยและลานตรงกลาง ได้ตรงตามความต้องการ (สำหรับคุณนายทั้งสี่แยกกันอยู่ และทุกเย็นต้องออกมายืนรอคอยโคมแดง) ทั้งยังมีลักษณะเหมือนเขาวงกต เมื่อเข้าไปอาศัยอยู่ภายในจักไม่สามารถหาหนทางกลับออกมาได้อีก

แซว: สังเกตจากแผนที่ ผมรู้สึกว่าสถานที่จริงสลับซับซ้อนกว่าในหนังมากๆเลยนะ คงเพราะการเล่นมุมกล้องด้วยละ ทำให้ผู้ชมไม่สามารถแยกแยะทิศทาง รายละเอียดของสถานที่แห่งนี้ (คงต้องการสร้างความรู้สึกให้เหมือนเขาวงกต ด้วยเหตุผลที่อธิบายไป)

เริ่มต้นคล้ายๆ Red Sorghum (1988) ภาพแรกของหนังคือใบหน้าของกงลี่ ที่แสดงอาการผิดหวัง ระทมทุกข์ทรมานใจ เพราะกำลังถูกบีบบังคับให้ต้องแต่งงาน แต่ก็มีรายละเอียดแตกต่างกันอยู่พอสมควร

  • พื้นหลังแม้ไม่ได้ปกคลุมด้วยความมืดมิด (สื่อถึงความหมดสิ้นหวัง) กลับพบเห็นกรอบสี่เหลี่ยมมากมาย (หมายถึงการต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ ข้อบังคับ ยึดถือมั่นในขนบประเพณี วิถีปฏิบัติตระกูลเฉินสืบทอดต่อกันมา)
  • จากเคยแสงสว่าง-เงามืด แบ่งครึ่งอาบฉาบใบหน้าหญิงสาว, คราวนี้ถ้าสังเกตดีๆยังพอเห็นใบหูด้านขวามีความสว่างชัด ผิดกับด้านซ้ายมืดมิดสนิท (ผมครุ่นคิดว่านัยยะสื่อถึงความเชื่อของตัวละคร แม้การแต่งงานทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพ แต่ชีวิตคงไม่เลวร้ายไปกว่าที่ครุ่นคิดไว้กระมัง ‘ฟังหูไว้หู’)

ความขบถแรกของซ่งเหลียน คือปฏิเสธที่จะขึ้นเกี้ยวเจ้าสาว (คงไม่ให้ย้อนรอยกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นใน Red Sorghum (1988)) คาดว่าก็น่าจะขบวนนี้กระมังที่กำลังเดินทางไปรับ แต่เธอกลับสวมชุดนักศึกษา ถือกระเป๋ามาเอง แล้วเดินสวนทางกับเกี้ยว ตรงเข้าหาหน้ากล้อง สื่อถึงความต้องการก้าวดำเนินชีวิตด้วยลำแข้งของตนเอง

ช็อตแรกเมื่อซ่งเหลียนเดินทางมาถึงปราสาทตระกูลเฉิน ไม่ใช่ภาพภายนอกหรือประตูทางเข้า กลับคือหลักศิลาจารึกตัวอักษรจีนขนาดใหญ่ แม้ผมอ่านไม่ออกว่าเขียนอะไร แต่ให้ความรู้สึกเหมือนบทบัญญัติ กฎระเบียบข้อบังคับ ที่ควบคุมครอบงำตัวละคร ต่อจากนี้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด!

ถัดจากหลักศิลาจารึกตระกูลเฉิน ช็อตถัดมาพบเห็นกำแพงสูงใหญ่รายห้อมล้อมทุกทิศทาง นี่เป็นการสร้างกรอบ กรงขัง (ในเชิงกายภาพ) มีขนาดสูงใหญ่เฉียดฟ้า เมื่อเทียบกับหญิงสาวตัวกระจิดริด ย่อมไม่สามารถปีนป่ายหลบหนี หาหนทางกลับออกจากสถานที่แห่งนี้ไปได้

และพ่อบ้านที่ทักทายซ่งเหลียนคนแรก พบเห็นเดินเข้ามาจากชั้นบน เพราะเบื้องตนยังไม่รับรู้ว่าเธอเป็นใคร แต่ฉันคือพ่อบ้านตระกูลฉิน ย่อมมีวิทยฐานะสูงศักดิ์กว่าคนธรรมดาทั่วไป

มุมกล้องส่วนใหญ่จะถ่ายหน้าตรง ตัวละครอยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง มีความสมมาตรซ้าย-ขวา และมักไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหวไปไหน เพื่อสื่อถึงกฎระเบียบที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลง ยกเว้นเมื่อเกิดความขัดแย้ง ใครบางคนแหกกฎ หรือต้องการสื่อถึงพฤติกรรมเอาแต่ใจ ถึงค่อยพบเห็นความเอนเอียง หันเฉียงๆ (อาจต้องใช้การสังเกตสักหน่อยก็จะพอเห็นภาพ)

ยกตัวอย่างการมาถึงของซ่งเหลียน พ่อบ้านนำพามายังเรือนพักอาศัย แทบทุกช็อตจะมีความสมมาตร ตัวละครอยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง จนกระทั่งหันไปพบเจอสาวใช้เยี่ยนเอ๋อร์ จะมีความเอนเอียงเล็กๆเกิดขึ้นโดยทันที

ผมรวบรวมไว้ตรงนี้เลยแล้วกันสำหรับห้องหับของคุณนายทั้งสี่ ต่างมีรายละเอียด สัมผัสบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไป

  • คุณนายใหญ่ ไม่มีประดับโคมแดง การจัดแสงก็ดูแห้งแล้ง ไร้สีสัน นั่นเพราะเธออายุมากแล้ว ผิวหนังแห้งเหี่ยว ไม่ได้รับความใคร่สนใจจากคุณชายเฉินอีก ถึงอย่างนั้นคุณนายก็ไม่ได้ยี่หร่าอะไร เพราะแสงสว่างสาดส่องจากภายนอก สื่อถึงบุตรชายคนโตจักเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูลนี้ ไม่มีอะไรให้ต้องดิ้นรน แก่งแย่งฉกชิงดีชิงเด่นกับใคร
  • คุณนายสอง พอมีโคมแดงอยู่สองสามดวง ผนังสีเหลือง ภาพวาดหุบเขา ทำให้พอดูมีชีวิตชีวาขึ้นบ้าง ได้รับการตอบสนองจากคุณชายเฉินบางครั้งครา แต่ไร้ซึ่งแสงสว่างสาดส่องจากภายนอก (จะถือว่ามีความมืดมิดซุกซ่อนเร้นภายใน หรืออนาคตที่ยังขาดทายาทชายให้พึ่งพักพิง)
  • คุณนายสาม เต็มไปด้วยผ้าม่าน หน้ากาก นอกจากเป็นสัญลักษณ์อดีตเคยเป็นนักแสดง(งิ้วจีน) ยังสื่อถึงการปกปิด ซุกซ่อนเร้นธาตุแท้ตัวตน แต่เพราะโดดเด่นด้านการเอาอกเอาใจคุณชายเฉิน เลยมีโคมแดงส่องแสงอบอุ่นอยู่เต็มห้อง
  • ส่วนคุณนายสี่ ผนังประดับด้วยภาพวาด งานเขียน (น่าจะบทกวี) แสดงถึงการเป็นผู้มีความรู้ การศึกษา ประดับโคมแดงมากมายเพราะเพิ่งแต่งมาเข้ามาใหม่ … ข้าวใหม่ปลามัน

สำหรับห้องรับประทานอาหาร สังเกตว่าผนังกำแพงห้อยแขวนภาพวาดบรรพบุรุษตระกูลเฉิน ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น นี่เช่นกันสื่อถึงความยึดถือมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา รวมถึงการต้องรับประทานอาหารอย่างพร้อมหน้า (คนรับใช้ก็ต้องมายืนจับจ้องมองด้วยนะ) ไม่เคยขาดตกบกพร่อง จนกระทั่ง…

เท้าเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของอิสตรี (สะท้อนความเชื่อโบราณชาวจีน ที่นิยมให้ผู้หญิงรัดเท้าจนลีบเล็กเป็นรูปกลีบบัว ตามค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องทางเพศและความงาม) หนังจึงสร้างประเพณีที่ผู้ถูกเลือกประดับโคมแดง จะได้รับการนวดฝ่าเท้าเตรียมความพร้อมก่อนปรนเปรอนิบัติคุณชายเฉิน

การนวดฝ่าเท้านอกจากคือความสุขเล็กๆของหญิงสาว ยังถือเป็นรางวัลตอบแทนชัยชนะ ที่สามารถแก่งแย่งฉกชิง ค่ำคืนนี้ได้ปรนเปรอนิบัติของคุณชายเฉิน รวมถึงยังได้รับสิทธิ์กำหนดรายการอาหารที่ชื่นชอบ อ้างอวดต่อภรรยาอื่น (รวมถึงพฤติกรรมอ่อนน้อม-แข็งกระด้าง ของบรรดาคนรับใช้ที่จะแสดงออกต่อคุณนายทั้งหลายอีกด้วย)

สีแดง คือสีมงคลของตามความเชื่อของชาวจีน ซึ่งหนังก็ใช้ประโยชน์จากประทีปโคมแดงอย่างเต็มที่ ด้วยการอาบชโลมภาพด้วยโทนแสงสี แต่ในบรรยากาศความอบอุ่น สัมผัสอันนุ่มนวล โรแมนติก (ดูเป็นสีแดงออกส้มๆ เหลืองๆ) ไม่ใช่แดงจัดจ้านหรือเข้มข้นเหมือนสีของเลือด

นี่เป็นช็อตที่ทำให้ผมระลึกภาพยนตร์เรื่อง Moonlight (2016) แสงน้ำเงินอาบฉาบคนผิวดำได้นวลผ่อง งดงามเหมือนนิลกาฬ, เช่นนั้นแล้วผิวเหลืองของชาวเอเชีย ชาติพันธุ์มองโกลอยด์ (Mongoloid) น่าจะเหมาะกับแสงสีแดงอ่อนๆ ส้มปนเหลือง นวลผ่องเหมือนบุษราคัม

ช่วงเริ่มต้นซ่งเหลียน ถูกเสี้ยมสอน(โดยคุณนายสอง)ให้มีความขัดแย้งต่อเหมยซาน ซึ่งการแสดงออกของเธอก็ค่อนข้างเด่นชัดตั้งแต่แก่งแย่งคุณชายเฉินตั้งแต่ค่ำคืนแต่งงาน แถมวันถัดๆมายังขับร้องรำ สร้างความหงุดหงิดน่ารำคาญต่อเจ้าสาวใหม่ สังเกตช็อตนี้ทั้งสองยืนหันหน้าในทิศทางตรงกันข้าม สีเสื้อผ้าด้วยเช่นกัน

ทุกครั้งที่เหมยซานขับร้องรำ เธอจะสวมใส่ชุดสีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงสวมบทบาท (เป็นตัวละครที่เธอขับร้องรำ) จนกว่าจะพึงพอใจหรือมีใครมาขัดจังหวะ ถึงค่อยปลดเปลื้องถอดชุดคลุมนั้นออก แล้วหวนกลับมาเป็นคุณนายสามอีกครั้ง

ระหว่างการก้าวเดินเล่นทัวร์ปราสาทของซ่งเหลียน ผู้ชมแทบไม่สามารถกำหนดทิศทาง จินตนาการแผนที่ คำนวณความใหญ่โตของสถานที่แห่งนี้ เพราะมองทางไหนก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันเสียหมด จนดูเหมือนเขาวงกต ใครพลัดหลงเข้ามาย่อมไม่สามารถหาหนทางกลับออกไปได้อย่างแน่นอน

ปราสาทหลังนี้ยังมอบบรรยากาศเก่าแก่ คร่ำครึ โบร่ำราณ เหมือนขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีปฏิบัติที่สืบทอดต่ออย่างยาวนาน ผู้อยู่อาศัยต้องยึดถือมั่นในกฎระเบียบข้อบังคับ ไม่ให้มีการโอนอ่อนผ่อนปรน อดีตเคยเป็นอย่างไร อนาคตยังต้องดำเนินไปอย่างนั้น

ขณะที่จั๋วอวิ๋นซื้อใจซ่งเหลียนด้วยผ้าไหมราคาแพง เหมยซานชักชวนมาเล่นไพ่นกกระจอก (คุณนายคนอื่นคงปฏิเสธ ไม่ขอร่วมวงสังสรรค์) ด้วยการบอกว่าจะอ่อนข้อให้ แต่นั่นเองทำให้เธอได้มีโอกาสพบเห็นเรื่องราวใต้โต๊ะ (นัยยะเหมือนการสวมหน้ากาก เล่นละคอนตบตา เพื่อซุกซ่อนเร้นบางอย่างสิ่งไว้ภายใต้) มันต้องมีความสัมพันธ์ลับๆเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ไพ่นกกระจอก จำเป็นต้องมีผู้เล่นสี่คนเปะๆ จะว่าไปก็เท่ากับปริมาณคุณนายทั้งสี่ ที่ต่างต้องต่อสู้แข่งขัน เปิดไพ่จากหน้าตัก และทุกค่ำคืนมีผู้ชนะได้เพียงคนเดียว (เป็นการเปรียบเทียบง่ายๆตรงๆแบบนี้แหละ)

ซ่งเหลียนได้ยินเสียงเป่าขลุ่ย เลยออกเดินติดตามหามาจนพบเฟยปู่ (บุตรชายคนโตของคุณนายใหญ่) ทิศทางมุมกล้อง องค์ประกอบภาพ และแสงสีของช็อตนี้ มอบสัมผัสแห่งความโหยหา ใคร่ครวญถึงอดีต สำหรับหญิงสาว เสียงขลุ่ยทำให้เธอครุ่นคิดถึงบิดา อิสรภาพเคยได้รับ เพราะปัจจุบันอาศัยอยู่ยังสถานที่แห่งนี้ด้วยความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ชีวิตล่องลองไปอย่างไร้จุดหมาย ไร้สิทธิ์เสียง อำนาจในการครุ่นคิดตัดสินใจ เพียงความเอ็นดูครั้งคราวจากคุณชายเฉิน เพียงพอเสียที่ไหน

สำหรับเฟยปู่ เสียงขลุ่ยรำพันความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ต้องการใครสักคนเคียงข้างกาย เหมือนว่าวินาทีนี้เขาจะได้พบเจอหญิงสาวในอุดมคติ แต่ก็ตระหนักว่าเธอคือบุคคลที่ตนเองมิอาจครอบครอง จึงครุ่นคิดอยากทำอะไรบางอย่าง แต่ถูกสวนกลับว่าไร้ความซื่อสัตย์ จริงใจ ไม่ต่างจากผู้ชายคนอื่นทั่วไป

ขลุ่ยในห้องของซ่งเหลียนสูญหายไป ผู้ต้องสงสัยคนแรกย่อมคือสาวใช้เยี่ยนเอ๋อร์ เมื่อเปิดประตูห้องของเธอเข้ามา พบเห็นโคมแดงห้อยแขวนอยู่เต็มห้อง แม้เต็มไปด้วยรอยประ (นำโคมเก่าที่ถูกทิ้งขว้างมาซ่อมแซม) แต่ถือเป็นการกระทำไม่เหมาะสม ต้องการยกตนเทียบเท่าคุณนาย มักใหญ่ใฝ่สูงเกินตัว … เอาจริงๆมันผิดอะไร?

เมื่อซ่งเหลียนค้นห้องโดยละเอียด กลับพบเจอตุ๊กตาสาปแช่ง เขียนชื่อของตนเองพร้อมเข็มทิ่มแทง นี่เป็นสิ่งของสำหรับแสดงความจงเกลียดจงชัง ต้องการให้อีกฝั่งฝ่ายมีอันเป็นไป ด้วยความเฉลียวฉลาดของเธอตระหนักว่าเยี่ยนเอ๋อร์ไม่สามารถอ่านเขียน ใครบางคนต้องแอบให้การสนับหนุนหลัง

ผมละชอบการโต้ตอบกลับของซ่งเหลียนต่อจั๋วอวิ๋น จู่ๆมาขอให้ตัดผมสั้น (อ้างจากคำพูดคุณชายเฉิน ว่าอาจทำให้ดูสวยสาว หน้าละอ่อนเยาว์) แต่นี่ไม่ต่างจากการยื่นคอให้เชือด เลยจัดหนักอย่างสาสมด้วยการตัดฉับ หูแหว่ง ส่งเสียงกรีดร้องลั่นบ้าน

ยัยนั่นเลยเอาความไปฟ้องคุณชายเฉิน กล่าวตำหนิติเตียนซ่งเหลียน พ่นพิษอย่างรุนแรง แต่เมื่อหญิงสาวเข้าไปจะพูดขอโทษกลับมีน้ำเสียงนุ่มนวลอ่อนหวาน ช่างเป็นความกลับกลอก ปอกลอก พูดอย่างใจอย่าง ปากว่าตาขยิบ หน้าเนื้อใจเสือ (สำนวนไทยต่อคนพรรค์นี้มีหลายคำทีเดียว)

วินาทีที่คุณชายเฉินบอกกับซ่งหลินว่าได้ทำการเผาทำลายขลุ่ย ของที่ระลึกต่างหน้าบิดา จากนั่งอยู่บนเตียงลุกขึ้นยืนโดยฉับพลัน! แสดงออกปฏิกิริยาไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ค่อยนั่งลง ร่ำร้องไห้ … เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความไม่ประณีประณอม ทุกสิ่งอย่างต้องเป็นไปตามครรลองตามใจฉัน ครุ่นคิดว่าขลุ่ยนั่นอาจคือของอดีตคนรัก แต่แทนที่จะพูดคุยสอบถาม กลับกระทำการเห็นแก่ตัว ไม่สนหัวใจภรรยา แถมพอรับรู้ความจริง ก็ใช้ข้ออ้างก็แค่วัตถุสิ่งข้าวของ อยากได้เท่าไหร่เดี๋ยวซื้อให้ใหม่ มันแทนกันได้เสียที่ไหนกัน!

พฤติกรรมดังกล่าวไม่ต่างจากวิธีการของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ชอบครุ่นคิดแทนประชาชนว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี มีอะไรไม่ชอบมาพากลก็กำจัด ทำลายล้าง แล้วสร้างมันขึ้นมาใหม่ (สะท้อนแนวคิดช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ทุบทำลายอดีตเพื่อสร้างอนาคตใหม่)

สลับตำแหน่งกับตอนตัดผมสั้น มาครานี้จั๋วอวิ๋นเป็นผู้นวดหลังให้ซ่งเหลียน จิตใจของเธอคงเต็มไปด้วยความคับแค้น (กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลังจากใบหน้าของเธอมาถึงช็อตนี้ เป็นการสื่อถึงความไม่มีพึงพอใจในสิ่งกำลังกระทำอยู่) เหตุใดฉันต้องเสียเวลามาทำอะไรแบบนี้ (แบบเดียวกับตอนซ่งเหลียนตัดผมให้เธอ) แต่ครานี้คุณชายเฉินนั่งสังเกตการณ์อยู่ข้างๆ เลยไม่สามารถกระทำสิ่งชั่วร้ายใดๆโต้ตอบกลับ (เพราะต้องสร้างภาพไว้ก่อน)

แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อจั๋วอวิ๋น รับล่วงรู้ความลับบางอย่างจากสาวใช้เยี่ยนเอ๋อร์ จึงครุ่นคิดแผนการณ์อันชั่วร้าย ด้วยการให้คำแนะนำอะไรบางอย่างกับคุณชายเฉิน ภาพช็อตนี้ถ่ายจากห้องอาหาร พบเห็นบานประตูห้องบรรพบุรุษ/ผู้ก่อตั้ง (ให้กำเนิดตระกูลเฉิน) มีลักษณะเหมือนกรงขัง นั่นเป็นการบอกใบ้ว่าซ่งเหลียนยังไม่ได้ตั้งครรภ์

ห้องบรรพบุรุษแห่งนี้ สามารถเปรียบเทียบถึงการ ‘ให้กำเนิด’ (จุดเริ่มต้นตระกูลเฉิน) ซึ่งมุมกล้องถ่ายให้เห็นบานประตูในลักษณะเหมือนกรงขังคุก สถานที่ของผู้กระทำความผิด ในบริบทนี้ก็คือซ่งเหลียนแสร้งว่าตั้งครรภ์

เมื่อถูกจับได้ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงมีการลงโทษคลุมโคมแดงด้วยผ้าดำ ทำให้ซ่งเหลียนหมดสูญสิ้นโอกาสในการปรนเปรอนิบัติสามี และเรือนหลังนี้ก็ปกคลุมอยู่ในความมืดมิด ไร้ชีวิตชีวา ไร้แสงสว่าง ความอบอุ่น แถมกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว หิมะใกล้ตกหล่นเต็มที (สีขาวโพลนของหิมะ ตัดกับผ้าคลุมโคมแดงสีดำ หยิน-หยาง)

แม้ตระหนักว่าใครคือต้นสาเหตุ แต่มีเพียงบุคคลเดียวที่ซ่งเหลียนสามารถโต้ตอบกลับ นั่นคือสาวใช้เยี่ยนเอ๋อร์ จึงนำทุกสิ่งอย่างในห้องแห่งความลับของเธอ ออกมาประจานหน้าลานบ้านให้ใครต่อใครรับรู้โดยทั่วกัน คำตัดสินของคุณนายใหญ่ (ผู้อาวุโสสุดในบ้านขณะนั้น) ลงโทษเพียงให้เผาทำลายโคมแดง และนั่งคุกเข่าจนกว่าจะยินยอมรับความผิด แต่หญิงสาวกลับดื้อดึงดันจนหิมะตกหนัก เป็นลมล้มพับ แล้ว…

ภาพช็อตนี้อาจไกลไปสักหน่อย แต่เรายังสามารถพบเห็นกงล้อวางพิงผนังอยู่ถึงสองอัน (จะมีอีกช็อตเอียงๆที่ศีรษะเธอซ้อนทับกงล้อพอดิบดีด้วยนะ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ‘กงเกวียนกรรมเกวียน’ กระทำอะไรใครไว้ย่อมได้ผลลัพท์นั้นวนเวียนคืนตอบสนอง

วันเกิดครบรอบยี่สิบปีของซ่งเหลียน ไม่มีใครล่วงรู้ ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครอยู่เคียงข้าง แถมเมื่อรับรู้โชคชะตากรรมของเยี่ยนเอ๋อร์ จึงทำให้เธอสั่งสุรามาร่ำ ดื่มด่ำจนเมามาย ขาดสติสัมปชัญญะ ระรานผู้อื่นไปทั่ว แถมพูดในสิ่งไม่ควรพร่ำบอก ตื่นขึ้นมายามค่ำคืน ในห้องปกคลุมด้วยความมืดมิดหนาวเหน็บ (น่าจะเป็นช็อตดำมิดสุดของหนังแล้วนะ) กำลังออกไปเผชิญหน้าโศกนาฎกรรมแห่งชีวิต

อาการมึนเมาจนขาดสติ เกิดจากความตั้งใจของผู้ดื่มเอง ในบริบทนี้ด้วยเหตุผลต้องการหลบหลีกหนีจากความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ชีวิตไม่มีอะไรเป็นดังคาดคิดหวัง ซึ่งจะตรงกันข้ามกับสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นหลังจากซ่งเหลียนประจักษ์เหตุการณ์โศกนาฎกรรม อาการคลุ้มบ้าคลั่งไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ เป็นกลไกอัตโนมัติของร่างกายสำหรับปกป้องตนเอง เพื่อหลบหลีกหนีความจริง ไม่สามารถยินยอมรับสิ่งพบเห็น

ซ่งเหลียนพยายามแอบติดตามกลุ่มคนที่อุ้มพาเหมยซานเข้าไปในห้องแห่งความตาย กระทั่งพวกเขาทั้งหมดเดินทางกลับ เธอจึงรีบย่องตรงเข้าไป และพบเห็น … นี่เป็นช็อตที่เธอเปิดประตูเข้าไปในห้อง แล้วส่งเสียงกรีดลั่น วิ่งหนีออกมา สังเกตว่าถ่ายจากระยะไกลโคตรๆ พบเห็นหิมะขาวโพลนเต็มหลังคา แต่แทบมองไม่เห็นเหตุการณ์อะไรที่สุดปลายขอบฟ้า

การเลือกมุมกล้องช็อตนี้ เพื่อสะท้อนความพยายามปกปิดเหตุการณ์ ตัวละครอื่น(โดยเฉพาะคุณชายเฉิน)ทำราวกับว่าไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น ผู้ชมมองเห็นเพียงภาพไกลลิบๆ และเสียงกรีดร้องของหญิงสาว แต่เพราะไม่ถ่ายให้เห็น มันเลยอาจไม่มีอะไรซุกซ่อนเร้นอยู่ก็ได้ จริงเหรอ?

ยกตัวอย่างการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (1989) นั่นคือเหตุการณ์โคตรใหญ่ แต่คอมมิวนิสต์จีนกลับพยายามปกปิด บิดเบือน ไม่ให้มีการพูดกล่าวถึงในสื่อสาธารณะ นอกเสียจากบุคคลพานผ่านเหตุการณ์ดังกล่าว คนอื่นๆล้วนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ปัจจุบันก็แทบถูกหลงลืมเลือนไปหมดสิ้น ราวกับไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น!

เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด หรือเฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ ก็ขึ้นอยู่กับคุณเองจะครุ่นคิดตัดสินใจ แต่สำหรับซ่งเหลียนสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตา เป็นสิ่งยินยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง! (มันอาจเพราะความรู้สึกผิดของตนเองด้วยส่วนหนึ่ง ที่คือต้นสาเหตุให้โศกนาฎกรรมเกิดขึ้นกับเยี่ยนเอ๋อร์ และเหมยซาน) เลยแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก จุดประทีปโคมแดงทั่วรอบบ้าน เพื่อขัดขวางขนบธรรมเนียมประเพณี ทำลายวิถีปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมา ต่อจากนี้ย่อมไม่มีใครหาญกล้า ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเรือนพักหลับนอนของคุณชายเฉินอีกต่อไป

โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ เมื่อพบเห็นความคอรัปชั่น พฤติกรรมชั่วร้ายของมนุษย์ ย่อมมิอาจยินยอมรับ ปฏิเสธต่อต้าน ต้องการกระทำบางสิ่งอย่างเพื่อต่อสู้ขัดขว้าง หาหนทางทำลายต้นตอแห่งปัญหา … แต่คนสมัยนี้ส่วนใหญ่ เพราะหวาดเกรงกลัวอำนาจมืด ก็เลยเหมือนเต่าหัวหด ขดอยู่ในแต่กระดอง

เมื่อประเพณีโคมแดงได้ถูกทำลาย สูญสิ้นมนต์ขลัง สังเกตว่ากล้องจะมีการขยับเคลื่อนไหว ไหลเข้า-ไหลออก ไม่จำเป็นต้องหยุดแน่นิ่งอีกต่อไป ถึงอย่างนั้นการมาถึงของคุณนายห้า ราวกับว่าสถานที่แห่งนี้ไม่เคยปรับเปลี่ยนอะไร โศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นแล้วก็พานผ่านไป ชีวิตยังคงดำเนินต่อ เวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

คุณนายสี่ที่ยังคงเดินเวียนวนไปวนมา จากซ้ายไปขวา กลางวัน-ค่ำคืน กล้องถ่ายจากระยะใกล้ Cross-Cutting ถอยห่างออกไปเรื่อยๆ แม้ขนบประเพณีได้รับการเปลี่ยนแปลง แต่พื้นฐานความต้องการมนุษย์ยังคงเดิม เฉกเช่นนั้นแล้วเหตุการณ์แบบในหนังย่อมบังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ไม่รู้เมื่อไหร่มนุษย์ถึงสามารถดิ้นหลุดพ้นกฎกรอบ เขาวงกตแห่งนี้สักที

หลายคนอาจมีความครุ่นคิด ซ่งเหลียนแสร้งบ้าหรือเปล่า? เพื่อให้ตนเองไม่ต้องปฏิบัติตามขนบประเพณี และสามารถทำลายวิถีปฏิบัติทางสังคม? ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ แต่ก็พอเป็นไปได้อยู่ ซึ่งเรายังสามารถมองในอีกแง่มุมหนึ่งว่า มีเฉพาะคนเสียสติแตกเท่านั้นถึงต้องการโค่นล้ม ทำลายระบบ

ตัดต่อโดย ดูหยวน, Du Yuan ในสังกัด Xi’an Film Studio ขาประจำผู้กำกับจางอี้โหม่วในยุคแรกๆ ตั้งแต่ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Shanghai Triad (1995) ฯ

ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของซ่งเหลียน ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีเต็ม ตั้งแต่แต่งงานเข้ามาอยู่อาศัยในปราสาทตระกูลเฉิน เรียนรู้ขนบประเพณี วิถีปฏิบัติของภรรยาน้อย จนฤดูกาลค่อยๆผันแปรเปลี่ยน (เริ่มจากหน้าร้อน, ฤดูใบไม้ร่วง, หิมะตก และหวนกลับมาหน้าร้อนอีกครั้ง)

  • อารัมบท ซ่งเหลียนถูกแม่เลี้ยงบีบบังคับให้แต่งงาน ออกเดินทางสู่ปราสาทตระกูลเฉิน
  • องก์แรก หน้าร้อน: เริ่มต้นเรียนรู้ ปรับตัวเข้ากับขนบประเพณี วิถีปฏิบัติของภรรยา
    • ซ่งเหลียน แรกพบเจอขนบประเพณีตระกูลเฉิน
    • แนะนำตัวละคร คุณนายใหญ่ อวี้หรู, คุณนายสอง จั๋วอวิ๋, คุณนายสาม เหมยซาน
    • ค่อยๆเริ่มเรียนรู้ เข้าใจกลเกมการแก่งแย่งชิงดีของเมียน้อยตระกูลเฉิน
  • องก์สอง ฤดูไบไม้ร่วง: การต่อสู้ แก่งแย่งชิง เรียนรู้จักธาตุแท้จริงของศัตรู
    • ซ่งเหลียน ครุ่นคิดแผนการของตนเอง เริ่มจากเรียกร้องขอรับประทานอาหารในห้องส่วนตัว
    • เอาคืนจั๋วอวิ๋ระหว่างการตัดผม ตัดหู
    • แสร้งว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้รับความสำคัญจากคุณชายเฉิน
  • องก์สาม หิมะตก: ช่วเวลาแห่งความผิดพลาด การถูกทรยศหลัง และโศกนาฎกรรม
    • เยี่ยนเอ๋อร์ทรยศหักหลังซ่งเหลียน ทำให้ถูกจับได้ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ เลยโดนลงทัณฑ์ด้วยการนำผ้าดำคลุมโคมแดง
    • จากนั้นซ่งเหลียนทำการประจานเยี่ยนเอ๋อร์ ทำให้โดนลงโทษด้วยการนั่งคุกเข่าท่ามกลางหิมะตกหนัก
    • วันเกิดครบรอบ 20 ปีของซ่งเหลียน ดื่มเหล้าจนมึนเมามาย พูดบางสิ่งอย่างออกไประหว่างขาดสติ
    • หายนะบังเกิดกับเหมยซาน ซึ่งเมื่อซ่งเหลียนติดตามไปพบเห็น แสดงออกจากเกรี้ยวกราด คลุ้มคลั่ง ยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้นไม่ได้ จนสูญเสียสติแตกกลายเป็นคนบ้า!
  • ปัจฉิมบท หวนกลับมาหน้าร้อนอีกครั้ง การมาถึงของคุณนายห้า และความบ้าคลั่งที่ไม่สิ้นสุดของซ่งเหลียน

การดำเนินเรื่องพานผ่านฤดูกาล ถือเป็นอีกกฎกรอบที่หนังใช้ครอบงำทิศทางของเรื่องราว ให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถ้าใครรับชมหนังประเภทนี้มามาก (ที่แบ่งการดำเนินเรื่องออกเป็นฤดูกาล) ย่อมสามารถคาดเดาแนวโน้มเหตุการณ์บังเกิดขึ้นได้ไม่ยากเย็น

สังเกตว่าหนังเต็มไปด้วย Time Skip มีการตัดทอนรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวออกไปอย่างมาก แถมตัวละครไม่เคยพบเห็นออกเดินทางไปไหน (มีพูดกล่าวถึงบ้าง แต่ทุกช็อตฉากล้วนถ่ายทำภายในปราสาทหลังนี้) ทำให้ผู้ชมไม่สามารถตระหนักรู้ถึงเวลาดำเนินไป (นอกจากตัวละครพูดบอกกล่าว 9 วันผ่านไป, สามเดือนถัดไป หรือขึ้นข้อความเปลี่ยนฤดูกาล) ราวกับว่ามันไม่มีความหมาย ‘Timeless’ หรือจะมองว่าชั่วกัลปาวสานก็ได้เช่นกัน (กล่าวคือ ระยะเวลาที่ซ่งเหลียนอาศัยอยู่ในปราสาทหลังนี้ ให้ความรู้สึกเยิ่นยาวนาน ราวกับไร้กาลสิ้นสุด)


เพลงประกอบโดย เจ้าจี้ผิง, Zhao Jiping (เกิดปี 1945) นักแต่งเพลงจากมณฑลฉ่านซี ตั้งแต่เด็กมีความสนใจทั้งดนตรีคลาสสิกและพื้นบ้านจีน สำเร็จการศึกษาจาก Xi’an Music Conservatory เมื่อปี 1970 แล้วทำงานในสถาบันโอเปร่าท้องถิ่นจนถึงปี 1978 ก่อนตัดใจออกมาร่ำเรียนต่อด้านการประพันธ์เพลงที่ Central Conservatory of Music ณ กรุงปักกิ่ง เริ่มทำงานวงการภาพยนตร์ตั้งแต่ Yellow Earth (1984) และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่นห้า ผลงานเด่นๆ อาทิ Red Sorghum (1988), Raise the Red Lantern (1991), Farewell, My Concubine (1993, To Live (1994), A Chinese Odyssey (1995) ฯ

ผลงานก่อนๆหน้านี้ของเจ้าจี้ผิง ถ้าไม่ใช่บทเพลงพื้นบ้านท้องถิ่น ก็มักเขียนท่วงทำนองลักษณะเป็นท่อนๆสั้นๆ สำหรับขยับขยายอารมณ์ประกอบเรื่องราวขณะนั้นๆ Raise the Red Lantern (1991) น่าจะเป็นครั้งแรกเลยกระมัง ที่ได้สรรค์สร้างงานเพลงแบบหนังจีนทั่วๆไป และออกอัลบัมมาให้รับฟังกันด้วย

เริ่มต้นได้รับอิทธิพลจากตัวละครคุณนายสาม เหมยซาน อดีตนักรัองอุปรากรจีน เลยไม่แปลกจะได้ยินเสียงเครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงงิ้ว ซึ่งบทเพลงลักษณะนี้รูปแบบแผน กฎกรอบ ข้อจำกัดค่อนข้างตายตัว เลยมักดังขึ้นช่วงระหว่างพิธีต่างๆ การแต่งงาน, ติดตั้งโคมแดง, ลุ้นระทึกว่าค่ำคืนนี้คุณชายเฉินจะตัดสินใจเลือกเรือนหลังไหน, รวมไปถึงการนำเข้า-ออกแต่ละองก์ของหนัง (ดังขึ้นระหว่างปรากฎข้อความฤดูกาล)

การว่าจ้างเหอไซ่เฟย ซึ่งเป็นนักแสดงอุปรากรชื่อดัง แน่นอนว่าเธอต้องร้อง-เล่น-เต้น แสดงความสามารถของตนเองออกมาให้ชมกัน ในอัลบัมตั้งชื่อภาษาอังกฤษ Meishan Sings แต่ชื่อภาษาจีนแปลว่า Opera of the Pavilion of Imperial Steel เรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวเพิ่งได้จดหมายหย่าร้างจากสามี สภาพจิตใจราวกับถูกมีดทิ่มแทงทรวงอก ระหว่างกำลังเดินทางกลับบ้านฝนตกหนัก จึงต้องพักหลบฝนยัง ‘Pavilion of Imperial Steel’ แล้วคร่ำครวญทบทวนช่วงชีวิตที่พานผ่านมา

ผมค่อนข้างงงๆกับคำแปลภาษาจีนจาก Google Translation แต่ครุ่นคิดว่านัยยะบทเพลงนี้น่าจะล้อกับความรู้สึกของตัวละครเอง ที่เต็มไปด้วยเจ็บปวดรวดร้าว มิอาจอดรนทนต่อการต้องแบ่งปันสามี (ให้ภรรยาคนอื่น)

ใครรับชมหนัง/ซีรีย์จีนมาเยอะ ย่อมต้องเคยได้ยินเสียงเป่าขลุ่ย ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์(ของหนังจีน)เลยก็ว่าได้! สำหรับ Raise the Red Lantern (1991) เริ่มต้นคือสัญลักษณ์แห่งความทรงจำ ซ่งเหลียนได้รับจากบิดา แต่กลับถูกคุณชายเฉินเผาทำลาย (เป็นการแอบกล่าวถึงช่วงเวลาการปฏิวัติทางวัฒนธรรมได้แนบเนียนมากๆ) เพราะครุ่นคิดว่ามันคือของที่ระลึกต่างหน้าจากอดีตชายคนรักของเธอ (นี่สะท้อนพฤติกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ มักครุ่นคิดว่าอุดมการณ์ของตนเองเป็นสิ่งถูกต้อง โดยไม่สนบริบททางสังคม ความคิดเห็นต่างของผู้คน)

Feipu’s Flute เป็นบทเพลงที่มอบสัมผัสอ้างว้าง โดดเดี่ยวเดียวดาย แม้สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย แต่ตนเองกลับไร้ใครสักคนเคียงข้างกาย ผมรู้สึกว่าเฟยปู่ (บุตรชายคนโตของคุณนายใหญ่) แอบตกหลุมรักซ่งเหลียน แต่ทำได้เพียงแค่จับจ้องมองอยู่ห่างๆ ไร้ซึ่งความหาญกล้าครุ่นคิดกระทำไร (บางว่าตัวละครนี้เป็นเกย์ด้วยซ้ำนะ)

บทเพลงที่ผมถือเป็นไฮไลท์ของหนัง Songlian’s Madness ใช้ดนตรีคลาสสิกตะวันตก ไวโอลิน วิโลล่า เชลโล่ (เน้นเครื่องสาย) พร้อมเสียงคอรัสขับร้องประสานเสียง เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความคลุ้มคลั่ง จิตวิญญาณสูญเสียหลักแหล่ง ตัวละครก้าวดำเนินวนเวียน ไม่รู้จะหาหนทางออกจากปราสาทเขาวงกต ขุมนรกแห่งนี้ได้อย่างไร

ลองครุ่นคิดดูนะครับว่า หนังทั้งเรื่องที่มีแต่เพลงจีน เครื่องดนตรีพื้นบ้านของจีน แต่บทเพลงนี้กลับใช้ท่วงทำนองคลาสสิกของชาติตะวันตก แถมดังขี้นช่วงเวลาแห่งความคลุ้มบ้าคลั่งของตัวละคร … มันจะเป็นความต้องการจะสื่อถีงอะไรกันละครับ?

ผู้หญิงคนที่สี่ชิงโคมแดง นำเสนอวิถีของอิสตรีในยุคสมัยที่สังคมยังมองว่า ต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบ ขนบประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา โดยบุรุษเป็นดั่งช้างเท้าหน้า พวกเธอมีหน้าที่เพียงปรนเปรอนิบัติ รับใช้เรื่องบนเตียง ให้กำเนิดบุตรชายสืบสายเลือดวงศ์ตระกูล

สถานภาพของอิสตรีในสถาบันครอบครัวจีน(ในอดีต) เป็นสิ่งที่ผู้ชม(ปัจจุบัน)พบเห็นย่อมรู้สึกเอือมระอา ได้รับการปฏิบัติไม่ต่างจากวัตถุทางเพศ เพียงตอบสนองตัณหา ความต้องการของบุรุษ ซึ่งพวกเธอส่วนใหญ่เมื่อต้องใช้ชีวิตภายใต้กฎกรอบข้อบังคับดังกล่าว ก็มักครุ่นคิดหาหนทางสร้างความโดดเด่นให้ตนเอง กลายเป็นที่รัก ที่โปรดปราน(ของสามี) เพื่อสามารถครอบครองอำนาจ สิทธิ์ในการเลือกกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ … มองเป็นประเด็นชวนเชื่อก็ได้นะครับ เพื่อสร้างอคติต่อวิถีความเชื่อแบบอดีต ปรับเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับอุดมการณ์สร้างชาติสมัยใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์

การจุดประทีปโคมแดง ตามความเชื่อชาวจีนมักเกี่ยวกับ ‘โชคลาภ อำนาจ วาสนา’ จึงถูกนำมาใช้ในพิธีมงคงสมรส (ผมจดจำได้จากภาพยนตร์เรื่อง Ju Dou (1990)) จุดประสงค์เพื่อให้ฝ่ายหญิงมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์บุตรชาย … คือมันไม่ได้มีนัยยะอะไรแบบในหนังเลยนะ เห็นว่าเกิดจากครุ่นคิดของผู้กำกับจางอี้โหมว แทรกใส่เข้ามาเพื่อสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ค่ำคืนนี้คุณชายเฉินจะตัดสินใจเลือกหลับนอนกับภรรยาเรือนไหน? และชักชวนให้ผู้ชมขบคิดตั้งคำถาม มันมีความจำเป็นต้องมีพิธีการเช่นนั้นด้วยหรือ?

ธรรมเนียมการจุดโคมแดงแบบในหนัง คือการสร้างกฎกรอบเพื่อควบคุมครอบงำความครุ่นคิด กำหนดวิถีปฏิบัติ ให้บรรดาภรรยา(และผู้อยู่ใต้อาณัติ) กระทำสิ่งตอบสนองบุคคลผู้มีอำนาจ ใครสามารถสร้างความพึงพอใจให้คุณชายเฉิน ย่อมได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากมายมหาศาล

เปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกฎหมายบ้านเมือง (ระบอบคอมมิวนิสต์จะมีความใกล้เคียงกว่าประชาธิปไตยนะครับ) รัฐบาลออกพระราชบัญญัติโน่นนี่นั่น เรียกร้องให้ประชาชนคล้อยอุดมการณ์ ปฏิบัติยึดถือตามคำสั่ง ใครคิดเห็นต่างจักได้รับบทลงโทษทัณฑ์ (อย่างหนัก) ด้วยเหตุนี้คนส่วนใหญ่จึงจำใจต้องเห็นพ้อง แล้วมองหาหนทางต่อสู้ดิ้นรนภายใต้ข้อจำกัดนั้น แก่งแย่งแข่งขัน เผื่อว่าเมื่อกระทำแล้วผู้มีอำนาจพบเห็น บังเกิดความพึงพอใจ จักได้รับรางวัล/ผลประโยชน์ตอบแทน กลายเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม

เกร็ด: ระบอบคอมมิวนิสต์สมัยก่อน (ไม่รู้สมัยนี้ด้วยหรือเปล่านะ) จะมีทั้งการให้รางวัลและทำโทษ เพื่อสร้างแรงจูงใจประชาชนน้อมนำปฏิบัติตามคำสั่ง, แตกต่างจากประชาธิปไตย ที่มีเพียงบทลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย แต่ให้อิสรภาพในการครุ่นคิด-พูดบอก-แสดงออก

ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก (รวมถึงสมัยยังเป็นตากล้อง) ผู้กำกับจางอี้โหมว มีความสนใจในขนบประเพณี วิถีชีวิต ธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของชนชาวจีน เพราะอคติต่อการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ที่เหล่ายุวชนแดงพยายามทุบทำลายอดีต ละทอดทิ้งประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ เมื่อช่วงเวลา(อันเลวร้ายที่สุดของประเทศจีน)ดังกล่าวสิ้นสุดลง จึงต้องการรวบรวมสิ่งยังคงหลงเหลือ นำมาสรรค์สร้างเป็นภาพยนตร์ ส่งต่อให้คนรุ่นหลังมีโอกาสศึกษารับชม

Raise the Red Lantern (1991) คือการจดบันทึกประวัติศาสตร์ ในแง่มุมขนบประเพณี วิถีปฏิบัติชาวจีนเกี่ยวกับครอบครัว การแต่งงาน ความสัมพันธ์ฉันท์สามี-ภรรยา (ที่มีเมียหลายคน) นำเสนอผ่านมุมมอง(อดีต)นักศึกษาสาว คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้การศึกษา และได้แสดงทัศนคติอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆบังเกิดขึ้น

ในนวนิยายต้นฉบับ กำหนดพื้นหลังช่วงสงครามกลางเมืองครึ่งแรก Chinese Civil War (1927-36) แต่ผู้กำกับจางอี้โหมวเปลี่ยนมาใช้ยุคสมัยขุนศึก Warlord Era (1916–1928) มองผิวเผินเหมือนต้องการหลีกเลี่ยงสะท้อนถึงปัญหาภายในของจีน มาเป็นช่วงเวลาแห่งการรวบรวมผืนแผ่นดินแดนให้เป็นปึกแผ่น แต่เรายังสามารถมองถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งก๊กแบ่งเหล่า เหมือนคุณนายใหญ่ คุณนายสอง คุณนายสาม คุณนายสี่ (ต่างคนต่างอาศัยอยู่ในเรือนของตน) ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีน แม้สามารถโค่นล้มราชวงศ์ชิง เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสำเร็จ กลับแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ไร้ความสมัครสมานฉันท์เป็นปึกแผ่น มีแต่การแก่งแย่งชิง เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น … ลักษณะดังกล่าวสะท้อนสภาพการเมืองประเทศจีน ยุคสมัยหลังการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ได้ตรงเผงกว่าเป็นไหนๆ

ซ่งเหลียน เมื่อได้เรียนรู้ขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีตระกูลเฉิน แรกเริ่มก็เข้าร่วมการแก่งแย่งชิงดี ต้องการได้รับผลตอนแทนจากการถูกเลือกโดยคุณชายเฉิน แต่แล้วเมื่อเกิดความผิดพลาดบางอย่างขึ้น พบเห็นสิ่งเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย การคิดคดทรยศหักหลัง กลับกลอก หน้าไหว้หลังหลอก รวมถึงความตายที่ถูกทำให้บิดเบือน แสร้งว่าไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น นั่นกลายเป็นจุดแตกหักที่ทำให้เธอแสดงอาการคลุ้มคลั่ง วิกลจริต กลายเป็นคนบ้าเสียสติแตก!

การแสดงออกด้วยอาการคลุ้มบ้าคลั่งของซ่งเหลียน ย่อมต้องสะท้อนความรู้สึกภายในของผู้กำกับจางอี้โหม่ว ต่อประเทศจีนยุคสมัยนั้นที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ คงตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) แม้หลังจากนั้นเหมือนว่าอะไรๆจะเริ่มดีขึ้น แต่ปัญหาขัดแย้งภายในกลับยิ่งร้าวลึก มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ละข้างต่างพยายามหาหนทางกำจัดศัตรูให้พ้นภัยพาล กระทั่งเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (1989) ถือเป็นจุดแตกหักที่ร้าวรุนแรง แถมถูกรัฐบาลพยายามกลบเกลื่อน ปิดข่าว แสร้งว่าไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น ใครกันจะไปอดรนทนรับไหว

(นี่เป็นข้อสรุปของผมเองนะครับว่า โศกนาฎกรรมของเหมยซาน สามารถสื่อถึงการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน!)

ทั้งๆเรื่องราวเกี่ยวกับการแก่งแย่งชิงดี มารยาเสน่ห์หญิงสาว เพื่อค่ำคืนนี้จะได้ปรนเปรอนิบัติสวามี แต่หนังกลับไม่นำเสนอฉากร่วมรัก ลีลาบนเตียง บางคนอาจมองแค่ว่านั่นคือยุทธวิธีในนำเสนอความเป็นศิลปะ แต่เรายังสามารถตีความถึงการพยายามปกปิด ซุกซ่อนเร้น บิดเบือนข้อเท็จจริง แสร้งว่าเหมือนไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น … ลองย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าที่แล้วอีกสักรอบนะครับ อาจทำให้เห็นความสัมพันธ์ที่ผมต้องการเปรียบเทียบถึง

อีกสิ่งหนึ่งคอมมิวนิสต์นิยมโฆษณาชวนเชื่อ คือความเสมอภาคเท่าเทียม แต่แท้จริงแล้วการแบ่งแยกชนชั้นกลับยิ่งโดดเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากกลุ่มผู้นำ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ย่อมได้รับอภิสิทธิ์เหนือใคร ขณะที่ประชาชนคนทั่วไป ทำได้เพียงก้มศีรษะ ศิโรราบ ต้องกระทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ แสดงความคิดเห็น ไม่สามารถเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน เพราะเมื่อไหร่มักใหญ่ใฝ่สูงเกินไปก็จะถูกขุดคุ้ย ประจาน ทำให้อับอายขายหน้าต่อหน้าสาธารณะ จนสูญเสียความเชื่อมั่น ไม่สามารถลุกขึ้นมาก้าวเดินต่อในสังคม ทำกันเกินไปไหม? … ใครเคยรับชม Farewell, My Concubine (1993) หรือ To Live (1994) น่าจะตระหนักสิ่งต่างๆเหล่านี้ที่มีความชัดเจนมากๆในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าผู้กำกับจางอี้โหมว สามารถประณีประณอมต่อความรู้สึกโกรธเกลียด อคติ ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ (คาดเดาว่าอาจตั้งแต่ Hero (2002) ที่พระเอกยินยอมไว้ชีวิตองค์จักรพรรดิ ที่แม้เต็มไปด้วยความโฉดชั่วร้าย แต่สุดท้ายกลับเสียสละตนเองเพื่อความสงบสุขใต้หล้า) นั่นแสดงว่ากาลเวลา อายุที่เพิ่มมากขึ้น จะค่อยๆทำให้มุมมองทัศนคติปรับเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะแสดงความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจอยู่ตลอดเวลา เหนื่อยก็พัก รู้จักการปล่อยวาง ‘อุเบกขา’ แล้วชีวิตจะพบเจอความสุขแท้จริงจากภายใน


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เอาจริงๆถือว่าเป็นตัวเต็ง Golden Lion แต่พ่ายให้กับ Close to Eden (1991) ของผู้กำกับ Nikita Mikhalkov ถึงอย่างนั้นก็ยังสามารถคว้า 3 รางวัลอื่นติดไม้ติดมือกลับมา

  • Silver Lion เคียงคู่กับ I Can No Longer Hear the Guitar (1991) และ The Fisher King (1991)
  • FIPRESCI Prize รางวัลจากนักวิจารณ์
  • Elvira Notari Prize

ช่วงปลายปีได้เป็นตัวแทนฮ่องกง (เพราะจีนแผ่นดินใหญ่ตัดสินใจเลือก The Spring Festival (1991), ฮ่องกงเลยได้โอกาสส่ง Raise the Red Lantern (1991)) เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film สามารถเข้าถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย ก่อนพ่ายให้กับ Mediterraneo (1991) ของผู้กำกับ Gabriele Salvatores สัญชาติอิตาเลี่ยน

ปล. แม้ว่าโปรดิวเซอร์ชูฟูเช็ง จะเป็นชาวไต้หวัน แต่เขาถูกขับไล่ออกจากเกาะเพราะภาพยนตร์ A City of Sadness (1989) จึงอพยพย้ายมาปักหลักฮ่องกง และใช้ทุนจาก ERA International (ที่จดทะเบียนในฮ่องกง) ด้วยเหตุนี้ Raise the Red Lantern (1991) เลยเป็นโปรเจคร่วมทุนสร้างจีน-ฮ่องกง

ในประเทศจีน แม้บทหนังจะได้รับการอนุมัติ แต่ตัวภาพยนตร์กลับถูกแบนห้ามฉายอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง สาเหตุหลักๆน่าจะเพราะการถูกฮ่องกงเลือกเป็นตัวแทนส่งชิง Oscar แถมได้เข้ารอบสุดท้ายด้วยนะ! ส่วนการฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1992 ปรากฎว่าสามารถทำเงินได้ถึง $2.6 ล้านเหรียญ กลายเป็นภาพยนตร์ภาษาจีนทำเงินสูงสุด (ที่เข้าฉายในสหรัฐอเมริกา)

ผมมีความประทับตราตรึงตั้งแต่แรกรับชม Raise the Red Lantern (1991) เพราะสามารถสังเกตเห็นความโดดเด่นในการถ่ายภาพ จัดองค์ประกอบ แสงสีสัน มีความเป็นศิลปะขั้นสูง งดงามระดับวิจิตรศิลป์! นอกจากนี้การแสดงของกงลี่ และเมียน้อยคนอื่นๆ มีความจัดจ้าน แข่งกันแสดงศักยภาพได้อย่างสมบทบาท

และต้องยืนปรบมือให้ผู้กำกับจางอี้โหมว นี่ถือเป็นผลงานที่มีความลงตัว กลมกล่อม สมบูรณ์แบบในทุกๆองค์ประกอบ เรื่องราวอาจไม่ได้สลับซับซ้อน แต่สามารถขบครุ่นคิด ขยายต่อยอดจากระดับจุลภาคสู่มหภาค ครอบครัวถึงประเทศชาติ พร้อมทัศนคติทางการเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างแนบเนียนมิดชิด

แนะนำคอหนังดราม่า เรื่องวุ่นๆในครอบครัวใหญ่ เมียน้อยแก่งแย่งชิงสามี, ตากล้อง ช่างภาพ ทำงานเกี่ยวกับแสงสี หลงใหลสถาปัตยกรรม รวมถึงแฟชั่นชุดจีนโบราณ, ชื่นชอบผลงานผู้กำกับจางอี้โหมว นักแสดงนำกงลี่ และแฟนๆมงกฎดอกส้ม อย่าลืมมองหาต้นฉบับภาพยนตร์มาเปรียบเทียบกันนะครับ

จัดเรต pg กับความอึดอัดในขนบประเพณี จริตราคะ และการทรยศหักหลัง

คำโปรย | Raise the Red Lantern จุดโคมประทีปมีความสว่างไสวที่สุดในอาชีพการงานผู้กำกับจางอี้โหม่ว
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆๆๆ


Raise the Red Lantern

Raise the Red Lantern (1991) Chinese : Zhang Yimou ♥♥♥♥

หนังรางวัล Silver Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Foreign Language Film ผลงานกำกับของ Zhang Yimou และนางเอกขาประจำ Gong Li, โคมแดงถูกจุดขึ้นหน้าบ้านภริยาคนไหน แสดงว่าคืนนั้นสามี/นายท่านจะเข้าไปหา ซึ่งบ้านที่โคมแดงสว่างบ่อยๆ จะกลายเป็นภรรยาคนโปรด และสามารถควบคุมกิจการในบ้านได้

นี่เป็นหนังที่ภายนอกเห็นเป็นแนว Drama สะท้อน เสียดสีสังคมสมัยก่อน เป็นกึ่งๆ Propaganda สนองนโยบายลูกคนเดียวของจีน ที่พูดถึงความวุ่นวายของการมีภรรยาหลายคน แต่เบื้องลึกของหนังจิกกัดแนวคิดการบริหารปกครองประเทศ ของผู้มีอำนาจและผู้ยอมสยบอยู่ใต้อำนาจได้อย่างเจ็บแสบ

ผู้กำกับ Zhang Yimou หลังจากทำหนังมา 2 เรื่อง Red Sorghum (1987) ได้รางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin และ Ju Dou (1990) ที่ได้เข้าชิง Oscar สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ กับผลงานเรื่องที่ 3 จึงได้รับการคาดหมายอย่างสูงว่าต้องออกมายอดเยี่ยม และเขาก็ไม่ทำให้ใครๆผิดหวัง, กระนั้นการที่หนังเรื่อง Ju Dou มีฉาก love scene ที่เร้าร้อนรุนแรง ทำให้หนังถูกกอง Censors ของจีนสั่งแบนห้ามฉายในประเทศ (อยู่หลายปี ภายหลังจึงยอมผ่อนปรนให้ฉายได้ในปี 1992) Yimou เอาบทเรียนที่ได้มาใช้สร้างหนังเรื่องนี้ (ดูออกประชดประชันแบบแรงๆ) ทั้งๆที่เป็นเรื่องของการแย่งชิงความสนใจสามีของภริยาทั้ง 4 ที่ดุเด็ดเผ็ดเดือด แต่กลับไม่มีฉาก love scene แบบโต้งๆให้เห็นเลยสักฉาก (กระนั้นหนังก็ยังถูกแบนนะครับ แต่เป็นเหตุผลอื่น)

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Wives and Concubines เขียนโดย Su Tong ตีพิมพ์เมื่อปี 1990 (แปลไทยในชื่อ มงกุฎดอกส้ม) ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Ni Zhen, บทหนังได้รับการตรวจสอบและอนุมัติผ่านกอง Censors ของจีนแล้วด้วยนะครับ (แต่เมื่อทำหนังเสร็จกลับถูกแบนห้ามฉายเสียอย่างนั้น), พื้นหลังของหนังเกิดขึ้นในยุค 1920s ที่จีนยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนสงครามกลางเมือง (Chinese Civil War) จะเริ่มต้น 1 ปี

ฉากเปิดเรื่อง แสดงถึงค่านิยมของคนจีนต่อลูกผู้หญิง ที่มักจะไม่เห็นคุณค่า เพราะสักวันก็ต้องออกจากบ้าน แต่งงานเป็นสะใภ้ครอบครัวอื่น ไม่สามารถเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูลได้, หลังจากพ่อเสียชีวิต ลูกสาวที่ถูกตามใจมาตลอด ก็เสมือนถูกแม่ผลักไสไล่ส่ง เธอยอมเลือกที่จะเสียสละตัวเองแต่งงาน กับคนที่มีฐานะร่ำรวย จะได้ชีวิตสุขสบาย มีกินไม่อดอยาก แม้จะเป็นเพียงเมียน้อย/นางสนม/นางบำเรอ (Concubine) หรือของเล่นของคนรวยเท่านั้น

หนังเล่าเรื่องโดยใช้ระยะเวลา 1 ปีเต็ม ในบ้าน/คฤหาสถ์/วัง ของตระกูล Chen ไม่มีการถ่ายสถานที่อื่นเลย นี่มีลักษณะเหมือนการจำลอง ‘เหตุการณ์ในห้องปิด’ แต่แทนที่จะเป็นผนังกำแพงของห้อง กลับเป็นกำแพงสูงสี่ด้านล้อมรอบ และด้านบนเป็นท้องฟ้าเปิด, ในบ้านหลังนี้มีภรรยา 4 คน แต่ละคนได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีอาหาร การกิน มีคนใช้ที่คอยรับคำสั่ง, สำหรับผู้มาใหม่ เมื่อได้เรียนรู้ระเบียบ กฎเกณฑ์ ไม่นานก็จะได้พบการแข่งขัน แก่งแย่งชิงดี มีเป้าหมายเพื่อเอาชนะ จักได้เป็นคนโปรดของสามี

โคมไฟสีแดง เป็นสัญลักษณ์แห่งความสิริมงคลที่ชาวจีนนิยมแขวนประดับ ในช่วงที่มีพิธีการสำคัญๆ หรืองานเลี้ยงฉลองสำคัญๆ อาทิ งานแต่งงาน, ฉลองครบรอบ, มีลูก, ขึ้นบ้านใหม่ ฯ สำหรับชาวจีน โคมไฟเป็นวัฒนธรรมมงคลที่สร้างขึ้นเพื่อเสริมความมีสิริมงคล เพราะโคมไฟนั้นเป็นวัตถุให้แสงสว่างแก่มนุษย์ การประดับโคมไฟก็คือการให้แสงสว่างแก่สถานที่นั้นๆ และโคมไฟที่ระบายหรือตกแต่งด้วยสีแดง ก็เป็นความหมายถึงสีสัญลักษณ์มงคลด้วยเช่นกัน

ในหนังใช้ โคมแดง เป็นสิ่งสัญลักษณ์ แสดงถึง การเลือก ความพึงพอใจ การตอบสนอง และ Sex (แม้ในบริบทของหนังจะไม่มี Sex ปรากฎอยู่เลย แต่สีแดงคือสีของเลือด กับผู้หญิงสื่อได้ตรงๆถึง ประจำเดือน และการเสียความบริสุทธิ์), โคมแดง ยังมีอีกความหมาย คือ การเป็นเจ้าของ เหตุที่คนใช้ของภรรยาสี่ ที่ในห้องนอนแอบเก็บโคมแดงไว้ นั่นเพราะเธอต้องการเป็นผู้ครอบครอง บ้านภริยาคนไหนที่คืนนั้นได้จุดโคมแดง นั่นคือเธอคือผู้ได้ครอบครอบสามี

Gong Li รับบท Songlian ภริยาคนที่ 4 ของตระกูล Chen, เธอเป็นผู้หญิงที่เหมือนจะมีความรู้ ได้ไปเรียนมหาวิทยาลัย แต่ยังไม่ทันเรียนจบก็ได้มาแต่งงานเสียก่อน, ว่าไปความรู้ที่ตัวละครอ้างว่าได้มา ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยต่อชีวิตเลย (แค่หน้าตาเหมือนคนมีความรู้) ทีแรกผมคิดว่า เธอคงเอาความ modern เข้ามาเปลี่ยนแปลง tradition แต่กลายเป็นว่าเธอน้อมรับเอาขนบธรรมเดียมเดิม ยอมรับเข้ามาในตัวเสียอย่างนั้น นี่แสดงถึงคนประเภท ‘ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’

นี่คือเหตุผลของคนสมัยก่อนด้วยกระมัง กับแนวคิดที่ว่า ผู้หญิงจะเรียนหนังสือไปทำไม? เรียนไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์! ผมคิดว่าแนวคิดนี้เกิดขึ้นเพราะ การมองผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ต้องเป็นผู้ตามเสมอ และผู้หญิงส่วนมาก เมื่อถึงวัยก็มองหาผู้ชายการงานดีๆ ร่ำรวย พอแต่งงานอยู่กินกับสามี จะได้ไม่ต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ การอยู่แต่กับบ้านทำงานบ้าน แบบนี้จะเรียนหนังสือไปทำไม เปลืองเงิน เสียเวลา!

He Caifei รับบท Meishan ภริยาคนที่ 3, น้ำเสียงร้องงิ้วของเธอไพเราะมากๆ ใบหน้ากลมสวยหมวยจีน แม้จะเป็นคนขี้อิจฉา ชอบเรียกร้องความสนใจ แต่นิสัยตรงไปตรงมา มีลับลมคมในบ้าง แต่ไม่ได้ปกปิดอะไร ใครๆเมื่อได้รู้จักกับเธอแล้ว จะกลายเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้

Cao Cuifen รับบท Zhuoyun ภริยาคนที่ 2, อาซ้อคนนี้ทีแรกดูเหมือนเป็นคนดีจริงใจ แต่ภายหลังพบว่าเป็นพวกขี้ริษยารุนแรง ดังคำพูดในหนังที่ Meishan เปรียบเธอว่า ‘ใบหน้าอิ่มเอิบเหมือนพระพุทธ แต่จิตใจมีพิษร้ายเหมือนแมงป่อง’ (She has the face of Buddha and the heart of a scorpion.)

สำหรับบทนายท่านตระกูล Chen สามีของภริยาทั้ง 4 เราจะได้เห็นแค่หลังของเขาไวๆเท่านั้น ไม่มีฉากที่ถ่ายให้เห็นหน้าเต็มๆแม้แต่ฉากเดียว และเราจะรู้แค่ว่าเขาเป็นผู้นำตระกูล ไม่รู้ว่ามีอาชีพ ทำงานอะไรถึงร่ำรวยเงินทอง มีบ้านหลังใหญ่โต, เหตุที่ต้องทำขนาดนี้ เพื่อให้มองตัวละครนี้เป็น ‘สัญลักษณ์’ เพียงอย่างเดียวนะครับ หรือจะมองว่าเป็น MacGuffin ก็ยังได้ ไม่ได้มีความสำคัญหรือมีความหมายมากกว่า ‘ตัวแทนของอำนาจ’

ถ่ายภาพโดย Zhao Fei, หนังเรื่องนี้งานภาพสวยมากๆ การเคลื่อนกล้องอาจไม่เยอะมากนัก เน้นการแช่ภาพ (mid shot/long shot) ที่ทำให้เราเห็นสถานที่ เรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา มองไปด้านไหนเห็นแต่กรอบ ‘กำแพง’ ล้อมรอบอยู่ตลอดเวลา ถ้าเคลื่อนกล้องก็จะแบบช้าๆ ให้ความรู้สึกค่อยๆ ‘ย่างกราย’ เข้าไป (ให้อารมณ์พิศวงสงสัย), หนังถ่ายด้วยฟีล์ม TechnoColor ที่ขึ้นชื่อเรื่อง เมื่อล้างฟีล์มแล้วสีแดงกับเหลืองจะเด่นเป็นพิเศษ นี่เป็นสีหลักของหนังเลย, โทนสีของภาพหนัง สร้างบรรยากาศให้ความรู้สึกที่ต่างออกไป กลางวัน/กลางคืน ฤดูกาลต่างๆ มีทั้งวันที่แสงแดดจ้าๆ ฝนตกเปียกๆ หิมะขาวโพลน

ตัดต่อโดย Du Yuan ถือว่าทำได้สอดคล้องกับงานภาพ ตัดต่อด้วยความรวดเร็ว ฉับไว จนบางทีอาจรู้สึกห้วนๆ แต่ก็ไม่ได้ซับซ้อน เข้าใจยากเกินไปนัก, มุมมองของหนังใช้การเล่าเรื่องผ่านสายตาของภรรยา 4 ที่ได้พบกับเหตุการณ์ต่างๆทั้งหมด เธอถือเป็นตัวเจ้าปัญหา เพิ่งมาอยู่แค่ปีแรกก็สร้างเรื่องวุ่นวายให้เกิดขึ้นมากมาย, การแบ่งเหตุการณ์ออกเป็นช่วงฤดู ทำให้บรรยากาศงานภาพ เรื่องราวและการตัดต่อแต่ละช่วงมีเอกลักษณ์ของตนเอง

เพลงประกอบโดย Zhao Jiping โดดเด่นสุดๆ มีเสียงที่ถือเป็นเอกลักษณ์จดจได้อยู่ 4 อย่าง หนึ่งคือเสียงนวดฝ่าเท้า, เสียงงิ้วโหมโรง (ตอนลุ้นว่า วันนี้โคมแดงหลังไหนจะถูกจุด) เสียงขลุ่ยจีนที่กึกก้องกังวาน และเสียงร้องโอเปร่า (งิ้วจีน) He Caifei, เพลงประกอบทั้งหมดใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านจีนล้วนๆ ว่าไปผมคิดว่านี่เป็นหนังของ Zhang Yimou ที่มีเพลงประกอบโดดเด่น ไพเราะที่สุดนะครับ

การจำลองสถานการณ์ปิดในหนังเรื่องนี้ สามารถมองเปรียบเทียบได้เชิงมหภาค เมื่อสามีคือผู้ปกครองประเทศ มีอำนาจเหนือภริยาทั้ง 4 ซึ่งคือผู้อยู่ภายใต้การปกครองอย่างสมยอม ประเพณีเปรียบเสมือนกฎระเบียบที่สร้างขึ้นเพื่อใช้อยู่อาศัยร่วมกัน บางครั้งอาจมีการผ่อนปรนได้บ้าง แต่ยังถือว่าอยู่ในกรอบที่ยอมรับได้ แต่ในกรณีที่ฝ่าฝืนด้วยความรุนแรง จะต้องถูกลงโทษ ด้วยความรุนแรงมากน้อยต่างกันไป, ภริยาทั้ง 4 ที่ถูกควบคุมโดยสามี มีสถานะเหมือนกับ ‘ทาส’ (Slavery) ที่ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่า การรองรับความต้องการ (Sex) แต่นี่กลับเป็นสิ่งที่ภริยาทุกคนโหยหาต้องการ และพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาครอบครอง

นี่ฟังดู Corruption มากๆนะครับ ลองนึกคนที่เป็น ‘ทาส’ ในสมัยก่อน ด้วยความที่ตนไม่สามารถเป็นอิสระ ต้องพึ่งพานาย และวิธีที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย มีชีวิตที่ดีที่สุด คือการแสดงออกอย่างทุ่มเท ให้นายเชื่อใจ วางใจ ตกหลุมรัก เจ้านายก็จะให้การดูแลเอาใจใส่ มีชีวิตสะดวกสบาย แต่…คุณเป็นทาสนะ! มันมีคำว่า สะดวกสบายตรงไหนในการเป็นทาส, ต้องถือว่านี่เป็นกรอบแนวคิดที่เป็นเหมือนการ ‘หลอกตัวเอง’ คนที่เป็นทาสได้สร้างโลกและกฎเกณฑ์ของตนขึ้นมาเพื่อตอบสนองสถานะที่ตนเป็นอยู่ ทั้งๆที่จริงๆแล้วกฎนั้นไม่มีอยู่เลย แต่เพราะไม่สามารถเป็นอิสระได้ จึงต้องหาทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่หาได้

ในมุมมหภาค ระดับประเทศ การที่เราอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบใดๆ ถ้าเราสร้าง ‘กรอบ’ ครอบงำความคิดของตนเองขึ้นมา แสดงออกอย่างทุ่มเท เชื่อใจ วางใจ ยึดมั่นในระบบ ก็เท่ากับเราตกเป็น ‘ทาส’ ของมันนะครับ นี่ผมไม่ใช่พูดถึงแค่คอมมิวนิสต์นะครับ แต่รวมถึงทุนนิยม และประชาธิปไตยด้วย, นี่ถือเป็นการเปรียบเทียบ เสียดสีแนวคิดที่รุนแรงมากๆ และความคอรัปชั่นของคนที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง ก็เหมือนกับภริยาทั้ง 4 ที่ต่างกอบโกยเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก ไม่มีใครในบ้านนี้ที่สนใจ ‘ทำเพื่อวงศ์ตระกูล’ แม้แต่น้อย

สำหรับตอนจบของหนัง นำเสนอ ‘ทางออก’ ของคนที่ทำการผูกมัดตัวเองเข้ากับระบบ ไม่สามารถดิ้นหลุดได้พ้น, มันคงง่ายที่เราจะหนีออกไปจากบ้านหลังนี้ แต่ชีวิตจริงถึงจะหนีได้ แต่ก็ไม่มีทางหลุดพ้นบ่วงของความผิดที่เคยผูกมัดตัวเอง, ทางออกที่ง่ายที่สุด คือความตาย แบบภริยาสาม หลังจากการถูกจับได้ว่ากระทำผิดต่อกฎระเบียบที่ร้ายแรง เธอถูกจับไปขังในห้องๆหนึ่ง (น่าจะเพื่อรอการลงโทษ) แต่แทนที่เธอจะเสียเวลาทนทุกข์ทรมาน จึงผูกคอฆ่าตัวตาย นี่เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด และโง่ที่สุดนะครับ, กับคนที่ไม่กล้าพอแต่ต้องการหาทางออก ก็มีอีกแนวคิดหนึ่งแบบภริยาสี่ ผมเชื่อว่าเธอจงใจ ‘แกล้งบ้า’ มากกว่าเป็นบ้าจริงๆ เพราะเมื่อเธอรู้ตัวว่าหนีไม่ได้ วิธีที่จะไม่ให้คนอื่นยุ่งกับเธอ คือ การที่เธอไม่ยุ่งกับใคร ทำตัวให้ไม่ถูกยุ่ง เป็นบ้าเนี่ยแหละครับง่ายสุด สามีไม่สนใจ แต่ไล่ออกจากบ้านไม่ได้ มีชีวิตสุขสบาย แต่แค่ทำตัวบ้าๆบอๆ ไม่สุงสิงกับใคร, สำหรับภริยา 5 ที่มาใหม่ในตอนจบ เปรียบได้กับวังวนวังเวียน ตราบใดที่มีคนพยายามออก ก็มีคนพยายามเข้า เป็นวัฎจักรที่ไม่มีวันจบสิ้น

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ ถือว่านำเสนอแนวคิดที่คอรัปชั่นมากๆ แต่ด้วยวิธีการนำเสนอ ทำให้สามารถมองเห็น และเข้าใจได้ชัด ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ไม่เหมาะสม นี่เป็นความสวยงามระดับ Breathtaking ที่ผู้ชมฝั่งยุโรปอเมริกาเห็นแล้วอึ้งทึ่ง พูดไม่ออก ชื่นชมในนัยยะที่แฝงซ่อนไว้ในหนัง, แต่จะว่าไปนักวิจารณ์ฝั่งยุโรปอเมริกา ไม่มีใครพูดถึงวัฒนธรรมเรื่องการมีภรรยาหลายคนของฝั่งเอเชียเลยนะครับ จะมีก็แค่นักวิจารณ์ฝั่งเอเชียเท่านั้นที่พูดถึงแนวคิดนี้ ที่มักมองเป็นเชิงอิจฉาว่า คงต้องเป็นคนรวย มีบารมีเท่านั้นถึงจะทำได้, แนวคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียว เป็นอิทธิพลที่มาจากยุโรปอเมริกานะครับ ด้วยการอ้างหลักศาสนาที่ว่า ผู้ชายควรแต่งงานและรักผู้หญิงคนเดียว พุทธเราไม่มีข้อห้ามเรื่องมีเมียหลายคน แต่ห้ามเรื่องการไปผิดลูกเมียคนอื่น ดังนั้นว่ากันตามตรง มันไม่ผิดหรอกที่จะมีลูกเมียหลายคน แต่ถ้าคุณเป็นคนมีบารมีจริงๆ มีแค่เมียเดียวทั้งชีวิตก็เหลือเฟือนะครับ

หนังฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice และได้รางวัล Silver Lion (สาขา Best Director) ในปีนั้นได้ร่วมกับ Terry Gilliam จากหนัง The Fisher King และ Philippe Garrel จากหนัง J’entends plus la guitare, หนังได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Foreign Language Film ถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย แต่ไม่ได้รางวัล (แพ้ให้กับ Mediterraneo หนัง Italian ของผู้กำกับ Gabriele Salvatores), ในงานประกาศรางวัลหนังของประเทศจีน Hundred Flowers Awards หนังคว้ามาได้ 2 รางวัลคือ Best Picture และ Best Actress (Gong Li)

นิตยสาร Empire จัดอันดับ 100 Best Films of World Cinema ติดอันดับ 28
นิตยสาร Time Out จัดอันดับ 100 Best Chinese Mainland Films ติดอันดับ 13

ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ดูไม่ยากนะครับ หลายๆอย่างตรงไปตรงมา การเล่าเรื่องง่ายๆ ประกอบกับ การแสดงที่ทรงพลัง ภาพถ่ายสวยๆ เพลงประกอบเพราะๆ คนทั่วไปก็สามารถซึมซับความงดงามของหนังได้ไม่ยาก แต่การจะวิเคราะห์ความลึกซึ้งของหนัง อาจต้องใช้สมองหนักหน่อย จัดเป็นหนังที่มีใจความแฝงน่าสนใจมากๆ ซึ่งเมื่อค้นพบแล้ว จะรู้สึกเลย ว่านี่เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมสุดๆเรื่องหนึ่ง

แนะนำกับคนทำงานสายภาพยนตร์ ศึกษาเทคนิค เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ กับโจทย์ในกำแพงปิดตาย, คอหนังจีน ชมชอบหนังประวัติศาสตร์ แนวคิด วิถีชีวิตของคนรวยสมัยก่อน ภาพสวยๆ เพลงเพราะๆ, แฟนหนัง Zhang Yimou และ Gong Li ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับแนวคิด คำพูดที่แฝงความรุนแรง และการกระทำที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง อิจฉาริษยา

TAGLINE | “Raise the Red Lantern เป็นหนังสะท้อน เสียดสีสังคมได้อย่างรุนแรงและเจ็บแสบ ผ่านงานภาพสีสันสุดสวย เพลงประกอบสุดไพเราะ โดยผู้กำกับ Zhang Yimou นำแสดงโดย Gong Li”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: