Raja Harishchandra

Raja Harishchandra (1913) Bollywood : Dadasaheb Phalke ♥♥♥♡

ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่สร้างขึ้นทั้งหมดโดยชาวอินเดีย ถ่ายทำที่มุมไบ โดย ‘บิดาแห่งวงการภาพยนตร์อินเดีย’ Dadasaheb Phalke ตอนออกฉายได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นจุดเริ่มต้น เสาเอกต้นแรกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ Bollywood

ถ้าวัดกันที่มูลค่าของอุตสาหกรรม ปี 2016
1. Hollywood รวมรายได้ $11.4 พันล้านเหรียญ
2. China รวมรายได้ $6.6 พันล้านเหรียญ
3. Japan รวมรายได้ $2.0 พันล้านเหรียญ
4. India รวมรายได้ $1.9 พันล้านเหรียญ

แต่ถ้านับปริมาณยอดจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์
1. India มีผู้เข้าชม 9,164 ล้านคน
2. Hollywood มีผู้เข้าชม 1,364 ล้านคน
3. China มีผู้เข้าชม 1,260 ล้านคน

นี่เพราะค่าตั๋วหนังของประเทศอินเดีย ถูกว่าโรงหนังในอเมริกาประมาณ 10 เท่าตัวเลยนะครับ

ต้องบอกไว้ก่อนว่า ฟีล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ตอนออกฉายมีทั้งหมด 4 ม้วน (reel) ความยาวประมาณ 40 นาที หลงเหลือถึงปัจจุบันเพียงม้วนกว่าๆ ประมาณ 13-15 นาทีเท่านั้น, ผมมีโอกาสได้รับชมแล้วรู้สึกทึ่งในคุณภาพที่ถือว่าใช้ได้เลยละ ต้องการนำมาแนะนำแบ่งปัน เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสสนใจรับรู้เป็นแน่

บทความที่จะเขียนวันนี้ ขอเน้นที่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของอินเดียเป็นหลักนะครับ

ภาพยนตร์ เดินทางมาถึง Mumbai เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1896 โดยพี่น้อง Lumière ได้ส่งตัวแทนชื่อ Marius Sestier มาเพื่อทดลองฉายหนังสั้นให้กับผู้ชมที่เป็นทหารของอังกฤษ (ตอนนั้นอินเดียมีสถานะเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจัก) ณ โรงแรม Watson, หนึ่งในชาวอินเดียที่มีโอกาสรับชมการฉายภาพยนตร์ครั้งนั้น Harishchandra Sakharam Bhatavdekar (หรือที่รู้จักในชื่อ Save Dada) เกิดความหลงใหลในสิ่งที่เห็น และได้ขออนุญาติกองทัพของอังกฤษ เพื่อจัดซื้อเครื่องฉายนำมาให้ชาวอินเดียทั่วไปได้รับชม

Harishchandra Sakharam Bhatavdekar (1868 – 1958) หรือ Save Dada น่าจะคือผู้สร้างภาพยนตร์คนแรกของอินเดีย อาชีพเดิมคือเป็นช่างภาพสมัครเล่น แต่เมื่อได้มีโอกาสเห็นการฉายภาพยนตร์ครั้งนั้น ก็ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้กล้องถ่ายมาใช้ ผลงานหนังสั้นที่มีชื่อเสียง ประกอบด้วย
– The Wrestlers (1899) บันทึกภาพการแข่งขันมวยปล้ำที่ Hanging Gardens, Mumbai
– Man and Monkey (1901) การแสดงตลกของลิง (ในคณะละครสัตว์)
– Sir Wrangler Mr R.P. Paranjpye (1903) บันทึกภาพต้อนรับการเดินทางกลับจากอังกฤษของ R.P. Paranjpye รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาที่เมือง Bombay [คือ film newsreel เรื่องแรกของอินเดีย]
– Delhi Durbar of Lord Curzon (1903) บันทึกภาพพิธีบรมราชาภิเษกของ Lord Curzon ที่กลายเป็น King Edward VII แห่ง Kolkata (Calcutta)
ฯลฯ [สามารถหารับชมส่วนบางเรื่องได้บน Youtube นะครับ]

เกร็ด: ถือว่า Bhatavdekar คือผู้กำกับสารคดีคนแรกของอินเดียด้วย

ปี 1907, Bhatavdekar ตัดสินใจขายอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเลิกสร้างภาพยนตร์ แล้วผันตัวไปเป็นผู้ฉายหนังอย่างเดียว ซื้อโรงภาพยนตร์ Gaiety Theatre ที่ Mumbai ประสบความสำเร็จร่ำรวยจนกระทั่งเสียชีวิต

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวที่ถ่ายทำในอินเดียเรื่องแรกคือ Shree Pundalik (1912) เป็นหนังเงียบภาษา Marathi สร้างโดย Dadasaheb Torne ออกฉายวันที่ 18 พฤษภาคม 1912, แต่นักประวัติศาสตร์อินเดีย ไม่ยอมรับว่าเป็นภาพยนตร์ของชาวอินเดียเรื่องแรก เพราะมีตากล้องชื่อ Johnson เป็นชาวอังกฤษ และหนังถูกส่งไปล้างฟีล์มที่ London จึงถือกันว่าเป็นหนังของสหราชอาณาจักร

คือคนอินเดียสมัยนั้นมีความละเอียดอ่อนมากเรื่องการเป็นประเทศเมืองขึ้น คือถ้ามีอะไรสักอย่างเป็นของชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะอังกฤษ) ก็แทบจะไม่ยอมรับว่าส่วนหนึ่งของตนเอง

Dhundiraj Govind Phalke หรือ Dadasaheb Phalke (1870 – 1944) ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักเขียนบท ที่ได้รับการยกย่องว่าคือ บิดาแห่งวงการภาพยนตร์อินเดีย (Father of Indian cinema)

Phalke เกิดที่ Tryambakeshwar, ตอนเหนือของ Mumbai พูดภาษา Marathi เข้าเรียนที่ Sir J. J. School of Art, Mumbai จบแล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัย Maharaja Sayajirao (University of Baroda) ที่ Vadodara ทำให้เขาได้เรียนวาดภาพ เขียนแบบ ถ่ายรูป ฯ

เรียนจบทำงานเป็นช่างภาพประจำเมือง Godhra ก่อนได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมงาน 40 ของ Carl Hertz ชาวเยอรมัน ที่ถูกว่าจ้างโดยพี่น้อง Lumiere ให้ทำการสำรวจสถานที่ โบราณคดีในประเทศอินเดีย โดย Phalke มีหน้าที่เป็นนักวาดภาพร่าง (draftsman) และได้ทำงานร่วมกับว่าที่จิตรกรเอกของอินเดีย Raja Ravi Varma, ต่อมาได้กลายเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ และมีโอกาสเดินทางไปเยอรมันดี เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการเป็นผู้กำกับ/ตากล้องภาพยนตร์

เมื่อปี 1910 ภาพยนตร์สั้นเรื่อง The Life of Christ ได้ถูกนำมาฉายในอินเดีย หลังจาก Phalke ได้รับชมก็เกิดแนวคิดที่จะสร้างภาพยนตร์ของชาวอินเดียขึ้นมา ‘ในเมื่อเรื่องราวพระเยซูของศาสนาคริสต์ ได้ถูกนำเสนอเป็นภาพยนตร์ ไฉนพระเจ้าของชาวอินเดีย พระกฤษณะ (Shri Krishnu), พระศรีรามจันทรา (Shri Ramchandra) ในสถานที่อย่าง โกกุลา (Gokula), อโยเดีย (Ayodhya) จะไม่สามารถถูกถ่ายทอดออกมาได้’

“While the life of Christ was rolling before my eyes I was mentally visualising the gods Shri Krishnu, Shri Ramchandra, their Gokul and Ayodhya. Could we, the sons of India, ever be able to see Indian images on the screen?”

Raja Harishchandra เป็นเรื่องราวของพระราชาฮาริช จันทรา ผู้มีธรรมะและคุณธรรมอันสูงส่ง พระองค์ทรงสละราชบัลลังก์ ตามด้วยพระมเหสีและโอรส เพื่อรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับปราชญ์วิศวะ มิตรา (Vishwamitra) ท้ายสุด เทพเจ้าซึ่งพึงพอใจกับคุณธรรมของพระองค์ โปรดให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

เรื่องราวของหนังได้แรงบันดาลใจจากตำนานของฮินดู (Hindu mythology) เรื่องรามเกียรติ์ (Ramayana) และมหาภารตะ (Mahabharata) แต่กับชาวพุทธคงจะคุ้นๆว่ามีเรื่องราวคล้ายกับ พระเวสสันดรชาดก พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อีกอิทธิพลหนึ่งของหนัง Phalke ได้จากไม่ใช่ใครอื่นไกล Raja Ravi Verma เพราะเพื่อนสนิทจิตรกรผู้นี้ คือบุคคลแรกที่นำเอาตำนานพระเจ้าของฮินดู วาดภาพพิมพ์ลงในกระดาษ จินตนาการใบหน้าเหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่วไป เผยแพร่แจกจ่ายให้กับสาธารณชนเป็นครั้งแรก, จะเรียกได้ว่า Verma คือผู้นำพระเจ้าสู่งานศิลปะ ส่วน Phalke คือผู้นำพระเจ้าสู่โลกภาพยนตร์

เกร็ด:
ศาสนาคริสต์: บุคคลแรกที่วาดภาพพระเจ้า จินตนาการรูปลักษณ์เหมือนมนุษย์คือ Michelangelo Buonarroti วาดบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ตั้งแต่ช่วงปี 1508 – 1512
ศาสนาฮินดู: Raja Ravi Varma เริ่มวาดภาพพิมพ์ จินตนาการรูปลักษณ์ตำนานพระเจ้าของฮินดูเหมือนมนุษย์ครั้งแรก ช่วงประมาณปี 1894

นำแสดงโดย Dattatraya Damodar Dabke นักแสดงละครเวที พูดภาษา Marathi รับบทเป็นราชา Harishchandra หนวดของพี่แกโดดเด่นเกินหน้าเกินตามาก

สำหรับตัวละครหญิง สมัยนั้นชาวอินเดียยังมีทัศนคติ มองเพศหญิงว่าเป็นเท้าช้างหลังไม่มีสิทธิ์เสมอเทียบเท่าผู้ชาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผู้หญิงมารับเป็นนักแสดง ขนาดว่าภรรยาของ Phalke เธอต้องการช่วยสามี แต่กลับมีหน้าทีทำอาหารเลี้ยงทีมงานกว่า 500 คน ซักเสื้อผ้า ฯ (เห็นว่าไม่มีคนช่วย ทำเองทั้งหมด) นี่คือบทบาทเพศหญิงของคนอินเดียสมัยก่อนจริงๆ, บทราชินี Taramati จึงตกเป็นของ Anna Salunke นักแสดงผู้ชาย

จริงๆ Phalke ได้คัดเลือกนักแสดงหญิงไว้แล้ว เธอชื่อ Anna Salunke หญิงสาวที่ทำงานเป็นแม่ครัวในภัตราคารแห่งหนึ่ง แต่เพราะค่านิยมของชาวอินเดียที่ผมว่าไป ผู้กำกับเลยยังไม่สามารถขอให้เธอมาเป็นนักแสดงในหนังได้, กระนั้นเรื่องถัดๆมา เขาก็สามารถค่อยๆเปลี่ยนทัศนคติของผู้ร่วมงาน นำ Salunke มาแสดงในหนังเรื่อง Lanka Dahan (1917) ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงอินเดียมีบทบาทในวงการภาพยนตร์

เกร็ด: แต่กว่าที่หนังอินเดียจะมี ‘first lady of Indian cinema’ นักแสดงนำหญิงคนแรกที่ประสบความสำเร็จ ก็อีก 2 ทศวรรษถัดมา Devika Rani หญิงสาวที่เติบโตอาศัยอยู่ที่ London ทำให้เป็นคนหัวสมัยใหม่ ไม่ยึดติดอยู่กับธรรมเนียมประเพณีของชาวอินเดียดั้งเดิม โดยผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกที่อินเดีย Karma (1933) ประกบสามีคนแรก Himanshu Rai ประสบความสำเร็จล้นหลาม

Rohtash ลูกชายของราชา Harischandra รับบทโดย Bhalachandra D. Phalke ลูกชายแท้ๆของผู้กำกับ, และปราชญ์วิศวะ มิตรา (Sage Vishwamitra) รับบทโดย G.V. Sane

ถ่ายภาพโดย Trymbak B. Telang ทั้งหมดเป็นการตั้งกล้องไว้เฉยๆ แล้วให้นักแสดงเคลื่อนไหวทำการแสดงภายในกรอบที่กำหนด, ไม่แน่ใจนี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกเลยหรือเปล่าที่ล้างฟีล์มในประเทศอินเดีย ไม่ได้ต้องส่งไปล้างที่ประเทศอังกฤษ (เห็นว่าคนล้างก็คือผู้กำกับ Phalke นะแหละ)

หนังใช้เวลาถ่ายทำ 7 เดือนกับอีก 21 วัน ออกฉายรอบสื่อปฐมทัศน์ที่ Olympia Theatre, Grant Road วันที่ 21 เมษายน 1913 ให้กับ ก่อนที่จะเปิดฉายรอบสาธารณะในวันที่ 3 พฤษภาคม 1913 ที่ Coronation Cinema, Girgaon, ฝูงชนออกมารอคอย ต่อแถวซื้อตั๋วกันอย่างแน่นขนัด ถึงขนาดว่าต้องพิมพ์ฟีล์มเพิ่มเผื่อฉายตามสถานที่/โรงภาพยนตร์ต่างๆ นี่จึงถือว่าเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย ที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมาย

ตลอดระยะเวลา 19 ปี Phalke สร้างภาพยนตร์ 95 เรื่องยาว 26 เรื่องสั้น ผลงานที่มีชื่อเสียง อาทิ Mohini Bhasmasur (1913), Satyavan Savitri (1914), Lanka Dahan (1917), Shri Krishna Janma (1918), Kaliya Mardan (1919) ฯ

ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน จากหนังเงียบกลายมาเป็นหนังพูด Phalke เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตามกระแสเทคโนโลยีโลกได้ทัน ผลงานหนังเงียบเรื่องสุดท้ายคือ Setubandhan (1932) ที่ต่อมาจำต้องมีการพากย์เสียงใส่ลงไป หลังจากนั้นไม่นานก็รีไทร์จากวงการภาพยนตร์

เกร็ด: รัฐบาลอินเดีย ได้ตั้งชื่อเครื่องราชอิสริยยศลำดับสูงสุด Dadasaheb Phalke เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้มีคุณประโยชน์ต่อวงการภาพยนตร์อินเดียสูงสุด (Lifetime Achievement) ตั้งแต่ปี 1971

มีนักวิจารณ์เปรียบเทียบภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าคือ ‘The Birth of a Nation ของประเทศอินเดีย’, แต่เดี๋ยวก่อนนะ Raja Harischandra สร้างปี 1913 ก่อนหน้า The Birth of a Nation ที่ออกฉายปี 1915 เสียอีก นี่ไม่ได้แปลว่า หนังเรื่องนั้นคือ ‘Raja Harischandra ของ Hollywood’ หรอกหรือ!

ใครที่อยากรับชมภาพยนตร์ชีวประวัติของ Dadasaheb Phalke ลองหาหนังเรื่อง Harishchandrachi Factory (2009) เป็นภาษา Marathi มารับชมนะครับ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นตัวแทนของประเทศอินเดีย ส่งเข้าชิง Oscar สาขา Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านรอบแรก

ส่วนตัวบอกเลยว่าประทับใจในคุณภาพของหนังเรื่องนี้มาก แม้ที่ได้รับชมจะเป็นเพียงเศษเสี้ยว 1 ใน 4 ของที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แต่เชื่อว่าหนังทั้งเรื่องย่อมต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ

ใครที่เป็นแฟนหนัง bollywood มีเวลาว่างๆสักนิดก็ลองรับชมดูนะครับ นี่คือภาพประวัติศาสตร์จุดเริ่มต้นของวงการภาพยนตร์อินเดีย อันน่าชื่นชมประทับใจทีเดียว ดูจบแล้วอาจหลงใหลหนังของประเทศนี้เพิ่มขึ้นก็ได้

จัดเรตทั่วไป ใครๆก็ดูได้นะ

TAGLINE | “Raja Harishchandra ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของอินเดีย สร้างโดยบิดาแห่งวงการ Dadasaheb Phalke แม้จะมีฟุตเทจเพียงเศษเสี้ยว แต่ก็น่าประทับใจอย่างยิ่ง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: