Ran

Ran (1985) Japanese : Akira Kurosawa ♥♥♥♥

Ran แปลว่า Chaos, ความสับสน โกลาหล กลียุค นี่คือสิ่งที่คุณจะได้พบในผลงาน Masterpiece เรื่องสุดท้ายของปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa มีความละม้ายคล้ายบทละคร King Lear ของ William Shakespeare (แต่สะท้อนชีวิตจริงของ Kurosawa มากกว่านะ) สู่ภาพยนตร์อภิมหาสงครามซามูไรสุดยิ่งใหญ่ อลังการ บ้าคลั่ง ทรงพลังทุกอณูขุมขน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ในบรรดาภาพยนตร์ Masterpiece ของปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa ทั้ง 7-8 เรื่อง จะบอกว่า Ran คือผลงานที่ผมชื่นชอบน้อยสุดแล้ว เพราะมันเป็นความทรมานอย่างยิ่งยวดในการรับชม สิ่งที่พบเห็นไม่ใช่แค่โศกนาฎกรรมของเรื่องราว/ตัวละคร แต่คือชีวิตจริงไม่ได้อิงนิยายของผู้กำกับ Kurosawa เมื่อตอน Kagemusha (1980) ยังแค่เริ่มเสียสติช่วงท้าย แต่สำหรับ Ran เล่นเป็นบ้ากันตั้งแต่กลางเรื่อง จนช่วงท้ายก็นึกว่าคงได้ผ่อนคลายแล้ว แต่ที่ไหนได้กลับถูกน็อค ช็อค หัวใจวาย สิ้นลมล้มคาที่

ผู้กำกับ Kurosawa ชอบถูกถามโดยนักข่าว ‘ภาพยนตร์เรื่องไหนของคุณ ที่คิดว่ามีความยอดเยี่ยมที่สุด’ ตลอดระยะเวลา 30-40 กว่าปีในวงการ ตัวเขาก็มักจะตอบว่าผลงานชิ้นถัดไป ‘my next one.’ จนกระทั่งเสร็จสร้าง Ran ถึงเปลี่ยนมาพูดว่า ‘This is my finest work.’ และแซว Kagemusha ว่าคือ ‘dress rehearsal’ (ประมาณว่า เป็นหนังดาดๆทั่วไปเมื่อเทียบความยิ่งใหญ่กับเรื่องนี้)

มีสองคำแนะนำสำหรับผู้ยังไม่เคยรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้
1) ให้ไปหาชมภาพยนตร์ของ Kurosawa มาอย่างน้อย 4-5 เรื่องอะไรก็ได้ที่สร้างขึ้นก่อนปี 1980 จนรู้สึกพึงพอใจแล้ว ค่อยตามด้วย Kagemusha แล้วถึงปิดท้ายกับ Ran อาจทำให้คุณมองเห็นอะไรบางอย่างที่มีความต่อเนื่องกัน

2) ควรจะตั้งแต่ก่อนเริ่มดู Kagemusha ให้หาชีวประวัติของ Kurosawa มาศึกษาอ่านเสียก่อน โดยคร่าวๆก็ได้ เน้นอย่างยิ่งช่วงทศวรรษ 70s – 90s และขณะรับชมทั้ง Kagemusha กับ Ran ให้ระลึกอยู่ในใจเปรียบเทียบตามไปด้วย อาจทำให้คุณมองเห็นความสัมพันธ์ และเข้าใจอะไรๆมากขึ้นกว่าที่เคย (ถ้าไม่รู้จะหาอ่านชีวประวัติได้ที่ไหน ก็ย่อหน้าถัดๆไปเลย)

Akira Kurosawa (1910 – 1998) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ōmori, Tokyo ในครอบครัวที่พ่อเคยเป็นซามูไร มีฐานะค่อนข้างร่ำรวย สอนให้ลูกๆเปิดรับแนวคิด อิทธิพล วัฒนธรรมของชาติตะวันตก ทำให้เด็กชาย Kurosawa มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องแรกตั้งแต่ตอนอายุ 6 ขวบ แต่ความสนใจแรกของเขาคือเป็นจิตรกรนักวาดรูป ซึ่งก็ได้มุ่งไปทางนั้น หัดเรียนเขียนแบบ คัดตัวหนังสือ และเคนโด้ ควบคู่กันไป

เมื่อปี 1923 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว Great Kantō ทำให้กรุงโตเกียวราบเรียบเป็นหน้ากอง สภาพที่เด็กชาย Kurosawa มองเห็นคือ ร่างอันไร้วิญญาณของทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดความหวาดกลัวขนหัวลุก ขณะกำลังจะเบือนหน้าหนีพี่ชาย Heigo Kurosawa สอนให้น้องมีความกล้ายอมรับความจริง ไม่ให้หลับตาหันหนี จ้องจดจำ เผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น นี่น่าจะคืออิทธิพลสำคัญต่อผลงานยุคหลังของ Kurosawa โดยเฉพาะกับ Kagemusha และ Ran ในการเผชิญหน้า ยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

Heigo คือพี่ชายสุดที่รักยิ่งของน้อง เป็นคนมีพรสวรรค์ในการเรียนแต่ดันสอบไม่ติด เลยตีตนออกห่างจากครอบครัว หางานทำได้เป็น Benshi (ผู้บรรยายหนังเงียบ) จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ส่วน Akira หนีตามไปอยู่กับพี่ชายด้วย ตั้งใจเป็นจิตรกรวาดภาพหาเลี้ยงชีพ ผลงานได้รับอิทธิพลจาก German Expressionism, Soviet Realism ถือว่าร่วมสมัยนั้น แต่กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ในประเทศญี่ปุ่น, เมื่อวงการภาพยนตร์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปเป็นหนังพูด ทำให้พี่ชาย Heigo ตกงาน ตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่อเดือนกรกฎาคม 1933 (ซะงั้น! สอนน้องให้เผชิญหน้ายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ตัวเองกลับทำไม่ได้) นี่ทำให้ Akira หัวใจสลาย แต่ชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อ ตัดสินใจหางานทำที่มั่นคงกว่าการวาดรูป ผันตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์

ปี 1935 มีสตูดิโอเกิดขึ้นใหม่ Photo Chemical Laboratories หรือ P.C.L. (ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Toho หนึ่งในสตูดิโอใหญ่สุดของญี่ปุ่นในปัจจุบัน) เปิดรับสมัครตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ Kurosawa ที่ไม่เคยสนใจทำงานดังกล่าว ยื่นใบสมัครพร้อมส่ง Essay แสดงความเห็นเรื่องข้อบกพร่องพื้นฐานของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้เขียนเชิงประชดประชันตอบไปว่า ถ้าข้อบกพ่องคือพื้นฐานของวงการภาพยนตร์ คงไม่มีทางแก้ไขได้แน่ ปรากฎว่าผู้กำกับ Kajirō Yamamoto อ่านแล้วเกิดความสนใจ เรียกมาสัมภาษณ์งาน และว่าจ้าง Kurosawa ตอนอายุ 25 ให้กลายเป็นผู้ช่วยของเขา

ความสามารถของ Kurosawa มีความหลากหลาย เรียนรู้งานไว ส่อแววอัจฉริยะ คือทำได้ทุกอย่างตั้งแต่สร้างฉาก ออกค้นหาสถานที่ จัดแสง พากย์เสียง ตัดต่อ ก้าวหน้าจากผู้ช่วย (third assistant) กลายเป็นหัวหน้า (chief assistant) ในระยะเวลาไม่ถึงปี โดยเฉพาะผู้กำกับ Yamamoto ทั้งส่งเสริม ปลุกปั้น เป็นอาจารย์ (mentor) ให้คำชี้แนะนำ ซึ่งหนังเรื่อง Horse (1941) จริงๆจะถือว่า Kurosawa ได้กำกับภาพยนตร์เต็มตัวเรื่องแรกก็ได้ เพราะเขาทำงานแทน Yamamoto แทบทั้งหมด

ใช้เวลากว่า 2 ปี ค้นหาเรื่องราวน่าสนใจสำหรับกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ก็ได้พบกับ Sanshiro Sugata (1942) เขียนโดย Tsuneo Tomita เพิ่งตีพิมพ์ได้ไม่นานยังไม่เป็นที่รู้จักวงกว้าง Kurosawa อ่านจบปุ๊ปขอให้ Toho ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงปั๊ป นิยายขายดีทันที สตูดิโออื่นสนใจยื่นขอซื้อต่อแต่ช้าไปแล้ว

ไม่เหมือนผู้กำกับคนไหนในญี่ปุ่นขณะนั้น Kurosawa หลังจากอ่านนิยาย/บทภาพยนตร์ จะเกิดภาพจินตนาการในหัว (Visual Image) ด้วยความสามารถทางศิลปะที่ตนมี วาดภาพสิ่งนั้นออกมาเป็น Storyboard ใส่ครบทุกรายละเอียด ทิศทางมุมกล้อง ฉาก/พื้นหลัง อุปกรณ์ประกอบ หรือแม้แต่ตัวละคร การกำกับนักแสดง ฯ รายละเอียดยิบในระดับที่ใครมาอ่านก็เห็นภาพ นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เองได้โดยทันที

ตลอดระยะเวลา 30 ปี กระบวนการคิด วิธีการสร้างภาพยนตร์ของ Kurosawa แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่มักไปเสียเวลาชักช้ากับการวาด Storyboard ที่มักไม่ค่อยเสร็จทันงานสร้าง (ก็พี่แกเล่นสร้างหนังปีละ 1-2 เรื่องมาโดยตลอด) จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นกับ Dodes’ka-den (1970) ล้มเหลวทั้งคำวิจารณ์และขาดทุนย่อยยับ ทำให้ Kurosawa เกิดความหวาดวิตกกลัวจับใจ หดหู่หมดสิ้นเรี่ยวแรง ปี 1971 พยายามฆ่าตัวตายด้วยการใช้ใบมีดโกนกรีดข้อมือกว่า 30 ครั้ง โชคยังดีมีชีวิตอยู่ ข่าวคาวแพร่สะพัดทำให้ไม่มีสตูดิโอไหนในญี่ปุ่นยอมรับไว้ใจเชื่อมืออีกแล้ว กอปรกับตัวเลขอายุที่เพิ่มมากขึ้นและโลกกำลังเปลี่ยนไป ช่วงทศวรรษ 70s – 90s ทำให้ชายสูงวัย Kurosawa เร่ร่อนยังต่างประเทศ เดินทางไปรัสเซียสร้าง Dersu Uzala (1975) ต่อมาได้ George Lucas กับ Francis Ford Coppola ลูกศิษย์ผู้เทิดทูนเหนือหัว ต่อรองร้องขอสตูดิโอใหญ่ใน Hollywood เจียดเงินสร้าง Kagemusha (1980)

สำหรับ Ran มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1975 เมื่อ Kurosawa ได้อ่านชีวประวัติของ Mōri Motonari (1497 – 1571) [Sengoku Period] ไดเมียวผู้ปกครองแคว้น Chūgoku ทางตะวันตกของญี่ปุ่น มีบุตรชายสามคนที่ซื่อสัตย์ เฉลียวฉลาด พึ่งพากันและกันได้ นั่นทำให้ Kurosawa เกิดความคิดจินตนาการ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทั้งสามกลับตารปัตรเป็นคนชั่วช้า ชอบการแก่งแย่งชิงดี เข่นฆ่าแกงกันเอง

เริ่มพัฒนาเขียนบท หลังเสร็จจากการถ่ายทำ Dersu Uzala (1975) เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘เอาจริงๆเพิ่งมารู้ตัวตอนเริ่มเขียน ว่ามีเรื่องราวละม้ายคล้ายคลึงกับบทละคร King Lear ของ William Shakespeare ก็ไม่ได้อ้างอิงมาหรอก แค่มันบังเอิญซ้อนทับกันได้อย่างลงตัวจนมิสามารถอธิบายได้เท่านั้น’ สิ่งที่ทั้งสองเรื่องมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง นอกจากเรื่องเพศของตัวละคร (King Lear มีบุตรสาวสามคน ขณะที่ Ran เป็นบุตรชายสามคน) คือภาพสะท้อนอดีต การกระทำของตัวเอง

“Lear never reflects on his past evil or why he comes to what he is, but Hidetora is aware that his past is catching up with him, and this in the end is the cause of him becoming mad.”

แต่หลังจากบทภาพยนตร์พัฒนาเสร็จแล้ว ยังไม่สามารถติดต่อหาทุนสร้างที่ไหนได้ เลยต้องขึ้นหิ้งทิ้งไว้ มีเวลาวาดภาพร่าง Storyboards จนครบทุกช็อตของหนัง

เกร็ด: เห็นว่าใน DVD/Blu-ray ฉบับของ Criterion จะมีคลิปรวบรวมภาพ Storyboard ที่ Kurosawa วาดทั้งหมดอยู่ด้วย ใครสนใจลองหาดูนะครับ

จนกระทั่งความสำเร็จของ Kagemusha (1980) ทำให้ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างจากโปรดิวเซอร์สัญชาติฝรั่งเศส Serge Silberman ผู้อยู่เบื้องหลังผู้กำกับ Luis Buñuel ในผลงานยุคหลังๆ ตั้งแต่ Diary of a Chambermaid (1964), The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) จนถึงผลงานสุดท้าย That Obscure Object of Desire (1977)

Ichimonji Hidetora (รับบทโดย Tatsuya Nakadai) ขุนพลผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร รบทัพจับศึกไม่เคยพ่ายแพ้ ครอบครองอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลไปทั่วทุกสารทิศ มีบุตรชายสามคนสำหรับสืบทอดตำแหน่ง แต่ตัวเขากลับไม่รู้จักธาตุแท้ลูกของตนเองเลยสักคน เมื่อถูกป้อยอโดยลูกคนโต Taro (รับบทโดย Akira Terao) และคนรอง Jiro (รับบทโดย Jinpachi Nezu) มีความยินดีปรีดา พร้อมส่งมอบอำนาจแบ่งดินแดนให้ ผิดกับลูกคนเล็ก Saburo (รับบทโดย Daisuke Ryu) เพียงแค่พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา แต่ออกมาจากใจจริง กลับถูกขับไล่ออกจากประเทศ

เมื่อส่งมอบอำนาจให้แล้ว Hidetora อาศัยอยู่ในปราสาทหลังเล็กๆ ไม่ได้มีความต้องการยุ่งเกี่ยวกับบ้านเมืองประการใด แต่กลับถูกลูกคนโตผลักไสไล่ส่งด้วยความหวาดระแวง เพราะได้รับการกล่อมจนหูเบาจากภรรยา Lady Kaede (รับบทโดย Mieko Harada) ตัดสินใจเดินทางไปอาศัยอยู่กับลูกคนรอง แต่ก็ไม่ได้รับการต้อนรับเช่นกัน ซ้ำร้ายยังถูกทรยศหักหลัง เข่นฆ่าทหารคนสนิทจนสูญสิ้นหมด แม้จะยังเหลือลูกชายคนเล็กอีกหนึ่ง แต่ก็มิอาจบากหน้าไปพึ่งพาหาได้ รู้ซึ้งในผลกรรมความโง่เขลาของตนเอง เสียสติกลายเป็นบ้าจนแทบกู่ไม่กลับ

Tatsuya Nakadai (1932 – ยังมีชีวิตอยู่) นักแสดงชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น, เกิดที่ Tokyo ในครอบครัวที่ยากจนมาก ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือเลยตัดสินใจเป็นนักแสดง มีความชื่นชอบ John Wayne และ Marlon Brando เคยเป็นตัวประกอบเล็กๆ ซามูไรเดินผ่านใน Seven Samurai (1954), มีผลงานประสบความสำเร็จ อาทิ The Human Condition Trilogy, Harakiri (1962), Samurai Rebellion (1967), Kwaidan (1965) ฯ ร่วมงานกับ Kurosawa ทั้งหมด 5 ครั้ง Yojimbo (1961), Sanjuro (1962), High and Low (1963), Kagemusha (1980) และ Ran (1985)

รับบท Ichimonji Hidetora เป็นขุนพลที่มีความโหดเหี้ยมทารุณ สามารถสั่งฆ่าคน เผาปราสาท ควักลูกตาศัตรู ได้อย่างไม่เกรงกลัวบาป เป็นเหตุให้บั้นปลายชีวิตถูกผลกรรมตามทัน มีความมืดบอดในตนเอง ถูกลูกๆขับไล่ไสส่งไร้หลังคาหลุมหัวนอน เมื่อแทบไม่หลงเหลือใครข้างกาย กลายเป็นบ้าเสียสติ เดี๋ยวลืมเดี๋ยวจำ แต่ยังคงมีความเย่อหยิ่งทะนงตนไม่เป็นสองรองใคร กว่าจะรู้สึกสำนึกได้ทุกอย่างก็สายเกินไปแล้ว

King Lear เป็นตัวละครที่ขึ้นชื่อลือชา ได้รับการกล่าวขวัญจากบรรดานักแสดงยอดฝีมือทั้งหลายว่า เล่นยากมากๆ ถ้าไม่ใช่คนมีอายุ ผ่านประสบการณ์ชีวิตโชกโชน ย่อมมิอาจเข้าถึงเบื้องลึกในจิตใจ ความชอกช้ำรวดร้าวระทม แล้วแสดงออกมาได้อย่างทรงพลังถึงที่สุดแน่

ในตอนแรก Kurosawa อยากได้ Toshiro Mifune ที่มักเป็นตัวตายตัวแทนของตน แต่สุดท้ายกลับเลือก Nakadai อาจเพราะความที่เขาเป็นนักแสดงละครเวทีอยู่ด้วย เคยเล่นบท Macbeth, Hamlet, Othello, Oedipus ฯ ได้อย่างสมจริงยิ่งใหญ่ และช่วงชีวิตวัยเด็กเคยพบความทุกข์ยากลำบาก ค่อยๆไต่เต้าจนประสบความสำเร็จ ทำให้อาจสามารถเข้าใจตีความ Hidetora ออกมาได้ใกล้เคียงกับตัวตนของ Kurosawa มากกว่า

กระนั้นการแสดงของ Nakadai ก็ได้ตัวช่วย ด้วยการอ้างอิงจากละครเวทีพื้นบ้าน Noh ของญี่ปุ่น ตั้งแต่เริ่มมีอาการเสียสติ แต่งหน้าหนาเตอะราวกับสวมหน้ากาก เวลาเคลื่อนไหวจะช้าเนิบ ค่อยเป็นค่อยไป แล้วทันใดนั้นพอถูกอารมณ์กระแทกกระทั้น สีหน้าอารมณ์การเคลื่อนไหวจะรวดเร็วขึ้นอย่างตื่นตระหนกตกใจ

นี่คงด้วยคำแนะนำของ Kurosawa เพื่อสร้างความโดดเด่นของ Hidetora ให้แตกต่างจากมนุษย์มนาตัวละครอื่น ถือเป็นความบ้าคลั่งที่จับต้องไม่ได้ ล่องลอยพริ้วไหว ปลิวไปมาตามกระแสลม นั่นแหละคือการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกแท้จริงของเขาออกมา

สำหรับลูกชายทั้ง 3 ของ Hidetora ขอพูดถึงเพียงคร่าวๆ

Akira Terao (เกิดปี 1947) นักร้องนักแสดง มีชื่อจากการเป็นเบสวง Group Sounds ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ After the Rain (1999), Half a Confession (2004) ฯ, รับบทพี่คนโต Taro Takatora (สีเหลือง) ถือเป็นคนมีฝีมือ ความเฉลียวฉลาด ทักษะผู้นำ น้อยสุดแล้วในบรรดาสามพี่น้อง แถมยังเป็นคนหูเบา ฟังคำภรรยาเพียงนิดเดียวเกิดความหวาดระแวงหลงเชื่อผิดๆ ขับไสได้แม้กระทั่งบิดาแท้ๆของตนเอง ไร้ความกตัญญูกตเวที ผลกรรมจึงถูกยิงเข้าข้างหลัง เสียชีวิตโดยไม่รู้ตัว

Jinpachi Nezu (1947 – 2016) นักแสดงที่เคยร่วมงานกับ Kurosawa เรื่อง Kagemusha มีอีกผลงานเด่นคือ Farewell to the Land (1982), รับบทลูกคนกลาง Jiro Masatora (สีแดง) เป็นคนทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง แถมมีคนรอบข้างพึ่งพาไว้วางใจได้ แต่กลับทำตัวปลิ้นปล้อน พูดจากลับกลอก มักมากในกามตัณหา หลงเสน่ห์จิ้งจอกสาวจนถูกหลอกโงหัวไม่ขึ้น สุดท้ายสูญสิ้นทุกอย่างไม่หลงเหลืออะไร แม้ชะตากรรมตอนจบจะไม่ได้พูดถึง แต่การที่ปราสาทถูกตีแตก (ให้กับสีดำ) โทษทัณฑ์สถานเดียวคงคือ ฆ่าตัวตายคว้านท้อง (Seppuku)

Daisuke Ryu (เกิดปี 1957) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่นสืบเชื้อสายจาก Korea เคยร่วมงานกับ Kurosawa เรื่อง Kagemusha, รับบทน้องคนเล็ก Saburo Naotora (สีฟ้า) เป็นคนมีความซื่อตรงสุจริต แค่ปากไวพูดไม่ยั้งคิดแต่ออกมาจากใจ ทำให้ถูกพ่อผู้มืดบอดขับไสไล่ออกนอกประเทศ โชคดีได้รับการช่วยเหลือจากผู้ปกครองแคว้นอื่น และมีลูกน้องไว้เนื้อเชื่อใจได้อยู่เคียงข้าง สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครนี้ตอนจบถือว่าเป็นโศกนาฎกรรมโดยแท้

สำหรับภรรยาเคียงข้างนักรบ มักมีอยู่ 2 ประเภท 1) ช่วยสนับสนุนส่งเสริมอยู่เบื้องหลัง 2) เสี้ยมสอนปั่นหูบ่อนทำลาย

Mieko Harada (เกิดปี 1958) นักแสดงหญิงยอดฝีมือ ผลงานเด่นอาทิ Village of Dreams (1996), Begging for Love (1998) ฯ รับบท Lady Sue (ใน King Lear เทียบได้กับ Edmund) อาศัยเติบโตอยู่ในปราสาทตั้งแต่เด็ก ก่อนทั้งครอบครัวถูก Hidetora เข่นฆ่าจนแทบไม่เหลือใคร แถมยังจับแต่งงานกับลูกคนโต Taro ความเคียดแค้นสะสมต้องการเอาคืน ปั่นหูสามีให้หลงเชื่อฟังคำ ซึ่งพอเขาเสียชีวิตจากไปก็หาได้เศร้าโศกสลด ใช้เสน่ห์ลีลาอันยั้วยวนล่อหลอก Taro ให้กลายเป็นของตนอีกคน

ท่าทางการเคลื่อนไหวของ Lady Sue มีลักษณะเหมือนละครเวทีพื้นบ้าน Noh ของญี่ปุ่น คล้ายๆกับ Hidetora เลยนะครับ นี่อาจมีนัยยะถึงทั้งสองเป็นขั้วตรงกันข้าม พระเอก-ตัวร้าย ศัตรูคู่อาฆาตแค้น

Yoshiko Miyazaki (เกิดปี 1958) นักแสดงหญิงจาก Kumamoto, รับบท Lady Sue (ใน King Lear เทียบได้กับ Goneril) แม้ครอบครัวจะถูกเข่นฆ่า น้องชายโดนควักลูกตา แต่เธอกลับไม่จงเกลียดจงชัง Hidetora หันหน้าเข้าพึ่งใบบุญพุทธศาสนา รู้จักการปล่อยวางและให้อภัย ขอแค่ความสงบสุขบังเกิดกับชีวิตก็เพียงพอ

มีตัวละครหนึ่งที่ถ้าคุณไม่มักคุ้นกับ King Lear อาจรู้สึกว่าไร้สาระ บ้าบอคอแตก ใส่มาทำไม นั่นคือตัวตลก/ไอ้โง่ Kyoami (รับบทโดย Shinnosuke Ikehata หรือชื่อทางการแสดง Peter) เป็นคนรับใช้ อยู่เคียงข้างกาย Hidetora ตลอดเวลา มีหน้าที่แสดงตลก ทำยังไงก็ได้ให้หัวเราะผ่อนคลอย แต่จากคำร้อง ท่าทาง เรื่องเล่าทั้งหลาย มักสะท้อนความจริงในสิ่งที่ Hidetora มักปฏิเสธ มืดบอด ไม่ยอมรับ

ตัวตลก/ไอ้โง่ Kyoami คือกระจกที่สะท้อนตัวตนของ Hidetora
– ตอน Hidetora ยังเป็นปกติอยู่ Kyoami จะมีท่าทางเหมือนคนบ้าเสียสติ
– แต่พอ Hidetora กลายเป็นบ้าเสียสติ Kyoami กลับดูเหมือนคนปกติ มีความเดือดเนื้อร้อนใจแทน แถมให้การช่วยเหลือพึ่งพา ไม่สามารถทอดทิ้งไปไหนได้

เกร็ด: ประมาณตัวประกอบทหารที่เข้าฉาก 1,400 คน เสื้อผ้า/ชุดเกราะปริมาณเท่านักแสดง ม้าอีก 200 ตัว ถึงขนาดต้องนำเข้า ข้ามน้ำข้ามทะเลจากอเมริกา

ถ่ายภาพโดย Takao Saito, Masaharu Ueda, Asakazu Nakai ที่ต้องใช้ถึงสามคน เพราะเป็นสไตล์การทำงานของ Kurosawa มาแต่ไหนแต่ไร ชื่นชอบการใช้กล้อง(อย่างน้อย) 3 ตัว ถ่ายทำพร้อมกันจากคนละทิศทางและหลายเลนส์ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด หรือนักแสดงเล่นดีแต่กลับถ่ายไว้ไม่ทัน แล้วค่อยไปเลือกเอาช็อตสวยๆตอนตัดต่อ

ว่ากันว่าระหว่างถ่ายทำหนังเรื่องนี้ สายตาของ Kurosawa พร่ามัวจนแทบมองไม่เห็นอะไรแล้ว แต่เพราะเขามี Storyboard อยู่ในมือ จึงสามารถแนะนำผู้กำกับภาพให้ถ่ายออกมาในสิ่งที่ตนต้องการได้

ภรรยาของ Kurosawa เห็นว่าก็เสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่องนี้พอดี แต่กองถ่ายหยุดงานเพียงวันเดียวเพื่อไว้อาลัยไม่ให้เสียงาน (Kurosawa คงรู้ตัวเอง ทำใจเผื่อไว้นานแล้วกระมัง)

สถานที่ถ่ายทำ:
– ฉากในองก์แรก พื้นหลังติดภูเขาไฟขนาดใหญ่สุดของญี่ปุ่น Mount Aso, Kumamoto บนเกาะ Kyushu
– มีสองปราสาทได้รับอนุญาติถ่ายทำคือ Himeji Castle (ได้รับการจัดเป็น มรดกโลก) กับ Kumamoto Castle แทนด้วยปราสาทที่ 1 กับ 2 ตามลำดับ
– ปราสาทที่ 3 สร้างขึ้นบริเวณเนิน Mount Fuji (น่าจะใกล้ๆกับสถานที่ถ่ายทำ Throne of Blood) และมีการเผาทำลายกันจริงๆ
– อีกปราสาทที่หลงเหลือเพียงปรักหักพัก ทีมงานพบเจอ ทำปรับปรุงซากของ Azusa Castle ที่บริเวณ Mount Fuji

สังเกตว่าหนังแทบจะไม่มีช็อต Close-Up เน้นภาพระยะไกล Long-Shot เห็นพื้นหลังทิวทัศน์สุดลูกหูลูกตา, หลายครั้งใส่ Layer ระยะใกล้-ไกล ถ่ายนักแสดงยืนหน้ากล้อง เห็นพื้นหลังลิบๆมีการเคลื่อนไหว น่าเสียดายที่ไม่ได้ใช้ฟีล์ม 70 mm (ทศวรรษนั้นหมดความนิยมแล้ว) หรือ Anarmophic Widescreen จะทำให้หนังอลังการยิ่งๆขึ้นกว่านี้อีก

ภาพสองระยะใกล้-ไกล ของช็อตนี้ยังแฝงนัยยะ สูง-ต่ำ อยู่ด้วย กล่าวคือ Lady Sue กับ Tsurumaru เป็นผู้เรียนรู้จักการปล่อยวางให้อภัย พึ่งพิงใบบุญพุทธศาสนา ยืนอยู่ในตำแหน่งสูงกว่า Hidetora ที่ยังจมปลักอยู่ในวงเวียนของกิเลสและกรรม

แต่รู้สึกว่าหนังจะมีภาพหลอกตาผู้ชมอยู่หลายฉาก ที่อาจใช้เทคนิคการซ้อนภาพ Blue Screen ไม่ก็ Rear Projection, อย่างช็อตปราสาทที่ 1 (Himeji Castle) เมฆด้านหลังเคลื่อนไหวรวดเร็วผิดปกติ แถมกำแพงด้านหน้ามีความคมชัดกว่าปราสาทด้านหลัง นี่เกิดจากการซ้อนภาพหรือ Blue Screen อย่างแน่นอน

นั่นทำให้เกิดข้อคำถามกับช็อตนี้ เพราะความที่พื้นหลังไกลลิบๆค่อนข้างไม่ชัดเจอเท่าไหร่ ฉากนี้ถ่ายจากสถานที่จริงทั้งหมด หรือใช้การซ้อนภาพ Blue Screen หรือ Rear Projection หรือเปล่า?

(ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นฉายขึ้น Rear Projection นะครับ ไม่น่าจะถ่ายจากสถานที่จริง)

ฉากที่จริงแน่ๆคือการเผาปราสาทที่ 3 เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณสร้างขึ้นมาแล้ว ใช้เสร็จยังไงก็ต้องทำลายทิ้ง ก็เผามันในหนังเสียเลยหมดเรื่อง เพิ่มความสมจริงให้ผู้ชมแยกแยะไม่ออกกับฉากอื่นที่อาจใช้การซ้อนภาพหรือเทคนิคภาพยนตร์อื่น

นี่เป็นฉากทรงพลังที่สุดของหนัง Hidetora ควรที่จะเสียชีวิตไปกับลูกธนูและกระสุนปืน แต่โชคชะตากลับยังยื้อดื้อรั้นไม่ยอมให้เขาจากไป ก็ทำอะไรไม่ได้แล้วเลยเดินลงจากปราสาทที่เปลงเพลิงกำลังลุกไหม้ ทหารฝ่ายเหลืองแดงยังต้องยอมแหวกทางปล่อยให้ผ่าน มิบังอาจกล้ากระทำอะไรฝืนฟ้าดินได้, ระหว่างฉากนี้ กับ The Dark Knight (2008) ขณะที่ Joker เดินออกจากโรงพยาบาล กดระเบิดโดยไม่หันหลัง เรื่องไหนทรงพลังกว่ากันละเนี่ย?

แต่การเผาปราสาทที่ 1 ช็อตนี้ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วนะครับ (Himeji Castle เป็นถึงมรดกโลกเลยนะ) ย่อมใช้โมเดลจำลอง (Miniature) จากนั้นทำการซ้อนภาพ ดูแล้วประมาณ 3-4 ชั้นขั้นต่ำ อาทิ ท้องฟ้า, ปราสาท, กำแพง และกำลังทหาร

Kurosawa ถ่ายฉากสงครามโดยไม่ได้มุ่งเน้นที่การสู้รบพุ่ง ฟาดฟัน หรือตัวบุคคลหนึ่งใดเป็นฮีโร่ต่อสู้ แต่มีความล่องลอย Abstract แทบจับต้องสัมผัสไม่ได้ เต็มไปด้วยภาพความสับสน โกลาหล กล้องเคลื่อนโฉบเฉี่ยว (Fast-Tracking) ลูกธนูผ่านหน้า ทหารตกหลังม้า ถูกยิงดิ้นพร่าน ซากศพเกลื่อนกลาด ฯ

การสงครามในหนังเรื่องนี้ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจผู้กำกับ Kurosawa ต่อโชคชะตาชีวิตของตนเองที่ได้พบเจอ ทั้งยังแฝงนัยยะถึงความหวาดกังวลของผู้คนในโลกยุคใหม่ ต่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เปรียบเทียบกับกรรมวิธีการรบของหนัง มีการใช้อาวุธชนิดใหม่ที่สามารถเข่นฆ่าผู้คนได้อย่างรวดเร็วไว นั่นคือปืนไฟ (Arquebus) นำเข้าถึงญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 16 ซามูไรเก่งดาบแล้วไง เจอปืนยิงนัดเดียวจอด

อาวุธปืน ถือเป็นสัญลักษณ์ของเทคโนโลยี วิวัฒนาการ ความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ แต่ในหนังเรื่องนี้ได้แปรสภาพกลายเป็นตัวแทนของความสิ้นหวัง, ตัวละคร Jiro ถูกยิงเข้าข้างหลัง Saburo โดนซุ่มยิงด้านหน้า สะท้อนถึงตัวบุคคลผู้ที่ต่อให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรมาจากไหน ก็จักหมดสิ้นไร้คุณค่าความสำคัญโดยทันที เมื่อย่างกรายเข้าสู่วิถีของโลกยุคใหม่

เกร็ด: ประเด็นเรื่องปืน vs อาวุธดาบ เคยได้ถูกนำเสนอถึงในช่วงท้ายของ Kagemusha มาแล้วครั้งหนึ่ง ในความพ่ายแพ้อันย่อยยับเยินของเหล่าซามูไร ซึ่งก็แทนได้ด้วยผู้กำกับ Kurosawa จะไปต่อสู้เอาชนะวิวัฒนาการโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นไร

Kurosawa ให้เหตุผลที่ต้องทำชุดทหาร มีการแบ่งสีอย่างชัดเจน โดยการแซวหนังเรื่อง War and Peace ดูไม่รู้เรื่องเลยฝั่งไหนรัสเซีย ไหนฝรั่งเศส

“It often happens in battle scenes, for example in War and Peace, that you have no idea which are the Russian troops and which are the Napoleonic ones, and it’s not very kind to the audience. So it was very deliberate to attach different colour banners so you knew exactly what was happening.

นี่รวมถึงทิศทางการสู้รบ กองทัพของ Jiro จะวิ่งมาจากซ้ายไปขวา ขณะที่ Saburo ต้องตรงกันข้าม ขวาไปซ้าย

I was also very careful to pay attention to the fact that the armies of Jiro always entered from left to right, and Saburo’s armies were always filmed the opposite way, from right to left.”

ตัดต่อโดย Akira Kurosawa เล่าเรื่องในมุมมองของ Hidetora หรือจะ Kyoami ก็ยังได้ (สองคนนี้แทบไม่อยู่ห่างกันเลย), เราสามารถแบ่งหนังออกเป็น 5 องก์ สอดคล้องกับละครเวทีที่ก็มี 5 Act

องก์ 1 Retire, หลังจากกิจกรรมล่าหมูป่าของขุนพล Hidetora เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ผลอยหลับต่อหน้าแขกเหรื่ออย่างเสียมารยาท ตื่นขึ้นจึงมาตัดสินใจวางมือลงจากอำนาจ แบ่งดินแดนให้กับลูกๆทั้งสามได้สืบทอดต่อ

องก์ 2 Truth, แต่หลังจาก Hidetora ส่งมอบอำนาจ กลับถูกขับไล่ไสส่งจนไร้ที่ซุกหัวนอน พบเจอความจริงที่บดบังวิสัยทัศน์ของตนเองมาแสนนาน

องก์ 3 Betray, Taro กับ Jiro ร่วมมือกันต่อสู้รบกับกองกำลังของพ่อ พอเอาชนะมาได้ก็ทรยศหักหลังกันเอง แต่ Hidetora กลับหนังเหนียวกว่าที่คิด เดินออกมาจากปราสาทเพลิงก็มิมีใครกล้าท้าทายโชคชะตาฟ้าดิน

องก์ 4 Repent, เมื่อสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง Hidetora จึงค่อยๆสูญเสียสติ กลายเป็นคนบ้า กรรมเก่าเริ่มหวนกลับมาให้ระลึกคืนสนอง ขณะเดียวกัน Jiro ที่กลายเป็นผู้ปกครองคนใหม่ ค่อยๆถูก Lady Kaede ชักจูงจมูก นำพาสู่หายนะ

องก์ 5 Tragedy, Saburo ต้องการเพียงค้นหาพ่อ แต่สร้างความหวาดระแวงให้กับ Jiro กลัวน้องชายจะมาทวงคืนอำนาจที่ได้มาไม่ชอบธรรมของตน จนต้องรับศึกสองด้าน กลายเป็นโศกนาฎกรรมที่ทุกคนพบเจอความสูญเสีย

หลายครั้งทีเดียวที่หนังมีการแทรกใส่ภาพท้องฟ้า เต็มไปด้วยก้อนเมฆบดบังแสงอาทิตย์ (ส่วนใหญ่เป็นเมฆ Cumulonimbus ที่ทำให้เกิดฝนฟ้าพายุ) บางครั้งกำลังค่อยๆเคลื่อนเข้ารวมตัว นี่เป็นสัญลักษณ์ของความโกหาหล สับสนวุ่นวาย (ตรงกับชื่อหนัง Ran พอดิบพอดี) สามารถบ่งบอกอารมณ์ของหนัง และพยากรณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป

เพลงประกอบโดย Toru Takemitsu (1930 – 1996) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับการยกย่องยอมรับจากชาวตะวันตก ในสไตล์พื้นบ้านคลาสสิก (Japanese Folk Song) เคยร่วมงานกับ Kurosawa มาครั้งหนึ่งเรื่อง Dodes’ka-den (1970) ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Harakiri (1962), Woman in the Dunes (1964), Kwaidan (1964), Samurai Rebellion (1967), Empire of Passion (1978) ฯ

ทั้งๆที่เพลงประกอบของหนัง ถือว่าระดับ Masterpiece สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ แต่การร่วมงานกันระหว่างสองศิลปินเห็นว่าไม่ค่อยราบรื่นเสียเท่าไหร่ เพราะในตอนแรก Kurosawa ส่งรายละเอียดความต้องการ รวมถึงเจาะจงโน๊ตท่อนฮุคโดยละเอียด สร้างความไม่พึงพอใจให้ Takemitsu อย่างยิ่ง ตัวเขาเลยตัดสินใจเดินทางไปกองถ่ายเพื่อสัมผัสบรรยากาศจริงของหนัง จนแล้วจนรอดโต้เถียงกันรุนแรงในซีนหนึ่ง ขอถอนตัวจากหนังแบบไม่ขอเอาเครดิตด้วย แต่เพราะได้รับการกล่อมสงบศึกโดยโปรดิวเซอร์ จึงยินยอมกลับมาทำงานต่อจนเสร็จ

“Overall, I still have this feeling of … ‘Oh, if only he’d left more up to me …’ But seeing it now … I guess it’s fine the way it is.”

– Toru Takemitsu พูดถึงการทำเพลงประกอบ Ran

ความเรื่องมากละเอียดอ่อนของ Kurosawa ต้องการทำนองเพลงมีกลิ่นอายสไตล์ของ Gustav Mahler (1890-1911) คีตกวีและวาทยกรชาว Austria-Hungary เชื้อสาย Jews และยังอยากให้ London Symphony Orchestra ทำการบันทึก Soundtrack ประกอบหนัง แต่หลังจากได้พบเจอวาทยาการ Hiroyuki Iwaki ของ Sapporo Symphony Orchestra ก็ยินยอมเปลี่ยนใจไม่ต้องไปไกลถึงเกาะอังกฤษ

Hell’s Picture Scroll เป็นบทเพลงขณะที่ Hidetora ถูกลูกชายทั้งสองทรยศหักหลัง เขานั่งอยู่ในปราสาทหลังที่ 3 รอคอยความตายจะมาเยือน ภาพสงความ การสูญเสีย พ่ายแพ้ หมดสิ้นหวัง แต่ชายคนนี้กลับยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางขุมนรกโลกันต์ วันโลกาวินาศ มันช่างมีความขนลุกขนพอง หัวใจเต้นแรงสั่นสะท้าน มิอาจสงบลงได้ง่ายๆ

ความไพเราะ โหยหวน จับจิตจับใจของบทเพลง มาจาก Ryūteki (แปลว่า dragon flute) หนึ่งในเครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่น ทำจากไม้ไผ่, ตามตำนานว่ากันว่า Ryūteki คือเสียงของมังกรที่ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า โบยบินอยู่ระหว่างสรวงสวรรค์กับโลกมนุษย์ (หรือก็คือ ก้อนเมฆ)

เมื่อ Hidetora ได้ยินเสียงเป่าบทเพลงนี้ เกิดความหวาดกลัวจนตัวสั่นสะท้าน ราวกับสวรรค์ฟ้าดินกำลังจะลงทัณฑ์ ความชั่วทั้งหลายที่เคยทำหวนกลับมาหลอกหลอนทวงคืน กฎแห่งกรรม พยายามที่จะปิดหูไม่ยอมรับฟัง ถอยหนีพังประตูบ้านออกมา

สำหรับบทเพลง Ending Credit ได้เลือกซิมโฟนี Das Lied von der Erde [แปลว่า The Song of the Earth] (1908-1909) ท่อนสุดท้ายที่ 6 ชื่อ Der Abschied (The Farewell) แต่จะได้ยินแค่ทำนอง Prologue ก่อนขึ้นคำร้อง

คำร้องของบทเพลงนี้ คือถ้อยพรรณาถึง ‘ความตาย’ แต่ไม่ได้ใช้การพูดกล่าวถึงตรงๆ ประมาณว่า ‘พระอาทิตย์กำลังตกดิน ความมืดค่อยๆคืบคลาน พระจันทร์ทอแสง สายลมเย็นพัดเอื่อย ฝูงนกเงียบสงัด ฯ’ ทั้งหมดนี้สื่อความไปถึงจุดสิ้นสุดของการมีชีวิต, นำมาให้รับฟังเต็มๆท่อนเลยแล้วกัน ความยาว 30 นาที แนะนำให้หาคำแปลดูตามไปด้วย จะได้เข้าใจความหมายของบทเพลงนี้อย่างลึกซึ้ง

ไม่ใช่แค่ Soundtrack เท่านั้นที่โดดเด่น แต่ยังรวมถึง Sound Effect เสียงสายลมพัด จิ้งรีดเรไร ฯ มีความกระหึ่มดังชัด ย่อมแฝงนัยยะสำคัญบางอย่าง, นี่ทำให้ผมหวนระลึกถึงหนังเรื่อง Silence (2016) ของผู้กำกับ Martin Scorsese ใช้เสียงจิ้งหรีดเรไรแทน Soundtrack ของหนังไปเลย มีนัยยะถึงความเป็นธรรมชาติของชีวิต
– ฉากที่ Hidetora ถูกขับไล่ออกจากสองปราสาทแรก นั่งเหม่อลอยอย่างไร้จุดหมาย ใครพูดว่าอะไรก็เหมือนไม่ได้ยิน เสียงจิ้งรีดเรไรในฉากนี้ถือว่าดังกระหึ่ม คงสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด อยากที่จะส่งเสียงตะโกนแหกปากกึกก้องระบายออกมา แต่ทำไม่ได้ ก็เป็นเสียงเรไรนี่แหละ ดังขึ้นมาหนวกหูดีแท้
– หลังจากสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง Hidetora เดินออกจากปราสาทที่ 3 สู่ทุ่งหญ้าพริ้วไหว เสียงสายลมดังขึ้นสนั่นหวั่นไหว พูดอะไรก็แทบไม่ยิน สามัญสติล่องลอยไปกับสายลมแล้ว ที่หลงเหลือคือความหวาดกลัว ท้อแท้ สิ้นหวัง

Ran หน้าหนังเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ พ่อ-ลูก ที่เต็มไปด้วยขนมหวานรสชาติแสนอร่อย รู้หน้าไม่รู้ใจ หลงเพ้อคิดไปว่าสิ่งที่พบเห็นคือเนื้อในจิตวิญญาณ แต่เมื่อเบื้องลึกตัวตนของพวกเขาได้รับการเปิดเผยออก ราวกับลูกอมอาบยาพิษ เต็มไปด้วยความโหดโฉดชั่วร้าย ชาวนากับงูเห่า แว้งกัดได้แม้คนใกล้ตัว ค่อยมารู้สำนึกผิดตอนนี้ ทุกอย่างก็สายเกินแก้ไข

พ่อ มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในตัวลูกๆเป็นสิ่งดีน่ายกย่อง แต่การมิได้ให้ความสนใจ รู้จักตัวตนแท้จริงของพวกเขา นี่แสดงถึงความเย่อหยิ่งจองหอง ทะนงตน อวดดี หลงตัวเอง คิดว่าไม่มีอะไรใต้หล้าจะสามารถยิ่งใหญ่ไปกว่าตนได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาค้นพบ สัจธรรมความจริง สิ่งที่เหนือกว่าตัวเอง นั่นคือกฎแห่งกรรม ทำอะไรไว้ย่อมต้องได้รับผลคืนสนอง

สำหรับลูกๆทั้งสาม จะมองว่าคือผลพลอยได้ของพ่อ จากการที่ไม่เคยเอาใจใส่ดูแลสนใจเท่าที่ควร ทำให้แต่ละคนมีความคิด พฤติกรรม การแสดงออกแตกต่างกันไปคนละขั้ว
– คนพี่มีวุฒิภาวะ แต่ขาดสภาวะผู้นำ เชื่อคนอื่นง่ายหูเบา ไร้มิตรสหายที่ดีให้การช่วยเหลือจุนเจือ
– คนกลางมีความทะเยอทะยาน คบเพื่อนดี แต่เพราะมักมากในกามทำให้เสียคน หลงผิดมิชอบ
– คนเล็กถึงมีจิตใจดี เฉลียวฉลาด ความเป็นผู้นำสูง ลูกน้องรักใคร่ แต่ไม่รู้จักการประณีประณอม พูดจาโผงผาง เถียงคําไม่ตกฟาก

ทั้งสามต่างมีตำหนิที่สืบทอดทางพันธุกรรมมาจากพ่อ ได้รับมาคนละเสี้ยว นี่ทำให้กิ่งไม้เมื่อแยกกันอยู่จะสามารถหักคาได้ง่าย แต่กระนั้นก็ใช่ว่าสามกิ่งรวมกันจะมิอาจหักได้, ข้อคิดจากเรื่องราวส่วนนี้ไม่ใช่แค่สำนวน ‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย’ แต่คือ ‘อะไรๆก็เกิดได้’ และ ‘อย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท’

แต่เนื้อในใจความจริงๆของหนัง คือการถ่ายทอดเรื่องราวชีวประวัติของผู้กำกับ Akira Kurosawa ออกมาจากตัวตนภายใน อารมณ์ความรู้สึกแท้จริงของเขา อันเต็มไปด้วยความสับสน โกลาหล วุ่นวายใจ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์พูดออกมาตรงๆเลยว่า ‘Hidetora คือฉันเอง’

“Hidetora is me,”

เราแบ่งช่วงชีวิตการสร้างภาพยนตร์ Kurosawa ออกเป็นช่วงๆออกได้เป็น
– ทศวรรษ 50s – 60s ยุคทองแห่งความยิ่งใหญ่ ได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์ปีละเรื่อง ประสบความสำเร็จทำเงิน คำวิจารณ์ยกย่องสรรเสริญ โด่งดังไกลระดับนานาชาติ, เปรียบเทียบกับหนังคือช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะเริ่มต้นขึ้น Hidetora แพร่ขยายอิทธิพลความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ไปทั่วทุกสารทิศใต้หล้า
– ทศวรรษ 70s ช่วงเวลาแห่งความความล้มเหลวตกต่ำสุดขีดกับ Dodesukaden (1970) ผิดหวังในชีวิตคิดฆ่าตัวตาย ถูกสังคมตราหน้า สูญสิ้นความน่าเชื่อถือ, คือช่วงเวลาที่ Hidetora ก้าวลงจากอำนาจ ค้นพบความจริงเกี่ยวกับลูกชายทั้งสอง สูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง ตั้งใจจะตายแต่ไม่สำเร็จ ค่อยๆเสียสติกลายเป็นบ้า
– ทศวรรษ 80s ค่อยๆฟื้นฟูสภาพจิตใจของตนเอง หวนระลึกทบทวนถึงอดีต ชีวิตดิ้นรนก้าวเดินต่อไป, เมื่อ Hidetora ได้พบเจอกับ Saburo ทำให้ค่อยๆหวนกลับคืนสู่ปกติ ชีวิตดูมีความหวังมากขึ้น

ผมไม่ค่อยเห็นใครพยายามวิเคราะห์ว่า ลูกชายสามคนของ Hidetora แทนด้วยอะไร? มันอาจเป็นตัวบุคคลจริงๆก็ได้ แต่อาจสื่อถึงภาพยนตร์ 2-3 เรื่อง (ภาพยนตร์เปรียบเสมือนลูกรักของผู้กำกับ) ซึ่งถ้าคาดเดาจากบริบทนี้ แนวโน้มที่เป็นไปได้คือ
– พี่คนโต Tora! Tora! Tora! (1970) นี่เป็นภาพยนตร์ Hollywood เรื่องที่ Kurosawa ได้เข้ามามีส่วนร่วมหลังเสร็จจาก Red Beard (1965) คาดหวังคงได้โกอินเตอร์ แต่กลับถูกสตูดิโอ Fox ไล่ออก เพราะความเรื่องมากสมบูรณ์แบบเกินไปของผู้กำกับ
– พี่คนรอง Dodesukaden (1970) นี่เป็นเรื่องที่ Kurosawa ก่อตั้งสตูดิโอใหม่ร่วมกับเพื่อน แต่พอออกฉายในญี่ปุ่นล้มเหลวทั้งคำวิจารณ์และรายรับ ทำเอาสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง แถมปี 1971 ตั้งใจจะฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ (แต่หนังได้เข้าชิง 5 เรื่องสุดท้าย Oscar: Best Foreign Language Film)
– น้องคนเล็ก Dersu Uzala (1975) ถึงนี่จะเป็นภาพยนตร์ที่ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของ Kurosawa กลับมา (คว้า Oscar: Best Foreign Language Film) แต่เพราะต้องถ่อสังขารไปถ่ายทำยังรัสเซีย (Saburo ถูกขับไล่ไปต่างแดน) ทุกข์ทรมานต่อสภาพการทำงานอันหนาวเหน็บ คงสูญสิ้นพลังชีวิตไปมากทีเดียว

ถึงเรื่องราวต่อจากนี้คือโศกนาฎกรรม แต่มิได้สื่อถึงอาชีพการงานของ Kurosawa จะจบสิ้นลง วินาทีนั้นเสมือนว่าผู้ชม (และ Kurosawa) ได้พบความเห็นแจ้ง รับรู้เข้าใจในสัจธรรมของชีวิต มีขึ้นก็ต้องมีลง ประสบความสำเร็จก็ต้องล้มเหลว เกิด-ตาย เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อว่าด่าท่อพระพุทธ พระเจ้า ท่านก็มิได้เหลียวแลใยดี มิอาจช่วยเหลือตัวเราจากตัวเอง

“They can’t save us from ourselves.”

ประโยคนี้สื่อความหมายคือ “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง”

ฉากสุดท้ายของหนัง Tsurumaru ผู้ตาบอด ยืนอยู่ริมขอบของเศษซากปรักหักพังของปราสาท ตัวเขาไม่ได้คิดจะฆ่าตัวตายแต่ก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อ พี่สาวไม่หวนคืนกลับมา คงได้แค่ยืนเฝ้ารอคอย ไม่สามารถขยับเขยื้อนไปไหนได้, นัยยะของฉากนี้คืออนาคตที่มืดบอด ข้างหน้าคือหุบเหว ก้าวต่อไปคือความตาย ถอยหลังก็มิได้ ชวนให้ตั้งคำถามกับผู้ชม เป็นคุณจะคิดตัดสินใจทำยังไงต่อ? เพราะชีวิตมันก็แบบนี้แหละ

ผมมองช็อตนี้เหมือนสุสาน (คล้ายฉากจบของ Seven Samurai) สามเนินฝั่งซ้ายแทนด้วยพี่น้องสามคน (Tsurumaru ยืนตรงเนินที่ 3 เตี้ยสุด สื่อถึง Saburo คนน้องผู้มีมโนธรรมในจิตใจสูงสุด) ส่วนเนินฝั่งตรงกันข้ามย่อมแทนด้วยของพ่อ

สิ่งที่ Kurosawa ถ่ายทอดออกมากับ Ran เกิดจากทักษะองค์ความรู้ ประสบการณ์สร้างภาพยนตร์สะสมยาวนานกว่า 30 ปี ผสมผสานเข้ากับเรื่องราวส่วนตัวที่ได้ประสบพบเจอ สุขทุกข์ ดีใจเสียใจ สมหวังผิดหวัง ทั้งหมดประมวลเป็นบทสรุป ใจความสำคัญแห่งชีวิตของคนผู้หนึ่ง

คงไม่ผิดอะไรถ้าจะกล่าวว่า Ran คือผลงานเปรียบได้กับ ‘จิตวิญญาณ’ ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ทุ่มเททั้งหมดกายใจ ตั้งใจให้เป็นผลงานสุดท้าย

ด้วยทุนสร้างสูงสุดขณะนั้นในญี่ปุ่น $11 ล้านเหรียญ แม้จะทำเงินในประเทศได้เพียงเท่าทุน ¥2.51 พันล้านเยน (=$12 ล้านเหรียญ) แต่กำไรเหลือเฟือในตลาดโลก

หนังออกฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาล Tokyo International Film Festival ครั้งที่ 1 แต่ Kurosawa กลับเบี้ยวงาน สร้างความขุ่นเคืองให้กับคนในวงการอย่างยิ่งยวด (เหตุผลที่ไม่เข้าร่วม เพราะไม่อยากพบเจอบุคคลทั้งหลายที่ทำลายอาชีพเขา) ด้วยเหตุนี้หนังจึงมิได้กลายเป็นตัวแทนประเทศเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film

ขณะที่โปรดิวเซอร์ Serge Silberman พยายามผลักดันให้หนังกลายเป็นตัวแทนของประเทศฝรั่งเศสแทน (เพราะหนังถือว่าร่วมทุนสร้างฝรั่งเศส) แต่ใครที่ไหนจะเห็นชอบด้วย, โชคดีได้ผู้กำกับ Sidney Lumet พยายามออกแคมเปญสนับสนุน ล็อบบี้คณะกรรมการอย่างเต็มความสามารถ ทำให้ Ran ได้รับโอกาสเข้าชิง Oscar ถึง 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Director (Akira Kurosawa)
– Best Cinematography
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Costume Design ** คว้ารางวัล

ถือเป็นครั้งแรกครั้งเดียวในชีวิตของ Kurosawa ที่เข้าชิง Oscar สาขา Best Director แต่ก็เพียงพอได้รับมอบ Honorary Award เมื่อปี 1990

“For cinematic accomplishments that have inspired, delighted, enriched and entertained worldwide audiences and influenced filmmakers throughout the world.”

ขณะที่ Japan Academy Prize เข้าชิง 6 สาขา คว้ามา 2 รางวัล แต่ด้วยความแค้นฝังหุ่น คณะกรรมการตัดสิทธิ์สาขา Best Director ทิ้งไปอย่างไร้ยางอาย
– Best Supporting Actor (Hitoshi Ueki)
– Best Cinematography
– Best Lighting
– Best Art Direction ** คว้ารางวัล
– Best Sound
– Best Music Score ** คว้ารางวัล
– รางวัลพิเศษ Special Award มอบให้โปรดิวเซอร์ Masato Hara (อาจเพราะหนังได้ทุนสร้างจากฝรั่งเศส เลยหมดชิงสาขา Best Film เลยมอบรางวัลนี้ให้โปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่นของหนังแทน)

แซว: ไม่อยากเชื่อว่าวงการภาพยนตร์ของญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 70s – 80s จะเด็มไปด้วยมาเฟียอิทธิพลแรงขนาดนี้ มิน่าละถึงเป็นช่วงเวลาถอยหลังลงคลอง ตกต่ำที่สุดเลยก็ว่าได้

ถึงจะบอกไปตั้งแต่ต้นว่า Ran คือเรื่องที่ผมมีความชื่นชอบน้อยสุดในบรรดาผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Akira Kurosawa แต่มิใช่หมายความว่าจะรังเกียจปฏิเสธต่อต้าน, ส่วนตัวมีความชื่นชอบ หลงใหล ในความสับสน โกลาหล(ของชีวิต)เป็นที่สุด แต่คงไม่เกินกว่านี้ เพราะหนังทิ้งความรู้สึกหนักอึ้งทุกข์ทรมานไว้ให้มากโข

ผมค่อนข้างเห็นใจแทน Kurosawa อยู่มาก ชีวิตผ่านพานพบเจออุปสรรค อะไรๆเลวร้ายมาเยอะ (แต่ส่วนใหญ่ก็เกิดจากทำตัวเองแทบทั้งนั้น) อย่างน้อยหลังจากหนังเรื่องนี้ คงได้มีโอกาสพักผ่อนคลายตัวเองสักที เพราะเหมือนยกภูเขาลูกมหึมาออกจากอกเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรหลงเหลือให้ต้องพิสูจน์ก่อนตายอีกต่อไป แต่ตัวเขาก็ยังมีชีวิตอยู่ต่ออีกหลายปี จะใช้เวลาอยู่เฉยๆคงเบื่อตาย สร้างภาพยนตร์แบบสบายๆ พักผ่อนคลาย เน้นหาความสุขสำราญให้ตนเอง

ถึงทั้งหมดที่ผมเล่ามาต่อหนังเรื่องนี้ จะคือชีวประวัติของผู้กำกับ Akira Kurosawa แต่หน้าหนังนั้นเป็นการสอนคน ให้รู้จักความกตัญญูกตเวที รู้รักสามัคคี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำความดี และหวาดกลัวต่อกฎแห่งกรรม เท่านี้ก็เพียงพอแนะนำให้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

จัดเรต 18+ กับสงคราม ความรุนแรงบ้าคลั่ง และโศกนาฎกรรม

TAGLINE | “Ran คือจิตวิญญาณของผู้กำกับ Akira Kurosawa”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: