Rang De Basanti (2006) : Rakeysh Omprakash Mehra ♥♥♥♡
Aamir Khan นำทีมสหายรักทั้ง 7 ตั้งคำถามชีวิตว่า ‘เราสามารถทำอะไรเพื่อประเทศชาติได้บ้าง?’ ค้นพบคำตอบ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ‘การเสียสละชีพเพื่ออุดมการณ์’ สามารถส่งเสียงกึกก้องสะท้านในใจผู้คน
Rang แปลว่า การลงสี, วาดภาพ
Basanti แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) หรือสีเหลืองส้ม (สีของรวงข้าวเหลืองอร่ามในฤดูนี้)
Rang De Basanti แปลว่า Colour it Saffron/ Paint it Yellow ซึ่งในอินเดีย สีเหลืองมีอีกนัยยะหนึ่งคือการเสียสละชีพ (sacrifice)
นี่เป็นหนังที่ดูค่อนข้างยากพอสมควร ไม่ใช่เนื้อเรื่องมีความสลับซับซ้อน แต่เป็น direction ของผู้กำกับ และความ Stylish ของหนังที่ผมยังรู้สึกอึดอัดทรมาน แต่ถ้าคุณสามารถทนรับชมดูจนถึงตอนจบได้ มันจะมีความอึ้งทึ่งช่วงท้าย ที่จะทำให้หัวใจสั่นระริกรัว วูบดิ่งซึมหดหู่ บางคนอาจเกิดอาการ ‘RDB effect’ คิดอยากลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศชาติโดยทันที
ผมตั้งใจเขียนถึงหนังเรื่องนี้มานานพอสมควร ตั้งแต่ตอนเริ่มสร้างบล็อคช่วงแรกๆ แต่ยังหาจังหวะโอกาสไม่ได้สักที ผลัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมาจนเข้าสู่ปีที่สอง เลยใช้โอกาสนี้รับชมครั้งที่ 2 เสียเลยก็พบว่า โอ้! หนังมีความยอดเยี่ยมมากกว่าที่เคยรู้สึกไว้เยอะเลย แสดงว่านี่เป็นหนังที่ต้องใช้ประสบการณ์ความอดทนในการรับชมภาพยนตร์ระดับสูงพอสมควร ถึงมองเห็นความสวยงามนี้นะครับ
Rakesh Omprakash Mehra (เกิดปี 1963) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Delhi ตอนเด็กเคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ เคยเข้ารับคัดเลือกตัวแต่ไม่ติดทีมชาติ, เริ่มต้นจากการเป็นคนขายเครื่องดูดฝุ่น จากนั้นตั้งบริษัท Flicks Motion Picture Company รับทำโฆษณาฉายตามโทรทัศน์ เคยร่วมงานกับ Coke, Pepsi, Toyota, American Express และ BPL จากนั้นได้กำกับ Music Video และภาพยนตร์เรื่องแรก Aks (2001) นำแสดงโดย Amitabh Bachchan แม้หนังจะได้รับคำวิจารณ์ดีอย่างท้วมท้น แต่กลับทำเงินไม่ได้เท่าไหร่
ค่ำคืนหนึ่งขณะนั่งกินเหล้ากับเพื่อนสนิท Kamalesh Pandey หัวข้อสนทนาเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นไป สภาพสังคม Pandey แสดงความหงุดหงิดคับข้องใจกับระบบการบริหารของประเทศ ขณะที่ Mehra รู้สึกสิ้นหวังที่ตนเองมิอาจกระทำอะไรให้ดีขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้เลย พวกเขาเลยได้ข้อสรุปว่าจะสร้างหนังสักเรื่องที่เป็นตัวแทนความรู้สึกนี้ ซึ่งคำตอบที่คิดได้ขณะนั้น ตั้งชื่อว่า Ahuti (แปลว่า การสละชีพ) เป็นเรื่องราวของนักต่อสู้อิสระ (Freedom Fighter) กลุ่มปฏิวัติอินเดียช่วงปี 1919-1931 ประกอบด้วย Ashfaqullah Khan, Ramprasad Bismil, Bhagat Singh, Rajguru, และ Chandrashekhar Azad [ทั้ง 5 มีตัวตนจริงๆในประวัติศาสตร์] ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น The Young Guns of India เริ่มต้นจากฉากปล้นรถไฟ Azad หลังม้าพูดประโยคว่า “let’s do The Young Guns of India”.
แต่นั่นจะมีประโยชน์อะไร… เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นผ่านไปแล้วในอดีต คนยุคสมัยนี้ใช่ว่าจะให้ความสนใจเห็นความสำคัญ เปรียบเทียบ มองเห็นภาพสะท้อนสิ่งที่เป็นอยู่ มันควรต้องเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่นาน ปัจจุบัน เคยรับรู้ได้ยินข่าวใกล้ตัว ผู้คนถึงจะเริ่มมองเห็นครุ่นคิดตาม, Pandey กลับมาพร้อมคำตอบ เหตุการณ์เครื่องบินต่อสู้ Mikoyan-Gurevich MiG-21 ของกองทัพอากาศอินเดีย นับตั้งแต่ซื้อมาใช้งานในสงครามเมื่อปี 1964 ในรอบ 15 ปีหลังสุด มี 206 ลำที่ประสบอุบัติเหตุ นักบิน 78 คนเสียชีวิต ซึ่งทางการกองทัพได้โบ้ยความผิดพลาดทั้งหมดให้กับนักบินที่ขาดความรับผิดชอบไร้ประสบการณ์ ไม่ต้องใช้สมองส่วนไหนคิดก็คงรับรู้ได้ เจ้าหน้าเหล่านี้คงคดโกงกินกันอย่างอิ่มหนำสำราญ
ว๊าว! นี่เป็นหนังที่ผู้กำกับใช้การคิดแทนผู้ชมเยอะมากๆ นำเสนอด้วยการเปรียบเทียบให้เห็นภาพสะท้อนความคล้ายคลึงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ดูจบแล้วเหมือนว่าเราได้เข้าไปในหัว รับรู้ความคิด ทัศนะ ความต้องการของผู้กำกับได้โดยทันที, กับภาพยนตร์ที่ผมเคยเห็นมีความลึกล้ำในลักษณะคล้ายๆกันนี้คือเรื่อง Hiroshima mon amour (1959) ของผู้กำกับ Alain Resnais ที่ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิด รู้สึกตาม เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ดูจบแล้วอยากทำอะไรบางอย่าง ไม่เป็นเหมือนตอนจบของ Ikiru (1952) ถือว่าใช้ได้
สำหรับทีมนักแสดง เริ่มต้นที่ Aamir Khan เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ขณะอ่านบท Rang De Basanti กระดูกทุกชิ้นในร่างกายของเขาบอกไม่ แต่เมื่ออ่านจบตัดสินใจว่าเล่น ตอนนั้นอายุกำลังย่างเข้า 40 รับบท Daljit ‘DJ’ Singh วัย 25 เพื่อความสมจริงจึงลดน้ำหนักลง 10 กิโลกรัม (เพื่อให้ดูเหมือนวัยรุ่นหน่อย)
DJ แม้จะตัวเล็กสุดในกลุ่ม แต่กลับเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งอย่าง ผู้นำทางความคิด กล้าทำอะไรบ้าๆบอๆ อาจดูปลิ้นปล้อนอยู่บ้าง แต่รักเพื่อนจริงใจไม่ทอดทิ้ง
ตัวจริงของ Aamir ไม่น่าใช่นิสัยแบบ DJ แน่ๆนะครับ ผมเคยเห็นตัวเขาสงบเยือกเย็นกว่านั้นมากๆ แต่ความคิดอุดมการณ์ไม่แน่น่าจะถือว่าใกล้เคียงพอสมควร ไม่เช่นนั้นพี่แกคงไม่รับบทนี้แน่, การพลิกบทบาทเป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจอยู่แล้ว ไม่มีใครคิดว่า Aamir จะสามารถเล่นตัวละครแบบนี้ได้ ซึ่งพอได้เห็นผลลัพท์ก็ต้องปรบมือยกนิ้วให้ สมแล้วกับฉายา Mr. Perfectionist
สำหรับนักแสดงคนอื่น ผมจะขอพูดถึงแค่คร่าวๆพอนะครับ
– Atul Kulkarni นักแสดงยอดฝีมือเจ้าของ 2 รางวัล Best Supporting Actor จาก National Film Award เรื่อง Hey Ram (2000) กับ Chandni Bar (2002), รับบท Lakshman Pandey ตอนแรกมาเป็นศัตรูกับกลุ่มพระเอก แต่เพราะเขาเข้ากับบท Ramprasad Bismil ทำให้ฝืนใจเข้าร่วมกลุ่ม แต่จากคนรู้จัก กลายเป็นเพื่อน เพื่อนสนิท และสุดท้ายเพื่อนตาย, ภาพลักษณ์ของ Kulkarni ทำให้ตัวละครมีความเข้ม สุขุม นิ่งลึก จริงจัง ด้วยอุดมการณ์แน่วแน่มั่นคง แต่เมื่อถูกทรยศหักหลัง ก็เอาคืนถึงที่สุดเลยละ, ผมประทับใจการแสดงของ Kulkarni ที่สุดในหนังแล้ว (ยิ่งกว่า Aamir เสียอีก) คงเพราะตัวจริงผมก็คล้ายๆกับตัวละครนี้กระมังเลยถูกใจมากเป็นพิเศษ
– Siddharth Narayan นักแสดงหนุ่มหน้าเข้มจากทางใต้ของอินเดีย ก่อนหน้านี้มีผลงานหนังภาษา Tamil, Telugu นี่เป็นเรื่องแรกในภาษา Hindi, รับบท Karan Singhania ที่มีปมเรื่องพ่อพยายามครอบงำทุกสิ่งอย่าง แต่ฐานะความร่ำรวยมักมาพร้อมกับคอรัปชั่น ทำให้ช่วงท้ายต้องตัดสินใจว่าจะทำเพื่อตนเองหรือความถูกต้อง, ภาพลักษณ์ของ Narayan เหมือนลูกคนรวยมากๆ เวลาเพื่อนๆสนุกสนานกัน ตัวละครนี้มักจะเดินดูดบุหรี่แบบไม่สนใจใคร คือเขาคงต้องการสร้างเอกลักษณ์เป็นตัวของตนเอง ไม่เหมือนใคร ไม่ต้องพึ่งใคร เป็นคนแปลกแยก นิ่งสงบที่สุดในกลุ่ม แต่ข้างในน่าจะปั่นป่วนวุ่นวายที่สุดเช่นกัน
– Kunal Kapoor ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้ช่วย Mehra ในหนังเรื่อง Aks (2001) และแสดงตัวประกอบ Meenaxi: A Tale of Three Cities (2004), รับบท Aslam Khan เป็นมุสลิมหนึ่งเดียวในหนังที่มีปัญหาเรื่องศาสนากับ Pandey ครอบครัวก็ต่อต้านที่เขามีเพื่อนศาสนาอื่น แต่แล้วยังไง คนชาติเดียวกันเป็นเพื่อนไม่ได้หรือ?, บทของ Kapoor ถือว่าน้อยสุดในกลุ่ม ไม่ค่อยกระทำอะไรบ้าๆบอๆด้วย (เหล้าก็ไม่กิน) ถือว่าเป็นคนสุภาพสุดก็ยังได้ (คงเพราะชีวิตเจอแต่คนพยายามเสี้ยมสอนยุยงให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จิตใจจึงต่อต้าน นิสัยเลยเป็นคนสุภาพอ่อนโยน ไม่ชอบมีเรื่องกับใคร)
– Sharman Joshi นักแสดงที่มีภาพลักษณ์กวนตีนที่สุดในกลุ่ม หลายคนคงจดจำเขาได้จากการเป็น หนึ่งในสามสหาย 3 Idiots (2009), รับบทหนุ่มขี้เมา Sukhi Ram ที่ยังเวอร์จิ้นอยู่ ถึงจะบอกว่าขี้เมาแต่กินเหล้าไม่เคยชนะ DJ คงเพราะความเมานี่แหละทำให้เวลาคิดพูดอะไรออกมาก็จะตรงๆ จากใจจริงไม่มีปิดกั้น รักใครก็บอกรัก เกลียดใครก็บอกเกลียด, ภาพลักษณ์ของ Joshi เหมาะกับบท Comedy ตัวตลกที่สุดแล้ว แต่เพราะเวลาส่วนใหญ่ในหนังพี่แกมัวแต่เมา เลยไม่ดูค่อยตลกเท่าไหร่
– Soha Ali Khan นักแสดงสาวสวยเข้ม ที่ไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตาเท่าไหร่, รับบท Sonia เพื่อนสนิทของ Sue McKinley และเป็นคนรักของ Ajay Rathod ช่วงแรกมีความร่าเริงสดใสสมวัย ตอนถูกขอแต่งงานก็ยิ้มร่า พอสามีจากไปก็อมทุกข์ต้องการแก้แค้น, การแสดงไม่ได้โดดเด่นอะไรมาก แต่ก็ถือว่ามีภาพลักษณ์ของสาวแกร่ง นักเคลื่อนไหวต่อสู้
– Alice Patten นักแสดงสัญชาติอังกฤษ รับบท Sue McKinley นักข่าวสาวที่ถูกดองโปรเจค ตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง เดินทางสู่อินเดียเพื่อถ่ายทำหนังสารคดีเกี่ยวกับนักสู้เพื่ออิสระภาพ (Freedom Fighter) การได้พบกับเพื่อนๆทั้ง 6 เปิดโลกทัศน์ของเธอ ว่าเรื่องราวลักษณะนี้ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ยังคงเกิดขึ้นมีอยู่ร่ำไป
ถ่ายภาพโดย Binod Pradhan ตากล้องยอดฝีมือที่มีผลงานดังอย่าง 1942 A Love Story (1994), Mission Kashmir (2000), Devdas (2002), Munna Bhai M.B.B.S. (2003) ฯ งานภาพของหนังถือว่ามี Visual Style ที่โดดเด่นแตกต่างมาก (คล้ายๆกับหนังของ Wong Kar-Wai) ส่วนใหญ่ใช้กล้อง Hand Held ทำให้มีการเคลื่อนไหว เอนเอียงส่ายไปมาได้ดั่งใจ
แต่ผมไม่ค่อยชอบ Visual Style แบบนี้เท่าไหร่ มันเหมือนคนเมากินเหล้าที่กำลังมึนๆ เดินส่ายไปส่ายมา เดี๋ยวโคลงซ้ายเดี๋ยวโคลงขวา คือมันมีนัยยะเหตุผลที่ต้องถ่ายทำแบบนี้อยู่นะครับ เพราะต้องการนำเสนอความผิดเพี้ยน บิดเบี้ยวของโลก ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ยังคงดื่มด่ำ จมอยู่ในสิ่งคล้ายๆกัน คอรัปชั่น อคติ ทัศนคติ อุดมการณ์ที่แตกต่าง ฯ
ในฉากที่มีความวุ่นวายสับสนอลม่าน กล้องจะมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว แต่ภาพเหมือนจะกระตุกไปมาเป็นจังหวะไม่ต่อเนื่อง ทำให้เราไม่ค่อยเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยละเอียดนัก (ใครเคยดูหนังเก่าๆของ Wong Kar-Wai จะจดจำงานภาพสไตล์นี้ได้ มีนัยยะถึงภาพความทรงจำที่ไม่ประติดประต่อ มันจะกระโดดข้ามไปมาแบบนี้ เห็นชัดเฉพาะสิ่งที่อยากจดจำเท่านั้น) การนำเทคนิคนี้มาใช้ ถือว่าช่วยลดความรุนแรงจากหนังได้มาก แต่มันทำให้ผู้ชมมักดูไม่รู้เรื่อง (ผมก็คนหนึ่งที่ไม่ชอบวิธีการนี้เท่าไหร่)
สำหรับฉากที่เป็นภาพจากอดีต หรือฟุตเทจจากการถ่ายทำภาพยนตร์ หนังใช้โทนภาพ Sepia สีน้ำตาลเข้ม (น่าจะปรับแต่งในช่วง Post-Production) ให้ความรู้สึกคล้ายกับกระดาษเก่าๆของสมุดจดบันทึก … แต่ผมว่าความตั้งใจของหนังไม่ใช่ Sepia นี้นะครับ น่าจะเป็นสีเหลือง ตามชื่อหนังมากกว่า
ตัดต่อโดย P. S. Bharathi, ขณะที่งานภาพมีความสับสนอลม่าน แต่ส่วนที่ถือว่าโดดเด่นสุดของหนังคือการตัดต่อ ที่ท้าทายความเข้าใจของผู้ชมเป็นอย่างมาก
หนังเริ่มต้นเล่าเรื่องจากตัวละคร Sue McKinley ที่ได้อ่านไดอารีของเจ้าหน้าที่อังกฤษคนหนึ่งเมื่อกว่า 100 ปีก่อน บันทึกเรื่องราวของกลุ่มนักต่อสู้อิสระอินเดีย ที่มีความแตกต่าง ไม่เคยพบเจอที่ไหนมาก่อนในโลก เธอเกิดความสนใจในเรื่องราวนี้ อยากเรียนรู้ส่งต่อความเข้าใจให้คนทั่วโลกแต่… ใครกันจะมาสนใจประวัติศาสตร์อินเดีย, มุมมองของ McKinley เปรียบได้กับชาวต่างชาติอย่างเราๆ ที่มองเข้าไปในอินเดีย อยากที่จะดึงนำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ออกมาเผยแพร่ แต่ชาวอินเดียเอง ก็ใช่ว่าจะสนใจเรื่องพรรค์นี้เหมือนกัน
เมื่อ McKinley เดินทางถึงอินเดีย เริ่มทำการคัดเลือกนักแสดง Audition หนังใช้การตัดต่อแบบเปลี่ยนหน้าคนไปเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว เพื่อเร่งความเร็วค้นหาคนที่ใช้ แต่ใช่ว่าจะหาพบเจอใครที่น่าสนใจ ฉากนี้มีนัยยะถึง’คนส่วนใหญ่’ของอินเดีย อยากที่จะรู้เห็น แต่ไม่มีใครอยากเป็นอยากทำ มีรูปลักษณ์ตัวตนที่ใกล้เคียง แต่ใช่ว่าจิตวิญญาณจะเป็นดั่งที่วาดฝันไว้
หนังทั้งเรื่องจะมีการแทรกภาพของอดีต หรือจะมองว่าเป็นฟุจเทจสารคดีที่ถ่ายทำก็ได้ เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งมักจะสะท้อนกับเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน, บางครั้งตัดสลับกันทีละเรื่อง, บางครั้งช็อตต่อช็อต และครั้งหนึ่งทั้งสองจากอดีตและปัจจุบันในช็อตเดียวกัน
เพลงประกอบโดย A. R. Rahman คำร้องโดย Prasoon Joshi กับ Blaaze, หนังไม่ได้มีลักษณะร้องเล่นเต้นตามธรรมเนียม Bollywood ทั่วไป บทเพลงมีลักษณะเสริมแต่งสไตล์ สร้างสีสันให้เข้ากับ Visual Style ของหนัง ใช้เพื่อเร่งความเร็ว กระชับรวบรัดเหตุการณ์ ประมวลผลสรุปสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ถือเป็นจังหวะพักหายใจของหนังด้วยนะครับ
บทเพลง Rang De Basanti ขับร้องโดย Daler Mehndi, K. S. Chithra ผมถือว่าบทเพลงนี้สามารถใช้อธิบายลักษณะนิสัย อุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ พฤติกรรมของสมาชิกแก๊งค์ทั้ง 7 ได้อย่างเหมาะเจาะที่สุด
เช่นกันกับบทเพลงรางวัลของหนัง Rubaroo ขับร้องโดย A. R. Rahman กับ Naresh Iyer จะได้ยินช่วงท้ายของหนัง, กับคนทั่วไปที่เพิ่งเคยได้ยิน คงรู้สึกบทเพลงนี้ชิลๆ กวนๆ ฟังเพลิดเพลิน รื่นหู แต่กับคนที่รับชมหนังเรื่องนี้แล้ว จะรู้สึกปวดร้าวในใจเล็กๆ เพราะโลกความจริงไม่ได้สดใสเหมือนเพลงนี้เลย
ประโยคแรกของเพลง aye saala แปลแบบสุภาพๆว่า Dude แต่ซับที่ผมดูแปลว่า Hey, you rascal!
ผมนำเฉพาะเพลงมาให้ฟังนะครับ จะได้ไม่เป็นการสปอยหนัง
ไม่ใช่กับแค่คนอินเดียนะครับ ที่ถ้าไม่ได้พบเจออะไรเข้ากับตัวเอง ก็มักจะเพิกเฉยไม่สนใจ เรื่องราวของหนังนี้เป็นสิ่งพบเห็นได้ทั่วทุกมุมโลก ร่วมถึงประเทศไทยเองด้วย ยุคสมัยนี้โชคดีที่มีอินเตอร์เน็ต ทำให้เรื่องราวอะไรหลายๆอย่างได้รับการค้นพบ ตรวจสอบอย่างรวดเร็ว (เช่น โดยนักสืบพันทิป) กับสมัยก่อนที่การสื่อสารไม่ได้เจริญรุดหน้าเท่านี้ ความคับข้องใจที่เกิดขึ้นกับบุคคล มักยังขาดความกล้าที่จะคิดพูดทำการใดๆ ใครก็ตามสามารถแสดงความรู้สึก กระทำออกมาสู่สาธารณะ เปรียบได้ราวกับ’ฮีโร่’ วีรบุรุษที่ได้ไขกระจ่างความจริง เปิดโลกทัศน์ให้รับรู้ ก็เหมือนพวกเขาทั้ง 5 ที่ความตายได้สร้างสิ่งแตกต่างให้เกิดขึ้นกับประเทศ สั่นสะท้านกึกก้องไปทั่วอินเดีย
ปรากฎการณ์ ‘RDB effect’ (Rang De Basanti Effect) นักวิชาการของอินเดียได้นิยามขึ้นหนึ่งปีหลังหนังฉาย จากการที่ใครก็ตามได้รับชมหนังแล้วลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง แล้วปรากฎเห็นผลเด่นชัด ไม่ใช่แค่คิดเพ้อวาดฝันแล้วนอนอยู่บ้านเฉยๆ, นี่ถือว่าส่งผลกระทบต่อระบบสังคม การปกครองในอินเดียอย่างมาก คนรุ่นใหม่เริ่มเรียนรู้ที่จะคิดเห็นต่าง ถกเถียงความเป็นไปได้ในอนาคตของประเทศ ทำอย่างไรให้ปลอดจากภัยคอรัปชั่น และพวกเราควรทำอะไรเพื่อให้ประเทศชาติมุ่งสู่งความเจริญที่ยิ่งใหญ่
แต่เอาจริงๆหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้สั่นสะเทือนอะไรพื้นฐานของระบบ รัฐบาลอินเดีย หรือส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก เป็นดั่งก้อนหินที่ตกในมหาสมุทรกระเพื่อมอยู่สักพักแล้วก็เงียบหายไป คนเลวยังคงอยู่ คอรัปชั่นก็มิได้หายไป น่าเศร้าใจนัก ไม่ผิดจากสิ่งที่พวกเขาถกกันในหนังเลย
นี่สะท้อนถึงอิทธิพลของภาพยนตร์ในยุคสมัยนี้ลดลงจากแต่ก่อนอย่างมาก คงไม่มีอีกแล้วดูหนังจบประชาชนออกมาปิดกั้นถนน เพราะคิดว่ารัฐบาลเป็นผู้ชั่วร้ายแบบ Battleship Potemkin (1925) กับหนังเรื่องนี้ เมื่อเวลาผ่านไปปีกว่าๆ กระแสทุกสิ่งอย่างค่อยๆเงียบลงไป ผู้คนหลงลืม เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นผ่านไปแล้วในอดีต คนยุคสมัยใหม่ใช่ว่าจะให้ความสนใจเห็นความสำคัญ
แล้วการตายของพวกเขามันคุ้มเหรอ? ผมชอบคำพูดของ DJ ในประโยคที่ว่า “The only difference will be the style of your ending.” คุ้มไม่คุ้ม ไม่มีใครบอกได้ แต่การตายแบบมีสไตล์ ในอุดมการณ์ความเชื่อของตนเอง ไม่มีวันที่จะเสียเปล่า
ไม่ต้องสนใจใครอื่นนะครับ ถ้าคุณมีอุดมการณ์เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อศาสนา เพื่อชาติ ที่แน่วแน่มั่นคง การได้สละชีพเพื่ออุดมการณ์ ถือเป็นบารมีความสำเร็จสูงสุดในชีวิตจริงๆ ดังอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ก็เลือกบำเพ็ญบารมี/อุดมการณ์ มีค่าเหนือกว่าชีวิตนับครั้งไม่ถ้วน ยิ่งใหญ่สุดมีถึงทศชาติ
บุคคลใดที่สามารถตายเพื่ออุดมการณ์ได้ ควรค่าอย่างยิ่งที่จะได้รับการยกย่องสูงสุด
เกร็ด: ชื่อหนัง Rang De Basanti มาจากบทเพลง Mera rang de basanti chola เป็นแนว Patriotism แต่งโดย Ram Prasad Bismil นักเคลื่อนไหว Freedom Fighter ที่ชาวอินเดียให้การเคารพยกย่องเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะตอนที่เขากำลังถูกประหารชีวิต ได้ฮัมร้องเพลงนี้อย่างยิ้มแย้มไม่กลัวตาย รู้ว่าถึงตัวกำลังจะจากไป แต่อุดมการณ์จะคงอยู่ชั่วนิรันดร์
ด้วยทุนสร้าง ₹25 Crore ทำเงินรวมทั่วโลกประมาณ ₹97.9 Crore (=$21 ล้านเหรียญ) จัดว่า Hit, หนังคว้า 4 รางวัล National Film Award ประกอบด้วย
– Best Popular Film Providing Wholesome Entertainment
– Best Editing
– Best Audiography
– Best Male Playback Singer บทเพลง Rubaroo
ส่วน Filmfare Award เข้าชิง 12 จาก 10 สาขา กวาดมาได้ 5 รางวัล
– Best Film ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actor – Critics (Aamir Khan) ** ได้รางวัล
– Best Actor (Aamir Khan)
– Best Supporting Actor (Kunal Kapoor)
– Best Supporting Actor (Siddharth)
– Best Supporting Actress (Soha Ali Khan)
– Best Supporting Actress (Kiron Kher)
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Music ** ได้รางวัล
– Best Lyrics บทเพลง Roobaroo
– Best Sound Design
และเป็นตัวแทนของประเทศอินเดีย ส่งชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film น่าเสียดายไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ
ส่วนตัวแค่ชื่นชอบประทับใจหนัง ในแนวคิด อุดมการณ์ และการแสดงของทุกคนเลย, ไม่ค่อยชอบความ Stylish ที่มากเกินไปเสียหน่อย ให้ความรู้สึกเหมือนดูหนังเกรด B เสียมากกว่า
ถึงหนังจะมีเพลงฮิต แต่ไม่ใช่ร้องเล่นเต้นตามแบบฉบับทั่วไปของหนัง Bollywood, แนะนำกับคอหนังแนวดราม่า, สอดแทรกอุดมการณ์ ปรัชญาชีวิต, การต่อสู้กับคอรัปชั่น กลุ่มปฏิวัติ/Freedom Fighter
แฟนๆนักแสดงอย่าง Aamir Khan, Siddharth Narayan, Atul Kulkarni, Sharman Joshi, Soha Ali Khan ฯ หรือชื่นชอบเพลงประกอบของ A. R. Rahman ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับนิสัยเกเรเสเพล และความคอรัปชั่น
Leave a Reply