Rashômon (1950) : Akira Kurosawa ♠♠♠♠♠
(20/9/2020) ปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa สรรค์สร้าง Rashômon (1950) เพื่อเป็นประตูเปิดสู่โลกยุคสมัยใหม่ (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ที่มนุษย์ต่างมีความละโมบโลภ เห็นแก่ตัว หลงตนเอง สามารถพูดเล่าเรื่องราวในมุมมองต้องการ ไม่สนถูกผิดชอบชั่วดีอีกต่อไป, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Rashômon (1950) คือภาพยนตร์ที่นักวิจารณ์ทุกๆสำนัก ต้องยกย่องให้เป็นหนึ่งใน ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล’ แต่อาจไม่ใช่สำหรับคอหนังทั่วๆไปจะสามารถรับชมแล้วบังเกิดความชื่นชอบเข้าใจ นั่นเพราะเทคนิควิธีการดำเนินเรื่องราวมีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม หาคำตอบด้วยตนเองหลังดูหนังจบอย่างน้อยรอบหนึ่งเท่านั้น
หนึ่งในคำถามยอดฮิตของภาพยนตร์เรื่องนี้ มนุษย์โกหกไปเพื่ออะไร?
- คนตัดฟืน ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นติดตามมาถ้าต้องเล่าเรื่องทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อตนเองแอบลักขโมยสิ่งข้าวของมีค่าบางอย่าง
- มหาโจร Tajōmaru ต้องการสร้างภาพให้ตนเองมีความยิ่งใหญ่เกรียงไกร เพื่อปกปิดตัวตนธาตุแท้จริงที่โคตรอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา
- ภรรยาซามูไร พยายามปกปิดความสำส่อน ร่านราคะ โหยหาบุรุษผู้มีความเข้มแข็งแกร่ง แต่กลับต้องผิดหวังต่อทั้งสามีและมหาโจรที่ต่างอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา เลยเสแสร้งร่ำร้องไห้ เล่นละครตบตา แบบนี้ทำเหมือนว่าฉันเข่นฆาตกรรมชายคนรัก (แต่อาจเพราะมีความละอายใจอยู่เล็กๆ เธอจึงไม่สามารถพูดบอกออกมาตรงๆ)
- ซามูไร ไม่ต้องการสูญเสียเกียรติ ศักดิ์ศรี ความเป็นลูกผู้ชาย ปฏิเสธยินยอมรับว่าถูกเข่นฆ่าตายโดยโจรกระจอก หรือภรรยานอกใจตนเอง เลยตัดสินใจใช้ข้ออ้างเข่นฆ่าตัวตายอย่างภาคภูมิเสียดีกว่า
ทั้งสี่ตัวละครต่างใช้ข้ออ้าง ‘เหตุผลส่วนตัว’ เพื่อปกปิดบังข้อเท็จจริง สร้างภาพให้ดูดี มีเกียรติ สมศักดิ์ศรี ยิ่งใหญ่เกรียงไกร และตนเองไม่ได้สูญเสียผลประโยชน์ใดๆจากเหตุการณ์ดังกล่าว
นี่เป็นเพียงน้ำย่อยของ Rashômon (1950) ที่ผู้ชมสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ ถกเถียง ตั้งคำถาม-หาคำตอบด้วยมุมมองตนเอง ไม่มีถูก-ผิด ขอเพียงได้ใช้สติปัญญา ก็น่าจะพบเห็นความงดงาม ทรงคุณค่า อมตะเหนือกาลเวลา
และความยิ่งใหญ่ของ Rashômon (1950) ยังถือได้ว่าเป็นประตูเปิดสู่วงการภาพยนตร์เอเชีย/โลกตะวันออก เรื่องแรกสู่สายตาชาวตะวันตกแล้วประสบความสำเร็จล้นหลาม เทศกาลหนังเมือง Venice มอบรางวัล Golden Lion และ Academy of Motion Picture Arts and Sciences ให้เกียรติคุณ Academy Honorary Award
ในอดีตผมไม่ค่อยชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะมันดูยาก ซับซ้อน ขี้เกียจวิเคราะห์ แต่ประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาถึงจุดๆหนึ่งทำให้สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจ พบเห็นความงดงามทางศิลปะ ทรงคุณค่าต่อชีวิต ปัจจุบันก็คลุ้มคลั่งไคล้โคตรๆ และตระหนักว่ายังมีอะไรๆซ่อนเร้นอยู่อีกมากมาย นี่แหละเรียกว่า มาสเตอร์พีซ อย่างแท้จริง!
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จะดูยากโคตรๆ คอหนังทั่วไปคงบ่นขรม แต่ผมอยากให้ลองครุ่นคิดทำความเข้าใจสาสน์สาระหลังจากรับชม ทำไมมนุษย์ถึงโกหก? เพราะอะไร? จำเป็นไหม? เป็นคุณจะยินยอมรับได้หรือเปล่า?
แต่เราต้องยินยอมรับความจริงที่ว่า โลกยุคสมัยนี้การโกหกเป็นพื้นฐานจำเป็นที่มนุษย์ทั่วไปพึงต้องมี เพื่อให้สามารถดำรงชีพรอดในสังคม ซึ่งผมขอแนะนำให้คุณพยายามเตือนสติตนเอง ตระหนักให้ได้ทุกครั้งเมื่อต้องกระทำการลวงล่อหลอกใคร สร้างบรรทัดฐาน/สามัญสำนึกผิดชอบชั่วดีไว้ภายใน ตายไปลงนรกจักได้โทษสถานเบากว่าพวกต้มตุ๋นหลอกลวงมืออาชีพ
จัดเรต 13+ กับความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
คำโปรย | Rashômon คือประตูสู่โลกยุคสมัยใหม่ ที่ผู้กำกับ Akira Kurosawa แสดงความคิดเห็นไว้ว่าไม่ต่างจากขุมนรก
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | คลุ้มคลั่งไคล้
Rashômon (1950)
(28/1/2016) คนเราโกหกเพื่ออะไร? แม้ Rashômon จะไม่มีคำตอบให้ แต่หนังนำเสนอมุมมองการโกหกของแต่ละคนว่ามีที่มาที่ไป เช่นไร และเพราะเหตุใด, โคตรผลงานจากปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa มีการเล่าเรื่องโดดเด่นสมบูรณ์แบบที่สุดในโลก แต่เชื่อว่าหลายคนที่เพิ่งเคยรับชมครั้งแรกคงส่ายหัวอะไรว่ะ! จนกว่าจะมีโอกาสเข้าใจแนวคิดอะไรหลายๆอย่าง ถึงมีแนวโน้นรับรู้ได้ว่าหนังเรื่องนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน
ผมเองดูครั้งแรกไม่ชอบ สองสามก็เฉยๆ รับชมอุโมงค์ผาเมืองรู้สึกโอเค หวนกลับมาอีกครั้งก็เฉยๆ นี่เป็นหนังที่กี่ครั้งๆก็ยังไม่เคยชอบเลย หาความสนุกไม่ได้สักนิด ถึงโดยส่วนตัวจะเข้าใจหลายสิ่งอย่างแล้วก็ตาม แต่ภาพรวมทำให้ผมหาวแล้วหาวอีก เป็นชั่วโมงครึ่งที่น่าหลับมากๆ
เพราะอะไรกัน ทำไมคนส่วนมากถึงไม่ชอบหนังเรื่องนี้? คำตอบคือ เพราะหนังมันย่ำอยู่กับที่ โดยปกติทั่วไป ภาพยนตร์มักมีการดำเนินเล่าเรื่องไปข้างหน้า หรือบางทีย้อนหลัง หรือบางทีสลับไปมา แต่กับเฉพาะ Rashômon มันคือการวนซ้ำเหตุการณ์เดิม ฉายซ้ำถึง 4 ครั้ง แม้จะต่างมุมมอง แต่เรื่องราวไม่เดินหน้าไปทางไหนเลย ความอดทนอดกลั้นของคนต่อสิ่งที่ต้องทนดูซ้ำๆ มันเลยทำให้เบื่อหน่อยและรู้สึกขัดใจเอามากๆ ถึงจะตั้งใจดูสักแค่ไหน แต่ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าการดำเนินเรื่องเป็นแบบนี้คงหงุดหงิดสุดๆ
เอาจริงๆหนังไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไรเลยนะ มีการเล่าเรื่องที่ง่ายตรงไปตรงมามากๆ แต่คนทั่วไปมักไม่สามารถทำความเข้าใจได้ คงจะมีส่วนน้อยจริงๆที่ทึ่งในการนำเสนอแบบนี้ ถ้าเพียงท่านกลับมาคิดวิเคราะห์ตีความ ก็จักสามารถเข้าใจได้ว่าหนังต้องการสื่อสื่ออะไร แต่จะชอบหรือไม่ ก็แล้วแต่นะครับ ผมดูมาหลายรอบหลายเวอร์ชั่น ก็ยังไม่รู้สึกถูกจริตเลยสักนิดเลย
Rashômon เป็นภาพยนตร์ที่สร้างชื่อให้ Akira Kurosawa โด่งดังในระดับโลกเลยก็ว่าได้
– คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนัง Venice Film Festival
– Academy Honorary Award: Best Foreign Language Film
– ในปัจจุบัน หนังติดอันดับ 9 ของนิตยสาร Sight & Sound
ตอนหนังออกฉายนักวิจารณ์ที่ญี่ปุ่นก็ส่ายหน้า คงด้วยเพราะเหตุผลที่ผมเกริ่นไปตั้งแต่ต้น ถึงกับบอกว่า ‘นี่ไม่ใช่หนังที่เป็นตัวแทนอุตสาหกรรมหนังของญี่ปุ่น’ แต่เมื่อ Oscar มอบรางวัลให้เพราะหนังได้ฉายในอเมริกาในปีนั้น (สมัยก่อนหนังภาษาต่างประเทศไม่ต้องส่งในนามประเทศ เพียงแต่ได้เข้าฉายในอเมริกาก็จัดว่าเป็นหนังต่างประเทศหมด) ก็พลิกลิ้นให้การยกย่องเชิดชูเกินหน้าเกินตา
Rashômon เป็นเรื่องดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นชื่อ Rashômon กับ In a Grove แต่งโดย Ryūnosuke Akutagawa ดัดแปลงโดย Akira Kurosawa กับ Shinobu Hashimoto มีการดำเนินเรื่องแค่เพียง 3 สถานที่เท่านั้น คือ ประตู Rashomon, ในศาล และในป่า ซึ่งประตู Rashomon และในศาลนั้นมีการเซ็ตฉากขึ้นมา ส่วนฉากในป่าถ่ายทำในสถานที่จริง ถือเป็นหนังที่ใช้สถานที่ถ่ายทำน้อยมากๆ
นำแสดงโดย Toshiro Mifune นี่ไม่ใช่เรื่องแรกที่ทั้งคู่ทำหนังด้วยกันนะครับ นี่น่าจะเป็นเรื่องที่ 3 แล้ว ตัวละครของ Mifune ดูดีๆมันก็คล้ายตัวละครของเขาใน Seven Samurai เพียงแต่เปลี่ยน Bandit เป็น Samurai เท่านั้น ถึงกระนั้นการแสดงของ Mifune ในหนังเรื่องนี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 แบบได้ชัดเจนเลย เช่นเดียวกับอีกสองตัวละครของ Machiko Kyō เล่นเป็นภรรยา และ Masayuki Mori เล่นเป็นสามี สามตัวละครนี้ถือว่าเป็นตัวดำเนินเรื่อง ทุกรอบของการวนซ้ำ คาแรคเตอร์ นิสัยของตัวละครจะเปลี่ยนไปไม่ซ้ำเดิม ในหนังยังมีตัวละครอีก 3 ตัว ที่ใช้เป็นผู้เล่าเรื่อง เป็นช่างตัดไม้, หลวงจีน, คนที่มาอาศัยหลบฝน และตัวประกอบอีกนิดหน่อย คนจับโจร, คนทรง และเด็กทารก รวมแล้วหนังเรื่องนี้ใช้ตัวละคร 9 ตัว + 1 ม้าเท่านั้น
Kazuo Miyagawa ผู้กำกับกล้องของหนังเรื่องนี้ มีการใช้เทคนิคการถ่ายทำที่เจ๋งมากๆ ฉากที่ผมชอบมากๆคือการเคลื่อนกล้องในขณะที่ตัวละครทั้ง 3 ประจันหน้ากันเป็นสามเหลี่ยม ภาพถ่ายจะให้เราเห็น 2 ตัวละครยืนเหลื่อมกัน และมีการตัดต่อวนตามเข็ม (หรือทวนเข็มก็ไม่รู้เหมือนกัน) จุดนี้ต้องชื่นชมการตัดต่อด้วยซึ่ง Akira Kurosawa ตัดต่อเองกับมือ มีอีกหลายฉากที่มีการถ่ายทำที่ผมชอบมากๆ คือการถ่ายภาพมุมเงยขึ้นมองดวงอาทิตย์ เราจะเห็นแสงแดดส่องผ่านใบไม้ของต้นไม้ที่สูงใหญ่ หรือฉาก Closs-Up ที่เราจะเห็นเหงื่อเม็ดเป้งๆจากตัวละคร ฉากใน rashomon ที่ฝนตก ก็ตกแบบจริงจัง รู้สึกได้เลยว่าฝนตกหนัก ฉากในศาลที่ถ่ายมีการตั้งกล้องไว้เฉยๆ ผู้ให้การจะนั่งอยู่ข้างหน้า หลวงจีนกับคนตัดไม้นั่งอยู่ข้างหลังไกลๆ ฉากนี้ทำเหมือนให้เรานั่งเป็นผู้ตัดสินอยู่หน้าตัวละครทั้งหลาย
การตัดต่อนั้น หนังยาวแค่ 88 นาที แต่มีคนนับว่าหนังใช้การตัดถึง 407 ครั้ง ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ หนังมีการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไวมากๆ แต่กระนั้นน้อยคนจะสังเกตว่าหนังมีการตัดต่อมากมายขนาดนี้ แสดงถึงความต่อเนื่องในการตัดต่อที่เนียนมากๆจนคนดูไม่รู้สึกเลย
เพลงประกอบ Fumio Hayasaka เขาคือคนที่ทำเพลงให้ Seven Samurai ด้วย นั่นการันตีความเพลงประกอบของหนังเรื่องนี้ต้องยอดเยี่ยมแน่ๆ นี่เป็นองค์ประกอบที่ผมชอบที่สุดใน Rashomon เลยนะครับ เพลงเพราะมากๆ ทุกเพลงเป็นเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่น 4 ฉาก 3 ตัวละคร 4 เพลงประกอบ แต่ละฉากให้อารมณ์ต่างกัน เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงนำก็ต่างกันด้วย ช่วงเพลงที่ผมชอบที่สุดก็ตอนคนตัดไม้เดินในป่า ประมาณนาทีกว่าๆนั้น มีการตัดต่อสลับกันระหว่างการเดินผ่านป่า แสงอาทิตย์ เพลงประกอบเริ่มจากเสียงกลองสร้างอารมณ์ จากนั้นก็เสียงเครื่องเป่า มันเพราะสุดๆ อารมณ์ตอนนั้นคือฉงนๆ มันจะมีอะไรเกิดขึ้นหนอ… และจังหวะของเพลงที่เปะมากๆ พอตัวละครหยุด เพลงก็จะมีเสียงบางอย่างแล้วหยุดตามตัวละคร พอเดินต่อเพลงขึ้น พอหยุดเสียงเพลงก็หยุด ช่วงนี้สุดยอดเลยละครับ
Kurosawa บอกว่า เขาสร้างหนังเรื่องนี้โดยพยายามให้มันเป็นหนังเงียบ ถ้าสังเกตดีๆเราจะไม่ได้ยินเสียงธรรมชาติในหนังเลย จะได้ยินแค่เสียงพูดและเพลงประกอบเท่านั้น เพราะเขารู้สึกว่าการบันทึกเสียงสมัยนั้น ยังขาดความสมจริง อย่างฉากในธรรมชาติ เสียงธรรมชาติที่เกิดขึ้นมักจะไม่ตรงกับภาพ เขาเลยเลือกที่จะไม่ใช้มันเลย (คิดว่าจุดนี้คงล้อกับ Yasujirō Ozu ที่ชอบใส่เสียงนก เสียงธรรมชาติเข้ามา แต่ไม่เห็นนกสักตัวในหนัง) จะมีแค่เสียงฝนตกที่ใส่เข้ามาในหนังเท่านั้นที่เป็นเสียงธรรมชาติ ที่ต้องใส่เข้ามาเพราะมันเป็นฉากฝน จะไม่ให้ได้ยินเสียงฝนตกได้ยังไง Kurosawa บอกว่าเขาชอบหนังเงียบมาก สมัยนั้นหนังเงียบแทบจะไม่มีใครสร้างกันแล้ว เขาสร้าง Rashomon แบบนี้ก็เพื่อนำเสนอความงดงามของหนังเงียบออกมา ส่วนตัวผมก็รู้สึกนะครับว่าหนังเรื่องนี้ก็มีส่วนคล้ายเป็นหนังเงียบพอสมควร เพียงแต่ใช้การบรรยายเป็นคำพูดที่ตัวละครพูดออกมา
กลับมาที่คำถามที่ผมตั้งไว้ตั้งแต่แรก “คนเราโกหกทำไม” หนังเรื่องนี้ไม่มีคำตอบให้เลยนะครับ แต่เชื่อว่าหลายคนคงเชื่อว่าข้อสรุปของเหตุการณ์นี้คือเรื่องราวที่คนตัดไม้เล่า แต่มันก็มีเหตุการณ์ที่ผมไม่เชื่อร้อยเปอร์เซนต์ว่านั้นเป็นเรื่องเล่าที่ถูกต้อง พยาน 3 ปาก เล่า 3 เหตุการณ์ในมุมมองของตน ด้วยการอ้างความผิดว่ามีสาเหตุมาจากตัวเองทั้งนั้น เพื่ออะไรกัน! ถ้าคนมองว่าเรื่องคนตัดไม้เล่าว่าเป็นความจริง ก็จะมองว่าคนทั้งสามพยายามปกปิดเหตุการณ์แท้จริงที่เกิดขึ้น มองว่ามันเป็นเรื่องที่อัปยศอดสู ไม่อาจแม้แต่จะพูดมันออกมาได้ ตายไปแล้วยังฝังใจไม่ยอมพูดความจริง แต่กับผมที่มองว่าเรื่องของคนตัดไม้ก็มีส่วนไม่จริง การโกหกของคนทั้ง 3 คือการพูดในสิ่งที่เขาคิดและต้องการให้เป็นออกมา โดยเข้าข้างตัวเองมากที่สุด ไม่ได้พูดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โจรพูดถึงตัวเองที่เป็นคนจริง เป็นโจรจริง พูดอะไรทำแบบนั้น หญิงสาวที่รู้สึกผิดหวังต่อโจรและสามี เธอต้องการฆ่าสามี แต่ทำจริงไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง ชายผู้ตาย ไม่ว่าเขาจะตายยังไงมันน่าขายหน้ามากจนขอฆ่าตัวตายเองดีกว่า ส่วนเรื่องของคนตัดไม้สะท้อนภาพที่สามารถอธิบายสาเหตุของคนทั้ง 3 ว่าทำไมถึงต้องพูดโกหก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันแสดงถึงนิสัยที่แท้จริงของแต่ละคน โจรที่ไม่ได้เป็นมหาโจรอย่างที่ใครเข้าใจ ชายคนรักที่เป็นคนขี้ขลาด และหญิงสาวที่เห็นความจริงนี้เลยพูดจาท้าทายทั้งสองในทำนองประชดประชัน สรุปแล้วเหตุการณ์ที่แท้จริงเป็นยังไง ไม่มีใครรู้แน่นอน
หนังนำเสนอออกมาในอีกระดับหนึ่ง คือ ในมุมมองของตัวละครที่เล่าเรื่อง อันประกอบด้วยคนตัดไม้ หลวงจีน และคนที่มาหลบฝน (เรียกว่า lisener) เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ประตูเมือง Rashomon ซึ่งมีสภาพใกล้พังเต็มแก่ ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของ Rashomon ที่เป็นจุดเปลี่ยนระหว่างเมือง คือตัวละครที่ใกล้หมดความเชื่อในมนุษย์ หลวงจีนและคนตัดไม้ที่ไม่เข้าใจว่าพยาน 3 ปากจะโกหกไปทำไม ระหว่างทั้งสองคนหนึ่งอ้างว่ากุมความจริงบางอย่างไว้ คนที่มาหลบฝนเปรียบเหมือนกับคนดูที่มาฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น หลังจากเรื่องเล่าทุกอย่างจบลง ความจริงบางอย่างได้เกิดขึ้น มีอีกตัวละครหนึ่งโผล่ขึ้นมาคือเด็กทารก ที่เป็นตัวแทนของความไม่รู้ ไร้เดียงสา ฤาเด็กคนนี้จะเป็นจุดจบของความเป็นมนุษย์ คนที่มาหลบฝนขโมยเสื้อผ้าที่แม่เด็กทิ้งไว้ให้ คนตัดไม้ด่าทอ แต่ก็โดนแย้งกลับ เพราะความจริงแล้วคนตัดไม้ก็โกหกเรื่องเล่าเหมือนกัน สุดท้ายคนตัดไม้ขอเด็กกลับไปเลี้ยง และหลวงจีนยังคงมีความหวังในมนุษย์อยู่ นี่เป็นข้อสรุปของหนังที่มีต่อคนดู ที่บอกว่ามนุษย์เราถึงจะเลวร้ายแค่ไหน ก็ยังมีความดีบางอย่างที่ให้อภัยได้
ผมไม่แนะนำหนังเรื่องนี้ให้คนทั่วไปดูนะครับ ดูจบคงโดนด่าเละเลยว่าเอาหนังอะไรมาให้ดู แต่กับคนที่ชอบหนังดีๆ ให้ลองทนดูหนังเรื่องนี้ และหาบทความรีวิววิเคราะห์อ่านความเป็นมาเป็นไปดู ไม่แน่คุณอาจจะชอบก็ได้ ตอนผมดูครั้งที่สองสาม เมื่อเราได้เข้าใจว่าหนังเกี่ยวกับอะไรแล้ว เราจะเห็นความสวยงามอื่นๆ การถ่ายภาพ เพลงประกอบที่ไพเราะสุด ไม่ใช่แค่สวยงามแต่ยังมีความหมาย ซ่อนไว้เชิงแนวคิดและสัญลักษณ์ที่น่าสนใจมากๆ ใน Youtube มีนะครับ หาดูได้เลย
คำโปรย : “Rashomon เป็นหนังที่มีการเล่าเรื่องเดียวกัน แบบต่างมุมมองที่ยอดเยี่ยมมากๆ ทั้งงานภาพ ศิลป์ เพลงประกอบ กำกับโดย Akira Kurosawa นำแสดงโดย Toshiro Mifune แต่นี่ไม่ใช่หนังที่ทุกคนจะดูแล้วเข้าใจได้”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : SO-SO
มีเฟสฯ ไม๊ครับ แอดมาหน่อยครับ http://www.facebook.com/djphong ชอบงานวิจารณ์หนังที่เขียนมาก จะได้ติดตามทางเฟสฯ ด้วย!
https://www.facebook.com/raremeatblog/
ผมสร้าง page ไว้แล้วนะครับ เวลามีบทความใหม่ๆ มันคงไปขึ้นหน้า page ด้วย จะได้ตามอ่านได้นะครับ
มีเฟสฯ ไม๊ครับ แอดมาหน่อยครับ http://www.facebook.com/djphong ชอบงานวิจารณ์หนังที่เขียนมาก จะได้ติดตามทางเฟสฯ ด้วย!
https://www.facebook.com/raremeatblog/
ผมสร้าง page ไว้แล้วนะครับ เวลามีบทความใหม่ๆ มันคงไปขึ้นหน้า page ด้วย จะได้ตามอ่านได้นะครับ
[…] Rashômon (1950) : Akira Kurosawa […]
[…] Rashômon (1950) : Akira Kurosawa […]
[…] Rashômon (1950) : Akira Kurosawa ♥♥♥♡ […]
[…] Rashômon (1950) : Akira Kurosawa ♥♥♥♡ […]
เพิ่งดูจบเลยครับ อ่านบทวิจารณ์ของคุณช่วยให้เข้าใจหนังได้เยอะขึ้นเลย ขอบคุณครับ