Raven's End

Raven’s End (1963) Swedish : Bo Widerberg ♥♥♥♥

จับจ้องมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชนบทเล็กๆห่างไกล ศึกษาพฤติกรรม การกระทำ วิถีชีวิต ความคิดและสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ … รับชมหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกเหมือนกำลังนั่งเรียนวิชาสังคมศาสตร์ (Social Science) เขียนบทความนี้ก็ราวกับศึกษาทำการบ้านอยู่

สังคมศาสตร์ (Social Sciences) คือ การศึกษาสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์โดยนำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์การประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย
– มานุษยวิทยา (Anthropology) การศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในทุกแง่ทุกมุม
– เศรษฐศาสตร์ (Economics) การผลิต และการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งในสังคม
– รัฐศาสตร์ (Political sciences) ศึกษาการปกครองในระดับกลุ่มและในระดับประเทศ
– จิตวิทยา (Psychology) จิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์
– สังคมวิทยา (Sociology) วิเคราะห์สังคมมนุษย์และความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม
ฯลฯ

ภาพยนตร์ทุกเรื่องบนโลก ล้วนเป็นการนำเสนอ ‘สังคมศาสตร์’ จากการสังเกตเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม วิถีชีวิต จิตวิทยา การกระทำ พฤติกรรมของมนุษย์ ฯ ผมหยิบยกประเด็นนี้มาพูด เพราะอยากให้เห็นถึงความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของหนัง เหมือนจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่เรื่องราวชีวิตก็ดำเนินไป สิ่งที่หนังนำเสนอออกมา ถือเป็นตัวแทนของการศึกษาสังคมศาสตร์ ได้โดดเด่นชัดที่สุดแล้ว

Bo Gunnar Widerberg (1930 – 1997) นักแสดง ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Swedish เกิดที่ Malmö, Skåne län หนีออกจากบ้านตอนอายุ 17 เขียนตีพิมพ์นิยายตอนอายุ 22 เคยเป็น Columnist เขียนบทความวิจารณ์ลงในหนังสือพิมพ์ Expressen กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกฉายทางโทรทัศน์ Pojken och draken (1962) ฉายโรงภาพยนตร์เรื่องแรก Barnvagnen (1963) ตามมาด้วย Raven’s End (1963) ที่ถูกเชิญไปเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้ไม่ได้รางวัลอะไร แต่ก็ทำให้เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ

ผลงานเด่นเรื่องอื่นๆ อาทิ
– Ådalen 31 (1969) คว้ารางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– The Man on the Roof (1976) คว้ารางวัล Best Film จาก Guldbagge Awards (เทียบได้กับ Oscar ของประเทศสวีเดน)
– All Things Fair (1995) คว้ารางวัล Silver Bear: Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

ตอนปี 1962 ได้เขียนหนังสือ ‘Visions of Swedish Cinema’ แสดงข้อกังขาในผลงานของ Ingmar Bergman ที่พยายามผูกขาดเอกสิทธิ์ แนวทางการสร้างภาพยนตร์ในประเทศสวีเดน กล่าวว่า ‘ไม่ใช่ทุกคนที่จะสนใจประเด็นเรื่องการมีตัวตนของพระเจ้าเป็นสิ่งสลักสำคัญ’

“Neither I nor my friends saw very much in him. We didn’t find the issue of God’s existence that damned important. But it’s safe to say you’d be putting yourself in a bad position if you’re trying to slit the throat of the father figure before your own debut.”

ความสนใจของ Widerberg คือการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์และสังคม หรือที่เรียกว่า Social Sciences (จะเรียกว่า Neorealist ก็ยังได้) ชื่นชอบถ่ายภาพขาว-ดำ จัดแสงธรรมชาติ เรื่องราวมีความเรียบง่ายธรรมดา (มักอ้างอิงจากชีวประวัติของตนเอง), Widerberg เปรียบสไตล์การทำหนังของ Bergman ว่าเป็นแนว Vertical (เส้นตรงดิ่ง มุ่งตรงสู่พระเจ้า) ส่วนตนเองเป็นแนว Horizontal (แนวนอน ราบเรียบคนธรรมดาจับต้องได้)

เห็นว่า Widerberg กับ Bergman ไม่เคยพบเจอหน้ากันเลยนะครับ แม้จะมีเรื่องพาลให้ขัดใจกันขนาดนี้ แต่ Bergman ก็ไม่เคยออกมาตอบโต้ใดๆ แถมยกให้ Raven’s End เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรด นี่เรียกได้ว่า’ศัตรูคือมิตรแท้’ก็ไม่ปาน

เรื่องราวมีพื้นหลังในช่วงทศวรรษ 30s หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 มาประมาณ 15-20 ปี ครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ในชนบทห่างไกลของประเทศสวีเดน ประกอบด้วย
– Anders (รับบทโดย Thommy Berggren) ลูกชายที่โตเป็นหนุ่ม (เกิดปีที่สงครามโลกครั้งนั้นจบสิ้นพอดี) มีความฝันต้องการเป็นนักเขียนนิยาย
– พ่อ (รับบทโดย Keve Hjelm) ด้วยวัย 39 ปี แต่ชีวิตเหมือนผ่านอะไรมามาก ปัจจุบันติดหนี้ขี้เมาบ้าการพัน วันๆไม่ทำอะไร จมดิ่งคลุกตัวอยู่ในความทุกข์เศร้าของตนเอง โทษภรรยาว่าเป็นคนทำให้ทุกอย่างในชีวิตของเขาพัง
– แม่ (รับบทโดย Emy Storm) เธอเป็นคนที่ทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว จากการเป็นแม่บ้านขัดถูพื้นและรับจ้างซักรีด ไม่ได้มีความคาดหวังอะไรต่อชีวิต และไม่รู้จะทนอยู่กับสามีได้นานแค่ไหน

ตัวละครอื่น
– Elsie (รับบทโดย Christina Frambäck) แฟนสาวของ Anders ที่ก็ไร้เป้าหมายเช่นกัน แต่เพราะค่ำคืนหนึ่งปล่อยตัวกายใจยินยอมต่อเขา ทำให้เธอท้อง … ชีวิตจึงต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดขึ้นมาทันที
– Sixten (รับบทโดย Ingvar Hirdwall) เพื่อนสนิทของ Anders เป็นนักฟุตบอลที่มีความฝันต้องการไปค้าแข้งอยู่ Paris ซื้อขนสัตว์จีบสาว และเที่ยวโสเภณี

หนังไม่ได้ต้องการการแสดงที่ยิ่งใหญ่อะไร แค่มีความเป็นธรรมชาติสามัญ กระนั้นต้องชื่นทั้งสามพ่อ-แม่-ลูก สามารถตีบทแตกกระจุย สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละครออกมาได้อย่างลึกล้ำทีเดียว โดยเฉพาะพ่อ เห็นว่า Keve Hjelm คว้ารางวัล Guldbagge Awards: Best Actor มาครองได้เลย

ถ่ายภาพโดย Jan Lindeström ทั้งเรื่องเป็นภาพขาวดำสะท้อนความมืดหม่นในสังคม และแสงจากธรรมชาติสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปได้, ความโดดเด่นคือการจัดวางองค์ประกอบของภาพ ที่มีตำแหน่งลงตัวสวยงามมากๆ หลายครั้งที่สองตัวละครมีใบหน้าปรากฎพร้อมกันในช็อตเดียว คนหนึ่งใกล้อีกคนไกลสนทนากัน คล้ายๆกับหนังของ Bergman แต่มีความลื่นไหลเป็นธรรมชาติกว่า

หนังจะมีช็อตที่ทำให้นักแสดงหันหน้ามองผู้ชม (เป็นภาพ Close-Up) แล้วให้ปลดปล่อยการแสดง ขายความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมักจะเป็นการพรรณาสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของพวกเขาออกมา

ตัดต่อโดย Wic Kjellin ใช้มุมมองของชายหนุ่ม Anders เป็นหลัก แต่การเล่าเรื่องมักกระโดดไปมา ข้ามหลายเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งจะใช้การพูดสนทนาอธิบายแทนให้เห็นภาพ (นี่ประหยัดงบได้เยอะเลยละ)

ส่วนเพลงประกอบ เป็นการนำเอาบทเพลง Trumpet Concerto in D major ประพันธ์โดย Giuseppe Torelli (1658 – 1709) คีตกวีสัญชาติอิตาเลียนในยุค Baroque มาใช้, ลองฟังดูนะครับ หนังนำมาเฉพาะท่อนแรก Allegro ที่มีเป่าทรัมเป็ตเท่านั้น ไม่ได้นำมาทั้งเพลง

การเลือกเพลงประกอบยุค Baroque (เฟื่องฟูช่วงปี ค.ศ. 1600 – 1750) ถือว่ามีความน่าสนใจทีเดียว เพราะนี่เป็นยุคแห่งความตื่นตัวทางภูมิปัญญาและการใช้เหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ (เป็นยุคของการล่าอาณานิคม) ซึ่งสะท้อนกับแนวความสนใจ สังคมศาสตร์ (Social Science) ของผู้กำกับ Bo Widerberg

มีสามเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้นในหนัง, หนึ่งคือนิยายที่ Anders เขียน ส่งไปสำนักพิมพ์ได้รับการตอบกลับ เชิญชวนให้เดินทางขึ้นรถไฟไป Stockholm เพื่อพูดคุยเจรจาต่อรอง เด็กหนุ่มที่ยังไร้เดียงสาอ่อนต่อโลกพอรับรู้ข่าวนี้เกิดความดีใจอย่างเว่อ กระทั่งพ่อแม่ก็ยังเฮฮาปาร์ตี้ไปกันตน ราวกับฝันกำลังกลายเป็นจริง แต่ชีวิตไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เมื่อ Anders กลับมา เขาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกเป็น 2 เวอร์ชั่น หนึ่งคือปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และสองคือความจริงที่ทำให้เขาอ้าปากพูดไม่ออก ตะโกนดังลั่นแต่ไม่มีใครรับฟัง

เหตุการณ์ที่สอง ในค่ำคืนที่สถานการณ์พาไปทำให้ Elsie ตั้งท้อง โดยไม่รู้ตัว Anders จะดีใจหรือเสียใจดี ไม่เพียงเขาไม่พร้อม แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาทางออกได้เลย พ่อไม่สามารถเป็นที่พึ่งพาให้คำปรึกษา แม่ก็…

เหตุการณ์ที่สาม พ่อเล่าเหตุการณ์ที่แม่นอกใจเมื่อครั้น Anders ยังเด็ก พอรับรู้เรื่องนี้ชายหนุ่มรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ฟังคำข้างจากเธอก็เข้าใจเห็นอกเห็นใจ มันคงเป็นความผิดของใครสักคน แต่ก็ทำให้ศรัทธาต่อแม่หมดสิ้นลงไป

มันอาจจะมีประเด็นอื่นอีกในหนัง เล็กๆน้อยๆที่ผมไม่ได้สนใจแล้ว แต่สรุปรวมคือสิ่งต่างๆที่ทำให้ Anders ตัดสินใจบางอย่างในช่วงท้าย … ผมไม่ขอสปอยแล้วกันว่าเขาคิดทำอะไร แต่จะสรุปให้ว่าคือผลลัพท์จากทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะสมจนเกิดความอึดอัดอั้น คับแค้น คันใจ จนต้องหาทางระบายออก มันไม่ใช่เรื่องของจริยธรรม ศีลธรรม จรรยา ความถูกต้อง แต่คือบริบทของสังคมที่บีบบังคับให้เขาแสดงออกเช่นนั้น … ถ้าฉันไม่ทำเช่นนี้ ต่อไปก็คงมีชีวิตล้มเหลวไม่ต่างจากพวกเขา แล้วนี่ฉันจะเกิดมาทำไม?

ผมเรียกการตัดสินใจของ Andres ว่าคือการค้นหาตัวตนของวัยรุ่น เพราะพ่อพึ่งพาไม่ได้ แม่ก็… แฟนสาวยังจะ… แล้วนี่ฉันโตขึ้นจะกลายเป็นอะไร ทำอย่างไรถึงจะมีจุดยืน ตัวตนให้ปรากฎอยู่บนโลกใบนี้

มาครุ่นคิดหาเหตุผลจริงๆที่ทำให้พ่อ-แม่ ของ Andres กลายเป็นแบบนี้ ดูแล้วน่าจะเป็นผลกระทบ/โรคระบาดที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลก(ครั้งที่ 1) ใครๆน่าจะรู้จักในชื่อ Great Depression จะเห็นว่าพวกเขาจะบ่นพึมพึมถึงสงครามอยู่เรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัวอาการของพ่อก็คือติดเหล้าติดการพนัน ทิ้งลูกเมีย ส่วนแม่ตอนแรกน่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่เห็นพ่อเป็นแบบนั้นก็อดรนทนต่อไปไม่ได้ … โทษกันไปมา แท้จริงมันอาจไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลย โลก/สังคม/สงคราม ต่างหากที่ส่งอิทธิพลมาถึง กระทั่งประเทศสวีเดนที่อยู่ไกลเกือบถึงขั้วโลกเหนือก็ยังได้รับผลกระทบเลย!

นักวิจารณ์แทบทั้งนั้นมองว่า หนังเรื่องนี้น่าจะคือชีวประวัติของผู้กำกับ Bo Widerberg แต่พี่แกค้านหัวชนฝาเลย เชื่อได้ไหมเนี่ย? คล้ายกันเสียขนาดนั้น!

ปีที่ออกฉาย ตรงกับหนังเรื่อง The Silence (1963) ของ Ingmar Bergman กระนั้น Raven’s End กลับได้เป็นตัวแทนของประเทศสวีเดน ส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film ติด 5 เรื่องสุดท้ายแต่พ่ายให้กับ Yesterday, Today and Tomorrow (1963) หนังสัญชาติอิตาเลี่ยน ของผู้กำกับ Vittorio De Sica [ปีนั้นถือว่าสายแข็งมาก เพราะยังมี The Umbrellas of Cherbourg และ Woman in the Dunes เข้าชิงในสาขาเดียวกัน]

ตอนที่ผมดูหนังเรื่องนี้จบบอกเลยว่า ไม่ค่อยชื่นชอบประทับใจเท่าไหร่ คือหนังสร้างความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่ายอย่างยิ่ง รับรู้เข้าใจนะว่ามีใจความอย่างไร แต่ไม่ค่อยชอบการนำเสนอเท่าไหร่ ผ่านไปแค่วันเดียวกลับมาย้อนคิดๆดู พาลให้นึกถึงหนังของผู้กำกับ King Vidor มันก็คล้ายๆกันแบบนี้นี่น่า นำเสนอความธรรมดาของสามัญชน ก็เลยเกิดความชื่นชอบขึ้นมานิดนึง แต่ก็น่าจะเท่านั้นแหละ เพราะผมไม่ค่อยชอบหนังดราม่าสะท้อนสังคมตรงไปตรงมาแบบนี้สักเท่าไหร่

แนะนำกับคอหนังดราม่าเครียดๆ สะท้อนชีวิต Neorealist, นักสังคมวิทยา สังคมสงเคราะห์ ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์และสังคม

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมขี้เมาของพ่อ และบรรยากาศของหนัง

TAGLINE | “Raven’s End ของผู้กำกับ Bo Widerberg นำเสนอเพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์และสังคม ได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Top 11 Ingmar Bergman Favorite Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] Raven’s End (1963)  : Bo Widerberg ♥♥♥♥ […]

%d bloggers like this: