Rear Window (1954) : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥♡
(23/6/2024) ทั้งๆรู้ว่าการแอบถ้ำมอง (Voyeurism) ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสม แต่ทว่า James Stewart กลับมิอาจอดกลั้นฝืนทน อยากรู้อยากเห็น เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย หญิงสาวอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ฝั่งตรงข้ามสูญหายตัวไป? มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้นกันแน่?
การถ้ำมอง (Voyeurism) แตกต่างอะไรจากการรับชมภาพยนตร์? James Stewart ขาหักนั่งอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ วันๆไม่รู้จะทำอะไรเลยเหม่อมองนอกหน้าต่าง พบเห็นวิถีชีวิต ผู้คน จุลภาคสังคม ฉันท์ใดฉันท์นั้น ผู้ชมนั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์มืดๆ ก็กำลังจับจ้องมองเรื่องราวชีวิตของใครสักคน
The hero of Alfred Hitchcock’s “Rear Window” is trapped in a wheelchair, and we’re trapped, too–trapped inside his point of view, inside his lack of freedom and his limited options. When he passes his long days and nights by shamelessly maintaining a secret watch on his neighbors, we share his obsession. It’s wrong, we know, to spy on others, but after all, aren’t we always voyeurs when we go to the movies? Here’s a film about a man who does on the screen what we do in the audience — look through a lens at the private lives of strangers.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 และจัดเป็น Great Movie
Rear Window (1954) ได้รับการยกย่องสรรเสริญ จักรวาลแซ่ซ้อง หนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซ (Top 5) ของผกก. Hitchcock นำเสนอพฤติกรรมหมกมุ่น (Obsession) ไม่สามารถหยุดยับยั้งชั่งใจ ทั้งเรื่องการถ้ำมอง รวมถึงสรรค์สร้างภาพยนตร์ ต่อให้ถูกพันธนาการเหนี่ยวรั้ง ผูกมัดด้วยข้อจำกัดมากมาย ก็ยังพยายามครุ่นคิดหาวิธีการ รังสรรผลงานออกมาให้โลกตกตะลึง
สิ่งน่าอึ้งทึ่งในการรับชมครั้งนี้สำหรับผมก็คือ ค้นพบว่าหนังมี ‘reaction shot’ ของ Stewart เยอะมากๆ แทบจะทุกวโรกาส ล้วนต้องแสดงปฏิกิริยาอะไรสักอย่างออกมา จนชวนให้ระลึกนึกถึงทฤษฏีตัดต่อ Kuleshov effect … น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่นำเอาทฤษฎีของ Lev Kuleshov มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วละ!
This is actually the purest expression of a cinematic idea. Pudovkin dealt with this, as you know. In one of his books on the art of montage, he describes an experiment by his teacher, Kuleshov. You see a close-up of the Russian actor Ivan Mosjoukine. This is immediately followed by a shot of a dead baby. Back to Mosioukine again and you read compassion on his face. Then you take away the dead baby and you show a plate of soup, and now, when you go back to Mosjoukine, he looks hungry. Yet, in both cases, they used the same shot of the actor; his face was exactly the same.
In the same way, let’s take a close-up of Stewart looking out of the window at a little dog that’s being lowered in a basket. Back to Stewart, who has a kindly smile. But if in the place of the little dog you show a half-naked girl exercising in front of her open window, and you go back to a smiling Stewart again, this time he’s seen as a dirty old man!
Alfred Hitchcock
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือบทสนทนาอันเฉียบคมคาย ด้วยถ้อยคำเสียดสี แดกดัน ประชดประชัน กลับหน้าเป็นหลัง กงจักรเป็นดอกบัว ซึ่งช่วยสร้างความสรวลเสเฮฮาในสไตล์ ‘British Humour’ พบเจอบ่อยครั้งตอนผกก. Hitchcock ยังทำงานอยู่อังกฤษ แต่มันกลับเลือนหายไปตั้งแต่ย้ายมาอยู่ Hollywood … จริงๆก็มีหลายเรื่องก่อนหน้านี้ที่พยายามแทรกใส่อารมณ์ขันสไตล์ Hitchcock แต่เพิ่งกลับมาโดดเด่นจริงจังในช่วง Peak year นี้เอง!
Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang
ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938), จากนั้นออกเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างผลงาน Rebecca (1940), Shadow of a Doubt (1943), Spellbound (1945), Notorious (1946), Rope (1947), Stranger on a Train (1951) ฯ
การร่วมงานกับ Warner Bros. แม้ไม่ได้ถูกควบคุมครอบงำระดับเดียวกับโปรดิวเซอร์ David O. Selznick แต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นต่าง หลังหมดสัญญา/เสร็จสิ้นภาพยนตร์ Dial M for Murder (1954) เลยอพยพขนย้ายข้าวของมาปักหลัก Paramount Pictures … ตอนร่วมงานกับ Paramount น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งอิสรภาพที่สุดของผกก. Hitchcock แล้วกระมัง
ต้นฉบับของ Rear Window คือเรื่องสั้น It had to be Murder แต่งโดย Cornell Woolrich (1903-68) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Dime Detective Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942
สามปีถัดมา Woolrich ขายลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ให้สตูดิโอโปรดักชั่น B. G. DeSylva Productions ด้วยข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ 28 ปี (นับจากปีที่ขายลิขสิทธิ์ ค.ศ. 1945 ก็จะสิ้นสุดลง ค.ศ. 1973) สิทธิ์การถือครองจะหวนกลับมาเป็นของผู้แต่ง แต่ทว่าหลังจาก B. G. DeSylva Productions ขายต่อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ให้ Paramount Pictures เมื่อปี ค.ศ. 1953 ไม่ได้มีการพูดถึงข้อตกลงดังกล่าวในสัญญาฉบับใหม่ … นั่นทำให้เมื่อครบกำหนด แล้วตัวแทนผู้เขียน (Woolrich เสียชีวิตก่อนครบกำหนด เลยตกทอดสู่ผู้จัดการมรดก ขายต่อให้เจ้าของใหม่) Sheldon Abend ไม่ได้ลิขสิทธิ์กลับคืนมา จึงมีการยื่นฟ้องร้องถึงศาลสูงสุด Stewart v. Abend ใครสนใจก็ลองหาอ่านรายละเอียดเอาเองนะครับ
เรื่องสั้นของ Woolrich ไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมากมายนัก เพียงเค้าโครงหลักๆชายขาหักเข้าเฝือก L.B. Jefferies ถ้ำมองเห็นการสูญหายตัวของหญิงสาวห้องพักตรงกันข้าม เลยครุ่นคิดว่าอาจเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม, ผกก. Hitchcock จึงมอบหมายให้ John Michael Hayes (1919-2008) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ช่วงกันแต่งเติมเสริมเรื่องราวโน่นนี่นั่น
- ในเรื่องสั้นไม่เคยมีใครมาเยี่ยมเยียนชายขาหัก แต่หนังได้เพิ่มเติมตัวละครแฟนสาว Lisa, นางพยาบาล Stella, รวมถึงนักสืบ Thomas ‘Tom’ J. Doyle
- เรื่องราวความรักระหว่างช่างภาพกับนางแบบสาวสวย Jeff & Lisa เห็นว่าผกก. Hitchcock ได้แรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์ชู้รักของตากล้อง Robert Capa กับนางเอกสาวสวย Ingrid Bergman (ขณะนั้นเธอมีคู่ครองอยู่แล้ว) ในช่วงที่กำลังถ่ายทำภาพยนตร์ Notorious (1946)
- ตัวละคร Lisa มีส่วนผสมของทั้ง Ingrid Bergman, Grace Kelly และภรรยาของนักเขียน Hayes ทำงานเป็นแฟชั่นโมเดลลิ่ง
- เฉกเช่นเดียวกับเป้าหมายที่ถูกถ้ำมอง ไม่ได้มีแค่ฆาตกร แต่ยังสมาชิกคนอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน
- เหตุการณ์ฆาตกรรมมีการลงรายละเอียดเพิ่มเติมพอสมควร ผกก. Hitchcock เล่าว่าได้แรงบันดาลใจจาก 2 เหตุการณ์เคยเกิดขึ้นจริง
- เมื่อปี ค.ศ. 1924 ณ Sussex, England ฆาตกร Patrick Mahon ทำการฆาตกรรมภรรยากำลังตั้งครรภ์ Emily Kaye จากนั้นหั่นศพออกเป็นส่วนๆ นำใส่กระเป๋าใบใหญ่ โยนทิ้งออกนอกขบวนรถไฟ และเผาศีรษะให้มอดไหม้ในกองเพลิง
- เมื่อปี ค.ศ. 1910 ณ กรุง London ฆาตกร Dr. Hawley Harvey Crippen วางยาพิษภรรยา จากนั้นฆ่าหั่นศพ ซุกซ่อนไว้ในห้องใต้ดิน ก่อนถูกจับได้เมื่อเลขาส่วนตัว/ชู้รัก สวมใส่เครื่องประดับของ Mrs. Crippen
เกร็ด: John Michael Hayes ร่วมงานผกก. Hitchcock ทั้งหมดสี่ครั้ง Rear Window (1954), To Catch a Thief (1955), The Trouble with Harry (1955) และ The Man Who Knew Too Much (1956)
เรื่องราวของตากล้องอาชีพ L.B. Jefferies (รับบทโดย James Stewart) ประสบอุบัติเหตุระหว่างถ่ายภาพการแข่งรถ ขาหักเข้าเฝือก 7 สัปดาห์ พักรักษาตัวอยู่แต่ในอพาร์ทเม้นท์ ทุกวันจะมีนางพยาบาล Stella (รับบทโดย Thelma Ritter) และแฟนสาวสุดสวย Lisa Fremont (รับบทโดย Grace Kelly) แวะเข้ามาเยี่ยมเยียน
ด้วยความที่ Jeff วันๆอยู่ว่างๆ ไม่มีอะไรทำ เลยชอบนั่งเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นชาวบ้านชาวช่อง ผู้คนมากมายอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ แต่มีห้องพักหนึ่งดูผิดสังเกต หญิงสาวในห้องนอนสูญหายตัวไป ส่วนสามีแสดงท่าทีลับๆล่อๆ ออกไปไหนไม่รู้ยามวิกาลพร้อมกระเป๋าใบใหญ่ หรือว่าเกิดเหตุฆาตกรรม? แต่จะทำอย่างไรถึงสามารถสืบค้นหาข้อเท็จจริง?
James Maitland Stewart (1908-97) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indiana, Pennsylvania บิดาเป็นเจ้าของร้าน Hardware Store ส่วนมารดาเป็นนักเปียโน เสี้ยมสอน Jimmy เล่นดนตรีเก่งมาตั้งแต่เด็ก, โตขึ้นเข้าเรียนสถาปัตยกรรม Princeton University โดดเด่นกับการออกแบบเครื่องบินจนได้รับทุนการศึกษา แต่กลับเปลี่ยนความสนใจมายังชมรมการแสดง สนิทสนมเพื่อนร่วมรุ่น Henry Fonda, Margaret Sullavan, ตัดสินใจมุ่งสู่ Broadways แม้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่มีแมวมองจาก MGM จับเซ็นสัญญา รับบทนำครั้งแรก Speed (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก You Can’t Take It with You (1938), โด่งดังพลุแตก Mr. Smith Goes to Washington (1939), The Shop Around the Corner (1940), The Philadelphia Story (1940)**คว้ารางวัล Oscar: Best Actor, แต่ไฮไลท์การแสดงเกิดขึ้นหลังกลับจากอาสาสมัครทหารอากาศ (U.S. Air Forces) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มจาก It’s a Wonderful Life (1946), Rope (1948), Rear Window (1954), The Man Who Knew Too Much (1956), Vertigo (1958), Anatomy of a Murder (1959), How the West Was Won (1962), The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ฯ
เกร็ด: James Stewart ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Male Legends ติดอันดับ #3
รับบท L.B. “Jeff” Jefferies ช่างภาพวัยกลางคน ชื่นชอบออกไปทำงานภาคสนาม พานผ่านหลากหลายสมรภูมิรบ ประสบอุบัติเหตุขณะถ่ายภาพการแข่งรถ ขาหักเข้าเฝือกนาน 7 สัปดาห์ ระหว่างพักรักษาตัวอยู่ในอพาร์ทเมนท์ วันว่างๆไม่รู้จะทำอะไร เลยเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง สอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้าน จนพบเห็นความลับๆล่อๆของชายอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ตรงกันข้าม
หนึ่งในบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด Stewart (ผมชอบมากกว่า Vertigo (1958) เสียอีกนะ!) แม้เพียงนั่งนิ่งเฉย แต่สีหน้า สายตา ปากขยับเมื่อไหร่ก็พร้อมพ่นพิษ เต็มไปด้วยถ้อยคำเสียดสี แดกดัน ประชดประชัน สำแดงสภาวะทางอารมณ์ของบุคคลเคยแอคทีฟ ทำโน่นนี่นั่น เมื่อต้องมาอุดอู้คุดคู้อยู่ภายในอพาร์ทเม้นท์ วันๆไม่มีอะไรทำ/ไม่สามารถทำอะไร จึงตกอยู่ในสภาพห่อเหี่ยว เปล่าเปลี่ยว โหยหาใครบางคน บางสิ่งอย่างสร้างความผ่อนคลาย ดึงดูดความสนใจ นั่นก็คือการแอบถ้ำมองชาวบ้านชาวช่อง โดยไม่รู้ตัวพัฒนาเป็นความหมกมุ่น ตื่นขึ้นเมื่อไหร่ต้องคอยสอดส่อง ดูแลความสงบเรียบร้อย มีอะไรผันแปรเปลี่ยนจากวันวานบ้างหรือเปล่า?
สิ่งน่าสนใจที่สุดของ Stewart ไม่ใช่ถ้อยคำเสียดสี แดกดัน แต่คือสีหน้า สายตา ปฏิกิริยาแสดงออก ‘Reaction Shot’ ของทุกสรรพสิ่งที่ตัวละครมองเห็น มันช่างมีความบริสุทธิ์ ดูเป็นธรรมชาติ นั่นเพราะผกก. Hitchcock ใช้กล้องสองตัวถ่ายพร้อมๆกัน (บันทึกภาพทั้ง Action & Reaction) พอออกคำสั่งให้มองอะไร ก็สำแดงความรู้สึกออกมาอย่างตรงไปตรงมา … ผมถือเป็นการแสดงมีความบริสุทธิ์ที่สุดในอาชีพของ Stewart เลยก็ว่าได้!
เกร็ด: ในบรรดาการร่วมงานระหว่าง Stewart กับผกก. Hitchcock นี่เป็นครั้งที่พวกเขาชื่นชอบประทับใจกันและกันมากที่สุด … นั่นอาจเพราะทั้งสองต่างรากงอกอยู่แต่ในอพาร์ทเม้นท์ ไม่ได้ต้องขยับเคลื่อนไหวร่างกายไปไหน
Grace Patricia Kelly (1929-82) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน ที่ต่อมาได้กลายเป็น Princess of Monaco หลังแต่งงานกับ Prince Rainier III เมื่อปี 1956, เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania บิดาคือผู้อพยพชาว Irish ส่วนมารดามีเชื้อสาย German ครอบครัวมีเคร่งครัด Catholic, โตขึ้นเข้าเรียนการแสดง American Academy of Dramatic Arts, New York ทำงานโมเดลลิ่ง ละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Fourteen Hours (1951), แจ้งเกิดโด่งดังกับ High Noon (1952), ร่วมงานผู้กำกับ Alfried Hitchcock สามครั้ง Dial M for Murder (1954), Rear Window (1954), To Catch a Thief (1955), คว้ารางวัล Oscar: Best Actress จากผลงาน The Country Girl (1954)
เกร็ด: Grace Kelly ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Female Legends ติดอันดับ #13
รับบท Lisa Fremont นางแบบสาวสวย ร่ำรวย สวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นไม่เคยซ้ำวัน แม้รับรู้ว่าวิถีชีวิตตนเองแตกต่างตรงกันข้ามกับ Jeff แต่เพราะความรักจึงไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น คอยหาเวลามาเยี่ยมเยียน เกี้ยวพาราสี พยายามโน้มน้าวให้เขาตอบตกลงแต่งงาน กลับได้ยินเรื่องอพาร์ทเมนท์ฝั่งตรงข้าม ทีแรกก็ไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดเหตุฆาตกรรม ก่อนสันชาตญาณเพศหญิงจะทำให้ตระหนักถึงลับลมคมใน บังเกิดความกระตือรือล้น ถึงขนาดขันอาสาปีนป่ายเข้าไปค้นหาหลักฐาน เอาตัวรอดชีวิตได้อย่างหวุดหวิด
หนึ่งในบทบาทเจิดจรัสที่สุดของ Kelly ทีแรกเกิดความสองจิตสองใจเพราะมีอีกบทบาท On the Waterfront (1954) ยื่นข้อเสนอมาพร้อมๆกัน แต่ตัดสินใจเลือก Rear Window (1954) เพราะตัวละครทำงานในแวดวงแฟชั่น เธอเองก็เคยเป็นโมเดลลิ่ง ดูแล้วเหมาะสมเข้ามากกว่า
นอกจากบรรดาชุดสวยๆสวมใส่ไม่เคยซ้ำวัน (ออกแบบตัดเย็บโดยขุ่นแม่ Edith Head) รอยยิ้มของ Kelly คงทำให้ใครต่อใครรวมถึงผู้ชมหัวใจละลาย แต่ไม่ใช่กับตัวละคร Jeff พยายามสรรหาข้ออ้าง ฉันและเธอมีความแตกต่างตรงกันข้าม ถึงอย่างนั้นหญิงสาวกลับสรรหาหนทาง ด้วยลูกเล่ห์ มนต์เสน่ห์ มารยาหญิง วันนี้งอนตุ๊บป๋อง ประเดี๋ยวพรุ่งนี้มาไม้ใหม่ วันถัดไปทำอะไรไม่เคยซ้ำ โหยหาความตื่นเต้น กล้า-ท้า-เสี่ยง ไม่กลัวเกรงอันตราย ไม่มีใครเปลี่ยนใจฉันได้
ตัวจริงของ Kelly ก็เป็นที่รักในกองถ่าย ใครๆต่างลุมห้อมล้อม เฝ้ารอคอยการมาถึงของเธออย่างใจจดจ่อใจ แม้แต่ Stewart ยังกล่าวชื่นชม
Everybody just sat around and waited for her to come in the morning, so we could just look at her. She was kind to everybody, so considerate, just great, and so beautiful. She complete understanding of the way motion picture acting is carried out.
Making a picture with Grace Kelly was a joy. She was completely prepared at all times for the part she was playing in ‘Rear Window.’ Alfred Hitchcock was delighted with every scene she did, and he was not the easiest man in the world to please. She was professional, and she made a tremendous contribution to motion pictures.
James Stewart กล่าวถึง Grace Kelly
ขอกล่าวถึงชุดแฟชั่นสักหน่อยก็แล้วกัน Rear Window (1954) ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีความเจิดจรัสที่สุดของทั้ง Grace Kelly และขุ่นแม่ Edith Head แต่ก็ไม่รู้พลาดเข้าชิง Oscar ไปได้อย่างไร ทุกชุดล้วนแฝงนัยยะความหมาย รวมถึงบ่งบอกสภาวะทางอารมณ์ของตัวละคร
- ชุดที่น่าจะถือว่าเจิดจรัส เปร่งประกาย สวยที่สุดของ Kelly ก็คือ Black & White Dress เสื้อสีดำคอวีลึก เปิดทั้งหน้าและหลัง กระโปรงบานขาวประดับลวดลายใบไม้เล็กๆ พร้อมถุงมือ และผ้าคลุมบ่า เป็นการแนะนำตัวละครว่าเป็นบุคคลมีฐานะ ชอบการแต่งกาย เจ้าแม่แฟชั่น ทั้งยังสะท้อนความสัมพันธ์ตัวละคร อยากจะแต่งงานกับชายคนรัก Jeff แต่เขากลับสรรหาข้ออ้าง เราสองมีความแตกต่างตรงกันข้าม (=เสื้อดำ กระโปรงขาว)
- ชุดที่สอง Black Silk Organza Dress นี่คือช่วงเวลาที่ Jeff เหมือนจะสังเกตเห็นเหตุการณ์ฆาตกรรม พูดบอกกับ Lisa ทีแรกเธอก็ไม่ได้อยากเชื่อถือนัก จนกระทั่งเกิดความตระหนักถึงอะไรบางอย่าง … เป็นชุดที่สะท้อนการค้นพบเหตุการณ์ฆาตกรรม สีดำคือสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย ความตาย
- ชุดสูท+กระโปรงสีเขียว (พร้อมหมวกขาว Pillbox) มีคำเรียก Eau de Nil Suit ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Water of the Nile มันคือสีของแม่น้ำไนล์กระมัง? เมื่อถอดสูทออกภายในสวมใส่ผ้าไหมคล้องคอสีขาว (Halterneck) เปิดไหล่สองข้าง … มันช่างดูราวกับชุดแอร์โฮสเตสของสายการบินชื่อดังแห่งหนึ่ง
- จะว่าไป Miss Lonelyhearts ยังพบเห็นสวมใส่ชุดสีเขียวบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะตอนอยู่คนเดียว เกี้ยวพาราสีแฟนหนุ่ม แทนความโดดเดี่ยวอ้างว้าง โหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย ซึ่งก็น่าจะสื่อความหมายเดียวกับ Lisa
- ต่างหูมุก(ลูกใหญ่มาก) และสร้อยข้อมือ ถือเป็นเครื่องประดับประกอบชุดนี้ที่มีความเว่อวังอลังการ เพราะค่ำคืนนี้เธอกำลังจะจัดเต็ม ครอบครองเป็นเจ้าของ ทำบางสิ่งอย่างไม่ให้เขาสนใจโลกภายนอก
- ชุดนอน Silk Nightgown คงไม่ต้องบรรยายถึงความยั่วเย้า เซ็กซี่ เห็นแบบนี้ใครจะอยากสนใจอะไรอื่น
- มีคำเรียกชุดนี้ว่า Printed Dresses พิมพ์ลวดลายดอกไม้ แม้ไม่รู้ว่าดอกอะไร แต่ให้ความรู้สึกเหมือนเด็กน้อยขี้เล่น ซุกซน กระตือรือล้นอยากทำโน่นนี่นั่น ซึ่งตลอดการสวมใส่ชุดนี้ Lisa ยังปีนป่ายขึ้นไปบนอพาร์เม้นท์ Lars Thorwald พร้อมเสี่ยงอันตราย
- This look makes her more vulnerable, more natural, more foolhearty.
- ชุดสุดท้ายของตัวละคร ประกอบด้วยรองเท้าหนัง การเกงยีนส์ และเสื้อเชิ้ตแขนยาว (พับแขน) สีชมพูอมแดง สำแดงความเป็น ‘Sporty’ เรียบง่าย ใส่สบาย พร้อมลุยทุกสถานการณ์
แนะนำสมาชิกในอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้สักหน่อยก็แล้วกัน แต่ละตัวละครก็ต่างมีวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันแตกต่างกันไป ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องของความรักๆใคร่ๆ
- นักแต่งเพลง (รับบท Ross Bagdasarian) อาศัยอยู่ในสตูดิโออพาร์ทเม้นท์ แม้พบเห็นเชื้อเชิญเพื่อนฝูงมาร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้บ่อยครั้ง แต่พอทุกคนแยกย้าย กลับไม่มีใครคอยอยู่เคียงข้าง อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว มองหาใครสักคนเติมเต็มช่องว่างขาดหาย
- Miss Torso (รับบทโดย Georgine Darcy) นักเต้นบัลเล่ต์ สวยเซ็กซี่ พบเห็นเกี้ยวพาราสีบุรุษไม่ซ้ำหน้า แต่แท้จริงแล้วตกหลุมรักชายหน้าตาธรรมดาๆคนหนึ่ง เฝ้ารอคอยการกลับมาจากไปรบสงคราม
- Miss Lonelyhearts (รับบทโดย Judith Evelyn) หญิงวัยกลางคน อาศัยอยู่ตัวคนเดียว อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว จินตนาการคนรัก พยายามมองหาใครสักคนเคียงข้าง เติมเต็มช่องว่างขาดหาย
- เซลล์แมนขายเครื่องประดับ Lars Thorwald (รับบทโดย Raymond Burr) อาศัยอยู่กับ Anna (รับบทโดย Irene Winston) ล้มป่วยนอนซมซานอยู่บนเตียง พบเห็นทั้งสองมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งการหายตัวไปของฝ่ายหญิง รวมถึงท่าทางลับๆล่อๆของฝ่ายชาย จึงถูกต้องสงสัยว่าเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม
- คู่สามี-ภรรยา (รับบทโดย Frank Cady และ Sara Berner) เป็นคนรักสัตว์ ชอบหลับนอนอยู่นอกระเบียงอพาร์ทเม้นท์ (เพราะสภาพอากาศร้อนจัด)
- คู่รักเพิ่งแต่งงาน ข้าวใหม่ปลามัน (รับบทโดย Rand Harper และ Havis Davenport) ตั้งแต่ย้ายเข้าอพาร์ทเม้นท์ ก็ปิดผ้าม่านอยู่ตลอดเวลา พอฝ่ายชายเปิดออกก็ถูกเสียงอ้อนหญิงสาว น่าจะกำลังอยู่ในช่วงโปรโมชั่น
- Miss Hearing Aid (รับบทโดย Jesslyn Fax) หญิงสูงวัยผู้มีปัญหาการได้ยิน ชอบนอนพักอ่านหนังสือพิมพ์อยู่สนามหญ้าหลังบ้าน ไม่ก็สร้างงานศิลปะ Abstract Art ผ่อนคลายความเหงา
ถ่ายภาพโดย Leslie Robert Burks (1909-68) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chino, California พออายุ 19 เข้าทำงานแผนก Special Effect ในห้องแลป Warner Bros. ก่อนไต่เต้าขึ้นเป็นผู้ช่วยตากล้องเมื่อปี ค.ศ. 1929, ควบคุมกล้อง ค.ศ. 1934, แล้วได้รับเครดิตถ่ายภาพตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944, ร่วมงานขาประจำผกก. Alfred Hitchcock เริ่มตั้งแต่ Strangers on a Train (1951) จนถึง Marnie (1964), คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, Color ภาพยนตร์ To Catch a Thief (1955)
งานภาพของหนังอาจดูไม่ได้มีลูกเล่นสลับซับซ้อนอะไร แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย ก่อนอื่นต้องเริ่มทำความเข้าใจการออกแบบงานสร้าง (Art Direction) โดย Hal Pereira และ Joseph MacMillan Johnson ได้แรงบันดาลใจจาก Greenwich Village (มาจากคำว่า Groenwijck ภาษา Dutch แปลว่า Green District) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของ Lower Manhattan, New York City มีความโดดเด่นจากการสร้างบ้านอาศัยด้วยอิฐสีแดง (Red-Brick Town House) ในช่วงทศวรรษ 20th เลื่องชื่อจากการเป็นย่านศิลปิน (Artists’ Haven) เมืองหลวงของชาว Bohemian, Hipster, Beat Generation และกลุ่มเคลื่อนไหว LGBT+
ในตอนแรกผกก. Hitchcock ครุ่นคิดจะเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง แต่ด้วยข้อจำกัดมากมายเลยตัดสินใจก่อสร้างทั้งอพาร์ทเม้นท์ขึ้นในโรงถ่าย 18 ของสตูดิโอ Paramount กินอาณาบริเวณกว้าง 98 ฟุต (29.8704 เมตร), ยาว 185 ฟุต (56.388 เมตร), สูง 40 ฟุต (12.192 เมตร) [ประมาณตึก 5-6 ชั้น] ประกอบด้วย 31 ห้องพัก แต่มีเพียง 12 ห้องที่ตกแต่งภายใน พร้อมเฟอร์นิเจอร์สำหรับเข้าอยู่อาศัย คนงาน 50+ คน ใช้เวลาก่อสร้างเกือบๆ 2 เดือน หมดงบประมาณ $72,000-$100,000 เหรียญ (เทียบค่าเงินปัจจุบันก็หลักล้านเหรียญ!)
จริงๆแล้วไม่มีโรงถ่ายไหนที่สูงถึง 40 ฟุต! (ต้องเผื่อระบบไฟ สป็อตไลท์บนเพดาน) แต่โชคดีว่าโรงถ่ายแห่งนี้มีการสร้างห้องใต้ดินไว้ใช้สำหรับเก็บของ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถรื้อพื้นออก เพื่อใช้สำหรับสร้างสนามหญ้า (Courtyard) … นั่นก็เท่ากับว่าอพาร์ทเม้นท์ของ Jeff ตั้งอยู่ชั้นหนึ่งของโรงถ่าย
ไม่ใช่แค่ห้องพักอพาร์ทเม้นท์ ยังต้องมีการวางระบบน้ำ-ไฟ สำหรับรองรับฝนตก-แดดออก ช่วงเวลาที่ผันแปรเปลี่ยนกลางวัน-กลางคืน รุ่งสาง-พลบค่ำ ด้วยหลอดไฟหลายพันดวง เพื่อให้ได้แสงสีสันที่แตกต่างออกไป … ถ่ายทำด้วยเทคโนโลยีสี Technicolor ที่เสื่อมสภาพไวมากๆ
เกร็ด: โดยปกติแล้วนก หมา แมว ฯ มักถูกจับขังในกรงเพื่อเป็นสัญลักษณ์การสูญเสียอิสรภาพ แม้หนังทำการปลดปล่อยพวกมันอย่างอิสระ พบเห็นเดินไปเดินมา แวะเวียนเข้ามาติดหน้ากล้องบ่อยครั้ง (ไม่ได้มีการกำกับใดๆ) แต่การถ่ายทำอยู่ภายในสตูดิโอปิด นี่ไม่ต่างจากกรงขังขนาดใหญ่หรอกฤา??
ด้วยความที่เรื่องราวหนัง นำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร L.B. “Jeff” Jefferies ประสบอุบัติเหตุ ขาหักเข้าเฝือก นั่งๆนอนๆ ไม่สามารถขยับเคลื่อนย้ายไปไหน งานภาพจึงเวียนวนอยู่ในรัศมีอพาร์ทเม้นท์ ภายในห้องพัก ไม่ก็เหม่อมองออกนอกหน้าต่าง
หนึ่งในข้อจำกัดของการถ่ายทำภาพยนตร์ยุคสมัยนั้น คือกล้องฟีล์ม(สี)มีขนาดใหญ่โตเทอะทะ น้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัม ไม่มีทางที่มนุษย์จะสามารถแบกขึ้นบ่า เดินไปเดินมา ต้องใช้เครนหรือรางเลื่อนเท่านั้น! ซึ่งการจะถ่ายทำเข้ามาภายในอพาร์ทเม้นท์ วิธีการง่ายสุดก็คือต้องยกผนังกำแพง(บริเวณหน้าต่าง)ออกไปเสีย! หรือการถ่ายทำภายนอกอพาร์ทเม้นท์ ก็ใช้เครนยกกล้องยื่นออกไปนอกหน้าต่าง
เกร็ด: ด้วยความที่นักแสดงต่างแยกกันอยู่ในห้องพัก วิธีการกำกับ(นักแสดง)ของผกก. Hitchcock คือนั่งรากงอกอยู่ข้างกล้อง (ในอพาร์ทเม้นท์ของ Jeff) แล้วคอยออกคำสั่งผ่านไมโครโฟน โดยแต่ละคนจะสวมใส่หูฟังไร้สาย ได้รับคำสั่งให้ทำโน่นนี่นั่นแตกต่างกันไป
วิธีการบันทึกภาพ ‘Reaction Shot’ ก็คือให้ Jimmy Stewart รับชมฟุตเทจถ่ายทำเอาไว้ผ่านเครื่องฉาย Projection พบเห็นภาพอะไรก็แสดงปฏิกิริยาสีหน้าออกมา ซึ่งเทคนิคดังกล่าวยังสามารถประยุกต์ใช้กับช็อตที่ถ่ายติดภาพสะท้อนในเลนส์ Telephoto Lens ได้อีกด้วย!
กล้องถ่ายภาพที่ใช้สอดส่อง ถ้ำมอง ยี่ห้อ Exakta VX หรือ Exakta Varex เป็นกล้อง SLR 35mm ทรงคลาสสิค ผลิตที่ Dresden, East Germany ซึ่งทีมโปรดักชั่นต้องนำเอาเทปดำปิดโลโก้เอาไว้ (นั่นเพราะ East Germany เป็นประเทศคอมมิวนิสต์) และใช้เลนส์ 400mm Kilfitt ที่ต้องวางบนขาตั้งเท่านั้นถึงสามารถมองเห็น
เกร็ด: โปรดักชั่นหนังเริ่มต้นวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953 สิ้นสุดลงวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1954
งานภาพของหนังรับอิทธิพลไม่น้อยจากผลงานของ Edward Hopper (1882-1967) จิตรกรสัญชาติอเมริกัน เลื่องชื่อในผลงาน Realism ที่มีลักษณะ American Art ภาพสะท้อนวิถีอเมริกันชน อาทิ Automat (1927), Night Windows (1928), Hotel Room (1931), Room in New York (1932) ฯ พวกเขาเหล่านี้ดูโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว ต่างใช้ชีวิตด้วยการสร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น
For Hitchcock in particular, Hopper’s gaze was like a petri dish from which an infinite number of possible narratives could grow. Evidence of Hopper’s influence can be found throughout Hitchcock’s oeuvre, but especially his 1954 classic Rear Window. Just as the power of Hopper’s paintings lies in what he chooses to exclude, so the tension and spectacle in Hitchcock’s Rear Window relies on what is obscured or unseen.
Compare for example, the parallels between Hopper’s 1928 painting Night Window and the film’s character of Miss Lonelyhearts. Both frame solitary, partially nude woman within the privacy of their own bedrooms. Both carry a sense of intrusion, and perhaps more importantly, a prevailing sense of isolation in spite of their dense urban surroundings.
นักเขียนFinn Blythe จากนิตยสาร Hero Magazine
โดยปกติแล้วเงาที่คืบคลานเข้ามา มักสื่อสิ่งชั่วร้าย บุคคลอันตราย นำพาหายนะ ภัยพิบัติ ความตาย! แต่ในบริบทของหนังนี้ Lisa ยื่นหน้าเข้าหา Jeff ทำให้เงาของเธอค่อยปกคลุมใบหน้าของเขา นี่ไม่ใช่การนำเข้าสู่เรื่องราวร้ายๆ สามารถตีความถึงฝ่ายสาวคือบุคคลที่ระริกระรี้เข้าหา ตกหลุมรักฝ่ายชาย พยายามโน้มน้าว บีบบังคับ ครอบงำให้เขาตอบตกลงแต่งงาน โดยไม่สนความแตกต่างอะไรยังไง
ผมเกือบจะลืมไปว่า Grace Kelly สามารถจัดเป็น ‘Hitchcock’s Women’ ผู้หญิงในภาพยนตร์ของผกก. Hitchcock มักสีผมบลอนด์ (Hitchcock Blonde) นิสัยลึกลับ เยือกเย็นชา (Icy Maiden) มาพร้อมหายนะ (Woman in Peril) และท้ายสุดมักถูกทำให้อับอาย (Humiliated) … ในบริบทนี้ Lisa อาจไม่ได้เย็นชา แต่เธอพยายามเกี้ยวพาราสี ทำให้ Jeff ตกหลุมรัก ยินยอมตอบตกลงแต่งงาน ปฏิเสธฟังคำทัดทาน แสดงนิสัยดื้อรั้น เอาตัวใจ ทั้งยังโหยหาความตื่นเต้นท้าทาย ปีนป่ายขึ้นไปอพาร์ทเม้นท์ของ Lars Thorwald แล้วถูกกระทำร้าย รอดตายอย่างหวุดหวิด
ผิดกับ Rope (1948) ที่พบเห็นการค่อยๆปรับเปลี่ยนเฉดสีของแสงอาทิตย์ยามโพล้เพล้ พลบคํ่า งดงาม วิจิตรศิลป์, Rear Window (1954) ไม่ได้มุ่งเน้นนำเสนอช่วงเวลานั้นสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ไม่กลางวันก็กลางคืน แต่ยังพอพบเห็นแสงส้มและแดง แทนช่วงเวลามาถึงของ Lisa ชวนคุย จิบไวน์ ก่อนเริ่มตระเตรียมอาหารเย็น … อาจจะสะท้อนความสัมพันธ์ที่ Jeff อยากให้สิ้นสุดลง (กับ Lisa) แต่มันก็เฉพาะวันนี้ เพราะประเดี๋ยว(พรุ่งนี้)เธอก็หวนกลับมา ไม่ยินยอมละเลิกรา
ผกก. Hitchcock ปรากฎตัว (Cameo) เป็นแขกเหรื่อในสตูดิโอของนักแต่งเพลง พบเห็นกำลังตั้งนาฬิกา ถึงเวลารับประทานอาหารเย็น
การตั้งนาฬิกาของ Hitchcock ยังอาจสื่อถึงยุคสมัยที่กำลังปรับเปลี่ยนแปลงไป Rear Window (1954) คือภาพสะท้อนสังคม(สหรัฐอเมริกา)ในยุคสมัยนั้น เต็มไปด้วยตึกระฟ้าสูงใหญ่ ผู้คนมากมายอพยพย้ายเข้ามาทำงานในเมือง อาศัยอยู่ตามอพาร์ทเม้นท์ ต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยไปมาหาสู่ หรืออย่างเรื่องราวของนักแต่งเพลง ชื่นชอบจัดงานเลี้ยง เชื้อเชิญแขกเหรื่อมากมาย แต่พอทุกคนแยกย้าย กลับไม่หลงเหลือใครสักคนเคียงข้างกาย
อพาร์ทเม้นท์ของสามี Lars Thorwald และภรรยา Mrs. Anna ทั้งสองมักแยกกันอยู่คนละห้อง (ห้องนั่งเล่น-ห้องนอน) แสดงถึงความแตกแยก ขัดแย้ง แม้แต่เฉดสีผนังภายในยังมีความแตกต่าง ผกก. Hitchcock พยายามทำออกมาให้ผู้ชมสังเกตไม่ยาก เข้าใจปัญหาของทั้งสองได้โดยทันที
ค่ำคืนหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ได้ยินเสียงกรีดร้อง “Don’t” ดังขึ้นแล้วเงียบลง ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครทันสนใจ แม้แต่ Jeff พยายามมองซ้ายมองขวา กล้องกำลังเคลื่อนก็หยุดนิ่งลง โดยไม่สามารถบอกได้ว่าเสียงได้ยินดังจากอพาร์ทเม้นท์แห่งหนไหน … ความเงียบงันที่บังเกิดขึ้นนี้ สะท้อนวิถีสังคมเมือง จะบอกว่าเป็นความเห็นแก่ตัวคงไม่ถูกต้องนัก เพราะทุกคนล้วนมีพื้นที่ส่วนตัว กำแพงขวางกั้น ไม่สามารถยุ่งเกี่ยวข้องแว้งอะไรกัน คงเรียกได้แค่เหตุการณ์โศกนาฎกรรม
หลังฆาตกรรมภรรยา Lars Thorwald นอกจากทำตัวลับๆล่อๆ ยังชอบเหม่อมองออกนอกหน้าต่าง นั่งสูบซิการ์ท่ามกลางความมืดมิด เพลิดเพลิดไปกับการถ้ำแอบมองผู้อื่น … เอาจริงๆแทบไม่แตกต่างจากพฤติกรรมของ Jeff ราวกับภาพสะท้อนกระจก ในทิศทางกลับตารปัตรตรงกันข้าม
แม้จุดเริ่มต้นจะแตกต่าง (Lars ทำการฆาตกรรมภรรยา, Jeff ประสบอุบัติเหตุขาหักเข้าเฝือก) แต่เหตุผลการถ้ำแอบมองของทั้งสองน่าจะละม้ายคล้ายคลึงกัน
- ในกรณีของ Jeff เพราะต้องนั่งจุ้มปุ้กอยู่แต่ในห้องพัก ไม่สามารถก้าวออกไปไหน จึงพยายามมองหาสิ่งสร้างความบันเทิง เพลิดเพลินผ่อนคลาย หรือก็คือเหม่อมองออกนอกหน้าต่าง
- ตรงกันข้ามกับ Lars แม้ร่างกายปกติดี แต่กลับต้องหลบซ่อนตัว ไม่สามารถไปไหนมาไหน เพราะเพิ่งก่อคดีฆาตกรรม ยังอยู่ในช่วงทำลายหลักฐาน ระหว่างเฝ้ารอคอยเวลา ทำได้เพียงนั่งอยู่ในเงามืด ครุ่นคิดหาหนทางเอาตัวรอด เหม่อมองออกนอกหน้าต่างเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
เกร็ด: หลายคนมองตัวละคร Lars รูปร่างเหมือน Frankenstein แต่ความตั้งใจของผกก. Hitchcock ต้องการพาดพิงถึงโปรดิวเซอร์คนโปรด David O. Selznick ที่มีความจงเกลียดจงชังเข้ากระดูกดำ
Miss Hearing Aid เป็นคนหูตึง อาศัยอยู่ตัวคนเดียว กับเจ้าแมวอ้วนเหลืองเป็นเพื่อนคลายเหงา มักพบเห็นนอนอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ก็ทำงานศิลปะ ปั้นรูป Abstract Art ตั้งชื่อว่า “Hunger” รูปทรงคล้ายมนุษย์ แต่มีรูบริเวณท้อง/หัวใจ คงจะสื่อถึงความกระหาย หิวโหย ต้องการบางสิ่งอย่าง แต่กลับมิอาจได้มาครอบครอง เติมเต็มร่างกายและจิตวิญญาณ
แม้ว่าจะครองตัวโสดเช่นเดียวกับ Miss Lonelyhearts แต่ทว่า Miss Hearing Aid ไม่ได้ระริกระรี้ โหยหาใครสักคนเคียงข้าง พึงพอใจกับความโสด อาศัยอยู่กับเจ้าแมวเหมียว และทำงานศิลปะที่สามารถระบายความรู้สึกอัดอั้ดที่อยู่ภายในออกมา
ทีแรกผมไม่ได้มีความสนใจภาพวาดในหนังมากนัก แต่จะมีรูปนี้ที่เหมือนจะบอกใบ้อะไรบางอย่าง Nature morte aux asphodèles (1907) แปลว่า Still Life with Asphodels ผลงานของ Henri Matisse (1869-1954) จิตรกรสัญชาติฝรั่งเศส ผู้นำศิลปะแนว Fauvism เลื่องชื่อเรื่องการใช้สีสันถ่ายทอดอารมณ์ออกมาอย่างเปิดเผย
เกร็ด: Asphodel เป็นดอกไม้ที่คนไทยอาจไม่ค่อยรู้จักนัก แต่ถ้าใครเคยอ่าน/รับชม Harry Potter and the Philosopher’s Stone ก็น่าจะเคยได้ยินศาสตราจารย์ Snape พูดสอน Harry Potter “เอาผงจากรากของต้น Asphodel ผสมเข้ากับน้ำสกัดที่ได้จากการแช่ Wormwood” กล่าวคือ Asphodel เป็นดอกลิลลี่ประเภทหนึ่ง จัดเป็นสมุนไพรยืนต้น เติบโตได้เร็วในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เบิกบานในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ดอกสีชมพู ใบแห้งๆ สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ แต่นัยยะเชิงสัญลักษณ์มักเกี่ยวกับความตายและยมโลก ดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตจักล่องลอยไปอยู่ในทุ่งดอกไม้ Asphodel เลยมักนิยมปลูกไว้ใกล้หลุมฝังศพ
สาเหตุที่ผมร่ายยาวถึงภาพดอกไม้ Nature morte aux asphodèles (1907) ก็เพื่อจะอ้างอิงถึง MacGuffin อะไรซุกซ่อนอยู่ในสวนดอกกุหลาบ? ถึงขนาดทำให้ Lars Thorwald ต้องฆ่าปิดปากเจ้าสุนัขไร้เดียงสา? คนส่วนใหญ่คงคาดเดาว่าคือศพของ Mrs. Anne Thorwald แต่มันใช่จริงๆนะหรือ? คำบอกกล่าวของฆาตกรเชื่อถือได้ที่ไหน?
แม้หลังจาก Lars ถูกจับกุมตัว สารภาพความผิด ภาพสุดท้ายของหนังที่เป็นการเคลื่อนเลื่อนกล้องไปรอบๆอพาร์ทเม้นท์ กลับจงใจข้ามผ่าน ไม่ถ่ายให้เห็นว่าสวนดอกกุหลาบได้รับการขุดคุ้ย พบเจออะไร นี่ยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัย มันใช่ร่างของ Mrs. Anne จริงหรือไม่??? ก็เลยถูกเหมารวมเรียก MacGuffin
ตั้งแต่ต้นมาจนถึงขณะนี้ Jeff แค่เพียงจับจ้อง แอบถ้ำมอง ไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วม แต่วินาทีนี้ที่เขาเขียนจดหมาย(ฝากให้ Lisa ส่งใต้ประตูของ Lars) ต้องถือเป็นการ “Breaking the Fourth Wall” สังเกตว่ามุมกล้องถ่ายจากเบื้องบนก้มลงมา สื่อถึงการสูญเสียสถานะถ้ำมอง (God Eye View) กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว มีส่วนรา่วมกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น
ความบ้าบิ่นของ Lisa ทำการปีนป่ายขึ้นไปยังห้องพักของ Lars Thorwald เพื่อค้นหาแหวนหมั้นของ Mrs. Anne สำหรับใช้เป็นหลักฐานมัดตัวฆาตกร พอพบเจอก็สวมใส่นิ้วนาง แล้วจงใจเอามือไขว้หลัง ชี้นิ้วให้ Jeff สังเกตเห็น ซึ่งสามารถสื่อถึง ‘Double Ring’ เพราะเธอหมั้นหมายอยู่ก่อนแล้วกับเขา ขณะนี้จึงเหมือนสวมแหวนสองวง แสดงออกในเชิงท้าทาย ตั้งคำถาม เมื่อไหร่เราจะได้แต่งงานกัน?
ระหว่างที่ Lisa ถูกตำรวจควบคุมตัวไปยังโรงพัก ทำให้ Jeff จำต้องอยู่ตามลำพังในอพาร์ทเม้นท์ โดยไม่รู้ตัว Lars Thorwald สามารถค้นพบ บุกเข้ามา ท่ามกลางความมืดมิด ต่อสู้ด้วยแสงแฟลชจากกล้อง ทำให้อีกฝ่ายหยุดยั้งชั่วคราว ปรับสายตา พบเห็นแสงวงกลมสีส้มค่อยๆเลือนหาย
นี่คือการใช้กล้องเป็นอาวุธ! หรือวิธีการที่นักข่าว/ช่างภาพ/ผู้กำกับภาพยนตร์ ใช้อุปกรณ์ของตนเองบันทึกเรื่องราว สรรสร้างผลงาน เผชิญหน้าสิ่งชั่วร้าย สร้างความเปลี่ยนแปลงให้บังเกิดขึ้นบนโลก
เราต้องเข้าใจข้อจำกัดยุคสมัย ทศวรรษนั้นยังไม่นิยมใช้สตั๊นแมน หรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้ฉากเสี่ยงอันตรายออกมาดูสมจริง วิธีการก็คือให้ Stewart กระโดดลงมาจริงๆ แต่ก็ไม่ได้สูงมาก (เมื่อเทียบกับสตั๊นแมนใน Vertigo) มีเบาะรองข้างล่าง นำฟุตเทจมาตัดแปะ ซ้อนภาพ พอจะถึงพื้นก็สลับเปลี่ยนมุมกล้อง ได้แค่นี้ก็สร้างความตกอกตกใจให้ผู้ชมสมัยนั้น แทบใจหายใจคว่ำ
แซว: ใครต่อใครมักชอบพูดแซวกันว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของ Vertigo (1958) ที่ทำให้ตัวละครของ James Stewart เป็นโรคกลัวความสูง (Acrophobia)
เมื่อตอนอารัมบท ซีนแรกของหนัง มีการเคลื่อนเลื่อนกล้องยังไง ช่วงปัจฉิมบท ช็อตสุดท้ายของหนัง ก็แทบจะดำเนินตามรอยเดิม แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนมีการปรับเปลี่ยนแปลง บังเกิดประกายความหวัง จุดเริ่มต้นชีวิตใหม่
- นักแต่งเพลงจากเคยอยู่ตัวคนเดียว มาคราวนี้พบเห็น Miss Lonelyhearts ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจกำลังสานสัมพันธ์กันอยู่ก็ได้
- ห้องพักของ Lars Thorwald กำลังทาสี ปรับปรุงใหม่ เตรียมต้อนรับผู้เข้าพักคนใหม่
- คู่สามี-ภรรยา ได้สุนัขเลี้ยงตัวใหม่
- Miss Torso เปิดประตูต้อนรับแฟนหนุ่ม เพิ่งกลับจากการไปสงคราม (น่าจะ Korean War (1950–53))
- Miss Hearing Aid ยังคงนอนหลับฝันดี
- คู่รักข้าวใหม่ปลามัน น่าจะเพิ่งหมดช่วงโปรโมชั่น กำลังจะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันครั้งแรก
- เฉกเช่นเดียวกับ Jeff คำร้องเพลงขึ้นมา “If this is dreaming…”
ภาพสุดท้ายของหนัง Lisa แสร้งอ่านหนังสือบันทึกการผจญภัย Beyond the High Himalayas (1952) เพื่อสร้างความประทับใจให้กับ Jeff แต่พอพบเห็นเขานอนหลับสนิท ก็ปรับเปลี่ยนมาสู่ความสนใจแท้จริง นิตยสารแฟชั่น Bazaar … หลายคนอาจตีรักแท้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่ผมมองว่าเธอไม่มีทางปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตของ Jeff อาจได้แต่งงานกันสักพัก แต่ท้ายสุดก็คงเลิกราหย่าร้างกันอยู่ดี คล้ายๆความสัมพันธ์ระหว่าง Scottie และ Midge ภาพยนตร์ Vertigo (1958)
เกร็ด: Beyond the High Himalayas (1952) เขียนโดย William O. Douglas (1898-1980) ผู้พิพากษาศาลสูงสุด สัญชาติอเมริกัน มีงานอดิเรกออกเดินทางท่องโลกกว้าง แล้วกลับมาเขียนหนังสือบรรยายถึงสถานที่ต่างๆ
เกร็ด2: นิตยสารแฟชั่น Harper’s Bazaar ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 1953 นางแบบหน้าปกคือ Mary Jane Russell ถ่ายภาพโดย Louise Dahl-Wolfe
ตัดต่อโดย George Tomasini (1909-64) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Springfield, Massachusetts ทำงานในสังกัด Paramount Picture เริ่มมีชื่อเสียงจาก Stalag 17 (1953), โด่งดังจากการร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock ตั้งแต่ Rear Window (1954) จนถึง Marnie (1964)
เรื่องราวของหนังนำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร L.B. “Jeff” Jefferies หลังประสบอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายภาพรถแข่ง ขาหักเข้าเฝือก พักรักษาตัวในอพาร์ทเม้นท์ Greenwich Village, Manhattan วันๆไม่มีอะไรทำ จึงแอบถ้ำมองออกไปนอกหน้าต่าง สังเกตเห็นวิถีชีวิต ผู้คน จุลภาคสังคม
- แนะนำตัวละคร สมาชิกในอพาร์ทเม้นท์
- กล้องค่อยๆเคลื่อนไหล บันทึกภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวันของสมาชิกในอพาร์ทเม้นท์
- Jeff คุยโทรศัพท์กับหัวหน้า เข้าใจผิดครุ่นคิดว่าเขาถอดเฝือกออกแล้ว
- การมาถึงของนางพยาบาล Stella บริการนวด ชวนพูดคุย โน้มน้าวให้เขาแต่งงานกับ Lisa
- ยามค่ำคืน Lisa มาพร้อมกับดินเนอร์หรู แต่ต้องกลับไปด้วยอาการงอนตุ๊บป่อง
- ฤาว่าเกิดเหตุฆาตกรรม?
- ดึกดื่น Jeff สังเกตเห็นความผิดปกติของอพาร์ทเมนท์ฟากฝั่งตรงข้าม ชายร่างใหญ่ถือกระเป๋าใส่เสื้อผ้าออกไปไหนหลายๆครั้ง
- วันถัดมาระหว่างการนวดผ่อนคลายของนางพยาบาล Stella พูดเล่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้นเมื่อคืน เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย
- ยามค่ำคืน Jeff ก็เล่าเหตุการณ์บังเกิดขึ้นให้กับ Lisa ทีแรกเธอไม่อยากเชื่อสักเท่าไหร่ แต่บังเกิดความเคลือบแคลงใจ และยังช่วยสืบค้นพบชื่อของชายผู้ต้องสงสัย Lars Thorwald
- ตำรวจ vs. สันชาตญาณเพศหญิง
- วันถัดมาโทรศัพท์ติดต่อหาเพื่อนตำรวจ Tom แวะเวียนเข้ามาพูดคุยถามไถ่ ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่แต่ก็ยังยินยอมสืบค้นหาหลักฐาน
- Jeff ยังคงถ้ำมองสมาชิกในอพาร์ทเม้นท์ กระทั่งการมาถึงของ Lisa สังเกตเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับเครื่องประดับ ด้วยสันชาตญาณเพศหญิง รับรู้ว่ามันต้องมีลับลมคมในอะไรแน่ๆ
- Tom แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน แจ้งข่าวคราวที่ได้สืบค้น ไม่พบเจอความผิดปกติใดๆ
- Jeff กับ Lisa ถกเถียงกันเรื่องความถูกต้องเหมาะสม ก่อนเธอลดผ้าม่านหน้าต่างลง
- เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย
- วันถัดมา Tom เขียนจดหมาย โทรศัพท์หา Lars พยายามจะแบล็กเมล์
- Lisa และ Stella แอบปีนป่ายเข้าไปในสวนของ Lars เพื่อค้นหาหลักฐานคดีฆาตกรรม
- Lisa ปีนป่ายขึ้นไปยังอพาร์ทเม้นท์ของ Lars แต่บังเอิญอีกฝ่ายกลับมาพอดิบดี โชคยังดีตำรวจมาช่วยเหลือได้ทัน
- Lars บุกเข้ามาในอพาร์ทเม้นท์ของ Tom เกิดการฉุดกระชาก ผลักตกลงเบื้องล่าง
- ปัจฉิมบท
- Lars ถูกจับกุม แต่ก็ทำให้ Tom เข้าเฝือกขาสองข้าง ยังคงต้องใช้เวลาอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้อีกนาน
นอกจากลีลาการตัดต่อที่สอดคล้องเข้ากับทฤษฏี Kuleshov effect ยังมีอีกลูกเล่นที่น่าสนใจ นั่นคือการนำเสนอเรื่องราวคู่ขนาน โดยมีบางสิ่งอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน (อาจจะเรียกว่าสัมผัสบทกวี) ระหว่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น(หรือกำลังจะเกิดขึ้น)ในห้องพักของ Jeff = สิ่งที่เขาแอบถ้ำมอง พบเห็นจากอพาร์ทเม้นท์รอบข้าง ยกตัวอย่าง
- นางพยาบาล Stella แนะนำให้ Jeff แต่งงานกับ Lisa = ถ้ำมองเห็นคู่แต่งงาน ข้าวใหม่ปลามัน เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ ฝ่ายชายอุ้มพาแฟนสาวเข้าห้อง จากนั้นดึงปิดผ้าม่าน ถึงเวลาเสพสำราญ
- ระหว่างที่ Lisa กำลังตระเตรียมอาหารเย็น = Jeff กลับถ้ำมอง Miss Lonelyhearts พบเห็นอยู่ตัวคนเดียวในห้องพัก แต่แต่งชุดหรูหรา จินตนาการว่ากำลังรับประทานอาหารกับชายคนรัก
- หลังขับไล่ Lisa กลับบ้าน ไม่ต้องการจะพบเจอเธออีก (แต่เธอก็หวนกลับมาในวันถัดๆไป) = ค่ำคืนนั้นฝนตกหนัก ทำให้คู่สามี-ภรรยาที่นอนนอกบ้านมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง = นักแต่งเพลงกลับเข้าห้องพักด้วยความผิดหวัง แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด = Miss Torso ก็เพิ่งกลับเข้ามาในห้องพัก กำลังเปลี่ยนเสื้อผ้า = และท้ายสุดเหมือนว่าเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมในห้องพักของ Lars Thorwald
- ยามค่ำคืน Miss Lonelyhearts ออกจากอพาร์ทเม้นท์ไปตกผู้ชาย พอดิบดีสวนทางกับ Lars Thorwald กลับเข้ามาในห้องพัก = แขกเหรื่อเข้าร่วมงานปาร์ตี้ในสตูดิโอของนักแต่งเพลง = Lisa เดินทางมาถึงพอดี ก่อนติดตามด้วยเพื่อนตำรวจ Tom (ครบองค์ปาร์ตี้)
- Jeff (และ Lisa) แสดงความไม่พึงพอใจเพื่อนตำรวจ Tom ที่ไม่เชื่อว่ามีคดีฆาตกรรมบังเกิดขึ้น = Miss Lonelyhearts พาชายหนุ่มคนหนึ่งมาที่ห้อง แต่อีกฝ่ายสนเพียงจะร่วมรักหลับนอน (ONS) จึงเกิดการทะเบาะเบาะแจ้ง แล้วฝ่ายชายหนีออกจากห้องพัก = Lisa ปิดผ้าม่าน สวมใส่ชุดนอนมายั่วราคะ แต่ยังไม่ทันจะเริ่มต้นทำอะไร ได้ยินเสียงกรีดร้องถึงความตายของเจ้าสุนัข แล้วตัดสู่ฉากถัดไป
ในส่วนเพลงประกอบ แม้ขึ้นเครดิต Franz Waxman แต่แค่ประพันธ์ Opening/Closing Credit และอีกสองบทเพลง Lisa กับ Many Dreams Ago, นอกเหนือจากนั้นเป็นการใช้ ‘diegetic music’ ได้ยินจากแหล่งกำเนิดเสียง ไม่ก็ทำการแสดงเปียโน
บทเพลงเพลง Lisa แต่งทำนองโดย Franz Waxman, คำร้องโดย Harold Rome แม้ในคลิปที่ผมนำมาจะไม่มีนักร้อง แต่ในหนังจะได้ยินเสียงใครสักคนล่องลอยมาเบาๆ จนทำให้ตัวละคร Lisa Fremont ถึงขนาดต้องฮัมตาม
Lisa
Are you mine at last, is it true?
Lisa
Seems i’ve spent my life wanting you.Hold me and whisper the sweet words i’m yearning for,
Drown me in kisses, caresses
I’m burning forLisa
Oh the joy of you close to me!
Lisa
Every touch is new ecstacy.If this is dreaming,
I hope I’ll never wake,
But dream forever,
In your arms, Oh LisaLisa
ในบรรดา ‘diegetic music’ ที่ผกก. Hitchcock คัดเลือกสรรมานั้น มีหลายบทเพลงที่น่าสนใจทีเดียว
- To See You (Is to Love You) (1952) แต่งโดย Jimmy Van Heusen, คำร้องโดย Johnny Burk, ขับร้องโดย Bing Crosby
- ดังขึ้นระหว่าง Miss Lonelyhearts กำลังรับประทานอาหารกับชายในจิตนาการ
- That’s Amore (1953) แต่งโดย Harry Warren
- ได้ยินเปียโนบรรเลง ระหว่างคู่รักเพิ่งแต่งงานเข้าห้องหอ
- Mona Lisa (1950) แต่งโดย Ray Evans & Jay Livingston
- ขับร้องโดยผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงค็อกเทล ในสตูดิโอของนักเปียโน
- Many Dreams Ago (1954) แต่งโดย Franz Waxman, คำร้องโดย Mack David
- ดังขึ้นระหว่าง Miss Lonlyhearts ออกเดินทางไปยังภัตตาคารฝั่งตรงข้าม
- Leonard Bernstein: Fancy Free (1944)
- Niccolò Paganini: Il carnevale di Venezia
- Friedrich von Flotow: Martha, oder Der Markt zu Richmond (1847)
- Franz Schubert: Balettmusik, nr 2, G-dur.
ถ้ำมอง (นาม) ตู้หรือหีบที่มีช่องเล็ก ๆ ซึ่งมีแว่นขยายสำหรับดูภาพยนตร์สั้น ๆ หรือรูปต่าง ๆ ให้คนดูได้ทีละคน.
ถ้ำมอง (กริยา) แอบดูตามรูหรือตามช่อง เพื่อดูผู้หญิงทำกิจส่วนตัว, เรียกผู้ที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น ว่า พวกถ้ำมอง.
โรคถ้ำมอง (Voyeurism) ความชอบแอบดู หรือการแอบดู เป็นความสนใจหรือข้อประพฤติทางเพศที่จะแอบดูคนอื่นทำการในที่ลับ เช่น ถอดเสื้อผ้า มีกิจกรรมทางเพศ หรือการอื่นๆ ที่ปกติพิจารณาว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล โดยคนแอบดูมักจะไม่ทำอะไรโดยตรง และผู้ถูกแอบดูก็ไม่รู้ว่ากำลังถูกถ้ำมอง
เกร็ด: คำภาษาอังกฤษ Voyeurism มาจากคำฝรั่งเศส Voyeur หมายถึงบุคคลที่ดู, ขณะที่คนแอบดูมีคำเรียกภาษาอังกฤษ Peeping Tom เชื่อกันว่ามาจากตำนานของ Lady Godiva เธอเคยเปลือยกายขี่ม้าในยามวิกาล เพื่อขอการปลดเปลื้องหนี้ภาษีที่ดินจากสามีจอมเผด็จการ
Sigmund Freud ได้เคยวิเคราะห์อาการทางจิตประสาทของโรคถ้ำมอง อาจเป็นผลมาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงสัญชาตญาณทางเพศที่ล้มเหลว ทำให้อัตตา (Ego) รู้สึกถูกคุกคามโดยสัญชาตญาณทางเพศ (Id) จึงป้องกันตัวเองด้วยการกดความต้องการนั้นไว้ อย่างไรก็ดีผลของมันอาจนำไปสู่การแสวงหาสิ่งทดแทนที่อันตรายกว่า
ในส่วนดวงตา เรามักแปลกระบวนการทางจิตใจว่าด้วยการกดความต้องการทางเพศผ่านการมอง และการเกิดขึ้นของอาการผิดปกติของการมองเห็นเนื่องจากภาวะทางจิต ราวกับว่า มันมีเสียงแห่งการลงทัณฑ์ออกมาจากภายใน “เพราะแกใช้อวัยวะสำหรับมองเห็นเพื่อความพึงใจในสัมผัสอันชั่วร้าย มันสมควรแล้วที่แกไม่สามารถมองเห็นได้อีกต่อไป”
ทางศีลธรรม จริยธรรมทางสังคม การแอบถ้ำมอง สอดรู้สอดเห็นเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น ถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม สร้างความรำคาญ ก่อกวนใจ ทำให้อับอาย รู้สึกไม่ปลอดภัย อาจนำไปสู่การสูญเสียชื่อเสียง เงินทอง ความมั่นคงทางจิตใจ
กฎหมายแต่ละประเทศมีบทลงโทษบุคคลผู้กระทำการถ้ำมองที่แตกต่างออกไป ในประเทศไทย ไม่มีกฎหมายกำหนดโทษสำหรับการแอบดูโดยเฉพาะ แต่มีกฎหมายประมวลอาญามาตราที่ 397 กำหนดไว้ว่า
ผู้ใด ในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญาไทย มาตรา 397
พุทธศาสนาไม่ได้มีกล่าวถึงโทษของการถ้ำมอง แค่คำเรียก อุสุยยบัณเฑาะก์ หมายถึง ชายที่ชอบพอใจในการดูกิจกรรมทางเพศ กล่าวคือถ้าแค่แอบมอง แล้วบังเกิดอารมณ์ (โลภ-โกรธ-หลง) แต่ไม่กระทำการล่วงละเมิดทางกาย-วาจา-ใจ ก็ไม่ถือว่าผิดศีล สามารถบวชพระ และไม่ต้องโทษปาราชิก
Rear Window แปลตรงตัวคือกระจกมองหลัง หรือหน้าต่างด้านหลัง ในบริบทของหนังต้องการสื่อถึง L.B. “Jeff” Jefferies ชายวัยกลางคนที่ทำการแอบถ้ำมองอยู่ด้านหลังหน้าต่าง สังเกตวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน การดำเนินไปของสมาชิกอพาร์ทเม้นท์ฟากฝั่งตรงข้าม เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น (เสือกเรื่องชาวบ้าน) แต่ก็ไม่เคยครุ่นคิดอยากทำอะไรไปมากกว่านั้น
นั่นเพราะเหตุผลการแอบถ้ำมองของ Jeff ไม่ได้ต้องการสำเร็จความใคร่ เพียงแค่วันๆไม่รู้จะทำอะไร ขาหักเข้าเฝือก นั่งๆนอนๆ พักรักษาตัวอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ เลยเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นวิถีชีวิตผู้คน ทำให้เกิดความสงบจิตสงบใจ ผ่อนคลายความตึงเครียด หวาดกังวล
แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสม แต่เพราะเขาไม่ได้คุกคาม กระทำสิ่งเลวร้าย หรือเข้าไปทำลายชีวิตผู้ใด ตรงกันข้ามกลับสังเกตเห็นเหตุการณ์ผิดปกติ นำสู่การจับกุมฆาตกรลงมือฆาตกรรมภรรยา นี่ก่อให้เกิดการตั้งคำถาม ความขัดแย้งระหว่างสามัญสำนึก v. ศีลธรรมจรรยา v. กฎหมายบ้านเมือง
ผมมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง คือภาพสะท้อนวิถีชีวิต รูปแบบสังคม(เมือง)ยุคสมัยใหม่ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Post War) ผู้คนมากมายอาศัยอยู่ร่วมกันในอพาร์ทเม้นท์หลังใหญ่ แต่พวกเขาต่างแยกกันอยู่ ไม่ค่อยสุงสิง คบค้าสมาคม เรียกร้องความเป็นส่วนตัว สร้างกำแพงขึ้นมากีดขวางกั้น … ถึงอย่างนั้นมนุษย์คือสัตว์สังคม จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่น เหมือนนักแต่งเพลงชื่นชอบจัดงานเลี้ยง, Miss Torso เปลี่ยนผู้ชายแวะเวียนมาไม่ซ้ำหน้า, Miss Lonelyhearts พยายามโหยหาใครสักคนเคียงข้างกาย ฯ
เฉกเช่นเดียวกับ Jeff พยายามใช้ข้ออ้างเรื่องการทำงาน ต้องออกเดินทางไปยังสถานที่ทุรกันดารห่างไกล เสี่ยงอันตราย พกเพียงกระเป๋าเดินทางหนึ่งใบ อพาร์ทเม้นท์คือสถานที่เก็บข้าวของ หลับนอนชั่วคราว ฉันไม่เหมาะจะแต่งงานกับใคร … ถึงอย่างนั้นหญิงสาว Lisa แม้แตกต่างตรงกันข้ามแทบทุกสิ่งอย่าง เจ้าแม่แฟชั่น มีการมีงานเป็นหลักแหล่ง สวย รวย เก่ง ฐานะดี รสนิยมหรูหรา กลับแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนทุกค่ำคืน ด้วยรัก เอ็นดู ห่วงใย พยายามเกี้ยวพาราสี โน้มน้าวให้เขายินยอมตอบตกลงแต่งงาน
คงไม่ผิดอะไรถ้าจะมองว่า Rear Window (1954) ไม่ต่างจาก Love Actually (2003) ร้อยเรียงเรื่องราวความรักหลากหลายรูปแบบ (หลากหลาย Genre) แตกต่างตรงที่ไม่ได้แบ่งแยกออกเป็นตอนๆ แต่ละห้องพักล้วนมีเรื่องราว เหตุการณ์บังเกิดขึ้นแตกต่างกันไป คนโสดโหยหาคู่ครอง หนุ่ม-สาวข้าวใหม่ปลามัน สามี-ภรรยาอยู่กินกันมาหลายปี รวมถึงพระเอก Jeff ถูกเกี้ยวพาราสีโดยสาวสวย Lisa เมื่อไหร่จะยินยอมตอบตกลงแต่งงาน … ช่างเป็นอพาร์ทเม้นท์ที่ตลบอบอวล คละคลุ้งด้วยกลิ่นอายความรัก ‘Symphony of Love’
แซว: ผมอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของ Grace Kelly กล่าวถึงมุมมองการทำงานของผกก. Hitchcock ถ่ายทำฉากฆาตกรรมให้ออกมาราวกับ Love Scene
What struck me that evening while re-seeing all of these little bits of films I know by heart was the simultaneous sincerity and savagery of the Hitchcockian oeuvre. I realized that all the love scenes had been shot like murder scenes, and all the murder scenes like love scenes.
Grace Kelly
สื่อภาพยนตร์ โทรทัศน์ แตกต่างอะไรจากการถ้ำมอง? นี่น่าจะคือความสนใจหลักๆของผกก. Hitchcock ต่อผลงาน Rear Window (1954) พยายามออกแบบตัวละคร Jeff ประกอบอาชีพช่างภาพ ในห้องพักเต็มไปด้วยกล้องขนาดเล็ก-ใหญ่ หลายครั้งมองผ่านเลนส์ Telephoto Lens พบเห็นเหตุการณ์บังเกิดขึ้น ดำเนินไป จากระยะไกล-กลาง-ใกล้ แต่ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องแว้งใดๆ
To clarify Rear Window, I’d suggest this parable: The courtyard is the world, the reporter/photographer is the filmmaker, the binoculars stand for the camera and its lenses. And Hitchcock? He is the man we love to be hated by.
บทความวิจารณ์ของ François Truffaut ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Cahiers du Cinéma
ผู้ชมในโรงภาพยนตร์ก็เหมือนกับ Jeff ทำได้เพียงจับจ้อง ถ้ำมอง แต่ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องราว เหตุการณ์บังเกิดขึ้น เพียงรับชมเพื่อความบันเทิง หลากหลายแนว Drama, Romance, Musical, Mystery ฯ เบื่อแนวไหน/อพาร์ทเมนท์หลังไหน ก็คลิกรีโมทเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ เบือนหน้าหนีไปยังห้องถัดไป
ผกก. Hitchcock เคยให้คำนิยามภาพยนตร์ “Most films are slices of life. Mine are slices of cake.” สิ่งต่างๆที่ตัวละครพบเห็น/ถ้ำมอง แต่ละห้องพักล้วนมีเรื่องราวแตกต่างกันไป ‘slice of cake’ บางชิ้นหวานอร่อย บางชิ้นเปรี้ยวปาก บางชิ้น(ระทม)ขมขื่น หลากหลายรสชาด-อารมณ์ คลุกเค้าเข้ากันได้อย่างกลมกล่อม
For me, cinema is essentially emotion. It is pieces of film joined together that create an idea, which in turn creates an emotion in the mind of the audience. Not through spoken words, but through the visuals. It’s a visual medium. And montage is the main thing. All moviemaking is pure montage.
Alfred Hitchcock
อีกสิ่งที่อยู่ในความสนใจของผกก. Hitchcock ใช้แนวคิดการแอบถ้ำมอง บันทึกภาพระหว่างที่ตัวละคร/นักแสดงกำลังไม่รับรู้ตนเอง ครุ่นคิดว่าฉันอยู่ในสถานที่ส่วนบุคคล ห้องพัก อพาร์ทเม้นท์ เลยไม่จำเป็นต้องสร้างภาพ เล่นละคอนตบตา คือช่วงเวลาที่พวกเขาเป็นตัวของตนเองมากที่สุด!
It shows every kind of human behaviour—a real index of individual behaviour. The picture would have It shows every kind of human behaviour—a real index of individual behaviour. The picture would have been very dull if we hadn’t done that. What we see across the way is a group of little stories that, as you say, mirror a small universe.
ทิ้งท้ายกับคดีฆาตกรรมอำพรางของหนัง ต้องถือเป็นความอาฆาตแค้นฝังหุ่นของผกก. Hitchcock จงใจออกแบบตัวละคร Lars Thorwald ให้มีหน้าตาละม้ายคล้ายโปรดิวเซอร์ David O. Selznick ทั้งๆอีกฝ่ายกำลังเลือนหายจากวงการภาพยนตร์ แต่ทว่าเวรกรรมเคยทำกันไว้ ยังคงเป็นตราบาปฝังใจ หมกมุ่นยึดติด ไม่สามารถปล่อยละวางได้ลง
ด้วยทุนสร้าง $1 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินในการฉายครั้งแรก $5.3 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม! แม้เสียงตอบรับจะถูกโจมตีเรื่องการถ้ำมอง แต่โดยรวมถือว่าดียอดเยี่ยม จึงได้เข้าชิง Oscar จำนวน 4 สาขา หลุดโผลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, สาขาการแสดง ตัดต่อ และโปรดักชั่นงานสร้าง Best Art Direction, Color ไปได้อย่างไร?
- Best Director
- Best Adapted Screenplay
- Best Cinematography – Color
- Best Sound – Recording
เกร็ด: ผกก. Hitchcock ตัดสินใจซื้อต่อลิขสิทธิ์หนังจำนวน 5 เรื่อง (รวมเรียกว่า ‘five lost Hitchcocks’) ประกอบด้วย Rope (1948), Rear Window (1954), The Man Who Knew Too Much (1956), The Trouble with Harry (1955), Vertigo (1958) ทำให้หลังออกฉายครั้งแรก ถูกเก็บเข้ากรุง ไม่ได้นำออกฉายซ้ำจนกระทั่งหลังเสียชีวิตปี ค.ศ. 1980
และเมื่อหนังนำกลับมาออกฉายสู่สายตาผู้ชมรุ่นใหม่ ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญเหนือกาลเวลา กลายเป็นตำราภาพยนตร์ หนึ่งใน “Greatest Films Ever Made” ได้รับการโหวตติดอันดับชาร์ทหนังยอดเยี่ยมหลากหลายสำนัก
- AFI: Greatest American Films Of All Time (1998) ติดอันดับ #42
- AFI: Greatest American Films Of All Time (2007) ติดอันดับ #48
- AFI’s 100 Years…100 Thrills (2001) ติดอันดับ #14
- AFI’s 10 Top 10 แนวหนัง Mysteries (2008) ติดอันดับ #3
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ #53 (ร่วม)
- Sight & Sound: Director’s Poll 2012 ติดอันดับ #48 (ร่วม)
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ #38 (ร่วม)
- TIME OUT: Top 100 Films (1998) ติดอันดับ #21 (ร่วม)
- TIME OUT: The 100 best thriller films of all time (2022) ติดอันดับ #26
- Empire: The 100 Greatest Movies (2017) ติดอันดับ #72
ฟีล์มเนกาทีฟ Technicolor เห็นว่าสีตกอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 60s โดยเฉพาะเฉดสีเหลืองซีดเซียวจนหมดสภาพ โชคดีที่การบูรณะดำเนินไปด้วยดี สามารถฟื้นฟูคุณภาพสีให้กลับมาเหมือนใหม่ ปัจจุบันปรับปรุงคุณภาพ 4K สามารถหาซื้อ Blu-Ray 4K Ultra HD ของค่าย Universal Studios
หวนกลับมารับชมรอบนี้ ผมยังคงหลงใหลคลั่งไคล้ ชื่นชอบความเรียบง่ายแต่โคตรๆลึกล้ำ ทั้งการแสดงของ Jimmy ความเจิดจรัสของ Grace Kelly ลีลาการถ่ายภาพ ตัดต่อ และโดยเฉพาะคำนิยามสื่อภาพยนตร์ของผกก. Hitchcock มันช่างเฉียบแหลม คมคาย ครุ่นคิดได้ยังไง … หนึ่งในมาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์
ปล. Rear Window (1954) เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในช่วง Covid-19 เพราะหลายคนถูกกักตัว ทำงานจากที่บ้าน จึงสามารถเข้าถึงอารมณ์ตัวละคร เต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย ไม่รู้จะทำอะไรยังไง โหยหาอิสรภาพ พยายามมองหา/ทำบางสิ่งอย่าง เพื่อให้วันเวลาเคลื่อนพานผ่านไปอย่างรวดเร็ว
จัดเรต pg กับการถ้ำมอง พบเห็นการฆาตกรรม
คำโปรย | Rear Window ถ้ำมองผ่านหน้าต่าง ด้วยสายตาลุ่มหลงใหล พบเห็นจุลภาคสังคม คำนิยามสื่อภาพยนตร์ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล
Rear Window (1954) : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥♡
(11/9/2016) อีกหนึ่ง Masterpiece ของ Alfred Hitchcock มี James Stewart เล่นเป็นคนขาหัก รักษาตัวในอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่ง วันๆไม่มีอะไรทำ เลยมองออกไปนอกหน้าต่าง ส่องดูวิถีชีวิตคนอื่นไปทั่ว แล้วเรื่องวุ่นๆก็เกิดขึ้น เมื่อมีเพื่อนบ้านคนหนึ่งทำตัวน่าสงสัย ฤาเขากำลังวางแผนหรือทำอะไรบางอย่าง
นี่เป็นหนังของ Alfred Hitchcock ที่ผมถือว่าเป็น Masterpiece เพราะความท้าทายในการสร้างเรื่องราวที่มีขอบเขตจำกัด ด้วยวิธีการนำเสนอที่อาศัยเทคนิคตระการตามากมาย ผลลัพท์ออกมาถือว่ามหัศจรรย์สุดเหลือเชื่อเหนือความคาดหมาย (มีหนัง 4 เรื่องของ Hitchcock ที่ส่วนตัวผมถือว่าคือ Masterpiece ประกอบด้วย Rear Windows, Vertigo, Psycho และ The Birds)
Rear Window ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น It Had to Be Murder เขียนโดย Cornell Woolrich ในปี 1942 ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย John Michael Hayes ที่หลังจากเรื่องนี้ได้ร่วมงานกับ Hitchcock อีก 3 เรื่อง To Catch a Thief (1955), The Trouble with Harry (1955) และ The Man Who Knew Too Much (1956) เรื่องหลังสุดเป็น remake จากเวอร์ชั่นปี 1934
It Had to Be Murder เป็นเรื่องสั้นที่ไม่มีเรื่องรักๆใครๆ และไม่มีการส่องดูเพื่อนบ้านคนอื่นๆเลย (ส่องเฉพาะเพื่อนบ้านคนที่ทำตัวน่าสงสัย) ซึ่งพอนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว Hitchcock และ Hayes จำเป็นต้องสร้างเรื่องราวเพิ่มเติมเข้าไปพอสมควร อาทิ ใส Lisa แฟนสาวของพระเอกเพิ่มเข้าไป, Stella ที่เป็นพยาบาล เห็นมาแทนที่ตัวละครเดิมชื่อ Sam ที่เป็น houseman คนคอยเช็คอาการว่าพระเอกอยู่ดีกินดีหรือเปล่า, และเพื่อนบ้านทั้งหลาย ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เรื่องราวของพวกเขาทั้งหมดมีบางสิ่งบางอย่างสอดคล้องกัน
สำหรับเรื่องราวมุมมองความรักของพระเอกและ Lisa เห็นว่า Hitchcock ได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นนักแสดง Ingrid Bergman ขณะกำลังถ่ายหนังเรื่อง Notorious (1946) [กำกับโดย Hitchcock] ที่เธอได้คบชู้อยู่กับ Robert Capa ผู้เป็นช่างภาพอาศัยอยู่ที่ Greenwich Village (ตอนนั้น Bergman แต่งงานแล้วกับ Petter Lindström) แต่ทั้งสองคบกันได้ไม่ถึงปีก็เลิกกัน
นำแสดงโดย James Stewart นี่เป็นการร่วมงานครั้งที่ 2 (จากทั้งหมด 4 ครั้ง) กับ Hitchcock รับบท L. B. “Jeff” Jefferies ช่างภาพที่ประสบอุบัติเหตุขาหักเข้าเฝือก พักรักษาตัวอยู่ในห้องอพาร์ทเมนต์ วันๆไม่มีอะไรทำ ด้วยความเบื่อหน่ายเขาจึงชอบมองออกไปนอกหน้าต่าง สังเกตพฤติกรรมของเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม, หนังใช้มุมมองของ Jeff ทั้งเรื่อง ไม่ถ่ายในห้องก็มองออกไปนอกอพาร์ทเมนต์, สำหรับบทนี้ดูเหมือน Stewart แทบจะไม่ต้องใช้การแสดง ทำอะไรมากเลย นอกจากนั่งอยู่บนเก้าอี้ มีแค่สายตา สีหน้าที่เปลี่ยนไปตามสิ่งที่เขามองเห็นนอกหน้าต่างเท่านั้น
Grace Kelly รับบท Lisa แฟนสาวสุดสวยของ Jeff, โอ้! ใบหน้า ท่าทาง การแสดง นิสัยของเธอ สวยงามราวกับนางฟ้าเสียนี่กระไร (ก็แน่ละ ภายหลังเธอได้กลายเป็นเจ้าหญิงจริงๆ แต่งงานกับเจ้าชายโมนาโก กลายเป็น Grace of Monaco) เริ่มต้นมาเราจะเห็นตัวละครนี้ตรงข้ามกับ Jeff แทบทุกอย่าง ดูแล้วไม่น่าเข้ากันได้เลย แต่เพราะความรัก ไม่เขาหรือเธอสักคนต้องยอมเปลี่ยน ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็น Lisa ที่เปลี่ยน เปรียบกับเรื่องราวของเพื่อนบ้านผู้น่าสงสัย ทีแรก Lisa ไม่เชื่อ Jeff แต่เมื่อ ‘สัญชาตญาณ’ ของผู้หญิงบอกเธอ ทำให้เห็นด้วย เข้าข้างกันเขา และเชื่อว่าเพื่อนบ้านคนนั้นน่าสงสัยจริงๆ
Kelly ทั้งชีวิตเล่นหนัง 11 เรื่อง (เลิกเล่นเพราะแต่งงานกลายเป็นเจ้าหญิง) เล่นหนังกับ Hitchcock ทั้งหมด 3 เรื่อง Dial M for Murder (1954), Rear Window (1954) และ To Catch a Thief (1955) เธอบอกปัดแสดงหนังเรื่อง On the Waterfront (1954) เพื่อมาเล่นหนังเรื่อง Rear Window โดยเฉพาะ, ได้เข้าชิง Oscar 2 ครั้ง ได้มา 1 รางวัล Best Actress in a Leading Role จากหนังเรื่อง The Country Girl (1954) นอกจากนี้ผลงานเด่นๆของเธอยังมี High Noon (1952), Mogambo (1953) ฯ เรื่องราวชีวิตของเธอ เปรียบได้ดั่ง ‘เทพนิยาย’ จากผู้หญิงธรรมดา กลายเป็นเจ้าหญิง งานแต่งงานของเธอถือเป็นการแต่งงานที่โด่งดังที่สุดแห่งศตวรรษ และการเสียชีวิตของเธอเมื่อปี 1982 ได้สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้คนทั้งโลก ใครอยากรู้เรื่องของเธอ ไปหาหนังเรื่อง Grace of Monaco (2014) นำแสดงโดย Nicole Kidman รับบท Grace Kelly
เกร็ด: เพื่อนบ้านที่น่าสงสัย รับบทโดย Raymond Burr ที่ Hitchcock เลือกชายคนนี้ เพราะเขาหน้าเหมือนโปรดิวเซอร์ David O. Selznick คนที่ Hitchcock เคยทำงานด้วย และไม่ชอบขี้หน้าที่สุดเลย (Selznick เป็นโปรดิวเซอร์ Rebecca-1940 หนัง hollywood เรื่องแรกของ Hitchcock)
หนังทั้งเรื่องถ่ายทำในฉากเดียว อพาร์ทเม้นท์สร้างขึ้นที่ Paramount Studio ว่ากันว่าค่าออกแบบ $9,000 เหรียญ ค่าก่อสร้าง $72,000 ดอลลาร์ ประกอบด้วยตึก 7 แถว (ถนนอีก 3 แถว) ความกว้าง 98 ฟุต ยาว 185 ฟุต สูง 40 ฟุต (เทียบได้กับตึกสูง 5-6 ชั่น) รวมจำนวน 31 ห้องพัก มี 8 ห้องที่เฟอร์นิเจอร์ น้ำไฟใช้งานได้จริง
Hitchcock เริ่มวางแผนสร้างหนังเรื่องนี้ ขณะกำลังถ่ายทำหนังเรื่อง Dial M for Murder (1954) ซึ่งพอถ่ายทำเสร็จ ก็มาถ่าย Rear Window ต่อทันที เปิดกอง 27 พฤศจิกายน 1953 ถ่ายเสร็จ 26 กุมภาพันธ์ 1954
ถ่ายภาพโดย Robert Burks ขาประจำของ Hitchcock กับหนังเรื่องนี้ ปักหลักถ่ายทำกันในห้องของ Jeff ที่เดียวเท่านั้นไม่ได้ย้ายไปไหน Hitchcock เองก็ฝังรากงอกอยู่ที่นี่เช่นกัน สำหรับนักแสดงที่รับบทเพื่อนบ้านทั้งหลาย แต่ละคนจะมีหูฟังไร้สาย เพื่อรับฟังคำสั่งขณะแสดง, เนื่องจากระยะห่างของสองอพาร์ทเมนท์ไม่ได้ใกล้กันเลย Burks ต้องใช้ Telephoto Lens (สมัยนั้นติดกล้องถ่ายภาพมีขนาดใหญ่มาก) เอาตั้งไว้บนเครน เพื่อสำหรับถ่ายเวลาต้องการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ภายนอกหน้าต่าง
เกร็ด: กล้อง 35mm ที่ตัวละครของ James Stewart รุ่น Exakta VX เป็นกล้อง SLR ของ Ihagee Kamerawerk ผลิตที่ Dresden, (East) Germany ส่วนตัวเลนส์ Telephoto ขนาด 400mm Kilfitt คนเล่นกล้องคงรู้ดีว่า เลนส์ตัวนี้ Sensitive มาก ถ้าไม่ใช้ขาตั้ง (tripod) จะแทบมองไม่ได้เลย และถ้าสังเกตให้ดีจะมีเทปสีดำแปะอยู่ (ปิดโลโก้สินค้าไว้ กันเรื่องลิขสิทธิ์)
ลักษณะการถ่ายภาพของหนังเรื่องนี้เหมือนกับการ ‘ถ้ำมอง’ (Voyeur) แอบมอง แอบถ่าย, ความหมายจริงๆของ ถ้ำมอง จะออกไปในทางสื่อความหมายเรื่องเพศ ความพึ่งพอใจที่ได้เห็นร่างกายเปลือยเปล่าหรือกิจกรรมทางเพศของผู้อื่น, กับหนังเรื่องนี้มันก็สื่อไปทางนั้นนะครับ พระเอกของหนังส่อง สิ่งที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันของเพื่อนบ้าน คนส่วนใหญ่คงไม่อยากเห็น (แต่การเปิดประตูหน้าต่างแบบนั้น เป็นเหมือนการเชื้อเชิญให้มองเห็นมากๆ) เชื่อว่าคนจิตปกติทั่วไปน่าจะรู้ดี ว่าการถ้ำมองเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเลย (เพราะเป็นการไปรุกรานสิทธิของผู้อื่น) Roger Ebert ตั้งคำถาม มันไม่ใช่ว่านี่เป็นสิ่งที่เราทำอยู่ทั่วไปเวลาดูหนังทุกเรื่องหรอกหรือ?
สิ่งที่หนังเรื่องนี้นำเสนอ ชายคนหนึ่งที่เป็นผู้ชม แอบส่องดูเรื่องราว ชีวิตส่วนตัวของคนอื่น ผ่านเลนส์กล้องถ่ายรูป เทียบกันตรงๆก็คือ คนดูหนัง นั่งชมเรื่องราว ชีวิตส่วนตัวของตัวละคร ผ่านฟีล์มภาพยนตร์ มันช่างไม่ต่างกันเลย สามารถเรียได้ว่า ถ้ำมอง เหมือนกัน แต่ไฉนแบบแรกไม่เหมาะสม แบบหลังยอมรับได้? คำตอบคือ ‘สาธารณะ’ กับการถ้ำมองสิ่งที่ตนไม่ต้องการให้คนอื่นเห็น นี่ถือเป็นสิ่งผิด แต่ถ้านั่นเป็นสิ่งที่เขายอมรับ เปิดเผยได้ เป็นสาธารณะ นั่นจะไม่ใช่ถูกมองว่าเป็นการถ้ำมองอีกต่อไป
ตัดต่อโดย George Tomasini อีกหนึ่งขาประจำของ Hitchcock, สิ่งโดดเด่นมากที่สุดของหนังเรื่องนี้ คือการตัดต่อแบบ Reverse Shot Pattern เทคนิคนี้ได้อิทธิพลมาจาก Russian Montage ที่มีการตัดสลับใบหน้าของตัวละคร กับสิ่งอื่นๆที่ใช้แทนอารมณ์ความรู้สึก ที่เมื่อผู้ชมเห็นแล้วจะและเข้าใจไปทางนั้น เช่น ตัดภาพใบหน้าคนสลับกับจานข้าว เราจะเข้าใจว่าคนๆนั้น หิว เป็นต้น, กับหนังเรื่องนี้ใช้การตัดสลับหน้าของ James Stewart กับภาพวิถีของเพื่อนบ้าน ทำให้เราเข้าใจว่าเขากำลัง ถ้ำมอง และการตัดสลับกลับมาเห็นใบหน้าของ Stewart อีกครั้ง เพื่อแสดงความรู้สึก สีหน้าของเขาต่อสิ่งที่เห็น ฉากพวกนี้อาจดูเฉื่อยช้าน่าหลับ แต่ผมดูกี่ทีก็ยังรู้สึกว่า มันใช่ ลงตัว เหมาะสมเหมาะเจาะ พอดี นี่คือสิ่งที่ผมมองว่าคือช็อต Masterpiece ของหนังเลยนะครับ
เพลงประกอบโดย Franz Waxman ตอนแรกผมเอะใจว่า มีด้วยเหรอ? คุ้นๆว่าไม่ได้ยินเพลงอะไรในหนังเลย มาเช็คดูก็พบว่า มีตอนต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง และทำนองเปียโนเพลง Lisa ที่แต่งโดยเพื่อนบ้าน
เกร็ด: อพาร์ทเมนท์ของนักแต่งเพลง Ross Bagdasarian ที่มารับเชิญในหนัง เขาเป็นนักแต่งเพลงจริงๆนะครับ โด่งดังที่สุดก็ The Chipmunk Song ประกอบ Alvin and the Chipmunks
ถึงเพลงประกอบจะไม่เด่น แต่ Sound Effect ในหนังสมจริงมาก สังเกตขณะที่กล้องเคลื่อนผ่านห้องต่างๆ แต่ละห้องก็จะมีเสียงเพลง ทำนอง ประกอบเฉพาะตัว พอกล้องเคลื่อนผ่านห้องหนึ่ง เสียงเก่าก็จะค่อยๆเบาลง พอถึงห้องใหม่ เสียงใหม่ก็จะดังขึ้น, Hitchcock เรียกเสียงลักษณะนี้ว่า Diegetic Sound มีลักษณะ เสียงดังขึ้นจากชีวิตปกติของตัวละคร (sounds arising from the normal life of the characters) ใช้การบันทึกเสียงขณะถ่ายทำนะครับ
ถ้าเราลำดับเรื่องราว เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นขณะตัวละครของ James Stewart ถ้ำมองเพื่อนบ้าน มันจะเหมือนว่าสิ่งที่เขาเห็น คือมุมมอง ความเป็นไปได้ของ ชีวิตและการแต่งงาน
> คนโสด
– นักดนตรีหนุ่มที่รายล้อมไปด้วยพรรคพวก เพื่อนฝูงมากมาย แต่ยังไร้ซึ่งคู่ครอง แต่งเพลงน่าจะเพื่อจีบสาว
– นักบัลเล่ต์สาว ที่วันๆซ้อมแต่บัลเล่ต์ เพื่อหวังว่าจะเข้าตาชายหนุ่มหล่อๆรวยๆ
> แต่งงานแล้ว
– คู่แต่งงานใหม่ ที่วันๆไม่ทำอะไรนอกจากปิดผ้าม่าน (ไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้ว่าทำอะไรกัน)
– ครอบครัวที่อยู่กันมานาน นอนที่ระเบียง มีแมวเป็นเหมือนลูก (คาดว่าถ้ามีลูกไม่ได้ ก็ลูกโตพอออกจากบ้านไปแล้ว)
– สามีที่ดูแลภรรยาเจ็บป่วยนอนอยู่บนเตียง
> หญิงหม้าย
– หญิงหม้ายที่ใช้ชีวิตอย่างเงียบเหงาตามลำพัง จินตนาการถึงคนรัก ครั้งหนึ่งพาหนุ่มหล่อเข้าห้อง แต่เขาสนใจแค่หวังฟันเธอเท่านั้น คิดจะฆ่าตัวตาย แต่เสียงแห่งความรักหยุดรั้งเธอไว้
– หญิงหม้ายอีกคน ที่ไม่ได้สนใจความรักแล้ว เอาเวลาไปปั้นรูปปั้น (ที่อาจจะกลายเป็นหนุ่มในอุดมคติของเธอ)
ฯลฯ
ตัวพระเอกมีความลังเล ‘ไม่แน่ใจ’ ในชีวิตแต่งงาน แม้จะมีแฟนสาวที่สวย ฉลาด ดีพร้อม แต่เพราะเขาต้องการเป็นอิสระ ไม่ต้องการยึดตัวเองติดกับอะไร และไม่อยากเสียสละอะไร (เอาหน้าที่การงานของตนมาอ้าง) การส่องดูเพื่อนบ้านในอพาร์ทเม้นท์ ทำให้เขามองเห็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในชีวิตเขา ถ้าไม่ได้แต่งงานจะเป็นยังไง? ถ้าได้แต่งงานจะเป็นยังไง? แต่งงานแล้วอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง? ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วตระหนักได้ว่า กำลังเห็นภาพเรื่องราวทั้งชีวิตของมนุษย์ ทั้งๆที่หนังถ่ายแค่จากห้องพักเล็กๆแคบๆห้องหนึ่งห้องเดียวแค่นั้น … ขนลุก ทำไปได้ยังไง!
การใส่ความระทึก (Thriller) เข้ามา ทำให้หนังมีเรื่องราวที่ซับซ้อนขึ้น เพราะสิ่งที่เราเห็น ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แค่บางส่วนของเรื่องราว เปรียบได้กับการคละชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ออกจากกัน สิ่งที่เราหยิบขึ้นมาเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เราจะต้องประติดประต่อ ประกอบขึ้นใหม่ด้วยตนเอง, เริ่มจากการสังเกต เกิดเป็นสมมติฐาน เราต้องหาหลักฐานมาประกอบสนับสนุน จึงสามารถหาคำตอบข้อสรุปได้ ที่ผมพูดนี้ไม่ใช่แค่กับเหตุการณ์สุดพิศวงที่เกิดขึ้นในหนังนะครับ แต่ยังมองได้ถึงความรักระหว่างชายหญิง ที่เริ่มต้นเราคงได้แค่สังเกตจากภายนอก ว่าคู่ของเรามีลักษณะนิสัยตัวตนอย่างไร พอจะยอมรับเขาได้ไหม เมื่อได้แต่งงานอยู่กินร่วมกัน ธาตุแท้ตัวจริงของทั้งสองฝ่ายเริ่มเผยออก จากรูปธรรมเป็นนามธรรม จากสมมติฐานเป็นข้อสรุป จิ๊กซอว์ได้รับการประกอบใหม่จนสำเร็จ นี่คือสิ่งที่ทำให้หนังมีความระทึกขวัญ
ความท้าทายของการเปลี่ยนมุมมองจาก ผู้ชม กลายเป็นผู้เล่นในช่วงท้าย เป็นสิ่งที่มนุษย์เราทั่วไปไม่ยอมเปลี่ยนกันง่ายๆ (ถ้าไม่ถูกบังคับจริงๆ) ตัวละครของ Stewart ไม่ได้มีความต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์เลยด้วยซ้ำ มันเสี่ยงอันตรายเกินไป และร่างกายที่เป็นอุปสรรค จึงต้องการหลีกเลี่ยงทุกสิ่งอย่างขอเป็นแค่ผู้ชมหลบซ่อนอยู่เบื้องหลัง แต่เป็นแฟนสาวที่ทะยาน กระโดดเข้าหา ยอมรับความเสี่ยง จนทำให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของพระเอกทำให้เขาถูกค้นพ้น และต้องกลายเป็นผู้เล่น ด้วยอาวุธที่มีเพียง Flash จากกล้องถ่ายรูป ซึ่งรั้งปัญหาได้เพียงชั่วครั้งคราวเท่านั้น
กับบทวิจารณ์ส่วนใหญ่ คงจะพูดสอนถึงคุณโทษของ การถ้ำมอง อย่างเมามัน ผมขอข้ามไปเลยนะครับ ถ้าคุณโตพอจะเข้าใจได้ คงไม่ต้องให้มาใครสอนหรอกว่านี่เป็นสิ่งเหมาะสมหรือเปล่า, แต่อยากแนะนำโทษตามกฎหมายไว้ ในประเทศไทย ไม่มีกฎหมายกำหนดโทษสำหรับการแอบดูโดยเฉพาะ แต่มีกฎหมายประมวลอาญามาตราที่ 397 ที่กำหนดว่า
“ผู้ใด ในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ด้วยทุนสร้าง $1 ล้านเหรียญ หนังทำเงิน $36.8 ล้านดอลลาร์ กำไรเน้นๆ เข้าชิง Oscar 4 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Director (พ่ายให้กับ Elia Kazan เรื่อง On the Waterfront)
– Best Writing, Screenplay
– Best Cinematography, Color
– Best Sound, Recording
โพลจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ติดอันดับ 42 จากการจัดอันดับ AFI: Greatest American Films Of All Time 1998
ติดอันดับ 48 จากการจัดอันดับ AFI: Greatest American Films Of All Time 2007
ติดอันดับ 48 จากการจัดอันดับ Sight & Sound: Director’s Poll 2012
และติดอันดับ 53 จากการจัดอันดับ Sight & Sound: Critic’s Poll 2012
เกร็ด: Hitchcock ปรากฏ Cameo แอบซ่อนในห้องของนักแต่งเพลง ลองหาดูนะครับ
ถึงผมจะชื่นชอบเทคนิค วิธีการนำเสนอของหนังเรื่องนี้มาก แต่ถ้าดูตอนง่วงๆ ก็หาวหลับได้สบาย ความยาว 112 นาที กับการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างช้า ค่อยเป็นค่อยไป กับนักดูหนังสมัยใหม่ คงได้อยู่ไม่สุขเบื่อสุดๆเป็นแน่, กระนั้นหนังเรื่องนี้ถือว่า ‘คลาสสิก’ ในวิธีการนำเสนอ ที่ต้องใช้ความรู้สึกซึมซับ และการคิดวิเคราะห์ตีความ, ผมจัดให้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะความประณีตของการเล่าเรื่อง เทคนิคที่เรียบง่ายแต่ล้ำยุคสมัย และเนื้อหาที่แฝงข้อคิดการใช้ชีวิต มีหลายๆเรื่องน่าสนใจทีเดียว
ถ้าคุณเป็นพวกถ้ำมอง… ไม่ต้องเปิดเผยตัวก็ได้มั้ง, แนะนำกับนักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักสืบ ตำรวจ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของตัวละคร, แฟนหนัง Alfred Hitchcock, James Stewart, Grace Kelly ไม่ควรพลาดเลย
แนะนำอย่างยิ่งกับนักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ นี่เป็นหนังเรื่องบังคับที่จำเป็น “ต้อง” ดู ศึกษาเทคนิคต่างๆ เรียนรู้ นำไปปรับใช้ในการทำงานได้เลย
แนะนำเพิ่มเติมกับคนชอบหนังประเภท ‘พื้นที่จำกัด’ ที่เจ๋งๆเลย ลองหา 12 Angry Mens (1957) และ Raise the Red Lantern (1991) มาดูนะครับ
จัดเรต 13+ กับนิสัยถ้ำมอง
โดยส่วนตัวแล้วชอบเรื่องนี้ค่ะ ชอบตอนสุดท้ายของหนังที่สุดท้ายพระเอกก็มีเอี่ยวและเสี่ยงอันตรายจนได้ ช่วงนั้นลุ้นมาก แต่ก็โล่งอกที่แค่ขาหักเพิ่มอีกข้าง แต่ที่กังวลที่สุดของหนังเรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องความารักพระเอกนางเอก ที่ส่อแววง่อนแง่นตั้งแต่เริ่ม จนตอนจบก็ยังไม่วางใจ คิดว่าสักคนต้องเปลี่ยน แต่พระเอกดูเหมือนไม่อยากเปลี่ยน เลยแบบท้ายสุดก็คงอาจได้เลิกกัน เรื่องนี้เกรซสวยมากค่ะ ชุดก็งดงาม ชอบการถ่ายสลับไปมาเพื่อแสดงอารมณ์ตัวละครด้วย เป็นเรื่องที่ชอบแต่ก็น้อยกว่า Vertigo psycho North west Rebeccaค่ะ ^^
หนึ่งในเทคนิคลูกเล่นการเล่าเรื่องที่น่าสนใจคือ ฉากเปิดเรื่องที่ Hitchcock ใช้การเคลื่อนกล้องอย่างลื่นไหลบอกเล่าเรื่องราวของพระเอก Stewart ด้วย “ภาพ” โดยไร้คำพูดภายในระยะเวลาสั้นๆ (ซึ่งวิธีนี้ Hitchcock เคยทดลองใช้มาแล้วใน Lifeboat (1944) เป็นอย่างน้อย)
โดยหลังจาก Opening Credit ตามด้วยกล้องถ่ายอพาร์ตเม้นต์ตรงข้ามแล้ว ก่อนค่อยๆเลื่อนเข้ามาในห้องพระเอก เห็นตั้งแต่หน้าพระเอก Stewart —> เลื่อนตามตัวมายังขาเข้าเฝือก ที่เขียนชื่อตัวละคร (มองว่าเหมือนเป็น Opening Credit ด้วยก็ได้) —> ถอยออกมาเห็นนั่งรถเข็นทั้งตัวแล้วข้ามมาอีกฝั่งของห้องที่มีซากกล้องถ่ายรูปแหลกพังวางอยู่บนโต๊ะ —> ซูมเข้าหาซากกล้องแล้วเลื่อนขึ้นด้านบนข้างหลังเป็นรูปถ่ายรถแข่งพุ่งเข้ามาหา —> เลื่อนขึ้นไปเป็นรูปรถดับเพลิงกับควันพวยพุ่ง —> เลื่อนมาทางซ้ายเป็นรูปคนพิงรถ(ไม่แน่ใจว่าเป็นรูปพระเอกตอนขาหักหรือคนอื่นทั่วไป) —> เลื่อนลงมาผ่านรูปถ่ายการผจญภัยอื่นๆ (บ่งบอกถึงการเป็นนักผจญภัยชอบเดินทาง) —> ไหลผ่านกล้องถ่ายรูปอีกตัวที่ยังใช้การได้ ซึ่งต่อมาคือกล้องอันที่ใช้ถ่ายรูปตอนคนร้ายบุกเข้ามาให้ตาพร่านั่นเอง (เป็นการบอกคนดูให้รู้ว่ามีกล้องตัวนี้อยู่ในห้อง) —> ฟิล์มภาพถ่ายแฟนสาวตอนที่ยังไม่ล้างฟิล์ม —> ภาพแฟนสาวบนบกนิตยสาร (ภาพเดียวกันกับฟิล์มภาพก่อนหน้า) —> จบ
ซึ่งบรรดาภาพที่กล้องบรรจงลื่นไหลร้อยเรียงมาตอนต้นเรื่องนี้ล้วนแล้วแต่สรุปสะท้อนถึงเรื่องราวของตัวพระเอกโดยใช้เพียง “ภาพ” เท่านั้น หลังจากนั้นจึงเข้าเรื่อง ตัวละครพูดเรื่องราวของตน ณ ปัจจุบันต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องอารัมภบทย้อนภูมิความให้มากมายอีกต่อไป