Rebecca (1940)
หนังของ Alfred Hitchcock ที่ผมดูเรื่องแรกคือ Rebecca เมื่อหลายปีก่อน ไม่รู้คิดยังไงเหมือนกันทำไมถึงเลือกเรื่องนี้ดูก่อน คงเพราะนี่เป็นหนัง hollywood เรื่องแรกของ Hitchcock ได้รางวัล Outstanding Production หรือ Best Picture จาก Academy Award ด้วยกระมังที่ทำให้ผมดูหนังเรื่องนี้ ตอนนั้นก็ไม่ผิดหวังเลย ว่าไปนี่เป็นหนังของ Hitchcock ที่ผมชอบที่สุดเลยด้วย
ว่าไปนี่ Rebecca เป็นหนังเรื่องเดียวของ Hitchcock ที่ได้ Oscar แต่เจ้าตัวกลับไม่เคยได้ Best Director ก่อนหน้าที่ Hitchcock จะมาที่ hollywood เขาได้เริ่มสร้างหนังมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบที่อังกฤษ มีหนังหลายเรื่องทีเดียวที่ได้รับการกล่าวถึงอาทิ The Man Who Knew Too Much และ The 39 Step ที่ไว้มีโอกาสผมคงได้พูดถึง
สำหรับ Rebecca ก็เป็นงานแรกของ Hitchcock ในสัญญาของ David O. Selznick ซึ่งก่อนหน้านี้เขาก็ produce Gone with the Wind เพิ่งได้ Oscar มาสดๆร้อนๆ ปีถัดมาที่เขา produce Rebecca อีก เป็น producer คนแรกที่ได้ Oscar สองครั้งติด Selznick ถือเป็น producer ชื่อดังมากๆในสมัยก่อน เขามีโอกาสได้ทำงานให้กับค่ายหนังดังๆหลายค่าย เช่น RKO, MGM, Paramount สำหรับ Selznick ถือว่าเป็น producer ที่ถือสัญญาให้กับผู้กำกับ และนักแสดงชั้นนำหลายคน อาทิ Alfred Hitchcock, Ingrid Bergman, Vivien Leigh ซึ่งกับ Rebecca ถือเป็นหนังเรื่องแรกของเขาและ Hitchcock ที่ทำร่วมกัน
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Daphne du Maurier ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1938 เรียกได้ว่านิยายยังไม่หายดังก็ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนังแล้ว ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Philip MacDonald และ Michael Hogan ผมดูเครดิตของสองคนนี้แล้ว ก็ no comment นะครับ ไม่ได้มีผลงานที่ดีเด่นนัก นอกเสียจาก Rebecca นี่แหละ ที่น่าจะเป็นการดัดแปลงบทที่ดีที่สุดของทั้งคู่แล้ว
นำแสดงโดย Laurence Olivier และ Joan Fontaine โดยก่อนหน้านี้ Laurence แสดงนำเรื่อง Wuthering Heights หนึ่งในหนังที่กลายเป็นอมตะ และ Joan ที่เพิ่งฉายแววเด่นในหนังเรื่อง The Man Who Found Himself สำหรับ Laurence นั้นเขาจะชอง Shakespeare เป็นพิเศษ ก่อนที่จะมาแสดงหนังก็เป็นนักแสดง broadway มาก่อน โดยเฉพาะบทละครของ Shakespeare ปี 1948 เขากำกับและแสดงหนังเรื่อง Hamlet ที่ทำให้เขาได้ Oscar ตัวแรกด้วย สำหรับ Joan ได้ Oscar จากหนังเรื่อง Suspicion กำกับโดย Hitchcock ในปีถัด 1941 สำหรับ Rebecca ทั้งสองได้เข้าชิง Oscar ในสาขา Best Actor และ Best Actress แต่ก็ไม่ได้ทั้งคู่ ผมชอบการแสดงของทั้งคู่ใน Rebecca นะ เพราะเราจะได้เห็นสีหน้าของทั้งสองจาก close-up-shot ที่ Hitchock ใช้มากในหนังเรื่องนี้ ในหนังยังมีอีกตัวละครหนึ่งที่จะต้องพูดถึงเลยคือ Judith Anderson ที่เป็นแม่บ้าน การแสดงของเธอมันช่างดูนุ่มลึกแต่แฝงร้าย โดยเฉพาะคำพูดที่กรีดแทง เสียดสีนางเอก เป็นนางร้ายที่น่ากลัวมากๆ เธอได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Support Actress ด้วย แต่ก็ไม่ได้
เทคนิคที่ Hitchcock ใช้กับ Rebecca นั้นคือการเล่าเรื่อง ที่ค่อยๆสร้างความอึดอัดให้กับคนดู คล้ายๆกับ Vertigo แต่ผมว่า Rebecca สำเร็จกว่าตรงที่เมื่อถึงจุดที่หนังเฉลยทุกอย่างแล้ว มันมีการหักมุมที่ทำให้คนดูคาดไม่ถึง ตอนผมดูรอบสองก็ยังทึ่งเลยครับเพราะผมจำไม่ได้ว่ามันหักมุมยังไง เจอเข้าไปแบบนี้ก็พูดไม่ออก เป็นหนังที่ดึงอารมณ์ ความคิดของคนดูไปทางหนึ่ง แต่แล้วก็กระชากกลับอย่างไร้เยื่อใย คงต้องยกนิ้วให้กับนิยายต้นฉบับด้วย สุดยอดจริงๆ
George Barnes ผู้กำกับภาพของ Rebecca เขาเป็น 1 ใน 2 รางวัลที่ Rebecca ได้รับจาก Academy Award จากการเข้าชิงถึง 11 สาขา คงไม่ต้องพูดถึงมากว่างานภาพของเขาดีแค่ไหน ซึ่งเมื่อรวมกับสไตล์ของ Hitchcock แล้ว เป็นอะไรที่สมบูรณ์มากๆ นี่เป็นหนังขาว-ดำ นะครับ จึงมีการเล่นกับแสงและเงาอย่างมาก โดยเฉพาะฉากเปิดหนังและฉากปิดหนัง เป็นเหมือน intro และ outro เวลาเปิดหนังสืออ่าน
การออกแบบฉาก โดยเฉพาะคฤหาสถ์ ผมคิดว่า Lyle R. Wheeler ที่เป็น Art Direction ของหนังเรื่องนี้ น่าจะสร้างคฤหาสถ์นี้ขึ้นมาเลย เพราะตอนจบเป็นแบบนั้น คงทำให้เขาไปหาใช้คฤหาสถ์ที่ไหนคงไม่มีใครให้ ต้องบอกว่าการออกแบบ gothic มาก ตรงจากหนังสือเลย ซึ่งหนังถ่ายด้วยฟีล์มขาว-ดำ ด้วย ยิ่งเน้นความเป็น gothic ได้สวยงามมากๆ ศิลปะแนว gothic เริ่มต้นที่ฝรั่งเศส จะออกแนวอึมครึม สยองขวัญ เน้นสีดำเป็นหลัก ทั้งชุด เสื้อผ้า หน้าผม เครื่องประดับจะสีดำทั้งหมด สถาปัตยกรรมจะทรงสูงๆเหมือนในหนังนะครับ ในหนังถ้าสังเกต maid จะใส่ชุดแบบ gothic นะครับ
Hal C. Kern นักตัดต่อที่เพิ่งได้ Oscar สาขา Best Edited จาก Gone with the Wind กลับมาร่วมงานกับ Selznick แน่นอนว่าเขาต้องได้ชิง Oscar จาก Rebecca เป็นแน่ จุดเด่นการตัดต่อของหนังเรื่องนี้คือจังหวะ ก่อนที่แต่ละฉากจะมีการเล่าเรื่อง จะมีการถ่ายภาพแบบที่เป็น intro เล็กน้อยก่อนเข้าสู่เหตุการณ์นั้นๆ และเมื่อเหตุการณ์นั้นจบจะมีการ outro ภาพเล็กน้อยด้วย จังหวะที่เพิ่มเข้ามานี้ต้องยกนิ้วให้กับนักตัดต่อครับ มันคล้ายๆกับหนังของ Yasujirō Ozu แต่คงจะว่าใครเป็นต้นแบบใครมันคงไม่ได้นะครับ เพราะถึงแนวคิดจะคล้ายๆกัน แต่วิธีการต่างกันสิ้นเชิง ซึ่งต้องบอกว่าจังหวะของหนัง Ozu ดีกว่าเยอะครับ ผมคิดว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ Hitchcock เลือกทำแบบนี้คงเพราะทำให้มันเหมือนกับการเล่าเรื่องเป็น Chapter เหมือนกับในนิยาย เหมือนที่เขา intro/outro ตอนเปิดเรื่องกับปิดเรื่อง แนวเดียวกันครับ
งานเพลงของ Franz Waxman เขาคนนี้ก็เป็นนักประพันธ์เพลงชื่อดังอีกคนหนึ่งของยุค ทำเพลงให้กับหนังของ Hitchcock ในช่วงยุคแรกๆที่เขามาที่ hollywood เคยได้ Oscar 2 ครั้ง และเข้าชิงอีกนับไม่ถ้วน สำหรับ Rebecca งานเพลงของเขาน่าสนใจมาก เพราะมันคล้ายๆกับ Vertigo (Bernard Herrmann คือคนทำเพลงให้) คือให้อารมณ์อึมครึมตลอดทั้งเรื่อง มันทำให้คนดูรู้สึกพิศวง ลึกลับ ชวนสงสัย แต่ผมรู้สึกว่าจังหวะเพลงของ Rebecca ดีกว่า Vertigo ตรงที่หนังไม่ยาวเกินไป และมีจังหวะผ่อนคลายมากกว่า ซึ่งพอถึงจุดที่หนังเฉลยความจริงทุกอย่าง สไตล์ดนตรีก็เปลี่ยนไปเล็กน้อย เหมือนปริศนาถูกไขแล้ว ซึ่งฟังแล้วรู้สึกโล่งกว่า Vertigo (คงเพราะ Vertigo มันจบ ณ จุดที่พระเอกรู้คำตอบของปริศนาเลย) แน่นอนว่างานเพลงแบบนี้เข้าชิง Oscar แน่ๆ
ว่าไปหนังชื่อ Rebecca แต่เราไม่ได้เจอกับ Rebecca เลยนะครับ แค่รู้ว่าเธอเป็นใคร นิสัยยังไง บุคคลิกยังไง และเกิดอะไรขึ้นกับเธอ ถือว่าเป็นหนังแนวถนัดของ Hitchcock เลยก็ว่าได้ เหตุผลที่ผมชอบหนังเรื่องนี้ เพราะจุดหักมุมที่สุดๆเลย พูดไม่ออกเลย แบบว่าดำเนินเรื่องแบบนี้มาทั้งเรื่องก็เพื่อจุดหักมุมแบบนี้ ซึ่งเมื่อเฉลยจุดนี้แล้ว หนังยังดำเนินต่อไปอีกหน่อย และทำการจบแบบที่คาดไม่ถึงอีกรอบ มันไม่เชิงเรียกว่าหักมุมหลายครั้ง แต่เป็น หักมุมแล้วโค้งตัวยูอีกสองรอบ มากกว่า …
ถ้ามีโอกาสก็หาดูนะครับ ให้ดูเวอร์ชั่นต้นฉบับที่เป็นขาว-ดำ จะเห็นความสวยงามมากกว่าหนังที่แปลงมาเป็นสีแล้วนะครับ ว่าไป Rebecca นี่น่าจะเป็นหนังแนวหักมุมที่สุดที่ผมเคยดูหนังของ Hitchcock มาเลยนะครับ
คำโปรย : “Alfred Hitchcock กับผลงานเรื่องแรกที่ hollywood ที่ได้รับการยอมรับจาก Academy มากที่สุด และอาจเป็นหนังเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE
Leave a Reply