Red Sorghum (1988) : Zhang Yimou ♥♥♥♥
ข้าวฟ่างถูกนำมาทำไวน์แดง แล้วกลายเป็นเลือดไหลนองท่วมทุ่ง ระหว่างการสงคราม Second Sino-Japanese War (1937-45), ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิดผู้กำกับจางอี้โหมว คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin จัดจ้านด้วยแสงสีสัน คลุ้มคลั่งด้วยอารมณ์ ชวนเชื่อค่านิยมรักชาติ ไม่ยินยอมให้ใครอื่นมากอบโกยผลประโยชน์จากผืนแผ่นดินแดนบ้านเรา
เกร็ด: Sorghum แปลว่า ข้าวฟ่าง เป็นพืชในวงศ์หญ้า อายุสั้นเพียงปีเดียว ต้นเดี่ยวหรือแตกกอที่โคน รสชาติจืดๆออกหวาน เป็นอาหารได้ทั้งคนและสัตว์, ที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย นิยมนำมาทำโจ๊ก ขนมปัง หรือเบียร์, ส่วนประเทศจีนใช้ผลิตเหล้าข้าวฟ่าง น้ำส้มสายชู, นอกจากนี้ ส่วนลำต้นยังนำมาทำวัสดุก่อสร้าง เชื้อเพลิง แปรรูปน้ำตาล ได้อีกด้วย
ตำนานรักทุ่งสีเพลิง (Red Sorghum) สร้างจากนวนิยายแนวค้นหารากเหง้า บันทึกประวัติศาสตร์ชนชาวจีน แต่งโดยมั่วเหยียน (Mo Yan) ว่าที่เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม (ได้รับเมื่อปี ค.ศ. 2012) แม้หนังจะเลือกดัดแปลงเพียง 2 จาก 5 เล่ม (Red Sorghum และ Sorghum Wine) และมีการลำดับเรื่องราวที่แตกต่างออกไป แต่ไดเรคชั่นของผู้กำกับหน้าใหม่ จางอี้โหมว ใส่ความเป็นศิลปะภาพยนตร์ จนมีความเป็นสากล ได้รับการยกย่องสรรเสริญระดับนานาชาติ คุณภาพยอดเยี่ยมเกือบๆสมบูรณ์แบบ
ในบรรดาผลงานของผู้กำกับจางอี้โหมว แม้ว่า Red Sorghum (1988) จะคือผลงานเรื่องแรก แต่(น่าจะ)มีความจัดจ้านด้านการใช้แสงสีสันที่สุดแล้ว นั่นเพราะพัฒนาการของสีแดงมีความแรงฤทธิ์มากๆ เริ่มจากชุดแต่งงาน เลือดพรหมจรรย์ (เสียสาว) จากนั้นข้าวฟ่างนำมาทำไวน์แดง ตามด้วยการมาถึงของทหารญี่ปุ่น ทำให้เลือดชาวจีนไหลนองท่วมทุ่ง และงานภาพช่วงท้ายของหนัง อาบชโลมด้วยเฉดสีแดง (นัยยะถึงการแปรสภาพจากเรื่องราว/ประวัติศาสตร์ สู่ศิลปะภาพยนตร์)
เชื่อว่าหลายคนอาจดูหนังไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ อะไรคือใจความสำคัญ? ผมเองก็เกาหัวอยู่นานเพราะเนื้อหาค่อนข้างสะเปะสะปะ ไร้แก่นสาระใดๆ ก่อนตระหนักว่า Red Sorghum (1988) ไม่ใช่เรื่องราวแต่คือพัฒนาการทางอารมณ์ ค่อยๆสะสมความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียดแค้น ใช้แสงสีแดงแทนความรู้สึกชาวจีน ระบายความอึดอัดอั้นต่อขนบประเพณี(คลุมถุงชน), คนกระทำสิ่งชั่วร้าย (ข่มขืน/ลักพาตัว) ทหารญี่ปุ่นทำลายชีวิตทรัพย์สิน (ช่วงระหว่างสงคราม Second Sino-Japanese War), ทั้งหมดล้วนในทิศทางเดียวกันคือใครสักคนพยายามลักขโมยสิ่งของรักของหวง แม้ตัวเองจะมีนิสัยขี้ขลาดเขลา แต่ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้เหมือนหมาลอบกัด โต้ตอบกลับอย่างสาสม กรรมสนองกรรม
แซว: เมื่อไม่กี่วันก่อนผมเพิ่งเขียนถึง The Tin Drum (1979) ไม่ครุ่นคิดว่าจะพบเจอภาพยนตร์ลักษณะคล้ายๆกัน ที่ผู้สร้างพยายามระบายความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียดแค้น ต่อบางสิ่งอย่างบังเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติตนเอง
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง มั่วเหยียน (Mo Yan) นามปากกาของ ก่วนหมัวเย่, Guan Moye (เกิดปี 1955) นักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย สัญชาติจีน เกิดที่หมู่บ้าน Ping’an, จังหวัดเกามี่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือมณฑลชานตง ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดี กระทั่งการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จำต้องออกจากโรงเรียนไปทำไร่นา ตามด้วยโรงงานผลิตน้ำมันเมล็ดฝ้าย ระหว่างอาสาสมัครกองทัพปลดแอกประชาชนจีน People’s Liberation Army (PLA) ค้นพบความหลงใหลด้านการเขียน เริ่มจากแปลผลงานของ William Faulkner และ Gabriel García Márquez กระทั่งคว้ารางวัลจากนิตยสาร PLA Magazine แล้วมีโอกาสเข้าศึกษาต่อวิทยาลัยศิลปะ People’s Liberation Army Arts College, ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรก A Transparent Radish (1984)
เกร็ด: 莫言, Mo Yan อ่านว่า มั่วเหยียน แปลว่า don’t speak เป็นคำเตือนของบิดา-มารดา ที่เขาได้ยินบ่อยครั้งในช่วงการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ อย่าพูดในสิ่งครุ่นคิดให้ใครคนอื่นได้ยิน เพราะอาจนำพาหายนะสู่ตนเองและครอบครัว
สำหรับผลงานชิ้นเอกของมั่วเหยียน 红高粱家族 (อ่านว่า หงเกาเหลียงจยาจู๋) หรือ Red Sorghum, ชื่อไทย ตำนานรักทุ่งสีเพลิง (บ้างก็ใช้ชื่อ ข้าวฟ่างสีเพลิง) นำเสนอเรื่องเล่าบรรพบุรุษ (ของผู้แต่งเอง) ผ่านช่วงเวลาสามรุ่น/ยุคสมัยระหว่าง ค.ศ. 1923-76 มีจำนวนทั้งหมด 5 เล่ม
- Red Sorghum รวมเล่มตีพิมพ์ปี 1987
- Sorghum Wine ตีพิมพ์ลงนิตยสาร PLA Arts ฉบับเดือนกรกฎาคม 1986
- Dog Wars ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Shiyue แบับเดือนเมษายน 1986
- Sorghum Funeral ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Weijing Wenxue ฉบับเดือนสิงหาคม 1986
- Strange Death ตีพิมพ์ลงนิตยสาร Kunlun ฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 1986
นวนิยาย Red Sorghum เลื่องลือด้านการดำเนินเรื่องที่แปลกพิศดาร นำเสนอผ่านผู้บรรยายเรียกตัวเองว่า ‘ผม’ (น่าจะแทนผู้แต่งเองนะแหละ) เล่าถึงเหตุการณ์สมัยปู่-ย่า (Second Sino-Japanese War 1937-45) บิดา-มารดา (Communist Revolution 1949) มาจนถึงรุ่นลูก (Cultural Revolution 1966-76) กระโดดสลับไป-มา ไม่เรียงลำดับตามเวลา (non-Chronological) อาจสร้างความสับสนงุนงงให้ผู้อ่านครั้งแรก ไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์บังเกิดขึ้นต่อไป แต่หลังอ่านจนจบครุ่นคิดทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด แล้วหวนกลับไปอ่านซ้ำใหม่อีกสักรอบ อาจบังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้อย่างคาดไม่ถึง
แซว: ถ้าเปรียบเทียบการลำดับเรื่องราวของนวนิยาย Red Sorghum คงประมาณภาพยนตร์ Pulp Fiction (1994), Cloud Atlas (2012), Dunkirk (2017) ฯ
ผลงานของมั่วเหยียน ได้รับการแปลหลากหลายภาษา (รวมทั้งภาษาไทยด้วยนะครับ) เลื่องขานในงานเขียนแนวสัจนิยม (realism) นำเสนอภาพลักษณ์ภายในสังคมจีน เคียงคู่ขนานเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญๆ แต่นั่นก็ทำให้พบเห็นทัศนคติทางการเมืองของเขาอย่างชัดเจน เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกสมาคมนักเขียนจีน นั่นทำให้การคว้ารางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมเมื่อปี 2012 ถูกโจมตีรุนแรงจากกลุ่มต่อต้าน ชาวตะวันตก และประเทศฝั่งประชาธิปไตยอย่างดุเดือดเผ็ดมันส์
เกร็ด: มั่วเหยียน ถือเป็นนักเขียนสัญชาติจีนแท้ๆคนแรก ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม (ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2000 เกาสิงเจี้ยน นักเขียนเชื้อชาติจีนแต่ถือสัญชาติฝรั่งเศส เคยคว้ารางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เลยไม่ได้รับการยินยอมรับจากรัฐบาลและคนในชาติ)
จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลฉ่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง
ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ
หลังสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) คว้ารางวัล Golden Rooster Awards: Best Actor
ปล. ผมโคตรอยากดู Old Well (1987) เพราะได้รับการบูรณะ คุณภาพชัดเยี่ยม สามารถรับชมทาง Youtube แต่มันกลับไม่มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ! พยายามหาแล้วก็ไม่พบเจอ เลยต้องรอไปก่อนนะครับ
จริงๆแล้วจางอี้โหมว มีความต้องการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์มาตั้งแต่ก่อนสมัครเรียน Beijing Film Academy แต่โชคชะตานำพาให้เขากลายเป็นตากล้อง (และนักแสดง) จึงค่อยๆเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ กระทั่งความสำเร็จของ Old Well (1987) ทำให้ได้รับโอกาสจากวูเทียนหมิง ผลักดันให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
สำหรับผลงานเรื่องแรก จางอี้โหมว ตัดสินใจเลือกนวนิยายสองเล่มแรกของ Red Sorghum Clan (หรือ Red Sorghum: A Novel of China) ประกอบด้วย Red Sorghum และ Sorghum Wine เฉพาะส่วนบรรพบุรุษปู่-ย่า เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1923 จนถึงสงคราม Second Sino-Japanese War (1937-45), ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Chen Jianyu และ Zhu Wei
จิ่วเอ๋อ (รับบทโดย กงลี่) ถูกบิดาบีบบังคับให้คลุมถุงชนแต่งงานกับเจ้าของโรงกลั่นเหล้าจากข้าวฟ่าง โดยไม่สนข่าวลือว่าชายคนนั้น(อาจ)เป็นโรคเรื้อน ซึ่งระหว่างการเดินทางบนเกี้ยวเจ้าสาว บังเกิดเหตุโจรปล้นชิงทรัพย์ ได้รับความช่วยเหลือจากคนแบกเกี้ยว อี๋ว์จั้นเอ๋า (รับบทโดย เจียงเหวิน) แรกพบ ตกหลุมรัก ลักลอบสานสัมพันธ์ชู้สาว เหมือนว่าเขาคือผู้เข่นฆาตกรรมเจ้าบ่าว ทำให้จิ่วเอ๋อก้าวขึ้นมาสืบทอดต่อกิจการ และอี๋ว์จั้นเอ๋าก็ได้กลายเป็นนายหัวอีกคนใหม่
หลายปีต่อมาเมื่อกองทัพญี่ปุ่น (Imperial Japanese Army) มาถึงมณฑลชานตง บีบบังคับให้ชาวจีนต้องทำลายท้องทุ่งข้าวฟ่างจนเสียหายย่อยยับเยิน สมาชิกโรงกลั่นเหล้านำโดย อี๋ว์จั้นเอ๋า จัดตั้งกองกำลังอิสระขึ้นมาเพื่อลักลอบโจมตีทหารญี่ปุ่น แต่ผลลัพท์กลับไม่เป็นไปอย่างที่ใครคาดคิดถึง
กงลี่, Gong Li (เกิดปี 1965) นักแสดง สัญชาติจีน เกิดที่นครเสิ่นหยาง, มณฑลเหลียวหนิง เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสี่คน บิดา-มารดาต่างทำงานสอนหนังสือ วัยเด็กหลงใหลด้านการร้องเพลง เต้นรำ วาดฝันโตขึ้นโตขึ้นอยากเป็นศิลปินออกอัลบัม ระหว่างเข้าศึกษาต่อ Central Academy of Drama ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Red Sorghum (1988) ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง (รวมถึงสานสัมพันธ์โรแมนติกช่วงระยะเวลาหนึ่ง) อาทิ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Curse of the Golden Flower (2006), ส่วนผลงานเด่นๆผู้กำกับอื่น อาทิ Farewell My Concubine (1993), 2046 (2004), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ
รับบท จิ่วเอ๋อ/คุณยายของผู้บรรยาย ขณะอายุ 14 ถูกบิดาจับคู่คลุมถุงชน บีบบังคับให้แต่งงานกับเจ้าของโรงกลั่นเหล้า โดยไม่สนข่าวลือว่าเจ้าบ่าวอายุ 50 ปี แถมป่วยโรคเรื้อน แม้ไม่ยินยอมพร้อมใจแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามเล่นหูเล่นตากับคนแบกเกี้ยว สามวันให้หลังระหว่างเดินทางกลับบ้าน ยินยอมปล่อยตัวปล่อยใจ จากนั้นก็บังเกิดความหาญกล้าตัดขาดความสัมพันธ์ครอบครัว แล้วเมื่อสามี(เจ้าของโรงกลั่นเหล้า)ถูกเข่นฆาตกรรม เธอจึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ใช้ความบริสุทธิ์ใสซื่อไร้เดียงสา โน้มน้าวบรรดาคนงานให้ยินยอมอยู่ช่วยกอบกู้กิจการ จนกลับมาประสบความสำเร็จมั่งคั่งอีกครั้ง
ความที่กงลี่ยังหน้าใหม่ ไม่มีใครรู้จัก ช่วงแรกๆผู้ชมจึงอาจสัมผัสถึงความประหม่าหน้ากล้อง สีหน้าหวาดหวั่น น้ำเสียงสั่นๆ จากนั้นค่อยๆบังเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถดิ้นหลุดพ้นพันธนาการทางสังคม ตระหนักรู้ความต้องการ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็พร้อมกระทำทุกสิ่งอย่าง รวมถึงการตอบสนองตัณหาราคะ ไม่มีอะไรต้องปิดบัง อดกลั้นฝืนทนอีกต่อไป … ถือเป็นพัฒนาการตัวละครและความสามารถของกงลี่ที่น่าทึ่ง พิสูจน์ตนเองอีกไม่กี่ครั้งก็จักกลายเป็นดาวดาราประดับฟากฟ้า
ความสวยสาว ใบหน้าละอ่อนเยาว์วัยของกงลี่ (และมีความเป็นจีนแท้ๆ) ทำให้หนุ่มๆทั้งหลายเกิดความลุ่มหลงใหล สายตาไม่อาจละวาง เหมือนบรรดาคนงานที่ยินยอมให้การช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุน คงอยู่ทำงานในโรงกลั่นเหล้าแห่งนี้ ราวกับว่าเพราะมีเธอเป็นที่พึ่งพักพิงทางใจ … นี่เรียกว่ามารยาหญิงนะครับ
ประเด็นหนึ่งที่หลายคนอาจรู้สึกหงุดหงิด ไม่ชอบใจ เพราะหนังปฏิบัติต่อเธอราวกับแค่ ‘วัตถุทางเพศ’ ถูกจับคลุมถุงชน บีบบังคับให้ต้องแต่งงาน เพศสัมพันธ์ผู้ป่วยโรคเรื้อน จากนั้นถูกอุ้มลักพาตัว ข่มขืนกระทำชำเรา ฯ แต่เหล่านี้ล้วนมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดอารมณ์เกรี้ยวกราด ยินยอมรับไม่ได้ต่อขนบประเพณีโบร่ำราณ พฤติกรรมเลวทรามของบุรุษเพศสมัยก่อน หรือแม้แต่ไดเรคชั่นภาพยนตร์ ปฏิบัติต่อตัวละครไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่
ตอนกงลี่แสดงหนัง Miami Vice (2006) มีนักวิจารณ์จากนิตยสาร TIME เปรียบเทียบว่าดูเหมือน Bette Davis แต่โดยส่วนตัวครุ่นคิดว่าเธอละม้ายคล้าย Marlene Dietrich ถึงอย่างนั้นทั้ง Davis และ Dietrich ต่างก็มีเส้นทาง/พัฒนาการด้านการแสดงคล้ายๆกัน ช่วงแรกๆมักใช้ความสวยสาว ใบหน้าละอ่อนเยาว์วัย ล่วงล่อให้หนุ่มๆลุ่มหลงใหล พอสะสมประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น พานผ่านอะไรมามาก ก็กลายเป็นหญิงสาวกร้านโลก (ร่านราคะ) หนาวเหน็บ เยือกเย็นชา … ราวกับว่านั่นคือวิถีของนักแสดงภาพยนตร์ระดับตำนาน
เจียงเหวิน, Jiang Wen (เกิดปี 1963) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติจีน เกิดที่เมืองถังชาน, มณฑลเหอเป่ย์ ในครอบครัวทหาร ย้ายมาอยู่ปักกิ่งเมื่ออายุสิบขวบ โตขึ้นเข้าศึกษายัง Central Academy of Drama แล้วได้รับมอบหมายเข้าร่วมกลุ่ม China Youth Art Institute กลายเป็นนักแสดงละครเวที และมีโอกาสเล่นหนังเรื่องแรก The Last Empress (1986), เริ่มโด่งดังกับ Hibiscus Town (1986), Red Sorghum (1988), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In the Heat of the Sun (1994), Devils on the Doorstep (2000), The Sun Also Rises (2007) ฯ
รับบทคนแบกเกี้ยว อี๋ว์จั้นเอ๋า/คุณปู่ของผู้บรรยาย มีร่างกายบึกบึนกำยำ ชอบทำอะไรบ้าๆบอๆ มักใช้เพียงอารมณ์ในการครุ่นคิดตัดสินใจ ระหว่างแบกเกี้ยวเจ้าสาว พยายามพูดเล่น ร้องรำทำเพลง เกี้ยวพาราสี จนจิ่วเอ๋อใจอ่อนแถมยังอ่อยเหยื่อให้เขาเกิดความลุ่มหลงใหล จึงวางแผนจะใช้กำลังข่มขืนแต่เธอกลับยินยอมพร้อมใจ เมื่อสำเร็จความใคร่ก็แอบเข่นฆาตกรรมเจ้าของโรงกลั่นเหล้า เพื่อตนเองจักได้ครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
ทีแรกผมรู้สึกว่าพฤติกรรมตัวละครนี้ดูบ้าๆบอๆ หลุดโลกเกินไป จนกระทั่งการปัสสาวะลงไหแล้วกลับกลายเป็นสุราชั้นดี ค่อยตระหนักว่านั่นอาจคือนัยยะแฝงของหมอนี่ ทุกการกระทำล้วนซ่อนเร้นเหตุผล ในความเข้าใจส่วนตนครุ่นคิดว่าคือตัวแทนอารมณ์เกรี้ยวกราดของชาวจีน (จะว่าไปก็เหมือนไอ้เด็กเวรตีกลอง กรีดร้อง จากภาพยนตร์เรื่อง The Tin Drum (1979)) แม้ภายนอกดูมีความอ่อนแอขี้ขลาดเขลา แต่ก็ไม่สามารถยินยอมรับพฤติกรรมเลวทรามต่ำช้า ของบุคคลที่พยายามฉกแย่งชิงสิ่งของรักของหวง เลยแสดงออกด้วยการใช้กำลังต่อสู้ โต้ตอบกลับ ด้วยวิธีลอบกัด หมาหมู่ เข้าข้างหลัง ประกอบด้วย
- จิ่วเอ๋อถูกคลุมถุงชนแต่งงานกับเจ้าของโรงกลั่นเหล้า, อี๋ว์จั้นเอ๋า เลยแอบเข่นฆาตกรรม แล้วครอบครองรักกับหญิงสาว
- โจรปล้นระหว่างทาง รอจนสบโอกาส อี๋ว์จั้นเอ๋า ก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือจิ่วเอ๋อ กระทืบซ้ำจนจมดิน
- จิ๋วเอ๋อถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ หลังได้รับการปล่อยตัว อี๋ว์จั้นเอ๋าก็ตรงรี่ไปเผชิญหน้าเจ้าของร้านขายเนื้อสัตว์
- ทหารญี่ปุ่นทำลายทุ่งข้าวฟ่าง เลือดชาวจีนไหลหลั่ง อี๋ว์จั้นเอ๋าเลยรวมพลก่อตั้งกองกำลังอิสระ โต้ตอบกลับศัตรูผู้มารุกราน
นักวิจารณ์ทางฝั่งตะวันตก ส่วนใหญ่มองตัวละครนี้ว่ามีความเป็น macho, masculinity (ความเป็นชาย) เพราะร่างกายบึกบึนกำยำ หนอกคอใหญ่ ชอบใช้กำลังแก้ปัญหา ซึ่งยังมีการเปรียบเทียบหยิน-หยาง กับตัวละครจิ่วเอ๋อ เพราะลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามระหว่างชาย-หญิง บ้าพลัง-สติปัญญา (อี๋ว์จั้นเอ๋า = หยิน, จิ่วเอ๋อ = หยาง) ฟังดูก็น่าสนใจไม่น้อยเลยนะครับ
การแสดงของเจียงเหวิน มองผิวเผินเหมือนแค่พวกเล่นกล้ามบ้าพลัง (กว่าจะได้หนอกคอใหญ่ขนาดนั้น ต้องใช้เวลาไม่น้อยนะครับ) ดีแต่พูดพร่ำ กระทำสิ่งสนองตัณหาตามสันชาตญาณ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนมีเหตุผลตรงมาตรงไป ใครดีมาดีตอบ เลวมาเลวตอบ ถ่ายทอดออกทางสีหน้าสายตา คละคลุ้งด้วยความรู้สึกจากภายใน พร้อมเสียสละตนเองเพื่อคนรัก (และประเทศชาติ) โดยมักไม่ปริปากถ้อยคำใดๆออกมา … คนจริงเขาไม่พูดพร่ำ การกระทำบ่งบอกทุกสิ่งอย่าง
ถ่ายภาพโดย กูฉ่างเหวย์ (เกิดปี 1957) เกิดที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการวาดรูป สเก็ตภาพ หลังเรียนจบมัธยมทำงานเป็นคนงานก่อสร้างทางรถไฟ นำค่าแรงส่วนใหญ่มาจ่ายค่าตั๋วภาพยนตร์ กระทั่งมีโอกาสเข้าศึกษาต่อด้านการถ่ายภาพ Beijing Film Academy เป็นเพื่อนร่วมชั้นผู้กำกับรุ่นห้า ก่อนได้รับมอบหมายให้ไปทำงานยัง Xi’an Film Studio เริ่มจากผู้ช่วยตากล้อง ได้รับเครดิตถ่ายภาพครั้งแรก Red Sorghum (1987) ผลงานเด่นๆ อาทิ Ju Dou (1990), Farewell, My Concubine (1993), In the Heat of the Sun (1994), ก่อนหันมากำกับภาพยนตร์ Peacock (2008), And the Spring Comes (2007) ฯ
ความที่ผู้กำกับจางอี้โหมว เคยเป็นตากล้องยอดฝีมือ เลยมีมุมมอง วิสัยทัศน์ เข้าใจกระบวนการ ทำงานใกล้ชิดกูฉ่างเหวย์ (เป็นทั้งเพื่อนร่วมรุ่น และน่าจะเคยทำงานผู้ช่วยมาก่อน) เลยสามารถนำเสนอ ‘ภาพ’ ได้ตรงตามความต้องการ งดงามระดับวิจิตรศิลป์ … จริงๆก็มีตากล้องยอดฝีมือหลายคนที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ แต่น้อยนักจะประสบความสำเร็จระดับเดียวกับจางอี้โหมว
งานภาพของหนังมีความจัดจ้าน ตั้งแต่ทิศทาง มุมกล้อง จัดวางองค์ประกอบ รายละเอียดของฉาก ‘mise-en-scène’ แต่ที่โดดเด่นมากๆคือการอาบฉโลมด้วยโทนสีแดง และลีลาถ่ายย้อนแสงอาทิตย์ พานผ่านทุ่งข้าวฟ่าง บางครั้งก็ตัวละคร สุริยุปราคาเต็มดวง ฯ มีความงดงาม ระยิบระยับ ชวนให้ระลึกถึงภาพยนตร์ Onibaba (1964) อยู่ไม่น้อยเลยละ
นอกจากนี้นักวิจารณ์ฝั่งตะวันตก ยังมักกล่าวถึง ‘female gaze’ สายตาของหญิงสาว(แอบ)จับจ้องมองเรือนร่างกายบุรุษ แต่ผมไม่รู้สึกเช่นนั้นสักเท่าไหร่ เพราะทั้งผู้กำกับจางอี้โหมว และตากล้องกูฉ่างเหวย์ ต่างเป็นผู้ชายทั้งแท่ง! สิ่งที่พวกเขานำเสนอก็เพียงแค่ความใคร่รู้ใคร่สนใจของเด็กสาวแรกรุ่นเท่านั้นละ (ฉากอื่นๆมันก็ไม่ได้มีความเป็น ‘female gaze’ ชัดเจนขนาดนั้น)
ภาพช็อตแรกของหนัง จิ่วเอ๋อในชุดเจ้าสาวสีแดง สังเกตใบหน้าของเธอครึ่งหนึ่งปกคลุมด้วยความมืดมิด แสดงถึงความสองจิตสองใจ ไม่ได้ใคร่อยากแต่งงาน แต่เพราะถูกบิดาบีบบังคับ จับคลุมถุงชน โดยเจ้าบ่าวคือเจ้าของโรงงานกลั่นเหล้า อายุ 50 ปี แถมมีข่าวลือว่าป่วยโรคเรื้อนอีกต่างหาก! ใครกันจะยินยอมรับได้ แต่มันเป็นขนบประเพณีของคนยุคก่อน บุตรสาวไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง มิอาจพูดบอก-โต้ตอบ กระทำอะไรได้ทั้งนั้น
ลักษณะดังกล่าวเป็นการสร้างความเกรี้ยวกราดให้ผู้ชม ทำไมหญิงสาวถึงถูกบีบบังคับให้แต่งงาน? บังเกิดอคติต่อขนบประเพณีที่ล้าหลัง โหยหาการเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรตนเองถึงสามารถดิ้นหลุดพ้นพันธนาการทางสังคม
สีแดงนอกจากเป็นสัญลักษณ์คนจีน ตามความเชื่อยังคือสีมงคล ดื่มไวน์แดงเฉลิมฉลองพิธีสมรส แต่หนังเรื่องนี้เมื่อนำมาสื่อแทนความรู้สึก สะท้อนสภาวะทางจิตใจของตัวละคร กลับกระตุ้นอารมณ์ผู้ชมให้เกิดความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียดแค้น ดั่งเลือดที่ไหลนองท่วมทุ่ง ต้องการทำอะไรสักอย่างที่ระบายความอึดอัดอั้นภายในออกมา
ผมรวบรวมบางช็อตที่มีลักษณะเหมือน ‘female gaze’ สายตาหญิงสาวจับจ้องมองเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของบุรุษ ด้วยความลุ่มหลงใหล ประทับใจ และอาจจินตนาการไปไกลถึงการสัมผัส กอดจูบลูบไล้ ร่วมรักหลับนอน … จริงๆก็มีแทรกอยู่ฉากอื่นๆอีก แต่จะไม่ค่อยเด่นชัดเท่าตอนแบกหามเกี้ยวเจ้าสาว
นักวิจารณ์ฝั่งตะวันตกมีการพูดกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างเยอะ ว่าสะท้อนโลกทัศน์ของชาวตะวันออก เพราะครอบครัวส่วนใหญ่ อิสตรีคือช้างเท้าหลัง ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง เสรีภาพในการครุ่นคิดกระทำ (ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของสามี) นั่นรวมถึงแฟนตาซีทางเพศ ขณะที่บุรุษสามารถแต่งานใหม่ มีภรรยาได้หลายคน หญิงสาวกลับครองคู่สามีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น!
คือเราสามารถมอง ‘female gaze’ ในลักษณะการโหยหาอิสรภาพของหญิงสาว เพราะเธอถูกครอบครัวบีบบังคับ จับคลุมถุงชนแต่งงานกับชายไม่เคยพบเจอหน้า จึงพยายามมองหาหนทางในการหลีกหนีเอาตัวรอด ซึ่งบุคคลที่อาจสามารถเติมเต็มความปรารถนาดังกล่าวได้ ก็คือคนแบกเกี้ยวข้างหน้า … ฟังดูสิ้นหวังจริงๆนะ
การร้อง-เล่น-เต้น ของบรรดาคนแบกหามเกี้ยว ถึงดูสนุกสนานเพลิดเพลิน มองผิวเผินเหมือนหนุ่มๆแค่ต้องการเรียกร้องความสนใจ ขอให้หญิงสาวเปิดเผยใบหน้า ก้าวออกมาเป็นขวัญกำลังใจ แต่ถ้าครุ่นคิดกันดีๆมันแทบไม่ต่างจากการกลั่นแกล้ง ‘bully’ น่าสงสารเธอที่อยู่ในเกี้ยว คงคลื่นไส้วิงเวียงจากการโยกเหวี่ยงแกว่งไปแกว่งมาอยู่อย่างนั้น กว่าจบเพลงก็แทบอ๊วกแตกอ๊วกแตนพอดี!
รับชมหนังเรื่องนี้พยายามครุ่นคิดให้ได้หลากหลายมุมมองนะครับ อย่างฉากนี้อย่าแค่เห็นว่าคือความสนุกสนานครื้นเครง สังเกตความทุกข์ทรมานของหญิงสาวที่อยู่ในเกี้ยวด้วย เพราะมันก็ซ่อนเร้นนัยยะบางอย่างเหมือนกัน
ระหว่างพานผ่านทุ่งข้าวฟ่าง คณะแบกเกี้ยวเจ้าสาวถูกดักปล้นโดยโจรสวมหน้ากาก แต่มันไม่ได้หยุดแค่เงินทอง เดินมาเปิดเกี้ยวแล้วตกตะลึงในความงดงามของจิ่วเอ๋อ ปฏิกิริยาแรกของเธอดูสับสนงุนงง แต่เมื่อถูกโจรจับรองเท้า (สมัยก่อนการแตะเนื้อต้องตัวระหว่างชาย-หญิง แทบไม่ต่างจากการมีเพศสัมพันธ์นะครับ) ก็แสดงรอยยิ้มอย่างพึงพอใจ … เสียตัวให้โจร ก็น่าจะดีกว่าชายสูงวัยโรคเรื้อน
ผมเลือกนำช็อตที่โจรแสดงอาการตกตะลึงงันต่อปฏิกิริยาของหญิงสาว หลังเพียงเอื้อมมือจับรองเท้าจนต้องรีบถอยห่าง มุมกล้องถ่ายภาพย้อนแสงให้ศีรษะบดบังพระอาทิตย์อยู่เล็กๆ (ชวนให้ระลึกถึงภาพยนตร์ A Touch of Zen (1971)) ราวกับวินาทีแห่งการรู้แจ้ง บังเกิดความพึงพอใจ จึงสั่งให้เธอลุกขึ้น ก้าวออกเดิน คาดหวังจะพาไปทำเมีย!
ระหว่างกำลังก้าวออกเดินไปกับโจรผู้นั้น จิ่วเอ่อจงใจหันกลับมาเหลียวแลมองอี๋ว์จั้นเอ๋า ส่งสายตาบ่งบอกว่า ‘ถ้านายต้องการชนะใจฉัน ก็จงแสดงให้เห็นถึงความเป็นลูกผู้ชาย’ ในมุมของคนแบกเกี้ยว นี่เป็นแววตาแห่งการท้าทาย ขณะเดียวกันก็เหมือนกำลังดูถูกเหยียดหยาม ลูกผู้ชายรึเปล่า? หรือดีแค่พูดพร่ำ ร้องรำ กลั่นแกล้งคนไม่มีหนทางสู้
นั่นเองทำให้อี๋ว์จั้นเอ๋า แม้ในตอนแรกเหมือนต้องการหลบหน้า ไม่อยากสบสายตา แสดงอาการเหมือนคนขี้เขลาดเขลา แต่ก็หาจังหวะทีเผลอวิ่งเข้ามาจัดการโจรจากด้านหลัง แล้วพรรคพวกก็ติดตามรุมกระทืบจนสิ้นชีวัน พิสูจน์ให้เห็นว่าฉันคือลูกผู้ชายตัวจริง ด้วยเหตุนี้ก่อนออกเดินทางต่อ เธอจึงยื่นเท้าออกมาหน้าเกี้ยว ให้เขาเหลียวมาสัมผัสลูบไล้ เป็นทั้งการอ่อยเหยื่อ และยินยอมรับอีกฝั่งฝ่าย (นี่คือมารยาหญิงชัดๆ)
เหตุการณ์โจรปล้นเกี้ยวเจ้าสาว สะท้อนเรื่องราวทั้งสององก์ที่เหลือ (เจ้าของร้านขายเนื้อลักพาตัวจิ่วเอ๋อเพื่อเรียกค่าไถ่ และกองทัพทหารญี่ปุ่นเข้ามาทำลายทุ่งข้าวฟ่าง) กล่าวคือเมื่อมีใครบางคนลักขโมย ‘ของรักของหวง’ ไปจากอี๋ว์จั้นเอ๋า เมื่อสบโอกาสจึงถูกโต้ตอบกลับอย่างสาสม
แบบเดียวกันเปะกับ Yellow Earth (1984) ในฉากค่ำคืนแต่งงาน จะไม่มีถ่ายให้เห็นใบหน้าของเจ้าบ่าว (อาจจะหล่อเหลาก็ได้นะ) เพียงปฏิกิริยาหวาดกลัวตัวสั่นเทาของเจ้าสาว นั่งตัวงอกอดเข่าเหมือนภาพหน้าปก Criterion Collection ภาพยนตร์เรื่อง Salò, or the 120 Days of Sodom (1975) ราวกับกำลังถูกทรมาน เจ็บปวดสาหัสสากรรจ์
ภาพช็อตนี้อาบชโลมด้วยแสงสีแดง (น่าจะใช้ฟิลเลอร์กระมัง) นอกจากสื่อถึงค่ำคืนแต่งงาน เลือดพรหมจรรย์ ยังแทนด้วยความรู้สึกหวาดกลัว ตัวสั่นเทา บังเกิดความโกรธเกลียดบิดา ขายตนเองให้คนแปลกหน้า, สำหรับเจ้าบ่าวคงได้รับความสุขกระสันต์ ถึงสรวงสวรรค์ แต่เจ้าสาวอาจตกนรก ตายทั้งเป็น
แน่นอนว่าหนังไม่มีฉาก Sex Scene แต่ใช้การตัดมายังภาพช็อตนี้ ท้องฟ้าครามยามค่ำคืน (ตรงกันข้ามกับแสงสีแดงในห้องหอ) มอบสัมผัสผ่อนคลาย สงบร่มเย็น แล้วเสร็จกามกิจ, พระจันทร์ (คือสัญลักษณ์ของหยาง แทนด้วยเพศหญิง) ถูกเมฆบดบังพบเห็นเพียงครึ่งดวง อาจสื่อถึงการสูญเสียพรหมจรรย์ บางสิ่งชั่วร้ายค่อยๆคืบคลานเข้ามาทำลายความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของตัวละคร
ภาพช็อตนี้กับก่อนหน้า เป็นการนำเสนอแนวคิดหยิน-หยาง ที่น่าสนใจมากๆ จากฉากภายในห้องหอ อาบชโลมด้วยโทนสีแดงฉาน ตัดมาข้างนอกท้องฟ้าคราม และจากอารมณ์เกรี้ยวกราด หวาดสะพรึงกลัว สามารถผ่อนคลาย เย็นสบาย สงบจิตสงบใจ … ตลอดทั้งเรื่องจะมีจังหวะขึ้นๆลงๆ แดง-น้ำเงิน พระอาทิตย์-ดวงจันทร์ เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้อยู่หลายครั้ง เว้นเพียงไคลน์แม็กซ์องก์สุดท้าย เมื่อระบายความคลุ้มคลั่ง หลังจากนั้นหนังก็พลันจบลง ปล่อยให้ผู้ชมค้นหาหนทางสงบด้วยตนเอง (แปรสภาพจากภาพยนตร์สู่โลกความจริง)
ภาพยนตร์เรื่อง Onibaba (1964) ตัวละครออก ‘วิ่งร่าน’ เพื่อไปร่วมรักกันในทุ่งกอหญ้า แม้สถานที่จะมีความแตกต่างจากทุ่งข้าวฟ่าง แต่ไดเรคชั่นถ่ายภาพ นัยยะของทั้ง Sequence ดูละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากๆ โดยเฉพาะสายลมแรงที่ทำให้พืชพันธุ์พริ้วไหว รวมถึงการถ่ายพระอาทิตย์ย้อนแสงลอดผ่านกิ่งก้านใบ ล้วนทำให้ผู้ชมบังเกิดความเพลิดเพลินตา จิตวิญญาณปลิดปลิวอย่างร่านราคะ
การพริ้วไหวของต้นข้าวฟ่าง สามารถสะท้อนถึงอารมณ์ร่านราคะของตัวละคร ในตอนแรกจิ่วเอ๋อพยายามดิ้นให้หลุด แล้ววิ่งหลบหนีอี๋ว์จั้นเอ๋า แต่หลังจากถูกจับได้ไล่ทัน อุ้มไปยังลานกลางทุ่งที่ตระเตรียมไว้ เธอก็ไม่ปฏิเสธขัดขืนอีกต่อไป
ลักษณะการอุ้มมันช่างดูแปลกพิลึกยังไงชอบกล จิ่วเอ๋อเหมือนพยายามนอนราบ ให้ร่างกายตั้งฉากกับผู้ลักพาตัว นี่อาจแฝงนัยยะถึงหยิน-หยาง ชาย-หญิง ยืนดิ่ง-นอนราบ ก้าวเดิน-หยุดนิ่ง ละมังนะ!
พระอาทิตย์อยู่บนฟากฟ้า แต่กลางทุ่งข้าวฟ่างเมื่อเกลี่ยพื้นที่ตรงกลาง จิ่วเอ๋อสวมชุดแดงนอนแผ่ราบ ก็ไม่ต่างจากดวงตะวันเปร่งประกายแสงสว่าง ยินยอมศิโรราบให้อี๋ว์จั้นเอ๋า เติมเต็มความต้องการของกันและกัน จนสุขกระสันต์ ขึ้นสู่สรวงสวรรค์
สิ่งที่ผมอึ้งทึ่งมากๆในฉากนี้ ไม่ใช่การจัดองค์ประกอบภาพ แต่คือเสียงเพลงบรรเลงจากเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ดังขึ้นราวกับสัญญาณเตือนภัย มีความรุนแรง กรีดแหลม กระแทกกระทั้น เพราะการกระทำของตัวละครขัดต่อขนบประเพณี ธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคม แต่สามารถเติมเต็มตัณหา ราคะของชาย-หญิง แล้วมันเป็นสิ่งถูกหรือผิด? ยินยอมรับได้หรือไม่?
ข่มขืนหรือสมยอม? นี่ก็เป็นอีกประเด็นถกเถียงที่หาคำตอบไม่ได้ แถมมีความขัดแย้งตรงกันข้าม สะท้อนเข้ากับแนวคิดหยิน-หยาง ได้อีกเช่นกัน
- ค่ำคืนแรกแต่งงานระหว่างจิ่วเอ๋อกับเจ้าของโรงกลั่นเหล้า ถูกต้องตามขนบประเพณี แต่หญิงสาวไม่ยินยอมพร้อมใจ
- ท่ามกลางทุ่งข้าวฟ่าง พฤติกรรมของจิ่วเอ๋อและอี๋ว์จั้นเอ๋า ถือว่าขัดแย้งต่อวิถีปฏิบัติทางสังคม แต่ทั้งสองสามารถเติมเต็มตัณหา ความต้องการของร่างกายและจิตใจ
ภาพช็อตนี้เฉพาะบริเวณท้องฟากฟ้า มีการใช้ฟิลเลอร์ทำให้ก้อนเมฆที่ควรจะขาวโพลน กลับกลายเป็นโทนแดงอมชมพู ผิดกับบริเวณท้องทุ่งข้าวฟ่าง ที่ยังคงเหลือง-เขียวโดยธรรมชาติ … นี่เป็นช็อตสุดท้ายหลังการร่วมรักในทุ่งข้าวฟ่าง ราวกับต้องการจะสื่อว่าสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นสรวงสวรรค์ของจิ่วเอ๋อและอี๋ว์จั้นเอ๋า โลกภายนอกจะเกิดเหตุการณ์เลือดอาบนองอะไรก็ช่างหัวมัน ไม่ใคร่สนอย่างอื่นทั้งนั้น
หลังจากประกาศตัดขาดจากครอบครัว จิ่วเอ๋อควบขี่ลาเดินทางกลับบ้านสามี ช็อตนี้ใช้การถ่ายย้อนพระอาทิตย์ยามเย็น ขณะเคลื่อนคล้อยหลบด้านหลังทิวเขา พอดิบพอดีกับก้อนเมฆบริเวณนั้น ทำให้แสงสาดส่องฟุ้งกระจาย พบเห็นเป็นเส้นสาย มีความงดงามเหนือคำบรรยาย ช่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก มอบสัมผัสราวกับตัวละครกำลังมุ่งสู่สรวงสวรรค์ (หรือคือบ้านหลังใหม่ของจิ่วเอ๋อ)
การสูญเสียเจ้าของโรงกลั่นเหล้าคนก่อน (ถูกเข่นฆาตกรรม น่าจะโดยอี๋ว์จั้นเอ๋า) ทำให้บรรดาคนงานนำโดยหลัวฮั่น ตัดสินใจเก็บข้าวของ ตระเตรียมตัวร่ำลาจาก ออกเดินทางไปหางานใหม่ แต่ยามรุ่งเช้าจิ่วเอ๋อก้าวออกมาหน้าบ้าน กล่าวสุนทรพจน์ร้องขอความช่วยเหลือจากทุกคน มอบความเสมอภาคเท่าเทียม (เป็นครั้งแรกแนะนำตัวจิ่วเอ๋อ) ฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง … ฉากนี้สะท้อนแนวคิด อุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ชัดเจนมากๆ
แต่ถึงตัวละครจะพร่ำถึงความเสมอภาคเท่าเทียม (ด้วยการให้คนงานเรียกตนเองว่าจิ่วเอ๋อ) การนำเสนองานภาพกลับเคลือบแอบแฝงอย่างมีนัยยะสำคัญ นำเสนอความแบ่งแยกแตกต่าง ระหว่างชนชั้นกรรมาชีพและผู้นำ ไม่ใช่แค่กำแพงบ้าน สถานที่พักอยู่อาศัย แต่ยังสองช็อตที่ผมนำมานี้ ไม่มีคราไหนที่จิ่วเอ๋อ ยืนเคียงข้างใครอื่นนอกจากหลัวฮั่น
เหตุผลที่บรรดาคนงานยินยอมติดตามจิ่วเอ๋อ น่าจะเพราะมารยาเสน่ห์ของเธอเป็นหลัก! การมีหญิงสาวสวย ทำให้หนุ่มๆเกิดความกระชุ่มกระชวย มีชีวิตชีวา ซึ่งสามารถตีความถึงทัศนคติของผู้กำกับจางอี้โหมว ถ้าประเทศมีผู้นำดี มีความน่าหลงใหล ย่อมทำให้คนในชาติบังเกิดความสมัครสมานสามัคคี พร้อมพลีกายถวายทุกสิ่งอย่าง (นี่ไม่ได้แปลว่าเขาเชื่อในอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นะครับ)
การกลับมาในสภาพเมาแอ๋ของอี๋ว์จั้นเอ๋า แถมยังพร่ำพูด อ้างอวดดีไม่ยอมหยุด สร้างความหงุดหงิดหัวเสีย จิ่วเอ๋อไม่พึงพอใจพฤติกรรมดังกล่าวอย่างรุนแรง สังเกตจากตอนเธอก้าวออกมาจากบ้าน ความมืดปกคลุมทั่วใบหน้านิ่วคิ้วขมวด แล้วปิดประตูปัง! ไม่ยินยอมให้เขาเข้ามา แต่ด้วยความดื้อรันพังประตู เลยถูกทุบตี ลากออกมา และจับโยนใส่โอ่งอ่าง
เกร็ด: ผมไม่ค่อยแน่ใจภาพเทพเจ้าที่ติดตรงประตูบ้านนัก จริงๆมีสององค์ซ้าย-ขวา หนึ่งหน้าแดงก็มีแค่กวนอู อีกหนึ่งรูปนี้คาดว่าน่าจะไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ความร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมา)
ระหว่างที่จิ่วเอ๋อโดนลักพาตัว ตลอดระยะเวลาสามวันอี๋ว์จั้นเอ๋า เอาแต่หลบซ่อนตัวในถังไวน์ด้วยความขี้ขลาด หวาดกลัวเกรง ไม่ยินยอมลุกออกมาทำอะไร จนกระทั่งหญิงสาวได้รับการปล่อยตัว (เพราะไม่มีใครจ่ายค่าไถ่) ถูกสายตาคู่เดิมมองด้วยความเหยียดหยาม ท้าทาย นายใช่ลูกผู้ชายจริงหรือเปล่า? จนเขาอดรนทนไม่ไหว ต้องตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่าง
ศีรษะวัว อาจจะสื่อถึงเป้าหมายของอี๋ว์จั้นเอ๋า ที่สนเพียงเผชิญหน้ากับหัวหน้า เจ้าของร้านขายเนื้อตัวจริง บุคคลผู้ลักพาตัวจิ่วเอ๋อไปเรียกค่าไถ่ เพราะคาดคิดว่าเธอคงถูกข่มขืน กระทำชำเรา แต่สุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะชายคนนั้นสารภาพว่า ทำไม่ลง! (หวาดกลัวติดโรคเรื้อน)
เรื่องราวในส่วนร้านขายเนื้อ นำเสนอในเชิงสัญลักษณ์เปรียบเทียบกับเชลยชาวจีน เมื่อโดนจับกุมโดยกองทัพญี่ปุ่น จักถูกถลกหนัง เข่นฆาตกรรม โดยพ่อค้าคนเดียวกันนี่แหละ (ถลกหนังสัตว์ = ถลกหนังมนุษย์) และยังแฝงนัยยะ ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง’ (เจ้าของร้านขายเนื้อลักพาตัวจิ่งเอ๋อ เลยโดนทหารญี่ปุ่นจับกุมตัว และถูกฆ่าโดยลูกน้องตนเอง)
แซว: ความที่อี๋ว์จั้นเอ๋า คุกเข่าร้องขอชีวิตเลยได้รับการปล่อยตัว แต่เจ้าของร้านขายเนื้อสัตว์ แม้โดนจับมัดกลับยังใช้ถ้อยคำด่าทอทหารญี่ปุ่น เลยถูกเข่นฆ่าให้ตกตาย
ผมค่อนข้างผิดหวังต่อการนำเสนอกระบวนการกลั่นไวน์ เพราะหนังแทบไม่ใส่รายละเอียดใดๆจับต้องได้ แค่สุมไฟ ใส่ถ่าน เทน้ำ แล้วก็เอาถ้วยมารองริน แค่นั้นอ่ะนะ??? นี่มันไม่ค่อยเหมือนการจดบันทึกภูมิปัญญาพื้นบ้านสักเท่าไหร่ เพียงนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ ร้อยเรียงให้เหมือนบทกวีภาพยนตร์ แค่เห็นว่ามีวิธีการ อะไรเกิดขึ้นบ้างเท่านั้นละ
เอาจริงๆฉากนี้มันใส่รายละเอียดอะไรๆเข้าไปได้เยอะเลยนะ ผมขอเปรียบเทียบถึงภาพยนตร์ Heart of Glass (1976) ของผู้กำกับ Werner Herzog ที่มีฉากเป่าแก้วอันลือลั่น คนงานโกยถ่านหินเข้ากองไฟซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อหินทรายหลอมละลายไหลลงแม่แบบพิมพ์ แล้วหยิบขึ้นมาหมุนเป่า กว่าจะขึ้นรูปสักอัน ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความยุ่งยากลำบาก ไหนจะความร้อนระอุกองเพลิง มีความน่าตื่นตา ประทับใจ ไม่รู้ลืม! … เทียบกับฉากทำไวน์ข้าวฟ่าง ไม่มีอะไรให้น่าจดจำเลยสักนิด!
อี๋ตี๋ (儀狄, Yidi) เทพเจ้าแห่งไวน์และแอลกอฮอล์ ตามปรับปราชาวจีน (Chinese Mythology) เล่าว่าคือบุคคลแรกที่กลั่นไวน์มอบเป็นของขวัญแก่พระเจ้าอวี่, Yu the Great ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย ที่ได้รับยกย่องเป็นหนึ่งใน ‘สามกษัตริย์ห้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่’ มีชีวิตอยู่ช่วงประมาณ 2,100 ก่อนคริสต์กาล (BC)
การกลับมาของอี๋ว์จั้นเอ๋า ไม่ได้สนเทพเจ้าอะไรทั้งนั้น เพียงต้องการเสียดสีประชดประชัน ปัสสาวะใส่ไห เพื่อเรียกร้องความสนใจจากจิ่วเอ๋อ ก็แค่นั่น! แต่มันกลับกลายเป็นสูตรลับ สุราเลิศรส กลิ่นหอมหวน รสชาติหวานฉ่ำ อาจเพราะการทำปฏิกิริยาอะไรสักอย่างของกรดยูริก (ใครเคยหมักเหล้าก็ลองทำดูนะครับ จะมีคนกล้าดื่มหรือเปล่าก็อีกเรื่อง)
นัยยะของฉากนี้สื่อถึงการกลับตารปัตรของความตั้งใจ-ผลลัพท์ หรือคือไม่มีอะไรเป็นไปดั่งคาดหวัง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังสะท้อนแนวคิดหยิน-หยาง ทำดีได้ชั่ว-ทำชั่วได้ดี กระทำสิ่งไร้สาระกลับทำให้หญิงสาวร่านราคะ ชีวิตมนุษย์ก็เวียนวนอยู่อย่างนี้ละ
ช่วงระหว่างสงคราม Second Sino-Japanese War (1937-45) เมื่อญี่ปุ่นกรีธาทัพมาถึงเกามี่ตงเป่ย, มณฑลชานตง กวาดต้อนประชาชนให้มาถอนรากถอนโคนต้นข้าวฟ่าง (ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด) แถมยังถลกหนังนักโทษหลบหนี ที่มีพฤติกรรมขัดขืนต่อต้านคำสั่ง … พฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นเหล่านี้ แม้การทำลายสิ่งหล่อเลี้ยงวิถีชีวิต แต่มันก็แค่เนื้อหนัง/เปลือกภายนอกของชาวจีน หาใช้จิตวิญญาณที่ยังมีความเข้มแข็ง หนักแน่น ครุ่นคิดวางแผนโต้ตอบเอาคืน พร้อมแล้วจะแก้ล้างแค้นให้สาสม
การที่ทหารญี่ปุ่นให้พ่อค้าขายเนื้อถลกหนังวัว เสร็จแล้วมาถลกหนังคน เป็นการเปรียบเทียบมนุษย์ไม่ต่างจากสัตว์! เพื่อให้ผู้ชมโดยเฉพาะชาวจีน บังเกิดความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียดแค้นทหารญี่ปุ่น มากระทำอย่างนี้ต่อชนชาติเราได้อย่างไร … นี่คือลักษณะหนึ่งของหนังชวนเชื่อ สร้างค่านิยมรักชาติ
การถูกเข่นฆาตกรรมอย่างเลือดเย็นของหลัวฮั่น สร้างความเกรี้ยวกราดโกรธเกลียด พื้นหลังลุกเป็นไฟ! เริ่มต้นนำโดยจิ่วเอ๋อ กล่าวสุนทรพจน์ว่าต้องการแก้แค้นเอาคืนทหารญี่ปุ่น แล้วบอกต่อบุตรชายให้จดจำเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ จากนั้นอี๋ว์จั้นเอ๋าโดยไม่พูดพร่ำอะไร นำไวน์ทั้งหมดที่เหลือมาเทรินใส่แก้ว กล่าวสัตย์สาบาน ขับร้องบทเพลงบูชาสรรเสริญเทพเจ้าอี๋ตี๋ เพราะนี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ทุกคนจะได้ดื่มเหล้าจากข้าวฟ่าง
ผมจดจำไม่ได้ว่าเคยเห็นช็อตลักษณะคล้ายๆกันนี้จากภาพยนตร์เรื่องไหน? สังเกตว่าด้านบนคนงานกำลังขนแบกสิ่งข้าวของ เพื่อไปตระเตรียมซุ่มดักโจมตีทหารญี่ปุ่น ดูราวกับภาพเงา (silhouette), แต่ถ้ามองด้านล่างกลับมีแสงสว่างสาดส่อง พบเห็นใบไม้ต้นหญ้า ธรรมชาติเขียวขจี (ยามค่ำคืน)
นัยยะของภาพช็อตนี้ น่าจะต้องการสื่อถึงสิ่งที่บรรดาสมาชิกกองกำลังอิสระตั้งใจจะกระทำ มีความชั่วร้าย อันตราย และอาจนำพาหายนะกลับสู่พวกเขาเอง (พวกเขาก็เลยถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด มองเห็นแค่เพียงภาพเงาดำเนินไป)
ไม่มีอะไรในชีวิตที่ดำเนินไปตามแผนการครุ่นคิด! ระเบิดจากเหล้าข้าวฟ่างแทนที่จะเข่นฆ่าทหารญี่ปุ่น กลับทำให้สมาชิกกองกำลังอิสระพลอยโดนลูกหลง ทำลายทุกสิ่งอย่างราบเรียบ หลงเหลือเพียงเศษดิน คราบเลือด ซากศพคนตาย อาหารการกินที่ตระเตรียมไว้มากมาย ใครไหนจะนั่งมาล้อมวงรับประทาน
เอาจริงๆถ้าเป็นหนังชวนเชื่อทั่วๆไป ไม่มีความจำเป็นใดๆต้องนำเสนอความตายของพรรคพวกด้วยกันเอง นั่นแสดงว่าความตั้งใจแท้จริงของผู้กำกับจางอี้โหมว อาจแฝงนัยยะซ่อนเร้นบางอย่าง (ประเด็นต่อต้านสงคราม และอุดมการณ์บางอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์)
ผมลองเช็คปฏิทินสุริยุปราคาที่พาดผ่านประเทศจีน ใกล้เคียงสุดคือวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1941 แต่ที่เกามี่ตงเป่ย, มณฑลชานตง เหมือนจะไม่ได้เต็มดวงนะครับ (ประมาณ 70-80% ได้กระมัง) แต่ก็เพียงพอให้เด็กชายถ้าจับจ้องมองพระอาทิตย์ตรงๆ อาจทำให้ตาฟ่าง สูญเสียความสามารถในการแยกแยะสีสัน (เลยมองเห็นแต่แสงสีแดงนับจากนั้น)
เกร็ด: ประเทศจีน มีความเชื่อว่าสัตว์ที่เขมือบดวงอาทิตย์นั้นคือ มังกร หรือบางตำนานก็บอกว่าเป็นสุนัขจากสวรรค์, นอกจากนั้นคำว่าสุริยุปราคา ในภาษาจีนกลางยังเขียนโดยใช้อักษรคำว่า ‘วัน’ ประกอบกับคำที่มีรากศัพท์เกี่ยวกับการ ‘กิน’ สะท้อนความเชื่อที่ว่าดวงอาทิตย์กำลังจะถูกกลืนกิน
เช่นนั้นแล้วภาพ Timelapse สุริยุปราคาเต็มดวง เป็นการนำเสนอความหมดสิ้นหวังของอี๋ว์จั้นเอ๋า จากเคยส่องแสงสว่างเจิดจรัสจร้า เวลานี้ดวงอาทิตย์กำลังถูกกลืนกิน ปกคลุมอยู่ในความมืดมิดชั่วขณะ สะท้อนถึงตัวเขาที่ได้สูญเสียแทบทุกสิ่งอย่าง ลูกน้อง หญิงคนรัก ทุ่งข้าวฟ่าง หรือแม้แต่เหล้าแดงก็ถูกนำมาทำระเบิดหมดสิ้น!
ตั้งแต่เกิดสุริยุปราคา งานภาพของหนังอาบฉโลมด้วย(ฟิลเลอร์)แสงสีแดง มองผิวเผินสะท้อนสิ่งที่เกิดขี้นกับเด็กชาย (เสียงบรรยายเล่าไว้ก่อนหน้าว่า หลังจากจับจ้องมองพระอาทิตย์วันนี้ ก็พบเห็นทุกสิ่งอย่างกลายเป็นสีแดงฉาน) แต่ถ้าใครเคยรับชมผลงานปรมาจารย์ผู้กำกับ Michelangelo Antonioni โดยเฉพาะ L’Eclisse (1962) อาจตระหนักถึงนัยยะ ‘การเปลี่ยนแปรสภาพ’ จากเรื่องราวดำเนินอยู่พัฒนาสู่ศิลปะภาพยนตร์
จากข้าวฟ่าง นำมาทำไวน์แดง แล้วกลายเป็นระเบิด จนเลือดไหลนองท่วมทุ่ง จากนั้นงานภาพอาบฉโลมด้วยแสงสีแดง ชี้นำความรู้สึกผู้ชมให้เอ่อล้นนอกจอ บังเกิดความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียด ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อระบายความคับแค้น อึดอัดอั้นภายในออกมา (แปรสภาพจากสื่อภาพยนตร์ กลับสู่โลกความจริง)
ตัดต่อโดย Li Kezhi, 李克之 ก่อนหน้านี้มีผลงาน The Horse Thief (1986)
หนังเริ่มต้นจากเสียงบรรยาย (ให้เสียงโดยใครก็ไม่รู้) แทนตัวเองว่าผม เล่าเรื่องราวย้อนอดีตถึงสมัยบรรพบุรุษปู่-ย่า ตั้งแต่แรกพบเจอเมื่อ ค.ศ. 1923 พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ (ทั้งมุมมองของจิ่วเอ๋อ และอี๋ว์จั้นเอ๋า) จนพวกเขาได้ครองคู่อยู่ร่วมมีบุตรชาย (บิดาของผู้บรรยาย) จากนั้นกระโดดข้าม Time Skip การมาถึงของกองทัพญี่ปุ่นช่วงระหว่าง Second Sino-Japanese War (1937-45) นำพาหายนะครั้งใหญ่มาสู่ท้องทุ่งข้าวฟ่างแห่งนี้
- การแต่งงานของจิ่วเอ๋อ & โจรปล้นเกี้ยวเจ้าสาว
- เกี้ยวเจ้าสาวออกเดินทางสู่บ้านเจ้าบ่าว เพื่อเข้าพิธีแต่งงาน
- ระหว่างทาง พบเจอโจรปล้นในทุ่งข้าวฟ่าง
- สามวันให้หลัง จิ่วเอ๋อสามารถเดินทางกลับบ้าน แต่พอมาถึงทุ่งข้าวฟ่าง ยินยอมพลีกายให้อี๋ว์จั้นเอ๋า
- อิสรภาพ และการเริ่มต้นใหม่ & โจรลักพาตัวจิ่วเอ๋อเพื่อเรียกค่าไถ่
- หลังสามีถูกฆาตกรรม จิ่วเอ๋อกลายเป็นนายหัวคนใหม่ โน้มน้าวคนงานให้ร่วมด้วยช่วยกันฟื้นฟูโรงกลั่นเหล้าแห่งนี้ขึ้นใหม่
- ระหว่างการชะล้างทำความสะอาด ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย อี๋ว์จั้นเอ๋าเมาปลิ้นกลับบ้าน เลยถูกจิ่วเอ๋อขับไล่ไม่ให้เข้าห้อง ก่อนเธอโดนลักพาตัวเรียกค่าไถ่
- สามวันให้หลัง จิ่วเอ๋อถูกปล่อยตัวกลับบ้าน อี๋ว์จั้นเอ๋าเลยออกไปเผชิญหน้าเจ้าของร้านขายเนื้อ (คนที่ลักพาตัวจิ่วเอ๋อ)
- วันที่ 9 กันยา ถือเป็นฤกษ์งามยามดีสำหรับเริ่มต้นกลั่นไวน์ใหม่ แต่หลังจากอี๋ว์จั้นเอ๋ากลับมาบ้าน ปัสสาวะใส่ไห แล้วโอบอุ้มจิ่วเอ๋อเดินเข้าห้องหอ (กลายเป็นนายหัวอีกคน)
- Time Skip เก้าปีให้หลัง การมาถึงของกองทัพญี่ปุ่น & ปล้นทำลายทุ่งข้าวฟ่างจนเสียหายย่อยยับเยิน
- ทหารญี่ปุ่นสั่งให้ทำลายทุ่งข้าวฟ่างจนหมดสิ้น ใครที่ไม่กระทำตามคำสั่งจะถูกเข่นฆ่า ถลกหนัง
- จิ่วเอ๋อ ตั้งสัตย์สาบานเพื่อล้างแค้นทหารญี่ปุ่น
- อี๋ว์จั้นเอ๋า รวมกลุ่มจัดตั้งกองกำลังอิสระขึ้นมาเพื่อลักลอบโจมตีทหารญี่ปุ่น
- จนกระทั่งถึงยามเช้า เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้บังเกิดขึ้น
สำหรับคนที่เคยอ่านต้นฉบับนวนิยายของมั่วเหยียน อาจรู้สึกผิดหวังต่อทิศทางดำเนินเรื่องของหนังที่เป็นเส้นตรง (Chronological Order) ไม่ได้กระโดดไปมาให้ปวดเศียรเวียนเกล้า แต่เราต้องเข้าใจว่าฉบับภาพยนตร์เลือกดัดแปลงเพียง 2 เล่มแรก และเนื้อหาเพียงส่วนของบรรพบุรุษปู่-ย่า มันเลยไม่สามารถ/ไม่จำเป็นต้องเล่นลีลากับการตัดต่อสักเท่าไหร่
หลายคนอาจรู้สึกว่าเหตุการณ์หลังจาก Time Skip ดูขาดความต่อเนื่อง คนละพล็อตเรื่องราวกับองก์หนึ่ง-สอง แต่ทุกสิ่งอย่างในหนังล้วนมีความเชื่อมโยงถึงกัน ต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์ ถึงสามารถทำความเข้าใจเหตุผลแท้จริง
- องก์หนึ่ง: ระดับครอบครัว, นำเสนอพันธนาการของหญิงสาว ถูกบิดาบีบบังคับให้คลุมถุงชนแต่งงาน เธอจึงปฏิเสธต่อต้านด้วยการคบชู้ชายอื่น ยินยอมให้โจรปล้นเสียยังดีกว่า
- องก์สอง: ระดับชุมชน, เมื่อจิ่วเอ๋อกลายเป็นเจ้าของโรงกลั่นเหล้า ถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ แต่เพราะไม่มีเงินจะให้ เลยได้รับการปล่อยตัว และสามารถเริ่มต้นกิจการกลั่นเหล้าครั้งแรก
- องก์สาม: ระดับชาติ, เกามี่ตงเป่ยถูกรุกรานโดยกองทัพญี่ปุ่น สั่งให้ถอนรากถอนโคนทุ่งข้าวฟ่าง ต้องการทำลายจิตวิญญาณชนชาวจีน จึงมีการรวมกลุ่มกองกำลังอิสระ เพื่อโต้ตอบกลับศัตรูผู้มารุกราน
เพลงประกอบโดย เจ้าจี้ผิง, Zhao Jiping (เกิดปี 1945) นักแต่งเพลงจากมณฑลฉ่านซี ตั้งแต่เด็กมีความสนใจทั้งดนตรีคลาสสิกและพื้นบ้านจีน สำเร็จการศึกษาจาก Xi’an Music Conservatory เมื่อปี 1970 แล้วทำงานในสถาบันโอเปร่าท้องถิ่นจนถึงปี 1978 ก่อนตัดใจออกมาร่ำเรียนต่อด้านการประพันธ์เพลงที่ Central Conservatory of Music ณ กรุงปักกิ่ง เริ่มทำงานวงการภาพยนตร์ตั้งแต่ Yellow Earth (1984) และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่นห้า ผลงานเด่นๆ อาทิ Red Sorghum (1988), Raise the Red Lantern (1991), Farewell, My Concubine (1993, To Live (1994), A Chinese Odyssey (1995) ฯ
ผู้กำกับจางอี้โหม่ว คงประทับใจเจ้าจี้ผิง มาตั้งแต่ผลงาน Yellow Earth (1984) เพราะความเชี่ยวชาญบทเพลงพื้นบ้าน รู้จักดนตรีประจำท้องถิ่นซีอานเป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การขับร้อง-เล่น-เต้น ยังแทรกใส่ท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด คลุ้มบ้าคลั่ง โดยเฉพาะขณะจิ่วเอ๋อเสียตัวให้กับอี๋ว์จั้นเอ๋ากลางทุ่งข้าวฟ่าง (และตอนท้ายเมื่อปรากฎ Closing Credit) มีลักษณะเป็น ‘expression’ ด้วยการใช้เพียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านจีนเท่านั้น
ใครชื่นชอบบทเพลงพื้นบ้านจีนจาก Yellow Earth (1984) น่าจะรู้สึกประทับใจยิ่งๆขึ้นกับ Red Sorghum (1988) เพราะคำร้อง-ทำนอง มีความหลากหลายกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่ม-สาว เริ่มจากบทเพลงระหว่างการเดินทาง แล้วคนแบกหามขยับโยกเต้นพร้อมกับเกี้ยวเจ้าสาว เป็นผมคงคลื่นไส้วิงเวียน ไม่สามารถทนนั่งในนั้นได้แน่ๆ
แซว: บทเพลงนี้เป็นการร้อง(อี)แซวเจ้าสาว ว่าคงมีหน้าตาขี้เหร่ อัปลักษณ์พิศดาร (ถึงได้ยินยอมแต่งงานกับชายสูงวัยโรคเรื้อน) ด้วยเหตุนี้จิ่วเอ๋อเลยปฏิเสธก้าวออกมาจากเกี้ยว
The guests are still all here
The party’s going strong
But where is the groom?
(But where’s the groom?)Eager beyond restraint
The groom – there he is!
Sneaking (into) the bridal chamber and lifting up the veil
(and lifting up the veil)Aiyaya Aiyaya
Ai-ay-ay-ay-ay-ay-aya
My adorable little dumpling:
My precious little dumplingHe looks, but what he sees
Is a pockmarked face
A flat nose, a hare-lipped mouth,
and crossed-up eyesA chicken’s neck,
a hideous, discolored face
And enouigh lice to cover half her headMy God, what a hideous bride
Her buck-teeth bite into my very soulI turn and flee, I cannot look
Old erdan ‘the impetuous’ (the Groom)
will sleep in the pigsty tonight
ตามประเพณีของคนแถวนั้น หลังแต่งงานได้สามวัน เจ้าสาวจะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับไปเยี่ยมหาบิดา-มารดา แต่ระหว่างทางกลับนั้น อี๋ว์จั้นเอ๋ามาดักรอจิ่วเอ๋อยังบริเวณทุ่งข้าวฟ่าง เธอพยายามวิ่งหนี เขาก็วิ่งไล่จับ แล้วได้ร่วมรักหลับนอน เติมเต็มความต้องการของกันและกัน เสร็จแล้วขณะแยกย้าย ชายหนุ่มก็ขับร้องบทเพลงส่งมอบกำลังใจ แนะนำให้ก้าวเดินต่อไปอย่างไม่ต้องหวาดหวั่น เพราะต่อจากนี้จะมีฉันอยู่เคียงข้าง ดูแลปกป้องอยู่ไม่เหินห่าง อีกไม่นานเราคงได้ดื่มไวน์จากข้าวฟ่างจอกเดียวกัน
ผมไม่คิดว่าคำแปลจากซับไตเติ้ลนี้ จะพรรณาความล่อแหลม สรรพลี้หวนของบทเพลงนี้สักเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณฟังภาษาจีนออก ก็น่าจะอมยิ้มกริ่ม หัวเราะร่า มันช่างลามกจกเปรตได้ใจ … อาจไม่ถึงขนาดนั้นมั้ง
Sis, daringly keep going ahead.
Keep ahead, and don’t turn back.
There’re 9999 roads and they all lead to the heaven.Sis, daringly keep going ahead.
Keep ahead, and don’t turn back.
From now on, you’ll build up a red attic
and cast an embroider ball right on my head.
Together with you,
let’s drink a bottle of red sorghum wine.Sis, daringly keep going ahead.
Keep ahead, and don’t turn back.
นอกจากเพลงเกี้ยวสาว เรายังพบเห็นการขับร้องบูชาอี๋ตี๋ เทพเจ้าแห่งไวน์ โดยปรัมปราชาวจีนแถบมณฑลชานตง เชื่อกันว่าวันที่เก้าเดือนเก้า คือฤกษ์งามยามดีสำหรับเริ่มต้นฤดูกาลทำไวน์ใหม่ ใครก็ตามได้ดื่มด่ำไวน์ถังแรกนี้ จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปลอดโรคปลอดภัยตลอกทั้งปี ไม่มีอะไรให้ต้องหวาดกลัวอีกต่อไป
ในหนังจะได้ยินบทเพลงนี้ถึงสองครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ
- ครั้งแรกคือสัญลักษณ์แทนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของจิ่วเอ๋อ กลายเป็นนายเหนือหัว ได้รับความนับหน้าถือตาจากบรรดาคนงาน
- ครั้งหลังคือจุดเริ่มต้นของการแก้แค้นเอาคืนทหารญี่ปุ่น ดื่มไวน์จอกนี้เพื่อมอบให้หัวหน้าคนงานหลัวฮั่น ที่ถูกเข่นฆาตกรรม ถลกหนังอย่างเลือดเย็นกลางทุ่งข้าวฟ่าง
แซว: ท่อนหนึ่งในคำร้องบทเพลงมีการนับเลข 1, 4, 7, 3, 6, 9 หลายคนอาจสงสัยว่ามันคืออะไร? ผมครุ่นคิดว่าน่าจะสื่อถึงคนเมา แค่นับตัวเลข 1-9 ก็อาจจำสลับไปมา (คือคนสมัยก่อนไม่ค่อยรู้หนังสือ การจะนับตัวเลข 1-9 จึงต้องใช้สมาธิมากๆ ดื่มเหล้ามึนเมาย่อมมิอาจลำดับได้ถูกต้อง)
On 9th of September,
we make the best wine.
The best wine.if you drink our wine,
you’ll feel well and never cough.if you drink our wine,
you’ll go strong and be healthy.if you drink our wine,
you won’t fear the Qingshakou anymore.if you drink our wine,
you won’t be scared of anything.One, four, seven, three, six, and nine,
just follow me to a whole new start.
Best wine, best wine, best wine.
บทเพลงสุดท้ายของหนัง มีลักษณะเป็นคำรำพันถึงมารดาผู้ล่วงลับ ราวกับเธอกำลังออกเดินทางไกลแสนไกล แต่เสียงร้องของเด็กชายช่างเต็มไปด้วยความเจ็บปวด โหยหวน ทุรนทุราย กรีดกรายทรวงใน เพราะต่อจากนี้หลงเหลือเพียงตนเองและบิดา ชีวิตจะก้าวดำเนินต่อไปข้างหน้าเช่นไร
Mom, mom, go southwest.
The roads are wide and the treasure ships are long.Mom, mom, go southwest.
On a big horse travel with enough money.Mom, mom, go southwest.
Settle down where landed. Beg alms when needed.Mom, mom, go southwest.
The roads are wide and the treasure ships are long.Mom, mom, go southwest.
On a big horse travel with enough money.Mom, mom, go southwest.
Settle down where landed.
Beg alms when needed.
สองบรรทัดสุดท้ายของต้นฉบับนวนิยายฉบับแปลไทย ให้คำอธิบาย Red Sorghum ไว้ดังนี้
ข้าวฟ่างแดงเปรียบเสมือนรูปเคารพแห่งเกียรติภูมิของวงศ์ตระกูลเรา เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณดั้งเดิมของดินแดนเกามี่ตงเป่ย
ผมครุ่นคิดว่า ‘จิตวิญญาณดั้งเดิม’ ที่ผู้แต่งมั่วเหยียนต้องการสื่อถึง คือทัศนคติเรื่องการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนรัก ไม่ยินยอมให้ใครมาดูถูก แสดงพฤติกรรมเหยียดหยาม รวมถึงชาวต่างชาติเข้ามารุกรานผืนแผ่นดิน คนสมัยก่อนพร้อมทำทุกสิ่งเพื่อโต้ตอบเอาคืนอย่างสาสม (แบบที่อี๋ว์จั้นเอ๋า ฆาตกรรมเจ้าของโรงกลั่นเหล้า, เผชิญหน้าเจ้าของร้านขายเนื้อ และรวมกลุ่มกองกำลังโต้ตอบกลับทหารญี่ปุ่น) ผิดกับปัจจุบัน(นี้-นั้น) แทบไม่มีใครหาญกล้าลุกขึ้นมาทำอะไร ปล่อยชีวิต/ประเทศชาติดำเนินไป ก้มหัวให้ทรราชย์ เผด็จการ ไร้ความครุ่นคิดอ่านของตนเอง เรียกว่าสูญเสีย ‘จิตวิญญาณดั้งเดิม’ ไปจนหมดสิ้น
แต่เนื้อหาสาระของฉบับภาพยนตร์มีความแตกต่างพอสมควร มองผิวเผินนำเสนอการ ‘ชวนเชื่อ’ เพื่อสร้างค่านิยมให้คนจีนรุ่นใหม่ บังเกิดความเกรี้ยวกราดต่อเหตุการณ์พบเห็น (โดยเฉพาะการทำลายทุ่งข้าวฟ่าง และถลกหนังมนุษย์) บังเกิดความรักชาติ พร้อมเสียสละเพื่อผืนแผ่นดินบ้านเกิด และดำเนินชีวิตสนองอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์
ถ้าเราสามารถมองผ่านปฏิกิริยาอารมณ์ ความคลุ้มบ้าคลั่งที่หนังพยายามชี้นำทางผู้ชม อาจพบเห็นสองสิ่งขั้วตรงข้าม หยิน-หยาง ชาย-หญิง ความดี-ชั่วของตัวละคร เคยกระทำอะไรใครไว้ย่อมได้ผลลัพท์นั้นกลับคืนสนอง ตั้งใจจะเข่นฆ่าทำลายล้างทหารญี่ปุ่น หญิงสาวคนรักเลยถูกกระสุนลูกกราดยิง หรือแม้ตอนจุดระเบิดเหล้าข้าวฟ่าง แต่กลับทำลายทุกสิ่งอย่างราบเรียบหน้ากอง ท้ายที่สุด-จุดเริ่มต้น ล้วนมีแต่การสูญเสีย พลัดพรากจาก
ผลงานของผู้กำกับจางอี้โหมวในยุคแรกๆ ผมเชื่อว่าหลายคนอาจสังเกตเห็นนัยยะต่อต้านแนวคิดพรรคคอมมิวนิสต์ (ส่วนหนึ่งเพราะอิทธิพลจากครอบครัว ที่เทิดทูนนายพลเจียงไคเชก และอคติต่อช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม) แต่จะไม่โจ่งแจ้งชัดเจนสักเท่าไหร่ (ยกเว้นเพียง Ju Dou (1990) และ To Live (1994) ที่เคยถูกแบนห้ามฉาย) พยายามกลบเกลื่อนด้วยการใส่ประเด็นชวนเชื่อ ให้มีความโดดเด่น เบี่ยงเบนความสนใจ อย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ Red Sorghum (1988) นำเสนอภาพความชั่วร้ายของทหารญี่ปุ่น สร้างความโกรธเกลียดเคียดแค้นให้ผู้ชมชาวจีน จนบังเกิดความรักชาตินิยม น้อยคนจะตระหนักถึงแนวคิดหยิน-หยาง ประเด็นต่อต้านสงคราม หรือแนวคิดกฎแห่งกรรม
ปล. แต่ถ้าใครรับชมผลงานยุคหลังๆของจางอี้โหมว อาจพบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กลับตารปัตรตรงกันข้าม ยกย่องชื่นชมอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงมากๆ ผมครุ่นคิดว่าอาจเพราะความประทับใจ/เชื่อมั่นในท่านผู้นำสีจิ้นผิง (เหมือนที่ผมอธิบายถึงมารยาเสน่ห์ของจิ่วเอ๋อ คือเหตุผลทำให้บรรดาคนงานกลับลำ ยินยอมอยู่ต่อเพื่อช่วยฟื้นฟูโรงกลั่นเหล้าแห่งนี้)
การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) คือช่วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อผู้กำกับจางอี้โหมวอย่างรุนแรง! ปฏิเสธเข้าร่วมยุวชนแดง (Red Guards) เลยสูญเวลาชีวิตสิบปีไปกับการใช้แรงงาน ขณะเดียวกันคงรู้สึกเสียดายวัฒนธรรมจีนโบราณ สิ่งล้ำค่าในอดีตที่ถูกทำลายหมดสิ้นซาก, Red Sorghum (1988) สรรค์สร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์เดียวกับ Yellow Earth (1984) ต้องการบันทึกวัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คน ขนบประเพณีพื้นบ้าน จริงอยู่มันอาจดูเฉิ่มเชยล้าหลัง (ทั้งคลุมถุงชน และการทำไวน์) แต่ถือเป็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติ จดบันทึกเก็บใส่ ‘Time Capsule’ ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้
ย้อนกลับไปที่ทุ่งข้าวฟ่าง ในความเข้าใจของผมจากภาพยนตร์ คือสิ่งเทียบแทนวัฏจักรชีวิต ถิ่นบรรพบุรุษตระกูล ความผันแปรเปลี่ยนของผืนแผ่นดินจีน สถานที่แห่งนี้มีการเติบโต-เก็บเกี่ยว ขยายพันธุ์ (สถานที่ร่วมรักระหว่างจั่วเอ๋อ- อี๋ว์จั้นเอ๋า) สามารถนำมากลั่นไวน์แดง (ไม่ใช่แค่สีของเลือดนะครับ แต่ยังสามารถสื่อถึงคนจีนทั้งหมด) ทั้งยังเป็นสถานที่แรกพบเจอ-พลัดพรากจาก ตกหลุมรัก-ทุกข์ทรมาน เคยได้ครอบครองทุกสิ่งอย่าง และสูญเสียหมดสิ้นเนื้อประดาตัว
การถูกรุกรานจากภายนอกทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แต่ปัญหาความขัดแย้งภายใน (โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ปฏิวัติทางวัฒนธรรม) มันคือการทำลายจิตวิญญาณผู้คน เพราะไม่มีใครไหนสามารถละทอดทิ้งอดีต ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ต้องยินยอมรับความผิดพลาดเพื่อสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างผู้มีปัญญา
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Berlin ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม จนสามารถคว้ารางวัล Golden Berlin Bear (เป็นภาพยนตร์สัญชาติจีนเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้)
แซว: ปีนั้นที่เทศกาลหนังเมือง Berlin มีโปรแกรมเคารพคารวะหนังสี (colour film) ตั้งชื่องานว่า The History of Colour Film ได้ทำการฉายหนังฟีล์มสีเก่าๆหลายเรื่อง แล้วบังเอิญว่า Red Sorghum (1988) เป็นภาพยนตร์ในสายประกวดมีความจัดจ้านด้านการใช้แสงสีสันที่สุด พอดิบดี!
ไม่ใช่แค่ความสำเร็จระดับนานาชาติ ในประเทศจีนเองก็ยังได้รับคำชื่นชมล้นหลาม มียอดจำหน่ายตั๋วกว่า 40 ล้านใบ! และสามารถเข้าชิง Golden Rooster Award จำนวน 7 สาขา คว้ามาถึง 4 รางวัล
- Best Film ** คว้ารางวัล
- Best Director
- Best Actor (Jiang Wen)
- Best Cinematography ** คว้ารางวัล
- Best Art Direction
- Best Music ** คว้ารางวัล
- Best Sound ** คว้ารางวัล
ฉบับดีสุดที่สามารถหารับชมน่าจะเป็น Blu-Ray ของ World Cinema เห็นมีการ Remaster (แค่ปรับปรุงคุณภาพ ไม่ใช่การบูรณะนะครับ) สแกนคุณภาพ 2K ได้อย่างคมชัด ไร้ตำหนิ
เกร็ด: Red Sorghum ได้เคยถูกดัดแปลงสร้างเป็นซีรีย์เมื่อปี 2014 ความยาว 60 ตอน, นำแสดงโดยโจวซวิ่น รับบทจิ่วเอ๋อ, เห็นมีฉบับพากย์ไทยใน Youtube นะครับ
ระหว่างรับชมผมมีความมึนงงต่อเนื้อเรื่องราวของหนังพอสมควร ต้องใช้เวลามานั่งครุ่นคิดอยู่สักพักใหญ่ๆ จนสามารถพอทำความเข้าใจอะไรๆได้พอสมควร จึงตระหนักถึงความลุ่มลึกล้ำ แม้ยังมีส่วนขาดๆเกินๆอยู่มาก แต่แค่การถ่ายภาพเพียงอย่างเดียวก็สมควรค่าระดับ Masterpiece แล้วละ!
Red Sorghum (1988) เป็นหนังจีน สร้างโดยคนจีน เพื่อชวนเชื่อชาวจีนโดยเฉพาะ! ต่างชาติอย่างเราๆอาจไม่อินกับพื้นหลัง อุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยังสามารถสัมผัสถึงอารมณ์คลุ้มคลั่ง สภาพหมดสิ้นหวัง เพลิดเพลินไปกับภาพความงดงาม แสงสีสัน บทเพลงพื้นบ้านมีความไพเราะเพราะพริ้ง และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าจดจำ
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งตากล้อง ช่างภาพ ทำงานเกี่ยวกับแสงสีสัน, นักประวัติศาสตร์ ศึกษาวัฒนธรรมจีน ชื่นชอบบทเพลงพื้นบ้าน, หลงใหลกลิ่นอาย Neorealist, แฟนๆผู้กำกับจางอี้โหมว และนักแสดงขาประจำกงลี่ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!
จัดเรต 18+ กับราคะที่ซ่อนเร้น เข่นฆ่ามนุษย์และสัตว์ จนเลือดอาบไหลนองท่วมทุ่ง
Leave a Reply