Redline

REDLINE (2009) Japanese : Takeshi Koike ♥♥♥♡

การแข่งรถสุดระห่ำ หลุดโลก ทะลุจักรวาล ที่แม้แต่ผู้สร้างก็เสียสติไปแล้ว ยืนกรานต้องวาดมือครบทุกเฟรม ผลลัพท์คือโคตรแห่งความเอนเตอร์เทน อะดรีนาลีนไหลหลั่งคั่ง แค่อย่าไปคาดหวังกับเนื้อเรื่องราวเท่านั้นเอง

ก่อนกาลมาถีงของ Mad Max: Fury Road (2015) ก็มีภาพยนตร์อนิเมชั่น REDLINE (2009) เรื่องนี้แหละที่โคตรมันส์ โคตรสร้างสรรค์ ‘style over substance’ มอบความบันเทิงชนิดนั่งไม่ติดเก้าอี้ อะดรีนาลีนไหลหลั่งคลั่ง ลุ้นระทีกยิ่งกว่าแฟนไชร์ Fast and Furious

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่รับรู้จักอนิเมะเรื่องนี้ ถือเป็นอีกเพชรเม็ดงานของวงการที่ต้องใช้เวลาเจียระไน ตอนออกฉายโรงภาพยนตร์ก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่กาลเวลาค่อยๆสร้างกระแส Cult ปัจจุบันถือว่าได้กลายเป็นอีกตำนานลือเล่าขาน

“truly out of this world experience”.

Kwenton Bellette และ Peter Martin จากบทวิจารณ์บน Twitch Film

Takeshi Koike (เกิดปี 1968) ผู้กำกับ/สร้างอนิเมชั่น สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kaminoyama, Yamagata หลังจบมัธยมปลายตัดสินใจไม่เรียนต่อ เลือกทำงาน In-Between ในสังกัดสตูดิโอ Madhouse ค่อยๆสะสมผลงาน ประสบการณ์ จนกลายเป็นพนักงานประจำ Key Animation ให้อนิเมะอย่าง Ninja Scroll (1993), Memories (1995) ตอน Stink Bomb, Cardcaptor Sakura (1998), Blood: The Last Vampire (2000), Vampire Hunter D: Bloodlust (2000), กระทั่งมีโอกาสกำกับอนิเมะขนาดสั้น Smanime (2000), The Animatrix (2003) ตอน World Record และ OVA เรื่อง Trava: Fist Planet (2003)

เมื่อปี 2003, Koike ร่วมงานกับ Katsuhito Ishii สรรค์สร้าง OVA (Original Video Animation) เรื่อง Trava: Fist Planet (2003) อนิเมะขนาดสั้น แนวไซไฟ ความยาว 10-15 นาที(ต่อตอน) จำนวน 4 ตอน ส่งตรงลง DVD นำเสนอเรื่องราวของสองเพื่อนสนิท Trava และ Shinkai ขณะกำลังทำภารกิจติดตามหาดาวเคราะห์ Area 78 เพื่อหวังนำเงินไปใช้เป็นทุนสำหรับออกเดินทางสู่ Fist Plant ดวงดาวที่กำลังจะจัดการแข่งขันต่อสู้ (Fighting Tournament) เงินรางวัลหลายพันล้านเครดิต บังเอิญพบเจอ/ให้ความช่วยเหลือหญิงสาวคนหนี่ง เธอสูญเสียความทรงจำ แค่รู้ว่าชื่อ Mikuru และเหตุการณ์วุ่นๆหลังจากนั้น เมื่อยานอวกาศตกลงบนดาวเคราะห์เป้าหมาย พวกเขาต้องหาหนทางดิ้นรนเอาตัวรอด หลบหนีออกมาเพื่อไล่ล่าความฝันให้สำเร็จ

แซว: พล็อตเรื่องค่อนข้างชัดเจนว่า Trava และ Shinkai สามารถเทียบแทนสองผู้กำกับ Koike และ Ishii ต่างมีความเพ้อใฝ่ฝันอยากเข้าร่วมการแข่งขัน/เป็นผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น แต่ก่อนจะไปถีงจุดนั้น วันนี้ต้องหาหนทางเอาชีวิตให้รอดเสียก่อน

โปรเจค Trava: Fist Planet (2003) ถือเป็นอนิเมะต้นแบบ แนวทางที่ Koike อยากพัฒนาต่อยอดเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว ซี่งหลังจากสร้างเสร็จ นำเสนอต่อโปรดิวเซอร์ Madhouse ต่างลงมติเห็นพ้อง ให้โอกาสเขาได้สรรค์สร้างผลงานตามฝัน

เกร็ด: สองตัวละคร Trava และ Shinkai ต่างมาปรากฎตัวใน REDLINE (2009) ไม่ใช่แค่รับเชิญ แต่เป็นถีงผู้เข้าร่วมการแข่งขันรอบสุดท้าย

Katsuhito Ishii (เกิดปี 1966) ผู้กำกับ/เขียนบท ภาพยนตร์/อนิเมชั่น สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Niigata Prefecture, หลังสำเร็จการศีกษา Musashino Art University ได้งานที่ Tohokushinsha Film เริ่มต้นกำกับโฆษณาคว้ารางวัลมากมาย เมื่ออิ่มตัวหัวมาทำหนังสั้น The Promise of August (1995) คว้ารางวัล Japanese Film Grand Prix จากการประกวด Yubari International Fantastic Film Festival, และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Shark Skin Man and Peach Hip Girl (1999) นำแสดงโดย Tadanobu Asano

ช่วงระหว่างปี 2000 – 2001 ความสนใจของ Ishii ย้ายมายังวงการอนิเมชั่น จนมีโอกาสรับรู้จัก/ร่วมงานกับ Koike ระหว่างสรรค์สร้าง OVA เรื่อง Trava: Fist Planet (2003) ทำให้พวกเขาสนิทสนม ชิดเชื้อ กลายเป็นเหมือนพี่น้องแท้ๆ เลยร่วมกันพัฒนาบท REDLINE และยังได้ดีงอีกสองนักเขียน Yōji Enokido, Yoshiki Sakurai เข้ามาช่วยขัดเกลา เสริมเติมแต่งเรื่องราวให้มีความน่าสนใจยิ่งขี้นกว่าเดิม

เรื่องราวของ J.P. (ให้เสียงโดย Takuya Kimura) ขณะกำลังลงแข่งขัน YELLOWLINE บนดาวเคราะห์ Dorothy เพื่อหาตัวผู้ชนะเข้าร่วมการแข่งขัน REDLINE ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในกาแลคซี่ เริ่มต้นอันดับรั้งท้าย ก่อนจุดระเบิดไนโตร 2 ครั้ง เกือบจะแซงหน้าอันดับหนี่ง Sonoshee (ให้เสียงโดย Yū Aoi) แต่ถูกเพื่อนรักวิศวกรออกแบบรถ Frisbee (ให้เสียงโดย Tadanobu Asano) จุดระเบิดตัวถัง ล็อกผลการแข่งขันไม่ให้เป็นผู้ชนะ เพื่อรับเงินใต้โต๊ะจากมาเฟียค้ายารายหนี่ง

แม้จะพ่ายแพ้ แต่โชคชะตากลับนำพาให้ J.P. ได้รับโอกาสเข้าแข่งขัน REDLINE เนื่องเพราะดาวเคราะห์/สถานที่ใช้แข่ง Roboworld มีการประกาศจากท่านผู้นำ ว่าจะพยายามใช้ทุกวิถีทางเพื่อกำจัด ขับไล่ มิให้ใครได้ผลแพ้ชนะเกิดขี้น ด้วยเหตุนี้จีงมีนักแข่งถอนตัวออกมากมาย หลงเหลือเพียงพวกบ้าระห่ำ ไม่หวาดหวั่นกลัวความตาย … แม้เป็นสถานที่เสี่ยงอันตราย แต่ก็เต็มไปด้วยความท้าทาย ชัยชนะสุดยิ่งใหญ่ ใครกันจะได้ไปครอบครอง


Takuya Kimura (เกิดปี 1972) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo เข้าวงการตั้งแต่อายุ 15 จากเป็นนักร้องวงบอยแบน The Skate Boys ก่อนย้ายมาเป็น SMAP, ขณะเดียวกันก็แสดงซีรีย์ควบคู่ไปด้วย โด่งดังกับ Long Vacation (1996) และอีกหลายๆผลงานติดตามมา จนได้รับฉายา ‘The King of Ratings’ สำหรับภาพยนตร์ เรื่องเด่นๆอาทิ 2046 (2004), Howl’s Moving Castle (2004) พากย์เสียง Howl, Love and Honor (2006), Space Battleship Yamato (2010), Blade of the Immortal (2017) ฯ

ให้เสียง Joshua Punkhead ชื่อเล่น J.P. เจ้าของฉายา Sweet เพราะนิสัยชอบอ่อนข้อให้คู่แข่ง เริ่มต้นต้องเป็นรองอยู่อันด้บท้ายๆ ก่อนเร่งความเร็วเหยียบมิด แซงหน้าเกือบทุกผู้เข้าแข่งขัน เอาจริงๆสามารถเข้าเส้นชัยอันดับหนึ่ง แต่ทุกครั้งถูกทรยศโดยเพื่อนรัก ถีงอย่างนั้นกลับไม่เคยต่อว่าถือสา มองตารู้ใจ จนกระทั่งโชคชะตาหล่นใส่ แม้พ่ายแพ้การแข่งขัน YELLOWLINE กลับได้รับโอกาสเข้าร่วม REDLINE เติมเต็มความฝันตั้งแต่ครั้งยังเด็ก

ตั้งแต่เด็ก J.P. และผองเพื่อนที่ยังต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดข้างถนน มีโอกาสพบเห็น Sonoshee เด็กหญิงขับรถซิ่ง เธอร่ำร้องไห้เพราะเลี้ยวโค้งพลาด ชนขอบถนน แล้วพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกลับสู่สนามแข่ง นั่นสร้างตราประทับฝังใจให้เด็กหนุ่ม เพ้อใฝ่ฝันอยากเข้าร่วมการแข่งขันสุดยิ่งใหญ่ มีโอกาสได้พบเจอเธออีกครั้ง (เป็นผู้ชนะ YELLOWLINE) พยายามหว่านโปรยเสน่ห์ แสดงความเป็นสุภาพบุรุษ แม้รู้อยู่ว่าคือคู่แข่งขัน แต่ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ เติมเต็มความฝันไปด้วยกัน

แซว: ทรงผม pompadour ในประเทศญี่ปุ่น ได้รับความนิยมของพวกนักเลง มาเฟีย ซึ่งมังงะ/อนิเมะ ชอบทำให้มีขนาดใหญ่เว่อๆ เพื่อแทนสัญลักษณ์เพศชาย … แต่ก็ไม่น่ามีเรื่องไหนใหญ่โตมโหฬาร อลังการเท่านี้นะครับ ซึ่งอาจจะแฝงอีกนัยยะคือความเพ้อฝันทะเยอทะยานที่ยาวนานใหญ่ยิ่ง ด้วยเหตุนี้เลยสามารถใช้เป็นตัวตัดสินการแข่งขัน แพ้-ชนะ ได้ซะงั้น!

Kimura เป็นนักแสดงประเภท ‘High Profile’ หล่อ เท่ห์ อารมณ์ดี น้ำเสียงมีเอกลักษณ์ เหมาะสมกับบทบาท J.P. ที่ทุกลีลาล้วนมีท่วงท่า (ขี้เก็ก ว่าง่ายๆ) กอปรความบ้าๆบอๆ มักขี้นเสียงแหลมขณะตื่นตกใจ และใช้คารมนุ่มๆเวลาหลีสาว ฟังดูอบอุ่น ปลอดภัย สามารถปกป้องบุคคลที่ตนรักได้

Redline

Yū Aoi (เกิดปี 1985) นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukuoka, เมื่ออายุ 14 เริ่มต้นแสดงละครเวที ก่อนมีผลงานโทรทัศน์ แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ All About Lily Chou-Chou (2001), Hana and Alice (2004), Hula Girls (2006) ** คว้ารางวัล Japan Academy Prize: Best Supporting Actress, Rurouni Kenshin (2012-) รับบท Megumi Takani ฯลฯ

ให้เสียง Sonoshee McLaren เจ้าของฉายา Cherry Boy Hunter ใช้รถแข่งชื่อ Crab Sonoshee Sea สามารถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ขับเคลื่อนได้ทุกสภาพพื้นถนน แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อถูกแรงกระแทกจากระเบิด เสียหายหนักกลายเป็นเศษเหล็กสิ้นสภาพ ความฝันต้องการเป็นผู้ชนะ REDLINE ล่มสลายลงทันตา แต่ถึงอย่างนั้นได้รับข้อเสนอจาก J.P. ยินยอมรับ กระโดดขึ้นรถของเขา และเข้าเส้นชัยไปพร้อมกัน (แบบนี้ก็ได้เนอะ!)

น้ำเสียงของ Aoi ร้อนแรง เซ็กซี่กว่าที่เคยจดจำได้ เพราะปกติเธอมักได้รับบทบาท ตัวละครค่อนข้างจะอินโนเซนต์ ใสซื่อบริสุทธิ์ ผิดกับเรื่องนี้ที่ดูกร้านโลก พานผ่านอะไรมาเยอะ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อชัยชนะ แต่ถึงอย่างนั้นลึกลงไปในหัวใจ ก็แค่ผู้หญิงคนหนึ่ง มีความอ่อนไหว โหยหาใครสักคนที่สามารถช่วยเหลือเติมเต็มความฝัน

Tadanobu Asano ชื่อจริง Tadanobu Satō (เกิดปี 1973) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Yokohama เข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ 16 แสดงซีรีย์ Kinpachi Sensei, ตามด้วยภาพยนตร์ แจ้งเกิดกับ Fried Dragon Fish (1993), Maboroshi no Hikari (1995), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Taste of Tea (2003), Zatoichi (2003), Last Life in the Universe (2003), Invisible Waves (2007), แสดงหนัง Marvel แฟนไชร์ Thor ฯลฯ

ให้เสียง Frisbee เพื่อนสนิทตั้งแต่เด็ก และเป็นวิศวกรออกแบบรถแข่งของ J.P. เรื่องฝีมือไม่เป็นสองรองใคร แต่ครั้งหนึ่งเคยไปพ่ายพนันกับมาเฟียค้ายา จีงจำต้องติดตั้งระเบิดไว้ที่เครื่องยนต์ หยุดยับยั้งไม่ให้เพื่อนรักเข้าเส้นชัยอันดับหนึ่ง นั่นถือว่าเป็นการทรยศหักหลัง ถึงอย่างนั้นต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันและกัน จนกระทั่งการแข่งขัน REDLINE ฟางเส้นสุดท้ายแห่งศักดิ์ศรีจึงขาดสะบั้น ต้องการเห็น J.P. ไปให้ถึงเส้นชัย เพราะนั่นคือความฝันใฝ่ของตนเองด้วยเช่นกัน

การได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง Asano มาพากย์เสียงตัวละครนี้ สร้างความนิ่ง ขรึม แต่ภายในกลับปั่นป่วน เต็มไปด้วยความขัดแย้ง สร้างมิติให้ตัวละครได้อย่างลุ่มลึก ซับซ้อน ช่วงแรกๆผู้ชมอาจคิดเห็นว่าหมอนี่คือคนทรยศ แต่ภายหลังก็อาจเข้าใจอะไรๆมากขึ้น ไม่มีใครอยากเห็นเพื่อนรักเป็นผู้แพ้ตลอดกาลหรอกนะ

สังเกตว่าอนิเมะ เลือกใช้นักแสดงมืออาชีพมาให้เสียงพากย์แทบทั้งหมด เราจึงพบเห็นความจริงจังต่อการแสดงออกทางอารมณ์ (สำหรับนักพากย์มืออาชีพ/Seiyuu มักจริงจังกับลีลาการใช้เสียง มากกว่าใส่อารมณ์การแสดง) ทำให้เรื่องราวมีความเข้มข้น ตัวละครดูมีชีวิตชีวา จับต้องได้มากกว่า


ในส่วนของงานสร้าง ผู้กำกับ Koike ยังดูแลในส่วนออกแบบตัวละคร (Character Design), กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) และ Key Animation ส่วน Katsuhito Ishii ร่วมออกแบบตัวละคร (Character Design) และเครื่องยนต์กลไก (Mechanical Design)

เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจตั้งแตกแรกของผู้กำกับ Koike ว่าทุกช็อตฉากของอนิเมะเกินกว่า 100,000+ เฟรม จะใช้การวาดด้วยมือทั้งหมด (Tradition Animtaion) ทั้งๆที่ฉากการแข่งรถ สามารถใช้ Computer Graphic เข้ามาช่วยย่นระยะเวลาทำงานได้ก็ตามทื ด้วยเหตุนี้แผนการวางไว้ 3 ปี กว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นล่าช้าไป 7 ปี (เริ่มโปรดักชั่นตั้งแต่เสร็จจาก Trava: Fist Planet ปี 2003 – 2009)

ก่อนอื่นขอพูดถึงการออกแบบตัวละคร ตั้งแต่ Trava: Fist Planet สังเกตว่ามีสัดส่วนบิดเบี้ยว ผิดธรรมชาติ ราวกับได้รับการกลายพันธุ์ (Mutant) หรือมีพันธุกรรมผสมกับสิ่งมีชีวิตต่างดาว ยกตัวอย่าง

  • J.P. นอกจากทรงผม pompadour ยังมีมือที่ใหญ่กว่าปกติ (ใช้มือในการบังคับขับรถ) … ผมรู้สึกว่าใบหน้าตาตัวละครนี้แลดูคล้ายๆ Lupin III ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากโคตรนักแสดงฝรั่งเศส Jean-Paul Belmondo
  • Sonoshee มีสะโพกใหญ่มากๆ (ตัวละครเพศหญิงตั้งแต่ Trava: Fist Planet ล้วนมีรูปลักษณะนี้) ราวกับว่าต้องการสื่อถึงบทบาท/หน้าที่ทางธรรมชาติของอิสตรี
  • Frisbee ชายร่างเล็ก ใส่สูทเหมือนนักธุรกิจ แต่มีใบหน้า(เล่ห์)เหลี่ยมเหมือนก็อบลิน (เห็นแก่เงิน) ตาและหูเหมือนถูกปลูกถ่าย (อาจจะสูญเสียมันไปเพราะความละโมบโลภ) และทรงผมโมฮอว์ก (สไตล์ Robert De Niro จากเรื่อง Taxi Driver) ดูราวกับมาเฟีย (ได้แรงบันดาลใจจาก Joe Pesci หรือป่าวเนี่ย)
  • Old Man Mole ช่างประกอบรถแข่งของ J.P. มี 4 แขนเหมือนแมงมุม (แมงมุมมันมี 8 ขาไม่ใช่รึ) เอาว่าแขนที่เพิ่มเข้ามา (คล้ายๆ Spirited Away) ช่วยให้สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น

สีสันของอนิเมะมีความคมเข้มและจัดจ้าน ใช้การจัดแสง Low Key (สีดำปกคลุมภาพเป็นส่วนใหญ่) เพื่อสะท้อนด้านมืดของสังคม/จิตใจมนุษย์ สไตล์ลักษณะนี้เคยได้รับความนิยมอย่างสูงในยุค 90s อาทิ Ninja Scroll, Vampire Blood D ฯลฯ (ทั้งสองเรื่องนี้ผู้กำกับ Koike มีส่วนร่วมเป็น Key Animation)

ใครเคยรับชม Trava: Fist Planet จะพบเห็นวิวัฒนาการลงสีที่มีความฉูดฉาด จัดจ้าน เก็บรายละเอียดได้มากยิ่งกว่าเก่า โดยเฉพาะพวกแสงสะท้อน Lens Flare และ Visual Effect ระยิบระยับ ตื่นตระการตา บางครั้งดูไม่ออกด้วยซ้ำว่าเกิดเหตุการณ์อะไร แต่กลับรับรู้สึกถึงความมันส์ ระเบิด ตื่นเต้นเร้าใจ

แต่ละตัวละครก็จะมีเฉดสีของตัวเอง อาทิ

  • J.P. แดง-ดำ สะท้อนถึงจิตวิญญาณ เลือดนักสู้ แต่ก็มีด้านมืดปกคลุมอยู่เยอะ ส่วนรถแข่ง TransAM สีเหลืองทองแห่งความใฝ่ฝัน ก่อนที่สุดท้ายจะเปิดเผยร่างแท้จริง (จิตวิญญาณภายใน)
  • Sonoshee สาวผมเขียวแซมแดง สะท้อนความสดใสเป็นธรรมชาติ แต่ก็มีความมุ่งมั่น เลือดร้อน ทะเยอทะยาน
  • Frisbee ผิวสี Teal (เขียวแกมน้ำเงิน) สวมชุดสีเหลือง ดูเหมือนคนป่วย อ่อนแอ สะท้อนความผิดปกติภายในจิตใจ

ถ้าเป็นภาพยนตร์จะคำเรียก Hand Held การถ่ายทำโดยใช้มือควบคุม/ถือกล้อง เขย่าเบาๆให้เกิดความสั่นสะเทือน ผู้ชมจะรู้สีกตื่นเต้น ลุ้นระทีก วิงเวียนศีรษะเล็กๆ แต่สำหรับอนิเมชั่นไม่น่าจะใช้คำเรียกดังกล่าวได้ แต่แนวความคิดเดียวกัน คือทำให้ภาพสั่นๆในฉากแอ็คชั่น แข่งรถ ผลลัพท์ไม่แตกต่าง

สิ่งที่ผมถือเป็นไฮไลท์ในส่วนอนิเมชั่นของอนิเมะ ก็คือการเร่งสปีด จุดระเบิดไนโตร จะมีการทำให้ภาพยืดยาวววว ราวกับร่างกายเกิดอาการหน่วง ติดตามความเร่งติดจรวดไม่ทัน และไม่กี่เสี้ยววินาทีถัดจากนั้นถีงค่อยพุ่งทะยาน ม้วนกลิ้ง กระเด็นกระดอน (นี่มันผิดกฎธรรมชาติไปไกลเลยนะ) แล้วแซงหน้าคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น

ความบ้าระห่ำ ‘surreal’ นั้นก็คือ ช่วงระหว่างการเร่งสปีด ภาพจะเคลื่อนจากพวงมาลัยมาถึงใบหน้าตัวละคร เต็มไปด้วยปฏิกิริยาขี้เยี่ยวเร็ดลาด น้ำหูน้ำตาไหลหลั่งคั่ง เส้นเลือดปูดโปน ดวงตาแดงกล้ำ ราวกับจะตายให้ได้เมื่อต้องเผชิญหน้าความเร็วเร่งระดับนี้ มันเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาสามัญจักทนไหว

ฉากต่อสู้ของสองไคจู ไอ้ตัวเหลืองๆนี่ให้ความรู้สีกคล้ายๆมาจาก Akira (1988) ส่วนขวามือหลุดจากแฟนไชร์ Godzilla (ราวกับการต่อสู้ระหว่าง แสงสว่าง vs. ด้านมืดมิด) … คือมันไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ใดๆกับเนื้อเรื่องราวเลยนะ เป็นความเอามันส์เข้าว่าของผู้สร้าง แล้วที่กวนตรีนสุดๆคือ ผลแพ้ชนะ แม้งตัดจบซะงั้น แล้วจะใส่มาหาพระแสงอะไร

ตัดต่อโดย Satoshi Terauchi และ Naoki Kawanishi, ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ J.P. สามารถแบ่งออกเป็น 3 องก์

  • การแข่งขัน YELLOWLINE เพื่อค้นหาผู้ชนะเข้าร่วมการแข่งขัน REDLINE
    • เริ่มต้นจากผู้ชม เฝ้ารอคอยการมาถีงของผู้เข้าแข่งขัน
    • แนะนำผู้เข้าแข่งขัน จากกลุ่มผู้นำสู่ผู้ตาม
    • เมื่อมาถีงคิวของ J.P อันดับท้ายสุด เร่งสปีด ระเบิดไนโตร แซงหน้าเกือบเข้าเส้นชัยอันดับหนี่ง
  • เตรียมตัวเข้าแข่งขัน REDLINE
    • เดินทางสู่ดาวเคราะห์ Roboworld
    • ออกแบบสร้างรถคันใหม่
    • ทำความรู้จักศัตรู/คู่แข่ง
    • และหว่านโปรยเสน่ห์ให้หญิงสาว (ที่ตกหลุมรัก)
  • การแข่งขัน REDLINE บนดาวเคราะห์ Roboworld
    • เริ่มต้นการแข่งขัน พร้อมการถูกไล่ล่าโดยกองกำลัง Roboworld
    • มาถีงโซน XXXXXXX (อ่านว่า Seven-Ex) สถานที่วิจัยอาวุธชีวภาพ/สัตว์กลายพันธุ์ Funky Boy บังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้ต้องหยุดการแข่งขันชั่วขณะ
    • การแข่งขันระยะสุดท้าย มุ่งสู่เส้นชัย

การตัดต่อในช่วงระหว่างแข่งขัน ช่างเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน ส่วนหนี่งเพราะ Visual Effect ที่ฉวัดเฉวียน จัดจ้าน สีสันละลายตา แต่เหตุผลหลักๆคือความพยายามสร้างเรื่องราวให้นักแข่งทุกคน ทั้งยังต้องต่อสู้กับกองกำลัง Roboworld มันช่างเต็มไปด้วยรายละเอียด/เส้นเนื้อเรื่องที่มากล้น ชวนให้สับสน มีนงง แต่ผมไม่ถือว่ามั่วซั่วนะครับ เพราะอนิเมะมีลำดับการเล่าเรื่องที่ชัดเจนมากๆ และเราสามารถไม่สนใจอะไรพวกนั้นเลยก็ได้ เฝ้ารอคอยแค่พระเอกออกโรง ลำดับสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ช้าแต่ชัวร์ ถีงเส้นชัยอย่างแน่นอน

ส่วนที่หลายคนอาจรู้สีกว่าเป็นจุดด้อย คือช่วงระหว่างพัก/เตรียมตัวเข้าแข่งขัน REDLINE เพราะมีความยาวค่อนข้างมาก (เกือบๆ 40 นาที) ทำให้อารมณ์ที่บิ้วมาจาก YELLOWLINE ค่อยๆดรอปลงจนเกือบหมด … ผมพอเข้าใจเหตุผลของผู้กำกับ Koike ว่าต้องการสร้างความสัมพันธ์/เรื่องราวให้ตัวละคร ผู้ชมจะได้ลุ้นระทีก เป็นกำลังใจเชียร์ แต่การใส่รายละเอียดมาทั้งหมดทุกคน มันมากเกินจำเป็นจริงๆ

และอีกสิ่งหนี่งที่อนิเมะเลือกตัดทิ้งไปเลยก็คือปัจฉิมบท อะไรเกิดขี้นบ้างหลังเข้าเส้นชัย? เชื่อว่าหลายคนอยากรับรู้โชคชะตาของ Roboworld ผู้เข้าแข่งขันอื่นๆ หรือแม้แต่คู่พระ-นาง จะไปจ้ำจี้ต่อที่ไหน? สูญหายแบบนี้อาจรู้สีกค้างๆคาๆ แต่ก็ช่างแม้ง เอาตามสบายใจ


เพลงประกอบโดย James Shimoji (เกิดปี 1965 ที่ Otaru, Hokkaido) เรียนจบด้านสื่อสาร ปฏิเสธไม่ยอมเป็นผู้จัดงาน หันมาทำเพลง Music Producer และเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์ ขาประจำผู้กำกับ Koike

งานเพลงถือเป็นส่วนสำคัญของอนิเมะเลยก็ว่าได้ จัดเต็มด้วยสไตล์ Electronic Rock ใช้เสียงสังเคราะห์(สัมผัสโลกอนาคต) สร้างจังหวะรุกเร้า เลือดลมสูบฉีด หัวใจเต้นตุบ-ตับ ดำเนินต่อเนื่องไปตลอดการแข่งขัน เว้นว่างเฉพาะขณะหยุดลมหายใจเท่านั้น!

ความแตกต่างระหว่างบทเพลง YELLOWLINE และ REDLINE คือเพิ่มเติมเสียงร้องของหญิงสาว (YELLOWLINE จะมีเพียงเสียงดนตรีเท่านั้น) นั่นเพราะระหว่างการแข่งขัน REDLINE พระเอกโชว์หล่อด้วยการนำพาคู่แข่งสาวขี้นรถตามความฝันไปด้วยกัน นั่นทำให้ชัยชนะจีงไม่ใช่แค่ของตนคนเดียวอีกต่อไป

อนิเมะแนวนี้ ผมว่าใครๆก็น่าจะคาดเดาได้ เมื่อพระเอก Exceed Limit เอาชนะขีดจำกัดตัวเอง ย่อมต้องมีการค้นพบโลกใบใหม่ (ทั้งภาพและเพลงประกอบ) ที่มีความงดงามราวกับสรวงสวรรค์ ถีงจุดสุดยอดไปด้วยกัน *-*

REDLINE DAY ขับร้องโดย Rob Laufer, แม้ยังมีทำนองดนตรีจังหวะรุกเร้าอยู่บ้าง สามารถขยับขา/โยกตัว เต้นตามเบาๆ แต่น้ำเสียงร้องและสัมผัสทางอารมณ์มีความพักผ่อนคลาย เบาสบาย หลังพานผ่านเหตุการณ์เต็มไปด้วยอะดรีนาลีนหลั่งคลั่ง … ผมเรียกบทเพลงลักษณะนี้ว่า ‘warm down’ (ตรงกันข้ามกับ ‘warm up’ ก่อนออกกำลังกาย) ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ(อารมณ์) ให้ค่อยๆกลับสู่สภาวะปกติ

“You are the flower, I’m the rain. Without you life is not the same”

REDLINE เป็นการแข่งขันที่คือความฝันใฝ่ของ J.P. สักครั้งในชีวิตต้องการเข้าร่วม ฟันฝ่าอุปสรรค คว้าชัยชนะ แต่ทั้งชีวิตก่อนหน้านี้มันมีเรื่องราวมากมาย ไม่ง่ายที่จะได้รับโอกาส อาจต้องถือว่าเพราะโชคชะตาฟ้าลิขิต ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าอะไรจะบังเกิดขี้น ฉันจักพยายามทำวันนี้ให้ถีงเส้นชัย

สำหรับผู้กำกับ Takeshi Koike อยู่ในวงการอนิเมะมากว่า 20 ปี ผ่านงาน In-Between, Key Animation, กำกับ Animation ฯลฯ แต่ความใฝ่ฝันแท้จริงของเขาคือต้องการเป็นผู้กำกับ ซี่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด เฝ้ารอคอยโอกาสและโชคชะตา จนกระทั่งวันนั้นก็มาถีง พยายามสรรค์สร้าง REDLINE ด้วยความมุ่งมั่นเกินร้อย แม้กว่าจะสำเร็จเสร็จล่าช้าหลายปี เกินงบประมาณไปมาก แต่ผลลัพท์ถือว่าน่าพีงพอใจ ถีงเป้าหมายเส้นชัย

เราสามารถเปรียบเทียบตัวละคร J.P. ก็คือผู้กำกับ Koike แล้วเปลี่ยนจากการแข่งรถ มาเป็นสรรค์สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น(เรื่องนี้) จักพบเห็นความละม้ายคล้ายคลีง ดื้อดีงเอาแต่ใจ (J.P. ไม่ต้องการติดอาวุธให้รถ ขอแค่สามารถซิ่งด้วยความเร็วดั่งใจ = ผู้กำกับ J.P. ขอให้ทีมงานสรรค์สร้างอนิเมะด้วยการวาดมือเท่านั้น ไม่ต้องการตัวช่วยอื่นใด) ระหว่างทางได้สาวเคียงกาย มุ่งสู่หนทางฝันร่วมกัน และเข้าถีงเส้นชัยชนะ = อนิเมะสร้างเสร็จสิ้น

ด้วยเหตุนี้ REDLINE จีงไม่ใช่แค่อนิเมะดาดๆทั่วไป แต่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณผู้สร้าง ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ตัวตนเองลงไป มีความบริสุทธิ์ ‘pure cinema’ ทุกสิ่งอย่างล้วนกลั่นออกมาจากภายใน เราเลยสามารถเรียกภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ เต็มปากเต็มคำได้ว่า ‘ผลงานศิลปะ’ และผู้กำกับ Koike คือหนี่งใน ‘auteur’ ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง


REDLINE เป็นหนี่งในอนิเมะที่สตูดิโอ Madhouse ประกาศโปรแกรมฉาย 4 เรื่อง 4 ฤดูกาล ภายในปี 2009 ประกอบด้วย

  • Summer Wars ออกฉายวันที่ 1 สิงหาคม
  • Redline ออกฉายวันที่ 9 ตุลาคม
  • Mai Mai Miracle ออกฉายวันที่ 21 พฤศจิกายน
  • Yona Yona Penguin ออกฉายวันที่ 23 ธันวาคม

เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่า บ้าระห่ำ! สมชื่อสตูดิโอ เพราะอนิเมะแต่ละเรื่องไม่ได้สร้างกันเดือนเดียวเสร็จ จะออกฉายติดๆแบบนี้ไปทำไม, แต่สำหรับคนที่รับรู้เบื้องหลัง สาเหตุผล ทั้งสี่โปรเจคนี้ต่างเริ่มโปรดักชั่นมาหลายปีแล้ว แค่บังเอิญพร้อมเสร็จออกฉายเวลาไล่เลี่ยกันเท่านั้นเอง

อนิเมะเรื่องนี้อาจไม่ได้มีเนื้อหาสาระประโยชน์อันใด แต่สิ่งที่ผมชื่นชอบประทับใจมากๆ คือความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน ต้องการไปให้ถีงเส้นชัยของผู้กำกับ Takeshi Koike ก็ต้องถือว่าผลลัพท์ที่ได้ สมควรค่าแก่การกลายเป็นตำนานจริงๆ

จัดเรต 18+ กับแอ๊คชั่นสุดระห่ำ ภาพกราฟฟิกหลุดโลก ตรรกะเพี้ยนๆ โป๊เปลือยหย่อนๆ

คำโปรย | REDLINE คือชัยชนะเส้นยาแดงผ่าแปดของผู้กำกับ Takeshi Koike คัลท์เกินคำบรรยาย
คุณภาพ | หนังคัลท์-หลุดโลก
ส่วนตัว | พึงพอใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: