The Saragossa Manuscript

The Saragossa Manuscript (1965) Polish : Wojciech Has ♥♥♥♥

จากเรื่องเล่าหนึ่ง สู่เรื่องเล่าของอีกเรื่องเล่าหนึ่ง สู่เรื่องเล่าของอีกเรื่องเล่าของอีกเรื่องเล่าหนึ่ง ซ้อนซับซ้อนสู่ความไม่รู้จบของเรื่องราว เพื่อสื่อถึงวังวนไร้หนทางออก ไม่มีทางดิ้นหลุดพ้น ‘บ่วงรัดคอ’ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์

The Grand Budapest Hotel (2014) อาจต้องชิดซ้ายเมื่อเทียบความซ้อนซับซ้อนของ The Saragossa Manuscript (1965) แถมแต่ละเรื่องราวก็มีเรื่องราวซ้อนเรื่องราวของตนเอง -ไม่ใช่ลูกเล่น (gimmick) ส่งไม้ผลัดแบบที่ Wes Anderson นิยมใช้ในหลายๆผลงาน- จุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้สึกไม่รู้จักจบจักสิ้น ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิด โครงสร้างดังกล่าวแฝงนัยยะซ่อนเร้นอะไร? และเรื่องราวทั้งหมดมีความสัมพันธ์กันเช่นไร?

แซว: Luis Buñuel โดยปกติแล้วเป็นคนไม่ชอบดูหนังเกินกว่าหนึ่งรอบ แต่ถึงขนาดเขียนบอกในหนังสืออัตชีวประวัติ พยายามขวนขวายหาฟีล์ม The Saragossa Manuscript (1965) มารับชมไม่น้อยกว่าสามรอบ!

ว่าแล้วว่าถ้าผมไม่ไล่เรียงรับชมตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆของผู้กำกับ Wojciech Has ก็อาจไม่เข้าใจเหตุผลการสรรค์สร้าง The Saragossa Manuscript (1965) ที่แทบไม่มีพาดพิงถึงรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ แต่เพราะโครงสร้างของ ‘Story within a Story’ ซ้อนซับซ้อนกันหลายต่อหลายชั้น สามารถสื่อถึงวังเวียนวนไม่รู้จบสิ้น คล้ายๆเขาวงกต หรือบ่วงรัดคอของ The Noose (1957) เป็นยังไงให้ย้อนกลับไปอ่านบทความก่อนหน้านี้ดูนะครับ

แม้ว่าโครงสร้างการดำเนินเรื่องจะมีความโคตรซับซ้อน แต่เรื่องเล่าทั้งหมดก็ไม่ได้ซ่อนเงื่อนอะไร ถ้าเราค่อยๆทำความเข้าใจไปทีละเรื่องราว คอยสังเกตหาจุดเชื่อมโยงสัมพันธ์ เวียนวนเป็นวงกลม ย่อมสามารถทำความเข้าใจภาพรวมของหนังได้ไม่ได้ยาก ใช้ประโยชน์จาก Dyaliscope (อัตราส่วน 2.35:1) อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ 182 นาทีที่โคตรมหากาพย์ ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไม่แพ้นิทานพันหนึ่งราตรี


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Manuscrit trouvé à Saragosse แปลตรงตัวว่า The Manuscript Found in Saragossa ต้นฉบับคือนวนิยาย ‘frame-tale’ ภาษาฝรั่งเศส แต่ประพันธ์โดย Count Jan Potocki (1761–1815) ผู้ดีชาว Polish แห่ง House of Potocki เกิดที่ Pików, Podolia ขณะนั้นคือประเทศ Polish–Lithuanian Commonwealth ถูกส่งไปร่ำเรียนหนังสือยังกรุง Genève ค้นพบความชื่นชอบเรื่องราวลึกลับ สิ่งเหนือธรรมชาติ อีกทั้งหลงใหลการออกเดินทางผจญภัย ทัวร์ยุโรป-เอเชีย-แอฟริกาเหนือ และเคยเข้าร่วมสงคราม War of the Bavarian Succession (1778-79)

เกร็ด: frame-tale หรือ frame story หรือ frame narrative คือเทคนิคการนำเสนอเรื่องราวที่มีลักษณะซ้อนเรื่องราว ‘story within a story’ อาทิ สิบราตรี (Decameron), พันหนึ่งราตรี (Arabian Nights), ตำนานแคนเตอร์บรี (The Canterbury Tales) ฯลฯ

The Saragossa Manuscript คือชื่อหนังสือภาษาสเปน ค้นพบโดยทหารนิรนามชาวฝรั่งเศสยังเมือง Zaragoza (ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสเปนในปัจจุบัน) เมื่อปี ค.ศ. 1809 ช่วงระหว่าง Napoleonic Wars (1803–1815) ด้วยความลุ่มหลงใหลในรูปภาพวาด ทำให้ทหารชาวสเปนผู้เป็นเจ้าของหนังสือดังกล่าว เมื่อมาพบเจอเข้าจึงอาสาช่วยแปลภาษาฝรั่งเศส

เรื่องราวในหนังสือ The Saragossa Manuscript จดบันทึกโดย Alphonse van Worden สมาชิกของ Walloon Guard เมื่อปี ค.ศ. 1739 ขณะกำลังออกเดินทางสู่กรุง Madrid เพื่อจะเข้าร่วมกองทัพ Spanish Army ระหว่างทางพานผ่านบริเวณเทือกเขา Sierra Morena ในระยะเวลา 66 วัน พบเจอกลุ่มคนมากมาย เจ้าหญิงมุสลิม, ชาวยิปซี, บุคคลนอกกฎหมาย รวมถึงสมาชิกลัทธิ Kabbalah ฯลฯ ต่างเล่าเรื่องราวการผจญภัยที่มีความสนุกสนาน ชวนหัว รักโรแมนติก ลึกลับเหนือธรรมชาติ หลอกหลอนขนหัวลุก ฯลฯ

แน่นอนว่าเรื่องราว สถานที่ และอาจรวมถึงบุคคลปรากฎอยู่ในนวนิยาย The Saragossa Manuscript คือสิ่งที่ผู้แต่ง Count Jan Potocki เคยประสบพบเจอระหว่างออกเดินทางท่องโลกไปตามสถานที่ต่างๆ เริ่มรวบรวมรายละเอียดตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1790s จนกระทั่งเป็นรูปเป็นร่าง(รวมเรื่องราว 45 วัน)ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1805 และหลังจากผู้แต่งเสียชีวิต ค.ศ. 1815 รวมเรื่องราวทั้งหมด 61 วัน

เกร็ด: Count Jan Potocki กระทำอัตวินิบาตด้วยกระสุนเงินเมื่อปี ค.ศ. 1815 เพราะครุ่นคิดว่าตนเองเป็นมนุษย์หมาป่า (Werewolf)

Potocki เขียนนวนิยายเล่มนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส ได้รับการแปลเป็นภาษาโปแลนด์โดย Edmund Chojecki เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 1847 (มีการนำบทร่างที่ไม่ได้ตีพิมพ์ และส่วนหนึ่งอาจแต่งเพิ่มเพื่อให้ได้ครบ 66 วัน) แต่ต้นฉบับที่เป็นฝรั่งเศสแท้ๆกลับสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย ปัจจุบันได้รับการเรียบเรียงใหม่ภาษาฝรั่งเศส (ด้วยการแปลจากฉบับภาษาโปแลนด์กลับมาอีกที) โดย René Radrizzani ตีพิมพ์ปี 1989


Wojciech Jerzy Has (1925-2000) ผู้กำกับสัญชาติ Polish เกิดที่ Kraków ค้นพบความชื่นชอบด้านการวาดรูปตั้งแต่เด็ก ช่วงระหว่าง Nazi Germany ยึดครอง Poland ในสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าศึกษายัง Szkoła Handlowa w Krakowie แล้วต่อด้วยสาขาภาพยนตร์ Academia de Arte Frumoase Jan Matejko ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นผู้ช่วยตากล้อง ผู้ช่วยผู้กำกับ Two Hours (1946), แล้วเข้าร่วม Warsaw Documentary Film Studio กำกับสารคดี/หนังสั้น Harmonia (1948), และเมื่อกลายเป็นสมาชิกกลุ่ม Polish Film School สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก The Noose (1958)

If Wojciech Has had become a painter, he would surely have been a Surrealist. He would have redrawn antique objects with all their real accoutrements and juxtaposed them in unexpected ways.

นักวิจารณ์ Aleksander Jackiewicz ให้คำนิยามผู้กำกับ Wojciech Has

ผลงานของ Has อาจดูเหมือนพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง มุ่งเน้นสร้างโลกส่วนตัว บรรยากาศเหนือจริง สะท้อนจิตวิทยา แต่ลึกๆแล้วตัวเขามีความสนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงซุกซ่อนเร้นทุกสิ่งอย่างไว้ในวัตถุ สิ่งข้าวของเชิงสัญลักษณ์ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในระบอบการปกครองพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์

I reject matters, ideas, themes only significant to the present day. Art film dies in an atmosphere of fascination with the present.

Wojciech Has

ผกก. Has ได้รับการแนะนำให้รู้จัก The Manuscript Found in Saragossa จากนักเขียน Tadeusz Kwiatkowski (1920-2007) อ่านแล้วเกิดความชื่นชอบในรายละเอียด ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโดยเฉพาะวิธีการดำเนินเรื่องที่สามารถนำมาทำการทดลองกับสื่อภาพยนตร์ จึงมอบหมายให้ Kwiatkowski เป็นผู้พัฒนาบทหนังตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 60s

ช่วงต้นปี 1963, คณะกรรมการกลางของสหพรรคแรงงานโปแลนด์ (Central Committee of the Polish United Workers’ Party) มีการเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับภาพยนตร์ (State Committee for Cinematography) มองหาโปรเจคดัดแปลงจากวรรณกรรมเลื่องชื่อ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และนำเสนอประวัติศาสตร์ 1,000 ปี ของประเทศโปแลนด์

subjects expressing progressive ideas and the liberating aspirations of the nation and the working people in the 1000-year history of Poland, using in this respect outstanding works of Polish literature.

นั่นเองกลายเป็นโอกาสให้ ผกก. Has นำเสนอโปรเจคดัดแปลง The Manuscript Found in Saragossa ได้รับการตอบอนุมัติด้วยทุนสร้างแทบจะไม่อั้น

แน่นอนว่าหนังย่อมไม่สามารถดัดแปลงเรื่องราวทั้ง 66 วัน เลือกมาเฉพาะตอนที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กับ Alfonse Van Worden (ประมาณสิบกว่าตอน) และพัฒนาตอนจบขึ้นใหม่ ให้ตัวละครครุ่นคิดเขียน The Saragossa Manuscript ยังสถานที่ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของหนัง (เริ่มต้น-สิ้นสุด ครบรอบเวียนวงกลม)


ครึ่งแรก: เรื่องราวเริ่มต้นระหว่าง Napoleonic Wars (1803-15) ณ การสงครามที่เมือง Saragossa (Zaragoza) ทหารฝรั่งเศสนายหนึ่งพบเจอหนังสือเล่มใหญ่ มีรูปภาพวาดน่าตื่นตาตื่นใจ แม้ถูกห้อมล้อมจับกุมแต่กลับไม่ใคร่อะไร จนทหารสเปนอีกนายจดจำได้ว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือปู่ของตนเอง จึงช่วยแปลภาษาให้อีกฝ่ายสามารถทำความเข้าใจ

เรื่องราวที่อยู่ในหนังสือ เล่าถึงกัปตัน Alfonse van Worden (รับบทโดย Zbigniew Cybulski) กำลังหาหนทางผ่านเทือกเขา Sierra Morena Mountains เพื่อเข้าร่วมกองทัพ Spanish Army แต่ได้รับคำเตือนจากสองคนรับใช้ ว่าสถานที่แห่งนี้เลืองลือชาถึงความหลอกหลอน พอมาถึงโรงแรมในภูเขา Venta Quemada ได้รับคำเชื้อเชิญรับประทานอาหารเย็นร่วมกับสองเจ้าหญิงชาว Moorish (เป็นชื่อที่ชาวคริสต์ในยุโรปใช้เรียกมุสลิมใน Maghreb, คาบสมุทร Iberian Peninsula, Sicily และ Malta ในยุคสมัยกลาง Middle Ages) ชื่อว่า Emina และ Zibelda แถมยังชักชวนให้เขาแต่งงานครองรักกับพวกเธอ ด้วยข้อแม้เปลี่ยนมานับถืออิสลาม แต่หลังดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง นั่นคือฝันดีหรือร้ายกันแน่?

ออกเดินทางต่อมาถึงโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่ง พบเจอบาทหลวงที่อ้างว่าพยายามรักษาบุคคลผู้ถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง แต่ก่อนรับฟังเรื่องราวของ Pacheco จะมีการเล่าเรื่องราวบิดาของ Alfonse (คงรับฟังจากบิดามาอีกที) ผู้ดีชาวสเปนถูกรถม้าพุ่งชน จึงเดินทางสู่ Madrid ไปท้าดวลดาบแต่กลับถูกแทงสภาพปางตาย ระหว่างเดินทางกลับกล่าวคำสัตย์พร้อมทำสัญญากับปีศาจเพื่อน้ำดื่มอึกเดียว ปรากฎว่ามีหญิงสาวคนหนึ่งนำน้ำมามอบให้ แล้วต่อมากลายเป็นภรรยา และมารดาของ Alfonse

สำหรับเรื่องราวของ Pacheco (ให้ความรู้สึกเหมือนเล่าต่อจาก Alfonse) หลังบิดาแต่งงานใหม่กับ Camilla de Tormez ได้นำพาน้องสาวสุดสวย Inezilia มาอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เธอนั้นทำให้เขาตกหลุมรักหัวปักหัวปำ ร้องขอให้บิดาจัดงานแต่งงานให้แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธ จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับจดหมายจากสองสาว นัดพบเจอยังโรงแรมในภูเขา Venta Quemada หลังร่วมรักหลับนอนฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง หวนกลับไปอีกครั้งถึงตระหนักว่าตนเองพบเห็นภาพหลอน ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง

เช้าวันถัดมา Alfonse ระหว่างออกเดินทางจากโบสถ์คริสต์ ถูกล้อมจับโดยกลุ่มศาลศาสนา (Spanish Inquisition) กล่าวหาว่าเขาเป็นคนนอกรีต ทำสัญญากับปีศาจ ระหว่างถูกทัณฑ์ทรมาน ได้รับการช่วยเหลือโดยสองเจ้าหญิง Emina และ Zibelda พากลับมายังโรงแรมในภูเขา Venta Quemada แล้วทุกสิ่งอย่างก็ราวกับ Déjà vu หลังดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง แต่คราวนี้พบเจอสมาชิกลัทธิ Kabbalah และนักคณิตศาสตร์ Don Pedro Velasquez ซึ่งสามารถเอาตัวรอดจากกลุ่มศาลศาสนา พากันมุ่งสู่ปราสาท The Kabbalist’s Castle

ครึ่งหลัง: เมื่อ Alfonse เดินทางมาถึงปราสาท The Kabbalist’s Castle ก็ได้มีการพูดคุยถกเถียง ไสยศาสตร์ vs. คณิตศาสตร์ ค้นพบเงื่อนงำบางอย่างที่อาจสามารถอธิบายปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติที่บังเกิดขึ้น จนกระทั่งการมาถึงของกลุ่มยิปซีนำโดย Don Avadoro เริ่มต้นเล่าเรื่องราว การผจญภัย ความหาญกล้าของตนเองเมื่อครั้นอาศัยอยู่กรุง Madrid

เริ่มต้นจาก Don Avadoro ได้รับการว่าจ้างให้สอดแนมหญิงสาวคนหนึ่ง Donna Frasquetta Salero (หรือก็คือ Augusta Fernandez) แต่เขากลับตลบหลังนายจ้าง Frasquetta Solero ยินยอมช่วยเหลือเธอคนนั้นนำถุงมือไปมอบให้กับ Senor Toledo เมื่อพบเจอก็รับฟังเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นเมื่อคืน เพื่อนสนิท Aquillar, Knight of Malta หลังดวลดาบกับพี่ชายตนเอง ตกตายไปแล้วหวนกลับมาพูดเตือนสติว่านรก-สวรรค์มีจริง สร้างความหวาดสะพรึงกลัวตัวสั่น เพราะในอดีตเคยกระทำสิ่งชั่วร้ายไว้มาก ตั้งสัตย์ปฏิญาณจะขอสำนึกตัวเป็นคนใหม่

หลังจากนั้น Don Avadoro เดินทางไปเยี่ยมเยียนชายหนุ่มน้อย Lopez Soarez นอนเข้าเฝือกอยู่บนเตียง รับฟังเล่าเรื่องเล่าชีวประวัติ ตั้งแต่บิดา Don Gaspar Soarez มีความขัดแย้งกับนายธนาคาร Moro จากนั้นส่งบุตรชายมาฝึกฝนการค้าขายยังกรุง Madrid แต่ดันตกหลุมรักหญิงสาว Donna Inez โดยไม่รู้ตัวคือบุตรของนายธนาคาร Moro

Lopez Soarez สนิทสนมกับ Don Roque Busqueroz เป็นบุคคลเข้ามายุ่งย่ามก้าวก่ายตั้งแต่แรกพบ ต้องการเกาะติดเพราะเขาคือบุตรชายพ่อค้าที่มีฐานะร่ำรวย พยายามทำตัวพ่อสื่อชี้ชักนำให้เขาตกหลุมรัก Donna Inez พร้อมเล่าเรื่องราวที่ตนเองเคยแอบปีนบันไดขึ้นไปสานสัมพันธ์กับ Donna Frasquetta Salero ด้วยเหตุนี้จึงพา Lopez Soarez ต้องการให้ทำแบบเดียวกับหญิงสาว Donna Inez แต่ดันขึ้นบ้านผิดหลังเลยพลัดตกบันได ส่งเสียงครวญครางบอกว่าสวรรค์-นรกมีจริง

หลังจากตระหนักถึงเหตุการณ์ทั้งหมด Don Avadoro ก็ทำการช่วยเหลือเพื่อนๆทั้งสามให้ได้ค้นพบข้อเท็จจริง

  • บอกกับ Senor Toledo ว่าเสียงที่ได้ยินไม่ใช่ของ Aquillar, Knight of Malta ซึ่งยังมีชีวิตอยู่
  • Don Gaspar Soarez ยืนยอมคืนดีกับนายธนาคาร Moro ทำให้บุตรของพวกเขา Lopez Soarez ได้แต่งงานกับ Donna Inez
  • ขณะที่ Don Roque Busqueroz และ Senor Toldedo ต่างรับรู้ว่าชู้รักของพวกเขาคือหญิงสาวคนเดียวกัน Donna Frasquetta Salero = Donna Augusta Fernandez จึงต้องพากันหลบหนีหัวซุกหัวซุน

และระหว่างทั้งสาม (Don Avadoro, Don Roque Busqueroz และ Senor Toldedo) กำลังหาหนทางหลบหนีออกจากกรุง Madrid ก็ได้พบเจอบิดาของ Alfonse กำลังท้าดวลดาบ เอาชนะใครต่อใคร

เมื่อเรื่องเล่าทั้งหมดจบสิ้น เช้าวันใหม่ Alfonse ออกเดินทางจาก The Kabbalist’s Castle กลับมาโรงแรมในภูเขา Venta Quemada พบเจอกับสองเจ้าหญิงอีกครั้ง หลังดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง คราวนี้สองคนรับใช้ยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาพากันมุ่งสู่เมือง Saragossa (Zaragoza) แล้วเริ่มต้นจดบันทึกเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอมาลงในหนังสือเล่มใหญ่


Zbigniew Hubert Cybulski (1927-62) โคตรนักแสดงสัญชาติ Polish เจ้าของฉายา “the Polish James Dean” เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ Kniaże, ใกล้เมือง Śniatyń (ปัจจุบันคือ Kolomyia Raion, Ukraine) หลังสงครามโลกครั้งที่สองเข้าเรียนการแสดงยัง Akademia Sztuk Teatralnych im. Stanisława Wyspiańskiego จบออกมาเข้าสู่วงการละครเวที Teatr Wybrzeże ตามด้วย Teatr Ateneum, ภาพยนตร์เรื่องแรก A Generation (1955), โด่งดังกับ Ashes and Diamonds (1958), The Eighth Day of the Week (1958), Night Train (1959), How to Be Loved (1962), The Saragossa Manuscript (1964), To Love (1964) ฯลฯ

รับบท Alfonse Van Worden กัปตันหนุ่มแห่ง Walloon Guard ระหว่างกำลังเดินทางผ่าน Sierra Morena Mountains ประสบพบเจอเหตุการณ์ต่างๆ รับฟังเรื่องเล่าจากบุคคลมากมาย ทีแรกไม่เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ท้ายสุดเกิดความหวาดระแวง วิตกจริต แทบกลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง แล้วเริ่มต้นจดบันทึกทุกสิ่งอย่างลงในหนังสือเล่มใหญ่ The Saragossa Manuscript

บุคคลแรกที่ได้รับการติดต่อคือ Zbigniew Wójcik ชายหนุ่มหน้าใสจากโรงละคร Stary Teatr im. Heleny Modrzejewskiej เพิ่งเริ่มมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ The Eighth Day of the Week (1958) แต่หลังจากเจ้าตัวมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งแฟนสาว ตัดสินใจรมแก๊สฆ่าตัวตายคู่, นักแสดงคนถัดมาคือ André Claire ชาวฝรั่งเศสที่มีเชื้อสาย Polish แต่พอถึงวันถ่ายทำจริงกลับเป็นการสวมรอยของ Andrzej Trześniewski ซึ่งไม่ศักยภาพเพียงพอในการแสดงบทบาทดังกล่าว

ผกก. Has เลยต้องติดต่อนักแสดงขาประจำ Zbigniew Cybulski แม้งานแทบล้นมือก็ไม่เคยคิดบอกปัดปฏิเสธ เพียงแสดงความคิดเห็นว่าตนเองอาจดูแก่เกินชายหนุ่มอายุ 18 ปี ไปไม่น้อย

If I couldn’t play young, with great physical conditions, let van Worden be a little too old, a little too fat and a little too blind.

Zbigniew Cybulski

โดยปกติแล้วภาพจำของ Cybulski จะต้องสวมเสื้อหนัง แว่นตาดำเท่ห์ๆ แต่เมื่อเล่นหนัง Period ย่อมมิอาจแต่งองค์ทรงเครื่อง รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ดูแก่เกินแกง ถึงอย่างนั้นเรื่องการแสดงต้องยอมรับว่าไม่เป็นสองรองใคร เป็นบุคคลที่มี Charisma สูงมากๆ (เอาจริงๆผมว่ามากๆเกินกว่าบทบาทนี้อีกนะ) สามารถถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้า อากัปกิริยาท่าทาง เดี๋ยวกลัว-เดี๋ยวเกรง ชอบทำอวดเก่ง ลับหลังขี้ขลาดตาขาว แต่อย่าปล่อยให้อยู่สองต่อสามตามลำพังกับสาวๆ แสดงอาการระริกระรี้ สนแต่จะปรี้ อะไรอย่างอื่นช่างหัวมัน ฟื้นตื่นขึ้นมาทีไรไม่รู้จักเข็ดหลากจำ รับฟังเรื่องเล่าก็ปฏิเสธเชื่อคำเขา สามครั้งให้หลังถึงเริ่มสาสมแก่ใจ เพิ่งตระหนักได้เมื่อก็แทบกลายเป็นคนบ้าคลั่ง … แต่ก็ยังไม่เข็ดหลากจำอยู่ดี

ผมไม่รู้จะยินดีหรือยินร้าย แม้ว่า Cybulski สร้างตัวละครให้มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เขาก็ยิ่งใหญ่กว่าบทบาทนี้ไปมากๆ (ที่ควรเป็นชายหนุ่มหน้าใส ใจบริสุทธิ์ เพิ่งเริ่มเรียนรู้จักความรัก และอายุ 18 ปี!) สร้างมาตรฐานสูงส่งจนยากจะหาใครมาเทียบเคียง … แอบนึกถึง War and Peace (1966-67) ที่ก็ใช้นักแสดงแก่เกินแกงไปมาก แต่ก็ไม่ทำให้อถรรสในการรับชมเสียไปสักเท่าไหร่


ถ่ายภาพโดย Mieczysław Jahoda (1924-2009) ตากล้องสัญชาติ Polish ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าเรียนคอร์สภาพยนตร์ Warsztatu Filmowego Młodych แล้วมาย้ายมาศึกษาต่อยัง Instytut Filmowy w Krakowie ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ถ่ายทำสารคดีให้สตูดิโอ Wytwórnia Filmów Oświatowych จากนั้นเปลี่ยนมาเรียนการถ่ายภาพ ณ Łódź Film School กลายเป็นผู้ช่วยตากล้อง, เครดิตถ่ายภาพเรื่องแรก Zimowy zmierzch (1957), โด่งดังจากร่วมงานขาประจำผกก. Wojciech Has ตั้งแต่ The Noose (1958)

เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ระดับมหากาพย์ให้กับหนัง จึงเลือกถ่ายทำด้วยระบบ Dyaliscope อัตราส่วน 2.35: 1 (มันก็คือ CinemaScope แต่เป็นคำเรียกบริษัทผลิตฟีล์มของฝรั่งเศส) ใช้ประโยชน์จากความกว้างงง บันทึกภาพทิวทัศน์ Sierra Morena Mountains (สถานที่ถ่ายทำจริงๆคือ Kraków-Częstochowa Upland หรือ Polish Jurassic Highland เรียกย่อๆ Polish Jura ทางตอนใต้ของโปแลนด์) และเก็บรายละเอียดเมือง Madrid ได้อย่างเต็มสองตา (ก่อสร้างทั้งเมืองขึ้นที่ Morskie Oko, Wrocław)

แต่เอาจริงๆสเกลงานสร้างของหนัง ก็ไม่ได้มีความยิ่งใหญ่อลังการสักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับฝั่ง Hollywood ใช้เวลาโปรดักชั่นขวบปีเต็ม ประกอบด้วยนักแสดงรวมตัวประกอบ 187 คน ออกแบบเครื่องแต่งกาย 232 ชุด ฉากใหญ่ๆก็มีแค่เมือง Madrid นอกนั้นเป็นฉากภายใน อาทิ โรงแรมในภูเขา Venta Quemada, ปราสาท The Kabbalist’s Castle, คฤหาสถ์ Van Worden ฯลฯ


Title Sequence ร้อยเรียงภาพวาด Abstract ที่มีลักษณะสองสิ่งขั้วตรงข้าม แต่สามารถเติมเต็มกันและกันดั่งหยิน-หยาง (เหตุผลที่หนังเลือกถ่ายภาพฟีล์มขาว-ดำ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้) นี่ทำให้ผมระลึกขึ้นได้ว่า Pablo Picasso และ Salvador Dalí ต่างก็เป็นชาว Spanish และพื้นหลังของหนังเมือง Madrid, Saragossa อยู่ในอาณาเขตประเทศสเปน

  • ภาพแรกของหนังให้ความรู้สึกเหมือนกัปตัน Alfonse Van Worden เผชิญหน้ากับอำนาจมืด สิ่งชั่วร้ายกำลังคืบคลานเข้ามา (หรือกำลังควบม้าหลบหนีอยู่ก็ไม่รู้นะ)
  • ภาพสองมีสัญลักษณ์ชาย-หญิง พระอาทิตย์-ดวงจันทร์ ดวงตา(สัญลักษณ์ของชีวิต)-โครงกระดูก(สัญลักษณ์ของความตาย) ท้องฟ้าและเทือกเขา Sierra Morena Mountains ทั้งหมดล้วนคือสองสิ่งตรงกันข้าม
  • ภาพสามให้ความรู้สึกเหมือนทฤษฎีสมคบคิด อิสรภาพของเพศหญิง ดวงตาบุรุษที่แอบถ้ำมอง เปลือกภายนอก-ตัวตนแท้จริงจากภายใน
  • ภาพสีเต็มไปด้วยสิ่งชั่วร้าย ภยันตราย การต่อสู้ที่อาจถึงตาย ริมฝีปากมิอาจพูดบอกกล่าวความจริง และหนังสือเล่มใหญ่ The Saragossa Manuscript ถูกคมดาบทิ่มแทง
  • หญิงสาวสร้างความบันเทิงเริงรมณ์ให้กับชีวิต ตรงกันข้ามยมทูตแห่งความตาย โดดเดี่ยวอ้างว้าง หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง

นี่ถือเป็นการอารัมบท สร้างบรรยากาศเหนือจริง (มีกลิ่นอายของ Dalí มากกว่า Piccaso นะครับ) ก่อนนำเข้าสู่เรื่องราวของหนัง แถมยังบอกใบ้อะไรๆหลายสิ่งอย่าง ขึ้นอยู่กับตัวเราเองจะสามารถขบครุ่นคิด สังเกตเห็นอะไรๆได้มากน้อยเพียงไหน

เกร็ด: ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ภาพวาดจากหนังสือ The Saragossa Manuscript แต่คือภาพสเก็ตโดยผกก. Has เพื่อส่งให้ทีมออกแบบงานสร้าง (Production Design) จึงพบเห็นหลายสิ่งอย่างแทรกแซมอยู่ตามฉากต่างๆในหนัง

ทำไมต้อง Zaragoza? หรือ Saragossa? เมืองหลวงของแคว้น Aragon (ในอดีตก็เคยเป็นเมืองหลวงของ Kingdom of Aragon (ค.ศ.1035–1707)) อาจเพราะเป็นดินแดนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน พานผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ อาทิ

  • เป็นสถานที่ตั้ง Cathedral-Basilica of Our Lady of the Pillar มหาวิหารคาทอลิกแห่งแรกของโลกที่อุทิศให้พระแม่มารีย์ เมื่อครั้นมาประจักษ์ในสเปน ดั้งเดิมเป็นเพียงเสาศักดิ์สิทธิ์ (Basilica of Our Lady of the Pillar) เมื่อตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 แล้วก่อสร้างโบสถ์ขึ้นรอบล้อม ค.ศ. 1681-1961
  • งานแต่งงานระหว่าง King Ferdinand II of Aragon และ Queen Isabella I of Castile เมื่อปี ค.ศ. 1479 เป็นการรวมอาณาจักร Aragon เข้ากับ Castile
  • เมืองแห่งนี้ยังจุดกำเนิดของศาลศาสนา (Spanish Inquisition)
  • เคยเกิดกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (bubonic plague) เมื่อปี ค.ศ. 1564 มีรายงานผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน (จากจำนวนประชากร 25-30,000 คน)
  • Peninsular War (1807-14) เมื่อกองทัพ Napoleon กรีธาทัพมาถึง Saragossa มีการต่อสู้รบรา กว่าจะยินยอมยกธงข่าวก็เมื่อมีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 นาย (ถือเป็นยุทธการต่อสู้ยิ่งใหญ่สุดในสงครามครั้งนั้นเลยกระมัง)

ไม่เชิงว่าเหตุการณ์เหล่านี้ถูกอ้างอิงถึงในหนังสือ/ภาพยนตร์ แต่ต้องถือว่า Saragossa คือเมืองที่เต็มไปด้วยบรรยากาศ สามารถสร้างอิทธิพลให้ตัวละคร เคยมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ หลายๆสิ่งอย่างก็มีความละม้ายคล้ายคลึง เคยพานผ่านอะไรๆมามากมาย … กระมัง

เกร็ด: ภาพวาดที่นำมานี้คือ View of Zaragoza (ค.ศ. 1647) โดยจิตรกร Juan Bautista Martínez del Mazo

ฉากแรกของหนังมีการนำเสนอ ‘mise-en-scène’ อันน่าทึ่ง! บรรดาทหารหาญเดิน-วิ่ง ควบขี่ม้า ไปข้างหน้า-สวนทางกลับมา จากนั้นได้ยินเสียงระเบิด กระสุนปืน คละคลุ้งด้วยฝุ่นควัน เรียกว่าเต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน ซึ่งแฝงนัยยะถึงโครงสร้างดำเนินเรื่องของหนัง ที่มีความซ้อนซับซ้อน แต่ละเรื่องเล่าฟังดูคนละทิศคนละทาง ถึงอย่างนั้นกลับมีบางสิ่งอย่างที่เป็นจุดร่วม เวียนวงกลม และหวนกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง

แซว: ทหารชาวฝรั่งเศสนายนี้ เริ่มต้นจากเดินเอื่อยๆเฉื่อยๆ (แบบครึ่งแรกของหนัง) แต่พอตกอยู่ในสถานการณ์ชุลมุนวุ่นวาย จู่ๆกลับพยายามเรียกรวมพล “Forward! After me!” ถึงอย่างนั้นกลับไม่ใครสนใจกระทำตามคำสั่ง จนต้องถอยร่นหลบหนีหัวซุกหัวซุน (แบบครึ่งหลังของหนัง)

เรื่องราวแรกของหนังมันอาจดูไม่ได้มีห่าเหวอะไร แต่ถ้าครุ่นคิดให้ดีๆจะพบว่าความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศส vs. สเปน (สวมเครื่องแบบดำ vs. ขาว) จู่ๆก็จบสิ้นลงเพียงเพราะความสนใจในหนังสือเล่มใหญ่ The Saragossa Manuscript ทั้งสองฝั่งฝ่ายต่างใคร่อยากรู้ อยากค้นหาคำตอบ มันมีเรื่องราวอะไรอยู่ในนั้น ถึงขนาดล้มเลิกราฆ่าฟัน ยินยอมแปลภาษาให้สามารถทำความเข้าใจ

เมื่อรับชมหนังต่อไปเรื่อยๆก็จะพบว่า มีหลายๆเรื่องเล่านำเสนอความขัดแย้งระหว่างบุคคลสองฝั่งฝ่าย บิดา vs. บุตรชาย, พ่อค้า vs. นายธนาคาร, ศาสนาคริสต์ vs. อิสลาม, ทำไมหนึ่งชายถึงจะครอบครองหญิงสาวสองคนร่วมกันไม่ได้? สุดท้ายเมื่อสามารถขบไขปริศนา ต่อสู้เอาชนะ หรือคลายความขัดแย้ง พวกเขาก็จักคบหากลายเป็นเพื่อนสนิท อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข

ซึ่งถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองของประเทศโปแลนด์ แม้ผกก. Has จะเต็มไปด้วยอคติต่อพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เขารู้จักการประณีประณอม ยินยอมอ่อนข้อ สมานฉันท์ … ถึงอย่างนั้นฝั่งการเมืองซ้าย-ขวา กลับไม่หนทางอยู่ร่วมงานกันอย่างสงบสันติสุข!

Sierra Morena เทือกเขาความยาว 450 กิโลเมตร จากทิศตะวันออกถึงตะวันตกของ Iberian Peninsula ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เป็นสถานที่ที่ในอดีตเต็มไปด้วยจอมโจร (เหมาะแก่การหลบซ่อนตัว) เลื่องชื่อเรื่องงูใหญ่ และเด็กชายได้รับการเลี้ยงดูแลจากหมาป่า

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1767 รัชสมัยของ Charles III of Spain (1716-88, ครองราชย์ 1759-88) ได้ทำการถอนรากถอนโคน กำจัดพวกจอมโจรให้หมดสิ้นไปจากเทือกเขาแห่งนี้ ต่อมาเลยกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการเดินทาง มีชาวนาจาก German, Swiss, Flemish มาตั้งรกรากถิ่นฐานมากมาย

เกร็ด: ในวรรณกรรม Don Quixote (ค.ศ. 1605-15) คือสถานที่ที่ Sancho Panza แนะนำทาส/ผู้อพยพ ที่ได้รับการปลดแปกจาก Don Quixote มาหลบลี้ภัยจาก Holy Brotherhood

เอาจริงๆหนังมีงบประมาณมากพอจะเดินทางไปยังประเทศสเปน แต่ผู้กำกับ Has ต้องการใช้ทิวทัศน์ของโปแลนด์เป็นสถานที่ถ่ายทำ โดยตัดสินใจเลือก Kraków-Częstochowa Upland หรือ Polish Jurassic Highland หรือ Polish Jura (หมายถึงดินแดนที่มีความแก่เก่าตั้งแต่ยุค Jurassic อายุประมาณ 200 ล้านปี) เทือกเขาทางตอนใต้ของ Poland คาบเกี่ยวระหว่างเมือง Kraków, Częstochowa และ Wieluń

ต้นฉบับนวนิยายของ The Saragossa Manuscript เห็นว่ามีการเล่าย้อนไปถึงยุคโบราณ จุดกำเนิดศาสนาคริสต์-อิสลาม ลัทธิ Kabbalah แต่หนังจำต้องตัดทิ้งประเด็นดังกล่าว เพราะมันไม่ได้มีความสลักสำคัญต่อเนื้อหาหลักสักเท่าไหร่ ซึ่งสถานที่แห่งนี้ Kraków-Częstochowa Upland ยังสามารถสร้างบรรยากาศเก่าแก่ เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ และความลึกลับได้เป็นอย่างดี

ผมคงไม่ลงรายละเอียดว่าสิ่งสัญลักษณ์ต่างๆสื่อความหมายถึงอะไร แต่อยากจะให้สังเกตแทบทุกช็อตฉากที่ถ่ายทำยัง Kraków-Częstochowa Upland มักมีลักษณะมุมเงย เพื่อให้เห็นทั้งผืนแผ่นดินและท้องฟากฟ้า แถมหลายๆช็อตแลดูคล้ายรูปภาพวาดตอน Title Sequence เพื่อสร้างสัมผัสเหนือจริง (Surrealist) สถานที่ราวกับจินตนาการเพ้อฝัน เพลงประกอบยังเสริมบรรยากาศหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง เต็มไปด้วยความลึกลับ สลับซับซ้อน

แม้จะมีแผนที่ แต่ผู้ชม(และตัวละคร)กลับไม่สามารถบอกตำแหน่ง ทิศทาง วกกลับไปวนมา ราวกับเขาวงกต ไร้หนทางออก … จะว่าไป Alfonse Van Worden ก็เดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทางกรุง Madrid

โรงแรมในภูเขา Venta Quemada คือสถานที่แห่งความลึกลับ มีการเจาะเข้าไปในเทือกเขา (คาดว่าคงเคยเป็นเหมืองเก่า) ซึ่งสามารถสื่อถึงสิ่งที่อยู่ภายในเรือนร่างกาย หรือคือจิตวิญญาณ/จินตนาการของ Alfonse Van Worden มีห้องโอ่โถง รโหฐาน พบเจอสองเจ้าหญิง Moorish พยายามเกี้ยวพาราสี เพื่อจะได้แต่งงานครองคู่รัก … สื่อถึงความต้องการแท้จริงของหัวใจเลยก็ว่าได้ (เลยพบเห็นพวกเธอซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้จักเข็ดหลากจำ)

ถ้าตามหลักศาสนาคริสต์ บุรุษต้องมีความรักเดียวใจเดียว แต่งงานกับผู้หญิงเพียงคนเดียว (ยิ่งคาทอลิกแท้ๆ จะไม่ยินยอมรับการหย่าร้าง) ผิดกับชาวมุสลิม ศาสนาอิสลามยินยอมให้แต่งงานมีภรรยาได้ถึงสี่คน สรุปแล้วฝั่งฝ่ายไหนถูก-ใครผิด? มันก็เป็นเรื่องความเชื่อศรัทธา แต่สำหรับ Alfonse Van Worden เหตุการณ์เหล่านี้ก็แค่ความเพ้อฝันหวาน ตื่นขึ้นมาทีไรก็ไปโผล่กลางทุ่งกว้าง

เรื่องเล่าบิดาของ Alfonse จะมีขณะที่เขากล่าวคำสัตย์ ยินยอมทำสัญญากับปีศาจเพื่อแลกน้ำดื่มดับกระหายสักอึก แล้วจู่ๆหญิงสาวชุดดำคนนี้ก็เดินตรงเข้ามา สร้างบรรยากาศราวกับเธอคือปีศาจร้าย … แต่ไม่รู้ทำไมผมกลับนึกถึงตอนพระเยซูคริสต์ขณะกำลังแบกไม้กางเขน แล้วได้รับน้ำดื่มจากหญิงสาวคนหนึ่ง

จะว่าไปการดื่มน้ำฉากนี้ ล้อกับตลอดทั้งเรื่องที่ Alfonse เมื่อดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ทำให้ชีวิตของเขาผันแปรเปลี่ยนไป ตื่นจากฝันดีสู่โลกความจริงที่โหดร้าย (ตรงกันข้ามกับบิดาเมื่อดื่มน้ำจากไห/ทำสัญญาปีศาจ ฟื้นตื่นจากฝันร้ายสู่ชีวิตอันสุขเกษมกระสันต์)

หนึ่งในลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Has มักให้นักแสดงหันหน้า สนทนาหน้ากล้อง (แต่ไม่ได้สบตาหน้ากล้องเพื่อ “Breaking the Fourth Wall”) หลายๆฉากมีการใช้มุมกล้องเพียงด้านเดียว ถ่ายทำแบบ Long Take และใช้ระยะใกล้-ไกลเพื่อสร้างสัมผัสบางอย่าง

ผมเลือกฉากเรื่องเล่าของ Pacheco ตลอดเวลาที่อาศัยอยู่คฤหาสถ์ของบิดา จะพบเห็นเพียงมุมกล้องเดียวในห้องอาหาร เริ่มจากพบเห็นอยู่กันพร้อมหน้าสี่คน สองคน (ระยะภาพแสดงถึงความสัมพันธ์ชิดใกล้) และเมื่อหลงเหลือตัวคนเดียว กล้องกลับค่อยๆเคลื่อนถอยห่างออกไป (แม้มีคนรับใช้อยู่เคียงข้าง แต่กลับรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง)

ดวงตามองลอดผ่านรูบนผ้ากระสอบ ผมไม่รู้เป็นความเชื่อของคนแถบนั้นหรือเปล่า ทำให้ได้พบเห็นสิ่งชั่วร้าย (ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์) ตระหนักถึงข้อเท็จจริง เปิดโปงภาพมายา จึงทำให้เขามิอาจยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น เลยกลายสภาพเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง ราวกับถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง และสูญเสียดวงตาข้างนั้น (ที่มองเห็นสิ่งชั่วร้าย)

แซว: เวลาพบเห็นการใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับดวงตา มักชวนให้นึกถึงดวงตาสัพพัญญู (Eye of Providence หรือ all-seeing eye of God) บนธนบัตร 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีทฤษฎีสมคบคิดว่าเกี่ยวกับ Illuminati (สมาคมรู้แจ้ง พบเห็นความจริง)

ศาลศาสนาในประเทศสเปน (Spanish Inquisition) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1478 โดยพระสันตะปาปา Pope Sixtus IV ได้อนุญาตให้ King Ferdinand II of Aragon และ Queen Isabella I of Castile ตั้งศาลศาสนาเพื่อลงโทษคนนอกรีต Judaism และอิสลามที่เปลี่ยนมานับถือคาทอลิก ด้วยการขับไล่ไม่ก็ประหารชีวิต

ศาลศาสนาสิ้นสุดบทบาทลงเมื่อปี ค.ศ. 1834 ในรัชสมัยของ Isabella II of Spain (1830-1904, ครองราชย์ 1833-68) มีการประเมินตัวเลขบุคคลถูกพิพากษา 150,000 คน และผู้ถูกประหารชีวิตกว่า 3,000-5,000 คน

ลักษณะของศาลศาสนาที่นำเสนอในหนัง ชวนให้ผมนึกถึงลัทธิล่าแม่มด ซึ่งมักถูกใช้เปรียบเทียบวิธีการของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ในการกำจัดบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง ด้วยการนำตัวผู้ต้องสงสัยมาทำทัณฑ์ทรมาน แทบตกตายทั้งเป็น เลยจำต้องเปิดเผย/ชี้ตัว ยินยอมรัสารภาพความผิดที่ไม่ได้ก่อ

เกร็ด: หนึ่งในอุปกรณ์ทัณฑ์ทรมานมีชื่อว่า Mask of Infamy ถือเป็นการลงโทษสถานเบา โดยหน้ากากมักมีการออกแบบให้ดูแปลก ประหลาด สะดุดตา มุ่งเน้นให้เกิดความอับอาย ไม่กล้าออกไปพบผู้คน ส่วนใหญ่จะเป็นสามีลงโทษภรรยากระทำตัวไม่เหมาะสม

การที่ Alfonse ได้รับความช่วยเหลือจากสองเจ้าหญิง แล้วเหตุการณ์ทั้งหมดก็ราวกับเพ้อฝันไป ทำให้ทั้งซีเควนซ์ถูกทัณฑ์ทรมานราวกับคำพยากรณ์ นิมิตหมาย ทำให้เขาสามารถเอาตัวรอดพ้นพวกศาลศาสนา (Spanish Inquisition) แต่ก็เปลี่ยนมาพบเจอฝากฝั่งตรงข้าม สมาชิกลัทธิ Kabbalah อาสาให้ความช่วยเหลือ พาออกเดินทางไปยังปราสาท The Kabbalist’s Castle

เกร็ด: Kabbalah คือลัทธิเวทย์มนต์ของชาวยิว (Jewish mysticism) เชื่อในเรื่องลึกลับ พยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่างๆ เพราะเชื่อว่านั่นจักทำให้พวกเขาสามารถเข้าใกล้ชิดพระเจ้าผู้สร้าง

Kabbalists also believe that true knowledge and understanding of that inner, mysterious process is obtainable, and through that knowledge, the greatest intimacy with God can be attained.

ไม่ใช่แค่พวกศาลศาสนาที่มีความเชื่อแตกต่างจาก Kabbalah หนังยังนำเสนอนักคณิตศาสตร์ Don Pedro Velasquez คือบุคคลขั้วตรงกันข้ามที่ไม่มีความเชื่อเรื่องใดๆ สนเพียงการค้นหาข้อเท็จจริง สามารถพิสูจน์ด้วยหลักฐาน สมการตัวเลข สิ่งประจักษ์แจ้งแก่สายตา โต้ถกเถียงกันไปมาอย่างมัวเมามัน … นี่ก็ล้อกับบรรดาความขัดแย้งทั้งหลายของหนังได้เป็นอย่างดี

หนังไม่ถ่ายให้เห็นภายนอกปราสาท The Kabbalist’s Castle แต่ภายในเต็มไปด้วยสิ่งข้าวของ รูปภาพวาดเชิงสัญลักษณ์ แม้แต่ชุดคลุมของ Alfonse ยังเต็มไปด้วยลวดลายตัวอักษรภาษา Yiddish (ภาษาของชาว Jewish) นี่เท่ากับว่าเขากลายเป็นชายสามโบสถ์ คริสต์ อิสลาม และยิว

เกร็ด: ชายสามโบสถ์ คือสำนวนไทยที่กล่าวถึง ชายเปลี่ยนศาสนา 3 หน หรือการบวชๆสึกๆมาแล้ว 3 ครั้ง ถือเป็นบุคคลไม่น่าคบหา ขาดความน่าเชื่อถือ

ผมละขำก๊ากกับตำแหน่งที่นั่งของ Don Avadoro เมื่อเริ่มต้นเรื่องเล่าวีรกรรมสมัยอาศัยอยู่กรุง Madrid ผมไม่อยากเรียกว่าพยัคฆ์ เอาว่ามันคือสุนัขติดสัด เวลาผสมพันธุ์กันเสร็จแล้วก็จะตัวติดกันแบบนี้ นี่คือกลไกธรรมชาติเพื่อให้อสุจิของตัวผู้มีเวลาปฏิสนธิรังไข่ตัวเมีย อย่าไปพยายามจับพวกมักแยกเป็นอันขาดนะครับ เพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส (เพราะมันยัดอัณฑะเข้าไปในช่องคลอด ถ้าถูกกระชากให้หลุดออกมา ก็ลองจินตนาการความเจ็บปวดดูนะครับ)

นี่เป็นการบอกใบ้เนื้อหาครึ่งหลังของหนัง ว่าจะเต็มไปด้วยเรื่องรักๆใคร่ๆ คบชู้สู่ชาย-สาว ช่วงเวลาติดสัตว์ไม่ต่างจากเดรัจฉานสักเท่าไหร่

ถัดจากดื่มน้ำจากไห ดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก มาคราวนี้แก้วใสของทั้ง Senor Toledo (และ Don Avadoro) ต่างมีลักษณะอันแปลกประหลาด เหมือนต้องการสะท้อนวิทยฐานะของพวกเขา

  • Senor Toledo ดูเหมือนแก้วแชมเปญทรงสูง สื่อถึงความเป็นผู้ดีมีสกุล
  • Don Avadoro เป็นแก้วทรงกระบอกทั่วๆไป สื่อถึงความเป็นคนธรรมดาสามัญ ไม่ชอบพิธีรีตรองอะไรใดๆ

เรื่องเล่าของ Lopez Soarez ระหว่างนอนเข้าเฝือกอยู่บนเตียง สามารถแบ่งแยกออกเป็นครึ่งแรก-หลัง ซึ่งสะท้อนเข้ากับโครงสร้างดำเนินเรื่องของหนังด้วยนะ

  • ครึ่งแรก เล่าถึงความขัดแย้งของบิดา การเดินทางสู่ Madrid และพบเจอตกหลุมรักหญิงสาว Donna Inez Moro
    • ล้อกับครึ่งแรกของหนังที่ Alfonse ก็เคยเล่าเรื่องราวของบิดา ออกเดินทางสู่ Madrid ตกหลุมรักสองเจ้าหญิง Moorish
  • ครึ่งหลัง จะมีเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าของ Don Roque Busqueros และ Donna Frasquetta Salero
    • ล้อกับครึ่งหลังของหนังที่ Alfonse รับฟังเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าของ Don Avadoro

เหล่านี้เป็นการบอกใบ้ความสัมพันธ์ระหว่าง Alfonse กับ Lopez Soarez จะมองว่าคือตัวตายตัวแทน ความน่าจะเป็น โลกคู่ขนาน ฯลฯ ก็แล้วแต่จะครุ่นคิดตีความ

สถานที่ตกหลุมรักแรกพบระหว่าง Lopez Soarez และ Donna Inez Moro คือสวนสาธารณะ Park Szczytnicki สถานที่สุดโรแมนติก ตั้งอยู่ชานเมือง Wroclaw เมื่อช่วงศตวรรษที่ 16th ยังเป็นหมู่บ้านเล็กๆชื่อว่า Szczytniki ศตวรรษถัดมาค่อยๆถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ก่อนได้รับการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1868 กินอาณาบริเวณประมาณ 100 เฮกตาร์ (625 ไร่)

เรื่องเล่าของ Don Roque Busqueros พูดกรอกหู Lopez Soarez ระหว่างอยู่ยังสวนสาธารณะ Park Szczytnicki กล่าวถึงประสบการณ์อันโชกโชน เจ้าชู้ประตูดินของตนเอง ครั้งหนึ่งเคยปีนป่ายขึ้นบันไดหาสาว Donna Frasquetta Salero ก้าวขึ้นไปเสพสมบนสรวงสวรรค์

ในภาพยนตร์ของผกก. Has ใช้บันไดคือสัญลักษณ์การปีนป่ายขึ้นไปคบชู้ ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ นอกจาก The Saragossa Manuscript (1965) ยังพบเห็นเรื่อง The Hourglass Sanatorium (1973) ด้วยนัยยะเดียวกัน

เหตุผลที่ Donna Frasquetta Salero เต็มไปด้วยชู้รักมากมาย ไม่ใช่แค่ Don Roque Busqueros ยังรวมถึง Senor Toledo (และ Count Pena Flor) สาเหตุเพราะความหึงหวงของ Don Diego Salero รักเอ็นดูเธอดั่งนกในกรง ปฏิเสธมอบอิสรภาพเสรี แถมยังขี้อิจฉาริษยา แอบพบเห็น Count Pena Flor ยักคิ้วหลิ่วตา เลยว่าจ้างนักฆ่าไปจัดการปิดปาก!

แต่แล้วกรรมตามสนอง Don Diego Salero เมื่อถูกทรยศหักหลังโดยนักฆ่าที่จ้างวาน ทิ่มแทงดาบเข้าไปกลางหัวใจ (ล้อกับตอนที่บิดาของ Alfonse ดวลดาบแล้วถูกทิ่มแทง) นั่นทำให้ Donna Frasquetta Salero (หรือก็คือ Augusta Fernandez) กลายเป็นสาวโสด ก็ถึงเวลาระริกระรี้เข้าหาบรรดาชู้รัก เป็นเหตุให้สามสหาย Don Avadoro, Senor Toledo และ Don Roque Busqueros ต้องปีนป่ายออกทางหน้าต่าง หลบหนีหัวซุกหัวซุน ไม่สามารถอาศัยอยู่เมือง Madrid ได้อีกต่อไป

สำหรับความขัดแย้งระหว่าง Don Gaspar Soarez กับนายธนาคาร Moro ที่เคยถึงขนาดขึ้นโรงขึ้นศาล กลับสามารถสิ้นสุดลงเพราะบุตรชาย-สาวของพวกเขา ตกหลุมรัก ยินยอมตอบตกลงแต่งงานกัน … ข้อคิดของเรื่องเล่านี้ก็คือ ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ สามารถยุติสงคราม ความขัดแย้ง ทำให้สองฝั่งฝ่ายประณีประณอม ปรองดอง เราก็ต่างมนุษย์ร่วมโลกใบเดียวกัน นี่คืออุดมคติชาวคริสต์โดยแท้!

เมื่อเรื่องเล่าของ Don Avadoro จบสิ้นลง Alfonse ก็ถูกบีบบังคับให้ออกเดินทางจากปราสาท The Kabbalist’s Castle แต่แทนที่เขาจะตรงไปยังกรุง Madrid ทำตามเป้าหมายดั้งเดิมคือเข้าร่วมกองทัพ Spanish Army แต่กลับตรงสู่โรงแรมในภูเขา Venta Quemada เพื่อพบเจอสองเจ้าหญิง Moorish เรียกว่าไม่สนห่าเหวอะไรอีกแล้วนอกจากเติมเต็มเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ

แต่เมื่อดื่มสุราจากจอกหัวกระโหลก ทุกสิ่งอย่างก็หวนกลับมา Déjà vu ไม่รู้รอบที่เท่าไหร่! ถึงอย่างนั้นครานี้ก่อนจะฟื้นตื่นขึ้นกลางทุ่ง เหมือนว่าร่างกาย-จิตวิญญาณของเขาจะเกิดการแบ่งแยก ขัดแย้ง พบเห็นราวกับภาพสะท้อนในกระจก … ฝั่งร่างกายยังมีลมหายใจ ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ (จดบันทึกลงหนังสือ The Saragossa Manuscript) แต่จิตวิญญาณต้องการครอบครองรักสองเจ้าหญิง Moorish ที่อยู่อีกฟากฝั่ง/ดินแดนแห่งความตาย

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อ Alfonse เมื่อฟื้นตื่นขึ้นมากลางทุ่ง จึงมีสภาพเหมือนคนสูญเสียจิตวิญญาณ แต่คนสมัยนั้นมักมองว่าถูกปีศาจร้ายเข้าสิง (แบบเดียวกับ Pacheco) แสดงท่าทางรุกรี้รุกรน กระวนกระวาย เร่งรีบกระทำตามหน้าที่ จดบันทึกทุกสิ่งอย่างลงบนหนังสือ The Saragossa Manuscript (แอบนึกถึง Naked Launch อยู่เล็กๆ) ยังบ้านพัก(ที่ Saragossa)เต็มไปด้วยสิงสาราสรรพสัตว์ และกรงขังที่เขามิอาจดิ้นหลบหนีพ้น

นี่เป็นตอนจบที่ผกก. Has สร้างขึ้นใหม่ (ไม่ได้อยู่ในหนังสือ The Manuscript found in Zaragoza) ให้สอดคล้องเหตุการณ์ตอนต้นเรื่อง เพื่อนำเสนอแนวคิดของการเวียนวงกลม เริ่มต้น-สิ้นสุด หวนกลับมาบรรจบ แบบเดียวกับภาพยนตร์ The Noose (1957)

จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ Alfonse เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นสองเจ้าหญิง Mooish พร้อมกับกระจกลอยได้ กำลังเฝ้ารอคอยให้เขาหวนกลับไป (น่าจะเสร็จสิ้นภาระหน้าที่จดบันทึกรายละเอียดลงหนังสือ The Saragossa Manuscript) ถึงเวลาที่ร่างกายและจิตวิญญาณจะหวนกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ควบขี่ม้ามุ่งสู่โรงแรมในภูเขา Venta Quemada แต่ปลายทางลิบลิ่วกลับคือสองศพถูกแขวนอยู่บนเนินเขา … บอกใบ้ว่าคือการเดินทางสู่จุดจบ โลกหลังความตาย

ตัดต่อโดย Krystyna Komosińska สัญชาติ Polish ผลงานเด่นๆ อาทิ The Saragossa Manuscript (1965), Wodzirej (1978) ฯลฯ

ด้วยวิธีการดำเนินเรื่อง ‘story within a story’ ถือว่าเป็นภาพยนตร์มีความซ้อนซับซ้อนที่สุดเท่าที่ผมเคยรับชมมา การจะอธิบายโครงสร้างให้เข้าใจโดยง่าย คงต้องใช้แผนภาพประกอบ

ทำไม The Saragossa Manuscript ต้องนำเสนอออกมาให้มีโครงสร้างซ้อนซับซ้อนขนาดนี้? ผมไม่แน่ใจเหตุผลของนวนิยาย แต่สำหรับผู้กำกับ Has ทุกเรื่องราวที่นำเสนอออกมาล้วนมีความเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงใย สัมพันธ์กับเนื้อหาหลักของหนัง (Main Story) ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความรู้สึกเวียนวนมาวนไป ไม่รู้จักจบจักสิ้น สะท้อนเข้ากับวิถีชีวิตชาวโปแลนด์ยุคสมัยนั้น มิอาจดิ้นหลุดพ้นเขาวงกต/บ่วงรัดคอของรัฐบาลคอมมิวนิสต์

เกร็ด: ฉบับฉายโปแลนด์จะไม่มีการตัดทอน 182 นาที แต่ฉบับฉายต่างประเทศจะมีการตัดบางเรื่องราว 152/147 นาที และที่สหรัฐอเมริกาหลงเหลือเพียง 125 นาที (ฉบับบูรณะของหนัง ฟื้นฟูต้นฉบับความยาวเต็มไม่มีตัด)


เพลงประกอบโดย Krzysztof Eugeniusz Penderecki (1933-2020) คีตกวีสัญชาติ Polish ช่วงสงครามยังไม่รู้ประสีประสาอะไรนัก แต่ค้นพบความชื่นชอบไวโอลิน เข้าศึกษาต่อยัง Jagiellonian University ติดตามด้วยสาขาแต่งเพลง Akademia Muzyczna im. Krzysztofa Pendereckiego จากนั้นกลายมาเป็นอาจารย์สอนดนตรี ขณะเดียวกันก็เริ่มเขียนประพันธ์บทเพลงซิมโฟนี, ออร์เคสตรา, โอเปร่า, Concerto, Chamber Music ฯลฯ โด่งดังจากงานเพลงแนวทดลอง Avant-Garde นำเอาสรรพสิ่งที่สามารถให้กำเนิดเสียงมาผสมผสานคลุกเคล้าเข้ากับบทเพลง

All I’m interested in is liberating sound beyond all tradition.

Krzysztof Penderecki

แม้ว่า Penderecki จะทำเพลงภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่อง แต่หลายๆผลงานมีการอ้างอิงถึง กลายเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ก็นำเอาไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของ The Exorcist (1973), The Shining (1980), Wild at Heart (1990), Inland Empire (2006), Children of Men (2006), Shutter Island (2010) ฯลฯ

งานเพลงของ Penderecki ต้องชมเลยว่ามีความแปลกประหลาด พึลึกพิลั่น เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งการผสมผสานท่วงทำนองบทเพลงคลาสสิกคุ้นหู (มีทั้ง Vivaldi, Beethoven, Haydn, Mozart ฯลฯ), บางครั้งบรรเลงกีตาร์อะคูสติก แนวดนตรีฟลาเมงโก, แต่ไฮไลท์คือการทดลองใช้สรรพเสียงแปลกๆ ผสมเข้ากับเครื่องสังเคราะห์ (synthesizers) และเทปแม่เหล็ก (magnetic tape) มักได้ยินในฉากที่สร้างความหลอนๆ มอบสัมผัสเหนือจริง กำลังพบเห็นสิ่งเหนือธรรมชาติ

การผสมผสานหลากหลายแนวดนตรี ถือว่าสอดคล้องเข้ากับความหลากหลายของเรื่องเล่า ที่มีทั้งแนวรักโรแมนติก ตลกขบขัน การต่อสู้ผจญภัย ลึกลับหลอนหลอน ขนหัวลุกพอง ฯลฯ แต่ละสไตล์เพลงก็เพื่อความสอดคล้องบรรยากาศเรื่องเล่าขณะนั้นๆ

ครึ่งแรกของหนัง มักเต็มไปด้วยบรรยากาศอันหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง ด้วยการทดลองแนวเพลง Avant-Garde (เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ที่ตัวละครพบเจอ มีแต่เรื่องเหนือธรรมชาติแทบทั้งนั้น) ครึ่งหลังจะมีความผ่อนคลายมากขึ้น เรื่องเล่าของ Don Avadoro จะมีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง ได้ยินทั้งดนตรีฟลาเมงโก และท่วงทำนองเพลงคลาสสิกที่หลายคนน่าจะมักคุ้นหู โดยเฉพาะท่อนสุดท้ายของ Beethoven: Symphony No.9 มีชื่อเล่นว่า Ode to Joy (ได้ยินตอน Main Theme) น่าสร้างความบันเทิงเริงรมย์ให้ผู้ชมได้เป็นอย่างดี

น่าเสียดายที่ผมหาคลิปแยก Main Theme มาให้ฟังไม่ได้ (บทเพลงนาทีที่ 7 ของคลิปด้านบน) แต่ยังดีพบเจอ Closing Music ที่ Penderecki แยกบทเพลงตั้งชื่อว่า 3 Pieces in Baroque Style ประกอบด้วย

  1. I. Aria
  2. II. Minuet No.1
  3. III. Minuet No.2 ** นี่คือบทเพลงที่นำมาใช้เป็น Closing Music ของ The Saragossa Manuscript (1965)

มองผิวเผินแต่ละเรื่องเล่าของ The Saragossa Manuscript (1965) เหมือนจะมีความเป็นเอกเทศ ไม่ได้มีความเชื่อมโยงใย แต่แท้จริงแล้วเราสามารถมองเนื้อหาทั้งหมดไปในทิศทางกัน ด้วยการให้ตัวละครหลักของทุกๆเรื่องราวเหล่านั้น เทียบแทนด้วย Alfonse Van Worden (หรือจะมองว่าคือโลกคู่ขนาน/ความเป็นไปได้ที่ Alfonse อาจประสบพบเจอเข้ากับตนเอง)

  • เรื่องเล่าของ Alfonse เกี่ยวกับบิดา บอกใบ้(ในเชิงสัญลักษณ์)ถึงสิ่งต่างๆที่เขาจะประสบพบเจอด้วยตนเอง
    • ถูกรถม้าชนล้มระหว่างทางสู่ Madrid = Alfonse เดินทางไปไม่ถึง Madrid สักที
    • ต่อสู้พ่ายแพ้ศัตรู = Alfonse ไม่สามารถต่อกรกับสิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้นกับตัวเขา
    • เสมือนว่าทำสัญญากับปีศาจ แล้วได้ครองรัก แต่งงาน = Alfonse พบเจอสองเจ้าหญิง ที่ก็ไม่รู้มีตัวตนจริงๆ หรือแค่เพ้อฝันไป
  • เรื่องเล่าของ Pacheco มีความคู่ขนานกับ Alfonse แต่เปลี่ยนจากสองเจ้าหญิง เป็นน้องสาวเมียใหม่บิดา (แอบแฝงปม Oedipus Complex)
    • และเมื่อ Pacheco ตระหนักถึงความจริงบางอย่าง สภาพปัจจุบันเหมือนถูกวิญญาณร้ายเข้าสิง = นั่นคือตอนจบของ Alfonse
  • เรื่องเล่าของ Senor Toledo (และ Donna Frasquetta Salero) สะท้อนความเจ้าชู้ประตูดิน รวมถึงหวาดสะพรึงกลัวต่อเรื่องเหนือธรรมชาติของ Alfonse (และบิดา)
  • เรื่องเล่าของ Lopez Soarez (และ Don Roque Busqueros) คือในกรณีที่ Alfonse เดินทางมาถึงกรุง Madrid คงจะได้พบเจอหญิงสาว ตกหลุมรัก แต่งงาน

กล่าวคือเรื่องเล่าทั้งหมดของ The Saragossa Manuscript (1965) ล้วนเกี่ยวกับความรักๆใคร่ๆ ชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาว แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ไม่สามารถครองคู่แต่งงาน เลยต้องทำการพิสูจน์ตนเอง ออกเดินทางสู่ Madrid แล้วขบไขปริศนา ต่อสู้เอาชนะ หรือคลายความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งฝ่าย

ทั้งๆที่เรื่องเล่าต่างๆ มีความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น (Timeline ของ Lopez Soarez คืออุดมคติแห่งรักที่สมบูรณ์แบบ) แต่ตอนจบของเรื่องราวหลัก Alfonse Van Worden กลับมิอาจสำเร็จสมหวัง ทุกสิ่งอย่างราวกับความเพ้อฝัน เดินทางไม่ถึง Madrid จมปลักอยู่ Saragossa หมกมุ่นเขียนหนังสือเล่มใหญ่ มีสภาพเหมือนถูกคนสูญเสียวิญญาณ/ปีศาจร้ายเข้าสิง และท้ายสุดเมื่อพบเห็นสองเจ้าหญิงอีกครั้ง ก็ช่างหัวแม้งทุกสิ่งอย่าง เลือกกระทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจเท่านั้น

ตอนจบของหนังที่ไม่เพียงเวียนวนกลับมาหาจุดเริ่มต้น แต่อาการคลุ้มบ้าคลั่งของ Alfonse แทบจะไม่แตกต่างจากตอนจบของ The Noose (1957) ซึ่งคือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผกก. Has นี่เป็นการสะท้อนมุมมองชีวิต ทัศนคติต่อโปแลนด์ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ มันช่างท้อแท้สิ้นหวัง ไร้หนทางออกจากเขาวงกต มิอาจดิ้นหลุดพ้นบ่วงรัดคอ เพียงความตายเท่านั้นคือจุดจบ

ด้วยเหตุนี้ผกก. Has เลยต้องทำการจดบันทึกทุกสิ่งอย่างลงบนสื่อภาพยนตร์(ด้วยอาการคลุ้มบ้าคลั่ง) แล้วโยนมันทิ้งไว้ เผื่ออนาคตจักมีคนหยิบขึ้นมา เปิดรับชม แล้วบังเกิดความใคร่สนใจ


หนังใช้ทุนสร้าง 18 ล้านซวอตือ (Polish złoty) ซึ่งถือเป็นปริมาณมหาศาลของโปแลนด์ยุคสมัยนั้น (ไม่มีรายงานว่าเป็นหนังทุนสร้างสูงสุดขณะนั้นหรือเปล่า แต่ก็น่าจะใกล้เคียง) ไม่มีรายงานรายรับ แต่เห็นว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม หนึ่งในสองผลงานทำเงินสูงสุดของผกก. Has (อีกเรื่องก็คือ The Hourglass Sanatorium (1973))

หนังได้รับความเอ็นดูมากๆจาก Martin Scorsese จ่ายเงิน $36,000 เหรียญ เพื่อค้นหาฟีล์มเนกาทีฟต้นฉบับมาทำการฟื้นฟูบูรณะ ออกฉายใหม่ (Re-Release) ครั้งแรกเมื่อปี 2001, ตามด้วย ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K โดย Kino Polska เมื่อปี 2011, ปัจจุบันรวบรวมเป็นหนึ่งใน 21 Martin Scorsese Presents: Masterpieces of Polish Cinema

แซว: สกรีนบนแผ่น Blu-Ray ฉบับของ Mr. Bongo Films ที่จัดจำหน่ายเมื่อปี 2015 เหมือนจะมีการพิมพ์ชื่อหนังผิดเรื่องเป็น The Hourglass Santorum (ชื่อเรื่องพิมพ์ก็ผิดนะครับ ที่ถูกต้องเป็น The Hourglass Sanatorium) จัดเป็นของสะสมหายากเลยละ

แม้ไม่มีเรื่องราวไหนใน The Saragossa Manuscript (1965) ที่ทำให้ผมรู้สึกชื่นชอบสักเท่าไหร่ แต่โครงสร้างซ้อนซับซ้อนสู่ความไม่รู้จับ นั่นเป็นสิ่งสร้างความโคตรประทับใจ เอางี้เลยเหรอ พอคิดจะเปรียบเทียบ The Grand Budapest Hotel (2014) ก็ตระหนักว่า Wes Anderson กลายเป็นเด็กน้อยในสายตาผกก. Wojciech Has

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าคอยแย่งซีนความโดดเด่นอยู่เรื่อยๆก็คือนักแสดงนำ Zbigniew Cybulski ชวนให้ระลึกถึง Marcello Mastroianni อยู่ไม่น้อยเลยละ!

แนะนำคอหนังมหากาพย์ (Epic) ผสมผสานเรื่องราวรักๆใคร่ๆ (Romantic & Erotic) เหนือธรรมชาติ (Supernatural) อิงศาสนา ท้าทายความเชื่อศรัทธา, นักคิด นักปรัชญา ลองทำความเข้าใจทฤษฎีสมคบคิด, นักออกแบบ สถาปนิก หลงใหลสถาปัตยกรรมตะวันออก (Oriental), นักเขียน นักตัดต่อ ทำงานวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะคนชื่นชอบนิทานชาดก สิบราตรี (Decameron) พันหนึ่งราตรี (Arabian Nights) ลองหาหนังสือมาอ่าน รวมถึงภาพยนตร์มารับชมดูนะครับ

จัดเรต 15+ กับพฤติกรรมลวงล่อหลอกของปีศาจ คบชู้สู่ชาย โสเภณี เข่นฆาตกรรม รวมถึงภาพความตาย

คำโปรย | The Saragossa Manuscript ซ้อนซับซ้อนสู่ความไม่รู้จบของเรื่องราว ทำให้ผู้กำกับ Wojciech Has ก้าวสู่ความเป็นอมตะ
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ซ้อนซับซ้อน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: