Repulsion (1965)
: Roman Polański ♥♥♥♡
หนังภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับ Roman Polański จะนำพาคุณเข้าไปข้างในจิตใจ อพาร์ทเม้นท์ของ Catherine Deneuve เพื่อค้นหาว่าแท้จริงแล้วเธอมีปัญหาทางจิตอะไร ถึงได้แสดงความสะอิดสะเอียนต่อต้านเมื่อพบเจอกับผู้ชาย ผลักไสตัวเองออกห่างจากสังคม แล้วกักขังตัวอยู่ในห้องพัก ไม่ยอมออกไปเห็นเดือนเห็นตะวัน
repulsion (นาม) แปลว่า การขจัด, ผลักไส, ขับไล่, ความสะอิดสะเอียน
แต่เราอาจหาข้อสรุปทางจิตวิทยาไม่ได้แน่ชัด ว่าหญิงสาวป่วยเป็นโรคอะไร ได้พียงข้อสันนิษฐานจากการสังเกตการณ์สิ่งที่เกิดขึ้น โดยใช้ภาษาภาพยนตร์ทำความเข้าใจ ซึ่งผมจะนำเอาทฤษฎีที่คนส่วนใหญ่ครุ่นคิดเห็นมาแนะนำให้รับรู้กันด้วย ส่วนจะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นกับวิสัยของคุณเอง
ว่าไปการรับชมหนังเรื่องนี้ มีลักษณะเหมือนการวินิจฉัยผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป สังเกตพฤติกรรม ค้นหาความสัมพันธ์ ตั้งสมมติฐาน แต่จิตแพทย์มักไม่สามารถหาข้อสรุปได้เปะๆหรอกว่าเป็นอะไร ความเข้าใจล้วนเกิดจากการอ้างอิงทฤษฎี แนวโน้ม ความเป็นไปได้ เพราะเหตุนี้การรักษาส่วนใหญ่จึงมักทำได้เพียงแค่ปลายเหตุไปตามอาการ ยากนักจะเข้าถึงต้นตอของปัญหา
ความผิดปกติปัญหาทางจิต การจะรักษาให้หายมันอยู่ที่ตัวคนไข้เองเท่านั้น ถ้าเขาเปิดรับฟังคำแนะนำก็พอจะมีแนวโน้มกลับคืนเป็นคนปกติ แต่ถ้าไม่…คงเป็นเรื่องของโชคชะตาเวรกรรม ชาติก่อนเคยทำอะไรใครไว้แบบนี้ ชาตินี้จึงได้รับผลกรรมตามนั้น
Rajmund Roman Thierry Polański (เกิดปี 1933) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Polish-French เกิดที่กรุง Paris มีเชื้อสาย Jews ปี 1936 ครอบครัวเดินทางกลับกรุง Kraków ประเทศ Poland อาศัยอยู่ที่นั่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อถูก Nazi เข้ายึดครอง เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ Holocaust, หลังสงครามโลกผ่านพ้น สถานที่เดียวจะนำพาเขาหลีกหนีความทุกข์ทรมานเจ็บปวดรวดร้าวทางใจคือโรงภาพยนตร์
“Movies were becoming an absolute obsession with me. I was enthralled by everything connected with the cinema—not just the movies themselves but the aura that surrounded them.”
หนังเรื่องโปรดชื่นชอบที่สุดคือ Odd Man Out (1947) หนังนัวร์ของผู้กำกับ Carol Reed เป็นแรงผลักดันสำคัญให้ Polański กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์
“I still consider it as one of the best movies I’ve ever seen and a film which made me want to pursue this career more than anything else… I always dreamt of doing things of this sort or that style. To a certain extent I must say that I somehow perpetuate the ideas of that movie in what I do.”
ช่วงทศวรรษ 50s เข้าเรียนที่ National Film School in Łódź เลือกสาขาการแสดง รุ่นเดียวกับผู้กำกับดัง Andrzej Wajda มีผลงานเรื่องแรกเป็นหนังสั้น Rower (1955) [น่าจะสูญหายไปแล้ว], หนังยาวเรื่องแรก Knife in the Water (1962)
หลังความสำเร็จของ Knife in the Water ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film ทำให้ Polański มีโอกาสหาทุนสร้างง่ายขึ้นในต่างแดน ออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสพบเจอกับ Gérard Brach (1927 – 2006) ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์เรื่อง Repulsion เคยไปยื่นข้อเสนอให้กับ Paramount Pictures, British Lion Films ได้รับการปฏิเสธ ก่อนมาลงเอยที่ Compton Pictures บริษัทเล็กๆที่ส่วนใหญ่จะทำหนังโป๊ Softcore มอบทุนสร้าง £65,000 แม้จะน้อยนิดแต่ก็เพียงพอเหลือเฟือ
Carol Ledoux (รับบทโดย Catherine Deneuve) ผู้อพยพสัญชาติ Belgian ทำงานเป็นช่างทำเล็บร้านเสริมสวย อาศัยอยู่ที่ Kensington, London ร่วมกับพี่สาว Helen (รับบทโดย Yvonne Furneaux) ความผิดปกติของเธอเริ่มแสดงออกจากการแอบฟังพี่สาวมี Sex กับแฟนหนุ่มเสียงดังลั่น เห็นเพื่อนที่ทำงานร้องไห้อกหักเพราะแฟนทิ้ง ตัวเธอจึงค่อยๆซึมซับรับความรังเกียจ ต่อต้าน โดยเฉพาะกับชายหนุ่มที่เข้ามาจีบ Colin (รับบทโดย John Fraser) ด้วยความอึดอัดอั้นที่สุมอยู่เต็มอก วันหนึ่งมันจึงระเบิดออกมา
Catherine Deneuve (เกิดปี 1943) นักแสดงหญิงในตำนานของฝรั่งเศส เกิดที่กรุง Paris เป็นลูกของสองนักแสดงละครเวทีชื่อดัง Maurice Dorléac กับ Renée Simonot, เข้าวงการมาตั้งแต่อายุ 13 แจ้งเกิดเต็มตัวกับ The Umbrellas of Cherbourg (1964) ผลงานดังของเธอ อาทิ Repulsion (1965), The Young Girls of Rochefort (1967), Belle de Jour (1967), Tristana (1970) ฯ เข้าชิง Oscar: Best Actress กับหนังเรื่อง Indochine (1992) ฯ
รับบท Carol หญิงสาวบริสุทธิ์ที่ทำตัวเหมือนเด็ก เพ้อฝันกลางวัน คิดมาก อ่อนไหว (Sensitive) แรกๆก็ยังดูปกติดี แต่พอถูกลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวจากแฟนหนุ่มของพี่สาว แรกๆเหมือนจะอิจฉา แต่ไปๆมาๆกลับบิดเบือน ต่อต้านรับไม่ได้ เริ่มปฏิเสธสังคม เหม่อลอย เมื่อถูกบังคับขัดขืนจึงเริ่มใช้กำลังความรุนแรงเข้าโต้ตอบ สติเริ่มไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เห็น/จินตนาการภาพหลอน สุดท้ายก็ตัดขาดโลกภายนอก (ตัดสายโทรศัพท์) สิ้นสติสมประดี
นี่อาจไม่ใช่การแสดงที่แฟนๆของ Deneuve คุ้นเคยนัก เพราะในช่วงยุคแรกๆมักได้รับบทหญิงสาวน้อยใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่กับเรื่องนี้สายตามักเหม่อล่องลอยออกไป จิตใจอยู่ไหนก็ไม่รู้ พยายามหลบสายตาอายเมื่อพบผู้ชาย แต่เมื่อถูกลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว ก็เต็มไปด้วยความตื่นตระหนก หวาดหวั่นกลัว ทำตาโต ตัวสั่นเทิ้ม (เหมือนกระต่ายน้อยก็ไม่ปาน)
ต้องถือว่า Deneuve ทำความเข้าใจตัวละครได้อย่างลึกซึ้งตรงไปตรงมา แสดงออกในลักษณะของ Expression ที่สังเกตได้ง่าย อาทิ กัดเล็บ, ทำตาโต, สั่นสะท้าน, เดินวนไปมารอบห้อง (วิตกจริต ขณะแฟนหนุ่มกำลังจะพังประตูเข้ามา) ฯ ซึ่งไฮไลท์อยู่ที่การ Close-Up ที่ทำให้เห็นใบหน้า สีหน้าความรู้สึก ระยะรูขุมขน ขณะที่ Deneuve แสดงความหวาดกลัว จะทำให้ผู้ชมเกิดความหวิวๆขึ้นในใจ หวังว่ามันจะไม่เกิดอะไรเลวร้ายขึ้นกับเธอนะ
“I hate doing this to a beautiful woman.”
– ตากล้อง Gilbert Taylor
ถ่ายภาพโดย Gilbert Taylor (1914 – 2013) ตากล้องในตำนานสัญชาติอังกฤษ เจ้าของผลงานเด่น Dr. Strangelove (1964), A Hard Day’s Night (1964), Macbeth (1971), The Omen (1976), Star Wars (1977)
จุดเด่นของหนังคือการใช้แสงเงา (เป็น Expression) ระดับภาพระยะใกล้ (Extreme Close-Up, Close-Up) การสร้างบรรยากาศ และความหมายเชิงสัญลักษณ์, ผมจะขอเน้นวิเคราะห์แยกเป็นส่วนๆให้เห็นถึงเหตุผลและความหมายของแต่ละช็อตๆไป
การตีความเชิงสัญลักษณ์ที่ผมจะว่าต่อไปนี้ สามารถมองได้ว่าเป็นลักษณะของ Symbolist (ไม่เชิงเป็น Surrealist เสียเท่าไหร่) เพราะต้องใช้หลักจิตวิเคราะห์ในการครุ่นคิดทำความเข้าใจ ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากความรู้สึกภายในของตัวละคร/ผู้สร้างเป็นหลัก
Opening Credit เป็นภาพ Extreme Close-Up ดวงตาของ Deneuve ตัวอักษรเครดิตที่ปรากฎขึ้น มักมีการเคลื่อนไหวไปมา ลักษณะคล้ายใบโกนมีดกรีดตา แบบหนังเรื่อง Un Chien Andalou (1929) ของผู้กำกับ Luis Buñuel มีนัยยะถึงการพยายามมองทะลุเข้าไปข้างในจิตใจของตัวละคร
ร้านเสริมสวยที่หญิงสาวทำงานเป็นช่างตกแต่งตัดเล็บ ช็อตหนึ่งภาพ Close-Up ใบหน้าของลูกค้า ที่พอกด้วยอะไรสักอย่างหนาเตอะ เพื่อให้ใบหน้าเต่งตึง ผิวพรรณเปร่งปรั่ง นี่มีนัยยะถึงเปลือกนอกของมนุษย์ ที่พยายามปกปิดตัวตนแท้จริงของตนเอง กระเทาะออกก็จะพบตัวตนแท้จริงภายใน
ฉากที่ Carol นอนฟัง ได้ยินเสียงพี่สาวมี Sex กับแฟนหนุ่ม หนังจะมีการตัดต่อ 3 ช็อตที่น่าสนใจมากๆ
– เพดานที่มีโคมไฟห้อยต่องแต่ง
– ตู่เสื้อผ้า
– เตาผิงไฟที่มอดสนิท
เพดานคือสิ่งที่อยู่สูงสุดในห้อง มองขึ้นไปคือการจินตนาการเพ้อฝัน (อาจมองว่า Sex จุดไคลน์แม็กซ์ก็ได้เช่นกัน)
ตู้เก็บเสื้อผ้า/กระเป๋า คือห้องแห่งความลับ สถานที่ซุกซ่อนข้าวของส่วนตัว เสื้อผ้า ตัวตน
เตาผิงแทนด้วยเพลิงราคะที่เร่าร้อนแรง แต่เพราะมันไม่มีไฟจุดขึ้นจึงมีนัยยะตรงข้าม ความทุกข์ทรมานจาก Sex
รอยแตกที่พื้นและผนัง แสดงถึงความเปราะบาง แตกร้าวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของหญิงสาว ราวกับมีบางสิ่งอย่างพยายามแทรกตัวเข้ามาภายใน ซึ้งนั่นเป็นสิ่งที่เธอหวาดวิตกกลัวที่สุดเลย
ความคิดที่บิดเบี้ยวผิดปกติของ Carol เริ่มต้นจากการมองเห็นใบหน้าของตัวเองสะท้อนจากกาต้มน้ำ มีลักษณะโค้งมนบิดเบี้ยวไม่สมประกอบ, ช็อตนี้ถือว่ามีความน่าพิศวงมากๆ เพราะกล้องจะค่อยๆเคลื่อนเข้าไปใกล้จนระดับ Extreme Close-Up แต่เรากลับไม่เห็นภาพสะท้อนของกล้องในกาน้ำเลย ไม่รู้มันสามารถทำให้หลบมุมได้เปะๆขนาดนั้นเลยเหรอ หรือมีเทคนิคอะไรอื่นไม่ทราบได้
จิตใจของหญิงสาวจะค่อยๆจมดิ่งลงสู่ด้านมืดของตนเอง ซึ่งสักกลางๆเรื่องเราจะเริ่มเห็นใบหน้าของเธอ ครึ่งหนึ่งถูกความมืดปกคลุม นี่คือเหตุผลที่ทำให้ต้องถ่ายทำหนังเรื่องนี้ด้วยภาพขาว-ดำ สามารถเล่นกับแสงและเงาได้อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นนี้
สภาพของหญิงสาว เปลือยเปล่า นอนศิโรราบราบลงกับพื้น หมดแรงสิ้นหวัง, จริงๆเธอไม่ได้ถูกข่มขืนโดยใครเลยนะครับ นั่นเป็นสิ่งที่เจ้าตัวเพ้อฝันจินตนาการ คิดขึ้นเองทั้งหมด เพื่อเป็นการหาข้ออ้างให้กับความหวาดกลัวเกรง อ้างว้างโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นในใจ
ฟังดูอาจแปลกประหลาด แต่นี่คือลักษณะของผู้ป่วยจิตเวชที่คิดเพ้อเห็นภาพหลอน ซึ่งมักมีเหตุผลเพื่อตอบสนองรองรับความหวาดกลัวในสิ่งที่ตนไม่สามารถรับรู้เข้าใจ ทั้งๆที่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่จิตก็คิดเพ้อไปว่าเกิดขึ้นกับตนแล้ว
เรือนร่างของ Deneuve เซ็กซี่มากเลยนะ นี่เป็นช็อตโป๊สุดในหนังแล้ว ต้องถือว่ามีระดับคลาสสิกมากๆไม่ใช่เปลือยตัวเรี่ยราดแบบในปัจจุบัน แต่เห็นแค่นี้วัยรุ่นสมัยนั้นคงจะฟิน คลั่งหลั่งกันเป็นทิวแถว
ใครเคยรับชม La Belle et la Bête (1946) อาจพอคุ้นเคยกับฉากที่มือยื่นออกจากผนังเคลื่อนขยับได้ ซึ่งหนังเรื่องนี้นำแรงบันดาลใจนั้นมาทำให้กลายเป็น Expression หลอนๆ มือของผู้ชายทั้งหลาย ไขว่คว้าออกมาหยิบจับ ลูบไล้ ดึงชัก ต้องการให้หญิงสาวเกาะติด กลืนกิน ไม่สามารถกลับออก เดินผ่านช่องแคบนี้สู่แสงสว่างได้
สำหรับสิ่งสัญลักษณ์อื่นๆ ขอให้ความหมายคร่าวๆแล้วกัน เพื่อจะได้นำไปประติดประต่อเข้ากับเรื่องราวเองได้
– กระต่าย ยึดจากหนังเรื่อง The Rules of the Game (1939) เป็นตัวแทนของผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสา เทียบแล้วก็คือ Carol นะแหละ
– พี่สาวหนีไปกินข้าวกับแฟนสองต่อสองที่หอเอนเมืองปิซา สถานที่มีความเอนเอียง ไม่ตรง (เห็นแก่ตัว)
– หัวใจกระต่าย คงใช้ใบมีดโกนกรีดออก นี่คือการนำเอาจิตใจของผู้บริสุทธ์ Carol เก็บเอาไว้ใส่ในกระเป๋า ซุกซ่อนไว้ไม่ให้ใครพบเห็น (แต่กลับดันมีคนค้นเจอ)
– มันฝรั่งที่ยังไม่ปลอกเปลือก ราขึ้น กินไม่ได้ ปวกเปียก ไร้ค่า (นึกถึง Half Life 2)
– เชิงเทียน คือที่ตั้งของเทียนให้แสงสว่าง การนำมาทุบตีทำร้ายผู้อื่น คือการกระทำที่หมดสิ้นความหวัง
– มีดโกน กรีดกราย คว้าน เปิดเผยออกให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายใน
– การปล่อยจมในห้องอาบน้ำ อ้างอิงจากหนังเรื่อง Les Diaboliques (1955)
ฯลฯ
เกร็ด: หนังของ Charlie Chaplin ที่มีการพูดถึง หลายคนอาจเดาได้ว่าคือ The Gold Rush (1925)
ตัดต่อโดย Alastair McIntyre ขาประจำของ Polański, ใช้มุมมองของหญิงสาว Carol ดำเนินไปข้างหน้าในลักษณะ Series of Event ทีละเรื่องไปเรื่อยๆ กับสิ่งที่เธอพบเห็นและสิ่งที่จินตนาการคิดเพ้อฝันเห็น -ถ้าเรามองว่าหนังทั้งเรื่องเกิดในหัวของ Carol ก็ไม่จำเป็นต้องแยกให้ออก ฉากไหนเรื่องจริง/ฉากไหนความฝัน- น่าสนใจคือหนังไม่นำเสนอการย้อนอดีต Flashback อธิบายพื้นหลังของตัวละคร มีเพียงภาพใบหนึ่งที่เหมือนจะใช้อธิบายทุกสิ่งอย่าง
คำตอบที่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร อยู่ในภาพครอบครัวใบนี้ ถ่ายที่กรุง Brussels ประเทศ Belgium พื้นหลังน่าจะคือบ้านของสองพี่น้อง Carol คือเด็กหญิงผมบลอนด์ยืนอยู่ด้านหลัง เหม่อมองออกไปแบบไม่สนใจใคร
ผู้กำกับ Polański ให้สัมภาษณ์บอกว่า ช็อตจบที่ซูมเข้าไปยังดวงตาของเธอในภาพนี้ มีนัยยะเพียงบอกว่า Carol เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก อ่อนไหว เหม่อลอย เพ้อฝัน, แต่นักวิจารณ์ ผู้ชมมากมายสมัยนี้กลับมองว่า นี่เป็นช็อตแสดงถึงความ Trauma ความบอบช้ำทางใจที่อาจเกิดจากการถูกพ่อ Abuse กระทำชำเรา ใช้ความรุนแรง หรืออาจถึงขั้นข่มขืน Incest ด้วยเหตุนี้โตขึ้นเธอจึงมีความหวาดกลัวต่อต้านขยะแยง เพศชาย
ส่วนตัวผมมองแบบที่ Polański อธิบายมา จริงอยู่ที่ผู้ป่วยจิตเวชในปัจจุบันมักได้รับการวินิจฉัย ว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นมักเกิดจากเหตุการณ์ Trauma บางอย่างครั้นสมัยวัยเด็ก แต่หลักฐานของหนังเรื่องนี้มันไม่เพียงพอที่ไปจะตัดสินแบบนั้น แค่มีความเป็นไปได้หนึ่งก็เท่านั้น
อีกสมมติฐานหนึ่งที่ผมครุ่นคิดขึ้นเอง คือความปมพี่สาว สังเกตว่าเด็กหญิง Helen นั่งหนุนตัก(น่าจะ)ปู่ แสดงว่าเธอเป็นเด็กขี้เอาอกเอาใจ ที่รักเอ็นดูของครอบครัวมากกว่า นี่ทำให้ Carol ลูกสาวคนเล็กเกิดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่ได้รับการสนใจจากครอบครัวเท่าที่ควร จึงสร้างโลกส่วนตัวปลีกตนเองออกจาก ไม่ต้องการให้คนนอกผู้อื่นใดบุกลุกล้ำเข้าไป
เพลงประกอบโดย Chico Hamilton นักดนตรี Jazz สัญชาติอเมริกัน เป็นหัวหน้าวง นักตีกลอง ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เพียง 4-5 เรื่อง, หนังมีความแปลกประหลาดระดับพิศดารในการใช้เพลงประกอบ บางทีเหมือนว่านักดนตรีข้างถนนเดินผ่านมาในฉาก เสียงเพลงดังขึ้น กล้องแพนตามพวกเขาให้เดินผ่านไป ทั้งๆที่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องราวหลักเลย หรือเหตุการณ์ฆาตกรรมของหญิงสาว แทนที่จะเป็นเสียงกรีดร้องหรือมีดแทงถูกเนื้อ กลับใช้การรัวกลองแทนทั้งหมด
ฉากหนึ่งที่หญิงสาวจินตนาการว่าถูกข่มขืน ครั้งแรกๆทุกสิ่งอย่างจะเงียบสนิท (นี่เป็น direction ที่เจ๋งมากๆ เห็นแค่ภาพก็ใจหวิวๆแล้ว) แต่ครั้งต่อๆมาจะเริ่มจากเสียงระฆัง [Luis Buñuel นำแนวคิดเสียงกระดิ่งแมวไปยั่ว Deneuve ในหนังเรื่อง Belle de Jour (1967)] ตามด้วยเสียงลมเป่าปากแบบไม่มีเสียง ระฆังเงียบเมื่อไหร่ การข่มขืนก็จะเสร็จสิ้น
ไฮไลท์ของเพลงประกอบ ที่ฟังดูเหมือน Sound Effect เสียมากกว่า เป็นเสียงตุ่งแช่ -รัวกลอง เขย่าสายกีตาร์- ที่ใครๆสมัยนี้คงรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี ประมาณนาทีที่ 40 กว่าๆ เมื่อ Carol ปิดตู้เสื้อผ้า ในกระจกเห็นเหมือนว่าจะมีชายคนหนึ่งยืนอยู่ ให้ตายเถอะ! ใครไม่สะดุ้งตกใจฉากนี้แสดงว่าเคลิ้มหลับอยู่แน่ๆ นี่เป็นหนึ่งในช็อตหลอนสะดุ้งตำนานของวงการภาพยนตร์เลยนะครับ
ต้องถือว่าคือความเหนือชั้นในการเลือกใช้เพลงลักษณะนี้ ไม่ได้เพื่อประกอบบรรยากาศ (Impression) หรืออารมณ์ (Expression) แต่เป็นการเสริมหรืออธิบายการกระทำด้วยเสียงเพลง
จริงๆหนังเรื่องนี้ต้องถือว่าไม่มีพล็อตนะครับ ใช้การดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีเป้าหมายปลายทางผลสัมฤทธิ์อะไรเกิดขึ้นตอนจบ โดยเริ่มจากหญิงสาวเป็นคนปกติ –> สติค่อยๆบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน –> จนกลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติ –> ซึ่งตอนจบเหมือนว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากแฟนหนุ่มของพี่สาว แต่ดูแล้วแนวโน้มกลับคืนสู่ปกตินั่นยากยิ่ง ซึ่งหนังเลือกช็อตจบ เคลื่อนกล้องนำพาย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ถือเป็นความพยายามชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดค้นหาคำตอบ ว่าแท้จริงแล้วหญิงสาวคนนี้มีปัญหาอะไร
คำตอบที่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกคน แล้วแต่การวินิจฉัยใจความ ตีความภาษาภาพยนตร์ของคุณเองเลย หมอคงได้คำตอบอีกอย่าง ที่ผมคิดก็เล่าให้ฟังไปแล้ว แต่ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งซึ่งตอบคำถาม สะท้อนตัวตนผู้กำกับ Polański เพราะเหตุใด ทำไมผู้กำกับถึงชอบทำอะไรแบบนี้กับหญิงสาว?
เปรียบ Sex ประหนึ่งสงคราม ความวิปลาสบ้าคลั่งก็คือ Holocaust (ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) เป็นสิ่งที่ทำให้จากคนปกติกลายเป็นผู้เสียสติ, เด็กชาย Polański ได้ประสบพบเจอมากับตัวเอง จดจำภาพฝังใจ พยายามศึกษาเรียนรู้ จัดการ ทำความเข้าใจปม Trauma ของตัวเอง นำมาถ่ายทอด ตีแผ่ บำบัดระบาย สิ่งชั่วร้ายที่อยู่ในใจตัวเองออกมา, เหตุที่นิยมใช้ตัวเอกเป็นหญิงสาว เพราะเป็นเพศที่ผู้ชมรู้สึกสงสารน่าเห็นใจได้ง่าย มีความอ่อนไหวไม่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นการสะท้อนตัวตนที่อยู๋ในใจของผู้กำกับ จริงอยู่ภายนอกเขาเป็นผู้ชาย แต่ข้างในด้วยความอ่อนไหว อ่อนแอ Sensitive นำมันออกมาด้านนอก ก็สามารถแทนได้ด้วยภาพลักษณ์ของอิสรตรีเพศหญิง
เกร็ด: Polański แอบมารับเชิญในหนัง ปลอมตัวเป็นผู้หญิงที่เดินเข้ามาในอพาร์ทเม้นท์ของ Carol ช่วงท้าย
ผู้กำกับระดับศิลปินก็แบบนี้นะครับ ผมเคยพูดถึง Polański ตอนที่สร้าง Macbeth (1971) หลังจากภรรยาถูกฆาตกรรมสังหารโหด คดี Mason Family ถ้าไม่ใช่เพราะหนังเรื่องนั้น ป่านนี้ตัวเขาคงกลายเป็นบ้าสติแตกไปแล้ว คำพูดนี้เป็นจริงตั้งแต่หนังเรื่องแรกๆของผู้กำกับแล้วละ ไตรภาค Apartment Trilogy อีกสองเรื่องคือ Rosemary’s Baby (1968), The Tenant (1976) ต่างก็มีใจความที่เป็นการสำรวจ ตีแผ่ ระบาย นำเสนอความบ้าคลั่งที่อยู่ในจิตใจของตนเองออกมา
นี่ถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนทางจิตใจของศิลปินระดับนี้อย่างยิ่ง เพราะผลงานกับชีวิตจริงของเขาได้ข้ามเส้นกลายเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันไปแล้ว สร้างสรรค์ผลงานลักษณะนี้ จึงคล้ายกับการสารภาพบาปของศาสนาคริสต์ กับความทุกข์สาหัส เจ็บปวดอัดอั้น ทรมานรวดร้าวใจ เมื่อได้รับการเปิดเผยระบายออกมา มันย่อมสามารถทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย ทนการมีชีวิตต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง
เกร็ดความรู้หนึ่งที่อยากจะแถมให้ วิบากกรรมของคนที่ชาตินี้เป็นบ้า ใบ้ ปัญญาอ่อน ล้วนเกิดจากการผิดศีลข้อ ๕ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันบุคคลเสพแล้ว
เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์
ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งการดื่มสุราและเมรัยอย่างเบาที่สุด ย่อมยัง
ความเป็นบ้าให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์ ฯ– พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓, พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕, อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต สัพพลหุสสูตร
– ใบ้ คือ ไม่สามารถพูดออกมาเป็นถ้อยคำที่คนทั่วไปเข้าใจได้, สาเหตุเกิดจากในอดีตชาติ ดื่มน้ำเมามาย ด่าทอพ่อ แม่ บุพการี ใช้ปากทำวิบากกรรมให้กลายเป็นคนใบ้
– บ้า คือ อาการที่แสดงถึงความคลุ้มคลั่ง สาเหตุเกิดจากความเครียด วิตกจริต ซึมเศร้า, สาเหตุเกิดจากในอดีตชาติ ดื่มน้ำเมามาย เกิดโทสะกำเริบ ชอบก่อการทะเลาะวิวาททำลายข้าวของ ทำร้ายคนในครอบครัว วิบากกรรมทำให้เป็นคนบ้า
– ปัญญาอ่อน คือ ภาวะที่สมองหยุดพัฒนา หรือพัฒนาไม่สมบูรณ์, สาเหตุเกิดจากในอดีตชาติ ดื่มน้ำเมามาย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร แต่หลับนอนแค่นั้น วิบากกรรมทำให้สติปัญญาน้อย สมองไม่ค่อยพัฒนา
แต่อย่างกรณีของหนังเรื่องนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าปมความหวาดกลัวเพศชายจนกลายเป็นปฏิเสธต่อต้านวิกลจริต มีสาเหตุอดีตชาติเป็นได้อย่างไร, มันคงหลายๆวิบากกรรมร่วมด้วยช่วยซ้ำเติม ถึงได้มีความซับซ้อนยากจะเข้าใจระดับนี้
เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้าสองรางวัล
– FIPRESCI Prize
– Silver Berlin Bear: Special Prize of the Jury
หลายทศวรรษถัดมา Polański พูดถึงหนังเรื่องนี้ในทำนองว่า ต่ำกว่ามาตฐานของตนเอง ไม่ค่อยพึงพอใจเสียเท่าไหร่
“[Repulsion] is the shoddiest . . . technically well below the standard I try to achieve,”
แต่ต้องถือว่า Repulsion เป็นหนังที่เกือบสมบูรณ์แบบเรื่องหนึ่ง (บ้างยกเป็น Masterpiece ของผู้กำกับ) โดยเฉพาะนักแสดง งานภาพ และการสร้างบรรยากาศ มีความหลอกหลอน สั่นสะท้าน บ้าคลั่ง, ตำหนิใหญ่ๆที่ผมค้นพบคือ หนังขาด Climax ที่หลอนสะท้านไม่เท่าตอนสำคัญกลางๆเรื่อง กระนั้นเราสามารถมองข้ามจุดนี้ไปที่ผลลัพท์ภาพรวม ความทรงพลัง และหลายฉากที่ทำให้ผู้ชมสะดุ้ง สะพรึง คนขวัญอ่อนรับชมอาจถึงขั้นไม่หลับไม่นอนเลยทีเดียว
ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เสียเท่าไหร่ ในความปั่นป่วน อลม่าน บ้าคลั่งที่เกิดขึ้นภายใน เพราะการครุ่นคิด วิเคราะห์เข้าไปในจิตใจของฆาตกร หรือผู้ป่วยจิตเวช มันไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เริงใจแม้แต่น้อย พาลแต่จะให้คนคิดมากอย่างผมคลุ้มคลั่ง แทบกลายเป็นบ้าตามตัวละครไปด้วย
แนะนำกับคอหนังแนวจิตวิทยา หลอนๆ เข้าไปในจิตใจของฆาตกร ผู้ป่วยโรคจิต, ผู้สร้างหนัง Art-House ศึกษาเรียนรู้วิธีการ ทำความเข้าใจ, หมอ จิตแพทย์ นักจิตเวชทั้งหลาย ค้นหาคำตอบวินิจฉัยโรค, แฟนๆผู้กำกับ Roman Polanski และนักแสดง Catherine Deneuve ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความบ้าคลั่ง การเสียสติ และฆาตกร
[…] Repulsion (1965) : Roman Polański ♥♥♥♡ […]