Requiem for a Dream (2000) : Darren Aronofsky ♥♥♥♥♡
ความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนเป็นคนติดยา เสพแล้วกลายเป็นบ้า ทุกความฝันที่วาดมาพลันล่มสลาย, ผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Darren Aronofsky อาจไม่เหมาะกับทุกคน แต่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ทั้งๆที่ผมไม่ใช่แฟนคลับของ Darren Aronofksy แต่กลับรับชมหนังของพี่แกครบทั้งหมด คงเพราะทุกผลงานมีความโดดเด่นน่าสนใจ เลยไม่เคยพลาดภาพยนตร์ของผู้กำกับคนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Requiem for a Dream ในความคิดส่วนตัวเลวร้ายยิ่งกว่า mother! (2017) เสียอีกนะ นั่นอาจเพราะ impact ที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ มันไม่ใช่แค่มุมมองของตัวละครที่เห็น แต่คือผู้ชมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ ซึ่งในทางเทคนิคต้องบอกว่า ‘สไตล์ของ Aronofsky’ ที่เริ่มต้นจากหนังเรื่องนี้ มีความครบเครื่อง แปลกตา สดใหม่กว่าผลงานอื่นใดของผู้กำกับเป็นไหนๆ
ถ้าคุณเคยรับชมซีรีย์ Breaking Bad (2008 – 2013) และไม่คิดว่าจะมีแนว Drug Movies เรื่องไหนที่เลวร้ายกว่านี้อีกแล้ว แนะนำให้ลองหาหนังเรื่องนี้มารับชมดูนะครับ แล้วคุณอาจเปลี่ยนคำพูดใหม่เลยว่า ‘ไม่มีแนว Drug Movies เรื่องไหนที่เลวร้ายกว่า Requiem for a Dream อีกแล้ว’
ก่อนจะเริ่มต้นบทความนี้ ขอนำเสนอเพลงประกอบที่กลายเป็นตำนานของหนังไปแล้ว Lux Aeterna (ภาษาละติน แปลว่า eternal light) ประพันธ์โดย Clint Mansell ในสไตล์ Neoclassical ถ้าคุณชอบดู Trailer ตัวอย่างหนัง การันตีว่าต้องเคยได้ยินบทเพลงนี้ กลายเป็น popular culture ที่ชื่นชอบของผู้สร้างภาพยนตร์ทั่งหลาย, จะบอกว่าตอนผมรู้จักรับชมหนังเรื่องนี้ครั้งแรก ก็มาจากเพลงประกอบนี้แหละ ได้ยินมาหลายรอบจนต้องค้นหาที่มาที่ไป และได้พบเจอหนังเรื่องนี้
มันมีบางสิ่งอย่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์ เป้าหมาย ความเพ้อฝัน จุดสิ้นสุด แต่ต่อให้เราใช้เวลาเดินไปนานแค่ไหน วิ่งไล่ ขับรถ ขี่จรวด ทะลุมิติข้ามเวลา กลับไม่สามารถไปถึงได้สักที เพราะแท้จริงแล้วแสงสว่างนั้นมันอยู่ภายในจิตใจตัวเราเอง สงบสติอารมณ์ครุ่นคิดทำความเข้าใจ เมื่อนั้นมันถึงจะค่อยๆเคลื่อนใกล้เข้ามา แล้วสว่างจร้ากลายเป็นแสงแห่งนิรันดร์
Darren Aronofsky (เกิดปี 1969) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Brooklyn, New York ในครอบครัว Jewish พ่อ-แม่เป็นครู ชื่นชอบพาเขาไปชมการแสดง Broadway ทำให้เกิดความสนใจตั้งแต่นั้น โตขึ้นเลือกเรียนสังคมและมานุษยวิทยาก่อนที่ Harvard University ถึงค่อยตามด้วยเรียนการกำกับภาพยนตร์ที่ American Film Institute, ด้วยทุนสร้าง $60,000 เหรียญ สร้างหนังเรื่อง PI (1997) คว้ารางวัล Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Sundance แล้ว Artisan Entertainment ซื้อสิทธิ์จัดจำหน่ายมูลค่าสูงถึง $1 ล้านเหรียญ
สำหรับผลงานลำดับที่สอง คงต้องย้อนความสนใจไปตั้งแต่สมัยเรียน Aronofsky ได้มีโอกาสอ่านนิยายเรื่อง Last Exit to Brooklyn (1964) ของนักเขียน Hubert Selby, Jr. เกิดความชื่นชอบหลงใหลเป็นอย่างมาก [คงเพราะตัวของ Aronofsky เป็นชาว Brooklyn ด้วยกระมัง] รีบแสวงหาอีกผลงานดัง Requiem for a Dream (1978) อ่านแล้วยิ่งคลั่งไคล้มากกว่าเดิม มีความสนใจอยากดัดแปลงสร้างภาพยนตร์มาตั้งแต่ตอนนั้น แต่พอได้พัฒนาส่งบทหนังไปให้กับสตูดิโอต่างๆใน Hollywood กลับไม่มีใครตอบรับ คงเพราะดูแล้วคงไม่ใช่หนังทำเงินแน่ๆ
Selby ขณะนั้นขายลิขสิทธิ์ดัดแปลงนิยายให้ Scott Vogel ของ Truth and Soul Pictures หลังจากได้มีโอกาสพูดคุยกับ Aronofsky นำบทหนังที่เคยพัฒนาดัดแปลงมาเปรียบเทียบกัน ปรากฎว่ามีความคล้ายคลึงกว่า 80% เลยเกิดความเชื่อมือ ตัดสินใจช่วยผลักดันหนุนหลังให้ได้เป็นผู้กำกับโปรเจคนี้
ขอพูดถึงชีวประวัติของนักเขียน Hubert Selby, Jr. เสียหน่อย หลายคนอาจคิดว่าเขาคงเคยติดยามาก่อนถึงสามารถเขียนนิยายเรื่องนี้ได้ ก็ไม่ผิดนะครับ แต่เป็นการติดที่ไม่ได้เกิดจากการเสพยา มาจากความสะเพร่าเลินเล่อของหมอ และการเป็นผู้ทดลองใช้ยาชนิดต่างๆรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเอง,
Hubert Selby (1928 – 2004) เกิดที่ Brooklyn, New York City พ่อเป็นกะลาสีและนักขุดเหมืองถ่านหินจาก Kentucky ด้วยความที่เป็นเด็กไม่เฉลียวฉลาด ลาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 15 ได้งานเป็นพ่อค้าเรือเดินสมุทร (Merchant Marines) แต่ระหว่างการเดินทางเมื่อปี 1947 ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นวัณโรค ติดเชื้อจากวัวบนเรือ ทำให้ถูกส่งกลับมารักษาตัวที่ Marine Hospital, New York ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มียารักษาผู้ป่วยโรคนี้, Selby ได้ตัดสินใจยอมเป็นหนูทดลอง รับยารักษาชนิดต่างๆ ผ่าตัด จนกระทั่งติดเชื้อในปอด จำต้องผ่าออกข้างหนึ่ง กินยาแก้ปวด ฉีดมอร์ฟีน จนเกิดอาการติดเลิกไม่ได้ เงินทองเริ่มร่อยหรอ ทำให้เขาคิดเขียนหนังสือ โชคดีที่ผลงานเรื่องแรก Last Exit to Brooklyn (1964) ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ยืดอายุไขมีชีวิตได้อีกหลายสิบปี
ความตั้งใจในการเขียนนิยายเรื่องนี้ของ Selby เพื่อเตือนภัยกับผู้คนให้มีความระมัดระวัง ต่อหมอที่อาจจ่ายยาแบบสะเพร่าเลินเล่อไม่สนใจใยดีผู้ป่วย ยาแก้ปวด ยาลดน้ำหนัก ฯ โดยไม่รู้ตัวคุณอาจเสพติด กลายเป็นบ้าเสียสติ หมดอนาคต สิ้นสุดทุกความฝันที่เคยมีมา
Requiem คือชื่อของบทเพลงศาสนาคริสต์ที่ใช้ในพิธีศพ สวดมนต์ส่งวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์ (แต่ปัจจุบันมักใช้เพื่อการฟังในคอนเสิร์ตมากกว่า), Requiem for a Dream จึงหมายถึง บทเพลง/นิยาย/ภาพยนตร์ เกี่ยวกับความฝันที่พบเจอกับความตาย ถึงจุดสิ้นสุด หรือไม่ได้สมหวัง เรียกสั้นๆว่า ‘ฝันสลาย’
เรื่องราวของหนังประกอบด้วย 4 ตัวละครหลักที่ต่างก็มีความฝันหวาน พวกเขาอาศัยอยู่ Brighton Beach, Brooklyn ตั้งแต่ฤดู Summer, Fall และ Winters (ไม่มีใครไปถึง Spring สักคน)
– Sara Goldfarb (รับบทโดย Ellen Burstyn) หญิงหม้ายชราอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ เธอติดรายการโทรทัศน์หนึ่ง ได้รับการติดต่อให้กรอกใบสมัครส่งไปเพื่อรอวันนัดออกอากาศ เฝ้าคอยวันที่จะได้สมหวังเป็นจริง
– Harry Goldfarb (รับบทโดย Jared Leto) ลูกชายโทนของ Sara เป็นขี้ยา (เฮโรอีน) มีความฝันต้องการเป็นพ่อค้ายารายใหญ่ ร่ำรวยเงินทอง มีทรัพย์สินไปสู่ขอแฟนสาว และเปิดกิจการร้านออกแบบเสื้อให้ตามฝันของเธอ
– Marion Silver (รับบทโดย Jennifer Connelly) แฟนสาวของ Harry มีความต้องการอาศัยอยู่ ร่วมกิน หลับนอน แต่งงานกับคนรัก ไม่สนอะไรมากไปกว่านั้น
– Tyrone C. Love (รับบทโดย Marlon Wayans) ชายหนุ่มผิวสีเพื่อนขี้ยาของ Harry มีความฝันต้องการเป็นพ่อค้ายารายใหญ่ ร่ำรวยเงินทอง จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม หนีออกไปจากแหล่งสลัมแห่งนี้ เติมเต็มความฝันของแม่
Ellen Burstyn ชื่อเดิม Edna Rae Gillooly (เกิดปี 1932) นักแสดงสัญชาติอเมริกา หนึ่งใน Triple Crown of Acting เกิดที่ Detroit, Michigan ความสนใจแรกตอนเด็กคือเป็น Fashion Illustration มีโอกาสเป็นเชียร์ลีดเดอร์ คณะกรรมการนักเรียน แต่เพราะสอบตกชั้นปีสุดท้ายออกมาเป็นโมเดลลิ่ง เดินทางสู่ New York จาก Dancing Girl กลายเป็นลูกศิษย์ของ Lee Strasberg ที่ Actors Studio เลยได้รับงานแสดงละครเวที ตามด้วยละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Goodbye Charlie (1964), มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress จากเรื่อง The Last Picture Show (1971), คว้า Oscar: Best Actress จากเรื่อง Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Exorcist (1973), Same Time, Next Year (1978), Resurrection (1980) ฯ
รับบท Sara Goldfarb หญิงหม้ายที่แทบไม่เหลืออะไรในชีวิต สามีเสียชีวิตไปแล้ว ลูกก็ออกจากบ้าน เธอจึงมองหาเป้าหมายความฝันของตนเอง ด้วยความชื่นชอบรายการโทรทัศน์หนึ่ง ได้รับโทรศัพท์ติดต่อให้กรอกใบสมัครเพื่อไปออกรายการ ความดีใจเนื้อเต้นทำให้ชีวิตกลับมาสดชื่นแจ่มใสอีกครั้ง ต้องการสวมชุดสีแดงตัวโปรดเพื่อออกรายการ แต่ตัวเองกลับอ้วนเกินไป หาหมอเพื่อกินยาลดน้ำหนักแต่กลายเป็นว่า …
ทุกวันก่อนเข้าฉาก Burstyn ต้องใช้เวลาแต่งหน้าทำผมกว่า 4 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ขนาดตัวละครที่ต่างออกไป ประกอบด้วย fat suits น้ำหนัก 40 ปอนด์ กับ 20 ปอนด์ และวิกผมกว่า 9 แบบ นี่ยังไม่รวมถึงกล้อง SnorriCam ที่ต้องแบกไปมาขณะเดินอีก แค่นี้ก็เหนื่อยยากลำบากมากๆแล้วสำหรับหญิงสูงวัย 67 ปี
นี่เป็นตัวละครที่น่าสงสารโคตรๆ รอยยิ้มของเธอช่างขัดแย้งกับสิ่งที่อยู่ข้างในอย่างมาก ยิ่งการแสดง method acting ของ Burstyn สมจริงขนาดทำเอาผมแทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ในฉากที่เธอระบายความอัดอั้นตันใจออกมาต่อหน้าลูกชาย ไม่แน่ใจเป็นการดั้นสดหรือเปล่า แต่ผู้กำกับภาพ Matthew Libatique เห็นว่าก็ทนไม่ไหวเช่นกัน หลั่งน้ำตาออกมาจนลืมจับกล้อง เห็นภาพค่อยๆเคลื่อนไหลหลุดเฟรม แต่ผู้กำกับดันไม่ถ่ายซ้ำใหม่ เลือกใช้แบบนี้เสียอย่างงั้น ได้ผลลัพท์ทรงพลังถึงขีดสุด
เมื่อตอน Burstyn ได้อ่านบทหนังเรื่องนี้ เกิดความหลอนสะพรึงเอ่ยปากปฏิเสธผู้กำกับไปทันควัน แต่หลังจากได้รับชม PI (1997) ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น เปลี่ยนใจยอมรับเล่น ซึ่งภายหลังเธอบอกว่านี่เป็นผลงาน ‘best acting achievement’ ที่สุดในชีวิต กระนั้นเธอกลับพลาด Oscar: Best Actress ไปอย่างน่าเสียดาย (เป็นตัวเต็งจ๋าในปีนั้น) ให้กับ Julia Roberts จากเรื่อง Erin Brockovich (2000)
เกร็ด: ในตอนแรกเห็นว่า สตูดิโอเสนอแนะให้ Burstyn มีชื่อเข้าชิงในสาขา Best Supporting Actress ซึ่งการันตีรางวัลแน่ๆ แต่เธอไม่ยินยอม ผลลัพท์ถือเป็นความน่าเสียดายอย่างยิ่งยวดไป
เกร็ด2: ในงาน Oscar ผู้เข้าชิงจะสามารถพาใครก็ได้ +1 เข้าร่วมงาน ซึ่งเธอขอให้ผู้กำกับ Darren Aronofsky ไปเป็นเพื่อนของเธอ (Aronofsky ไม่ได้รับเชิญไปงาน เพราะไม่ได้เข้าชิงรางวัลอะไร ถือเป็นครั้งแรกของเขาเลยละ)
Jared Joseph Leto (เกิดปี 1971) นักแสดง/นักร้อง สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Bossier City, Louisiana, แม่เป็นชาว Hippie เลยส่งเสริมให้ลูกๆมีความสนใจเกี่ยวกับงานศิลปะ เป็นนักดนตรีร่วมกับพี่ชาย โตขึ้นเข้าเรียน University of the Arts, Philadelphia หลังจากเริ่มสนใจในภาพยนตร์ ย้ายไปเรียน School of Visual Arts, New York City จบมาได้งานรายการโทรทัศน์ แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก How to Make an American Quilt (1995) ได้รับคำชมแรกจาก Prefontaine (1997) ตามด้วย The Thin Red Line (1998) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Fight Club (1999), American Psycho (2000), Panic Room (2002), Alexander (2004), คว้า Oscar: Best Supporting Actor จาก Dallas Buyers Club (2013) ล่าสุดรับบท Joker ในจักรวาล DC
Harry Goldfarb ชายหนุ่มที่กำลังค้นหาตัวตน เป้าหมายชีวิตของตนเอง มีแฟนสาว Marion Silver รักมากแต่พากันหลงผิดเสพยา ติดหนังจนเลยเถิดคิดการใหญ่ ต้องการเป็นพ่อค้านายหน้าจะได้ร่ำรวยเร็วชีวิตมีความสุข แล้วกรรมก็ตามทันพวกเขาอย่างรวดเร็วทันใจ
Leto อาศัยหลับนอนอยู่ในท้องถนน New York City เฝ้าสังเกตศึกษาพฤติกรรมของพวกขี้ยาทั้งหลาย ไม่กินน้ำตาลและไม่มี Sex กับใครร่วมสองเดือนก่อนการถ่ายทำ จนน้ำหนักลดไป 28 ปอนด์ (ประมาณ 12 กิโลกรัม) ร่างกายผอมแห้งเห็นกระดูก, การแสดงของเขาจะดูเหม่อลอย ตาค้างๆ สติไม่ค่อยอยู่กับตัวนัก ก็แน่ละนี่เป็นอาการของคนยังไม่สร่างเมา แต่พอได้เสพเฮือกเดียวเท่านั้น กลับมาเป็นผู้เป็นคนได้อย่างไว ช่วงไฮไลท์คือตอนลงแดงเพราะขาดยา ลุกรี้ลุกรน ดิ้นพร่าน กระวนกระวายใจ แสดงออกผ่านทางภาษากาย สีหน้า สายตา และคำพูด ได้อย่างสมจริงมากๆ
หลังจากถ่ายทำหนังเรื่องนี้เสร็จ แฟนสาวของ Leto ขณะนั้น Cameron Diaz ขอให้เขาโกนผมบวช ไปนั่งสมาธิอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในประเทศโปรตุเกส เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย อารมณ์ และน้ำหนักของตนเองอยู่หลายเดือนกว่าจะกลับมาเป็นปกติได้, นี่ต้องยกย่องเลยว่า Leto เป็นอีกหนึ่งนักแสดง method acting ที่ฝีไม้ลายมืดจัดจ้านทีเดียว
Jennifer Lynn Connelly (เกิดปี 1970) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Cairo, New York แม่ของเธอเป็น Jewish อพยพจาก Poland/Russia มีความสนใจเข้าเรียนการแสดงตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 10 ขวบเป็น Child Modelling ไม่ได้คิดโตขึ้นจะเป็นนักแสดง แต่แม่กลับพามาคัดตัวหนังเรื่อง Once Upon a Time in American (1984) ของผู้กำกับ Sergio Leone ทั้งๆที่เต้นบัลเล่ต์ไม่เป็น แต่สามารถเลียนแบบได้เหมือนมากๆ, ปีถัดมาได้รับบทนำเรื่องแรก Phenomena (1985) หนัง Giallo ของผู้กำกับ Dario Argento, ผลงานได้รับการจดจำคือ Labyrinth (1986), Dark City (1998),Pollock (2001), คว้า Oscar: Best Supporting Actress จากเรื่อง A Beautiful Mind (2001), Hulk (2003), House of Sand and Fog (2003), Blood Diamond (2006), Noah (2014) ฯ
Marion Silver หญิงสาวจากครอบครัวไฮโซ ผู้ไม่ชอบก้มหัวทำตามคำสั่งใคร เหมือนจะหนีออกจากบ้าน (เพราะถูกครอบครัวพยายามจับคู่กับ Arnold) ตกหลุมรักกับ Harry หนุ่มบ้านๆที่แสนน่ารักน่าเอ็นดู ก็ไม่รู้ติดใจในรส Sex ของเขาหรืออย่างไร จึงโงหัวไม่เห็นเงาของตนเอง, สังเกตว่าตอน Marion อยู่กับ Harry จะไม่ค่อยแต่งหน้าจัดเท่าไหร่ (เปิดเผยหน้าสด ตัวจริงของตนเอง) แต่เมื่อไหร่ที่ต้องออกไปพบใคร ก็จะแต่งหน้าจัดสุดๆ หลบซ่อนตัวตนอยู่ภายใต้เครื่องสำอางค์หนาเตอะ
Connelly เป็นผู้หญิงที่ตาสวยคมบาดใจ Sex Symbol ฝืมือการแสดงหลายหลาย มีเสน่ห์ที่ทำให้ผมหลงหลั่งคลั่งมากที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งการรับบทในหนังเรื่องนี้ได้ทำสิ่งที่ช่วยให้ผมเลิกฝันเปียกไปนานหลายปี จดจำฉากนั้นได้ไม่เคยลืมเลือน ใครกันจะไปคิดว่าเธอกล้ารับบทแบบนี้ นี่ทำให้ผมโคตรหลงรักเธอเลยละ
เกร็ด: เห็นว่าชุดที่ Connelly สวมใส่ในหนัง เป็นผลงานการออกแบบของเธอเองแทบทั้งหมด
Marlon Lamont Wayans (เกิดปี 1972) นักแสดง/ตลก ผิวสีสัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York City โตขึ้นเข้าเรียน o Fiorello H. LaGuardia High School of Music & Art and Performing Arts, New York City ตามด้วย Howard University, Washington D.C. มีชื่อเสียงจากเป็นนักแสดง sitcom ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Scary Movie (2000), Norbit (2007), G.I. Joe: The Rise of Cobra (2009), A Haunted House (2013), Fifty Shades of Black (2016) ฯ
Tyrone C. Love จากเคยมีคนรัก Sex อย่างเร้าใจ ถูกจับจากการเป็นนายหน้าซื้อขายยา ประกันตัวออกมาแทนที่จะสำนึก กลับยังพยายามดิ้นรนหาช่องทางเอาคืนสิ่งที่สูญเสีย เพื่อเติมเต็มความฝันหนีออกจากชุมชนสลัมใน New York City แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหนีไปไหนพ้น ติดคุกติดตารางอีกครั้ง ได้แต่หวนระลึกถึงอ้อมกอดอันอบอุ่นของแม่ที่รักยิ่ง
จริงๆแล้ว Wayans เป็นนักแสดงตลก แต่บทบาทนี้ถือว่าเครียดจับใจ หนังไม่ได้โฟกัสตัวละครนี้มากนัก เป็นส่วนช่วยเติมเต็มเรื่องความฝันเฉยๆ ซึ่งตอนจบในนิยายเห็นว่าตอนอยู่ในคุกถูกผู้คุมกดขี่ ทุบตี เหยียดหยามนานัปประการ เพราะเป็นคนผิวสี ไม่แตกต่างอะไรจากตอนอยู่ข้างนอก, ส่วนในหนังจะมีการซ้อนภาพแม่ของเขา ขณะนอนกำลังขดตัวงอเหมือนทารกในครรภ์ ผู้กำกับบอกว่า Love เป็นตัวละครเดียวหลังจากนี้ที่น่าจะสามารถกลับตัวกลับใจ เลิกเล่นเสพค้ายาได้
แถมให้อีกคนกับ Christopher McDonald (เกิดปี 1978) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York City มีผลงานดังอย่าง Thelma & Louise (1991), Happy Gilmore (1996), The Perfect Storm (2000) ฯ
รับบท Tappy Tibbons ผู้จัดรายการโทรทัศน์ ที่ชวนเชื่อให้กับผู้ชมได้เติมเต็มความฝัน โดยเฉพาะหญิงหม้ายชรา Sara Goldfarb ถึงขนาดจินตนาการเพ้อฝันถึงตัวเอง ว่าได้ไปออกรายการนี้เรียบร้อย
ตัวละครนี้ไม่มีในนิยายต้นฉบับ เป็นเพียงรายการโทรทัศน์ทั่วๆไป แต่เพราะ Aronofsky กลัวว่าจะทำให้หนังตกยุคเร็วจึงได้สร้างรายการพิเศษนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ, ฉากของ McDonald ใช้เวลาถ่ายทำวันเดียวเท่านั้น ซึ่งพี่แกทำการ improvise ปรับเปลี่ยนรูปแบบ คำพูด เนื้อหารายการ ด้วยตัวเองทั้งหมด จนกระทั่งตัวประกอบทั้งหลายที่มาเข้าร่วมฉากยังอดทึ่งประทับใจไม่ได้ ซึ่งพอถึงซีนสุดท้ายถ่ายทำเสร็จ มีการยืนปรบมือ Ovation ให้กับเขาด้วย, ถือเป็นตัวละครที่สร้างสีสันให้กับหนังได้มากทีเดียว
เกร็ด: ในรายการของ Tappy Tibbons หลายครั้งจะมีพูดถึงกฎเหล็ก 3 ข้อสำหรับลดน้ำหนักและทำให้ชีวิตดีขึ้น ประกอบด้วย
1) หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง/เนื้อที่เมื่อยังไม่ได้ปรุงสุก (Red Meat)
2) หลีกเลี่ยงการใช้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar)
3) ข้อนี้กลายเป็น MacGuffin ที่มักตัดข้าม หาเรื่องไม่พูดถึงเสมอ, จริงๆแล้วที่ Aronofsky วางแผนไว้คือ ‘removal of pharmaceuticals from the equation’ (เลิกใช้ยาแผนปัจจุบัน) แต่เพราะกลัวปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาถูกฟ้องจากบริษัทยา จึงตัดออกจากหนัง แต่ก็มีแผนสำรองเผื่อไว้คือ ‘no orgasms’ (ห้ามถึงจุดสุดยอด)
ถ่ายภาพโดย Matthew Libatique ขาประจำของ Aronofsky ร่วมงานตั้งแต่ PI (1997), งานภาพของหนังมีลักษณะเหมือน ‘ในสายตาคนติดยา’ เต็มไปด้วยความบิดเบี้ยว มุมกล้องแปลกประหลาด สีสันรูปทรงผิดเพี้ยนจากปกติ เวลาดำเนินไปเดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า แสงเดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง สีน้ำเงิน-ส้ม-เขียว (แทนแต่ละช่วงฤดู) ฯ ทุกสิ่งอย่างนี้ เพื่อสะท้อนสภาพ/สถานะ ทางร่างกายและจิตใจ (States of Mind) ของตัวละครขณะนั้นได้เป็นอย่างดี
มีการใช้ SnorriCam (บางครั้งเรียกว่า chestcam, bodymount camera, bodycam, bodymount) เป็นกล้องที่จะมีอุปกรณ์ติดตัวกับนักแสดง ขณะเดินหรือทำอะไรก็จะเห็นภาพเคลื่อนไหวไปตามนั้น ในมุมมอง Point-Of-View (POV) ผลลัพท์ที่ออกมาชวนให้เวียนหัว เกิดอาการโคลงเคลง vertigo
เกร็ด: หนังเรื่องแรกๆที่มีการใช้ SnorriCam คือ Mean Streets (1973), PI (1997)
การหมุนกล้อง มีนัยยะถึงอาการสับสน มึนงุนงง ราวกับโลกหมุนรอบพวกเขาทั้งสองคน
เลนส์นูน/ตาปลา ให้ภาพที่บิดเบี้ยวจากรูปทรงทรงปกติ, กับฉากที่ใช้เลนส์ประเภทนี้ จะมีการ Fast Motion (หรืออาจเป็น Time-Lapse Photography) และ Slow Motion ตัวละครพูดเคลื่อนไหวรวดเร็วกว่าปกติ หรือเชื่องช้าแบบสุดๆ สื่อถึงการทำงานของสมอง ประสาทรับรู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยาอย่างหนัก
ช่วงท้ายของหนัง หลังจากที่ทุกตัวละครได้รับผลกรรมตามการกระทำแล้ว พวกเขาต่างนอนอยู่บนเตียง หันข้างขดตัวงอเข่า ทำท่าเหมือนทารกในครรภ์ มีนัยยะสื่อถึงทุกสิ่งที่กระทำมาหมดสิ้นไร้ค่า ทุกคนหวนกลับคืนไปสู่จุดเริ่มต้น(ของชีวิต)
เกร็ด: หนังเรื่องแรกที่นำเสนอสัญลักษณ์นี้คือ Ashes and Diamonds (1958) สัญชาติ Polish ของผู้กำกับ Andrzej Wajda
ตัดต่อโดย Jay Rabinowitz ที่ได้ร่วมงานกับ Aronofsky เรื่อง The Fountain (2006) และเป็นหนึ่งในนักตัดต่อ Tree of Life (2011), หนังใช้มุมมองของทั้ง 4 ตัวละครหลัก Sara-Harry-Marion-Tyrone ตัดสลับไปมา (แต่ส่วนใหญ่จะเป็น เรื่องของ Sara ตัดสลับกับ Harry-Marion-Tyrone เสียมากกว่า)
การดำเนินเรื่องแบ่งออกเป็น 3 ฤดู Summer, Fall, Winter ซึ่งจะแทนด้วยลักษณะของเรื่องราว และองค์ประกอบการนำเสนอ
– Summer ฤดูร้อนที่มีความสดใส ร่าเริง อบอุ่น, กิจการงาน ความรักกำลังรุ่งโรจน์ เป็นสุขใจ
– Fall ฤดูฝน จากที่เคยสุขเริ่มทุกข์ ตกต่ำ การงานประสบปัญหา ความรักสั่นคลอน เจ็บปวดรวดร้าว
– Winter ฤดูหนาวเหน็บ ทุกสิ่งอย่างถึงจุดสิ้นสุด การงานล้มเหลวจบสิ้น ความรักแยกจากชั่วนิรันดร์ ตกอยู่ในห้วงความทุกข์แสนสาหัส
ด้วยความยาวเพียง 100 นาที ประมาณว่ามีภาพกว่า 2,000 ช็อต (โดยเฉลี่ยของหนังสมัยนั้น เรื่องหนึ่งจะมีแค่ 600-700 ช็อตเท่านั้น) ASL ประมาณ 2.7 วินาที ถือว่าความเร็วสูงมากๆ โดยเฉพาะวัฏจักรขณะเสพยา มีการตัดต่อภาพหลายช็อตภายในไม่ถึงวินาที นี่เพื่อสร้างสัมผัสในช่วงขณะเสพ ความสุขสำราญขณะนั้นเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว
เทคนิคการตัดต่อที่ Aronofsky บัญญัติขึ้น มีชื่อว่า Hip Hop Montage มันก็คือ Fast Cutting หรือ Rapid Cuts ด้วยเทคนิค Montage เพิ่มเติมคือ จะมีการใช้ภาพ Close-Up หรือ Extreme Close-Up แทรกเข้าไป (และใส่เพลง Hip Hop เข้าไปด้วย)
เกร็ด: หนังเรื่องแรกๆที่ผมเห็นใช้เทคนิคนี้คือ All That Jazz (1979) ของผู้กำกับ Bob Fosse
สำหรับเทคนิค Split Screen ภาพทั้งสองฝั่งต่างใช้เทคนิค Montage ซึ่งกันและกัน แทนด้วยภาพจากสายตาตัวละครทั้งสองฝั่ง ตัดสลับกับ สีหน้าปฏิกิริยา และการกระทำของพวกเขา
นอกจากนี้ยังมีการแทรกใส่ ภาพของความคิด/เพ้อฝัน/จินตนาการ ของตัวละครเข้ามา บางครั้งใช้เทคนิคการซ้อนภาพ บางครั้งก็มาเป็นฉากๆเลย อาทิ ตอนต้นเรื่องที่คิดอยากขโมยปืนจากตำรวจ แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นเพียงภาพหลอนเมายา, หรือฉากในความฝัน Marion ยืนรอ Harry อยู่ที่สุดปลายท่าเรือ Coney Island
เพลงประกอบโดย Clint Mansell นักแสดงเพลงสัญชาติอังกฤษ อดีตนักร้องนำวง Pop Will Eat Itself ผันตัวมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์จากคำชักชวนของ Aronofsky เรื่อง PI (1997) จนกลายเป็นขาประจำ (ยกเว้น mother!) ผลงานอื่นๆ อาทิ Doom (2005), Moon (2009), Ghost in the Shell (2017), Loving Vincent (2017) ฯ
ลักษณะของเพลงประกอบให้สัมผัสของความหลอกหลอน (Hallucinations) เป็นส่วนผสมของดนตรี Electronic, Ambient, IDM (Intelligent Dance Music) บรรเลงโดยวง Kronos Quartet, อย่างเพลง Coney Island Dreaming วาดฝันถึงเกาะสวรรค์ ได้ยินเพลงนี้แล้วคงเกิดความฉงนสงสัย นี่คงไม่ใช่ความฝันที่จะกลายเป็นจริงได้แน่
เกร็ด: Coney Island คือหาดสวยทะเลฟ้าใส ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมือง Brooklyn เรียกว่าเป็นสถานที่พักผ่อน Paradise ของชาวเมือง New York ที่ชื่นชอบไปพักผ่อนกันวันหยุด
ใช่ว่าทุกความฝันของมนุษย์จะกลายเป็นจริง โดยเฉพาะ American Dream ประเทศที่เต็มไปด้วยเสรีภาพ ก็ยังมีข้อจำกัด แต่ใครๆคงคิดได้ว่ามันเป็นเรื่องสมควรอยู่แล้ว กับพ่อค้ายาเสพติด ถ้ามันทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จร่ำรวย หนีได้ไล่จับไม่ทัน ดินแดนแห่งนั้นคงมีแต่จะตกต่ำลงเรื่อยๆ จนอาจหมดสิ้นอารยธรรมมนุษย์
Requiem for a Dream เป็นเรื่องราวของความฝัน/American Dream ที่ถึงคราสิ้นสุดลง เพราะพวกเขานำพาตนเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยา/สารเสพติดทั้งหลาย ทั้งโดยมีสติรู้ตัวและความโชคร้าย สะเพร่าเลินเล่อ นำเสนอผ่าน 2 เรื่องราวหลัก
– 3 ตัวละคร Harry-Marion-Tyrone เรื่องราวของพวกเขาเกี่ยวกับผู้เสพ-ผู้ค้าขายเฮโรอีน ก็มีความธรรมดาทั่วไป
– แต่กับ Sara เรื่องราวของหญิงชราหม้าย เธอไม่ได้มีความต้องการเสพติดยา แต่เป็นผลลัพท์จากความไม่รู้ สะเพร่าเลินเล่อไม่สนใจของหมอ ทำให้เกิดผลลัพท์ข้างเคียงที่แทบไม่ต่างอะไรกับ Harry-Marion-Tyrone
รับชมหนังเรื่องนี้ผมไม่เห็นใจ Harry-Marion-Tyrone เลยนะครับ พวกเขาทำตัวเองล้วนๆ ทั้งๆที่พื้นหลังของพวกเขาก็มีความปกติดี แต่ชีวิตคงไม่เป็นสุขนัก อันเป็นผลพวงจากความ ‘คาดหวัง’ ของพ่อ-แม่ สร้างความกดดันให้กับลูก หาทางออกกลายเป็นอย่างที่พวกเขาต้องการไม่ได้ ก็เลยหัวขบถ ปฏิเสธก้าวร้าว หาทางปลีกหนีโลก อาศัยอยู่ในจักรวาลเปลือกนัทของตนเอง
– Harry มีแม่ที่คาดหวังให้เขาหางานดีๆทำ มีแฟน แต่งงาน มีลูก แต่ตัวเขาทำไม่ได้สักอย่าง
– Marion เติบโตในครอบครัวไฮโซที่พยายามจับคู่ให้ลูกสาว แต่เธอไม่ชอบเลยหนีออกจากบ้าน
– Tyrone มีแม่ที่รักยิ่ง เป็นห่วงเป็นใย จึงต้องการตอบสนองความคาดหวังของเธอ
ผลลัพท์ชะตากรรมของพวกเขา
– Harry สูญเสียแขนข้างหนึ่ง ไม่สามารถเอื้อมมือไขว่คว้า โอบกอดความฝันของตนเองได้อีกต่อไป
– Marion สูญเสียคนรักไปโดยสิ้นเชิง จมปลักอยู่กับ Sex วิตถาร คงติดยาต่อไปโดยไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ
– Tyrone ต้องการหนีจากสังคมที่ตนถูกกดขี่ กลับติดคุกพบเจอผู้คุมที่เหยียดผิวรุนแรงกว่าที่เคย
ขณะที่ Sara หญิงชราหม้ายที่ไร้เป้าหมายใดๆในชีวิต เธอไม่มีศาสนาเป็นที่ึพึ่ง เมื่อสูญเสียทุกอย่างจึงไม่หลงเหลืออะไร ถูกค่านิยมของ’โทรทัศน์’เข้าครอบงำ ราวกับลัทธิ/ศาสนาหนึ่ง ถูกดึงดูดชักจูงให้เข้าไปจนกลายเป็นสาวก เสร็จแล้วถอนตัวไม่ขึ้น จมปลักอยู่กับความคิดฝันนั้นของตนเองชั่วนิรันดร์ ไม่มีวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ใดๆสามารถช่วยเหลือได้
หนังเรื่องนี้ได้รับการจัดให้เป็นแนว Drug Movies เคียงข้างกับ The Basketball Diaries (1995), Trainspotting (1996), Fear and Loathing in Las Vegas (1998), Spun (2002) ฯ ผู้ชมทั่วไปคงรับรู้เข้าใจได้ เว้นแต่ผู้กำกับ Aronofsky ที่พยายามหาข้ออ้างไม่เข้าท่า บอกว่านี่ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับ ‘ยาเสพติด’ ตั้งคำถามว่า ‘what is a drug?’
“Requiem for a Dream is not about heroin or about drugs… The Harry-Tyrone-Marion story is a very traditional heroin story. But putting it side by side with the Sara story, we suddenly say, ‘Oh, my God, what is a drug?’ The idea that the same inner monologue goes through a person’s head when they’re trying to quit drugs, as with cigarettes, as when they’re trying to not eat food so they can lose 20 pounds, was really fascinating to me.”
ด้วยทุนสร้าง $4.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $7.4 ล้านเหรียญ แม้จะไม่ได้กำไรแต่พอกลายเป็น CD/DVD กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า กลายเป็นกระแสฮิตเงียบ cult following ไปโดยทันที
สิ่งที่ทำให้ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เจ๋งกว่า mother! (2017) ผลงานล่าสุดของ Aronofsky คือการที่ผู้ชมได้เสมือนเป็นขี้ยาจริงๆ พบเจอความบ้าคลั่งต่างๆถาโถมเข้ามาในชีวิต ด้วยเทคนิค/ภาษาภาพยนตร์ที่หลากหลาย จัดเต็มกว่า, ขณะที่ mother! ผู้ชมจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ (ยืนอยู่ด้านหลังของ Jennifer Lawrence) มองเห็นสิ่งที่เธอรับรู้ ตื่นตระหนกตกใจไปกับตัวละคร จริงอยู่ภาพที่เห็นในหนังเรื่องนั้นมันรุนแรงบ้าคลั่ง สั่นสะท้านจิตใจอย่างมาก แต่ถ้าคุณเห็นฉาก ATA (Ass to Ass) ผมว่าคุณจะเกิดอีกอารมณ์หนึ่ง และหลงลืมไม่ลงเลยละ
นี่อาจไม่ใช่หนังเรื่องที่ใครๆสามารถรับชมได้บ่อยๆ แค่เพียงครั้งเดียวก็จดจำตราตรึงฝังใจ โดยเฉพาะ Jennifer Connelly ทำให้ผมหลงรักคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้อย่างโงหัวไม่ขึ้น และบทเพลง Lux Aeterna ชอบเปิดฟังอยู่เรื่อยๆ (เป็นหนึ่งใน Youtube Mix ที่มักอยู่ติดๆกับ Time [Inception] ของ Hans Zimmer ก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน)
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
– ถ้าคุณอยากเป็นขี้ยา ให้รับชมหนังเรื่องนี้,
– ถ้าอยากรู้ว่าภาพในหัวของคนติดยาเป็นอย่างไร ลองรับชมหนังเรื่องนี้,
– และถ้าคุณไม่อยากเป็นคนติดยา โปรดจงรับชมหนังเรื่องนี้.
หนังที่นำเสนอโทษเกี่ยวกับยาเสพติดลักษณะนี้ แบบเดียวกับหนังไทยเรื่อง น้ำพุ (พ.ศ.๒๕๒๖) น่านำไปเปิดให้ผู้ติดยาได้รับชมดูนะครับ มันคงจะมีคนเห็นแล้วรู้สึกสำนึกได้บ้าง แต่อย่าง Breaking Bad ผมว่าไม่ควรเลยนะ นั่นเป็นซีรีย์ที่เหมือนจะหวังดีแต่กลับนำเสนอดราม่าเxยๆ สองแง่สองง่าม ดื้อด้านฝืนรั้น เป็นแรงบันดาลใจให้คนกล้ากระทำความผิด มีแต่จะเหลิงระเริงผยองเสียมากกว่า รับชมเป็นความรู้ความบันเทิงได้อย่างเดียว
แนะนำกับคอหนัง Drug Movie, Suspense, Psychological Drama, นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ดูแลผู้ป่วยติดยา, ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย ผู้กำกับ/นักถ่ายภาพ/นักตัดต่อ ศึกษาเรียนรู้เทคนิควิธี, แฟนๆนักแสดง Ellen Burstyn, Jaret Leto, Jennifer Connelly และผู้กำกับ Darren Aronofsky ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับภาพการพี้ยา, Sex บ้าคลั่ง, คำหยาบคาย และความรุนแรง
Leave a Reply