Reservoir Dogs

Reservoir Dogs (1992) hollywood : Quentin Tarantino ♥♥♥♡

เริ่มต้นด้วยการล้อมวงรับประทานอาหารเช้าเรียกน้ำย่อย จากนั้นอ้วกแตกอ้วกแตนไปกับเลือด ใบหู และความตาย ในองก์สามหลังการโจรกรรม (องก์ 1 วางแผน-องก์ 2 ลงมือ-องก์ 3 หลังจากนั้น) เมื่อเกิดความผิดพลาดระหว่างลงมือปล้นเพชร นำเสนอย้อนเป็น Flashback ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็กน้อย นี่คือการเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับ (Non-Chronological Order) แจ้งเกิดผู้กำกับ Quentin Tarantino ขึ้นมาโดยทันที

คอหนังสมัยนี้เชื่อว่าส่วนใหญ่คงรู้จัก Quentin Tarantino จาก Pulp Fiction (1994), Kill Bill (2003-04) หรือไม่ก็ Inglourious Basterds (2009) แล้วค่อยเริ่มย้อนหาผลงานเก่าๆมารับชม แต่ให้ลองจินตนาการถึงอดีต ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ขึ้นเครดิต Tarantino ไม่เคยมีมาก่อนกับความรุนแรงระดับบ้าคลั่งเสียสติ ท่วมไปด้วยทะเลเลือดและคำหยาบคายหมาเต็มปาก ใช่ว่าทุกคนจะสามารถอดรนทนรับไหว

เวลา Tarantino นำหนังเรื่องนี้ไปฉายตามเทศกาลต่างๆ ชอบที่จะดักรอตรงทางออกโรงภาพยนตร์ เข้าไปสอบถามเหตุผล นับปริมาณ มากสุดเจ้าตัวเคยพบคือ 33 คนที่เดินออก ครั้งหนึ่งนำไปฉายที่ Sitges Horror Film Festival คาดหวังเซอร์ไพรส์แต่ที่ไหนได้ทั้งหมด 5 คน หนึ่งในนั้นคือผู้กำกับ Wes Craven

“The f–kin’ guy who did ‘Last House on the Left’! My movie was too tough for him?”

Quentin Jerome Tarantino (เกิดปี 1963) ผู้กำกับ/นักเขียน/นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Knoxville, Tennessee ตั้งแต่เด็กจนโตแม่ Connie McHugh แต่งงานใหม่ 3 ครั้ง
– Tony Tarantino พ่อแท้ๆมีเชื้อสายสัญชาติ Italian เลิกกับแม่ตอน Quentin อายุได้ 3 ขวบ เห็นว่าไม่เคยพบกับพ่อแท้ๆของตัวเองสักครั้งเลย
– Curtis Zastoupil พ่อคนที่สอง เป็นนักดนตรีแนวๆอาศัยอยู่ Los Angeles ชอบพา Quentin ไปดูหนังผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็ก อาทิ The Wild Bunch (1969), Carnal Knowledge (1971), Deliverance (1972) ฯ เป็นเหตุให้เขาคลั่งความรุนแรงมาก
– Jan Buhusch อยู่กินกันถึง 8 ปีจนกระทั่ง Quentin อายุ 15-16 ตัดสินใจออกจากโรงเรียน Narbonne High School, Los Angeles ได้งานทำเป็นพนักงานฉายหนังโป๊ในโรงภาพยนตร์ Pussycat Theatre (ด้วยการอ้างว่าตัวเองอายุ 18)

ตอนอายุ 22 ได้งานทำที่ Manhattan Beach Video Archives ร้านเช่าวิดีโอแถวๆ Manhattan Beach, California สถานที่ซึ่งวันๆแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เอาแต่ดูหนัง พูดคุยวิจารณ์ และแนะนำหนังกับลูกค้า, ซึ่งที่นี่เอง Tarantino ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก (แต่ไม่สำเร็จ เพราะไฟไหม้ฟีล์มหมดสิ้น) ชื่อ My Best Friend’s Birthday (1986) และพัฒนาบทหนัง True Romance (1993) ได้รับการสร้างโดยผู้กำกับ Tony Scott, From Dusk Till Dawn (1996) กำกับโดย Robert Rodriguez และ Tarantino ยังร่วมแสดงในหนังด้วย

สำหรับ Reservoir Dogs ใช้เวลาพัฒนาบทประมาณ 3 สัปดาห์ครึ่ง วางแผนถ่ายทำร่วมกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ เงินทุน $30,000 เหรียญ ด้วยฟีล์มขาว-ดำ ขนาด 16mm วางแผนให้โปรดิวเซอร์ Lawrence Bender ร่วมแสดงเป็นตำรวจวิ่งไล่จับ Mr. Pink ซึ่งระหว่างคัดเลือกค้นหานักแสดง ได้นำบทให้ครูสอนการแสดงคนหนึ่งช่วยเหลือ ซึ่งภรรยาของเขาส่งต่อให้ Harvey Keitel เจ้าตัวเกิดความชื่นชอบอย่างมาก อาสาร่วมเป็น Co-Producer รวมถึงหาทุนเพิ่มได้กว่าล้านเหรียญ

“How’d you come to write this script? Did you live in a tough-guy neighborhood growing up? Was anybody in your family connected with tough guys? Well, how the hell did you come to write this?”

Harvey Keitel สอบถาม Quentin Tarantino ทำไมถึงสามารถเขียนบทหนังเรื่องนี้ออกมาได้โคตรเจ๋งขนาดนี้ เติบโตยังไง แถวบ้านมีปัญหาอะไรหรือเปล่ส? เจ้าตัวตอบสั้นๆง่ายๆว่า

“I watch movies”.

แรงบันดาลใจของ Tarantio เยอะสุดคงเป็นไดเรคชั่นการดำเนินเรื่องที่ไม่เรียงลำดับตามช่วงเวลา Non-Chronological Order นี่มาจาก The Killing (1955) ของผู้กำกับ Stanley Kubrick

“I didn’t go out of my way to do a rip-off of The Killing, but I did think of it as my ‘Killing,’ my take on that kind of heist movie”.

สำหรับพล็อตเรื่องราวรับแรงบันดาลใจจาก Kansas City Confidential (1952), จุดนัดหมายยัง Warehouse หลังหนึ่ง Crime Wave (1953), The Big Combo (1955), ฉากทรมานตัดหูจาก Django (1966), ชื่อตัวละครสีๆ The Taking of Pelham One Two Three (1974), ตำรวจปลอมตัวเป็นโจรปล้นเพชร City on Fire (1987) ฯ

ชายแปดคนทานอาหารเช้าร่วมกันที่ Los Angeles ก่อนออกไปปล้นเพชร นำโดยเจ้าพ่อม็อบ Joe Cabot (นำแสดงโดย Lawrence Tierney) และลูกชายเจ้าของฉายา ‘Nice Guy’ Eddy (รับบทโดย Chris Penn) ส่วนอีกหกคนที่เหลือใช้ชื่อเล่นประกอบด้วย
– Mr. White หรือ Larry (รับบทโดย Harvey Keitel) เพื่อนเก่าแก่ของ Joe Cabot อยู่ในวงการมานานหลายปี เพราะความรู้จักหนี้บุญคุณคนที่เคยช่วยเหลือตนให้ยังมีชีวิตรอด พยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือปกป้อง แม้นั่นจะทำให้เขาดูเหมือนตัวตลกเมื่อรับรู้ความจริงทั้งหมด
– Mr. Orange หรือ Freddy (รับบทโดย Tim Roth) เสียสละตนเองรับกระสุนแทน Mr. White แม้ไม่ทำให้เสียชีวิตโดยทันทีแต่ต้องทนทุกข์มานเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัส จนกระทั้งเป็นลมหมดสติล้มพับ สุดท้ายจะได้รับการช่วยเหลือรักษาหายหรือไม่
– Mr. Blonde หรือ Vic Vega (รับบทโดย Michael Madsen) เพื่อนเก่าแก่ของ Eddy ได้รับการช่วยเหลืออนุเคราะห์จาก Joe เสมือนลูกบุญธรรม เพิ่งพ้นโทษออกจากคุกยังติดทัณฑ์บน เลยมีความเคียดแค้นกับตำรวจอย่างยิ่ง เมื่อจับกุมมาได้คนหนึ่งก็ทำการเชือดรำวง กรีดหน้า ตัดหู ก่อนที่…
– Mr. Pink (รับบทโดย Steve Buscemi) เป็นคนพูดมากพร่ามไม่หยุด ถือมั่นในอุดมการณ์ แต่ก็ขี้ป๊อดปอดแหกมิได้มีพิษภัยอะไรกับใคร เมื่อตอนการปล้นเกิดปัญหา วิ่งหนีหน้าตั้งไม่สนอะไรใครทั้งนั้น ขอแค่ตนเองหนีพ้นเอาตัวรอด และภายหลังคือคนที่ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าต้องมีใครสักคนที่เป็น ‘rat’ หนูบ่อนไส้ศึก
– Mr. Brown (รับบทโดย Quentin Tarantino) นี่ก็จอมพร่ามพูดมาก หัวข้อสนทนาคือจะเปิดบริสุทธิ์ Madonna มีหน้าที่เป็นคนขับรถแต่ไม่ทันไปไหนได้ไกลถูกยิงเสียชีวิต
– Mr. Blue (รับบทโดย Edward Bunker) ผู้โชคร้ายที่ไม่มีบทใดๆ

ตัวละครของ Harvey Keitel มีชื่อจริงว่า Vic Vega ซึ่งนามสกุลตรงกับ Vince Vega ที่รับบทโดย John Travolta เรื่อง Pulp Fiction (1994), ผู้กำกับ Tarantino บอกว่าในจักรวาลของเขาทั้งสองเป็นพี่น้องกัน และเคยคิดแผนสร้าง Prequel ตั้งชื่อโปรเจคว่า ‘Double V Vega’ แต่นักแสดงนำทั้งสองแก่เกินแกงที่จะกลับมารับบทเดิม เลยล้มเลิกแนวคิดนี้ไป

Tim Roth ปฏิเสธที่จะทดสอบหน้ากล้องเพราะไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ แต่ก็ได้ชักชวนให้ Tarantino และ Keitel ร่วมวงก้งเหล้าจนเมามาย แล้วถึงยินยอมอ่านบทแสดงให้พวกเขาเห็น ซื้อใจทั้งสองได้โดยทันที

“He started to write the script out on beer mats. Then we went back to my flat, got more beer and proceeded to read the entire script… every part about 10 times because we were hammered by then. That’s how I got the job. Basically, he got me drunk.”

Michael Madsen มีปัญหากับการเข้าฉากทรมานอย่างยิ่ง เพราะเจ้าตัวปฏิเสธความรุนแรงโดยสิ้นเชิง ไม่ยอมแม้แต่จะทุบตีทำร้าย เลยเป็นเหตุให้ต้องใช้มุมกล้องเคลื่อนไหลหลบไปเรื่อยๆแบบนั้น มีขณะหนึ่งที่นายตำรวจพูดบอกลูกเมียรออยู่ที่บ้าน ตัวเขาภรรยาเพิ่งคลอดเป็นพ่อคนหมาดๆ แทบไปต่อไม่ถูก เห็นว่าบางฉบับของหนังจะมีเสียง Tarantino แทรกขึ้นมาพึมพัมเบาๆขึ้นว่า “Oh, no no!” ก่อนถูกยิงตาย

Madsen ขอที่จะไม่ซักซ้อมใดก่อนเข้าฉากนี้ รวมถึงท่าเต้นที่กลายเป็นตำนาน แต่เพราะในบทเขียนว่า ‘Mr Blonde maniacally dances around.’ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งคิดสดๆออกมาต้องทำอะไรสักอย่าง กลายมาเป็น …

“I remembered this crazy little dance that Jimmy Cagney did in a movie that I saw. It just popped into my head at the last second. That’s where it came from.”

ตอนแรก Tarantino เขียนให้ตนเองรับบท Mr. Pink เพื่อเป็นผู้สร้างสีสันให้กับหนัง แต่เมื่อการมาถึงของ Steve Buscemi ที่โดดเด่นกว่ามากแย่งซีนไปเต็มๆ เจ้าตัวเลยจำต้องเปลี่ยนมารับบท Mr. Brown แล้วทุ่มเวลาให้การกำกับหนังมากกว่า

แซว: Madonna ผู้เป็นหัวข้อสนทนาของ Mr. Brown มีความชื่นชอบหนังอย่างมาก ถึงขนาดส่งก็อปปี้อัลบัม Erotica พร้อมลายเซ็นต์ไปให้

“To Quentin. It’s not about dick, it’s about love. Madonna.”

Lawrence Tierney เป็นนักแสดงขาโหดใน Hollywood ขึ้นเชื่อเรื่องเอาแต่ใจ ทำงานด้วยยาก ก็พี่แกเล่นไม่ยอมท่องจำบท หงุดหงิดหัวเสียง่าย ขนาดผู้กำกับ Tarantino ยกย่องเลยว่า

“He was a complete lunatic. He just needed to be sedated,”

ทำงานได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็มีเรื่องชกต่อยผู้กำกับ ใครจะไปทนไหวไล่ออกโดยทันที ทีมงานทุกคนส่งเสียงโห่ร้องปรบมือเห็นพ้องด้วยอย่างยิ่ง (แต่ก็เหมือนจะถ่ายทำซีนของหมอนี่จะถ่ายทำเสร็จแล้วพอดีนะ)

เกร็ดไร้สาระ: ตัวละครพูดว่า ‘fuck’ ทั้งหมด 272 ครั้ง โดยเฉลี่ย 2.71 คำต่อนาที

ถ่ายภาพโดย Andrzej Sekuła สัญชาติ Polish เกิดที่ Wroclaw อพยพสู่ Los Angeles พบเจอกลายเป็นเพื่อนสนิทกับ Tarantino ร่วมงานกันอีกครั้ง Pulp Fiction (1994)

ศาสนาของ Tarantino คือภาพยนตร์ หลายๆไดเรคชั่นจึงมักสามารถอ้างอิงถึงsoy’เรื่องหนึ่งใดที่เขาชื่นชอบ รวบรวมเรียบเรียงผสมผสานใส่เข้ามา อาทิ
– รับประทานอาหารเช้าก่อนปล้นร้านเพชร จากหนังเรื่อง Q (1982)
– ฉากเดินเรียงหน้ากระดานสโลโมชั่น นำจาก Le Deuxième Souffle (1966) แต่เรื่องนั้นมีแค่ 4 คน (เรื่องนี้เบิ้ลเป็นแปด)
– สูทมาดเท่ห์ ก็แถวๆหนังของ Jean-Pierre Melville อาทิ Bob le Flambeur (1956), Le Doulos (1963), Le Samouraï (1967), Army of Shadows (1969)
ฯลฯ

เกร็ด: เพราะความจนของหนัง เครื่องแต่งกายนักแสดงส่วนใหญ่เอามาเองทั้งนั้น อาทิ เสื้อแจ็กเก็ตของ Penn, กางเกงยีนส์ของ Buscemi ฯ ขณะที่สูทดำได้มาฟรีๆจากนักออกแบบผู้เป็นแฟนตัวยงภาพยนตร์อาชญากรรม

ตัวจริงของ Mr. Orange ถือว่ามีสีสันที่สุดแล้ว ตอนแรกซักซ้อมบทบนหลังคาด่านฟ้า

“I’m supposed to memorize this?”

ช็อตถัดๆมาพื้นหลังเต็มไปด้วย Graffiti สีสันสวยสดใส สะท้อนถึงกลุ่มคนพวกที่ดีแต่ปาก/นักเลงคีย์บอร์ด เก่งแค่วาดรูปโชว์ฝีมือบนผนังกำแพง แต่เอาเข้าจริงก็ป๊อดปอดแหก (ช็อตนี้ไม่รู้เหมือนกันอ้างอิงจากหนังเรื่องไหน)

นับตั้งแต่ The Good, the Bad and the Ugly (1966) การดวลปืนสามเส้า โคตรจะได้รับความนิยมในอิตาลี, อเมริกา, เม็กซิโก ไม่รู้เมืองไทยช่วงหนังคาวบอยฮิตๆด้วยรึเปล่านะ

ฉากนี้มีความผิดพลาดมหันต์เกิดขึ้นถ้าใครช่างสังเกต จริงๆแล้วตัวละครของ Keitel ต้องเริ่มต้นจากยิง Tierney (หลังจากยิง Roth ที่นอนอยู่) แล้วค่อยหันมายิง Penn ที่กำลังช็อค สวนตายคู่ แต่ระเบิด Squib ของ Keitel ดันปะทุุขึ้นตั้งแต่จังหวะแรก ไม่ทันจะหันมายิงตัวเขาก็ตัดสินใจทรุดล้มลง ขณะที่ระเบิดของ Penn ก็มั่วๆตูมตามขึ้นเช่นกัน เลยช่างแม้งทรุดตาม (คือตัวละครของ Buscemi ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรด้วยเลยนะ บางคนอาจคิดว่าเขาเป็นคนยิง Penn แต่เปล่าเลยสักนิด)

ผู้กำกับ Tarantino จงใจเก็บช็อตนี้ไว้ให้เพื่อความฉงนสงสัยของผู้ชม

‘You know what? It’ll be the biggest controversy of the film. We’re leaving it.’ He was definitely right.”

ตัดต่อโดย Sally Menke ที่กลายเป็นขาประจำของ Tarantino จนเธอเสียชีวิตเมื่อปี 2010,

ไดเรคชั่นของการลำดับเรื่องราว หลังจากล้อมวงรับประทานอาหารเช้าเรียกน้ำย่อย ก็นำเสนอความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการโจรกรรม ใช้ Flashback เล่าเรื่องย้อนอดีตของแต่ละครเพื่อเปิดเผยเรื่องราว ไล่เรียงจาก Mr. Pink -> Mr. White -> Mr. Blonde -> Mr. Orange ซึ่งความยาวของ Sequence และระยะเวลาจะค่อยๆถอยไปไกลขึ้นเรื่อยๆด้วย

เหตุผลของการไม่นำเสนอองก์สองระหว่างโจรกรรม แม้หลักๆจะคือเรื่องของงบประมาณจำกัด แต่ Tarantio ก็ให้เหตุผลอื่นด้วยว่า เพื่อผู้ชมสามารถตระหนักว่าเรื่องราวของหนังคืออย่างอื่นที่ไม่ใช่การปล้น คล้ายๆกับละครเวทีที่กลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง Glengarry Glen Ross (1992) พูดถึงการปล้นแต่ไม่เคยนำเสนอ จะมองเป็น MacGuffin ก็ยังได้

สำหรับเพลงประกอบ เนื่องจากไม่ค่อยมีเงินเช่นกัน เลยเลือกบทเพลงมีชื่อทศวรรษ 70s เน้นเนื้อร้องสะท้อนเข้ากับเหตุการณ์ขณะนั้น ติดต่อขอลิขสิทธิ์เพื่อนำมาใช้ในหนัง ประกอบด้วย

Opening Title เลือกเพลง Little Green Bag (1969) แต่งโดย Jan Visser กับ Hans Bouwens แนว Pop Rock, ชื่อเดิมของเพลงนี้คือ Little Greenback ซึ่งสะท้อนถึงสีของธนบัตรดอลลาร์ ดังท่อนฮุคของเพลง ‘Lookin’ back on the track for a little greenback’ แต่ก็ไม่รู้เกิดความเข้าใจผิดอะไรเลยกลายมาเป็น Little Green Bag รวมถึงชื่ออัลบัมก็เปลี่ยนไปตามนี้ด้วย

เกร็ด: เพลงนี้ไต่อันดับสูงถึง 21 ชาร์ท Billboard Hot 100

Stuck in the Middle with You (1973) แต่งโดย Gerry Rafferty กับ Joe Egan ของวง Stealers Wheel ดังขึ้นขณะที่ Mr. Blonde กำลังทรมานนายตำรวจ แค่ชื่อเพลงก็ตรงความประสงค์ของตัวละครมากๆแล้วละ แถมออกลีลาเต้นตามด้วยนะ

เกร็ด: Tarantino มีเพลงสำรองของฉากนี้ (เผื่อติดต่อขอลิขสิทธิ์ไม่ได้) คือ The Ballroom Blitz (1973) ของวงร็อคสัญชาติอังกฤษ The Sweet แต่งโดย Nicky Chinn กับ Mike Chapman

มีนักจิตวิทยา Robert D. Hare ให้สัมภาษณ์ในสารคดีเรื่อง I am fishead (2011) ทำการวินิจฉัยความผิดปกติของ Mr. White และ Mr. Blonde
– Mr. White จัดว่าเป็น Sociopath เลือกเส้นทางอาชญากรเพราะมีความปฏิเสธต่อต้านสังคม แต่ตัวตนของเขายังคงมีคุณธรรมประจำใจหลงเหลือ หนักแน่นด้วยความจงรักภักดี รู้จักสำนึกบุญคุณ และปฏิเสธการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา
– Mr. Blonde ถือว่าคือ Psychopath ผู้มีปัญหาทางจิต ชื่นชอบความรุนแรง กลั่นแกล้งทรมาน ฆ่าคนตายเป็นว่าเล่น สมควรต้องจับมาบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวช

การที่หนังตัดแรงจูงใจ สาเหตุการโจรกรรม รวมถึงองก์สองขณะปล้นทิ้งไป เพื่อให้ผู้ชมครุ่นคิดทำความเข้าใจประเด็นอื่นที่เกี่ยวกับมิตรภาพ-ทรยศหักหลัง Sociopath-Psychopath ตำรวจ-โจร ความผิดพลาดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ควรปล่อยไป มิใช่จมปลักอยู่กับความระแวง คับข้องต้องการล้างแค้นเอาคืน นั่นจะทำให้มนุษย์สูญเสียสติ กลายเป็นคนบ้าคลั่ง เลวร้ายก็จิตหลุดไปเลย ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นคงเหลือแต่ความตายเท่านั้นคือหนทางออก

สิ่งที่หนังเรื่องนี้สะท้อนออกมาจาก Quentin Tarantino ไม่ใช่ความรุนแรงผิดปกติทางจิตใดๆที่อยู่ภายในตัวผู้กำกับ แต่คือสภาพสังคมอเมริกัน และอิทธิพลของภาพยนตร์ Hollywood เกือบๆศตวรรษที่ได้ทำการหลอมรวม เสี้ยมสั่งสอนดั่งครูบาอาจารย์ บาทหลวงเผยแพร่หลักศาสนา กลายเป็นชายคนนี้ผู้คลั่งไคล้ในเลือด ความรุนแรง บ้าคลั่งเสียสติแตก, ซึ่งเราสามารถมองได้ว่า Reservoir Dogs คือภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็น ‘อเมริกันชน’ ออกมาได้อย่างตรงเผงที่สุด

วรรณกรรม ภาพยนตร์ ซีรีย์ เกมส์ หรือแม้แต่งานศิลปะ สามารถมีส่วนสร้างเสริมปลูกฝังให้มนุษย์ชื่นชอบหลงใหลในความรุนแรง คนโตแล้วเสพมันด้วยสติปัญญาความบันเทิงมักบอกว่า หาได้ทำให้จิตใจของตนกลายเป็นเช่นนั้น แต่คำกล่าวอ้างลักษณะนี้ก็เหมือนคำถาม โทษประหารยังสมควรมีอยู่หรือเปล่า? พวกโลกสวยใสย่อมยินยอมรับไม่ได้ แต่คนที่ทำงานสายนี้ วันๆต้องพบเห็นอาชญากรรม ด้านมืดของมนุษย์ หรือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย เมื่อใดได้รับรู้เจอเข้ากับตนเองหรือใกล้ตัว จะมีสักเท่าไหร่สามารถยินยอมยกโทษให้อภัยผู้ต้องหากระทำความผิดได้กัน

ตำรวจ ถือเป็นตัวแทนของอเมริกันชน, การเฉือนหู สัญลักษณ์ของการรับฟัง, แต่ Tarantino ไม่ใช่ผู้กำกับที่สนใจประเด็นการเมือง ดูแล้วคงต้องการสะท้อนความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ออกมามากกว่า โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่มีอำนาจในครอบครัว/สังคม มักปล่อยปละละเลยไม่สนใจลูกหลาน เด็กๆเติบโตขึ้นด้วยการสะสมความรุนแรงคับคลั่งไว้ภายใน ก็เหมือนตัวเขานะแหละ พ่อเลี้ยงพาไปดูหนังอย่าง The Wild Bunch (1969), Carnal Knowledge (1971), Deliverance (1972) ไม่ให้หลงใหลคลั่งไคล้ในเลือด ฆ่าคน ยิงกันตาย ก็ไม่รู้ยังไงแล้ว

ส่วนตัวไม่ชอบความบ้าคลั่งรุนแรง แต่เดี๋ยวนี้ก็มิได้มีอคติกันมันสักเท่าไหร่ เพราะเริ่มเข้าใจว่าสำหรับบางคน การสร้างภาพยนตร์/งานศิลปะลักษณะนั้น สามารถบำบัดผ่อนคลาย ระบายความอัดอั้นทุกข์ทรมานภายในของตนเองออกมาได้ แต่สำหรับ Reservoir Dogs ผมไม่คิดว่าเป็นการสะท้อนอะไรใดๆหรือจิตใจของ Tarantino แม้แต่น้อย หมอนี่มัน Greek ภาพยนตร์ คงจะแค่สนองตัณหา ความชื่นชอบ เจ๋งเป้งแจ่มหมา ออกมาเสียมากกว่า

แม้นักวิจารณ์/นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ จะมองว่า Pulp Fiction (1994) คือจุดเริ่มต้นของ Post-Modern Cinema การถวิลหาความคลาสสิกในยุคสมัย Modern แต่ไม่ใช่การหวนคืนย้อนกลับ ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า กลายเป็นลูกผสมระหว่างทั้งสองสิ่ง แต่ส่วนตัวมองว่าควรต้องเริ่มนับจาก Reservoir Dogs (1992) เพราะทุกอย่างในหนังเรื่องนี้คือ ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ คลุกเคล้าจนได้รสสัมผัสแตกต่าง หลอกขายคนรุ่นปัจจุบันคิดว่าเป็นของใหม่ แต่คนรุ่นก่อนเก่าจะรับรู้ได้โดยทันที

เกร็ด: Modern Cinema เริ่มต้นนับที่ Breathless (1960) และยุคสมัย French New Wave

สำหรับชื่อหนังก็ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ แค่ว่าครั้งหนึ่งตอนที่ Tarantino ทำงานร้านเช่าวีดิโอ แนะนำลูกค้าถึงหนังเรื่อง Au Revoir les Enfants (1987) ของผู้กำกับ Louis Malle แต่ตัวเขาออกเสียงฝรั่งเศสไม่ค่อยชัดจึงมักเป็น ‘The Reservoir Film’ มีลูกค้ารายหนึ่งทำหน้าตาไม่พึงพอใจสวนตอบไปว่า

“I don’t want to see no reservoir dogs!”

ถ้าแปลตรงๆของชื่อหนัง คืออ่างเก็บน้ำ/สถานที่สะสม + สุนัข, ผมเรียกว่า หมาเต็มปาก, ขณะที่ชื่อไทย ขบวนปล้นไม่ถามชื่อ

ด้วยทุนสร้าง $1.5 ล้านเหรียญ ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Sundance เหมาซื้อไปโดย Miramax Films ของ Harvey Weinstein wไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในอเมริกา ทำเงินได้ $2.83 ล้านเหรียญ แต่พอส่งออกฉายประเทศอังกฤษ ทำเงินถล่มทลายเกือบๆ $5 ล้านเหรียญ เป็นที่คลั่งไคล้กลายเป็นอิทธิพลอย่างมาก

ก็ขนาดว่า Michael Fassbender เคยดัดแปลงหนังเรื่องนี้กลายเป็นละครเวที กำกับและแสดงเป็น Mr. Pink

“I was 18 and I played Mr Pink and I directed it as well. It was pure naivete and enthusiasm but a good lesson to learn by doing. I basically didn’t know what I was getting myself into and there were plenty of hitches”.

ตอนที่ Fassbender ร่วมงานกับ Tarantino เรื่อง Inglourious Basterds (2009) เจ้าตัวมีปฏิกิริยาว่า

“Once nobody is making any money off of my shit”.

ถึงโดยรวมผมจะไม่ชอบความรุนแรงของหนังสักเท่าไหร่ แต่ก็อดไม่ได้ต้องชื่นชมวิธีการเล่าเรื่องและไดเรคชั่นของ Quentin Tarantino มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังดูไม่เก่าเลยเมื่อผ่านมา 25+ กว่าปีแล้ว คงแช่แข็งไว้เหนือกาลเวลาแน่ๆ

แนะนำคอหนังแนวปล้น-ฆ่า เลือดสาด ซาดิสต์ หลงใหลในความรุนแรง เก็บกดอัดอั้นทุกข์ทรมานในชีวิต, แฟนๆผู้กำกับ Quentin Tarantino และนักแสดง Harvey Keitel, Tim Roth, Steve Buscemi ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับเลือด ความรุนแรง การตายไร้สาระ

TAGLINE | “รุนแรง ขยะแขยง เสียสติแตกไปกับ Reservoir Dogs ของผู้กำกับ Quentin Tarantino แจ้งเกิดตำนานที่ไม่เหมาะผู้ชมทุกเพศวัย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: