Rio Bravo (1959) : Howard Hawks ♥♥♥♡
เพื่อตอบโต้กับ High Noon (1952) ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นหนังคอมมิวนิสต์ อเมริกันชนไม่วันทำเช่นนั้นแน่ ผู้กำกับ Howard Hawks และ John Wayne จึงร่วมกันสร้างภาพยนตร์ Masterpiece เรื่องนี้ในลักษณะ Classical Western ขายความอเมริกันจ๋า ที่แม้นายอำเภอมีเพียงลูกน้องขี้เมา ขาพิการ และยังเด็ก ก็สามารถต่อสู้เอาชนะผู้ร้ายหลายสิบได้ไม่ยาก
นี่เป็นภาพยนตร์ที่ผู้ชม นักวิจารณ์ ‘อเมริกัน’ ชื่นชอบคลั่งไคล้กันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนังที่ประมวลผลสรุปแนว Western ตั้งแต่ยุคแรกมาจนถึงปัจจุบันขณะนั้นได้อย่างคลาสสิกสมบูรณ์แบบ คล้ายๆกับ Singin’ in the Rain (1952) ผลพลอยได้ Masterpiece เรื่องเยี่ยมที่สุดจากยุคสมัย Musical
แต่จะบอกว่าส่วนตัวกลับไม่ชอบภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ ทีแรกสงสัยเพราะตัวเองคลั่งไคล้ประทับใจ High Noon มากกว่าหรือเปล่า? แต่มาครุ่นคิดโดยละเอียดก็พบว่า Rio Bravo มีความเป็น ‘อเมริกัน’ เกินไปจนรู้สึกเลี่ยน ในการอวดอ้างเชิดชูตนเอง หยิ่งผยองว่าตนเองเก่งกาจยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องคอยง้อตามหลังผู้อื่นใด
นี่ทำให้ผมระลึกขึ้นมาได้ว่า Western ไม่ใช่แนวภาพยนตร์แค่คาวบอยสวมหมวกดวลปืน คนเถื่อนในผืนแผ่นดินทะเลทรายกว้างใหญ่ไพศาล แต่คือตัวแทนบรรพบุรุษ วิถีค่านิยม และประวัติศาสตร์ชนชาติอเมริกา (เหมือนกับซามูไรที่เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น)
คนที่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เชื่อว่าส่วนใหญ่คงไม่ได้ครุ่นคิดถึงประเด็นนี้กันหรอก มักประทับใจการแสดงของ John Wayne, Dean Martin, ความหล่อเหลาของ Ricky Nelson, น่ารักในสไตล์ Hawksian ของ Angie Dickinson, หรือแม้แต่ไดเรคชั่นการเล่าเรื่อง Slice-Of-Life สอดแทรกโรแมนติก ดราม่า หักเหลี่ยมเฉือนคม แอ๊คชั่นเล็กๆ เพลงประกอบเพราะๆ และตอนจบธรรมมะชนะอธรรม
แซว: นี่แปลว่าผมคงเป็นแฟนของผู้กำกับ Quentin Tarantino ไม่ได้สินะ เพราะเจ้าตัวเคยป่าวประกาศว่า ‘ถ้าฉันกำลังมีความสัมพันธ์กับใครเมื่อไหร่ จะพาไปดู Rio Bravo ถ้าชื่นชอบค่อยคบต่อ ถ้าไม่ก็จะเลิกรากันทันที’
Howard Winchester Hawks (1896 – 1977) ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์และนักเขียนบทสัญชาติอเมริกัน ในยุค Classic Hollywood นักวิจารณ์/ผู้กำกับชื่อดัง Jean-Luc Godard ยกย่องว่า เป็นศิลปินแห่งอเมริกายิ่งใหญ่ที่สุด ‘the greatest American artist.’
Hawks เป็นผู้กำกับที่ทำหนังหลากหลายมาก ทั้งแนว ตลก, ดราม่า, คาวบอย Western, Gangster, ไซไฟ และหนังนัวร์ ผลงานดังๆก็มีเยอะมาก อาทิ Scarface (1932), Bringing Up Baby (1938), His Girl Friday (1940), The Big Sleep (1946), Red River (1948), Rio Bravo (1959) ฯ สไตล์ของเขา ตัวละครมักพูดพร่าม ท่าทางลีลาท่าเยอะ น้ำไหลไฟดับ ชักแม่น้ำทั้งห้า โดยเฉพาะผู้หญิงมักมีความแก่นแก้ว ห้าวหาญ ถึงขนาดมีคำเรียก ‘Hawksian Woman’
Orson Welles เคยให้สัมภาษณ์ยกย่องว่า ‘Hawks คือผู้กำกับร้อยแก้ว ส่วน Ford คือผู้กำกับร้อยกรอง’
“Hawks is great prose; Ford is poetry.”
– Orson Welles
น่าเสียดายที่ทั้งชีวิตของ Hawks ได้เข้าชิง Oscar แค่ครั้งเดียวจาก Sergeant York (1942) นี่ทำให้ Academy ต้องมอบ Honorary Award ให้ปี 1975
หลังความล้มเหลวย่อยยับเยินของ Land of the Pharaohs (1955) ภาพยนตร์ Epic ที่ดูยังไงก็ไม่เข้ากับสไตล์ของ Howard Hawks ก็หลงคิดไปว่าตัวเองคงปรับตัวเข้ากับ Hollywood ยุคใหม่ไม่ได้ ประกอบกับอายุเข้าเลข 6 จึงอยากพักผ่อนสักระยะ หายหน้าหายตาไปถึง 4 ปีเต็ม
ระหว่างนั้นก็มีโปรเจคหนึ่งร่วมกับ John Wayne ที่อยากทำสักพัก นั่นคือการตอบโต้ภาพยนตร์เรื่อง High Noon (1952) ของผู้กำกับ Fred Zinnemann นำแสดงโดย Gary Cooper
Wayne เรียกหนังเรื่องนั้นว่า ‘un-American’
“High Noon is the most un-American thing I’ve ever seen in my whole life”
ขณะที่ผู้กำกับ Hawks แสดงความเห็นว่า
“I didn’t think a good town marshal was going to run around town like a chicken with his head cut off asking everyone to help. And who saves him? His Quaker wife. That isn’t my idea of a good Western.”
Hawks เป็นคนเขียนเรื่องสั้น Rio Bravo ขึ้นด้วยตนเอง โดยใช้นามปากกาของลูกสาว B. H. McCampbell (Barbara Hawks McCampbell) [เพื่อจะได้ค่าลิขสิทธิ์เพิ่มเข้ามา] ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Jules Furthman กับ Leigh Brackett (ต่างเป็น Writer Stock ของผู้กำกับ Hawks)
“I had fun when we wrote Rio Bravo. My daughter was getting interested, and she had one good idea about throwing dynamite. I said, ‘Look, I’ll write the story and give you a credit and it’ll save me money on income tax and you’ll get enough to buy a new house.’”
เรื่องราวของ John T. Chance (รับบทโดย John Wayne) นายอำเภอเมือง Rio Bravo, Texas ที่วันหนึ่งจับกุมน้องชายของผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น ข้อหาฆ่าคนตาย จึงถูกหมายหัวจากพี่ชายมหาเศรษฐี ว่าจ้างนักล่าเงินรางวัลมาได้หลายสิบคน แต่ใช่ว่าฝั่งตำรวจจะไม่มีผู้ช่วย ประกอบด้วย ชายติดเหล้า Dude (รับบทโดย Dean Martin), ชายขาพิการ Stumpy (รับบทโดย Walter Brennan) และเด็กหนุ่มหน้าใสไฟแรง Colorado/Ryan (รับบทโดย Ricky Nelson) จะมีโอกาสหรือไม่ที่พวกเขาสามารถเอาชนะศึกครานี้
John Wayne ชื่อเดิม Marion Mitchell Morrison (1907 – 1979) นักแสดงภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา ชอบให้เพื่อนๆเรียกว่า Duke เกิดที่ Winterset, Iowa พ่อเป็นทหารผ่านศึก American Civil War ส่วนแม่มีเชื้อสาย Scottish, Irish โตขึ้นเคยสมัครเป็นทหารเรือแต่สอบไม่ผ่าน ได้ทุนเข้าเรียน University of Southern California สาขากฎหมาย จากการเป็นนักกีฬาทีมฟุตบอล แต่ได้รับบาดเจ็บจนต้องถอนตัวหมดสิทธิ์ได้ทุนจำต้องออกกลางคัน แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากโค้ช ทำให้ได้รู้จักกับนักแสดง Tom Mix และผู้กำกับ John Ford เข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มงานจากเป็น Prop Boy, Stuntman, ตัวประกอบ ฯ มีชื่อขึ้นเครดิตเรื่องแรก Words and Music (1929), ผู้กำกับ Raoul Walsh เห็นแววเลยจับมาแสดงนำใน The Big Trail (1930) ใช้ทุนสร้างมหาศาลแต่ทำเงินไม่ได้ Flop ดับสนิท ทำให้ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาต้องหันไปเล่นหนังเกรด B ส่วนใหญ่เป็น Cowboy Western หลายสิบเรื่อง จนกระทั่ง Ford จับมาแสดงใน Stagecoach (1939) กลายเป็น Superstar โดยพลัน
Wayne ร่วมงานกับ Hawks ทั้งหมด 5 ครั้ง ประกอบด้วย Red River (1948), Rio Bravo (1959), Hatari! (1962), El Dorado (1966) และ Rio Lobo (1970)
รับบทนายอำเภอ John T. Chance ที่เต็มเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ยึดมั่นในคุณธรรมประจำใจไม่แปรเปลี่ยน แต่เพราะให้เวลาทุ่มเทมากเกินไปกับการงาน ทำให้ยังเป็นโสดไร้คู่ครอง ซึ่งสิ่งที่เขาต้องต่อสู้ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ร้าย แต่ยังคือมารยาหญิง ดูแล้วคงสามารถเอาชนะได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ถึงจะเป็นภาพลักษณ์ การแสดงที่ผู้ชมคุ้นเคยติดตากับ John Wayne มาเป็นอย่างดี แต่ด้วยไดเรคชั่นของผู้กำกับ Hawks ที่ตัวละครต้องใช้พลังงานอย่างมากในการขับเคลื่อนเรื่องราวไปเรื่อยๆ Wayne ก็สามารถปลดปล่อย ถ่ายทอดคำพูด-การแสดง อันเต็มเปี่ยมด้วยพละกำลังวังชา มีชีวิตชีวาที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้
คือปกติการแสดงของ Wayne จะเรื่อยๆเปื่อยๆ ราวกับคนเบื่อหน่าย กร้านโลก “I don’t act, I react.” แต่เพราะความล้มเหลวนับตั้งแต่ The Searcher (1956) หลายผลงานถัดมาก็ไม่ประสบความสำเร็จ เงินทองคงยังไม่หมดไปหรอก แต่อายุกับชื่อเสียงคงเริ่มโรยรา เลยทุ่มเทพละกำลังให้กับการแสดงอีกสักครั้ง ใส่จิตวิญญาณความตั้งใจลงไปอย่างเต็มเปี่ยม ทำให้โดยรวมแล้วนี่คือหนังที่ Wayne ดูมีพละกำลังวังชา แม้จะอิดๆออดๆในเรื่องรักโรแมนติก (ตัวเองอายุ 51 จูบสาวอายุ 26 ก็ต้องเกร็งๆกันบ้าง) หุ่นเริ่มท้วมๆ แต่ภาพลักษณ์นี้ยังคงขายได้ดีอยู่
เกร็ด: หมวกที่ The Duke ใส่ในหนังเรื่องนี้ คือครั้งสุดท้ายนับตั้งแต่ Stagecoach (1939) เพราะสภาพของมันทรุดโทรมเต็มที่
Dean Martin ชื่อเดิม Dino Paul Crocetti (1917 – 1995) นักร้อง นักแสดง ตลกสัญชาติอเมริกา เจ้าของฉายา ‘King of Cool’ เกิดที่ Steubenville, Ohio ในครอบครัวอิตาเลี่ยน ตัวเขาพูดอังกฤษไม่ได้จนเข้าโรงเรียนตอนอายุ 5 ขวบ ลาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 10 ขวบ เพราะคิดว่าตัวเองเก่งกว่าครู พออายุ 15 กลายเป็นนักมวย Prizefighting ฉายา Kid Crochet พักอาศัยอยู่อพาร์ทเมนท์เดียวกับ Sonny King พอเลิกต่อยมวยทำงานใน Casino, เสียงดีกลายเป็นนักร้อง จับคู่กับ Jerry Lewis ออกรายการโทรทัศน์, จัดรายการวิทยุ, ภาพยนตร์ฉายเดี่ยวเรื่องแรก The Thousand Bedrooms (1957), โด่งดังกับ Rio Bravo (1959), Who Was That Lady? (1960), Ocean’s 11 (1960), ไม่ค่อยก้าวหน้าการแสดงภาพยนตร์นัก เลยผันตัวมาเล่น Comedy ซีรีย์ The Dean Martin Show (1965 – 1974) ทั้งหมด 9 ซีซัน ความยาว 264 ตอน
รับบท Dude/Borrachón อดีตนายอำเภอเมือง Rio Bravo, Texas ที่วันหนึ่งตกหลุมรักหญิงสาว ออกเดินทางไปกับเธอถึง Mexico แล้วถูกหักอก กินเหล้าเมามายจนติดเลิกไม่ได้ หวนกลับมาสภาพเหมือนขอทาน ได้รับโอกาสจาก John T. Chance ให้หวนกลับมาเป็น Ranger แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อไหร่เกิดอาการลงแดง มือไม้สั่นจับปืนไม่ได้แล้วจะต่อสู้เอาชนะศัตรูผู้ร้ายเช่นไร
ภายนอกดูเหมือนตัวเองยังช่วยไม่ได้ แต่ Dude ยามมีสติ ความคิดอ่านเฉลียวฉลาดพึ่งพาได้เสมอ แถมชอบทำอะไรนอกกรอบ ไม่มีใครคาดคิดถึงได้แน่ ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความบ้าบิ่นไม่กลัวตาย คงเพราะชีวิตไม่มีอะไรต้องเสียอีกแล้วกระมัง
เดิมนั้นบทบาทนี้ Hawks มีความสนใจ Montgomery Clift ที่เคยร่วมงานกันตอน Red River (1948) แถมประกบ John Wayne ด้วย แต่เพราะเจ้าตัวเป็น Democrat ไม่ค่อยชอบทัศนะการเมืองของทั้งคู่สักเท่าไหร่เลยปฏิเสธร่วมงานกันอีก แต่ก็ได้แนะนำ Dean Martin ที่เคยร่วมงานกันเรื่อง The Young Lions (1958) ให้มารับบทแทน
ในวันที่ Hawks นัดพบเจอ Martin ครั้งแรกตอนสายๆ หลังเรียนรู้ว่าเจ้าตัวต้องบินตรงมาจาก Las Vagas ตอนเที่ยงคืนหลังการแสดงเสร็จ รู้สึกประทับใจในความทุ่มเทต้องนี้มากๆ เขาก็ไม่ขอสัมภาษณ์อะไร ยื่นชุดให้ลองใส่แล้วบอกได้รับบทโดยทันที
การแสดงของ Martin น่าจะต้องมอบรางวัลอะไรสักอย่างให้เลยนะ มีความสมจริงเหมือนคนขี้เมา Hangover ลงแดงมากๆ เห็นว่าผู้ช่วยให้คำแนะนำปรึกษาไม่ใช่ใครอื่นไกล เพื่อนสนิท Marlon Brando ที่เคยได้ร่วมงานกันตอนเรื่อง The Young Lions (1958) วินาทีที่ตัวละครมีความตั้งใจจริงจะกลับตัวกลับใจ โดยไม่รู้ตัวมือของเขาหายสั่น ฉากต่อไปเล่นกีตาร์ได้เสียอย่างนั้น
ผมค่อนข้างคาดไม่ถึงกับการกระทำในฉากไคลน์แม็กซ์ของตัวละครนี้ หลังจากแลกเปลี่ยนตัวประกันคงเป็นการดวลปืนทั่วไป แต่ที่ไหนได้มีการหักมุมเล็กๆ ทำให้ฝ่ายพระเอกกลับกลายมาเป็นได้เปรียบเสียอย่างนั้น นี่ต้องชมทั้งคนเขียนบทและความนิ่งของ Martin แสดงออกฉากนี้ได้ดูหล่อขึ้นมาเลย
Eric Hilliard Nelson (1940 – 1985) นักร้อง Rock&Roll นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Teaneck, New Jersey, พ่อแม่เป็นดูโอ้นักร้องนักแสดงเช่นกัน ตั้งแต่อายุ 8 ขวบร่วมกับครอบครัวออกรายการ Reality เรื่อง The Adventures of Ozzie and Harriet (1952 – 1966) เกาะติดชีวิตครอบครัวของพวกเขา พออายุ 16 ออกซิงเกิ้ลแรก ค่อยๆมีชื่อเสียงขึ้นจนกระทั่งเพลง Poor Little Fool ขึ้นอันดับ 1 Billboard Chart กลายเป็นตำนานโดยทันที สำหรับภาพยนตร์ได้รับเลือกให้เล่น Rio Bravo (1959) เพราะความหล่อเหลาสาวๆกรี๊ด แทนที่ Elvis Presley เรื่องมากค่าตัวสูง
รับบท Colorado/Ryan เด็กหนุ่มพกปืนสองกระบอก เฉลียวฉลาด มาดเท่ห์ ทะเยอทะยาน ปากอ้างว่าชักปืนไว ยิงแม่น (น่าจะจริงอยู่) ฟังดูโอ้อวดหยิ่งยโส แต่กลับเจียมตนสนแค่เรื่องของตนเอง ยินยอมเข้าร่วมเป็น Ranger เหตุผลเพราะต้องการเห็นผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในระยะใกล้ๆตัว
Nelson มันหล่อเท่ห์กระชากใจสาวจริงๆนะ บทพูดที่ใส่มาแต่ละครั้งสะท้อนความเฉลียวฉลาดของตัวละคร ยิ่งทำให้มีความเร้าใจน่าค้นหา แม้เหตุผลการเข้าร่วม Ranger จะไม่ได้มีคุณธรรมอะไรแฝงอยู่ แต่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ฝั่งพระเอก ชนะได้แน่ไม่ยากอะไร
Angie Dickinson ชื่อเดิม Angeline Brown (เกิดปี 1931) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Kulm, North Dakota, ครอบครัวเชื้อสาย German โตขึ้นตั้งใจเป็นนักธุรกิจ แต่พอประกวด Beauty Pagan เมื่อปี 1953 ได้รางวัลที่ 2 จึงหันเหความสนใจสู่การแสดง เริ่มจากละครโทรทัศน์ ตามด้วยภาพยนตร์ แจ้งเกิดกับ Rio Bravo (1959), Ocean’s 11 (1960), The Killers (1964), The Chase (1966) ฯ กลายเป็นตำนานกับซีรีย์ Police Woman (1974 – 1978)
รับบท Feathers หญิงสาวที่ล่องลอยมากับรถ Stagecoach บังเอิญพบเจอถูกชะตากับ John T. Chance พยายามอ่อยเหยื่ออย่างสุดความสามารถ แต่เขาจะรู้ตัวหรือไม่ว่าการกระทำของเธอทั้งหมดต้องการสื่อถึงอะไร
แม้จะมิได้สง่างามเป็นประกายเทียบเท่า Jean Arthur หรือเสน่ห์ยั่วเย้ายวนแบบ Lauren Bacall แต่ถือว่า Dickinson ปรากฎความเป็นอิสตรีเพศน่าดึงดูดกว่า ห้าวหาญเหมือนผู้ชาย และมีความเซ็กซี่เล็กๆ เรียวขาถอดแบบมาจาก Marlene Dietrich เข้าคอลเลคชั่น Hawksian ได้อย่างไม่เป็นสองรองใคร
สังเกตว่าชื่อตัวละคร Chance, Dude, Colorado, Feathers, Stumpy ฯ ต่างสะท้อนเอกลักษณ์เด่นของตัวละครนั้นๆออกมา (ออกไปทางด้านลบเสียมากกว่า) ก็ไม่รู้มีใครเอาไปตั้งเป็นชื่อคนจริงๆหรือเปล่านะ
ถ่ายภาพโดย Russell Harlan ตากล้องสัญชาติอเมริกายอดฝีมือ เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 6 ครั้ง แต่ไม่เคยคว้าสักรางวัล ผลงานเด่นอาทิ Red River (1948), Lust for Life (1956), Rio Bravo (1959), To Kill a Mockingbird (1962), Hatari! (1962), The Great Race (1965) ฯ
สถานที่ถ่ายทำ Old Tucson Studios, Arizona เดิมของเป็น Columbia Pictures สร้างขึ้นเพื่อเป็นฉากหลังหนังเรื่อง Arizona (1940) เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางกว่า 1,200 ตารางเมตร (ประมาณ 750,000 ไร่) ได้รับความนิยมสูงมากๆ จนถึงปัจจบันมีภาพยนตร์/โทรทัศน์ กว่าร้อยเรื่องเดินทางมาถ่ายทำที่นี่ และปัจจุบันยังเปิดเป็น Theme Park รองรับนักท่องเทียวได้เป็นหมื่นๆคนต่อวัน
หนังของ Howard Hawks ขึ้นชื่อเรื่องตัวละครเอาแต่พูดคุยสนทนาปากเปียกปากแฉะ ด้วยเหตุนี้ Prologue ประมาณ 4-5 นาทีแรกของหนัง พี่แกก็เลยประชดด้วยการงดใช้เสียงสนทนาชั่วคราว (แต่เป็นเสียง Sound Effect ที่เกิดจาก Soundtrack โดดเด่นขึ้นมา) เป็นการบอกว่าฉันก็ทำหนังเงียบเป็นนะ (จริงๆ Hawks เข้าวงการมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ แต่พอถึงยุคหนังพูดก็เลยจ้อไม่เคยหยุด)
งานภาพของหนัง มักจะมีระดับ Medium Shot (ครึ่งตัว) ไม่ก็ Full Shot (เห็นศีรษะจรดเท้า) น้อยนักจะมีภาพระยะไกล Long Shot หรือใกล้จนเห็นสีหน้า Close-Up
ก็มีคนนั่งนับช็อต Close-Up ของหนัง 4-5 ครั้งเท่านั้น ประกอบด้วย
– ขณะ Joe Burdette หยิบปืนขึ้นยิง
– มือของ Dude พยายามที่จะม้วนบุหรี่
– Dude รินเหล้าในแก้วกลับใส่ขวด
– เคลื่อนเข้าเห็นแก้วเบียร์ที่มีเลือดหยด
– เชือกรองเท้าของ Chance ผูกติดกับเก้าอี้
สิ่งที่โดดเด่นของการถ่ายภาพ คือไดเรคชั่นของผู้กำกับ Hawks ที่มีความเป็นธรรมชาติ ลื่นไหล ต่อเนื่อง จัดวางให้นักแสดงหลักต้องอยู่กึ่งกลางภาพเท่านั้น (ถ้ามีหลายคนสนทนาในช็อตเดียว ก็มักจะหาตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างเสมอ) ทำให้เวลาเดินไปมา หมุนตัว หรือเคลื่อนไหวทำอะไร กล้องมักจะหมุนแพนนิ่ง ไม่ก็ติดตาม Tracking ตัวละครอยู่เสมอ
ตัดต่อโดย Folmar Blangsted (1904 – 1982) นักตัดต่อสัญชาติ Danish เคยเป็นผู้กำกับแต่เหมือนจะไปไม่รุ่ง ตัดต่อหนังดังอย่าง Flamingo Road (1949), A Star is Born (1954), Rio Bravo (1959), Camelot (1967) ฯ
ดำเนินเรื่องในมุมมองของ John T. Chance นำเสนอรูปแบบที่เรียกว่า Slice-Of-Life วิถีชีวิตความเป็นไปในรอบ 7 วันของนายอำเภอ Rio Bravo ที่ต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อมิให้นักโทษคดีฆาตกรรมถูกชิงตัวหนีออกจากคุกได้ ขณะเดียวกันก็ต้องคอยแก้ปัญหาความวุ่นวายในชีวิตอย่าง จะทำยังดีกับหญิงสาวที่พยายามอ่อยเหยื่อกับเขาเหลือเกิน??
ภาษาของการตัดต่อมีความเป็นสากลยิ่ง เรื่องราวจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ในระหว่าง Sequence นั้นๆการตัดต่อจะเป็นแบบปกติทั่วไป เลือกมุมกล้องที่มีความต่อเนื่องจากช็อตก่อน แต่เมื่อจบฉากเปลี่ยนซีนจะใช้การ Cross-Cutting เพื่อสร้างความลื่นไหลให้กับเรื่องราว
ผมเพิ่งมาสังเกตพบกับหนังเรื่องนี้ว่า ทุก Sequence จะไม่มีช็อตตั้งต้น (Establish Shot) คือพอจบฉากหนึ่งขึ้นซีนถัดไป ก็จะเข้าสู่เรื่องราวโดยทันทีไม่มีการตั้งท่ายื้อยักรอคอยอะไร นี่คงคือเหตุผลสำคัญให้หนังของ Hawks มีความต่อเนื่องลื่นไหลอย่างมาก ตัวละครพูดจบจากฉากหนึ่ง พอ Cross-Cutting เดินเข้าถึงฉากต่อไปก็เริ่มคุยกันต่อเลย ไม่ให้เสียเวลา
เพลงประกอบโดย Dimitri Tiomkin คีตกวีสัญชาติรัสเซีย อีกหนึ่งตำนานของ Hollywood เข้าชิง Oscar 22 ครั้ง คว้ามา 4 รางวัล จาก High Noon (1952) 2 รางวัล [Best Original Score, Best Original Song], The High and the Mighty (1954), The Old Man and the Sea (1958)
ถือเป็นความเก๋งเจ้ง แน่จริงๆของ Hawks เลือกใช้บริการ Tiomkin ที่ทำเพลงประกอบให้ High Noon (1952) แต่ส่วนใหญ่ของหนังจะไม่ใช่ Soundtrack ยาวๆประกอบสร้างบรรยากาศ แต่มีลักษณะเติมเต็มจังหวะคล้ายกับ Sound Effect เสียมากกว่า ส่วนที่เหลือจะคือบทเพลงคำร้อง
Rio Bravo แต่งคำร้องโดย Paul Francis Webster ขับร้องโดย Dean Martin ร่วมกับ Nelson Riddle Orchestra, บทเพลงนี้นำทำนองจาก Red River แล้วมาเปลี่ยนคำร้อง/นักร้องใหม่ ให้สัมผัสที่แตกต่างออกไปพอสมควร (Red River ใช้เป็นเพลงเปิด Opening Credit ขณะที่ Rio Bravo คือเพลงปิด Ending)
El Degüello (1836) [The Cutthroat Song] เป็นบทเพลงที่ทหาร Mexican ใช้ส่งสัญญาณสื่อสารกับ General Antonio Lopez de Santa Anna และพรรคพวกของตนเองที่ติดอยู่ในคุกอเมริกันที่ Alamo เพื่อบอกว่าความช่วยเหลือกำลังมาถึง เตรียมตัวให้พร้อม,
เกร็ด: ผู้กำกับ Sergio Leone ต้องการให้ Ennio Morricone เขียนเพลงประกอบ A Fistful of Dollars (1964) ให้มีทำนองคล้ายๆบทเพลงนี้
My Rifle, My Pony, and Me แต่งคำร้องโดย Paul Francis Webster ขับร้องโดย Dean Martin กับ Ricky Nelson และ Walter Brennan ผิวปากตาม
Cindy Cindy บทเพลงพื้นบ้าน American Folk Song ไม่รู้ใครแต่ง แต่คาดการณ์ว่าน่าจะมาจาก North Carolina ช่วงต้นทศวรรษ 20, ฉบับในหนังขับร้องโดย Ricky Nelson คลอรัสตามโดย Walter Brennan, Dean Martin
เกร็ด: My Rifle, My Pony, and Me ติดอันดับ 42 ของ The Top 100 Western Songs จัดอันดับโดย Western Writers of America
หนังแนว Classical Western แทบทุกเรื่องในสมัยนั้น ต้องมีบทเพลงแนว Country เพราะๆ สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ฟังสบายติดหูแบบนี้ประกอบด้วยเสมอ
เรื่องราวของ Rio Bravo มีใจความคือการผดุงคุณธรรมของเหล่าผู้พิทักษ์สันติราษฎ์ ในทัศนะของผู้กำกับ Howard Hawks และ John Wayne นี่ไม่ใช่อาชีพที่ต้องแสวงหาผู้ช่วยร่วมเสี่ยงตาย เท่าที่มีอยู่ ลูกน้องขี้เมา ขาพิการ และยังเด็ก ก็สามารถต่อสู้เอาชนะผู้ร้ายหลายสิบได้ไม่ยาก
“If they’re really good I’ll take them. If not, I’ll just have to take care of them.”
ประโยคที่นายอำเภอ John T. Chance พูดขึ้นนี้ ถือว่าเป็นการสะท้อนค่านิยมของชาวอเมริกันทั้งประเทศ ‘อะไรที่เห็นเป็นประโยชน์ก็จะนำมาใช้ อะไรที่ไม่ก็ช่างหัวมันไม่แยแส’ ทั้งยังเป็นการตอบโต้แนวคิดของภาพยนตร์เรื่อง High Noon มันมีความจำเป็นอะไรที่ต้องสูญเสียเวลา กับสิ่งรับรู้อยู่แล้วว่าไม่มีวันได้มา
แต่ว่ากันตามตรง เรื่องราวของ Rio Bravo ไม่ได้เกี่ยวข้องออกไปในเชิงการเมืองเสียเท่าไหร่ (ยกเว้นตัวละครที่เห็นชัดเลยว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยม), กลุ่มพระเอกเป็นผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่ คุณธรรมประจำใจมั่นคง ปฏิบัติงานซื่อตรงตามหน้าที่ ขณะที่ศัตรูเป็นผู้มีความชั่วร้ายคอรัปชั่น ใช้เงินเป็นอำนาจแพร่ขยายอิทธิพล สนองความต้องการส่วนตน ไม่สนถูกผิดศีลธรรม
นี่มันเป็นเรื่องของสามัญจิตสำนึกทั่วไปของมนุษย์ การต่อสู้ระหว่าง ความดีvsความชั่ว ธรรมะvsอธรรม หาได้เกี่ยวข้องการจัดแบ่งพรรคพวกซ้ายขวาแต่ประการใด มันคือการคิดเข้าใจไปเองของเหล่าผู้สร้างว่า คนดีต้องมีทัศนะการเมืองอยู่ฝั่งซ้ายเท่านั้น ขณะที่คนชั่วมักต้องอยู่ขั้วตรงข้ามฝั่งขวาเสมอ ทั้งๆที่ในความเป็นจริง คนดีก็มีได้ทั้งฝั่งการเมืองซ้ายขวา คนชั่วก็เช่นกัน
เรื่องราวของหนังได้สะท้อนความทะนงตน เย่อหยิ่งจองหองอวดดี เห็นแก่ตัวหัวดื้อรั้นของทั้งผู้กำกับ Hawks และ Wayne พวกเขาถือหางฝั่ง Republican อนุรักษ์นิยม มองใครก็ตามที่ไม่ได้เข้าพวกอยู่ฝั่งตนเอง ต่างคือคนเลวชั่วช้า นี่นะหรือ ‘อเมริกันชน’ (ในมุมกลับกัน Democrat ก็มักมอง Republican แบบนี้นะครับ)
สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจยิ่งกับ High Noon คือการออกค้นหาความช่วยเหลือของนายอำเภอ พยายามทำทุกวิถีทาง เปิดรับทุกโอกาส เพราะระหว่างนั้นอะไรๆก็เกิดขึ้นได้ ขณะที่ Rio Bravo ทำการปิดกั้นทุกสิ่ง ใครแสดงความประสงค์อยากช่วยเหลือกลับปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ซ้ำร้ายมองเป็นภาระเสียอีก
แต่แนวคิดของ Rio Bravo ก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดอะไรนะครับ เพราะกับคนที่มีความตั้งใจแต่ไร้ซึ่งฝีมือ เข้าร่วมกลุ่มไปรังแต่จะสร้างภาระเสียเวลาให้มากกว่าทำคุณประโยชน์ มันอาจเป็นเรื่องแล้งน้ำใจไมตรี แต่คือความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะเหตุนี้ Democrat กับ Republican สองขั้วฝั่งฝ่ายจึงมักมีสมาชิกปริมาณใกล้เคียงพอๆกัน เพราะถึงในทัศนะของผมจะบอกว่า High Noon ดูดีกว่า แต่อีกครึ่งค่อนโลกย่อมมองว่าหนังเรื่องนี้เท่ห์กว่าเป็นไหนๆ
มันคงมีส่วนจริงๆนะแหละ สำหรับคนที่ชื่นชอบหลงใหล High Noon มักจะปฏิเสธต่อ Rio Bravo และในทางตรงกันข้ามโดยเฉพาะชาวอเมริกัน ส่วนใหญ่คงคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้ และปฏิเสธทุกสิ่งที่ไม่เข้าพวกเดียวกับตนเอง
ไม่มีรายงานทุนสร้างแต่คงไม่น่าเยอะเท่าไหร่ ฉายในอเมริกาทำเงินได้ $5.2 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก 12.5 ล้านเหรียญ กำไรเน้นๆ
หลังความสำเร็จของ Rio Bravo ผู้กำกับ Hawks พยายามที่จะเลียนแบบสูตรสำเร็จนี้ สร้างกึ่งๆภาคต่อ/Remake ปรับเปลี่ยนเรื่องราวกับชื่อหนังเป็น El Dorado (1966) กับ Rio Lobo (1970) นำแสดงโดย John Wayne ทั้งสองเรื่อง แม้จะพอทำเงินได้บ้าง แต่คุณภาพก็มิอาจเทียบเท่าต้นฉบับได้
ถ้าตัดความเป็น ‘อเมริกัน’ ของออกไป องค์ประกอบอื่นๆของหนังผมชื่นชอบทุกสิ่งอย่างเลยนะ มีความลงตัวไหลลื่นต่อเนื่องเหมือนสายลม/สายน้ำไหล ระดับสมบูรณ์แบบโดยแท้ แต่เพราะแนวคติทัศนคติที่ฝังรากลึกอยู่ในทุกองค์ประกอบ ไม่สามารถแยกออกจากได้จริงๆ สุดท้ายเลยส่ายหัว เซ็ง ทรมานใจพอสมควรขณะรับชม
แนะนำกับคอหนัง Classical Western ที่ชื่นชอบสไตล์ของผู้กำกับ Howard Hawks, หักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างตำรวจกับผู้ร้าย, แฟนๆนักแสดง John Wayne, Dean Martin, Ricky Nelson ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความรุนแรง นิสัยชั่วร้ายของตัวละคร และอาการขี้เมาค้าง
Leave a Reply