Rocco and His Brothers

Rocco and His Brothers (1960) Italian : Luchino Visconti ♥♥♥♥

Rocco และพี่น้อง (รวมทั้งแม่) อพยพจากตอนใต้ของอิตาลี ขึ้นมาอยู่เมืองมิลาน ที่ซึ่งเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง เรื่องวุ่นๆของคนบ้านนอกเข้ากรุงจึงเกิดขึ้น, หนังแนว Neorealism โดยผู้กำกับ Luchino Visconti และเพลงประกอบโดย Nino Rota

นี่คงเป็นหนังที่น้อยคนจะรู้จัก แต่ถ้าเป็นคอหนังอิตาเลี่ยน ชื่นชอบ Neorealist อย่างน้อยควรรู้จักชื่อผู้กำกับ Luchino Visconti ไว้นะครับ เพราะเขาคือผู้ให้กำเนิดตัวจริงของหนังแนว Neorealism, สำหรับหนังเรื่องนี้มีไฮไลท์อยู่ประมาณชั่วโมงครึ่งผ่านไป ถ้าคุณสามารถทนดูได้ถึงตอนนั้น จะพบเจอเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน ที่อาจทำให้คุณตกหลุมหลงรักหนังขึ้นมาแทบจะทันที อึ้ง ทึ่ง ช็อค พูดไม่ออก บ้าไปแล้ว พี่น้องทำกันได้ขนาดนี้เลยเหรอ!

Luchino Visconti ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลียน เกิดในครอบครัวชั้นสูง เมืองมิลาน มีพี่น้อง 7 คน บิดา Giuseppe Visconti di Modrone มีตำแหน่งเป็น Duke of Grazzano Visconti และ Count of Lonate Pozzolo ชื่อเต็มๆของเขาคือ Count don Luchino Visconti di Modrone เป็นทายาทตระกูล House of Visconti, ที่ผมยกบรรดาศักดิ์ของผู้กำกับมาพูดถึง จะให้เปรียบเทียบกับของเมืองไทย Visconti ถือว่าเป็นลูกหลานของเชื้อพระวงศ์ที่มีความสนใจในงานศิลปะ ดนตรี และภาพยนตร์ (ถ้าเทียบกับเมืองไทยคงประมาณ พระองค์ชายใหญ่, พระองค์ชายเล็ก)

ด้วยการพบเห็นความตกต่ำ เน่าเฟะของกลุ่มคนชั้นสูงในอิตาลี ทำให้ความสนใจของ Visconti พุ่งเป้าไปที่กับคนในสังคมระดับล่าง นำเสนอวิถี ความยากลำบากในการต่อสู้ ดิ้นรน ใช้ชีวิต ก่อเกิดเป็นภาพยนตร์ Neorealism เรื่องแรก Ossessione (1943) [คือหนัง debut ของผู้กำกับด้วย], แต่ใช่ว่าทั้งชีวิตของ Visconti จะกำกับแต่หนัง Neorealism มีหลายเรื่องที่ถือว่าเป็นหนังส่วนตัวของเขา อาทิ Senso (1954) และ The Leopard (1963) เล่าเรื่องคนชั้นสูงในสังคม

Visconti ทั้งชีวิตกำกับภาพยนตร์ประมาณ 10 กว่าเรื่อง สร้างห่างกัน 2-3 ปี ซึ่งโปรดักชั่นหนังแต่ละเรื่องใช้เวลาจริงๆไม่กี่เดือน, เขาแบ่งเวลาที่เหลือเอาไปทำหลายๆอย่างที่ชื่นชอบ อาทิ กำกับโอเปร่า, เล่นดนตรี แต่งเพลง ฯ

สำหรับหนังเรื่องนี้ กับคนที่เคยดูโอเปร่า จะรู้สึกถึงความคล้าย กลิ่นอายของการแสดง เคลื่อนไหว การจัดฉาก ที่เหมือนยกเวที เปลี่ยนมานำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์, นี่เป็นสิ่งที่นักวิจารณ์หลายๆที่พูดถึงกันนะครับ ส่วนตัวยังไม่เคยมีโอกาสได้ดูโอเปร่าสักครั้ง เลยบอกไม่ได้ว่าให้ความรู้สึกเหมือนกันจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเปรียบเทียบอารมณ์ของหนังกับเสียงโซปราโน ไม่ผิดเลยละครับ มันสูงปี๊ด ทรงพลังระดับนั้นเลย

Rocco and His Brothers ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายเรื่อง Il ponte della Ghisolfa ของ Giovanni Testori ชื่อหนังได้แรงบันดาลใจจาก นิยายของ Thomas Mann ที่ชื่อ Joseph and his Brothers เปลี่ยน Joseph เป็น Rocco ที่มาจาก Rocco Scotellaro นักกวีชาวอิตาเลียน ที่มีชื่อเสียงชอบเขียนคำบรรยาย ชีวิตของผู้คนชาวใต้

เหตุการณ์เกิดขึ้นในเมืองมิลาน (ตอนเหนือ) ครอบครัว Parondi ประกอบด้วยแม่และลูกๆ อพยพขึ้นรถไฟมาจากอิตาลีตอนใต้ Lucania, แคว้น Basilicata หลังจากพ่อเสียเไม่นาน เพื่อตั้งต้นเริ่มชีวิตใหม่

แต่เริ่มมา ลางร้ายก็ปรากฎแล้ว เมื่อพี่คนโต Vincenzo (รับบทโดย Spiros Focás) ที่เดินทางมาตั้งตัวก่อนหน้า วันนั้นกำลังอยู่ในงานหมั้นกับหญิงสาว Ginetta (รับบทโดย Claudia Cardinale) พอแม่และพี่น้องมาหาแบบไม่ได้นัดหมาย ทำให้สองครอบครัวเกิดปากเสียง ทะเลาะกลายเป็นความขัดแย้ง จนคู่หนุ่มสาว มองหน้ากันแทบไม่ติด

พี่ชายคนโต Vincenzo Parondi โดยปกติแล้วเมื่อพ่อเสีย ก็จะกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวไปโดยปริยาย แต่การที่เขาออกจากบ้านมาก่อน ตั้งตัวเองที่มิลาน ผมเชื่อว่าเพื่อต้องการปักหลักสร้างฐานด้วยตนเอง, แต่เมื่อครอบครัวอพยพตามมา มันเลยไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะต้องเลี้ยงดูแลทั้งครอบครัวพี่น้องฝั่งตน และแฟนสาวไปพร้อมๆกัน

พี่คนรอง Simone Parondi (รับบทโดย Renato Salvatori) มีร่างกายกำยำแข็งแรง มีนิสัยฉุนเฉียวง่าย และชอบเอาเปรียบน้ำใจผู้อื่น, เมื่อย้ายมาอยู่มิลาน ได้ซ้อมมวยจนเข้าตาเจ้าของค่าย ได้รับโอกาสให้ขึ้นเวที ชกครั้งแรกชนะน็อคคู่ต่อสู้ แต่เพราะถูกมองว่าเป็นคนฝั่งใต้ ทำให้ถูกกองเชียร์ฝั่งเหนือโห่ขับไล่ ต่อต้าน ไม่ยอมรับ

คนกลาง Rocco Parondi (รับบทโดย Alain Delon) เทพบุตรรูปหล่อ แม้จะมีร่างกายผอมเล็ก แต่ปราดเปรี่ยวว่องไว ในตอนแรกทำงานเป็นคนส่งเสื้อผ้า นิสัยเจี๋ยมเจี้ยม ต่อมาสมัครทหาร กลับจากประจำการ ซ้อมมวยจนได้รับโอกาสให้ขึ้นชก แม้ตัวเองจะไม่อยากทำอาชีพนี้ แต่ก็สามารถเอาชนะใจผู้ชม ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี

น้องคนรอง Ciro Parondi (รับบทโดย Max Cartier) น่าจะเป็นคนฉลาดที่สุดและขี้เกียจที่สุด (ตื่นนอนลุกหลังสุด) ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง ต่อมาได้ทำงานประจำในโรงงานผลิตรถ มีรายได้สม่ำเสมอ แม้ไม่ร่ำรวย แต่ก็ไม่เรื่องมาก ชีวิตไม่วุ่นวาย

น้องคนเล็ก Luca Parondi (รับบทโดย Rocco Vidolazzi) ยังเด็กอยู่มีบทไม่มาก ไม่มีสิทธิ์คิดตัดสินอะไรเอง แต่คือผู้เฝ้ามอง สังเกตการณ์ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นกับพี่ๆ

แม่ Rosaria Parondi (รับบทโดย Katina Paxinou) เป็นผู้หญิงปากร้ายแต่ใจดี มีความต้องการให้ลูกๆทุกคนได้ดี ในตอนแรกคือผู้ผลักดันลูกๆทั้งหลายออกสู่โลกกว้าง ต่อจากนั้นตนกลายเป็นแค่ช้างเท้าหลัง ที่คอยให้การสนับสนุนอยู่ที่บ้าน แต่เมื่อลูกๆได้พบเจอโลกใหม่ ตัวตนของพวกเขาก็แปรเปลี่ยนไป แต่แม่ที่อยู่ข้างหลังยังคงเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

ครอบครัวนี้ เหตุที่ต้องมีพี่น้องถึง 5 คน ครั้งหนึ่งแม่พูดเปรียบกับมือที่มีนิ้วทั้งห้า เรียกว่าเป็นแขนขาของตน เพื่อใช้จับ/เดิน มีชีวิต, ถ้านับตามนิ้วก็คงตรงตัว Rocco คนกลาง คือนิ้วกลาง สูงสุด โดดเด่นสุด (คนอื่นๆ เราก็สามารถเทียบความสำคัญตามนิ้วได้เลย เช่น Simone นิ้วชี้ พี่คนรอง เป็นนิ้วที่ชอบชี้บงการ เอาแต่ใจ ฯ)

Nadia (รับบทโดย Annie Girardot) หญิงสาวโสเภณี ที่ตอนแรกเหมือนจะมีใจให้ Simone แต่เพราะเธอไม่คิดจริงจังกับใคร (เป็นโสเภณี) จึงทิ้ง Simone แล้วเปลี่ยนผู้ชายไปเรื่อยๆ วันดีคืนดีเกิดตกหลุมรัก Rocco เข้าจริงๆ แล้ววันดีคืนดีอีกเช่นกัน Simone จับได้ คราวนี้ก็เป็นเรื่องเลย

สำหรับทีมนักแสดงชุดนี้ หลายคนผ่านการแสดงมาบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีชื่อเสียงนัก ที่ต้องจับตามองเลยจะมี
– Alain Delon ลูกครึ่งฝรั่งเศส-สวิส ที่มีผลงานเด่นๆตามมาเยอะมาก อาทิ L’Eclisse (1962), The Leopard (1963), Le Samouraï (1967),
– Renato Salvatori ก็มีผลงานอีกหลายเรื่อง แต่ไม่โด่งดังเท่า,
– Claudia Cardinale แจ้งเกิดกับหนังอิตาเลี่ยนเต็มตัว ก่อนมีผลงานอมตะอย่าง The Leopard (1963), 8 1/2 (1963) ฯ
– Annie Girardot นักแสดงฝรั่งเศสมากฝีมือ เคยได้ Volpi Cup: Best actress เทศกาลหนังเมือง Venice จากหนังเรื่อง Three Rooms in Manhattan (1965)
– และ Katina Paxinou คุณแม่ในตำนานชาวกรีก เป็นคนเดียวในนักแสดงกลุ่มนี้ที่เคยได้ Oscar: Best Supporting Actress จากหนังเรื่อง For Whom the Bell Tolls (1943) ตอนเธอยังสาวสวย

ถ่ายภาพโดย Giuseppe Rotunno ถึงเป็นภาพขาวดำ แต่มีความหรูหรา สง่างาม เป็นเงาประกาย ขลับมันคล้ายไข่มุก, งานภาพของหนัง Neorealist ใช้แสงธรรมชาติ ถ่ายจากสถานที่จริงทั้งหมด โดดเด่นเรื่องทิศทาง มุมกล้อง และการสร้างบรรยากาศหนัง ที่สื่อแทนความรู้สึก อารมณ์ของตัวละคร

ผมสังเกตว่า พี่น้องทั้ง 5 ไม่มีฉากไหนที่อยู่ร่วมช็อต เฟรมเดียวกันทั้งหมด มากสุดที่เห็นคือ 4 คน (ถ้าครบ 5 คนคงมีแต่แค่ในรูปถ่าย), นี่เป็นแบบเดียวกับชื่อหนัง ที่น่าสงสัยเช่นกันว่าทำไม Rocco ถึงนำหน้าโดดขึ้นมาคนเดียว ทิ้งพี่น้องอีก 4 คนไว้เป็น and His Brothers

เปิดเรื่องลงจากรถไฟ ก็มีแค่ 4 คน +1 แม่, นี่อาจแปลว่า ครอบครัวนี้ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ ที่แตกต่างจากคนอื่น (เหมือนนิ้วโป้ง ที่ต่างจากนิ้วอื่นๆ)

ฉากที่ Rocco บอกให้ Nadia กลับไปหา Simone ภาพถ่ายมุมก้ม เห็นด้านล่างที่เป็นโบสถ์ (Terrazze del Duomo) มีนัยยะถึงทางออกที่เป็นธรรมที่สุดสำหรับเขา (Rocco พ่อพระ)

ฉากกางแขนเหมือนกางเขน ตอนท้าย คือการสังเวยผู้บริสุทธิ์ (แบบพระเยซู)

ว่าไปหนังมีสัญลักษณ์ทางศาสนาแทรกอยู่เยอะเลย เป็นสิ่งพบเห็นได้ทั่วไปหนังของ Visconti

กับฉากต่อยมวย ผมเห็นมี 1-2 ช็อตแวปๆ ที่ถ่ายในเวทีมวย แต่ส่วนใหญ่จะถ่ายจากข้างนอก ยังไม่มีการใช้มุมมองของนักมวยขณะสู้กัน และรู้สึกว่าเวทีมีขนาดค่อนข้างเล็ก เดินไม่กี่ก้าวก็ชนเชือกแล้ว เห็นว่านี่เป็นแรงบันดาลใจให้ Martin Scorsese ถ่าย Raging Bull (1980) ออกมาลักษณะนี้ด้วย

ตัดต่อโดย Mario Serandrei หนังมีการแบ่งเรื่องราวออกเป็น 5+1 ส่วน ใช้ชื่อพี่น้องแต่ละคน เรียงลำดับอาวุโส ปรากฎขึ้นก่อนเข้าองก์นั้นๆ (คิดว่าช่วงแรก +1 ที่ไม่มีชื่อขึ้น น่าจะแทนด้วยแม่ Rosaria ได้เลย) แต่ละตอนจะมีเรื่องราวที่สัมพันธ์กับตัวละครนั้นๆ แต่ไม่ถือว่าเป็นมุมมองของตัวละครนั้น

ผมเองก็หลงเข้าใจผิด คิดว่าการที่หนังขึ้นชื่อตัวละคร ก็น่าจะหมายถึงเป็นมุมมองของคนๆนั้นเลย, คือมันก็ใช่ แต่แค่บางส่วน อย่างเรื่องที่ 4 กับ 5 ของ Ciro กับ Luca บทบาทของทั้งคู่แทบจะไม่มีอะไรเด่นขึ้นกว่าเดิมเลย เรื่องราวหลัก มุมมองของหนังส่วนใหญ่เป็นของ Simone และ Rocco โดดเด่นเกินหน้าเกินตาที่สุด

ไฮไลท์อยู่ที่ช่วงท้าย การตัดสลับระหว่าง การชกชิงแชมป์ของ Rocco ก้าวสู่จุดสูงสุด กับ Simone พบกับ Nadia ที่ถือเป็นก้าวสู่จุดต่ำสุด ถือว่าเป็นการเลือกวางตำแหน่งเหตุการณ์ทั้งสอง ได้มีนัยยะสำคัญพอดีเปะเลย

เพลงประกอบโดย Nino Rota ทรงพลัง ยิ่งใหญ่ เจ็บปวด รวดร้าว เร่งเร้าอารมณ์ให้กับหนัง รสสัมผัสแทบไม่ต่างกับ The Godfather (1972)

บทเพลงของ Rota มักจะมีกลิ่นอายคล้ายๆกันทั้งหมด ประหลาดที่เมื่อประกอบเข้ากับบริบทของหนังเรื่องอื่นๆ กลับสามารถเข้ากันได้อย่างกลมกลืน ผสมผสานลงตัว ถือเป็นอัจฉริยะคีตกวีโดดเด่นที่สุดแห่งยุคคนหนึ่งเลย

นำมาฝากอีกเพลง เสียงร้องของ Elio Mauro โหยหวน ล่องลอย สะเทือนใจ

ใจความของหนังเรื่องนี้ เป็นการนำเสนอให้ผู้ชมสังเกต เฝ้ามองดู การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการใช้ชีวิตในสังคม ทั้งทางที่ดีขึ้นและแย่ลง
– Vincenzo พี่ใหญ่เป็นคนคงเส้นคงวาที่สุดแล้ว เริ่มต้นกำลังจะแต่งงาน ตอนจบมีลูก 2 คน
– Simone เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นเลวสุดกู่ไม่กลับ กรรมตามสนอง
– Rocco กลายเป็นพ่อพระ ที่พร้อมเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่น้อง ครอบครัว โดยไม่สนว่าตัวเองจะต้องทนทุกข์ยากลำบากเจ็บปวดแค่ไหน
– Ciro ตอนแรกดูนิ่งๆไม่ค่อยมีอะไร แต่หลังจากเฝ้ามองพี่ๆทั้งหลาย ตัวเองเลยเลือกทางสายกลาง ไม่ดีไม่เลว เป็นคนธรรมดาทั่วไป
– Luca น้องคนเล็กที่ทำได้แต่เฝ้ามองดู

มองหาสาเหตุที่ทำให้ Simone เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ, Visconti อธิบายว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นจากจุดบอดของสังคม ที่ฟูมฟักหมักหมมสะสม ความคาดหวังให้เป็น ไม่พอใจเมื่อผิดพลาด มนุษย์มักเอาความรู้สึกนึกคิดของสังคม เก็บกลับเข้ามาเป็นอารมณ์ฝังใส่ไว้ในใจ ทั้งมุมมืดและมุมสว่าง ที่ต่อมาได้กลายเป็นตัวตนของเขา เวลาดีใจสมหวัง/เสียใจทุกข์ทรมาน มันจึงออกมารุนแรง ผิดเพี้ยนมากกว่าปกติ, สรุปคือ ผลกระทบของสังคมที่ทำให้ Simone เปลี่ยนแปลงไป

Luchino Visconti’s film is vital about violence being bred from systemic blind spots, where miniscule souls are tasked with the impossible.

ความดีสุดขั้วของ Rocco ถือว่าได้อิทธิพลมาจาก Simone ล้วนๆ เพราะพี่เป็นอย่างนั้น และตนรักพี่มาก จึงยอมเสียสละให้ทุกสิ่งอย่าง, ซึ่งกับเหตุการณ์นั้น การที่ Rocco ตัดสินใจเช่นนั้น มองได้เหมือนปมพ่อแม่รังแกฉัน เปลี่ยนเป็นพี่รังแกน้อง สิ่งที่ Simone สอนในครั้งนั้นคือ คนเป็นพี่มีสิทธิ์ก่อนน้องเสมอ นี่ถือเป็นบทเรียนตรระกะเพี้ยนที่ Rocco จดจำฝังใจ หาข้ออ้างให้เธอไปจากเขา เพราะตนรู้สึกผิดที่เหมือนไปแย่งคนรักจากพี่ชายมา, ซึ่งตอนท้ายกับคำพูดที่ว่า ‘Come to me for whatever you need, understand? … Only to me.’ เน้นประโยคหลัง ถือว่า Rocco รักพี่มากจนเลยเถิด กลายเป็นคนตามืดบอด มองไม่เห็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

ขณะเดียว Ciro ก็ได้เฝ้ามอง รับอิทธิพลมาจากพี่ทั้งสอง Simone และ Rocco เมื่อเห็นคนหนึ่งดีสุดขั้ว อีกคนหนึ่งชั่วสุดขีด ไม่มีใครสามารถเป็นแบบอย่างให้กับตนได้ จึงได้เลือกสายกลางแต่ทางพอดี แต่ Ciro ก็มีตรรกะเพี้ยนอยู่อย่างหนึ่งเช่นกัน คือบอกว่าทำเพื่อครอบครัว แต่แท้จริงแล้วทำเพื่อตนเอง ตอนที่เขาพูดช่วงท้ายว่า ‘No one loved Simone more than l did.’ นี่แสดงถึงความหลงตัวเอง คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำถูกต้องที่สุด

ผมเฝ้าดูหนังเรื่องนี้ เหมือนดั่งที่ Luca น้องคนเล็กจ้องมองบรรดาพี่ชาย, จริงอยู่ Simone อาจเป็นคนเลวที่สุดในกลุ่ม แต่นั่นมันความผิดเขาหรือเปล่า?, Rocco ดีจริงไหม หรือดีเกินไป? Ciro ที่เหมือนจะโอเคสุด แต่เหมือนก็เป็นคนดีแต่ปาก สนแต่ตนเอง, หนังทำให้เราเห็นว่า สังคม/สภาพแวดล้อม เป็นสิ่งที่เสี้ยมสอน เปลี่ยนแปลงนิสัย พฤติกรรมของคนได้ ดังจะเห็นได้จากพี่น้องครอบครัวนี้ แต่ละคนเปลี่ยนแปลง กลายเป็นแบบที่เห็นในหนัง

ตรรกะของ Visconti มองต้นตอของความขัดแย้งระหว่าง มนุษย์/สังคม ร่างกาย/จิตใจ คนดี/คนชั่ว มีสาเหตุเกิดจากอิทธิพลของสังคม ที่มนุษย์มักจะคล้อยตาม น้อมรับ เข้าสู่ตน (ที่เรียกว่า กระแสสังคม) นี่เป็นปัญหาของคนระดับรากหญ้า ที่ไม่สามารถควบคุมตนเอง แสดงออกด้วยสิ่งที่เป็นผลกระทบของอารมณ์ ขาดการไตร่ตรองครุ่นคิดอย่าถี่ถ้วนและเหมาะสม

The key to the understanding of the spiritual and psychological conflict is always social, even if the conclusions I reach are always those which concern the individuals whose cases I am describing. The yeast, the blood in the veins, of history, is always thick with civic passion and social reasoning.

การพูดถึง สิ่งแวดล้อม/สังคม มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง นิสัย/ความคิด ของมนุษย์ และตอนจบของหนัง Ciro นั่งคุยกับน้อง Luca รำพันถึงบ้านชนบทของพวกเขาที่จากมา โหยหาอยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอีก (แต่คิดว่า Ciro คงได้แต่เพ้อ เพราะตัวจริงเขาคงไม่กลับไปหรอก), เชื่อว่าบ้านนอกเข้ากรุง แทบทุกคนเมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงสักพัก จะมีความคิดอยากกลับบ้าน ผมเองก็คนหนึ่ง เป็นเด็กต่างจังหวัดเข้าไปเรียน ทำงานในกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตอยู่น่าจะเกือบๆ 10 ปี สุดท้ายตัดสินใจกลับออกมาอาศัยอยู่กับธรรมชาติ ขุนเขา ท้องทะเล พบว่าชีวิตมีความสุขกว่ากันเยอะมากเลยนะครับ ไม่ต้องเคร่งเครียด ไม่ต้องรีบเร่งแข่งขันกับใคร อยากทำอะไรก็ทำได้ เดี๋ยวนี้หลายจังหวัดเจริญขึ้นมาก แทบไม่ต่างจากกรุงเทพฯ แค่คุณภาพชีวิตดีกว่ามาก

มันเป็นเรื่องยากสำหรับคนคนต่างจังหวัด ที่ต้องการเข้าไปอาศัยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ (ขุดทอง) ยากยิ่งกว่าคือเอาตัวให้รอดในเมืองหลวง แต่ยากที่สุดคือกลับออกมา, จริงๆมันง่ายนิดเดียวเท่านั้นแหละ แต่เพราะมีบางสิ่งบางอย่างบดบังความคิด ยื้อความต้องการของเราไว้ เช่นว่า ออกไปแล้วจะทำงานหาเงินอะไร? โรงพยาบาลอยู่ไกล ถ้าเจ็บป่วยหมอจะรักษาหายไหม? ญาติพี่น้องของฉันอยู่ในกรุงฯ ให้ออกไปแล้วใครจะดูแล? สารพัดข้ออ้างที่ทำให้ไม่ได้ออกไปจากกรุงสักที ก็ทนไปนะครับ ไม่มีใครว่าคุณหรอกถ้ามีอุดมการณ์สูงส่ง แต่การพูดบ่น วาดฝันว่าอยากออกไปแล้วไม่เคยคิดจะทำ หาข้ออ้างโน่นนี่นั่นจนทำไม่ได้ คนต่างจังหวัด (เช่นผม) มองพวกคุณ น่าสมเพศจะตาย

หนังเข้าฉายที่เทศกาลหนังเมือง Venice แม้จะไม่ได้ Golden Lion แต่ได้ 2 รางวัลปลอบใจ คือ FIPRESCI Prize (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดในเทศกาลของนักวิจารณ์) และ Special Prize (รางวัลนี้ทั้ง Vinsconti และโปรดิวเซอร์ ปฏิเสธที่จะขึ้นรับ ไม่รู้ทำไม)

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แต่ครึ่งแรกของหนังผมไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ หลายตัวละครน่ารำคาญเกินไป และเสียงพากย์ทำให้มิติของตัวละครหลายไป, ส่วนไฮไลท์ของหนังถือว่าทรงพลัง ตราตรึงมาก เป็นวินาทีที่คุ้มค่ากับการรอคอยทีเดียว และเพลงประกอบของ Nino Rota ไพเราะไร้ที่ติ

แนะนำกับคอหนังอิตาเลี่ยน ชื่นชอบ Neorealist, ดราม่าต่อยมวย (Boxing), แฟนของผู้กำกับ Luchino Visconti นักแสดง Alain Delon, Annie Girardot และเพลงเพราะๆจาก Nino Rota ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับความรุนแรง

TAGLINE | “Rocco and His Brothers มีหมัดฮุคทีเด็ดของ Luchino Visconti อยู่ช่วงกลางเรื่อง ที่อาจทำให้คุณน็อคสลบคาที่”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: