Roma

Roma (2018) Mexican : Alfonso Cuarón ♥♥♥♥♡

พื้นกระเบื้องเมื่อถูกน้ำสาดทำความสะอาด พบเห็นเงาสะท้อนเครื่องบินบนฟากฟ้า เรื่องราวชีวิตของคนใช้ตัวเล็กๆ ก็สามารถสะท้อนมหภาคกับประเทศชาติ โลกของเราได้เช่นกัน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Roma ที่ไม่ได้จะสื่อความถึงกรุงโรม อ่านกลับกันได้คำว่า Amor ภาษาสเปน แปลว่า ความรัก, นี่คงเป็นสิ่งที่ Alfonso Cuarón ต้องการพูดบอกกับมารดาที่สอง แม่นม คนรับใช้ โดยไม่รู้ตัวเธอกลายเป็นสมาชิกครอบครัว สนิทสนม รักมาก ขาดไม่ได้ ปัจจุบันก็ยังอาศัยอยู่ที่บ้าน Mexico มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วร้องไห้รำพัน

“It was like this. It was like this”.

เห็นว่าสองแม่ของผู้กำกับ Cuarón มาเยี่ยมเยือนกองถ่ายด้วยวันหนึ่งแบบจงใจไม่ให้รู้ตัว พอดิบพอดีขณะถ่ายทำฉากแม่บอกกับลูกๆว่าพ่อยังไม่กลับบ้านให้เขียนจดหมายถึง และ Cleo บอกกับเธอว่าตั้งครรภ์ ซึ่งเขาก็ได้กางเต้นท์ ลากสายตั้งจอโทรทัศน์ เสียบหูฟัง ให้เห็นระหว่างการทำงาน ชั่วขณะหนึ่งแวะเข้าไปเยี่ยมดูพบเห็นน้ำตาซึม

Cuarón: “Are you OK?”
Libo: “No, it’s just… poor little kids”.

Cuarón เป็นผู้กำกับที่มีวิวัฒนาการสร้างภาพยนตร์โดดเด่นชัดมากๆ สะสมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ พัฒนาความคิดอ่าน แถมยังโอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่เรื่องแรกมาจนถึง Roma (2018) ก็ไม่รู้ว่ายังจะสามารถก้าวไปไกลได้กว่านี้อีกไหม ซึ่งทุกผลงานล้วนมีความ’เป็นส่วนตัว’ (Personal Film) และมากกว่าแค่พบเห็นเรื่องราวจากหน้าหนัง วิเคราะห์ทำความเข้าใจได้ก็จักพบเห็นจิตวิญญาณตัวตนแท้จริงของ Cuarón

วิวัฒนาการของ Roma คือที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ของ Cuarón นำเสนอเรื่องราวส่วนตัวจากคนใกล้ชิดที่สุด แทนคำขอบคุณค่าตอบแทนเคยเลี้ยงดูแลจนเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันก็นำเสนอคู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์ Mexico ความแตกต่างทางชนชั้น สถาบันการปกครอง และลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลของขบวนนักศึกษา เทียบแทนด้วยการที่สองแม่ถูกพ่อทอดทิ้ง คลอดลูกไม่สำเร็จ และเกือบจบน้ำตาย มีนัยยะความหมายทั้งรูปธรรมและนามธรรม

ความสวยงามของการถ่ายภาพที่ใครๆต่างชักชวนแนะนำบอกต่อ ชัดเจนมากว่าคือความจงใจของผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เหมาะสำหรับฉายในโรงภาพยนตร์โดยเฉพาะ! ด้วยกล้อง ALEXA 65 ความละเอียด 6.5K เทียบขนาดก็ฟีล์ม 70mm ยิ่งใหญ่อลังการพอๆกับ Lawrence of Arabia (1962), 2001: A Space Odyssey (1968) ฯ ถูกย่นย่อรับชมผ่านจอโทรศัพท์มือถือ/แท็ปเล็ตขนาดหลักหน่วยนิ้ว มันจะไปดื่มด่ำได้อรรถรสควรค่าประการใด?

Alfonso Cuarón Orozco (เกิด 1961) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City พ่อเป็นนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ทำงานที่ International Atomic Energy Agency แห่งสหประชาชาติ เป็นเหตุให้ไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน อาศัยอยู่กับแม่และคนใช้ มีน้องสองคน Carlos (อยู่ในวงการภาพยนตร์) และ Alfredo (ทำงานด้านชีววิทยา), ตัวเขาโตขึ้นเข้าเรียนสาขาปรัชญา National Autonomous University of Mexico ตามด้วยสร้างภาพยนตร์จาก Centro Universitario de Estudios Cinematográficos รุ่นเดียวกับผู้กำกับ Carlos Marcovich และตากล้องคู่ใจ Emmanuel Lubezki สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Vengeance Is Mine

เริ่มต้นอาชีพในวงการด้วยฝ่ายเทคนิครายการโทรทัศน์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับบางตอน ช่วยงานภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Sólo con Tu Pareja (1991) ได้รับความนิยมอย่างสูงใน Mexico จึงถูกรับการเรียกตัวจาก Sydney Pollack กำกับตอนหนึ่งของซีรีย์ Fallen Angels (1993-95), ต่อมาเลยได้โอกาสสร้างหนัง Hollywood เลือกดัดแปลงวรรณกรรมเยาวชนชิ้นเอกของโลก A Little Princess (1995) ได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม, Y Tu Mamá También (2001), Harry Potter and the Prisoner of Azkaban (2004), Children of Men (2006), Gravity (2013) ** คว้า Oscar: Best Director

สำหรับ Roma เป็นความตั้งใจของผู้กำกับ Cuarón เห็นว่านับตั้งแต่ผลงานเรื่องแรก Sólo con Tu Pareja อยากสร้างภาพยนตร์ที่เป็นอัตชีวประวัติของตนเอง เกิดความแน่วแน่อย่างมากตอนเสร็จจาก Children of Men (2006) แต่เพราะความล้มเหลวไม่ทำเงิน ทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้พังทลายย่อยยับเยิน เคยครุ่นคิดว่าจะออกจากวงการไปทำอย่างอื่น ไหนจะเลิกร้างรากับภรรยาเก่าอีก ถ้าไม่ได้ Gravity (2013) ช่วยชีวิตไว้ คงไม่มีใครคาดเดาได้จะเกิดอะไรขึ้น

ความสำเร็จของ Gravity (2013) และวัยวุฒิก้าวย่างสู่ปีที่ 50 ทำให้ Cuarón เริ่มครุ่นคิดถึงอดีต ช่วงชีวิตที่ผ่านมา ในตอนแรกวางแผนโปรเจคถัดไปไว้ว่าจะเกี่ยวกับ ‘Darwinian Adam and Eve’ แนวครอบครัว มีพื้นหลัง 50,000 – 100,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่หลังจากพูดคุยเล่าให้ Thierry Fremaux ผู้บริหารของเทศกาลหนังเมือง Cannes เขากลับเสนอแนะให้ทำหนังที่เป็นเรื่องใกล้ตัว คล้ายๆ Y Tu Mama Tambien กลับบ้านเกิด Mexico น่าจะดีกว่านะ

และด้วยคำแนะนำนั้นเอง โปรเจค Roma ถึงได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เดินหน้าเต็มที่เมื่อปี 2016 ประมาณ 90% นำจากความทรงจำ อัตชีวประวัติตนเอง

โดยเรื่องราวมีพื้นหลัง Colonia Roma, Mexico City ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1970-71, สาวใช้ Cléo (รับบทโดย Yalitza Aparicio) ทำงานให้กับครอบครัวของ Sofia (รับบทโดย Marina de Tavira) ช่วยเหลือดูแลแม่ผู้ชรา และเด็กๆอีก 4 คน ด้วยความยังไม่ประสีประสาของเธอ พลาดพลั้งตั้งครรภ์กับแฟนหนุ่ม Fermín (รับบทโดย Jorge Antonio Guerrero) แต่ถูกฟันแล้วทิ้ง กระนั้นกลับยังได้รับการดูแลอย่างดีจากครอบครัวราวกับเป็นส่วนหนึ่ง สมาชิกคนสำคัญ ขนาดว่าเวลาท่องเที่ยวที่แห่งไหน ยังต้องนำพาไปด้วยติดตัวแจ

นักแสดงทั้งหมดของหนังล้วนคือมือสมัครเล่น ได้รับคัดเลือกผ่านการ Audition
– Yalitza Aparicio ผู้รับบท Cleodegaria ‘Cleo’ Gutiérrez ขณะนั้นเพิ่งเรียนจบ กำลังฝึกสอนในโรงเรียนชั้นก่อนปฐมวัย ทีแรกก็ไม่ได้สนใจอยากเป็นนักแสดง แต่ถูกเพื่อนคะยั้นคะยอมาให้สมัครทดสอบหน้ากล้อง เล่าให้ฟังว่าแม่ของเธอเป็นคนใช้ ตนเองเติบโตในครอบครัวนายจ้างช่วยส่งเสียให้จนเรียนจบ นั่นกระมังคือสาเหตุให้ได้รับเลือกแสดงนำ
– Marina de Tavira ผู้รับบท Sofia เดิมเป็นนักแสดงละครเวที ยังไม่เคยมีประสบการณ์เล่นหนังมาก่อน ได้รับคัดเลือกผ่านการ Audition เช่นกัน น่าจะเพราะภาพลักษณ์ผู้หญิงสู้ชีวิตกระมัง เมื่อถูกสามีทอดทิ้งกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินต่อไปได้อย่างสะดวกราบรื่นที่สุด

เกร็ด: ชื่อตัวละคร Cléo เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจาก Cléo from 5 to 7 (1962) ของผู้กำกับ Agnès Varda

ผู้กำกับ Cuarón เป็นคนเดียวถือครองบทหนังที่ตนพัฒนาทั้งหมด ไม่มีนักแสดงคนไหนหรือใครได้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ไดเรคชั่นของเขาก็คือ พูดคุยกับนักแสดงถึงพื้นหลังตัวละคร สิ่งที่จะแสดงในวันนี้ บทพูดสนทนา จากนั้นกำหนดจังหวะ ตำแหน่ง ทิศทางเคลื่อนไหว วันต่อวันไม่มีซักซ้อมตระเตรียมล่วงหน้า ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความจำเพาะไม่เหมือนกันด้วยนะ ทำให้เวลาเข้าฉากจริงๆเลยต้อง ‘Improvised’ กันอย่างเยอะ แต่ไม่ถึงขั้นนอกเหนือจากกรอบเกณฑ์ที่วางแผนกำหนดไว้สักเท่าไหร่

การถ่ายภาพ ในตอนแรกก็จับจองตัวเพื่อนสนิทขาประจำ Emmanuel Lubezki แต่หลังจากคว้า Oscar: Best Cinematography มาสามสมัยติด งานยุ่งรัดตัว เลยมิอาจปลีกหาเวลามาร่วมงานได้ แต่ก็ทำการโน้มน้าวผลักดันชักชวนให้ ‘ถ่ายเองเลย’ และเพราะไม่สามารถหาตากล้องเม็กซิกันคนไหนเชื่อมือได้อีกด้วย (ประมาณว่าหนังถ่ายทำในเม็กซิโก ทั้งกองถ่ายพูดภาษาสเปน จะให้ตากล้องพูดอังกฤษอยู่คนเดียวจะไปสื่อสารกับใครรู้เรื่อง!) ก็เลยเอาวะเสียเวลาช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร

ตัวเลือกของ Cuarón ถ่ายด้วยภาพขาว-ดำ ดูเหมือนอัลบัมรูปเก่าที่ยังคงความคลาสสิกเหนือกาลเวลา, ใช้กล้อง ALEXA 65 ปักหลักตั้งไว้กับที่ (คือถ้าเป็นสไตล์ของ Chivo พี่แกเป็นมนุษย์แบก ขากล้องแทบไม่เคยอยู่ติดพื้น) เทคนิคที่ใช้มีเพียงการแพนนิ่ง (ไป-กลับ) และดอลลี่/รถเลื่อนลากไถลด้านข้าง, ส่วนจัดแสงถ้ากลางวันภายนอกก็ใช้แสงจากธรรมชาติ มักพบเห็นย้อนดวงอาทิตย์สาดส่อง ขณะที่ภายในเน้นการสร้างมิติทางลึกให้เกิดสัมผัสทางอารมณ์ขึ้น

หนังทั้งเรื่องแทบไม่มี Close-Up ใบหน้าตัวละคร ส่วนใหญ่จะเป็น Long Shot ถ่ายทำในลักษณะกวาดสายตามุมกว้างไปรอบๆ ราวกับวิญญาณที่ล่องลอยไปมาในบ้านหลังนี้ คอยเฝ้าสังเกตการณ์แบบไม่ออกความคิดเห็น อะไรจะเกิดก็เกิด แผ่นดินไหวแบบไม่ทันตั้งตัว, ด้วยเหตุนี้ นักแสดงจึงไม่ได้ต้องเค้นเอาความสามารถ/อารมณ์อะไรออกมามากมาย ส่วนใหญ่คือจังหวะการเคลื่อนไหว พูดสนทนา ทำสีหน้าให้รู้ว่าดีใจ เสียใจ หัวเราะ เศร้าซึม เป็นการแสดงออกที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา

ในบทสัมภาษณ์/สนทนาระหว่าง Lubezki กับ Cuarón อดีตตากล้องขาประจำให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจมากๆว่า

“The camera is moving at a different tempo than the actors. It’s almost a complex jazz number”.

ขณะที่กล้องกำลังค่อยๆแพนนิ่งจากด้านซ้ายไปขวา นักแสดงเดินจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งด้วยความเร็วกว่า แล้วหยุดเก็บเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ กล้องที่ยังคงเคลื่อนต่อไปกำลังแซงหน้าได้สำเร็จ และตัวละครก็เริ่มออกเดินต่อไปยังอีกห้องแซงความเร็วกล้องอีกครั้ง, ไดเรคชั่นนี้เปรียบเทียบกับดนตรีแจ๊ส ต้องถือว่าเหมาะเจาะมากๆ กลอง/เปียโนเล่นไป แต่แซกโซโฟนมักเป่าแบบว่าตามอารมณ์ฉันไม่สนใคร แต่ผลลัพท์ที่ได้กลับผสมผสานออกมาอย่างกลมกล่อม ลื่นไหล ลงตัว มีเอกลักษณ์เฉพาะ

แซว: ว่าไปไดเรคชั่นลักษณะนี้ ทำให้ผมนึกถึงผลงานของผู้กำกับ Federico Fellini ขึ้นมาเลยนะ ใกล้เคียงสุดเรื่องนี้น่าจะ Amarcord (1973)

Opening Credit, ช็อตแรกของหนัง พื้นกระเบื้องหินอ่อน (สัญลักษณ์ของคนใช้ ต่ำต้อย) เมื่อถูกสาดน้ำทำความสะอาด สามารถมองเห็นท้องฟ้า เครื่องบิน สิ่งอยู่สูงส่งไกลลิบลับ, ชีวิตของมนุษย์ล้วนเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆจุลภาค แล้วค่อยๆขยายกว้างใหญ่ๆมหภาค สามารถสะท้อนกันและกันได้เสมอ

(ถือเป็นช็อต Opening Credit สวยงดงามที่สุดเรื่องหนึ่งเลยนะ)

ณ ทางจอดรถอันคับแคบของบ้านหลังนี้ เต็มไปด้วยก้อนขี้หมาเรี่ยราด ขณะที่เจ้าหมาก็พยายามหาทางออกไปวิ่งเล่นข้างนอกทุกครั้งเมื่อมีโอกาส นั่นสะท้อนกับชีวิตที่ถูกกักขัง หน่วยเหนี่ยว นกในกรง ไร้ซึ่งอิสรภาพ … ของคนรับใช้ คอยเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้กับเจ้านาย ทำในสิ่งคนทั่วไปไม่ค่อยอยากแบกรับภาระสักเท่าไหร่

เกร็ด: เรื่องนี้ก็คล้ายๆกับ Children of Men (2006) พบเห็นสัตว์อยู่แทบทุกฉากของหนัง และมีความชื่นชอบตัวเอกเป็นพิเศษ ชอบเข้ามาคลอเคลียเลียเล่นสนิทสนมด้วย

กิจกรรมการขับรถเข้าบ้านมีความท้าทายอย่างยิ่ง Ford Galaxy คันใหญ่ สร้างความอึดอัด ยัดเยียด สะท้อนชีวิตที่เต็มไปด้วยมากเกินไป จนไร้พื้นที่ว่างหายใจได้อย่างสะดวก … หนังไม่ได้อธิบายสาเหตุผล ทำไมพ่อถึงกลายเป็นคนแบบนี้ ขัดแย้งอะไรกับแม่ แค่บอกว่ามีชู้นอกใจเมียใหม่ เบื่อหน่ายความซ้ำซากจำเจ เหยียบย่ำขี้หมาเต็มบ้าน

เป็นฉาก Sex Scene ที่เร่าร้อนรุนแรงมากๆ แม้ Cleo กับ Fermín จะไม่ได้สัมผัสลูบไล้โดนตัวเลยสักนิด แต่ลีลา Martial Arts ของ Fermín ในสภาพเปลือยเปล่า สามารถแทนนัยยะของ Sex ได้อย่างทรงพลังมากๆ (แท่งราวกั้นอันนี้ ก็สัญลักษณ์ของลึงค์นะแหละ)

Sofia โอบกอดด้านหลังสามี ทั้งรู้ว่านี่อาจคือครั้งสุดท้ายของการพบเจอ ร่ำจากลาชั่วนิรันดร์ เป็นการสะท้อนถึง ผู้หญิงยังคงเป็นช้างเท้าหลังในสังคม Mexican

มีภาพยนตร์สองเรื่องที่ตัวละครไปรับชมคือ
– La Grande Vadrouille (1966) หนังตลกสัญชาติฝรั่งเศส เข้าฉายอเมริกาในชื่อ Don’t Look Now… We’re Being Shot At! สิ่งที่โดยสอยยิงร่วง คือความคาดหวังของ Cleo พังทลายลงเพราะ Fermín ไม่ยินยอมรับลูกในครรภ์ของเธอ
– Marooned (1969) หนังไซไฟอวกาศ ที่ออกฉายหลัง Apollo 11 ลงจอดดวงจันทร์เพียงไม่กี่เดือน ตั้งคำถามถึงอันตรายในห้วงอวกาศเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน นักบินราวกับถูก ‘Marooned’ ลอยคอ เคว้งคว้า ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือได้นอกจากตัวพวกเขาเอง [หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ Cuarón สร้าง Gravity (2013)]

แผ่นดินไหว เป็นเหตุการณ์ไม่มีใครคาดคิดถึงว่าจะบังเกิดขึ้น ความรุนแรงของการสั่นสะเทือนทำให้เศษผนังเพดานโรงพยาบาลถล่มลงมา ตกใส่ตู้อบทารกแรกเกิด, ช็อตนี้เป็นการพยากรณ์เล็กๆว่า ลูกน้อยในครรภ์ของ Cleo น่าจะมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

นี่ก็อีกเช่นกัน Cleo ออกมาฉลองปีใหม่กับเพื่อนคนใช้ที่ร้านแห่งหนึ่ง ขณะกำลังจะชนแก้วกลับถูกกระแทกตกลงพื้นแตก, ในความเชื่อของชาวมายัน (Mayan) แก้วหรือไหที่ทำด้วยเซรามิก คือสัญลักษณ์ของครรภ์แม่ ถ้าทารกหรือเด็กอายุน้อยเสียชีวิต จะต้องใส่ร่างพวกเขาในถ้วย/ไหเซรามิกแล้วกลบฝัง เพื่อไม่ให้วิญญาณหวนกลับมาแก้แค้นเอาคืนผู้เข่นฆ่าตนเอง

ผมยังหาข้อมูลให้ไม่ได้ว่าชายคนนี้แต่งตัวเป็นอะไร แค่ทำให้หวนนึกถึง Where the Wild Things Are (2009) สัตว์ประหลาดในจินตนาการของเด็กๆ

กิจกรรมของผู้ชายคือ The Rules of the Game (1939) ยิงนกตกไม้ สตัฟสัตว์ สนแต่เข่นฆ่า แสวงหาความสุข กอบโกยใส่ตนเองโดยไม่ครุ่นคิดถึงผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ฉากเพลิงไหม้ป่า จะพบเห็นทั้งคนที่ช่วยดับ เดินไปเดินมา อยู่เฉยๆ ประหลาดสุดคือหมอนี่ดันขับร้องเพลง ราวกับสดุดีกับความมอดไหม้ ผืนแผ่นดิน/ประเทศชาติจะพังทลายย่อยยับเยินแล้วยังไง ฉันไม่ได้เป็นอะไร เรื่องอะไรจะต้องดิ้นรนให้เหนื่อยอ่อนแรง

Professor Zovek (รับบทโดยนักมวยปล้ำสัญชาติเม็กซิกัน Latin Lover) พบเห็นครั้งแรกในรายการโทรทัศน์ ใช้ฟันลากรถ ใครกันจะไปคาดคิดถึงว่าจะมารับเชิญในหนังด้วย ซึ่งท่วงท่าลีลายืนขาเดียว สะท้อนถึงชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ Cleo ก็เฉกเช่นเดียวกัน

เป็นท่าที่ผมว่ายากใช้ได้ มันท้าทายตอนหลับตา เพราะพอไม่มีอะไรเป็นมองเห็นจุดสังเกตความสมดุล เลยทำให้ค่อนข้างไขว้เขว ลำบากต่อการทรงตัว

เสื้อของ Fermín มีข้อความ ‘amor es… recordar tu primer beso’ แปลว่า Love is… remembering your first kiss แม้เขาจะไม่ได้ลั่นไกออกไป แต่ก็ถือว่าเป็นชนวนสาเหตุฆ่าลูกในไส้ของ Cleo

ช็อตนี้ก็มาในจังหวะเดียวกับ Children of Men ได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะ Pietà (1498–1499) ของ Michelangelo Buonarroti เปลี่ยนจากพระแม่มารีย์รำพันถึงพระเยซูคริสต์ นี่คงเป็นภรรยา/แฟนสาว โศกเสียใจกับสามี/แฟนหนุ่ม ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ El Halconazo หรือ Corpus Christi massacre เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1971 (ตรงกับวัน Corpus Christi Festival พอดิบพอดี)

ฉากคลอดลูก เพื่อนำเสนอความสมจริง ทั้งหมอ พยาบาล คือคนทำงานสายนี้โดยเฉพาะ และเพราะไม่ได้ต้องสร้างทารกที่มีชีวิต โมเดลจำลองเลยไม่ยุ่งยากวุ่นวายหรือใช้ CG ช่วยให้สิ้นเปลือง

ผมชื่นชอบไดเรคชั่นของฉากมากๆนี้นะ คือทำให้พื้นหลังหลุดโฟกัสเข้าไว้ ผู้ชมจะเห็นเบลอๆลางๆแต่สามารถคาดเดาได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเพราะใครๆก็อยากเห็นหน้าเด็กทารกน้อยแม้ไร้ลมหายใจ หนังก็ให้ระยะเวลาพอๆกับที่ Cleo พบเจอลูกนะแหละ ก่อนถูกม้วนพับด้วยผ้า รำลากันชั่วนิรันดร์

ระหว่างที่แม่หลอกพาลูกๆไปทริปเที่ยวทะเล เพื่อให้พ่อเก็บข้าวของในบ้านออกไป หลังจากบอกพวกเขาว่าพ่อคงไม่กลับมาอีกแล้ว ตัดควับมาช็อตนี้
– เด็กๆนั่งหน้าละห้อยกินไอศกรีม (จิตใจหนาวเหน็บเย็นยะเยือก)
– พื้นหลังรูปปั้นปู (Full of Crab!)
– พื้นหลังคู่หนุ่มสาวกำลังจะถ่ายรูป ร้องรำทำเพลงในชุดแต่งงาน … สถานการณ์ของพวกเขา ถือว่าตรงกันข้าม

นี่เป็นช็อตที่นำเสนอทุกสิ่งอย่างตรงกันข้ามความจริง ในลักษณะเสียดสีประชดประชัน อย่างเจ็บแสบกระสันต์

ทั้ง Sequence นี้ กล้องเคลื่อนบนดอลลี่ ส่วนที่ยื่นออกไปในทะเลก็สร้างท่า (Jetty) แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะต้องขณะคลื่นลมค่อยข้างแรง พระอาทิตย์ขึ้นในตำแหน่งเหมาะพอดี และเห็นว่า Yalitza Aparicio ว่ายน้ำไม่เป็นจริงๆ (สีหน้าความหวาดกลัวของเธอนั้นแสดงออกอย่างชัดเจน ไม่ใช่กลัวเด็กๆสูญหาย แต่คือตนเองจะจมน้ำตาย)

เด็กๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ค่อยรับฟังคำตักเตือนของผู้ใหญ่ ชอบอวดอ้างถือดีว่าตนเองเก่งกาจไร้เทียมทาน ก็จนกว่าจะประสบพบเจอเรียนรู้เข้ากับตนเอง ถ้ายังเอาตัวรอดก็คงสามารถจดจำไปจนวันตาย

เหตุการณ์นี้ผมว่าสอนใจ Cleo ได้มากกว่าใครเพื่อน เพราะสุดท้ายเธอรำพันออกมาว่า ‘ฉันไม่ได้อยากให้เขาเกิด’ นั่นหมายถึงเพิ่งมาครุ่นคิดได้ว่า ไม่มีใครในโลกที่อยากจะตาย แต่การจากไปของลูกของเธอ ส่วนหนึ่งเพราะความตั้งใจ/ไม่ได้ตั้งใจของตนเอง

ช่วงท้ายของหนังจะมีลักษณะย้อนศรกับช่วงแรก ไล่ตั้งแต่ตอนหวนกลับบ้าน กล้องแพนนิ่งเวียนวนซ้ายขวา ชั้นบนลงล่าง และช็อตสุดท้าย Ending Credit ตรงข้ามกับพื้นกระเบื้อง คือมุมเงยเห็นท้องฟ้า เครื่องบินโฉบผ่าน (หมาเห่าเครื่องบิน)

มุมเงยขึ้นนี้ยังสามารถสื่อถึงอนาคต ความเป็นไปได้ไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งถ้าย้อนกลับไปพื้นกระเบื้องตอนต้น นั่นอาจตีความได้ถึงอดีต สิ่งที่ถูกจารึก ฝังไว้ในความทรงจำ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ยังสามารถสะท้อนถึงปัจจุบัน/อนาคตได้เช่นกัน

ตัดต่อโดย Cuarón กับ Adam Gough, ถึงหนังทั้งเรื่องจะใช้มุมมองของ Cleodegaria ‘Cleo’ Gutiérrez ปรากฎพบเห็นอยู่ทุกช็อตฉาก แต่ลักษณะของงานภาพราวกับ มุมมองบุคคลที่สามที่จับจ้องมอง Cleo เสียมากกว่า

หนังมีจังหวะการตัดต่อที่ลื่นไหล ลงตัว เลือกไดเรคชั่นได้เหมาะเจาะกับ Sequence นั้นๆเป็นอย่างมาก อาทิ
– กล้องกำลังแพนนิ่งจากชั้นบน พอตัวละครเดินลงบันไดก็ตัดมาชั้นล่างในขณะที่กล้องกำลังแพนนิ่งพอดิบพอดี
– ฉากการเข้าจอดรถของพ่อ ร้อยเรียงด้วยลีลา มาดเท่ห์ โก้หรู ราวกับผู้ยิ่งใหญ่ พระราชาในบ้าน
– หลังเอาตัวรอดจากการจมน้ำ ร้อยเรียงภาพทุกคนขณะอยู่บนรถขับกลับบ้าน ในสภาพอารมณ์ที่แตกต่างกัน
ฯลฯ

หลัง Ending Credit มีข้อความขึ้นว่า “Shantih Shantih Shantih” แบบเดียวกับ Children of Men (2006) ภาษาสันสกฤต แปลตรงตัวคือ สันติ สันติ สันติ

สำหรับเพลงประกอบ มีลักษณะเป็น Diegetic Music เพียงเสียงล่องลอยมาจากวิทยุ ผับบาร์ สถานที่ต่างๆในหนัง (ถ้าใครอยากฟัง ลองหา Soundtrack ประกอบหนังดูเองแล้วกัน) บทเพลงเด่นๆ อาทิ
– ตอนพ่อขับรถเข้าบ้าน Hector Berlioz: Symphonie fantastique, Op. 14, II. Un bal: Allegro non troppo
– ในงานเลี้ยง บทเพลงดังจากแผ่นครั่ง I Don’t Know How to Love Him ขับร้องโดย Yvonne Elliman
ฯลฯ

ในความทรงจำของ Alfonso Cuarón มีสามสิ่งที่คงตราตรึงไม่มีหลงลืม
– เมื่อตอน Libo คลอดลูกเสียชีวิต
– แม่บอกว่า พ่อจะไม่กลับบ้านมาอีกแล้ว
– ไม่รู้ตนเองหรือน้องๆ เกือบจมน้ำตาย แต่ได้ Libo ช่วยชีวิตไว้

โดยไม่รู้ตัวเรื่องราวชีวิตของ Libo/Cleo สะท้อนเข้ากับเหตุการณ์ของครอบครัว Cuarón/Sopia ผู้ชายในโลกของพวกเธอต่างเป็นคนเห็นแก่ตัว ฟันแล้วทิ้ง ท้องอิ่มแล้วหนีหาย ปลดทุกข์ถ่ายขี้ไว้แล้วไม่สนเก็บทำความสะอาด ปัดภาระโยนทิ้งโบ้ยความผิดให้ผู้อื่น เป็นเหตุให้ทั้งสองหญิงต่างรำพัน

“We are alone. No matter what they tell you, we women are always alone”.

ในระดับมหาภาคเทียบกับประเทศ Mexico ช่วงทศวรรษ 70s แม้เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโต แต่รัฐบาลของพรรคปฏิวัติสถาบันก็ได้บริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 1929 ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้รัฐมนตรี ผู้นำเริ่มลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงประชาชน [Fermín ปฏิเสธรับฟัง Cleo] เกิดการเดินประท้วง ต่อต้าน ใช้ความรุนแรงนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งหนึ่งในครั้งเลวร้ายที่สุดก็คือ El Halconazo (1971) ทหารตำรวจใช้กำลังกับนิสิตนักศึกษา มีผู้เสียชีวิตกว่า 120 คน อนาคตของชาวเม็กซิกันช่างมืดมัวเสียจริงจัง [ยกปืนจ่อแม่ แต่กลายเป็นคลอดลูกเสียชีวิต]

ด้วยภาษาภาพยนตร์มาเช่นนี้ ตั้งแต่ตอนที่ Sofia บอกลูกๆไม่ให้ลงเล่นน้ำทะเล นั่นเป็น ‘Death Flag’ ทำเอาผมใจหายวูบ คาดคิดว่าต้องมีใครตายแน่ๆ แต่สุดท้ายกลับเป็น Cleo คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นกลับช่วยชีวิตพวกเขาไว้, นัยยะในเชิงมหภาค น่าจะเป็นการสะท้อนบุคคลที่อาจสามารถช่วยชีวิตประเทศ Mexico คงต้องเป็นคนนอก ไม่ใช่นักการเมืองจากพรรคปฏิวัติสถาบัน ใครสักคนที่พร้อมเสียสละตนเองเพื่อผลส่วนรวม

เกร็ด: Vicente Fox จากพรรคภารกิจแห่งชาติ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคปฏิวัติสถาบัน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเม็กซิโกเมื่อปี 2000 สิ้นสุดระยะเวลาเบ็ดเสร็จ 71 ปี

เรื่องราวชีวิตของ Libo/Cleo สอนอะไรเรา? ทั้งๆที่เธอเป็นเพียงคนรับใช้ ชนชั้นทางสังคมด้อยกว่า แต่กลับไม่เคยกดตัวลงต่ำ แบ่งแยกตีตนออกห่าง ลูกๆนายจ้างไม่ต่างอะไรกับลูกตนเอง เลี้ยงดูแลพวกเขาอย่างเอ็นดูทะนุถนอม ไม่ถือตัวจนกลายเป็นที่รัก ส่วนหนึ่งของครอบครัว เวลามีปัญหาก็พร้อมต่อสู้แก้ไขไปด้วยกัน กอดกันกลมเมื่อสามารถเอาตัวรอดมาได้

แต่สิ่งดีงามที่สุดในจิตใจของ Cleo เธอว่ายน้ำไม่เป็น แต่เมื่อพบเห็นเด็กๆเหมือนกำลังจะจมน้ำ รีบเร่งวิ่งปรี่ลงทะเลเข้าไปช่วยเหลือ โดยไม่ครุ่นคิดถึงอันตรายเป็นตายของตนเอง … ครุ่นคิดดูมันอาจเป็นเรื่องโง่งี่เง่าไร้สติ แต่นั่นคือสันชาติญาณเท่านั้นจะแสดงออกมาได้ เนื้อแท้ฝังลึกในจิตวิญญาณของคนมันอยู่ตรงนี้แหละ

ถ้าผู้นำประเทศ รัฐมนตรี ส.ส. เป็นได้แบบ Libo/Cleo สักเสี้ยวส่วนหนึ่ง ป่านนี้ประเทศของเราคงสามารถเจริญรุ่งเรืองเทียมทัดนานาอารยะไปนานแล้ว

เดิมทีหนังมีโปรแกรมฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่พอ Netflix ได้ถือครองลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย เลยถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วม (ว่ากันว่าถ้าเข้าฉายเทศกาลนี้ น่าจะคว้ารางวัล Palme d’Or ได้แน่ๆ) ถึงกระนั้นไม่มีข้อห้ามไร้สาระในเทศกาลหนังเมือง Venice แถมมี Guillermo del Toro เป็นประธานกรรมการ (Jury President) หลายคนมองว่าการคว้ารางวัล Golden Lion ดูจะเข้าข้างเพื่อนซี้ไปเสียหน่อย แต่คนรับชมหนังแล้วไม่มีใครครุ่นคิดแบบนั้นแน่นอน

“Roma is, for me, the culmination of Alfonso’s career so far. When I first saw the movie, I said to him, ‘This is not only your best movie, it’s one of my top five movies of all time. But don’t get big-headed: it’s number five'”.

– Guillermo del Toro

หนังใช้ทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ ว่ากันตามตรงถ้าฉายในโรงภาพยนตร์น่าจะคืนทุนไม่ยากเท่าไหร่ แต่เมื่ออยู่ในสิทธิ์จัดจำหน่ายของ Netflix เลยไม่รู้ว่าผลลัพท์ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด, ว่าไปมองในแง่ดีนี้ก็คือ ผู้สร้างภาพยนตร์ในสังกัด Netflix จะได้ไม่ต้องไปวิตกกังวลว่าหนังจะทำเงินมากน้อยเท่าไหร่ เน้นสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ดีสุดในวิสัยทัศน์/งบประมาณก็เพียงพอแล้ว

ผมเฉยๆกับหนังมาครึ่งค่อนเรื่อง พอถึงฉากคลอดลูกก็เริ่มหงุดหงิดรำคาญใจ เพราะเพิ่งรับชม Children of Men เมื่อวานก่อนจะไม่มีอะไรคิดใหม่บ้างเลยหรือ? ที่ไหนได้วินาทีถัดมาสร้างความช็อค ตกตะลึงงัน คาดคิดไม่ถึงว่าจะตัดตอนอนาคตด้วยวิธีนี้ เกิดอาการตกหลุมรักขึ้นมาโดยพลัน แต่ไม่จบแค่นั้นยังมีคลื่นลูกสุดท้ายที่สร้างความหวาดหวั่นวิตก สั่นสะพรึงกลลัวให้อีก ยังดีไม่มีใครเป็นอะไร ไม่เช่นนั้น…คิดไม่ตกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในจิตใจบ้าง

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” พบเห็นคนแบบ Cleo พัฒนาตนเองให้เป็นได้สักเศษเสี้ยวหนึ่งของเธอ ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ คงดีขึ้นกว่าเดิมเป็นไหนๆ

จัดเรต 15+ กับรุนแรงที่อยู่ดีๆก็เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว

คำโปรย | “ความทรงจำอันงดงามที่สุดของผู้กำกับ Alfonso Cuarón ถ่ายทอดออกมาผ่าน Roma ได้อย่างประณีตวิจิตร ตรึงตระการ ทรงคุณค่าแห่งชีวิต”
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ตกหลุมรักคลั่งไคล้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: