Roman Holiday (1953) : William Wyler ♥♥♥♥
หน้าหนังคือรอม-คอม Romantic Comedy กุ๊กกิ๊กน่ารักของนักข่าวจอมกะล่อน Gregory Peck และเจ้าหญิงในกรง Audrey Hepburn แต่เมื่อสืบค้นไปถึงผู้เขียนบทตัวจริง Dalton Trumbo ขณะนั้นกำลังถูก Hollywood Blacklist มันต้องมีบางสิ่งอย่างซ่อนเร้นอยู่แน่ๆ
โรมรำลึก เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของ Hollywood เดินทางไปปักหลักถ่ายทำยังประเทศอิตาลี [ถัดจาก Quo Vadis (1951)] เพราะ William Wyler ต้องการหลบลี้หนีหน้า House Un-American Activities Committee ที่แม้เจ้าตัวจะไม่ได้เกี่ยวเนื่องอะไรกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของหน่วยงานนี้
ค่านิยมการถ่ายทำภาพยนตร์ยังประเทศอิตาลี ของผู้สร้างจาก Hollywood ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงทศวรรษ 50s – 60s ถึงขนาดมีคำเรียกขาน ‘Hollywood on the Tiber’ เนื่องด้วยค่าแรงแสนถูก แถมได้พื้นหลังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เหมาะกับแนว Epic อลังการงานสร้าง อาทิ The Barefoot Contessa (1954), War and Peace (1956), Helen of Troy (1956), Ben-Hur (1959), Cleopatra (1963), The Fall of the Roman Empire (1964), The Agony and the Ecstasy (1965) ฯ
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดจากแนวคิดของ Dalton Trumbo ได้แรงบันดาลใจจาก Princess Margaret พระขนิษฐาใน Queen Elizabeth II แห่งสหราชอาณาจักร ขณะนั้นสานสัมพันธ์รักนายทหารสามัญชน Peter Townsend ที่แต่งงานอยู่ก่อนแล้ว หลังจากเขาอย่าร้างภรรยา ได้สู่ขอพระองค์ แต่กลับถูกกีดกัดจากราชสำนัก และคริสต์จักร Church of England ปฏิเสธทำพิธีอภิเสกสมรสให้ (เพราะผู้ชายเคยแต่งงานมีคู่ครองแล้ว ไม่เหมาะสมเป็นคู่สมรสขององค์หญิง) จนพวกเขาต้องแยกทางเลิกร้างรามิอาจครองคู่อยู่ร่วม
(ถึงกระนั้น Princess Margaret ภายหลังทรงอภิเสกสมรสกับสามัญชน Antony Armstrong-Jones ได้รับแต่งตั้งเป็น Earl of Snowdon มีโอรสสองพระองค์)
เพราะ Trumbo ขณะนั้นถูก Hollywood Blacklist เลยขอให้เพื่อนสนิท Ian McLellan Hunter ออกหน้าแทนตัวเอง สรรหาสตูดิโอที่มีความสนใจ เข้าตาผู้กำกับ Frank Capra คาดหวังให้ออกมาสไตล์ Screwball Comedy คล้ายๆ It Happened One Night (1934) และเล็งนักแสดงนำไว้ Cary Grant ประกบ Elizabeth Taylor
แต่เนื่องจากบริษัท Liberty Films ของ Capra ทศวรรษนั้นสร้างหนังไม่ทำเงินหลายเรื่องติด จำต้องขายลิขสิทธิ์บทดังกล่าวให้ Paramount Picture ทีแรกยังตั้งใจว่าจะกำกับเองอยู่ แต่ทุนที่สตูดิโอตั้งไว้น้อยเกินความคาดหมาย เลยขอถอนตัวออกไปไม่ช้าพลัน (ว่ากันว่าเหตุผลจริงๆที่ Capra ขายทิ้งบทหนัง เพราะรับรู้เบื้องหลังของ Trumbo เลยไม่ต้องการสนับสนุนหลังพวก Hollywood Ten)
Paramount เล็งหาผู้กำกับคนใหม่ ทีแรกติดต่อ George Stevens ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ จนมาลงเอยกับ William Wyler หลังจากทำหนังเครียดๆมาสองเรื่องติด The Heiress (1949) และ Detective Story (1951) ต้องการสร้างภาพยนตร์เนื้อหาผ่อนคลายตนเองบ้าง
William Wyler ชื่อจริง Willi Wyler (1902 – 1981) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เชื้อสาย Jews เกิดที่ Mülhausen, German Empire (ปัจจุบันคือ France) พ่อเชื้อสาย Swiss ส่วนแม่ German มีศักดิ์เป็นหลานของ Carl Laemmle (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Universal Studios) เมื่ออพยพสู่อเมริกาปี 1921 ได้รับชักชวนมาทำงานยัง Universal Studios เริ่มจากพนักงานทำความสะอาด ไต่เต้าขึ้นมาผู้ช่วย และผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Crook Buster (1925), มีชื่อเสียงจาก Dodsworth (1936), Jezebel (1938), Wuthering Heights (1939), The Westerner (1940), The Little Foxes (1941), Roman Holiday (1953), Friendly Persuasion (1956), คว้า Oscar: Best Director ถึงสามครั้ง เรื่อง Mrs. Miniver (1942), The Best Years of Our Lives (1946), Ben-Hur (1959) [ทั้งสามเรื่องนี้คว้า Oscar: Best Picture ได้อีกด้วย!]
แม้ Wyler จะไม่เคยยุ่งเกี่ยวอะไรกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหรัฐอเมริกา แต่อาจเพราะเขาเป็นคนชาว Jews/German รับรู้บทเรียนของ Nazi และความเกลียดชัง การมาถึงของ McCarthyism ตระหนักได้โดยทันทีว่านี่ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมควร กระนั้นก็ไม่สามารถพูดมากอะไรได้ วิธีการเดียวเท่านั้นคือผลักดันโปรเจคนี้ให้ไปถ่ายทำยังยุโรป ประเทศอิตาลีจริงๆ ห่างไกลเสียงซุบซิบนินทา บรรยากาศตึงเครียดที่ไม่น่าพึงประสงค์ แม้จะถูกตัดทอนลดงบประมาณไปบ้าง แต่ก็ยังเพียงพอให้สามารถดิ้นรนเอาตัวรอดได้ระยะหนึ่ง
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ พรรคพวกเพื่อนร่วมงานหลายๆคนของ Wyler ต่างพัวพันถูกขึ้นบัญชี Hollywood Blacklist นอกจาก Dalton Trumbo ก็มี Lester Koenig มาช่วยขัดเกลาบทเพิ่มเติม, Bernard Vorhaus มือขวาผู้ช่วยผู้กำกับ ฯ
Princess Ann (รับบทโดย Audrey Hepburn) ออกเดินทางท่องยุโรปเพื่อปฏิบัติภารกิจสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่การเดินทางอันเหน็ดเหนื่อย กอปรพบปะทูตานุทูตเป็นสิ่งน่าเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจ อยากออกไปเที่ยวเล่นสนุกสนาน เหมือนสามัญชนคนธรรมดาทั่วไปบ้าง, วันหนึ่งเลยตัดสินใจลักลอบหลบหนีออกจากสถานทูต บังเอิญได้รับการช่วยเหลือจาก Joe Bradley (รับบทโดย Gregory Peck) นักข่าวจอมกะล่อนที่พอรับรู้ตัวตนแท้จริงของเธอ ร่วมกับพรรคเพื่อนตากล้อง Irving Radovich (รับบทโดย Eddie Albert) นำพาองค์หญิงออกท่องกรุงโรม เปิดหูเปิดตา ตั้งใจว่าจะให้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ แล้วเรื่องราววุ่นๆก็บังเกิดขึ้น
เกร็ด: Paramount ได้รับคำร้องขอจากรัฐบาลอังกฤษ ไม่ให้เอ่ยถึงความสัมพันธ์ของตัวละครต่อราชวงศ์ หรือแม้แต่ Princess Margaret ด้วยเหตุนี้หนังจึงไม่เอ่ยชื่อว่า Princess Ann เป็นองค์หญิงจากประเทศไหน ราชวงศ์อะไร
Gregory Peck (1916 – 2003) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ La Jolla, California ในครอบครัว Catholic โตขึ้นมีความตั้งใจที่จะเป็นหมอ แต่ไปๆมาๆกลายเป็นนักแสดง เริ่มต้นมีผลงานละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Days of Glory (1944) ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor ถึง 5 ครั้ง โดย 4 ครั้งแรกไม่เคยได้รางวัล มาจากช่วง 5 ปีแรกในวงการ The Keys of the Kingdom (1944), The Yearling (1946), Gentleman’s Agreement (1947), Twelve O’Clock High (1949) ส่วนผลงานที่ประสบความสำเร็จได้รับการจดจำสูงสุด และคว้า Oscar คือ To Kill a Mockingbird (1962)
รับบท Joe Bradley นักข่าวอเมริกันตกอับ ไม่รู้เพราะติดหนี้พนันเลยถูกผลักไสส่ง ย้ายมาประจำทำงานอยู่กรุงโรม, อิตาลี ถูกส่งตัวให้ไปทำข่าวสัมภาษณ์ Princess Ann แต่วันนั้นดันตื่นสายโด่ง โป่งกับเจ้านายแต่ถูกจับได้ พบเห็นรูปถ่ายองค์หญิงตระหนักว่านั่นคือสาวงามที่ตนจับพลัดพลูช่วยชีวิตไว้เมื่อคืน เลยเสแสร้งตีเนียลพาเธอออกท่องเที่ยวเปิดโลกกว้าง คาดหวังกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งจักได้มีเงินหวนกลับอเมริกา กระนั้นโดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักจนมิอาจทรยศหักหลัง ที่สุดตัดสินใจเก็บความทรงจำนั้นไว้ลึกๆภายในดีกว่า
แรกสุดตั้งแต่ผู้กำกับ Capra ติดต่อ Cary Grant บอกปัดปฏิเสธเพราะคิดว่าตนเองแก่เกินรับบท พอหนังเปลี่ยนมือมา Wyler ได้มีโอกาสอ่านบทก็บอกปัดอีกรอบ เพราะเห็นว่าตัวละครไม่ใช่ศูนย์กลางหนัง!, สำหรับ Peck หลังจากเล่นหนังเครียดๆมาเยอะ กำลังโหยหาบทสบายๆผ่อนคลาย เล็งเห็นโอกาสดีเลยตบปากรับคำ แต่บินมาอิตาลีอย่างหน้ามุ่ย เพราะเพิ่งหย่าร้างกับภรรยา Greta Kukkonen กระนั้นระหว่างถ่ายทำเรื่องนี้ ก็มีโอกาสพบเจอสาวฝรั่งเศส Veronique Passani ตกหลุมรัก แต่งงาน ครองคู่กันจนแก่เฒ่า
ผมว่าคอหนังคลาสสิกน่าจะตระหนักรู้ได้ บทบาทของ Joe Bradley ราวกับเขียนมาเพื่อ Cary Grant โดยเฉพาะ ลักษณะ Screwball ที่ตัวละครจับพลัดจับพลู กระทำโน่นนี่นั่นแล้วออกมาครึกครื้นสุดหรรษา แต่เมื่อนักแสดงรับบทคือ Gregory Peck ผมว่าพี่แกดูเครียด จริงจัง เก็บกดมากไปสักหน่อย ไม่บ้องๆ บื้อๆ ตีหน้าซื่อๆ น้ำเสียงไม่แคร์ยี่หร่าอะไรเหมือน Grant แต่บทเสแสร้งกลั่นแกล้ง หน้านิ่งร้ายกาจได้ใจ สุดท้ายเดินจากไปด้วยรอยยิ้มกริ่ม ซาบซึ้ง ประทับอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม
ขณะนั้น Peck เป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดัง ค่าตัวสูงสุดในหนัง ซึ่งสัญญาจ้างเรียกร้องให้ขึ้นชื่อเครดิตตัวใหญ่ๆตำแหน่งสูงกว่าใคร แต่ระหว่างถ่ายทำพบเห็นการแสดงของ Audrey Hepburn ประทับใจมากๆถึงขนาดคาดการณ์ว่าเธอต้องคว้า Oscar ได้แน่ๆ จึงบอกกับโปรดิวเซอร์ให้ขึ้นชื่อเครดิตเสมอกัน นี่เป็นสิ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการภาพยนตร์! (ที่นักแสดงหน้าใหม่เอี่ยม จะปรากฎขึ้นชื่อเคียงข้างนักแสดงค่าตัวสูงสุดของหนัง)
Audrey Hepburn ชื่อเกิด Audrey Kathleen Ruston (1929 – 1993) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Ixelles, Brussels ประเทศ Belgium แม่ของเธอ Baroness Ella van Heemstra สืบเชื้อสายขุนนาง Dutch, ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนบัลเล่ต์ ร้องคอรัส ระหว่างเป็นตัวประกอบเล็กๆภาพยนตร์ Monte Carlo Baby (1952) เข้าตานักเขียนชื่อดัง Colette เลือกเธอมาแสดงนำละครเวที Broadway เรื่อง Gigi เสียงตอบรับดีล้นหลาม ได้รับการชักชวนมาทดสอบหน้ากล้อง Roman Holiday ประทับใจผู้กำกับ Wyler เป็นอย่างมาก ถึงขนาดรอคอยให้สิ้นสุดโปรแกรม Gigi ถึงค่อยเริ่มต้นถ่ายทำหนังเรื่องนี้
นำคลิกที่ Audrey Hepburn ทดสอบหน้ากล้องมาให้รับชมกัน
รับบท Princess Ann คงเพราะได้รับการเลี้ยงดูราวกับนกในกรง สวมชุดนอนยาวเหมือนเด็กน้อย ก่อนนอนต้องกินแคร็กเกอร์แล้วดื่มนมให้หลับสนิท จึงเกิดความตึงเครียด เบื่อหน่ายต่อสิ่งซ้ำซากจำเจ เพ้อใฝ่ฝันต้องการโบยบินได้รับอิสรภาพสักครั้ง หลบหนีออกนอกสถานทูต โชคดีได้พบเจอสุภาพบุรุษไม่ฉกฉวยโอกาส เปิดหูเปิดตาเปิดโลกทัศน์ ทำในสิ่งไม่เคยทำ ชีวิตเต็มไปด้วยสิ่งหรรษา กระทั่งวินาทีตกหลุมรักจึงตระหนักขึ้นมาได้ ที่นี่ไม่ใช่โลกของฉัน หวนกลับสู่กรงขังแล้วปรับเปลี่ยนแปลงวิถีทางใหม่ๆ ตราฝังเก็บความทรงจำหนึ่งวันหนึ่งคืนนั้นไว้ไม่รู้ลืม
ก่อนหน้าจะมาลงเอยที่ Hepburn นักแสดงที่อยู่ในความสนใจของสตูดิโอคือ Elizabeth Taylor, Jean Simmons, Suzanne Cloutier แต่พวกเธอต่างติดงานโปรเจคอื่นอยู่ และเมื่องบประมาณทุนสร้างถูกตัดทอน (เพราะ Wyler ยืนกรานต้องไปถ่ายทำยังประเทศอิตาลี) เป็นเหตุให้ต้องสรรหานักแสดงหน้าใหม่ ค่าตัวถูกกว่าเป็นไหนๆ
ผู้กำกับ Wyler ถือว่าเป็นผู้ปลุกปั้นนักแสดงหญิงระดับตำนานมากมาย ก่อนหน้านี้อาทิ Bette Davis, Olivia de Havilland, และว่าที่ Barbra Streisand แต่ในบรรดายอดฝีมือทั้งหลาย เคยให้สัมภาษณ์ยกย่อง Audrey Hepburn
“In that league there’s only ever been Garbo, and the other Hepburn, and maybe Bergman. It’s a rare quality, but boy, do you know when you’ve found it”.
– William Wyler
คงไม่มีอะไรกล่าวยกย่องได้มากกว่าความ ‘Born to Be’ ของ Hepburn ทั้งเชื้อชาติวงศ์ตระกูล รูปลักษณ์ภายนอก ทั้งยังจิตใจเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์สดใส รอยยิ้มไม่ว่าตัวจริงหรือแสดงออกในภาพยนตร์ สรรหาความผุดผ่องแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว, แต่เรื่องนี้ไม่มีฉากไหนที่ผมประทับใจ Hepburn แบบสุดๆ เสมอตัวตั้งแต่ต้นจนจบ ใกล้เคียงคงเป็นฉากลาจากร่ำร้องไห้ แต่ดันมารู้ภายหลังว่าเธอไม่สามารถเรียกน้ำตาออกมา หลายสิบเทคจนถูกผู้กำกับ Wyler ตำหนิต่อว่า แล้วน้ำตาก็หลั่งออกมาเอง … มันคนละอารมณ์กันเลยนะ!
ถ่ายภาพโดย Franz Planer แต่ต่อมาล้มป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ Henri Alekan เลยเข้ามารับช่วงสานต่อ
– Planer เป็นตากล้องสัญชาติ Austria ผลงานเด่นๆ อาทิ Letter from an Unknown Woman (1948), Death of a Salesman (1951), Roman Holiday (1953), The Big Country (1958), The Nun’s Story (1959), King of Kings (1961), Breakfast at Tiffany’s (1961), The Children’s Hour (1961) ฯ
– Alekan สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่น La Belle et la bête (1946), Roman Holiday (1953), Topkapi (1964), La truite (1982), Wings of Desire (1987) ฯ
หนังทั้งเรื่องถ่ายทำยังสถานที่จริง และในสตูดิโอ Cinecittà Studios กรุงโรม, ประเทศอิตาลี
– Mouth of Truth ณ Piazza Bocca della Verità
– Piazza della Rotonda, วิหาร Pantheon
– Castel Sant’Angelo
– Trevi Fountain
– Piazza Venezia
– Piazza di Spagna
– Trinità dei Monti
– Colosseum
– Tiber river
– Palazzo Colonna Gallery, ฉากสุดท้ายที่องค์หญิงให้สัมภาษณ์สื่อ
ฯลฯ
ตอนแรกผู้กำกับ Wyler ต้องการถ่ายทำหนังด้วยฟีล์มสี Technicolor แต่ด้วยงบประมาณถูกหั่นไปเยอะ เลยจำใจต้องเปลี่ยนมาใช้ฟีล์มขาว-ดำ ซึ่งกลายเป็นว่าได้สัมผัสของ Neorealist เมื่อออกท่องเที่ยวเตร่รอบกรุงโรม ซะงั้น!
ในด้านเทคนิคของงานภาพ ไม่ได้มีความหวือหวาอะไรสักเท่าไหร่ นอกจากทิวทัศนียภาพสวยๆของกรุงโรม, ประเทศอิตาลี ซึ่งมีความตื่นตระการตาสำหรับผู้ไม่เคยพบเห็นก็เท่านั้น
พระราชวัง/โลกของเจ้าหญิง จะมีลักษณะหนึ่งที่แตกต่างจากมุมมองเมือง ท้องถนนทั่วไป คือพื้นที่ว่างเหนือศีรษะ ส่วนหนึ่งคงจะเก็บรายละเอียดความงดงามวิจิตรของสถานที่ และนัยยะสะท้อนวิทยฐานะ ความไฮโซ ชนชั้นสูง
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดยเจ้าแม่ Edith Head แน่นอนว่าต้องคว้า Oscar: Best Costume ไร้ผู้เทียมทาน
นัยยะของรองเท้า ไม่เพียงหยอกเหย้า Cinderella สื่อสัญลักษณ์ชนชั้นล่าง/ต่ำกว่า แต่ยังหมายถึงการสวมใส่บทบาทตนเองที่ขณะนั้นเป็นเจ้าหญิง เกิดอาการคัน ยืนเหนื่อย อยากถอดออกมาเกา เปลี่ยนสลับคู่ข้าง เป็นอย่างอื่นได้บ้างหรือเปล่า?
เกร็ด: นักแสดงสมทบแทบทั้ง Sequence นี้ คือขุนนาง/ชนชั้นสูงชาวอิตาเลี่ยนจริงๆ ไม่รับค่าตัวแต่ขอให้บริจาคการกุศลทั้งหมด
ว่ากันว่าปฏิกิริยาของ Hepburn ในฉาก Mouth of Truth เพราะไม่รู้ว่าจะโดนกลั่นแกล้ง นึกไปว่า Peck ถูกงับจริงๆ เลยแสดงอาการตื่นตกใจกลัวออกมา … น่ารักแบบคลาสสิกมากๆ
เพราะมนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ ความแตกต่างทางชนชั้น วิทยฐานะ สำหรับบางคนคงได้แต่ทำใจ ‘หมาเห่าเครื่องบิน’ มิอาจตะเกียกตะกายไขว่คว้าบางสิ่งสูงส่งล้ำค่าเกินประมาณตนเอง ฉากจบช็อตนี้ถือว่าทรงพลังมากๆ กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลไปพร้อมกับตัวละคร เดินออกจากมายาความฝัน หวนกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง
เกร็ด: ตัวประกอบที่เข้าร่วมฉากนี้ แทบทั้งหมดเป็นนักข่าวตัวจริงๆ ประจำทำงานอยู่ประเทศอิตาลี
ตัดต่อโดย Robert Swink (1918 – 2000) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของผู้กำกับ Wyler ตั้งแต่ Detective Story (1951) จนถึงผลงานสุดท้าย, เข้าชิง Oscar: Best Film Editing สามครั้งจาก Roman Holiday (1953), Funny Girl (1968), The Boys from Brazil (1978)
หนังเริ่มต้นอารัมบทด้วยรายงานข่าว (แรงบันดาลใจจาก Citizen Kane) จากนั้นเล่าเรื่องผ่านตัวละคร Princess Ann และ Joe Bradley ออกท่องเที่ยวกรุงโรมในระยะเวลา 1 วัน 1 คืน แล้วร่ำลาจาก หวนกลับมาพบเจออีกครั้งวันถัดไปเพื่อเก็บช่วงเวลาแห่งความทรงจำนั้นไว้ชั่วนิรันดร์
เพลงประกอบโดย Georges Auric (1899 – 1983) สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ La Belle et la Bête (1946), Orpheus (1950), Moulin Rouge (1952), Roman Holiday (1953), The Wages of Fear (1953), Rififi (1955), The Innocents (1961) ฯ
ความระยิบระยับ เลิศหรูหรา ไม่เพียงสะท้อนภาพลักษณ์เจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ แต่ยังจิตใจภายในที่เอ่อล้นด้วยความสนุกสนาน หรรษา ร่าเริง อดไม่ได้บังเกิดรอยยิ้ม สร้างความประทับใจ ตราตรึงต่อผู้พบเห็น ต่อให้มาร้ายก็ต้องศิโรราบพ่ายความบริสุทธิ์ผุดผ่องใส ไร้มลพิษภัย น่ารักน่าชังเกินหาถ้อยคำใดๆมาบรรยาย
Roman Holiday นำเสนอเรื่องราวของเจ้าหญิงที่มีชีวิตราวกับนกในกรง เกิดความเบื่อหน่ายซ้ำซากจำเจ พยายามดิ้นรนอยากจะหลบหนีไปท่องเที่ยวพักผ่อนยังโลกภายนอกบ้าง สักครั้งก็ยังดี!
การได้หลบหนีออกไปท่องเที่ยว เปิดหูเปิดตา เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ของเจ้าหญิง ได้ทำให้พระองค์กล้าที่จะครุ่นคิด ตัดสินใจ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แม้สุดท้ายจะหวนกลับมาเป็นนกในกรงอีกครั้งด้วยวุฒิภาวะหน้าที่ แต่ก็ทรงเรียนรู้จักคุณค่าความหมายของอิสรภาพ รสชาดแห่งชีวิต ตราประทับฝังลึกในความทรงจำมิรู้ลืมเลือน
สิ่งที่ Dalton Trumbo แอบแฝงซ่อนเร้นไว้ คือมุมมองทัศนคติของชนชั้นสูง กลุ่มผู้นำ รัฐมนตรี (โดยเฉพาะ Joseph McCarthy) ความคิดอ่านของพวกเขาราวกับถูกครอบงำให้อยู่ในกฎกรอบ ระเบียบแบบแผน ไม่เคยเปิดกะลาออกสู่โลกกว้าง เรียนรู้พบเห็นสิ่งตื่นตาตื่นใจ ทดลองอะไรใหม่ๆให้กับชีวิตบ้าง
นี่ถือเป็นการโจมตี House Un-American Activities Committee แบบตรงไปตรงมา ไม่ต่างอะไรจาก ‘กบในกะลาครอบ’ ปากอ้างความสงบสุขสันติภาพ แต่กลับกัดกั้นขวางไม่ยินยอมรับฟังความคิดเห็นต่างของผู้อื่น นี่นะหรือสหรัฐอเมริกาแห่งอิสรภาพ กลับกีดกั้นขวางบุคคลผู้ครุ่นคิดเห็นต่าง แล้วยังลุ่มหลงใหลกันว่า ‘American Great!’ แบบนี้มันจะทนอยู่ได้อย่างไร
สำหรับผู้กำกับ William Wyler พยายามอย่างเต็มที่ในการหลบซ่อนประเด็นการเมืองนั้น แล้วไปเพิ่มสีสันมุกตลก ใส่ความหวานแหววรอม-คอม กุ๊กกิ๊กน่ารัก อย่างพอดิบพอดีไม่มีเลี่ยนจนเกินไป นี่ราวกับตัวเขาเองก็ได้ออกเดินทางมาท่องเที่ยว พักผ่อนคลาย ทำงานแค่ของแถมกลับไป และผลักดันส่งให้ Audrey Hepburn สู่ดาวดาราดวงใหม่ เจิดจรัสจร้าบนฟากฟ้านภาลัย
ด้วยทุนสร้าง $1.5 ล้านเหรียญ ออกฉายปีแรกทำเงินในอเมริกาได้ $3 ล้านเหรียญ เก็บสะสมไปเรื่อยๆจนสิ้นสุดโปรแกรมที่ $5 ล้านเหรียญ รวมรายรับต่างประเทศ $12 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จ กำไรงดงาม
เข้าชิง Oscar 10 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actress (Audrey Hepburn) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Eddie Albert)
– Best Writing, Motion Picture Story ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Screenplay
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White
– Best Costume Design, Black-and-White ** คว้ารางวัล
แม้รางวัล Best Writing, Motion Picture Story จะถูกมอบให้ Ian McLellan Hunter แต่ผู้แต่งเรื่องราว/เขียนบทจริงๆคือ Dalton Trumbo ที่ถูก Hollywood Blacklist ไม่สามารถมีชื่อขึ้นเครคิตหนังได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อปี 1992 คณะกรรมการ Academy เลยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับรางวัล แล้วมอบรูปปั้น Oscar ตัวใหม่ให้ภรรยาหม้ายของ Trumbo
เมื่อตอน Audrey Hepburn รับรางวัล Oscar: Best Actress แม้จะเห็นไม่ชัดนักแต่เหมือนว่าเธอดีใจจนร้องไห้น้ำตาซึม ขนาดว่าขึ้นเวทีแล้วเดินผิดไปอีกฝั่งหนึ่ง พูดขอบคุณแบบไม่หายใจ และเห็นว่าลืมรางวัลไว้ในห้องแต่งตัวหลังเวที แต่ภายหลังก็ได้รับกลับคืน ตัวแรกตัวเดียวในชีวิต
สิ่งน่าหลงใหลสุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือความน่ารักใสบริสุทธิ์ของ Audrey Hepburn ไม่ใช่แค่ทักษะสามารถด้านการแสดง แต่รอยยิ้ม ทุกสิ่งอย่างจากภายใน เอ่อล้นออกมาด้วยความจริงใจ ไร้สิ่งมายาใดๆเคลือบแคลงแฝงเร้นอยู่
ลึกๆผมแอบเสียดายที่หนังไม่ได้ถ่ายทำด้วยภาพสี เชื่อว่าคงจะทำให้ทิวทัศนียภาพกรุงโรมมีความงดงาม ตื่นตระการ เปิดหูเปิดตามากกว่านี้
แนะนำคอหนังรอม-คอม Romantic-Comedy กุ๊กกิ๊กน่ารัก ดอกฟ้า-หมาวัด, หลงใหลในทิวทัศน์กรุงโรม, อิตาลี ช่วงต้นทศวรรษ 50s, แฟนๆผู้กำกับ William Wyler และนักแสดงนำ Gregory Peck, Audrey Hepburn ไม่ควรพลาด
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply