Rome, Open City (1945)
: Roberto Rossellini ♥♥♥♥
หนังรางวัล Palme d’Or เรื่องนี้ ถือว่าเป็นหนังเรื่องแรกของ Italian Neorealist หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้กำกับ Roberto Rossellini และนักเขียนบทวัยละอ่อน Federico Fellini, เรื่องราวขณะที่กรุง Rome ตกอยู่ภายใต้การปกครองของ Nazi (Open City) และกลุ่มผู้ต่อต้านเคลื่อนไหวที่จะยึดเมืองกลับคืนมา
ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 วงการภาพยนตร์ของอิตาลีได้หยุดนิ่ง เหตุผลหนึ่งเพราะประเทศถูก Nazi, Germany เข้ายึดครอง ทำให้ไม่มีผู้สร้าง หรือใครที่กล้าจะออกทุนสร้างหนังในช่วงเวลานั้น, ระหว่างสงคราม Rossellini ก็พยายามดิ้นรนที่จะหาทุนทำหนัง ก็มีหลายโปรเจคที่ทำอยู่ก่อนหน้านั้น แต่ก็ต้องทิ้งไป เพราะไม่สามารถหาทุนสร้างได้, ปี 1944 Rossellini ได้พบกับเศรษฐินีสูงวัยคนหนึ่งในกรุง Rome เธอต้องการให้ทุนสร้างสารคดีของ Don Pieto Morosini บาทหลวงคาทอริกที่ถูกทหารเยอรมันยิงเสียชีวิตขณะให้การช่วยเหลือชาวอิตาลีที่เคลื่อนไหวต่อต้านนาซี Rossellini เกิดความสนใจ ต่อมาเศรษฐินีเพิ่มเติมต้องการ อยากให้สร้างสารคดีเพิ่มอีกเรื่อง เกี่ยวกับเด็กๆในกรุงโรมที่ร่วมต่อสู้ขณะถูกนาซียึดครอง, หลังจากได้ปรึกษากับนักเขียนบท Sergio Amidei และ Federico Fellini ทั้งสองได้เสนอให้รวมสารคดี 2 เรื่องเข้าด้วยกัน สร้างเป็นหนังขนาดยาว, ในเดือนสิงหาคม 1944 หลังจาก Nazi ถูกขับออกจากกรุงโรม Rossellini, Fellini และ Amidei จึงเริ่มพัฒนาบทหนังเรื่องนี้
Federico Fellini เริ่มต้นเข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการเป็นนักเขียนบทในช่วง 1940s แต่สงครามทำให้เขาตกงาน, หลังสงครามโลก Fellini และ Enrico De Seta ได้เปิดร้าน Funny Face Shop เพื่อขาย gags และบทสนทนาเจ๋งๆ สำหรับเป็นบทละคร/หนัง ครั้งหนึ่ง Rossellini เดินผ่านมา พบเห็นเข้าเกิดความประทับใจเลยชักชวน Fellini ให้มาร่วมเขียนบทหนังเรื่องนี้ที่กำลังวางแผนอยู่, ยังอีกหลายปีนะครับกว่า Fellini จะเริ่มกำกับหนังเรื่องแรก Luci del varietà (1950) (กำกับร่วม Alberto Lattuada) ช่วงนี้เขาก็เก็บประสบการณ์ทำงานไปก่อน ต้องขอบคุณ Rossellini ที่ดึง Fellini กลับสู่วงการภาพยนตร์ และถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยปลุกปั้นให้เขากลายเป็นผู้กำกับในเวลาต่อมา
Roma, città aperta (Rome, Open City) เป็นหนังที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ระหว่างชาวเมืองโรมันภายใต้การปกครองในยุคนาซี, เริ่มต้นถ่ายทำเมื่อเดือนมกราคม 1945 แต่เพราะความเสียหายของประเทศในช่วงสงคราม ทำให้การสร้างหนังต้องประสบปัญหามากมาย สาธารณูปโภคเช่น น้ำ ไฟ เสบียงอาหาร อุปกรณ์ของเครื่องใช้ต่างๆในกรุงโรมขาดแคลนหนัก ทำให้หนังถ่ายทำแบบตามมีตามเกิด แถมทุนสร้างของเศรษฐินีที่ได้ก็ไม่เคยพอค่าแรง ทำให้ต้องหยุดกองถ่าย (ออกไปหางบทำหนัง) บ่อยครั้ง
Rossellini ต้องการให้ Aldo Fabrizi รับบทบาทหลวง Don Pieto, Fabrizi เป็นนักแสดงและผู้กำกับ เขาเพิ่งเริ่มเข้าวงการจากการกำกับหนังในช่วงระหว่างสงครามโลก คงเพราะรูปลักษณะที่คล้ายกัน ทำให้ Rossellini เลือก Fabrizi เพื่อมารับบท, ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลือกที่เยี่ยมมากๆ ไม่เพียงหน้าตาแต่การแสดงของ Fabrizi ทำให้เราเชื่อเต็มร้อย ถึงความศรัทธาในจิตวิญญาณของตัวละครนี้ ภายนอกเห็นความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน แต่ข้างในฮึกเหิม ยิ้มกริ่มต่อชัยชนะ ไม่ใช่ตัวเขาที่ชนะ แต่คือศรัทธาความเชื่อมั่น ถึงตัวตายแต่ก็ไม่เสียใจ เพราะได้ทำตามอุดมการณ์ความเชื่อของตน “It isn’t hard to die well,” แต่ “It is hard to live well.”, จากการรับบทนี้ ทำให้เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียง และว่ากันว่าน่าจะเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของ Fabrizi เลยละ
Marcello Pagliero รับบท Giorgio Manfredi, นักแสดง นักเขียนบทและผู้กำกับ บท Mandredi คือวิศวกรที่เป็นคอมมิวนิสต์และเป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่มต่อต้าน เขาหลบหนีรอดพ้นจากการจับกุมหลายครั้ง แต่สุดท้ายที่หนีไม่พ้นเพราะแพ้ภัยหญิงสาว ถึงแม้เขาจะตายตอนจบ แต่กว่าที่จะตาย เขาได้พิสูจน์อะไรบางอย่างให้กับ Nazi ได้เห็น, นี่เป็นตัวละครที่สร้างมาเพื่อเป็นฮีโร่ของอิตาลีเลยนะครับ
หนังเรื่องนี้ถือว่าโคตรชาตินิยมเลยละ มีฮีโร่ที่ต่อสู้เพื่อชาติ เป็นผู้นำที่เสียสละตนเองเพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวม, และหนังต่อต้านนาซี ซึ่งถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายที่ชั่วช้า การกระทำที่ป่าเถื่อน ทรมาน ไม่มีมนุษยธรรม แถมการมองว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น Master Race และ Slave Race เป็นความคิดที่อันตราย ต้องถูกกำจัด, นี่ไม่เชิงเป็นหนัง Propaganda นะครับ เพราะสร้างหลังยุคสงคราม แต่เป็นหนังแนวปลุกจิตสำนึกคนในชาติมากกว่า เพราะประเทศเพิ่งผ่านสงครามมา ผู้คนมีความเศร้าสลดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หนังเรื่องนี้น่าจะทำให้ผู้คนระลึกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสงคราม และสงครามจบไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะต้องร่วมกันก้าวเดินต่อ ไม่ให้วีรบุรุษทั้งหลายที่เสียสละชีพในช่วงสงครามต้องสูญเปล่า
ถ่ายภาพโดย Ubaldo Arata ที่มีผลงานมาตั้งแต่สมัยหนังเงียบ ยุค Maciste series, Fascism และ Italian propaganda films, นี่ถือเป็นหนังเรื่องท้ายๆของเขาแล้วก่อนเสียชีวิตในปี 1947, หนังมีการใช้ฟีล์มหลายแบบมาก (คงเพราะข้อจำกัดในการถ่ายทำขณะนั้น มีอะไรก็ใช้แบบนั้น) เห็นว่ามีฟีล์มถึง 3 ประเภทในต้นฉบับที่เป็น Negative (Ferrania C6 ใช้กับถ่ายภายนอก, Agfa Super Pan และ Agfa Ultra Rapid ถ่ายภายใน) มีการถ่ายแบบ newsreel style ลักษณะคล้ายภาพจากข่าว ตัดต่อแบบเร็วๆเล่าเรื่องเหมือนสารคดี, มีการเคลื่อนกล้อง แพนกล้อง และการใช้แสงเงาที่โดดเด่น, ภาพขาว-ดำ สร้างบรรยากาศให้อึมครึม ตึงเครียด จริงจัง เข้ากับเนื้อหาที่สะท้อนเรื่องราว ความรู้สึกที่เจ็บปวด สมจริงในช่วงหลังสงครามโลก ตามสไตล์ Neorealist
ในเครดิตการตัดต่อเป็นของ Eraldo Da Roma แต่เห็นว่าตอนนั้น Roma ยังอยู่ในคุก คนที่ตัดต่อหนังจริงๆคือ Jolanda Benvenuti, เทคนิคการตัดต่อที่อาจดูไม่หวือหวา แต่มีความฉับไวรวดเร็ว และเน้นที่การสร้างบรรยากาศ, หนังตัดสลับเรื่องราวระหว่างฝั่งนายพลนาซี กับการหลบหนีของผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน ทำให้เราเห็นเรื่องราวจากทั้งสองมุมมอง ที่หักเหลี่ยมเฉือนมุมกันของผู้นำสองฝ่าย ซึ่งตอนท้ายมาบรรจบกันความพ่ายแพ้ของฝ่ายหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ชัยชนะของอีกฝ่ายหนึ่ง
เพลงประกอบโดย Renzo Rossellini น้องชายของ Roberto Rossellini, เพลงประกอบแม้จะมีไม่เยอะ แต่เน้นสร้างบรรยากาศ ในช่วงเวลาสำคัญๆ เน้นเสียงไวโอลินที่เล่นเร็วๆ รัวๆ, เสียงทรัมเป็ต ทรัมโบนที่ดังเป็นจังหวะ (เหมือนลมหายใจ) สร้างความระทึกขวัญ สะเทือนใจ แฝงด้วยเสียงกรีดร้องที่อัดอั้นแอบซ่อนอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ
มีประเด็นหนึ่งที่หนังเปรียบเทียบได้ค่อนข้างน่ากลัว คนที่เป็นฝ่ายทรยศกลุุ่มต่อต้านคือ ผู้หญิง, เหตุผลของเธอในหนัง ดูเหมือนแค่ต้องการประชดประชันชายหนุ่ม ที่ไม่ยอมดูแลเอาใจใส่เธอ มองเห็นเป็นเหมือนของเล่น ซึ่งหนังก็สะท้อนกลับในมุมเดียวกัน ของนายพลฝั่งนาซี ที่มองผู้หญิงเป็นเเครื่องมือ ของเล่นทางการเมืองเท่านั้น, สายลับผู้หญิง (แบบที่เห็นได้เรื่อยๆในหนังสมัยใหม่) มักจะเป็นจุดอ่อนของผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะชาติไหน พื้นหลังยังไง พระเอกหรือผู้ร้ายมักแพ้ภัยผู้หญิงเสมอ เห้อ!
ผมสังเกตตอนจบ ทหารของเยอรมันไม่มีใครกล้ายิงบาทหลวงเลยนะครับ (ไม่ใช่ยิงไม่โดนนะ แต่เบี่ยงปืนหนีกันหมดเลย) นี่ไม่ใช่ปาฏิหารย์หรืออย่างไร แต่เพราะจิตใจของมนุษย์ การฆ่าคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์เป็นบาปที่ใครๆก็รู้สำนึกได้ คงมีแต่นายพลของนาซีเท่านั้นที่ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น, การตายตอนจบของบาทหลวง เป็นอะไรที่เจ็บปวดมากๆ แถมหนังใส่ภาพเด็กๆที่เห็นเหตุการณ์นี้เข้ามาด้วย ซึ่งนี่ผมมองว่าไม่เหมาะสมเลย ทำไมต้องให้เด็กมาเห็นภาพของผู้บริสุทธิ์ที่ต้องตาย แต่ในความหมายของหนัง เป็นการแฝงปลูกฝังไว้ว่า ‘คนรุ่นใหม่เอ๋ย จงอย่าลืมสิ่งที่เคยเกิดขึ้นนี้ จดจำมันไว้ลึกๆในใจ และอย่าให้มันเกิดขึ้นอีก’
ดูจบแล้วได้อะไร? กับคนไทย ผมไม่คิดว่าคุณดูจบแล้วจะรักชาติขึ้นแน่ๆ แต่จะมองผู้ร้ายอย่างนาซีในมุมที่เลวร้ายลงแน่ๆ, นี่เป็นหนังที่นำเสนอภาพประวัติศาสตร์ของอิตาลี สภาพเมือง เศษซากตึกรามบ้านช่องที่เราเห็นในหนัง ไม่ได้เกิดจากการจัดฉาก แต่คือภาพของเมืองจริงๆขณะนั้น วิถีชีวิต ผู้คน การใช้ชีวิต ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ กับคนที่ชอบดูหนังประวัติศาสตร์ นี่คือหนังที่บันทึกภาพช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์จริงๆนะครับ
Jean-Luc Godard และ Martin Scorsese เรียกหนังเรื่องว่า เป็นช่วงเวลาที่ทรงคุณค่าที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ “the most precious moment in film history.” เพราะหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นการชุบชีวิตวงการภาพยนตร์อิตาลี หลังจากจบสิ้นไปแล้วในช่วงสงครามโลก ให้กลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง
เป็นข้อถกเถียงกันว่า Neorealist นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ บ้างก็ถือว่า Ossessione ของ Luchino Visconti (1943) เป็นหนัง Neorealist เรื่องแรก ขณะที่ Rossellini บอกว่า ด้วยสไตล์และเทคนิคที่เขาใช้สร้าง Rome, Open City เคยทำแบบนี้มาก่อนแล้วตั้งแต่ The White Ship (1941), กระนั้น Rome, Open City ถือเป็น milestone เรื่องสำคัญของ Neorealistic ที่ทำให้สไตล์นี้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และสามปีถัดมา กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Vittorio De Sica สร้างหนังที่ถือเป็น landmarks ของ Neorealistic เรื่อง Bicycle Thieves (1948)
ในอิตาลีตอนหนังเรื่องนี้ออกฉายได้รับการตอบรับปานกลางเท่านั้น คนที่เข้าไปดูก็เพื่อต้องการหลบหนีออกจากภาพความทรงจำสงคราม (escapism), แต่เมื่อไปฉายต่างประเทศกลับได้รับเสียงตอบรับที่ดีท่วมท้น ได้รางวัล Grand Prize of the Festival (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 1946, ฉายในอเมริกาในปี 1946 ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Writing, Screenplay ในปี 1947 (ไม่ได้รางวัล)
และจากการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากนิตยสารชื่อดัง
นิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ 183
นิตยสาร Cahiers du cinéma: Top 100 of all time ติดอันดับ 72
และนิตยสาร Empire: The 100 Best Films Of World Cinema ติดอันดับ 37
Rossellini ได้สร้างหนังที่เขาเรียกว่า Neorealist Trilogy ประกอบด้วย Rome, Open City (1945), Paisà (1946) และ Germania anno zero (Germany, Year Zero-1948) ผมจะรีวิวให้ครบแน่นอนนะครับ
แนะนำกับคอหนังอิตาเลี่ยน, แฟนหนัง Roberto Rossellini แนว Neorealist, คนที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ และต้องการเห็นภาพวิถีชีวิต ผู้คน บ้านเมืองในกรุงโรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2, จัดเรต 15+ กับฉากการทรมานที่รุนแรงมากๆ
Leave a Reply