Romeo and Juliet

Romeo and Juliet (1968) Italian : Franco Zeffirelli ♥♥♥◊

นี่เป็นเวอร์ชั่นของ Romeo and Juliet ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก โดยผู้กำกับชาวอิตาเลียน Franco Zeffirelli, คุณจะได้พบกับความรักที่เต็มไปด้วย passion ที่รุนแรงที่สุด, คำพูดบทกวีที่แสนไพเราะ, ภาพถ่ายสวยๆรางวัล Oscar และเพลงประกอบที่หวานแหววที่สุดโดย Nino Rota

กระนั้นนี่ก็ไม่ใช่ Romeo and Juliet ที่สมบูรณ์แบบที่สุดนะครับ ไม่มีเวอร์ชั่นไหนที่ผมถือว่าสามารถดัดแปลงบทละครของ William Shakespeare เรื่องนี้ออกมาได้ยอดเยี่ยมใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุดเลย เพราะแต่ละเวอร์ชั่นมักมีการดัดแปลงให้เข้ากับสไตล์การกำกับของผู้กำกับแต่ละคน แต่ผมก็ยอมรับว่าเวอร์ชั่นของ Franco Zeffirelli ถือว่าทำออกมาได้ยอดเยี่ยมที่สุดในแง่การดัดแปลงมาเป็นภาพยนตร์ ดีกว่า Romeo + Juliet (1996) หรือ Shakespeare in Love (1998) เป็นไหนๆ

Franco Zeffirelli ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยนที่เป็นญาติห่างๆของ Leonardo da Vinci (จริงๆนะครับไม่ได้พูดเล่น) ขึ้นชื่อเรื่องชอบดัดแปลงบทประพันธ์ของ Shakespeare อาทิ The Taming of the Shrew (1967) หนังในกำกับเรื่องแรก, Otello (1986), Hamlet (1990), Romeo and Juliet ถือเป็นเรื่องที่ 2 ของบทละคร Shakespeare ที่เขาดัดแปลง ผมไม่เคยดูเวอร์ชั่น Romeo and Juliet ก่อนหน้านี้นะครับ เลยไม่รู้ว่าคำพูดที่คล้องกันเป็นคำกลอนภาษาดอกไม้ เป็นหนังเรื่องนี้เริ่มขึ้นก่อนหรือมีหนังเรื่องไหนที่เคยทำมาก่อนแล้ว, ถึงหนังจะมีเป็นสัญชาติอิตาเลี่ยน แต่พูดภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง กระนั้นถ้าคุณไม่เก่งภาษาอังกฤษพอ เจอหนังภาษาดอกไม้แบบเรื่องนี้ ดับสนิทแน่นอน ผมยังแทบแย่ บางทีก็ขี้เกียจคิดแปลตาม ปล่อยให้ตัวละครพูดไป ไม่รู้เรื่องก็ช่างมัน

บทละคร Romeo and Juliet ผมคิดว่า น่าจะเป็นบทละครที่มีการดัดแปลง ทำซ้ำมากที่สุดในโลกแล้วนะ มีทั้ง บัลเล่ต์, โอเปร่า, เพลงคลาสสิก, Musical ฯ ถ้านับแค่หนังก็ไม่ถ้วนแล้ว นับแค่ปีก็ตั้งแต่ 1900 (ฟีล์มสูญหาย), 1908 (หนังอเมริกันเรื่องแรก), 1916, 1936, 1953, 1954, 1968, 1978, 1992, 1996, 2006, 2007, 2013 แถมยังมีแบบที่ดัดแปลง เอาเฉพาะเรื่องราวไปเขียนใส่เรื่องใหม่ อาทิ West Side Story (1961), Romeo Must Die(2003), Gnomeo & Juliet (2011), Warm Bodies (2013) ฯลฯ ไม่ใช่แค่อเมริกา หนัง Bollywood ก็มีพรึบเลย อาทิ Ambikapathy (1937), Goliyon Ki Raasleela: Ram-Leela (2013) ฯ ผมคงไม่ดูทั้งหมดนะครับ บอกตามตรงว่าลองดู 2-3 เรื่องติดๆกันแล้วเลี่ยน เพราะเรารู้พล็อตอยู่แล้วว่าเป็นยังไง แค่ Setting ตัวละคร, ฉากหลัง, ช่วงเวลา, สถานที่ ฯ เปลี่ยนไป มันก็ไม่ทำให้เกิดความสนใจอยากดูเท่าไหร่ คือถ้านานๆดูที ปีละครั้ง ปีละเรื่องแบบนี้อาจจะยังพอรับได้นะ แต่ถ้าให้ดูแบบวันต่อวันติดๆแบบนี้ไม่ไหวครับ

สำหรับหนังเรื่องนี้ดัดแปลงโดย Franco Brusati, Masolino D’Amico และผู้กำกับ Franco Zeffirelli โดยใช้พื้นหลังเป็นทศวรรษที่ 14 ยุค Renaissance ในเมือง Verona ประเทศ Italy คู่ปรับคือตระกูล Montague และตระกูล Capulet, รายละเอียดอื่นๆ คงเป็นเรื่องราวที่คุ้นเคยของคนผ่านบทละคร Romeo and Juliet มาแล้ว

บท Romeo นั้น เห็นว่าตอนแรก Zeffirelli อยากได้ Paul McCartney แห่งวง The Beatles มาแสดง แต่เพราะ McCartney ขณะนั้นอายุ 25 แล้ว ถ้าให้มารับบทตัวละครอายุ 17 ก็ดูแก่เกินไปหน่อย, ‘จากชายหนุ่ม 300 คนที่มาคัดเลือก (audition) กว่า 3 เดือน เขาเป็นคนที่มีใบหน้างดงาม สุภาพอ่อนหวาน เป็น Romeo ในอุดมคติ’ Zeffirelli พูดถึง Leonard Whiting นักแสดงสัญชาติอังกฤษหน้าใหม่ ผู้ซึ่งได้รับการคาดหวังว่าจะเป็น Laurence Olivier คนต่อไป แต่ในยุค 70s เขาก็ทิ้งงานภาพยนตร์ไปรับงานแสดงในโรงละครแทนและไม่กลับมาเล่นหนังอีกเลย

บท Juliet จากหญิงสาว 500 คน Olivia Hussey หญิงสาวสัญชาติอาร์เจนติน่า เธอไม่ได้รับการคัดเลือกตอนแรก (เพราะ Zeffirelli คิดว่าเธออ้วนเกินไป) วันหนึ่งเธอตัดผมสั้นและเข้ามาซ้อมบทละครเวที กลับไปเตะตา Zeffirelli ที่มองเห็นถึงความสดใส สวยงาม ไร้เดียงสา แววตาที่บริสุทธิ์ ของหญิงสาวที่กำลังเติบโตขึ้น เธอเกิดปี 1951 ขณะถ่ายหนังเรื่องนี้เธออายุ 15 ปี (เด็กมากๆ) ในหนังมีฉากนู้ดเล็กๆของเธอ ซึ่งตอนที่หนังฉายปี 1968 (เธออายุ 17) กลับไม่ได้รับอนุญาติให้เข้าโรงหนัง เพราะอายุไม่ถึง (ทั้งๆที่คนเปลือยก็คือเธอ แต่ไม่ได้รับอนุญาติให้ดูหนังที่ตนเองเปลือย)

ทั้ง Whiting และ Hussey มีเคมีที่เข้ากันมาก แบบว่ารักปานจะกลืนกิน, Hussey เธอดูเด็กมากๆ นั่นทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความรักที่บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา, ส่วน Whiting ก็มีความหลงใหล คลั่งไคล้ในความรัก ยิ่งกว่าเด็กได้ของเล่นและหวงของอย่างมาก, การได้ 2 นักแสดงหน้าใหม่ ไม่เคยมีประสบการณ์การแสดงมาก่อน ทำให้หนังมีความสดชื่น สดใส ผิดกับหนังที่ใช้นักแสดงมีชื่อมาเล่น ซึ่งเรามักจะติดตากับภาพการแสดงของพวกเขาจากหนังเรื่องก่อนหน้า ทำให้ขาดความสดใหม่, นี่เป็นหนังที่ผมรู้สึกว่า passion ระหว่างสองพระนาง เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆที่ผมดูมา Gone With The Wind, Casablanca, Notorious ฯ  มันรุนแรงกว่ามากๆ จะว่าที่สุดที่ผมเคยดูมาเลยก็ได้ ซึ่งทำให้ฉากฆ่าตัวตายของทั้งคู่ทรงพลังที่สุด ต้องคนที่รักกันมากขนาดนี้เท่านั้น ถึงจะโน้มน้าวความรู้สึกของคนดู ให้เข้าใจถึงว่า ทำไมฉันถึงต้องยอมตายเพื่อเธอ มีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ

สองหนุ่มสาว ได้รางวัล Golden Globe Award สาขา Most Promising Newcomer – Male และ Most Promising Newcomer – Female ทั้งคู่เลยนะครับ แต่น่าเสียดายที่ผลงานหลังจากนี้ ไม่มีหนังเรื่องไหนที่ทั้งสองจะทำได้ดีกว่า อย่าง Whiting ก็ retire ไปรับงานอย่างอื่น ส่วน Hussey ยังมีผลงานเรื่อยๆ แต่ไม่มีเรื่องไหนโดดเด่นเท่านี้อีกแล้ว

ถ่ายภาพโดย Pasqualino De Santis ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่สามารถคว้า Oscar สาขา Best Cinematography มาครอบครองได้ นอกจากนี้เขายังเคยได้ BAFTA Award และ Nastro d’Argento จากหนังเรื่อง Death in Venice (1971), กับผลงาน Romeo and Juliet มีความโดดเด่นอย่างมากในการจัดองค์ประกอบของภาพ ฉากในตำนานคือ Balcony Scene ระเบียงบ้าน ที่ Romeo จีบกับ Juliet ภายใต้แสงจันทร์ (จนถึงเช้า)  ฉากนี้ไม่แน่ใจยาวแค่ไหน (น่าจะเกิน 20 นาที) มันแบบว่ามันยาว เว่อเว้อ แต่แบบว่าโคตร passion, ถ่ายภาพโคตรเจ๋ง ผมชอบที่สุดก็ตอนที่ทั้งสองจากกัน (จากกันจริงๆ) Juliet อยู่ด้านบน และ Romeo อยู่ด้านล่าง กล้องค่อยๆถอยห่าง มีกิ่งก้านสาขาของตันไม้บังอยู่เป็นอุปสรรคขวากขนามในรัก ผมขนลุกเลย รีบเปิดเน็ตเช็คดู ถ้าหมอนี่ไม่ได้ Oscar จะถือว่าใจดำมากๆ

ตัดต่อโดย Reginald Mills เห็นชื่อนี้หลายคนคงคุ้นๆ เขาตัดต่อ The Red Shoes (1948) นะครับ แน่นอนว่าต้องยอดเยี่ยม ฉากที่ผมชอบที่สุดคือการพบกันครั้งแรกในงานเลี้ยงเต้นรำ ตอนทั้งทั้ง Romeo และ Juliet มองหาซึ่งกันและกัน การตัดต่อตัดสลับกันระหว่างทั้งสอง แบบว่าถ้าไม่เจอกันให้ได้จะมีคนตายกันไปข้างหนึ่ง คมกริบ ฉับไว ได้อารมณ์ ไม่เยิ่นเย้อ (แม้จุดอื่นๆของหนังจะดูเวิ่นเว้อก็เถอะ)

เพลงประกอบโดย Nino Rota เหตุผลที่ผมดูหนังเรื่องนี้เพราะชายคนนี้แหละครับ กับคำโปรยที่ว่า ‘หนัง Romeo and Juliet ที่ดีที่สุด’ ไม่พอจะชักนำความอยากดูของผมได้หรอก แต่พอรู้ว่าคนทำเพลงให้คือ Nino Rota ความอยากดูเพิ่มขึ้นมหาศาลเลย และเพลงประกอบของเขาถือว่าได้ใจผมไปเลย นี่เป็นเพลงประกอบที่หวานที่สุดของ Rota และกลายเป็นหนึ่งในเพลงประกอบหนังเรื่องโปรดที่สุดของผมไปแล้วด้วย

เพลง A Time for Us เป็นเพลงที่ Youtube บังเอิญ Randoms มาให้ผมฟัง พอได้ยินแล้ว เห้ย! เพลงบ้าอะไรเพราะจัง เปิดดูพอรู้ว่าประพันธ์โดย Nino Rota ประกอบหนังเรื่อง Romeo and Juliet ขนลุกซู่เลย เพราะมากๆ และจังหวะที่ใส่เข้าไปในหนัง เป็นขณะที่ Romeo พบกับ Juliet ครั้งแรก คำร้องที่แฝงความหมาย ช่วงขณะนั้น Romeo และ Juliet กำลังตามหาซึ่งกันและกัน จากการตัดต่อ ที่ผมบอก ถ้าหากันไม่เจอคงมีใครตายแน่ นี่เป็นช่วงเวลาที่ผมชอบที่สุดในหนัง ถ่ายภาพลงตัวมากๆ ตัดต่อเจ๋ง การแสดงสุดโหยหา และเพลงประกอบที่สะท้านหัวใจ, เราจะได้ยิน Theme นี้ประกอบหนังทั้งเรื่อง ทุกครั้งที่ได้ยินจะทำให้จิตใจผมหวั่นไหวทุกครั้ง เพราะเรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตอนจบ ความรักที่ชาตินี้ไม่ได้สมหวัง มันออกไปทางเศร้าสร้อย ตอนจบผมพยายามไม่ดูหนัง เบี่ยงความสนใจไปอย่างอื่น แต่กระนั้นมันก็ยังทำเอาน้ำตาคลอเบ้าได้ รู้ทั้งรู้ว่าจะแบบนี้ แต่ยังทำใจไม่ได้ เอากับมันสิ!

โน๊ต 4 ตัวแรกของเพลง A Time for Us บางคนอาจคุ้นๆ มันคือเสียงผิวปาก Mockingjay ในหนังเรื่อง The Hunger Games (2012) นะครับ

จากที่ผมเล่ามา ก็ถือว่าหนังสมบูรณ์แบบมากๆ แต่มีความบัดซบหนึ่งที่ให้อภัยไม่ได้ กล้องที่ใช้ถ่ายหนังเรื่องนี้คือ Arriflex ซึ่งเขาบอกว่าเสียงดังมากๆ ทำให้ไม่สามารถใช้เสียงที่อัดสดๆขณะนั้นได้ ทำให้ต้องไป dub ในช่วงหลังถ่ายเสร็จ หนังอิตาเลี่ยนทั่วไปในยุคนั้นมักจะเป็นแบบนี้ ซึ่งหนังเรื่องนี้ dub ได้บรมห่วยแตกมากๆ ทำเอาผมหงุดหงิดตลอดเรื่อง ใจอยากจะชอบหนังนะ แต่เสียงงุ้งงิ้ง โดยเฉพาะเสียงลูกกระจ็อกที่สร้างความน่ารำคาญแบบสุดๆเลย เสียงพูดบางอย่างไม่ต้องพากย์มาก็ได้ มันเลวร้ายสุดๆ ตอนที่ Mercutio ตาย (ตรงนี้อาจต้องโทษบทด้วย) เรารู้ว่าต้องมีตัวละครสำคัญของฝั่ง Romeo ตาย แต่หนังเรื่องนี้กลับทำเป็นเป็นเรื่องล้อเล่น ทีเล่นทีจริง แล้วเสียงพากย์แบบว่า ‘อย่าโม้ไปเลย นายไม่ตายจริงหรอ ใช่ไหม’ เรื่องเป็นๆตายๆเป็นสิ่งไม่ควรเอามาล้อเล่นกันนะครับ, ความบัดซบจุดนี้ทำให้ความชอบต่อหนังของผมหายไปเยอะเลย น่าเศร้าใจมากๆ ถ้าคุณสามารถมองข้ามจุดนี้ได้ก็คงดี แต่ถ้าใครรู้สึกเหมือนผมก็อดทนไปนะครับ

ถ้าไม่นับ Shakespeare in Love (ซึ่งเป็นการยำใหญ่บทละครของ Shakespeare หลายๆเรื่องไม่ใช่แค่ Romeo and Juliet) หนังเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่สองและเรื่องสุดท้ายของ Romeo and Juliet นับจาก Romeo and Juliet (1936) ที่ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Picture และสาขาผู้กำกับ Best Director แม้จะไม่ได้รางวัล แต่ก็ถือว่าเป็นหนัง Romeo and Juliet ที่ประสบความสำเร็จในด้านคำวิจารณ์สูงสุด

Laurence Olivier มีส่วนร่วมกับหนังเรื่องนี้ด้วยนะครับ ผมคงต้องขอกล่าวถึงสักหน่อย เพราะความชื่นชอบในการกำกับละครเวทีของ Zeffirelli ท่าน Olivier จึงตอบรับการเป็น Narrator ให้กับหนัง และยังพากย์เสียงทับ Antonio Pierfederici ที่รับบท Lord Montague เพราะเสียงพูดติดสำเนียงอิตาเลี่ยนมากไป (รวมถึงพากย์เสียงตัวประกอบอื่นๆด้วย) ซึ่งท่าน Olivier ไม่ขอรับค่าตัว ทำด้วยใจเพื่อแสดงความรักต่อผลงานของ Shakespeare

แนะนำหนังกับคนที่ชื่นชอบเรื่องราวของ Romeo and Juliet และผลงานของ Shakespeare ถ้าคุณไม่เคยดู R&J มาก่อน แนะนำให้ดูเรื่องนี้เรื่องแรก (และเรื่องเดียว) นอกจากคุณชอบดาราดัง ก็ไปดู R+J นะครับ จัดเรต 15+ ไม่ใช่เพราะฉากเปลือยนิดหน่อย แต่ passion ระหว่าง Romeo & Juliet ที่รุนแรงมากๆ เด็กๆอาจได้รับอิทธิพลนี้ มันจะส่งผลต่อจิตใจที่รุนแรงถ้าเขาเกิดสูญเสียคนรักและคิดรู้สึกแบบเดียวกับ Romeo

TAGLINE | “Romeo and Juliet ฉบับที่ดีที่สุด แต่แค่เกือบสมบูรณ์ที่สุด โดยผู้กำกับ Franco Zeffirelli พบกับความรักที่โคตร passion, ภาพถ่ายสุดสวย และเพลงประกอบสุดเศร้าโดย Nino Rota”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: