
Rope (1948)
: Alfred Hitchcock ♥♥♥♥
ผู้กำกับ Alfred Hitchcock ทำการทดลองใช้เชือกผูกมัดคอตนเอง สร้างข้อจำกัดถ่ายทำภาพยนตร์เพียงในอพาร์ทเม้นท์ (Limited Setting หรือ Single Location) ด้วยวิธีการ ‘Long Take’ ตัดต่อให้น้อยครั้งที่สุด ในระยะเวลา 80 นาที
ต้องถือว่า ผกก. Hitchcock คือบุคคลแรกๆที่พยายามบุกเบิกการถ่ายทำภาพยนตร์แบบ ‘Long Take’ แต่ด้วยข้อจำกัดยุคสมัยนั้น ฟีล์มม้วนหนึ่งสามารถบันทึกภาพต่อเนื่องได้ยาวนานสุดประมาณ 7-10 นาที ถึงอย่างนั้นเขายังครุ่นคิดลูกเล่นบางอย่าง หยุดการเคลื่อนไหวในบริเวณที่ไม่มีนักแสดง พอเปลี่ยนฟีล์มเสร็จก็หวนกลับมาถ่ายทำ จนดูเหมือนมีความติดต่อเนื่อง 15-20 นาที!
แต่ความท้าทายของหนังไม่ใช่แค่การถ่ายทำ ‘Long Take’ ยังคือข้อจำกัดของสถานที่ (ถ่ายทำในสตูดิโอ) เพราะกล้องมีขนาดใหญ่โต ไม่สามารถเข้า-ออกผ่านประตู ด้วยเหตุนี้เวลาออกแบบสร้างฉาก จึงต้องทำให้มันสามารถแยกชิ้นส่วน องค์ประกอบต่างๆออกจากกัน … วิธีการดังกล่าวได้กลายเป็นต้นแบบงานสร้างโปรดักชั่นซีรีย์/ภาพยนตร์โทรทัศน์ จนถึงปัจจุบัน!
ยังไม่หมดเท่านี้ อีกความบ้าระห่ำที่ผมถือว่าระดับเสียสติแตก! นั่นคือทิวทัศน์ภายนอก (Panoramic View) ตึกระฟ้าสูงใหญ่ของเมือง Manhattan สร้างขึ้นด้วยโมเดลจำลอง (Miniatures) แถมยังต้องติดตั้งกลไก หลอดไฟ ป่องควัน สำหรับยามเย็นพระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า ปรับระดับแสง เฉดสีสัน … และนี่คือครั้งแรกของผกก. Hitchcock ถ่ายทำด้วยเทคโนโลยีฟีล์มสี Technicolor
สองสามอย่างว่ากล่าวมานี้ รวมถึงลีลาการแสดงของ James Stewart ก็เพียงพอให้นักวิจารณ์ส่วนใหญ่กล่าวยกย่องสรรเสริญ Rope (1948) คือการทดลองระดับมาสเตอร์พีซ แถมยังสร้างอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์(และโทรทัศน์)มากมายมหาศาล! แต่ทว่าผกก. Hitchcock กลับมองเป็นผลงานน่าผิดหวัง พล็อตเรื่องราวไม่ค่อยน่าเชื่อสักเท่าไหร่ ความตื่นเต้นลุ้นระทึก (Suspense) สูญหายไปกับลูกเล่น ‘Long Take’ ถือเป็นการทำลายทฤษฎี(ภาพยนตร์)ของตนเองที่ให้ความสำคัญหนักหนากับการเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพยนตร์
I undertook Rope as a stunt; that’s the only way I can describe it. I really don’t know how I came to indulge in it… When I look back, I realize that it was quite nonsensical because I was breaking with my own theories on the importance of cutting and montage for the visual narration of a story.
Alfred Hitchcock จากบทสัมภาษณ์กับ François Truffaut
Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang
ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938), จากนั้นเซ็นสัญญา(ทาส)โปรดิวเซอร์ David O. Selznick ออกเดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้างผลงาน Rebecca (1940), Shadow of a Doubt (1943), Spellbound (1945), Notorious (1946) ฯ
หลังหมดสัญญา(ทาส)กับโปรดิวเซอร์ David O. Selznick ได้รับบทเรียนการทำงานภายใต้บุคคลอื่น ผกก. Hitchcock จึงร่วมกับเพื่อนสนิท Sidney Bernstein ก่อตั้งสตูดิโอของตนเอง Transatlantic Pictures ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1945 เริ่มต้นช่วยเป็นที่ปรึกษาสารคดีเกี่ยวกับค่ายกักกันนาซี German Concentration Camps Factual Survey แต่พอสงครามสิ้นสุดลง โปรเจคถูกทอดทิ้ง เลยเก็บขึ้นหิ้ง ไม่ได้ถูกนำออกฉายจนถึงปี ค.ศ. 2014
สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกของสตูดิโอ Transatlantic Pictures มีจุดเริ่มต้นจากผกก. Hitchcock มีโอกาสรับชมการทดลองทำการแสดงสด ‘experimental live’ ฉายทางโทรทัศน์ Rope (1939) กำกับโดย Dallas Bower ซึ่งมีความโดดเด่นคือถ่ายทำแบบ ‘Long Take’ เพราะยุคสมัยนั้นยังไม่เทคโนโลยีสำหรับตัดต่อ สลับเปลี่ยนมุมกล้อง เพียงความสามารถในการถ่ายทอดสดเท่านั้น
สำหรับเรื่องราวต้นฉบับของการแสดงผ่านโทรทัศน์ Rope (1939) ดัดแปลงจากละคอนเวที Rope’s End (1929) สร้างโดยนักเขียนชาวอังกฤษ Patrick Hamilton (1904-62) เจ้าของอีกผลงานดัง Gas Light (1938) กลายมาเป็นภาพยนตร์ Gaslight (1940) และ Gaslight (1944)
Hamilton ได้แรงบันดาลใจบทละคอน Rope’s End (1929) จากเหตุการณ์เคยเกิดขึ้นจริง เมื่อปี ค.ศ. 1924 สองนักศึกษาหนุ่ม Nathan Leopold (อายุ 19) และ Richard Loeb (อายุ 18) แห่งมหาวิทยาลัย University of Chicago ทำการลักพาตัว ฆาตกรรมเด็กชาย Bobby Franks (อายุ 14) ด้วยข้อกล่าวอ้าง ต้องการสำแดงความ ‘Intellectual Superiority’ ในการก่ออาชญากรรม ‘Perfect Murder’ … คดีความดังกล่าวได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็น “Crime of the Century”
ในส่วนของบทหนัง ผกก. Hitchcock เริ่มต้นร่วมงาน Hume Cronyn ทำการแก้ไขตัวละคร ปรับเปลี่ยนบทสนทนา สถานที่พื้นหลัง (จากอังกฤษมาเป็นสหรัฐอเมริกา) รวมถึงความสัมพันธ์รักร่วมเพศ (Homosexual) ที่มีความล่อแหลมต่อกองเซนเซอร์ Hays Code แล้วส่งต่อให้ Arthur Laurents รับหน้าที่ดัดแปลงบทภาพยนตร์
เกร็ด: ตัวอย่างหนัง (Trailer) จะมีบางฉากถ่ายทำขึ้นใหม่ (สำหรับใช้ในตัวอย่างหนัง) ซึ่งสามารถมองเป็นเป็นการอารัมบทก่อนนำเข้าสู่เรื่องราว ลองรับชมดูนะครับ
Brandon Shaw (รับบทโดย John Dall) และ Phillip Morgan (รับบทโดย รับบทโดย Farley Granger) ทำการฆาตกรรมรัดคออดีตเพื่อนนักศึกษา David Kentley ในอพาร์ทเมนท์เพนเฮาส์ที่ Manhattan ซุกซ่อนศพไว้ในหีบไม้โบราณ แล้วต้องการพิสูจน์ความเฉลียวฉลาดของตนเองว่าได้กระทำการ ‘Perfect Murder’ ด้วยการเชิญแขกเหรื่อมาร่วมงานเลี้ยง เวียนวนไปมารอบหีบไม้นั้น
กระทั่งการมาถึงของศาสตราจารย์ Rupert Cadell (รับบทโดย James Stewart) เคยเสี้ยมสอน Brandon & Phillip ถึงปรัชญา Übermensch (แปลว่า Superman) ของ Friedrich Nietzsche เกี่ยวกับการแสดงความเฉลียวฉลาดของตนเองเหนือผู้อื่น (Intellectual Superiority) ด้วยความช่างสังเกตของ Rupert ทำให้เกิดความเคลือบแคลง ฉงนสงสัย ท้ายที่สุดจะสามารถค้นพบคดีฆาตกรรมบังเกิดขึ้นหรือไม่?
John Dall Thompson (1920-71) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City บิดาทำงานวิศวกรโยธา พาครอบครัวย้ายไปอยู่ Panama เพื่อทำการก่อสร้างสนามบิน ที่นั่นทำให้บุตรชายค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดง ในตอนแรกเข้าเรียนต่อวิศวกรรม Columbia University (ต้องการดำเนินตามรอยบิดา) แต่ไม่นานก็ย้ายไปฝึกฝนการแสดงยัง Theodora Irvine School of Theater ตามด้วย Pasadena Playhouse จากนั้นเข้าร่วมคณะละคอนเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก The Corn Is Green (1945), ผลงานเด่นๆ อาทิ Rope (1948), Gun Crazy (1950), Spartacus (1960) ฯ
รับบท Brandon Shaw เป็นนักวางแผน ผู้มีความเฉลียวฉลาด ลุ่มหลงว่าตนเองเก่งกาจ เลยชอบอวดอ้างบารมี ครุ่นคิดว่าฉันสูงส่งเหนือกว่าผู้ใด ‘Superiority Complex’ หลังจากลงมือเข่นฆาตกรรม ยังพยายามควบคุมครอบงำเพื่อนสนิท Phillip Morgan ให้ยินยอมศิโรราบ กระทำตามคำสั่ง อดกลั้นฝืนทนให้พานผ่านงานเลี้ยง พิสูจน์ว่าตนเองสามารถกระทำการ ‘Perfect Murder’ โดยไม่ถูกจับผิด ได้อย่างสมบูรณ์แบบ!
แม้ภาพลักษณ์ของ Dall จะไม่ค่อยเหมือนนักศึกษาจบใหม่ ออกไปทางผู้ใหญ่ตอนต้น แต่บุคลิกภาพ กิริยาท่าทาง รวมถึงถ้อยคำพูดแสดงถึงความเชื่อมั่น เย่อหยิ่ง หลงตนเอง เพราะความสามารถในการครุ่นคิด วางแผน ลงมือฆาตกรรมโดยไม่หวาดกลัวเกรงกฎหมาย มองเป็นเรื่องท้าทาย ตื่นเต้นเร้าใจ งานศิลปะขั้นสูง
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือความสามารถในการโน้มน้าว เกลี้ยกล่อม ล่อหลอก ออกคำสั่งเพื่อนสนิท Phillip ช่างมีความละม้ายตัวละครในภาพยนตร์ Gaslight (1944) [จากผู้แต่งบทละคอนคนเดียวกัน] นั่นมีคำเรียกว่าหลอกปั่นหัว ‘Gaslighting’ เพื่อทำการควบคุมครอบงำผู้อื่นให้เกิดความเข้าใจผิด วิตกจริต ยินยอมศิโรราบต่อเขาโดยดี
Farley Earle Granger Jr. (1925-2011) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Jose, California มารดาส่งบุตรชายเข้าโรงเรียนการแสดง Ethel Meglin ได้รับบทบาทภาพยนตร์เรื่องแรก The North Star (1943), หลังกลับจากรับใช้ชาติที่ Honolulu แจ้งเกิดภาพยนตร์ Rope (1948), They Live by Night (1948), Strangers on a Train (1951), Senso (1954), The Naked Street (1955)
รับบท Phillip Morgan หลังลงมือฆาตกรรม เกิดอาการลุกรี้ร้อนรน เต็มไปด้วยความกระวนกระวาย หลายครั้งไม่สามารถควบคุมตนเอง อันเกิดความกลัว หวาดระแวง วิตกจริต ต้องการรีบๆกำจัดศพให้พ้นภัยทาง ไม่ได้อยากพิสูจน์ความเหนือกว่าใครเหมือน Brandon Shaw เลยมักถูกตวาด ขึ้นเสียง ทำอะไรๆผิดปกติจนใครต่อใครสังเกตเห็น
เกร็ด: Granger ไม่เคยปกปิดรสนิยมทางเพศ (Bisexual) ว่ากันว่าเหตุผลที่ได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์ Rope (1948) อาจเพราะความสัมพันธ์กับนักเขียน Arthur Laurents ช่วยล็อบบี้ผกก. Hitchcock … แต่แท้จริงแล้ว Granger ได้รับบทบาทนี้ผ่านการออดิชั่น ด้วยความสามารถตนเองล้วนๆ
หลายๆบทความวิจารณ์พยายามโจมตี Granger ว่ามีความวอกแวก ลุกลี้ร้อนรน ดูสันบสน ไม่ค่อยเป็นมืออาชีพสักเท่าไหร่ แต่บทบาทของเขาก็ต้องเล่นออกมาแบบนี้ไม่ใช่หรือ? เต็มไปด้วยความกลัว หวาดระแวง วิตกจริต หลายครั้งจึงไม่สามารถควบคุมตนเอง ถูกเพื่อนสนิทควบคุมครอบงำโดยง่าย … ผมอ่านแล้วรู้สึกเหมือนนักวิจารณ์อยากจะโจมตีเรื่องเพศสภาพ แต่พูดตรงๆออกมาไม่ได้มากกว่า!
ผมไม่ค่อยอยากวิเคราะห์การแสดงในเชิงว่า Granger นำเอาประสบการณ์ตรง (ที่เป็นเกย์) มาปรับใช้ในการถ่ายทอดความกลัว หวาดระแวง วิตกจริต ถึงต้องการปกปิด ซุกซ่อนเพศสภาพ/ฆาตกรรม แต่มันยากจะหลีกเลี่ยง เพราะนี่คือสิ่งที่สังคมสมัยนั้นยังไม่ให้การยินยอมรับ (กองเซนเซอร์ Hays Code ยังห้ามนำเสนอประเด็นรักร่วมเพศ) แน่นอนว่าเขาย่อมเคยพานผ่านประสบการณ์ดังกล่าว ในวงการภาพยนตร์ก็มีความละเอียดอ่อน เรื่องพรรค์นี้ไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะอาจถึงขั้นทำลายภาพลักษณ์ ลดเกรดนักแสดง และส่งผลกระทบต่อหนังด้วยเช่นกัน … หลายๆรัฐในสหรัฐอเมริกา สั่งแบนห้ามฉายหนังเรื่องนี้ เพราะความสัมพันธ์ชาย-ชาย เด่นชัดเจนเกินไป!
James Maitland Stewart (1908-97) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indiana, Pennsylvania บิดาเป็นเจ้าของร้าน Hardware Store ส่วนมารดาเป็นนักเปียโน เสี้ยมสอน Jimmy เล่นดนตรีเก่งมาตั้งแต่เด็ก, โตขึ้นเข้าเรียนสถาปัตยกรรม Princeton University โดดเด่นกับการออกแบบเครื่องบินจนได้รับทุนการศึกษา แต่กลับเปลี่ยนความสนใจมายังชมรมการแสดง สนิทสนมเพื่อนร่วมรุ่น Henry Fonda, Margaret Sullavan, ตัดสินใจมุ่งสู่ Broadways แม้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่มีแมวมองจาก MGM จับเซ็นสัญญา รับบทนำครั้งแรก Speed (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก You Can’t Take It with You (1938), โด่งดังพลุแตก Mr. Smith Goes to Washington (1939), The Shop Around the Corner (1940), The Philadelphia Story (1940)**คว้ารางวัล Oscar: Best Actor, แต่ไฮไลท์การแสดงเกิดขึ้นหลังกลับจากอาสาสมัครทหารอากาศ (U.S. Air Forces) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มจาก It’s a Wonderful Life (1946), Rope (1948), Rear Window (1954), The Man Who Knew Too Much (1956), Vertigo (1958), Anatomy of a Murder (1959), How the West Was Won (1962), The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ฯ
เกร็ด: James Stewart ในชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฟากฝั่ง Male Legends ติดอันดับ #3
รับบท Rupert Cadell เคยเป็นอาจารย์ของ Brandon & Phillip สอนทฤษฎีปรัชญา Übermensch จากแนวคิดของ Friedrich Nietzsche เกี่ยวกับการแสดงความเฉลียวฉลาดของตนเองเหนือผู้อื่น (Intellectual Superiority) แต่เขาก็ไม่เคยครุ่นคิดจะปฏิบัติตาม ถึงอย่างนั้นการเข้าร่วมงานเลี้ยงค่ำคืนนี้ พบเห็นสิ่งพิรุธ เหตุการณ์ผิดสังเกตมากมาย พยายามจับแพะชนแกะ และได้รับคำตอบที่สร้างความกระอักกระอ่วน คาดไม่ถึงอย่างรุนแรง!
(สาเหตุที่ Rupert มีความเข้าใจนักเรียนตนเองอย่างลึกซึ้ง ถ้าตามต้นฉบับละคอนเวที มีการบอกใบ้ว่าเขาเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหนึ่งในฆาตกร)
ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด ผกก. Hitchcock จึงเลือกนักแสดงเกรดเอมาหนึ่งคนสำหรับเป็นจุดขาย สร้างความสนใจให้หนัง นอกนั้นก็คือนักแสดงพอมีชื่อเสียงระดับกลางๆ ค่าตัวไม่มาก … นักแสดง 7-8 คนที่เหลือ ค่าตัวรวมกันยังไม่เท่า James Stewart คนเดียว!
การมาถึงของ Stewart แค่พลังดาราก็ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้หนังอย่างล้นหลาม เข้ามาสอดรู้สอดเห็น แสดงความสนอกสนใจ หูผึ่งเรื่องของชาวบ้าน สังเกตพฤติกรรม Brandon & Phillip ที่ผิดแผกแตกต่างจากปกติ ใบหน้าเต็มไปด้วยความฉงนสงสัย ใคร่อยากละเล่นเกม นักสืบขบไขปริศนา เปิดเผยลับลมคมในออกมา
แต่สิ่งที่ถือเป็นภาพจำของ Stewart คือความนอบน้อม ถ่อมตน ผู้ชมรับรู้ว่าตัวละครจะไม่มีทางกระทำสิ่งไร้มนุษยธรรม ซึ่งเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย แม้ถูกข่มขู่ เอาปืนจ่อ จะฆ่าปิดปาก กลับสามารถเทศนาสั่งสอน ชักแม่น้ำทั้งห้าขึ้นมาห้อมล้อม เอาความดีมาเป็นเกราะกำบัง จนเอาชนะลูกศิษย์ทั้งสองด้วยวาทะศิลป์ แนวคิดน่าจะถูกต้องเหมาะสมที่สุด
ถึงอย่างนั้น Stewart ไม่ค่อยรู้สึกว่าตนเองเหมาะสมกับบทบาท เชื่อว่า Gregory Peck เหมาะสมกว่า และยังผิดหวังต่อกระบวนการทำงานอย่างมากๆ เพราะนักแสดงหาได้มีอิสรภาพตามแบบละคอนเวที ทุกคำพูด-การเคลื่อนไหว ล้วนต้องวางแผน ซักซ้อม เวลาถ่ายทำยังต้องใช้สมาธิอย่างมากๆ (เพราะเทคหนึ่งก็หลายนาที) พอหมดวันก็สูญสิ้นเรี่ยวแรง เหน็ดเหนื่อยกว่าการถ่ายทำแบบปกติหลายเท่าตัว
Gregory has the look, voice and manner of an academic, something I’m afraid I do not.
The really important thing being rehearsed here is the camera, not the actors! It was worth trying—nobody but Hitch would have tried it. But it really didn’t work.
James Stewart
ถ่ายภาพโดย Joseph A. Valentine (The Wolf Man, Shadow of a Doubt, Joan of Arc) และ William V. Skall (Joan of Arc, Quo Vadis)
ฟังดูไม่น่าใช่เรื่องซับซ้อนกับการถ่ายทำ ‘Long Take’ ภายในสถานที่แห่งเดียว (Limited Setting หรือ Single Location) แต่ด้วยข้อจำกัดยุคสมัย และผกก. Hitchcock เรียกร้องหาความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) มันจึงกลายเป็นเรื่องวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วง ต้องครุ่นคิด ทดลองหาวิธีการอันเหมาะสม สำหรับถ่ายทำในโรงถ่ายหมายเลข 12 สตูดิโอ Warner Brothers Burbank Studios ระหว่างวันที่ 12 มกราคม – 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948
แซว: แม้หนังจะมีแค่ 10 Segment แต่จำเป็นต้องซักซ้อม ตระเตรียมความพร้อม ทั้งนักแสดง ตากล้อง ทีมงานเบื้องหลัง ในระยะเวลาทั้งหมด 36 วัน ประกอบด้วยซักซ้อม 14 วัน, ทดลองผิดลองถูก 2 วัน, ถ่ายทำจริงอีก 20 วัน (ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวเพราะผกก. Hitchcock ไม่พึงพอใจเฉดสีแสงอาทิตย์ จึงสั่งให้ถ่ายทำครึ่งหลังใหม่หมด)
In the final count, the picture required 36 days, 14 in rehearsal, 2 days of tests, and 20 shooting days. After the initial rehearsals of the entire script, the cast and crew would rehearse one reel and shoot it the following day.
Alfred Hitchcock
ความท้าทายแรกของหนังคือการออกแบบสร้างฉาก (ออกแบบศิลป์โดย Perry Ferguson, สร้างฉากโดย Howard Bristol และ Emile Kuri) เพราะกล้องฟีล์มสี Technicolor มีน้ำหนักกว่า 685 ปอนด์ (310 กิโลกรัม) ขนาดใหญ่เทอะทะ ไม่สามารถผ่านเข้าออกประตู หรือยกข้ามเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของต่างๆ ดังนั้นทุกสิ่งอย่างจะต้องสามารถแยกชิ้นส่วน-ประกอบเข้าใหม่ และมีการกำหนดจุดไว้บนพื้น เพื่อให้กล้องสามารถเคลื่อนเข้าเลื่อนออกได้อย่างอิสระ
เกร็ด: นักประดิษฐ์ Morris Rosen เป็นผู้ครุ่นคิดสร้างแท่นวางกล้องที่ติดตั้งล้อหมุน ทำให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้รอบทิศทาง ตั้งชื่อว่า “Rosie’s dolly” หรือ “Rosie’s all-angle dolly” ราคาประมาณ $1,700 เหรียญ



เพนเฮาส์แห่งนี้มีทั้งหมด 5 ห้อง แต่ผู้ชมจะพบเห็นเพียง 4 ห้อง และกล้องเวียนวนไปมาแค่ 3 ห้องเท่านั้น
- ขวาสุดคือห้องโถง/ห้องรับแขก มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยโต๊ะ โซฟา เปียโน รวมถึงหีบไม้ตั้งอยู่กลางห้อง และด้านหลังคือกระจกบานใหญ่ สามารถพบเห็นทิวทัศน์ Manhattan’s Skyline
- ห้องถัดมาคือประตูทางเข้าเพนเฮาส์ สำหรับต้อนรับแขกเหรื่อ
- ห้องรับประทานอาหาร มีโต๊ะอาหารวางอยู่กึ่งกลาง
- ห้องครัว (กล้องไม่เคยเคลื่อนเลื่อนเข้าไป) สถานที่สำหรับคนรับใช้เตรียมอาหาร
- ถัดจากห้องครัวน่าจะคือห้องน้ำ (กระมังนะ) ซึ่งไม่เคยมีการกล่าวถึงประการใด
การตกแต่งภายในเน้นความโมเดิร์น หรูหรา ทันสมัยใหม่ (ของทศวรรษ 40s) เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของเครื่องใช้ ตำหรับตำรา ภาพวาดศิลปะ รวมถึงการแต่งตัว เสื้อผ้าหน้าผม (ผู้ชายสวมสูทกันทุกคน) ล้วนแสดงถึงวิทยฐานะ สถานะทางสังคม (High Society) อาศัยอยู่บนเบื้องบนตึกสูง … สอดคล้องเข้ากับแนวคิด ‘Intellectual Superiority’
ทิศทางการเคลื่อนเลื่อนกล้อง ก็น่าจะแฝงนัยยะอะไรบางอย่างกับตัวละคร
- ช่วงองก์แรกๆของหนัง กล้องจะดำเนินไปไกลถึงห้องรับประทานอาหาร
- ผมมองเหตุผลที่กล้องไม่เคลื่อนเข้าห้องครัวและหลังจากนั้น สามารถสะท้อนถึงสถานะทางชนชั้น วางตัวหัวสูงส่ง (ห้องครัวคือสถานที่สำหรับแม่บ้าน/คนรับใช้)
- ระหว่างการต้อนรับ-ขับส่งแขกเหรื่อ กล้องมักเคลื่อนเลื่อนไปมาระหว่างห้องโถง และประตูทางเข้าเพนเฮาส์
- แต่ระหว่าง Main Course (เมื่อแขกเหรื่อมากันพร้อมหน้า) กล้องจะปักหลังอยู่ในห้องโถง วนไปวนมา ถ่ายเฉพาะคนที่ยังเหลืออยู่ (คือมีบางครั้งเดินไปยังห้องครัว/ห้องอาหาร แต่กล้องจะไม่เคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครเหล่านั้น)
- และช่วงท้ายหลังจาก Rupert หวนกลับมาอีกครั้ง กล้องจะเวียนวนอยู่ภายในโถงรับแขก และยังมีการหันไปทางขวามือ พบเห็นหน้าต่าง ภายนอกมีป้ายนีออนสลับสีขาว-แดง-เขียว
- อาจจะสื่อถึงหลังชนกำแพง ถูกต้อนจนมุม ไร้หนทางหลบหนี

แต่สิ่งที่ถือว่าท้าทายโปรดักชั่นงานสร้างที่สุดของหนัง คือโมเดลจำลอง Manhattan’s Skyline จากทิวทัศน์ประมาณ 36 ตารางไมล์ ยัดเยียดเข้ามาอยู่ในพื้นที่ภายในสตูดิโอ 12,000 ตารางฟุต (ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างโมเดลจำลองขณะนั้น) พบเห็นตึก Empire State, Chrysler Building, Woolworth Building, St. Patrick’s Cathedral, Radio City, Radio City Music Hall ฯ ใช้หลอดไฟกว่า 8,000+ ดวง ป้ายนีออน 200+ ดวง สวิตช์อีก 47 อัน (เพราะต้องทะยอยเปิด) รวมทั้งหมดกินไฟสูงถึง 126,000 วัตต์
But the most magical of all the devices was the cyclorama — an exact miniature reproduction of nearly 35 miles of New York skyline lighted by 8,000 incandescent bulbs and 200 neon signs requiring 150 transformers.
On film the miniature looks exactly like Manhattan at night as it would appear from the window of an apartment at 54th Street and First Avenue, the locale of the play. And since all the major action of Rope takes place in the living room of this apartment, with the spectators constantly viewing the background, it was impossible to use process shots or a backdrop. Both would have been too flat. We had to remember the core of the arc of view. So we had to employ the scale cyclorama and devise a “light organ” that not only would light the miniature and its panorama of buildings, but also could give us changing sky and cloud effects varying from sunset to dark — all seen from the apartment — to denote the passing of time.
In the 12,000 square feet of the cyclorama, the largest backing ever used on a sound stage, the spectator sees the Empire State, the Chrysler, and the Woolworth buildings; St. Patrick’s, Radio City, and hundreds of other landmarks of the fabulous New York skyline. Each miniature building was wired separately for globes ranging from 25 to 150 watts in the tiny windows. (The electrician’s eye level was at the 22nd story.) Twenty-six thousand feet of wire carried 126,000 watts of power for the building and window illumination — all controlled by a twist of the electrician’s wrist, via a bank of 47 switches, as he sat at the light organ high up and far behind the camera.
Alfred Hitchcock



ด้วยความที่หนังดำเนินเรื่องในช่วงเวลาเย็นๆจนถึงหัวค่ำ ท้องฟ้าจากเคยสว่างจร้า เมฆหมอก(ทำจาก Fiberglass)ลอยผ่านไปมา แสงอาทิตย์จะค่อยๆเลือนลาง ปรับเปลี่ยนเฉดสีสัน จนกระทั่งมืดมิดสนิท ทำอย่างไรถึงจะให้ออกมาสมจริง? นั่นถือเป็นสิ่งยุ่งยาก ท้าทายที่สุดของหนังก็ว่าได้
I’ve waited 17 years to find a story of my type in which color plays a dramatic role. In Rope, color will denote the change in time of day from sunset to darkness which is of vital dramatic importance in the story.
Alfred Hitchcock
เหตุผลที่หนังเลือกใช้ช่วงเวลาดังกล่าว ก็เพื่อสะท้อนถึงสภาพจิตใจสองฆาตกร Brandon & Phillip จากเคยมีอนาคตสว่างสดใส เมื่อตัดสินใจกระทำการฆาตกรรม ครุ่นคิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ สูงส่ง ‘Intellectual Superiority’ แต่กลับทำให้พวกเขาค่อยๆจมปลัก ดำดิ่งลงสู่ความมืดมิด




สิ่งหนึ่งที่ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ผกก. Hitchcock มีการปรากฎตัว (Cameo) ในหนังหรือไม่? เพราะการดำเนินเรื่องมีเพียงในอพาร์ทเม้นท์ พบเห็นนักแสดงแค่ 8-9 คน จะไปหลบซ่อนอยู่แห่งหนไหน? แต่ปรากฎว่ามีถึงสองครั้งด้วยกัน!
- ช่วงอารัมบท, ถ่ายภาพจากระเบียงอพาร์ทเม้นท์ ก้มลงมาเห็นท้องถนนหนทาง (มุมแห่งการดูถูก เหยียดหยาม เห็นผู้อื่นต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน) ผู้คนเดินไปมาขวักไขว่ มันอาจไม่เด่นชัดเจนนัก แต่หนึ่งในนั้นคือ ผกก. Hitchcock เดินเคียงข้างเลขาส่วนตัว
- อีกครั้งหนึ่งประมาณนาทีที่ 55 ระหว่างบรรดาแขกเหรื่อเริ่มทะยอยกลับบ้าน จะมีเสี้ยววินาทีหนึ่งระหว่าง Kenneth กับ Janet ทิวทัศน์ด้านหลังมีแสงนีออนสีแดงปรากฎขึ้น นั่นคือสัญลักษณ์ประจำตัวผกก. Hitchcock
It’s traditional, with me at least, that I appear fleetingly in every one of my pictures. But Rope, with a cast of only nine people who never leave the apartment, looked like the end of the Hitchcock tradition. There was just no way that I could get into the act. Then someone came up with a solution. The result? The Hitchcock countenance will appear in a neon “Reduco” sign on the side of a miniature building!
Alfrid Hitchcock
เกร็ด: Reduco เป็นการอ้างอิงถึงบริษัทยาลดน้ำหนัก (สมมติ) The Reduco Corporation ที่ผกก. Hitchcock เคยเป็นนายแบบ (โปรโมยยาลดน้ำหนัก) ในภาพยนตร์ Lifeboat (1944)


เอาจริงๆผมก็ไม่รู้พวกเขาคุยกันถึงหนังเรื่องอะไร? James Mason? Errol Flynn? Mary Pickford? แต่ที่แน่ๆ Cary Grant เล่นกับ Ingrid Bergman ช่วงแถวๆปีนั้นมีเพียง Notorious (1946)
ผมเจอในเกร็ด Wikipedia ทำการสรุปจักรราศีได้ดังต่อไปนี้
- James Mason ราศี Taurus
- Cary Grant ราศี Capricorn
- Ingrid Bergman ราศี Virgo
- ตัวละคร Phillip Morgan (รวมถึงนักแสดง Farley Granger) ราศี Cancer

หลังจากที่ Rupert เปิดหีบไม้ พบเห็นสิ่งชั่วร้ายภายใน (Segment สุดท้ายของหนัง กล้องเคลื่อนขึ้นจากหีบไม้) มันเหมือนว่าตึกข้างๆมีการเปิดไฟนีออน “STORAGE” (ยามค่ำคืน) สลับไปมาระหว่างแสงขาว-แดง-เขียว แลดูละม้ายคล้ายสัญญาณเตือนภัย บ่งบอกว่าหายนะกำลังคืบคลานเข้ามา
และภาพสุดท้ายของหนัง หลังจาก Rupert ยิงปืนออกนอกหน้าต่าง ได้ยินเสียงผู้คนซุบซิบนินทา ตามด้วยเสียงหวอรถตำรวจกำลังเคลื่อนเข้ามา ทำให้แผนการพิสูจน์ความสูงส่งของ Brandon & Phillip ล้มเหลวลง ต่างคนต่างมาปฏิกิริยา
- Rupert เดินจากหน้าต่างมานั่งลงข้างหีบไม้
- Phillip จากยืนอยู่ตรงเปียโน ค่อยๆทรุดนั่งลงอย่างผิดหวัง
- ตรงกันข้ามกับ Brandon ยืนเทสุรา/แชมเปญ ดื่มด่ำให้กับความพ่ายแพ้ (หรือจะมองเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของ Rupert ที่สามารถขบไขปริศนาฆาตกรรม)



ตัดต่อโดย William Ziegler (1909-77) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Strangers on a Train (1951), The Music Man (1962), My Fair Lady (1964) ฯ
เรื่องราวของหนังดำเนินเรื่องภายในเพนเฮาส์หรู (อพาร์ทเมนท์บทตึกระฟ้า) ตั้งอยู่กลางเมือง Manhattan, New York City เริ่มต้นด้วย Brandon & Phillip ทำการฆ่ารัดคอรุ่นน้องคนหนึ่ง จากนั้นต้องการท้าพิสูจน์ความสูงส่งของตนเอง ชักชวนแขกเหรื่อมาร่วมงานเลี้ยง พยายามทำตัวให้แนบเนียน ถ้าสามารถพานผ่านเย็นวันนี้โดยไม่มีใครสังเกตความผิดปกติ ก็จักกลายเป็น ‘Perfect Murder’
- Opening Credit, ตั้งกล้องตรงระเบียง ถ่ายทำทิวทัศน์ท้องถนน
- อารัมบท, เหตุการณ์ฆาตกรรม
- Brandon & Phillip ทำการฆ่ารัดคอรุ่นน้องคนหนึ่ง
- จากนั้น Brandon ตระเตรียมงานเลี้ยง ปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น และยังต้องคอยสงบสติอารมณ์ Phillip
- การมาถึงของแขกเหรื่อ
- คนแรกที่กดกริ่งคือแม่บ้าน Mrs. Wilson กลับจากไปซื้อเสบียงกรัง จากนั้นพร่ำบ่นที่ Brandon พยายามปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น
- แขกคนแรกคือ Kenneth Lawrence สอบถามว่าจะมีใครมาร่วมงานเลี้ยงบ้าง
- แขกคนถัดมาคือ Janet Walker พอพบเห็น Kenneth ก็เกิดความไม่พึงพอใจ เพราะพวกเขาเพิ่งเลิกรากันได้ไม่นาน
- ตามมาด้วยผู้สูงวัย Mr. Henry Kentley และ Mrs. Anita Atwater ต่างเป็นเครือญาติ รับรู้จักกับ Kenneth และ Janet
- และคนสุดท้ายที่มาถึงก็คือ Rupert Cadell เข้ามาทักทายแขกเหรื่อคนอื่นๆ
- Main Course
- Mrs. Wilson นำอาหารจานหลักมาเสิร์ฟ
- ร่วมวงกันสนทนาเกี่ยวกับศิลปะการฆาตกรรม
- แม้การสนทนา(เรื่องฆาตกรรม)จะจบสิ้นไปแล้ว แต่ทว่า Rupert กลับเกิดความเคลือบแคลง ฉงนสงสัย พยายามซักไซร้ ค้นหาลับลมคมในที่ซุกซ่อนไว้
- หลังรับประทานของหวาน พระอาทิตย์กำลังเคลื่อนคล้อยตกดิน แขกเหรื่อต่างเริ่มทะยอยกลับบ้าน
- ค่ำคืนมืดมิด
- หลังแขกเหรื่อเดินทางกลับหมดสิ้น Brandon & Phillip จึงมีความโล่งอกโล่งใจ สามารถพิสูจน์ตนเองเหนือกว่าใคร
- กระทั่งเสียงโทรศัพท์ และการหวนกลับมาของ Rupert เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย
- Rupert เผชิญหน้ากับ Brandon & Phillip พร่ำพูดข้อสงสัย
- Rupert เปิดหีบไม้ แล้วพร่ำสอนบทเรียนสุดท้ายกับอดีตนักศึกษาทั้งสอง
ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีสมัยนั้น ฟีล์มม้วนหนึ่งจึงสามารถบันทึกภาพติดต่อเนื่องได้ยาวนานสุดประมาณ 7-10 นาที ซึ่งมันก็ไม่จำเป็นว่าทุกเทคต้องให้ได้สิบนาทีเป๊ะๆ หลังจากผ่านการครุ่นคิด วางแผน ซักซ้อม ตระเตรียมการ สามารถแบ่งออกเป็น 10 Segment (ไม่รวม Opening Credit) รวมความยาวทั้งหมด 80 นาที
# | ความยาว | เวลาเริ่มต้น | เหตุการณ์เริ่มต้น | เหตุการณ์สิ้นสุด |
---|---|---|---|---|
1 | 09:34 | 00:02:30 | ภาพโคลสอัพ รัดคอเสียชีวิต | กล้องเคลื่อนมาด้านหลัง Brandon |
2 | 07:51 | 00:11:59 | กล้องเคลื่อนออกจากด้านหลัง Brandon | Kenneth พูดว่า “What do you mean?” |
3 | 07:18 | 00:19:45 | ตัดภาพมายัง Janet เข้ามาในอพาร์ทเม้นท์ | กล้องเคลื่อนมาด้านหลัง Kenneth |
4 | 07:08 | 00:27:15 | กล้องเคลื่อนออกจากด้านหลัง Kenneth | Phillip ขึ้นเสียงว่า “That’s a lie.” |
5 | 09:57 | 00:34:34 | ตัดภาพมายัง Rupert | กล้องเคลื่อนมาด้านหลัง Brandon |
6 | 07:33 | 00:44:21 | กล้องเคลื่อนออกจากด้านหลัง Brandon | ได้ยินเสียง Mrs. Wilson พูดว่า “Excuse me, sir.” |
7 | 07:46 | 00:51:56 | ตัดภาพมายัง Mrs. Wilson พูดว่า “There’s a lady phoning…” | กล้องเคลื่อนมาด้านหลัง Brandon |
8 | 10:06 | 00:59:44 | กล้องเคลื่อนออกจากด้านหลัง Brandon | Brandon กำลังล้วงปืนในกระเป๋า |
9 | 04:37 | 01:09:51 | ตัดภาพมายัง Rupert เข้าใจความหมายของ Brandon | Rupert เปิดหีบสมบัติ |
10 | 05:38 | 01:14:35 | กล้องเคลื่อนขึ้นจากหีบสมบัติ | ตอนจบของหนัง |
เกร็ด: เวลาเริ่มต้นอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะฉบับ DVD/Blu-Ray ของ Universal มีการเพิ่มโลโก้สตูดิโอ เพื่อสำแดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน
แบบเดียวกับ Lifeboat (1942) ที่ผกก. Hitchcock ต้องการความสมจริง (Realist) ด้วยเหตุนี้นอกจาก Opening-Closing Credit ประพันธ์โดย David Buttolph เสียงเพลงได้ยินล้วนเป็น ‘diegetic music’ ต้องมีแหล่งกำเนิดเสียงพบเห็นได้ในฉาก
- ดังจากแผ่นเสียงบทเพลง The Three Suns: I’m Looking Over a Four-Leaf Clover
- บรรเลงเปียโน (โดย Farley Granger) บทเพลง Francis Poulenc: Mouvements Perpétuel No.1
ผมไม่เคยรับฟังบทเพลงของ Francis Poulenc (1899-1963) นักเปียโน+แต่งเพลง สัญชาติฝรั่งเศส แต่บทเพลง Mouvements Perpétuel No.1 (1918) ถือว่าน่าสนใจทีเดียว แต่งขึ้นตอน Poulenc อายุเพียง 19 ปี ขณะนั้นถูกหมายเรียกเกณฑ์ทหาร เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โชคดีได้รับการละเว้นเพราะเป็นลูกศิษย์ Protégé ของ Erik Satie เลยมีโอกาสแต่งเพลงนี้ระหว่างอาศัยอยู่ในโรงเรียนอนุบาล ท่วงทำนองมีความขี้เล่น ซุกซน แอบชั่วร้ายอยู่เล็กๆ ซึ่งสามารถสะท้อนพฤติกรรมของ Brandon & Phillip ภายนอกทำตัวไร้เดียงสา จิตใจกลับเต็มไปด้วยความคิดชั่วร้าย ถึงขนาดลงมือฆ่าคนตาย
Rope (1948) นำเสนอเรื่องราวของชายสองคน ใช้เชือกรัดคอรุ่นน้องจนเสียชีวิต จากนั้นจับยัดใส่หีบไม้ ต้องการท้าพิสูจน์ ‘Intellectual Superiority’ ของตนเอง ชักชวนแขกเหรื่อมาร่วมงานเลี้ยง พยายามทำตัวให้แนบเนียน ถ้าสามารถพานผ่านเย็นวันนี้โดยไม่มีใครสังเกตความผิดปกติ
แรงจูงใจของฆาตกรทั้งสอง ต้องการท้าทายทฤษฎี Übermensch ของนักปรัชญา Friedrich Nietzsche กล่าวถึงเป้าหมายของมนุษย์ คือการพิสูจน์ตนเองว่ามีความสูงส่งเหนือกว่าผู้ใด กระทำสิ่งที่ไม่มีใครอาจเอื้อม ไขว่คว้า คาดเดา ในบริบทของหนังก็คือฆาตกรรมโดยไม่ถูกจับได้ ก็จักกลายเป็น ‘Perfect Murder’
Patrick Hamilton สรรค์สร้างบทละคอน(West End) Rope, (Broadway) Rope’s End เมื่อปี ค.ศ. 1929 คือภาพสะท้อนครอบครัว(จอมปลอม)ของเขา บิดาขี้เมา Bernard Hamilton พร่ำเพ้อว่าตนเองเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ แต่ผลงานกลับมีคุณภาพ “soppy romances” ไม่ก็ “hotchpotch of religion and spirituality” [คือผมไม่รู้จะแปลเป็นไทยยังไง เอาว่าคุณภาพกลางๆ “mediocre at best” ก็แล้วกัน] หลายครั้งบนโต๊ะอาหารยังชอบคุยโวโอ้อวด กล่าวอ้างตนเองคือรัชทายาท เลือดเนื้อเชื้อไขราชวงศ์จาก Scotland เสี้ยมสอนลูกหลานให้ทำตัวไฮโซ สูงส่ง ราวกับเป็นสมาชิกชนชั้นสูง (High Society)
มันอาจไม่ใช่ความตั้งใจของผู้แต่ง Hamilton แต่ทว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นปี ค.ศ. 1948 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงไม่นาน เราจึงสามารถพาดพิงแนวคิดของ Brandon & Phillip ไม่แตกต่างจาก Nazi Germany ของ Adolf Hitler เชื่อว่าเชื้อชาติอารยัน (Aryan) มีความยิ่งใหญ่ ‘Inferior humans’ สูงส่งเหนือกว่าผู้อื่นใด ตรงกันข้ามกับชนชาวยิว (Jewish) ถือเป็นศัตรูคู่อาฆาต ต้องกำจัด กวาดล้าง เข่นฆ่าให้สูญสิ้นพงศ์เผ่าพันธุ์
Well, murder can be an art, too.
Brandon Shaw
ตอนผมได้ยินคำพูดประโยคนี้ ทำให้ครุ่นคิดถึงหนังแนว Giallo ของประเทศ Italy ที่เลื่องชื่อในการนำเสนอความตาย = ศิลปะ! ซึ่งภาพยนตร์เรื่องแรก The Girl Who Knew Too Much (1963) ของผกก. Mario Bava แค่ชื่อ(หนัง)ก็แสดงถึงอิทธิพล แรงบันดาลใจ The Man Who Knew Too Much (1934 และ 1956) ได้รับมาเต็มๆจากภาพยนตร์ผกก. Hitchcock นี้เอง!
แน่นอนว่าผกก. Hitchcock คือ(หนึ่งใน)ผู้บุกเบิกแนวคิดความตาย=ศิลปะ! แม้ในยุค Hays Code จะยังไม่สามารถนำเสนอภาพความตายออกมาตรงๆ แต่ลีลาการนำเสนอเต็มไปด้วยลูกเล่นแพรวพราว น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะ Psycho (1960) ต้องถือเป็นการฆาตกรรมที่มีความงดงามทางศาสตร์ศิลปะ กระตุ้นความกลัวผู้ชม(สมัยนั้น) ให้ตระหนักว่ามันคือสิ่งเลวร้าย อันตราย ไม่สมควรลอกเลียนแบบตาม
Rope (1948) อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่นำเสนอภาพความตาย=ศิลปะ! (พบเห็นแค่ถูกรัดคอตอนต้นเรื่อง แล้วเสียชีวิตลงทันที) แต่ทว่าแนวคิด แรงจูงใจฆาตกร รวมถึงผกก. Hitchcock สรรค์สร้างผลงานเรื่องนี้ด้วยลวดลีลา การทดลองแปลกใหม่ เพื่อท้าทายให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ตระหนักถึงทฤษฎี Übermensch มีความถูก-ผิด ดี-ชั่ว ประการใด
ด้วยทุนสร้าง $1.5 ล้านเหรียญ (หมดไปกับค่าตัว James Stewart จำนวน $300,000 เหรียญ) ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $2 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $2.748 ล้านเหรียญ ดูแล้วไม่น่าจะได้กำไรกลับคืนมา
สาเหตุสำคัญที่อาจทำให้รายได้หนังไม่เข้าเป้า เนื่องจากหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาทำการแบนห้ามฉาย เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง Brandon Shaw & Phillip Morgan ถูกตีความประเด็นรักร่วมเพศ (Homosexual) … ทั้งๆสามารถผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code มาได้เนี่ยนะ?
ไม่รู้เพราะความล้มเหลวดังกล่าวหรือเปล่าที่ทำให้ผกก. Hitchcock ตัดสินใจซื้อสิขสิทธิ์หนังมาเก็บเข้ากรุ ร่วมกับอีก 4 เรื่อง (รวมเรียกว่า ‘five lost Hitchcocks’) Rear Window (1954), The Man Who Knew Too Much (1956), The Trouble with Harry (1955), Vertigo (1958) ไม่ได้ถูกนำออกฉายซ้ำจนกระทั่งหลังเสียชีวิต ค.ศ. 1980
ปัจจุบันลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย Home Video ตกมาเป็นของ Universal Studios ยังไม่เห็นข่าวคราวการบูรณะ แต่เมื่อปี ค.ศ. 2023 มีการ ‘digital transfer’ คุณภาพ 4K Ultra HD ถือว่าดียอดเยี่ยม เผื่อใครสนใจบ็อกเซ็ต The Alfred Hitchcock Classics Collection 4K ประกอบด้วย Rope (1948), The Man Who Knew Too Much (1956), Torn Curtain (1966), Topaz (1969) และ Frenzy (1972)
ถึงแม้หนังจะแพรวพราวด้วยลูกเล่น การทดลอง เทคนิคงานสร้างที่น่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงรัศมีดาราอันเจิดจรัสของ James Stewart แต่การดำเนินไปของหนังก็ตามอย่างที่ผกก. Hitchcock เคยพร่ำบ่นเอาไว้ เต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผล ไร้อารมณ์ตื่นเต้น ลุ้นระทึกขวัญ เพียงการทดลองสตั๊นท์ ที่ดันสร้างอิทธิพลให้วงการภาพยนตร์(และโทรทัศน์)อย่างล้นหลาม
จัดเรต pg กับคดีฆาตกรรม
ว้าว สองล้านวิวแล้ว ยินดีด้วย ถ้ารวมกับ wordpress