Rosemary's Baby

Rosemary’s Baby (1968) hollywood : Roman Polański ♥♥♥♥

โดยปกติแล้วหนังแนว Psychological Horror อย่าง The Innocents (1961), The Haunting (1963) ฯ มักจะสร้างความคลุมเคลือให้กับตัวละคร ว่าพวกเขาเห็นผีปีศาจจริงๆ หรือเป็นเพียงภาพหลอนมโนขึ้นมา แต่กับหนังเรื่องแรกที่ Hollywood ของ Roman Polański ได้ทำการหักมุมตอนจบแบบช็อกโลกา สร้างความวินาศปั่นป่วนไปทั่วผืนปฐพี เกิดเป็นคำสาปที่คร่าชีวิตผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้กำกับเองก็ต้องสูญเสียภรรยาท้องแก่จากเหตุการณ์ฆาตกรรมของ Manson Family

สำหรับคนที่ชื่นชอบการหักมุมและไม่อยากถูกสปอย พยายามหลีกเลี่ยงการอ่านบทความนี้นะครับ มันเป็นเรื่องห้ามไม่ได้จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องพูดถึงตอนจบ เพราะมีความสำคัญระดับทรงอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะล่าสุดกับหนังเรื่อง mother! (2017) ของผู้กำกับ Darren Aronofsky ที่ถ้าใครได้รับชมทั้งสองเรื่องแล้วคงรู้สึกว่าสักประมาณ 60-70% ได้อิทธิพลแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้เต็มๆเลย

เกร็ด: โปสเตอร์ของหนังเรื่องนี้ ติดอันดับ 21 จาก The 25 Best Movie Posters Ever ของนิตยสาร Premiere, ด้วยคอนเซ็ปที่ว่า ‘mindscape as landscape’

ไม่แน่ใจว่า Polański เป็นผู้กล่าวไว้หรือเปล่า มีภาพยนตร์ 3 เรื่อง ‘Apartment Trilogy’ ดำเนินในอพาร์ทเมนต์/ห้องเช่าเป็นหลัก ตัวละครมีพฤติกรรมแปลกแยก ออกห่างจากสังคม พบเจอสิ่งหลอกหลอน เหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว จนสุดท้ายควบคุมตัวเองไม่ได้ แทบกลายเป็นบ้า สติแตก (Emotional Breakdown) ประกอบด้วย
– Repulsion (1965)
– Rosemary’s Baby (1968)
– The Tenant (1976)

Rajmund Roman Thierry Polański (เกิดปี 1933) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Polish-French เกิดที่กรุง Paris มีเชื้อสาย Jews ปี 1936 ครอบครัวเดินทางกลับกรุง Kraków ประเทศ Poland อาศัยอยู่ที่นั่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อถูก Nazi เข้ายึดครอง เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ Holocaust, หลังสงครามโลกผ่านพ้น สถานที่เดียวจะนำพาเขาหลีกหนีความทุกข์ทรมานเจ็บปวดรวดร้าวทางใจคือโรงภาพยนตร์

“Movies were becoming an absolute obsession with me. I was enthralled by everything connected with the cinema—not just the movies themselves but the aura that surrounded them.”

หนังเรื่องโปรดชื่นชอบที่สุดคือ Odd Man Out (1947) หนังนัวร์ของผู้กำกับ Carol Reed เป็นแรงผลักดันสำคัญให้ Polański กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์

ช่วงทศวรรษ 50s เข้าเรียนที่ National Film School in Łódź เลือกสาขาการแสดง รุ่นเดียวกับผู้กำกับดัง Andrzej Wajda มีผลงานเรื่องแรกเป็นหนังสั้น Rower (1955) [น่าจะสูญหายไปแล้ว], หนังยาวเรื่องแรก Knife in the Water (1962), เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติกับ Repulsion (1965), ทำให้กลายเป็นที่ต้องการตัวของ Robert Evans หนึ่งในผู้บริหารของ Paramount Pictures ชักชวนให้มาทำหนัง Hollywood โดยการส่งบทหนัง/นิยายสองเรื่องคือ Downhill Racer และ Rosemary’s Baby ตั้งใจให้เลือกมาเรื่องหนึ่ง

ทั้งๆที่ Polański ชื่นชอบการเล่นสกีมาก มีความสนใจอยากสร้างหนังเกี่ยวกับกีฬามาสักพักแล้ว แต่หลังจากได้อ่านนิยาย Rosemary’s Baby (1967) เขียนโดย Ira Levin เกิดความชื่นชอบหลงใหลยิ่งกว่า ตัดสินใจนี่แหละโปรเจคถัดไป เดินทางสู่ Los Angeles เซ็นสัญญาสร้างภาพยนตร์ Hollywood เรื่องแรกในชีวิต

เกร็ด: สำหรับ Downhill Racer (1969) ก็ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปีถัดมา โดยผู้กำกับ Michael Ritchie

ขอพูดถึงนักเขียนนิยายเล่มนี้เสียหน่อย Ira Marvin Levin (1929 – 2007) สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Manhattan, New York City เรียนจบปรัชญาและภาษาอังกฤษที่ New York University เริ่มต้นจากเป็นนักเขียนบทวิทยุ/รายการโทรทัศน์/บทละครเวที/นิยายเรื่องแรก A Kiss Before Dying (1953), Rosemary’s Baby (1967), The Stepford Wives (1972), The Boys from Brazil (1976) ฯ แทบทุกเรื่องได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์

สำหรับจุดเริ่มต้นของ Rosemary’s Baby เกิดขึ้นจากภรรยาของ Levin ที่กำลังตั้งครรภ์ แล้ววันหนึ่งเกิดแนวคิด ถ้าอยู่ดีๆลูกในท้องของเธอคลอดมาแล้วเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่มนุษย์ มันจะหลอกหลอนแค่ไหน!

“Having observed that the most suspenseful part of a horror story is before, not after, the horror appears, I was struck one day by the thought (while not listening to a lecture) that a fetus could be an effective horror if the reader knew it was growing into something malignly different from the baby expected. Nine whole months of anticipation, with the horror inside the heroine!”

Levin เป็นคนไม่เชื่อเรื่องผีสาง ปีศาจ เรื่องเหนือธรรมชาติ และแน่นอนศาสนา ด้วยเหตุนี้เขาจึงกล้าที่จะสร้างเรื่องราวให้ออกมาสะท้อนเสียดสีกับการเกิดของพระเยซูคริสต์ ด้วยการให้พระแม่มารีย์ (ในหนังชื่อ Rosemary) ร่วมรักกับซาตาน ได้ลูกออกมาหน้าตายังไงไม่รู้ แต่จากสีหน้าคำบรรยายบอกว่าไม่ใช่มนุษย์ เกิดวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1966, แน่นอนใครตีความลักษณะนี้ย่อมต้องเรียกนิยาย/หนังเรื่องนี้ว่า ”Blasphemy!” (ลบหลู่พระเจ้า)

กระนั้นนิยายเล่มนี้พอวางขายได้รับความนิยมอย่างสูงกลายเป็น Best-Selling ยอดขาย 4 ล้านเล่ม สูงสุดของปี 1967 หรืออาจจะระดับทศวรรษเลย จุดกระแส ‘horror boom’ ทำให้มีนิยาย Horror จากนักเขียนอื่นๆเกิดขึ้นตามมาเป็นพรวน หนึ่งในนั้นที่กลายเป็นตำนานคือ Stephen King

แซว: Stephen King พูดยกย่องถึง Ira Levin ว่า

“[Levin is] the Swiss watchmaker of suspense novels, he makes what the rest of us do look like cheap watchmakers in drugstores.”

เกร็ด: Levin ได้เขียนนิยายภาคต่อชื่อ Son of Rosemary (1997) อุทิศให้กับ Mia Farrow โดยเฉพาะ

Polański ดัดแปลงนิยายเรื่องนี้แบบหน้าต่อหน้า คำต่อคำ เรียกว่าตรงต่อต้นฉบับอย่างที่สุด ราวกับไม่รู้ตัวเองว่า สามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่างๆ ตามความสนใจของตัวเองได้, Levin แสดงความเห็นต่อหนังเรื่องนี้ว่า

“the single most faithful adaptation of a novel ever to come out of Hollywood.”

Rosemary Woodhouse (รับบทโดย Mia Farrow) กับสามี Guy Woodhouse (รับบทโดย John Cassavetes) ย้ายเข้ามาอยู่ในอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งใกล้ๆ Central Park West, Manhattan ได้รู้จักสนิทสนมกับเพื่อนบ้านสองสามีภรรยาสูงวัย Roman Castevet (รับบทโดย Sidney Blackmer) กับ Minnie Castevet (รับบทโดย Ruth Gordon) แท้จริงแล้วพวกเขาทั้งสองเป็นใคร มีจุดประสงค์อะไร หวังดีเกินไปหรือเปล่า โดยเฉพาะขณะที่ Rosemary ตั้งครรภ์ เหมือนมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับลูกในไส้ของตน

สำหรับบท Rosemary ผู้กำกับมีความต้องการ Tuesday Weld หรือคู่หมั้นของเขาตอนนั้น Sharon Tate แต่เนื่องจากขณะเตรียมงานสร้าง นิยายยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ โปรดิวเซอร์เลยต้องการนักแสดงนำที่พอมีชื่อเสียหน่อย เลือก Mia Farrow จากบทบาท Guns at Batasi (1964) และกึ่งๆถูกล็อบบี้โดย Frank Sinatra สามีของเธอขณะนั้น

María de Lourdes ‘Mia’ Villiers Farrow (เกิดปี 1945) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles เป็นลูกคน 3 จาก 7 คนของผู้กำกับ John Farrow สัญชาติ Australian กับแม่ Maureen O’Sullivan นักแสดงสัญชาติไอริช, ตอนอายุ 9 ปีติดเชื้อโปลิโอ รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิดเลยมีความต้องการเป็นแม่ชี (nun) แต่กลับได้เริ่มอาชีพนักแสดงจากเป็นตัวประกอบ Guns at Batasi (1964) คว้ารางวัล Golden Globe Award: New Star of the Year – Actress, แต่งงานฟ้าแลบกับ Frank Sinatra เมื่อปี 1966 (หย่าขาดปี 1968 ได้รับใบหย่าขณะแสดงหนังเรื่องนี้)

Rosemary เป็นหญิงสาวที่ค่อนข้างเอาแต่ใจ ต้องการแค่ชีวิตมีความสุขสมหวังกับสามี สันโดดรักสงบ ไม่ชอบให้ใครมาจุ้นจ้านวุ่นวาย แต่กลับชอบพูดนินทาลับหลังผู้อื่น คิดเล็กคิดน้อยจนคิดเพ้อไปไกล

จะมีฉากหนึ่งตอนที่ Rosemary ท้องแก่ เดินลอยๆไร้วิญญาณข้ามถนน เห็นว่านั้นไม่ใช่การจัดฉาก แต่เป็น Farrow เดินข้ามถนนจริงๆใน Manhattan ตามคำร้องขอของผู้กำกับที่การันตีว่า ‘nobody will hit a pregnant woman.’ เทคเดียวผ่าน ไม่มีใครขับรถชนเธอจริงๆ [แต่แปลกที่ฆาตกรรมของครอบครัว Manson กลับไม่เว้นภรรยาท้องแก่ของ Polański]

เกร็ด: จริงๆ Farrow ผมสั้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะรับบทในละคร soap opera เรื่อง Peyton Place (1964 – 1969) แต่ที่เห็นขณะผมยาวนั่นคือการสวมใส่วิก

นี่เป็นการรับบทนำครั้งแรกของ Farrow ความน่ารักสดใสบริสุทธิ์ของเธอในช่วงแรก ทำให้โลกสดใสมาก แต่เมื่อตั้งครรภ์เริ่มเกิดอาการ paranoid หวาดระแวง สร้างความฉงนสงสัยให้ผู้ชมว่าแท้จริงแล้วเธอคิดไปเอง หรือมันคือเรื่องจริงกันแน่ จนกระทั่งช่วงท้าย ขณะถือมีดเดินตรงเข้าไปที่เปลของลูก เป็นสีหน้า สายตา ที่หลอกหลอนสั่นสะท้าน

ตอนที่ Farrow ได้รับใบหย่าจาก Frank Sinatra มีความตั้งใจจะถอนตัวจากการรับบทนี้ แต่เพราะการถ่ายทำมาเกินครึ่งแล้ว โปรดิวเซอร์และผู้กำกับจึงพยายามโน้มน้าว นำฟุตเทจที่ตัดต่อเสร็จมาให้เธอรับชม การันตีว่าต้องได้เข้าชิง Oscar แน่ๆ ด้วยความพึงพอใจกับสิ่งที่เห็น ทำให้ตัดสินใจอยู่ต่อจนถ่ายทำเสร็จ

น่าเสียดายที่ Farrow ไม่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress ถือเป็นการถูก SNUB ที่รุนแรงพอสมควร แต่ก็ได้เข้าชิง Golden Globe: Best Actress for Drama พ่ายให้กับ Joanne Woodward จากเรื่อง Rachel, Rachel (1968)

ซึ่งหลังจากถ่ายหนังเสร็จ Farrow หายหน้าหายตาไปสักพักใหญ่ เดินทางสู่ India กับน้องสาว Prudence Farrow เพื่อเรียนทำสมาธิกับ Maharishi และได้พบเจอกับวง The Beatles ที่ได้เขียนเพลง Dear Prudence ให้กับพวกเธอ

สำหรับบท Guy ผู้กำกับสนใจ Robert Redford (หนีไปเล่น Downhill Racer), Jack Nicholson, Warren Beatty ก่อนมาลงเอยที่ John Cassavetes

John Nicholas Cassavetes (1929 – 1989) ผู้กำกับ/นักแสดงสัญชาติ Greek-American เกิดที่ New York City พ่อเป็นชาวกรีก จนถึงอายุ 7 ขวบพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักประโยค, เนื่องจากเป็นคนเรียนไม่เก่ง เลยตัดสินใจเป็นนักแสดง เข้าเรียนที่ American Academy of Dramatic Arts จบออกมาเป็นกำกับ/เขียนบทละครเวทีและเป็นอาจารย์สอน method acting พัฒนาบทภาพยนตร์/กำกับหนังเรื่องแรก Shadows (1959) คว้ารางวัล Critics Award เทศกาลหนังเมือง Venice, สำหรับการแสดงเริ่มต้นจากซีรีย์โทรทัศน์เกรด B ภาพยนตร์เรื่องดังๆ อาทิ The Killers (1964), The Dirty Dozen (1967), The Fury (1978)  ฯ

Cassavetes ได้เข้าชิง Oscar 3 ครั้งจาก 3 สาขา
– Best Supporting Actor เรื่อง The Dirty Dozen (1967),
– Best Original Screenplay เรื่อง Faces (1968),
– Best Director ginjv’ A Woman Under the Influence (1974).

Guy เป็นผู้ชายที่เหมือนจะรักภรรยา ทำงานเป็นนักแสดงที่กำลังค่อยๆไต่เต้าขึ้นสู่ความสำเร็จ แต่เมื่อได้รับการโน้มน้าวชักจูงจากใครบางคน ทำให้เขาตกเป็นเหยื่อ หรืออาจจะยินยอมเสียสละความสุขเพื่ออุดมการณ์อะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า

passion ของตัวละครนี้ สังเกตจากสีหน้าท่าทาง ดวงตา คำพูดของ Cassavetes เต็มเปี่ยมด้วยความกระตือรือล้น อยากรู้อยากลอง พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับความสำเร็จ แต่พอถึงจุดๆหนึ่งมันจะมีความหวาดกลัวตัวสั่นเทา ราวกับเขารับรู้ตัวตั้งแต่แรกๆว่ามีอะไรเกิดขึ้นเบื้องหลัง, ผมคิดว่าอาจตั้งแต่ตอนนักแสดงคู่แข่ง Donald Baumgart (ให้เสียงโดย Tony Curtis) ที่อยู่ดีๆตาบอด ทำให้ Guy ส้มหล่นได้รับบทบาทนั้น นี่น่าจะเกิดจากเวทย์มนต์คาถา (witchcraft) ด้วยความอยากรู้อยากลองของ ซึ่งพอรับรู้ว่าเป็นของจริง ก็จำต้องเสียสละแลกภรรยาคนรักของตนให้กับ… [ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราว Off-Screen ที่พอจะคาดเดาได้]

สำหรับนักแสดงที่เป็นไฮไลท์ของหนังเลยคือ Ruth Gordon (1896 – 1985) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Quincy, Massachusetts ในครอบครัวชาว Jews ตอนอายุ 18 เดินทางสู่ New York เข้าเรียน American Academy of Dramatic Arts เริ่มจากผลงาน Broadway เซ็นสัญญาทาส MGM ช่วงต้นทศวรรษ 30s แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่, เริ่มมีชื่อเสียงจาก Two-Faced Woman (1941) สมทบ Greta Garbo, ผลงานเด่นๆ อาทิ Inside Daisy Clover (1965), Harold and Maude (1971), Maxie (1985) ฯ

รับบท Minnie Castevet หญิงสูงวัยเพื่อนข้างห้อง ที่แท้จริงแล้วเป็น… ด้วยความสอดรู้สอดเห็น จุ้นจ้านของเธอ สร้างความว้าวุ่นวายรำคาญใจให้กับ Rosemary เป็นอย่างมาก (รวมถึงผู้ชมด้วย)

นี่เป็นการแสดงระดับ Oscar ที่ Gordon สามารถคว้ารางวัล Best Supporting Actress มาครองได้ จุดประกายตัวละครลักษณะ ‘funny old women’, ผมประทับใจสุดก็ตอนอยู่ดีๆก็มาเคาะประตูหน้าห้อง เดินเข้ามาพร้อมเพื่อน แล้วนั่งลงถักนิตติ้งแบบไม่แคร์สื่อ พฤติกรรมของเธอนี่แบบว่า…

ถ่ายภาพโดย William A. Fraker ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เข้าชิง Oscar: Best Cinematography 5 ครั้ง ไม่เคยได้สักรางวัล ประกอบด้วย Looking for Mr. Goodbar (1977), Heaven Can Wait (1978), 1941 (1979), WarGames (1983), Murphy’s Romance (1985) ผลงานอื่น อาทิ Bullitt (1968), One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ฯ

อพาร์ทเม้นต์ที่ใช้ถ่ายทำ เดิมชื่อ The Dakota Building (ตั้งอยู่ 1 West 72nd Street), Manhattan โซน Upper West Side เปลี่ยนชื่อเป็น The Bramford เพื่อสอดคล้องกับชื่อในนิยาย, นี่เป็นสถานที่จริงๆ ซึ่งผู้เขียนนิยาย Ira Levin เคยอาศัยอยู่ (ก็บอกแล้วว่า Polański ดัดแปลงจากนิยายเปะๆ ขนาดใส่เสื้อสีลวดลายอะไรก็ยังเหมือนในหนังสือ)

มีอยู่หลายครั้งทีเดียวที่เป็น Long Take อาทิ ฉากเปิดเรื่องแนะนำอพาร์ทเม้นท์, Love Scene ของคู่พระนาง, ฉากในตู้โทรศัพท์ของ Mia Farrow ฯ แต่ผู้ชมส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้สึกตัว เพราะกล้องมักมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ก็นักแสดง/เรื่องราวดึงดูดความสนใจของผู้ชมไปเต็มๆ

ส่วนใหญ่ของหนังเป็นการถ่ายทำภายใน จึงมีแต่ภาพระยะ Medium-Shot กับ Close-Up เน้นใบหน้าของ Mia Farrow เพื่อให้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาจากภายในได้

ตัดต่อโดย Sam O’Steen (Who’s Afraid of Virginia Woolf, Cool Hand Luke, The Graduate, Chinatown) กับ Bob Wyman, หนังใช้มุมมองของ Rosemary เป็นหลักในการเล่าเรื่อง ผู้ชมจะรับรู้ มองเห็นในสิ่งเดียวกับที่เธอเข้าใจ ซึ่งช่วงครึ่งหลังกล้องแทบจะไม่คลาดสายตาไปจากเธอเสียเท่าไหร่ นี่มีนัยยะถึงการหลงเหลือตัวคนเดียวในโลกใบนี้

ความคลุมเคลือในการทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง หรือความเพ้อฝัน มีจุดเริ่มต้นจากฉากร่วมรักกับซาตาน เหมือนว่า Rosemary ถูกวางยาแน่ๆ แต่ภาพที่แทรกใส่มาชวนให้ผู้ชมเกิดความฉงนสงสัย โดยเฉพาะบนเรือยอร์ช มันเหมือนภาพจินตนาการมากกว่าเกิดขึ้นจริงอย่างมาก นี่เป็นการชี้ชักนำให้เกิดความใจผิดได้ประสิทธิผลทีเดียว

มีฉากหนึ่งที่ถ่ายทำแล้วถูกตัดออกไป เมื่อ Rosemary กับ Elise Dunstan (หญิงสาวที่ภายหลังกระโดดตึกเสียชีวิต) เดินทางไปชมการแสดง Off-Broadway เรื่อง The Fantasticks ซึ่งจะมีสองนักแสดงรับเชิญ Joan Crawford กับ Van Johnson รับบทเป็นตัวเองอยู่ด้วย

เพลงประกอบโดย Krzysztof Komeda นักแต่งเพลง Jazz Pianitist สัญชาติ Polish ขาประจำของ Polański ตั้งแต่ Knife in the Water (1962)

เสียงฮัมร้องกล่อมเด็ก (Lullaby) เพลง Sleep Safe and Warm หรือบางทีก็เรียกว่า Rosemary’s Lullaby ขับร้องโดย Mia Farrow เชื่อว่าคงหลอกหลอนจับจิตจับใจใครหลายๆคน ชวนให้ขนลุกขนพองตั้งแต่ฉากแรกที่ได้ยิน

สงสัย: ทำนองกล่อมเด็กเพลงนี้ ส่วนตัวรู้สึกคล้ายบทเพลง Whatever Will Be, Will Be (1956) หรือ Que Sera, Sera ขับร้องโดย Doris Day ที่ใช้ประกอบหนังเรื่อง The Man Who Knew Too Much (1956) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock

บทเพลง Making love in the Apartment ดนตรี Jazz นุ่มๆ เปียโน แซกโซโฟน ฉาบ ขณะ Rosemary กับ Guy ร่วมรักบนพื้นห้อง ฟังแล้วฟินมากๆเลยละ

ทีแรกตอนดูหนังก็ไม่ได้เอะใจอะไรหรอกนะ แต่พอมาได้ฟังประกอบขณะเขียนบทความนี้เลยรับรู้ได้ว่า แทบทุกบทเพลงมีสัมผัส/กลิ่นอาย จากทำนองคล้ายๆกันหมด ความไพเราะ หลอกหลอน ต้องยกชูนิ้วโป้งสองนิ้ว Two Thumb Up เรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์แบบ Masterpiece ระดับ topnotch เลยก็ว่าได้

รับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสครุ่นคิดถึงการมีลูก เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ คู่รักหนุ่ม-สาวคงต่างเนื้อเต้นดีใจ วาดฝันโน่นนี่นั่น เมื่อลูกน้อยลืมตาดูโลกอยากที่จะ … บลา บลา บลา … แต่ระยะเวลา 9 เดือน มันไม่ใช่น้อยๆเลยนะครับ อะไรๆก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นโดยไม่รู้ตัว โชคร้ายสุดๆคือ แท้ง, พิการ, สติปัญญาต่ำ ฯ นี่ย่อมทำให้พ่อ-แม่ เกิดความผิดหวังอย่างยิ่งยวดถึงที่สุด ทุกข์เศร้าโศก เลวร้ายก็บ้าคลั่งเสียสติ,

Trauma อันเกิดจากความผิดหวังของทารกน้อย ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตคู่อย่างแน่นอน หลายครอบครัวต้องแยกกันอยู่ เซ็นใบหย่า เพราะทนเห็นหน้ากันไม่ได้ หรือต่อให้ฝืนทนไหวก็มิอาจมีความสุขสมหวัง นี่ถือเป็นความ Horror ประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากโชคชะตาฟ้าดินล้วนๆ เรื่องใกล้ตัวที่มีความน่าหวาดหวั่นวิตกอย่างยิ่ง

นี่ทำให้ผมแอบเครียดวิตกจริตเลยนะ ถ้าสักวันแต่งงานแล้วภรรยาคลอดลูกออกมาแบบว่า กลายเป็นตัวอะไรไม่รู้ เราจะสามารถยินยอมรับสภาพในสิ่งที่เขาเป็นได้หรือเปล่า, นี่ไม่ใช่แค่ลักษณะภายนอกกายภาพเท่านั้นที่ผมขอเปรียบเทียบ สมมติว่าลูกของคุณเติบโตขึ้นแล้วกลายเป็นแบบ Adolf Hitler, ผู้ก่อการร้าย, ฆาตกรโรคจิต, พ่อค้ายาเสพติด ฯ คนเป็นพ่อ-แม่ จะยังสามารถให้อภัยลูกของตนเองได้หรือเปล่า

Rosemary เมื่อเริ่มมีความหวาดหวั่นกลัว เธอวิตกจริตคิดว่าคนรอบข้างจะเข้ามาทำร้ายตน หรือลักพาลูกในไส้ไป แต่ความตั้งใจของพวกเขาหาใช่เช่นนั้นไม่ ต่างต้องการประคบประหงม ดูแลหญิงสาวด้วยความทะนุถนอมจริงใจ เพราะคาดหวังให้ทารกน้อยได้ลืมตาดูโลกสำเร็จ (เรียกว่าเป็น Rosemary ที่เข้าใจผิดไปเต็มๆ)

ประเด็นมันคือตอนคลอดออกมาแล้วต่างหาก เจ้าสิ่งนั้นที่ Rosemary เห็น ในตอนแรกมีท่าทีตื่นตระหนกตกใจ หลอกหลอน สะพรึงกลัว นี่ฉันทำอะไรผิดพลาด ให้กำเนิดอะไรเกิดขึ้นมา แต่ก็มีคำพูดหนึ่งที่ฉุกให้ครุ่นคิดได้

“Aren’t you his mother?”

อย่างไม่น่าเชื่อเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง หญิงสาวสามารถยินยอมรับ ครุ่นคิดจนทำใจได้ ไม่ว่าลูกของฉันจะเกิดมาเป็นตัวอะไร โตขึ้นกลายเป็นใคร ก็ไม่มีเหตุผลใดๆจะปฏิเสธเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง รอยยิ้มของเธอขณะไกวเปลให้ลูกน้อยช็อตสุดท้าย กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไป ถึงหัวใจจะสั่นสะท้าน แต่เป็นการแสดงความรักออกมาจากใจ

ว่ากันว่าเพราะหนังเรื่องนี้มีลักษณะเป็น Antichrist ทำให้ผู้เกี่ยวข้องหลายคนได้รับผลกระทบร้ายตามมาราวกับคำสาป
– นักแต่งเพลง Krzysztof Komeda ได้รับอุบัติเหตุตกจากที่สูง เลือดไหลในสมอง อาการโคม่าอยู่ 4 เดือน ก่อนเสียชีวิตเมื่อเดือนเมษายน 1969
– ตามด้วยหนึ่งในโปรดิวเซอร์ William Castle ได้รับจดหมายขู่ฆ่า แล้ววันหนึ่งถูกแทงแผลฉกรรจ์ นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล พึมพัมละเมอว่า ‘Rosemary, for God’s sake, drop the knife!’ โชคดีที่ Castle ไม่เสียชีวิต แต่ก็ทำหนังไม่ประสบความสำเร็จอีกเลย
– และเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดคือฆาตกรรมโหด Mason Family กับ Sharon Tate ภรรยาท้อง 8 เดือนของผู้กำกับ Roman Polański ในบ้านที่ Beverly Hills เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1969 ตอนนั้นกำลังเตรียมงานสร้างหนังเรื่องใหม่ที่ยุโรป พอทราบข่าวถึงกับทรุด ช็อค ตกอยู่ในสภาพหดหู่ (depression) อยู่หลายเดือนกว่าจะฟื้นตัว

คือคำสาปจริงๆหรือไม่ แต่หนังเรื่องนี้ตีความได้ในเชิงลบหลู่ Blasphemy พระเยซูคริสต์จริงๆนะครับ กับคนต่างศาสนาอย่างเราๆคงไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ แต่ชาวคริสเตียนเคร่งๆ เมื่อรับรู้ทำความเข้าใจ ย่อมต้องยินยอมรับไม่ได้แน่ๆ, ซาตานในมุมของพวกเขาเปรียบได้กับเปรต อสูรกาย ขุมนรกของเรา นำเสนอสิ่งที่ ‘นรกกลับชาติมาเกิด’ ก็แน่ละไม่น่าขนหัวลุกก็กระไรอยู่

ด้วยทุนสร้าง $3.2 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ $33.4 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลามเรื่องหนึ่งแห่งปี, เข้าชิง Oscar 2 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Supporting Actress (Ruth Gordon) ** ได้รางวัล
– Best Adapted Screenplay

Levin ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2002 บอกว่ารู้สึกผิดที่ Rosemary’s Baby ทำให้เกิดกระแสนิยมเรื่องราวเกี่ยวกับซาตาน อาทิ The Exorcist (1973), The Omen (1976) ฯ มันเหมือนว่าชาวโลกมีความเชื่อเรื่องแม่มด ปีศาจ สัตว์ประหลาดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นไหนๆ

“I feel guilty that ‘Rosemary’s Baby’ led to ‘The Exorcist,’ ‘The Omen.’ A whole generation has been exposed, has more belief in Satan. I don’t believe in Satan. And I feel that the strong fundamentalism we have would not be as strong if there hadn’t been so many of these books.”

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะตอนจบหักมุมปลายปิดที่ผมเองก็คาดไม่ถึง (คาดไม่ถึงว่ามันจะเป็นปลายปิด) เพราะโดยปกติเท่าที่เห็นล้วนปลายเปิดแทบทั้งนั้น ถือว่าเป็นรสชาติใหม่ที่แตกต่างไม่เคยพบเจอมาก่อน

นี่ต้องชมไดเรคชั่นของผู้กำกับ Polański ด้วยละ เพราะสามารถหลอกล้อ โน้มน้าว ชักจูงผู้ชมที่เป็นนักคิด ให้สามารถคล้อยตาม สร้างความฉงนสงสัย แล้วสุดท้ายตบหัวลูบหลัง เป็นวิธีการคาดไม่ถึงทีเดียว ซึ่งต่อให้ผู้ที่อ่านนิยายมาถ้าไม่เคยรับรู้มาก่อน ก็จะยิ่งทึ่งเพราะมีความเหมือนแทบจะเปะๆลอกออกมาจากหนังสือ (มันไม่มีหนังเรื่องใดในโลก ดัดแปลงได้ตรงต่อนิยายในรายละเอียดถึงขนาดนี้)

เกร็ด: นี่คือหนึ่งในหนังเรื่องโปรดของผู้กำกับ Stanley Kubrick ตามคำบอกเล่าของ Jan Harlan

แนะนำกับคอหนัง Psychological Horror, ชื่นชอบแนว Occult, Antichrist, Suspense, แฟนๆนิยายของ Ira Levin ห้ามพลาดเลย, และผู้คลั่งไคล้ Roman Polański, นักแสดง Mia Farrow, John Cassavetes, Ruth Gordon ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ ไม่มีเลือด แต่มีการลบหลู่ศาสนาคริสต์ โป๊เปลือย และลัทธิอันบ้าคลั่ง

TAGLINE | “Rosemary’s Baby ลูกรักของผู้กำกับ Roman Polański คลอดออกมาผ่านการแสดงของ Mia Farrow ที่ยิ่งใหญ่ สวยงาม แบบไม่มีใครคาดคิดถึง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
5 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
tantawanpanda Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
tantawanpanda
Guest

อ่อ เราเคยอ่านเจอเหมือนกันว่าเรื่องนี้มีอาถรรพ์นักแสดง พออ่านความแรงของเรื่องกับดราม่าเบื้องหลังก็แอบเชื่อเลยค่ะ ว่าอาจจะจริงก็ได้นะ 555

%d bloggers like this: