Rosetta

Rosetta (1999)  : Dardenne brothers ♥♥♡

วัยรุ่นสาว Rosetta (บทบาทแรกแจ้งเกิด Émilie Dequenne) แค่ต้องการงานทำ มีชีวิตแบบปกติทั่วไป และขอเพื่อนสนิทสักคน แต่โชคชะตานำพาให้เธอได้มาแล้วสูญเสีย ตกบ่อน้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อไหร่กันฉันจะมีโอกาสนั้น, คว้ารางวัล Palme d’Or อย่างเอกฉันท์จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

“Your name is Rosetta. My name is Rosetta. You found a job. I found a job. You’ve got a friend. I’ve got a friend. You have a normal life. I have a normal life. You won’t fall in a rut. I won’t fall in a rut. Good night. Good night”.

– Rosetta

คำรำพันก่อนนอนของ Rosetta สะท้อนความต้องการที่ขอแค่มีชีวิตปกติสุข ไม่ใช่ทนทุกข์ยากลำบากแบบปัจจุบัน มีแม่ขี้เมาหัวราน้ำ วันๆไม่ยอมทำอะไรนอกจากร่านผู้ชาย ส่วนตัวเธอนั้นเพราะดูเด็กวัยรุ่น เลยยังไม่สามารถหาการงานมั่นคง แถมถูกกดค่าแรงขั้นต่ำอีกต่างหาก

ถึงกระนั้นความเคยชินชาต่อวิถีชีวิตที่เคยมีมา ทำให้ Rosetta เมื่อครั้นได้การงานมั่นคงทำ สุดท้ายเธอกลับตัดสินใจทอดทิ้งมัน ราวกับนกที่เคยได้รับอิสรภาพโผบิน ถูกจับมาอยู่ในกรงขังย่อมมิอาจอดรนทนได้แน่

รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผมหวนระลึกถึง Mouchette (1967) ของผู้กำกับ Robert Bresson และ Vagabond (1985) ของผู้กำกับ Agnès Varda ต่างเกี่ยวข้องผู้หญิงสาวโหยหาบางสิ่ง เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก ไร้ซึ่งใครพยายามเรียนรู้เข้าใจ จนสุดท้ายไม่สามารถอดรนทนอาศัยอยู่บนโลกนี้ได้

ขอบอกไว้ก่อนว่า ส่วนตัวไม่ค่อยชื่นชอบภาพยนตร์ลักษณะนี้สักเท่าไหร่ มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป แถมไดเรคชั่นของสองพี่น้อง Dardene ถือกล้อง Hand Held วิ่งติดตามหลังตัวละคร นั่นทำให้ผู้ชมรู้สึกอินกับความทุกข์ยากลำบาก จริงอยู่มันมากด้วยประสิทธิผล แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะอดรนทนได้


Jean-Pierre Dardenne (เกิดปี 1951) และ Luc Dardenne (เกิดปี 1954) สองพี่น้อง Dardenne เชื้อสาย Belgian เกิดที่ Liège ในเขตพูดภาษาฝรั่งเศส, คนพี่โตขึ้นเข้าเรียนสาขาการแสดง (ต้องการเป็นนักแสดง) ระหว่างนั้นมีโอกาสพานพบเจอกลายเป็นลูกศิษย์ Armad Gatti (หนึ่งในผู้กำกับ French New Wave ฝั่ง Left Bank) ต่อมาได้งานเป็นผู้ช่วย ร่วมกันสร้างวีดิโอ ถ่ายทำสารคดี ส่วนคนน้องสอบเข้าคณะปรัชญา (ตั้งใจเป็นครู) แต่กลับติดตามพี่มาสร้างหนังด้วยกัน, หลังจาก Gatti ร่ำลาออกเดินทางต่อสู่ Germany สองพี่น้องเลยตัดสินใจซื้อกล้อง เริ่มต้นโปรเจคของตนเอง เริ่มจากสรรค์สร้างสารคดีรวมแล้วประมาณกว่า 80 เรื่อง! ทศวรรษถัดมาก่อตั้งบริษัท Les Filmes du Fleuve เปลี่ยนมาสร้างภาพยนตร์คนแสดง สองเรื่องแรกได้เสียงตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ Falsch (1987), Je pense a vous (1992), จนกระทั่งค้นพบแนวทาง แจ้งเกิดโด่งดังระดับนานาชาติกับ La Promesse (1996)

การทำงานของสองพี่น้อง Dardenne จะร่วมกันทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่ครุ่นคิดหาหัวข้อน่าสนใจ เขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ

“My brother and I feel as though we are only one person – to be a two-headed machine that wants to make one film”

– Jean-Pierre Dardenne

สำหรับ Rosetta แรกเริ่มคือความตั้งใจสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้หญิงต่อสู้ชีวิต แต่ไปๆมาๆเปลี่ยนเป็นเด็กสาวแรกรุ่น ต้องการจะเข้าสู่สังคม ได้รับการจดจำ มีการงานมั่นคงทำ

“In Rosetta, the story is built from the girl. We wanted to be able to create tension with one person, to whom there come a lot of extraordinary things, but the least romantic ones”.

หลังจากได้ข้อสรุปร่วมกัน Luc เป็นคนเริ่มเขียนบทร่างแรก ส่งต่อให้ Jean-Pierre ปรับแก้ไขแล้วส่งกลับ นั่งพูดคุยหาข้อสรุป รวมแล้วก็ 7-8 รอบ ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมงานกันจริงๆ ไม่ใช่บทหนังของคนใดคนหนึ่ง

“We thought: it will be like a war movie and the character will be the movie”.

เรื่องราวของ Rosetta (รับบทโดย Émilie Dequenne) เริ่มต้นมาถูกไล่ออกจากงาน พยายามดื้อดึงแค่ไหนแต่ก็ไม่เป็นผล อาศัยอยู่บ้านคาราวาน ณ The Grand Canyon ร่วมกับแม่ที่วันๆไม่ทำอะไรนอกจากขายตัวเพื่อเอาเงินมาดื่มสุรามึนเมามาย หญิงสาวพยายามหางานใหม่แต่ก็ไม่มีใครไหนยินยอมรับ จนกระทั่งพานพบเจอ Riquet (รับบทโดย Fabrizio Rongione) ชายหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันที่ขาย Waffle แนะนำว่าเจ้านายอาจมีงานให้เธอทำ แต่ความปรารถนาดีดังกล่าวกลับตอบแทนด้วยการถูกขับไล่ออก นั่นทำให้เขาโกรธเกลียดเคียดแค้น ติดตามมาจองเวรจองกรรมจนไม่เป็นอันกินนอน ท้องไส้ปั่นป่วน!

เกร็ด: ขนมรังผึ้ง (Waffle) ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดจากประเทศ Belgium ตั้งแต่ยุคกลาง ศตวรรษที่ 11 โน่นเลย


นำแสดงโดย Émilie Dequenne (เกิดปี 1981) นักแสดงสัญชาติ Belgian เกิดที่ Belœil, Hainaut โตขึ้นเข้าเรียนที่ Baudour Music Academy ตอนอายุ 12 เข้าร่วมคณะการแสดงสมัครเล่น La relève ได้รับเลือกจากนักแสดง 2,000 คน แจ้งเกิดโด่งดังกับ Rosetta (1999) จากนั้นมีผลงานต่อเนื่อง Brotherhood of the Wolf (2001), The Very Merry Widows (2003), The Light (2004), Our Children (2012), Not My Type (2014) ฯ

รับบท Rosetta หญิงสาวแรกรุ่นผู้มีความมุ่งมั่นต้องการชีวิตที่เป็นปกติ อุดมคติของเธอคือมีการงานมั่นคง เพื่อนสักคน และแม่ไม่ร่านผู้ชาย/ดื่มเหล้าเมามาย พยายามต่อสู้กับโชคชะตา แต่ก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร ทำไม ตนเองถึงพานพบเจอเรื่องร้ายๆอยู่เรื่อย ครึ่งหนึ่งพานพบเห็นหนทางที่สามารถสนองเป้าหมาย เลยทรยศหักหลังเพื่อนชายหนึ่งเดียว Riquet ผลลัพท์กลับถูกเขาติดตามหลอกหลอนจนไม่เป็นอันกินอันนอน นี่ฉันทำอะไรผิดพลาดกัน … ดูแล้วเธอคงไม่รับรู้ตนเองอย่างแน่นอน

สองพี่น้อง Dardenne หลังจากประกาศคัดเลือกนักแสดง มีจดหมายส่งกลับมากว่า 2,000 ฉบับ คัดเลือกเฉพาะหน้าตาประมาณ 300 ติดต่อมาออดิชั่นจนเหลือหลักสิบ หก สาม ก่อนลงเอยที่ Émilie Dequenne ด้วยภาพลักษณ์และความเป็นธรรมชาติที่มาจากประสบการณ์ละครเวที

ถึงไดเรคชั่นของหนังจะกลบเกลื่อนการแสดงของ Dequenne อยู่ไม่น้อย แต่เธอสวมวิญญาณเป็นทั้งตัวละคร ตั้งแต่ท่วงท่าการเคลื่อนไหว สีหน้าอารมณ์ ผู้ชมสามารถสัมผัสทุกความรู้สึกแม้พบเห็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่ง แค่ด้านหลังก็ตามที

ถ่ายภาพโดย Alain Marcoen สัญชาติ Belgian ขาประจำสองพี่น้อง Dardenne ตั้งแต่ La Promesse (1996),

สองพี่น้อง Dardenne นำประสบการณ์จากเคยถ่ายทำสารคดี ใช้ทีมงานเล็กๆประมาณ 10-20 คน จำลองสร้างสถานการณ์แล้วเก็บเกี่ยวทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้น (แทบทั้งหมดเป็นการ ‘Improvised’) รวมแล้วใช้เวลาถ่ายทำถึง 11 สัปดาห์ ได้ฟุตเทจกว่า 60 ชั่วโมง เลือกฉากไหนค่อยว่ากันตอนตัดต่อ

ทั้งเรื่องถ่ายทำด้วยกล้อง Super 16 ที่มีขนาดเล็ก Hand-Held ทำให้สามารถวิ่งติดตามหลังนักแสดง เพื่อสะท้อนสภาพจิตใจของตัวละคร ที่เต็มไปด้วยความหวาดหวั่น สั่นสะพรึงกลัว ชีวิตมีแต่ความไม่แน่นอน มิอาจหาความสงบนิ่งมั่นคง (ภายในจิตใจ)

ด้วยไดเรคชั่นดังกล่าว ทำให้หลายๆรายละเอียดของภาพสูญหาย หลุดเฟรม หรือสั่นไหวจนไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าคืออะไร แต่สิ่งเหล่านั้นถือว่าไม่มีความสลักสำคัญเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ผู้ชมสามารถคาดเดา จินตนาการต่อเองได้อยู่แล้ว

“The documentaries that we used to make, you go to film a reality that exists outside of you and you don’t have control over it — it resists your camera. You have to take it as it is. So we try to keep that aspect of documentary into our fiction, to film something that resists us. So we try not to show everything or see everything. The character and the situation remains in the shadows and this opacity, this resistance, gives the truth and the life to what we’re filming”.

– Jean Pierre Dardenne

Sequence แรกของหนัง กล้องเคลื่อนติดตามหลัง Rosetta เดินผ่านโถงทางเดิน ขณะผ่านเปิดประตูจะปิดตามหลังทันที -ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่น คงเปิดประตูค้างไว้แล้วให้กล้องติดตามเข้าไป- นัยยะสื่อถึงการปิดกั้นตนเองของหญิงสาว ต้องการทำทุกสิ่งอย่างในห้องหับ/โลกของตนเองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พอถูกไล่ออกจากงาน พยายามกระเสือกกระสนดิ้นรน ขังตนเองปิดตายอยู่ในห้อง จนตำรวจต้องกระแทกกระทั้น รุกล้ำเข้าไปฉุดลากตัวออกมา

การเปลี่ยนรองเท้า ขายเสื้อผ้า นัยยะถึงความต้องการปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง จากคนนอกคอกไม่ได้รับการยินยอมรับ โหยหาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อจุดมุ่งหมายปลายทางนั้น

แต่ชีวิตของ Rosetta ก็ไม่ต่างจากปลาในขวดแก้วที่ตกขึ้นจากบ่อน้ำ พยายามดิ้นรนกระเสือกกระสน แต่ถ้ามันตัวเล็กคงกินไม่อิ่มท้องเลยยอมปล่อยไป ขณะที่ปลาตัวใหญ่เพราะหลงเข้าใจผิด จำต้องโยนทิ้งแบบน่าสูญเสียดาย

พลัดตกบ่อน้ำก็เช่นกัน สะท้อนถึงชีวิตที่ต้องแหวกว่าย ตะเกียกตาย ถ้าอยากต้องการเอาตัวรอดก็ต้องช่วยตนเอง เพราะไม่มีใครไหนจะหันหลังเหลียวแล แถมเคยถูกแม่ทอดทิ้งเธอไว้ เกือบจมน้ำตาย! การให้ความช่วยเหลือ Riquet คงเพราะมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นภายในจิตใจ หวนระลึกถึงตนเองเมื่อครั้นกระนั้น แสดงว่าลึกๆภายในจิตใจหวาดกลัวเกรงความตาย

แต่กระนั้นการกระทำต่อมาของเธอ ทรยศหักหลังพรรคเพื่อนร่วมชะตา ทำให้เขาเลยหวนกลับมาติดตามหลอกหลอน ก่อกวน สร้างความปั่นป่วน ย้อนถามความใน ทำไปเพราะอะไร?

แค่การมีชีวิตอยู่ เปรียบกับเดินยกถังแก๊ส (คล้ายๆสำนวนไทย แบกครกขึ้นภูเขา) ก็หนักอึ้งยากยิ่งแล้ว ยังถูกรบกวนจากเสียงเครื่องยนต์ สร้างความปั่นป่วนท้องไส้จนหมดเรี่ยวแรงล้มลง ท้ายที่สุดไปไม่ถึงห้องพัก ตัดจบลงขณะนี้สามารถสื่อได้ถึงความตาย พ่ายแพ้หมดสิ้นหวังอาศัย ชีวิตไม่สำเร็จสมปรารถนา


ตัดต่อโดย Marie-Hélène Dozo สัญชาติ Belgian ขาประจำสองพี่น้อง Dardenne เช่นเดียวกัน

หนังทั้งเรื่องดำเนินในมุมมอง สายตา ตัดสลับหน้า-ข้าง-หลัง ของตัวละคร Rosetta จะไม่มีช็อตที่ระยะไกลเกินกว่า หรือมุมมองสายตาคนอื่น เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้คือโลกทั้งใบของเธอ

ต้องถือว่าหนังไม่มีบทเพลงประกอบ แต่โดดเด่นด้วยเสียง Sound Effect ซึ่งล้วนมีนัยยะสำคัญแฝงซ่อนเร้น อาทิ
– เสียงเครื่องยนต์ รถรา สะท้อนความปั่นป่วนว้าวุ่นวายของโลก
– เครื่องเป่าผม ไอความร้อนสามารถสร้างความผ่อนคลายอาการปั่นป่วนท้องไส้ ก็ไม่รู้จากประจำเดือนหรือเปล่านะ
– เสียงแก๊สขณะต้มลวกไข่ ราวกับลมหายใจที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนรน ต้องการที่จะเติบโตสุกหง่อมเป็นผู้ใหญ่สักที แต่ไม่รู้เมื่อไหร่วันนั้นนี้จะมาถึง
– เพราะเธอทำให้ฉันตกงาน จึงรบกวนสร้างความรำคาญด้วยการบิดมอเตอร์ไซด์ เร่งเครื่อง วิ่งวนรอบ ทำให้จิตใจหญิงสาวเต็มไปด้วยความวุ่นวายใจ ปั่นป่วนพลุกพร่าน จนไม่สามารถหาความสงบสุขสันติได้

สำหรับบทเพลง/เสียงกลองที่ Riquet เปิดให้ Rosetta รับฟังและลุกขึ้นมาเต้น สื่อถึงจังหวะชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด แต่นั่นไม่สามารถนำมาใช้เป็นความบันเทิงเริงรมณ์สำหรับผ่อนคลายได้ ด้วยเหตุนี้ลีลาศจึงล่มจมไม่เป็นท่า


“มนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถเลือกชีวิตที่ต้องการอาศัยอยู่” คำพูดนี้ถือว่ายังใช้ไม่ได้กับ Rosetta เพราะเธอพยายามเลือกแล้วแต่โชคชะตายังไม่เข้าข้างสักที และถึงแม้ได้ชีวิตที่ต้องการ สุดท้ายกลับทอดทิ้งมันเพราะมิอาจอดรนทนต่อผลกระทบติดตามมา

ถ้าพิจารณาจากบริบทแวดล้อมรอบข้างของหญิงสาว ถือว่าย่ำแย่เหลือทน
– แม่ผู้ไม่แคร์ยี่หร่าอะไร เอาแต่หมกมุ่นอบายมุข
– นายจ้างก็ไม่สนหัว จ้องจะเอารัดเอาเปรียบลูกน้อง
– หน่วยงานรัฐพึ่งพาอะไรไม่ได้เช่นกัน

เหล่านั้นค่อยๆสะสมซึมซับสู่ Rosetta หลายครั้งแสดงออกมาด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่สนถูกผิดศีลธรรม ขอแค่ให้ตนเองเท่านั้นสามารถดิ้นรนเอาตัวรอด
– เมื่อถูกเลิกจ้าง แสดงอาการไม่พึงพอใจสุดเหวี่ยง พยายามดื้อดึง ยืดเยื้อ (แบบแม่ตอนไม่ต้องการไปหาหมอ)
– สองจิตสองใจที่จะช่วย Riquet ไม่ให้จมน้ำ (เพราะหวนระลึกถึงแม่ที่พอผลักเธอตกน้ำ ทอดทิ้งไปแบบไม่สนใจใยดี)
– ทรยศหักหลัง Riquet เพื่อตนเองจักได้งานการที่มั่นคง (เหมือนที่เจ้านายทั้งหลายทรยศหักหลัง ไล่เธอออกจากงานเก่า)
ฯลฯ

ในประเทศ Belgium ได้มีการออกกฎหมายหนึ่ง เหมือนว่าไม่นานนักระหว่างภาพยนตร์เรื่องนี้ ถูกตั้งชื่อว่า ‘Rosetta Law’ ห้ามไม่ให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ แม้ว่าจะอายุต่ำกว่าเกณฑ์หรือกำลังติดทัณฑ์บน, แต่สองผู้กำกับยืนกรานว่า ไม่ได้แรงบันดาลใจหรือชื่อตัวละครจากกฎหมายดังกล่าว

ถึงกระนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็น่าจะสะท้อนสภาพสังคมของ Belgium ออกมาไม่มากก็น้อย ซึ่งแม้เป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับต้นๆของโลก แต่ความกดขี่ข่มเหงนายจ้าง สภาพชีวิตคนยากจน ตกงาน ยังมีอยู่อีกมากมายที่ไม่ได้รับการเหลียวดูแล ซึ่งหลังจากหนังออกฉาย เห็นว่าทำให้ชาว Belgian เกิดการตระหนักรับเรียนรู้ถึง มุ่งแก้ไข ปรับเปลี่ยน และพัฒนาบ้านเมืองให้แลดูดีต่อสายตานานาอารยะ (ผิดกับเมืองไทย เมื่อมีหนังสะท้อนเสียดสีสังคมออกมา บรรดาผู้นำต่างปัดเสนียดออกห่าง ไม่ยินยอมรับความจริงว่านั่นคือประเทศฉัน!)


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ที่มี David Cronenberg เป็นประธานกรรมการ คว้ามา 3 รางวัล
– Palme d’Or อย่างเอกฉันท์
– Best Actress (Émilie Dequenne) ร่วมกับ Séverine Caneele จากเรื่อง L’Humanité (1999)
– Prize of the Ecumenical Jury – Special Mention

ด้วยทุนสร้าง $2 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ทั่วโลก $5.6 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร และยังได้เป็นตัวแทนประเทศ Belgium เข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่ก็ไม่ลุ้นเข้ารอบใดๆ

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังสักเท่าไหร่ เหตุผลเดียวกับ Mouchette (1967) เพราะมีเพียง Character Study ไม่ได้แฝงข้อคิด คติสอนใจ หรือชักชวนให้ครุ่นคิดต่อยอดใดๆ ถือเป็น ‘High Art’ สะท้อนการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดเท่านั้นเอง

แนะนำคอหนัง Art-House เกี่ยวกับวัยรุ่น Dysfunction Family, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ค้นหาหนทางออกให้กับปัญหา, แฟนๆผู้กำกับ Dardenne brothers ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความพยายามทำทุกสิ่งอย่าง เพื่อต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด

คำโปรย | Rosetta คือความบริสุทธิ์ของ Émilie Dequenne ในการต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิต
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ไม่ชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: