
Rouge (1987)
: Stanley Kwan ♥♥♥♡
โศกนาฎกรรมในชีวิตจริงของเหมยเยี่ยนฟาง และเลสลี จาง เมื่อรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะยิ่งขนหัวลุกพอง เพราะทั้งสองรับบทคู่รักจากอดีต เกาะฮ่องกงเมื่อทศวรรษ 1930s แต่ครอบครัวไม่ยินยอมรับเลยตัดสินใจฆ่าตัวตาย กลายมาเป็นวิญญาณล่องลอย ติดตามหากันจนมาถึง ค.ศ. 1987
ผมเพิ่งมีโอกาสรับรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน จากคอลเลคชั่นออกใหม่ของ Criterion (วางจำหน่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2022) ผลงานที่ได้รับความสนใจจากค่ายนี้มันต้องบางสิ่งอย่างน่าสนใจ! แล้วพอ Facebook ขึ้นโฆษณา(จนน่ารำคาญ)เทศกาลภาพยนตร์ Making Waves – Navigators of Hong Kong Cinema ระหว่าง 22-24 กรกฎาคม 2022 ที่ SFW เห็นรอบฉายฉบับบูรณะยิ่งสร้างความฉงนสงสัย เลยตั้งใจจะลองหามารับชมให้จงได้
ฉบับบูรณะที่รับชมจาก Criterion ผมยังรู้สึกว่าคุณภาพของหนังดูถดถอยไปพอสมควร ทั้งสีสันที่ขับเน้นไม่ขึ้นเอาเสียเลย (น่าจะเป็นความเสื่อมตามกาลเวลาของฟีล์มสี) รวมถึงหลายๆแนวคิดแม้มีความน่าสนใจ แต่ยังนำเสนออกมาไม่กลมกล่อมสักเท่าไหร่ ทำลายความสมเหตุสมผลในความไม่สมเหตุสมผล บางส่วนพอมองข้ามได้ แต่พอบ่อยเกินไปก็รู้สึกกระอักกระอ่วนหัวใจ
หลายคนอาจมองเห็น Rouge (1987) คือภาพยนตร์แนวรักโรแมนติก ต่อให้ความตายก็มิอาจขวางกั้น แต่ความสนใจแท้จริงของผู้กำกับกวนจินเผิง (สแตนลีย์ กวน) ต้องการเปรียบเทียบวิถีชีวิต สภาพสังคม การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ-จิตภาพ ของเกาะฮ่องกงระหว่างทศวรรษ 1930s vs. ค.ศ. 1987 โดยเฉพาะมุมมองความรักที่เคยเต็มไปด้วยสีสัน หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า ปัจจุบัน(นั้น)ใครต่อใครสนเพียงความพึงพอใจของตนเอง ให้ตกตายตามกันไปไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้วละ!
กวนจินเผิง, 关锦鹏 (เกิดปี 1957) ผู้กำกับ/โปรดิวเซอร์ชาวฮ่องกง, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านวรรณกรรม งานศิลปะ และการแสดงละครเวที สำเร็จการศึกษาด้านการสื่อสารมวลชน Hong Kong Baptist College, แล้วเข้าทำงานยังสถานีโทรทัศน์ TVB เป็นผู้ช่วยผู้กำกับหยูหยานไท่ (Ronny Yu), สวีอันฮัว (Ann Hui) อาทิ The Savior (1980), The Story of Woo Viet (1981), Boat People (1982) ฯ ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Women (1985), ผลงานส่วนใหญ่มักเป็นหนังโรแมนติก เกี่ยวกับหญิงสาวที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องความรัก อาทิ Rouge (1987), Center Stage (1992), Hold You Tight (1998), Lan Yu (2001) ฯ
เกร็ด: กวนจินเผิง คือผู้กำกับชาวเอเชียไม่กี่คนที่เปิดเผยรสนิยมทางเพศว่าเป็นเกย์ ผ่านสารคดีเรื่อง Yang ± Yin: Gender in Chinese Cinema (1996) และสรรค์สร้างผลงาน Lan Yu (2001) นำเสนอเรื่องราวชายรักชาย
สำหรับ Rouge, 胭脂扣 (อ่านว่า Yānzhī kòu, แปลว่า ตลับสีชาด) เป็นโปรเจคของโปรดิวเซอร์เฉินหลง (Jackie Chan) ขณะนั้นเซ็นสัญญาอยู่กับสตูดิโอ Golden Harvest ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกัน ประพันธ์โดยลิเลียน ลี นามปากกาของลีบัค, Lee Bak (เกิดปี 1959) นักเขียนชาวจีน เจ้าของผลงานดังๆอย่าง Farewell My Concubine, Green Snake ฯลฯ
ดั้งเดิมนั้นโปรเจคนี้อยู่ในการดูแลของผู้กำกับ Terry Tong, 唐基明 แต่ใช้เวลาพัฒนาบทนานเกินเลยขอถอนตัวออกไป เมื่อกวนจินเผิงได้รับการติดต่อ ก็มอบหมายนักเขียน Chiu Kang-Chien, 邱剛健 ที่เพิ่งเคยร่วมงาน Love Unto Waste (1986) ก่อนติดตามด้วย Center Stage (1992), ทำการปรับเปลี่ยนวิญญาณหญิงสาวที่ล่องลอยจับต้องไม่ได้ (เหมือนหนังผีทั่วๆไป) ให้มีรูปร่างตัวตน ใบหน้าคมๆ มองผิวเผินไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป
ฮ่องกง ค.ศ. 1934, เรื่องราวของหยูฮวา (รับบทโดย เหมยเยี่ยนฟาง) นางโลมค่าตัวแพงที่ใครต่อใครต่างหมายปอง แต่เธอกลับยินยอมศิโรราบความรักต่อคุณชายสิบสอง (รับบทโดย เลสลี่ จาง) ทายาทมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการร้านขายยาสมุนไพร แต่เขากลับฝืนคำสั่งครอบครัว ต้องการใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างเธอ แต่ความรักที่ไม่อาจต้านทานจารีตประเพณี ทำให้ทั้งสองคิดปลิดชีวิตลงพร้อมกัน
แต่ทว่าดวงวิญญาณของหยูฮวายังคงออกติดตามหาคุณชายสิบสอง ไม่รู้ว่าพลัดหลงกันตอนไหน ระหว่างกำลังล่องลอยเรื่อยเปื่อย ฮ่องกง ค.ศ. 1987 มีโอกาสพบเจอ/ได้รับความช่วยเหลือจาก อาหยวน (รับบทโดย ว่านจื่อเหลียง) และแฟนสาว (รับบทโดย จูเป่าอี้) ประกาศค้นหาคนหายบนหน้าหนังสือพิมพ์ รอแล้วรอเล่า รอวันรอคืน กระทั่งท้ายที่สุดความลับของคุณชายสิบสองก็ได้รับการเปิดเผย
เหมยเยี่ยนฟาง, 梅艷芳 (1963-2003) นักร้อง/นักแสดงชาวฮ่องกง เจ้าของฉายา ‘ราชินีเพลง Cantopop’ และ ‘มาดอนน่าแห่งเอเชีย’ ครอบครัวมีพื้นเพจากกว่างโจว อพยพสู่เกาะฮ่องกงช่วงหลังสงครามกลางเมือง มีพี่น้องสี่คน (เป็นบุตรสาวคนเล็ก) บิดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องช่วยพี่ๆหาเงินตั้งแต่อายุ 4 ขวบ จากการแสดงงิ้ว ร้องเพลงตามท้องถนน, จนกระทั่งพี่สาวผลักดันน้องไปประกวด New Talent Singing Awards ได้รับรางวัลชนะเลิศจนมีโอกาสออกอัลบัมแรก Debts of the Heart (1982), สำหรับภาพยนตร์มีผลงานเด่นๆ อาทิ Behind the Yellow Line (1984), Rouge (1987), The Legend of Drunken Master (1994) ฯ
รับบทหยูฮวา (Fleur, 如花) นางโลมอันดับหนึ่งของ Yi Hung Brothel, 已婚公 ในย่าน Shek Tong Tsui แค่จะจับมือ แตะเนื้อต้องตัว ต้องจ่ายค่าสินทอดทองหมั้น! เริ่มเป็นโสเภณีตั้งอายุ 16 เลยไม่คิดวาดฝันว่าจะมีโอกาสตกหลุมรักผู้ใด จนกระทั่งครั้งหนึ่งแต่งตัวเป็นบุรุษ ขับร้องเพลง หยอกล้อเล่นคุณชายสิบสอง โดยไม่รู้ตัวสร้างความประทับใจให้เขา พยายามเกี้ยวพาราสี แสดงออกความรักจากภายใน ไม่ใคร่สนแม้ขัดต่อความต้องการครอบครัว สังคมไม่ให้การยินยอมรับ เธอเลยยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง เข่นฆ่าตัวตายตามเพื่อจักได้ลงสู่ขุมนรกร่วมกัน
แต่หลังจากเสียชีวิตกลายเป็นวิญญาณล่องลอย หยูฮวากลับพลัดหลงจากคุณชายสิบสอง พยายามออกติดตามหามานานกว่าห้าสิบปี ครุ่นคิดประกาศค้นหาคนหายลงหน้าหนังสือพิมพ์ โชคดีได้รับความช่วยเหลือจากอาหยวน แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ไร้คนติดต่อมา สร้างความหดหู่ ท้อแท้สิ้นหวัง ก่อนท้ายที่สุดเมื่อได้พบเจอกัน เห็นสภาพเขาเช่นนั้น ก็ไม่หลงเหลืออะไรติดค้างคาใจ
ผู้กำกับกวนจินเผิงมีภาพของเหมยเยี่ยนฟางมาตั้งแต่แรกเริ่มต้น แม้ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยรับบทนำ ส่วนใหญ่เล่นเป็นสาวแรกรุ่น น่ารักสดใส แต่ในวงการเพลงขึ้นแสดงคอนเสิร์ตเมื่อไหร่ ความจัดจ้านบนเวที ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ไม่เคยซ้ำแบบใคร (ได้รับการเปรียบเทียบถึงกิ้งก่าเปลี่ยนสี) รวมถึงความคลุมเคลือเรื่องรสนิยมทางเพศ ถือว่ามีความเหมาะสมตัวละครนี้มากๆ
You have many different looks … heavy makeup, light makeup, masculine makeup, no makeup . . . like a dreamy moon.
คุณชายสิบสอง
ถึงอย่างนั้นบทบาทหยูฮวา ไม่ได้มีภาพลักษณ์อะไรมากมาย เห็นเด่นๆก็แค่แต่งตัวเป็นชายตอนต้นเรื่อง ซึ่งเมื่อกลายเป็นวิญญาณหลงเหลือแค่ชุดเดิมตัวเดียวเท่านั้น! แต่ปริมาณเครื่องสำอางค์ ลิปสติกแดงทาปาก มีความอ่อน-เข้มแตกต่างกันไป (ใช้สื่อแทนสภาวะทางอารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยนตามสถานการณ์)
และที่ต้องชมเลยก็คือท่วงท่าทาง ทุกลีลาเคลื่อนไหว นั่ง-นอน ยืน-เดิน ขยับมือ-เท้า โน้มตัวเข้าหา ช่างมีความชดช้อยนางรำ ผ่านกระบวนการฝึกฝน(ศาสตร์แห่งการเกี้ยวพาราสีบุรุษ)จนเพรียบพร้อมสมบูรณ์แบบ เห็นแล้วรู้สึกอึ่งทึ่ง น่าประทับใจอย่างสุดๆ … ซึ่งเมื่อตัวละครกลายเป็นวิญญาณล่องลอย ผู้ชมจะสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างคนปกติ/ยุคสมัยนี้ กับเธอที่มาจากอดีต การเคลื่อนไหวช่างดูเหนือธรรมชาติ (สะท้อนความแตกต่างของขนบประเพณีทางสังคมได้อย่างชัดเจน)
อีกสิ่งที่ต้องพูดถึงก็คือการเสียชีวิตของเหมยเยี่ยนฟาง (มะเร็งปากมดลูก) ปีเดียวกับเลสลี่ จาง (ฆ่าตัวตายด้วยโรคซึมเศร้า) ทำให้ผู้ชม(ที่รับรู้เหตุการณ์ดังกล่าว)รู้สึกเหมือนว่าหยูฮวาและคุณชายสิบสอง เกิดมาเพื่อครองคู่รัก กลายเป็นอมตะ ทั้งในโลกนี้และหลังความตาย สร้างความหลอกหลอนให้ตัวละครนี้อย่างสุดๆ
เกร็ด: เห็นมีภาพยนตร์อัตชีวประวัติเหมยเยี่ยนฟาง เรื่อง Anita (2021) นำแสดงโดย ดาเนียลลา หวัง, 王丹妮 น่าจะหารับชมออนไลน์ได้แล้วกระมัง
เลสลี่ จาง, 張國榮 ชื่อเกิด Cheung Fat-chung (1956 – 2003) นักร้องนักแสดงสัญชาติฮ่องกง เจ้าของฉายา ‘บิดาผู้ก่อตั้ง Cantopop’ เกิดที่เกาลูน บิดาเป็นช่างตัดเสื้อชื่อดังที่มีลูกค้าอย่าง William Holden, Marlon Brando, Cary Grant ตอนอายุ 12 ถูกส่งไปร่ำเรียนยังประเทศอังกฤษ ทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ เลือกเชื่อเลสลี่เพราะชื่นชอบหนัง Gone With the Wind และตัวละคร Leslie Howard, โตขึ้นสอบเข้า University of Leed สาขาการจัดการ แต่แค่เพียงปีเดียวก็กลับบ้านเพราะพ่อล้มป่วย เซ็นสัญญาค่ายเพลง Polydor Records ออกอัลบัมแรก I Like Dreamin (1977) เป็นภาษาอังกฤษเลยดับสนิท แต่ก็ยังฝืนทำต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งอัลบัม Wind Blows (1982) บทเพลง Monica ติดชาร์ทอันดับ 1 กลายเป็น Superstar โดยทันที
สำหรับภาพยนตร์ เริ่มต้นที่ A Better Tomorrow (1986) ของผู้กำกับ John Woo ทุบสถิติทำเงินสูงสุดใน Hong Kong ตามด้วย A Chinese Ghost Story (1987), Rouge (1987), ร่วมงานกับ Wong Kar-Wai ครั้งแรก Days of Being Wild (1991), Ashes of Time (1994), Happy Together (1997) ฯลฯ
รับบทชานเฉินปัง (Chan Chen-Pang, 陈振邦) ทายาทเจ้าของกิจการร้านขายยาสมุนไพรชื่อดัง มีศักดิ์เป็นบุตรคนรอง แต่เมื่อนับรวมเครือญาติจะเรียกว่าคุณชายสิบสอง ชื่นชอบการเที่ยวเตร่ สะมะเลเสพฝิ่น ติดอยู่ในหอนางโลม พยายามเกี้ยวพาราสี ครอบครองรักหยูฮวา แต่ถูกบิดากีดขวางกั้น พอมีความสามารถด้านการร้องเพลงเล็กๆ เลยตัดสินใจเข้าฝึกฝนการแสดงงิ้ว แต่นั่นสร้างความอับอายให้ครอบครัว เครือญาติ ถูกตำหนิต่อว่าจนสูญเสียความเชื่อมั่นใจ เมื่อมิอาจอดรนทนเลยยินยอมดื่มกินยาพิษ แต่ไม่รู้สามารถรอดชีวิตมาได้อย่างไร
(ในส่วนนี้หนังไม่ได้กล่าวไว้ แต่ก็พอคาดเดาได้ว่า) หลังสูญเสียหยูฮวา คุณชายสิบสองตกอยู่สภาพหดหู่ หมดสิ้นหวัง กลายเป็นคนซึมเศร้า ขี้ขลาดเขลา ไร้ความหาญกล้าปลิดชีวิตตนเอง เลยจำต้องยินยอมหวนกลับบ้าน สืบทอดกิจการร้านขายยาสมุนไพร แต่งงานกับหญิงสาวไม่ได้รัก เฝ้ารอคอยเมื่อไหร่จะถึงวันหมดสิ้นลมหายใจ
มีนักแสดงหลายคนที่โปรดิวเซอร์(เฉินหลง)ให้ความสนใจ อาทิ อู๋ฉีหัว (Lawrence Ng), เจิ้งอี้เจี้ยน (Ekin Cheng) ฯลฯ แต่กลับเป็นเหมยเยี่ยนฟาง ทำการล็อบบี้บทบาทนี้ให้เพื่อนสนิทเลสลี จาง แม้ขณะนั้นติดสัญญากับสตูดิโอ Cinema City แต่เธอถึงขนาดเอาตนเองแลกเปลี่ยน ‘hostage exchange’ ยินยอมตอบตกลงเล่นหนังให้หนึ่งเรื่อง!
บทของเลสลี่ ค่อนข้างจะจืดจางพอสมควร ราวกับเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ‘object of desire’ มีความหล่อเหลา โรแมนติก ซื่อสัตย์จริงใจ ถึงขนาดยินยอมทอดทิ้งครอบครัว กระทำสิ่งขัดแย้งขนบประเพณีทางสังคม เพื่อครอบครองรักกับเธอชั่วนิรันดร์ … ถือเป็นชายในอุดมคติของสาวๆ (และผู้กำกับ กวนจินเผิง)
ผมรู้สึกว่าเลสลี่ จาง ดูตุ้งติ้ง ท่าทางเหมือนผู้หญิง (มากกว่าคุณชายสิบสอง) แถมเสพฝิ่นจนตาลอยๆ จิตวิญญาณเลยไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว, ระหว่างพรอดรักกับเหมยเยี่ยนฟาง ก็ไม่ได้หวานปานกลืนกิน เหมือนบางสิ่งอย่างกั้นขวางความโรแมนติกของพวกเขาไว้ … ส่วนตัวคาดคิดว่าเหมยเยี่ยนฟาง กับเลสลี่ จาง คงเป็นเพื่อนสนิทกันมากๆ เลยไม่สามารถสร้างความรู้สึกโรแมนติกต่ออีกฝั่งฝ่าย
แซว: พบเห็นเลสลี่ จาง แต่งหน้าขึ้นทำการแสดงงิ้ว อดไม่ได้จะระลึกถึง Farewell My Concubine (1993) ไม่รู้เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เลยหรือเปล่าที่ทำให้ได้รับดังกล่าว
ถ่ายภาพโดย Billy Wong, 黃仲標 (เกิดปี 1946) เกิดที่ฮ่องกง แต่แสร้งว่าเป็นผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อสามารถเข้าเรียนการถ่ายรูปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำงานในสตูดิโออยู่หลายปี จนกระทั่งได้เป็นฟรีแลนซ์สถานีโทรทัศน์ TVB จับพลัดจับพลูกลายเป็นตากล้อง ถ่ายทำซีรีย์ ภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Story of Woo Viet (1981), Zu: Warriors from the Magic Mountain (1983), Rouge (1988), Full Moon in New York (1989), Once Upon a Time in China (1991) ฯ
งานภาพของหนังอาจไม่ได้มีลูกเล่นลีลามากมาย พบเห็นภาษาภาพยนตร์บ้างประปราย แต่จุดโดดเด่นคือความแตกต่างระหว่างช่วงทศวรรษ 1930s vs. ค.ศ. 1987 สามารถสังเกตเห็นโดยง่าย
- ทศวรรษ 1930s, เต็มไปด้วยแสงสีสันสวยสดใส สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น ลวดลายเสื้อผ้า-ฝาผนังมีความละลานตา ผู้คนมากมายรับรู้จักกัน สร้างความสนุกสนานครื้นเครง มึนเมากับการใช้ชีวิตไปวันๆ
- ค.ศ. 1987, งานภาพจะดูมืดๆหม่นๆ (ส่วนใหญ่ถ่ายตอนกลางคืน) บรรยากาศหนาวเหน็บ รายล้อมรอบด้วยตึกรามบ้านช่อง ทางด่วนเหนือศีรษะ มีเพียง 2-3 ตัวละครหลักๆ ต้องต่อสู้ดิ้นรนท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของฮ่องกงสมัยใหม่
ความแตกต่างดังกล่าวสะท้อนทัศนคติผู้กำกับกวนจินเผิง ครุ่นคิดเห็นว่าอดีต (ทศวรรษ 30s) มีความสวยสดงดงามกว่าปัจจุบัน น่าจะโดยเฉพาะอุดมคติแห่งรัก มีความโรแมนติก หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า ด้วยคำมั่นสัญญาจะครองคู่กันตราบจนแก่เฒ่า ตกตายไปพร้อมกัน ผิดกับปัจจุบันที่แทบไม่หลงเหลือแนวคิดแบบนั้นอีกต่อไป
สิ่งหนึ่งที่ต้องชมก็คือการนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ดูแล้วคงเป็นการผสมผสานระหว่างสถานที่จริง และสร้าง Mock-Up ขึ้นในสตูดิโอ Golden Harvest (แต่เรื่องราวในช่วงทศวรรษ 1930s ไม่ค่อยพบเห็นฉากภายนอกสักเท่าไหร่) ใครอยากพบเห็นอดีต-ขณะนั้น-เทียบปัจจุบันนี้ เข้าไปดูที่ลิ้งค์เลยนะครับ
LINK: https://i-discoverasia.com/rouge-hong-kong-movie-1987/
สิ่งหนึ่งที่ต้องออกปากชื่นชมก็คืองานออกแบบ (Art Director) โดย Piu Yeuk-Muk, 影視作品 ก่อนหน้านี้ทำงานช่างภาพนิ่ง รับรู้จักผู้กำกับกวนจินเผิง ในกองถ่าย Boat People (1982) ด้วยความที่เป็นคนหลงใหลประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทั้งๆไม่ได้มีประสบการณ์ทางด้านนี้อะไร แต่เมื่อได้รับข้อเสนอก็ลองรับความท้าทาย
เกร็ด: Piu Yeuk-Muk กลายเป็นนักออกแบบ Art Director ชื่อดังของฮ่องกง ขาประจำผู้กำกับกวนจินเผิง อาทิ Rouge (1988), Full Moon in New York (1989), Centre Stage (1992), และยังออกแบบเครื่องแต่งกาย Lust, Caution (2007)
Piu Yeuk-muk ได้ทำการขุดคุ้ยค้นหาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เก่าๆ มองหาแรงบันดาลใจจากรูปถ่าย ภาพวาด ค้นพบกระดาษลิปสติก, ชุดกี่เพ้าโบราณ, ผนังกำแพง (Wallpaper) ประดับตกแต่งลวดลายดอกไม้ ฯลฯ แม้ส่วนใหญ่เป็นเพียงภาพขาว-ดำ แต่ก็สามารถนำไปแต่งแต้มลงสีสันได้ไม่ยาก
ปล. คำว่า Rouge มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Red, สีแดง แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษจะหมายถึง ผงสีแดงละเอียดหรือชาดสำหรับทาแก้ม ทาปาก เรียกสั้นๆว่าแต้มชาด

ช็อตแรกของนางโลมหยูฮวา (ที่ไม่ใช่ขณะกำลังเขียนคิ้ว แต้มลิปสติก) สวมชุดบัณฑิต ขับขานบทกวี The Sorrows of the Autumn Traveler และพบเห็นภาพสะท้อนในกระจก … โดยปกติแล้วกระจกจะสะท้อนสิ่งอยู่ภายในจิตใจ แต่บริบทนี้คืออัตลักษณ์ทางเพศของตัวละคร สวมชุดบุรุษแต่แท้จริงเป็นอิสตรี นี่เป็นการสร้างความคลุมเคลือ/รสนิยมทางเพศ ซึ่งชี้ไปถึงตัวตนผู้กำกับกวนจินเผิง
คุณชายสิบสองตกหลุมรักแรกพบนางโลมหยูฮวา ขณะเธอแต่งตัวเป็นบุรุษ นี่เช่นกันแฝงรสนิยมรักร่วมเพศของตัวละคร ไม่ได้ชื่นชอบหญิงสาวพรหมจรรย์ แต่หลงใหลคลั่งไคล้บุคคลที่มีความบริสุทธิ์ภายใน

คุณชายสิบสองใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะเกี้ยวพาราสีหยูฮวาได้สำเร็จ ระหว่างกำลังร่วมรักหลับนอน ถอดกี่เพ้าลวดลายดอกไม้ พบเห็นภายในคือเสื้อสีขาว … แม้ฉันเป็นโสเภณี ขายเรือนร่าง ภายนอกเหมือนคนแรดร่าน ดอกไม้ข้างถนน แต่จิตใจยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง โหยหาใครสักคนซื่อสัตย์จริงใจ คาดหวังสักวันหนึ่งจักได้พบเจอรักแท้
ในตอนแรกขณะกำลังถอดเสื้อผ้า แม้ว่าคุณชายสิบสองจะอยู่ด้านบน หยูฮวาอยู่เบื้องล่าง แต่พอจะโอบกอดจูบกำลังจะร่วมรัก ทั้งสองต่างลุกขึ้นนั่ง หันหน้าเข้ากัน แสดงถึงความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง … แต่ผมสังเกตเพิ่มเติมว่าคุณชายสิบสองสวมชุดสีดำ ขณะที่หยูฮวาใส่สีขาว นี่สามารถมองหยิน-หยาง ชาย-หญิง ขั้วตรงกันข้าม แต่ขณะเดียวกันมันคือความชั่วร้าย-บริสุทธิ์ พยากรณ์เหตุการณ์บังเกิดขึ้นในอนาคตได้อยู่


อาหยวนซื้อรองเท้าคู่ใหม่ให้แฟนสาว จริงอยู่นี่เป็นของขวัญที่มีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สัญลักษณ์ของการก้าวเดินไปด้วยกัน แต่มันหาความโรแมนติกไม่ได้เลยสักนิด! เมื่อเทียบกับจี้ห้อยคอที่คุณชายสิบสองซื้อหาให้หยูฮวา ภายในมีกระจกและกระดาษสีชาด นำไปใช้งานได้ด้วยนะ!

การปรากฎตัวของหยูฮวา หนังจงใจสร้างความลึกลับอันน่าพิศวง ทั้งๆประตูปิดอยู่แต่สามารถเดินเข้ามาอย่างรวดเร็ว ยืนๆอยู่ประเดี๋ยวหายตัว เมื่อตอนทำผ้าเช็ดหน้าหล่นก็จงใจสโลโมชั่นอย่างช้าๆ เพื่อสื่อถึงความผิดมนุษย์ของตัวละคร … แต่ก็เฉพาะช่วงแรกๆนี้เท่านั้น ภายหลังทุกอย่างก็เหมือนจะเข้าสู่สภาวะปกติ
ลวดลายชุดกี่เผ้า พื้นหลังสีดำ (สะท้อนความมืดมิดภายในจิตใจ) ลวดลายผีเสื้อ (วิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของกระบวนการเปลี่ยนแปลงสัณฐาน หรือจะมองว่าเธอคือวิญญาณที่สามารถโบกโบยบิน ล่องลอยไปไหนต่อไหน) มักถือผ้าเช็ดหน้าและกระเป๋าสตางค์ (สัญลักษณ์ของความเป็นกุลสตรี)

ในบรรดาความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ที่ผมมาครุ่นคิดแล้วรู้สึกขนลุกขนพองที่สุด ก็คือ Tai Ping Theatre ในอดีตเคยเป็นโรงละครขนาดใหญ่ที่สุดในฮ่องกง แต่มาวันนี้กลายเป็นร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น … เทียบกับจักรวาล Marvel ภาพยนตร์แทบไม่ต่างจากสวนสนุก ความบันเทิงกึ่งสำเร็จรูป ดั่งที่ Martin Scorsese เคยว่ากล่าวไว้
ปล. แม้ว่า Tai Ping Theatre จะปิดกิจการไปเมื่อปี ค.ศ. 1981 แต่สถานที่ดังกล่าวตอนหนังถ่ายทำยังเป็นตึกร้าง ไม่ได้มีเซเว่นอีเลฟเว่น แบบที่หนังนำเสนอนะครับ (แต่ปัจจุบันไม่รู้เหมือนกัน น่าจะถูกทุบทิ้งไปแล้วกระมัง)

ปฏิกิริยาของอาหยวน หลังรับรู้ว่าหยูฮวาคือวิญญาณผี คือตื่นตกอกตกใจ ผมรู้สึกเหมือนหนังต้องการทำให้เป็นคอมเมอดี้ แต่มันไม่ชวนให้ขบขันสักเท่าไหร่ แสดงท่าทางรังเกียจ ขยะแขยง ไม่สามารถยินยอมรับอีกฝั่งฝ่าย … นี่เป็นลักษณะหนึ่งของ Racism ซึ่งสามารถมองครอบจักรวาลถึง Anti-Homosexual (รับไม่ได้กับพวกรักร่วมเพศ) ก็ได้เช่นกัน
มันจะมีหลายๆช็อตพบเห็นเสา-ขอบ-กรอบ สำหรับแบ่งแยกทั้งสองออกจากกัน วิญญาณ-มนุษย์ แต่หลังจากที่เขาครุ่นคิดทบทวน เมื่อพบเจอกันอีกครั้งตรงทางแยก ความขัดแย้งภายในจึงเริ่มทุเลา บังเกิดความสงสารเห็นใจ อาสาให้ความช่วยเหลือเพื่อเธอจักค้นพบเจอชายคนรัก และไปสู่สุขคติในอนาคตต่อไป



เมื่อตอนที่หยูฮวาเดินทางไปที่บ้านของคุณชายสิบสอง ภายนอกก็ดูต้อนรับขับสู้ แต่หลังจากพูดคุยสนทนากับมารดา สันดานธาตุแท้ก็เริ่มปรากฎ กล่าวคำอ้างโน่นนี่นั่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ชักแม่น้ำทั้งห้า มันจะช็อตหนึ่งที่กล้องถ่ายเงยขึ้นนิดๆให้เห็นข้อความอะไรก็ไม่รู้เขียนประดับอยู่บนฝาผนัง ราวกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ สิ่งยึดถือปฏิบัติของวงศ์ตระกูล
สังเกตลวดลายชุดกี่เผ้าของหยูฮวา ก็มีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เพื่อสื่อถึงการถูกบางสิ่งอย่างห้อมล้อม ภายใต้กฎกรอบ ความเป็นโสเภณี ไม่ได้มีเกียรติศักดิ์ศรี หน้าตาใดๆในสังคม และก่อนจากลามารดาของคุณชายสิบสองต้องการมอบผ้าไหมสีฟ้า ลวดลายสี่เหลี่ยม แล้วนำมาสวมคลุมทับ (สื่อถึงความพยายามควบคุมครอบงำ) นัยยะไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่


กลับตารปัตรจากตอนที่คุณชายสิบสองถอดชุดกี่เผ้าของหยูฮวา (เมื่อต้องกำลังจะร่วมรักหลับนอน) มาคราวนี้ระหว่างเขาสวมชุดนอนสีขาว แล้วสาวคนรักพยายามใส่สูทสีเทาให้กับเขา สังเกตลวดลายสี่เหลี่ยม เพื่อสื่อถึงการถูกควบคุมครอบงำ ทั้งจากครอบครัว สถานภาพทางสังคมของพวกเขา โอกาสจะได้ครองคู่อยู่ร่วมแทบเป็นได้ยาก

นี่เป็นอีกฉากที่น่าสนใจ เพราะโดยปกติแล้ววิถีของคนจีน บุรุษจะต้องเป็นช้างเท้าหน้า! แต่ขณะนี้เหมือนว่าคุณชายสิบสองยืนอยู่ด้านหลัง (แต่ก็ยังในแนวระดับเดียวกัน) และถ้าสังเกตการพูดคุยสนทนา หยูฮวายังเป็นคนร้องขอให้เจ้าของคณะอุปรากรจีนรับชายคนรักเข้าทำงาน
รายละเอียดเล็กๆนี้สื่อให้เห็นถึงความเป็นบุรุษของของหยูฮวา มีความหาญกล้า พร้อมที่จะออกหน้าเพื่อชายคนรัก และในการแสดงอุปรากรงิ้ว คุณชายสิบสองต้องแต่งหน้าแต่งตัวกลายเป็นหญิง นี่สร้างความสับสนในเพศสภาพ ชาย-หญิง หญิง-ชาย (ล้อกับตอนต้นเรื่องที่หยูฮวาสวมชุดบัณฑิตขับร้องเพลง)

หลังจากคุณชายสิบสองกลายเป็นนักแสดงงิ้ว ครอบครัวมาพบเห็นพยายามออกคำสั่งให้กลับบ้าน! แต่เขาตอบปัดปฏิเสธ หลังจากมอบจี้ห้อยคอ (ที่ภายในมีกระจกและตลับสีชาด) โอบกอดหยูฮวาจากข้างหลัง นี่สื่อว่าชีวิตนี้หลงเหลือเพียงเธอเป็นที่พึ่งพักพิง (หญิงสาวกลายเป็นช้างเท้าหน้า)

แฟนสาวของอาหยวนทาลิปสติกให้หยูฮวา (ตัวแทนยุคสมัยใหม่ สื่อถึงการยินยอมรับ ปรับตัว) หลังจากนั้นก็นำกระดาษลิปสติกมาทดลองทาบปากตนเอง (สัญลักษณ์ของโลกยุคก่อน สื่อถึงการโหยหา ครุ่นคำนึงถึงอดีต) ลักษณะดังกล่าวไม่ต่างจากการสลับชุดสวมใส่ชาย-หญิง หญิง-ชาย (ของหยูฮวา-คุณชายสิบสอง) สองสิ่งสามารถกลับตารปัตรตรงกันข้าม!


ระหว่างเฝ้ารอคอยแล้วคอยเล่า หลายวันหลายคืน ก็ไม่เห็นมีใครติดต่อกลับมา จนกระทั่งภาพช็อตนี้ใบหน้าอาบฉาบแสงสีน้ำเงิน ตัดกับลิปสติกสีแดงแจ๊ด ทำให้ดูราวกับว่าหยูฮวากลายเป็นผี มีความหลอกหลอนขึ้นมาจริงๆ … จริงๆมันควรเป็นความรู้สึกผิดหวัง เศร้าซึม ระทมทุกข์ทรมาน (ที่ยังไม่ได้พบเจอชายคนรัก) แต่ผมว่าเสี้ยววินาทีนี้ ใครๆคงขนหัวลุกขนพองขึ้นมาทันที

ฉากร่วมรักระหว่างอาหยวนและแฟนสาว ถือว่าสะท้อนคุณชายสิบสองกับหยูฮวา เริ่มต้นด้วยการลุกขึ้นนั่งกอดจูบ แต่เมื่อกำลังสอดใส่กลับทิ้งตัวลงนอน Man-On-Top ให้ฝ่ายชายเป็นผู้ควบคุมเกมเสียอย่างนั้น! (ภายในห้องนอนแห่งนี้ มันจะมีเงาของบานเกล็ด เพื่อสื่อว่าบางสิ่งอย่างควบคุมครอบงำโลกทัศนคติของตัวละครไว้) และเมื่อฝ่ายหญิงถามว่าจะยินยอมตายเพื่อความรักหรือเปล่า คำตอบของทั้งคู่คือไม่มีวันเด็ดขาด! … แต่ลึกๆเหมือนว่าเธอจะไม่ครุ่นคิดเช่นนั้น
นำสู่ฉากถัดมาเมื่อทั้งสองกำลังสำรวจหาร้านขายของเก่า จะมีขณะที่พวกเขาหันคนละทิศทาง แล้วฝ่ายหญิงเดินข้ามถนนไปอีกฟากฝั่ง แต่อาหยวนกลับไม่แม้แต่จะหันมาแลเหลียวหลัง ทำให้เธอจำใจต้องหวนย้อนกลับมาหาเขา … นี่สะท้อนโลกทัศน์ของคนสมัยใหม่ ต่างฝ่ายต่างมีทิศทางชีวิต/ความต้องการของตนเอง ‘ปัจเจกบุคคล’ แต่การจะอยู่เคียงข้างคู่รักกันได้นั้น มักมีฝั่งฝ่ายยินยอมติดตามหลัง (ในที่นี้ก็คือแฟนสาวของอาหยวน)


นอกจากสลับเครื่องแต่งกายชาย-หญิง อดีต-ปัจจุบัน ยังมีฉากผีจริง-ผีหลอก ในกองถ่ายภาพยนตร์แห่งหนึ่ง (สถานที่ที่คุณชายสิบสองมักมารับงานแสดงตัวประกอบ) เพื่อเป็นการล้อกระแสหนังผียุคสมัยนั้น และนักแสดง(ที่เล่นเป็นผีปลอม)ถูกผู้กำกับสั่งให้เล่นเป็นทั้งผีและนักดาบ … เอิ่ม แล้วมันต้องแสดงออกมายังไงละ???
ความคลุมเคลือของสองสิ่งขั้วตรงข้ามอย่างในหนัง ล้วนสะท้อนรสนิยมทางเพศของผู้กำกับกวนจินเผิง กายเป็นชายแต่จิตใจเหมือนหญิง สรุปแล้วฉันคือใคร?
เกร็ด: นักแสดงที่รับบทผู้กำกับฉากนี้ก็คือ Lau Kar-wing, 刘家荣 สตั๊นแมน นักแสดงคิวบู๊ ผู้กำกับฉากแอ๊คชั่นในสังกัด Shaw Brothers มีผลงานเด่นๆ อาทิ Skinny Tiger, Fatty Dragon (1990), Once Upon a Time in China (1991) ฯ

วินาทีแห่งการเผชิญหน้าระหว่างคุณชายสิบสอง (ในสภาพผู้แก่ผู้เฒ่า) กับหยูฮัว (วิญญาณที่ยังสวยสาว) สังเกตว่ากล้องถ่ายผ่านเศษซากปรักหักพังของลวดลายรั้วไม้ ท่ามกลางความมืดมิดที่แทบมองไม่เห็นใบหน้าฝ่ายชาย แต่หญิงสาวยังคงส่องสว่างเปร่งประกาย
ปล. ผมไม่เห็นในเครดิตว่าใครรับบทคุณชายสิบสองวัยชรา เลยแอบคาดคิดว่าน่าจะเป็นเลสลี่ จาง ปลอมตัวมา!

เมื่อไม่หลงเหลืออะไรติดค้างคาใจ หยูฮัวก็ก้าวเดินผ่านประตูที่มีสปอตไลท์สาดย้อนแสงเข้ามา แล้วร่างกายของเธอก็ค่อยๆเลือนลางหายตัวไป ราวกับว่านี่คือประตูแห่งความตาย นำพาเธอลงสู่ขุมนรก ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดอีกหลายกัปกัลป์ … ผู้ชมส่วนใหญ่คงใจหายวาปไปพร้อมๆตัวละคร ผิดหวังที่ไม่สมหวัง รักแท้ชั่วนิรันดร์ไม่เคยมีอยู่จริง
ซึ่งหลังจากหยูฮวาหายลับ แทนที่คุณชายสิบสองจะติดตามเธอก้าวผ่านประตูไป แต่เขากลับหยุดแน่นิ่ง เหม่อมอง แล้วหันหลังกลับ แสดงถึงความอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา แม้จะเคยพร่ำบอกว่ารักเธอสักเพียงไหน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยินยอมตกตายร่วมกัน

ตัดต่อโดย Peter Cheung, 張耀宗 ขาประจำผลงานของบรูซ ลี และเฉินหลง อาทิ Fist of Fury (1972), The Way of the Dragon (1972), Enter the Dragon (1973), Zu: Warriors from the Magic Mountain (1983), Project A (1983), Long Arm of the Law (1984), Mr. Vampire (1985), Police Story (1985), Rouge (1987), Center Stage (1991), The Legend (1993), The Legend of Drunken Master (1994), Crime Story (1994) ฯลฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาตัวละครหยูฮวา ทั้งขณะยังมีชีวิตและตกตายกลายเป็นวิญญาณ สลับไปมาระหว่างอดีต (ทศวรรษ 1930s) กับปัจจุบันนั้น (ค.ศ. 1987) … หรือเราจะมอง ค.ศ. 1987 เป็นเหตุการณ์หลักในปัจจุบัน แล้ววิญญาณหยูฮวาหวนระลึกนึกย้อนอดีต (Flashback) เมื่อครั้งครองรักคุณชายสิบสองช่วงทศวรรษ 1930s ก็ได้เช่นกัน
- (อดีต) รักหวานฉ่ำปานน้ำผึ้งเดือนห้า ระหว่างนางโลมหยูฮวา กับคุณชายสิบสอง
- คุณชายสิบสอง พยายามเกี้ยวพาราสีนางโลมหยูฮวา จนในที่สุดเธอก็ยินยอมยอมเป็นของเขา
- (ปัจจุบัน) ความจริงอันโหดร้าย วิญญาณของหยูฮวา ร้องขอความช่วยเหลือจากอาหยวน
- หยูฮวาต้องการประกาศหาคนหายบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เพราะไม่มีเงินติดตัวเลยติดตามอาหยวน
- เมื่ออาหยวนตระหนักว่าหยูฮวาเป็นผี ทีแรกก็หวาดกลัวตัวสั่น แต่ไม่นานก็สามารถยินยอมได้อย่างงงๆ
- (อดีต) ความรันทดในรักของหยูฮวากับคุณชายสิบสอง
- หยูฮวาถูกมารดาของคุณชายสิบสองต่อต้านการแต่งงาน
- คุณชายสิบสองเลยตัดหางปล่อยวัด มองหางานเป็นนักแสดงงิ้ว
- (ปัจจุบัน) อาหยวนพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทาง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครปรากฎตัว
- แม้มีการประกาศหาคนหายบนหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไม่ใครไหนติดต่อมา วันแล้ววันเล่า
- อาหยวนพบเจอหนังสือพิมพ์เก่าๆในร้านขายของเก่า พบเจอเงื่อนงำอะไรบางอย่าง
- บทสรุปของชีวิต
- (อดีต) หยูฮวาป้อนยาพิษคุณชายสิบสอง ตกตายจากกัน
- (ปัจจุบัน) วิญญาณของหยูฮวา ได้พบเจอคุณชายสิบสองอีกครั้ง
โครงสร้างการดำเนินเรื่องแบบนี้ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจ สำหรับคนไม่รับรู้มาก่อนว่าคือหนังผี ย่อมเต็มไปด้วยความฉงนสงสัยเมื่อเข้าสู่องก์สอง ทำไมจู่ๆอะไรๆถึงเปลี่ยนแปลงไป? แล้ว(อาจ)เกิดอาการตกตะลึง คาดไม่ถึง เมื่อเปิดเผยว่าหยูฮวาตกตายกลายเป็นผี! … จากนั้นนำเข้าสู่ปริศนาต่อมา มันเกิดอะไรในความสัมพันธ์ของพวกเขา และคุณชายสิบสอง ไม่ได้ฆ่าตัวตายตาม? หรือวิญญาณหลงทางไปไหน?
ผมรู้สึกว่าผู้กำกับกวนจินเผิงทำได้ดีในส่วนโรแมนติก (Romance) และการสร้างบรรยากาศลึกลับ (Mystry) มันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไรขึ้น? (แต่คนที่มีประสบการณ์ภาพยนตร์อันโชกโชน น่าจะคาดเดาเรื่องราวไม่ยากเท่าไหร่) แต่ที่น่าผิดหวังสุดๆก็คือคอมเมอดี้ โดยเฉพาะเมื่ออาหยวนตระหนักว่าหยูฮวาเป็นผี หรือตอนแฟนสาวพยายามพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ … มันสร้างความกระอักกระอ่วน รวบรัดตัดตอน ขำไม่ออก มันน่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้นะ
เพลงประกอบโดย Li Xiaotian, 黎小田 (1946-2019) บุตรชายของนักแต่งเพลงชื่อดัง Li Caotian, 黎草田 แม้ในตอนแรกจะสนใจเป็นนักแสดง แต่ลูกไม้ก็หล่นไม่ไกลต้น ฝึกฝนเล่นดนตรี อ่านหนังสือทฤษฎีเพลง พอโตขึ้นกลายเป็นผู้ช่วยบิดา แล้วออกมาตั้งบริษัทเอง ทำเพลงประกอบภาพยนตร์กว่า 30 เรื่อง อาทิ Duel to the Death (1983), Project A (1983), Police Story (1985), Rouge (1987) ฯลฯ
งานเพลงของหนังโดดเด่นมากๆในการสร้างบรรยากาศให้เข้ากับสองยุคสองสมัย ผสมผสานทั้ง diegetic (พบเห็นนักแสดงร้อง-เล่น-เต้น) และ non-diegetic (Soundtrack ประกอบพื้นหลัง) มีทั้งขับร้องอุปรากร การแสดงงิ้วจีน (Cantonese Opera) และฉากในปัจจุบันก็ได้ยินเพลงป็อป และดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย
ระหว่างรับชมแนะนำให้อ่านเนื้อคำร้องของบทเพลงตามไปด้วยนะครับ เพราะมันจะสื่อความถึงเรื่องราวบังเกิดขึ้นขณะนั้นๆ อย่างบทเพลงแรกเห็นว่านำจากบทกวีชื่อ The Sorrows of the Autumn Traveler, 客途秋恨 ประพันธ์โดย Ye Rui, 叶瑞 ศิลปิน จิตรกร จากยุคสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1636-1912) รำพันความรักระหว่างนักกวีหนุ่ม Mou Lien-Hsien, 缪莲仙 กำลังครุ่นคิดถึงสาวโสเภณี Mai Chiu-chuan, 麦秋娟 ซึ่งคาดกันว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจจากตัวผู้แต่งเองนะแหละ … สอดคล้องจองกับเรื่องราวของหนังเปะๆเลยนะ ทำให้คุณชายสิบสองตกหลุมรักนางโลมหยูฮวา แทบจะโดยทันที
I am Mou Lien-Hsien
I miss sentimental courtesan Mai Chiu-chuan
Her voice and personality are admirable
And her talent and appearance, peerless
We are now far apart
So as I keep cool in a boat in the lonesome nightLooking at the setting sun against the pair of swallows
I lean against the window in silent thought
Hearing the autumn sounds of the falling elm leaves
Seeing the bridge with the withered willow in cold mist
Makes me feel more sad and anguished
As I miss her and stare sorrowfully …
Sorrowfully at the full moon
บทเพลงที่คุณชายสิบสองขับร้องตอนออดิชั่น ระหว่างแสดงความต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะอุปรากรจีน ชื่อว่า Coming Home น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดบทเพลงนี้ไม่ได้ แต่เนื้อคำร้องสอดคล้องเรื่องราวขณะนั้น ทำไมเขาต้องมาเหน็ดเหนื่อย ทนทุกข์ยากลำบากในการฝึกฝนงิ้ว กลับบ้านไปหาครอบครัวดีกว่าไหม นั่งกินนอนกิน นับเงินสบายใจเฉิบ
Why don’t you come home?
Cuckoos sing, sobbing under the peach-blossom
Too sad, too sad
cuckoos sing, lamenting the miserable world.

สำหรับบทเพลง Original Song ใช้ชื่อเดียวกับชื่อหนัง Yan Zhi Kou/Yānzhī kòu (胭脂扣) ขับร้องโดยเหมยเยี่ยนฟาง รำพันถึงความรักที่เจือจางเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน รู้สึกสูญเสียดายความรู้สึกทั้งหมดเคยมีให้แก่กัน
ฟังครั้งแรกๆก็รู้สึกว่าบทเพลงนี้พรรณาความรู้สึกผิดหวัง เศร้าโศกเสียใจได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง แต่พอมาตั้งใจอ่านเนื้อคำร้องผมกลับรู้สึกความมักมาก เห็นแก่ตัว-เอาแต่ใจ หญิงสาวไม่พยายามทำความเข้าใจเหตุผลอีกฝั่งฝ่าย ใช้เพียงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง ยึดถือมั่นอุดมคติว่ารักแท้ต้องนิจนิรันดร์ ปฏิเสธมองโลกความจริงที่ทุกสิ่งอย่างล้วนผันแปรเปลี่ยน ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ตราบชั่วกัลปาวสาน … กลายเป็นบทเพลงน้ำเน่าขึ้นมาโดยพลัน
Vows vanish like smoke
Wasted, is my whole-hearted devotion.
But how could passion that burns like fire, last a whold life time?
To continue isn’t easy.Deceit is your middle name
Wasted all my passion on you
Love is disappearing like water flowing away
Faithful passion pouring out in vain
Wishing we never met that day.Only hoped we could be beside each other, relying on one another
Facing all the sorrows of the world
Heading towards old age
Though faces would change, the fire of love wouldn’t be extinguishedPraying to meet again one day
So I can tell you how much you’ve been missed
Hoping you will not let me down again, those feelings of affection and care
I’m grieved by this love
(Hoping you will not let me down again, those feelings of affection and care)
Tell me, when shall we meet again?
Rouge นำเสนอเรื่องราวความรัก ต่อให้แสดงความซื่อสัตย์จริงใจ สัญญาว่าจะมั่นคงตลอดไป แต่สุดท้ายแล้วไม่มีใครสามารถธำรงรักษาไว้ตราบชั่วกัลปาวสาน นั่นเพราะทุกสิ่งอย่างล้วนมีการปรับเปลี่ยนแปลง สภาพสังคม วิถีชีวิตผู้คน ประเทศชาติพัฒนาก้าวหน้า จิตใจมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน
อุดมคติความรักของคนสมัยก่อน อิทธิพลจากวิถีชีวิต สภาพสังคม อดีตไม่ได้มีสิ่งเย้ายวน ล่อตาล่อใจ ชวนให้ไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางไปไหนไกล ส่วนใหญ่เลยมีความซื่อสัตย์มั่นคง จงรักภักดี อาศัยอยู่เคียงข้างตราบจนแก่เฒ่า แต่ค่านิยมปัจเจกบุคคลในสมัยปัจจุบัน สอนให้มนุษย์เรียนรู้จักเสรีภาพชีวิต ไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นยึดติดกับใครหนึ่งใด ถ้าพบเจอสิ่งสร้างความขัดแย้ง ครุ่นคิดเห็นแตกต่าง หรืออดรนทนอยู่ไม่ไหว ก็แค่เลิกราหย่าร้าง มองหาคนรักใหม่
วิญญาณของหยูฮวา ได้ทำลายโลกทัศน์/ปฏิวัติความคิดผู้ชม(ฮ่องกง)สมัยนั้น หนังผีต้องหลอกหลอน สั่นสยอง ขนหัวลุกพอง แต่ผิดอะไรที่ผีสาวยังสวย เจิดจรัส และเหตุผลการมีตัวตน คือบางสิ่งอย่างยังติดค้างคาใจ ต้องการติดตามหาชายคนรักที่ควรตกตายพร้อมกัน ไฉนถึงยังสูญหาย หลงทางอยู่แห่งหนไหน
เราสามารถมองตัวละครหยูฮวา ว่าคือ ‘จิตวิญญาณของฮ่องกง’ หลังจากพบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่ลักษณะกายภาพ (ตึกรามบ้านช่อง, ท้องถนนหนทาง ฯ) แต่ยังวิถีชีวิต แนวความคิด สภาพสังคม (จิตภาพ) ทำให้ค่อยๆสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาในผู้คน และเมื่อความจริงทั้งหมดได้รับการเปิดเผย เผชิญหน้าคุณชายสิบสองครั้งสุดท้าย สิ่งหลงเหลือสำหรับเธอคือความมืดหม่น หมดสิ้นหวัง กลายเป็นจุดสิ้นสุดของอดีต ไม่มีอีกแล้วฮ่องกงในความทรงจำ
หนังพยายามนำเสนอภาพฮ่องกงในสองช่วงเวลา ทศวรรษ 1930s vs. ค.ศ. 1987 จากเกาะชาวประมงเล็กๆที่กำลังได้รับการบุกเบิกพัฒนา ด้วยสถานภาพเขตปกครองพิเศษของสหราชอาณาจักร แต่หลังจากสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (1937-45) และสงครามกลางเมืองจีน (1949-50) มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพหลบหนีรัฐบาลคอมมิวนิสต์มายังปักหลักอาศัยอยู่บนเกาะฮ่องกง ด้วยพื้นที่เพียง 1,104 ตารางกิโลเมตร ช่วงไม่กี่ปีกลับมีประชากรเพิ่มขึ้นหลักล้าน! สร้างความแออัด คับแคบ คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ทางด่วน-ตึกสูงขึ้นจนมองแทบไม่เห็นท้องฟ้า วิถีผู้คนปรับเปลี่ยนสู่ระบอบทุนนิยม
แม้ผู้กำกับกวนจินเผิงจะเป็นผู้ชาย กลับมักสร้างตัวละครหลักโดยใช้นักแสดงหญิง และหลายๆองค์ประกอบในผลงานมักมีลักษณะสองสิ่งขั้วตรงข้าม นี่เป็นการสะท้อนรสนิยมทางเพศที่เด่นชัดเจนมากๆ (คล้ายๆบรรดา ‘Woman’s Director’ อาทิ George Cukor, Vincente Minnelli, Max Ophüls, Rainer Werner Fassbinder, Pedro Almodóvar ฯลฯ) มองตนเองเหมือนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีความละเอียดอ่อนไหว หมกมุ่นมักมาก มองโลกในมุมที่แตกต่างออกไป … เอาจริงถ้าไม่เปิดเผยออกมา หลายคนก็น่าจะพอคาดเดาได้
เรื่องราวของ Rouge (1987) แม้นำเสนอความรักชาย-หญิง แต่ก็มีหลายๆครั้งที่พยายามทำให้ตัวละครมีความคลุมเคลือทางเพศสภาพ ตอนต้นเรื่องหยูฮวาสวมชุดบุรุษขับร้องบทเพลง The Sorrows of the Autumn Traveler หรือช่วงกลางเรื่องคุณชายสิบสองแต่งหน้างิ้วรับบทตัวละครเพศหญิง ฯลฯ จุดประสงค์เพื่อสื่อถึงความรัก ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพ
และแม้ไม่ได้มีชีวิตพานผ่านทศวรรษ 1930s แต่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า ผู้กำกับกวนจินเผิงเป็นคนโหยหาอดีตมากกว่าปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ Rouge (1987) ยังรวมไปถึง Center Stage (1992), Everlasting Regret (2005) และอีกหลายๆผลงานแนวย้อนยุค (Period) เพื่อสำรวจค่านิยม/อุดมคติคนสมัยก่อน โดยเฉพาะเรื่องของความรัก โหยหาใครสักคนซื่อสัตย์มั่นคง อาศัยอยู่เคียงข้างกันตราบจนวันตาย … น่าเสียดายนั่นเป็นสิ่ง(แทบ)ไม่หลงเหลืออีกแล้วในปัจจุบัน
หนังเข้าฉายในฮ่องกงปลายปี 1987 ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม สามารถทำเงิน HK$17.4 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยในยุคสมัยที่หนังกังฟูครองเมือง, ฉบับฉายในไทยจัดซื้อมาโดย นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ใช้ชื่อว่า ‘ล่ารัก 59 ปี’ เห็นว่าได้รับความนิยมอยู่พอสมควร
- Hong Kong Film Awards
- Best Picture **คว้ารางวัล
- Best Director **คว้ารางวัล
- Best Actress (เหมยเยี่ยนฟาง) **คว้ารางวัล
- Best Actor (เลสลี จาง)
- Best Screenplay
- Best Cinematography
- Best Film Editing **คว้ารางวัล
- Best Art Direction
- Best Original Film Score **คว้ารางวัล
- Best Original Film Song บทเพลง Yānzhī kòu **คว้ารางวัล
- Golden Horse Film Festival
- Best Feature Film
- Best Actress (เหมยเยี่ยนฟาง) **คว้ารางวัล
- Best Cinematography **คว้ารางวัล
- Best Film Editing
- Best Art Direction **คว้ารางวัล
- Best Costume Design
จนถึงปัจจุบัน 2022 เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ ผลงานของผู้กำกับกวนจินเผิง ได้รับการบูรณะแล้วสองเรื่องก็คือ Rouge (1987) และ Center Stage (1991) แสดงว่ามันต้องมีความพิเศษไม่น้อยทีเดียว! เรื่องแรกสามารถหารับชมออนไลน์ทาง Criterion Channel, ส่วนเรื่องหลังเห็นใน iQiYi และ Amazon Prime (น่าจะมีแนวโน้มตกเป็นของ Criterion ในอนาคตกาล)
ส่วนตัวค่อนข้างก่ำกึ่ง ชอบครึ่งไม่ชอบครึ่ง ประทับใจหลายๆแนวคิด สร้างมิติน่าหลงใหล แต่ผู้กำกับกวนจินเผิง ยังขาดอะไรบางอย่างในการนำเสนอเรื่องราวให้กลมกล่อมกว่านี้ … ส่วนการแสดงของเหมยเยี่ยนฟาง และเลสลี จาง น่าประทับใจทั้งคู่ แต่ผมรู้สึกว่าพวกเขาเหมือนเพื่อนสนิทมากกว่าคู่แท้โรแมนติก
แนะนำคอหนังรักโรแมนติก (Romance) ผสมเรื่องเหนือธรรมชาติ (Supernatural) บรรยากาศลึกลับ (Mystery) ชวนให้ขบไขปริศนา, หวนระลึกถึงฮ่องกงทศวรรษ 30s และ 80s, นักออกแบบฉาก เสื้อผ้า-แฟชั่นดีไซเนอร์ ชุดจีนย้อนยุคสวยๆ, แฟนคลับเหมยเยี่ยนฟาง และเลสลี จาง ห้ามพลาดเด็ดขาด!
จัดเรต 13+ กับซ่องโสเภณี วิญญาณล่องลอย บรรยากาศหลอนๆ และการฆ่าตัวตาย
Leave a Reply