Roxie Hart (1942) : William A. Wellman ♥♥♥♥
เป็นคุณจะให้อภัยไหม ‘ถ้าหญิงสาวสุดสวยเซ็กซี่ ยิงคนตายแล้วอ้างว่าป้องกันตัว’ ดัดแปลงจากบทละครเรื่อง Chicago โดยผู้กำกับ William A. Wellman (Wings-1927) นำแสดงโดย Ginger Rogers กับทรงผมหยิกสุดเซ็กซี่ และ George Montgomery หนุ่มทื่อๆสุดน่ารัก
“This Picture is dedicated to all the beautiful women in the world who have shot their men full of holes out of pique.”
ทีแรกผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับหนังเรื่องนี้ หยิบมาดูเพราะเป็นหนึ่งในหนังโปรดของ Stanley Kubrick แต่ต้องบอกว่าผิดคาด และกลายเป็นหนังโปรดของผมไปด้วยโดยทันที, คือนี่เป็นหนังที่…เซ็กซี่มาก ไม่ใช่โป๊เปลือย แต่มีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ คารมคมคาย และวิธีการเล่าเรื่อง ภาษาภาพยนตร์ที่ทำเอาผมยิ้มร่า หัวเราะไม่หยุดขณะรับชม ไม่ได้พบเห็นความหรรษาระดับนี้มาสักพักแล้ว
ผมเคยดู Chicago (2002) มาเมื่อหลายปีก่อน จดจำเรื่องราวอะไรไม่ได้แล้ว เพิ่งมาพบเอาตอนค้นหาข้อมูลหนังว่า ดัดแปลงมาจากบทละครเรื่องเดียวกัน เขียนโดย Maurine Dallas Watkins เมื่อปี 1926 เคยมีการสร้างเป็นภาพยนตร์มาทั้งหมด 3 ครั้ง
- Chicago (1927) หนังเงียบ โปรดิวเซอร์โดย D.W. Griffith กำกับโดย Frank Urson นำแสดงโดย Phyllis Haver
- Roxie Hart (1942) กำกับโดย William A. Wellman นำแสดงโดย Ginger Rogers
- Chicago (2002) กำกับโดย Rob Marshall นำแสดงโดย Renée Zellweger เป็น Roxie, Catherine Zeta-Jones เป็น Velma Kelly และ Richard Gere เป็นทนาย Billy Flynn
Maurine Dallas Watkins เป็นนักข่าวของ Chicago Tribune เขียนบทละคร Chicago โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง เหตุการณ์ฆาตกรรมเมื่อปี 1924 ขณะทำข่าวในระหว่างชั้นศาลของ Beulah Annan และ Belva Gaertner (คนละคดีกัน) ทั้งสองถือว่าเป็นพื้นฐานให้ตัวละครชื่อ Roxie Hart และ Velma Kelly
William A. Wellman ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ แต่ถ้าบอกว่าคือผู้กำกับ Wings (1927) ที่ได้ Oscar: Best Picture เรื่องแรก น่าจะมีคนร้องอ๋อแน่, ในยุคหนังพูด Wellman นิยมทำหนังแนว Comedy Screwball ซึ่ง Roxie Hart ก็ถือว่ามีส่วนผสมของความ Screwball อยู่ด้วย แต่ไม่สามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำนัก (จริงๆผมว่าก็เรียกได้นะ แต่ไม่รู้ทำไมไม่มีใครเรียกกัน)
ผลงานอื่นที่ดังๆของ Wellman อาทิ The Public Enemy (1931), A Star Is Born (1937), Beau Geste (1939), The Ox-Bow Incident (1943) ฯ
ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย Nunnally Johnson และ Ben Hecht เรื่องราวของหญิงสาว Roxie Hart ที่ถูกกล่าวหาจากสามี ว่าเป็นคนฆาตกรรมชาย(ชู้)คนหนึ่ง เธอจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด รวมถึงทำตัวเซ็กซี่ อ่อยเหยื่อให้เหล่าลูกขุนเห็นใจ จะได้ตัดสินว่าเธอไม่ผิด
แต่หนังมีการเปลี่ยนแปลงจากบทดั้งเดิมเยอะพอสมควร เพราะ Hays Code ที่มีความเข้มงวด ทำให้บางสิ่งอย่างที่ล่อแหลม หนังต้องใช้ลีลา สร้างลับลมคมใน นำเสนอความเซ็กซี่ในรูปแบบที่ไม่ใช่โป๊เปลือย, ที่น่าเสียดายสุดคือตัวละคร Velma Kelly ต้องถูกตัดออกไป เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวชื่อ Homer Howard ที่เป็นผู้เล่าเรื่องแทน
นำแสดงโดย Ginger Rogers (1911 – 1995) นักแสดง นักร้อง นักเต้นชาวอเมริกา เริ่มต้นจากการเป็นนักร้อง นักเต้น กลายเป็นนักแสดง Broadways เซ็นต์สัญญาเป็นนักแสดงในสังกัด RKO มีผลงานเลื่องชื่อ อาทิ 42nd Street (1933), Swing Time (1936), Top Hat (1935) และ Kitty Foyle (1940) ที่เรื่องหลังสุดได้ Oscar: Best Actress, การจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Stars ติดอันดับ 14 นักแสดงหญิงอมตะที่สุดตลอดกาล
รับบท Roxie ทรงผมบลอนด์หยิกหยักม้วน รอยยิ้มหวานๆ สวมกางเกงขาสั้นๆ ถุงน่องตาข่าย ใส่รองเท้าส้นสูง นี่เป็นภาพลักษณ์ที่ใครๆต่างตกหลุมรักในความสวยเซ็กซี่ รวมถึงนิสัยที่น่ารักน่าชัง ชอบเล่นหูเล่นตา ครื้นเครง รักสนุกตลอดเวลา, การเคี้ยวหมากฝรั่ง แสดงถึงนิสัยที่เหมือนเด็กเล็ก ลูกคุณหนู เอาแต่ใจ โลกต้องหมุนตามฉัน What a dame!
ผมตามอ่านบทวิจารณ์อยู่หลายๆที่ คนที่เป็นแฟนๆของ Ginger Rogers หลายคนจะบอกผิดหวังกับการแสดงของเธอในบทบาทนี้ เพราะหนังมีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะการต้องตัดสิ่งล่อแหลมชัดเจน ของเนื้อหาที่มีความเซ็กซี่รุนแรงกว่านี้ออกไป, ส่วนตัวเคยเห็น Rogers ใน Top Hat (1935) ก็จริงอยู่ว่า การแสดงของเธอไม่ได้พีคขนาดนั้น แต่ถือว่าเป็นบทที่ไม่เลว การมีตัวตนของเธอทำให้หนังดูสดชื่น มีชีวิตชีวา เป็นสีสันให้กับหนังอย่างมาก
George Montgomery รับบท Homer Howard ชายหนุ่มนักข่าวใส่แว่น ทื่อๆทึ่มๆ ที่ตกหลุมรักแรกพบกับ Roxie Hart คอยเป็นกำลังใจและแอบช่วยเหลือเธอ (แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก) เขาเป็นผู้เล่าเรื่องเหตุการณ์ Roxie Hart ให้คนในบาร์ฟัง เพราะตนเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์เมื่อหลายสิบกว่าปีก่อน
Adolphe Menjou นักแสดงชาวอเมริกัน รับบททนายความชื่อดัง Billy Flynn ที่สนแต่ชื่อเสียงและเงินทอง พยายามชักใย Roxie ให้ทำตามที่ตนต้องการอยู่เบื้องหลัง
ถ่ายภาพโดยตากล้องในตำนาน Leon Shamroy, มีหลายช็อตในหนังที่ใช้ภาษาภาพยนตร์สื่อสารกับผู้ชมได้อย่างสวยงาม อาทิ ขณะ Roxie ประกาศว่าตนเองท้อง มีคนถามว่าจะคลอดเมื่อไหร่ เนื่องจากนี่เป็นเรื่องที่เธอกุขึ้น กล้องถ่ายใบหน้าเธอ (Medium Shot) ขณะครุ่นคิด กระพริบตาปริบๆ แล้วยิ้มม้วน หันไปตอบคำถาม คุณไม่ต้องเข้าไปในหัวเธอว่าคิดอะไร แต่รู้ว่าเธอคิดอะไร
ตัดต่อโดย James B. Clark, มุมมองของหนัง เล่าเรื่องจากนักข่าว Homer Howard ช่วงเวลาปัจจุบัน (น่าจะปี 194x) ย้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1927 ใช้การตัดสลับเป็นช่วงๆ (ครั้งละ 15-20 นาที จะตัดกลับมาปัจจุบันครั้งหนึ่ง)
ความเซ็กซี่ของหนังอยู่ที่ลีลาการตัดต่อ มีการตัดสลับ ที่เหมือนเล่นหูเล่นตาระหว่างตัวละครอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแค่ Roxie ถกกระโปรงขึ้นนิดหนึ่ง เราก็จะเห็นปฏิกิริยาของหนุ่มๆในหนังตาลุกโพลนขึ้นมาทันที ผู้ชมก็เช่นกัน
มีช็อตหนึ่งหญิงสาวสองคนตบต่อยตีกันในคุก เสียง Sound Effect ที่ได้ยินจะเป็นเสียงแมวคราง น่ารักม๊ากก
เพลงประกอบโดย Alfred Newman ทั้งหมดเป็นเพลง Swing จังหวะสนุกสนาน เลือกจากเพลงดังในยุค 20s, ผมหยิบเพลง The Black Bottom ที่เต้นกันในคุก แต่งโดย Ray Henderson
เพลง Rag ที่ได้ยินจากเปียโนก่อนเริ่มย้อนอดีต ชื่อเพลง Pretty Baby แต่งโดย Egbert Van Alstyne และ Tony Jackson
ไฮไลท์อยู่ที่ Tab Dance ที่เป็นการโชว์เดี่ยวของ Ginger Rogers มีนัยยะแสดงถึงอารมณ์อันรื่นเริง สำราญของเธอ แม้อยู่ในคุกก็ยังไม่มีความวิตกจริตให้เห็น
หนังมี Deleted Scene อยู่เพลงหนึ่งที่ถูกตัดออก ชื่อเพลง The Charleston (1923) แต่งโดย James P. Johnson ต้นฉบับเป็นการเต้นใน Broadway เรื่อง Runnin’ Wild นี่เป็นเพลงที่มีท่าเต้นที่ได้รับความนิยมอยู่เป็นศตวรรษ (มีคลิปสอนเต้น The Charleston ใน Youtube ด้วยนะครับ เผื่อใครขาแดนซ์ชอบ ก็ลองหามาฝึกได้เลย)
อาจมีคนสงสัย นี่มันหนัง Musical หรือเปล่า? ไม่ใช่นะครับ เป็น Comedy ล้วนๆที่มีใส่เพลงสวิงมา 2-3 เพลง เพื่อเป็นการคารวะ Chicago ต้นฉบับ และขายลีลาการเต้นของ Ginger Rogers
ใจความของหนัง เป็นการตีแผ่เล่ห์มารยาหญิง ที่ใช้เสน่ห์อันยั่วเย้ายวนเอาตัวรอดกับสถานการณ์เป็นตาย ที่มักทำให้ผู้ชายตกหลุมหลงกลตลอด, นี่ถือเป็นประเด็นประชดประชันของผู้เขียนบทละคร (ที่เป็นผู้หญิง) เพราะรู้สึกว่านี่เป็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ เพราะถ้าเป็นผู้ชายหรือคนผิวสี ยังไงคดีแบบนี้ถูกแขวนคอแน่ แต่ผู้หญิง … และยิ่งถ้าท้องนะ ไม่มีวันถูกกล่าวหาว่าผิดได้เลย
ไว้ผมจะวิเคราะห์ให้ละเอียดกว่านี้ตอนเขียน Chicago นะครับ (ถ้ามันมีอะไรให้คิดเยอะกว่านี้นะ)
ส่วนตัวหลงรัก ชื่นชอบ คลั่งไคล้ในหนังเรื่องนี้ ติดอารมณ์ Swing ทันทีเมื่อดูจบ เกิดอาการคันไม้คันมือคันขา โยกหัวไปมา ขณะเขียนบทความนี้ ต้องเปิดเพลงของ Benny Goodman ไปด้วย และเขียนด้วยความสุขสูงสุด, ประทับใจสุดมี 3 อย่าง
– การแสดงของ Ginger Rogers เธอสามารถเปลี่ยนอารมณ์ผ่านสีหน้าได้โดยทันที
– ขณะลูกขุนที่ชอบโยกหัวไปมาอย่างพร้อมเพียง
– และผู้พิพากษาที่กระโดดเข้ากล้องทุกครั้งเมื่อนักข่าวกรูเข้ามาถ่ายภาพ
เหล่าช็อตลักษณะนี้กี่รอบต่อกี่รอบ ก็หยุดหัวเราะไม่ได้
ระหว่างเรื่องนี้และ Chicago ผมชอบ Roxie Hart กว่ามากๆ และรู้สึกว่าหนังคลาสสิกกว่า ยอดเยี่ยมกว่า แต่ Chicago มีความ Modern ร่วมสมัย ดูสดใหม่ และใกล้เคียงต้นฉบับมากกว่า
แนะนำกับผู้ชื่นชอบยุคสมัย 20s เพลง Swing เคยดู/รู้จักหนังเรื่อง Chicago (2002), ผู้พิพากษา ทนายความ นักข่าวหนังสือพิมพ์ ดูแล้วคงขำกระจาย, แฟนหนัง Ginger Rogers, George Montgomery ไม่ควรพลาด
จัดเรตทั่วไป ถึงการฆาตกรรมจะเป็นแนวคิดอันตราย แต่หนังทำให้คุณไม่รู้สึกว่าเธอจะทำอะไรแบบนั้นได้
[…] 9. Roxie Hart (1942) : William A. Wellman ♥♥♥♥♡ […]