Royal Space Force: The Wings of Honnêamise (1987)
: Hiroyuki Yamaga ♥♥♥♡
ณ ดาวเคราะห์สมมติ ประเทศชื่อ Honnêamise ตั้งคำถามถึงการสร้างกระสวยอวกาศ งบประมาณมากมายนำไปช่วยเหลือผู้คนได้มหาศาล แถมยังเป็นชนวนสาเหตุให้เกิดสงครามขัดแย้ง เฉกเช่นนั้นแล้วมันมีความจำเป็นอะไรที่มนุษยชาติต้องดิ้นรนออกนอกวิถีวงโคจรโลก?, อนิเมชั่นเรื่องแรกของสตูดิโอ Gainax ออกแบบตัวละครโดย Hideaki Anno และเพลงประกอบของ Ryuichi Sakamoto
ทำไมมนุษยชาติถึงขยันที่จักขวนขวาย ดิ้นรน ไขว่คว้า อยากนำพาตนเองให้หลุดออกนอกวิถีวงโคจรโลก มุ่งสู่อวกาศอันเวิ้งว้างว่างเปล่า?
– ความเพ้อฝัน ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงอันไม่มีจุดสิ้นสุด
– เพื่อค้นหาคำตอบของ ‘ชีวิต’ และสิ่งที่อยู่ไกลกว่านั้น
– เร่งเร้าโดยวิวัฒนาการ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไว
ฯลฯ
คำตอบย่อมแตกต่างออกไปตามความใคร่สนใจของแต่ละคน บ้างคงแบบว่า ไปทำไมว่ะนอกโลก สิ้นเปลือง ไม่เห็นมีคุณประโยชน์อะไรเลย? ขณะที่อีกฝั่งฝ่ายตรงกันข้าม นั่นคืออุดมการณ์ เป้าหมาย เพื่อมวลมนุษยชาติอาจได้ล่วงรับรู้คำตอบ ปริศนาธรรมแห่ง ‘ชีวิต’
Ōritsu Uchūgun: Oneamisu no Tsubasa คืออนิเมชั่นสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความทะเยอทะยาน สตูดิโอ Gainax ทุ่มทุนสร้างถึง ¥800 ล้านเยน สูงสุดตลอดกาลขณะนั้น (ก่อนถูกทำลายลงโดย Akira ปีถัดมา) ตั้งคำถามเกี่ยวกับยุคสมัยสงครามมุ่งสู่อวกาศ (ระหว่าง อเมริกัน v. สหภาพโซเวียต) แต่เพื่อไม่ให้สื่อความถึงตรงๆ หลีกเลี่ยงไปสร้างดาวเคราะห์สมมติ ประเทศชื่อ Honnêamise นำเสนอเรื่องราวออกมาได้อย่างน่าสนเท่ห์ทีเดียว
แต่อาจจะมีฉากหนึ่งที่หลายคนหงุดหงิด รับไม่ได้ หัวเสียกับมันโดยสิ้นเชิง คือตอนพระเอก Shirotsugh Lhadatt พยายามจะข่มขืนหญิงสาว Riquinni Nonderaiko แม้ไม่สำเร็จถูกฟาดศีรษะน็อคสลบ แต่เช้าวันถัดมากลับเป็นเธอพูดขอโทษกับเขาที่กระทำรุนแรงขนาดนั้น, ตอนผมครุ่นคิดออกว่าฉากนี้สื่อถึงอะไร จะบอกว่าโคตรชอบความหมายของมันเลยนะ แต่ขออุบไว้ก่อนแล้วกัน ต้องค่อยๆอธิบายทีละส่วนถึงจะเห็นภาพรวม
เมื่อประมาณต้นทศวรรษ 80s มีนักเรียนมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย Hideaki Anno, Yoshiyuki Sadamoto, Hiroyuki Yamaga, Takami Akai, Toshio Okada, Yasuhiro Takeda และ Shinji Higuchi รวมกลุ่มกันตั้งชื่อว่า Daicon Film สร้างอนิเมชั่นขนาดสั้น นำออกฉายใน Japan National SF Convention หรืองาน Daicon III เมื่อปี 1981 แม้ครั้งแรกจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่ก็ได้นำข้อบกพร่องมาปรับปรุงจนครั้งถัดๆมาปี 1983 สามารถคว้า Talented New Anime Studio ได้รับเงินรางวัลก้อนเล็กๆ ¥20 ล้านเยน (ประมาณ $200,000 ดอลลาร์) สำหรับก่อตั้งสตูดิโอเป็นหลักเป็นแหล่ง เปลี่ยนชื่อเป็น Gainax เมื่อปี 1985
สำหรับผลงานแรกของสตูดิโอใหม่ โดยผู้กำกับ Hiroyuki Yamaga (เกิดปี 1965) ได้นำเสนออนิเมะขนาดสั้น 4 นาที The Royal Space Force ต่อ Bandai Visual ได้รับเสียงชื่นชมล้นหลาม อนุมัติงบประมาณเพื่อให้สร้างเป็นอนิเมชั่นขนาดยาว
ณ ดาวเคราะห์สมมติ โลกในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม สองประเทศที่มีพรมแดนติดกันคือ Kingdom of Honnêamise และ The Republic เกิดความขัดแย้งต่อสู้กันตลอดเวลา
Shirotsugh Lhadatt ชายหนุ่มผู้มีนิสัยสุดเกียจคร้าน สันหลังยาว เพ้อฝันอยากเป็นทหารอากาศ แต่เกรดไม่ถึงจึงจำใจสมัครทหารอวกาศ (Royal Space Force) วันหนึ่งมีโอกาสพบเจอ Riquinni Nonderaiko หญิงสาวที่มาแจกใบปลิว ชักชวนเชื่อให้ผู้คนหันมานับถือในพระเจ้า ดำรงวิถีชีวิตตามหลักธรรมคำสอน เพื่อจักมีโอกาสรอดพ้นวันโลกาวินาศที่กำลังก้าวย่างใกล้มาถึง
Shirotsugh ไม่ได้มีความใคร่สนใจเรื่องศาสนาสักเท่าไหร่ แต่หลงใหลในตัวหญิงสาว Riquinni ติดตามไปพบเจอถึงบ้าน พูดคุยเล่าเรื่องการงาน ซึ่งเธอกล่าวยกย่องสรรเสริญในอาชีพที่เขาทำอยู่ นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ชายหนุ่มเกิดความภาคภูมิพึงพอใจในอาชีพของตนเอง ขันอาสาเสี่ยงตายขอเป็นนักบินอวกาศ ทั้งๆไม่เคยมีใครรอดชีวิตมาก่อน สร้างความงุนงงงวยให้กับเพื่อนๆและผู้บังคับบัญชาอย่างถึงที่สุด
เหมือนว่าช่วงแรกๆ Shirotsugh ตัดสินใจเป็นนักบินอวกาศเพื่ออวดสาว (ที่ตนหลงรัก) แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ บ้านของเธอถูกทำลายย่อยยับเยิน ทำให้เขาเริ่มรับรู้ถึงปัญหาสังคม คนยากคนจน ที่มาที่ไปของเงินสำหรับสร้างยานอวกาศ ชื่อเสียงอันโด่งดังมาพร้อมความโกรธเกลียดเคียดแค้น เคยถูกลอบสังหารโชคดียังเอาตัวรอดมาได้ ถึงจุดๆหนึ่งเริ่มเหน็ดเหนื่อยหมดอาลัย อดรนทนต่อไปไม่ไหวต้องการร่วมรักหลับนอนกับหญิงคนรัก แม้ถูกปฏิเสธแต่ก็ทำให้เขาเรียนรู้จักการให้อภัย ตั้งใจอย่างแน่วแน่จนวินาทีสุดท้าย ฉันต้องออกเดินทางมุ่งสู่ห้วงอวกาศ กลายเป็นดั่ง ‘พระเจ้า’ และกล่าวคำสุนทรพจน์ต่อมวลมนุษยชาติ
ออกแบบตัวละครโดย Yoshiyuki Sadamoto และ Hideaki Anno ทั้งคู่คือว่าที่ตำนานแห่งอนิเมะซีรีย์เรื่อง Neon Genesis Evangelion (1995–1996) ทำการสร้างสรรค์ภาพลักษณ์(ตัวละคร) ให้สามารถสะท้อนสภาวะทางอารมณ์ จิตใจ ว่าไปถือเป็นครั้งแรกของวงการอนิเมชั่นเลยก็ว่าได้
(ไว้เมื่อไหร่ผมมีโอกาสเขียนถึง Evangelion จะมาอธิบายให้ฟังว่า ภาพลักษณ์ของตัวละคร สะท้อนจิตวิทยาที่อยู่ภายในออกมาได้อย่างไร)
Shirotsugh Lhadatt (พากย์เสียงโดย Leo Morimoto) ความเบื่อโลกสะท้อนออกมาผ่านดวงตาละห้อย เหม่อล่องลอย คิ้วห่างๆ ชอบทำปากหวอบิดเบี้ยว สะท้อนชีวิตอันเรื่อยเปื่อยไปวันๆอย่างไร้แก่นสาน แต่เมื่อไหร่ค้นพบเป้าหมายต้องการ (ตกหลุมรัก) ก็จักมีประกายในสายตา คิ้วยักเหลี่ยมมุม ปากปิดมุ่งมั่น พบเห็นความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน ไม่ย่นย่อท้อแม้พบเจออุปสรรคใดๆ
Riquinni Nonderaiko หญิงสาวผู้มีความคลั่งศาสนา แต่เค้าโครงใบหน้าของเธอช่างดูอ่อนแอปวกเปียก ราวกับว่าอดีตเคยผ่านพบเจออะไรชั่วร้ายรุนแรง (เช่น ถูกข่มขืน, พ่อ-แม่ ใช้ความรุนแรงกระทำร้าย ฯ) ปัจจุบันเลยมีจิตใจแน่แน่วตั้งมั่นในคุณความดี รับเลี้ยงดูน้องสาว Manna Nonderaiko ราวกับเป็นแม่คนที่สอง นี่ทำให้เธอรู้สึกผิดเมื่อถูก Shirotsugh โน้มน้าวชักจูงในทางรักๆใคร่ๆ ปฏิเสธเขาทางกาย แต่ยินยอมยกโทษให้อภัยในเช้าวันถัดไป
เราสามารถเปรียบตัวละครนี้ได้กับแม่พระ/พระแม่มารีย์/พระผู้เป็นเจ้า ด้วยความที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี มองคนจากภายใน และสามารถยกโทษให้อภัยได้ทุกสิ่งอย่าง
เพื่อความสมจริงของอนิเมชั่น ทีมนักออกแบบได้ไปศึกษาดูงานยังประเทศสหรัฐอเมริกา ขึ้นเครื่องบินทะยานสู่ฟากฟ้า, เที่ยวทัวร์องค์กร NASA และเข้าร่วมชมการปล่อยยานอวกาศ Space Shuttle Discovery
ฉากการบิน เป็น Sequence งดงามที่สุดของอนิเมะ (แถมยังได้เพลงประกอบของ Ryuichi Sakamoto ช่วยเสริมสัมผัสแห่งอารมณ์อีกเท่าๆตัว) แม้ดู Stylish แต่มีความสมจริงในรายละเอียด ก้อนเมฆดูมีชีวิตชีวาจับต้องได้ มุมกล้องแบบหนัง Hollywood ไม่ผิดเพี้ยน
เกร็ด: ทุกสิ่งที่เห็นในอนิเมะ เกิดจากการวาดลงสีด้วยมือทั้งหมดแบบ Traditional Animation ไม่มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรืออะไรอย่างอื่นเข้าช่วยแม้แต่น้อย
เด็กหญิง Manna Nonderaiko กำลังเล่นกับตัวด้วงกวาง (มั้งนะ) ผูกติดไว้กับเชือก เมื่อมันพยายามโบยบินหนีกลับไม่สามารถไปไหนได้ไกล หมดแรงแล้วก็ตกกลับลงสู่พื้น นี่เป็นการสะท้อนถึงความทะเยอทะยานของมนุษย์ ที่พยายามเป็นอิสระเหนือแรงโน้มถ่วงโลก แต่สุดท้ายแล้วทุกคนที่สามารถโบยบิน ก็ต้องหวนตกกลับลงมาสู่ภาคพื้นดิน มิอาจหลุดพ้นจากพันธการสัจธรรมแห่งชีวิต เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย หนีไปได้พ้น
ก่อนที่ Shirotsugh จะกระทำการข่มขืน Riquinni สภาพของเขาตอนนั้นคือเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า หมดอาลัยกับชีวิต ไม่ต่างอะไรกับด้วงกวางกระจิดริด แทบไร้ความหมายตัวตนเมื่อเทียบกับโลกอันกว้างใหญ่ จับจ้องมองเรียวขาของหญิงสาวทำให้เกิดอารมณ์คลุ้มคลั่งต้องการฉุดคร่าลงมา
ถ้าเราเปรียบ Riquinni ดั่งแม่พระ/สัญลักษณ์ของพระเจ้า ชายหนุ่มความต้องการร่วมรัก/ข่มขืน สะท้อนถึงความทะเยอทะยาน มักมาก เพ้อใฝ่สูงของมนุษย์ ต้องการที่จะฉุดคร่า แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็น ‘พระเจ้า’ สถานะเทียบเท่า
ความล้มเหลวในการกระทำของ Shirotsugh สะท้อนเล็กๆว่า มนุษย์ไม่มีทางเป็นได้ดั่งพระเจ้า (ผู้บริสุทธิ์) และวันรุ่งขึ้นหญิงสาวสามารถยกโทษให้อภัยเขา ก็ดั่งคำที่ชาวคริสต์นิยมกล่าวอ้างกัน ‘พระเจ้าให้อภัยมนุษย์ได้ทุกสิ่งอย่าง’
ผมชื่นชอบนัยยะของฐานปล่อยจรวดนี้อย่างมาก มันคือสถานที่ทิ้งขยะของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยยุคหิน ไร้คุณค่าความสำคัญ แต่กลับเป็นฉนวนกาซาแห่งความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ
เคยครุ่นคิดกันบ้างไหมเอ่ยว่า ทำไมอวัยวะเพศสืบพันธุ์ของมนุษย์ชาย-หญิง ทั้งๆที่คือบริเวณแห่งความสุข/ให้กำเนิดชีวิตใหม่ กลับอยู่ในตำแหน่งสกปรก/ต่ำสุดของส่วนร่างกาย?
เพราะชีวิต/วิวัฒนาการ ล้วนถือกำเนิดขึ้นจากตำแหน่งนี้ เริ่มจากต่ำสุดคือไม่มี ค่อยๆทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดชั้นฟ้า (แล้วค่อยๆตกลงมากลับสู่พื้นดิน)
นี่มันภาพอะไรกัน? ที่ผมมองเห็นคือนางฟ้า/เทพธิดา/ตัวแทนของพระเจ้า โบยบินอยู่บนเหนือกองทัพมนุษย์ กำลังเตรียมการสู้รบราฆ่าฟัน ประจันหน้าต่อศัตรู, ความหมายคงประมาณว่า ฝั่งฝ่ายไหนที่มีนางฟ้า/เทพธิดา/ตัวแทนของพระเจ้าคุ้มหัว ย่อมมีโอกาสได้รับชัยชนะในสงครามสูงกว่า
ซึ่งสามารถขยายความต่อได้ถึง ประเทศไหนที่สามารถครอบครอบเป็นเจ้าของน่านฟ้า มีเทคโนโลยี/ศักยภาพทางอาวุธ/หรือสามารถส่งกระสวยอวกาศขึ้นเหนือภาคพื้นดินได้สำเร็จก่อน ย่อมมีแนวโน้มโอกาสได้รับชัยชนะในสงครามขัดแย้ง
ผมอาจจะจินตนาการไปเอง แต่รู้สึกว่าภาพกระสวยบนอวกาศช็อตนี้มีลักษณะเหมือน ‘ปลา’ ที่มีดวงตาส่องสว่างเรืองแสง มันราวกับว่ามวลมนุษย์ชาติที่ถึงแม้จะสามารถก้าวออกสู่ห้วงอวกาศได้เป็นครั้งแรก แต่กำลังแหวกว่ายงมเข็ม อยู่ท่ามกลามท้องทะเลแห่งอวกาศ อันกว้างใหญ่ไพศาลไม่รู้จักจบสิ้น
แต่ถึงกระนั้นภายในกระสวยอวกาศลำนี้ โทนสีของ Shirotsugh Lhadatt กลับเหลืองทองอร่ามเหมือนพระราชาผู้สูงศักดิ์ แถมตำแหน่งโคจรอยู่เหนือน่านฟ้าทุกสรรพสิ่ง ราวกับ ‘พระเจ้า’ ก็ไม่ปาน
คือผมมองทั้ง Sequence ไคลน์แม็กซ์นี้ เป็นการส่งให้ Shirotsugh ได้กลายเป็นพระเจ้าในชั่วขณะหนึ่ง อยู่สูงส่งเหนือมวลมนุษย์ทุกหมู่เหล่า และคำกล่าวสุนทรพจน์ของเขา อธิษฐานให้ทุกคนสามารถยินยอมยกโทษให้อภัยกัน (ในความเชื่อชาวคริสต์ คงมีแต่พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่สามารถให้อภัยมนุษย์ได้ทุกสิ่งอย่าง) เหมือนดั่งที่ตนเคยได้รับจาก Riquinni แม้นั่นจะเป็นการกระทำอันชั่วช้าเลวทรามสักแค่ไหนก็ตามที
อนิเมะเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ Shirotsugh Lhadatt ในลักษณะ Coming-of-Age จากความเหน็ดเหนื่อยหน่ายเบื่อโลก แต่เมื่อค้นพบอุดมการณ์เป้าหมายจึงเกิดความตั้งมั่นเพ้อใฝ่ฝัน ต้องการมุ่งตรงไปสู่ ระหว่างทางพบเจออุปสรรคขวากหนามมากมาย ฟันฝ่าไปได้อย่างไม่ย่นย่อยอมแพ้ จนในที่สุดก็สามารถบรรลุถึงปลายทางได้สมดั่งปรารถนา
ลักษณะการดำเนินเรื่อง มักจะให้เวลากับช่วงขณะเหตุการณ์สำคัญๆ ร้อยเรียงภาพ Montage ประกอบบทเพลง เพื่อสร้างสัมผัสทางอารมณ์ให้เกิดขึ้นกับผู้ชม อาทิ
– Shirotsugh ขณะฝึกซักซ้อม ตระเตรียมตัวเพื่อเป็นนักบินอวกาศ
– เจ๋งมากๆคือตอนได้ขึ้นเครื่องบิน ล่องลอยอยู่ท่ามกลางฟากฟ้านภาลัย
– ไคลน์แม็กซ์เมื่อ Shirotsugh กล่าวสุนทรพจน์บนชั้นบรรยากาศโลก ร้อยเรียงภาพความทรงจำ เรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ
เพลงประกอบโดย Ryuichi Sakamoto คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น ผู้บุกเบิกแนวเพลง Synth-Pop, Techno, House Music เจ้าของรางวัล Oscar: Best Original Score จากเรื่อง The Last Emperor (1987) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Merry Christmas Mr. Lawrence (1983), The Sheltering Sky (1990), Little Buddha (1993), The Revenant (2015) ฯ
เป็นการผสมผสานความหลากหลายเพื่อให้ได้รสสัมผัสใหม่โดยสิ้นเชิง! แต่นี่ไม่ใช่เรื่องราวของโลกอนาคต มันติดอยู่ระหว่าง อดีต-ปัจจุบัน โลกคู่ขนาน/ดาวเคราะห์สมมติ ที่จิตวิญญาณของ Royal Space Force สะท้อนความมุ่งมั่นแน่แน่ว เสียงปรบมือเพื่อเป็นกำลังใจไม่ให้ย่อท้อถอยหมดอาลัย สักวันหนึ่งก็จักได้เติมเต็มเป้าหมายดั่งใฝ่ฝัน
Riikuni’s Theme เสียงเปียโนอันนุ่มนวล สะท้อนความจิตใจอ่อนหวานของหญิงสาว ช่างมีความงดงาม บริสุทธิ์ผุดผ่อง ดั่งนางฟ้าลงมาจุติ แม่พระ/พระแม่มารีย์ ปรากฎต่อหน้าสายตาของ Shirotsugh Lhadatt ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เขาต้องการครอบครองยิ่งไปกว่า
บทเพลงที่โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชอบสุดในอนิเมะคือ Fade โดยเฉพาะเสียงเปียโน ในช่วงขณะที่ Shirotsugh Lhadatt ได้รับโอกาสขึ้นบินเหินหาวบนฟากฟ้าเป็นครั้งแรก สิ่งที่เจือจางลงสำหรับเขาคือความหวาดสะพรึงกลัว เพราะขณะนั้นกำลังมีความรู้สึกสุขเอ่อล้น รอยยิ้มแป้นบนใบหน้า ราวกับความเพ้อฝันนิทรา (ก่อนจะกลับลงมาท้องไส้ปั่นป่วน อ๊วกแตกอ๊วกแตนก็ตามที)
คงไม่มีใครประพันธ์เพลงประกอบได้พิลึกกึกกือ แปลกประหลาดพิศดารได้ยิ่งกว่า Ryuichi Sakamoto บทเพลง Muda เป็นส่วนผสมที่บิดเบี้ยว บูดบวม ไม่รู้จะสรรหาคำใดๆมาบรรยาย แต่แม้งโคตรเจ๋งเลยว่ะ!
มองผ่านๆ The Wings of Honnêamise คือเรื่องราวการเติบโตของ Shirotsugh Lhadatt ได้ค้นพบเป้าหมายชีวิต ต่อสู้ฟันฝ่า ไม่ลดละต่ออุปสรรคขวากหนาม จนสามารถกางปีกโบยบิน ได้รับอิสรภาพเสรีสมหวังดั่งปรารถนา
การเปรียบเทียบของผมต่อจากนี้ อาจดูเว่อวังไปสักนิด แต่ก็ไม่เกินกว่าที่อนิเมะพยายามนำเสนอหรอกนะ, ความสำเร็จในการสร้างกระสวยอวกาศ ให้สามารถทะยานขึ้นจากผืนแผ่นดิน ล่องลอยอยู่บนฟากฟ้าเหนือชั้นบรรยากาศ เทคโนโลยี/นวัตกรรม/ความสามารถดังกล่าว ราวกับทำให้มนุษย์/ประเทศชาตินั้น กลายเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ จับจ้องมองลงมา ทุกสิ่งอย่างราวกับอยู่ในกำมือของตนเอง
ขณะที่ตัวละคร Riquinni Nonderaiko ความดีงามสมบูรณ์แบบของเธอ (ไม่ว่าอดีตจะคืออะไร) สื่อถึงพระผู้เป็นเจ้าแห่งโลกใบเก่า ที่กำลังถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลังอย่างไร้เยื่อใย คงมีแต่บุคคลที่กำลังจะกลายเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ พบเห็นจึงเกิดความเข้าใจ หลงใหล ต้องการครอบครองเป็นเจ้า แต่ก็ได้แค่รับไม้ผลัดส่งต่อ ออสโมซิส/ซึมซับเอาส่วนดีงามสุดของเธอเก็บไว้ภายในจิตใจ
การก้าวมาถึงของโลกยุคสมัยทุนนิยม สิ่งชัดเจนมากๆที่พบเห็นก็คือ ความเชื่อ/ศรัทธาในหลักคำสอนเดิม จิตใจคนกำลังค่อยๆตกต่ำทรามลงเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่แค่พุทธแต่ยังทุกๆศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ฯ ประสบโชคชะตาเหมือนกันหมด ซึ่งพระเสาร์ที่กำลังเข้ามาแทรก พระเจ้า/ศาสดาองค์ใหม่ของโลกได้ถือกำเนิดขึ้น คือ ‘เงิน’ ใครมีมากจักได้รับการเคารพยกย่องเทิดทูนบูชาเหนือหัว นี่รวมถึง ‘เทคโนโลยี’ อะไรที่มันก้าวล้ำนำ กลายเป็นสิ่งมั่นหมายปองของบุคคลผู้มากมี
ประเทศไหนได้รับชัยชนะในสงครามอวกาศ ย่อมหมายความว่าได้เป็นผู้นำครองโลก! นั่นคือทัศนคติของสหรัฐอเมริกา ที่เมื่อสามารถส่งมนุษย์ไปย่างเหยียบบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ก็ถือไพ่เหนือกว่าสหภาพโซเวียตในทุกๆประการ แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้ไปไม่ไกลถึงจุดนั้น แค่กระสวยอวกาศสามารถส่งขึ้นไปล่องลอยเหนือชั้นบรรยากาศ ก็สื่อแทนถึงชัยชนะของประเทศ Honnêamise กลายเป็น ‘พระเจ้า’ องค์ใหม่ของดาวเคราะห์คู่ขนานโลกโดยทันที
แต่กว่าจะได้เป็น ‘พระเจ้า’ ระหว่างทางมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย ผมคงไม่วิเคราะห์ถึงรายละเอียดปีกย่อย ค้างไว้ให้เป็นประสงค์ของของผู้สร้าง มันคุ้มค่ากันแล้วหรือกับทุกสิ่งอย่างที่สูญเสีย? เพราะนี่เป็นคำถามโลกแตกที่คนสมัยนั้นย่อมแบ่งออกเป็นสองฝั่งฝ่าย เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน แทบทั้งนั้นปัจจุบันนี้จะเข้าข้างเห็นถึงคุณประโยชน์แห่งวิวัฒนาการ เพราะมันทำให้ทุกสิ่งอย่างก้าวล้ำนำสมัย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเก่าก่อน
อยากจะฝากทิ้งไว้ให้อีกข้อคำถามหนึ่ง โลกของเราขณะนี้มันน่าอยู่กว่าอดีตจริงๆนะหรือ? สิ่งของวัตถุภายนอกทำให้สะดวกสบายกาย แล้วจิตใจเรามีความสุขกับมันหรือเปล่า?
ก่อนที่อนิเมะจะออกฉาย Gainax ได้เตรียมภาคต่อตั้งชื่อไว้แล้วด้วยว่า Uru in Blue ดำเนินเรื่อง 50 ปีให้หลังไว้แล้ว แต่เมื่อประสบความล้มเหลว ทำเงินได้เพียง ¥347 ล้านเยน ทำให้ต้องยกเลิกแผนการณ์ดังกล่าว
กระนั้น Hideaki Anno ได้นำเอาหลายๆภาพร่างที่เตรียมไว้สำหรับโปรเจค Uru in Blue มาพัฒนาต่อยอดกลายเป็นผลงาน Masterpiece แห่งวงการอนิเมชั่น Neon Genesis Evangelion
เมื่อปี 2013 ในงาน Tokyo Anime Fair สตูดิโอ Gainax ประกาศนำ Uru in Blue มาปัดฝุ่นใหม่ ได้ทีมงานชุดเก่าผู้กำกับ Hiroyuki Yamaga และนักออกแบบตัวละคร Yoshiyuki Sadamoto (Anno กำลังง่วนกับฉบับภาพยนตร์ของ Evangelion) ด้วยทุนสร้างประเมินไว้สูงถึง $40 ล้านเหรียญ แต่ก็ไม่รู้โปรดักชั่นคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบอนิเมะเรื่องนี้อย่างมาก หลงใหลในความทะเยอทะยานบ้าพลัง เก็บตกรายละเอียดสมจริงได้อย่างเหนือชั้น แม้เรื่องราวจะดูซับซ้อนไปสักหน่อย แต่ถือเป็นความท้าทายซ่อนเงื่อนให้ครุ่นคิดค้นหา
แนะนำคออนิเมะ Sci-Fi ใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ, นักคิด นักปรัชญา นักการเมือง อะไรคือความจำเป็นของการเดินทางออกนอกโลก, แฟนๆ Hideaki Anno และเพลงประกอบของ Ryuichi Sakamoto ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับฉากขมขื่น ลอบสังหาร และสงคราม
Leave a Reply