Russian Ark

Russian Ark (2002) USSR : Alexander Sokurov ♥♥♡

เตรียมงานสร้างสี่ปี สำหรับถ่ายทำเพียงหนึ่งวัน ผิดพลาดได้สี่ครั้ง เพื่อภาพยนตร์เทคเดียว ‘Single Take’ ความยาว 87 นาที! นำเสนอผ่านมุมมองวิญญาณล่องลอย เดินทางข้ามกาลเวลา ประวัติศาสตร์รัสเซียยาวนานกว่า 300+ ปี สำหรับประชาสัมพันธ์ Hermitage Museum ตั้งอยู่ St. Petersburg

แม้ในอดีตเคยมีภาพยนตร์ ‘Single Take’ อย่าง Rope (1948), Empire (1965), Running Time (1997), Time Code (2000) แต่ทุกเรื่องต่างมีข้อจำกัดของฟีล์มภาพยนตร์ ใครช่างสังเกตจะพบเห็นการตัดต่อ(อย่างแนบเนียน)เพื่อเชื่อมโยงระหว่างซีเควนซ์ ไม่สามารถถ่ายทำตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดได้ในครั้งคราเดียว

Russian Ark (2002) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลก ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีกล้องดิจิทอล สามารถถ่ายทำ ‘Single Take’ ความยาว 87 นาที (ไม่รวมเครดิต 96 นาที) โดยไม่มีการตัดต่อหรือ ‘improvised’ สักครั้งเดียว!

If cinema is sometimes dreamlike, then every edit is an awakening. “Russian Ark” spins a daydream made of centuries.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนนเต็ม 4/4

ระหว่างปรับปรุงบทความ Last Year at Marienbad (1961) ผมก็ระลึกนึกถึง Russian Ark (2002) เพราะต่างเป็นภาพยนตร์ละเล่นกับ ‘Space & Time’ กล้องเคลื่อนไหลราวกับกาลเวลาดำเนินไป ในสถานที่แห่งนี้ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ผสมผสานคลุกเคล้ากันอย่างลงตัว

แนวคิดของ Russian Ark (2002) คล้ายๆแบบเรือโนอาห์ (Noah’s Ark) ถ้าอนาคตโลกต้องจมอยู่ใต้บาดาล ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบดั่ง ‘Time Capsule’ เก็บบันทึกประวัติศาสตร์รัสเซียตั้งแต่ยุคสมัย Peter the Great, Catherine the Great, Tsar Nicholas I & II, มาจนถึง Joseph Stalin ด้วยการรวบรวมผลงานศิลปะ-วัฒนธรรม จิตรกรรม ประติมากรรม เสื้อผ้าแฟชั่น รวมถึงบทเพลงแต่ละยุคสมัย ผสมผสานคลุกเข้าในพระราชวัง Winter Palace ตั้งอยู่ใน Russian State Hermitage Museum


Alexander Nikolayevich Sokurov, Александр Николаевич Сокуров (เกิดปี ค.ศ. 1951) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Russian เกิดที่ Podorvikha, Irkutsky District ในครอบครัวรับราชการทหาร สำเร็จการศึกษาคณะประวัติศาสตร์จาก Nizhny Novgorod University ต่อด้วยโรงเรียนสอนภาพยนตร์ Gerasimov Institute of Cinematography (VGIK) รับอิทธิพลจาก Andrei Tarkovsky ลุ่มหลงใหลโดยเฉพาะ The Mirror (1975), ผลงานช่วงแรกๆเริ่มจากถ่ายทำสารคดี เริ่มมีชื่อเสียงจาก Mournful Unconcern (1983) [ถูกแบนในรัสเซียจนถึงปี ค.ศ. 1987], Mother and Son (1997), Moloch (1999), Taurus (2001), Russian Ark (2002), Father and Son (2003), The Sun (2005), Faust (2011)**คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice

ช่วงปี ค.ศ. 1997, ผกก. Sokurov บังเกิดแนวคิดอยากถ่ายทำสารคดี บันทึกภาพ The State Hermitage Museum, Государственный Эрмитаж พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรมของรัสเซีย ตั้งอยู่ยัง Saint Petersburg สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1764 ในรัชสมัย Empress Catherine the Great (1729-96, ครองราชย์ 1762-96)

นำแนวคิดดังกล่าวไปพูดคุยโปรดิวเซอร์ Jens Meurer แล้วยังเสนอด้วยว่าอยากใช้กล้องดิจิทอล (Digital Camera) ถ่ายทำเพียงเทคเดียว ‘Single Take’ ฟังดูคาดว่าคงเป็นโปรเจคง่ายๆ ใช้เวลาไม่มาก งบประมาณก็ไม่น่าจะเยอะเท่าไหร่ แต่ที่ไหนได้พอเริ่มเตรียมงานสร้าง กลับต้องเสียเวลายาวนานถึง 4 ปี สำหรับการถ่ายทำเพียงหนึ่งวัน (ทีแรกพิพิธภัณฑ์จะให้เวลาผกก. Sokurov จำนวนสองวัน แต่เขากลับตอบปฏิเสธเพราะไม่ต้องการให้ปิดหลายวัน)

It turned out to be not just a small documentary of life in the Hermitage Museum, but a full-blown feature film

Jens Meurer

ทุกรายละเอียดของ Russian Ark (2002) ผกก. Sokurov มีการครุ่นคิดวางแผน พัฒนาบทร่วมกับนักเขียน Anatoli Nikiforov โดยนำแรงบันดาลใจไกด์ทัวร์ยุโรป (the European) มาจากผู้ดีฝรั่งเศส Marquis de Custine เคยเดินทางมาท่องเที่ยวเยี่ยมชม Winter Palace เมื่อปี ค.ศ. 1839 เขียนบอกเล่าในหนังสือ La Russie en 1839 (1843) ซึ่งเต็มไปด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม ถากถางอารยธรรมรัสเซียมีความป่าเถื่อน (Barbarism) เพราะ(ยุคสมัยนั้น)ถือกันว่าดินแดนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย ไม่ใช่ชนชั้นสูง/ผู้ดีมีสกุลอย่างพวกยุโรป


ยามบ่ายวันหนึ่งในช่วงฤดูหนาว เสียงบรรยาย (ให้เสียงโดยผู้กำกับ Alexander Sokurov) เริ่มต้นด้วยความสับสน นี่ฉันเป็นใคร? สถานที่นี้คือแห่งหนไหน? พบเห็นคนหนุ่มสาวสวมชุดแฟชั่นศตวรรษที่ 19 กำลังลงจากรถม้า เดินเข้ามาพระราชวัง Winter Palace เขาจึงตัดสินใจออกติดตามไปไม่นานพบเจอชายชาวฝรั่งเศส Marquis de Custine (รับบทโดย Sergey Dreyden) บุคคลเดียวที่สามารถพูดคุยสื่อสาร (สบตาหน้ากล้อง) รับรู้การมีตัวตนของเสียงผู้บรรยาย

จากนั้นกล้องและไกด์พากันออกเดินไปยังห้องหับต่างๆ พบเห็น Peter the Great กำลังคุกคามลูกน้อง, การแสดงอุปรากรในยุคสมัย Catherine the Great, ห้องสะสมงานศิลปะ จิตรกรรม ประติมากรรม, ชายคนหนึ่งกำลังทำโลงศพช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, Tsar Nicholas I ได้รับจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการจาก Shah of Iran, ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พร่ำบ่นถึงการบูรณะพิพิธภัณฑ์ในยุคสมัย Joseph Stalin, กระบวนแถวของ Imperial Guard เตรียมการเผชิญหน้า Napolean, วิถีชีวิตอันฟู่ฟ่าของ Tsar Nicholas II และปิดท้ายด้วยงานเต้นรำในห้องโถง Nicholas Hall

สุดท้ายกล้องก็ร่ำลาจาก Marquis de Custine แล้วเคลื่อนตามฝูงชนระหว่างกำลังแยกย้ายเดินลงบันได Jordan Staircase แต่ทันใดนั้นพอดำเนินมาถึงบริเวณหน้าต่าง มองออกไปภายนอกกลับพบเห็นท้องทะเลยามค่ำคืน (จริงๆคือแม่น้ำ River Neva) สรุปแล้วสถานที่แห่งนี้คือแห่งหนไหนกัน?


ถ่ายภาพโดย Tilman Büttner (เกิดปี ค.ศ. 1964) ตากล้องสัญชาติ German, สำเร็จการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก Filmuniversität Babelsberg Konrad Wolf, เคยทำงานเป็นผู้ช่วย Frank Griebe ถ่ายทำภาพยนตร์ Run Lola Run (1998), โด่งดังจาก Russian Ark (2002) ด้วยการแบกกล้อง Steadicam น้ำหนักกว่า 35 กิโลกรัม (ไม่นับรวม Hard Disk และเครื่องบันทึกเสียงที่ให้ผู้ช่วยแบกติดตาม) ออกเดินรอบ 33 ห้องโถงของ Hermitage Museum ระยะเวลา 87 นาที รวมระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร

ในตอนแรกผกก. Sokurov อยากจะแค่ใช้กล้อง Mini-DV ซึ่งมีขนาดเล็ก ราคาย่อมเยา น้ำหนักเบา แต่คุณภาพก็ตามสภาพราคา บังเอิญว่า Büttner รับรู้จักเพื่อนในบริษัท Sony จึงสามารถติดต่อขอใช้กล้องดิจิทอลคุณภาพดีที่สุดขณะนั้นรุ่น Sony HDW-F900 เชื่อมต่อกับ Hard Disk ขนาด 1 Terabytes สามารถบันทึกภาพแบบ uncompressed HD ได้ประมาณ 100 นาที

Büttner เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจคภายหลังบทหนังพัฒนาแล้วเสร็จ ซึ่งระหว่างการซักซ้อมเตรียมการ (Rehearsal) เขาก็ค้นพบว่าไม่มีทางที่กล้องจะสามารถเก็บรายละเอียดทั้งหมด ผกก. Sokurov จึงมอบอิสระในการบันทึกภาพ

You are the camera. You have the camera and you have the freedom.

Alexander Sokurov

ประมาณเจ็ดสัปดาห์ก่อนถึงวันถ่ายทำจริง Büttner ใช้เวลาปักหลักอยู่ Hermitage Museum เพื่อทำการซักซ้อม ทดลองเดินตามเส้นทางวางแผนไว้ สิ่งท้าทายคือการจัดแสงที่ต้องหาตำแหน่งหลบซ่อนไม่ให้ถ่ายติดเบื้องหน้า ส่วนสายไฟระโยงระยางค่อยไปแก้ปัญหาตอน Post-Production ลบเลือนภายหลังด้วย CGI (Computer Graphic)

วันถ่ายทำจริง 23 ธันวาคม ค.ศ. 2001 มีเวลาเตรียมการไม่ถึงครึ่งวัน (ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์ปิดให้บริการ) เหลืออีกเพียงสี่ชั่วโมงสำหรับถ่ายทำ เพราะแสงธรรมชาติภายนอกหลงเหลือไม่มากนัก (และแบตเตอรี่ก็ใช้งานได้ประมาณ 4 ชั่วโมงเช่นกัน) เทคแรกถ่ายทำได้ประมาณ 5 นาทีก็ต้องยุติลงเพราะความผิดพลาดบางอย่าง เทคสอง-สามก็เช่นเดียวกัน โชคดีว่าเทคสุดท้าย(ที่สี่) สามารถถ่ายทำติดต่อเนื่องจนเสร็จสิ้นได้พอดี (ใครช่างสังเกตจะพบเห็นนักแสดงหันมาสบตาหน้ากล้องบ่อยครั้ง ซึ่งนั่นก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้)

ในส่วนของ Post-Production หลังจากได้ไฟล์ uncompressed HD ความยาว 87 นาที ก็ต้องใช้ CGI เข้ามาลบสิ่งส่วนเกิน สายเคเบิ้ล อุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ จากนั้นนำแต่งเต็มเอ็ฟเฟ็ก หมอก หิมะ ท้องทะเล ปรับโฟกัส-คมชัด แสงสีสัน ใครช่างสังเกตอาจพบเห็นการเร่ง-ลดความเร็ว เพื่อให้เกิดความลื่นไหลระหว่างห้องหับ

ปล. หลายสำนักมีการประเมินว่าหนังใช้ทีมงาน นักแสดง ตัวประกอบไม่ต่ำกว่า 2,000 คน บางแหล่งข่าวคาดการณ์สูงถึง 4,500 คน แต่จากบทสัมภาษณ์ของ Büttner ได้ให้ตัวเลขแท้จริงน่าจะประมาณนี้

There were 1,300 extras and 186 actors. My crew included 10 for the camera and recording system, 14 lighting men, and 22 assistant directors. The ADs were most important because they rehearsed with the single actors and extras in factory hall, never in the Hermitage. I want to clarify that when we said that we didn’t have a rehearsal that means no full dress rehearsal. The dancing, the waltz, the hundreds of people at the ball, these were rehearsed with the AD.

Tilman Büttner

ในส่วนของเพลงประกอบ แน่นอนว่าต้องนำจากคีตกวีสัญชาติรัสเซีย ทั้งหมดดังขึ้นในลักษณะ ‘diegetic music’ (แต่ไม่แน่ว่าอาจเพิ่มเติมเข้าไปภายหลัง Post-Production) เรียบเรียงขึ้นใหม่โดย Sergey Yevtushenko บรรเลงโดย The State Hermitage Orchestra (ยกเว้น Mazurka บรรเลงโดย Mariinsky Theatre Orchestra) ประกอบด้วย

  • Mikhail Glinka: Mazurka (องก์สอง) จากอุปรากรโศกนาฎกรรมสี่องก์ A Life For The Tsar (1836)
  • Mikhail Glinka: Nocturne in E flat (1828)
  • Georg Philipp Telemann: Aria in G Major ท่อนที่ห้าจาก Ouverture in G Major (1765)
  • Henry Purcell: King Arthur, or The British Worthy (1691) กึ่งอุปรากรห้าองก์ (Semi-Opera) นำแรงบันดาลใจจากตำนาน King Arther
  • Pyotr Ilyich Tchaikovsky: Old French Song Op.39, No.16 จากทั้งหมด 24 เพลงของ Children’s Album, Op.39 (1878)

แต่ว่ากันตามตรง บทเพลงทั้งหมดที่ผกก. Sokurov เลือกมานี้ค่อนข้างน่าผิดหวังพอสมควร มันยังมีโคตรบทเพลงจากโคตรคีตกวีรัสเซียอีกมากมายที่เคยทำให้โลกตกตะลึง แต่ผมกลับไม่ค่อยรับรู้จักบทเพลงจากรายการนี้สักเท่าไหร่ อย่างน้อยที่สุดสมควรต้องมี The Mighty Five ห้าอัครบุคคล/ห้าคีตกวียิ่งใหญ่ที่สุดแห่งรัสเซีย Mily Balakirev, César Cui, Modest Mussorgsky, Nikolai Rimsky-Korsakov, Alexander Borodin ไม่มีเอ่ยกล่าวถึงสักนามเดียว (ผมหงุดหงิดที่สุดก็คือไม่มีคีตกวีคนโปรด Sergei Rachmaninoff)

ผมนำหนึ่งในบทเพลงที่ดังขึ้นระหว่างงานเลี้ยงเต้นรำ Mazurka, Мазурка จากอุปรากรสี่องก์ A Life For The Tsar, Жизнь за царя (1836) ประพันธ์โดย Mikhail Ivanovich Glinka (1804-57) คีตกวีสัญชาติรัสเซียคนแรกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้รับยกย่องกล่าวขวัญให้เป็น “Fountainhead of Russian classical music”

เกร็ด: เมื่อปี ค.ศ. 1913, Tsat Nicholas II จัดงานเต้นรำ (Grand Court Ball) ครั้งสุดท้ายในห้องโถง Nicholas Hall ก่อนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และพระองค์ถูกยึดอำนาจหลังจากนั้น ห้องโถงแห่งนี้จึงไม่เคยถูกใช้จัดงานเต้นรำอีกเลยจนกระทั่งภาพยนตร์เรื่องนี้ … แต่สังเกตจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ย้อนยุคไปศตวรรษที่ 19th รัชสมัย Alexander I (1777-1825, ครองราชย์ 1801-25)

แถมให้อีกบทเพลงเพราะๆ Nocturne in E flat (1828) ประพันธ์โดย Mikhail Glinka, บรรเลงโดย Sergey Yevtushenko ดังขึ้นช่วงท้ายพร้อมกับ Closing Credit ใครรับรู้จักบทเพลงแนว Nocturne คีตกวีได้แรงบันดาลใจจากยามค่ำคืน มืดมิด มองไม่พบเห็นอะไร เปรียบดั่งชีวิตล่องลอยไร้จุดมุ่งหมาย ความตายกำลังใกล้เข้ามาเยี่ยมเยือน

เกร็ด: บทเพลงแนว Nocturne โด่งดังที่สุดน่าจะคือ Chopin: Nocturne Op.9 No.1&2 (โปรดปรานเป็นการส่วนตัว), Op.27 No.2 (น่าจะโด่งดังที่สุด) และ No.20 in C Sharp Minor (Chopin ไม่เคยตีพิมพ์เพลงนี้ในช่วงชีวิต แต่มีท่วงทำนองหดหู่สิ้นหวังที่สุด)

ภาพยนตร์ Russian Ark (2002) เปรียบดั่งเรือโนอาร์ (Noah’s Ark) ทำการรวบรวมประวัติศาสตร์รัสเซีย บุคคลสำคัญ ศิลปะ-วัฒนธรรม บทเพลง แฟชั่น ผสมผสานคลุกเคล้าในพระราชวัง Winter Palace เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสชื่นเชยชม

แต่ให้ตายเถอะโรบิน สิ่งที่ผกก. Sokurov พยายามผสมผสานคลุกเคล้าในภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้งโคตรจะมั่วซั่ว หลายสิ่งอย่างไม่ได้สลักสำคัญประการใด เพียงเหตุการณ์ที่ผู้สร้างสนใจ นำมาปู้ยี้ปู้ยำ ทำเหมือนต้มยำ สร้างความเอือมระอาให้นักประวัติศาสตร์ หาความถูกต้องไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ (แค่โปรดักชั่นราคาแพงเท่านั้นเอง)

นี่ชวนให้ผมระลึกนึกย้อนไปถึงภาพยนตร์ October: Ten Days That Shook the World (1928) ของปรมาจารย์ผู้กำกับ Sergei Eisenstein (และ Grigori Aleksandrov) มันมีความจำเป็นที่หนังอ้างอิงประวัติศาสตร์ (Historical) ต้องนำเสนอเหตุการณ์บังเกิดขึ้นจริงอย่างตรงไปตรงมาด้วยหรือ? ไม่ใช่ว่าภาพยนตร์ควรสะท้อนมุมมอง ความคิดเห็น สิ่งที่ผู้สร้างสนใจหรอกฤๅ?

ผมสังเกตหลายๆเรื่องราวมักนำเสนอ ‘มุมมืด’ ของรัสเซีย (เหตุการณ์ทั้งหมดก็บังเกิดขึ้นในพระราชวัง Winter Palace) และทำการวิพากย์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของไกด์/คนนอก Marquis de Custine อาทิ

  • Peter the Great กำลังคุกคามลูกน้อง
  • ความหรูหร่าฟู่ฟ่าในรัชสมัย Catherine the Great
  • Marquis de Custine วิพากย์วิจารณ์งานศิลปะรัสเซีย ลอกเลียนแบบมาจากยุโรปทั้งนั้น
  • คนทำโลงศพสำหรับสงครามโลกครั้งที่สอง
  • ลูกหลานของ Tsar Nicholas II วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน ขัดแย้งกับชาวรัสเซียขณะนั้นกำลังตกทุกข์ยากลำบาก
  • และภาพสุดท้ายของหนัง ยามค่ำคืน พื้นผิวน้ำดูเย็นยะเยือก ราวกับล่องลอยคออยู่ในมหาสมุทร (แบบเดียวกับเรือ Noah’s Ark)

Russian Ark (2002) มันก็คือการปู้ยี้ปู้ยำประวัติศาสตร์ของผกก. Sokurov นำเสนอสิ่งที่เจ้าตัวอยากเก็บบันทึกไว้ใน ‘Time Capsule’ และเพื่อสร้างประสบการณ์ ‘virtual tour’ ในรูปแบบภาพยนตร์ (ยุคสมัยนี้ก็คล้ายๆนิทรรศการออนไลน์ Google Arts & Culture ลองคลิกเข้าไปเล่นดูนะครับ)

I’m no theoretician, I’m a practical director. I have never had any desire to uncover anything new. This idea of the long, unbroken shot has existed for years. I never do anything new…I am interested only in classical form and content. In the professional world, much of the art has been utterly forgotten and therefore my conduct is sometimes seen as radical, but it’s simply that I remember a lot… the very fact of art itself is unshakeable; art was perfected long ago. Here, shooting in a single take is an achievement in formal terms, but more than that it is a tool with the aid of which a specific artistic task can be resolved.

Alexander Sokurov

เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ถึงแม้ไม่ได้รางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา แต่คำโปรย ‘Single Take’ ทำให้มีโอกาสเข้าฉายตามเทศกาลต่างๆทั่วโลก ด้วยทุนสร้างประมาณ $2.5 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $3 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $8.69 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในฐานะหนัง Art-House

I just love Russian Ark. I almost cried at the end of the film, it was so beautiful.

ผู้กำกับ Alejandro Gonzalez Inarritu

Russian Ark is one of my favorite films. It’s one shot. He only did three takes; the first two stopped after 20 minutes because there were mistakes but the last take went right through to the end. The cameraman almost died using the steadicam; it was an extraordinary experience.

ผู้กำกับ Steven Spielberg

In logistics alone — how to keep the camera moving, the crowds of costumed extras swirling, and the dialogue between the foreground characters flowing without a single cut — the film is some kind of masterpiece of movie engineering.

นักวิจารณ์ Dave Kehr

Russian Ark is a magnificent conjuring act, an eerie historical mirage evoked in a single sweeping wave of the hand by Alexander Sokurov… These keyhole flashes from the past evoke a sense of history that is at once intimate and distanced, and ultimately sad: so much life, so much beauty, swallowed in the mists of time.

นักวิจารณ์ Stephen Holden

ด้วยความที่หนังถ่ายทำด้วยกล้องดิจิทอล จึงไม่มีความจำเป็นต้องผ่านการบูรณะใดๆ ใครติดตามหา Blu-Ray ผมเห็นแต่ของค่าย Kino Lorber คุณภาพ HD (High-Definition) วางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 2013 แต่ถ้าใครอยากรับชมเบื้องหลัง ต้องหาจาก DVD ของ Artificial Eye และ Wellspring

นอกจากความน่าตื่นตาตื่นใจในโปรดักชั่น งานสร้าง ผลสำเร็จของ ‘Single Take’ ไทม์แคปซูล/เรือโนอาร์แห่งประวัติศาสตร์รัสเซีย หนังไม่ได้มีอะไรให้กับผู้ชม(ที่ไม่ใช่ชาวรัสเซีย)มากไปกว่าความประทับใจแรก ‘First Impression’ และประสบการณ์ ‘virtual tour’ พิพิธภัณฑ์ The State Hermitage Museum

ผมเคยรับชม Russian Ark (2002) ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย หวนกลับมาคราวนี้หาวแล้วหาวอีก เหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่าย รู้สึกเลอะเทอะ เละเทะ แต่ละเหตุการณ์นำเสนอไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ ปู้ยี่ปู้ยำจนหนังแทบไม่หลงเหลือมูลค่าใดๆทางประวัติศาสตร์

เผื่อใครสนใจอยากรับชมภาพยนตร์ที่ดูเหมือนถ่ายทำเพียง ‘Single Take’ แนะนำให้หาชม Fish & Cat (2013), Agadam (2013), Birdman (2014), Victoria (2015), Utøya: July 22 (2018), Blind Spot (2018), 1917 (2019) ฯลฯ

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | Russian Ark เรือโนอาห์ของรัสเซีย อาจมีเทคเดียวที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่การปู้ยี้ปู้ยำประวัติศาสตร์ของผู้กำกับ Alexander Sokurov ผลลัพท์ช่างเลอะเทอะ เละเทะ จมดิ่งสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร
คุณภาพ | ตื่นตาตื่นใจ
ส่วนตัว | เลอะเทอะ เละเทะ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: