Sabotage

Sabotage (1936) British : Alfred Hitchcock ♥♥♥♥

กลุ่มผู้ก่อการร้ายวางแผนก่อวินาศกรรม (Sabotage) ตั้งใจจะระเบิดกรุง London แม้ไม่รู้ด้วยเหตุผลอันใด แต่ด้วยลีลาการนำเสนอสไตล์ Hitchcockian สร้างความตื่นเต้น ระทึกขวัญ สั่นสะท้านทรวงใน

ทีแรกผมไม่ได้ตั้งใจจะรับชม Sabotage (1936) แต่บังเอิญระหว่างไล่ดูชาร์ทภาพยนตร์ TIMEOUT: The 100 Best British Films พบเห็นติดอันดับ #44 สองจิตสองใจอยู่สักพัก ก่อนเอาว่ะ! เขียนถึงสักหน่อยก็แล้วกัน

ผลลัพท์บอกเลยว่าคาดไม่ถึง! แม้พล็อตเรื่องแอบละม้ายคล้าย Blackmail (1929) แต่ประสบการณ์ทำงานของผกก. Hitchcock ทำให้หลายสิ่งอย่างมีความลงตัว กลมกล่อม สร้างเรื่องราวที่สมเหตุสมผล ตื่นเต้น ระทึกขวัญ … อาจไม่ได้น่าจดจำเทียบเท่า The 39 Steps (1935) หรือ The Lady Vanishes (1938) แต่ถือเป็นความบันเทิงชั้นเลิศในสไตล์ Hitchcockian

เกร็ด: ภาพยนตร์ Inglourious Basterds (2009) ของผกก. Quentin Tarantino มีการอ้างอิงถึงฟีล์ม Nitrate ที่ติดไฟง่าย และคุ้นๆว่าพบเห็นคลิปจาก Sabotage (1935) ด้วยนะ!

At that time, 35 millimeter nitrate film was so flammable that you couldn’t even bring a reel onto a streetcar.

Narrator

Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899-1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ เป็นชาวอังกฤษ เกิดที่ Leytonstone, Essex ครอบครัวเปิดกิจการร้านขายของชำ (grocery shop) ช่วงวัยเด็กมีความสนใจภูมิศาสตร์ แผนที่ ขบวนรถไฟ ใฝ่ฝันอยากเป็นวิศวกร เข้าศึกษาภาคค่ำยัง London County Council School of Engineering and Navigation แต่พอบิดาเสียชีวิต เลยต้องแบ่งเวลามาทำงานเสมียนบริษัทโทรเลข Henley Telegraph and Cable Company, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มมีความสนใจด้านการเขียน กลายเป็นบรรณาธิการรุ่นก่อตั้ง The Henley Telegraph ก่อนย้ายมาแผนกโฆษณา ทำให้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ ‘Motion Picture’ เกิดความชื่นชอบหลงใหล Der müde Tod (1921) ของผู้กำกับ Fritz Lang

ต่อมายื่นใบสมัครเข้าทำงานสตูดิโอ Famous Players–Lasky เปิดสาขาใหม่ที่ London เริ่มจากเป็นนักออกแบบ Title Card, ร่วมเขียนบท, ออกแบบศิลป์, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้ช่วยตัดต่อ ฯ เรียนรู้งานแทบจะทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่ผู้ช่วยผู้กำกับ Woman to Woman (1923), ได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Pleasure Garden (1925), แจ้งเกิดกับ The Lodger: A Story of the London Fog (1927), ผลงานโดดเด่นในยุคแรกๆ อาทิ Blackmail (1929), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935), The Lady Vanishes (1938) ฯ

สำหรับ Sabotage (1936) ร่วมงานกับนักเขียนขาประจำ Charles Bennett ดัดแปลงนวนิยาย The Secret Agent: A Simple Tale (1907) แต่งโดย Joseph Conrad (1857-1924) นักเขียนสัญชาติ Polish-British

เมื่อปี ค.ศ. 1886 ณ กรุง London, เรื่องราวของ Mr. Adolf Verloc สายลับไม่ระบุประเทศ (คาดเดาว่าคือ Russia) เบื้องหน้าเป็นนักธุรกิจ เจ้าของกิจการร้านขายสื่อลามกอนาจาร (Pornographic) อาศัยอยู่กับภรรยา Winnie, แม่สะใภ้ และน้องสะใภ้ Stevie ล้มป่วย Autism, ครั้งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ก่อวินาศกรรม Greenwich Observatory แต่เพราะถูกตำรวจลับหมายหัว จึงฝากฝังพัสดุซุกซ่อนระเบิดให้กับ Stevie ก่อนประสบอุบัติเหตุระหว่างทาง …

ผกก. Hitchcock และนักเขียน Bennett ทำการปรับเปลี่ยนรายละเอียดจากนวนิยายพอสมควร ให้มีความทันยุคทันสมัย ให้กลายมาเป็นปัจจุบัน นอกจากชื่อตัวละคร จากร้านขายสื่อลามกอนาจารสู่เจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์ สถานที่ก่อวินาศกรรมรถไฟใต้ดิน Piccadilly Circus และโดยเฉพาะตอนจบลงอย่าง Happy Ending

เกร็ด: เหตุผลที่ผกก. Hitchcock เลือกใช้ชื่อหนัง Sabotage เพราะก่อนหน้านี้เพิ่งสรรค์สร้างภาพยนตร์ Secret Agent (1936) ดัดแปลงจากนวนิยาย Ashenden: Or the British Agent (1927) ของ W. Somerset Maugham มันเลยเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้!


ค่ำคืนหนึ่ง ณ กรุง London เกิดเหตุการณ์ไฟดับทั่วเมือง แต่ไม่ได้สร้างความกระตือรือล้นใดๆให้กับประชาชน ครุ่นคิดว่าคงเป็นแค่เรื่องตลกขบขัน สร้างความไม่พึงพอใจให้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย ออกคำสั่งให้สายลับ Karl Verloc (รับบทโดย Oscar Homolka) ลงมือวางระเบิดสถานีรถไฟใต้ดิน Piccadilly Circus ด้วยตนเอง!

เบื้องหน้าของ Verloc เป็นเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์ อาศัยอยู่กินกับภรรยา Mrs. Verloc (รับบทโดย Sylvia Sidney) และน้องชาย(ของภรรยา) Stevie (รับบทโดย Desmond Tester) โดยไม่รู้ตัวถูกสอดแนมโดยคนขายผักร้านข้างๆ Ted Spencer (รับบทโดย John Loder) เป็นนักสืบจาก Scotland Yard ปลอมตัวมาสืบค้นหาความลับ ว่าพวกผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้กำลังเตรียมวางแผนจะทำอะไร


Sylvia Sidney ชื่อจริง Sophia Kosow (1910-99) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ The Bronx, New York ในครอบครัวผู้อพยพ Russian-Romanian Jewish พออายุห้าขวบ บิดา-มารดาหย่าร้าง ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดาบุญธรรม Sigmund Sidney (เลยใช้นามสกุลบิดามาตั้งแต่นั้น) แม้วัยเด็กมีนิสัยขี้อาย แต่ตัดสินใจเลือกอาชีพนักแสดง Theater Guild’s School for Acting ก่อนปรากฎตัวประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก The Sorrows of Satan (1926), ผลงานเด่นๆ อาทิ City Streets (1931), Madame Butterfly (1932), Sabotage (1936), Fury (1936), You Only Live Once (1936), Dead End (1937), Summer Wishes, Winter Dreams (1973), Beetlejuice (1988) ฯ

รับบท Mrs. Verloc ภริยาของ Karl Verloc แต่ไม่เคยรับรู้เบื้องหลัง ตัวตนแท้จริง ขนาดว่าถูกเป่าหูโดยนักสืบ Ted Spencer ก็ยังคงแสดงความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ว่าเขาคงไม่กระทำสิ่งเลวร้าย ก่อวินาศกรรม/ฆ่าคนตาย จนกระทั่งอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับน้องชาย Stevie ทำให้สูญเสียสติ บังเกิดอารมณ์ชั่ววูบ และตกอยู่ในความสิ้นหวังต่อจากนั้น

เกร็ด: เมื่อตอนถ่ายทำ Sidney ถือเป็นนักแสดงหญิงค่าตัวสูงสุดขณะนั้น $10,000 เหรียญต่อสัปดาห์ รวมแล้วได้รับค่าจ้างสูงถึง $80,000 เหรียญ!

ภาพลักษณ์ของ Sidney มีความร่าเริง สว่างสดใส เป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่เธอก็รับรู้พฤติกรรมลับๆล่อๆสามี แค่ไม่ครุ่นคิดว่าเขาจะกระทำสิ่งเลวร้าย ทรยศหักหลังครอบครัว-ประเทศชาติ ความตายน้องชายจึงคือจุดแตกหัก ตกอยู่ความเศร้าสลดหดหู่ บังเกิดอารมณ์ชั่ววูบ ไม่สามารถควบคุมตนเอง หลังจากนั้นตั้งใจจะรับสารภาพผิด แต่โชคชะตาทำให้เอาตัวรอดพ้นผิด

นี่เป็นตัวละครที่แอบซับซ้อนอย่างคาดไม่ถึง ช่วงแรกๆอาจดูแบนราบ เพียงคนมองโลกในแง่ดี แต่จุดแตกหักสร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม ใครจะไปคาดคิดถึงว่าเธอก็มีมุมมืด … คือมันต้องมีอะไรซุกซ่อน เก็บกดอยู่ภายใน ถึงทำให้ตัวละครแสดงออก โต้ตอบ กระทำออกมาเช่นนั้น!


Oscar Homolka (1898-1978) นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เข้าศึกษาการแสดง Imperial Academy of Music and the Performing Arts, Vienna มีผลงานละคอนเวทีที่ Austrian ก่อนย้ายไป German ร่วมงานกับ Max Reinhardt, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ก่อนอพยพหลบหนี Adolf Hitler มาปักหลังอยู่ประเทศอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Sabotage (1936), Ball of Fire (1941), I Remember Mama (1948), The Seven Year Itch (1955), War and Peace (1956) ฯ

รับบท Karl Anton Verloc เจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์ เป็นคนเก็บตัว ขึงขัง ไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใคร แต่งงานกับ Mrs. Verloc เพียงเพื่อปกปิดบังตัวตนแท้จริง คือสายลับแทรกซึมจากยุโรป แม้ไม่ต้องการกระทำร้ายใคร แต่ได้รับมอบภารกิจก่อการร้าย วางระเบิดสถานีรถไฟใต้ดิน Piccadilly Circus จำใจต้องปฏิบัติตามคำสั่งเบื้องบน ไม่เช่นนั้นความโชคร้ายอาจตกอยู่กับตนเอง

เกร็ด: ต้นฉบับนวนิยายตัวละครชื่อว่า Adolf Verloc สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนเป็น Karl Verloc เพื่อไม่ให้พาดพิงถึงท่านผู้นำ Afolf Hitler

ภาพลักษณ์ของ Homolka ชวนให้ผมนึกถึง James Cagney หน้าใหญ่ๆ ทรงผมเนี๊ยบๆ วางมาดเจ้าพ่อมาเฟีย ดูเหมือนบุคคลผู้น่าเกรงขาม แต่เพราะตนเองเป็นเพียงสายลับระดับล่าง ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง อำนาจต่อรอง กระทำสิ่งตอบสนองอุดมการณ์ เลยมิอาจต่อต้านขัดขืนคำสั่งเบื้องบน ต้องการล้มเลิกภารกิจหลังรับรู้ว่าถูกสอดแนม กลับถูกบีบบังคับ พัสดุระเบิดอยู่ในมือ จึงพยายามดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอด ก่อนตกอยู่ในความสิ้นหวังหลังจากนั้น

จริงอยู่ว่า Verloc คือผู้ก่อการร้าย สายลับ ปรปักษ์ต่อประเทศอังกฤษ แต่หนังพยายามสร้างมิติให้ตัวละครว่าก็ถูกบีบบังคับ มัดมือชก ไม่ได้อยากกระทำร้ายใครจริงๆ และถ้าเลือกได้ก็อยากจะลงมือด้วยตนเอง ไม่ใช่ฟากฝังผู้อื่น นำสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรม … แต่ก็ไม่รู้ผู้ชมสมัยนั้น จะทำความเข้าใจมุมมองตัวละครนี้ได้มากน้อยเพียงไหน


John Loder ชื่อจริง William John Muir Lowe (1898-1988) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Knightsbridge, London บิดาคือพลตรี W. H. M. Lowe ดำเนินตามรอยบิดาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตกเป็นเชลยสงคราม หลังปลดประจำการอาศัยอยู่ German กลายเป็นนักแสดงหนังเงียบ ก่อนมุ่งสู่ Hollywood ในยุคหนังพูด ผลงานเด่นๆ อาทิ Sabotage (1936), King Solomon’s Mines (1937), How Green Was My Valley (1941), Now, Voyager (1942) ฯ

รับบทนักสืบ Sergeant Ted Spencer ปลอมตัวเป็นพนักงานขายผลไม้อยู่ข้างโรงภาพยนตร์ของ Karl Verloc พยายามสังเกต สอดแนม แทรกซึมผ่านภรรยา Mrs. Verloc เชื่อมั่นว่าเธอมีความบริสุทธิ์ ไม่เคยรับรู้พฤติกรรมชั่วร้ายสามี … จริงๆคือแอบตกหลุมรัก และพยายามหาหนทางช่วยเหลือให้เธอสามารถรอดพ้นความผิด

ความตั้งใจแรกเริ่มของผกก. Hitchcock ต้องการหยิบยืมนักแสดง Robert Donat (ที่เคยร่วมงาน The 39 Steps) แต่ถูกขัดขวางโดยโปรดิวเซอร์ Alexander Korda และเห็นว่าเจ้าตัวล้มป่วยโรคหอบหืด (Asthma) เลยไม่มีโอกาสร่วมงาน ซึ่งการได้ John Loder มองว่าศักยภาพไม่ถึง จึงต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข ลดบทบาทความสำคัญลงพอสมควร

The actor we got wasn’t suitable, and I was forced to rewrite the dialogue during the shooting.

Alfred Hitchcock

ผมมองว่าปัญหาของ Loder คือภาพลักษณ์ที่ดูทึ่มทื่อ ซื่อตรงเกินไป ไร้ความน่าเชื่อถือ ไม่ค่อยเหมาะกับสายลับ/นักสืบ ขาดเสน่ห์ สีสัน ลูกเล่นด้านการแสดง ผู้ชมสังเกตได้ตั้งแต่แรกเริ่มว่าแอบชื่นชอบ ตกหลุมรัก Mrs. Verloc ซึ่งตัวละครก็เพียงดำเนินไปในทิศทางนั้น พยายามพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเธอให้เป็นที่ประจักษ์

คือถ้าเป็น Donat ผมเชื่อว่าย่อมทำออกมาได้มากกว่าพระเอกหนังโรแมนติก มีพลังการแสดงที่สร้างภัยคุกคาม ดูน่าเกรงขาม สามารถโต้ตอบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ เผชิญหน้า Oskar Homolka ได้อย่างถึงพริกถึงขิงกว่านี้


ถ่ายภาพโดย Bernard Knowles (1900-75) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manchester, Lancashire เริ่มต้นจากเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ จากนั้นเข้าร่วมสตูดิโอ Gainsborough Pictures ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง ไม่นานก็ได้รับเครดิตถ่ายภาพตั้งแต่ยุคหนังเงียบ จนกระทั่งมีโอกาสร่วมงาน Alfred Hitchcock ตั้งแต่ The 39 Steps (1935), Secret Agent (1936), Sabotage (1936), Young and Innocent (1937), Jamaica Inn (1939), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ King Solomon’s Mines (1937), Gaslight (1940), กำกับภาพยนตร์ A Place of One’s Own (1945) ฯ

ตามสไตล์การทำงานของผกก. Hitchcock ทุกช็อตฉากล้วนมีการครุ่นคิดวางแผน ตระเตรียมการ วาดภาพ Storyboard สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับตากล้อง เพียงบันทึกภาพให้ตรงตามการออกแบบ ซึ่งสำหรับ Sabotage (1936) โดดเด่นกับการจัดแสง-เงามืดยามค่ำคืน และเก็บรายละเอียดนำมาร้อยเรียง เพื่อสร้างความตื่นเต้น ระทึกขวัญ

ทีแรกผมพยายามค้นหา Bijou Theater, Penfork Road ตั้งอยู่สถานที่แห่งหนไหน? ก่อนค้นพบว่าทั้งฉากภายนอก-ใน ล้วนสร้างฉากขนาดใหญ่ขึ้นที่สตูดิโอ Gainsborough Studio, Shepherd’s Bush ในกรุง London … มีเพียงแค่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ London Zoo, Regent’s Park (ปิดกิจการเมื่อปี ค.ศ. 2019) และช็อตภายนอก ป้ายสถานี ที่ถ่ายทำยังสถานที่จริง


การเริ่มต้นด้วยพจนานุกรม (Dictionary) คำแปลชื่อหนัง Sabotage ถือเป็นสัมผัสของ Hitchcock อันเฉียบคมคาย อาจเพราะผู้คนสมัยนั้นยังไม่ค่อยรับรู้จัก แต่ปัจจุบันคงไม่มีมีใครไม่รู้จักคำศัพท์นี้ เกิดขึ้นบ่อย พบเจอได้ทั่วทุกมุมโลก แทบไม่เว้นวี่วันด้วยซ้ำไป

ลีลาการนำเสนอเหตุการณ์ก่อการร้าย ไฟดับทั่วทั้งเมือง สำแดงให้เห็นถึงสไตล์ Hitchcockian ที่มีความเฉียบคมคาย เริ่มต้นด้วยภาพซ้อนกรุง London กับหลอดไฟ (แสดงให้ถึงความสัมพันธ์ของกันและกัน) จากนั้นหลอดไฟกระพริบติดๆดับๆ ตัดมาภาพมิเตอร์แรงดันไฟฟ้าลดระดับ ก่อนร้อยเรียงภาพทิวทัศน์กรุง London ปกคลุมด้วยความมืดมิด (น่าจะถ่ายตอนกลางวันด้วยฟิลเลอร์ Day-for-Night) … ใครอ่านภาษาภาพยนตร์เหล่านี้ออก ย่อมสามารถเข้าถึงศิลปะขั้นสูง!

อีกหนึ่งความเฉียบคมของผกก. Hitchcock คือปฏิกิริยาของตำรวจหลังพบเจอทรายในเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า แทนที่จะอธิบายเป็นประโยคยาวๆ กลับให้พวกเขาพูดคำสั้นๆ แต่มีใจความสำคัญๆ “Sand!” “Sabotage!” “Wreckers!” “Deliberate!” ใครเก่งภาษาอังกฤษย่อมสามารถเข้าใจความหมายเหล่านี้ได้โดยทันที

และเมื่อมีนักสืบคนหนึ่งพูดประโยค “Who did it?” วินาทีนั้นหนังตัดไปภาพ Mr. Verloc กำลังเดินเข้าหากล้อง นี่คือการบอกใบ้ตรงๆเลยว่าฝีมือหมอนี่ ไม่มีทางเป็นใครอื่น!

ผมค่อนข้างเชื่อว่าผกก. Hitchcock ปรากฎตัว (Cameo) ในภาพยนตร์ของตนเองทุกเรื่อง! แต่บางครั้งหลบซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางฝูงชนจนมองแทบสังเกตไม่เห็น อย่างภาพช็อตนี้ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าใช่หรือไม่? เมื่อตอนไฟติดหน้าโรงภาพยนตร์ ชายร่างอวบอ้วน (ข้างจักรยาน) แหงนหน้ามองหลอดไฟ แล้วเดินผ่านไป

มีคนช่างสังเกตเห็นแมวดำในภาพช็อตนี้ ซึ่งเป็นการบอกใบ้โชคชะตาของตัวละคร Mr. Verloc ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

สถานที่นัดพบเจอระหว่าง Mr. Varloc กับคนส่งสาสน์ (Messenger) คือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ London Zoo, Regent’s Park เปิดกิจการระหว่างปี ค.ศ. 1924 – 2019 (ปัจจุบันปิดให้บริการไปแล้ว) ซึ่งระหว่างพวกเขายืนจับจ้องมองสัตว์น้ำ ดำผุดดำว่ายอยู่ในอ่าง/ใต้ท้องทะเล ก็เหมือนองค์กรก่อการร้าย/ใต้ดิน ต้องคอยหลบๆซ่อนๆ ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนเอง

เกร็ด: การสนทนาของผู้ก่อการร้าย แทนที่จะพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา กลับมีความสำบัดสำนวน (เพื่อไม่ให้ถูกจับได้) ใช้ลูกเล่นทางภาษาอย่าง ‘firework’ ดอกไม้ไฟ ฟังดูไร้พิษภัย แต่แฝงนัยยะถึงระเบิดทำลายล้าง

มีขณะหนึ่งที่ Mr. Varloc จับจ้องมองอ่างเลี้ยงปลา แล้วจินตนาการภาพกรุง London มีความบิดๆเบี้ยวๆ เพื่อสื่อถึงการพังทลาย ทำลายล้าง ผลกระทบจากแผนการก่อวินาศกรรม … ก็ไม่รู้ชายคนนี้มีความเก็บกด เคียดแค้น แรงจูงใจอะไร นั่นคือลักษณะการเหมารวม ไม่จำเพาะเจาะจงสาเหตุผล และผกก. Hitchcock ยังพยายามทำให้ตัวละครเกิดความโล้เล้ลัง ขัดแย้งขึ้นภายใน ต้องการก่อการร้าย พังทลายตึกรามบ้านช่อง แต่ไม่อยากให้ใครได้รับบาดเจ็บล้มตาย เพื่อให้ผู้ชมมองโลกสองด้าน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง

อีกสถานที่ที่ Mr. Verloc แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนคือร้านขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งเต็มไปด้วยกรงนก ส่งเสียงร้องจิบๆ สร้างภาพภายนอกว่าเป็นคนรักสัตว์ ไร้พิษภัย แต่เบื้องหลังชายคนนี้ที่ปกปิด ซุกซ่อนเร้น กักขังตนเองเอาไว้ แท้จริงแล้วคือคนทำระเบิด เมื่อเปิดตู้เก็บจาน เอาสารเคมีผสมเข้าด้วยกัน จักก่อให้เกิดหายนะ ทำลายล้างราบเรียบหน้ากลอง

เกร็ด: อีกเช่นกัน หนังไม่ได้ใช้ศัพท์แสงทางการ เพียงถ้อยคำฟังดูธรรมดาๆแต่แฝงนัยยะอันลุ่มลึกล้ำ เอาซอสมะเขือเทศผสมกับแยมสตอร์เบอรี่ กลายมาเป็นระเบิดเวลา!

แม้โปสเตอร์หน้าโรง Two Gun Love นำแสดงโดย Tom McGurth จะไม่มีอยู่จริง! แต่เรื่องกำลังฉายขณะนี้ ผมพบเจอว่าคือ Fighting Stock (1935) หนังตลกสัญชาติอังกฤษ กำกับ/นำแสดงโดย Tom Walls ประกบ Ralph Lynn, ซึ่งตอนที่(นักสืบ) Ted Spencer กำลังแอบสอดแนม Mr. Verloc อยู่ด้านหลังจอฉายภาพยนตร์ พอดิบพอดีกับบทสนทนา “Where’s the sound? Come out of that.” แอบบอกใบ้สิ่งกำลังจะเกิดขึ้นกับเขาต่อไป

เพราะถูกห้อมล้อมรอบด้วยตำรวจ Mr. Varloc จึงไม่สามารถเดินทางไปวางระเบิดด้วยตนเอง ตัดสินใจมอบหมายเด็กชาย Stevie พยายามเน้นย้ำว่าต้องไปให้ถึงก่อนกำหนดเวลาบ่ายโมงครึ่ง แต่วันนั้นดันตรงกับ Lord Mayor’s Show เทศกาลประจำปีของกรุง London เมื่อแต่งตั้งผู้ว่าการคนใหม่ (Lord Mayor of the City of London) จะมีขบวนพาเรดแห่ต้อนรับรอบเมือง … ถือเป็นกิจกรรมเก่าแก่ จัดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13th

เกร็ด: ด้วยความที่ฟีล์มหนังสมัยก่อนทำจากสารไนเตรตซึ่งติดไฟง่าย และเหมือนจะเคยเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเคลื่อนย้าย ทางการอังกฤษจึงออกกฎหมายห้ามไม่ให้นำฟีล์มขึ้นรถโดยสาร/ขนส่งมวลชน … นี่คือเรื่องจริงนะครับ!

เด็กชายไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แม้สายเกินกำหนดการ กลับไม่มีความเร่งรีบร้อนประการใด! แต่เนื่องจากผู้ชมรับรู้ว่าพัสดุดังกล่าวคืออะไร หนังจึงทำการร้อยเรียงภาพสถานที่รอบข้าง (ระหว่างทาง) ตัดสลับพัสดุ เด็กชาย นาฬิกานับถอยหลัง กอปรท่วงทำนองเพลงเร่งเร้า ระทึกขวัญ พอถึงวินาทีสุดท้ายเหลือเพียงภาพพัสดุจากมุมมองต่างๆ จากนั้นระเบิดตูมตาม ใครๆคงใจหายวาบ ตกหล่นลงตาตุ่ม

เกร็ด: ฟีล์มหนัง Bartholomew the Strangler ก็เป็นอีกเรื่องสมมติเช่นเดียวกัน

เมื่อตอนที่ Mr. Verloc รับรู้ข่าวคราวการเสียชีวิตของน้องชาย Stevie จากการอ่านหนังสือพิมพ์ เธอเป็นลมล้มพับ จากนั้นมองไปทางไหนก็พบเห็น(ภาพหลอน)เด็กชายปรากฎตัวขึ้น นั่นแสดงถึงความรัก ความเอ็นดู ห่วงใย โหยหาอาลัย ยังคงครุ่นคิดถึง ไม่ต้องการให้อีกฝ่ายจากไป

ช่วงระหว่างที่ Mr. Varloc พยายามสรรหาถ้อยคำมาแก้ต่าง อ้างว่าไม่ใช่ความผิดตนเองที่เด็กชาย Stevie ต้องเสียชีวิต สังเกตว่าด้านหลังของเขามักถ่ายติดโมเดลเรือ (ที่ Mrs. Varloc และ Stevie ช่วยกันประกอบขึ้นกลางเรื่อง) สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการหลบหนี เอาตัวรอด สะท้อนความไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจสักเท่าไหร่กับโศกนาฎกรรมสักเท่าไหร่

Mrs. Verloc ในสภาพเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เศร้าโศกเสียใจ ยังไม่รู้จะทำอะไรยังไง พอออกมาจากห้องพัก ขณะนั้นกำลังฉายหนังสั้น Who Killed Cock Robin? (1935) เดินเข้าไปนั่งรับชม ช่วงแรกๆก็ส่งเสียงหัวเราะสนุกสนาน พอถึงฉากการเสียชีวิตของเจ้านก Cock Robin ทำให้ฉุกครุ่นคิด ตระหนักถึงความตายของน้องชาย Stevie ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุอย่างแน่แท้! ใครกันที่ฆาตกรรม Who Killed Stevie?

เกร็ด: Who Killed Cock Robin? (1935) หนึ่งใน Silly Symphonies หมายเลข #58 ดัดแปลงจากบทเพลงกล่อมเด็ก (nursery rhyme) ชื่อเดียวกัน! สามารถเข้าชิง Oscar: Best Short Subject (Cartoons) แต่พ่ายให้กับ Three Orphan Kittens (1935)

Who killed Cock Robin?
I, said the Sparrow,
with my bow and arrow,
I killed Cock Robin.
Who saw him die?
I, said the Fly,
with my little teeny eye,
I saw him die.
Who caught his blood?
I, said the Fish,
With my little dish
I caught his blood.
Who’ll make the shroud?
I, said the Beetle,
with my thread and needle,
I’ll make the shroud.
Who’ll dig his grave?
I, said the Owl,
with my pick and trowel,
I’ll dig his grave.
Who’ll be the parson?
I, said the Rook,
with my little book,
I’ll be the parson.
Who’ll be the clerk?
I, said the Lark,
if it’s not in the dark,
I’ll be the clerk.
Who’ll carry the link?
I, said the Linnet,
I’ll fetch it in a minute,
I’ll carry the link.
Who’ll be chief mourner?
I, said the Dove,
I mourn for my love,
I’ll be chief mourner.
Who’ll carry the coffin?
I, said the Kite,
if it’s not through the night,
I’ll carry the coffin.
Who’ll bear the pall?
We, said the Wren,
both the cock and the hen,
We’ll bear the pall.
Who’ll sing a psalm?
I, said the Thrush,
as she sat on a bush,
I’ll sing a psalm.
Who’ll toll the bell?
I, said the Bull,
because I can pull,
I’ll toll the bell.
All the birds of the air
fell a-sighing and a-sobbing,
when they heard the bell toll
for poor Cock Robin.

ซีเควนซ์นี้ต้องชมเลยว่าทำออกมาได้อย่างลึกล้ำ! ทั้งการแสดงออกทางสีหน้า Oskar Homolka และภาษากายของ Sylvia Sidney เก็บรายละเอียด ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นจาก Mr. Verlav ทำหน้านิ่วขมวดคิ้ว จับจ้องจ้องมองการกระทำของ Mrs. Verloc ระหว่างตักอาหารใส่จาน จู่ๆเกิดความโล้เล้ลังเล เดี๋ยวจับเดี๋ยวปล่อยมีด ทำให้เขาเกิดความตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง ดวงตาพองโต ค่อยๆลุกขึ้นเดินเข้าหา ประชิดตัว พยายามจะแก่งแย่ง ก่อนถูกทิ่มแทง

ผมไม่ค่อยแน่ใจว่านี่ถือเป็นมุมกล้องสไตล์ Hitchcockian ได้เลยหรือเปล่า? (พบเห็นค่อนข้างบ่อยในหนังของผกก. Hitchcock) วางกล้องบนพื้น พบเห็นเพียงเท้าผู้ตาย ขณะที่ฆาตกร/หญิงสาว เดินออกจากห้องด้วยความห่อละเหี่ยว หมดสิ้นเรี่ยวแรง สภาพจิตใจตกต่ำ (ระดับเดียวกับมุมกล้อง)

ก่อนหน้านี้จะมีแทรกภาพกรงนก (จริงๆช็อตนี้ก็ถ่ายติดกรงนกเหมือนกัน) เดิมเป็นของขวัญมอบให้ Stevie (= นกในกรง ถูกกักขัง ควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่นโดย Mr. Verloc) แต่ขณะนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนสภาพจิตใจ Mrs. Verloc ตั้งแต่สูญเสียน้องชาย และเมื่อเข่นฆาตกรรมสามี ทำให้สูญเสียตัวตนเอง จมปลักอยู่กับความรู้สึกผิด กลายเป็นคนปิดกั้น กักขังตนเอง(ในกรงขัง) คำสารภาพรักของ Ted Spencer ก็ไม่ทำให้เธอได้รับอิสรภาพประการใด

ผมมองการเห็นภาพหลอนน้องชายครั้งนี้ของ Mrs. Verloc ไม่ใช่แค่ครุ่นคิดถึง ห่วงโหยหา ยังแฝงความรู้สึกผิดที่เข่นฆาตกรรมสามี (บางคนอาจตีความจากรอยยิ้มเด็กชาย กำลังวิ่งกลับบ้าน คือภาพแห่งชัยชนะ/แก้ล้างแค้นได้สำเร็จ) แม้อีกฝ่ายอาจคือต้นสาเหตุการเสียชีวิตของ Stevie แต่การกระทำของเธอก็หาใช่สิ่งถูกต้อง ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน หลังจากนี้ต้องการจะรับสารภาพผิด ก่อนโชคชะตานำพาให้รอดพ้นความผิด!

ตัดต่อโดย Charles Herbert Frend (1909-77) ผู้กำกับ/นักตัดต่อ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Pulborough, Sussex เข้าสู่วงการภาพยนตร์ในยุคหนังพูด เริ่มจากเป็นนักตัดต่อ Arms and the Man (1932), Waltzes from Vienna (1934), Secret Agent (1936), Sabotage (1936), The Citadel (1938), Goodbye Mr. Chips (1939) กำกับภาพยนตร์ อาทิ Scott of the Antarctic (1948), The Cruel Sea (1953) ฯ

หนังดำเนินเรื่องจะมีลักษณะเหมือนการ ‘ส่งต่อไม้ผลัด’ จากตัวละครหนึ่งสู่ตัวละครหนึ่ง ผ่านมุมมองสามตัวละครหลัก Mr. Verloc, Mrs. Verloc และนักสืบ Ted Spencer โดยมีจุดศูนย์กลางคือโรงภาพยนตร์ Bijou Theater, Penfork Road ซึ่งเมื่อไหร่มีใครออกไปข้างนอก มักถูกสอดแนม เกาะติดตาม แทบจะไม่คลาดสายตา

  • อารัมบท, เรื่องวุ่นๆในค่ำคืนไฟดับ
    • Opening Credit พจนานุกรมความหมายของ Sabotage
    • เกิดเหตุวินาศกรรม ทำให้ไฟดับทั่วกรุง London
    • ณ โรงภาพยนตร์ Bijou ผู้คนต่างเรียกร้องขอคืนเงิน
    • พอไฟกลับมาก็เข้าสู่สภาวะปกติ
    • Ted Spencer เดินทางไปรายงานสถานการณ์ยัง Scotland Yard
  • ภารกิจใหม่ของ Mr. Verloc
    • เช้าวันถัดมา Mr. Verloc ออกเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อพบเจอสายลับ รับคำสั่งจากเบื้องบน
    • Mrs. Verloc และ Stevie รับประทานอาหารยังภัตตาคารหรูกับ Ted Spencer พยายามล้วงข้อมูลจากสามี
    • Mr. Verloc เดินทางไปยังร้านขายสัตว์เลี้ยง แต่เบื้องหลังคือคนทำระเบิด
    • ค่ำคืนวันศุกร์ มีชายแปลกหน้าหลายคนเข้ามาเยี่ยมเยียน Mr. Verloc สร้างความฉงนสงสัยให้กับ Ted Spencer แอบเข้าไปรับฟัง ล่วงรู้ความลับบางอย่าง แต่ก็พลั้งพลาดเปิดเผยตัวตนเอง
    • Mr. Verloc พยายามล้มเลิกภารกิจ แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธจากเบื้องบน
  • วินาศกรรมวัน Lord Mayor’s Show
    • Mr. Verloc ได้รับพัสดุภารกิจ แต่พบว่าตนเองถูกห้อมล้อมด้วยสายตรวจ จึงมอบหมายภารกิจดังกล่าวให้กับ Stevie
    • ดำเนินรอยตาม Stevie กับการเดินทางสู่สถานีรถไฟใต้ดิน Piccadilly Circus ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหา
    • หลังรับรู้โศกนาฎกรรมเกิดขึ้นกับ Stevie สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับ Mrs. Verloc
    • ก่อนเธอบังเกิดอารมณ์ชั่ววูบ เข่นฆาตกรรมสามี
    • เจ้าของร้านขายสัตว์เลี้ยงถูกภรรยาบีบบังคับให้ไปเอาหลักฐานคืนจาก Mr. Verloc
    • แต่ทว่าพอมาถึง กลับถูกตำรวจห้อมล้อมรอบโรงภาพยนตร์ จึงตัดสินใจจุดระเบิด ทำลายหลักฐานทั้งหมด

ไฮไลท์การตัดต่อต้องยกให้ลีลาสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก โดยเฉพาะการเดินทางของเด็กชาย Stevie ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ตัดสลับกับนาฬิกานับถอยหลัง บทเพลงอันรุกเร้ายิ่งสร้างความสั่นสะท้านทรวงใน ก่อนจบลงด้วยแรงระเบิด ตูมตาม อาจไม่เว่อวังอลังการเท่าหนังสมัยใหม่ แต่ก็สร้างความชิบหายวายป่วนให้กับผู้ชม หัวใจแทบแตกสลาย


ภาพยนตร์ในยุคแรกๆ(ที่สรรค์สร้างในประเทศอังกฤษ)ของผกก. Hitchcock มักค่อยไม่ขึ้นเครดิตเพลงประกอบ ส่วนใหญ่เลือกใช้ ‘Diegetic Music’ ดังขึ้นจากแหล่งกำเนิดเสียง ขบวนพาเรด หนังฉายในโรงภาพยนตร์ ฯ

แต่ยกเว้น Opening Credit และนับถอยหลังระเบิดทำงาน (ทั้งฉากการเดินทางของเด็กชาย รวมถึงฉากไคลน์แม็กซ์) เรียบเรียงโดย Jack Beaver (1900-63) นักเปียโน/แต่งเพลง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Clapham, London เข้าศึกษายัง Metropolitan Academy of Music, Forest Gate ต่อด้วย Royal Academy of Music เป็นลูกศิษย์ของ Frederick Corder, จากนั้นเข้าทำงานสถานีวิทยุ BBC ต่อด้วยสตูดิโอภาพยนตร์ Gaumont–British Pictures เคยร่วมงานผกก. Hitchcock อาทิ The 39 Steps (1935), Sabotage (1936), Young and Innocent (1937) [ไม่ได้เครดิตสักเรื่อง]

ผมครุ่นคิดว่าเหตุผลที่ผลงานยุคแรกๆของ Hitchcock มักไม่ค่อยใช้เพลงประกอบ เพราะข้อจำกัดด้านการบันทึกเสียง (คงจะเข็ดหลากจำตอนสรรค์สร้าง Blackmail (1929)) เลยเลือกใช้ความเงียบงัน และบางครั้งเสียงประกอบ (Sound Effect) สร้างบรรยากาศลุ้นระทึก ตึงเครียดได้ตราตรึงกว่า เอาไว้เฉพาะฉากสำคัญๆ ไคลน์แม็กซ์เท่านั้นถึงแทรกใส่เพลงประกอบ … แต่หลังจากผกก. Hitchcock โกอินเตอร์สู่ Hollywood ข้อจำกัดดังกล่าวได้หมดสิ้นไป

เริ่มต้นด้วยการเปิดพจนานุกรม ค้นหาความหมาย Sabotage อาจเป็นคำศัพท์ที่คนสมัยนั้นยังไม่ค่อยรับรู้จัก มักคุ้นเคยชิน แต่สถานการณ์โลก(ขณะนั้น) เต็มไปด้วยเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ ก่อการร้าย/วินาศกรรม เราจึงควรจดจำคำนี้เอาไว้!

ต้นฉบับนวนิยาย The Secret Agent: A Simple Tale (1907) มีพื้นหลัง ค.ศ. 1886 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่การก่อการร้าย/วินาศกรรมยังคือสิ่งแปลกใหม่จริงๆ แต่เมื่อดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ค.ศ. 1935-36 ต้องถือว่ากลายเป็นเหตุการณ์สามารถพบเจอได้ทั่วไป แถมทวีความรุนแรงยิ่งๆขึ้นกว่ากาลก่อน นั่นเพราะสถานการณ์การเมืองโลกทศวรรษดังกล่าวมีความตึงเครียดอย่างมากๆ ผู้นำหลายๆประเทศสำแดงความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่อำนาจ สงคราม(โลกครั้งที่สอง)ใกล้ปะทุขึ้นทุกขณะ

ความหลงใหลของผกก. Hitchcock ในเรื่องสายลับ ฆาตกรรม ก่ออาชญากรรม สะท้อนถึงยุคสมัยวัยเด็กเติบโตขึ้นพานผ่านสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ช่วงเวลาแห่งความหวาดระแวง ขัดแย้ง เข้าใจผิดๆ สิ่งต่างๆพลิกกลับตารปัตรจากหน้าเป็นหลัง ด้วยเหตุนี้เวลาสรรค์สร้างภาพยนตร์จึงมักให้ตัวละครผู้บริสุทธิ์อยู่ผิดที่ผิดทาง (ในบริบทของหนังเรื่องนี้ก็คือ Mrs. Verloc และน้องชาย Stevie) อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งให้กับตัวร้าย (Mr. Verloc กล่าวอ้างไม่ได้อยากทำร้ายใคร แต่ฉันเป็นเพียงสายลับระดับล่าง จึงจำต้องก้มหัวทำตามคำสั่งเบื้องบน) เพื่อผู้ชมจักได้เรียนรู้ผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง

เนื้อหาสาระของภาพยนตร์ คงแบบเดียวกัน The 39 Steps (1935) เพื่อเรียกร้องสันติสุข ยุติความขัดแย้ง และบังเกิดความเสมอภาคเท่าเทียม … คำกล่าวสุนทรพจน์ของ Richard Hannay (รับบทโดย Robert Donat) สะท้อนอุดมการณ์ผกก. Hitchcock ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว!

Indeed I have and I’ve known what it is to feel lonely and helpless and have the whole world against me and those are things that no man or woman ought to feel. And I ask your candidate… and all those who love their fellowmen to set themselves resolutely to make this world a happier place to live in. A world where no nation plots against nation, where no neighbor plots against neighbor, where there is no persecution or hunting down, where everybody gets a square deal and a sporting chance, and where people try to help and not to hinder. A world from which suspicion and cruelty and fear have been forever banished. That is the sort of world I want! Is that the sort of world you want?

Richard Hannay

คล้ายแบบ The 39 Steps (1935) ที่เริ่มต้น-สิ้นสุดยังโรงละคอน สถานที่เลือนลางระหว่างการแสดง (Theater) vs. เหตุการณ์จริง (Reality), สำหรับ Sabotage (1936) ตลอดทั้งเรื่องเวียนวนอยู่กับโรงภาพยนตร์ เจ้าของธุรกิจ Mr. Verloc พยายามสร้างภาพ เล่นละคอนตบตา และโศกนาฎกรรมจากความเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าไฟลุกไหม้จากฟีล์มไนเตรต (เลือนลางระหว่างชีวิตจริง vs. ภาพยนตร์) … นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “Hitchcock’s cinema”


เมื่อตอนออกฉาย เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยม “a masterly exercise in suspense.” ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม ยกเว้นเพียงการแสดงของ John Loder ที่นักวิจารณ์เห็นตรงกันว่าไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไหร่ “unconvincing” “invincibly distasteful” 

สำหรับชื่อหนัง Sabotage เอาจริงๆผมก็ไม่รู้ว่ายุคสมัยนั้นมีความหมิ่นเหม่อะไรยังไง? กลัวการก่อการร้าย? เฉพาะในสหรัฐอเมริกาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น The Woman Alone บางแห่งใช้ I Married a Murderer

ปัจจุบันแม้หนังยังไม่ได้รับการบูรณะ แต่สแกนฟีล์มคุณภาพ HD Transfer ทำออกมาพอใช้ได้ สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Network (UK), Warner Home Video (รวมอยู่ใน Alfred Hitchcock Classics Collection Blu-Ray 3) หรือหารับชมออนไลน์ทาง iTunes, Amazon Prime ฯ

อาจเพราะผมค่อนข้างผิดหวังกับ Blackmail (1929) พอได้รับชม Sabotage (1936) ที่มีหลายสิ่งอย่างละม้ายคล้ายกัน แต่มีความลงตัว กลมกล่อม สมเหตุสมผลมากกว่า จึงเกิดความชื่นชอบประทับใจ และโดยเฉพาะฉากการระเบิดของฟีล์ม Nitrate สร้างความอกสั่นขวัญหาย กลายเป็นอุทาหรณ์ให้คนสมัยนั้น

จัดเรต pg กับการก่อการร้าย ความตาย

คำโปรย | Sabotage การก่อการร้ายของ Alfred Hitchcock ที่สร้างความตื่นเต้น ระทึกขวัญ สั่นสะท้านทรวงใน
คุณภาพ | ทึวั
ส่วนตัว | สั่นสะท้าน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: