Sabrina

Sabrina (1954) hollywood : Billy Wilder ♥♥♥♡

Audrey Hepburn รับบท Sabrina แม้เป็นเพียงลูกสาวคนขับรถ แต่ก็ได้เลี้ยงสุนัข/เจ้านายสองตน Humphrey Bogart กับ William Holden เพียงเพราะความน่ารักสดใส สวยบริสุทธิ์จากใจ นั่นเป็นสิ่งมิอาจประเมินมูลค่าราคาได้

ใครรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วอาจระลึกขึ้นได้ว่า Sabrina เลี้ยงสุนัขแค่ตัวเดียวไม่ใช่หรือ? ประเด็นคือผมชอบโปสเตอร์ฉบับฝรั่งเศสที่นำมานี้มากๆ สอดแทรกนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ตัวสีดำ=Bogart, สีขาว=Holden (สังเกตจากสีสูท) ซึ่งพุดเดิ้ลชื่อ David ในหนังขนสีน้ำตาล (หนังขาว-ดำ ผลลัพท์ออกมาเลยสีเทาๆ) … พอจะเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามอธิบายไหมเอ่ย?

สำนวนไทยคุ้นหู ‘ดอกฟ้ากับหมาวัด’ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้อารมณ์ประมาณ ‘ดอกดินกับหมาบิน’ ขณะที่นักวิจารณ์ต่างประเทศมักเปรียบเทียบกับ Cinderella สาวใช้จนๆเมื่อได้รับพรวิเศษ ‘ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง’ สวมรองเท้าแก้วกลายเป็นเจ้าหญิง ตกหลุมครองรักกับเจ้าชายมหาเศรษฐี

เน่าชิบหาย! แต่ให้ตายเถอะโคตรคลาสสิก ราวกับเทพนิยายในวรรณกรรมแฟนตาซีเพ้อฝัน นิทานกล่อมเด็กที่ผู้ใหญ่ชอบเล่าให้ฟัง หวานแหววโรแมนติก กุ๊กกิ๊กคอมเมอดี้ ดัดจริตดราม่า สุดท้ายหมาตนไหนจะได้ครอบครองเพชรในตม


Samuel ‘Billy’ Wilder (1906 – 2002) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austria-Hungary เกิดในครอบครัวชาว Jews ที่ Sucha Beskidzka (ในอดีตคือ Germany ปัจจุบันคือประเทศ Poland) มีความชื่นชอบสนใจในวัฒนธรรมอเมริกัน โตขึ้นหลังการเรืองอำนาจของ Nazi อพยพย้ายมาอยู่อเมริกาในปี 1933 เปลี่ยนชื่อเป็น Billy เริ่มต้นทำงานใน Hollywood ด้วยการเป็นนักเขียน มีผลงานเด่นคือ Ninotchka (1939), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Major and the Minor (1942), ผลงานเด่นๆ อาทิ Double Indemnity (1944), The Lost Weekend (1945), Sunset Boulevard (1950), Some Like It Hot (1959), The Apartment (1960) ฯ

หลังเสร็จจาก Stalag 17 (1953) ความบาดหมางระหว่าง Paramount กับผู้กำกับ Wilder เริ่มกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะสตูดิโอได้ทำการตัดทิ้งบางฉากออกฉายต่างประเทศโดยไม่พูดคุยตกลงกันเสียก่อน แต่เพราะยังเหลือสัญญาอีกปีหนึ่งเลยจำยอมต้องอดทนโปรเจคสุดท้าย

เลือกดัดแปลงบทละครเวที Sabrina Fair แต่งโดย Samuel A. Taylor นำแสดงโดย Margaret Sullavan, Joseph Cotten เปิดการแสดงที่ National Theatre, Broadway เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1953 ทั้งหมด 318 รอบ

Paramount จ่ายค่าลิขสิทธิ์ดัดแปลง $75,000 เหรียญ ว่ากันว่าตั้งแต่ก่อนฉบับละครเวทีจะเริ่มต้นขึ้นเสียอีก และมีสัญญาคือหนังต้องออกฉาย 1 ปีหลังจากนั้น (กล่าวคือ ต้องรอให้ละครเวทีหมดโปรแกรมการแสดงเสียก่อน)

ทีแรก Taylor ก็จะร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์ด้วย แต่ถอนตัวออกไปเพราะไม่พึงพอใจผู้กำกับ Wilder ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่นมากเกิน ภาระจึงตกเป็นของ Ernest Lehman (1915 – 2005) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ก่อนหน้านี้เพิ่งมีผลงานเพียง Executive Suite (1954) ของผู้กำกับ Robert Wise แต่หลังจากนี้กลายเป็นตำนานกับ The King and I (1956), Sweet Smell of Success (1957), North by Northwest (1959), West Side Story (1961), The Sound of Music (1965), Who’s Afraid of Virginia Woolf? (1966) ฯ

จริงๆหนังไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนอะไร แต่เหมือนว่า Wilder ทนไม่ไหวกับสตูดิโอ Paramount เลยเร่งเปิดกองถ่ายทำทั้งที่บทหนังยังเขียนไม่เสร็จ นี่สร้างความตึงเครียดให้กับ Lehman เพราะต้องตื่นเช้าขึ้นมาเขียนบท บ่ายส่งให้นักแสดง วันไหนคิดไม่ทันร้องขอให้ Hepburn อ้างว่าป่วยจะได้มีเวลาทำงาน

เรื่องราวของ Sabrina Fairchild (รับบทโดย Audrey Hepburn) ลูกสาวคนขับรถ ตระกูล Larrabee ตั้งแต่เด็กหลังโดนขโมยจุมพิตจาก David Larrabee (รับบทโดย William Holden) ก็ตกหลุมเพ้อรักใคร่ แต่เขากลับไม่เคยชายตาหันมามองสนใจ กระทั่งได้รับโอกาสไปร่ำเรียนทำอาหารยังประเทศฝรั่งเศส หวนกลับมาปรับเปลี่ยนแปลงแตกต่างราวกับคนละคน เตะหางตา David แม้ขณะนั้นถูกครอบครัวบีบบังคับให้หมั้นหมายครั้งที่สี่กับ Elizabeth Tyson (รับบทโดย Martha Hyer) เป็นเหตุให้พี่ชาย Linus Larrabee (รับบทโดย Humphrey Bogart) ต้องพยายามหว่านล้อมโปรยเสน่ห์ หาวิธีการให้เธอเลิกฝัน ตัดใจจากบุคคลที่ไม่มีวันเหมาะสมกับตนเอง


Audrey Hepburn ชื่อเกิด Audrey Kathleen Ruston (1929 – 1993) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Ixelles, Brussels ประเทศ Belgium แม่ของเธอ Baroness Ella van Heemstra สืบเชื้อสายขุนนาง Dutch, ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนบัลเล่ต์ ร้องคอรัส ระหว่างเป็นตัวประกอบเล็กๆภาพยนตร์ Monte Carlo Baby (1952) เข้าตานักเขียนชื่อดัง Colette เลือกเธอมาแสดงนำละครเวที Broadway เรื่อง Gigi เสียงตอบรับดีล้นหลาม ได้รับการชักชวนมาทดสอบหน้ากล้อง Roman Holiday (1953)**คว้ารางวัล Oscar: Best Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sabrina (1954), The Nun’s Story (1959), Breakfast at Tiffany’s (1961), Charade (1963), My Fair Lady (1964), Wait Until Dark (1967) ฯ

รับบท Sabrina Fairchild เด็กหญิงสาวผู้เต็มไปด้วยความเพ้อฝันหวาน ต้องการเป็นที่เตะตา David แต่ยังไม่ล่วงรู้วิธีการ เลยไปร่ำเรียนทำอาหารแล้วได้วิชาชีวิตติดตัวกลับมา แต่งตัวไฮโซเลิศหรูหรา หว่านโปรยเสน่ห์ ผีเสื้อโบยบิน จนถูกจับตาจากชายทุกผองคน กระนั้นโชคชะตากลับทำให้ถูกล่อลวงติดกับดักของ Linus โดยไม่รู้ตัวจิตใจค่อยๆผันแปรเปลี่ยนตกหลุมรัก เกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน นี่ฉันจะเลือกใครดี!

ความสำเร็จของ Roman Holiday (1953) ทำให้ Paramount จับ Hepburn เซ็นสัญญา 12 เดือน ผลงานถัดมาคือ Sabrina (1954) เริ่มต้นเป็นเด็กหญิงสาวสามัญชนคนธรรมดา แต่งตัวเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา กระทั่งว่าไปร่ำเรียนทำอาหารหวนกลับมา แปรสภาพสู่เจ้าหญิง(อีกครั้ง) มีความไฮโซ แต่งตัวโก้หรูหรา ที่เหลือก็ขายความน่ารักบริสุทธิ์สดใส ใครเห็นย่อมเป็นเหตุให้ตกหลุมรักใคร่

เพราะความยังด้อยประสบการของ Hepburn ทำให้ไม่เป็นที่พึงพอใจ Bogart สักเท่าไหร่ (เพราะเธอมักเล่นผิด จำบทพลาด ต้องถ่ายทำซ้ำหลายครั้ง ยังขาดความเป็นมืออาชีพ!) ด้วยเหตุนี้กระมังเลยได้ Holden เข้ามาปลอบประโลมให้กำลังใจ จนพวกเขาตกหลุมรักใคร่เป็นชู้รักนอกจอ (Holden ขณะนั้นแต่งงานมีภรรยาอยู่แล้ว ซึ่งเขาก็พร้อมหย่าเพื่อเมียสาว!) แต่เพราะพี่แกดันทำหมันไปแล้วไม่สามารถมีลูกได้อีก หลังเสร็จจากเรื่องนี้เลยแยกย้ายเลิกรา มิอาจครองคู่อยู่ร่วม

ชุดของ Hepburn มีความเลิศหรูอลังการมากๆ นี่เป็นครั้งแรกที่ร่วมงานกับแฟชั่นดีไซเนอร์ขาประจำ Hubert de Givenchy แต่เครดิตต้องยกให้ Edith Head เพราะเป็นผู้ตัดเย็บจากแบบ จนสามารถคว้า Oscar: Best Costume (ครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้)

Humphrey DeForest Bogart (1899 – 1957) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York City เป็นเด็กหัวขบถตั้งแต่เด็ก พี่แม่วางแผนอะไรไว้ให้ไม่เคยใคร่สน เหมือนจะจงใจสอบตกให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน สมัครเข้าเป็นทหารเรือ เดินทางไปฝรั่งเศสขณะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพื่อหลีสาว ปลดประจำการออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวทีอยู่หลายปี จนกระทั่ง Wall Street Crash เมื่อปี 1929 มุ่งหน้าสู่ Hollywood มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกหนังสั้น 2 reel เรื่อง The Dancing Town (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] ผลงานหนังพูดเรื่องแรก Up the River (1930), เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่สนิทสนม John Huston ขี้เมาหัวราน้ำพอๆกัน High Sierra (1941) [Huston ดัดแปลงบท], ตามมาด้วย The Maltese Falcon (1941) [Huston กำกับเรื่องแรก], ความสำเร็จของ Casablanca (1942) ทำให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า, และคว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The African Queen (1951)

รับบท Linus Larrabee ลูกชายคนโตของตระกูลมหาเศรษฐี ขณะนั้นสานต่อกิจการงานครอบครัว เป็นผู้บริหารอาณาจักร Larrabee ทำงานงกๆโดยไม่เคยสนเรื่องอะไรอื่น นอกจากตัวเลข ผลประโยชน์ธุรกิจ และอนาคตของ…อะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน, เพราะมีน้องชายพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ พี่ชายจึงต้องทุ่มเทเป็นสองเท่าเพื่อการเติบโตเอาตัวรอดของบริษัท นั่นทำให้เขาสูญเสียวัยหนุ่ม โอกาสแต่งงาน มีภรรยาและครอบครัวของตนเอง

ช่วงแรกๆคงไม่มีใครบอกได้ว่า Linus รู้สึกอย่างไรต่อ Sabrina เพราะการขัดขวางน้องชาย David ไม่ให้ตกหลุมรักเธอ ชัดเจนว่าเพื่อผลประโยชน์ของอาณาจักร Larrabee แต่หลังจากเรียนรู้จัก พาไปเที่ยวโน่นนี่นั่น ไม่เต็มใจนักแต่ … คงทำให้ชีวิตกระชุ่มกระชวย ภายในกลับกลายเป็นหนุ่มอีกครั้ง ถูกน้องชายจับได้จึงพยายามผลักดันไสส่ง จะมัวปิดกั้นความรู้สึกอยู่ทำไม เรื่องแบบนั้นต้องเปิดเผยแสดงออกบอกไป จักได้ไม่รู้สึกสูญเสียตรอมใจตายภายหลัง

Bogart คือตัวเลือกนาทีสุดท้าย สวมรอยแทน Cary Grant ที่บอกปัดปฏิเสธเพราะแค่ไม่อยากถือร่มเข้าฉาก ซึ่งเจ้าตัวก็รู้สึกได้ตั้งแต่แรกๆเลยว่า บทบาทนี้ไม่เหมาะสมกับตนเอง ก่อนหน้านี้มักแสดงเป็นนักสืบ ตัวละครที่มีด้านมืด ขี้เมามาย พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ Linus Larrabee แทบจะตรงข้ามภาพลักษณ์ทุกสิ่งอย่าง!

นั่นทำให้ในกองถ่าย อารมณ์ของ Bogart ค่อนข้างแกว่งๆ บางวันวีนแตกเพราะความไม่พร้อมในบท อยากให้ศรีภรรยา Lauren Bacall มารับบทแทน Audrey Hepburn ที่ไม่มืออาชีพเสียเลย และเกลียดขี้หน้า William Holden ไม่ถูกชะตา/ขั้วตรงข้ามตั้งแต่แรกเจอ

แต่ผลลัพท์สุดท้ายที่ออกมาค่อนข้างดี ประสบความสำเร็จ (และค่าตัวที่ Bogart ได้รับ $300,000 เหรียญ, Holden $150,000 และ Hepburn $15,000) ทำให้ภายหลัง Bogart เอ่ยปากขอโทษกับ Wilder แต่ก็ไม่คิดร่วมงานกับพวกเขาเหล่านี้อีก –”

ช็อตนี้นี่เป็นการล้อเลียนตัวเองของ Bogie ฉันแก่หงักขนาดนี้ยังให้มาทำตัวเป็นวัยรุ่นหนุ่ม ตกหลุมรักกุ๊กกิ๊กหญิงสาวน้อย มันใช่เรื่องตรงไหน!

William Holden ชื่อเดิม William Franklin Beedle, Jr. (1918 – 1981) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ O’Fallon, Illinois ในครอบครัวฐานะร่ำรวย ขณะเข้าเรียน Pasadena Junior College ให้เสียงพากย์ละครวิทยุ คงไปเข้าตาแมวมองจับเซ็นสัญญากับ Paramount บทนำเรื่องแรก Golden Boy (1939) ประกบ Barbara Stanwyck ซึ่งเธอมีความชื่นชอบ Holden เป็นอย่างมาก (คงในฐานะพี่น้อง) จึงช่วยเหลือผลักดันจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง, หลังกลับจากสงครามโลกครั้งที่สอง กลายเป็นตำนานกับ Sunset Boulevard (1950), Stalag 17 (1953) ** คว้า Oscar: Best Actor, Sabrina (1954), The Bridge on the River Kwai (1957) แต่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ กำลังที่จะจืดจางหายไปจนกระทั่ง Comeback กับ The Wild Bunch (1969), The Towering Inferno (1974), Network (1976) ฯ

รับบท David Larrabee ลูกชายคนเล็กของตระกูล เพราะบ้านรวยและพี่สามารถพึ่งพิงได้ทุกสิ่งอย่าง เลยทำตัวเพลย์บอย หว่านโปรยเสน่ห์ต่อหญิงสาวที่ตนตกหลุมหลงใหลคลั่งไคล้ แต่งงานล้มเหลวมาแล้ว 3 ครั้ง กำลังจะมีครั้งที่สี่แต่ดันไปพบเจอตกหลุมรัก Sabrina ถูกกลั่นแกล้งตูดบวมไปไหนมาไหนไม่ได้ ไม่กี่วันผ่านไปสูญเสียเธอกับให้พี่ชาย เอาว่ะไม่เป็นไร ของแบบนี้หาใหม่ได้

ท่าทางผู้กำกับ Wilder จะชื่นชอบประทับใจ Holden มากเป็นพิเศษ ช่วงต้นทศวรรษ 50s กลายเป็นขาประจำร่วมงานกันหลายครั้ง ด้วยภาพลักษณ์เทพบุตรสุดหล่อ เหมือนเพลย์บอย นิสัยกะล่อนปลิ้นปล้อน เจ้าเล่ห์เหมือนจิ้งจอกขาว แม้จะเป็นที่ตกหลุมรักใคร่นางเอก แต่ผู้ชมคงลุ้นเชียร์ให้หมอนี่โดนดีอะไรเข้าบ้าง เศษแก้วบาดก้น ‘Ass Hole’ เพราะมัวแต่หมกมุ่นตัณหาราคะ จนไม่เคยครุ่นคิดถึงอะไรใครอื่น

และเพราะความที่ Holden คิวถ่ายกระชั้นชิด ไม่สามารถอยู่ได้ถึงวันสุดท้าย ทั้งๆ Wilder และ Lehman ยังไม่ได้ข้อสรุปตอนจบให้นางเอกลงเอยกับใคร เลยจำใจถ่ายฉาก David บีบบังคับให้ Linus ยินยอมรับว่าตนเองตกหลุมรัก Sabrina (ก็ด้วยเหตุนี้ ช่วงท้ายๆของหนังเลยดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ ทำไมอยู่ดีๆ David จึงยินยอมถอยให้พี่ชายไปกับหญิงสาวที่ตนตกหลุมรักใคร่)

ใครจะไปคาดคิดว่าตอนจบดังกล่าว สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Holden กับ Hepburn

“Before I even met her, I had a crush on her, and after I met her, just a day later, I felt as if we were old friends, and I was rather fiercely protective of her, though not in a possessive way.

I really was in love with Audrey, but she wouldn’t marry me.”

– William Holden

ส่วนใหญ่ของหนัง ฉากภายในสร้างฉากถ่ายทำยัง Paramount Studios, Hollywood ขณะที่ Larrabee Estate เลือกใช้บริการ George Lewis Mansion, Los Angeles (ปัจจุบันถูกทุบทิ้งไปแล้ว)

ถ่ายภาพโดย Charles Lang, Jr. (1902 – 1998) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน เจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Cinematography ทั้งหมด 18 ครั้ง (เทียบเท่า Leo Shamroy) ผลงานเด่นๆ อาทิ A Farewell to Arms (1932), The Big Heat (1953), Sabrina (1954), Some Like It Hot (1959), The Magnificent Seven (1960), One-Eyed Jacks (1961), How the West Was Won (1962), Charade (1963) ฯ

สไตล์ของ Lang โดดเด่นกับการจัดแสง-ความมืด ภาพขาว-ดำ มิติตื้น-ลึก รับอิทธิพลเต็มๆจาก Gregg Toland ในการใช้เทคนิค Deep Focus และสามารถเลือกมุมกล้องได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

ช่วงอารัมบทผ่านเสียงบรรยายของ Sabrina เล่าถึงตระกูล Larrabee ผ่านการร้อยเรียง Montage สถานที่ต่างๆ มาจนถึงรูปถ่ายหมู่ครอบครัว อดีต-ปัจจุบัน
– พ่อ-แม่ หันมองกันคนละทอง เชิดหน้าชูตา ไม่ใคร่สนอะไรอื่น
– Linus ในมาดนักธุรกิจ หันศีรษะมองไปทิศทางเดียวกับพ่อ โดยไม่รู้ตัวยุ่งวุ่นจนในกระเป๋าเสื้อมีหนังสือพิมพ์ใส่อยู่
– David ลูกชายคนเล็ก ภาพตอนเด็กขี่ม้า โตขึ้นยังคงยิ้มร่าเริงสนุกสนาน (เปลี่ยนมาขี่เก้าอี้ หันกลับหลัง เรียกว่าไม่สนใจอะไรอย่างอื่นนอกจากตัวตนเอง)

เทคนิค Deep Focus ระยะใกล้-ไกล มักเพื่อสะท้อนความแตกต่างทางชนชั้น เจ้านาย-คนใช้ ราวกับโลกคนละใบ ไกลจนมิอาจเอื้อมมือไขว่คว้าถึง, หรือจะมองว่าโลกในมิติลึกนั้น คือความเพ้อใฝ่ฝันของ Sabrina ก็ได้เหมือนกันนะ

นอกจากมิติตื้น-ลึก หนังยังใช้วัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่สามารถสะท้อนนัยะความแตกต่าง แบ่งฝักฝ่ายออกเป็นสองขั้วตรงข้าม ซ้าย-ขวา สูง-ต่ำ
– สนามเทนนิส มีด้านในด้านนอก, คอร์ดมีซ้าย-ขวา กั้นขวางด้วยตาข่าย สามารถปล่อยลงมาแล้วก้าวข้ามไปอีกฝั่ง
– ภายในรถยนต์ มีเบาะหน้า-หลัง กั้นขวางด้วยกระจก
ฯลฯ

ไม่รู้จะชมการออกแบบฉาก หรือแผนกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายดี พบเห็นช็อตนี้ช่างมีความกลมกลืน พร่ามัว ลายตา สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของ Sabrina ขณะนั้นกำลังจมอยู่ในความเพ้อใฝ่ฝัน ตกหลุมรัก David ชายคนที่ไม่แม้แต่จะครุ่นคิดชายตาหันมามองเธอ

ลวดลายเสื้อผ้าแฟชั่นของ Sabrina ล้วนแฝงนัยยะบางสิ่งอย่าง
– แรกสุดคือลายจุดๆแบบนี้ ดูเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา สะท้อนภาพลวงตาที่เธอกำลังเพ้อฝัน
– กลับจากฝรั่งเศสขณะยืนรอ ณ สถานีรถไฟ สวมสูทดำ รองเท้าส้นสูง ศีรษะคลุมด้วยผ้าขาว กลายเป็นสาวมั่นไปแล้วสินะ!
– ชุดเดรสงานเลี้ยง เกาะอกสีขาวลายดอก บั้นท้ายมีปีกเหมือนผีเสื้อ, เลือกสีขาวคงเพื่อให้คล้องจองกับสูทของ David ที่เธอยังคงตกเพ้อใฝ่ฝัน
– ชุดแล่นเรือ เสื้อแขนยาวลายสก็อต กางเกงขาสั้นสีขาว พร้อมลุยผจญภัย
– ดินเนอร์กับ Linus สวมชุดเดรสดำแขนกุด หมวกก็ระยิบระยับด้วยเพชร, เลือกสีดำเพื่อให้สอดคล้องกับสไตล์ของ Linus ค่อยๆตกหลุมรักใคร่
– ต้องการบอกเลิก สวมชุดคลุมโคร่งๆสีดำ ประมาณว่าหลวมตัวตกหลุมรักเขาไปแล้ว
– ชุดออกเดินทางขึ้นเรือ ไม่เห็นภายใน แค่ชุดคลุมโคล่งๆสีน้ำตาล อะไรจะเกิดมันก็เกิด

ธุรกิจพลาสติก มีความยืดหยุ่น แข็งแกร่ง และถือเป็นอนาคตใหม่ของโลก นี่ไม่เพียงนำเสนอมุมมองโลกทัศนคติของคนยุคสมัยนั้น แต่ยังสะท้อนถึงจิตใจของ Linus ประมาณว่าไม่มีอะไรสามารถปรับเปลี่ยนแปลงความต้องการของตนเองได้โดยง่าย
– พกร่ม (คล้ายๆพกถุงยาง) กันไว้ก่อนแก้ ฝนตกจะได้ไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ
– สวมหมวกปีกเงยขึ้น ค่านิยมคนรุ่นก่อนที่หมดยุคสมัยไปแล้ว, คนรุ่นใหม่ต้องดัดปีกให้งุ้มๆ เท่ห์มีสไตล์

หนังไม่ได้เดินทางไปถ่ายทำยังประเทศฝรั่งเศส แต่ก็มีวิธีการนำเสนอที่น่าสนเท่ห์อยู่ไม่น้อยทีเดียว
– โรงเรียนสอนทำอาหาร มีกระจกวงกลมบานใหญ่ พบเห็นหอไอเฟลตั้งตระหง่าน
– ในห้องนอนของ Sabrina แม้ยามค่ำคืนก็ยังพบเห็น มหาวิหารพระหฤทัยแห่งมงมาทร์ (Basilique du Sacré-Cœur de Montmartre)

หลายคนอาจสงสัยว่า ไปเรียนทำอาหารกลับได้วิชาชีวิตกลับมา มันอะไรกัน? ลองสังเกตว่า หนังมีการเอ่ยถึงในเชิงเปรียบเทียบ/ตรรกะเพี้ยนมากมาย อาทิ
– การแต่งงาน = ร่วมธุรกิจการ
– เรียนทำอาหาร = เรียนรู้จักการปรุงแต่งชีวิต
– ตกหลุมรัก Linus ไม่ต่างอะไรกับตกหลุมรัก David (เพราะเป็นพี่น้องครอบครัวเดียวกัน)
ฯลฯ

การเรียนทำอาหาร มองในเชิงสัญลักษณ์/หรือจะคิดแบบหื่นๆหน่อยก็ได้ อาทิ
– ตอกไข่คือใส่สีสันให้กับชีวิต แต่ถ้าบีบแรงไปผู้ชายคงได้เกิดอาการจุกเสียดกันพอดี
– เข้าเตาอบ เร่งไฟราคะ เพื่อให้อาหารสุก พอดิบพอดีย่อมกำลังดี น้อยเกิน-มากไป ผลลัพท์ออกมาคงไม่อร่อยเท่าไหร่

ตัดต่อโดย Arthur P. Schmidt (1912 – 1965) ขาประจำของ Wilder ตั้งแต่ Sunset Boulevard (1950) ถึง Some Like It Hot (1959) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Blue Dahlia (1946), Sayonara (1957), Witness for the Prosecution (1957), The Old Man and the Sea (1958) ฯ

ครึ่งแรกดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/เสียงบรรยาย และอ่านจดหมายของ Sabrina Fairchild, ขณะที่ครึ่งหลังตั้งแต่เต้นรำในสนามเทนนิส ปรับเปลี่ยนไปเป็นของ Linus Larrabee

เพลงประกอบโดย Frederick Hollander (1896 – 1976) สัญชาติ German โด่งดังแจ้งเกิดจาก The Blue Angel (1930) แต่ความที่เชื้อสาย Jews เลยอพยพหนี Nazi สู่อเมริกา เคยได้เข้าชิง Oscar สี่ครั้งจาก Artists & Models (1937), The Talk of the Town (1942), That Lady in Ermine (1948), The 5,000 Fingers of Dr. T. (1953)

งานเพลงของหนัง ผสมผสานท่วงทำนอง La Vie en rose (1946) แต่งทำนองโดย Louiguy และ Monnot ต้นฉบับคำร้อง/ขับร้องโดย Édith Piaf ได้ยินคลอประกอบตลอดทั้งเรื่อง มอบสัมผัสรักโรแมนติก เพ้อฝันหวานแหวว ซึ่ง Audrey Hepburn ขับร้องภาษาฝรั่งเศสไว้ด้วยนะ

นอกจากนี้ยังมีหลายเพลงดังๆ จากงานเลี้ยงเต้นรำ เปิดแผ่นครั่งบนเรือ อาทิ
– Isn’t It Romantic? ทำนองโดย Richard Rodgers, คำร้องโดย Lorenz Hart ได้ยินสามครั้ง งานเลี้ยงต้นเรื่อง, David ผิวปาก และ Sabrina เต้นรำกับ Linus
– I Don’t Want to Walk Without You แต่งโดย Jule Styne ตอน Sabrina เต้นรำกับ David
– Yes! We Have No Banana แต่งโดย Irving Cohn, Frank Silver ได้ยินบนเรือ
– อีกเพลงได้ยินบนเรือคือ My Ideal แต่งโดย Richard A. Whiting, Newell Chase
ฯลฯ

เรื่องราวความรักของ Sabrina สอนให้เรารู้ว่า บางสิ่งที่เคยเพ้อคลั่งใฝ่ฝัน ท้ายสุดอาจพบเจออย่างอื่นงดงามทรงคุณค่ากว่า ตราบใดไม่ปิดกั้นความรู้สึก ชีวิตย่อมได้รับการเติมเต็มในรูปแบบไม่มีอะไรคาดคิดถึงได้!

ในโลกทัศนคติ/ค่านิยมชาวตะวันตก ความงามภายนอกเป็นสิ่งที่เราสามารถปรุงแต่ง รังสรรค์สร้างขึ้น ดั่งสำนวน ‘ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง’ ถึงฉันไม่สวยแต่ถ้ารู้จักแต่งหน้า แต่งตัว สร้างภาพลักษณ์ให้มีความเลิศหรูหรา ดูดีไฮโซ เหมือนคนชนชั้นสูง ก็ย่อมสามารถสร้างแรงดึงดูดสนใจ สักวันอาจกลายเป็นหนูตกถึงข้าวสารได้เหมือนกัน

จะบอกว่านี่เป็นแนวคิดที่ผมไม่ชื่นชอบสักเท่าไหร่ เห็นคือการมอมเมาฝูงชนให้เกิดความหมกมุ่น ลุุ่มหลงใหล ยึดติดในภาพลักษณ์ หน้าตา ความงามของตนเอง แถมค่านิยมยุคสมัยนี้ หญิงสาวออกจากบ้านต้องแต่งหน้าทำผม เผลอปล่อยตัวหน้าสด จักเกิดความอับอายขายขี้หน้าประชาชี! … นี่ โลกได้ก้าวสู่ยุคสมัยแห่งภาพมายา ลวงหลอกตนเองกันแล้วหรือนี่

“คนเราสวยเพราะแต่งจริงๆนะหรือ?”

ตัวละคร David ชัดเจนเลยว่ามองหญิงสาวด้วยรูปลักษณ์ภายนอก พบเห็นไก่งามตนไหน รีบวิ่งแจ้นเสนอหน้าเข้าไป ปากอ้างว่าตกหลุมรักคลั่งไคล้ แต่ลึกๆล้วนสนองความใคร่ตัณหาต้องการส่วนตัวตนเอง

สำหรับ Linus คาดว่าเริ่มต้นด้วยความเดียจฉันท์ พยายามกีดกันน้องชายไม่ให้หลวมตัวตกต่ำ แต่เมื่อล่วงรู้จัก Sabrina ค่อยๆพบเห็นความสดใสบริสุทธิ์งดงามจากภายใน จะไม่ให้ตกหลุมรักจากใจก็ผิดปกติมนุษย์มนาแล้วละ

ยุคสมัยนี้มันคงหาได้ยากแล้วละ บุคคลที่มองผู้อื่นจากภายในไม่ใช่รูปลักษณ์หน้าตา แถมยังปั้นแต่งข้ออ้าง ‘คนที่ไม่ดูแลตนเอง จะสามารถดูแลผู้อื่นได้อย่างไร!’ นี่เป็นคำพูดที่เห็นแก่ตัวมากๆ ถ้ารู้จักครุ่นคิดในมุมกลับกัน ‘คนที่มัวแต่ดูแลตนเอง เขาจะไปสนใจดูแลผู้อื่นทำไม!’ เพราะมัวแต่หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องสวยๆหล่อๆ เมื่อไหร่จิตใจจะได้รับการพัฒนาขึ้นบ้างละเนี่ย


ด้วยทุนสร้าง $2.2 ล้านเหรียญ (คาดว่าหมดไปเยอะกับค่าตัวนักแสดง) ทำเงินในอเมริกา $4 ล้านเหรียญ กำไรมาจากส่งออกฉายต่างประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ได้รับความนิยมล้นหลามถล่มทลาย

เข้าชิง Oscar 6 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Director
– Best Actress (Audrey Hepburn)
– Best Writing, Screenplay
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White
– Best Costume Design, Black-and-White ** คว้ารางวัล

หนัง SNUB ไม่ได้แม้แต่จะเข้าชิงสาขา Best Picture ถึงกระนั้นก็คงไม่มีลุ้นรางวัลอยู่ดี เพราะผู้ชนะคือ On the Waterfront (1954) ของผู้กำกับ Elia Kazan

ขณะที่ Best Writing, Screenplay เห็นเป็นตัวเต็งมาโดยตลอด สามารถคว้า Golden Globe Award และ Writers Guild of America แต่กลับพ่ายให้ The Country Girl (1954) อย่างน่าสงสัย

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง คือการแสดงอันบริสุทธิ์สดใสของ Audrey Hepburn แต่บอกเลยว่าไม่ค่อยชอบพล็อตเรื่องราวสักเท่าไหร่ และรู้สึกว่า Humphrey Bogart แก่เกินรับบทโรแมนติกกับสาวเอาะๆแล้วละ

แนะนำคอหนัง Romantic Comedy เรื่องราวแบบ Cinderella, แฟชั่นดีไซน์เนอร์ เสื้อผ้าหน้าผมสวยๆ, แฟนๆผู้กำกับ Billy Wilder และนักแสดงนำ Humphrey Bogart, Audrey Hepburn, William Holden ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับความกะล่อนเจ้าชู้ประตูดิน

คำโปรย | ความทะเยอทะยานเพ้อฝันของ Audrey Hepburn ใน Sabrina แม้งดงามบริสุทธิ์ แต่ก็เห็นแก่ตัวเกินไปนิด
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | แค่ชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: