Sadie Thompson (1928) : Raoul Walsh ♥♥♥♥
Gloria Swanson ในบทบาทน่าจะยอดเยี่ยมสุดในชีวิต ตัวละครมีลักษณะ Happy-go-Lucky ร่าเริงยิ้มแย้มแจ่มใส แต่เบื้องลึกภายในจิตใจนั้นกลับมีบางสิ่งอย่างปกปิดซ่อนเร้น กำลังค่อยๆถูกเปิดเผยออกมาโดย Lionel Barrymore ทำให้แปรสภาพกลายเป็นแทบจะคนละคน!
ก่อนหน้า Bette Davis ก็น่าจะ Gloria Swanson ขุ่นแม่ผู้มีความสุดเหวี่ยงทางการแสดง หยาบ กร้าน ด้าน ใครช่างสังเกตระหว่างรับชมหนังเงียบเรื่องนี้ หลายครั้งอ่านปากได้ว่า ‘son-of-a-bitch’ เพราะไม่ได้ยินเสียง เลยสามารถพูดใส่อารมณ์ได้อย่างสุดเหวี่ยง
ผมเองก็เกิดความอึ้งทึ่งในเฮอริเคนอารมณ์ของ Swanson คลุ้มคลั่งล้างผลาญเสียยิ่งกว่า Sunset Boulevard (1950) แต่เหตุที่ Sadie Thompson ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงสักเท่าไหร่ เพราะเคยสูญหายไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนเพิ่งค้นพบเจอในคลังส่วนตัวของ Mary Pickford สภาพค่อนข้างย่ำแย่ แถมฟีล์มม้วนสุดท้ายเสื่อมสภาพไปแล้ว หลังจากได้รับการบูรณะ มีความพยายามปะติดปะต่อร้อยเรียงภาพ 8 นาทีสุดท้าย สมบูรณ์ที่สุดแล้วจะหารับชมได้ ซึ่งก็เพียงพอให้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา
Gloria May Josephine Swanson (1899 – 1983) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois บิดาเป็นทหารถูกส่งไปประจำการยังประเทศต่างๆ ทำให้ครอบครัวต้องติดตามไปด้วย เติบโตขึ้นยัง Puerto Rico พูดภาษาสเปนได้คล่องแคล่ว พออายุ 15 ย่าของเธอพาไปยัง Essanay Studios ได้รับคำชักชวนให้มาทำงานตัวประกอบ ก็มิได้ตั้งใจนักแต่โชคชะตาชีวิตนำทางไป ประกบคู่เล่นตลกกับ Bobby Vernon ย้ายมา Hollywood เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures กลายเป็นขาประจำ Cecil B. DeMille อาทิ Don’t Change Your Husband (1919), Why Change Your Wife? (1920), Something to Think About (1920), The Affairs of Anatol (1921) ฯ
แม้จะกลายเป็นนักแสดงระดับโลก ค่าตัวปีละเกือบๆ $1 ล้านดอลลาร์ แต่ Swanson ต้องการที่จะเป็นเจ้านายตนเอง ออกมาสร้างภาพยนตร์อินดี้เรื่อง The Love of Sunya (1927) แม้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่ก็เริ่มค้นพบทิศทางน่าสนใจ
“Wanted to make my Gold Rush”.
– Gloria Swanson พูดถึงความต้องการตนเอง อยากประสบความสำเร็จแบบ The Gold Rush (1925) ของ Charlie Chaplin
โปรเจคถัดมาของ Swanson ตัดสินใจเลือกผู้กำกับ Raoul Walsh นำเสนอโปรเจคจากบทละครเวที Rain (1923) ซึ่งทำการดัดแปลงเรื่องสั้น Miss Thompson (1921) มีประเด็นเนื้อหาค่อนข้างล่อแหลม หมิ่นเหม่หลักศีลธรรม สอดคล้องความสนใจของ Walsh พอดิบพอดี
Raoul A. Walsh (1887 – 1980) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, ครอบครัวอพยพจากประเทศอังกฤษ สนิทสนมกับตระกูล Barrymore (โดยเฉพาะ John Barrymore) หลังเรียนจบจาก Seton Hall College เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ติดตามมาด้วยผู้ช่วยผู้กำกับ D. W. Griffith, รับบท John Wilkes Booth เรื่อง The Birth of a Nation (1915), ผันมาเบื้องหลังกำกับ The Thief of Bagdad (1924), What Price Glory? (1926), Sadie Thompson (1928), ก้าวสู่หนังพูดกับ The Big Trail (1930), The Roaring Twenties (1939), High Sierra (1941), White Heat (1949) ฯ
สำหรับเรื่องสั้น Miss Thompson (1921) แต่งโดยนักเขียนสัญชาติอังกฤษ William Somerset Maugham (1874 – 1965) ที่มีผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Painted Veil (1925), The Razor’s Edge (1944) ฯ
Maugham ได้แรงบันดาลใจเรื่องสั้นนี้ระหว่างการเดินทางบนเรือกลไฟ Sonoma เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 โดยมีจุดหมายปลายทางคือ Apia เมืองหลวงของประเทศ American Samoa แต่มีการหยุดแวะพักยังเมืองท่า Pago Pago สภาพอากาศที่นั่นฝนตกแทบตลอดเวลา ไปไหนมาไหนไม่ได้เลยมีโอกาสเรียนรู้จักผู้โดยสารทั้งหมด ประกอบด้วย Dr. Macphail (และภรรยา), Miss Thompson คาดกันว่าคือโสเภณี และมิชชันนารี Davidson (และภรรยา) ที่ได้เกิดความขัดแย้งบางอย่างกันขึ้น
Miss Thompson ได้รับการตีพิมพ์ลงนิตยสาร The Smart Set ฉบับเดือนเมษายน 1921 ผ่านตาสองนักเขียนบทละครสัญชาติอเมริกัน John Colton (1887 – 1946) และ Clemence Randolph ร่วมกันดัดแปลงเป็นละครเวทีสามองก์ตั้งชื่อใหม่ว่า Rain นำแสดงโดย Jeanne Eagels เปิดรอบปฐมทัศน์ 7 พฤศจิกายน 1922 ยัง Maxine Elliott’s Theatre ต่อเนื่องถึง 608 รอบการแสดง ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม!
เพราะความล่อแหลม สุ่มเสี่ยงของบทละครเวที Rain ทำให้ถูก Blacklist อย่างไม่เป็นทางการ โดยกองเซนเซอร์ Hays Code ที่แม้สมัยนั้นยังไม่มีบทบาทในวงการภาพยนตร์มากนัก แต่กำลังพัฒนาขึ้นสู่มาตรฐานสากล, Swanson ใช้มารยาเสน่ห์ของตนเอง ชักนำพา Will Hays มารับประทานอาหารกลางวัน แล้วเล่าพล็อตเรื่องราวหนังที่อยากสร้าง โดยไม่เอ่ยถึงบทละคร Rain หรือชื่อผู้สร้างใดๆ กลับได้รับการอนุมัติผ่านแบบไม่มีปัญหาคาใจ … ซะงั้น!
เกร็ด: เดิมนั้น Maugham ตั้งราคาลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์สูงถึง $100,000 เหรียญ แต่ Swanson ก็ใช้มารยาเสน่ห์ด้วยการให้บอกให้โปรดิวเซอร์ Joseph Schenck ต่อรองโดยไม่เอ่ยชื่อสตูดิโอใหญ่ ได้ลดราคาเหลือเพียง $60,000 เหรียญ
เกร็ด 2: เมื่อความแตกไปเข้าหู Maugham ขู่ฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ Swanson ก็ต่อรองโดยให้เขาเขียนภาคต่อ Sadie Thompson เดินทางถึง Australia เสร็จเมื่อไหร่ก็จะจ่ายเพิ่มให้อีก $100,000 เหรียญ … จริงอยู่พัฒนาบทเสร็จ แต่พอไม่มีสร้างหนังภาคต่อ เลยจะไปได้เงินที่ไหน!
Swanson กับ Walsh ร่วมกันซุ่มพัฒนาบทอย่างเงียบๆ เพื่อไม่ให้เกิดกระแสข่าวดัง แต่มีหรือหนังใหญ่ระดับนี้จะไม่หลุดไปเข้าหูนักข่าว เมื่อความแตกก็เกิดกระแสให้ล้มเลิกโปรเจคเพราะความละเอียดอ่อนไหวของเรื่องราว กระนั้น Swanson ก็ได้มีโอกาสพบเจอ กลายเป็นชู้รักกับ Joseph P. Kennedy อาสาจัดหาทุนสร้างเพิ่มให้ปริมาณไม่น้อยทีเดียว
เรื่องราวของ Sadie Thompson (รับบทโดย Gloria Swanson) หญิงสาวผู้มีลักษณะ Happy-go-Lucky ร่าเริงยิ้มแย้มแจ่มใส ชื่นชอบสูบบุหรี่ ฟังเพลงแจ๊ส เดินทางมาถึงเมืองท่า Pago Pago ดึงดูดความสนใจของทหารอเมริกันประจำการอยู่ที่นี่ แต่ขณะเดียวกันกลับถูก Mr. Davidson (รับบทโดย Lionel Barrymore) พักอาศัยอยู่โรงแรมเดียว แสดงความดูถูกหยามเหยียด เทศนาสั่งสอน และครุ่นคิดได้ว่าเธอต้องเป็นโสเภณี
Sadie ตกหลุมรักกับจ่าหนุ่ม Timothy O’Hara (รับบทโดย Raoul Walsh) แม้ล่วงรับรู้อดีตของเธอแต่ไม่ใคร่สนใจใยดี วาดฝังแต่งงานครองคู่อยู๋ร่วมอย่างสงบสันติสุขยัง Australia แต่ Mr. Davidson กลับระรานไม่ยอมเลิกรา เรียกร้องให้หญิงสาวหวนกลับสู่ San Francisco เพื่อเผชิญหน้าความจริง … สุดท้ายแล้ว Sadie จะครุ่นคิดตัดสินใจเช่นไร
Gloria Swanson ในบทบาท Sadie Thompson แรกเริ่มยิ้มร่า ถือว่ามีความเต็มที่ชีวิต ไม่สนผิดถูกศีลธรรม แค่สนองอารมณ์และตัณหา แต่เมื่อถูกระรานมากเข้า จิตใจเริ่มสับสนฟุ้งซ่าน ค่อยๆโดนล้างสมองจนกลายเป็นสงบนิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ต่างอะไรจากหุ่นกระบอกไร้จิตวิญญาณ สุดท้ายเมื่อ Mr. Davidson แสดงธาตุแท้ออกมา เหมือนว่าเธอจะหวนกลับกลายเป็นเช่นเดิม (กระมัง!)
ทุกท่วงท่าลีลาเคลื่อนไหว ทั้งยังการเล่นหูเล่นตา พูดจา(แม้ไม่ได้ยินเสียง)ของ Swanson ถือได้ว่าเป็นการสวมวิญญาณ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาจากภายใน ซึ่งมีความสมจริงที่ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้อง ปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง ไม่ต่างกับพายุเฮอริเคนพัดถาโถมเข้าใส่ ทุกฉากคือไฮไลท์ ผมเลือกไม่ได้ว่าซีนไหนโดดเด่นกว่ากัน (ชอบสุดคือต่อสถบด่า อ่านปากได้ว่า ‘psalm-singing son-of-a-bitch’)
Raoul Walsh ในบทบาทจ่าหนุ่ม Timothy O’Hara ที่รับล่วงรู้เบื้องหลังของ Sadie Thompson ยินยอมรับได้ในทุกๆการกระทำ อาสานำพาสู่ Australia ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง
ถือเป็นบทบาทการแสดงในรอบหลายปีของ Walsh และเห็นว่าคือเรื่องสุดท้าย (ต่อจากนี้จะเป็นเพียงผู้กำกับเท่านั้น) ความหล่อเหลายังคงกระชากใจ เคมีระหว่าง Swanson เข้ากันได้ (เคยปิ๊งกันระยะหนึ่ง แต่ไม่เคยสัมพันธ์เกินเลย) แต่ก็เท่านั้นเพราะบทบาทถือว่า Stereotype พระเอกผู้พร้อมยอมศิโรราบเพื่อครองรักนางเอก
เกร็ด: Douglas Fairbanks, Jr. มาทำการคัดเลือกนักแสดงบทบาทนี้ แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธจาก Swanson เพราะเห็นว่าเขายังเด็กเกินไป … ขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี เท่านั้นเอง!
Lionel Barrymore ชื่อเดิม Lionel Herbert Blythe (1878 – 1954) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน มีศักดิ์เป็นลุงทวดของ Drew Barrymore เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania พ่อ-แม่เป็นจิตรกร แต่ตัวเขาเติบโตขึ้นกับทวดที่เป็นนักแสดง เลยถูกบังคับให้เป็นเล่นละครเวทีตั้งแต่อายุ 15 เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ D. W. Griffith มีผลงานร่วมกันหลายเรื่อง (ส่วนใหญ่สูญหายไปแล้ว) ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูดด้วยความเริ่มมีอายุสูงวัย เลยไม่ต้องดิ้นรนปรับตัวอะไรมาก คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง A Free Soul (1931), ผลงานอื่นๆ อาทิ The Mysterious Island (1929), Grand Hotel (1932), Captains Courageous (1937), You Can’t Take It with You (1938), ได้รับการจดจำสูงสุดก็ It’s a Wonderful Life (1946)
รับบท Mr. Alfred Davidson ดั้งเดิมในเรื่องสั้น/ละครเวที เป็นบาทหลวงผู้เคร่งครัดในศาสนา จึงทำการเทศน์สอนสั่ง Sadie Thompson เพื่อให้เห็นถึงการกระทำอันชั่วเลวร้ายของตนเอง และชี้ชักนำหนทางออกสู่โลกหน้า (ในหนังก็ดูเหมือนยังเป็นบาทหลวงอยู่ แต่จะไม่มีการกล่าวถึงชัดเจนนัก) ความสำเร็จที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงหญิงสาว ทำให้อยู่ดีๆลุ่มหลงผิด ครุ่นคิดการ … เป็นเหตุให้ตนเองจมน้ำเสียชีวิต
ว่าบทบาทใน It’s a Wonderful Life (1946) ร้ายแล้วนะ มาเห็นเรื่องนี้ต้องร้องโอ้โห ทำไปได้! สีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความหมกมุ่นคลุ้มคลั่ง เชื่อถือมั่นในบางสิ่งจนไม่สามารถปลดปล่อยวางทิฐิลงได้ ถือว่าคือขั้วตรงข้ามเสรีชนของหญิงสาว เมื่อสามารถชี้ชักนำพาเธอมาถึงกึ่งกลาง เลยพยายามที่จะ…
เกร็ด: Barrymore คือตัวเลือกแรกของ Swanson แต่เหมือนเขาจะไม่ค่อยสบายตลอดการถ่ายทำ สติสตางค์เลยไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เห็นว่าสวมชุดเดินตลอด 7 วันโดยไม่รู้ตัว ต้องฝากคนไปบอกว่าเอาไปซักบ้างถึงตระหนักขึ้นได้
ถ่ายภาพโดย … มีเครดิตทั้งหมด 3-4 คน
– แรกเริ่มคือ George Barnes (Rebecca, Spellbound, The Greatest Show on Earth) ขอหยิบยืมตัวจาก MGM แต่ในสัญญาระบุว่าจะยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เล่นเรียกตัวกลับตั้งแต่ถ่ายเสร็จเดือนแรก
– Mary Pickford แนะนำตากล้องคนโปรด Charles Rosher แต่ฝีมือห่างชั้นกับ Barnes อย่างมาก
– Robert Kurrle (The Four Feathers, Moby Dick)
– ท้ายที่สุดหยิบยืม Oliver T. Marsh (A Tale of Two Cities, The Great Ziegfeld, Bitter Sweet) พอเทียบเคียงกับ Barnes ร่วมงานจนถ่ายทำเสร็จสิ้น
การปรับเปลี่ยนตากล้อง ทำให้โปรดักชั่นหนังมีความล่าช้าพอสมควร เพียงครึ่งหนึ่งของการถ่ายทำงบประมาณหมดสูญสิ้น วิธีแก้ปัญหาของ Swanson ตัดสินใจขายบ้าน ขาย Penhouse นำเงินมาค้ำโปรเจคให้สำเร็จลงได้
สถานที่ถ่ายทำของหนังคือ Santa Catalina Island อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ Long Beach ต้องขึ้นเรือข้ามฟาก ระยะทาง 47 กิโลเมตร แต่ฉากภายในทั้งหมดถ่ายทำยัง United Artists Studios
ความท้าทายของโปรเจคนี้คือฝน ซึ่งตกลงมาแทบจะโดยตลอดเวลา ดังนั้นการจัดแสง-ความมืด เพื่อให้สอดคล้องรับกับฟ้าร้อง ฟ้าผ่า จึงมีความละเอียดยิบย่อย โดยที่ผู้ชมส่วนใหญ่มักไม่ทันสังเกตการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ (เพราะมันไม่มีเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือฝนตก ต้องใช้การสังเกตจากแสงสว่าง+ความมืด บางครั้งก็แยกแยะไม่ออกเลยนะ!)
อารัมบทแรกของหนังถือว่าน่าสนใจมาก แนะนำตัวละครด้วยการให้พวกเขาเขียนบทกวีอะไรสักอย่าง ซึ่งเนื้อใจความจะสะท้อนถึงบุคคลิก ตัวตนของพวกเขา อาทิ
– Mr. Alfred Davidson: The knife of reform is the only hope of a sin-sick world.
– Mrs. Alfred Davidson: A righteous man will not hesitate to denounce evil.
– Dr. Angus McPhail: Tolerance is such a splendid virtue, it’s a pity so few of us have it.
– Sadie Thompson: Smile, Bogo, smile, for no matter how tough it is today it’s bound to be worse tomorrow.
ตรงทางเข้าโรงแรมที่พัก จะพบเห็นไม้หมุน สัญลักษณ์ของชีวิตที่เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา เริ่มต้น -> สิ้นสุด -> เริ่มต้น เฉกเช่นเดียวกับเรื่องราวที่ Mr. Alfred Davidson ต้องการให้ Sadie Thompson หวนกลับไปเผชิญหน้าความจริง แต่ท้ายที่สุดกลับ…
อดไม่ได้ต้องแถมช็อตนี้มา มีคำเรียกว่า ‘Cigarette Kiss’ ช่างมีความเซ็กซี่ โรแมนติก แฝงนัยยะการมี Sex ได้อย่างลุ่มร้อนร่าน
มีฉากหนึ่งที่ผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัว เมื่อตัวละคร Sadie Thompon พร่ำคำหยาบกร้าน จาบจ้วง พ่นพิษใส่ Mr. Alfred Davidson หญิงๆคนอื่นๆเมื่อได้ยินต่างยกมือขึ้นปิดหูแล้วเดินหนีไปข้างนอกโรงแรม แต่สักพักเธอกลับติดตามออกไปเห่าหอนต่อข้างนอก … ประมาณว่าอุตส่าห์ตั้งใช้เสียงสายฝนกลบเกลื่อน กลับกลายเป็นว่ายังถูกติดตามมาหลอกหลอก
ตัดต่อโดย C. Gardner Sullivan ที่ปกติแล้วเป็นนักเขียนยอดฝีมือ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Italian (1915), Civilization (1916), Hell’s Hinges (1916), All Quiet on the Western Front (1930) ฯ
ร้อยเรียงเรื่องราวในมุมมองของ Sadie Thompson ขณะพักอาศัยอยู่เมืองท่า Pago Pago สถานที่กึ่งกลางเพื่อต้องเลือกว่าจะหวนกลับไปเผชิญหน้าอดีต San Francisco หรือมุ่งสู่อนาคต Australia
สำหรับ Title Card นอกจากแรกเริ่มอารัมบท ที่เหลือล้วนคือบทสนทนาระหว่างตัวละคร ซึ่งถือว่ามีความเพียงพอดี ในปริมาณไม่มาก-น้อยเกิน เฉพาะสาระสำคัญเท่านั้น
Sadie Thompson คือเรื่องราวของการตัดสินใจเลือก ไม่ได้ทิ้งคำตอบให้ว่าฝั่งไหนถูก-ผิด ระหว่างหวนกลับไปเผชิญหน้าความผิดพลาดในอดีต หรือก้าวเดินต่อสู่อนาคตเพื่อเริ่มต้นวันหน้าฟ้าใหม่
ใจความดังกล่าวสะท้อนได้ถึง Gloria Swanson หลังออกจากระบบสตูดิโอหันมาเป็นเจ้านายตนเอง สร้างภาพยนตร์อินดี้สนองใจอยาก แต่เมื่อเรื่องแรก The Love of Sunya (1927) ประสบความล้มเหลว Sadie Thompson (1928) จึงคือการตัดสินโชคชะตา ฉันจะก้าวต่อไปข้างหน้าหรือยินยอมถดถอยหลัง
เปรียบเทียบตัวละครแบบนี้ผมว่าตรงเผงมากเลยนะ!
– Mr. Alfred Davidson โน้มน้าวให้ Sadie หวนกลับไปเผชิญหน้าอดีต มองเป็นตัวแทนระบบสตูดิโอ โปรดิวเซอร์ผู้คร่ำครึหัวโบราณ เคร่งครัดในขนบวิถี หรือจะมองเป็นนาย Will Hays แห่งกองเซนเซอร์ Hays Code ก็ไม่ผิดกระไร
– Sergeant Timothy O’Hara คือตัวแทนแห่งอิสรภาพ จ่าทหารแห่งสหรัฐอเมริกา ยินยอมรับได้ไม่ว่าอดีต-ปัจจุบัน จะก่อให้เกิดอะไรยังอนาคต
มันไม่มีคำตอบถูก-ผิด ในคำถามลักษณะนี้นะครับ ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองล้วนๆ
– บางคนเลือกที่จะจมปลักกับอดีต เพื่อชดใช้กรงกรรม/ความผิดพลาดเคยก่อให้หมดสิ้นเสียก่อน ถึงสามารถเริ่มต้นวันหน้าฟ้าใหม่ – แต่ค่านิยมของยุคสมัยนี้คือ ชีวิตไม่มีสิทธิ์หยุดนิ่ง! อดีตพานผ่านไปแล้วไม่สามารถหวนกลับไปแก้ไข จึงจำต้องโอบรับทุกความผิดพลาด เรียนรู้ ปรับปรุงตัว เพื่อวันข้างหน้าจะได้ไม่เกิดขึ้นอีกซ้ำสอง
สำหรับ Gloria Swanson หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอยังคงเลือกก้าวไปข้างหน้าอีกสักพัก กระทั่งการมาถึงของยุคสมัย Talkie หาใช่ว่าเธอปรับตัวไม่ได้ แต่ไม่ประทับใจในความยุ่งยากวุ่นวาย แถมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนเริ่มติดตามไม่ทัน ถึงจะกึ่งๆรีไทร์ออกจากวงการ แต่ก็พบเห็นหวนกลับมาอีกหลายครั้ง โด่งดังสุดคือ Sunset Boulevard (1950) ไม่ยินยอมรับว่านั่นคือตนเอง แต่ใครๆต่างรับรู้ว่าเป็นเธอกว่า 90%
จะว่าไปนัยยะใจความหนัง สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยภาพยนตร์ระหว่าง หนังเงียบ (อดีต) กับ หนังพูด (อนาคต) แต่คำตอบแน่ชัดอยู่แล้วว่าคืออะไรและมีเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกต้อง!
แม้หนังจะเกินเลยทุนตั้งต้นไปเยอะถึง $650,000 เหรียญ แต่เสียงตอบรับที่ดีล้นหลาม ในสหรัฐอเมริกาทำเงินได้ $1 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกอีก $7 ล้านเหรียญ กลายเป็นผลงานอินดี้ของ Swanson ที่ประสบความสำเร็จมากสุด
แม้ไม่ได้มีการประกาศต่อสาธารณะ แต่มีการค้นพบภายหลังจากใบรวมคะแนน Sadie Tompson ได้เข้าชิง Oscar ถึงสองสาขา
– Best Actress (Gloria Swanson)
– Best Cinematography
ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมาก ตราตรึงสุดๆกับการแสดงของ Gloria Swanson และไดเรคชั่นผู้กำกับ Raoul Walsh ชี้ชักนำพาอารมณ์ไปเกือบถึงจุดสูงสุด (มันไม่ถึงเพราะฟีล์มม้วนสุดท้ายที่สูญพันธุ์ไป!)
จัดเรต 15+ กับเฮอริเคนอารมณ์ของนักแสดง ความหมกมุ่น และเสียสติแตก
Leave a Reply