Salaam Bombay! (1988) : Mira Nair ♥♥♥♥
หนัง bollywood เรื่องที่สองของอินเดียที่ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Foreign Language Film โดยผู้กำกับหญิง Mira Nair, ถ้าชีวิตนี้คุณอยากไปเที่ยว Bombay (หรือ Mumbai) จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูหนังเรื่องนี้ เพราะความสมจริงที่สวยงามและเจ็บปวด จะทำให้คุณรู้ว่าเมืองนี้เป็นยังไง น่าหลงใหลขนาดไหน
นี่เป็นหนังที่มีความน่าสนใจมากๆ เห็นว่าผู้กำกับ ได้รวบรวมกลุ่มเด็กข้างถนนจาก Mumbai จริงๆ นำมาเล่นหนัง, สถานที่ถ่ายทำก็ล้วนบันทึกภาพจากสถานที่จริงทั้งหมด (ใช้เวลาถ่ายทำ 43 วัน 43 สถานที่) เรื่องราวของหนัง บางครั้งก็เกิดจากเหตุการณ์จริง ใช้การแอบถ่ายให้เห็นเป็นธรรมชาติมากที่สุด, เหล่านี้ก็เพื่อความสมจริงในระดับที่จับต้องสัมผัสได้ นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะหาได้จากหนัง bollywood ทั่วไป เป็นพื้นเพวิถีชีวิตของคนอินเดียแท้ๆใน Mumbai ผ่านมุมมองของกลุ่มเด็กข้างถนนที่ถูกทอดทิ้ง จนกลายเป็นภาระของสังคม
มุมไบ (Mumbai) ชื่อเดิมคือ บอมเบย์ (Bombay) ที่ตั้งอยู่บนริมฝั่งทะเลอาหรับฝั่งตะวันตกในประเทศอินเดีย มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่า และเป็นศูนย์กลางทางการค้า การท่องเที่ยว, ในอดีต มีฐานะเป็นเมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระ เคยเป็นหมู่เกาะ 7 เกาะ ที่แยกออกจากแผ่นดิน ก่อนจะเชื่อมต่อกันเมื่อร่องน้ำลำคลองตื้นเขินและกลายเป็นแหลมยื่นออกไปใน ทะเลยาว 22 กิโลเมตร, ในปัจจุบันแม้ผ่านพ้นช่วงการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมานานแล้ว แต่เสน่ห์ของความเป็นตะวันตกยังคงหลงเหลือให้เราได้สัมผัส ตึกรามบ้านช่อง และอาคารสำคัญๆ ขนาดใหญ่ ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Gothic, เมืองมุมไบ ขึ้นชื่อในเรื่องสภาพสังคมที่แร้นแค้นยากจน และมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่ จนทำให้นักท่องเที่ยวทั่วไปคิดไม่อยากจะไปเยือน ไม่ใช่เมืองที่มาเที่ยวอย่างน่าอภิรมย์ และจะกลัวไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
และ Bombay เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ของประเทศ เป็นเมืองที่ผลิตภาพยนตร์มากที่สุดในโลก (ประมาณ 800 เรื่องต่อปี) จนมีชื่อเรียกขานกันว่า ‘bollywood’
reference: http://travel.mthai.com/world-travel/45975.html
Mira Nair ผู้กำกับหญิงชื่อดังของอินเดีย มีผลงานดังๆอย่าง Monsoon Wedding (2001) ที่คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Berlin (เป็นผู้กำกับคนที่ 2 ของอินเดียถัดจาก Satyajit Ray ที่ได้รางวัลนี้), ชีวประวัติคร่าวๆ เธอเกิดที่ Rourkela, Odisha (East India) พ่อเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Indian Administrative Officer) ส่วนแม่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ สอนหนังสือให้กับเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้, นี่กระมังที่ทำให้ Nair โตขึ้นมาด้วยความสนใจทำหนังที่สะท้อนภาพสังคมของอินเดีย (Indian Society) อันประกอบด้วยเศรษฐกิจ สังคม ประเพณีและวัฒนธรรม ฯ
ตอนแรกเธอตั้งใจจะโตขึ้นเป็นนักแสดง แต่ไปๆมาๆ กลับมาลงเอยที่การเป็นผู้กำกับ เริ่มต้นจากทำหนังสารคดี เป็น Thesis สร้างขึ้นก่อนเรียนจบที่ Havard University ช่วงแรกของการทำงาน ก็ยังคงทำสารคดี ส่งไปประกวดได้รางวัลมาก็จากหลายเทศกาล, Salaam Bombay ถือเป็นหนัง debut เรื่องแรกของเธอกับวงการภาพยนตร์ bollywood ร่วมเขียนบทกับ Sooni Taraporevala เพื่อนสนิทและกลายเป็นเพื่อนร่วมงานในเวลาต่อมา, ซึ่งหนังเรื่องแรกนี Nair มีความสนใจนำเสนอภาพของสังคม เด็กข้างถนน (street children) สื่อออกในมุมมองที่สมจริง จับต้องได้ และจากประสบการทำหนังสารคดีมาหลายปี ทำให้เธอใช้วิธีการเล่าเรื่อง นำเสนอเหตุการณ์คล้ายกับสารคดีแต่สร้างเรื่องราวเพิ่มประกอบเข้าไป (จะเรียก Docudrama ก็ได้)
นักแสดงเด็กในหนังเรื่องนี้ทุกคนล้วนมาจากข้างถนนของ Mumbai จริงๆ คนที่ต้องพูดถึงเลยคือ Shafiq Syed ที่รับบทนำ ตัวจริงเขาโตขึ้นจาก Bangalore slums ก่อนหนีมาอยู่ Mumbai พร้อมกับเพื่อนๆอีกสามสี่คน ด้วยเหตุผลว่า ต้องการมาเห็นเมืองแห่งหนัง Bollywood, ก่อนที่จะได้มารับบทนี้ เคยอาศัยข้างถนนอยู่แถวๆสถานีรถไฟ Churchgate, การแสดงของ Syed ไม่สิ สีหน้า คำพูด ท่าทางของเขา ล้วนมาจากประสบการณ์ตรง ไม่มีการเจือปนหรือปรุงแต่งใดๆ, ได้ยินว่าวิธีที่ผู้กำกับ Nair ใช้ คือหลังจากคัดเลือกนักแสดงได้แล้ว จะมี Workshop 1 สัปดาห์ ไม่ได้ฝึกให้พวกเขาการแสดงนะครับ แต่ฝึกไม่ให้ตื่นหน้ากล้อง และดูเป็นธรรมชาติที่สุด, ชีวิตของ Syed หลังจากนี้ก็ไม่ได้ดีขึ้นจากเดิมเสียเท่าไหร่ ขนาดว่าได้รางวัล National Film Award สาขา Best Child Artist ก็ไม่ได้การันตีอะไรทั้งนั้น เขาได้เล่นหนังอีกแค่ 1 เรื่องก่อนเงียบหายไป ปัจจุบันเป็นคนขับสามล้อ (rickshaw) ใน Bangalore ยังคงมีฐานะยากจนแต่พอมีพอกินเอาตัวรอดได้
คนที่อาศัยอยู่ในสลัม Mumbai ก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งคนที่มีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อเอาชนะ, คนที่ยอมสิโรราบพ่ายแพ้จนถูก Mumbai กลืนกินฯ บางคนอาศัยอยู่ที่นี่เพราะความจำเป็น, บางคนจับพลัดจับผลูมา, บางคนก็มาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ฯ เราจะได้เห็นทุกแง่มุม ทุกซอกมุม ที่ถือว่าเป็นโซนอันตรายของ Mumbai ทั้งยาเสพติด, โสเภณี, เด็กข้างถนน ฯ บอกตามตรงผมดูหนังเรื่องนี้แล้ว ไม่มีความต้องการไปเหยียบ Mumbai สักนิด ถ้าคุณไม่ใช่คนอินเดีย พูดภาษาฮินดีไม่ได้ ไม่มีไกด์ไปด้วย ก็อย่างหลวมตัวหลงเข้าไปนะครับ มีแนวโน้มสูงมากที่คุณอาจไม่ได้กลับออกมา
ถ่ายภาพโดย Sandi Sissel, ใครบอกหนังเรื่องนี้ถ่ายภาพสวยนี่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คือมันดูสกปรก โสโครก อันตราย หาความสวยงามไม่ได้สักนิด ซึ่งผมเหมือนสัมผัสได้ถึงกลิ่นของมันโชยออกมาผ่านภาพหนัง นี่เป็นหนังประเภท Truism ที่สีสันของงานภาพดูจะสวยงามสดใสกว่าปกติราวกับจับต้องสัมผัสได้ หนังที่สามารถถ่ายภาพออกให้ความรู้สึกเช่นนี้ ถือว่าย่อมต้องไม่ธรรมดาอยู่แล้ว แต่เรียกว่าสุดยอดของการถ่ายภาพเถอะครับ ไม่ใช่ถ่ายภาพสวยแน่ๆ
มีฉากหนึ่งที่ใช้การแอบถ่าย เก็บ reaction ของผู้คนจริงๆตามท้องถนน คือตอนที่ Chillum เสียชีวิต และเด็กๆแห่ศพของเขาไปรอบๆเมือง ถ้าสังเกตให้ดีเหมือนกล้องจะหลบอยู่ในห้องๆหนึ่ง แล้วแพนตามขณะที่เด็กๆแห่ศพผ่านไป ผู้คนที่ออกมายืนดูนั่นคือคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นจริงๆ พวกเขากลายเป็นตัวประกอบหนังฟรีๆโดยไม่รู้ตัวเลย
ตัดต่อโดย Barry Alexander Brown (Malcolm X -1992) คนนี้ปกติเป็นขาประจำของผู้กำกับ Spike Lee นะครับ เห็นทำหนังร่วมกันอยู่หลายเรื่องทีเดียว, สำหรับหนังเรื่องนี้ ด้วยความที่ถ่ายแต่ละวันไม่ซ้ำสถานที่เดิม มีฉากซ้ำๆไม่กี่ฉากเท่านั้น (เช่น ห้องของ Baba และ Sweet 16) ทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสเห็นสถานที่ต่างๆของ Mumbai ได้โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน (แต่ส่วนใหญ่เป็นสถานที่อโคจรเสียเยอะ)
เพลงประกอบโดย L. Subramaniam คนนี้เชี่ยวชาญเพลงสไตล์ตะวันตก กลิ่นอายเพลงประกอบของหนังเรื่องนี้จึงออกไปทาง modern และใช้เครื่องดนตรีฝั่งตะวันตก, จริงๆนี่ถือว่าแปลกอยู่นะครับ เพราะความที่หนังมีความสมจริง แต่กลับได้ยินเพลงประกอบ ที่ไม่ใช่เปิดจากวิทยุหรือร้องเล่นเต้นอยู่บ่อยครั้ง มีลักษณะสร้างบรรยากาศให้กับหนังไม่ได้สร้างอารมณ์ร่วม
เนื่องจากผู้กำกับหนังเป็นผู้หญิง ประเด็นโสเภณีที่เราเห็นในหนังจึงสามารถมองออกไปทาง Feminist ได้แบบชัดๆ คือเราจะรู้สึกสงสารและเหมือนจะเข้าใจความรู้สึกของเธอ, มีผู้หญิง 2 คนในหนังซึ่งแสดงถึงวิถีของคนที่เข้ามาอยู่ใน Mumbai คนหนึ่งที่ถูกเมืองนี้กลืนกินไปแล้ว มีลูกสาว และมีชีวิตโดยคิดว่าที่นี่คือทุกสิ่งอย่าง, ส่วนอีกคน เพิ่งเข้ามา (ถูกขายให้เป็นโสเภณี) พยายามต่อสู้ ดิ้นรน ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาของตน, ผลลัพท์ตอนจบปรากฎว่า ผู้หญิงคนแรกพอสูญเสียลูกไป ก็ระลึกได้ ว่านี่ไม่ใช่ paradise ของเธอ จึงเก็บข้าวของเตรียมหนีออกไป ส่วนผู้หญิงคนที่สอง กลับค่อยๆปล่อยตัวปล่อยใจ ยอมรับ และให้ Mumbai ค่อยๆกลืนกินกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง
ประเด็นหลักในหนังเรื่องนี้ เป็นคำถามที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ผู้ชมจะสามารถตระหนักได้อยู่ในใจ ‘เราควรจะแก้ปัญหากับเด็กพวกนี้อย่างไร?’ ซึ่งหนังก็ไม่มีคำตอบให้ด้วยนะครับ แค่นำเสนอว่ามีแนวทางอะไรบ้าง อาทิ สถานรับเลี้ยงเด็ก กระนั้นมันก็ดูเหมือนคุกเสียมากกว่า ไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ หรือแก้ปัญหาสังคมได้แม้แต่น้อย, การหาคนมารับเลี้ยง แต่ก็ใช่ว่าจะมีคนที่เสียสละมากเพียงพอที่พร้อมจะรับเลี้ยงเด็กทุกคน (และใช่ว่าทุกคนที่รับเลี้ยงจะเป็นพ่อแม่ที่ดีด้วย) ฯ ตอนจบของหนังคือการนั่งรอคอยความหวังที่ไม่รู้ว่าจะมีหรือเปล่า และลูกข่างคือการละเล่นหมุนๆ เหมือนชีวิตที่เวียนวน เกิดขึ้นซ้ำๆเป็นวัฎจักรไม่รู้จักจบสิ้น
ส่วนตัวแล้ว บอกตามตรงผมไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ยอมรับว่าหนังทำออกมาได้ยอดเยี่ยมสมจริง น่าสใจ ที่ไม่ชอบหนังเพราะรสสัมผัสของผมมันรับรู้ได้เกินจริงไปเสียหน่อย เลยดูแล้วรู้สึกสะอิดสะเอียนยังไงไม่รู้บอกไม่ถูก คือมันอึดอัด ทรมาน และมืดมน มองไม่เห็นเป้าหมายปลายทาง, โดยเฉพาะตอนจบปลายเปิดของหนัง ที่สร้างความว้าวุ่นให้กับผมอย่างมาก เพราะก็ไม่สามารถคิดหาทางออกหรือข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหานี้ได้เลย จนปัญญาจริงๆ
ผมมองปัญหาของเด็กพวกนี้ ถือว่าเป็น ‘ปลายเหตุ’ นะครับ จุดที่ควรแก้กันจริงๆคือต้นเหตุ ทำไมพ่อแม่ถึงทอดทิ้งลูก? อาจเพราะสาเหตุความยากจน ความไม่พร้อม ฯ แล้วจะแก้ต้นเหตุนี้ยังไง …. ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว ต้นเหตุก็กว้างมาเหลือเสียเหลือเกินจนหาทางแก้ไขไม่ได้, ตอนจบแบบนี้ถือว่าลงตัวมากๆ เพราะยิ่งคิดมันก็ไม่เจอคำตอบใดๆ แต่มันสร้างความหงุดหงิดใจให้กับผมสุด
ถ้าคุณเป็นคนมีอำนาจ เงินทอง หรือตำแหน่งอะไรที่สามารถแก้ไขบางอย่างได้ ฝากให้หันมาแลตรงนี้สักนิดนะครับ คือถ้ามันแก้ต้นเหตุไม่ได้ ก็แก้ที่ปลายเหตุนะแหละ อาจช่วยแก้ปัญหาได้เล็กน้อย ก็ดีกว่าปล่อยปละละเลยทอดทิ้งพวกเขาไปนะครับ เพื่อนร่วมโลกเหมือนกัน สงเคราะห์กันบ้างก็ยังดี ถ้าดูหนังเรื่องนี้จบแล้วไม่รู้สึกอะไร แสดงว่าความเป็นมนุษย์ของคุณลดลงต่ำมากๆ
เกร็ด: Salaam แปลว่า สวัสดี นะครับ ไม่ได้แปลว่า สลัม ชื่อหนังแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Greetings Bombay!
หนังได้เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้มา 2 รางวัลคือ Audience Award (โหวตโดยผู้ชมทั่วไป) และ Golden Camera (ถ่ายภาพยอดเยี่ยม), ได้เข้าชิง Oscar, Golden Globe, BAFTA, César Award สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่ไม่ได้สักรางวัล (Oscar แพ้ให้กับ Pelle the Conqueror หนังจากประเทศ Denmark)
ในประเทศอินเดีย หนังได้ 2 รางวัล National Film Award
– Best Feature Film in Hindi
– Best Child Artist (Shafiq Syed)
แนะนำกับนักสังคมสงเคราะห์ และคนที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย หนังเรื่องนี้จะทำให้คุณตั้งคำถาม เราจะแก้ปัญหาสังคมนี้อย่างไร?, ต้องดูเลยสำหรับคนที่อยากไปอินเดีย โดยเฉพาะ Mumbai (Bombay) หนังจบแล้วคุณอาจจะไม่อยากไป แต่ที่ผมแนะนำให้ดูเพื่อ ‘ระวังตัว’ และเข้าใจวิถีของเมืองนี้นะครับ, คนที่ชอบหนังแนวดราม่า กึ่งสารคดี สะท้อนภาพสังคม หนังเกี่ยวกับเด็ก ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ ถึงจะมีเด็กนำแสดง แต่ใช่ว่าพวกเขาเหมาะที่จะดูหนังเรื่องนี้นะ โสเภณี ยาเสพติด ฆาตกร
Leave a Reply