Salò

Salò, or the 120 Days of Sodom (1975) Italian : Pier Paolo Pasolini ♥♥♡

ผลงาน Swan Song ของผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini ดัดแปลงจากวรรณกรรมชิ้นเอกของ Marquis de Sade ผู้ให้กำเนิดคำว่า Sadism ทำการสะท้อนเสียดสี ตีแผ่ความสุดโต่ง คอรัปชั่นคดโกงกินของชนชั้นปกครอง ต่อประชาชนคนทั่วไปผู้มิอาจโต้ตอบต่อกรทำอะไรได้ ช่างเป็นทรมานบันเทิงที่หาความเริงรมณ์ไม่ได้สักนิด

ส่วนใหญ่ของคนที่ใคร่รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ มักคือพวกอยากรู้อยากลอง ได้ยินกิตติศัพท์เลื่องลือนามถึงความเป็น ‘หนังต้องห้าม’ หรือ Snuff Film ท้าทายตนเองจักสามารถอดทนต่อความคลุ้มคลั่ง โรคจิต ซาดิสต์ ได้มากน้อยเพียงใด

ถือเป็นความโชคร้ายของผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini เพราะนี่หาใช่ความประสงค์ต้องการแท้จริงของเขาไม่ ถ้าคุณมีความสามารถในการเข้าใจงานศิลปะ ติดตามรับชมผลงานมาต่อเนื่องตั้งแต่เรื่องแรกๆ น่าจะพอรับรู้เป้าหมาย ตัวตน ความสนใจ เพราะเหตุใดถึงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าวิกลจริตคิดสร้างหนังสนองคนโรคจิต คงมีแต่พวกผิดปกติเท่านั้นแหละจะมองสุขนาฏกรรมอเวจี คือเรื่องราวสนองกิเลสตัณหาพึงพอใจของตนเอง

Salò, or the 120 Days of Sodom คือภาพยนตร์เรียกได้ว่า High Art งานศิลปะขั้นสูง เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ‘Abstraction’ แอบแฝงซ่อนเร้น ความหมายสุดลึกล้ำ มองด้วยตาสัมผัสด้วยใจยังมิอาจจับต้องได้ ต้องใช้สมองครุ่นคิดวิเคราะห์ค้นหาคำตอบ ศึกษาเรียนรู้จักตัวตนของผู้สร้าง ถึงมีโอกาสเข้าถึงอาณาจักร Sodom (และ Gomorrah) นครคนบาปอ้างจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล พันธสัญญาเดิม หนักแผ่นดินจนถูกธรณีสูบกลายเป็นทะเลสาปชื่อ Dead Sea

โดยไม่รู้ตัวระหว่างรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมนึกถึงผู้กำกับ Michael Haneke ขึ้นมาทันที ได้ยินว่ายกให้ Salò คือหนึ่งในหนังเรื่องโปรด นั่นหาใช่ความน่าแปลกประหลาดแม้แต่น้อย เพราะถ้าใครเคยรับชม Funny Games (1997) น่าจะล่วงรู้ถึงอิทธิพลแรงบันดาลใจ แฝงแนวคิดนัยยะความหมายไว้อย่างลุ่มลึกล้ำ ภายในเปลือกคล้ายคลึงกันมากทีเดียว

Pier Paolo Pasolini (1922 – 1975) ผู้กำกับ กวี นักคิด นักเขียน สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Bologna, Kingdom of Italy เมืองแห่งนักการเมืองซ้ายจัด พ่อเป็นทหารเล่นพนันจนติดหนี้ติดคุกกลายเป็น Fascist ตัวเขาเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ชื่นชอบวรรณกรรมของ Dostoyevsky, Tolstoy, Shakespeare, Coleridge, Novalis เลยไม่ค่อยสนใจศาสนาสักเท่าไหร่ โตขึ้นเข้าเรียน Literature College หลงใหลในปรัชญา สุนทรียศาสตร์ และศิลปะที่เป็นรูปเป็นร่าง, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จับได้ใบแดงกลายเป็นทหาร ไม่ทันไรถูกคุมขังในค่ายกักกัน German Wehrmacht โชคดีสามารถปลอมตัวหลบหนีออกมาได้สำเร็จ แอบทำงานเป็นครูสอนหนังสือแล้วตกหลุมรักลูกศิษย์ชายคนหนึ่ง นั่นทำให้เขารู้ตัวเองครั้งแรกว่าเป็นเกย์

หลังสงครามโลกสิ้นสุดเข้าร่วมพรรค Italian Communist Party เพราะคาดหวังจะสามารถนำพาสิ่งใหม่ๆเข้ามาบริหารประเทศ แต่ช่วงฤดูร้อนปี 1949 ถูก Blackmail ให้ต้องถอนคำพูดไม่เช่นนั้นจะถูกขับออกจากงานสอนหนังสือ ถึงกระนั้นเขาก็ถูกไล่ออกอยู่ดีเพราะให้เด็กวัยรุ่นสามคนดื่มเหล้าเมามาย (ก่อนถึงวัย) ทั้งยังขอให้ช่วยตนเองให้ เมื่อเรื่องราวใหญ่โตเจ้าตัวก็ยืดอกยอมรับอย่างพึ่งพาย แล้วไถลสุนทรพจน์ไปว่าแสดงออกเช่นนั้นเกิดจาก ‘literary and erotic drive’

เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงโรม ทำงานเป็นครูสอนหนังสือ เขียนนิยายเรื่องแรก Ragazzi di vita (1955) ประสบความสำเร็จแต่ได้รับเสียงวิจารณ์ย่ำแย่เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวอนาจาร, ต่อมาตีพิมพ์บทกวีลงนิตยสาร Officina, ร่วมเขียนบทพูด Nights of Cabiria (1957), La Dolce Vita (1960) ของ Federico Fellini จนได้กำกับหนังเรื่องแรก Accattone (1961) ออกฉายไม่ทันไรถูกกลุ่ม neo-Facist ก่อการจราจล จนถูกถอดถอนออกจากโรงภาพยนตร์, ตามด้วย Mamma Roma (1962) ย้อนรอย Rome, Open City (1945) นำเสนอสภาพกรุงโรม 15-16 ปี หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง, The Gospel According to St. Matthew (1964) ชีวประวัติพระเยซูคริสต์ ในมุมคนนอกศาสนา

ความสนใจของ Pasolini มักแฝงแนวคิดทัศนคติเกี่ยวกับการเมือง สภาพสังคม คนชนชั้นล่าง ในช่วงแรกๆก็ประเทศอิตาลียุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อผ่านไปกว่าสองทศวรรษเริ่มเบื่อหน่ายหมดสิ้นหวัง เพราะอะไรๆยังคงเวียนวนซ้ำรอยเดิมไม่ก้าวหน้าไปไหน เบี่ยงเบนหนีไปสร้าง Trilogy of Life สะท้อนความคอรัปชั่นภายในจิตใจมนุษย์ที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง Middle Age, Italian Renaissance

“In the end, I forgot what Italy was like up to about a decade ago, or less even. And then, because I lacked an alternative, I wound up accepting what Italy has become, an enormous serpent’s nest where, apart from a few exceptions and some wretched elites, all the others are nothing more nor less than stupid, ferocious, indistinguishable, ambiguous, and nasty serpents.”

ภายหลังจากเสร็จสิ้น Arabians Night (1974) หวนกลับมามองสภาพประเทศบ้านเกิดอีกครั้ง แปรสภาพกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ตนเองแทบจดจำไม่ได้ เฉกเช่นนั้นแล้วอนาคตดำเนินต่อไปในทิศทางเช่นไร คงไม่มีประโยชน์อะไรจะทำการคาดเดา หรือสะท้อนเสียดสี ‘ปัจจุบัน’ ด้วยเหตุนี้จึงได้ครุ่นคิดและค้นพบโลกทัศนคติใหม่

“artists must create, critics defend, and democratic people support . . . works so extreme that they become unacceptable even to the broadest minds of the new State”.

เมื่อไหร่ที่งานศิลปะมีความสุดโต่งจนคนทั่วไปไม่สามารถยินยอมรับได้ จะก่อให้เกิดบรรทัดฐาน/โลกทัศน์ใหม่ สร้างอิทธิพลต่อผู้มีความเข้าใจในแนวคิดวิถีทางเดียวกัน ร่วมด้วยช่วยสานต่อยอดองค์ความรู้ ให้คนรุ่นถัดมาค่อยๆปรับตัวหา จนที่สุดเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงในทิศทางสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้

“Sadomasochism is an eternal characteristic of man. It existed during de Sade’s time, and it exists now. But that’s not what matters most…The real meaning of the sex in my film is as a metaphor for the relationship between power and its subjects.”

ร่วมงานกับ Sergio Citti (1933 – 2005) นักเขียน/กวี หนึ่งในเพื่อนสนิทของ Pasolini ดัดแปลง Les Cent-Vingt journées de Sodome ผลงานชิ้นเอกของ Donatien Alphonse François de Sade หรือ Marquis de Sade (1740 – 1814) นักเขียน นักการเมือง นักปรัชญา ชนชั้นสูง สัญชาติฝรั่งเศส เพราะแนวคิดที่สุดโต่ง จึงมักถูกจับขังคุก/อาศัยอยู่โรงพยาบาลบ้า รวมๆแล้วกว่า 32 ปี ใช้เวลาระหว่างนั้นเขียนนิยายขึ้นหลายเรื่อง มุ่งเน้น(โหยหา)เสรีภาพสุดโต่ง ไม่จำกัดด้วยจริยธรรม ศาสนา หรือกฎหมาย มุ่งเน้นสุขารมณ์ส่วนตัวเป็นหลักใหญ่

สำหรับ The 120 Days of Sodom, or the School of Libertinage (หนึ่งร้อยยี่สิบวันที่โซโดม) Sade ใช้เวลาเขียน 37 วัน เมื่อปี 1785 ระหว่างถูกคุมขังยังคุก Bastille ลงในกระดาษม้วนที่ลักลอบนำเข้ามา แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส French Revolution ต่อการทลายคุก Bastille เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 เลยคาดการณ์กันว่า ผลงานนี้คงถูกขโมยหรือสูญหายไปแล้วชั่วนิรันดร์ เกือบๆศตวรรษถัดมาถึงได้รับการค้นพบ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1904

เรื่องราวของ 4 ชายชนชั้นฐานะสูงวัย เลือกเหยื่อทั้งหมด 36 คน ประกอบด้วย
– 4 โสเภณีหญิงกลางคน มีหน้าที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับความวิตรฐานของตนเอง
– 8 นักเรียนหนุ่ม (Studs) เลือกเพราะมีอวัยวะเพศขนาดใหญ่
– 4 หญิงชราหน้าตาหน้าเกลียด ให้ควบคุมดูแลเด็กๆ
– 4 ลูกสาวของ 4 ชายชนชั้นฐานะสูงวัย
– และ 16 เด็กชาย-หญิง อายุระหว่าง 12-15 ปี

ทั้งหมดอาศัยอยู่ร่วมกันในคฤหาสถ์ห่างไกลที่ Black Forest ระยะเวลา 4 เดือน (ประมาณ 120 วัน) กิจกรรมหลักๆคือรับฟังเรื่องเล่าประสบการณ์ พฤติกรรมแสดงออกอันผิดมนุษย์มนาของ 4 โสเภณีหญิงกลางคน แล้วให้ทาสหนุ่ม-สาวปฏิบัติตามคำสั่ง

ลักษณะของนิยาย วันหนึ่งจะมีทั้งหมด 5 เรื่องเล่า รวมแล้วเดือนละ 150 เรื่อง และด้วยระยะเวลา 4 เดือน สามารถแบ่งออกได้เป็น
– เดือนพฤศจิกายน Simple Passion: มักเป็นเรื่องเล่าธรรมดาทั่วไป อาทิ สัมผัสลูบไล้ (Fetish), ช่วยตนเองต่อหน้าเด็ก, กินฉี่ ฯ
– เดือนธันวาคม Complex Passion: มีความรุนแรงขึ้น อาทิ ข่มขืน, ลงแส้, Incest, ร่วมรักกับแม่ชีขณะทำพิธีมิสซา, เด็กหญิงถูกเปิดบริสุทธิ์ ฯ
– เดือนมกราคม Criminal Passion: ถึงระดับอาชญากรรมร่วมด้วย อาทิ รวมกลุ่มกันข่มขืนเด็กสามขวบ, มีการทรมานดึงเล็บ ตัดนิ้ว ใช้ไฟจี้รน ฯ
– เดือนกุมภาพันธ์ Murderous Passion: ถลกหนัง, ทำให้หญิงท้องแท้ง, ฆาตกรรมทารกแรกเกิดต่อหน้าแม่, เผาทั้งครอบครัว ฯ

เปลี่ยนแปลงพื้นหลังจากฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 18 มาเป็นช่วงปี 1943-45 วันท้ายๆในอำนาจของท่านผู้นำเผด็จการ Benito Mussolini ตอนนั้นย้ายฐานที่มั่นเมืองหลวงมายัง Republic of Salò และเป็นได้เพียงรัฐบาลหุ่นเชิดของ Nazi, Germany, อีกเหตุผลหนึ่งของการเลือกสถานที่นี้ เพราะในความทรงจำของ Pasolini พี่ชายตนเองถูกเข่นฆ่าเสียชีวิตยัง Salò คงประมาณว่าโคตรเกลียดที่นี่เลยละ!

และรูปแบบการดำเนินเรื่อง แบ่งออกเป็น 4 ตอน/องก์ รับแรงบันดาลใจจาก Divine Comedy ไตรภูมิดันเต เป็นวรรณกรรมอุปมานิทัศน์ของ Dante Alighieri เขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1308 จนกระทั่งเสียชีวิต ค.ศ. 1321 ถือเป็นกวีนิพนธ์สำคัญของวรรณกรรมอิตาลีและเป็นหนึ่งในงานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของวรรณกรรมของโลก, ประกอบด้วย
– Anteinferno, เริ่มต้นปี 1944 ณ Republic of Salò สี่ชายชนชั้นฐานะสูงวัย ประกอบด้วย The Duke, The Bishop, The Magistrate และ The President ตกลงแต่งงานกับลูกสาวของแต่ละคนเพื่อเริ่มต้นพิธีกรรม จากนั้นออกเดินทางค้นหาเหยื่อทั้งหมด 36 คน
– Circle of Manias/Girone delle Manie, เริ่มต้นกิจกรรมช่วงแรก มุ่งเน้นความขายหน้าเป็นหลัก อาทิ ให้สี่ลูกสาวเปลื้องผ้าเสริฟอาหาร, จับข่มขืน ร่วมรักทางทหารหนัก, สอนช่วยตัวเอง, จับสองคนแต่งงาน กอดจูบร่วมรักต่อหน้าผู้อื่น, เดิน/เห่าหอน/กินเหมือนหมา, ใช้แส้เฆี่ยนตี, ทานอาหารที่มีเข็มซ่อนอยู่ ฯ
– Circle of Shit/Girone della Merda, เมื่อเด็กหญิงคนหนึ่งร้องไห้เพราะคิดถึงแม่ เลยถูกบีบบังคับให้กินขี้ของ The Duke จากนั้นอาหารมื้อถัดไปก็รับประทานขี้ของตนเอง, ช่วงท้ายคือประกวดก้นสวย ผู้ชนะจะถูกฆ่าตายทันที
– Circle of Blood/Girone del Sangue, เริ่มต้นจากการแต่งงาน เสียความบริสุทธิ์ทางทวารหนัก จากนั้นไล่หาบุคคลผู้กระทำผิดกฎ หลังจากเข่นฆ่าคนหนึ่งเสียชีวิต เริ่มต้นใช้ความรุนแรง ถลกหนังศีรษะ, ไฟลนไข่, เหล็กจี้หัวนม, ข่มขืนแล้วฆ่า ฯ

สำหรับนักแสดง ตอนแรก Pasolini ต้องการขาประจำหน้าคุ้นเคย อาทิ Ninetto Davoli, Franco Citti, Laura Betti แต่ทั้งหมดล้วนติดภารกิจแสดงภาพยนตร์เรื่องอื่น เลยจำต้องเลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่ๆ

หลายคนอาจคิดว่าบรรยากาศในกองถ่ายต้องตึงเครียดมากแน่ๆ เพราะเรื่องราวมีความบ้าคลั่งเสียสติแตกรุนแรงเหลือเกิน แต่แท้จริงแล้วจากบทสัมภาษณ์ของหนึ่งในนักแสดง Hélène Surgère เล่าถึงการทำงานว่ามีความครึกครื้นเครงเป็นกันเองอย่างมาก เพราะทุกคนต่างเปลือยกายเลยไม่มีความจำเป็นใดๆต้องละอาย แถมวันๆก็มีเกมเล่นกลั่นแกล้งกันอย่างสนุกสนาน แทบทุกอย่างเตี้ยมกันมา ก้อนขี้ที่มองดูแหวะๆก็แค่คำแรกๆ หลังจากนั้นก็หมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็วไว

เกร็ด: ก้อนขี้ ทำมาจากช็อกโกแล็ต ผสมแยมเปลือกส้ม คลุกเคล้าด้วยอะไรอีกสองสามอย่าง เห็นว่าอร่อยเหาะเลยละ

แซว: เนื่องจากกองถ่ายหนังเรื่อง 1900 (1976) ของผู้กำกับ Bernardo Bertolucci อยู่ใกล้ๆกัน นักแสดง/ทีมงานทั้งสองเรื่องจึงมักไปมาหาสู่ มีงานเลี้ยงปาร์ตี้ นัดเตะฟุตบอลอย่างครื้นเครง

ถ่ายภาพโดย Tonino Delli Colli (1923 – 2005) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Pasolini และ Sergio Leone ผลงานระดับตำนาน อาทิ The Gospel According to St. Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968),  Death and the Maiden (1990), Bitter Moon (1991), Life Is Beautiful (1997) ฯ

สถานที่ถ่ายทำ ภายนอกถ่ายทำยัง Villa Aldini แถวๆเทือกเขา Bologna, Villa Gonzaga-Zani ที่ Villimpenta, ส่วนฉากภายใน สร้างขึ้นที่สตูดิโอ Cinecittà เพราะคงไม่มีเจ้าของคฤหาสถ์แห่งไหนยินยอมให้ใช้ถ่ายทำฉากโป๊เปลือยโจ๋งครึ่มขนาดนี้แน่

ห้องนั่งเล่น พื้นผนังสีแดงเลือดหมู ประดับตกแต่งโดยรอบด้วยภาพวาด Surrealist และโคมไฟห้อยทรงกลมสไตล์ Neo-Classic นักแสดงนั่งยืนจับจ้องมองกึ่งกลางหน้าห้อง ทุกวันจะมีเรื่องเล่าอะไรใหม่ๆ ประกอบคลอเสียงเปียโนนุ่มๆ

ห้องกิจกรรม โคมไฟทรงแหลมสไตล์ Neo-Classic อีกเช่นกัน ผนังสีเทาหม่นๆ พื้นปูด้วยพรมลวดลายเป็นเส้นๆ ประกอบด้วย สี่กระจกขนาดใหญ่ตั้งคู่ขนาน (มีอีกสองบานหลบอีกฝั่งหนึ่ง) หกประตูฝั่งละสามซ้ายขวา ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีแต่งงาน, ประกวดก้นงาม ฯ

ห้องอาหารจะเล็กๆแออัดหน่อย ช่องลมแค่อันเดียว ผนังสีน้ำตาลอ่อนๆ (พร้อมภาพวาด Surrealist อยู่อีกมุมหนึ่งของห้อง) พื้นปูด้วยอิฐหกเหลี่ยม รายล้อมห้องด้วยโต๊ะอาหารรูปตัวยู

ห้องนอนของทาสหนุ่ม-สาว ถึงดูไม่ค่อยน่าอยู่เท่าไหร่ แต่ผนังสีเขียวอ่อน ดูสดชื่นแตกต่างจากห้องเชือดอื่นๆ

ห้องนั่งเล่นของสี่ชายชนชั้นฐานะสูงวัย ประกอบด้วยเก้าอี้ โซฟา กระจกบานใหญ่ และภาพวาดฝาผนัง ไม่แน่ใจเท่าไหร่คล้ายผลงานของใคร แต่ดูเหมือนหญิงสาวโป๊เปลือยร่วมรัก

ทิ้งท้ายกับห้องน้ำแล้วกันนะ จะต้องมีรูปปั้นพระคริสต์/พระแม่มารีย์ เฝ้าอยู่ด้านหน้าเสมอ ขณะที่ผนังปูด้วยลวดลายตราหมากรุก สีเขียว (คล้ายๆกับห้องนอน คงจะสื่อถึงความเป็นส่วนตัวขึ้นมาสักหน่อย)

ตัดต่อโดย Nino Baragli (1925 – 2013) ยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Pasolini และ Sergio Leone อาทิ The Gospel According to Saint Matthew (1964), The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968) ฯ

หนังเน้นการถ่ายทำด้วยปริมาณฟุตเทจจำนวนมาก แล้วค่อยนำไปคัดเลือกสรร ร้อยเรียงสร้างเรื่องราวขึ้นช่วงขณะการตัดต่อ แต่ก็ไม่ถือว่าใช้มุมมองของใครเป็นพิเศษ เหมารวมคือ สี่ชายชนชั้นฐานะสูงวัย

ตอนเริ่มต้นถ่ายทำ Pasolini ยังไม่ได้ครุ่นคิดว่าจะให้ตอนจบเป็นเช่นไร ถ่ายทำไว้ทิ้งไว้ทั้งหมด 4 แบบ
– จบด้วยธงสีแดงโบกสะบัดพัด พร้อมข้อความภาษาอิตาเลี่ยน Love You
– นักแสดงทุกคน รวมถึงผู้กำกับ ร่วมวงกันเต้นรำในห้องที่ประดับด้วยธงสีแดง
– หลังจากทัณฑ์ทรมานสิ้นสุด สี่ชายชนชั้นฐานะสูงวัยเดินออกจากบ้านไป
– และที่ใช้ในหนังตั้งชื่อว่า Margherita สองทหารหนุ่มลุกขึ้นมาเต้นลีลาศอย่างผ่อนคลาย

สำหรับเพลงประกอบ Ennio Morricone เรียบเรียงเปียโนมอบให้ Arnaldo Graziosi เป็นผู้บรรเลง, ด้วยสัมผัสล่องลอยไปเรื่อยเปื่อยเหมือนคนไร้ซึ่งจิตวิญญาณ สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความหลอกหลอนสั่นสะพรึง เป็นการสร้างบรรยากาศประกอบการเล่าเรื่องที่ชวนให้ขนลุกขนพอง สยดสยองสิ้นดี!

เกร็ดอันน่าทึ่งของ Arnaldo Grazios: เมื่อปี 1945 ขณะอายุ 32 ถูกจับตั้งข้อหาฆาตกรรมภรรยาที่โรงแรม Fiuggi แม้ว่าตัวเขาจะยืนกรานไม่ได้ทำ แต่ศาลไม่เชื่อว่าเธอจะฆ่าตัวตายแน่ เลยถูกถูกตัดสินจำคุก 24 ปี ใช้เวลาอยู่ในนั้นอุทิศตนแต่งเพลงประกอบสารคดีหลายเรื่อง จนได้รับการปล่อยตัวสิงหาคม 1959 จากคำร้องขอต่อศาลของลูกสาวเมื่อครบวัย 17 ปี

ก็ว่าอยู่ทำไมบทเปียโนประกอบหนัง ถึงมีสัมผัสอันสั่นสะพรึงเช่นนั้น คงใส่จิตวิญญาณ ประสบการณ์ ความรู้สึกส่วนตนลงไปอย่างเต็มเปี่ยม โลกที่รอบข้างคือกำแพงมืดมิด ไร้ความหวัง หนทางออกนอกจากแสงสว่างสาดส่องลงมาจากหน้าต่าง (ชวนให้ผมนึกถึงบทเพลงความฝันกับจักรวาล ของ Bodyslam ขึ้นมาเลย)

ขณะที่บทเพลงอื่นๆ อาทิ
– Carl Orff: Carmina Burana ท่อนสาม Veris Laeta Facies
– Frédéric Chopin: Prelude in E Minor Op. 28 No. 4
– Frédéric Chopin: ‘Valse brillante’ in A Minor Op. 34 No. 2
– Johann Sebastian Bach: Pastorale in F major, BWV 590

นำ Carmina Burana ฉบับที่ใช้ในหนังมาให้รับฟัง นี่เป็นช่วงขณะทัณฑ์ทรมาน แม้จะเพียงจับจ้องมองผ่านกล้องส่องทางไกล ไม่ได้ยินเสียงโหยหวนกรีดร้อง แต่กลับบีบคั้นจิตวิญญาณให้รวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัส ฆ่ากันให้ตายเสียยังดีกว่า! ถือเป็นบทเพลงเสียงเพรียกจากขุมนรกโดยแท้

บทเพลงตอนจบ Son Tanto Triste แต่งโดย Franco Ansaldo กับ Alfredo Bracchi เรียบเรียงใหม่โดย Ennio Morricone, กับคนไม่เคยรับชมหนังเรื่องนี้ ย่อมจินตนาการถึงรุ่งอรุณอันหอมคุกรุ่น สัมผัสลูกทุ่งชนบท ชีวิตเต็มไปด้วยความเพลิดเพลินสำราญกาย ผ่อนคลายจิตใจ

ได้ยินบทเพลงนี้ชวนให้หวนระลึกถึงหนังหนังเรื่อง Cannibal Holocaust (1980) หลังจากผ่านนรกมาอย่างโชกโชติ นี่คือารมณ์พักผ่อนคลาย ให้สามารถปลดปล่อยวางความหนักอึ้งทุกสิ่งอย่างลงได้ ตอน Opening Credit ก็ใช้บทเพลงนี้เช่นกันนะ

เริ่มต้นที่จะทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ ให้สังเกตการแบ่งระดับชนชั้นของตัวละครทั้งหลาย

เริ่มจากเจ้านาย (Masters) บุคคลผู้มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด
– The Duke (รับบทโดย Paolo Bonacelli) ร่างกายสูงใหญ่ไว้หนวดดก เป็นคนชาตินิยม และโคตรซาดิสต์ หลงใหลการทรมานหญิงสาวให้อับอายขายหน้า กินขี้ ฉี่ใส่หน้า ช่วงท้ายแสดงความหลงใหลชายหนุ่มด้วยเช่นกัน
– The Bishop (รับบทโดย Giorgio Cataldi) น้องชายของ The Duke เป็นอีกคนที่โคตรซาดิสต์ เสนอแนะให้ฆ่าคนก้นงาม ชื่นชอบประตูหลัง ทำตัวเนียนเป็นบาทหลวง
– The Magistrate (รับบทโดย Umberto Paolo Quintavalle) ชายไว้หนวด หัวล้าน เป็นคนเข้มงวดต่อกฎอย่างมาก ชอบใช้แส้ความรุนแรง รวมถึงเป็นคนนำเข็มยัดใส่อาหารให้หญิงสาวกิน และเป็นคนจดบันทึกชื่อของคนกระทำความผิด
– The President (รับบทโดย Aldo Valletti) เป็นคนตาเข ร่างกายดูอ่อนแอ แต่ชื่นชอบการถูกทรมาน หลงใหลในการร่วมรักทางทวหารหนัก ชอบเสนอแนะหลายๆวิธีการทรมาน

สี่ชายชนชั้นฐานะสูงวัยแทนด้วย คนชนชั้นสูง, บาทหลวง (ศาสนา), ผู้พิพากษา และผู้นำประเทศ ชื่นชอบการออกคำสั่ง กระทำทารุณกรรมต่อบุคคลอื่น ไม่สนถูกผิดศิลธรรม ทุกอย่างต้องเป็นไปในความพึงพอใจสูงสุดของตนเองเท่านั้น ไม่มีใครคิดขัดขืนต่อต้าน (คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะถูกลงโทษทัณฑ์ เข่นฆ่าตายอย่างสาสม)

สี่โสเภณีหญิงวัยกลางคน ถือเป็นผู้เล่าเรื่อง
– Signora Vaccari (รับบทโดย Hélène Surgère) เล่าเรื่องขณะ Circle of Manias เป็นคนสุภาพมีชีวิตชีวา เคยถูกลวนลามตั้งแต่เด็กกลับชื่นชอบหลงใหล เป็นคนสอนวิธีช่วยตนเองกับหุ่น
– Signora Maggi (รับบทโดย Elsa De Giorgi) เล่นเรื่องขณะ Circle of Shit เป็นคนไร้ยางอาย ชื่นชอบการให้ผู้อื่นจับจ้องมองตนเอง รวมถึงเสนอแนะเรื่องการรับประทานอุจจาระเป็นอาหาร
– Signora Castelli (รับบทโดย Caterina Boratto) เล่าเรื่องขณะ Circle of Blood เป็นคนที่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี ชื่นชอบใช้ความรุนแรงต่างๆนานา
– นักเปียโน (รับบทโดย Sonia Saviange) คาดว่าคงเก็บกดกับทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น สุดท้ายรับไม่ได้ฆ่าตัวตาย ณ วันสุดท้าย

สี่โสเภณีหญิงวัยกลางคนแทนด้วย ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี ฯ แม้จะอยู่ภายใต้ผู้นำทั้งสี่ แต่พวกเขาคือบุคคลกำหนดทิศทางของสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป/ทิศทางของประเทศชาติ มุ่งไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองหรือตกต่ำถึงขีดสุด ซึ่งสิ่งต่างๆที่นำเสนอออกมา ล้วนสนองตัณหาต้องการพึงพอใจของตนเองเท่านั้น ขณะที่ตัวละครหนึ่งช่วงท้ายตัดสินใจฆ่าตัวตาย คาดว่าคงคือละอายต่อทุกสิ่งอย่างที่เกิด

สี่ทหารหนุ่มถืออาวุธปืนข้างกายตลอดเวลา คัดเลือกจากมีอวัยวะเพศขนาดใหญ่โต นิยมชมชอบใช้กำลังแบบไม่สนเหตุอะไร ซาดิสต์ทั้งคำพูดข่มขู่ด่าทอ ใช้ความรุนแรง ถ่มน้ำลาย อยู่ดีๆลุกขึ้นมาข่มขืนผู้อื่น หนึ่งในนั้นร่วมรักกับ The Bishop ใช้เส้นสายให้ตนเองเอาตัวรอด, กลุ่มตัวละครนี้แทนด้วยชนชั้นทหาร ตำรวจ ใช้อำนาจข้ออ้างทางกฎหมายเพื่อกดขี่ข่มเหงประชาชนต่ำต้อยกว่า และขณะเดียวกันก็แอบมีเส้นสายกับผู้มีอำนาจ เพื่อใช้ต่อรองและปกป้องตนเองเมื่อเกิดปัญหาต่างๆขึ้น

(จะมีตัวละครหนึ่งช่วงท้าย ที่ The Duke จับอวัยวะเพศขณะพบเห็นทัณฑ์ทรมาน พบว่าลุกขึ้นชูชันเกิดอารมณ์พึงพองใจ พูดขึ้นว่า ‘นายพร้อมแล้วสินะ’ นี่สื่อถึงการสืบทอดอำนาจ บรรดาพวกผู้นำมักคัดเลือกบุคคลใหม่ที่สามารถสนองตนเองได้เท่านั้น!)

สี่ผู้ให้ความร่วมมือ แทนด้วยข้าราชการ เอกชนที่ให้ความสนับสนุนรัฐ บางครั้งได้ผลประโยชน์ บางครั้งเสียประโยชน์, หนึ่งในนั้นคือชายหนุ่มตกหลุมรักคนใช้ผิวสี เมื่อถูกจับได้จึงยินยอมพร้อมยอมตาย กำหมัดชูขึ้นเหนือศีรษะ ท่าสดุดีของ Socialist นัยยะนี้ตีความได้ว่า บุคคลผู้สามารถทำการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจได้ มักเริ่มต้นจากกลุ่มชนชั้นนี้ที่เกิดความขัดแย้งสูญเสียประโยชน์

สิบหกชายหนุ่ม-หญิงสาว, เหมารวมถึงประชาชนคนทั่วไป นักเรียนนักศึกษา ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์อะไรกับรัฐบาล/ผู้นำประเทศชาติ เป็นเหตุให้ต้องกินขี้กินเยี่ยว ทำทุกสิ่งอย่างตามทิศทางที่บุคคลเหล่านั้นกำหนดกฎกรอบไว้ให้ก้าวเดินตาม ไม่มีสิทธิ์ต่อต้านปฏิเสธ ขัดขืนเมื่อไหร่ถูกจดบันทึกความผิด สุดท้ายจักโดนลงโทษทัณฑ์อย่างสาสม

สี่ลูกสาวของสี่ชายชนชั้นฐานะสูงวัย ชะตากรรมเลวร้ายยิ่งกว่าสิบหกหนุ่ม-สาว เสียอีกนะ ถูกทำให้อับอายขายหน้า โดนข่มขืน ทรมาน เข่นฆ่าสารพัดวิธี นี่คงเปรียบได้กับชนชั้นทาส/จัณฑาล เกิดจากเชื้อสายชนชั้นสูง แต่ถูกฉุดคร่าลงมาให้ตกต่ำถึงขุมนรกไม่ได้ผุดเกิด แสดงสิทธิ์เสียงแต่ประการใด ก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เมื่อทำความเข้าใจระดับชนชั้นของตัวละครทั้งหลายได้แล้ว ต่อไปคือการกระทำแสดงออกของพวกเขา จะสามารถสื่อความหมายอะไรได้บ้าง, ตรงนี้จะขอพูดเฉพาะเหตุการณ์เด่นๆพอนะครับ

ข่มขืนทางทวารหนัก/เข้าประตูหลัง นี่เปรียบได้กับช่องทางที่ผิดปกติ (ปกติ Sex มันต้องอวัยวะเพศใช่ไหมละ) สื่อถึงการกระทำโดยไม่สนถูกต้อง เพื่อสนองความพึงพอใจของตนเองเท่านั้น ขณะที่ฝ่ายหญิงกรีดร้อง The President ที่โชว์ก้นให้ทุกคนชมแล้วถูกสวนทวาร กลับมีสีหน้าพึงพอใจสูงสุด (คือชื่นชอบการกระทำผิดช่องทางแบบนี้)

การแต่งงาน ร่วมรักต่อหน้าผู้อื่น, ทั้งๆที่พิธีกรรมนี้ควรเป็นเรื่องจริงจัง ในสถานที่แห่งความลับของหนุ่มสาว/ประชาชนคนทั่วไป แต่กลับถูกเปิดเผย ทำให้อับอาย บีบบังคับให้ทำตามคำสั่ง และเมื่อทนไม่ไหวแล้วก็เข้าไปร่วมแจม นี่สื่อถึงกิจกรรม/การงานต่างๆของคนชนชั้นล่าง อะไรที่เห็นแล้วมีอนาคต ได้รับผลประโยชน์ ก็จะรีบเข้าไปแก่งแย่งชิงครอบครองเป็นของตนโดยทันที

กินขี้, เป็นการสื่อตรงๆถึงสิ่งของไร้ค่าที่คนชนชั้นสูงส่งมอบให้ประชาชนคนทั่วไป (อาทิ GT-200, สนามบินรังนก, พรบ. โน่นนี่นั่น, เรือดำน้ำ ฯ) แล้วบีบบังคับให้ต้องบริโภคของห่วยๆ Junk Food ทุกสิ่งอย่างที่ป้อนให้นี้ ขณะที่ตนเองเสพสมสำราญอยู่สบายบนสรวงสวรรค์

แต่ก็มีบางคนผู้นำบางคนยินดีกับการบริโภคของห่วยๆนี้ เฉกเช่นเดียวกันนะครับ แต่เหมือนจะด้วยความใคร่อยากรู้อยากลองเสียมากกว่า

ประกวดก้นงามงอน, ผมมองคือการไล่เก็บ/ตรวจสอบ อาทิเช่น ภาษีย้อนหลัง, ตรวจสอบภายใน (แผนก Internal Affair), เพื่อไม่ให้ตนเองสูญเสียผลประโยชน์ (โดยอ้างประเทศชาติได้รับประโยชน์) ปกปิดใบหน้าเพื่อจะได้ไม่ลำเอียง ทีงี้อ้างความยุติธรรมในการตัดสิน!

การแต่งงานระหว่างคนชนชั้นสูง กับ Stud/ทหารหนุ่ม เงียบๆไม่ได้ต้องมีความใหญ่โตครึกครื้นเครง คนอื่นๆร่วมเป็นสักขีพยาน สวมชุดโก้หรูหราราคาแพงกว่าใคร

นักวิจารณ์ฝั่ง LGBT มักมองฉากนี้สื่อถึงแค่ความเป็นเกย์ของสี่ชายชนชั้นฐานะสูงวัย แต่ในการตีความสื่อถึง ใครก็ได้ที่ฉันได้รับผลประโยชน์ ไม่เจาะจงชาย-หญิง เพื่อน-ศัตรู เรียกว่ามีรูเอาได้หมด

กับคนที่สร้างความเสื่อมเสียผลประโยชน์ ซักทอดต่อไปเรื่อยๆ จะพบเห็นว่าเต็มไปด้วยหนอนบ่อนไส้ ประชาชนทั้งหลายต่างคิดคดทรยศ สนแค่ตนเองจะสามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ดังกล่าว ป้ายสีโยนขี้ใส่ความสู่บุคคลอื่น และผู้โชคร้ายสุดท้ายถือได้เป็นแพะรับบาป ถูกสังเวยชีพด้วยการยิงปืนสี่กระบอกรุมโทรม ทำเอาคนใช้ผิวสีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย (เป็นตัวแทนของบุคคลภายนอก) พลอยได้รับลูกหลงหมดสิ้นลมคาเก้าอี้นั่ง

ความบันเทิงเริงรมณ์ขั้นสูงสุดของคนชนชั้นสูง คือการจับจ้องเฝ้ามองดูผู้อื่น/ประชาชน (ผ่านกล้องส่องทางไกล) พบเห็นความทุกข์จากการถูกกระทำทรมานต่างๆนานา เกิดอารมณ์ทางเพศแข็งโป้ก นี่เรียกว่าไคลน์แม็กซ์สู่สรวงสวรรค์ชั้นเจ็ด

โอ้ลัลล้ากับท่าเต็น Can-Can Polka แบบสามหนุ่มสามมุม นี่เป็นการแสดงความหรรษารื่นเริง สุขกายอภิรมณ์ใจของพวกเขา ที่ได้พบเห็น/กระทำการ Sado-Maso ต่อผู้อื่น

ทำไมถึงเลือกตอนจบ ชายหนุ่มสองคนเต้นลีลาศ, ในโลกดั่งภาพยนตร์เรื่องนี้ กลุ่มคนที่ถือว่าได้รับผลประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่พวกชนชั้นสูงทำทุกอย่างสนองตัณหาของตนเอง ไม่ใช่ชนชั้นกลางต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ไม่ใช่ชนชั้นล่างถูกทัณฑ์ทรมานแสนสาหัส

แต่คือชนชั้นทหาร! ที่แม้งโคตรลัลล้าได้อย่างสุดๆเลย ตัวเองมีพลานุภาพอำนาจสามารถยึดครองประเทศได้ มีเส้นสายได้กับทั้งพวกสูง-ต่ำ แถมยังสามารถกดขี่ข่มเหงประชาชนได้แบบต้องสนถูกผิด … นี่ไม่ได้กล่าวอ้างพาดพิงถึงประเทศสารขัณฑ์เขตใดๆนะครับ

Salò, or the 120 Days of Sodom คือภาพยนตร์ที่ตีแผ่วงจรอุบาทว์ของสังคมมนุษย์ สร้างระบอบจุลภาคการใช้อำนาจปกครองในโลกปิด จำลองความรุนแรง Sex วิตถาร และ Sado-Maso สื่อนัยยะแทนการกระทำคอรัปชั่นต่างๆนานา ใครได้รับผลประโยชน์ ใครสูญเสียผลประโยชน์ ผู้ชมรู้สึกอย่างไร ในชีวิตจริงก็เป็นเช่นนั้นแหละ แต่เราส่วนใหญ่กลับไม่เคยครุ่นคิดทำความเข้าใจมันเลย

Pasolini นำพาผู้ชมเข้าทัวร์นครคนบาป Sodom (และ Gomorrah) เพื่อให้เกิดสำนึกเตือนสติ เปลี่ยนแปลงค่านิยมทัศนคติต่อโลก แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถมองเห็นนรก(บนดิน) บ้างอาจรับรู้แต่เพิกเฉยไม่สนใจ เฉกเช่นนั้นก็ทนกินขี้เยี่ยวไปแล้วกันนะ

น่าเสียดายความตั้งใจของ Pasolini ต้องการสร้างหนังเรื่องนี้เพื่อเปิดไตรภาคใหม่ ‘Trilogy of Dead’ ว่ากันว่าอีกเรื่องที่ครุ่นคิดวางแผนไว้ เกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องในตำนาน Gilles de Rais ฉายา Bluebeard

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 1975 พบศพ Pier Paolo Pasolini อวัยวะเพศถูกทบตีด้วยเหล็ก กระดูกหลายชิ้นแตกละเอียด (จากโดนรถบดทับ) รอยไหม้จากการเผาด้วยแก๊สโซลีน เสียชีวิตที่ริมหาด Ostia สิริอายุเพียง 53 ปี บ้างว่าเป็นความขัดแย้งกับคู่กรณีที่เป็นเกย์ บ้างว่ากลุ่มการเมืองที่ไม่ชอบขี้หน้าดักซุ่มทำร้าย บ้างว่าถูกมาเฟียลักลอบขโมยฟีล์ม Salò เรียกร้องค่าไถ่ พอไม่จ่ายเลยใช้กำลังสั่งสอน

ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่ Paris Film Festival สามสัปดาห์ภายหลังการเสียชีวิตของ Pasolini ถูกแบนทันทีในหลายๆประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ในอิตาลีเองก็เกือบไม่รอด แต่ยังได้โอกาสออกฉายแบบจำกัดโรงปีถัดมา

กาลเวลาได้ทำให้หนังกลายเป็นตำนาน ที่โปรดปราดของ Michael Haneke, Rainer Werner Fassbinder, Gaspar Noé, John Waters, David Cross, Catherine Breillat

“Salo is a beautiful film…it uses obscenity in an intelligent way…and it’s about the pornography of power.”

– John Waters

นักวิจารณ์ถือว่า Salò กับ The Last House on the Left (1972) เป็นจุดเริ่มต้นของ Sub-Genre ชื่อ Torture Porn (ทรมานบันเทิง) มุ่งเน้นนำเสนอภาพ/กราฟฟิก ที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หวาดสะพรึงกลัว ขนหัวลุกสั่นหลอน ขยะแขยงไปถึงขั้วหัวใจ

ถึงส่วนตัวจะมีความเข้าใจต่อภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก แต่ก็ไม่ใคร่ยกย่องชอบพอสักเท่าไหร่ ความซาดิสต์ ทุกข์ทรมาน รวดร้าวรานเกินรสนิยมส่วนจะทนรับไหว คิดว่าครั้งเดียวเกินพอแล้วในชีวิต ไม่ขอหวนกลับมารับชมดูอีกอย่างแน่นอน

แนะนำเฉพาะกับคอหนัง Art House มีความสามารถในการครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความ เข้าใจนัยยะซ่อนเร้นที่แอบแฝงอยู่ พวกมือถือสากปากถือศีลอย่าเสียเวลาหามารับชมเลยนะ!

จัดเรต NC-17 กับความวิปริต ซาดิสต์ รุนแรงเกินมนุษย์มนา

TAGLINE | “Salò, or the 120 Days of Sodom ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนตกนรกทั้งเป็น แต่ผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini กลับได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ชั้นฟ้า”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | WASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: