Salvatore Giuliano (1962) : Franceso Rosi ♥♥♥♡
นี่เป็นหนังที่ค่อนข้างแปลก ของผู้กำกับ Franceso Rosi ในสไตล์ Neorealist, Salvatore Giuliano ผู้ซึ่งเปรียบได้กับ Che Guevara ของอิตาลี ด้วยการเล่าเรื่องกึ่งดราม่าชีวประวัติ กึ่งสารคดี (DocuDrama) ที่เราจะได้เห็นแค่หลังไวๆของ Giuliano เท่านั้น, ครึ่งแรกทำแบบ Citizen Kane ส่วนครึ่งหลังมีส่วนผสมของ Rashômon, อีกหนึ่งหนังโปรดของ Martin Scoresese
ตอนผมดูหนังเรื่องนี้ ก็เกาหัวไป ไหนตัวเอกของเรื่อง Giuliano หว่า? พี่แกปรากฏตัวฉากแรกก็กลายเป็นศพแล้ว นึกว่าจะปรากฏตัวออกมาในฉากย้อนอดีต (Flashback) ที่ไหนได้เห็นแต่หลังไวๆ ไม่มีฉากไหนที่เราจะได้เห็นหน้าชายคนที่เป็นเจ้าของชื่อหนังแบบชัดๆเต็มๆตัวเลย!, ผมนึกได้แค่ The Bourne Legacy เท่านั้นแหละ ที่ชื่อหนังเป็นของคนๆหนึ่ง แต่เจ้าตัวไม่ปรากฎตัวออกมาเลย (นั่นเพราะนักแสดงไม่รับเล่น) ไม่คิดมาก่อน จะมีหนังที่เป็นกึ่งๆชีวประวัติ แต่เจ้าตัวกลับไม่โผล่หน้าออกมาให้เห็นชัดๆ (ยกเว้นตอนเป็นศพ)
ความตั้งใจของผู้กำกับคงเป็น ต้องการนำเสนอชีวประวัติผ่านความเชื่อ ศรัทธา ใน ‘ชื่อ’ ที่มีอิทธิพลมากกว่าตัวตนจริงๆ (ชื่อ Giuliano จะมองเป็น MacGuffin ก็ได้นะครับ) บางคนเชื่อคำพูด ทำตามคำสั่งของ Giuliano โดยไม่เคยเจอตัวจริงด้วยซ้ำ, ชื่อเขาเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศาสดา เป็นพระเจ้าในลัทธิ (มีคนเอารูปของ Giuliano ติดผนัง ไว้บูชากราบไหว้ด้วย) จึงไม่ควรปรากฎตัวออกมาให้เห็นหน้ากันง่ายๆ นอกเสียจากตอนเสียชีวิต ซึ่งหนังทำให้เราตั้งคำถาม กับสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเขา แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า?
Salvatore Giuliano คือใคร? กับคนที่ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์อิตาลี น่าจะไม่รู้จักชื่อชายคนนี้, Giuliano คือนักปฏิวัติ นักเคลื่อนไหวหัวรุนแรงชาว Sicily ในช่วงระหว่างปี 1943-1950 หลังจากที่ Allies ยกพลขึ้นอิตาลี ช่วยขับไล่ Nazi ออกนอกประเทศ หลังสงคราม (Post Wars) ประชาชนต้องทนทุกข์ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ในสภาพอดอยากปากแห้ง Giuliano ได้กลายเป็นจอมโจรแบบ Robin Hood ปล้นทรัพย์สินคนรวย (จากรัฐบาล) ไปแจกจ่ายคนจน (ในตลาดมืด), เขาเป็นผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ทั้ง Fascist Italy และพรรค Italian Communist ที่พยายามรักษาฐานอำนาจหลังสงคราม
Sicily เป็นเกาะใหญ่อยู่ตอนใต้ของอิตาลี (เกาะที่เป็นหัวรองเท้า) เป็นเมืองที่มีชัยภูมิดีมากๆ, Giuliano ซึ่งเป็นคนพื้นที่จึงรู้จักทางหนีทีไล่ และสร้างกองบัญชาการบนภูเขา ทำให้สามารถต่อต้าน ยื้อการครอบงำของรัฐบาลกลางได้อยู่หลายปี แต่สุดท้ายด้วยความขัดแย้งและการเสียประโยชน์กับคนใกล้ชิด Giuliano จึงถูกลอบสังหาร โดยสมุนเอกมือขวาของเขา, หลังจากเสียชีวิตชื่อของ Salvatore Giuliano ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ตัวแทนของผู้นำกลุ่มต่อต้าน นักปฏิวัติ คล้ายๆกับ Che Guevara, เหมือนว่าคนไทยจะรู้จัก Guevara มากกว่าใช่ไหมเอ่ย เพราะชื่อของเขาโด่งดังไปทั่วละตินอเมริกา (จนโด่งดังไปทั่วโลก) ไม่ใช่แค่คิวบาหรือในประเทศบ้านเกิดอาร์เจนติน่า ส่วน Giuliano น่าจะดังแค่ในอิตาลีเท่านั้น ผมเพิ่งมารู้จักเขาก็จากหนังเรื่องนี้เอง
พัฒนาบทโดย Franceso Rosi, Enzo Provenzale, Franco Solinas และ Suso Cecchi d’Amico คนหลังสุดเป็นนักเขียนบทให้หนัง Neorealist หลายเรื่องมาก อาทิ Bicycle Thieves, Miracle in Milan, The Leopard ฯ หนังเรื่องนี้ถือเป็น Neorealist เต็มๆเลยนะครับ (แม้จะสร้างหลังสงครามจบแล้วหลายสิบปี) ใช้การถ่ายภาพขวา-ดำ, นักแสดงสมัครเล่นทั้งหมด (ซึ่งเห็นว่าเกณฑ์ประชาชนชาว Sicily มาแสดงหนังทั้งหมดเลย), เรื่องราวนำเสนอภาพความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น และผลกระทบจากการต่อสู้ ฯ
หนังมี 2 เหตุการณ์เด่นคือ 1) การตายของ Salvatore Giuliano เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1950 และ 2) เหตุการณ์ Portella della Ginestre Massacre (การสังหารหมู่ที่ Portella della Ginestre) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1947, เหตุการณ์หลังนี้เป็นการกระทำที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดในอิตาลียุคใหม่หลังสงครามโลก มีผู้เสียชีวิต 11 คน บาดเจ็บอีก 27 คน, ในโอกาสครบรอบ 1 ปีหลังการเลือกตั้ง ซึ่งพรรค Italian Communist ได้รับชัยชนะอย่างคาดไม่ถึง จึงได้รวมพลสมาชิกเพื่อทำการระลึกและเฉลิมฉลองที่ Portella della Ginestre อยู่ห่างเมือง Piana degli Albanesi 3 กิโลเมตร, จุดประสงค์ของ Salvatore Giuliano ในการโจมตีครั้งนี้ เพื่อก่อกวน สร้างความไม่สงบ และขับไล่พรรค Italian Communist ออกไปจาก Sicily
ผมเพิ่งเคยดูหนังของ Franceso Rosi เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก มีสิ่งหนึ่งที่ทึ่งมากๆ นั่นคือความสามารถในการกำกับฝูงชนจำนวนมาก ซึ่งทำออกมาได้วุ่นวายแต่ลื่นไหลและทรงพลัง มีคนเปรียบเทียบเขากับ Sergei Eisenstein ขณะสร้าง Battleship Potemkin (1925) ที่สามารถควบคุมฝูงชนให้เคลื่อนไหวทำตามคำสั่งได้อย่างเปะๆ, ครึ่งแรกจะเป็น Outdoor ถ่ายภายนอกเสียส่วนใหญ่ เราจะเห็นตึกรามบ้านช่อง ผู้คน ท้องถนน ไฮไลท์อยู่ที่ การสังหารหมู่ที่ Portella della Ginestre เราจะเห็นฝูงชนที่วิ่งหนีกระจัดกระจาย ไม่รู้นับร้อยหรือนับพันวิ่งออกทุกทิศทุกทาง, ครึ่งหลังจะเป็น Indoor ถ่ายในศาล ที่อัดแน่นไปด้วยนักข่าว ทนายความ ตำรวจ พยานและผู้ต้องหา, มันยากคนละแบบนะครับ การกำกับ Indoor และ Outdoor ในพื้นที่ปิดนี้ เพราะความคับแคบทำให้เราเห็นใบหน้า สีหน้า อารมณ์ความรู้สึกของตัวประกอบแต่ละคน ซึ่งผู้กำกับต้องสื่อสารกับตัวประกอบแทบทุกคน ขณะที่ถ่าย Outdoor เราจะเห็นแต่ฝูงชนในภาพกว้างๆ มองไม่เห็นใบหน้าอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคน ซึ่งแม้ผู้กำกับจะไม่ต้องคุยทีละคน แต่จะทำยังไงให้คนจำนวนมากเข้าใจตรงกัน
ถ่ายภาพโดย Gianni Di Venanzo หนึ่งในตากล้องชื่อดังมากๆของอิตาลี ถ่าย 8 1/2 ของ Federico Fellini, La Notte และ L’Eclisse ของ Michelangelo Antonioni, กับหนังเรื่องนี้ที่เห็นบ่อยมากๆคือการถ่ายภาพมุมก้มจากด้านบน แม้อยู่ในห้องแคบๆ ในศาลยังถ่ายจากมุมสูงให้เห็นพื้นห้อง (นี่ตรงข้ามกับ Ashed and Diamond ที่ถ่ายแต่มุมเงยเห็นเพดานทุกฉาก) ความรู้สึกเหมือนกับให้ผู้ชมมองลงมาเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เป็นผู้ตัดสินเรื่องราวด้วยตนเอง, หนังใช้การถ่ายภาพลักษณะ Film Reel บันทึกแบบสารคดี มีการแพนกล้องทั้งแบบช้าๆ และแบบเร็วๆ (Quick Panning), ซูมภาพ Long Shot จากระยะไกลๆ, การเคลื่อนกล้องมีค่อนน้อยและค่อนข้างช้า (คงเพราะกล้องมันหนัก)
เกร็ด: กับคนที่รู้สึกแปลกๆกับแสงไฟบนถนนตอนกลางคืน ผมไม่รู้เหมือนกันเขาทำอย่างนั้นได้ยังไง เห็นว่าใช้ไฟแบบเดียวกับในโรงละครเวที (stage-like) เหตุที่ต้องทำแบบนี้ เพราะเป็นตัวแทนของความเชื่อ จิตวิญญาณ (motif) ของผู้คนต่อ Giuliano
ตัดต่อโดย Mario Serandrei คนนี้ปกติเป็นขาประจำของ Luchino Visconti นะครับ ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ Ossessione ถึง The Leopard, หนังเรื่องนี้มีการตัดต่อที่ทำให้หนังดูยากมาก เพราะเป็นแบบ non-linear style ครึ่งแรกแทบจะดูไม่รู้เลยว่า ฉากนั้นเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันหรือเป็นขณะย้อนอดีต (Flashback) ต้องอาศัยการสังเกตอย่างมาก สไตล์นี้เมื่อใช้กับการถ่ายภาพแบบ film reel ก็ดูคล้ายคลึงกับ Citizen Kane เปะๆเลยนะครับ แถมตัวเอกเปิดเรื่องมาก็เสียชีวิตก่อนเลย, การตัดต่อครึ่งหลังถือว่าเข้าใจง่ายขึ้นเยอะ เพราะเหลือเหตุการณ์ให้ย้อนอดีตแค่เรื่องเดียว ส่วนใหญ่ดำเนินเรื่องในศาล ซึ่งทำการตัดสลับกับพยาน ผู้ต้องหา ทนายความและนักข่าว, กับคนที่ขึ้นให้การกับศาล สิ่งที่พวกเขาพูดมีแบบยื้อยัก เล่นตัว จริงบ้างโกหกบ้าง ทำเอาผู้ชมและผู้พิพากษาเกิดความสับสน ใครถูกใครผิดกัน? อารมณ์นี้คล้ายๆกับหนังเรื่อง Rashômon ที่สรุปแล้วไม่รู้ใครพูดจริง ใครพูดโกหก
เรื่องราวในหนัง เล่าผ่านมุมมองของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Salvatore Giuliano ไม่ใช่แค่จากลูกสมุนคนสนิท แต่รวมไปถึงคนนอกที่จับพลัดจับผลูเข้าร่วมกลุ่มโดยตั้งใจไม่ได้ตั้งใจ, มีมุมมองหนึ่งที่ผมชอบมาก เด็กเลี้ยงแพะ เขาได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกับ Giuliano ยังไม่ทันได้เจอตัวจริงของผู้นำเลย ก็ถูกสอนใช้ปืนและสั่งให้ยิงประชาชนในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Portella della Ginestre ซึ่งเขาปฏิเสธที่จะยิง (ใครจะไปเชื่อ) ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนยิงเพราะอยู่ในเหตุการณ์ และถูกจับตัวให้มาขึ้นศาล, มุมมองของชายคนนี้น่าสนใจมากนะครับ เพราะทำให้เราเกิดข้อสงสัยว่า Giuliano เป็นคนอย่างที่เราคิดว่าเขาจะเป็นหรือเปล่า
เพลงประกอบโดย Piero Piccioni, ปกติแล้วหนังแนว Neorealist จะไม่ค่อยพึ่งเพลงประกอบเท่าไหร่ ซึ่งหนังเรื่องนี้ใช้เพลงประกอบเพื่อสร้างบรรยากาศไม่ได้สร้างอารมณ์ ความระทึกที่ดูเกินจริงไปเสียหน่อย, ได้ยินเสียงเครื่องเป่า (ทรัมเป็ต, ทรัมโบน) และกลอง Timpani บ่อยครั้งมากๆ แม้จะไม่ได้มีความยิ่งใหญ่อลังการเหมือน Seven Samurai แต่กลิ่นอายก็ถือว่าใกล้เคียง, หนังใช้การบันทึกเสียงภายหลัง ทำให้หลายฉากปากไม่ตรงกับคำพูด และบางฉากเสียงดูไม่สมจริงเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับฉากที่ใช้ตัวประกอบหลายร้อยคน แต่เสียงที่ได้ยินเหมือนแค่หลักสิบกว่าคน
หลังดูหนังจบ เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามว่า Giuliano เป็นคนดีหรือเปล่า? ไม่รู้สิครับ นี่เป็นสิ่งที่คุณต้องตัดสินเอาเอง เหมือนหนังเรื่อง L’avventura ซึ่งผู้กำกับ Rosi เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้ Antonioni จึงรับแนวคิดเชิงเปิดกว้าง กับคำถามที่ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบในหนัง, กระนั้นในบริบทของหนัง ผมมองว่าหมอนี่ก็ไม่ใช่คนดีแน่ๆ โดยเฉพาะกับเหตุการณ์การสังหารหมู่ Portella della Ginestre ที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์หลายคนต้องบาดเจ็บ บางคนเสียชีวิต นี่ไม่ใช่สิ่งที่คนดีเขาทำกัน แต่มองกลับกันการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการที่ใช้ความรุนแรงจัดการกับฝ่ายผู้ต่อต้าน การตอบโต้ที่รุนแรงเลยมีความจำเป็น ที่เรียกว่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ มันก็แล้วแต่คุณจะมองแล้ว เหมาะสมไม่เหมาะสม Giuliano เป็นคนดีหรือไม่ดี ผมมองว่าไม่ แต่มันก็ผิดด้วยกันทั้งสองฝ่ายนะแหละ ฝ่ายรัฐบาลก็ควรถูกตำหนิด้วยว่าเลวร้ายไม่แพ้กัน
ใครเป็นคนฆ่า Giuliano? ในหนังมันก็มีตัวละครที่ประกาศกร้าวอยู่แล้วว่าเป็นคนฆ่านะครับ แม้จะไม่มีฉากที่ถ่ายให้เห็นตรงๆว่าคนๆนั้นยิง แต่จะเป็นใครอื่นใดไปได้ คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ แรงจูงใจในการฆ่าเพื่ออะไร? ผมคิดว่ามันคือผลประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ, การต่อสู้ของ Giuliano ว่ากันว่าถ้ายืดเยื้อต่อไปอีกสัก 5 ปี ก็คงไม่มีใครเข้าข้างกันเขาแล้วนะครับ เพราะอิตาลียุคของพรรค Communist ก็ถือว่าสงบสุข จะมีก็แต่ Sicily นี่แหละที่ยังวุ่นวายอยู่ สงครามโลกก็จบแล้ว ยังจะยื้อสงครามภายในต่อไปเพื่ออะไร สักวันฝ่ายของ Giuliano ก็ต้องพ่ายแพ้ แค่จะเมื่อไหร่เท่านั้น ให้เขาตายตอนนี้กลายเป็นตำนานไปไม่ดีกว่าหรือ?
คิดว่าต่อให้ Giuliano ได้รับชัยชนะ สามารถแบ่งแยก Sicily ออกจาก Italy สำเร็จ เขาก็ไม่มีทางเป็นผู้นำปกครองประเทศได้ เพราะทัศนคติของ Giuliano เหมาะกับการเป็นผู้นำกลุ่มปฏิวัติมากกว่า, ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ชักจูงผู้อื่นได้เพราะความต้องการตรงกัน แต่การบริหารประเทศมีอะไรที่มากกว่านั้น, เชื่อว่าเขาอาจสะท้อนรูปแบบการบริหาร ด้วยวิธีการคิดดั้งเดิมขณะเป็นผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหว ใช้ความรุนแรง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน, เหมือนพระเจ้าตากที่เก่งเรื่องการสงคราม ซึ่งท่านก็พูดเองว่า ตนคงไม่สามารถบริหารประเทศได้ดี จึงมอบหมายให้ ร.1 เป็นผู้บริหารประเทศ ส่วนตนก็…
การตายในตอนจบ คือการไล่เก็บความเป็นไปได้ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าเบื้องหลังใครสั่งฆ่า (อาจเป็น Mafia, รัฐบาล, ผู้ขัดผลประโยชน์ ฯ) ที่แน่ๆคนตาย ล้วนเป็นสมุนเอกของ Giuliano ทั้งนั้น ซึ่งแม้แต่ในคุกยังลอบวางยากันได้ (อาจเป็นผู้คุมกระมังที่เอายาใส่แทนกาแฟ) สังคมอิตาลีนี่น่ากลัวจริงๆ
กับชีวประวัติ Salvatore Giuliano มีอ้างถึงในนิยาย The Godfather ของ Mario Puzo ด้วยนะครับ, เห็นว่า Puzo ได้เขียนนิยายเรื่อง The Sicilian (เขียนหลัง The Godfather) เป็นเรื่องราวของ Salvatore Giuliano ตั้งใจให้เป็นภาคต้นก่อนเหตุการณ์ใน The Godfather, นิยายได้รับการดัดแปลงเป็นหนังเรื่อง The Sicilian (1987) กำกับโดย Michael Cimino นำแสดงโดย Christopher Lambert รับบทเป็น Salvatore Giuliano, เห็นว่าหนังมี 2 เวอร์ชั่นคือฉายในอเมริกาและฉายยุโรป ฉบับฉายยุโรปเป็น Director Cut ยาวกว่าฉายในอเมริกาครึ่งชั่วโมง ซึ่งหนังมีปัญหาอย่างมากจากความจุ้นจ้านของสตูดิโอ ทำให้สุดท้ายแล้วหนังทำออกมาได้ไม่น่าประทับใจเท่าไหร่, กับคนที่อยากเข้าใจเรื่องราวชีวประวัติของ Giuliano ก็ลองหามาดูนะครับ ผมก็ตั้งใจจะดูแต่ยังไม่ได้ดู เพราะดูหนังเรื่องนี้แล้ว ไม่ได้รู้จักอะไรนายคนนี้เท่าไหร่เลย
เชื่อว่ามีคนจำนวนมากดูหนังแล้วไม่เข้าใจ ไม่สนุก อืดอาดยืดยาดน่าเบื่อ ความยาว 123 นาทีถือว่าเกินไปเยอะ, ผมก็รู้สึกเบื่อนะครับ หนังมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก และนำเสนอในรูปแบบที่ต้องเอามาวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ ดูรอบแรกก็แบบนี้แหละ แต่ถ้าได้คิดวิเคราะห์แล้วดูซ้ำรอบ 2-3 เชื่อว่าสนุกขึ้นกว่าเดิมแน่ๆ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นหนังโปรดที่ต้องหยิบมาดูทุกปีของ Martin Scorsese ได้ยังไง, ผมจัดระดับความยากของหนังในการดูอยู่ที่ Professional ที่คุณต้องมีประสบการณ์การดูหนังค่อนข้างมาก และสามารถคิดวิเคราะห์อะไรต่างๆได้ ถึงควรจะดูหนังเรื่องนี้นะครับ
แนะนำกับคอหนังอิตาเลี่ยน สไตล์ Neorealist ชอบหนังแนวสงคราม กลุ่มปฏิวัติ เคลื่อนไหว ต่อต้านรัฐบาล, คนที่อยากทำความรู้จัก Salvatore Giuliano (ซึ่งคุณอาจไม่ได้รู้จักเขาเพิ่มขึ้นหรอก), โดยเฉพาะคนทำงานสายภาพยนตร์ สำหรับศึกษาเรียนรู้ เทคนิค การกำกับและการถ่ายภาพที่ถือว่าเลิศมากๆ
จัดเรต 15+ กับความรุนแรง และจำอย่างหนึ่งไว้สอนลูกนะครับว่า เวลาเดินไปไหนให้ชิดซ้ายหรือขวาไว้ อย่าเดินฝ่ากลางหรือกลางถนน เพราะจะถูกยิงแบบในหนัง
[…] ← Salvatore Giuliano (1962) […]