Samsara

Samsara (2011) hollywood : Ron Fricke ♥♥♥♡

ภาพยนตร์สารคดีไร้คำบรรยาย นำเสนอภาพของธรรมชาติ วิถีชีวิต เทคโนโลยี กล่าวคือสังสารบนโลกมนุษย์, นี่น่าจะคือหนังที่มีงานภาพสวยที่สุดในทศวรรษนี้เคียงคู่กับ Tree of Life (2011)

ผมมีโอกาสรู้จักหนังเรื่องนี้ จากการคลิกไปเรื่อยๆใน Youtube แล้วเจอคลิปหนึ่ง จัดอันดับภาพยนตร์ที่มีงานภาพสวยที่สุดในโลก (Top 10 Most Beautiful Movies of All Time) ของช่อง CineFix ที่มักมีการจัดอันดับอะไรพวกนี้อยู่เรื่อยๆ อันดับ 2-10 ผมรู้จักทั้งหมด เว้นเพียงอันดับ 1 ที่กลับไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน Samsara ไม่แน่ใจหนังเรื่องนี้เคยเข้าฉายเมืองไทยหรือเปล่า แต่รู้ว่าพลาดไม่ได้เสียแล้ว

ใครอยากตรวจสอบตัวเองว่ารู้จักหนังเรื่องไหนบ้างในชาร์ทนี้ กดดูเลยนะครับ

Samsara สร้างโดยผู้กำกับ Ron Fricke ร่วมกับโปรดิวเซอร์ Mark Magidson ทั้งสองมีสองผลงานร่วมก่อนหน้าคือ Chronos (1985) และ Baraka (1992) ที่ถือว่ามีลักษณะคล้ายๆกับหนังเรื่องนี้มาก, ออกเดินทางรอบโลก 25 ประเทศ ใช้เวลา 5 ปี ถ่ายทำด้วยกล้อง Digital แบบ 70mm ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลหนังเมือง Toronto ปี 2011

คำอธิบายหนังโดยย่อ, Samsara ได้ทำการออกสำรวจสิ่งมหัศจรรย์อันสุดพิศวงของโลก มองลึกเข้าไปถึงจิตวิญญาณ ประสบการณ์ของมนุษย์ นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์สารคดีหรือบันทึกการเดินทาง แต่มีลักษณะเหมือนการแนะนำทำสมาธิ (Meditation) สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วรับชมวิถีความเป็นไปของโลก

สถานที่ถ่ายทำที่พอจดจำได้ อาทิ เจดีย์ในพม่า, ทะเลทรายในนามิเบีย, พีระมิดในอิยิปต์, แกรนด์แคนยอนที่อเมริกา, ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน, โตเกียว เกียวโต ชิบา ประเทศญี่ปุ่น, ตึกบูร์จคาลิฟา ที่ดูไบ UAE, Château de Versailles พิพิธภัณฑ์ในฝรั่งเศส, มิลาน วาติกัน ประเทศอิตาลี ฯ เมืองไทยเราก็มี 2 ฉาก แต่เลือกสถานที่ซะด้านมืดเลย ร้าน Cascade Go-Go Bar ที่ซอยนานา และพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ที่บางกอกน้อย

คนส่วนใหญ่ที่ได้รับชมหนังเรื่องนี้มักจะคิดว่า มีลักษณะแค่นำภาพสวยๆจากทั่วทุกมุมโลก นำมาไล่เรียงทำเป็น Slideshow ภาพเปลี่ยนไปเรื่อยๆประกอบเพลง ไม่มีเรื่องราว … จะบอกว่าไม่ใช่นะครับ หนังมีภาษา เรื่องราว ที่ดำเนินควบคู่ประกอบไปด้วย นี่เป็นสิ่งต้องใช้การสังเกต และความรู้ทางภาพยนตร์พอสมควร ถึงจะสามารถเข้าใจสาสน์ที่ซ่อนอยู่ได้ แต่มันก็ไม่มีความจำเป็นที่คุณจะต้องทำความเข้าใจมันก็ได้นะ แค่เห็นภาพสวยๆเพลงเพราะๆ แค่นี้ก็อาจเพียงพอสำหรับบางคนแล้ว

ขอพูดถึงเทคนิค/ภาษาภาพยนตร์ที่ผมสังเกตเห็นในหนังก่อนแล้วกัน
– อย่างแรกคือภาพมุมสูง นี่ไม่น่าใช่หนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยโดรนแน่ๆ แต่อุปกรณ์ของเล่นใหม่ชิ้นนี้ มันได้ขยายศักยภาพมุมมองของการมองเห็นได้มากอย่างน่าทึ่งทีเดียว โดยเฉพาะสถานที่ที่เข้าไปถ่ายทำยากๆ อาทิ ธารน้ำแข็ง เกาะแก่ง น้ำตกสูง ฯ ผมเปรียบการใช้โดรน คือ Bird Eye View มุมมองของนกที่จะเห็นทุกอย่างในระดับมหภาพ (Macro) โดยรวมของทุกสิ่งอย่าง
– Time-lapse Photography เทคนิคนี้คือการตั้งกล้องไว้เฉยๆ ทิ้งไว้หลายชั่วโมงบางทีเป็นวัน แต่ไม่ใช่จับภาพทุกวินาทีนะครับ มันจะมีอุปกรณ์ที่สามารถตั้งเวลา ทุกๆ 1 นาทีถ่ายกี่ภาพๆก็ว่าไป สิ่งที่ได้เมื่อนำภาพมาเรียงต่อกันจะเรียกว่า Time-Lapse ภาพของเวลาที่ล่วงเลย หรือจะคือการเร่งความเร็วของการเปลี่ยนผ่าน, ผู้กำกับ Ron Fricke ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพ Time-Lapse โดยแท้ เราจะพบเห็นในหนังเรื่องนี้นับไม่ถ้วนช็อตทีเดียว ซึ่งล้วนตราตรึงมากๆ ทุกฉากมีนัยยะถึง ‘การดำเนินไป’
– กล้องจะค่อยๆเคลื่อน/ซูม เข้าไปอย่างช้าๆ, เทคนิคนี้ผมจดจำได้จากหนังเรื่อง The Deer Hunter (1978) มีชื่อเรียกว่า Curious Zoom ซูมแบบใคร่สนใจอยากรู้อยากเห็น นัยยะก็ตรงตัวตามชื่อเทคนิค และคิดว่ามีความหมายอีกอย่างหนึ่งด้วยคือ ‘การหายใจ’, หนังพยายามอธิบายตัวเองว่าคือ Meditation การทำสมาธิให้สงบด้วยวิธีการการหายใจเข้าออก การเคลื่อนกล้องเข้าเปรียบได้เหมือนหายใจเข้า … แต่เราจะไม่เห็นการหายใจออกเสียเท่าไหร่นะ

หนังยังมีการใช้เทคนิคอื่นอีกมาก แต่รู้แค่นี้น่าจะพอทำให้มองเห็นอะไรเพิ่มขึ้นมากแล้วนะครับ

สำหรับวิธีทำความเข้าใจเนื้อเรื่องของหนัง เริ่มต้นให้ลองสังเกตสิ่งที่อยู่ในภาพว่าคืออะไร นำมาครุ่นคิดวิเคราะห์ว่ามีความหมายนัยยะอะไร แล้วนำแต่ละภาพมาประติดเรียงต่อเพื่อหาคำอธิบายในช่วงนั้นๆ ว่าหนังต้องการนำเสนออะไร, ผมจะขอยกตัวอย่างอธิบายฉากแรกสุดของหนัง จนกระทั่งชื่อ Samsara ขึ้น ดูว่าจะมีเนื้อเรื่องราวอะไรนะครับ

ภาพแรกของหนังที่เราเห็นคือ เด็กหญิงหน้านิ่งสามคนกำลังเต้นอะไรสักอย่าง สังเกตจากท่าเต้นของพวกเธอ มันเหมือนหุ่นกระบอกที่กำลังถูกเชิดให้เคลื่อนไหว นี่ตีความได้หลายอย่างทีเดียว อาทิ
– ชีวิตมนุษย์ก็เหมือนหุ่นกระบอก ถูกเชิดชักใยด้วยโชคชะตาวาสนา
– มนุษย์สมัยนี้ชอบที่จะสวมใส่หน้ากาก มีหน้ามีตาในสังคม แต่ตัวจริงคือใครเป็นยังไงไม่รู้
– โลกใบนี้มันก็แค่สิ่งฉาบหน้า สิ่งสวยงามนั้นอยู่ภายในจิตใจ ตามองไม่เห็น
ฯลฯ

ภาพถัดมาคือเปลวควันขาวโพยพุ่งออกจากปล่องภูเขาไฟที่กำลังปะทุระเบิดออก และลาวาสีแดงที่ไหลลงมาจากยอดเขา, ระเบิดคือการทำลายล้าง ภูเขาไฟมักมีนัยยะถึงจุดสิ้นสุดของโลก/มนุษย์

ภาพถัดมาคือร่างของเด็กน้อย (ที่น่าจะเสียชีวิตแล้ว) โคลสอัพที่ผิวอันเรียบเนียน ก่อนจะตัดไปที่ภาพร่างของชายชรา (ที่น่าจะเสียชีวิตแล้วเช่นกัน) โคลสอัพผิวอันหยาบกระด้าง, จะเด็กหรือผู้ใหญ่หรือคนแก่ ก็มีสิทธิ์ตายได้เหมือนกัน

ภาพสุดท้าย เป็นรูปปั้นทองหล่อฟาโรห์กษัตริย์แห่งอิยิปต์ ที่น่าจะคือสุสานมัมมี่ มีนัยยะถึงความเชื่อของคนอิยิปต์ที่ได้รักษาสภาพศพไว้ เพื่อรอการกลับคืนร่างของวิญญาณผู้ตาย

เรื่องราวในช่วงแรกของหนัง นำเสนอภาพร่างของมนุษย์ ความตาย (ไร้จิตวิญญาณ) เหมือนจุดสิ้นสุดของชีวิต แต่นี่คือสิ่งที่เราสามารถมองได้คือจุดเริ่มต้น เพราะการตายจากสิ่งหนึ่งถือว่าเป็นการเกิดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ วิญาณเป็นสิ่งอมตะ สามารถวนเวียนกลับมาเกิดใหม่เป็นวงจรวัฎจักร ต่อเนื่องไปไม่รู้จักจบสิ้น

เรื่องราวของหนังจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ หัวข้อ หมวดต่างๆมากมาย ซึ่งเราสามารถสังเกตเรื่องราวของภาพที่มีความคล้ายกัน และเพลงประกอบของ Michael Stearns, Lisa Gerrard และ Marcello de Francisci ที่เหมือนว่าหนึ่งบทเพลงจะครอบคลุมหนึ่งหัวข้อเรื่องราวเลยละ, ผมไม่ได้นับดูว่ามีหัวข้อทั้งหมดเท่าไหร่ น่าจะเกิน 10 เรื่อง/บทเพลง อยู่นะครับ

สำหรับหัวข้อที่ผมค่อนข้างชอบมี 2-3 เรื่อง
– รวมภาพการทำงานของพนักงานบริษัท ช็อตสุดท้ายคือชายคนหนึ่งที่เกิดความบ้าคลั่งสติแตก, ใครเคยทำงานบริษัทน่าจะเคยเกิดอารมณ์แบบนั้นนะครับ ผมก็คนหนึ่งละที่เคยนั่งทำงานบนโต๊ะทำงานเล็กๆ จัดแบ่งไว้เป็นล็อคๆ มีคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งตั้งหน้าตั้งตาไม่รู้วันรู้เดือน ชีวิตก็หมุนๆวนเวียนอยู่แค่นั้น มันเครียด มันกดดัน เหนื่อย อยากที่จะระเบิดทำอะไรบ้าคลั่งออกมา, ผมเห็นฉากนี้แล้วสะใจฉะมัด เป็นสิ่งที่อยากทำมากๆในที่ทำงาน แต่ไม่กล้าพอ
– การบริโภค และการได้มาของผลิตภัณฑ์, ใครเคยดูหนังสารคดีเรื่อง Food, Inc. (2008) คงจะตราตรึงกว่านี้ แต่ฉากนี้ถือว่านำเสนอมาได้เรียบง่ายและน่าประทับใจทีเดียว แม้จะไม่นำเสนอฉากที่ฆ่าสัตว์ แต่ก็รู้สึกมวนท้องเล็กๆ นี่เรากินอะไรอยู่เนี่ย!
– Gangnam Style เต้นโดยนักโทษทัณฑ์บนที่ Cebu Provincial Detention and Rehabilitation Center (CPDRC Dancing Inmates) เมือง Cebu City ประเทศฟิลิปปินส์, ช่วงนั้นเพลงนี้ของ Psy กำลังฮิตถล่มทลาย คงมีหลายคนเคยได้ยินข่าว ที่เอานักโทษมาเต้นๆ เพื่อลดโทษทัณฑ์คุมประพฤติ อยากเห็นเป็นยังไงก็ฉากนี้แหละครับ ส่วนเพลงประกอบสงสัยไม่ได้ขอลิขสิทธิ์ เลยใช้การเรียบเรียงทำนองใหม่ แต่ใครฟังบ่อยจนติดหูน่าจะระลึกได้

แอบข้องใจอย่างมากกับส่วนของหนังที่ถ่ายในประเทศไทย มุมของฝรั่งผมว่าเขามองเห็นแต่ ‘ด้านมืด’ ของไทยจริงๆ กับหนังเรื่องนี้ช็อตแรกถ่ายที่ Go-Go Bar มันคือสถานที่สาวประเภทสองนุ่งน้อยห่มน้อยแต่งหญิง เต้นรูดเสายั่ว, เอิ่ม…คือสถานที่สวยๆอื่นๆ วัด เจดีย์ ธรรมชาติงดงามมากมายทำไมไม่ถ่าย เลือกซะ!

Saṃsāra เป็นภาษาสันสกฤตของคำว่า ‘วัฏสงสาร’ หรือสังสารวัฏ หรือสงสารวัฏ ในทางพุทธศาสนาหมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ ของสัตว์โลกด้วยอำนาจกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดไม่ได้

สังสาร หรือสงสาร แปลว่าความท่องเที่ยวไป หรือการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ได้หมายถึงความรู้สึกหวั่นไหวด้วยความกรุณาเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความทุกข์นะครับ

สิ่งที่หนังเรื่องนี้นำเสนอถือว่ามีส่วนใกล้เคียงในคำว่า สังสาร คือการท่องไปบนโลก แต่มันยังห่างไกลความหมายของคำว่า วัฎสงสาร เป็นอย่างมาก นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะเราคงไม่สามารถคาดหวังให้ ฝรั่งมังค่า จะสามารถเข้าใจความหมายอันลึกกว่าของคำๆนี้ได้

ด้วยทุนสร้าง $4 ล้านเหรียญ หนังทำเงิน $3.2 ล้านเหรียญ ได้เท่านี้ถือว่าก็เยอะแล้วนะครับ (หนังใช้ทุนสร้างเยอะไปมากๆเลยละ)

ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ จริงอยู่มันอาจมีอะไรลึกซึ้งที่แฝงไว้ในภาษาภาพยนตร์ แต่ในเชิงปรัชญาและความหมายของคำว่า Samsara หนังไปไม่ถึงจุดที่มีความลึกซึ้งในระดับนั้น แต่โดยรวมสำหรับผู้ชมฝั่งตะวันตก คงเกือบสมบูรณ์แบบมากๆ

คำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการมีความเข้าใจหนังเรื่องนี้มากขึ้น ให้ลองหา Sans Soleil (1983) มารับชมก่อนนะครับ มีความคล้ายคลึงกันมาก ถ้าคุณเข้าใจหนังเรื่องนั้นได้ ก็ย่อมน่าสามารถเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้

แนะนำกับช่างภาพ ตากล้อง ชื่นชอบหนังภาพสวยๆ เพลงประกอบเพราะๆ ครุ่นคิดหาความหมายนัยยะประกอบ กับหนังเรื่องนี้ไม่ควรพลาดเลยละ

จัดเรต 13+ กับบางภาพที่มีความรุนแรง บ้าคลั่ง

TAGLINE | “Samsara 2011 ของผู้กำกับ Ron Fricke มีงานภาพสวยงามดั่งบทกวี แฝงปรัชญาภาษาภาพยนตร์ แต่ความลึกซึ้งตามชื่อหนังยังห่างไกลอยู่มาก”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: