Sanjuro (1962)
: Akira Kurosawa ♥♥♥♥
ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นภาคต่อ แต่เพราะความสำเร็จอันล้นหลามของ Yojimbo (1961) ทำให้ถูกเร่งเร้าจนรำคาญใจจำต้องสมยอมตาม, ครานี้ Sanjuro ตัดสินใจเลือกข้างให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏน้อย ที่มีความต้องการโค่นล้มอำนาจคอรัปชั่นของผู้ตรวจการ แต่แค่เพียงซามูไร 9+1 คน จะต่อสู้กับทหารนับร้อยสำเร็จได้หรือเปล่า
Yojimbo (1961) กับ Sanjuro (1962) ก็ไม่เชิงเป็นภาคต่อกัน แค่มีองค์ประกอบบางอย่างที่คล้ายคลึง อาทิ
– ตัวละคร Rōnin ไร้สังกัดของ Toshiro Mifune ยังคงเป็น Anti-Hero หัวขบถ ปากร้ายแต่จิตใจงาม มีอุดมการณ์แน่แน่ว ต่อสู้จัดการกับคนชั่ว ปกป้องผู้บริสุทธิ์
– ใจความของหนังเป็นการสะท้อนเสียดสีสังคมและการเมือง ต่อสู้จัดการกับความคอรัปชั่น ให้ถูกทำลายหมดสูญสิ้นไป
โดยส่วนตัวมองว่า Sanjuro เป็นผลงานที่ด้อยคุณภาพกว่า Yojimbo พอสมควร คือมันเหมือนมีบางสิ่งอย่างที่ขาดหายไป แม้จะถูกเพิ่มเติมเต็มด้วย Comedy ที่ทำให้คุณตบโต๊ะฉาด โดนใจว่ะ แต่ก็ยังไม่ทรงพลังเท่ามาตรฐานที่เคยสร้างไว้ บทความนี้จะพยายามเปรียบเทียบความแตกต่างของทั้งสองเรื่องให้เห็นด้วยนะครับ จะได้ชี้ชัดกันไปเลยเรื่องไหนเจ๋งกว่ากัน
ขณะอยู่ในช่วง Post-Production ของ Yojimbo ผู้กำกับ Akira Kurosawa เริ่มต้นพัฒนาโปรเจคถัดไปโดยทันที มอบหมายให้หนึ่งในนักเขียนขาประจำ Hideo Oguni (Ikiru, Seven Samurai, Throne of Blood, The Hidden Fortress) ดัดแปลงเรื่องสั้น Nichinichi hei-an (Peaceful Days) ของ Shûgorô Yamamoto (1903 – 1967) นักเขียนนิยายสัญชาติญี่ปุ่นชื่อดัง ในยุค Showa Era
เกร็ด: Kurosawa ยังเคยนำนิยายอีกเรื่อง Kisetsu no nai machi (The Town Without Seasons) ของ Yamamoto มาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เรื่อง Dodes’ka-den (1970)
เรื่องราวของนิยายคือ กลุ่มซามูไรหนุ่ม 9 คน ได้รับการช่วยเหลือจาก Rōnin สองคน หนึ่งเฉลียวฉลาด สองเก่งกาจ ร่วมมือกันวางแผนต่อสู้เอาชนะศัตรูผู้มีความโหดเหี้ยมชั่วร้ายได้สำเร็จ
ในตอนแรก Kurosawa ไม่ได้ตั้งใจจะกำกับเอง วางตัวให้ Hiromichi Horikawa (ที่เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับมาหลายปี) สานต่อโปรเจคนี้ และเล็งนักแสดง Furankî Sakai กับ Keiju Kobayashi รับบทสอง Rōnin, แต่เพราะความสำเร็จทำเงินล้นหลามของ Yojimbo สตูดิโอ Toho เลยเร่งเร้ากดดัน Kurosawa จนยินยอมหวนกลับมาสานต่อ และปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้มีความต่อเนื่องคล้ายคลึงกับต้นฉบับ อาทิ
– จาก Rōnin สองคน ก็เหมารวมเหลือ Sanjuro คนเดียว เก่งทั้งบู๋และบุ๋น
– ศัตรูจากแค่ศัตรูผู้โหดเหี้ยมชั่วร้าย กลายเป็นรัฐบาลคอรัปชั่น
ซามูไรหนุ่ม 9 คน รวมกลุ่มประชุมกันที่วัดร้างแห่งหนึ่ง กำลังประชุมถกเถียงระหว่างผู้ว่าการ (Lord Chamberlain) กับผู้ตรวจการ (Superintendent) ใครกันที่ทุจริตโกงกินบ้านเมือง เรื่องไปเข้าหู Rōnin ผู้บังเอิญอาศัยหลับนอนอยู่ที่นั่นโดยไม่ได้ตั้งใจ พยายามชี้แนะนำบอกกล่าว ข้อสรุปของพวกเขาไม่น่าเป็นไปได้ แล้วอยู่ดีๆวัดแห่งนี้ก็ถูกห้อมล้อมด้วยทหารนับร้อยที่คอยจ้องจับกบฎ นั่นทำให้ทุกคนรับทราบความจริงทันที ใครกันที่คอรัปชั่นในสันดาน
Toshirô Mifune (1920 – 1997) ขาประจำของ Kurosawa เจ้าของฉายา ‘เจ้าชายหมาป่า’ หวนกลับมารับบท Rōnin นิรนาม ที่ครานี้ทนเห็นความโง่เขลายังเยาว์ของซามูไรหนุ่มทั้ง 9 ไม่ได้ ถ้าปล่อยไว้คงถูกฆ่าตายหยั่งเขียด พบเห็นจิตใจอันบริสุทธิ์เลยให้ความช่วยเหลือ แม้พวกเขาจะไม่อยากฟังคำทำตามก็เถอะ แต่ก็ไม่มีอะไรผิดจากที่คาดไว้แม้แต่น้อย
ชื่อของตัวละครนี้คือ Tsubaki Sanjūrō (Tsubaki คือชื่อดอก Camellia, แต้ฮั้งฮวย) เกิดขึ้นเมื่อมองออกไปด้านนอก แล้วเห็นต้น Camellia มีดอกกำลังเบ่งบานสะพรั่ง, ความหมายของดอกชนิดนี้: อุดมคติอันสูงส่ง, รักในอุดมคติ, ความถ่อมตน ฯ มีความเข้ากับตัวละคร Sanjuro ดีแท้
– ดอกสีแดง: ความรักที่ถ่อมตน, ความงดงามที่ไร้การเสแสร้ง
– ดอกสีขาว: ความงามอันไร้ตำนิ, ความรักในอุดมคติ, ความงามที่เย็นชา
Sanjuro ยังคงชื่นชอบเกาเห็บหมา ซุกมือในเสื้อ แต่คราวนี้จะไม่ค่อยเน้นสีหน้าเกรียวกราดต้องฆ่าให้ตายสถานเดียว มีการแสดงออกหลากหลายอารมณ์มากขึ้น โดยเฉพาะสีหน้ามักเต็มไปด้วยด้วยความเบื่อหน่าย อ่อนล้า เซ็งเป็ด ไอ้เด็กโง่พวกนี้ทำอะไรไม่รู้จักคิดอีกแล้ว, ที่ผมชื่นชอบสุดคือขณะเอ๋อเหรอ จริงๆมีหลายครั้งทีเดียวแต่ขอเลือก สองหญิงนอนพิงกองฟางอย่างสำราญใจ ใบหน้าของเขาเต็มไปด้วยความฉงนสงสัย มันมีความน่าหลงใหลอะไรขนาดนั้นเชียว??
Body Count: 27 ศพ ล้วนเป็นฝีมือของ Sanjuro ทั้งหมด
Tatsuya Nakadai (เกิดปี 1932) หลังจากรับบทตัวร้ายใน Yojimbo หวนกลับมารับบทตัวร้ายอีกครั้งใน Sanjuro ครานี้เป็นนักดาบยอดฝีมือ Hanbei Muroto ไม่ได้พกปืนแสยะยิ้มเหมือนงูเห่าแล้ว ซามูไรคนสนิทของผู้ตรวจการ ยอมรับตัวเองตรงๆเลยว่าเป็นคนคอรัปชั่น ทำงานกับเจ้านายแบบนี้ เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม จะให้ทำยังไงได้ โลกมันเป็นเช่นนี้
Nakadai กับบทบาทนี้แม้จะไม่มีภาพลักษณ์ที่ติดตา แต่มิติการแสดงค่อนข้างติดใจ ถือว่ามีความโดดเด่นกว่าตอน Yojimbo พอสมควร และสามารถหักเหลี่ยมเฉือนคมกับตัวละครของ Mifune ได้อย่างเมามัว (ทั้งๆที่ทั้งสองกว่าจะได้พบเจอหน้ากันอีกครั้งก็ค่อนไปครึ่งหลังแล้ว)
ไฮไลท์คือการดวลดาบฉากสุดท้าย ‘เลือดพุ่ง’ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Blood Explosion) ออกแบบ Production Design โดย Yoshiro Muraki ถ่ายทำเทคเดียวผ่าน, เห็นว่าไม่ได้ด้วยตั้งใจให้เลือดช็อกโกแล็ตโซดาพุ่งแรงเว่อขนาดนั้น แต่ด้วยความกดดันอัดเข้าไปถึง 30 PSI (ปอนด์ต่อตารางนิ้ว) เล่นเอา Nakadai แทบล้มตั้งตัวไม่ทัน พบเห็นได้บ่อยในหนังของ Quentin Tarantino
สำหรับนักแสดงอื่น โดยเฉพาะซามูไรทั้ง 9 ขอที่จะไม่พูดถึงเลยสักคนนะครับ ผมจดจำใบหน้าพวกเขาไม่ได้ด้วยซ้ำ มีความ’เหมือน’กันไปหมด ซึ่งย่อมแฝงนัยยะถึงใครก็ได้ คนธรรมดาทั่วไป ไม่สลักสำคัญอะไร
ถ่ายภาพโดย Fukuzo Koizumi กับ Takao Saito, ไม่แน่ใจนี่เป็นครั้งแรกหรือเปล่าที่หนังของ Kurosawa ถ่ายทำด้วย Tohoscope ระบบ Anamorphic Widescreen ขนาด 2.35:1 [นี่เป็นระบบที่สตูดิโอ Toho ก็อบปี้เลียนแบบมาจาก CinemaScope]
การที่ Kazuo Miyagawa ไม่ได้หวนคืนกลับมาเป็นตากล้องให้หนังเรื่องนี้ ทำให้เกิดความแตกต่างในรสสัมผัส บรรยากาศของงานภาพโดยสิ้นเชิง, จริงอยู่ที่ผู้กำกับ Kurosawa ชื่นชอบการวาด Storyboard และต้องการให้ตากล้องถ่ายทำจากวิสัยทัศน์ของตนเองเท่านั้น แต่ในส่วนเพิ่มเติม สไตล์ลายเซ็นต์ ความเป็นศิลปินของผู้กำกับภาพ ยอดฝีมืออย่าง Miyagawa ถือว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่าเป็นไหนๆ
ผู้ชมอาจคิดเห็นเป็นอย่างอื่น เพราะ Yojimbo เน้นถ่ายภาพภายนอก ทิวทัศน์กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา สะท้อนความขัดแย้งเห็นต่างของบุคคลในระดับมหภาค ขณะที่ Sanjuro เน้นถ่ายภายใน สะท้อนความคอรัปชั่นที่อยู่ภายในจิตใจมนุษย์ คุดคู้อุดอู้ เต็มไปด้วยหน้าคน, งานภาพของทั้งสองเรื่อง ถือว่ามีความตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง จะนำไปเปรียบเทียบกันได้เช่นไร?
งานภาพชวนให้ผมนึกถึง It’s a Mad Mad Mad Mad World (1963) ของผู้กำกับ Stanley Kramer ที่อัดแน่นเต็มไปด้วยใบหน้านักแสดงเต็มภาพ แต่หนังเรื่องนั้นใช้ฟีล์มขนาด 70mm มันจึงมีความใหญ่อลังการ ขณะที่เรื่องนี้แม้จะแค่ฟีล์ม 35mm แต่ Anamorphic Widescreen ก็ยังถือว่าเต็มไปหมดเช่นกัน
คงไม่มีใครลืมเลือนฉากตะขาบ ‘Centipede Scene’ ที่กลายเป็นตำนานของหนัง นัยยะของฉากสะท้อนสันดานนิสัยหนึ่งของมนุษย์ เห็นใครทำอะไรก็ตามๆติดกันไปเป็นทอดๆ ไม่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง, นี่ถ้าไม่ได้ความยาวของ Anamorphic ก็อาจเก็บนักแสดงไม่ครบหมดแน่
สังเกตใบหน้าของ Mifune สิครับ เซ็งเป็ด
ฉากที่มีนักแสดงรวมตัวกันเยอะๆในช็อตเดียว ผมติดนิสัยชอบนับว่าครบองค์ประชุมหรือเปล่า จนบางทีก็ลืมสังเกตุบางอย่างไป อย่างช็อตนี้ตัวละครของ Mifune นั่นอยู่บนกระดานหมากล้อม โคตรเท่ห์เลยว่ะ! นัยยะคือ วินาทีนี้เขาได้กลายเป็นส่วน ‘หัว’ ผู้ครุ่นคิดวางแผนทุกสิ่งอย่างให้กับซามูไรหนุ่มทั้ง 9 คนนี้เรียบร้อย
พูดถึงหัวๆ ชวนให้ขำกระจายกับช็อตนี้ ชวนให้นึกถึงเกมตีหัวตัวตุ่น ทีละคนค่อยๆผุบโผล่ขึ้นมา นัยยะคงเพิ่งรับรู้ตัวเอง ว่ามีความโง่งมเหมือนตัวตุ่นขุดดิน โผล่ขึ้นมาเพื่อหัดเริ่มเรียนรู้จักความจริง, ฉากนี้ผมเพิ่งสังเกตเห็น มีคนหนึ่งที่ไม่ได้โกนหัวล้านทรงลานบิน เพราะอะไรกันนะ?
ฉากสุดท้ายของหนังมีความพิศวงหนึ่งที่ผมยังไขไม่ออก คือทำไมต้องแบ่งให้ซามูไรหนุ่มด้านหลังยืนแบบ 2-4-3 มันราวกับอัตราต่อรอง แทงว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ วางเงินฝั่งพระเอก 2 คน เชียร์เสมอ 4 คน และถือหางข้างตัวร้ายอีก 3 คน *-*
ตัดต่อโดย Akira Kurosawa, ส่วนใหญ่ของหนังยังคงเล่าเรื่องในมุมมองของ Sanjuro ที่พอรับฟังคำเล่าของเหล่าซามูไรหนุ่ม ก็มักมีทัศนคติความคิดเห็นตรงกันข้ามโดยเสมอ
การวางตัวเป็นกลางใน Yojimbo ทำให้สามารถนำเสนอเรื่องราวของสองฝั่งความขัดแย้งได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม จนเกิดความสมน้ำหน้าสมควรตายให้หมด ไม่มีใครน่าให้อภัยไว้ชีวิต, ตรงกันข้ามคือการเลือกข้างใน Sanjuro ทำให้ส่วนใหญ่ของหนังวนเวียนอยู่ฝั่งซามูไรหนุ่ม ที่มักแสดงความโง่เขลาเบาปัญญา ด้อยประสบการณ์ชีวิต ไม่เคยครุ่นคิดตามผู้อื่นทัน ขณะที่ฝั่งศัตรูกลับเฉลียวฉลาดหลักแหลม พิษภัยรอบด้าน ครุ่นคิดแผนการณ์ต่างๆออกมามากมาย
Yojimbo นำเสนอความตลกร้าย (Black Comedy) ที่เกิดจากความขัดแย้งอันไร้สาระ ต้องการต่อสู้เอาชนะอีกฝ่ายกลับปอดแหก ทำตัวเหมือนหมาเห่าแต่มักไม่กัด, ขณะที่ Sanjuro นำเสนอความโง่เขลาเบาปัญญาของกลุ่มคนที่ไม่รู้จักคิด หรือครุ่นคิดตามไม่ทัน ทำให้ต้องคอยติดตามหลังผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
ช่วงการตัดต่อมีความกวนประสาทที่สุด คือขณะ Sanjuro กำลังหลับนอนแล้วสะดุ้งตื่นเพราะมีคนเลื่อนเปิดประตูเข้ามารายงานสถานการณ์ จากนั้นภาพเลื่อน Wipe Transition ไปด้านซ้าย-ขวา (สอดคล้องรับกับการเปิดประตู) เปลี่ยนตำแหน่งท่านอนแล้วก็ยังต้องสะดุ้งตกใจตื่นทุกครั้ง อะไรของมันว่ะ! ไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้ได้ว่ามันต้องมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น
เพลงประกอบโดย Masaru Sato กลับมาสานงานต่อ ด้วยการนำทำนองเดิมของ Yojimbo ที่ผู้ชมมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว เพิ่มความหลากหลาย Variation เข้าไป ทดลองโน่นนี่นั่นจับใส่จนมีความแปลกประหลาดพิศดาร ถึงความคิดสร้างสรรค์จะเป็นเลิศ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าไพเราะเทียบเท่าต้นฉบับไม่ได้สักเท่าไหร่
มีบทเพลงหนึ่งได้ยินใน Trailer ของหนัง ดูแล้วน่าจะตั้งใจให้เป็น Opening Credit แต่กลับไม่ได้ใช้ เลือกทำนองที่คล้ายๆฉากเปิดเดิมของ Yojimbo มาใส่แทน, ผมมีความชื่นชอบ Sanjuro Theme นี้มากๆ คือมันสามารถอธิบายเรื่องราว สะท้อนบรรยากาศของหนังทั้งเรื่องได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ไม่เข้าใจเลยว่าถูกตัดออกได้อย่างไร
รับชมหนังครานี้ ชวนให้ผมหวนระลึกถึงนิทานอิสปหลายๆเรื่อง โดยปกติแล้วหมาป่ามักหาวิธีการหลอกล่อลวงเพื่อให้เหยื่อตายใจแล้วจับกิน ก็มีทั้งลูกแกะ, หมูสามตัว, หนูน้อยหมวกแดง ฯ แต่ Sanjuro ที่เปรียบเหมือนหมาป่า กลับทำตัวเหมือนสุนัขเลี้ยงแกะ (Shepherd) พยายามหาวิธีช่วยเหลือลูกแกะทั้ง 9 ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือไฮยีน่า ราชสีห์ ฝูงผู้ล่าตัวจริง
Sanjuro ยังคงเป็นเรื่องราวการวิพากย์สังคม/การเมือง ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ทุกองค์กรในโลกล้วนต้องมีความคอรัปชั่นขัดแย้ง ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ใหญ่มีตำแหน่งอำนาจ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์สูง ทำให้มองเห็นลู่ทางหนีทีไล่จับไม่ทัน ขณะที่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ยังไร้เดียงสา มีอะไรต้องเรียนรู้อีกมาก อ่อนด้อยประสบการณ์ จะไปสามารถวิ่งไล่กวดตามใครได้ทัน
ตัวละคร Sanjuro เปรียบได้กับ Mentor อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ มากประสบการณ์ฝีมือ อ่านเกมหมากล้อมออก และที่สำคัญคือไร้ซึ่งความคอรัปชั่น คอยให้การช่วยเหลือแนะนำ ปกป้องคนรุ่นใหม่อย่างสุจริตใจไม่มีเคลือบแฝง ให้รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของเหล่าคนพาล ผู้ไม่สนอะไรอื่นนอกจากผลประโยชน์ของตนเอง
นอกจากสังคม/การเมือง หนังยังสะท้อน’สันดาน’หลายๆอย่างของมนุษย์ออกมา อาทิ ความเกียจคร้าน, เห็นแก่ตัว, หวาดระแวงสงสัย, เย่อหยิ่งทะนงตน ฯ เหล่านี้เป็นส่วนเสริมที่ทำให้เกิดความ’คอรัปชั่น’ขึ้นในจิตใจ เห็นเหมือนคือเพื่อน เห็นต่างคืออริ ไม่ใช่มิตรก็ต้องเป็นศัตรู
มีฉากหนึ่งขอตั้งชื่อว่า ‘แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์’ (หนึ่งในบทกลอนของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ จากเรื่องพระอภัยมณี) ขณะที่ Sanjuro ประกาศว่าจะไปเข้าร่วม Hanbei Muroto ทำให้ซามูไรหนุ่มทั้ง 9 ถกเถียงกันเสียงดังสนั่นลั่นบ้าน คนแบบนี้เชื่อใจได้หรือเปล่า? ทั้งๆที่ก็ให้การช่วยเหลือมามากขนาดนี้ แต่มนุษย์เราก็ยังมิอาจเชื่อผู้อื่นสนิทใจ เคลือบแคลงหวาดระแวงสงสัย สะท้อนอีกหนึ่งสันดานของมนุษย์ออกมาได้อย่างเจ็บแสบ … คิดมากไประวังเป็นบ้านะครับ
“The best sword is kept in its sheath.”
ในบริบทของหนังเป็นการพูดถึงความชั่วร้าย ความรุนแรง คอรัปชั่นที่แอบซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจมนุษย์ ถ้าเราสามารถเก็บกดดัน บีบบังคับ ไม่ทำให้สันดานความต้องการนั้นปรากฎเปิดเผยธาตุแท้ออกมา ก็จักไร้ซึ่งความกังวลหวาดกลัว ตรงกันข้ามกับคนพาลที่ชักดาบนำพาความชั่วร้ายออกมา เข่นฆ่าหรือกระทำการอะไรเพียงอย่างหนึ่ง ก็จักติดตัวไปตลอดชีวิต มิสามารถหวนกลับคืนสู่ภาวะแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องได้
แต่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง ถึงจะมีความหลงระเริงจากการกระทำชั่วร้ายซ้ำซาก คอรัปชั่นจำเจจนถอนมือไม่ขึ้น แต่เมื่อใดที่ผลกรรมนั้นได้หวนคืนกลับมาถึงตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะสำนึกในความโง่เขลาเต่าตุ่นของตนเอง ถ้ารู้แบบนี้ฉันคงไม่ทำมันตั้งแต่แรกหรอก
หนังออกฉายหลัง Yojimbo เพียง 8 เดือน สานต่อความสำเร็จทุบสถิติเดิม ทำเงินสูงสุดของสตูดิโอ Toho และเป็นอันดับ 2 ในปีนั้นของญี่ปุ่น (ไม่แน่ใจว่า นี่เป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของ Kurosawa เลยหรือเปล่านะ)
ถ้าไม่นับ Dollar Trilogy ของผู้กำกับ Sergio Leone เฉพาะ Sanjuro เคยมีการ Remake เรื่อง Tsubaki Sanjuro (2007) กำกับโดย Yoshimitsu Morita นำแสดงโดย Yuji Oda แต่ไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาหามารับชมนะครับ
สิ่งหนึ่งที่เลือนลางไปในหนังเรื่องนี้คือ ‘อุดมการณ์’ ของ Sanjuro ไม่ได้มีความลึกลับ น่าพิศวงค้นหาเหมือนใน Yojimbo หลงเหลือเพียงต่อสู้เพื่อช่วยเหลือคนดี เอาชนะศัตรูคนชั่ว มีความชัดเจนจนขาดความน่าสนใจ มุ่งเน้นขายความหัวขบถ Anti-Hero ของพระเอกมากกว่า
ส่วนตัวเลยแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ขบขันระเริงร่าในมุกตลกร้าย สะท้อนเสียดสีมนุษย์ สังคม การเมือง ได้อย่างเจ็บแสบถึงทรวง Mifune … เหมือนว่าหล่อกว่าเดิม งานภาพพอเทียบเคียง แต่ค่อนข้างผิดหวังกับเพลงประกอบ, ด้วยเหตุนี้ผมเลยรู้สึกว่า Sanjuro เป็นผลงานที่ด้อยคุณภาพกว่า Yojimbo
แนะนำกับคอหนังซามูไร, แนวตลกร้าย สะท้อนเสียดสีการเมือง, แฟนๆผู้กำกับ Akira Kurosawa และนักแสดง Toshirô Mifune ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 13+ กับความขัดแย้ง และการเข่นฆ่า
Leave a Reply