San Soleil

Sans Soleil (1983) French : Chris Marker ♥♥♥♥

ภาพยนตร์เรื่องนี้-ให้ตายเถอะ-ดูไปก็อาจไม่รู้เรื่อง แต่มันมีดีถึงขนาดเป็นหนึ่งในสารคดียอดเยี่ยมที่สุดในโลก, เราไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจเนื้อเรื่องของหนังเลยก็ได้ มองแค่ว่าเป็น Journey ไดอารี่บันทึกการเดินทางของผู้กำกับ เรียงเรียบนำเสนอในรูปแบบบทความ Essay Film ด้วยภาษาที่มีสัมผัสสอดคล้อง สวยงามราวกับบทกวี

หลายคนคงเคยเขียนไดอารี่ จดบันทึกเรื่องราวชีวิต การเดินทางท่องเที่ยว ความคิดความประทับใจที่ได้พบเจอในแต่ละวัน ลองจินตนาการดูนะครับว่า ถ้าเปลี่ยนจากจดบันทึกตัวหนังสือ เป็นภาพเคลื่อนไหว/ถ่ายภาพยนตร์ มันจะมีลักษณะและวิธีการนำเสนอเป็นอย่างไร?

นี่คือข้อสรุปของผมกับภาพยนตร์เรื่องนี้ บันทึกการเดินทาง (Travelogue) ของผู้กำกับ Chris Marker ที่ใช้กล้องฟีล์ม 16 mm Beaulieu เดินทางไปญี่ปุ่นและหลายๆประเทศ (Guinea-Bissau, Cape Verde, Iceland, Paris และ San Francisco) เพื่อทำการสำรวจ บันทึกเรื่องราว วัฒนธรรม ประเพณี ผู้คน สิ่งต่างๆที่พบเจอ และยังได้ใส่ทัศนะแนวคิดของตัวเองต่อสิ่งต่างๆลงไป ด้วยเสียงบรรยายที่เป็นการอ่านจากจดหมาย ให้เสียงโดย
– Florence Delay ฉบับภาษา French
– Riyoko Ikeda ฉบับภาษา Japanese
– Charlotte Kerr ฉบับภาษา German
– และ Alexandra Stewart ฉบับภาษาอังกฤษ

แน่นอนว่าคนที่เขียนจดหมายก็คือผู้กำกับ Chris Marker ที่ใช้นามปากกา Sandor Krasna ด้วยความตั้งใจในการสร้างหนังคือ

“On a more matter-of-fact level, I could tell you that the film intended to be, and is nothing more than a home movie. I really think that my main talent has been to find people to pay for my home movies. Were I born rich, I guess I would have made more or less the same films, at least the traveling kind, but nobody would have heard of them except my friends and visitors.”

แต่แค่วิธีการเล่าเรื่องมันไม่ใช่ว่า เริ่มต้นการเดินทางจากวันที่ 1 ไปวันที่ 2 ไปวันที่ 3 ตามแบบฉบับธรรมดาทั่วไป, หนังใช้การเล่าเรื่องโดยรวบรวมเนื้อหาทั้งหมด แล้วแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เรื่องไหน/ภาพไหนที่มีลักษณะคล้ายๆกันก็จัดไว้หมวดหมู่เดียวกัน เมื่อได้มาหลายๆกองก็ค่อยเริ่มหาความสัมพันธ์ที่ดูแล้วมีความต่อเนื่อง ทำการตัดต่อเรียงลำดับตามความสนใจ

คงต้องยกตัวอย่างเปรียบเทียบประกอบเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น, เวลาผมไปเที่ยวก็มักจะถ่ายรูปเก็บไว้ ครั้งหนึ่งกับเพื่อน ครั้งสองกับครอบครัว ครั้งสามเที่ยวกับแฟน สถานที่ไปบางครั้งอาจที่เดียวกัน บางครั้งคนละที่แต่จังหวัดเดียวกัน ฯ โดยปกติเวลาพิมพ์รูปเก็บสะสมรวมเป็นอัลบัม เราก็มักจะแยกเป็นครั้งๆแยกกลุ่มแยกช่วงวันเวลาที่เที่ยว แต่วิธีการที่ผมจะเปรียบเทียบกับหนังเรื่องนี้คือ เอาภาพการเที่ยวทุกครั้งทุกกลุ่มมาคละเคล้ากันทั้งหมด แล้วจัดรวบรวมใหม่ เป็นต้นว่า รวมภาพที่ไปหัวหิน (ก็จะมีทั้งที่ไปกับเพื่อน กับครอบครัว กับแฟน ผสมปนเปอยู่ในนั้น), รวมภาพไปสมุย ภูเก็ต เที่ยวทะเลเหมือนกันก็จะจัดรวมไว้กลุ่มหนึ่ง, ไปเชียงใหม่ เชียงราย เที่ยวภูเขาก็จะจัดไว้อีกกลุ่มหนึ่ง ฯ

นี่เป็นวิธีการที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูยากมากๆ เพราะจะไม่มี’เวลา’ เป็นตัวควบคุมเรื่องราวและความต่อเนื่อง, แต่หนังได้สร้างสิ่งอื่นขึ้นมาแทน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการนำเสนอ กลายเป็นภาษาใหม่ของโลกขึ้นทันที

ชื่อหนัง Sans Soleil มาจากบทเพลง song cycle ชื่อ Sunless (ไร้ตะวัน) ประพันธ์โดย Modest Petrovich Mussorgsky ชาวรัสเซียเมื่อปี 1874 โดยนำบทกวีของ Arseny Golenishchev-Kutuzov มาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่ง มีทั้งหมด 6 ท่อง

คำว่าไร้ตะวัน คือไม่มีพระอาทิตย์ขึ้น ตีความว่าคือ การไม่มีจุดเริ่มต้น (เพราะดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นวันใหม่ การไม่มีพระอาทิตย์ขึ้นก็คือไม่มีการเริ่มต้นวันใหม่) นี่เป็นชื่อที่แทนด้วยโลกทัศน์ใหม่ของหนัง ว่าไม่ได้นำเสนอตามลำดับเวลาว่าต้องมีพระอาทิตย์ขึ้น … โลกก็ยังหมุนอยู่ถ้าพระอาทิตย์ไม่ขึ้น [จริงเหรอ!]

สำหรับเพลงในหนัง ส่วนหนึ่งก็นำมาจาก Sunless นะแหละ โดยได้รับการตีความใหม่โดย Isao Tomita ให้กลายเป็นแนว Electronic แบบทดลอง (จะเรียกว่า Avant-Garde ก็ได้) เสียงที่ได้ยินไม่ได้เกิดจากการบันทึกสดนะครับ (เพราะกล้อง 16mm จะไม่มีเครื่องบันทึกเสียง) ทั้งหมดที่ได้ยินเป็นการสร้างเสียงขึ้นทั้งหมด

ส่วนฟุตเทจของ The Zone ภาพ Spectron Video Synthesizer ได้จากเครื่องมือที่สร้างโดย Hayao Yamaneko เพื่อเป็นการให้เกียรติหนังเรื่อง Stalker (1979) ของ Andrei Tarkovsky

บทความนี้ถือว่าจบแล้วนะครับ เพราะเพียงคุณเข้าใจจุดประสงค์และวิธีการดำเนินเรื่อง ก็น่าจะสามารถรับชมหนังได้รู้เรื่องระดับหนึ่ง ไม่มีความจำเป็นต้องตีความตามสาสน์ที่ผู้กำกับนำเสนอมาเลยก็ได้ แค่ซึมซับเรื่องราวให้เข้าผ่านทางเนื้อหนัง ก็จะรับรู้มองเห็นความสวยงามอย่างเพลิดเพลิน แค่ถ้าคุณต้องการเข้าใจว่าสารคดีเรื่องนี้ยิ่งใหญ่ระดับโลกยังไง ลองอ่านต่อนะครับ

“I’ve been around the world several times, and now only banality still interests me.”

ราวกับบุคคลที่เข้าใจสัจธรรมของชีวิต, มันคงจริงที่ว่า เมื่อเราพบเห็นเรียนรู้อะไรมากๆเข้า ย่อมสามารถมองเห็นธาตุแท้ของสิ่งต่างๆ บางครั้งเบื่อหน่ายในการเปลี่ยนแปลงของสังคม และความไม่จีรังของชีวิต จนเมื่อถึงจุดสุดท้าย Banality (=ความเรียบง่ายสามัญ) นี่แหละคือสิ่งที่หลงเหลืออยู่

สามัญ คือ ธรรมดา, พูดถึงธรรมชาติจักคือวิถี กิจวัตร เรื่องราวเหตุการณ์ที่ดำเนินไปในชีวิตแต่ละวัน ราวกับเป็นวัฏจักรเริ่มต้น-ดำเนิน-สิ้นสุด ไม่ใช่กับแค่มนุษย์แต่เหมารวมทุกสิ่งอย่างบนโลก, สำหรับภาพยนตร์ ความสามัญคือการบันทึก/นำเสนอภาพที่ไม่ได้ปรุงแต่งอะไรเลย มีความจริง Reality เป็นที่ตั้ง อาทิ บางคนชอบมองกล้อง บางคนหันหน้าหนี บางคนไม่สนใจ ฯ นี่ถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมีปฏิกิริยาต่อการถูก(แอบ)ถ่ายแตกต่างออกไป

Tokyo มีอะไรน่าสนใจในความคิดของผู้กำกับ?, ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยพ่ายแพ้สงคราม แต่ความสูญเสียไม่ทำให้คนในชาติเกิดความย่อท้อแท้สิ้นหวัง ขณะที่อเมริกาสู้สงครามเย็นกับรัสเซีย ญี่ปุ่นเอาเวลาที่ไม่ต้องแข่งขันต่อสู้กับใครมาฟื้นฟูตนเอง ประชาชนต่างพร้อมใจลุกขึ้นมาพัฒนาสร้างประเทศ จนรุดหน้าล้ำทันและอาจนำหน้าหลายประเทศมหาอำนาจอื่น … ไม่แน่ต่อไปญี่ปุ่นอาจกลายเป็นผู้นำโลกก็เป็นได้

ตรงข้ามสุดขั้วกับประเทศกินี-บิสเซา (Guinea-Bissau) อยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันตก เมืองหลวงชื่อบิสเซา (Bissau) มีเนื้อที่โดยประมาณ 36,125 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน (ในปี 2006) พรมแดนทิศเหนือติดกับเซเนกัล (Senegal) ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับกินี (Guinea) ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก, Guinea-Bissau เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสอยู่นานหลายศตวรรษ ได้เอกราชคืนเมื่อปี 1974 ปัจจุบันปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีประธานาธิบดีและรัฐสภาบริหารประเทศ

ถ้ามองว่าการได้รับเอกราชคืนจากโปรตุเกสของ Guinea-Bissau เสมือนการเริ่มต้นใหม่หลังสิ้นสุดการต่อสู้สงครามอย่างยาวนาน ประเทศญี่ปุ่นและประเทศนี้ก็มีความคล้ายคลึงกัน คือเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ขณะที่ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาจนเจริญรุดก้าวหน้า Guinea-Bissau กลับยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ จนถึอได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก

การนำเสนอภาพวิถีของผู้คนทั้งสองประเทศนี้ มองได้ว่าเป็นกระจกสะท้อนกันในหลายๆด้าน อาทิ ประเพณี-วัฒนธรรม, วิถีชีวิต-ความเชื่อ, การเมือง-การปกครอง, วิถีชีวิต-การทำงาน ฯ เช่นว่า ผู้หญิงประเทศกินี-บิสเซาจะเป็นฝ่ายเลือกสามี, ออกไปทำงานนอกบ้านหาเงินด้วยตนเอง (ไม่พึ่งพาสามี) ฯ นี่จะเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับวิถีชีวิตความเชื่อของคนญี่ปุ่น (สมัยนั้น)

ฉบับที่ผมดูเป็นภาษาฝรั่งเศส ประโยคแรกของหนังอ้างอิงคำพูดมาจากบทละครของ Jean Racine เรื่อง Bajazet (1672)

“L’éloignement des pays répare en quelque sorte la trop grande proximité des temps.”
(The distance between the countries compensates somewhat for the excessive closeness of the times.)

แต่ถ้าเป็นฉบับภาษาอังกฤษ เห็นว่าผู้กำกับเปลี่ยนเป็นอ้างอิงจากบทกวีของ T. S. Eliot เรื่อง Ash Wednesday (1930)

“Because I know that time is always time And place is always and only place”…

สิ่งสวยงามที่สุดในหนังเรื่องนี้ คือ ‘สัมผัส’ของความต่อเนื่องในแต่ละเรื่องราว เช่นว่าตอนต้นเรื่อง หนังนำเสนอประเพณีสวมหน้ากากของชาว Guinea-Bissau จากนั้นตัดไปภาพเครื่องบิน ยิงจรวด พูดถึงการสำรวจอวกาศ (ประมาณว่าออกเดินทางครึ่งโลก) แล้วค่อยนำเสนอประเพณีเต้นๆอะไรสักอย่างของญี่ปุ่น, ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประเด็นหัวข้อสนทนา มันต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นจุดเชื่อม/สัมผัสระหว่างสองเรื่องราวแบบนี้

ในบทกลอน/กาพย์ยานี จะมีสิ่งที่เรียกว่าสัมผัสนอก-สัมผัสใน, คือถ้าอยู่ในท่อนเดียวกัน วรรคเดียวกัน หรือใกล้ๆกันจะเรียกว่าสัมผัสใน แต่ถ้าคนละท่อน คนละวรรค ไกลๆกัน จะเรียกว่าสัมผัสนอก

สัมผัสในของหนังเรื่องนี้ ก็อย่างช่วงหนึ่งที่หนังตัดสลับฉากต่อฉาก ภาพของนักแสดงในโทรทัศน์กับคนที่โดยสารบนรถไฟ ใบหน้าของพวกเขา…ก็คล้ายกันอยู่นะ (Montage), สำหรับสัมผัสนอก ขอยกเรื่องแมวชื่อ Tora แล้วกันนะครับ (จริงๆ Tora ภาษาญี่ปุ่นแปลว่าเสือ) มีหลายครั้งทีเดียวที่หนังพูดถึงแมว อาทิ หุ่นแมว, รูปปั้นแมว/เสือ, โดเรม่อน, แมวจรจัด, รูปแมว Synthesizer ฯ เหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในหนังทั้งเรื่อง, บางครั้งพูดถึงสุนัข (ที่เป็นศัตรูตรงข้ามกับแมว), ปีจอ (ปีสุนัขที่ย่างเข้ามา), สุนัขยอดกตัญญู ฮะชิโก (Hachikō) ฯ ก่อนปีจอคือปีวอก (ปีลิง) รูปปั้นจำลองเกี่ยวกับ Sex จำนวนมากจะเป็นลิง ฯ

ยกตัวอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นสัมผัสของหนัง
การเดินทาง: เรือ, รถไฟ, เครื่องบิน, อนิเมชั่นเรื่อง Galaxy Express 999

Reference ไม่เพียงมีความหมายแค่สัมผัสเท่านั้น แต่ยัง’อ้างอิงถึง’ สำหรับผู้สร้างหนังมันคงแปลกไม่น้อยถ้าจะไม่พูดอ้างอิงถึงสื่อภาพยนตร์, ทศวรรษที่ 50s-60s เป็นช่วงเวลาที่วงการโทรทัศน์เริ่มเข้ามามีบทบาทอิทธิพลในอเมริกา สำหรับญี่ปุ่นก็น่าจะช่วงเวลาใกล้ๆกัน (แต่อาจเป็นทศวรรษถัดมาที่ 60s-70s) ปัจจุบันในหนังทศวรรษ 80s กลายเป็นสิ่งกว้างขวางเข้าถึงได้ง่าย ถ้าไม่ได้ยากจนสุดๆจริงๆล้วนต้องมีติดไว้แทบทุกบ้าน ซึ่งกระแสความนิยมโทรทัศน์ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ความเชื่อ วัฒนธรรมต่างๆของผู้คนมากมาย

มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ถูกนำมาฉายเป็นรายการโทรทัศน์ แต่ที่ต้องพูดถึงเลยมีเพียง Vertigo (1959) ของ Alfred Hitchcock ใจความของหนังเรื่องนี้คือความลุ่มหลงใหลระดับคลั่งไคล้ ที่พระเอกต้องการประติดประต่อความทรงจำที่สับสนปนเป ของผู้หญิงคนหนึ่งในอดีตที่สูญหายไป นี่ก็เหมือนภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ก็เป็นการประติดประต่อภาพเหตุการณ์ต่างๆ ให้กลายเป็นเรื่องราว

เช่นกันกับวงการเกม, Pac-Man เป็นเกมที่ ‘the most perfect graphic metaphor of man’s fate.’ นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่าเกมนี้จะมีนัยยะพูดถึงการต่อสู้ ดิ้นรน เอาตัวรอด ครอบครอง และเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง, ผู้เล่นรับบท Pac-Man ที่จะต้องไล่เก็บกินจุดเล็กๆในแผนที่ให้ครบ (ครอบครอง/เป็นเจ้าของ) ขณะเดียวกันต้องคอยหลบศัตรูที่มีประมาณ 4-5 ตัว ถ้าถูกโจมตี/กินจากด้านหลังก็จะแพ้เสียชีวิตทันที แต่สามารถทำกลับกันได้ คือไล่กินศัตรูจากข้างหลัง และเมื่อใดที่สามารถครอบครอง/กิน จุดเล็กๆได้หมด(ทุกสิ่งอย่าง)เกมก็จะจบลง

ชีวิตมันมีอะไรนอกจากต่อสู้ ดิ้นรน เอาตัวรอด และครอบครอง เมื่อได้เป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างแล้วยังไงต่อ ก็แค่นั้นนะครับชีวิต กลับไปเริ่มต้นใหม่เลย

ฉากยิงยีราฟ เห็นแล้วทรมานใจ ทำไมต้องใส่เข้ามา? ก่อนหน้านี้จะมีคำพูดที่ว่า guerrilla ทหารหน่วยกองโจร ปฏิบัติการอย่างเรียบง่ายและรวดเร็ว ซึ่งภาษาภาพยนตร์ filmmaking ก็มีคำว่า guerrilla เช่นกัน เรียกว่าทีมถ่ายกองโจร เรียบง่ายและรวดเร็ว, การต้องยิงยีราฟเสมือนปฏิบัติการของหน่วยกองโจร ความตายของมันคือความสำเร็จในการถ่ายทำสร้างภาพยนตร์ (นี่ฟังไม่เข้าท่าเลยนะครับ)

สำหรับเครื่อง Spectron Video Synthesizer หน้าตาประมาณในรูปนะครับ ในหนังก็หลายฉากถ่ายให้เห็นอยู่ วิธีการคือนำภาพจากกล้องเข้าเครื่องนี้ฉายผ่านโทรทัศน์ มันจะมีเหล็กจิ้มๆเพื่อปรับกระแสไฟฟ้า แปลงภาพที่ได้ให้กลายเป็นอะไรสักอย่างผิดเพี้ยนไปจากเดิม เห็นคลื่นเป็น Spectrum แถบสีอะไรก็ไม่รู้, ถ้ามองหาถึงนัยยะที่ต้องนำเสนอภาพพวกนี้ (หลายครั้งด้วยนะ) นี่คือการแปรสภาพ/เปลี่ยนแปลง/มองโลกในมุมอื่นที่แตกต่าง ขณะเดียวกันเทคโนโลยี Synthesizer คือสิ่งที่เป็นอนาคตในสมัยนั้น สามารถมองได้ว่าคือจินตนาการ และภาพของโลกอนาคตต่อไปก็ได้

พูดถึงเรื่องสัมผัส มันจะมีภาพหนึ่งที่ปรากฎตอนต้นและตอนท้าย เด็กหญิงสามคนที่ประเทศ Iceland, ถ้าคุณตั้งใจฟังคำบรรยาย เสียงพูดจะบอกประมาณว่า ‘นี่เป็นภาพแห่งความสุขที่ไม่รู้จะใส่ไว้ตรงไหนดี เพราะมันไม่สามารถเชื่อมกับฉากไหนได้เลย’ สิ่งที่ผู้กำกับทำก็คือ เอามันมาใส่ไว้ต้นเรื่องนี่แหละ เป็นการเกริ่น Intro แล้วเพิ่มเสียงบรรยายอธิบายบอกว่า

“If they don’t see happiness in the picture, at least they’ll see the black.”

ผมตีความประโยคนี้ แทนด้วยความสามารถของผู้ชมในการดูหนังเรื่องนี้, ถ้าคุณสามารถมองเห็นและเข้าใจสิ่งที่หนังนำเสนอก็จะรับรู้ถึงความสวยงาม แต่ถ้าไม่ก็มืดมิดสนิทแปดด้าน

ไม่รู้สิ่งที่ผมยกมาจะทำให้หลายๆคนมองเห็นความสวยงามของหนังเรื่องนี้หรือเปล่า เอาว่าถ้าเพียงแค่คุณมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่อยู่ในหนัง ก็น่าจะเพียงพอให้ตระหนักรู้ได้ว่า นี่เป็นหนังที่มีความสวยงามซ่อนอยู่ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเนื้อเรื่องใจความสำคัญทั้งหมดนะครับ เพราะผมก็ไม่รู้เหมือนกันคืออะไร เลยมองความตั้งใจของผู้กำกับว่าต้องการนำเสนออะไร และได้ข้อสรุปว่า คือบันทึกไดอารี่ของผู้กำกับเท่านั้น (ว่าไปเขียนไดอารี่มันก็ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรนะ ก็เขียนไปเรื่อยๆเปื่อยๆ ชีวิตประจำวัน)

ผมถือว่าไร้ข้อกังขาเลย กับการจัดอันดับของ Sight & Sound เมื่อปี 2014 ที่ยกให้ Sans Soleil ติดอันดับ 4 ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมที่สุดในโลก

ส่วนตัวชอบหนังเรื่องนี้มากๆ, แต่ตอนดูจบรอบแรกยังไม่ได้เกิดความประทับใจหนังเสียงเท่าไหร่ มึนงงสับสนเล็กน้อย ด้วยความที่ช่วงต้นๆเรื่องยังปรับตัวไม่ทัน จึงตัดสินใจย้อนกลับไปเริ่มต้นดูใหม่ เผลอตัวเพลิดเพลินไปได้เกือบครึ่งเรื่อง เห้ย! ค้นพบมนต์เสน่ห์บางอย่างของหนัง

จากรอบแรกที่ก็ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังรับชมอะไรอยู่ ไม่น่าเชื่อพอดูรอบที่สองกลับสามารถมองเห็นความตั้งใจ เข้าใจเป้าหมายของหนังได้ทันที นี่แปลว่าถ้าคุณรับชม Sans Soleil หลายๆรอบ ก็จะยิ่งมองเห็นความสวยงามที่แอบซ่อนอยู่ สัมผัสที่วางไว้อย่างประณีตสอดคล้อง ต้องใช้การสังเกตครุ่นคิดเรียนรู้ จะทำให้ยิ่งหลงใหลชื่นชอบมากขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มความเป็นไปได้ว่า ถ้าผมลงลึกรายละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ก็อาจตกหลุมรักจนอาจถึงขั้นกลายเป็นหนังโปรดเรื่องต่อไปเลยก็ได้

แนะนำอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องการไปญี่ปุ่น หนังนำเสนอวัฒนธรรมระดับรากหญ้า ทั้งๆที่ผมก็ดูอนิเมะมามาก แต่หลายอย่างบอกเลยว่าก็เพิ่งรู้จากหนังเรื่องนี้

และสำหรับนักเรียนภาพยนตร์ ลองศึกษาลักษณะวิธีการนำเสนอ และหาคำอธิบาย film essay ของหนังเรื่องนี้ดูนะครับ มันสามารถตีความได้ร้อยแปดพันก้าวที่ไม่เหมือนกันเลยสักนิด นี่แหละที่เรียกว่า Masterpiece

จัดเรต PG มีภาพโป๊เปลือยนิดหน่อย และการกระทำบางอย่างที่ค่อนข้างรุนแรง

TAGLINE | “Sans Soleil ภาพยนตร์สารคดีของ Chris Marker จดบันทึกเรื่องราวการเดินทางได้อย่างสวยงาม และมีสัมผัสสอดคล้องราวกับบทกวี”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: