Sans toit ni loi (1985) : Agnès Varda ♥♥♥♥
ลองจินตนาการ Citizen Kane (1942) นำเสนอด้วยไดเรคชั่น French New Wave และตัวละครหลักคือเพศหญิง เพียงเท่านี้ก็ทำให้ท่านแม่ทูนหัว Agnès Varda คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“If you tell the story of Citizen Kane, it’s not much of a story. An old rich mogul man is dead. He said a word we don’t understand. We don’t discover so much, just some pieces of his life and finally it is just a sled. Is that a story? It is not much. So what makes Citizen Kane so interesting is the way [Welles] told us about the man—intriguing us about what people think about him”.
– Agnès Varda
Vagabond เริ่มต้นด้วยการเสียชีวิตหนาวตายของหญิงสาวคนหนึ่ง จากนั้นเสียงบรรยายผู้กำกับ Agnès Varda ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดติดตาม มันเกิดอะไรขึ้นกับเธอกันแน่? จากนั้นเล่าย้อนอดีตนำเสนอการเดินทาง ตัดสลับบทสัมภาษณ์บุคคลพานผ่านพบเจอ ทีละเล็กละน้อยสะสมจนเกิดความเข้าในวิถีความคิด โลกทัศนคติ และจิตวิญญาณตัวตน
ผมค่อนข้างอึ้งทึ่งกับความสุดโต่งของตัวละครและหนัง ปกติจะพบเห็นแต่ผู้ชายที่กล้าบ้าขนาดนี้ โคตรฉงนสงสัยว่าผู้หญิงน่ารักที่สุดในโลกอย่าง Agnès Varda ทำไมถึงครุ่นคิดเรื่องราวลักษณะนี้ออกมาได้?
ไฮไลท์ของหนังประกอบด้วยการแสดงของ Sandrine Bonnaire, ถ่ายภาพโคตรสวยโดย Patrick Blossier และไดเรคชั่นผู้กำกับ Agnès Varda พบเห็นสไตล์ลายเซ็นต์ ความเป็น ‘Cinécriture’ ที่งดงามมากๆ
Agnès Varda ชื่อจริง Arlette Varda (เกิดปี 1928) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Belgian-French เกิดที่ Ixelles, Belgium ลูกคนที่สามจากพี่น้องห้าคน ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหลบซ่อนตัวอยู่ Sète (เมืองท่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศส) โตขึ้นเรียนจบปริญญาตรี สาขาวรรณกรรมจาก Lycée Victor-Duroy และสาขาจิตวิทยาที่ Sorbonne ทีแรกตั้งใจสมัครเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ École du Louvr คงไม่สำเร็จกระมังเลยเปลี่ยนมาทำงานช่างถ่ายภาพนิ่ง ค่อยๆเกิดแรงผลักดันบันดาลใจ อยากร้อยเรียงเล่าเรื่องสร้างองค์ประกอบภาพเคลื่อนไหว
ตัดสินใจทดลองสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก La Pointe Courte (1954) ทั้งๆไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ไร้ผู้ช่วยกำกับ ถ่ายทำยัง Sète ใช้ทุนเพียง $14,000 เหรียญ [น้อยกว่า The 400 Blows หรือ Breathless หลายเท่าตัวเลยนะ] ได้รับคำยกย่องจากนักวิจารณ์ ให้คำนิยาม ‘Forerunner of French New Wave’
ความที่ Varda เป็นผู้กำกับไม่ได้มาจากสายนักวิจารณ์ Cahiers du Cinéma เหมือน Jean-Luc Godard, François Truffaut ฯ เลยถูกจัดกลุ่มเข้าฝั่ง Left Bank ร่วมกับ Chris Marker, Alain Resnais ฯ และผลงานแรก La Pointe Courte (1954) ถือว่าเริ่มต้นยุคสมัยก่อนหน้าใครเพื่อน เลยได้รับฉายา ‘Grandmother and the Mother of the French New Wave’
แซว: ขณะที่ผู้กำกับ Jean-Pierre Melville ได้รับคำเรียก ‘Spiritual father of the French New Wave’
สำหรับ Sans toit ni loi คือการประติดประต่อช่วงชีวิตเดือนสุดท้ายของ Mona Bergeron (รับบทโดย Sandrine Bonnaire) เริ่มต้นเสียงบรรยายบอกว่าเธอมาจากทะเล ออกเดินทางผจญภัย พบปะผู้คน ดิ้นรนเอาตัวรอด แต่ไม่เคยหยุดอยู่นิ่งกับที่นานๆ หรือปฏิบัติตามคำแนะนำร้องขอของใคร
เกร็ด: เห็นว่าเรื่องราว/บุคคลที่ Mona ประสบพบเจอมีทั้งหมด 47 ตอน (เยอะขนาดนั้นจริงๆนะหรือ??)
Sandrine Bonnaire (เกิดปี 1967) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Gannat, Allier ในครอบครัวชนชั้นทำงาน มีพี่น้อง 11 คน เมื่ออายุ 16 ปี เข้าตาผู้กำกับ Maurice Pialat ได้รับเลือกแสดงนำ À nos amours (1983) แจ้งเกิดคว้ารางวัล César Award: Most Promising Actress, สองปีถัดมาโด่งดังระดับนานาชาติกับ Sans toit ni loi (1985), ตามด้วย Under the Sun of Satan (1987), Monsieur Hire (1989), La Cérémonie (1995), East/West (1999), The Final Lesson (2015) ฯ
รับบท Mona Bergeron หญิงสาวเคยทำงานออฟฟิศ ณ กรุงปารีส แต่เบื่อหน่ายต่อวิถีชีวิตเลยครุ่นคิดเปลี่ยนมาเป็นนักเดินทาง ออกแสวงหาอิสรภาพเสรี ไม่ชอบการกดขี่ข่มเหง บีบบังคับกักกัน หรือถูกสั่งให้กระทำบางสิ่งอย่างตามใคร รับน้ำใจแต่ปฏิเสธไมตรี เวลามีปัญหาก็สะบัดตูดหนีเอาตัวรอดก่อนเพื่อน
พฤติกรรมการแสดงออกของ Mona ล้วนสะท้อนความต้องการของตนเองแบบตรงไปตรงมา ชอบใครก็อยู่ด้วยนาน รังเกียจก็สร้างความรำคาญ ลึกๆอาจต้องการสถานที่สำหรับปักหลักใช้ชีวิต แต่สุดท้ายกลับไม่ใครพร้อมเสียสละ ต่างต้องการข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างเพื่อสนองผลประโยชน์ส่วนตน
ภาพลักษณ์ของ Bonnaire ดูเป็นสาวฮิปปี้ หัวขบถ แสดงออกความครุ่นคิดต้องการแบบตรงไปตรงมา สนุกสนานก็ยิ้มร่า เจ็บปวดรวดร้าวหลั่งน้ำตา หงุดหงิดมาก็คิ้วขมวด ฯ เรียกได้ว่าสุดเหวี่ยงเต็มที่กับชีวิต ขณะเดียวกันคงโกรธเกลียดวิถีโลกใบนี้ เพราะทุกคนต่างมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง!
ถ้ามองในมุมกลับกัน พฤติกรรมการแสดงออกของ Mona ถือว่าจมปลักอยู่ในโลกแห่งจินตนาการเพ้อฝัน พยายามปฏิเสธสัจธรรมความจริงที่ว่า ‘ไม่มีอะไรในโลกได้มาฟรีๆ’ คนแบบนี้จ้องแต่จะเอารัดเอาเปรียบ เกลียดตัวกินไก่ บอกว่าทุกคนเห็นแก่ตัว แต่เธอนั่นแหละกบในกะลา
ถ่ายภาพโดย Patrick Blossier สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Miss Mona (1987), The Chambermaid on the Titanic (1997), Amen. (2002), Days of Glory (2006) ฯ
ตรงกันข้ามกับ Citizen Kane (1942) ที่สร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ Vagabond (1985) ถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ณ เมือง Hérault และ Gard ทางตอนใต้ติดทะเลของฝรั่งเศส
สิ่งโดดเด่นมากๆของงานภาพมีสองอย่าง
– การทำเฉดสี (Colour Palette) เพื่อให้ทุกองค์ประกอบในภาพมีความกลมกลืนเข้ากับสถานที่ ฤดูกาล และช่วงเวลาถ่ายทำ ซึ่งจะมีความแห้งแล้ง หนาวเหน็บ เย็นยะเยือก (ถ่ายทำในฤดูหนาว หิมะกำลังพอกโพลน)
– ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Varda คือการเคลื่อนกล้องไปด้านข้าง มีคนนับได้ทั้งหมด 14 ครั้ง, ถ้าเป็นผลงานก่อนหน้า Cléo de 5 à 7 (1962) ตัวละคร Cléo มักอยู่ตำแหน่งกึ่งกลางภาพโดยตลอด แต่เรื่องนี้ Mona มักหลบหายตัวไปกลางทางเสียอย่างนั้น!
ภาพแรกของหนังคือไร่ฟาร์มอ้นกว้างไกล กล้องค่อยๆซูมเข้าไปเพื่อสร้างความน่าพิศวงสงสัย มันจะมีอะไรหลบซ่อนเร้น เกิดขึ้นที่ปลายคันนานั้นหรือเปล่า
ฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาแห่งความแห้งแล้ง ต้นไม้สลัดใบเหลือเพียงกิ่งก้าน คนงานกำลังเก็บไม้มาทำฟืน พานพบเห็นร่างไร้วิญญาณของหญิงสาว … ก็ไม่ต่างกับกิ่งไม้ตายแล้วนี้สักเท่าไหร่
เราสามารถเทียบแทนตัวตนของ Mona ได้กับต้นไม้ที่มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบพวกนี้
ลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Varda คือการเคลื่อนกล้องแนวขวาง (Horizontal Tracking Shot) ซึ่งบางครั้งก็จะเคลื่อนนำตัวละคร บางทีก็เคลือนตาม อย่างช็อตนี้ตัวละครโบกรถจอดเลยวิ่งนำหน้าไปก่อน แล้วกล้องมายุดตรงป้าย Stop พอดิบพอดี
การมาหยุดกล้องตรงป้าย Stop มันคือความยียวนขี้เล่นในสไตล์ผู้กำกับ Varda ซึ่งเป็นลักษณะของ Cinécriture อธิบายสิ่งเกิดขึ้นด้วยภาพแทนคำพูดบรรยาย
ช็อตนี้ก็เฉกเช่นกัน เริ่มต้นจากเคลื่อนกล้องแนวขวางติดตามตัวละคร กระทั่งว่าเธอแวบเข้าร้านเบอเกอรี่ แต่กล้องยังเคลื่อนต่อมาเรื่อยๆจนมาถึง ต้นไม้แห้งๆในกรงขัง
อย่างที่ผมบอกไป ต้นไม้ที่มีเพียงกิ่งก้านไร้ใบคือตัวแทนของ Mona ช็อตนี้จึงมีนัยยะถึงเธอกำลังติดอยู่ในกรงขัง ซึ่งพอเป็นภาพต่อเนื่องจากการเดินเข้าร้านเบเกอรี่ ปัจจัยสี่จึงทำให้เธอยังติดอยู่ในเรือนร่างกายมนุษย์
ผมไม่ขอพูดซ้ำถึงต้นไม้นะครับ แต่ช็อตนี้มีอีกสิ่งน่าสนใจคือสุนัขถูกผูกไว้ มันพยายามดิ้นรนตะเกียกตายแสวงหาอิสรภาพ เปรียบเทียบได้ตรงๆกับ Mona เธอเคยเป็นแบบนั้น แต่ปัจจุบันถือว่าไม่แล้ว
สังเกตว่าหลายๆสถานที่ที่หญิงสาวเดินทางพานผ่าน มักล้อมด้วยรั้วลวดหนาม หรือมีป้ายขึ้นบอกสุนัขดุ ทั้งหมดนั้นล้วนสะท้อนได้ถึงกรอบ กรงขัง บ้านล้อมรอบด้วยผนังมันช่างอึดอัด คับแคบเสียเหลือเกิน
ผมค่อนข้างชอบชื่นชอบช็อตนี้ เพราะบุคคลผู้ที่จักได้รับอิสรภาพแท้จริง ไม่ต่างอะไรกับรูปปั้นหินนี้ ไร้อารมณ์ ความรู้สึก ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของสิ่งใด … แต่นั่นใช่เป้าหมาย ความปรารถนาของหญิงสาวจริงๆนะหรือ?
กระจกสะท้อนสิ่งที่คือกิ่งก้านต้นไม้ไร้ใบ จิตวิญญาณของหญิงสาวราวกับถูกกักขังไว้ในกรง บ้านเล็กๆหลังนี้ไม่แตกต่างไปจากคุก ไร้ซึ่งอิสรภาพเสรี หาใช่ความปรารถนาแท้จริงของตนเองไม่
เราอาจมองว่า การงานลักษณะนี้เป็นสิ่งยังไม่ถูกใจ Mona เธอจึงแสดงความขี้เกียจคร้านเบื่อหน่าย ขณะเดียวกันคือความเรื่องมาก เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ อยากท้องอิ่มสุขสบายกลับไม่ใคร่ขวนขวายแสวงหา
ตัวประกอบสมทบสร้างสีสันสุดของหนังคือ Mme Landier (รับบทโดย Macha Meril) เธอทำงานวิจัยอะไรสักอย่างเกี่ยวกับต้นไม้ ศัพท์วิชาการมันช่างน่าเบื่อหน่ายชวนหลับเสียเหลือเกิน
เชื้อราที่ค่อยๆซึมเข้าไปในลำต้นกิ่งก้าน เป็นสิ่งที่ค่อยๆกัดกร่อนทำลาย ถ้าไม่อยากให้แพร่เชื้อกระจัดกระจายก็ต้องตัดโค่นทำลาย นอกเสียจากศึกษาวิจัยยารักษาหรือป้องกัน แต่นั่นทำกันได้ง่ายๆเสียที่ไหน
เมื่อใช้การเปรียบเทียบต้นไม้คือ Mona ขึ้นราก็คือพฤติกรรมแสดงออกของเธอราวกับคนป่วยรักษาไม่หาย ทำแบบนี้ต่อไปอีกไม่นานคงถึงความตาย
อยู่ดีๆก็ถูกไฟดูด เกิดอาการสั่นเหมือนเจ้าเข้า (แต่ไปทำท่าไหนถึงจับหลอดไฟพร้อมกันสองดวงเช่นนั้น?) นัยยะของฉากนี้เหมือนการกระตุ้นเตือนสติ เพราะ Mme Landier คือคนใกล้เคียงสุดที่เข้าใจ Mona และสามารถให้ความช่วยเหลือได้ หลังจากเหตุการณ์นี้เลยร้องขอแฟนหนุ่มให้ช่วยติดตามหาเธอ ไม่น่าไปปล่อยทิ้งป่าบริเวณนั้นเลยโคตรอันตราย
แค่พูดก็ถือว่าเป็นลางร้ายเสียแล้ว เพราะสิ่งที่ Mona พานพบเจอในป่าแห่งนี้คือชายที่จับจ้องหมายปอง กระทำการข่มขืน(ดีนะไม่ฆ่าหั่นศพ)
นี่เป็นฉากทรงพลังที่สุดของหนัง ไม่เพียงสะท้อนภยันตรายย่อมเกิดขึ้นได้กับนักเดินทาง แต่มันคือเหตุการณ์ครั้งเดียวแล้วเงียบไปเลยไม่มีการกล่าวถึงอีก ถ้าเป็นคนเมืองหน่อมแหน้มโดนรุมโทรมแบบนี้คงได้จิตป่วย PTSD แต่สำหรับ Mona จิตใจเธอคงเข้มแข็งมากพอ จึงพร้อมลุกขึ้นก้าวเดินต่อแบบไม่สั่นสะเทือนสักเท่าไหร่
แต่แท้จริงแล้วจิตใจของ Mona เข้มแข็งแกร่งขนาดนั้นจริงๆนะหรือ? … ผมว่าไม่เลยนะ นี่เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ค่อยๆสะสมความอึดอัดอั้น เจ็บปวดรวดร้าว ทุกข์ทรมานภายในจิตใจ ช่วงหลังๆจึงเต็มไปด้วยความหวาดสั่นสะพรึงกลัว แม้เพียงถูกกลั่นแกล้งเล่นจิตใจก็รับไม่ไหวแล้วกับวิถีแห่งโลก
การตัดเถาวัลย์เป็นงานลุยๆที่ต้องใช้พละกำลัง มันเลยไม่ค่อยเหมาะกับผู้หญิง … แต่ใช่ว่าจักทำไม่ได้!
นัยยะของการตัดเถาวัลย์ คือการกำจัดส่วนเกิน สิ่งที่เป็นอันตรายต่อต้นไม้ใหญ่ สะท้อนถึงความต้องการอิสรภาพ จำต้องเสียสละตัดทิ้งบางสิ่งอย่างออกไป หนึ่งในนั้นก็คือครองคู่อยู่กินกับคนรัก
อาชีพตัดเถาวัลย์ คงเป็นงานใช้แรงงานที่นิยมว่าจ้างต่างชาติ เพราะค่าแรงแสนถูก ซึ่งห้องพักของ เจ้านาย-ลูกน้อง ช่างมีความแตกต่างตรงกันข้าม สะท้อนวิทยฐานะ ชนชั้นทางสังคมได้อย่างชัดเจน
การพบเจอ Yolande (รับบทโดย Yolande Moreau) สาวรับใช้ที่มีความซื่อตรง ทำงานตามคำสั่งแบบเคร่งครัด ถือว่าแตกต่างตรงกันข้ามกับ Mona โดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้มันเลยเป็นความพิศวงหลงใหลในจิตใจตั้งแต่พบเจอครั้งแรกที่คฤหาสถ์ร้าง ระหว่างทางครานี้เลยพากลับบ้านมาด้วย ซึ่งสิ่งได้รับตอบแทนนั้นคือ …
ครอบครัวนี่ตัวดีเลยนะ พ่อ-แม่มักพยายามที่จะควบคุม ครอบงำ บีบบังคับ ออกคำสั่งบุตรหลาน คาดหวังโน่นนี่นั่นให้ทำตามประสงค์ กักขังหน่วงเหนี่ยวเพื่อมิให้ได้รับอิสรภาพเสรี เช่นเดียวกันกับผู้สูงวัยชราภาพ เพราะไม่สามารถทำอะไรได้นานเลยมักถูกลูกหลานแช่งชั่ง เมื่อไหร่จะจากไปเสียทีจักได้เลิกทรมาน
สำหรับ Mona เมื่อเธอเจอคุณยาย ดื่มเหล้ากันสักหน่อยเป็นไร โอ้โห! นี่เป็นสิ่งลูกหลาน คนในกฎกรอบคงไม่มีวันทำได้ อิสรภาพช่างคือสิ่งหวานฉ่ำเสียเหลือเกิน
สถานีรถไฟ คือสถานที่ของการออกเดินทาง เลือกที่จะไปแห่งหนไหน ขณะเดียวกันก็คือจุดสิ้นสุดปลายทาง สำหรับ Mona คือช่วงเวลาแห่งความสับสน มึนเมามาย ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะไปที่ใดต่อ
ไดเรคชั่นฉากนี้น่าสนเท่ห์ทีเดียว ใช้การเปลี่ยนมุมมองเพื่อปรับทิศทางเรื่องราว กล่าวคือเริ่มต้นที่ Yolande เดินทางมาถึงสถานีรถไฟ ภาพถ่ายจากด้านนอกเธอหันมาเห็นบางคนในร้านกาแฟ หลังจากพูดคุยต่อหน้ากล้อง (Break the Fourth Wall) แล้วตัดเปลี่ยนมาช็อตนี้จากภายในร้าน หญิงสาวยืนด้อมๆมองอยู่ด้านนอก
อิสรภาพในความเข้าใจของ Mona นำพาเธอมาจนถึงช็อตนี้ แสงสว่างจากภายในโรงเรือนมีลักษณะเหมือนโลกทั้งใบ สุนัขเห่าหอนข้างนอกช่างน่ารำคาญ ถูกขับไล่ก็ยังไม่ยินยอมละเลิกรา
ผมก็ไม่รู้มันกิจกรรมอะไรนะ แต่คงแค่เล่นๆไม่ได้จริงจังอะไร ถึงกระนั้นก็ทำให้ Mona แทบจะขี่เยี่ยวเล็ดราด (เพราะก่อนหน้านี้โดนข่มขืนมา ครานี้เลยหวาดสะพรึงกลัวแทบเป็นบ้า!)
แซว: โลกทั้งใบของหญิงสาว จากโรงเรือนตอนนี้หลงเหลือแค่ตู้โทรศัพท์แล้วนะครับ
แค่สะดุดไม้ล้มไม่ถึงตายหรอกนะ แต่ความหมดสิ้นหวังอาลัยในโลก นั่นต่างหากทำให้ Mona ตรอมใจตายเสียมากกว่า!
ไม้อันนี้จะถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของขอบเขตแดน เป้าหมายปลายทาง ที่สุดแห่งอิสรภาพ ถ้าใครก้าวข้ามผ่าน ชีวิตก็จักไม่หลงเหลืออะไรอีกแล้วนอกจากความตาย
ตัดต่อโดย Agnès Varda และ Patricia Mazuy
เริ่มต้นที่การเสียชีวิตหนาวตายของหญิงสาวคนหนึ่ง ตามด้วยเสียงพูดบรรยาย Agnès Varda ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดติดตาม จากนั้นทำการเล่าย้อนอดีตในลักษณะ Pseudo-documentary ปรากฎภาพเหตุการณ์ดำเนินไป สลับกับสัมภาษณ์ตัวละครที่จะจับจ้องมองหน้ากล้อง
โครงสร้างการดำเนินเรื่องนี้ ถือว่ารับอิทธิพลเต็มๆจาก Citizen Kane (1942) ความน่าสนใจไม่ใช่การเสียชีวิตเพราะถูกเปิดเผยจุดจบมาตั้งแต่ต้น แต่คือเรื่องราวของตัวละคร ที่มาที่ไป เธอคือใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร เพราะเหตุใด-ทำไมถึงมาลงเอยกลายเป็นศพแข็งตาย ณ สถานที่แห่งนี้ได้?
ความน่ารักแบบกวนๆในสไตล์ของ Varda มักพบเห็นความต่อเนื่องของการเปลี่ยนฉาก อาทิ ช็อตบนพบเห็นป้ายคนเดิน ถัดมาคือทางม้าลายสำหรับข้ามถนน … แต่หญิงสาวใคร่สนใจเดินข้ามตามกฎจราจรเสียเมื่อไหร่!
เพลงประกอบแต่งโดย Joanna Bruzdowicz ใช้ไวโอลินตัดกับเชลโลประสานเสียงกรีดกราย ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมาน สะท้อนมุมมองโลกทั้งใบของหญิงสาว ช่างเต็มไปด้วยความหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก บาดแทงไปถึงส่วนลึกในขั้วหัวใจ
สำหรับ Diegetic Music จากตู้เพลง วิทยุ อาทิ
– The Changeling ขับร้องโดย The Doors
– A Contre-Courant ขับร้องโดย Valérie Lagrange
– Oh Baby ขับร้องโดย Passion Fodder
– Freedom Is Slavery ขับร้องโดย Passion Fodder
– Marcia Baila ขับร้องโดย Les Rita Mitsouko
– In My Tea ขับร้องโดย Les Rita Mitsouko
– Sur la mer toujours recommencée calmée ขับร้องโดย Marina Albert
การเดินทางของ Mona ทำให้พานพบเห็นวิถีของโลกยุคสมัยนั้น-นี้ ที่ผู้คนแม้มีน้ำใจแต่ขาดไมตรีต่อกัน สามารถให้ความช่วยเหลือพักพิงชั่วคราว แต่ถ้าจะถาวรจำต้องมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนบางอย่าง ไร้ซึ่งความบริสุทธิ์ใจจริง … แต่ครุ่นคิดกลับกัน นั่นคือสัจธรรมอยู่แล้วมิใช่หรือ?
อิสรภาพเป็นสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยการไม่หมกมุ่นยึดติดต่อสิ่งอันใด เพราะเมื่อไหร่เกิดความต้องการก็จำต้องแลกมาด้วยบางสิ่ง ไม่มีอะไรในโลกความจริงที่ได้มาฟรีๆ น้ำใจไมตรีก็เฉกเช่นกัน!
Mona เป็นคนที่ลุ่มหลงระเริงในอิสรภาพเสรี พยายามทุกวิธีดิ้นให้หลุดเมื่อถูกควบคุมครอบงำด้วยกฎกรอบ แต่เพราะครุ่นคิดเช่นนั้นเลยทำให้เธอเสมือนอาศัยอยู่ในคลอบที่เรียกว่า ‘อิสรภาพ’ หาใช่บุคคลผู้ค้นพบเจออิสรภาพอย่างแท้จริงไม่
สิ่งที่ทำให้ชีวิตของ Mona ตกต่ำลงเรื่อยๆ เกิดจากความดื่มด่ำเมามายใน ‘อิสรภาพ’ ของตนเอง จนค่อยๆสูญเสียสติ/การควบคุมตนเอง และเมื่อไม่อาจตอบสนองร่างกาย สุดท้ายจิตใจจึงยอมพ่ายแพ้เลิกดิ้นรน
แล้วทำไมเธอถึงร่ำร้องไห้? น้ำตาของหญิงสาวสะท้อนถึงความต้องการ ยังคงโหยหาบางสิ่ง ไม่ใช่แค่อาหารอิ่มท้อง เสื้อผ้ากันหนาว แต่ยังบ้านพักผ่อนพิง คนรักอิงข้างกาย เหล่านั้นคือสิ่งเป็นไปไม่ได้ถ้ายังเอาแต่ร้องเรียกหาอิสรภาพเสรี
เอาจริงๆผมยังครุ่นคิดไม่ตก ทำไมผู้กำกับ Varda ถึงใคร่สนใจในตัวละคร Mona? หรือเพราะตัวเธอเองก็มีความโหยหาต้องการอิสรภาพสุดโต่งเฉกเช่นนั้นหรือ?
Varda ไม่เคยมองตนเองว่าเป็นผู้กำกับ Feminist แต่เธอสร้างภาพยนตร์ผ่านมุมเพศหญิง (ก็ของตัวเองนะแหละ) เลยไม่แปลกจะสะท้อนแนวคิด ทัศนคติ ความต้องการ อิสรภาพก็เฉกเช่นกัน สิ่งที่ผู้ชายทำได้ทำไมเพศหญิงจะทำไม่ได้
การเดินทางของ Mona/Varda คาบเกี่ยวระหว่างชีวิต-ความตาย อุดมการณ์-ความเป็นจริง สองสิ่งตรงกันข้ามที่สามารถเติมเต็มกันและกัน เป้าหมายเพื่อสำรวจค้นหา มันจะมีไหมหนาพื้นที่สำหรับฉัน … แม้ Mona จะประสบความล้มเหลว แต่สำหรับ Varda เธอได้ครองโลกทั้งใบเลยละ!
ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส Sans toit ni loi เป็นสำนวน French Idiom แปลว่า With neither shelter nor law, ไร้ที่พักพิงและกฎหมายทางสังคม ซึ่งสะท้อนตัวตนของนางเอก ออกเดินทางร่อนเร่ ใช้ชีวิตตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจเท่านั้น
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ามา 3 รางวัล
– Golden Lion
– FIPRESCI Prize (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของนักวิจารณ์)
– OCIC Award (มอบให้หนังนำเสนอเรื่องราวทรงคุณค่าทางศีลธรรม มโนธรรม)
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก เพราะผมเองก็เป็น Vagabond คนหนึ่ง เลยเข้าใจถึงหัวอก ความต้องการ สิ่งที่ตัวละครต้องแลกมาเพื่ออิสรภาพแห่งชีวิต
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” คงไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการอิสรภาพมากขนาดนี้ แต่ให้ลองครุ่นคิดค้นหาขอบเขตของตนเอง แค่ไหนถึงเพียงพอดีเหมาะสม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นรอบข้าง
จัดเรต 18+ กับความขบถ นิสัยก้าวร้าว หัวรุนแรง โดนข่มขืน เสพยาเมามาย และหนาวตายอย่างน่าสงสาร
Leave a Reply