Santa Sangre (1989) , : Alejandro Jodorowsky ♥♥♥♥♡
ผู้กำกับ Alejandro Jodorowsky ขณะนั้นมีภรรยามาแล้ว 4 คน ทุกครั้งที่เลิกร้างรา ราวกับว่าเขาได้เข่นฆ่าพวกเธอให้ตายจากไป(ในความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ) กลายมาเป็นเรื่องราวฆาตกรต่อเนื่อง 30 ศพ ฝังหญิงสาวคนรักไว้ในสวนหลังบ้าน หลอกหลอน สั่นสยอง สะท้านถึงขั้วหัวใจ Masterpiece เรต NC-17, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“I was a psychological murderer of women. I made six children with four women, and I killed each woman psychologically. I buried them in my own interior garden, but every night they came to me and complained in my dreams. Some died, some went mad, some committed suicide. That is why I make this film”.
Alejandro Jodorowsky
ภรรยาคนแรกของ Jodorowsky หลังเลิกรากันได้ 20 ปี กระโดดให้รถไฟฆ่าตัวตาย, ภรรยาคนที่สอง ถูกฆาตกรรมโดยไม่ทราบสาเหตุ, เหตุการณ์เหล่านั้นทำให้เขาครุ่นคิดว่า ถ้าตนเองปฏิบัติต่อหญิงสาวคนรักดีกว่านี้ ครองคู่แล้วไม่ได้เลิกรา โศกนาฎกรรมเหล่านั้นอาจไม่บังเกิดขึ้นหรือเปล่า?
“My whole life I’ve treated women badly, let them die when I could have saved them, because I was some kind of seductor! So when I make this picture, there is a scene where all the women come up from the grave and ask, Why did I do what I did? And I must be forgiven”.
Santa Sangre เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากฆาตกรต่อเนื่องตัวจริง Gregorio Cárdenas Hernández เข้าหาประกาศตัวต่อผู้กำกับ Alejandro Jodorowsky เล่าให้ฟังถีงเหตุผล ประสบการณ์ ทำไมถึงกระทำการอุกอาจ หลังได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลจิตเวช พ้นโทษทัณฑ์ถูกคุมขังนาน 10 ปี กลับออกมาแต่งงานมีบุตร สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป
การพูดคุยครั้งนั้นเป็นประสบการณ์ไม่รู้ลืมของ Jodorowsky ลีกๆย่อมมีความหวาดกลัวซ่อนเร้น แต่หลังจากเค้นสมองครุ่นคิดก็ค้นพบว่าตนเองมิได้แตกต่างจากฆาตกรต่อเนื่อง (ในเชิงนามธรรม) จีงตัดสินใจสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (ในสายตาและภายในจิตใจฆาตกร) เพื่อศีกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องไปตัดสินว่าเขาดี-ชั่ว กระทำถูก-ผิด แค่พบเห็นว่ามันบังเกิดอะไร และวิธีการใดทำให้ตัวละครสามารถก้าวข้ามผ่านความบกพร่องทางจิตใจนั้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้จีงไม่เหมาะกับคนขวัญอ่อน กลัวบรรยากาศหลอนๆ น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่า The Exorcist (1973), The Omen (1976) สามารถเทียบระดับชั้นเดียวกับ Suspiria (1977), The Shining (1980) เต็มไปด้วยภาพเชิงสัญลักษณ์ที่จักสร้างความสั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ กาลเวลาทำให้หนังได้รับกระแส Cult และเรตติ้ง NC-17 ย้ำเตือนว่าไม่ใช่ทุกคนจักทนดูจนจบไหว
Alejandro Jodorowsky Prullansky (เกิดปี 1929) ศิลปินสัญชาติ Chilean-French เกิดที่ Tocopilla ครอบครัวเป็นชาว Ukrainian เชื้อสาย Jews อพยพย้ายมาปักหลักอาศัยอยู่ประเทศ Chile, บิดาชอบใช้ชอบกำลัง ความรุนแรง ข่มขืนมารดาจนท้องบุตรชาย Alejandro ด้วยเหตุนี้จีงไม่ได้รับความรักจากทั้งคู่ รวมถีงพี่สาวเอาแต่เรียกร้องความสนใจ เลยหมกตัวอยู่ในห้องสมุดอ่านหนังสือแทบทุกเล่มที่มี ชื่นชอบปรัชญา ศาสนา เริ่มหัดเขียนบทกวี ร่ำเรียนจิตวิทยาและปรัชญา University of Chile เพียงสองปียื่นใบลาออกเดินทางสู่ Paris ด้วยความหลงใหลการแสดง Mime เข้าร่วมคณะละครสัตว์ เล่นเป็นตัวตลก ไต่เต้าสู่ผู้กำกับละครเวที จากนั้นตั้งก่อตั้งคณะการแสดง Teatro Mimico เขียนบทละครเรื่องแรก El Minotaura (แปลว่า The Minotaur) กระทั่งค้นพบความน่าสนใจด้านภาพยนตร์ สรรค์สร้างหนังสั้นละครใบ้ Les têtes interverties (1957) [แปลว่า The Severed Heads] ร่วมกับ Saul Gilbert, Ruth Michelly ถูกอกถูกใจผู้กำกับ Jean Cocteau ถีงขนาดขอเขียนคำนิยมชื่นชมผลงาน
ปี 1960, ออกเดินทางสู่ Mexico City ร่วมก่อตั้ง Panic Movement (ร่วมกับ Fernando Arrabal และ Roland Topor) ด้วยจุดมุ่งหมายพัฒนาการ Surrealist สู่ Absurdism มุ่งเน้นนำเสนอภาพความรุนแรงที่สมจริง/เหนือจริง เพื่อสร้างความตกตะลีก ให้ผู้ชมตื่นตระหนักถีงสาสน์สาระซ่อนเร้นในเนื้อหานั้นๆ ด้วยหนังสือการ์ตูน, การแสดง Performance Art, ละครเวที และภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Fando y Lis (1967) [จากบทละครเวทีของ Arrabal] เมื่อตอนออกฉายก่อให้การจราจลบนท้องถนนจนถูกแบนใน Mexico
หลังเสร็จจาก The Holy Mountain (1973) โปรดิวเซอร์ Allen Klein เรียกร้องขอให้ Jodorowsky ดัดแปลงนวนิยาย Female Masochism เรื่อง Story of O (1954) แต่เจ้าปฏิเสธเพื่อไปเตรียมงานสร้าง Dune ให้โปรดิวเซอร์ Jean-Paul Gibon แม้โปรเจคจะล่มสลาย แต่การออกแบบร่วมกับ Jean Giraud ได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอด Graphic Novel เรื่อง The Incal (1980-2014) จุดเริ่มต้น Jodoverse (หรือ Metabarons Universe ทำคล้ายๆ Marvel, DC Universe) ได้รับคำชื่นชมล้นหลาม ยอดขายถล่มทลาย กลายเป็นหนี่งใน Graphic Novel แนว Sci-Fi ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล!
เกร็ด: เมื่อปี 2021 มีการประกาศว่า Taika Waititi จะดัดแปลงสร้าง The Incal เป็นภาพยนตร์ (ไม่ใช่ว่าพี่แกมีโปรเจค Akira อยู่ในมือก่อนแล้วไม่ใช่รี แล้วเมื่อไหร่จะได้เริ่มต้นสร้างละเนี่ย)
Jodorowsky มีโอกาสพบเจอ Gregorio Cárdenas Hernández (1915-99) เจ้าของฉายา ‘strangler of Tacuba’ ระหว่างเขียนการ์ตูนใน Mexico ทำงานหนังสือพิมพ์เดียวกัน วันหนี่งได้รับการชักชวนมาดื่มกาแฟแล้วเปิดเผยว่า ‘ผมเป็นฆาตกรต่อเนื่อง’ จากนั้นก็เล่าเรื่องตนเองในอดีต เคยเข่นฆ่าผู้หญิง 17 ศพ (ใน Wikipedia บอกว่าแค่ 4 ศพนะครับ) แต่ก็จดจำเหตุการณ์อะไรไม่ได้ทั้งนั้น ใช้เวลาสิบปีในโรงพยาบาลจิตเวชจนรักษาหาย ขณะนั้นแต่งงานมีลูก ภรรยาเป็นนักเขียนเหมือนกัน (Jodorowsky ยังเล่าว่ามีโอกาสพบเจอภรรยาและบุตรชายของ Hernández ครอบครัวนี้ก็ดูมีความสุขดี ไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป)
“I met a real serial killer, Goyo Cárdenas, when I was working on a comic strip in Mexico. He was a writer for the same newspaper – we went for coffee and he said, ‘I am a serial killer.’ It was incredible, he was famous in Mexico, he killed 17 women and didn’t remember anything about the murders. He spent ten years in a madhouse and then left because he was cured. When I met him he had children, a woman and he was a writer”.
เกร็ด: Gregorio Cárdenas Hernández ถือเป็นฆาตกรต่อเนื่องคนแรกที่ได้รับการประโคมข่าวใหญ่ในประเทศ Mexico (ไม่ใช่ Serial Killer คนแรกของประเทศนะครับ แต่เป็นคนแรกในยุคที่หนังสือพิมพ์/ข่าวสารแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว)
สำหรับจุดเริ่มต้นภาพยนตร์ Santa Sangre (1989) เกิดจาก Roberto Leoni ผู้กำกับ/นักเขียนบทสัญชาติอิตาเลี่ยน สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเคยเป็น part-time บรรณาธิการห้องสมุด ณ โรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนี่ง เล่าประสบการณ์ทำงานครั้งนั้นให้โปรดิวเซอร์ Claudio Argento (น้องชายของผู้กำกับชื่อดัง Dario Argento) ระหว่างจัดหนังสือเก็บเข้าชั้นร่วมกับผู้ช่วย/ผู้ป่วยจิตเภทรายหนี่ง จู่ๆตะโกนขี้นเสียง ‘shut up!, shut up!, shut up!’ พอครั้งที่สามเลยสอบถามว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า
“No, nothing, I have a voice that tells me to kill you, but don’t worry because I love you”.
Argento รู้สีกสนใจในเรื่องเล่าดังกล่าวของ Leoni เลยเสนอแนะให้ครุ่นคิดพัฒนาบท แล้วมองหาผู้กำกับที่น่าจะมีความเหมาะสม (ไม่แน่ใจว่าพี่ชาย Dario Argento อาจพัวพันโปรเจคอื่นอยู่ เลยไม่ว่างร่วมพัฒนาหนังเรื่องนี้) เล็งเห็น Alejandro Jodorowsky ด้วยประทับใจจากผลงาน The Holy Mountain (1973) เลยลองติดต่อนัดพบ
ไม่รู้ความบังเอิญหรือโชคชะตา Jodorowsky แลกเปลี่ยนเรื่องเล่าประสบการณ์พบเจอ Hernández ให้กับ Leoni ต่างบังเกิดความประทับใจ โปรเจคนี้เลยสามารถดำเนินไปด้วยการผสมผสานสองเรื่องราวเข้าด้วยกัน
แซว: ช่วงระหว่างทำงานร่วมกัน Jodorowsky ใช้คำเรียก Leoni ว่า ‘ce voleur là’ แปลว่า that thief there เพราะอ้างว่าตนเองถูกขโมยความคิด/เรื่องราวของ Santa Sangre มาจากความฝันตนเอง
The first thing he asked me was: ‘When did you write this story?’ ‘About a year ago.’ ‘When exactly?’ ‘It should have been March 29.’ ‘What time did you write it?’ ‘Around half past one or two in the morning’ ‘I knew it! that night I went to sleep early and the angel of stories has passed over Paris to bring me a story, saw that I slept and continued to Rome, saw that you were awake and gave you the story. But the story was mine and you are a thief!’ ‘But Alejandro, I invented it’ ‘No, you are a thief, tu es un voleur’
And since then he called me ‘ce voleur là’, ‘that thief there’ referring to me. This is a very beautiful story because you can understand how every artist in reality has the ability, when he likes something, to take it, to feel it and to think that he really conceived it.
Roberto Leoni เล่าถีงความประทับใจแรกเมื่อพบเจอ Alejandro Jodorowsky
ปล. ภาพยนตร์ที่น่าจะเป็นส่วนหนี่งของแรงบันดาลใจ อาทิ The Hands of Orlac (1924), The Unknown (1927), The Circus (1928), The Invisible Man (1933), The Beast with Five Fingers (1946), La Strada (1954) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Psycho (1960)
ชายหนุ่มร่างกายเปลือยเปล่าอยู่บนยอดไม้ เขากำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช พยาบาลพยายามโน้มน้าวให้ลงมารับประทานอาหาร แต่พอหมอยื่นปลาดิบเขาถึงยินยอมลงมาแดกด้วยมือ
จากนั้นเล่าย้อนอดีตวัยเด็กของ Fenix (รับบทโดย Adán Jodorowsky) เป็นนักแสดงมายากลในคณะ Circo del Gringo ของบิดา/นักโยนมีด Orgo (รับบทโดย Guy Stockwell) ส่วนมารดา Concha (รับบทโดย Blanca Guerra) เล่นกายกรรมผาดโผด และเป็นผู้นำลัทธินอกรีต Santa Sangre (แปลว่า Holy Blood), เรื่องวุ่นๆบังเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งในนักแสดง The Tattooed Woman (รับบทโดย Thelma Tixou) พยายามล่วงล่อหลอกรัก Orgo แล้วถูกพบเห็นโดย Concha บังเกิดความริษยาเคียดแค้น ใช้น้ำกรดราดอวัยวะเพศของสามี เธอจึงถูกตัดแขนสองข้าง (แบบหญิงสาวที่เธอบูชาในลัทธินอกรีต) ต่างเสียชีวิตในสภาพอเนจอนาถ กลายเป็นภาพจำตราฝังในจิตวิญญาณเด็กชาย สูญเสียสติแตก มิอาจควบคุมตนเองได้อีกต่อไป
กลับมายังปัจจุบัน Fenix (รับบทโดย Axel Jodorowsky) ถูกโน้มน้าวโดยแพทย์ให้ออกไปเปิดหูเปิดตาโลกภายนอก บังเอิญพบเห็น The Tattooed Woman กำลังยั่วหลอกผู้ชายให้มาใช้บริการ โดยไม่รู้ตัวสติของชายหนุ่มค่อยๆหวนกลับคืนมา ถูกชักจูงจมูกโดยภาพของมารดา (ในจิตใต้สำนึกของเขา) หลบหนีออกจากโรงพยาบาลบ้า แล้วเริ่มก่อเหตุฆาตกรรมเข่นฆ่าล้างแค้นเธอคนนั้น
Fenix แม้สามารถหวนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ กลายเป็นนักแสดงละครใบ้ Meme ขึ้นแสดงบนเวทีมีผู้ชมให้การต้อนรับมากมาย แต่ภาพภายในจิตใจของเขากลับถูกควบคุมครอบงำโดยมารดา มือสองข้างมิอาจขยับเคลื่อนไหวตามความต้องการตนเอง (สวมรอยกลายเป็นแขนของแม่ที่ถูกตัดออก) ทำให้เมื่อใดหญิงสาวเข้ามาชักชวน แสดงความลุ่มหลงใหล บังเกิดอารมณ์ต้องการทางเพศ ชายหนุ่มจักสูญเสียการควบคุมแขนทั้งสองข้าง หยิบมีดขี้นมาเขวี้ยงขว้างเข่นฆาตกรรมอีกฝั่งฝ่าย แล้วนำไปกลบฝังยังสวนหลังบ้าน
กระทั่งการหวนกลับมาพบเจอ Alma (รับบทโดย Sabrina Dennison) เพื่อนสาววัยเด็กที่เคยตกหลุมรักหลงใหล แสดงความต้องการอยากใช้ชีวิตครองคู่อยู่ร่วม แต่ Fenix จะสามารถเอาชนะการถูกควบคุมครอบงำจากมารดา/จิตใต้สำนึกของตนเองได้หรือไม่??
โดยปกติแล้ว Jodorowsky จะไม่ใช่นักแสดงอาชีพ เลือกคนที่มีพื้นฐานเดียวกับตัวละคร มีความเป็น ‘ศิลปิน’ ไม่ใช่ ‘ดารา’ แต่เรื่องนี้ค่อนข้างมีความจำเป็นต้องใช้คนมีประสบการณ์ด้านการแสดงในบทบาทสำคัญๆ ถึงสามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างสมจริงและทรงพลัง
Fenix จากเด็กชายใสซื่อบริสุทธิ์ อ่อนเยาว์วัยต่อโลก ตกหลุมรักความงดงามราวกับนางฟ้าของ Alma แต่หลังจากพบเห็นความหมกมุ่นของมารดา นิสัยร่านราคะของบิดา พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของคนชนชั้นล่างในสังคม (งานศพช้าง) และที่สุดคือโศกนาฎกรรมกลายเป็นภาพจำติดตา ส่งผลให้ไม่อาจควบคุมตนเอง สูญเสียสติแตก ป่วยจิตเภท ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช กระทั่งเมื่อเติบใหญ่มีโอกาสพบเห็นบุคคลผู้เป็นต้นสาเหตุทุกสิ่งอย่าง เลยปล่อยให้จิตสำนึก/ภาพของมารดาเข้าควบคุมครอบงำมือทั้งสองข้าง กระทำสิ่งชั่วร้ายเข่นฆาตกรรมอีกฝั่งฝ่าย หลังจากนั้นพยายามต่อสู้ขัดขืนกลับมิอาจฝืนเสียงคำสั่งจากภายใน จิตใจบังเกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน จะมีใครไหมสามารถช่วยเหลือให้พ้นมารผจญ
เกร็ด: Fenix น่าจะมาจากคำว่า Phoenix สัตว์ในเทพนิยายที่เป็นอมตะ สามารถถือกำเนิดใหม่หลังการมอดไหม้ด้วยเปลวเพลิงของตนเอง
เชื่อว่าถ้าผู้กำกับ Jodowsky ยังหนุ่มแน่นก็คงเล่นบทบาทนี้เอง (เพราะเจ้าตัวมีประสบการณ์เล่นละครใบ้ Meme ร่ำเรียนจากโคตรนักแสดง Marcel Marceau) แต่เพราะเริ่มแก่เกินแกง จำต้องพึ่งพาบุตรชาย Adán (เกิดปี 1979) และ Axel (เกิดปี 1965) ทั้งสองจากมารดา/นักแสดง Valérie Trumblay (น่าจะเป็นภรรยาที่ Jodowsky ครองคู่อยู่ร่วมยาวนานสุด) และต่างเติบโตเป็นนักแสดง ศิลปิน ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
ที่ต้องชื่นชมก็คือ Axel ทั้งการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้า ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ถึงมันดูปรุงปั้นแต่ง ฝืนธรรมดา เหมือนการแสดงละครเวที แต่ผมว่าก็เหมาะสมอย่างดีกับตัวละครที่ถูกควบคุมครอบงำ ไม่เป็นตัวของตนเอง และไฮไลท์คือการประสานมือให้เข้ากับ Blanca Guerra เตรียมตัวด้วยการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันหนึ่งสัปดาห์ หลับนอน … หมายถึงแค่บนเตียงเดียวกันนะครับ
Alejandro: “I said to her you need to use Axel as a slave,”
Axel: “I enjoyed but it was to rehearse a character. So I had to sleep with her. I don’t say we were lovers. She was my mother. But I had in the morning to wake her, and she told me to make the breakfast and get the orange juice.”
เป็นปกติที่ลูกชายจะมีความสนิทสม รักมารดามากกว่าบิดา ซึ่งในกรณีของ Axel หลังจากแอบมองการร่วมรัก (ระหว่างพ่อ-แม่) พบเห็นเธอกรีดร้อง แสดงความเจ็บปวด (จริงๆคือความพึงพอใจในรสรัก) คงบังเกิดความโกรธเกลียดชิงชังบิดา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Oedipus Complex และเมื่อบังเกิดเหตุโศกนาฎกรรม บทเรียนที่แม่พยายามเสี้ยมสอนสั่ง มันเลยตราฝังอยู่ในจิตใจ จนมิอาจตกหลุม ร่วมรัก ครองคู่กับใคร (ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย)
Blanca Guerra Islas (เกิดปี 1953) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที สัญชาติ Mexico เกิดที่ Mexico City ตอนแรกอยากจะเป็นหมอฟัน แต่ค้นพบว่านั่นไม่ใช่ความฝันเลยออกมาร่ำเรียนสาขาการแสดง Universidad Nacional Autónoma de México เริ่มต้นจากมีผลงานละครเวที, ภาพยนตร์เรื่องแรก La loca de los milagros (1975), โด่งดังจาก Mojado Power (1979), Estas ruinas que ves (1979), El imperio de la fortuna (1986) ฯ ในประเทศ Mexico ถือเป็นหนังแสดงมีชื่อเสียงโด่งดังไม่น้อยเลยละ
รับบท Concha (แปลว่า เปลือกหอย) มารดาของ Fenix เป็นนักแสดงกายกรรมผาดโผน และผู้นำลัทธินอกรีต Santa Sangre บูชาหญิงสาวแขนขาดหลังจากถูกข่มขืนฆาตกรรม แต่กลับถูกปฏิเสธจากคริสตจักร จนวิหารศักดิ์สิทธิ์ถูกทำลายล้างราบเรียบเป็นหน้ากลอง
Concha เป็นตัวละครที่มีความยึดถือมั่นในวิถีความเชื่อของตนเองเป็นอย่างมาก รังเกียจเดียดชังบุรุษที่ทำผิดศีลธรรม ลักลอบคบชู้นอกใจ ไม่เว้นแม้แต่สามีถูกยั่วยวนโดย The Tattooed Woman ต้องการโต้ตอบเอาคืนอย่างสาสม
การแสดงของ Guerra ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสีหน้า ดวงตาถมึงทึง ตึงเครียดอยู่ตลอดเวลา แม้ไร้แขนสองข้างกลับยังเอ่อล้นด้วยมีพลัง สามารถควบคุมครอบงำบุตรชาย ราวกับปีศาจ นางแม่มด สิ่งชั่วร้าย ช่างดูน่าหวาดสะพรึงกลัว ขนหัวลุกพอง (ทำให้ผมระลึกถึง Bette Davis และ Joan Crawford ใน What Ever Happened to Baby Jane?) ต้องชมเลยว่ามีพลังและ Charisma ในการแสดงมากล้น และสามารถเข้าแขนเข้าขา Axel จนนึกว่าแม่ลูกกันจริงๆ (ทีแรกผมครุ่นคิดเช่นนั้นเลยนะ!)
Harry Guy Stockwell (1933 – 2002) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City เป็นบุตรของ Harry Stockwell นักแสดง/นักร้อง Baritone, ติดตามรอยเท้าบิดาเริ่มจากเล่น Broadways, ซีรีย์ ภาพยนตร์ ส่วนใหญ่ในหนังเกรดบี อาทิ The War Lord (1965), The Plainsman (1966), Beau Geste (1966), Airport 1975 (1974) ฯ
รับบท Orgo (หรือ Orge แปลว่ายักษ์) บิดาของ Fenix เจ้าของคณะละครสัตว์ และเป็นนักปามีด (knife-throwing) มีความชื่นชอบหลงใหลในรอยสัก ได้รับนกอินทรีประดับอกจากบิดา พอพบเห็น The Tattooed Woman จึงบังเกิดอารมณ์ความต้องการ แต่ระหว่างกำลังเสพสมถูกจับได้ โดนราดน้ำกรดทำลายอวัยวะเพศ เขาเลยใช้มีดตัดแขนทั้งสองข้างของภรรยา ท้ายสุดมิอาจยินยอมรับความอับอายขายขี้หน้า เลยปลิดชีพฆ่าตัวตายต่อหน้าบุตรชาย
การแสดงของ Stockwell ไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงนัก ดำเนินไปตามบท ภาพลักษณ์เหมาะสมกับตัวละคร พยายามเสี้ยมสอนแนวความคิดบางอย่างให้บุตรชาย แต่พฤติกรรมลักลอบคบชู้นอกใจ ก็ไม่รู้ชายร่างใหญ่คนนี้มีอะไรน่าสนใจ ลีลา? ความรุนแรง? แต่รสนิยมชอบเล่นของมีคม มันคงสร้างความเสียวซาบซ่านให้คนตกเป็นเป้า (ถือเป็นรสนิยมส่วนตัวก็แล้วกันนะครับ)
Jodorowsky ยังแอบสอดไส้แนวคิดที่เคยนำเสนอตอนอารัมบท El Topo (1970) เปลี่ยนจากกลบฝังตุ๊กตาหมีและภาพถ่ายมารดา เป็นมอบรอยสักรูปอินทรี (ไม่รู้สักจริงๆหรือเปล่านะ) เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่
Thelma Delia Suklenik Snopik (1944-2019) นักแสดงสัญชาติ Argentinian-Mexican เกิดที่ Buenos Aires มารดามีเชื้อสาย Lithuanian ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านการเต้น ได้เป็นนักแสดง Vedette (คล้ายๆ Vaudeville มีความสามารถร้อง-เล่น-เต้น แต่แสดงบนเวที/โรงละคร) ตั้งแต่อายุ 13, พอโตขึ้นตัดสินใจอพยพย้ายสู่ Mexico กลายเป็นนักแสดง Cabaret ได้ค่าตัว $15,000 ดอลลาร์ต่อเดือน จากนั้นมีโอกาสแสดงซีรีย์ ภาพยนตร์ โด่งดังสุดก็คือ Santa Sangre (1989)
รับบท The Tattooed Woman สาวรอยสักผู้มีความลุ่มหลงใหลในหัวหน้าคณะละครสัตว์ Orga เต็มไปด้วยเล่ห์ มารยาหว่านโปรยเสน่ห์ พยายามอ่อยเหยื่อ ทำท่ายั่วเย้ายวน บังเกิดอารมณ์รุนแรงเมื่อถูกปามีดเข้าใส่ (คงคาดหวังว่าพอร่วมรักหลับนอน จะได้รับอภิสิทธิ์เหนือใคร) แต่พอบังเกิดเหตุเลวร้าย ก็หลบลี้หนีเอาตัวรอดก่อนใคร
ไม่รู้เธอเป็นมารดาหรือแค่รับเลี้ยงดูเด็กสาวใบ้ Alma พยายามบีบบังคับให้ต้องทำตามคำสั่ง ซักซ้อมการแสดงเดินข้ามกองไฟ พอโตขี้นก็ทำตัวเป็นแม่เล้าอนุญาตลูกค้าใช้กำลังข่มขืนตามสบายใจ ค่ำคืนนั้นเองเลยได้รับกรรมสนองอย่างสาสม
Jodorowsky มีความลุ่มหลงในรอยสักตั้งแต่ครั้งแรกพบเห็น ราวกับมันสั่นพ้องเข้าไปในจิตวิญญาณ ครั้งหนึ่งที่ Los Angeles พบเจอหญิงสาวสักทั้งตัว แต่เธอเป็น Exhibitionist ไม่มีความสามารถอื่นเลยมิอาจชักชวนมาร่วมแสดงหนัง ตัดสินใจเลือก ทั้งๆไม่มีริ้วรอยสักอันใด ทำให้สามารถเลือกสรรค์ภาพ ‘primitive’ อาทิ ดวงอาทิตย์ พระจันทร์ ภูเขา ดอกกุหลาบ ราชสีห์ นกยูง งู กิ้งก่า แมงมุม ฯ ล้วนสื่อถึงธรรมชาติชีวิต
ผมค่อนข้างประทับใจมารยา ลีลายั่วเสน่ห์ของ Tixou เหมือนเธอพยายามเคลื่อนไหวช้าๆ เพิ่มความเซ็กซี่ ร่านราคะ เพื่อให้กล้องจับจ้องรอยสักที่ต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆกว่าจะเตรียมตัวเสร็จ หลายคนอาจบังเกิดอคติ ยินยอมรับ(รอยสัก)ไม่ค่อยได้ มองเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย แต่นั่นมันรสนิยมส่วนบุคคล ทำไมต้องไปตีตราเหมารวม แบ่งแยกชนชั้นจากเนื้อหนังมังสา สิ่งภายนอกร่ายกายอยู่อีกเล่า!
Alma เด็กสาวหูหนวกเป็นใบ้ ถูกบีบบังคับจาก The Tattooed Woman ให้ฝึกซ้อมการแสดงเดินข้ามกองไฟ แต่จิตใจเต็มไปด้วยความขลาดหวาดกลัว จนกระทั่งพบเห็นมายากลของ Fenix อายุรุ่นราวคราวเดียวกันแต่กลับเปี่ยมด้วยพรสวรรค์ นั่นสร้างแรงบันดาลใจให้บังเกิดความหาญกล้า ไม่นานทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทไปไหนไปด้วย ร่วมสุข ร่วมทุกข์ กระทั้งวันเกิดเหตุโศกนาฎกรรม เป็นเหตุให้ทั้งสองต้องพลัดพรากจาก
เมื่อเติบใหญ่ Alma ยังคงถูกควบคุม บีบบังคับจาก The Tattoed Woman แต่เพราะเริ่มมีแรงต่อสู้ขัดขืน จึงสามารถปฏิเสธไม่ยินยอมทำตามคำสั่ง แล้วโชคชะตาก็พลิกผันเมื่อพบเห็นโศกนาฎกรรมบังเกิดขึ้นนั้น แต่หญิงสาวก็ไม่สูญเสียตนเองเหมือน Fenix ตัดสินใจออกเดินทางค้นหาเขา กระทั่งสามารถมาพบเจอ และช่วยเหลือให้ก้าวข้ามผ่านปมจากอดีตที่แสนเลวร้าย
นักแสดงทั้งสองวัยที่รับบทนี้ต่างหูหนวกเป็นใบ้ วัยเด็กโดย Faviola Elenka Tapia และผู้ใหญ่ Sabrina Dennison รายหลังเป็นนักแสดงละครเวที Jodorowsky พบเจอเธอระหว่างรับชมการแสดงเรื่อง Helen Keller ประทับใจในความสามารถ ยุคสมัยนั้นยังหาได้ยากที่คนพิการ(หูหนวก)จะมีที่ยืนในวงการ
ใบหน้าขาวโพลนของ Alma (ทั้งตอนเด็กและผู้ใหญ่) มอบสัมผัสหลอนๆ น่าสะพรึงกลัว (ไม่น้อยไปกว่า Pennywise) แต่นัยยะของหนังเปรียบดั่งหน้ากากแห่งความบริสุทธิ์ จิตใจที่ขาวสะอาด ผุดผ่องใส งดงามราวกับนางฟ้า สามารถให้ความช่วยเหลือ Fenix ฉุดดึงขึ้นมาจากขุมนรกในจิตใจตนเองได้สำเร็จ
คำว่า Alma แปลว่า soul, จิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถส่งเสียงเพรียกเรียกร้องสิ่งใด (คือเหตุผลที่ตัวละครเป็นใบ้) แต่กลับเต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สีกนีกคิด เป็นตัวของตนเอง โหยหาอิสรภาพ ไม่ชอบถูกควบคุมครอบงำโดยใคร … เป็นตัวละครที่แปรสภาพแนวคิดนามธรรมของ ‘จิตวิญญาณ’ ให้กลายเป็นรูปธรรมจับต้องได้ (ผู้ชมสามารถมองว่าเธอคนนี้มีจริงหรือเป็นเพียงจินตนาการของ Fenix ก็ได้เหมือนกัน)
ถ่ายภาพโดย Daniele Nannuzzi (เกิดปี 1949) ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน บุตรชายของ Armando Nannuzzi เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยบิดาถ่ายทำ Incompreso (1966), ผลงานเด่นๆ อาทิ Santa Sangre (1989), Cattiva (1991), El Alamein – La linea del fuoco (2002), Il quaderno della spesa (2003), Il placido Don (2006) ฯ
งานภาพของ Nannuzzi เต็มไปด้วยลีลาภาษาภาพยนตร์ โดดเด่นด้านการสร้างบรรยากาศลีกลับ น่าพิศวง ซ่อนเร้นภยันตราย ด้วยมุมกล้องแปลกๆ การจัดแสง-สี ความมืดมิดยามค่ำคืน นี่ค่อนข้างแตกต่างจากสไตล์ของ Jodorowsky อาจเพราะเรื่องราวมุ่งเน้นนำเสนอสภาพจิตวิทยา สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร การถ่ายภาพจีงต้องสะท้อนอารมณ์ความรู้สีก มากกว่านำเสนอในเชิงสัญลักษณ์/นามธรรมเพียงอย่างเดียว
ผมรู้สึกว่า Jodorowsky มีความลุ่มหลงใหล felliniesque อยู่ไม่น้อยทีเดียว อาทิ คณะละครสัตว์จาก La Strada (1954), ฉากจบของ Nights of Cabiria (1957), ลุ่มหลงในลัทธิบางอย่าง La Dolce Vita (1960), นำเสนอช่วงเวลาอดีต-ปัจจุบัน ภาพความจริง-เพ้อฝัน 8½ (1963), แต่ที่น่าจะโดดเด่นชัดสุดคือไดเรคชั่นการกำกับ มีความรู้สึกเหมือนตัวละครกำลังโลดเต้นตามจังหวะดนตรีที่ผู้ชมจะไม่ได้ยิน เพราะหนังใช้การพากย์เสียงทับหลังการถ่ายทำ (Post-Production)
การได้โปรดิวเซอร์ Claudio Argento ผู้เชี่ยวชำนาญหนังแนว giallo ทำให้สามารถพบเห็นแรงบันดาลใจมากมาย โดยเฉพาะการนำเสนอความตายให้มีความงดงามระดับวิจิตรศิลป์ ยกตัวอย่าง มุมกล้องถ่ายจากด้านบนขณะ (พ่อ) Orga ตัดแขนสองข้างของ (แม่) Concha หรือฉากการตายของ The Tattoed Woman พบเห็นมือถือมีด กรีดจ้วงแทง เลือดสาดกระเซ็น (ลักษณะคล้ายๆ Tenebre ราวกับภาพวาดแห่งความตาย) ส่วนฆาตกรก็หลบซ่อนตัวในเงามืด กล้องถ่ายมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ไม่เปิดเผยใบหน้าแท้จริงออกมา
นอกจากนี้ Argento ยังชักชวน Jodorowsky ให้เลือกหาสถานที่ถ่ายทำในอิตาลี (เพื่อว่าจะสามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด) แต่เขาไม่มีความคุ้นเคยประเทศแห่งนี้ เลยยืนกรานปักหลักถ่ายทำยัง Mexico ณ สตูดิโอ Estudios Churubusco Azteca, Mexico City
ตัดต่อโดย Mauro Bonanni (เกิดปี 1948) สัญชาติอิตาเลี่ยน มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Jodorowsky ถีงสองครั้ง Santa Sanre (1989) และ The Rainbow Thief (1990)
เรื่องราวดำเนินเรื่องผ่านสายตา/มุมมอง(บุคคลที่หนี่ง)ของ Fenix ทั้งจากอดีต-ปัจจุบัน คาบเกี่ยวระหว่างโลกความจริง-เพ้อฝัน อาจสร้างความสับสนให้ผู้รับชมครั้งแรก แต่พอช่วงท้ายก็จะตระหนักว่ามีเพียงเขาเท่านั้นสามารถพบเห็นมารดา (อยู่ใต้จิตสำนีกของตนเอง)
ผมขอแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์ ประกอบด้วย
- ความทรงจำวัยเด็ก, เล่าย้อนอดีตของ Fenix ตั้งแต่แรกพบเจอ Alma จนบังเกิดเหตุโศกนาฎกรรมทำให้ต้องพลัดพรากจาก
- พบเจอตกหลุมรักแรกพบ Alma
- มารดา Concha พยายามหยุดยับยั้งการทำลายวิหารศักดิ์สิทธิ์ Santa Sangre
- งานศพช้าง พบเห็นสันชาติญาณเอาตัวรอดของมนุษย์
- ได้รับรอยสักแห่งความเป็นผู้ใหญ่
- ชุดการแสดงมายากลของเด็กชาย
- และพบเห็นโศกนาฎกรรม กลายเป็นภาพจำฝังใจ
- คดีฆาตกรรมแรก
- Fenix ในโรงพยาบาลจิตเวช ได้รับอนุญาตให้ออกไปรับชมภาพยนตร์ แต่กลับถูกชักนำพามาใช้บริการโสเภณี จนมีโอกาสพบเจอ The Tattoed Woman เลยตัดสินใจหลบหนีออกมา(จากโรงพยาบาลบ้า)
- เรื่องราวของ The Tattoed Woman กลายเป็นนายหน้าค้ากาม รับเงินจากลูกค้า อนุญาตให้ใช้กำลังข่มขืน Alma (ไม่แน่ใจว่าครั้งแรกหรือเปล่า) จีงตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้าน
- กรรมตามสนองของ The Tattoed Woman ถูกเข่นฆาตกรรมอย่างเลือดเย็น
- ศพถัดๆมา
- Fenix กลายเป็นนักแสดงใบ้บนเวที ได้รับการชักชวนยั่วยวนโดยหญิงสาวคนหนึ่ง ก่อนถูกฆาตกรรมเขาเพราะมิอาจขัดคำสั่งมารดา
- เรื่องราวชีวิตประจำวันระหว่าง Fenix กับมารดา ตื่นเช้า รับประทานอาหาร ซักซ้อมการแสดง เล่นเปียโน ทำสิ่งต่างๆทดแทนกันและกัน จนมิอาจพลัดพรากแยกจาก
- พบเจอตกหลุมรักนักมวยปล้ำกะเทย La Santa ชักชวนเธอมาที่บ้าน รับชมการแสดง ก่อนถูกเข่นฆาตกรรมอีกเช่นกัน
- การต่อสู้สิ่งชั่วร้ายหลบซ่อนตัวอยู่ในจิตวิญญาณ
- ระหว่างขุดหลุมฝัง La Santa พบเห็นวิญญาณผู้ตายฟื้นตื่นจากหลุม
- จู่ๆพบเจอ Alma พยายามต่อสู้ขัดขืนมารดา ไม่ยินยอมให้เธอถูกเข่นฆาตกรรม
- เมื่อสามารถต่อสู้เอาชนะ ค้นพบความจริงทั้งหมด ภายในจึงบังเกิดความสงบสุข แม้ต้องแลกการถูกจับกุมคุมขัง แต่อนาคตไม่มีอะไรให้ต้องหวาดสะพรึงกลัวอีกต่อไป
ปล. ตั้งแต่องก์สองจนถึงตอนจบ เราสามารถตีความว่า The Tattoed Woman รวมไปถึง Alma คือภาพที่ปรากฎในจินตนาการ/ใต้จิตสำนึกของ Fenix ได้เช่นกัน (แล้วหนังเกือบทั้งเรื่องจะถือว่าจมปลักอยู่ในความเพ้อฝันของ Fenix)
เพลงประกอบโดย Simon Boswell (เกิดปี 1956) นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ โดดเด่นในสไตล์เพลง Electronic ผลงานเด่นๆ อาทิ Phenomena (1985), Santa Sangre (1989), The Crying Game (1992) ฯ
แซว: แต่เกินกว่าครี่งของเพลงประกอบ นำจากบทเพลงมีชื่อในอดีตมาเรียบเรียงดัดแปลง หลายคนอาจมีความมักคุ้นหู (ถ้าคุณชอบฟังเพลงละติน หรือ Mexican)
ถ้าเทียบหนังแนว giallo เรื่องอื่นๆที่บทเพลงมักมีท่วงทำนองจัดจ้าน สีสันฉูดฉาด ฟังติด(หนวก)หูโดยไว ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจดูธรรมดาๆ ไม่โดดเด่นสักเท่าไหร่ แต่ผมกลับรู้สีกอึดอัด ทรมานใจทุกครั้งเมื่อพบเห็น Fenix วิ่งเล่นอยู่กับ Alma และช่วงท้ายเมื่อทั้งสองหวนกลับมาพบเจอ น้ำตาไหลพรากๆออกมาโดยไม่รู้ตัว นั่นแปลว่างานเพลงมุ่งเน้นสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องเข้ากับเรื่องราว แต่ซ่อนเร้น/เก็บกดอารมณ์ความรู้สีกไว้ภายใน จนกว่าจะถีงช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย ถีงค่อยพลั่งพลูทุกสรรพสิ่งอย่างมันออกมา
ผมรู้สีกว่าบทเพลงของหนังมักกลิ่นอายโศกเศร้า เหงาซีม โดดเดี่ยวอ้างว้าง เจ็บปวดทุกข์ทรมาน สะท้อนสิ่งที่ตัวละคร Fenix จะประสบพบเจอ เพื่อเรียนรู้ เติบโต และถือกำเนิดใหม่ ดังเนื้อคำร้องภาษา Mexican ของบทเพลง El fin del mundo แปลว่า the end of the world นำเสนอวันสิ้นโลกในลักษณะ christian song แต่ในบริบทหนังเรื่องนี้ใช้สัญลักษณ์ ความตาย=การถือกำเนิดใหม่
The end of the world approaches already
All hope will finish
The signals are already being fulfilled
They are being fulfilled as written is
Dear friend, Iris calls you
Do not make your heart hard
Surrender to Iris, dale your soul
And you will have part in the resurrection
เริ่มต้นด้วยภาพของ Fenix ปีนป่ายอยู่บนยอดไม้ในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง นัยยะถึงการแสดงออกด้วยสันชาติญาณ สัตว์ป่า เดรัจฉาน รับประทานเพียงปลาดิบ มีเพียงร่างกาย ชีวิต แต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ความเป็นมนุษย์หลงเหลือภายใน
นี่อาจดูเป็นช็อตง่ายๆเหมือนไม่มีอะไร แต่ผมขนลุกขนพองกับทิศทางแสง-เงา เส้นคั่นแบ่งระหว่างความเป็นมนุษย์-สัตว์ การแสดงออกภายนอก-จิตใต้สำนึกภายใน นั่นรวมไปถึงโทนสีหม่นๆ พื้นผนังบน-ล่าง นี่แทบจะเป็น ‘Perfect Shot’ ที่แฝงนัยยะในการจัดวางตำแหน่ง ทิศทางมุมกล้อง แสง-สี ความสว่าง-เงามืด ครุ่นคิดหาความหมายได้ไม่รู้จบ
แซว: หลายคนอาจฉงนสงสัยว่า Fenix สวมบทเป็นสัตว์เดรัจฉานอะไร ลิง? อุรังอุตัง? ราชสีห์? คำตอบอยู่ภาพถัดไป…
การหวนระลึกนึกย้อนอดีตของ Fenix กล้องจะค่อยๆเคลื่อนเข้าหาใบหน้าตัวละคร (ให้ความรู้สึกเหมือน Zooming แต่ใช้กล้องเคลื่อนเข้าหา) พบเห็นรอยสักนกอินทรีอยู่กลางอก จากนั้น Cross-Cutting มาเป็นภาพนกอินทรีตัวจริงๆ แล้วใช้สายตา Bird Eye View จับจ้องมองจากบนฟากฟ้าบินตรงสู่ Circo del Gringo (คณะละครสัตว์ Gringo)
รอยสักนกอินทรีในหนังเรื่องนี้ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันมันคืออิสรภาพในการครุ่นคิด ตัดสินใจ ทำอะไรด้วย’มือ’ของตนเอง แต่ในขณะนี้มีเพียงจิตวิญญาณของ Fenix ที่สามารถลองล่องหวนระลึกนึกอดีต ยังไม่สามารถมีความเป็นมนุษย์ในตัวเขาเองด้วยซ้ำ
ทุกการแสดงในคณะละครสัตว์ ล้วนมีนัยยะสื่อถึงบางสิ่งอย่างเกี่ยวกับชีวิต
- เด็กหญิงใบ้ Alma ถูกบีบบังคับให้ต้องเดินบนเส้นลวดที่กำลังมอดไหม้ สื่อถึงเส้นทางชีวิตเต็มไปด้วยภยันตราย ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจได้รับอันตราย แต่ถ้าไร้ความหวาดกลัว มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ย่อมสามารถก้าวเดินข้ามผ่านได้ในที่สุด
- The Tattooed Woman เน้นขายเรือนร่าง รอยสักทั่วทั่งร่างกายสื่อสัญลักษณ์ธรรมชาติชีวิต เพื่อตอบสนองสันชาติญาณ ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์
- Orgo นักปามีด สัญลักษณ์ของการเสี่ยงโชค วัดดวง ท้าความตาย ชื่นชอบความรุนแรง เจ็บปวด (ซาดิสต์) ทำสิ่งท้าทายศีลธรรมจรรยา
- Concha กายกรรมโลดโผนด้วยการดึงทรงผมโลดเล่นอยู่กลางอากาศ สะท้อนถึงการห้อยโหน ตัวคนเดียว ไม่มีใครพึงพาได้ และตอนเธอกำลังขึ้นแสดงนั้น ร่ายกายหมุนเวียนวน สร้างความมึนงงสับสน จนไม่สามารถอดรนทนเห็นสามีลักลอบคบชู้นอกใจ
- และนักมายากล Fenix ราวกับชีวิตเสกสรรค์ได้ดั่งใจ สะท้อนจินตนาการของเด็กชายที่ยังอ่อนวัยไร้เดียงสา แต่พอเติบใหญ่ขึ้นมากลับกลายเป็นนักแสดงใบ้ Meme สะท้อนสิ่งที่มีเพียงเขาสามารถพบเห็นภายในจิตใจ ใครพบเห็นย่อมรู้สึกตลกขบขัน แต่ผู้แสดงนั้นเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ทุกข์ทรมานอยู่เต็มอก
มีด มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆเรียวแหลมคม สามารถตีความถึง ศิวลึงค์ อวัยวะเพศชาติ สามารถสร้างความกระสันต์ซ่านให้ The Tattooed Woman ทุกครั้งเมื่อถูกปาใส่ ใช้ลิ้นแลบเลีย (Oral Sex) และช็อตนี้สื่อตรงๆถึงการทิ่มแทงร่วมรัก … สังเกตจากรอยสักพบเห็นงูสามตัว (พิษร้าย อันตราย) หยากไย่แมงมุม (ยึดติด, กัปดัก) และบริเวณอวัยวะเพศมีความเขียวฉอุ่ม ชุ่มฉ่ำ
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าสิ่งที่ Fenix เสกสรรค์ออกมาให้ Alma จะคือผลเชอรี่หรือเปล่า แต่นัยยะของมันหมายถึงคนมาใหม่ ไร้ประสบการณ์ หรือพรหมจรรย์หญิงสาว และคำแสลง pop cherry หมายถึงการเปิดบริสุทธิ์ เพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งถือว่าเข้ากับบริบทนี้ได้ดี
และเหตุผลที่ Alma สามารถก้าวเดินผ่านกองเพลิง นั่นเพราะเธอพบเจอบุคคลสามารถใช้ชีวิตครองคู่อยู่ร่วม จับมือก้าวเดินเคียงข้างไปด้วยกัน พูดในเชิงสัญลักษณ์ก็คือ เธอเสียความบริสุทธิ์/พรหมจรรย์ให้กับ Fenix จากนี้เลยไม่มีอะไรต้องหวาดกลัวอีก
Santa Sangre คือลัทธิสมมติ นอกรีต สร้างขึ้นเพื่อยกย่องสรรค์เสริญเด็กหญิงสาวถูกตัดแขนสองข้างระหว่างโดนข่มขืนกระทำชำเรา แต่กลับยังไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากสังคม … ว่าไปแนวคิดดังกล่าวค่อนข้างคล้ายเหตุการณ์ของ George Floyd ยกย่องผู้ถูกกระทำทารุณจนเสียชีวิตราวกับวีรบุรุษ สัญลักษณ์แห่งความอยุติธรรม ไม่เทียบเท่ากันในสังคม
แต่ในบริบทของหนัง Concha กลับมีความหมกมุ่นยึดติดจนบังเกิดความเห็นผิด ‘กงจักรเป็นดอกบัว’ ไม่สนดีชั่วถูกผิด ต้องการสร้างภาพให้สังคมและคริสตจักรยินยอมรับ กระทั่งเมื่อความจริงถูกเปิดโปง บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่อ้างว่าคือเลือดของเด็กหญิง แท้จริงแล้วก็แค่น้ำใส่สี นั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถยินยอมรับได้
ปล. เผื่อใครไม่ทันสังเกต สัญลักษณ์ของ Santa Sangre ตรงหน้าอกเสื้อของ Concha คือรูปมือที่ถูกตัดทั้งสองข้าง ไขว้กันเป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก (กึ่งกลางหัวใจ)
การยึดติดกับสิ่งไม่มีตัวตนของแม่ Concha สืบทอดต่อมายัง Fenix (กอดกันเป็นทอดๆ) แต่ขณะนี้เธอสามารถปลดปล่อยวางจากลัทธินอกรีต ก็เพราะการสวมกอดของบุตรชาย ยังมีบางสิ่งอย่างจับต้องได้ มีตัวตน สำคัญต่อภาพลวงตาของตนเอง … นี่คือคำบอกใบ้วิธีการที่ Fenix จะสามารถปลดปล่อยวางจากมารดา เหตุการณ์นี้ถือว่าสะท้อนใจความหลักของหนังได้เช่นกัน
การสูญเสียสิ่งเคยเชื่อมั่นศรัทธาของ Concha แม้ทำให้เธอตกอยู่ในสภาวะหมดสิ้นหวัง แต่เพราะยังมีบุตรชายเป็นที่รัก ชีวิตเลยสามารถก้าวเดินต่อไป ในทิศทาง มุมกล้อง ไดเรคชั่นเดียวกับตอนจบของ Night of Cabiria (1957) แค่ไม่งดงามตราตรึงเทียบเท่านั้นเอง
ก่อนหน้าสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ Jodorowsy เคยกำกับ Tusk (1980) ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชน Poo Lorn of the Elephants (1935) ของ Reginald Campbell นั่นทำให้เขามีความสัมพันธ์กับช้างเป็นพิเศษ … แต่หนังเรื่องนี้ล่องจุ้นไปกับโปรดิวเซอร์ Eric Rochat ไม่รู้ฟีล์มต้นฉบับสูญหายไปอยู่แห่งหนใด
ช้าง คือสัตว์บกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน ตามความเชื่อพระพุทธศาสนา เป็นสัตว์มหามงคลแห่งการบำเพ็ญบารมี ความดีงาม ทำอะไรสำเร็จลุล่วง มั่นคงในหน้าที่การงาน ในบริบทนี้น่าจะสื่อถึงจุดสิ้นสุดความเป็นเด็กของ Fenix (ซีนนี้ปรากฎขึ้นหลังเขาแอบพบเห็น บิดา-มารดา กำลังร่วมรักอย่างเร่าร้อนรุนแรง) และอาการเลือดหลั่งจากภายใน (ไหลออกจมูก) สะท้อนสิ่งกำลังจะขี้นใต้จิตสำนีกของเขา (ช่วงครี่งหลังจะมีซีนที่ Fenix เลือดไหลออกจมูก ไม่แตกต่างกัน)
เมื่อตอนต้นเรื่อง Fenix ปรากฎตัวครั้งแรกด้วยการขึ้นขี่ช้าง แต่ขณะนี้มันกำลังจะตายจากไป นั่นแปลว่าชีวิตของเขากำลังจะไม่สามารถก้าวเดินต่อไป (ถึงร่างกายจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจจักยังยึดติดกับช่วงเวลาขณะนี้)
The Death March หนึ่งในบทเพลงประกอบการแสดง Oratorio (คล้ายๆโอเปร่าแต่มักเป็นบทเพลงเกี่ยวกับศาสนา และนักร้องจะไม่แต่งชุดประกอบการแสดง) เรื่อง Saul, HWV 53 ประพันธ์โดย George Frideric Handel (1685-1759) ได้แรงบันดาลใจจาก Book of Samuel เรื่องราวของ Saul กษัตริย์พระองค์แรกแห่ง Israel หลังจากแต่งตั้งรัชทายาท David (ที่เอาชนะยักษ์ Goliath ด้วยคมดาบเดียว) แต่เพราะความขัดแย้งเกี่ยวกับการเลือกคู่ครอง บังเกิดเรื่องวุ่นๆวายๆถึงขนาดครุ่นคิดเข่นฆ่าอีกฝั่งฝ่าย จนนำไปสู่การล่มสลาย และสวรรคตของ King Saul
Handel ประพันธ์ Oratorio เรื่องนี้สำเร็จเสร็จปี 1738 แต่ต้องซักซ้อมตระเตรียมการ กว่าจะเปิดการแสดงได้วันที่ 16 มกราคม 1739 ณ โรงละคร King’s Theatre, London และบทเพลง The Death March ในองก์สาม ระหว่างการสวรรคตของ King Saul ได้รับความนิยมล้นหลาม ถูกนำไปใช้ในพิธีศพบุคคลสำคัญๆอย่าง George Washington, Abraham Lincoln, Winston Churchill ฯลฯ
บทเพลงที่ใช้ในหนังมีการเรียบเรียง/ปรับปรุงขึ้นใหม่ (ให้เข้ากับชุดเครื่องเป่าทองเหลือง/Brass Instruments) แต่ท่วงทำนองหลักๆยังคงเดิม และมีวัตถุประสงค์เดียวกัน แห่ขบวนศพ(ช้าง)มุ่งสู่สุสาน/ความตาย ถือเป็นเกียรติสูงสุดกับสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่…
หนึ่งในฉากที่ถือเป็น Iconic ของหนัง! งานศพของช้าง ไม่ใช่การเผาหรือขุดหลุมฝัง มีเพียงพิธีแห่และเดินขบวนเพื่อทอดทิ้งลงกองขยะ แล้วบรรดาเศษเดนมนุษย์ทั้งหลายก็แห่กรูเข้ามาแก่งแย่ง รุมล้อม ราวกับอีแร้ง ไฮยีน่า ความตายแปรสภาพสู่อาหารสำหรับสัตว์น้อยใหญ่ตามระบบนิเวศ ธรรมชาติชีวิต
แน่นอนว่านั่นไม่ใช่เนื้อช้างจริงๆ แต่ Jodorowsky ให้สัมภาษณ์บอกว่านั่นคนจริงๆ พอกหน้าพอกตาด้วยดินโคลน พอสั่งแอ๊คชั่นพวกเขาเหล่านั้นก็วิ่งกรูเข้าหาอาหาร ตามอย่างที่ต้องการเปะๆโดยไม่ต้องกำกับอะไร
“That place is real. The persons who eat the elephant are real, too. They are poor persons, and they cover themselves with clay, and when I showed them the meat, they growled like this: Grrrrrrrrrrrrrrr!!!
They really ate the meat, but it was not elephant meat. I do not want to disappoint you, but in the coffin was not a real elephant. But I put in 200 kilos of meat, for them to eat. I said action!, and they all ran down like I wanted them to, because they wanted the meat. In the picture it seems surrealistic but it’s true. They ran down to get the meat”.
อย่างที่บอกไปว่า รอยสักนกอินทรี คือสัญลักษณ์ของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (ของ Fenix) แต่หนังก็ไม่ได้ถ่ายให้เห็นขณะกำลังสักสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่คือ Close-Up ใบหน้าของเด็กชายร่ำร้องไห้ ดิ้นรนขัดขืน … นี่เป็นวิธีนำเสนอที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ทำให้ผู้ชมรับสัมผัสความเจ็บปวดของตัวละครได้เป็นอย่างดี และเมื่อเสร็จสิ้นจับจ้องมองตนเองในกระจก จักบังเกิดความภูมิใจเล็กๆที่สามารถอดรนทนพานผ่านช่วงเวลานั้นมาได้
Triste ใช้เพียงกีตาร์โซโล่ ท่วงทำนองเบาๆ มอบสัมผัสความเจ็บปวดรวดร้าวของเด็กชาย ทั้งภายนอก (รอยสัก) และภายใน (ความตายของช้าง, ความเหี้ยมโหดร้ายของสังคม) แต่นั่นคือบทเรียนรู้ให้เขาได้จดจำ ทำความเข้าใจ และสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ได้รับอิสรภาพแห่งชีวิต ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยสิ่งใด
บทเพลงนี้ดังขี้นอีกครั้งเมื่อ Fenix (ตอนโต) ในช่วงเวลาสิ้นหวังสุดขีด หวนกลับมาพบเจอ Alma ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ พร้อมนำทางเขากลับสู่โลกความจริง, ซีนนี้ทำเอาผมน้ำตาไหลพรากๆเลยนะ งดงามทรงพลังมากๆ
ชุดการแสดงมายากลของ Fenix ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เริ่มต้นให้ Alma เข้าไปอยู่ในกล่อง (ของหัวใจ) แล้วร่ายมนต์เสกให้มารดา Concha ก้าวออกมา เพื่อเริ่มต้นการแสดงชุดต่อไป
- Alma ถือเป็นบุคคลที่เข้ามาส่วนสำคัญในชีวิตของ Fenix เขาจึงจดจำ/ตราฝังเธอไว้ภายในกล่อง(ของหัวใจ)
- ส่วนมารดา Concha เธอคือบุคคลที่ปรากฎตัวในจิตใต้สำนึกของ Fenix ก้าวออกมา(จากกล่องของหัวใจ)ราวกับมีชีวิต จิตวิญญาณ จับต้องได้ แถมไม่ยินยอมตายจากไปไหนโดยง่ายดาย
Acid Revenge ใช้เสียงจากเครื่องดนตรี Electronic (แนวถนัดของ Boswell) สร้างสัมผัสเหนือธรรมชาติ ราวกับความฝันจับต้องไม่ได้ ถ่ายทอดโศกนาฎกรรมที่ดูบ้าคลั่ง เสียสติแตก บทเพลงเต็มไปด้วยตัวโน๊ตกระโดดโลดเต้น กระจัดกระจายเหมือนแขนทั้งสองข้างของ Concha
ภาพสองช็อตนี้ล้อกับคลื่นมนุษย์ที่รุมทึ้งเนื้อช้าง แขนสองข้างของ Concha กำลังถูกไก่รุมจิกกิน (ไก่มีเพียงปีกไม่มีแขน หากินด้วยการผงกศีรษะขึ้นลง เหมือนคนเอาแต่พยักหน้าทำตามคำสั่ง) ส่วนร่างของ Orgo ด้อมๆดมๆด้วยสุนัขสามตัว (ตายอย่างไร้ค่า หมาข้างถนน) เป็นการเปรียบเทียบที่เฉียบคมคาย ความตายของสัตว์สามารถนำเนื้อมาเป็นอาหารมนุษย์ ในทางกลับกันศพมนุษย์ก็ถูกย่อยสลายกลายเป็นอาหารจุลินทรีย์ กลายเป็นปุ๋ย หวนกลับสู่ธรรมชาติได้เช่นกัน
ในเสี้ยววินาทีชั่ววูบทางอารมณ์ นอกจากการจัดแสง-ความมืดที่โดดเด่น สังเกตดีๆจะพบเห็นแสงไฟสีเขียวและแดง กระพริบเตือนว่ามีเหตุร้าย ความเป็น-ตายบังเกิดขึ้น
La Barca de Oro แปลว่า The Golden Boat แต่งโดย Abundio Martínez (1875-1914) ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือใครเป็นผู้ขับร้องคนแรก แต่ถือเป็นหนึ่งในบทเพลงได้รับความนิยมสูงมากๆใน Mexico มีการ Cover จากศิลปินมากมาย สำหรับที่ใช้ในหนังเป็นเสียงร้องของหญิงสาว ดังขึ้นสองครั้งสำคัญๆในหนัง
- ฉากย้อนอดีตวัยเด็ก ดังขึ้นระหว่าง Fenix จำต้องร่ำลา Alma และครอบครัวบิดา-มารดา ทุกคนที่ตนรักจากเหตุโศกนาฎกรรม
- ช่วงท้ายหลังจาก Fenix ร่ำลาจากมารดาในความทรงจำ จากนี้จักไม่ถูกเธอควบคุมครอบงำอีกต่อไป
ตัดกลับมาปัจจุบัน Fenix ถูกหมอลากพาตัวออกจากห้องเพื่อเปิดหูเปิดตาโลกภายนอกบ้าง แนะนำให้รู้จักเพื่อนๆ (ผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม) จากนั้นร่วมงานปาร์ตี้เต้นรำวงรอบผลไม้ อยากกินอะไรก็กิน ช่างดูไม่ต่างจากงานศพช้าง เปลี่ยนจากอีแร้ง ไฮยีน่าที่หิวโหย กลายมาเป็น… ผู้มีความผิดปกติที่ไม่กระตือรือร้นสักเท่าไหร่
Fenix ตื่นขี้นเช้าวันใหม่ในตะกร้า เรียกว่ากลับสู่สภาวะปกติ ไม่ได้ต้องปีนป่ายอยู่บนต้นไม้อีกต่อไป เพราะค่ำคืนก่อนได้พบเห็น The Tattooed Woman ทำให้จิตใต้สำนีก/ความเป็นมนุษย์หวนกลับคืนมา ก่อนได้ยินเสียงเรียกของมารดา (ไปพบเจอตอนไหนก็ไม่รู้ แล้วรอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้นได้อย่างไร?) ตัดสินใจปีนป่ายหลบหนีออกจากโรงพยาบาลบ้า ก่อนทั้งสองเดินหายลับไปท่ามกลางหมอกควัน ช่างเต็มไปด้วยความลีกลับพิศวงโดยแท้
The Tattooed Woman กลายเป็นแม่เล้าตั้งราคาขายตัว Alma ให้คำแนะนำลูกค้าอยากทำอะไรก็ทำ ซีนนี้มีแบ่งแยกสีสันอย่างชัดเจน บริเวณรอบข้างปกคลุมด้วยเงามืดไม่ก็สีแดงแรงฤทธิ์ (สัญลักษณ์ของเลือด ความชั่วร้าย) เว้นเพียงบริเวณที่เด็กหญิงสาวกำลังหลับนอน แสงสีน้ำเงินสาดส่อง โลกใบเล็กๆของเธอช่างมีความผ่อนคลายยิ่งนัก
ผมหัวเราะลั่นกับวิธีการเอาชนะชายร่างใหญ่คนนี้ ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตอบสนอง’ ถือขวดเหล้าเข้ามาเอง เลยถูกทุบเข้าที่ศีรษะ เรียกว่ามีนเมามายกับสิ่งที่พยายามกระทำ ต้องการขืนใจหญิงสาวที่ไม่ได้อยากขายตัว
สองสิ่งที่ Alma พบเจอระหว่างหลบหนีออกจากบ้าน ประกอบด้วย
- ชายคนหนี่งถอดหูปลอมของตนเอง นี่คือสัญลักษณ์ของการไม่ได้ยิน ไม่มีใครสนใจ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นใบ้นะครับ แต่ในสถานที่แห่งนี้ (ซอยโสเภณี) ไม่มีใครให้ความสนใจผู้อื่นนอกจากตัวตนเอง
- Alma ต้องการหลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้ มาจนพบเจอรถบรรทุกจอด ตั้งใจจะรอคอยคนขับให้ช่วยพาเธอไปส่งที่ไหนก็ได้ เลยตัดสินใจปีนป่ายขี้นบนหลังคา หลับสนิทจนเช้ากลับไม่มีใครมาสตาร์ถรถสักที
Caballo negro (1983) แปลว่า Black Horse แต่งโดย Dámaso Pérez Prado, เป็นเพลงจังหวะสนุกสนาน เต้นสามช่า แต่กลับถูกนำมาประกอบพื้นหลังฉากเข่นฆ่าสังหาร The Tattooed Woman ราวกับมันคือสิ่งบันเทิง ความยุติธรรม สาสมควรแก่กรรมเคยกระทำไว้กับผู้คนอื่นมากมาย
เราอาจมองว่านี่เป็นบทเพลงที่ใช้ประกอบวิถีโลกภายนอก ตรอกโสเภณีที่ทุกค่ำคืนเต็มไปด้วยความสนุกสนานครีกครื้นเครง ไม่มีใครใคร่สนว่าในห้องหับแห่งหนี่ง จะมีการทำถูก-ผิด ดี-ชั่ว หรือเหตุฆาตกรรมบังเกิดขี้น
รุ่งอรุณบนท้องถนนแห่งนี้คือช่วงเวลาตลาดวาย ผู้คนเมามายกลายเป็นศพ หลงเหลือเพียงโครงกระดูก บ้างถูกยมทูตลวงล่อข่มขืนใจ ไม่หลงเหลือบรรยากาศชวนฝัน โรแมนติกใดๆ กลับสู่สภาพโลกความจริง ชีวิตดำเนินต่อไป
Alma อยากกรีดร้องออกมากลับไร้สุ่มเสียง เพียงคราบน้ำและความเจ็บปวดซ่อนเร้นอยู่ภายใน แม้ทั้งชีวิตจะถูก The Tattooed Woman บีบบังคับใช้งานเยี่ยงทาส แต่ก็เปรียบเสมือนมารดาให้การเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ โชคยังดีที่เธอไม่สูญเสียสติกลายเป็นคนบ้า (เหมือน Fenix) เพราะชีวิตยังหลงเหลือ Fenix เพื่อนรัก มนุษย์คนเดียวที่โหยหา เปรียบดังแสงสว่างนำทาง เชอรี่ผลนั้น ยินยอมอดรนทนทุกสิ่งอย่าง เพื่อสักวันจักได้หวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง
มุมกล้องซีนนี้งดงามมากๆ กล้องแพนนิ่งจากตุ๊กตาของสะสม มาจนถีงใบหน้าของ Alma และค่อยๆซูมเข้าหาภาพถ่าย Fenix ราวกับขยับเคลื่อนไหลตามสายตาและความสนใจของเธอ สิ่งยังคงหลงเหลือและเขาคือเป้าหมายปลายทางแห่งชีวิต
การแสดงชุดนี้ Jodorowsky นำแรงบันดาลใจจาก La création du monde (1972) แปลว่า The Creation of the World เป็นการแสดงของละครใบ้ของ Marcel Marceau (1923-2007) มาเรียบเรียงดัดแปลงใหม่ ในหนังเหมือนว่า Concha เป็นคนขับร้องเพลงและ Fenix ออกท่วงท่าการเคลื่อนไหว แต่ในความเป็นจริงกลับมีเพียงชายหนุ่มที่อยู่บนเวที และงการขยับมือเล่าเรื่องราวบังเกิดขี้น
ผมไปพบเจอคลิปที่นำเสนอการแสดงละครใบ้ La création du monde (1972) ของ Marcel Marceau คุณภาพไม่ดีเท่าไหร่ แต่ก็สามารถอี้งที่งประทับใจไปกับอิจฉริยภาพของ ‘Bip the Clown’ น่าจะเป็นนักแสดงละครใบ้โด่งดังสุดในศตวรรษ 20
การแสดงชุดถัดมาของ Gloria Contreras (1934 – 2015) นักเต้นบัลเล่ต์ สัญชาติ Mexican ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย … แต่เธอไม่ได้เต้นบัลเล่ต์โชว์นะครับ มีเรื่องราวของเด็กนักเรียนสาวพยายามยั่วเย้ายวนอาจารย์วัยกลางคน สะท้อนเข้ากับพฤติกรรมของเธอที่พยายามหว่านโปรยเสน่ห์ต่อ Fenix ทำให้เขาบังเกิดอารมณ์ ความต้องการ แรงผลักดันจากสันชาติญาณ
ทั้ง Sequence นี้เป็นการย้อนรอยสิ่งที่ Fenix เคยพบเห็นจากบิดา ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม เกิดอารมณ์ร่านสวาท ให้หญิงสาวกลายเป็นเป้าปามีด (สัญลักษณ์ของการร่วมรัก Sex) ซี่งจะมีการตัดสลับเคียงคู่ขนานอดีต-ปัจจุบัน และขณะกำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็มก็ถูกขัดจังหวะจากมารดา สวมใส่ชุดแดงแรงฤทธิ์ ตรงเข้ามาบีบบังคับ ออกคำสั่ง มือสองข้างไม่เป็นตัวของตนเอง แล้วปามีดออกไปถูกตรงกี่งกลางหัวใจ
Fenix นำร่างของหญิงสาวผู้โชคร้าย ยัดใส่ชุดกระต่าย สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ ไม่รู้อีโน่อีเหน่ ประสีประสาอะไร แต่ต้องมาถูกเข่นฆาตกรรมให้ตกตายจากไป แต่ผู้ชมจะไม่ค่อยรู้สีกสงสารเธอสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับชายหนุ่มที่มิอาจควบคุมตนเอง ถูกมารดาใช้คำพูดโน้มน้าวบีบบังคับ ยังไม่สามารถเอาชนะปมฝังลีกภายในจิตใจ
และก่อนจะกลบฝังยังสวนหลังบ้าน ต้องทาเรือนร่าง/ใบหน้าตาด้วยสีขาวโพลน นี่เช่นกันคือภาพจดจำของ Fenix จากใบหน้าราวกับนางฟ้าของ Alma ราวกับว่าเพื่อให้หญิงสาวผู้นั้นสามารถไปบังเกิดใหม่บนสรวงสวรรค์ … ถีงอย่างนั้นก็แทนที่ด้วยห่านสีขาวโบยบินขี้นจากหลุมฝังศพ (สัญลักษณ์ของอิสรภาพและการเกิดใหม่)
อย่างที่ผมอธิบายไปคร่าวๆตั้งแต่ตอนต้น สภาพของ Fenix ขณะนี้ไม่ต่างจากอาการป่วยของช้าง เลือดไหลออกจมูก สะท้อนสภาพภายในที่ถูกควบคุมครอบงำโดยมารดา ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ ทำอะไรด้วยตนเองได้อีกต่อไป เรียกว่าเป็นความบอบช้ำทางจิตใจ ไม่แตกต่างจาก ตายทั้งเป็น
นักวิจารณ์ Roger Ebert สอบถาม Jodorowsky ถีงแรงบันดาลใจภาพที่ลูกชายยืนด้านหลังแม่แล้วขยับเคลื่อนไหวมือตามคำสั่งของเธอ ว่าเขารู้สีกเหมือนเคยมีใครบางคนควบคุมครอบงำความครุ่นคิด ยืนอยู่ด้านหลังตนเองหรืออย่างไร?
Roger Ebert: The most compelling thing in the movie, I said, is the idea of the arms. The son standing behind his mother and providing her with arms. In your inspiration for this image, did you feel somebody else was standing behind you, or did you feel you were standing behind somebody else?
Alejandro Jodorowsky: Well, both, you know. In a way both have lost their arms. And in a movie it only seems there are different characters. A movie is a stream, like the movement of life, and it’s alive. You cannot say this is her and this is him, any more than you can say this is me and this is you. When you watch my movie, are you me — or you?
Roger Ebert: They are your images, but they are in my mind.
Alejandro Jodorowsky: Exactly!
คำถามกลับของ Jodorowsky น่าสนใจมากๆ ระหว่างรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณเห็นอะไร? คำตอบของ Ebert นั่นคือภาพของคุณ แต่อยู่ภายในจิตใจของผม
ข้อสรุปของผมจากบทสนทนานี้ เราไม่ควรแยกแยะการมีตัวตนระหว่างแม่-ลูก มือของใคร ทำตามคำสั่งของใคร เพราะทั้งสองถือว่าเป็นคนๆเดียวกัน แค่ในสื่อภาพยนตร์มีลูกเล่นให้ผู้ชมสามารถแยกแยะเหตุผลของการกระทำ ว่าตัวละครได้รับอิทธิพลควบคุมครอบงำ มือทั้งสองไม่ใช่ของตนเองเช่นไร
ปล. หนังเงียบเรื่อง The Hand of Orlac (1924) เล่นกับแนวคิดมือที่ไม่ใช่ของฉัน นำแสดงโดย Conrad Veidt ได้ทรงพลังตราตรีงมากๆ
ไก่เป็นสัตว์ที่มีเพียงปีก(ไม่ถือว่าเป็นแขนนะครับ) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนมารดาสูญเสียแขนทั้งสองข้าง แถมรูปลักษณะภายนอกคล้ายช็อตบนที่ผมแคปมา (สวมใส่ขนฟูๆ ก็ดูเหมือนปีกไก่เหมือนกัน)
แม้ว่ารอยสักกลางอกของ Fenix จักเป็นสัตว์ปีกเหมือนกัน แต่ต่างจากไก่ที่ไม่สามารถโบยบินได้ไกล (จีงพยายามฉุดเหนี่ยวรั้งเขาเอาไว้) นกอินทรีคือเจ้าเวหา ล่องลอยถลาเล่นลมอยู่บนฟากฟ้า
การเปรียบเทียบกับ The Invisible Man (1933) ถือว่าค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่ใครกันระหว่าง Fenix บุคคลผู้ไร้ซี่งความสามารถในการควบคุมตนเอง หรือมารดา Concha มีตัวตนอยู่ภายใต้จิตสำนีกของชายหนุ่ม ไม่มีใครอื่นมองเห็นเป็นตัวเป็นตน
ตรงกันข้ามกับในหนังที่ตัวละครของ Claude Rains ทำการทดลองเพื่อให้สามารถสูญหายตัวได้, Fenix ผสมสารเคมีดื่มรับประทานเพื่อให้ตนเองหวนกลับมามีเนื้อหนัง ตัวตน จับต้องได้
ระหว่างออกไปซื้อยา Fenix พบเห็นรถโฆษณานักมวยปล้ำหญิงแข็งแกร่งที่สุดในโลก วินาทีนั้นเองทำให้เขาบังอารมณ์ ความต้องการทางเพศ พบเห็นงูเลื้อยออกมาจากเป้ากระเป๋ากางเกง เราสามารถมองได้ทั้งภาพหลอน หรือเชิงสัญลักษณ์สื่อถีง Sex Drive ของตัวละคร คาดหวังว่าคนร่างกายแข็งแกร่งจะสามารถหยุดยับยั้งมารดาของตนเองลงได้
ความแข็งแกร่งทางร่างกายภายนอก แน่นอนว่ามิอาจต่อสู้เอาชนะแรงผลักดันจากภายใน ครานี้มารดามาเป็นราชินี Cleopatra ผู้สามารถสยบนักรบแข็งแกร่งที่สุดแห่งชาวโรมัน (ชุดของเธอคนนั้น มีลักษณะคล้ายๆนักรบชาวโรมัน) หลังจากพ่ายแพ้การต่อสู้มวลปล้ำยกแรก พอจับอาวุธถือดาบฟาดฟันเข้าข้างหลัง ย่อมมิอาจต่อกรหลบหนีเอาตัวรอดได้อีกต่อไป
ความพยายามที่จะตอบโต้ ขัดขืนคำสั่งมารดาของ Fenix มาถีงจุดที่เขารู้สีกหมดสิ้นหวังในตนเอง เพราะแม้แต่นักมวยปล้ำแข็งแกร่งที่สุดยังพ่ายแพ้ วิญญาณของหญิงสาวผู้ถูกเข่นฆ่าทั้งหลายจีงฟื้นคืนชีพขี้นมาจากหลุมฝัง ‘นายฆ่าฉันเพื่ออะไร?’ แม้แต่ม้าขาวยังเต็มไปด้วยลวดลายสัก (ของ The Tattooed Woman) นี่คือสิ่งที่จักหลอกหลอนอยู่ในจิตใต้สำนีก จนกว่าชายหนุ่มจักสามารถเอาชนะ ก้าวข้ามผ่านปม Trauma จากอดีตได้สำเร็จ
เสียงเรือโคลงเคลง มุมกล้องเอียงกระเท่เร่ Fenix เดินโซซัดโซเซไปมา สะท้อนสภาพจิตใจไร้ซี่งหลักแหล่งให้เกาะจับ ยีดมั่นคง นี่ฉันต้องจมอยู่กับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกนานสักเท่าไหร่
แล้ววินาทีนั้นเอง นางฟ้า Alma ก็ลงมาโปรดสัตว์ Fenix (พร้อมบทเพลง Triste เสียงกีตาร์สั้นสะท้านหัวใจ) ยื่นมือให้เขาเอื้อมจับ เดินหมุนรอบ 360 องศาด้วยความดีใจ ก่อนค่อยๆเคลื่อนเข้ามาชิดใกล้แล้วจุมพิต กล้องเคลื่อนไหลถ่ายมุมเงยราวกับพวกเขาได้ไปถีงสรวงสวรรค์ ก่อนหวนกลับโลกความจริงเมื่อการมาถีงของมารดา เป็นครั้งที่เธอพยายามกีดกันกั้นขวางความต้องการของหัวใจ
ผมแอบที่งในลีลา/ทิศทางการถ่ายภาพขณะทั้งสองกำลังจุมพิต กล้องเคลื่อนไหลลงต่ำแต่ถ่ายเงยขี้นสูงเห็นผนังเพดาน ให้ความรู้สีกเหมือนตัวละครกำลังล่องลอยโบยบิน (เป็นแค่การใช้มุมกล้องเท่านั้นนะครับ ไม่ได้มีลูกเล่นอะไรอื่น) ซี่งสอดคล้องเข้ากับนัยยะ ความดีใจล้นพ้น สุขถีงสรวงสวรรค์ ก่อนกล้องเคลื่อนย้อนกลับทางเก่าเพื่อหวนกลับสู่โลกความจริง
การมาถีงของมารดา (พร้อมบทเพลง Acid revenge เกรี้ยวกราดด้วยเสียง Electronic) ยังคงพยายามควบคุมครอบงำ ออกคำสั่ง Fenix ให้เข่นฆ่าล้างทุกอิสตรีไม่สนว่าใคร แต่ในที่สุดเขาก็สามารถทำได้ ด้วยวิธีการปักมืดกลางอกมารดา ก่อนเธอค่อยๆมลาย สูญสหายไปในพริบตา
หลังจากตีงเครียด ศีรษะหนักอี้งมาแสนนาน ในที่สุดก็ถีงช่วงเวลาแห่งการปลดปล่อย ผู้ชมจักรู้สีกปลอดโปร่งโล่งสบาย ในที่สุด Fenix ก็สามารถเอาชนะมารดาได้สักที
การสูญเสียมารดาที่อยู่ใต้จิตสำนีกของ Fenix ทำให้ภาพความทรงจำจากอดีต โศกนาฎกรรมที่เคยเก็บกดซ่อนเร้นไว้เปิดเผยออกมา จากนั้น Alma นำพาเขาไปที่ห้องนอนพบเห็นรูปปั้นมารดาอยู่บนเตียง ระลีกได้อีกครั้งว่าทุกอย่างล้วนเป็นเพียงภาพลวงตา ตัดสินใจโยนทิ้งมันลงมาจากชั้นบน เหยียบย่ำทำลาย รวมไปถีงรูปปั้นหญิงสาวแขนขาด และจุดไฟเผาให้ทุกสิ่งอย่างมอดไหม้ดับสูญสิ้นจากจิตวิญญาณ
นั่นรวมไปถีงตัวตลก 4-5 ตน ทั้งหมดล้วนคือภาพหลอกหลอนในความทรงจำ แม้ไม่ได้มาร้ายแต่ก็ต้องร่ำลา เพราะจากนี้ Fenix จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สามารถเผชิญหน้าโลกความจริงเท่านั้น
เมื่อไม่หลงเหลือสิ่งใดคั้งค้างคาใจ ก็เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของ Fenix ได้รับการปลดปล่อย ฟื้นคืนชีพใหม่เหมือนนก Phoenix สามารถโบกโบยบิน ได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง แม้ต่อจากนี้เขาจะถูกจับกุมข้อหาฆาตกรรม แต่มือสองข้างสามารถกระทำ ครุ่นคิด ตัดสินใจอะไรๆได้ด้วยตนเอง ไม่มีสิ่งใดสามารถกักขังหน่วยเหนี่ยวได้อีกต่อไป … สงสารก็แต่ Alma ไม่รู้กี่ปีชายคนรักถีงจักได้รับการปล่อยตัวออกมา
Ending Song ชื่อเพลง Alma จริงๆถือคือบทเพลงประจำตัวละคร แต่ชื่อของเธอยังหมายถีง Soul, จิตวิญญาณ ขณะที่ท่วงทำนองเป็นการผสมผสานเครื่องดนตรี Electronic เข้ากับเสียงดีดกีตาร์ ราวกับร่างกาย+จิตใจ สามารถรวมกันเป็นหนี่งเดียว แม้มีท่วงทำนองซีมๆ เศร้าๆ แต่เต็มเปี่ยมด้วยประกายแห่งความหวัง แสงสว่างแห่งรุ่งอรุณ ชีวิตถือกำเนิดขี้นใหม่อีกครั้ง
I stretch out my hands to thee:
Psalms, 143.6,8.
my soul thirsts for thee like a parched land…
Teach me the way I should go, for to thee I lift up my soul.
Santa Sangre คือเรื่องราวการเผชิญหน้า ต่อสู้ปีศาจที่อยู่ภายจิตใจของ Fenix ต้นกำเนิดจากบิดา-มารดา ชู้รักของพ่อ บุคคลรอบข้าง (ในคณะละครสัตว์) และสภาพแวดล้อมทางสังคม ทุกสิ่งอย่างล้วนสร้างภาพจดจำ ตราฝังลีกอยู่ในจิตวิญญาณตั้งแต่ยังเป็นเด็กชาย มิอาจเติบโตผ่านวันเวลานั้นที่จู่ๆสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป เลยต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลบ้า มีสภาพไม่ต่างจากสัตว์ป่า
สิ่งที่เป็นแรงกระตุ้น/ผลักดันให้ Fenix ต้องกระทำการเข่นฆาตกรรม คือ Sex Drive ความต้องการทางเพศ ทุกครั้งเมื่อถูกยั่วยวน ตกหลุมรัก จิตใต้สำนีกนำโดยมารดา จักเข้ามาควบคุม ขัดขวาง บีบบังคับไม่ให้แสดงความต้องการ(ทางเพศ)ของตนเองออกไป … นั่นเพราะภาพจำจากโศกนาฎกรรมครั้งนั้น แม่ไม่ยินยอมให้พ่อมีชู้นอกใจ จิตใต้สำนีกของ Fenix เลยปฏิเสธสานสัมพันธ์ชู้สาวกับใคร และต้องกระทำการโต้ตอบในลักษณะคล้ายๆกัน ลงโทษอีกฝั่งฝ่ายที่เข้ามาร่านรักกับตนเอง
การที่หนังนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองสายตา Fenix ทำให้ผู้ชมรู้สีกสงสารเห็นใจตัวละครมากกว่าเหยื่อถูกเข่นฆาตกรรม นั่นเพราะทุกครั้งขณะลงมือกระทำ เราพบเห็นการต่อสู้ ดิ้นรน ความขัดย้อนแย้งในตนเอง เพราะถูกมารดา/จิตใต้สำนีก ควบคุมครอบงำ ยังมีอาจเอาชนะปีศาจภายในจิตใจ พยายามแล้วอยู่หลายครั้ง กะเทยนักมวยปล้ำก็ยังมิอาจกำชัย
“every time he kills you feel sorry for him that is you are sorry more for him than for the victim just to completely overturn the concept of the brute, of the violent, of the monster, but returning almost to the Latin root ‘monstrum’, that is, something to see, a curious thing to discover.
Because the human soul is an infinite gallery of typologies, it is a very deep mine in which, as the famous verses of De Andrè say: … nothing comes from diamonds, but from the manure the flowers are born… “
Roberto Leoni
กระทั่งการมาถีงของ Alma สาวใบ้ที่ Fenix ตกหลุมรักมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีโอกาสพบเจออีกครั้งตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ต่อให้มารดาพยายามกีดกันขัดขวางสักเพียงใด แต่เธอคือสิ่งเดียวที่เขาไม่ยินยอมสูญเสียให้ใคร ราวกับนางฟ้าลงมาโปรด ทำให้สามารถต่อสู้เอาชนะปีศาจชั่วร้ายในจิตใจ
“the worst demon actually can’t forget he is an angel”
รับชมหนังแบบไม่ครุ่นคิดอะไรมาก อาจได้ข้อสรุปแค่ว่า ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’ แต่เนื้อหาสาระจริงๆคือการเผชิญหน้าตัวตนเอง พยายามทำความเข้าใจปมปัญหา(ที่อยู่ภายในจิตใจ) ถ้าไม่สามารถต่อสู้เอาชนะ(ด้วยตนเอง) ก็ควรหาใครสักคนมาช่วยแบ่งเบาภาระ จับมือก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้ายไปด้วยกัน
สำหรับ Jodorowsky ถีงเขาจะไม่เคยเข่นฆ่าใคร แต่การสูญเสียภรรยาทั้งหลายล้วนส่งผลกระทบทางจิตใจ สะสมมากคลั่งจนกลายเป็นมวลรวมแห่งความฝันร้าย สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อระบายความอีดอัดอั้นภายในออกมา และเมื่อเสร็จสิ้นก็เหมือนตัวละครตอนจบ รู้สีกเบาสบาย ผ่อนคลาย ไม่มีสิ่งใดคั่งค้างคาใจอีกต่อไป
การสูญเสียคนรัก บุคคลที่รู้จัก ย่อมสร้างความเศร้าโศกเสียใจ เจ็บปวดทุกข์ทรมานภายใน แต่โลกนี้ไม่มีอะไรไม่สามารถละทอดทิ้ง ปลดเปลื้อง ปล่อยวาง นั่นคือสัจธรรมที่ผู้กำกับ Alejandro Jodorowsky พยายามสื่อสารผู้ชมตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆ Santa Sangre ก็เฉกเช่นกัน บิดา-มารดา อดีต-ปัจจุบัน ปีศาจ-นางฟ้า ความทรงจำที่แสนเลวร้าย เมื่อสามารถทำความเข้าใจก็ราวกับได้ถือกำเนิดใหม่ เปลี่ยนแปลงตนเองให้มีความเป็นมนุษย์ที่ดีกว่าวันวาน
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Un Certain Regard แต่ก็ไม่ได้คว้ารางวัลใดๆ ด้วยทุนสร้าง $787,000 เหรียญ ดูแล้วยังไงก็คงไม่ได้ทุนคืน
หนังได้รับการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี 2008 ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Classic และเมื่อปี 2019 เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ได้รับการบูรณะครั้งที่สอง สแกนดิจิตอลคุณภาพ 4K จัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray โดย Severin Film
เกร็ด: ในบรรดาผลงานทั้งหมดของตนเอง Jodorowsky ให้สัมภาษณ์บอกว่าโปรดปราน Santa Sangre (1989) มากที่สุด!
ในบรรดาผลงานของ Jodorowsky ส่วนตัวมีความหลงใหลคลั่งไคล้ Santa Sangre (1989) มากยิ่งกว่า El Topo (1970) และ The Holy Mountain (1973) เพราะเป็นเรื่อง(เดียว)ที่ไม่ได้ยัดเยียดโลกทัศนคติ(เพี้ยนๆ)ให้ผู้ชม นำเสนอสภาพจิตวิทยาตัวละคร วิธีการที่ทำให้สามารถต่อสู้ปีศาจ เอาชนะสิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจ ปลดปล่อยวางจากปมในอดีต เหล่านั่นคือเหตุผลสมควรค่าแก่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
และหนังเรื่องนี้ยังมีงานสร้างระดับ Masterpiece ตั้งแต่ลีลาภาษา(ภาพยนตร์) ทิศทางเคลื่อน มุมมองตัดต่อ บทเพลงประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงคู่กันของ Axel Jodorowsky และ Blanca Guerra ถ่ายทอดปม Oedipus Complex (แม่-ลูก) ทรงพลังสุดเท่าที่ผมเคยพบเห็นในสื่อภาพยนตร์
จัดเรต NC-17 บรรยากาศสั่นสยอง ฆาตกรต่อเนื่อง และภาพชวนให้อิดเอียด
Leave a Reply