สันติ วีณา (พ.ศ.2497) : มารุต ♥♥♥♥
‘ไม่มีที่ไหนจะสงบสันติ ได้เท่าภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์’ แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มาก ความสงบสุขก็สามารถถูกรบกวนให้เกิดความวุ่นวายได้ ด้วยสาเหตุจากความหลงใหลคลั่งไคล้ ต้องการครอบครองและยึดติด นี่ล้วนมีสาเหตุเกิดจากจิตใจของมนุษย์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผมขอไม่เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการสูญหาย ค้นพบ บูรณะ ของหนังเรื่องนี้นะครับ ตลอดจนขณะที่หนังได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Cannes Classic สามารถตามหาอ่านเอาเองได้ตามแฟนเพจของหอภาพยนตร์
ภาพยนตร์ไทยขนาดยาวเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 35 มม. (Widescreen, Eastman Color) ผลงานชิ้นแรกของ บริษัท หนุมานภาพยนตร์ ก่อตั้งโดย รัตน์ เปสตันยี ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นทั้งผู้อำนวยการสร้าง ถ่ายภาพและตัดต่อ, กำกับภาพยนตร์โดย ทวี ณ บางช้าง (มารุต) สร้างจากบทประพันธ์ของ Robert G. North ดัดแปลงโดย วิจิตร คุณาวุฒิ และ ทวี ณ บางช้าง (มารุต)
เรื่องราวของชายหนุ่มตาบอด สันต์ (พูนพันธ์ รังควร) และวีณา (เรวดี ศิริวิไล) หญิงสาวผู้มอบความรักและความต้องการให้ชายหนุ่ม แต่ทั้งสองก็พบอุปสรรคจากไกร (ไพจิต ภูติยศ) คู่หมั้นของวีณา ที่พยายามกลั่นแกล้ง อวดอำนาจเกรียงไกรตลอดเวลา, สันต์อาศัยอยู่กับหลวงตา (จหมื่นมานพนริศร์) มุ่งหวังเพื่อบำเพ็ญเพียรบารมี พึ่งใบบุญพระพุทธศาสนา เผื่อว่าจะมีปาฏิหารย์สามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
พูนพันธ์ รังควร ในบทสันต์ แววตาของเขาทำให้นึกถึง Virginia Cherrill ผู้รับบทหญิงสาวตาบอดจากหนังเงียบเรื่อง City Lights (1931) ดวงตาที่นิ่งเหม่อลอย แต่สามารถสะท้อนความรู้สึกที่อยู่ข้างในจิตใจออกมาได้ -เรื่องราวของหนังก็มีความคล้ายคลึงกับ City Lights พอสมควร ครูมารุต และคุณรัตน์ คงได้อิทธิพล แรงบันดาลใจมาจากหนังของ Charlie Chaplin เรื่องนี้ไม่มากก็น้อย- ตอนสันต์กลับมามองเห็น แววตามีประกาย เห็นแสงไฟ 2 ดวงสะท้อนในดวงตา แต่กลับไม่ยอมสบตาใคร แม้แต่วีณายังเลี่ยงไม่มองตรงๆ ทำเหมือนตอนตาบอด, ขณะตัดสินใจบวช เขาหันมาสบตากับกล้อง เหมือนมองเพื่อถามผู้ชมว่า ‘เราคิดได้ ตัดสินใจหยุดแล้ว ท่านละคิดได้หรือยัง หยุดหรือยัง’
ตอนต้นเรื่องผมเห็น ควายเผือก และเด็กชายสันต์ (รับบทโดย วีระชัย แนวบุญเนียร) เป็นคนได้ขึ้นนั่งขี่ มันอาจดูบังเอิญ แต่ควายเผือกผมมองควายหมายเท่าช้างเผือกเลยนะครับ ต้องคนมีบารมีถึงจะขี่ควายเผือกได้, ช้างเผือกเป็นสิ่งที่แสดงบารมีของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เช่นกันกับ ชาวนาที่มีควายเผือก ย่อมต้องเป็นผู้มีบารมีเช่นกัน (อย่าไปคิดว่า ควายเผือกเป็นสายพันธุ์ด้อยที่เกิดจากยีนส์ด้อยอะไรนั่นนะครับ ที่ผมพูดนั้นเป็นความหมายทางความเชื่อของคนไทย ฝรั่งมองเห็นควายเผือก เขาคิดอีกอย่างเลยนะครับ เป็นสัญลักษณ์ของความขาวบริสุทธิ์ แทนจิตใจของสันต์)
เรวดี ศิริวิไล ในบทวีณา, เป็นตัวแทนของผู้หญิงรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ เธอเป็นคนเกี้ยวพาราสีสันต์ให้รู้จักคำว่า ‘รัก’ ‘ผัวเมีย’ เชื่อในรักที่มันคง ถึงกายจะเป็นของคนอื่น แต่ใจมอบให้สันต์คนเดียว, การแสดงของคุณเรวดีแหวกธรรมเนียมของหญิงไทยสมัยนั้นที่ต้องรักนวลสงวนตัว เรียกในปัจจุบันคงเป็น สาวมั่น เหตุนี้กระมังที่ทำให้เธอได้รับความนิยมอย่างสูงในภาพยนตร์เรื่องต่อๆมา, ตัวละครนี้เปรียบได้กับกิเลสที่มีความยั่วยวนหอมหวาน ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง
เกร็ด: คุณเรวดี ศิริวิไล เป็นพี่สาวแท้ๆ ของคุณกรรณิกา แม่คุณน็อต-นุติ เขมะโยธิน
ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณอนุฉัตร โตษยานนท์ ผู้รับบทวีณาในวัยเด็ก ในเครดิตหนังจะขึ้นแค่ชื่อเท่านั้นไม่ขึ้นนามสกุล (เธอบอกตอนนั้นแม่ไม่ให้บอกนามสกุล คงเพราะกลัวคนรู้จัก) ตอนที่หนังยกกองมาถ่ายใกล้บ้าน ทีแรกเธอไม่ได้ตั้งใจไปคัดตัว แต่เข้าตาผู้กำกับ คงเพราะความซุกซนแก่นแก้วของเธอวัยเด็ก ซึ่งสามารถถ่ายทอดวีณาออกมาได้… สมัยนี้เรียกว่า ‘แมนๆ’ เหมือน ‘สาวห้าว’ นะครับ, หลังจากหนังออกฉายก็มีคนมาติดต่อให้เธอแสดงหนังอีก แต่คุณแม่บอกปฏิเสธ และเธออยากตั้งใจเรียนหนังสือ สอบเอนทรานซ์มากกว่า ถ้าตอนนั้นเธอเลือกเข้าวงการละก็ คาดว่าคงจะดังมากๆคนหนึ่งเลยละ, อาจมีแค่ผมที่คิดไปเอง เห็นภาพถ่ายจากแฟนเพจหอภาพยนตร์ ถึงเธอจะอายุ 60 กว่าแล้ว แต่ยังสวยสง่า และหน้าเธอคล้ายวีณามาก (ผมอาจมโนไปเองนะครับ)
หนังยกกองไปถ่ายทำที่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี สมัยนั้นยังเป็นป่าและทุ่งนา มีผู้คนอยู่น้อยนัก สมัยนี้กลายเป็นเมือง ตึกรามบ้านช่องขึ้นเต็มไปหมดแล้ว, ฉากในวัดถ้ำ ถ่ายทำที่ถ้ำเขาหลวง ตั้งอยู่ที่อยู่บนเขาหลวง ห่างจากสถานีรถไฟเพชรบุรีเพียง 5 กิโลเมตร สถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในวัดที่คนเมืองเพชรรู้จักกันดี มีความสำคัญที่สุด ประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้สร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) คำแนะนำสำหรับคนมาเที่ยวถ้ำเขาหลวง คือ การได้ชมแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาจากปล่องแสงของเพดาน เป็นภาพที่อัศจรรย์และงดงามมาก ในหนังเราก็จะได้เห็นภาพนี้เช่นกัน ของเมื่อกว่า 50-60 ปีก่อน ยังคงมีความสวยงามที่กาลเวลายังมิเปลี่ยนแปลง
ลักษณะการถ่ายทำคือ มีจัดฉากและกำหนดขอบเขต ให้นักแสดงเดินเข้าออก แสดงในระยะที่กล้องสามารถบันทึกภาพได้ อย่างฉากการละเล่นพื้นบ้าน เด็กๆยืนล้อมวงเล่น รีรีข้าวสาร, เต้นรำวง ฯ หนังเก็บภาพทั้งหมดในเฟรมเดียว ไม่มีการเคลิ่อนกล้อง ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับภาพเคลื่อนไหวในกรอบรูป แต่หนังก็มีฉากที่กล้องเคลื่อนไหว แพนกล้องบ้างเล็กน้อย ในฉากที่รายละเอียดของภาพใหญ่ยาวหรือกว้างเกินขอบเฟรมที่กำหนดได้, เมื่อเทียบกับภาพยนตร์สมัยนี้ที่มีการเคลื่อนกล้องแบบโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียว ผู้ชมคงรู้สึกเบื่อหน่ายหนังเรื่องนี้โดยทันที เหตุที่สมัยก่อนถ่ายภาพเคลื่อนไหวกล้องได้เท่านี้ มาจากข้อจำกัดของการใช้กล้องที่มีขนาดใหญ่ หนัก เคลื่อนไหวยาก และราคาแพง การให้คนเข้าไปอยู่ในฉาก เคลื่อนไหวกล้องให้น้อยที่สุด มันย่อมง่ายกว่าที่จะให้กล้องมีการขยับเคลื่อนไหวไปมา, ขอเปรียบความสวยงามของภาพหนัง และสีสันอันสวยสดของ Eastmancolor เห็นเหมือนภาพวาดงานศิลปะ ที่งดงามเหนือกาลเวลา
ภาพที่สวยที่สุดของหนัง มาจากภาพวิวทิวทัศน์ระยะไกล ถ่ายจากภูเขาอีกลูกหนึ่ง ให้เห็นเทือกเขาหลวง วัดถ้ำ และเจดีย์ เฟรมนี้มีดอกไม้เป็นกรอบรูป เห็นแล้วเหมือนภาพโปสการ์ดจ่าหน้าถึงคนไทยและชาวพุทธทุกคน ส่งตรงจากเมื่อ พ.ศ. 2497 โดยรัตน์ เปสตันยี และผู้กำกับมารุต
การลำดับภาพ หนังใช้มุมมองของสันต์เล่าเรื่องทั้งหมด ครึ่งแรกคือเมื่อสัตน์เป็นเด็ก อาศัยอยู่กับพ่อ วีณาชักชวนไปโรงเรียนเล่นกับเพื่อน พบไกรถูกกลั่นแกล้ง และพบกับหลวงตา ได้รับการฝากฝังให้กลายเป็นลูกศิษย์วัด, ครึ่งหลังเติบโตอายุเกิน 20 ปี เรื่องราวลักษณะเดิมก็เกิดขึ้นซ้ำอีก เริ่มต้นอาศัยอยู่กับหลวงตา วีณาชักชวนเกี้ยวพาราสีไปเที่ยวงานลอยกระทง พบไกรถูกกลั่นแกล้ง และตอนท้ายตัดสินใจพึ่งใบบุญของพระพุทธศานา
โดยทั่วไปการลำดับภาพขณะสนทนา จะมีการใช้มุมมองของตัวละคร ตัดสลับให้เห็นใบหน้าผู้พูดและผู้ฟัง แต่มีฉากหนึ่งที่ถือเป็น One Man Show ของคุณไพจิต ภูติยศ ที่รับบทไกร ขอเรียกฉากนี้ว่า ‘หมาเห่าใบตองแห้ง’, ขณะที่ไกรตอนโต แอบเห็นสันต์กับวีณาอยู่ด้วยกัน วีณาบอกให้สันต์นั่งรอตรงนี้ แล้วเธอไปเต้นรำงานโรงเรียน ไกรเดินเข้ามาหัวเราะเยาะ พูดจาถากถาง ยั่วโมโห ใจความเสียดสี ‘เป็นแค่ไอ้บอด อย่ามาหลงรักเด็ดดอกฟ้า มันจะเกินเอื้อมที่ใครๆจะรับได้’ ฉากนี้ถ่ายทำโดยการตั้งกล้องแช่ไว้เฉยๆ ไม่มีตัด ให้ไกรเห่าทุกสิ่งอย่างกรอกใส่หูสันต์ ที่นั่งรับฟังเฉยๆไม่ตอบโต้ มีเพียงสีหน้าที่รู้สึกเจ็บปวดเป็นทุกข์ร้อน แต่ไม่สามารถโต้ตอบใดๆได้
อีกหนึ่งฉากที่ต้องถือว่าเป็นไฮไลท์ คือคืนวันลอยกระทง นำเสนอใส่เพลงมาแบบจัดเต็ม แต่ผมละกุมขมับเลย ทั้ง Sequence นี้มีอยู่ 3 ซีน 1) สันต์กับวีณาริมน้ำ 2) กระทงกำลังลอย 3) เรือ 2 ลำที่ร้องเต้น แล่นตามกระทง, หนังใช้การตัดต่อแค่ 3 อย่างนี้สลับไปมาจนจบเพลงเกือบ 4 นาที ผมรู้สึกการตัดต่อน่าจะมีลูกเล่นลูกชนได้ดีกว่านี้นะครับ
ช่วงท้ายของหนัง ตั้งแต่ที่สันต์ตัดสินใจบวช ใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพล้วนๆ ไม่มีคำพูดหรือคำบรรยายประกอบ เป็นการลำดับวิธีการบวช เริ่มจากปลงผม บวชนาค กล่าวคำปวารณา สวมจีวร บวชพระ และรุ่งเช้าออกบิณฑบาตร คนไทยคงไม่มีปัญหาความเข้าใจการเล่าด้วยภาพนี้เป็นแน่ เพราะนี่เป็นวิถีของชาวพุทธที่รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี
เพลงประกอบประพันธ์โดย นารถ ถาวรบุตร ครูเพลงชื่อดังแห่งยุค ผู้ประพันธ์เพลงสยามานุสติ นำพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาใส่ทำนองประกอบภาพยนตร์เรื่อง ค่ายบางระจัน (พ.ศ. 2482) จนได้รับขนานนามว่าเป็น ‘ราชาเพลงมาร์ชของประเทศไทย’, เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ บรรเลงโดยดุริยางค์เต็มวง จะได้ยินประกอบตลอดแทบทั้งเรื่อง เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับหนัง, คงเพราะหนังใช้การพากย์เสียงทับไม่ใช่เสียงในฟีล์ม สังเกตได้จากการให้ผู้ใหญ่ดัดเสียงพากย์เป็นเด็ก และแทบจะไม่ได้ยินเสียงประกอบ (Sound Effect) อื่นเลยยกเว้นฉากที่ต้องมีเสียงแน่ๆ อาทิ ล้อเกวียน, หินถล่ม ฯ ด้วยเหตุนี้เพลงประกอบจึงต้องบรรเลงดังขึ้นตลอดไม่ให้เงียบเกินไป
นอกจากเพลงประกอบแล้ว เสียงสวดมนต์ก็จะได้ยินอยู่เรื่อยๆ คนไทยที่เป็นชาวพุทธลองถามตัวเองว่า รู้จักมากน้อยแค่ไหน ฉากแรก สวดมงคลจักรวาลน้อยและตามด้วย สัพฺพีติโย, กลางเรื่องจะมีนะโม, อิติปิโส, พาหุง บทพิจารณาสังขาร (อนิจฺจา วต สังฺขารา) และตอนจบจะเป็นบทสวดขณะบวชพระ, เช่นกันกับปางพระ รู้จักกันหรือเปล่า นาคปรก ปางมารวิชัย ปางสมาธิ พระนอนปางไสยาสน์ ฯ ไม่จำเป็นต้องรู้ให้ครบ 66 ปางแบบเซียนพระ แต่ปางที่หนังนำเสมอมา แทบทุกวัดในเมืองไทยจะมี จดจำไว้เสียหน่อยก็ยังดี
สันติ วีณา เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นของคนไทย โดยคนไทย และเพื่อคนไทย ด้วยวิถีชีวิต ความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา, เราจะเห็นว่า คนไทยสมัยก่อนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น ตอนเช้าตักบาตร, วันพระเข้าวัดทำบุญ ฯ เกิดแก่เจ็บตาย มองหาฤกษ์งามยามดี แต่งงาน ก็ล้วนพึ่งพระทั้งสิ้น, การบวชพระ ของชายไทยเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ มีจุดประสงค์เพื่อเรียนรู้หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ทดแทนบุญคุณของบิดามารดา และธำรงไว้ซึ่งประเพณีความยั่งยืน สืบทอดจนชั่วลูกชั่วหลาน, ในหนัง การบวชคือสัญลักษณ์ของการปล่อยวาง ไม่ยึดติดทางโลก นี่เป็นความมหัศจรรย์ของพุทธศาสนา ที่ขนาดวีณาเองก็ไม่กล้าที่จะ ‘ทำบาป’ ไปมากกว่านี้, นี่เป็นการเปรียบให้เห็นว่า ถ้าเราเลือกที่จะปล่อยวาง ตัดจากกิเลส แม้แต่ตัวกิเลสบางอย่างยังยากที่จะตามติดไป
ค่ำคืนวันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 คนไทยสมัยก่อนใช้ชีวิตอยู่ติดริมแม่น้ำ อะไรๆก็ขึ้นอยู่กับน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต ต้องใช้กินดื่ม อาบน้ำ ซักผ้า เดินทาง ฯ ชีวิตมนุษย์ไม่มีทางขาดน้ำได้ นี่เป็นประเพณีที่สืบทอดยาวนานนับแต่แต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สืบต่อยาวนานกว่า 600, งานลอยกระทง มีขึ้นก็เพื่อระลึกบุญคุณของสายน้ำ พระแม่คงคา ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวไทยมาอย่างยาวนาน และต่อไปในอนาคต การสร้างกระทงก็เปรียบเสมือนแทนสิ่งบูชา ให้สายน้ำพากระทงล่องล่อยไป เหมือนชีวิตที่ดำเนินไป ไหลตามกระแสน้ำ, การที่หนังเลือกเทศกาลลอยกระทง พระจันทร์เต็มดวง คงสื่อถึงชีวิตที่โตเต็มวัย ปัจจุบันลอยกระทงเป็นกิจกรรมที่หนุ่มสาวใช้พรอดรัก พบรักยามค่ำคืน เพลิดเพลินกับงานเต้นรำ แสงจันทรา และกระทงหลากลายรูปแบบสีสัน
สันต์/สันติ แปลว่า เงียบ สงบ สงัด, วีณา คือเครื่องดนตรี พิณ ที่ก่อให้เกิดเสียง ความหมายของชื่อแสดงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนัง สันต์อยู่อย่างสงบในวัดถ้ำกับหลวงตา มีวีณาที่นำเสียง ความรักมากรอกหูใส่ สร้างความวุ่นวายเพื่อให้เขาหลงรักเธอ, ในทางพุทธ สามารถเปรียบได้ว่า วีณาคือกิเลสหรือมาร ที่นำพาความทุกข์ให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ตกหลุมใหล, เรื่องราวของหนังสามารถมองได้อีกอย่างหนึ่ง ‘ถ้าไม่มีวีณา ไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์ สันติ มรรคผลย่อมไม่เกิด’
การที่ สันต์ ตาบอดเพราะถูกหินทับ การมองไม่เห็นเปรียบได้กับการตกอยู่ในกิเลสที่มืดมิด อันนี้เหมารวมทุกสิ่งอย่าง ไม่ใช่แค่ความรักทำให้คนตาบอด โลภโกรธหลง ก็สามารถทำให้ตาของคนมืดบอดได้เช่นกัน, ตอนที่สันต์กลับมามองเห็นใหม่ เพราะถูกหินตกใส่อีกครั้ง แต่คราวนี้แสงสว่างแลกมาด้วยกับชีวิต ที่ทำให้ดวงตาเขาเห็นธรรม ไม่ลุ่มหลงตกอยู่ในกิเลสอีกต่อไป
ใน City Light ตอนจบนางเอกกลับมามองเห็นอีกครั้ง และเธอได้พบกับแสงสว่างในชีวิต, กับสันติ วีณา ถือว่ายิ่งใหญ่กว่านั้น การกลับมามองเห็นของสันต์ คือการได้เห็นแสงสว่างในธรรม
สำหรับฉากจบ หลังจากพระสันต์รับบาตรจากวีณา ท่านก็เดินจากไป นี่หวนให้ระลึกถึงฉากจบลักษณะคล้ายๆกันในหนังเรื่อง Modern Time ของผู้กำกับ Charlie Chaplin ที่เดินจากไปด้วยความหวัง แต่กับคนไทย เราสามารถมองฉากนี้ได้ถึงการเดินสู่มรรคผล นิพพาน หลุดพ้นจากกิเลส
โชคชะตาของวีณาเป็นอะไรที่น่าคิดมาก เธอแต่งงานกับไกร (ไกร แปลว่า ยิ่งใหญ่ ยอดเยี่ยม) ทั้งๆที่เธอขัดขืนไกรมาตลอดชีวิต, เด็กหญิงสู้เอาชนะเด็กชายได้ แต่โตขึ้นผู้หญิงไม่มีทางสู้ผู้ชายได้เลย, มันอาจไม่ใช่การสมยอม แต่ชะตากรรมของเธอมีนัยยะจากการเป็นต้นเหตุของกิเลส เธอจึงลงเอยกับไกร ที่เป็นเหมือนอีกหนึ่งผู้มีกิเลส ทั้งสองเข้าคู่กันดี ดั่งกิ่งทองใบหยก
ใครที่สงสารวีณา คงเห็นขัดแย้ง เห็นใจเธอ นั่นเพราะคุณยังมองหนังเรื่องนี้เป็นแค่รักโรแมนติกทั่วๆไป จริงๆแล้วหนังเป็นมากกว่านั้นเยอะ ความรักของวีณาเป็นแบบ ‘หน้ามืดตามัว’ ทั้งๆที่ตัวเองก็ตาไม่บอด แต่กลับคลั่งไคล้ หลงใหลอะไรปานจะกลืนกิน, ได้คู่กับไกร ก็สมควร สมน้ำสมเนื้อกันดี หญิงชั่ว ชายเลว ไม่เข้ากันยังไง?
ใครที่เป็นพ่อแม่ หนังได้สอนอีกบทเรียนในค่านิยม ความเชื่อของคนสมัยก่อน เรื่องคลุมถึงชน, กับครอบครัวที่มีลูกผู้หญิง มักกลัวว่าลูกจะขายไม่ได้ แต่งไม่ออก เพราะผู้หญิงในสังคมไทยเปรียบเสมือนช้างเท้าหลัง ต้องเดินตามผู้ชายเท่านั้น กับสันต์นั้นแน่นอนเข้าใจได้ กับชายตาบอด จะไปทำให้ลูกของตนมีความสุขได้อย่างไร, ฟังดูตลกกับพ่อแม่ของวีณา ที่ตอนแรกเหมือนจะเป็นคนเข้าใจวิถีของโลก แต่สุดท้ายกลับเลือกผลักไสลูกสาว ให้ไปยืนอยู่ปลายปากเหว ด้านหลังมีราชสีห์เกรียงไกร ด้านล่างมีสายน้ำเชี่ยวกราก จะถอยก็ตาย จะกระโดดก็ไม่รอด ไม่มีหนทางอื่นต้องเลือกเอา, การแต่งงาน มันอาจจะคือความหวังดีของพ่อแม่ ระหว่างคนตาบอดไร้อนาคต กับคนที่เหมือนจะเลวหน่อย แต่อยู่ๆไปก็อาจมีใจให้แก่กัน พ่อแม่ประเภทนี้เหมือนว่าไม่ได้รักลูกจริงๆ แค่อยากผลักไสให้ตนเองหมดภาระก็เท่านั้น
ใจความของหนังเรื่องนี้ หาใช่เรื่องราวความรักโรแมนติกสามเส้า ที่เกิดขึ้นระหว่างสันต์ วีณา และไกรแน่นอน แต่การนำเสนอเรื่องความรัก เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ชมสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด เห็นว่า ‘ทุกข์’ มีลักษณะอย่างไร, อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์, แนวทางการดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ นี่คือ อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ใจความของหนังคือแก่นของพุทธศาสนา วิถีคนไทย วิถีชาวพุทธ จุดมุ่งหมายของการเกิด มีชีวิต เมื่อปัญหาและอะไรคือการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ ‘คนไทย’ และ ‘ชาวพุทธ’ จะสามารถเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้ง่ายกว่าต่างชาติมาก เพราะนี่ถือวิถีไทยแท้ๆ คนไม่ได้เกิดในเมืองไทย คงยากที่จะเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้ลึกซึ้ง
ปัญหาของคนไทยสมัยนี้ คือ ปากอ้างว่าเป็นชาวพุทธ แต่จิตใจไม่ได้เคยคิดทำความเข้าใจ บวชเรียนแต่ก็หาได้สนใจศึกษาหลักธรรมอย่างตั้งใจจริง ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดจะบวช แต่เมื่ออายุถึงได้บวช ต้องบอกเลยว่า “ไม่เสียชาติเกิดที่ได้บวช” ได้อะไรมากกว่าที่คิดไว้ ทั้งแนวคิด วิถีการใช้ชีวิต คนที่บวชแล้วตั้งใจศึกษาร่ำเรียน สึกออกมารับรองได้ว่าเปลี่ยนเป็นคนละคนแน่นอน
นี่เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดนานาชาติ ในงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับ 3 รางวัล คือ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี), กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) และรางวัลพิเศษเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ จากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา สำหรับภาพยนตร์ที่มีการเผยแพร่วัฒนธรรมดีเด่น
สันติ-วีณา เคยถูกนำมาสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2519 เขียนบทโดย มารุต กำกับและอำนวยการสร้างโดย สันต์ เปสตันยี (ลูกชายของ รัตน์ เปสตันยี) แต่มันเป็นไปได้ยาก ที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ใหม่ให้ยอดเยี่ยมเท่ากับหรือดีกว่าของเดิม
ถ้าคุณเป็นคนไทย และนับถือพุทธศาสนา นี่เป็นหนังที่คุณสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ถ้าไม่ นี่น่าจะเป็นหนังที่มีความพิศวง ยากจะเข้าใจ แต่มีความน่าค้นหา ข้อสรุปของพวกเขาจะเป็นเรื่องของ จิตวิญญาณ, การตอบแทนบุญคุณ และ การเสียสละ แต่คนไทยควรจะเข้าใจได้ ว่าทางพุทธเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การปล่อยวาง’
แนะนำหนังกับคนที่กำลังเสียใจเพราะอกหัก ถูกแฟนทิ้ง… นี่ไม่ได้ประชดให้ไปบวชนะครับ แต่อยากให้คุณเห็นถึงคนสมัยก่อน พ่อแม่เผด็จการขนาดไหน ลูกหนีออกจากบ้านไม่ยอมแต่งงาน แล้วก็ไปตามล่าจิกหัวกลับ บังคับแบบไม่สนจิตใจของลูกให้แต่งงานกับคนโฉดชั่วที่ไม่ได้รับ คุณโชคดีแค่ไหนแล้วที่เกิดมาในยุคสมัยนี้ มีอิสระเสรี พ่อแม่ไม่เข้มงวด คู่ครองก็เลือกหาเอาเอง เลิกกับคนรักเทียบไม่ได้กับตอนวีณาอกหักสักนิด ยังมาทำดัดจริตเสียใจแทบเป็นแทนตาย มันยอมรับได้ที่ไหนกัน
แนะนำอย่างยิ่งกับคนที่กำลังจะบวช ที่ผมแนะนำนี้ไม่ใช่เพราะหนังมีฉากบวชตอนท้ายนะครับ แต่อยากให้มองถึงสาเหตุ ทำไมสันต์ถึงบวช เขาสามารถฉุดวีณาแล้วไปหนีไปอยู่ด้วยกันก็ได้แต่ทำไมไม่ทำ ถ้าคุณเข้าใจถึงแก่นหนังเรื่องนี้ การบวชของคุณน่าจะมีค่ามากแน่ๆ
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งครอบครัว
Leave a Reply