Saving Private Ryan (1998)
: Steven Spielberg ♥♥♥♡
ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเหตุการณ์จริง เมื่อกองทัพสหรัฐตัดสินใจเรียกพลทหารนายหนึ่ง ที่พี่น้องเสียชีวิตหมดแล้วกลับบ้าน, ซึ่งภารกิจของหนังเรื่องนี้ นำแสดงโดย Tom Hanks ตั้งคำถามว่า มันคุ้มแล้วหรือกับการที่ทหารยอดฝีมือ 8 นาย ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือปกป้องพลทหารเพียงคนเดียว
ถึงเรื่องราวจะเป็นเชิงตั้งคำถามว่า ‘คุ้มค่าหรือไม่กับการช่วยเหลือพลทหาร Ryan?’ แต่ตัวหนังกลับนำทางผู้ชมให้เกิดความคิดรู้สึก คุ้มค่าอย่างแน่นอน นี่ไม่ใช่ลักษณะของหนัง Propaganda ชวนเชื่อหรอกหรือ?
Steven Spielberg พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์ ก่อนหน้าที่จะสร้าง Saving Private Ryan มีผลงานเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้วหลายเรื่อง อาทิ 1941 (1979), Empire of the Sun (1987), Schindler’s List (1993) ต่อจากหนังเรื่องนี้ก็ยังมีมินิซีรีย์ Band of Brothers, The Pacific ฯ เคยให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 บอกว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในรอบศตวรรษ
“I think that World War II is the most significant event of the last 100 years; the fate of the baby boomers and even Generation X was linked to the outcome. Beyond that, I’ve just always been interested in World War II.”
Spielberg เกิดปี 1946 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเพียงปีเดียว แม้จะไม่ได้ผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก แต่ก็เติบโตขึ้นในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากยุคสมัยนั้น และพ่อของเขาเองก็เป็นอดีตทหารผ่านศึกมา ความสนใจใน WW2 คงถือเป็นการแสวงหารากเหง้า Generation ของตนเอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่าง
เมื่อ 1994, Robert Rodat นักเขียนบทละคร เดินทางไปท่องเที่ยว Port Carbon, Pennsylvania พบเห็นอนุสรณ์สถานแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับบุตรชายทั้ง 4 ของ Agnes Allison ที่เสียชีวิตระหว่างสงครามกลางเมือง (American Civil Wars) เธอได้เขียนจดหมายถึงปธน. ขณะนั้น Abraham Lincoln ร้องขอให้อย่าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้กับครอบครัวอื่นอีก, Rodat เกิดความสนใจเรื่องราวลักษณะนี้มาก แต่เขามีความสนใจสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่า จึงทำการค้นหาข้อมูลจนพบเรื่องของสี่พี่น้อง Niland สัญชาติอเมริกัน เชื้อสาย Irish อาศัยอยู่ที่ Tonawanda, New York ประกอบด้วย
– พี่คนโต Edward Niland ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศ ฝูงบิน 434 ลูกเรือเครื่อง B-25 ปฏิบัติหน้าที่ในประพม่า
– Preston Niland ประจำการอยู่กรมทหารราบที่ 22 แห่งกองพลทหารราบที่ 4
– Robert ‘Bob’ Niland ประจำการอยู่ในกรมพลร่มที่ 505 แห่งกองพลพลร่มที่ 82
– น้องคนสุดท้อง Frederick ‘Fritz’ Niland ประจำการกองร้อย H ของกรมพลร่มที่ 501 แห่งกองพลพลร่มที่ 101
กองทัพสหรัฐเมื่อได้รับแจ้งข่าวเครื่องบินตกของพี่คนโต และยืนยันการเสียชีวิตของพี่อีกสองคน ทำให้ตัดสินใจเรียก Fritz กลับบ้าน ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม แต่เมื่อชายหนุ่มได้รับแจ้งความจำนงถูกส่งตัวกลับ เขายังคงมีความต้องการปฏิบัติหน้าที่ต่อ จึงได้ทำงานเป็น Military Police ที่ New York จนกระทั่งปลดประจำการ และภายหลังสงครามสิ้นสุดถึงค่อยทราบข่าวว่า พี่คนโตยังมีชีวิตอยู่ ตกเป็นเชลยค่ายกักกันของทหารญี่ปุ่นในประเทศพม่า (สงสัยกลายเป็นแรงงานสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว)
เกร็ด: ครอบครัว Niland มีพี่น้อง 6 คน อีกสองคือพี่สาวคนโต และพี่สาวคนที่ 4
Rodat นำเสนอโปรเจคนี้ต่อโปรดิวเซอร์ Mark Gordon เกิดความประทับใจอย่างมาก ส่งต่อให้ Tom Hanks และไปถึงมือ Steven Spielberg หลังเสร็จจาก The Lost World: Jurassic Park (1997) และ Amistad (1997)
ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด (Operation Overlord) หรือยุทธการบุกครองนอร์ม็องดี (Invasion of Normandy/Battle of Normandy) ส่วนหนึ่งของการรบในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา ยกกำลังพลทหารประมาณ 3 ล้านนาย ข้ามช่องแคบอังกฤษ ขึ้นบกที่หาดนอร์ม็องดี ประเทศฝรั่งเศส เป้าหมายเพื่อปลดปล่อยยุโรปตะวันตกจากการยึดครองของนาซี
นำโดยมีพลเอก Dwight David Eisenhower ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสัมพันธมิตร และพลเอก Bernard Law Montgomery ผู้บัญชาการภาคพื้นดินมีอำนาจบังคับบัญชาด้านยุทธการ กำหนด 5 หาดของนอร์มังดีที่ทำการยกพลขึ้นบก ประกอบด้วย Utah, Omaha, Gold, Juno และ Sword
เริ่มต้นตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 5 มิถุนายน 1944 พลร่มและเครื่องร่อนได้ลงหลังแนวรบ เพื่อตัดกำลัง คุมสะพาน ไม่ให้พวกเยอรมันที่อยู่หลังแนวรบส่งกำลังมาช่วยเหลือหน้าแนวได้ทัน (ตัวละคร James Ryan ถือเป็นหนึ่งในพลร่มนั้น)
เช้าตรู่วันที่ 6 มิถุนายน 1944 หรือวัน D-Day เวลา 6.30 น., กองทัพเรือขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ยาตราเข้ามาในอ่าวนอร์ม็องดี บนหาดมีเครื่องกีดขวางมากมาย ทำให้แม้แต่เรือเล็กก็ไม่สามารถเข้าหาตัวหาดได้ แถมเมื่อยกพลขึ้นไปบนหาด ถูกต่อต้านโดยปืนใหญ่ ปืนกลหนัก เครื่องยิงลูกระเบิด และปืนต่อต้านรถถังเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีรั้วลวดหนาม คูดักรถถัง และกับระเบิดบนหาด ทำให้เกิดการเสียชีวิตทหารมากมายก่อนจะยึดหัวหาดได้ โดยเฉพาะที่หาดโอมาฮ่า (Omaha Beach) ถือว่ามีความสูญเสียมากที่สุด (กลุ่มของพระเอก ก็ดันขึ้นบกที่หาดนี้ด้วยนะ)
การสู้รบในปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ดนี้ ดำเนินต่อเนื่องไปอีก 2 เดือน จนกระทั่งปลดปล่อยกรุงปารีสจากเยอรมันได้สำเร็จ ตอนปลายของเดือนสิงหาคม 1944 ถือเป็นการปิดฉากสนามรบนี้ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร
เกร็ด: ก่อนหน้า Saving Private Ryan มีหนังอีก 2 เรื่องที่พูดถึงเหตุการณ์วัน D-Day คือ D-Day the Sixth of June (1956) และ The Longest Day (1962)
การคัดเลือกนักแสดง ผู้กำกับ Spielberg มีความต้องการคนที่มีความ’เหมือน’กับบทที่จะเล่น นั่งดูฟุตเทจ Newsreel ข่าวสมัยสงครามโลก และเลือกนักแสดงจากใบหน้าที่มีความคล้ายคลึงกัน
“You know, the people in World War II actually looked different than people look today”
Thomas Jeffrey Hanks (เกิดปี 1956) นักแสดงสัญชาติอเมริกา ป๊ะป๋าร่างใหญ่ใจดี นักวิจารณ์มักเรียกเขาว่า Mr. America เกิดที่ Concord, California สมัยเด็กเป็นคนที่เข้ากับใครไม่ค่อยได้เสียเลย
“I was a geek, a spaz. I was horribly, painfully, terribly shy. At the same time, I was the guy who’d yell out funny captions during filmstrips. But I didn’t get into trouble. I was always a real good kid and pretty responsible.”
มีความชื่นชอบการแสดงตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียนโรงเรียนสอนการแสดงที่ Chabot College แล้วย้ายไป California State University สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกกลางคันเพื่อกลายมาเป็นนักแสดงอาชีพเต็มตัว, ปี 1979 ย้ายมาอยู่ New York City ได้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก เป็นแนว Slasher Film ทุนสร้างต่ำ He Knows You’re Alone (1980) สมทบในภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง Mazes and Monsters เริ่มมีชื่อเสียงจาก Splash (1984) ของผู้กำกับ Ron Howard ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง จนกระทั่งคว้า Oscar: Best Actor ได้จากหนัง 2 เรื่อง สองปีติดกับ Philadelphia (1993), Forrest Gump (1994) ผลงานอื่นที่ดังๆ อาทิ Big (1988), Sleepless in Seattle (1993), Apollo 13 (1995), You’ve Got Mail (1998), The Green Mile (1999), Cast Away (2000), Road to Perdition (2002), The Da Vinci Code (2006) ฯ ให้เสียงพากย์ The Polar Express (2004) และ Toy Story Series
รับบท Captain John H. Miller หัวหน้าหน่วยรบที่ 2nd Ranger Battalion, ก่อนมาสมัครทหารทำงานเป็นครูสอนหนังสือ ไม่น่าเชื่อกลายเป็นผู้นำหน่วย Ranger ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดดเด่นเรื่องการวางแผน (บุ๋น) เป็นที่พึงพาไว้วางใจของลูกน้องในสังกัด รักมิตรสหาย ทั้งยังเผื่อแผ่เมตตาจิตต่อศัตรู แสดงถึงความมีมนุษยธรรมประจำใจ, มือที่สั่นระริกรัว สะท้อนความเจ็บปวดรวดร้าว หวาดกลัวจนตัวสั่น เป็นความรู้สึกที่เก็บซ่อนลึกอยู่ในใจ เพราะตัวจริงของเขาอาจไม่ได้เข้มแข็งดั่งภาพลักษณ์ที่เห็น แค่มีสติมากพอสามารถควบคุมตนเอง แต่ใช่ว่าร่างกายจะสามารถทนต่อสภาวะนี้อยู่ได้นาน
ภาพลักษณ์ของ Hanks ถือว่าตรงกับตัวละครมาก ไม่ใช่ผู้มีร่างกายบึกบึนแข็งแกร่ง (พุงพ้วยเชียว) แต่ความเฉลียวฉลาดไหวพริบเป็นเลิศ ยิ่งพอรับรู้ว่ามีพื้นหลังเป็นครูสอนหนังสือจะรู้สึกว่าใช่ การฆ่าคนของเขาไม่ได้กระทำด้วยสันชาติญาณแต่ด้วยการมีสติ ขณะมือสั่นผู้ชมก็สามารถรับความรู้สึกได้ หมอนี่ก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหวาดหวั่นกลัว แม้ไม่ใช่การแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Hanks แต่ถือว่าระดับ high profile แน่นอนย่อมต้องได้เข้าชิง Best Actor แทบทุกสถาบัน
เกร็ด: ปี 2006, Tom Hanks ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น U.S. Army’s Ranger: Hall of Fame ในฐานะสมาชิกกิตติมศักดิ์ นั่นเพราะการรับบท John Miller จากหนังเรื่องนี้ ได้สร้างภาพลักษณ์ Ranger ที่ดีต่อสายตาชาวอเมริกัน
Matthew Paige Damon (เกิดปี 1970) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Cambridge, Massachusetts ชื่นชอบการแสดงตั้งเด็ก เข้าเรียนโรงเรียนเดียวกับ Ben Affleck จนกลายเป็นเพื่อนสนิท โตขึ้นเข้าเรียน Harvard University เหลือเทอมสุดท้ายลาออกมาเป็นนักแสดง ผลงานเรื่องแรก Geronimo: An American Legend (1993)
รับบท Private Ryan พลทหารร่มที่ลงผิดจุด ตัวเขาขณะนั้นประจำอยู่ที่ Ramelle (เมืองสมมติ) ป้องกันไม่ให้ทหารกองหนุนของเยอรมัน ยกทัพไปโจมตีนอร์มังดี, หลังจากรับทราบว่าพี่ชายทั้ง 3 ของตนเสียชีวิตไปแล้ว ก็มิได้สติแตกร้องไห้อยากกลับบ้าน ตรงกันข้ามกลับต้องการปฏิบัติหน้าที่ทหารของเองให้สำเร็จลุล่วงอย่างเต็มความสามารถ
Spielberg มีความสนใจ Damon หลังเห็นการแสดงใน Courage Under Fire (1996) แต่ตัดสินใจไม่เลือกเพราะรู้สึกว่าผอมเกินไป จนได้พบกับ Robin Williams ที่แนะนำให้รู้จักในกองถ่าย Good Will Hunting (1997) จึงเปลี่ยนการตัดสินใจ นี่ก่อนที่ Damon จะได้เข้าชิง Oscar และคว้าสาขา Best Writing ได้เสียอีกนะครับ ซึ่งการเล่นหนังเรื่องนี้ทำให้เขาดังพลุแตกเลยละ
เกร็ด: ฉากที่ Ryan เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของพี่ชาย นั่นเป็นการดั้นสดของ Damon ไม่มีในบท ซึ่งก็ไม่ได้มีความตลกขบขันอะไร แต่เพราะมันเข้ากับบรรยากาศสถานการณ์ขณะนั้นเป็นอย่างดี Spielberg ชอบมากๆจึงตัดสินใจใส่ไว้ในหนังทั้งหมด
ผมมีความเพลิดเพลินกับการเห็นนักแสดงหน้าคุ้นๆหลายคน อาทิ Vin Diesel รับบท Adrian Caparzo, เห็นว่า Spielberg เลือกเขาหลังจากเห็นการแสดงเรื่อง Strays (1997) [Diesel เป็นผู้กำกับเองด้วย] ซึ่งได้มอบค่าตัวสูงถึง 100,000 เหรียญ ทั้งๆที่ยังไม่ใช่ดารามีชื่อ แต่เป็นบทบาทสะเทือนใจผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง
Jeremy Davies (จดจำได้จากซีรีย์ Lost) รับบท Timothy E. Upham นักแปลภาษาผู้ขี้ขาดเขลา แค่หน้าที่ง่ายๆอย่างวิ่งส่งกระสุนปืนยังไม่สามารถก้าวท้าวออกในสนามรบ คงมีคนหวังว่าหมอนี่จะถูกยิงตายไวๆ น่าขายหน้าสิ้นดี แต่ใครกันจะไปเชื่อว่าช่วงท้ายตอนจบ เขาสามารถเอาชนะความกลัวของตนเอง กระทำสิ่งที่แม้แต่ผมก็คาดไม่ถึง (เผื่อคนไม่สังเกต ทหารที่ Upham ฆ่าตาย คือคนที่พวกเขาปล่อยไประหว่างทาง)
Nathan Fillion รับบท James Frederick Ryan หรือ Ryan ตัวปลอม, เชื่อว่าหลายคนคงคาดเดาพอจะได้ว่าหมอนี่ไม่น่าใช่ Ryan การใส่เข้ามาให้เข้าใจผิดถือเป็นมุกชวนอมยิ้มให้ผ่อนคลาย หลายคนคงคาดไม่ถึง Nathan Fillion ว่าที่พระเอกสุดเท่ห์จากซีรีย์ Firefly (2002-2003), Castle (2009-2016) เนี่ยนะ ร้องไห้ขี้มูกโป่ง
Paul Giamatti รับบท Sergeant Hill หนึ่งใน Paratrooper พลร่ม พบเจอกันกลางทาง เป็นคนพา Miller ไปหากัปตัน… (อะไรสักอย่าง) เพื่อชี้ทางต่อ
Bryan Cranston รับบท Colonel I.W. Bryce หนึ่งในเจ้าหน้าที่แผนก War Department ไม่ได้มีบทอะไรหรอก แค่เห็นหน้าพี่แกวัยกลางคนแล้ว ไม่คิดว่าจะมีความหล่อใช้ได้เลย
นักแสดงหลักทั้งหลาย (เว้น Matt Damon) ประกอบด้วย Tom Hanks, Edward Burns, Barry Pepper, Vin Diesel, Adam Goldberg และ Giovanni Ribisi ผู้กำกับได้ว่าจ้างอดีตทหารเรือ Dale Dye พาพวกเขาเข้าค่าย Boot Camp ฝึกซ้อมร่างกาย ให้เหมือนการฝึกทหารสมัยก่อน, แต่ความตั้งใจของ Spielberg จริงๆนั้น ไม่ได้ต้องการให้พวกเขาบึกบึนหรือเรียนรู้เทคนิคอะไรของทหาร แค่ให้เกิดความเคารพนับถือ เข้าใจบุคคลที่กลายเป็นทหารต้องมีลักษณะอย่างไร
“I wanted them to respect what it was like to be a soldier.”
เห็นว่า Tom Hanks เคยฝึกกับ Dye มาแล้วตอนถ่ายทำหนังเรื่อง Forrest Gump (1994) จึงแทบไม่มีปัญหาอะไร รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่คุ้มค่าเสียเหลือเกิน
“The other guys, I think, were expecting something like camping in the woods, and maybe learning things while sitting around the campfire.”
ขณะที่ Matt Damon ไม่รู้ทำไม Spielberg ถึงไม่ส่งไป พอรู้เรื่องนี้เข้าก็แอบต่อว่าผู้กำกับ เพราะตัวเองได้พลาดประสบการณ์ชีวิตอันน่าสนใจมากๆนี้ไป
เกร็ด: FUBAR เป็นคำแสลงว่า Fucked Up Beyond All Recognition (เลวร้ายเกินจดจำ) คล้องกับภาษาสเปน Fomare ที่มาจาก FOllado y MAchacado sin REmedio แปลว่า fucked and crushed without a remedy (เละเป็นโจ๊กเกินเยียวยา)
ถ่ายภาพโดย Janusz Kamiński ตากล้องสัญชาติ Polish, Spielberg ค้นพบตากล้องคนนี้เมื่อปี 1991 หลังจากได้เห็นผลงานภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง Wildflower เริ่มต้นติดต่อให้ถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง Class of ’61 ที่ตนเองเป็นโปรดิวเซอร์ ก่อนมามีผลงานภาพยนตร์ร่วมกันเรื่องแรกคือ Schindler’s List (1993) คว้า Oscar: Best Cinematography ได้เป็นตัวแรก และได้รางวัลนี้อีกครั้งจาก Saving Private Ryan
ฉากแรกและท้ายสุดของหนัง Normandy American Cemetery and Memorial ตั้งอยู่ที่ Colleville-sur-Mer, Normandy ประเทศฝรั่งเศส เป็นอนุสรณ์สถานและหลุมฝังศพ (จำลอง) เพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารอเมริกันทั้งหลายที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง, กางเขนที่ชายชรา Ryan (รับบทโดย Harrison Young) และครอบครัวหยุดยืนดูอยู่ ขึ้นชื่อว่า John Miller นั่นไม่ใช่ของจริงนะครับ, Spielberg ได้แรงบันดาลใจฉากนี้มาจากตอนที่ถ่ายทำ Schindler’s List (1993) เดินผ่านสุสานสถานที่คล้ายกันนี้ แล้วเห็นชายสูงวัยมากับครอบครัว ทรุดลงร้องไห้โฮตรงกางเขน ไม่ต้องบอกก็รู้คงเป็นพี่น้องญาติสหายคนสนิท บุคคลสำคัญของชายคนนี้เป็นแน่
หนังใช้การถ่ายทำแบบเรียงลำดับต่อเนื่องไปทีละฉาก จุดประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นให้เหล่านักแสดงและตัวละคร ปฏิกิริยาความรู้สึกหลังจากได้พบการสูญเสียเพื่อนร่วมทีม จนกระทั่งได้พบกับ Ryan จะเกิดความต่อเนื่องชัดเจน มีความสมจริงจังมากขึ้น
25 นาทีแรกของหนัง ยกพลขึ้นบกที่หาด Omaha, Normandy เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยินยอมให้ถ่ายทำสถานที่จริง จึงยกพลไปถ่ายที่ Curracloe, County Wexford, ทางตอนใต้ของประเทศ Ireland หมดงบเฉพาะฉากนี้ 11 ล้านเหรียญ ใช้นักแสดงประกอบกว่า 1,000 คน (ยืมมาจากกองทัพของ Ireland) ยุทโธปกรณ์หลายชิ้นคือของจริงจากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง รวมเวลาถ่ายทำฉากนี้ฉากเดียว 4 สัปดาห์, งานภาพของฉากนี้ส่วนใหญ่ถ่ายทำด้วยกล้องมือถือ Hand Held Camera มีการเล่นเอ็ฟเฟ็กเพิ่มขณะถ่ายทำ อย่างฉากที่มีการระเบิด ได้นำสว่านเจาะติดกับกล้องถ่ายภาพ พอเริ่มถ่ายทำก็เปิดเครื่องทำให้เลนส์เกิดการสั่นสะเทือน ภาพที่ได้จึงมีลักษณะกระชาก/กระตุกรุนแรง
การถ่ายภาพที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายอลม่าน ชวนให้สับสนมึนหัวดูไม่ค่อยจะรู้เรื่อง นี่เป็นการนำเสนอจำลองภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสงคราม ผู้ชมสามารถรับรู้สัมผัสได้เสมือนกลายเป็นส่วนหนึ่ง แบกปืนวิ่งหลบฝ่าดงกระสุนในสนามรบนั้น, ด้วยเหตุนี้ ฉากแรกของหนังจึงได้รับการยกย่องว่ามีความยิ่งใหญ่สมจริง อลังการที่สุดในหนังแนวสงคราม ตั้งแต่เคยมีการสร้างมา
“Early on, we both knew that we did not want this to look like a Technicolor extravaganza about World War II, but more like color newsreel footage from the 1940s, which is very desaturated and low-tech.”
หนังมีการลด Saturation ความสว่างของแสงลงประมาณ 60% ให้ดูเหมือนภาพข่าวหนัง (newsreel) จากยุค 40s และมีสัมผัสความแห้งแล้ง หดหู่ หิวน้ำ, เน้นโทนสีน้ำตาล/เทา/ขาว แทบจะไม่เห็นสีสดอย่าง น้ำเงิน, ชมพู, แดง (นอกจากเลือด) ฯ
“In this way, we attained a certain staccato in the actors’ movements and a certain crispness in the explosions, which makes them slightly more realistic.”
ตัดต่อโดย Michael Khan, หนังยังใช้วิธีการตัดต่อฟีล์มด้วยมืออยู่นะครับ เห็นว่าเป็นเรื่องสุดท้ายที่ใช้วิธี non-digital แล้วคว้า Oscar สาขา Best Edited (ปัจจุบันใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วยการตัดต่อหมดแล้ว)
หนังสงครามมักมีการตัดต่อที่รวดเร็ว ใช้ความฉับไวหลบซ่อน Special Effect หรือระเบิดตูมตามเห็นเศษชิ้นเนื้อกระเด็นกระดอน เพราะถ้าแช่ภาพทิ้งไว้นานๆ ผู้ชมเห็นเต็มตาชัดๆ คงได้มีคนวิ่งไปอ๊วกแน่ (ผิดกับหนัง Horror ที่มักแช่ฉากแหวะๆพวกนี้ไว้นานๆ) แต่เทคนิคนี้กอปรกับงานภาพที่ฉวัดเฉวียนรวดเร็ว อาจทำให้หลายคนสับสนมึนงงดูไม่รู้เรื่อง ขาดความต่อเนื่อง … แต่ไม่เป็นไร เบื้องต้นแค่เข้าใจอารมณ์ของหนังได้เป็นพอ
ลำดับของเรื่องราว นำเสนอผ่านมุมมองของ John Miller เป็นหลัก แต่หลายครั้งทีเดียวที่จะเปลี่ยนไปในสายตาคนอื่น อาทิ Timothy Upham (หมอนี่หลายครั้งทีเดียว), Richard Reiben และ James Ryan ทั้งสามนี้คือผู้รอดชีวิตจนถึงตอนจบของหนัง
ผมประทับใจ direction ฉากหนึ่ง ระหว่างทางได้พบเจอกับป้อมปืนกลของทหารเยอรมัน จริงๆจะทำเป็นไม่สนใจเลยก็ได้แต่ Miller ยืนกรานที่จะต้องจัดการเคลียร์ซุ้มปืนนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการดักซุ่มยิงสร้างความเสียหายต่อทหารหน่วยอื่นที่ผ่านมาโดยไม่รู้ตัว, ซึ่งระหว่างปฏิบัติการหนังจะใช้มุมมองของ Upham นักแปลภาษาผู้ขาดเขลาซึ่งไม่ได้มีหน้าทีอะไร ยืนบื้อเป็นกองหนุนเบื้องหลัง สีหน้าของตัวละคร…เกิดคำบรรยาย… ฉากนี้เราจะไม่เห็นการยิงต่อสู้ประการใด (ประหยัดงบได้มากเชียว) มีเพียงเสียงปืน Sound Effect และพอได้รับชัยชนะก็เป็นเสียงตะโกนเรียก, การไม่เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นนี้ คือจินตนาการลึกล้ำของภาพยนตร์
เพลงประกอบโดย John Williams, หนังมีเพลงประกอบเปิดคลอไปตลอดทั้งเรื่อง แต่คุณจะได้สังเกตฟังหรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่โดนกลบด้วยเสียง Sound Effect ที่มีความสมจริงดังยิ่ง (เพราะใช้เสียงของอาวุธนั้นจริงๆ จากสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งเมื่อใดการต่อสู้สิ้นสุด บทเพลงแห่งความรู้สึก สะท้อนสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ ชัยชนะ/พ่ายแพ้ ผลลัพท์ของสงคราม มันช่างโหยหวน เจ็บปวด รวดร้าว
หนังสงครามโดยมากแล้วมักมี 2 ประเภท หนึ่งคือนำเสนอความสำคัญ ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ (แนวชวนเชื่อ) สองคือนำเสนอความโหดร้าย ผลกระทบที่เกิดขึ้น (แนวต่อต้าน) ซึ่ง Saving Private Ryan มีพยายามที่จะเข้าพวกทั้งสองประเภท (แต่ผลลัพท์ค่อนไปทางชวนเชื่อ) กล่าวคือ ยกย่องวีรบุรุษสงคราม (ชวนเชื่อ) และตั้งคำถามไม่เห็นด้วย (เชิงต่อต้าน) เล่าเรื่องผ่านความเป็น Personal ส่วนตัวของพลทหารนายหนึ่ง ชีวิตเล็กๆก็มีคุณค่าความสำคัญเทียบเท่าชัยชนะทั้งสนามรบ
มันคงเป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ ถ้านาย Ryan แท้จริงเป็นแบบตัวปลอมกลางเรื่อง ร้องไห้ขี้แง อ่อนแอ งอกง่อย ไม่ได้มีคุณสมบัติควรค่าอะไรที่น่าปกป้องเสียสละแม้แต่น้อย แต่กลับทำให้เหล่าทหารที่มาติดตามตัวต้องสูญสิ้นชีวีนไปหลายราย แบบนี้น่าจะตอบโจทย์ของหนังได้ตรงกว่า ‘ชัยชนะทางจิตใจ สำคัญกว่าการเสียสละของบุคคล’ หรือเปล่า?
การเดินทางเพื่อค้นหาวีรบุรุษ เริ่มจากตั้งคำถามคาดหวัง ‘This Ryan better be worth it.’ ภารกิจงมเข็มค้นหา Ryan ไม่มีใครล่วงรู้จนกว่าจะได้พบเจอ ว่าชีวิตชายคนนี้จะคุ้มค่ากับการเสียสละหรือเปล่า ระหว่างนั้นคือการเดินทางเพื่อท้าพิสูจน์จิตใจ เหมือนการหลับตาก้าวเดินไปข้าหน้า ทั้งๆที่รู้ว่าทางซ้ายขวาสองฝั่งเป็นเหวลึก ยังจะยินยอมแลกกับทุกสิ่งอย่าง เสี่ยงชีพเพื่อเป้าหมายที่มองไม่เห็นนี้ได้หรือเปล่า
เราสามารถเปรียบ Ryan แทนด้วยชาติอเมริกา ก็จะพบว่าหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่การหาทางช่วยเหลือพลทหารนายหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเหมารวมถึงการปกป้องรับใช้เสียสละเพื่อชาติบ้านเกิดของชาวอเมริกัน มองแบบนี้การช่วยชีวิต Ryan จะมีความสำคัญเทียบเท่าชัยชนะของสงคราม
เพราะการที่หนังมีลักษณะเชิดชูวีรบุรุษ (คือทำให้ Ryan เป็นบุคคลควรค่าแก่การเสียสละปกป้อง) นี่เป็นการเจาะจงเข้าไปที่ตัวบุคคล ทำให้ใครก็ตาม ผู้ชมสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ง่าย โดยเฉพาะกับชาวอเมริกันทั้งหลายที่ผ่านช่วงเวลานั้นมา (หรืออาจผ่านสงครามอื่นๆ เช่น เวียดนาม, อิรัก ฯ) เห็นว่าบางคนสามารถจดจำชื่อทุกตัวละครได้ตั้งแต่รับชมครั้งแรก เพราะความรู้สึกผูกพันเกิดเป็นสายใย (Band of Brothers) ที่มองไม่เห็น
ปกติแล้วการสงคราม ไม่มีใครที่ไหนจะมาให้ความสำคัญกับคนๆหนึ่งอย่างแน่นอน แต่หนังได้ทำให้(ชาวอเมริกัน)ทุกคน รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มีคุณค่า มีความสำคัญ นี่แหละครับคือที่ผมมองว่ามีลักษณะของการชวนเชื่อ (Propaganda) ทำให้ผู้ชมรู้สึกฮึกเหิม ภาคภูมิใจในชาติกำเนิด ต้องการจะลุกขึ้น เสียสละ กระทำอะไรบางอย่าง … ผมขอสร้างคำใหม่ขึ้นมาเลยแล้วกันว่า ‘Modern Propaganda’ หนังชวนเชื่อยุคใหม่
ด้วยเหตุนี้หนังจึงถูกใจใครต่อใครมากมาย (โดยเฉพาะผู้ชมอเมริกัน) ประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม ได้รับการยกย่องยิ่งใหญ่เกินหน้าเกินตา ถึงขนาดหลายคนมองว่า คือหนังสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก!
นี่เป็นความคิดเห็นของผมเอง: โลกยุคนี้ไม่มีอะไรควรค่าแก่การเสียสละระดับนั้นอีกต่อไปแล้วนะครับ ถ้าเป็นอย่างพระมหากษัตริย์ไทยสมัยก่อนที่ปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ที่รักของปวงชน ประเทศถูกศัตรูต่างชาติเข้ามารุกราน แบบนี้ตายเพื่อชาติกี่ครั้งก็ไม่เสียดาย แต่โลกปัจจุบัน กับผู้นำที่เต็มไปด้วยความคอรัปชั่นโกงกิน เห็นแก่ตัว ไร้ค่า อุดมการณ์เสียสละเพื่อชาติเป็นของคนประเภทที่ปิดหูปิดตา ขวาจัดสุดโต่งเท่านั้น ถึงจะยังเชื่อมั่นว่าการเสียสละเพื่อชาติ ไม่ถือเป็นการเสียชาติเกิด
ด้วยทุนสร้าง $70 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอเมริกา $265.3 ล้านเหรียญ รวมทั้งโลก $481.8 ล้านเหรียญ สูงที่สุดแห่งปี, เข้าชิง Oscar 11 สาขา กวาดมา 5 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actor (Tom Hanks)
– Best Original Screenplay
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Film Editing ** ได้รางวัล
– Best Art Direction
– Best Makeup
– Best Sound Mixing ** ได้รางวัล
– Best Sound Effects Editing ** ได้รางวัล
– Best Music, Original Dramatic Score
ด้วยความที่พลาด Best Picture ไปให้กับ Shakespeare in Love (1998) อย่างน่ากังขา ทำให้หนังได้รับการพูดถึงอย่างมากเมื่อกาลเวลาผ่านไป กระนั้นก็คงมีแต่ชาวอเมริกันเท่านั้นแหละที่ยกย่องพูดถึง สังเกตจากกาลเวลาผ่านไป หนังไม่เคยโผล่ติดในชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสากลอย่าง Sight & Sound, Cahiers du cinéma ฯ แม้แต่น้อย
ในปีเดียวกันนี้ มีหนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองอีกเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่าไม่แพ้กัน The Thin Red Line (1998) ในแง่ของเทคนิคภาพยนตร์และความสมจริง Saving Private Ryan โดดเด่นเหนือกว่ามาก แต่แนวคิด แฝงปรัชญา ความหมายของสงคราม ไม่มีทางเทียบได้กับหนังของ Terrence Malick อยู่แล้ว ซึ่งส่วนตัวผมค่อนข้างคลั่งไคล้หนังเรื่องนั้นพอสมควร เรียกความสวยงามระดับวิจิตร ‘philosophy wars film’ นี่ทำให้ผมมอง Saving Private Ryan ว่าคือ ‘cheap entertainment (but expensive)’ ไปโดยปริยาย
แนะนำกับคอหนังบ้าสงคราม Hollywood ศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะพันธมิตรยกพลขึ้น Normandy, ชื่นชอบความอลังการงานสร้าง ภาพถ่ายลุยๆเละ โปรดักชั่นสมจริง, แฟนๆป๋า Tom Hanks, Matt Damon ฯ และผู้กำกับ Steven Spielberg ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความรุนแรงของสงคราม
Reblogged this on news2line and commented:
ดีครับ