Schindler’s List (1993) hollywood : Steven Spielberg ♥♥♥♥

Oskar Schindler จากชายที่สนแต่ธุรกิจเงินทอง แสวงหาผลประโยชน์จากเชลยสงครามชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น ภาพยนตร์ Masterpiece ของ Steven Spielberg เรื่องนี้ก็ไม่ได้พยายามชี้แจงแถลงไข แต่ทำให้เขาตัดสินใจ ‘โกง Hitler’ ให้ได้มากที่สุด, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Schindler’s List คือภาพยนตร์เรื่อง ‘ต้องห้าม’ ที่ผมตอนอายุ 18 รับชมแล้วไม่ได้หลับไม่ได้นอน ทั้งภาพและความน่าหวาดสะพรึงกลัว ตราฝังติดตรึงอยู่ในห้วงจิตวิญญาณ ตั้งใจคิดว่าชาตินี้จะไม่หวนย้อนกลับมารับชมหนังอีก แต่กาลเวลาชาตินั้นของผมก็ได้เคลื่อนผ่านหลงลืมเลือนไปหมดสิ้นแล้วละ ตระเตรียมกายใจไว้พร้อม กินข้าวให้น้อยท้องไส้จะไม่ปั่นป่วน นั่งชมผ่อนคลายยามบ่าย แต่ … มันก็ไม่ได้เลวร้ายถึงระดับคาดคิดไว้

สงกะสัยว่าภูมิคุ้มกันของตนเองคงสูงเสียดฝ้าแล้วสินะ ไหนจะ Night and Fog (1956), Apocalypse Now (1979), Cannibal Holocaust (1980) ฯ อะไรอีกละที่เต็มไปด้วยความขยะแขยงสยดสยอง ดูหนังแนวโหดๆ Horror เลือดสาดมามาก สักวันหนึ่งก็เริ่มชินด้านชา เห็นเป็นความธรรมดาสัจธรรมของชีวิตมีเกิดและตาย

ถึงไร้ซึ่งความรู้สึกแต่ผมก็ครุ่นคิดตามตลอดนะ โอ้ละหนอกรรมใด ถึงทำให้ชาวยิวต้องพานประสบพบเคราะห์ร้ายปานฉะนี้? นี่ไม่ต้องถึงขั้นระลึกชาติ ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็น่าจะให้คำตอบกันได้ ล้วนจากผลกรรมปางเก่า ชาวยิวชาตินี้ล้วนต้องเคยเกิดเป็นนาซีมาก่อน กระทำการเข่นฆ่าล้างผู้อื่นจนแทบสิ้นสูญเผ่าพันธุ์ ถึงชาติจึงเกิดสลับกลับกัน นาซีเป็นยิว ยิวเป็นนาซี ย้อนสนองกันและกันที่เคยถูกกระทำไว้

ครุ่นคิดเกิดความเข้าใจได้ประมาณนี้ มันอาจจะทำให้คุณรู้สึกสมเพศน้ำหน้ามากกว่าสงสารเวทนา จากภาพอันน่าหวาดสะพรึงกลัวก็เริ่มสงบจิตปล่อยวางได้ นี่ไม่ใช่อาการตายด้านเย็นชาแต่คือเกิดความเข้าใจในสัจธรรม มันจะทำให้คุณรับชมหนังเรื่องนี้อย่างเป็นกลาง เมื่อนั้นจักพบเห็นบางสิ่งอย่างที่ไม่ใช่อารมณ์ แต่คือวิธีการและไดเรคชั่นของผู้กำกับ Steven Spielberg นี่ไม่ใช่บรรลุสัจธรรมความจริงอะไร แต่คือการเข้าสู่วิถีสูงสุดของงานศิลปะ

สิ่งที่ถือเป็นความ Masterpiece ของหนังเรื่องนี้ คือการนำเสนอแบบ ‘Objective’ ที่ผู้กำกับ Spielberg ใช้วิธีการแบบสารคดี รายงานข่าว ถ่ายทอดภาพและเรื่องราวแบบไม่ใส่อารมณ์ความรู้สึก หรือทัศนคติของตนเองเคลือบแฝงลงไปแบบศิลปิน ขึ้นอยู่กับผู้ชมเองล้วนๆที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว

กระนั้นเราก็ยังมองเห็นลายเซ็นต์ ความตั้งใจของผู้กำกับ Spielberg ติดอยู่ทุกๆกระเบียดนิ้วของหนัง นี่ถือเป็นอีกรูปแบบของความเป็น ‘ศิลปิน’ ที่ก้าวข้ามผ่านแค่ตัวเอง ไปสู่เพื่อมวลมนุษยชาติ

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ เกิดจากหนึ่งในผู้รอดชีวิตสงครามโลกครั้งที่สอง Poldek Pfefferberg เมื่ออพยพครอบครัวย้ายสู่อเมริกา (เปลี่ยนชื่อเป็น Leopold Page) พยายามนำเรื่องราวของ Oskar Schindler วีรบุรุษชาวยิว เผยแพร่ออกสู่สาธารณะให้เป็นที่รู้จัก

เมื่อปี 1963 นำเสนอเรื่องราวนี้ต่อสตูดิโอ MGM ซื้อค่าลิขสิทธิ์สูงถึง $50,000 เหรียญ มีการมอบหมายให้ Howard Kock พัฒนาบทภาพยนตร์ แต่ไม่นานก็ล้มเหลวเพราะอะไรไม่ทราบได้

Pfefferberg ยังคงไม่ย่อท้อ เปิดร้านขายเครื่องหนัง (Leather Shop) อยู่แถว Beverly Hills, Los Angeles เพื่อหวังว่าสักวันจะได้พบเจอนักเขียนหรือผู้กำกับคนไหนเดินเข้ามาซื้อของ แล้วมีความสนใจเรื่องเล่าของเขานี้ กระทั่ง Oskar Schindler เสียชีวิตเมื่อปี 1974 มีโอกาสให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ แต่ก็ยังไร้ซึ่งโอกาส

ประมาณเดือนตุลาคม 1980 นักเขียนนิยายสัญชาติออสเตรเลียน Thomas Keneally ที่เดินทางมาแจกลายเซ็นต์หนังสือ บังเอิญผ่านมาถามราคากระเป๋าทำงานใบหนึ่ง ซึ่งพอ Pfefferberg รับรู้ว่าเขาเป็นนักเขียนจึงเริ่มเล่าเรื่องราวนี้ให้ฟัง เกิดความสนใจจนกลายเป็นนิยายเรื่อง Schindler’s Ark (1982) ทั้งยังขึ้นข้อความอุทิศให้

“who by zeal and persistence caused this book to be written.”

เมื่อนิยายออกตีพิมพ์ Sid Sheinberg ประธานสตูดิโอ Universal พ่อทูนหัวในวงการของ Spielberg มอบหนังสือเล่มนี้ให้ (คงคาดหวังให้กำกับเองเลย) ซึ่งหลังจากอ่านจบเจ้าตัวมีปฏิกิริยาว่า

“It’ll make a helluva story. Is it true?”

แย่งซื้อลิขสิทธิ์ตัดหน้าผู้กำกับ Billy Wilder ไปได้อย่างหวุดหวิด ซึ่งเมื่อ Spielberg มีโอกาสพบเจอ Pfefferberg ให้สัญญาจะสร้างภาพยนตร์ออกฉายในเวลาสิบปี

กระนั้น Spielberg ในวัย 37 รับรู้ตัวเองว่ายังไม่มีศักยภาพมากพอจะสร้างภาพยนตร์ที่มีความละเอียดอ่อนขนาดนี้ จึงเริ่มติดต่อ
– Roman Polanski ผู้กำกับสัญชาติ Polish ที่หลังจากได้พูดคุยสนทนา แม้เจ้าตัวก็มีความสนใจ แต่เพราะเขาคือหนึ่งในเด็กชายที่สามารถเอาตัวรอดจากค่ายกักกันนาซีมาได้ จึงขอปฏิเสธเพราะยังมิอาจทำใจได้ นี่เป็นสิ่งที่ Spielberg เพิ่งมารับรู้ทีหลัง ถึงขนาดต้องรีบเดินทางไปขอโทษขอโพย แต่ก็ได้รับกำลังใจพร้อมคำขอบคุณกลับมา
– เข้าหาเพื่อนสนิท Martin Scorsese ที่ยินยอมตกลง และเข้าร่วมเตรียมพร้อมเริ่มโปรดักชั่นถ่ายทำ แต่ไม่นานนักเจ้าตัวก็รับรู้สึกว่า เรื่องราวของหนังนี้ สมควรให้คนเชื้อสายชาวยิวแท้ๆมาเป็นผู้กำกับจะดีกว่า เลยตัดสินใจแลกโปรเจคกับ Spielberg ที่กำลังเตรียมการสร้างใหม่ Cape Fear (1991)
– Billy Wilder ที่แม้จะแย่งซื้อลิขสิทธิ์นิยายไม่ทันแต่ก็ติดต่อหา Spielberg แสดงความต้องการอยากเป็นผู้กำกับ ด้วยเหตุผลเพราะสมาชิกครอบครัวของเขาหลายคนเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี เลยต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่ออุทิศ(ส่วนกุศล)ให้ แต่เหมือนจะช้าไปเสียแล้ว เพราะหนังกำลังเริ่มโปรดักชั่นเลยถูกบอกปัดปฏิเสธ

Steven Allan Spielberg (เกิดปี 1946) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เจ้าของฉายา ‘พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์’ เกิดที่ Cincinnati, Ohio, ครอบครัวนับถือ Orthodox Jewish ปู่ทวดอพยพจากประเทศ Ukrane ชื่นชอบเล่าอดีตพี่น้องหลายสิบของตนต้องสูญเสียชีวิตในค่ายกักกัน (นั่นคือเหตุผลที่ปู่ทวดอพยพย้ายสู่อเมริกา)

ตั้งแต่เด็กมีความสนใจเล่นถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยกล้อง 8mm จาก 9 นาทีกลายเป็น 40 นาที พออายุ 16 สร้างภาพยนตร์ไซไฟ 140 นาทีเรื่อง Firelight (เป็นแรงบันดาลใจให้ Close Encounter) ทุนสร้างจากครอบครัว $500 เหรียญ ออกฉายโรงภาพยนตร์แถวบ้าน ได้ทุนคืนทั้งหมดในรอบฉายเดียว

หลังเรียนจบมัธยมปลาย มุ่งสู่ Los Angeles เข้าเรียน California State University, Long Beach ระหว่างนั้นเป็นเด็กฝึกงานที่ Universal Studios มีโอกาสถ่ายทำภาพยนตร์ 35mm ขนาดสั้นเรื่อง Amblin’ (1968) คว้ารางวัลมากมาย แถมยังไปเข้าตารองประธานสตูดิโอขนาดนั้น Sidney Sheinberg จับเซ็นสัญญา 7 ปี ดรอปเรียนจากมหาวิทยาลัยโดยพลัน

เกร็ด: หลังจากดรอปเรียนครั้งนั้น เมื่อปี 2002 ผู้กำกับ Spielberg แอบส่ง Essay/วิทยานิพนธ์ และภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นโปรเจคจบให้ทางมหาวิทยาลัย ทำให้เขาได้รับปริญญา Bachelor of Arts น่าจะกรณีพิเศษ รวมระยะห่าง 33 ปี

ช่วงแรกๆในวงการ เริ่มทำงานเป็นผู้กำกับซีรีย์โทรทัศน์ ไม่นานนักสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Sugarland Express (1974) แม้คำวิจารณ์ค่อนข้างดีแต่ไม่ทำเงินเท่าไหร่ ตามด้วย Jaws (1975) แม้ประสบปัญหามากมาย ทุนสร้างบานปลาย แต่กลับทำเงินถล่มทลายมากมายมหาศาล หลายปีถัดมากับ E.T. the Extra-Terrestrial (1982) และ Jurassic Park (1993) ก็ยังสามารถทุบสถิติสูงสุดตลอดกาลของตนเองซ้ำแล้วซ้ำอีก

ในปีของการสร้าง Schindler’s List สตูดิโอ Universal มีความหวาดหวั่นต่อโปรเจคนี้ เพราะคิดว่าคงไม่ทำเงินเท่าไหร่แน่ เลยเซ็นสัญญาควบให้ Spielberg กำกับสร้าง Jurassic Park (1993) ขึ้นก่อน (ที่คงทำเงินแน่ๆ) แล้วใช้เวลาช่วงขณะ Post-Production เรื่องนั้น ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเจ้าตัวก็ยินยอมตอบรับข้อตกลง

แซว: Spielberg คงจะชื่นชอบแนวคิดการสร้างโปรเจคควบนี้มาก ใช้เวลาช่วง Post-Production ขณะสร้าง Visual Effect โปรเจคหนึ่ง กำกับสร้างภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง มีถึง 4-5 ครั้งแล้วที่ใช้แนวทางนี้
– Jurassic Park กับ Schindler’s List
– War of the Worlds (2005) กับ Munich (2005)
– The Adventures of Tintin (2011) กับ War Horse (2011)
– The Post (2017) กับ Ready Player One (2018)

สำหรับบทภาพยนตร์ ในตอนแรกขอให้ Keneally ดึงเอาประเด็นน่าสนใจจากหนังสือของตนเองออกมา ได้บทร่างแรกความยาว 220 หน้ากระดาษ มุ่งเน้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันหลากหลายของ Schindler แต่เหมือนใจความสำคัญของเรื่องราวจะสูญหายไป

ถัดมาคือ Kurt Luedtke ที่มีผลงานดังคือ Out of Africa (1985) แต่หลังจากผ่านไปเกือบ 4 ปี เจ้าตัวกลับยอมพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถหาความสมเหตุสมผล ทำไม Schindler ถึงเปลี่ยนแปลงไปได้ขนาดนั้น

ก่อนมาลงเอยที่ Steven Zaillian (ว่าจ้างโดย Marty ขณะเข้ามาคุมงานสร้าง) ตัดทอนเรื่องราวลงเหลือใจความสำคัญเพียง 115 หน้ากระดาษ ทำให้มีที่ว่างเพิ่มเติมรายละเอียดโน่นนี่นั่นเข้าไปได้เยอะ โดยเฉพาะความคลุมเคลือของเรื่องราว และความสัมพันธ์ระหว่าง Schindler กับชาวยิว

Liam John Neeson (เกิดปี 1952) นักแสดงสัญชาติ Northern Ireland เกิดที่ Ballymena, County Antrim ในครอบครัว Roman Catholic ตอนอายุ 11 รับบทนำในการแสดงละครโรงเรียนครั้งแรก ทำให้เกิดความสนใจด้านนี้ตั้งแต่นั้น ด้วยภาพลักษณ์ที่ราวกับออกมาจากคัมภีร์ไบเบิ้ล มักได้รับบทตัวละครที่มีความทรงภูมิ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกๆ Pilgrim’s Progress (1978) [รับบท Jesus Christ], Excalibur (1981), โด่งดังกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลกจาก Schindler’s List (1993) [ครั้งแรกครั้งเดียวที่เข้าชิง Oscar: Best Actor] ผลงานอื่นๆ อาทิ Master Qui-Gon Jinn ใน Star Wars: Episode I – The Phantom Menace (1999), Gangs of New York (2002), Batman Begins (2005), ให้เสียง Aslan ในแฟนไชร์ The Chronicles of Narnia, The Silence (2016)

รับบท Oskar Schindler นักธุรกิจสังกัดพรรค Nazi เกิดที่ Zwittau, Moravia, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Svitavy, Czech Republic) ประมาณปี 1939 อพยพสู่ Poland ใช้ประโยชน์จากเชลยสงครามชาวยิว คัดสรรให้เป็นกรรมกรแรงงานค่าจ้างแสนถูก จนประสบความสำเร็จร่ำรวยมั่งคั่ง แต่แล้ววันหนึ่งก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น นำกำไรทั้งหมดที่หามาได้ ล็อบบี้กวาดซื้อชาวยิวจำนวนนับพัน ‘โกง Hitler’ ผลิตอาวุธสงครามที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง จนกระทั่งเยอรมันยินยอมพ่ายแพ้สงคราม

ต้องถือว่า Schindler เป็นนักธุรกิจที่มีความเฉลียวฉลาด รอบรู้หลบเป็นปีก เข้าใจสันดานของมนุษย์และผู้บัญชาการมียศทั้งหลายของ Nazi เป็นอย่างดี จนเส้นสายอำนาจบารมีคุ้มหัว อยากล็อบบี้ทำอะไรก็ได้ตามใจ ไม่มีใครคิดว่าจะถูกทรยศหักหลัง

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ Schindler เหมือนทนไม่ได้สักเท่าไหร่ คือการพบเห็น Amon Göth ใช้อำนาจฆ่าคนตายแบบไร้สาระ เคยพยายามโน้มน้าวชักจูง แม้จะไม่สำเร็จแต่เป็นการแสดงว่า ชายผู้นี้มีบางสิ่งอย่างครุ่นคิดต่างจากชาวเยอรมันทั่วไป

มีนักแสดงหลายคนที่ให้ความสนใจบทบาทนี้ Warren Beatty, Kevin Costner, Mel Gibson แต่ผู้กำกับ Spielberg อยากได้นักแสดงที่ผู้ชมไม่คุ้นหน้ามากกว่า คัดเลือก Neeson หลังจากพบเห็นการแสดงของเขาที่ Broadway เรื่อง Anna Christie (1992)

การเตรียมตัวของ Neeson ผู้กำกับ Spielberg ส่งฟุตเทจทั้งหมดที่เกี่ยวกับ Steve Ross ผู้เป็น CEO ของ Time Warner บุคคลที่เขาถือว่ามี Charisma ใกล้เคียงกับ Schindler มากที่สุด รวมถึงเทปสัมภาษณ์ตัวจริง เพื่อให้เลียนแบบสำเนียงเสียงคำพูด

ผมมองว่าเป็นความเจ๋งอย่างหนึ่งที่ผู้กำกับ Spielberg ไม่นำเสนอเหตุผลของการที่อยู่ดีๆเปลี่ยนไปของ Schindler ให้เป็นความคิดเข้าใจของผู้ชมเองจักครุ่นคิดตีความ ซึ่งการแสดงของ Neeson แม้จะไม่ได้มีความเข้มข้นทางอารมณ์มากนัก (ยกเว้นช่วงท้าย) แต่ภาพลักษณ์ ท่าทางการเคลื่อนไหว และน้ำเสียงสำเนียง ทำให้ตัวละครมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การแสดงออกมิอาจบ่งบอกความคิดอ่านที่อยู่ในใจได้

Ralph Nathaniel Twisleton-Wykeham-Fiennes (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Ipswich, Suffolk, สืบเชื้อสาย English, Irish, Scottish ตอนแรกมีความสนใจด้านการวาดรูป เข้าเรียน Chelsea College of Art แต่ไปๆมาๆย้ายสู่ Royal Academy of Dramatic Art กลายเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วย Royal Shakespeare Company, ภาพยนตร์เรื่องแรก Emily Brontë’s Wuthering Heights (1992)

รับบท Amon Leopold Göth (1908 – 1946) ผู้บัญชาการทหาร Nazi สัญชาติ Austrian ประจำอยู่ค่ายกักกัน Kraków-Płaszów, ประเทศ Poland ขณะถูก German ยึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, เป็นคนลุ่มหลงใหลในอำนาจฐานะชื่อเสียง ชื่นชอบใช้ความรุนแรง ฆ่าคนตายโดยไม่รู้สึกหรือมีเหตุผลอันใด ความคอรัปชั่นกัดกร่อนกินเข้าไปถึงข้างในจิตใจ (เหมือนพุงที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ), ภายหลังความพ่ายแพ้ของนาซี Göth ถูกตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงคราม (War Criminal) ได้รับการประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ที่ Płaszów Camp

Spielberg พบเจอ Fiennes จากการแสดง Broadwya เรื่อง Lawrence After Arabia และ Wuthering Heights เรียกมา Audition ให้รับบทนี้เพราะความ ‘Sexy Evil’

“I saw sexual evil. It is all about subtlety: there were moments of kindness that would move across his eyes and then instantly run cold.”

Fiennes เพิ่มน้ำหนัก 28 ปอนด์ (13 กิโลกรัม) ระหว่างนั้นก็รับชม Newsreel พูดคุยสอบถามผู้รอดชีวิตเกี่ยวกับ Göth จนเกิดความเข้าใจและรับรู้ความเจ็บปวดในความน่าสมเพศของชายผู้นี้

“I got close to his pain. Inside him is a fractured, miserable human being. I feel split about him, sorry for him. He’s like some dirty, battered doll I was given and that I came to feel peculiarly attached to.”

คงไม่ผิดอะไรจะมองตัวละครนี้ว่าคือ ผู้ป่วยโรคจิต (Psychopath) เพ้อฝันต้องการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แต่การกระทำกลับไม่เคยเรียนรู้จดจำ พยายามเลียนแบบ Schindler แต่ก็มีทัศนคติความเข้าใจในแบบของตนเอง

เกร็ด: เพราะความคล้ายคลึงของ Fiennes กับ Göth ถึงขนาดว่า Mila Pfefferberg ตัวจริงที่ได้พบเจอกับเขาในกองถ่าย เกิดความหวาดสั่นกลัวขึ้นมาจริงๆ

Sir Ben Kingsley ชื่อเดิม Krishna Pandit Bhanji (เกิดปี 1943) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Snainton, North Riding of Yorkshire แม่เป็นนักแสดง พ่อเป็นหมอสัญชาติ Gujarati โตขึ้นเข้าเรียนที่ Pendleton College ด้วยความสนใจด้านการแสดง สู่ละครเวที West End ตามด้วย Royal Shakespeare Company สิบห้าปีหลังมุ่งสู่ Broadway ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Fear Is the Key (1972), โด่งดังมีชื่อเสียง คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง Gandhi (1982), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Bugsy (1991), Schindler’s List (1993), Sexy Beast (2000), House of Sand and Fog (2003) ฯ

รับบท Itzhak Stern ชายชาวยิวที่ในตอนแรกจำใจเป็นผู้ช่วย Schindler จัดหาสมัครพรรคพวกเข้าทำงานในโรงงาน แต่ไปๆมาๆเริ่มพบเห็นความดีงามในจิตใจของเขา กลายเป็นเคารพยกย่องนับถือ สุดท้ายแล้วจึงเป็นตัวแทนของชาวยิวทุกคนที่รอดชีวิต กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจ

ถึง Kingsley จะไม่ได้มีเชื้อสายยิว แต่เมื่อแต่งองค์ทรงเครื่องก็มีความละม้ายคล้ายคลึงเล็กๆ การแสดงต่างหากที่โดดเด่น แสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาสีหน้าแบบตรงไปตรงมา ไม่ต้องพูดอะไรมากก็รับรู้ว่าครุ่นคิดอะไร นี่เปรียบได้กับ alter ego หรือจิตใต้สำนึกของ Schindler

หนังปักหลักถ่ายทำยังประเทศ Poland หลายแห่งยังสถานที่จริง ใช้ตัวประกอบหลักหลายพัน คัดเลือกสรรจากชาว Israeli และ Polish, อาจเว้นแค่ Auschwitz Camp ที่แม้ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำภายใน แต่ Spielberg ยืนกรานขอใช้แค่กำแพงภายนอกด้านหน้า แล้วจำลองสร้างฉากขนาดใหญ่ขึ้นมา มิเข้าไปถ่ายทำข้างใน

ตัวประกอบทหารเยอรมันเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง กล่าวคือแทบไม่มีนักแสดงสัญชาติ German คนไหนอยากรับบทนาซี ก็ขนาดว่าระหว่างการถ่ายทำ ตัวประกอบชาวยิว เคยอยู่ดีๆเข้าไปพูดจาล้อเลียนเสียดสี ‘The Germans were charming people. They didn’t kill anybody who didn’t deserve it.’ คงเป็น Trauma ของพวกเขา ไม่สามารถแบ่งแยกออกได้ระหว่างทหารจริงๆกับนักแสดง

สำหรับภาษาพูด ในตอนแรก Spielberg ต้องการใช้ทั้ง German และ Polish เป็นภาษาหลัก แต่เขาพบว่าผู้ชมอเมริกาคงมัวแต่เสียเวลาอ่าน Subtitle จนมิได้สนใจเรื่องราวที่ดำเนินผ่านไป ด้วยเหตุนี้เลยเปลี่ยนมาให้นักแสดงนำหลักๆพูดภาษาอังกฤษ และหลายฉากใช้ภาษา German กับ Polish เพื่อสร้างสัมผัสความตึงเครียดกดดันสมจริง

ไดเรคชั่นในการกำกับของ Spielberg ที่นำมาใช้กับหนังเรื่องนี้ รับอิทธิพลจาก Shoah (1985) ภาพยนตร์สารคดี Masterpiece ของผู้กำกับ Claude Lanzmann ไม่มีการใช้ Storyborad ไม่มีการทดสอบบท/หน้ากล้อง ถ่ายทำน้อยเทครวดเร็วฉับไว ใช้เวลาเสร็จสิ้นเพียง 75 วัน (ถือเป็นครั้งแรกๆกับไดเรคชั่น Spielbergian เลยก็ว่าได้)

ถ่ายภาพโดย Janusz Kamiński ตากล้องสัญชาติ Polish ที่หลังจาก Spielberg รับชมภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง Wildflower (1991) ชักชวนมาร่วมงานจนกลายเป็นขาประจำตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้

กว่า 40% ของหนังถ่ายทำด้วยกล้อง Hand Held (แต่ไม่ใช่ Steadicams) ด้วยวิธีการคลาสสิก ไม่มีภาพมุมสูง หรือการใช้เลนส์ซูม นี่เหมือนเป็นการเคารพคารวะผลงานของ Cecil B. DeMille และ David Lean อีกด้วย

การตัดสินใจเลือกใช้ภาพขาว-ดำ หลายคนคงทำความเข้าใจว่าเพื่อลดภาพความรุนแรงโหดร้ายที่เกิดขึ้น แต่ในความตั้งใจของ Spielberg พบเห็นจาก Newsreel ฟีล์มข่าวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ล้วนเป็นภาพขาว-ดำ ความทรงจำต่อเหตุการณ์ Holocaust ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มันก็ควรที่จะมีสีสันลักษณะนั้น

“The Holocaust was life without light. For me the symbol of life is color. That’s why a film about the Holocaust has to be in black-and-white.”

นอกจากนี้ภาพขาว-ดำ ยังให้สัมผัสที่เหมือน Time Capsule อยู่เหนือกาลเวลา ไม่รู้ว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อตอนไหน

“I wanted to give the impression of timelessness to the film, so the audience would ‘not have a sense of when it was made’.”

แต่ก็มีบางช็อต (ที่ไม่ใช่ Prologue, Epilogue) ‘เด็กสาวสวมเสื้อโค้ทสีแดง’ ถ่ายทำด้วยภาพสี แล้วใช้สารเคมีบางอย่างลบสีอื่นออกหมด หลงเหลือเพียงสีแดงที่โดดเด่นชัดเจน (รับอิทธิพลจากหนังเรื่อง High and Low)

มีการตีความ ‘The Girl in Red’ ด้วยนัยยะต่างๆนานามามากมาย ขอคัทลอกจากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ Spielberg บอกว่าคือสัญลักษณ์ที่สะท้อนรัฐบาลอเมริกัน พวกเขารับรู้ว่า Holocaust กำลังจะเกิดขึ้นในยุโรป แต่กลับไม่เคยคิดจะกระทำบางสิ่งเพื่อหยุดยั้ง

“It was as obvious as a little girl wearing a red coat, walking down the street, and yet nothing was done to bomb the German rail lines. Nothing was being done to slow down … the annihilation of European Jewry,”

วันสะบาโต หรือ ซับบาธ (Sabbath Day) หลังจากพระเจ้าทรงสร้างโลก 6 วัน และทรงหยุดพักวันที่ 7 เพื่อให้มนุษย์ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ถือเป็นวันบริสุทธิ์ห้ามทำกิจกรรมใดๆ พักผ่อนหยุดสุดสัปดาห์ ให้ทำกิจกรรมที่ถวายแด่พระเจ้า เช่น การอธิษฐาน การอ่านพระคัมภีร์ และการขอบคุณพระเจ้า ฯ

เทียนในฉาก Prologue มักถูกตีความถึงชาวยิวที่กำลังจะถูกเข่นฆ่าและเผาไหม้ กำลังค่อยๆมอดคือชีวิตที่ดับสิ้นสูญ และเปลวควันที่โพยพุ่งออกมา เฟดเข้าหาควันจากปล่องรถไฟ สะท้อนถึงการเดินทางสู่โลกใหม่ที่กำลังมาถึง

ไดเรคชั่นของการแนะนำตัว Schindler เริ่มต้นด้วยสร้างความพิศวงสงสัย หมอนี่คือใครกัน? เริ่มจากแต่งตัว เดินจากด้านหลัง ภาพด้านข้าง ทหารนาซีคนหนึ่งเข้าไปทักถามแล้วนั่งล้อมวงสนทนารู้จัก สุดท้ายเป็นบริกรที่แนะนำชื่อ ‘That’s Oskar Schindler!’ แต่ก็ยังใครว่ะ?อยู่ดี

ผมมองฉากนี้มีลักษณะคล้ายเกม จากคนที่ไม่มีใครรู้จัก ใช้เงินซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง ผู้คนกลายเป็นมิตรสหาย ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเกมของ Schindler ที่สามารถซื้อใจทุกคนได้ด้วยเพียงค่ำคืนเดียว

ในบรรดางานภาพทั้งหมด ผมชื่นชอบฉากนี้ที่สุดแล้ว, Schindler กับ Göth เมื่อขณะกำลังโต้เถียงต่อรองอะไรบางอย่างกันอยู่ พวกเขาถูกแบ่งแยกออกด้วยเฟรมภาพลักษณะนี้ (อยู่คนละความเข้าใจ) จนกระทั่งเมื่อพูดคุยตกลงจนได้ข้อสรุปยุติ ทั้งสองถึงจะค่อยเข้ามายืนในกรอบเฟรมเดียวกัน

มีหลายครั้งทีเดียวที่ Göth ชอบเดินเวียนวนรอบใครคนหนึ่ง นี่ราวกับเป็นการแสดง ‘อำนาจ’ วางตัวบาดใหญ่ นัยยะเหมือนต้องการบอกว่า ฉันมองเห็นทุกสิ่งอย่างรอบด้านทิศทาง ไม่ว่าจะทำอะไรสามารถรับรู้ได้หมด

นี่สะท้อนกับชะตากรรมตอนจบของ Göth ถูกประหารชีวิตแขวนคอด้วยเชือกกลมๆ ราวกับว่าอำนาจที่เขาเคยใช้วางตัวบาดใหญ่ ได้ย้อนคืนสนองกลับหาตนเอง

“This is a good list.”

แสงไฟด้านบนแค่เพียงครึ่งดวงสว่างจ้า ขณะที่โคมไฟกลางภาพกลับมืดมิด ระหว่าง Schindler กับ Stern ราวกับหนทางสู่สรวงสวรรค์ได้ส่องแสงนำ ดวงตาของ Stern สะท้อนแสงดวงกลมๆ มองเห็นเข้าใจหนทางออกหนึ่งเดียวนี้

ถึงผมไม่ชอบ Epilogue ของหนังนัก เพราะเป็นการเชิดชูวีรบุรุษมากเกินไป แต่มีใจความและภาพสีเพื่อให้ผู้ชมจับต้องได้ถึงเหตุการณ์จริงที่บังเกิดขึ้น ก่อนจะมุ่งหน้าสู่อนาคต อย่าหลงลืมเลือนอดีตแห่งความชั่วร้าย

Spielberg มีความอ่อนไหวกับหลายๆฉาก จนบางครั้งมิอาจทนดูการถ่ายทำได้จนจบ อาทิ ชาวยิวถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าเปลือยกายเพื่อตรวจเช็คสภาพร่างกาย กล้องมีการเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว ไม่ให้ผู้ชมจับจ้องมองหรือรู้สึกสัมผัสอะไรได้ชัด ก็ขนาดว่าผู้กำกับต้องโทรศัพท์หา Robin Williams ให้เล่าเรื่องตลกเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน

ตัดต่อโดย Michael Kahn ขาประจำของ Spielberg ที่ร่วมงานกันตั้งแต่ Close Encounters of the Third Kind (1977)

เรื่องราวของหนังไม่ถือว่านำเสนอผ่านมุมมองตัวละครใดเป็นพิเศษ บางครั้งจะมีข้อความขึ้นปรากฎเพื่อรวบรัดอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นี่เป็นแนวคิดของสารคดีภาพข่าว ผู้ชมจะรับรู้พบเห็นเรื่องราวเหตุการณ์ ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ความคิดอ่าน อารมณ์ความรู้สึกด้วยตนเองทั้งหมด

หลายครั้งของหนังจะมีการตัดสลับคู่ขนานไปมาระหว่างหลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยพร้อมเพียง อาทิ
– ฉากแต่งงานของคู่รักชาวยิว
– Göth พูดคุย ตามด้วยตบตีสาวใช้ชาวยิว
– วันเกิดของ Schindler, นักร้องร้องเพลงอวยพรพร้อมประทับรอยจูบ (เหมือนว่า Göth จะอยู่ในฉากนี้ด้วยนะ)

นัยยะของช่วงขณะนี้ คงสื่อถือความสุขพึงพอใจของตัวละคร ที่มาพร้อมกับความรุนแรง (ย่ำหลอดไฟ, Göth ตบหน้าสาวใช้, Schindler จูบอย่างดูดด่ำกับผู้หญิงทุกคน)

นอกจากนี้ยังมีการเรียงซ้ำๆ อาทิ พูดเอ่ยเรียกชื่อคน, ทดสอบพนักงานพิมพ์ดีด ฯ ชี้เจาะไปที่บุคคลเหมือนเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสเรื่องราวระดับจุลภาค แล้วเกิดความเข้าใจภาพโดยรวมในระดับมหภาค

ส่วนที่ผมชื่นชอบสุดของการตัดต่อ คือเรื่องราว Sub-plot ของชาวยิวทั้งหลาย มีประมาณน่าจะหลักสิบเลยนะ เท่าที่จดจำได้ก็อย่าง เด็กสาวสวมแว่นและครอบครัว, คู่รักหนุ่มสาว สามี-ภรรยา (ได้แต่งงานกันด้วย), ครูสอนประวัติศาสตร์กลายมาทำหม้อ, แรบไบ ที่กระสุนบอดทุกนัด, สาวใช้ของ Göth ฯ เพราะการที่ผู้ชมได้มีโอกาสเรียนรู้จักพวกเขา ทำให้เกิดความคาดหวังเล็กๆ หวังว่าจะอยู่รอดถึงสงครามจบ แต่แค่เกือบทั้งหมดที่ไปถึงจุดนั้น

ด้วยความยาวหนังกว่า 195 นาที ผู้ชมบางคนคงรู้สึกเนิ่นนานราวกับอยู่ในขุมนรก แต่การรับชมครั้งนี้ผมรู้สึกเหมือนถูกดึงดูดเข้าไปในโลกดังกล่าว ลุ้นระทึกกับชาวยิวทั้งหลายจะสามารถเอาตัวรอดเหลือได้เท่าไหร่, Schindler จะสามารถโกง Hitler สำเร็จหรือเปล่า ฯ นั่นทำให้กว่าสามชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็วแบบไม่ได้ลุกไปพักเข้าห้องน้ำเลยสักครั้ง นี่ถือว่าเจ๋งมากๆเลยละ

เพลงประกอบโดย John William ที่หลังจากรับชมฉบับตัดต่อแรกๆ ถึงขนาดเอ่ยกล่าวกับเพื่อนสนิท Spielberg ว่า “You need a better composer than I am for this film.” แต่เขาก็ตอบว่า “I know, but they’re all dead.”

สัมผัสแห่งความโหยหวนเจ็บปวดบาดลึกไปถึงทรวง โดยเฉพาะเสียงไวโอลินของอัจฉริยะ Itzhak Perlman ผู้มีเชื้อสาย Israeli เสนาะเพราะพริ้งก้องกังวาล สั่นสะท้านระดับจิตวิญญาณ

ในบรรดาผลงานของ Williams ที่โดยส่วนตัวคิดว่าไพเราะ ตราตรึง สวยงาม ยิ่งใหญ่สุด ไม่ใช่ Star Wars Theme, สองโน๊ตของ Jaws, หรือ E.T. เพื่อนรัก แต่คือบทเพลง Main Theme ของ Schindler’s List เรียกได้ว่าของมวลมนุษยชาติเลยละ

Oskar Schindler คือชายผู้มีความน่าพิศวงอย่างยิ่ง เริ่มต้นด้วยการนักธุรกิจที่ชาญฉลาด สุดท้ายกลายเป็นวีรบุรุษของชาวยิว แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้มิได้พยายามทำความเข้าใจตัวตนของเขา ว่ามีความรู้สึกนึกครุ่นคิดประการอะไร แค่เพียงนำเสนอภาพการกระทำ ไม่มุ่งเน้นตัดสินคน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ชมต้องครุ่นคิดทำความเข้าใจด้วยตนเอง

ในมุมของชาวยิว ถึงเริ่มต้นจะไม่เหมือนพระเอกนัก แต่ทุกอย่างวัดกันที่ผลสัมฤทธิ์ตอนจบ แม้แค่เพียงพันกว่าๆจากหลักหลายล้านที่สูญเสียชีวิตในช่วงเวลานั้น น้อยนิดแทบเทียบอะไรไม่ได้ แต่แค่ 1 ชีวิตที่ได้รับโอกาสช่วยเหลือ ก็เพียงพอเหลือเฟือจะสร้างโลกใหม่ให้บังเกิดขึ้นได้

สำหรับชาวประเทศโลกที่สามอย่างเราๆ ก็อาจมีมุมมองไม่ต่างจากชาวยิวมากนัก จากคนที่เคยคอรัปชั่นเห็นแก่ตัว แปรเปลี่ยนกลายเป็นวีรบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อมวลมนุษยชาติ ชัยชนะไม่ได้วัดกันที่ปริมาณชาวยิวหลงเหลือรอดชีวิต แต่คือวินาทีที่ก่อบังเกิดขึ้นของความตั้งใจ จัดพิมพ์รายชื่อที่เรียกว่า Schindlerjuden แล้วใช้เงินทอง ความรู้ความสามารถ เส้นสาย ทุกคอรัปชั่นที่เคยกระทำผ่านมา บรรลุสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดถึง

ผมมอง Schindler คือชายที่ค้นพบเจอ ‘กฎแห่งกรรม’ แรกๆก็มิได้มีทัศนคติความรู้สึกใดๆต่อชาวยิว แต่เมื่อพบเห็นความชั่วเลวร้ายต่างๆนานาที่พวกเขาได้ประสบพบเจอ เรียนรู้จักว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งทิ้งๆขว้างๆประมาณนั้น การตัดสินใจ ‘โกง Hitler’ ก็เพื่อเอาชนะความหวาดกลัวเกรงของตนเอง สวรรค์จะยินยอมรับฉันเข้าเป็นส่วนหนึ่งไหม กรรมความชั่วที่เคยกระทำจะตามมาสนองหรือเปล่า ถ้าเพียงช่วยชีวิตได้อีกสักคน ‘I could have gotten one more person’

สำหรับผู้กำกับ Spielberg, Schindler’s List คือภาพยนตร์ที่มีความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง วัยเด็กของเขาในครอบครัว Jewish มักถูกเพื่อนๆกลั่นแกล้งเหยียดหยาม (Anti-Semitic) ใช้ความรุนแรงต่างๆนานา นั่นทำให้เขาพยายามหลีกหนีออกห่างจากความเชื่อวิถีปฏิบัตินี้ จนกระทั่งก่อนสร้างภาพยนตร์นี้เรื่อง ได้แต่งงานกับภรรยาคนที่สอง Kate Capshaw ทั้งๆเธอเป็น Protestant แต่ใช้เวลาเป็นปีๆศึกษา Judaism เปลี่ยนศาสนาเสร็จสรรพก่อนเข้าพิธีสมรส นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เขาสามารถยินยอมรับความเป็นยิวในตัวเองได้อีกครั้ง

“Kate is Protestant and she insisted on converting to Judaism. She spent a year studying, did the ‘mikveh,’ the whole thing. She chose to do a full conversion before we were married in 1991, and she married me after becoming a Jew. I think that, more than anything else, brought me back to Judaism”.

บทเรียนสำหรับเรื่องราวนี้ คือประวัติศาสตร์สอนใจมวลมนุษย์ ฝังลงไปให้ลึก ขออย่าหวนคืนกลับมาบังเกิดขึ้นอีกเลย, สำหรับคนที่ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมา ลืมคงไม่ได้ แต่ในช่วงเวลาของพวกเขาพยายามทำทุกสิ่งอย่าง ให้คนรอบข้างและทั่วโลกยังคงจดจำได้ แต่สำหรับชาวเราคนรุ่นหลังประเทศโลกที่สาม จะให้ไปช่วยเหลือสงเคราะห์สงสารคงไม่มีประโยชน์อันใด มากสุดคือแผ่เมตตาจิตอธิษฐาน ขอให้พวกเขานั้นตระหนักครุ่นคิดเข้าใจวิถีชีวิตได้เร็วไว จะได้มีโอกาสพบเจอหนทางออก หลุดพ้นจากวงเวียนวัฎฏะสังสารกลียุคนี้

ด้วยทุนสร้าง $22 ล้านเหรียญ กลายเป็นสถิติหนังขาว-ดำ ทุนสร้างสูงสุดในโลก (น่าจะจนถึงปัจจุบัน) แทนที่ The Longest Day (1962), ทำเงินในอเมริกา $96.1 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $321.2 ล้านเหรียญ ก็เป็นสถิติสูงสุดถึงปัจจุบันเช่นกัน

Spielberg บริจาคค่าตัว กำไรทุกดอลลาร์เซนต์ที่ได้รับ เข้ามูลนิธิ Survivors of the Shoah Visual History Foundation เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจาก Holocaust และลูกหลานที่ยังคงได้รับผลกระทบ รวมถึงใช้เป็นทุนสนับสนุนสร้างสารคดีอีกหลายเรื่องตามมา อาทิ Anne Frank Remembered (1995), The Lost Children of Berlin (1996), The Last Days (1998)

เข้าชิง Oscar 12 สาขา คว้ามา 7 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Liam Neeson)
– Best Supporting Actor (Ralph Fiennes)
– Best Writing, Screenplay Based on Material Previously Produced or Published ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing ** คว้ารางวัล
– Best Art Direction-Set Decoration ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design
– Best Makeup
– Best Sound
– Best Music, Original Score ** คว้ารางวัล

ว่าไปผมแอบเสียดายสาขาการแสดงนะ เพราะทั้ง Neeson และ Fiennes เต็มที่กับบทบาทมากๆ แต่เพราะการเล่าเรื่องสไตล์ Spielberg มักจับต้องตัวละครไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ เลยเป็นดังคำสาปที่นักแสดงจะต้องพลาดรางวัล จนกระทั่งการมาถึงของ Daniel Day-Lewis กับ Lincoln (2015) [และตามด้วย Mark Rylance ได้สาขา Best Supporting Actor เรื่อง Bridge of Spies (2015)]

เกร็ด: Schindler’s List คือเรื่องแรกที่กวาดเรียบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Oscar, Golden Globe, BAFTA, และ PGA

อิทธิพลของหนังเรื่องนี้ต่อวงการภาพยนตร์ อาทิ
– Roman Polanski ที่ถึงปฏิเสธโอกาสกำกับหนังเรื่องนี้ไป บอกว่าคือแรงบันดาลใจสร้าง Death and the Maiden (1995) และ The Pianist (2002), ทั้งยังเอ่ยปากชม Spielberg สามารถวางตัวเป็นกลางได้แบบทีี่เขาไม่สามารถทำได้แน่
– City of Life and Death (2009) โศกนาฎกรรมที่นานกิง ถูกเรียกว่า China’s Schindler
ฯลฯ

ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ เพราะความทรมานอย่างยิ่งยวดในการรับชม เห็นด้วยกับผู้กำกับ Michael Haneke ต่อว่า Spielberg ในฉากสาวชาวยิวถูกต้อนให้เข้าห้องอาบน้ำ ไม่รู้ว่าสิ่งจะได้พบคือแก๊สพิษหรือน้ำที่ไหลออกมาจากฝักบัว คงมีแต่ผู้ชมอเมริกันจะตื่นเต้นลุ้นระทึก แต่สำหรับคนยุโรป หรือผู้ประสบผ่านเหตุการณ์นั้นมา มันงี่เง่าและไม่สมควรอย่างยิ่ง

“There’s a scene in that film when we don’t know if there’s gas or water coming out in the showers in the camp. You can only do something like that with a naive audience like in the United States. It’s not an appropriate use of the form. Spielberg meant well – but it was dumb.”

– Michael Haneke

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” บทเรียนจากภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความรู้ประวัติศาสตร์ นำเสนอด้านมืดของมนุษย์ ความชั่วร้ายของ Nazi แต่คือการค้นพบจิตสำนึกและมนุษยธรรมในตนเอง อะไรเป็นสิ่งถูกต้องสมควรทำ อำนาจ/ความเสมอภาคคืออะไร?

โดยเฉพาะกับนักเรียน/ศึกษาประวัติศาสตร์ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, นักธุรกิจ/นักการเมือง มองหาความถูกต้องในอาชีพการงานของตนเอง, แฟนๆผู้กำกับ Steven Spielberg และนักแสดง Liam Neeson, Ben Kingsley, Ralph Finnes ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความความโหดชั่วร้ายของ Nazi

TAGLINE | “Schindler’s List คือบันทึกกรรมของผู้กำกับ Steven Spielberg ที่มีทั้งถูก-ผิด ดี-ชั่ว ขาว-ดำ ก็ขึ้นอยู่ว่าเราจะมองเห็นเข้าใจเองเช่นไร”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: