Scorpio Rising

Scorpio Rising (1963) hollywood : Kenneth Anger ♥♥♥♥♡

โคตรๆๆภาพยนตร์แนวทดลองที่ทำการบุกเบิกแนวคิด ‘Music Video’ ดำเนินเรื่องผ่านบทเพลงฮิตอย่าง Blue Velvet, (You’re the) Devil in Disguise, Hit the Road Jack, I Will Follow Him ฯ ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรอันตราย แต่การฉาย Scorpio Rising (1963) มีความเสี่ยงอาจโดนจับติดคุกโดยไม่รู้ตัว!

นั่นเพราะหนังสั้นเรื่องนี้ประกอบด้วยประเด็นรักร่วมเพศ (Homosexual), เสพเมายา, ต่อต้านศาสนา (Anti-Christian), ล้อเลียนสัญลักษณ์สวัสติกะ (Swastika) และโดยเฉพาะความสุดเหวี่ยงระดับคลุ้มบ้าคลั่งของแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง สร้างความไม่พึงพอใจให้ผู้ชมบางกลุ่ม ตำรวจบุกจับกุมผู้จัดการโรงหนัง (ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย) ต่อสู้กันยังศาลชั้นสูง (Supreme Court) โชคดีที่ผู้พิพากษาตัดสินเข้าข้างผกก. Anger เลยมีโอกาสนำออกฉายโดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ

Scorpio Rising was denounced — and this was ironic — at its first screenings by some members of the American Nazi Party. They thought I was insulting their flag, which was very true, not that you see very much of it. They phoned up anonymously to the vice squad in LA and denounced it as porn or obscene or something and in those days in ’64 the police had to investigate if they got a complaint. They went there and without even watching the film, they just seized it and the poor manager of the theatre was arrested and had to be bailed out. But then it went to the California Supreme Court and a famous ruling came down which applied to all films: if it has redeeming social merit then it’s acceptable, and of course this label has been used for all kinds of things.

Kenneth Anger

หลายคนอาจเกิดความชะงักงันเมื่อได้ยินความ ‘ใต้ดิน’ ของ Scorpio Rising (1963) แต่ผมบอกเลยว่าห้ามพลาด! นี่คือผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ด้วยแนวคิด/จุดกำเนิด ‘Music Video’ ลีลาตัดต่อบ้าระห่ำโคตรๆ และความเป็นศิลปินของผกก. Anger สร้างอิทธิพลต่อวงการเพลง-ภาพยนตร์ รวมถึงผู้กำกับดังๆอย่าง David Lynch, Quentin Tarantino, Martin Scorsese, John Waters ฯลฯ

[Anger had] a profound impact on the work of many other filmmakers and artists, as well as on music video as an emergent art form using dream sequence, dance, fantasy, and narrative.

นักวิจารณ์จาก Kinsey Today

ไม่เพียงเท่านี้ หนังยังมีลักษณะกึ่งๆสารคดี (Drama-Docu) บันทึกภาพสถานที่/เหตุการณ์จริงเกือบทั้งหมด นำเสนอกิจวัตร วิถีชีวิตสมาชิกแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นอเมริกันช่วงทศวรรษ 50s-60s เห็นว่ารับอิทธิพลจากความโคตรเท่ห์ บทบาท ‘Iconic’ ของ Marlon Brando ภาพยนตร์เรื่อง The Wild One (1953)


Kenneth Anger ชื่อจริง Kenneth Wilbur Anglemyer (1927-2023) ผู้กำกับ/นักเขียน สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Santa Monica, California บิดามีเชื้อสาย German แต่งงานกับมารดาเป็นคนพิการ ครอบครัวนับถือ Presbyterian (นิกายในศาสนาคริสต์ฝ่ายโปรเตสแตนต์ ยึดถือแนวคิดทางเทววิทยา เน้นเรื่องอำนาจอธิปไตยของพระเจ้า สิทธิอำนาจของคัมภีร์ไบเบิล และการรับพระคุณจากพระเจ้าได้โดยการศรัทธาในพระเยซูเท่านั้น), วัยเด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างตามใจ หลงใหลภาพยนตร์หลังจากมารดาพาไปรับชมหนัง ‘double bill’ เรื่อง The Singing Fool (1928) และ Thunder Over Mexico (1930), เคยเป็นตัวประกอบเด็กไม่ได้รับเครดิต A Midsummer Night’s Dream (1935), พออายุสิบขวบใช้ฟีล์ม 16mm สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Ferdinand the Bull (1937)

I’ve always considered movies evil; the day that cinema was invented was a black day for mankind.

Kenneth Anger

เมื่อปี ค.ศ. 1944 ครอบครัวย้ายมาปักหลัก Hollywood ทำให้ Anger ได้รับรู้จัก Curtis Harrington ผู้ก่อตั้ง Creative Film Associates (CFA) แนะนำให้รับรู้จักภาพยนตร์แนวทดลอง (Experimental) หรือ Underground Film ชื่นชมผลงานของ Maya Daren, John & James Whitney รวมถึงมีโอกาสพบเจอนักไสยเวท (Occultist) Aleister Crowley นั่นคือจุดเปลี่ยนความเชื่อศรัทธา กลายเป็นต่อต้านศาสนาคริสต์ (Anti-Christian)

นอกจากนี้ยังค้นพบรสนิยมทางเพศว่าชื่นชอบผู้ชาย (Homosexual) ยุคสมัยนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ครั้งหนึ่งเคยถูกตำรวจจับกุม เลยตัดสินใจย้ายออกจากบ้าน เปลี่ยนนามสกุล Anglemyer เป็น Anger (เพื่อแทนความโกรธเกลียดที่อัดอั้นภายใน), แต่ครอบครัวก็ยังส่งเสียให้เข้าศึกษาภาพยนตร์ University of Southern California (USC) เอาเวลาส่วนใหญ่ไปลิ้มลองเสพยา Cannabis, Peyote, ขณะเดียวกันสรรค์สร้างภาพยนตร์สร้างชื่อเรื่องแรก Fireworks (1947) ได้รับการตีตรา “First Gay Narrative Film in United States”

(เมื่อตอน Fireworks (1947) นำออกฉาย ผกก. Anger ก็ถูกตำรวจจับข้อหาอนาจาร แต่ศาลตัดสินให้เป็นงานศิลปะไม่ใช่ pornography)

เมื่อปี ค.ศ. 1950, Anger เดินทางสู่ Paris อาศัยอยู่กับเพื่อนๆหลายคนที่โดน Hollywood Blacklist สรรค์สร้างผลงาน La Lune des Lapins แปลว่า Rabbit’s Moon อ้างอิงจากปรัมปราญี่ปุ่น (ที่เชื่อว่ากระต่ายอาศัยอยู่บนดวงจันทร์) พอสร้างเสร็จเก็บเข้ากรุ Cinémathèque Française สองทศวรรษให้หลังถึงกลับไปขอคืน แล้วนำออกฉายครั้งแรกแรก ค.ศ. 1971 และตัดต่อใหม่ (Re-Released) ด้วย Soundtrack ที่แตกต่างออกไปปี ค.ศ. 1979

ผมแนะนำให้รับชมฉบับ ค.ศ. 1971 ประกอบด้วยบทเพลงดังๆฟังเพลินยุค 60s อย่าง

  • There’s a Moon Out Tonight ของ The Capris
  • Oh, What a Night ของ The Dells
  • Bye Bye Baby ของ Mary Wells
  • I Only Have Eyes For You ของ The Flamingos
  • Tears On My Pillow ของ The El Dorados

ขณะที่ฉบับ ค.ศ. 1979 จะมีเพียงบทเพลงเดียว It Came In The Night ของ A Raincoat เปิดซ้ำไปซ้ำมา และตัดต่อใหม่ให้เหลือแค่ 6 นาที ซึ่งทำให้หนังจากเคยชวนฝัน กลายเป็นหลอกหลอน ขนหัวลุกพอง คนละเรื่องเดียวกันขึ้นมาโดยพลัน … แล้วแต่ความชื่นชอบนะครับ บางคนอาจประทับใจฉบับ ค.ศ. 1979 มากกว่าก็เป็นได้! [Click Here]

เมื่อปี ค.ศ. 1950, Anger เดินทางสู่ Rome ตั้งใจจะสรรค์สร้างผลงานเกี่ยวกับบาทหลวง/นักไสยเวทชื่อดัง Cardinal d’Este แต่สุดท้ายกลับถ่ายทำหญิงสาว(คนแคระแต่งชุดโบราณ)เดินทอดน่องในสวน Villa d’Este ณ Tivoli พร้อมบรรเลงบทเพลง Vivaldi: Four Season ตั้งชื่อหนังสั้น Eaux d’artifice (1953) งดงาม น้ำแตก สาดกระเซ็น เหมือนต้องการปลดปล่อยความเก็บกด รสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) ของผู้สร้าง

It’s one of Anger’s most tranquil works; his editing makes it soft, lush, and inviting. Eaux d’Artifice remains a secretive romp through a private garden, all for the masked figure’s and the viewer-voyeur’s pleasure.

Bill Landis ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติ The Unauthorized Biography of Kenneth Anger (1995)

เมื่อปี ค.ศ. 1953, Anger เดินทางกลับสหรัฐอเมริกาเพราะมารดาเสียชีวิต ระหว่างนี้ก็มีโอกาสสรรค์สร้างอีกผลงานชิ้นสำคัญ Inauguration of the Pleasure Dome (1954) ด้วยการนำเอาบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ (Historical Figures) คัมภีร์ไบเบิล (Biblical Character) และสัตว์ลึกลับ (Mythical Creatures) มาอาศัยอยู่ร่วมกันใน ‘pleasure dome’ ทำให้เกิดเรื่องวุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วยจิต หลอกหลอน คลุ้มบ้าคลั่ง มึนเมายิ่งกว่าปาร์ตี้ยาเสพติด

เกร็ด: Anger ได้แรงบันดาลใจภาพยนตร์เรื่องนี้จากการเข้าร่วมงานเลี้ยง Halloween แล้วพบเห็นความคลุ้มบ้าคลั่ง “Come as your Madness”

เกร็ด2: ว่ากันว่าฉบับตัดต่อแรกๆของหนัง มีการทำให้สามารถฉายสามจอพร้อมกัน (ได้แรงบันดาลใจจาก Napoléon (1927) ของ Abel Gance) เคยจัดฉาย Brussels World’s Fair 1958 แต่หลังจากนั้นตัดต่อใหม่เพื่อให้สามารถฉายแบบปกติ

หลังเสร็จจาก Inauguration of the Pleasure Dome (1953) ผกก. Anger ก็เดินทางกลับยุโรปเพื่อสรรค์สร้างสารคดี เขียนหนังสือไร้สาระ Hollywood Babylon (1959) รวบรวมเรื่องซุบซิบนินทา ทั้งจริงและแต่ง สารพัดอื้อฉาวของดารา Hollywood ตั้งแต่ยุคหนังเงียบถึงคลาสสิก แน่นอนว่าถูกแบนห้ามขาย โดนฟ้องโดยใครต่อใครมากมาย ในสหรัฐอเมริกาได้รับอนุญาตจัดจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ. 1975

แซว: ไม่รู้เหมือนกันว่าหนังสือเล่มนี้มันประสบความสำเร็จหรืออย่างไร จึงมีการเขียนเล่มถัดๆมา Hollywood Babylon II (1984) และ Hollywood Babylon III เขียนเสร็จแล้วแต่ยังไม่ตีพิมพ์ เพราะมีตอนหนึ่งเกี่ยวกับ Tom Cruise และลัทธิ Scientologists

เกร็ด: ภาพยนตร์ฟอร์มเจ๊ง Babylon (2022) ของ Damien Chazelle เห็นว่าได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากหนังสือ Hollywood Babylon (1959) เล่มนี้นี่แหละ

เมื่อปี ค.ศ. 1961, Anger หวนกลับสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง มีโอกาสรับรู้จัก Richard McAuley นักซิ่งมอเตอร์ไซด์ (ค่อนข้างเชื่อได้ว่าคงเคยปิ๊งกัน) เจอกันที่ Coney Island แม้เจ้าตัวไม่ได้มีความชื่นชอบ ‘biker subculture’ แต่เมื่อคลุกคลี(ปรี้)กันอยู่สักพัก พบเห็นวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมหัวขบถนอกคอก เต็มที่สุดเหวี่ยงกับชีวิต! บังเกิดความสนอดสนใจ ต้องการบันทึกภาพ ถ่ายทำสารคดี เก็บรายละเอียดทุกสิ่งอย่างไว้

I’m interested in the hidden history, the secret history. I’m fascinated by stories that people don’t know about, that they think they do, but they don’t. I like the energy of trying to do something that’s almost impossible, and then I like the energy of making it happen after all.

Kenneth Anger

เหตุการณ์ทั้งหมดใน Scorpio Rising (1963) ยกเว้นฟุตเทจพระเยซูคริสต์นำจากซีรีย์ The Living Bible (1952) ชื่อตอน The Last Journey to Jerusalem, รายละเอียดอื่นๆล้วนคือวิถีชีวิต กิจวัตรของสมาชิกแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง ผกก. Anger ทำหน้าที่เพียงถือกล้อง บันทึกภาพ ถ่ายทำสิ่งต่างๆ โดยไม่มีการสร้างพล็อตเรื่อง ชี้นำนักแสดง ให้อิสระพวกเขากระทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง

Scorpio Rising was the closest I’ve ever come to a documentary, but I was just filming what was happening.


สำหรับนักแสดงนำ Bruce Byron (คนละคนกับนักแสดงที่รับบท The Mummy Returns (2001)) เพราะเกิดราศีแมงป่อง เลยตั้งชื่อ/ฉายา Scorpio ไม่ได้เป็นสมาชิกแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง แค่ขับมอเตอร์ไซด์(แต่ง)รับส่งสิ่งของ (Motorcycle Messenger) ทำงานอยู่ย่าน Manhattan ภายในอพาร์ทเม้นท์ก็เป็นอย่างพบเห็น เต็มไปด้วยความชื่นชอบ James Dean & Marlon Brando, ผกก. Anger เพียงนำหลอดไฟเข้ามาจัดแสงเพิ่มเติมเท่านั้น ซึ่งระหว่างการถ่ายทำ บังเอิ้ญโทรทัศน์กำลังฉาย The Wild One (1953) … ผกก. Anger เรียกความบังเอิญดังกล่าว ‘magical coincidence’

สำหรับตัวประกอบอื่นๆ ล้วนคือสมาชิกแก๊งค์ซิ่งมอเตอร์ไซด์เชื้อสาย Italian-American จากย่าน Brooklyn กลางวันทำงานตลาดปลา Fulton Fish Market ยกของแบกหาม ร่างกายกำยำบึกบึน (แต่ชายกล้ามโตตอนต้นเรื่อง เป็นนักซิ่งมอเตอร์ไซด์จาก Canada เดินทางมาท้าแข่งขันกับแก๊งค์นี้โดยเฉพาะ!) ความสนใจของพวกเขาเมื่อได้เงินมา “motorcycles first, girlfriends second!”

ค่ำคืนงานเลี้ยงวัน Halloween แต่งตัวสวมหน้ากากก็ตามพบเห็น (จริงๆจะมีสาวๆ แฟนของบรรดานักซิ่งมาร่วมงานด้วย แต่พวกเธอต่างปฏิเสธปรากฎตัวหน้ากล้อง) ผกก. Anger เพียงซื้อเบียร์มาเป็นค่าจ้าง ถ่ายทำกิจกรรมรับน้อง/สมาชิกใหม่ ด้วยการจับถอดเสื้อผ้า บีบมัสตาร์ดร้อนลงหน้าท้อง (ในหนังเห็นแค่นั้นแต่จริงๆยังมีต่อ นำมาลูบไล้อวัยวะเพศ เพื่อสร้างความร้อนระอุ แผดเผาไหม้) ก่อนนำไปปล่อยทิ้งกลางทาง หาหนทางกลับบ้านในสภาพล่อนจ้อน

ดึกดื่นไปต่อยังโบสถ์ร้างที่ถูกทอดทิ้งขว้าง อยู่ไม่ห่างโกดังงานเลี้ยงสักเท่าไหร่ ผกก. Anger ก็ไม่ได้ให้คำแนะนำอะไร พวกเขาต่างปีนป่ายขึ้นบนแท่นปรัมพิธี แตะคัมภีร์ไบเบิลวางทิ้งไว้ ปัสสาวะลงหมวก กระทำสิ่งโลดโผนมากมาย โดยไม่สนใจดูหมิ่นศาสนาใดๆ รวมถึงสิ่งข้าวของที่มีสัญลักษณ์สวัสติกะทั้งหลาย หนึ่งในสมาชิกที่เคยอาสาสมัครเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง นำของฝาก(ที่มีตราสัญลักษณ์เหล่านั้น)กลับจากเยอรมัน ตั้งใจเอามาเหยียบย่ำ ประชดประชัน โดยไม่รู้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในเชิงเปรียบเทียบของหนัง

และอีกวันถัดมา ขณะยังมึนๆเมาค้าง ผกก. Anger ก็ถูกลากพาไปรับชม/บันทึกภาพการแข่งขันมอเตอร์ไซด์ซิ่งระหว่างสองแก๊งค์ ขณะหนึ่งพบเห็นรถไถลล้ม นั่นไม่ใช่การทำเท่ห์หน้ากล้องนะครับ แต่ประสบอุบัติเหตุจริงๆ และชายผู้โชคร้ายคนนั้นก็คอหักเสียชีวิต นี่ยิ่งสร้างความขนลุกขนพองให้หนังอย่างโคตรๆ


ผกก. Anger ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี 16 mm ไม่มีการบันทึกเสียง (ได้ยินเพียง Soundtrack และ ‘Sound Effect’ เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง) ด้วยกล้อง Hand-Held ทำให้สามารถขยับเคลื่อนย้าย เดินไปเดินมา ส่ายไปส่ายมา ‘Unchained camera’ เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ด้วยความรวดเร็วฉับไว ส่วนใหญ่ใช้แสงธรรมชาติ ตามมีตามเกิด (ยกเว้นฉากในอพาร์ทเม้นท์ที่ต้องการความสว่างกว่าแสงไฟปกติ) รวมระยะเวลาถ่ายทำไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์

งานภาพของหนังแม้เต็มไปด้วยวัตถุ สิ่งข้าวของ รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ซึ่งสามารถขบครุ่นคิดในเชิงสัญลักษณ์มากมาย แต่ในส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากความบังเอิญ ราวกับมีสิ่งลี้ลับดลใจ เพราะผกก. Anger เพียงถือกล้อง บันทึกภาพ ถ่ายทำในลักษณะผู้สังเกตการณ์ โดยไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอะไรใด … จริงๆต้องชมลีลาการตัดต่อที่สามารถใช้ประโยชน์จากความบังเอิญเหล่านั้นได้อย่างคุ้มค่า ด้วยสันชาตญาณก็ว่าได้

เราสามารถแบ่งหนังตามเรื่องราวบังเกิดขึ้นออกเป็นสองส่วน ครึ่งแรก-ครึ่งหลัง ไม่เชิงว่ากลางวัน-กลางคืน แต่สามารถเปรียบเทียบถึงช่วงเวลาง่วงหงาวหาวนอนที่น่าเบื่อหน่าย (กลางวัน) และยามสีสัน สนุกสนานตื่นเต้น อิสรภาพแห่งชีวิต (กลางคืน)

  • กลางวันอันน่าเบื่อหน่าย
    • ชายคนหนึ่งกำลังแต่งรถมอเตอร์ไซด์ซิ่ง
    • ชายอีก(สอง)คนกำลังสวมเสื้อผ้า แต่งองค์ทรงเครื่อง ตระเตรียมตัวออกไปร่วมงานเลี้ยง Halloween
    • และ Scorpio ยังอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ เปิดโทรทัศน์ ลุกขึ้นมาแต่งองค์ทรงเครื่อง เสพยาเข้าจมูก และก้าวเดินออกจากห้อง
  • กลางคืนแห่งสีสัน
    • ตลอดทั้งซีเควนซ์เริ่มตั้งแต่ Scorpio ก้าวเดินไปร่วมงานเลี้ยง มีการตัดสลับคู่ขนานภาพจากซีรีย์โทรทัศน์ The Living Bible (1952) ชื่อตอน The Last Journey to Jerusalem
    • มาถึงงานเลี้ยง Halloween เต็มไปด้วยนักซิ่งแต่งชุดผีมากมาย จากนั้นจัดกิจกรรมรับน้องใหม่
    • ไปต่อยังโบสถ์ร้างที่อยู่ใกล้ๆ กระโดดโลดเต้น กระทำสิ่งหมิ่นศาสนา
    • และเช้าวันถัดมา บันทึกภาพการแข่งขันมอเตอร์ไซด์ซิ่ง มีใครคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งหนังตาม 13 บทเพลง ซึ่งจะมีเนื้อคำร้องสอดคล้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรื่องราวขณะนั้นๆ นี่คือแนวคิดที่จะพัฒนาสู่ ‘music video’ ในปัจจุบัน

  • Ricky Nelson: Fools Rush In (Where Angels Fear to Tread)
    • อารัมบท พบเห็นชายคนหนึ่งกำลังแยกชิ้นส่วน นำมาทำความสะอาด ขัดสีฉวีวรรณ เอ็นดูมอเตอร์ไซด์คันนี้ยิ่งกว่าคนรักอีกกระมัง
    • ผมชอบคำร้องท่อนหนึ่งของบทเพลงนี้ “Open up your heart, and let this fool rush in”. เหมือนเป็นการบอกให้ผู้ชมเปิดใจรับเรื่องราวแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง/ภาพยนตร์เรื่องนี้ ดูให้จบก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที!
  • Little Peggy March: Wind-Up Doll
    • ระหว่างชายคนเดิม ประกอบชิ้นส่วน หมุนไขควง ตัดภาพคู่ขนานกับเด็กชายกำลังเล่นรถของเล่น
  • The Angels: My Boyfriend’s Back
    • กระบวนการสุดท้ายของการประกอบรถมอเตอร์ไซด์ โพสท่าถ่ายรูปคู่กับหุ่นยมทูต
    • แซว: ‘My Boyfriend’ สามารถตีความได้ทั้งรถมอเตอร์ไซด์ที่เพิ่งประกอบเสร็จ และหุ่นยมทูตด้านหลัง
  • Bobby Vinton: Blue Velvet
    • หนุ่มๆทั้งสองสวมเสื้อผ้า แต่งองค์ทรงเครื่อง เตรียมตัวออกเดินทางไปร่วมงานเลี้ยง Halloween
    • คำร้องแรกของบทเพลงนี้ ‘She wore blue velvet’ แต่ภาพพบเห็นกลับเป็นผู้ชายสวมเสื้อหนังสีเข้มๆ (ดูไม่ออกว่าน้ำเงินหรือเปล่า) เรียกว่าทุกสิ่งอย่างล้วนกลับตารปัตรจากเนื้อคำร้องโดยสิ้นเชิง!
    • ใครเคยรับชม Blue Velvet (1986) กำกับโดย David Lynch น่าจะมักคุ้นเคยกันดี!
  • Elvis Presley: (You’re the) Devil in Disguise
    • Scorpio ตื่นขึ้นมาในห้องพัก นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ กล้องแพนไปรอบๆห้อง
  • Ray Charles: Hit the Road Jack
    • Scorpio ลุกขึ้นมาแต่งองค์ทรงเครื่อง ตัดสลับกับภาพยนตร์ The Wild One (1953)
  • Martha and the Vandellas: (Love Is Like a) Heat Wave
    • Scorpio สวมแหวน คาดโซ่ เสพยา พบเห็นภาพหลอน
    • คำร้อง ‘It’s like a heat wave, burning in my heart’. สามารถสื่อถึงฤทธิ์ยาที่เสพ แผดเผาทรวงใน
  • The Crystals: He’s a Rebel
    • Scorpio ก้าวออกจากอพาร์ทเม้นท์ ตัดสลับคู่ขนานภาพจากซีรีย์โทรทัศน์ The Living Bible (1952) ชื่อตอน The Last Journey to Jerusalem
  • Claudine Clark: Party Lights
    • มาถึงงานเลี้ยงปาร์ตี้ กระโดดโลดเต้น เริงระบำกันสนุกสนาน
  • Kris Jensen: Torture
    • พิธีรับน้องของแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง ตัดสลับ Scorpio เข้าไปก่อความวุ่นวายในโบสถ์ร้าง
  • Gene McDaniels: Point of No Return
    • นำเสนอคู่ขนานระหว่างภาพการแข่งมอเตอร์ไซด์ซิ่ง, พระเยซูขึ้นลา ออกเดินทางสู่ Jerusalem, Scorpio ขึ้นไปยืนบนแท่นปะรัมพิธี (ในโบสถ์ร้าง)
  • Little Peggy March: I Will Follow Him
    • การแข่งขันมอเตอร์ไซด์ยังคงดำเนินต่อไป, Scorpio ปัสสาวะใส่หมวก (ในโบสถ์ร้าง), พบเห็นภาพ Adolf Hiter, สัญลักษณ์สวัสติกะ, ขับรถซิ่งตอนกลางคืน
  • The Surfaris: Wipe Out
    • ทุกสิ่งอย่างผสมผสานคลุกเคล้า ตัดสลับไปมาอย่างรวดเร็ว เพื่อนำสู่โศกนาฎกรรม
    • เป็นบทเพลงเดียวที่ไม่มีถ้อยคำร้อง เพียงท่วงทำนองเหมือนการเล่นโต้คลื่น (Surf) ทุกสิ่งอย่างถาโถมเข้าใส่
    • สำหรับคนคุ้นๆ คือเพลงหลักของ Pulp Fiction (1994)

ทั้งงานภาพ-ตัดต่อ-เพลงประกอบ สังเกตว่าจะมีความบ้าระห่ำ คลุ้มบ้าคลั่งขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ช่วงแรกๆจะพบเห็นแสงจร้าๆ ค่อยๆเก็บรายละเอียดช้าๆ บทเพลงฟังสบายๆ รู้สึกพักผ่อนคลาย แต่พอเข้าครึ่งหลังร่วมงานเลี้ยง Halloween กล้องเริ่มสั่นๆ โฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียน บางครั้งปกคลุมด้วยความมืด ตัดต่อรวดเร็วฉับไว สลับไปมาระหว่างหลากหลายเรื่องราวคู่ขนาน เพลงประกอบเร่งเร้าอารมณ์ขึ้นเรื่อยๆ และพอถึงไคลน์แม็กซ์ในสภาพมึนเมามาย มีการใส่ภาพซ้อน/ภาพหลอน ตัดต่อกระโดดไปมา ‘rapid cut’ และบทเพลง Wipe Out เพียงท่วงทำนอง ไม่หลงเหลือถ้อยคำร้องใดๆ

เกร็ด: จริงๆแล้วผกก. Anger ครุ่นคิดวิธีการนำเสนอ ‘เพลงประกอบภาพ’ ลักษณะนี้มาสักพักใหญ่ๆ แต่ส่วนใหญ่คือบทเพลงคลาสสิกจากคีตกวีเลื่องชื่อ (อย่าง Vivaldi) ซึ่งสำหรับ Scorpio Rising (1963) ถือเป็นครั้งแรกนำเอาเพลง Pop, Rock & Roll ผลงานศิลปินร่วมสมัยนั้นมาใส่ตรงๆเลย (หลายคนอาจสับสนกับ Rabbit’s Moon เรื่องนี้แม้ถ่ายทำเสร็จปี ค.ศ. 1950 แต่ถูกเก็บเข้ากรุแล้วนำออกฉาย ค.ศ. 1971 ด้วยบทเพลงยุค 60s)


‘biker subculture’ แม้เพียงวัฒนธรรมย่อย ของกลุ่มคนเล็กๆ แต่สามารถสะท้อนความ ‘สุดโต่ง’ ของวิถีอเมริกันยุคสมัยนั้น ชื่นชอบหลงใหลในวัตถุนิยม (Materialism) สิ่งที่พวกเขามองว่าหล่อ เท่ห์ กิ๊บเก๋ ดูดี เสื้อผ้า-หน้าผม เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย ปัจจัยภายนอกทั้งหลาย ผสมผสานสร้างอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ พิสูจน์การมีตัวตน นั่นคือวิธีเรียกร้องความสนใจ ให้ได้รับการยินยอมรับจากผู้คน/สังคมรอบข้าง

ความหลงใหลมอเตอร์ไซด์ ก็ไม่แตกต่างจากความเชื่อในสิ่งลี้ลับ (ซาตาน) ศรัทธาศาสนา (พระเจ้า) หรือแม้แต่ชาวเยอรมันคลั่งไคล้นาซี ล้วนคือสิ่งที่สร้างอิทธิพลต่อจิตใจ ผู้เป็นสมาชิกทำการยกย่อง เทิดทูน หมกมุ่นยึดติดราวกับถูกล้างสมอง ให้ความสำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใดในชีวิต

‘Scorpio Rising’ was my death mirror held up to American culture, a culture obsessed with death, with Thanatos in chrome, black leather, and bursting jeans.

Kenneth Anger

ของเล่นเด็กที่เหมือนจะไม่มีอะไรนี้ แต่ผมบังเอิญอ่านเจอข้อความวิจารณ์ “the woman, the toy, and the machine, all subject to male manipulation”. ทำให้ตระหนักว่ามันคือสัญลักษณ์ของการควบคุมครอบงำ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ (บีบ)บังคับให้วัตถุขยับเคลื่อนไหว กระทำสิ่งโน่นนี่นั่น ซึ่งการตัดต่อสลับไปมา (Cross-cutting) สามารถเปรียบเทียบตรงๆว่ารถมอเตอร์ไซด์ไม่ต่างจาก ‘ของเล่น’ สำหรับสนองตัณหาบุรุษเพศ

แซว: ในโน๊ตของผกก. Anger ให้คำนิยามซีนนี้ว่า “from toy to terror”

ผมเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะสัมผัสถึงความเกย์ของหนัง (มีคำเรียก ‘homoerotic’) เก็บรายละเอียดเรือนร่างผู้ชาย พบเห็นสัญลักษณ์ทางเพศมากมาย เป้ากางเกงตุงๆ ไอ้จ้อนวับๆแวมๆ หรือช็อตนี้ที่ชายกล้ามใหญ่ชาว Canadian ยืนถ่างขาเหนือกรวยจราจร มันช่างล่อแหลม หวาดเสียวถูกทิ่มแทงประตูหลัง

ปล. ผกก. Kenneth Anger กล่างอ้างว่าตนเองเป็นผู้กำกับเกย์ ‘เปิดเผย’ คนแรกของสหรัฐอเมริกา แต่เอาจริงๆไม่น่าใช่นะ เพราะใน Hollywood มีผู้กำกับเกย์/Bisexual อยู่พอสมควร อาทิ George Cukor, Vincente Minnelli, James Whale ฯ แต่ยุคสมัยก่อนมักไม่นิยมเปิดเผยสาธารณะ เพราะกลัวกันว่าอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผลงาน

ระหว่างที่ Scorpio ทำการเสพยาเข้าทางจมูก ผมชอบช็อตนี้มากๆเพราะมีเชือกคล้องคอแขวนอยู่เบื้องหลัง นั่นคือสัญลักษณ์ความตาย (แบบเดียวกับหุ่นยมทูต) แนะนำผู้ชมว่าอย่าลอกเลียนแบบตาม

วินาทีที่เขาสูดดมสารเสพติด (ก็ไม่รู้เฮโรอีนหรืออะไรนะ) จะมีการแทรกภาพหลอนเมายา พบเห็นพื้นหลังสีแดง หุ่นขี้ผึ้งแดร็กคูล่า (น่าจะ Bela Lugosi ไม่ใช่ Christopher Lee) ของเล่นตุ๊กตาตำรวจ (ที่เด็กชายเคยเล่นก่อนหน้านั้น) ทั้งหมดทั้งมวลล้วนคือสัญลักษณ์อันตราย เสี่ยงเป็น ความตาย

ผมลองค้นหาเล่นๆไม่คิดว่าจะพบเจอซีรีย์โทรทัศน์ The Living Bible (1952) ชื่อตอน The Last Journey to Jerusalem ความยาว 18 นาที เรื่องราวของพระเยซู หลังจากช่วยเหลือคนตาบอดให้กลับมามองเห็น เตรียมตัวออกเดินทางมุ่งสู่ Jerusalem สถานที่สุดท้ายก่อนถูกตรึงกางเขน

ผู้กำกับ Anger เล่าว่าได้ฟีล์มภาพยนตร์เรื่องนี้มาโดยบังเอิญ ราวกับสิ่งลึกลับ/พระเป็นเจ้าดลใจ ใครบางคนส่งฟีล์มผิดที่อยู่ วางทิ้งไว้หน้าบ้านระหว่างกำลังตัดต่อ Scorpio Rising (1963) ก็เลยเอามาแทรกแซมใส่เข้าไปในหนังเสียเลย

It was delivered to me accidentally while I was cutting Scorpio Rising and left on my doorstep because of a mistaken address and I just kept it and cut it into my film. It was serendipity from the ‘other’ powers or what ever you want to call them, not necessarily the gods but maybe the prankster gods.

After the film was shown all around the country, I got a letter from the Lutherans — “Aren’t you using our Sunday school film?” — and I said “Yes, it’s called ‘fair use'” and said, “You should be ashamed of showing this kind of cliche stuff to children.

Kenneth Anger

การตัดต่อคู่ขนานระหว่างซีรีย์โทรทัศน์พระเยซูเรื่องนี้กับหลายๆเหตุการณ์ในหนัง เป็นความพยายามสร้างภาพเปรียบเทียบ ให้พบเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองสามสิ่ง พระเจ้า-ซาตาน นาซี-ซิ่งมอเตอร์ไซด์ ไม่เห็นจะแตกต่างกันตรงไหน ในมุมมองผกก. Anger มันคือสรรพสิ่งหนึ่งเดียวกัน!

ช่วงท้ายของหนังจะมีภาพหัวกระโหลก(น่าจะ)หญิงสาว คาบบุหรี่ข้อความ YOUTH เห็นว่านำจากหน้าปกนิตยสาร Look ฉบับวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 จะว่าไปข้อความตรงหน้าอกหญิงสาว (ไม่เห็นในภาพยนตร์) Twenty Years of Peace War ก็พอๆกับระยะเวลาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1945) จนถึงตอนที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย (ค.ศ. 1963)

ภาพกระโหลกศีรษะ ก็ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ความตาย สิ่งที่หนัง/ผกก. Anger เต็มไปด้วยหมกมุ่น เชื่อมั่นศรัทธายิ่งกว่าพระเป็นเจ้าเสียอีก และมองสังคมอเมริกันว่ามีสภาพตกต่ำทราม ใกล้ถึงจุดล่มสลาย พังทลาย หายนะกำลังมาถึง

เท่าที่ผมพูดคุยกับ ChatGPT เล่าว่ากระแสวัฒนธรรมย่อย ‘biker subculture’ เริ่มได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกมองเป็นสัญลักษณ์เสรีชน คนหัวขบถ ต่อต้านขนบสังคม (Counter-cultural) เลยไม่แปลกจะถูกคนทั่วไปมองว่าเป็นภัย อันตราย ชอบใช้ความรุนแรง ได้ยินแต่ข่าวคราวเสียๆหายๆ

The Wild One (1953) ของ Marlon Brando คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่จุดกระแสวัฒนธรรมย่อย ‘biker subculture’ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยเฉพาะแฟชั่น เสื้อผ้า สีหน้าท่าทาง คำพูดคมๆ บุคลิกภาพหัวขบถ/ต่อต้านสังคม รวมถึงขับรถมอเตอร์ไซด์อย่างเท่ห์ นั่นคือภาพลักษณ์ ‘iconic’ ติดประจำตัว Brando ก่อนผู้ชมยุคหลังๆจะเปลี่ยนภาพจำมาเป็นเจ้าพ่อมาเฟียแห่ง The Godfather (1972)

(จะว่าไปเครื่องแบบแต่งกายของ Scorpio ก็รับอิทธิพลมาจาก Brando ในภาพยนตร์ The Wild One (1953) อยู่ไม่น้อยเลยนะ!)

It’s really about rebellion, the energy of youth, and the excitement and danger of being outside society’s boundaries.

Kenneth Anger

Scorpio Rising (1963) ทำการบันทึกภาพวิถีชีวิต กิจวัตรของแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง จริงอยู่เรื่องราวของคนกลุ่มนี้แทบไม่ได้มีสาระประโยชน์อะไร แต่มันคือการสะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้น “live fast die young” ชักชวนผู้ชมให้ขบครุ่นคิดว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ถึงทำให้คนหนุ่ม(สาว)แสดงพฤติกรรม กระทำสิ่งต่างอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง ระห่ำเกินขอบเขตทางศีลธรรม แถมไม่สนห่าเหวใดๆทั้งนั้น!

มันอาจจะคนละยุค คนละสมัย คนละคลาสเสียด้วยซ้ำ แต่ผมมองว่าแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่งสมัยนั้น ไม่ต่างอะไรจากเด็กแว๊นสมัยนี้! หลายคนอาจมองแต่แง่มุมร้ายๆ วัยรุ่นสร้างความวุ่นวาย กระทำสิ่งผิดกฎหมาย แต่ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจเหตุผลการรวมกลุ่มพวกเขา ต้องการพื้นที่สำหรับแสดงออก ระบายความอัดอั้น ‘พิสูจน์ตนเอง’ รวมถึงการได้พบปะเพื่อนฝูงที่มีความชื่นชอบ/รสนิยมเดียวกัน มันคือการค้นพบอัตลักษณ์ ตัวตน ได้รับการยินยอมรับจากผู้คน

I wanted to express the Luciferian aspect of the bike gangs – this kind of rebel, outlaw thing. They are like fallen angels. I think the American biker boys have a tendency towards Lucifer, the fallen angel. They are drawn to the power and the excitement of it, and they play with the danger.

ในแง่มุมศาสนาของผกก. Anger เป็นคนที่หมดสูญสิ้นศรัทธาต่อพระเจ้า บนหน้าอกของเขามีรอยสัก Lucifer [หลังจากนี้ก็มีสรรค์สร้างหนังสั้น Lucifer Rising (1972) นำเสนอปีศาจผุดขึ้นมาจากขุมนรก] เลยไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเปรียบเทียบ ‘biker subculture’ แม้เป็นเพียงวัฒนธรรมย่อย คนกลุ่มเล็กๆ แต่พฤติกรรมสุดโต่งคลุ้มบ้าคลั่ง สะท้อนถึงจุดตกต่ำของสหรัฐอเมริกาได้อย่างชัดเจน ‘hell-raising biker’ เชื่อว่าดินแดนแห่งนี้จักกลายเป็นขุมนรกในอีกไม่ช้านาน

เกร็ด: ในหนังสั้น Lucifer Rising (1972) ผกก. Anger กล่าวอ้างว่าตัวเขาได้สาปแช่งนักแสดง Bobby Beausoleil ซึ่งต่อมาชายคนนี้เข้าร่วมแก๊งค์ Manson Family แล้วเข่นฆาตกรรม Gary Hinman ก่อนถูกจำคุกตลอดชีวิต

Scorpio คือราศีพิจิกในทางโหราศาสตร์ (Astrology) อยู่ระหว่างราศีตุลกับราศีธนู สัญลักษณ์แมงป่อง ใครเกิดราศีนี้มักเป็นคนมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง เต็มเปี่ยมด้วยพละพลัง บุคคลิกภาพทรงเสน่ห์ แรงดึงดูดน่าหลงใหล มีความสามารถในการเติบโต เปลี่ยนแปลงตนเอง และตามคำอธิบายของผกก. Anger ยังเหมารวมถึงพลังงานทางเพศ (Sex Energy) ซึ่งมีลักษณะ ‘Rising’ หรือ ‘Ascendant’ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้คำว่า ‘rising’ ยังเป็นเหมือนคำเรียกการเติบโตของวัฒนธรรมย่อย (Subculture) ไม่แน่ว่าสักวันอาจได้รับความนิยม แพร่หลายในวงกว้างจนกลายเป็นวัฒนธรรมหลัก … ช่วงปีที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย ค.ศ. 1963-64 ยังไม่ใช่จุดสูงสุดของ ‘biker subculture’ ต้องรอจนกว่าการมาถึงของ Easy Rider (1969) ทำให้สามารถแพร่หลายไปทั่วโลก (มาถึงประเทศไทยด้วยนะ) แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นเพียงวัฒนธรรมย่อย ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มเท่านั้นเอง


หนังฉายรอบปฐมทัศน์ช่วงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1963 ยัง Gramercy Arts Theater ณ New York City หลังจากนั้นกลายเป็นโปรแกรมฉายควบ (Double-Billes) ร่วมกับ Chafed Elbows (1966) กำกับโดย Robert Downey Sr. ด้วยทุนสร้าง $16,000 เหรียญ (เฉพาะค่าลิขสิทธิ์บทเพลงจ่ายไปครึ่งหนึ่ง $8,000 เหรียญ) ไม่รู้เหมือนกันว่าจะสามารถทำกำไรได้บ้างรึเปล่า

เสียงตอบรับเมื่อตอนออกฉายก็มีทั้งดีสุดขั้วและชั่วสุดขีด ชื่นชมในแนวคิด วิธีการ ความคิดสร้างสรรค์ การทดลองแปลกใหม่ “Landmark of Undergrond Cinema” ส่วนฝากฝั่งตรงกันข้าม รับไม่ได้กับความรุนแรง ประเด็นอ่อนไหว หลายสิ่งต้องห้ามในยุคสมัยนั้น

Scorpio Rising, a visual rock poem of the motorcycle set, breaks ground by treating homosexuality so openly. But it’s a cold, humorless and truly repellent film.

Kevin Thomas เขียนวิจารณ์ลงนิตยสาร Los Angeles Times

Kenneth Anger’s ‘Scorpio Rising’ is a landmark of underground cinema, an exhilarating and provocative exploration of sexuality and rebellion. Through its audacious use of editing and imagery, the film immerses the viewer in a sensory experience that challenges societal norms. Anger’s fusion of pop culture, religious iconography, and biker culture creates a visually striking and thematically rich work of art.

Jonas Mekas เขียนวิจารณ์ลงนิตยสาร Village Voice

ขณะที่บรรดาแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง เมื่อมีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แสดงความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกลิ่นอายความเป็นเกย์ เหม็นหึ่ง!

Man, it was a bummer, it wasn’t right. A lot of people got conned, and now we have to listen to all this crap about us being queers? Shit, did you see the way those punks were dressed? And those silly goddamn junk wagon bikes. Man, don’t tell me that has any connection with us.

หนึ่งในสมาชิกแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง Hell’s Angel

ปัจจุบัน BFI Video ได้ทำการบูรณะผลงานของผกก. Anger จำนวน 9 เรื่อง คุณภาพ 2K รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Magick Lantern Cycle: Kenneth Anger (1947-72) ประกอบด้วย Fireworks (1947), Puce Moment (1949), Rabbit’s Moon (1950), Eaux d’ Artifice (1953), The Inauguration of the Pleasure Dome (1954), Scorpio Rising (1963), Kustom Kar Kommandos (1965), Invocation of My Demon Brother (1969) และ Lucifer Rising (1972)

ระหว่างรับชม Scorpio Rising (1963) ทำให้ผมระลึกถึงภาพยนตร์ของผู้กำกับ Humphrey Jennings เกิดความรู้สึกแบบเดียวกันเปี๊ยบ คือกระตือรือร้น ขวนขวายหาผลงานอื่นๆ(ของผกก. Anger)มารับเชยชม เรื่องที่ผมทำตัวหนา(ย่อหน้าก่อน) คุณภาพบอกเลยว่าไม่ธรรมดา อยากเขียนถึงแต่คงไม่มีเวลา

เอาจริงๆ Scorpio Rising (1963) เกือบจะเป็นหนังโปรดเรื่องใหม่ คลั่งไคล้หลายๆบทเพลงรู้จักมักคุ้น กลายเป็นมิกซ์เพลงฮิตติดหู เทคนิคจัดจ้าน ลีลาตัดต่อบ้าระห่ำ แต่ประเด็นคือหนังมันไม่มีเนื้อหาสาระอะไร (ผิดกับ Listen to Britain (1943) ที่สร้างพละกำลัง ขวัญกำลังใจ ชวนเชื่อได้งดงามทรงพลัง) เพียงนำเสนอเสรีภาพชีวิต กิจวัตรแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง สะท้อนสภาพสังคมทศวรรษ 50s-60s และความเป็นศิลปิน/ตัวตนเอง ‘สไตล์ Anger’ เก็บฝังไว้ใน ‘Time Capsule’

จัดเรต 18+ กับความสุดเหวี่ยงของแก๊งค์ซิ่งมอเตอร์ไซด์ สัญลักษณ์ทางเพศ/รักร่วมเพศ ต่อต้านศาสนา นาซี

คำโปรย | Scorpio Rising ไม่ใช่แค่มิกซ์เพลงฮิต แต่คือยาเสพติดที่จะทำให้ผู้ชมคลุ้มบ้าคลั่ง (ทางใดก็ทางหนึ่ง)
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | คลั่งไคล้โคตรๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: