Secret Sunshine (2007) : Lee Chang-dong ♥♥♥♡
สูญเสียทางกายยังพอมีหนทางให้มนุษย์เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แต่เมื่อใดหมดสิ้นความเชื่อศรัทธาทางใจ อาจทำให้กลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติแตก, Miryang (แปลว่า Secret Sunshine) คือเมืองเล็กๆห่างไม่ไกลจากกรุง Busan สถานที่ซึ่งแสงสว่าง-ความมืด ท้องฟ้า-ผืนดิน สิ่งมองเห็น-ไม่เห็น สะท้อนเติมเต็มกันและกันอย่างสมบูรณ์, นำแสดงโดย Jeon Do-yeon คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความคาดหวังสูงยิ่ง ก็ตั้งแต่ผ่านตากับ Peppermint Candy (2000) และ Poetry (2010) เกิดความประทับใจอย่างยิ่งยวดในไดเรคชั่นของ Lee Chang-dong ถือเป็นผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์โดดเด่นล้ำ สามารถสื่อสารผ่านภาษาภาพยนตร์ได้อย่างประณีตบรรจง งดงามระดับสากล, แต่จะบอกว่า Secret Sunshine สร้างความผิดหวังให้พอสมควร เหมือนเขาจะไม่คล่องแคล่วในประเด็นวิพากย์ศาสนา/พระเจ้า พยายามประณีประณอมมากเกินไป จนดูขัดแย้งกับมุมมองทัศนคติของตนเอง
นั่นคงเพราะ Lee Chang-dong มิได้เติบโตขึ้นในความเชื่อคริสเตียน (ก็ไม่รู้นับถือพุทธ หรือเป็นคนไร้ศาสนานะ) แต่เขามองเห็นการเติบโตของศาสนาคริสต์ในกรุง Seoul เพิ่มขึ้นต่อเนื่องรวดเร็ว อย่างค่อนข้างน่าตื่นตระหนก Yoido Full Gospel Church (โบสถ์ขนาดใหญ่สุดในโลก) สามารถรองรับฝูงชนครั้งหนึ่งได้ 26,000 คน ปริมาณสมาชิกเมื่อปี 2007 ประมาณกว่า 830,000 คน (ปี 2015 ลดลงเหลือ 480,000 คน)
(อันนี้ไม่ชัวร์นะ ผมอาจคิดไปเองก็ได้ว่า Yoido Full Gospel Church มีความคล้ายคลึงกับธรรมกายบ้านเรา ปัจจุบันกำลังค่อยๆเสื่อมความนิยมลงแต่เดี๋ยวเส้นสายกลับมาคงหวนคืนความยิ่งใหญ่ได้)
แต่ใจความจริงๆของหนัง เป็นเรื่องราวเชิงจิตวิทยา นำเสนอพฤติกรรมแสดงออก อาการเสียสติแตก ‘Nervous Breakdown’ ของแม่หม้ายยังสาวคนหนึ่ง หลังสูญเสียลูกชายไปกับการลักพาตัว หมดสิ้นความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า สุดท้ายแล้วชีวิตจะยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ให้ดำเนินเดินต่อไปได้
Lee Chang-dong (เกิดปี 1954) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติเกาหลี เกิดที่ Daegu เมืองแห่งนักการเมืองอนุรักษ์นิยม (Right-Wing) เรียนจบสาขาวรรณกรรมเกาหลีจาก Kyungpook National University กลายเป็นครูสอนหนังสือ เขียนบท กำกับละครเวที พออายุ 40 กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Green Fish (1997) ประสบความสำเร็จล้นหลาม, ตามด้วย Peppermint Candy (2000) กวาดรางวัลมากมาย, Oasis (2002) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้า 4 รางวัล รวมถึง Special Director’s Award และ FIPRESCI Prize (ของนักวิจารณ์)
ก็ตั้งแต่เสร็จจาก Oasis วางแผนดัดแปลงเรื่องสั้น The Story of Insects แต่งโดย Yi Chong-jun (1939 – 2008) นักเขียนชื่อดังสัญชาติเกาหลี ที่เคยมีผลงานได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ คือ Seopyeonje (1993) กำกับโดย Im Kwon-taek
แต่เพราะช่วงระหว่างปี 2003 – 2004 ได้รับคำขอจากปธน. Roh Moo-hyun ที่ต้องการเลือกบุคคลผู้อยู่ในสายงาน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยว ซึ่งคนในวงการภาพยนตร์ต่างเสนอชื่อ Lee Chang-dong กลายเป็นนักการเมืองแบบไม่เคยคาดคิดหวังถึง
“I never thought that this was an outfit that suited me particularly well, but had to accept it as one of those bitter cups one has to accept in the course of life”.
เมื่อลงจากตำแหน่งก็ถึงเวลาหวนกลับคืนโปรเจคที่ตนเองใคร่สนใจก่อนหน้า ออกเดินทางค้หาสถานที่ถ่ายทำ เลือกเมืองชนบทเล็กๆ Miryang, จังหวัด Gyeongsangnam-do ทางตอนใต้ของประเทศ อยู่ติด Busan และ Daegu (เมืองบ้านเกิดของผู้กำกับ) ห่างจากกรุง Seoul ประมาณ 280 กิโลเมตร
Lee Shin-ae (รับบทโดย Jeon Do-yeon) และลูกชาย อพยพเดินทางจากเมืองหลวงสู่ Miryang บ้านเกิดของสามีที่พลันด่วนเสียชีวิตจากไป ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นครูสอนเปียโน ระหว่างทางดันรถเสียทำให้มีโอกาสรู้จักกับช่างยนต์ Kim Jong-chan (รับบทโดย Song Kang-ho) ที่พยายามให้การสนับสนุนช่วยเหลือทุกสิ่งอย่าง (แต่เธอก็ไม่เคยหันมาเหลียวแลเขาแม้แต่น้อย) เรื่องราววุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อลูกชายหัวแก้วหัวแหวนถูกลักพาตัวหายออกจากบ้าน อุตส่าห์นำเงินจ่ายค่าไถ่แต่กลับได้รับความสูญเสีย ด้วยความหมดสิ้นอาลัยตายอยากตัดสินใจเข้าร่วมมิสซา เกิดศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าล้นพ้นจนสามารถยินยอมให้อภัยฆาตกรที่ฆ่าลูกของตนได้ แต่เมื่อพบว่าหมอนั่นในคุกกลับมีสีหน้าตาอิ่มเอิบ แสดงออกมาว่าพระองค์ได้ให้อภัยการกระทำของเขาแล้ว นั่นทำให้หญิงสาวหมดสิ้นเรี่ยวแรงความเชื่อมั่น คิดมโนไปว่าตนเองถูกหักหลักธนูปักเข่า กลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติแตก ต้องการตอบโต้เอาคืนทุกสิ่งที่ทำให้กลายเป็นเช่นนี้
Jeon Do-yeon (เกิดปี 1973) นักแสดงหญิงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Seoul ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ รับบทแจ้งเกิดในซีรีย์โทรทัศน์ Our Paradise ได้รับฉายา Chameleon เพราะสามารถรับบทได้หลากหลาย ภาพยนตร์เรื่องแรก The Contact (1997) กวาดรางวัล Best New Actress จากทุกสำนัก, โตขึ้นรับบทผู้ใหญ่ครั้งแรก Happy End (1999) กวาดรางวัลนับไม่ถ้วนเช่นกัน ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ I Wish I Had Wife (2001), You Are My Sunshine(2005), โด่งดังระดับโลกกับ Secret Sunshine (2007), The Housemaid (2010) ฯ
รับบท Lee Shin-ae แม่หม้ายสาวผู้พานพบประสบทุกอารมณ์ของชีวิต ตั้งแต่
– สามีคบชู้นอกใจ เสียชีิวตจากไปพลันด่วน ซึมเศร้าเพราะยังคิดถึงรักมาก
– เหลือลูกคนเดียวก็ตามใจจนเหลิง คงเป็นช่วงชีวิตมีความสุขที่สุดแล้ว
– ลูกรักจากไปคนเป็นแม่ย่อมเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้หลั่งน้ำตา
– เมื่อได้ความเชื่อมั่นศรัทธาคืนมา ราวกับมนุษย์เกิดใหม่ สดใสแจ่มใส ยิ้มได้แม้ในวันทุกข์ทรมาน
– หลงผิดคิดว่าตัวเองถูกทรยศ คราวนี้บ้าคลั่งเสียสติแตก กร้านโลก ทำตัวขบถ ขัดแย้งทุกสิ่งอย่าง
– สุดท้ายเมื่อชีวิตหมดสิ้นไม่หลงเหลืออะไรแล้ว อะไรจะเกิดก็ช่างแม้ง เป็นตัวคนเดียวของตนเองดีกว่า
หลายครั้งของตัวละครนี้ ที่สภาวะทางจิตใจเกิดความขัดแย้งหรือสูญเสียบางสิ่งอย่าง มันจะสะท้อนแสดงออกมาทางร่างกาย ไม่ใช่แค่สะอื้นร้องไห้ แต่ยังปวดท้อง ดิ้นทุรนทุราย อ๊วกแตกอ๊วกแตน รุนแรงก็คือโดยไม่รู้ตัว กรีดข้อมือตนเองแบบไร้ความรู้สึกสามัญสำนึกถูกผิด
นี่เป็นบทบาทที่ใช้พลังมากเหลือเกิน แถมมีความหลากหลายค่อนข้างสูง ซึ่งการแสดงของ Do-yeon ก็สมฉายากิ้งก่าเปลี่ยนสี ยอดเยี่ยมทรงพลังทุกช่วงขณะอารมณ์ รอยยิ้มความสุขทำให้โลกมีสีสันสดใส แต่วินาทีเสียสติแตกบ้าคลั่งผู้ชมก็จักรวดร้าวระทมทุกข์ร่วมไปกับเธอ, สังเกตว่า Do-yeon ไม่ได้ใช้เครื่องสำอางค์ใดๆ หน้าสดคิ้วบาง ดูเป็นธรรมชาติจากภายในที่สุดแล้ว
Song Kang-ho (เกิดปี 1967) นักแสดงสัญชาติเกาหลี เกิดที่ Gimhae, จังหวัด South Gyeongsang เรียนจบสาขาการสื่อสารจาก Busan Kyungsang College เข้าร่วมกลุ่มนักแสดงละครเวที จนครั้งหนึ่งได้เป็นตัวประกอบ The Day a Pig Fell into the Well (1996), แจ้งเกิดกับ No.3 (1997), ตามด้วย Joint Security Area (2000), Memories of Murder (2003), The Host (2006), The Show Must Go On (2007), Thirst (2009), The Attorney (2013), A Taxi Driver (2017) ฯ
รับบท Kim Jong-chan ช่างซ่อมรถตัวประกอบ ผู้ขันอาสาช่วยเหลือ Lee Shin-ae ในทุกๆย่างก้าวของชีวิต แต่คงเพราะไม่ใช่สเป็คจริงๆตามที่น้องชายเธอบอก ทำดีอะไรเลยไม่เคยถูกเหลียวแล
การแสดงของ Kang-ho ไปๆมาๆกลายเป็น Comedy เรียกเสียงหัวเราะ ตัวประกอบผู้สร้างสีสัน สุภาพบุรุษกินไม่ได้ (เพราะความไม่หล่อ) แต่ก็ไม่ใช่ SNOB เสแสร้งแกล้งทำดังที่นางเอกว่านะครับ เพราะความแอบชอบมันก็เลยมีมากเป็นธรรมดา ทำทุกอย่างให้เธอเห็นค่าเสมอต้นเสมอปลาย สักวันลมต้องพัดหวนมาหาตนเองได้แน่, ว่าไปบทบาทของ Kang-ho ถ้าไม่เครียดจริงจังฆ่าคนตาย ก็เพี้ยนๆตีหน้าเซ่อเหรอแบบเรื่องนี้แหละ
ถ่ายภาพโดย Jo Yong-gyu, ทั้งเรื่องใช้กล้อง Hand Held ถือเดินถ่ายสั่นๆ (แม้แต่ Static Shot ก็เถอะ) สะท้อนถึงวิถีธรรมชาติของชีวิตที่ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา และจิตใจของหญิงสาวที่ไม่มีวินาทีไหนนิ่งสงบในสภาวะปกติ
เลือกใช้โทนสีฟ้า-ขาว-น้ำตาล คงเป็นการสะท้อนสีของ ท้องฟ้า-ความบริสุทธิ์-พื้นดิน, นี่ถือเป็นความแปลกประหลาดประการแรกของหนัง เพราะใจความที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจของหญิงสาว แต่กลับมิได้ถูกสะท้อนออกมาผ่านสถานที่ โทนสี หรือลักษณะของการถ่ายภาพ ราวกับว่าพื้นหลังการออกแบบฉากคือสิ่งหนักแน่มั่นคง มีเพียงภายในของมนุษย์เท่านั้นแหละที่จะปรวนแปรเปลี่ยน
ช็อตแรกของหนังภาพท้องฟ้า-แสงอาทิตย์ จะสะท้อนตรงกันข้ามกับช็อตจบ ผืนดิน-เงามืด, รถเสียกลางทาง มีนัยยะถึง การเดินทางของชีวิตที่ไม่สุขสมหวังสู่เป้าหมาย ต้องพบเจออุปสรรคปัญหาระหว่างทางตลอดเวลา (อาทิ สามีเสีย, ลูกหาย, ศรัทธาสูญสิ้น ฯ) ซึ่งบุคคลที่เดินทางมาช่วยเหลือ เขาผู้นั้นได้อยู่เคียงหญิงสาวไปตลอดทั้งเรื่อง แต่เธอกลับไม่เคยแยแสสนใจสักกะนิด
ผมขอเรียกช็อตนี้ว่า ‘อุ้มครรภ์’ เด็กทารกที่อยู่ในครรภ์ก็มักนั่งยองๆงอตัวแบบนี้ ซึ่งนั้นคือช่วงเวลา แม่-ลูก สนิทสนมชิดเชื้อเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน(ทางกาย) แต่เมื่อลูกน้อยเติบใหญ่ โอบกอดรัดท่านี้สะท้อนถึงการเป็นของกันและกัน (ทางใจ)
นี่เป็นช็อตที่ผมชอบสุดของหนังแล้วนะ และมีต่อเมื่อแม่บอกว่า จะวางลงแล้วนะ นั่นราวกับท่าคลอดลูกไม่ผิดเพี้ยน
มันจะมีฉากที่เหมือนจะโคตรไร้สาระ หนุ่มๆกำลังส่องมองหญิงสาว(น่าจะลูกจ้าง)
– ต้นเรื่อง ถามถึงใส่กางเกงใน G-Sting หรือเปล่า
– กลางเรื่อง เธอใส่บราหรือเปล่า
สองสิ่งนี้มันสื่อถึง กาย-ใจ ได้หรือเปล่านะ? เพราะเรื่องราวของหนัง ครึ่งแรกเกี่ยวกับการสูญเสียลูกรัก (ทางกาย) ครึ่งหลังคือหมดสิ้นความเชื่อศรัทธา (ทางใจ) ต้องใช้จินตนาการสูงมาถึงสามารถเปรียบเทียบกับ G-String, เสื้อใน กับสองสิ่งที่ว่ามานี้
เมื่อพูดถึง กาย-ใจ ก็มักพบเห็นกระจกที่ใช้สะท้อนบางสิ่งอย่างที่หลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจของตัวละคร หรือช็อตนี้ที่สุดงงๆว่ามันอะไรยังไง นางเอกตัดผมอยู่ในห้องหนึ่ง (เห็นหน้าจากกระจกที่สะท้อน) ขณะที่เพื่อนบ้านสามคนนั่งอยู่อีกห้องหนึ่งงั้นหรือ
นัยยะของฉากนี้สะท้อนถึงสันดาน/สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ตัวตนของคนในเมือง Miryang ก็จากเรื่องเล่าที่เพื่อนบ้านเล่าออกมา ถือว่าแทงใจดำนางเอกได้อย่างเจ็บแสบรวดร้าว
Long Shot ที่เป็น Long Take ของฉากนี้ ทำให้ผู้ชมมิมีโอกาสเหตุการแสดงออกของหญิงสาวในสภาวะอาการเสียสติแตกจากการสูญเสีย, นี่เป็นอีกความประหลาดหนึ่ง มากสุดแค่เดินไถลตอนลงจากถนน แต่ก็แค่นั้นแหละครับ ไม่ทำให้ผู้ชมสัมผัสรู้สึกใดๆทั้งนั้น
แม่ยายพูดจาแสดงความไม่พึงพอใจกับลูกสะใภ้ ตำหนิต่อว่าเป็นปีศาจนางมารร้ายโดยไม่สนหัวอกใคร (นี่คงคือเหตุผลกระมังที่ทำให้เธอต้องการตัดขาด ไม่คบหาสมาคมกับญาติๆของตนเองอีก) แล้วอยู่ดีๆพระเอกก็ทำตัวเป็นพระเอกเข้ามายุ่งเสือกตำหนิต่อว่า ถูกตอกกลับก็แล้ว แต่ก็ไม่ยินยอมเลิกราง่ายๆ
ผมเห็นด้วยกับการกระทำของพระเอกมากๆเลยนะ เป็นฉากมีความเป็นสุภาพบุรุษโคตรหล่อที่สุดแล้ว ตัวเขาคงไม่ได้อยากยุ่งเสือกเรื่องของชาวบ้านหรอก แต่คำพูดจาแบบนั้นของแม่ยาย ราวกับเสียงร้องครวญครางของเปรตขอส่วนบุญ พูดดีเพื่อให้คืนสติรู้ตัว (แต่คนส่วนใหญ่คงมองว่ามันโคตรไร้สาระเลย)
ทำไมต้องแข่งกันนั่งยองๆ, ท่านี้มันคล้ายๆกับกบ สะท้อนถึงวิวัฒนาการความเป็นมนุษย์ที่ถอดถอยจากการยืนสองขา ย่อตัวลงนั่งติดดิน คือความสูญสิ้นหลายๆอย่างในชีวิต
น่าจะเป็นฉากยอดเยี่ยมสุดในหนังของ Jeon Do-yeon จากสีหน้าอิ่มเอิบเอ่อล้นด้วยพลังความเชื่อมั่นศรัทธาแรงกล้า เมื่อได้รับรู้บางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น ค่อยๆแปรสภาพเปลี่ยนไปทีละน้อย กลายเป็นความผิดหวัง ช็อค รับไม่ได้ ราวกับถูกหักหลังจากพระผู้เป็นเจ้า จิตใจหมดสิ้นสูญทุกสิ่งอย่างที่เคยตั้งใจมา หลังออกจากคุกร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านรับไม่ได้ เดินซวนเซหมดเรี่ยวแรงถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลนอนให้น้ำเกลือ
ในเมื่อจิตใจไม่หลงเหลืออะไรสักอย่าง เธอเลยป้ายสีความผิดให้พระผู้เป็นเจ้าที่โกหกหลอกลวงตนเอง เลิกเข้าโบสถ์, ขโมยของ, ก่อกวนกิจกรรมของชาวคริสต์, ยั่วเย้ายวนให้ชายคนหนึ่งเป็นชู้ร่วมรักกับตน ฯ
นี่เป็นช็อตน่าสนใจมากๆ ถ่ายกลับหัวเพื่อสะท้อนถึงการกระทำที่กลับตารปัตรถูก-ผิด จากอดีตที่เคยเชื่อมั่นศรัทธา ปัจจุบันสูญเสียสิ้นทุกอย่าง แถมยังพูดจาสบประมาทพระเจ้า ก่อนถูกสวนจนถือได้ว่าเป็นผู้พ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์
ก่อนที่หญิงสาวจะกรีดข้อมือตนเอง เธอกำลังปอกกินแอปเปิ้ล ผลไม้ที่ Adam กับ Eve ลักลอบแอบกินในสวนอีเดน ทำให้พวกเขาไม่เพียงทำผิดกฎของพระเจ้า แต่ยังก่อให้เกิดกิเลสความชั่วขึ้นมาครั้งแรกของโลก, ทีแรกผมคิดว่าเธอจะฆ่าตัวตายเสียอีกนะ เพราะเพี้ยนเสียสติแตกขนาดนั้นแล้ว ไม่น่าจะคิดอยากมีชีวิตอยู่ต่อเป็นแน่ กระนั้นก็แค่กรีดแขน (ใช้มุมกล้องจับจ้องเฉพาะใบหน้าของเธอ ก่อนเคลื่อนลงมาให้เห็นว่าทำอะไร) แล้วออกไปเรียกร้องความสนใจอยู่ตามท้อง
หลังจากสงบสติอารมณ์ของตนเองลงได้ ข้อสรุปของหญิงสาวก็คือ ต่อจากนี้จะไม่เชื่ออะไรใครอีกแล้วนอกจากตนเอง, พระเจ้าเคยให้คำแนะนำสอนว่า จงให้อภัยผู้อื่น ซึ่งตอนเธอเข้าร้านตัดผมพบเจอใครบางคน ตัดไปได้ครึ่งหนึ่งเผ่นออกนอกร้าน เลือกที่จะไม่ให้อภัยใครคนนั้น
ทรงผมข้างหนึ่งยังยาว อีกข้างถูกตัดเล็ม สองข้างไม่เท่ากัน สะท้อนถึงชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องเท่ากันพอ อยู่ในกฎกรอบบริบทของสังคม เลือกเป็นตัวของตนเองไม่ต้องสนใจใคร
เจ้าของร้านเสื้อผ้าที่ตอนต้นเรื่องตกแต่งร้านสีดำ กลางเรื่องพูดประชดประชันนางเอกไว้ที่ร้านตัดผม แต่ช่วงท้ายดันปรับปรุงร้านเปลี่ยนใหม่เป็นโทนสีขาว, การตกแต่งภายในร้านค้า มีนัยยะตรงๆถึงจิตใจของเราเอง เปลี่ยนจากสีดำเป็นขาวสลับขั้วตรงข้าม ดีเป็นชั่ว เคยเชื่อมั่นศรัทธาในใคร ปัจจุบันก็เลิกเคารพนับถือโดยสิ้นเชิง ฯ
ถึงจะบอกว่า หญิงสาวได้ตัดสินใจไม่เชื่ออะไรใครอีก ต้องการทำทุกอย่างด้วยตนเองเท่านั้น แต่การตัดผมเองช็อตนี้ ก็ยังยินยอมให้คนอื่น(พระเอก)ช่วยถือกระจกให้ จริงๆหมอนี่ก็ไม่จำเป็นหรอกนะ แต่เป็นการสะท้อนบอกว่า การมีใครอื่นในชีวิตที่เชื่อใจพึ่งพาได้ จะทำให้ชีวิตมีความสุขสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น
ตัวตนใหม่ของนางเอกสะท้อนเป็นภาพอยู่ในกระจก กำลังตัดผมยาวที่คืออดีตโยนทิ้งไป สื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ของชีวิต … ที่รับรู้แน่ๆคือ เธอคงไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าอีกต่อไปแล้ว แต่จะยินยอมรับพระเอกหนุ่มไหม อันนี้คงไม่มีใครตอบได้แน่
ช็อตสุดท้ายของหนัง สะท้อนกับภาพแรกต้นเรื่อง ท้องฟ้า-ผืนแผ่นดิน สื่อนัยยะได้หลายอย่าง อาทิ จากสรวงสวรรค์ตกลงสู่ผืนแผ่นดิน/ขุมนรก, เพ้อฝัน-ความเป็นจริง, เป้าหมายกว้างไกล-ทางตันสิ้นสุด, ร่าเริงสดใส-ทุกข์ทรมาน ฯ
ตัดต่อโดย Kim Hyeon ขาประจำของ Lee Chang-dong ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Happy End (1999), The Warrior (2001), Lover’s Concerto (2002) ฯ
มุมมองการเล่าเรื่องเกือบทั้งหมดเป็นของ Lee Shin-ae เกาะติดพบเห็นปฏิกิริยาแสดงออก ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามเหตุการณ์ ช่วงเวลาต่างๆ (ขณะที่เรื่องราวของ Kim Jong-chan คงที่เสมอต้นเสมอปลาย)
แม้การดำเนินเรื่องจะมีลักษณะเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า แต่หลายครั้งจะกระโดดข้ามช่วงเวลาไปอย่างรวดเร็ว โดยรับรู้อะไรมิได้เลย อาทิ วันที่รถเสียกลางทาง พอผ่านเหตุการณ์นั้นมาก็จะกระโดดไปตอนมีบ้านเช่า ตกแต่งโรงเรียนสอนดนตรีเสร็จแล้ว (นั่นน่าจะเป็นเดือนๆถัดมาเลยนะ)
เพลงประกอบโดย Christian Basso สัญชาติ Argentine ก็ไม่รู้ไปเข้าหูรู้จักผู้กำกับ Lee Chang-dong ได้อย่างไร, Main Theme ชื่อ Criollo แม้ท่วงทำนองจะไม่มีความเป็นเกาหลีสักนิด แต่ด้วยจังหวะและสัมผัสออกแนว Modern Country สามารถสัมผัสถึงเมือง Miryang ได้อย่างมีเสน่ห์เฉพาะตัว แปลกแตกต่างไม่เหมือนใครดี
ว่าไปบทเพลงไม่ได้สะท้อนอารมณ์ใดๆของตัวละคร/เรื่องราว ออกมาสักกะนิด ฉากที่นางเอกไปชี้ตัวศพลูกชาย เสียงต่ำเชลโล่รองความรวดร้าวไว้ แต่เสียงสูงไวโอลินฟังดูมีความครึกครื้นเครง ออก Comic นิดๆ นี่สะท้อนความเป็นเอกเทศน์ของเพลงประกอบ คล้ายๆสไตล์ของ Nino Rota หรือ Ennio Morricone อาจจะแต่งขึ้นก่อนด้วยซ้ำ แล้วให้ผู้กำกับเลือกใช้แทรกประกอบเข้าไปในหนังเองตามความสนใจ
Secret Sunshine ความหมายของคำนี้ก็ไม่รู้ว่าคือ แสงอาทิตย์ลับๆที่หลบซ่อนไว้ หรือความลับของแสงสว่างกันแน่ (ถ้าให้ถูกไวยากรณ์คือความหมายแรก แต่เราก็สามารถเข้าใจนิยามหลังได้เช่นกัน)
แสงอาทิตย์ลับๆ นี่คงสะท้อนถึงบางสิ่งอย่างที่เมื่อส่องฉายเข้าไปในจิตใจของมนุษย์ ก่อให้เกิดความอบอุ่น เปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิม สื่อตรงๆของหนังเลยก็คือความเชื่อศรัทธาในศาสนา สามารถทำให้จิตใจอันมืดหมองหม่นของหญิงสาว พลันสว่างเป็นประกายสดใสสว่าง ราวกับการได้บังเกิดใหม่
(ตอนที่นางเอกราวกับได้เกิดใหม่กลางเรื่อง ก็นึกว่าจะมีอะไรสามารถสะท้อนกับช็อต ‘อุ้มครรภ์’ แต่กลับไม่มีสื่อถึงทั้งนั้น ผู้กำกับพลาดไปได้อย่างไรเนี่ย!)
ขณะที่ความลับของแสงสว่าง ก็คือเงามืดมิด ที่ต้องปรากฎหลบแอบซ่อนอยู่ทุกครั้งครา ใครหลายคนมักไม่พยายามสนใจมองเห็น หรือยอมรับการมีตัวตนของมัน แต่นี่คือสัจธรรมความจริง มีสิ่งสายตามองเห็นก็ย่อมมีสิ่งตรงข้ามมองไม่เห็น, แสงสว่าง-เงามืด คือสองสิ่งเติมเต็มกันและกันเหมือน หัว-ก้อย ซ้าย-ขวา ถูก-ผิด ดี-ชั่ว ฯ เมื่อหญิงสาวได้ซึมซับรับแสงอาทิตย์สดใส นั่นย่อมหมายถึงเธอมีโอกาสพบเจอเงามืดที่หลบฉากอยู่ด้านหลังด้วย
สิ่งที่นางเอกได้พบเจอในชีวิตคือการสูญเสีย เริ่มต้นออกเดินทางสู่ Miryang บ้านเกิดของสามีผู้พลันด่วนจากไป ราวกับเพื่อย้อนสู่รากเหง้าของทุกสิ่งอย่าง (อธิบายเหตุผลทางจิตวิทยา เพราะเธอคงเคยรักเขามาก จึงต้องการอยู่ใกล้ชิดกับอดีตตัวตนของสามีผู้ล่วงลับที่สุด)
– ลูกชายถูกลักพาตัวสูญหายจากไป สะท้อนถึงอนาคตคนรุ่นใหม่ ที่อาจจะถูกครอบงำ(จากรัฐบาล)จนมิอาจเติบโตด้วยอิสรภาพความคิดอ่านของตนเอง
– สูญสิ้นความเชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้า สะท้อนเข้ากับสถาบันการปกครองเจ้าของประเทศ นี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้กำกับ Lee Chang-dong พบเห็นข้อเท็จจริงจากการเป็นรัฐมนตรีอยู่ 2 ปี ทุกสิ่งอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของความหลอกลวง
– และระดับสุดท้าย สูญสิ้นความเป็นตัวของตนเอง (ขณะนางเอกบ้าคลั่งเสียสติช่วงท้าย ครั้งหนึ่งมิอาจควบคุมร่างกายของตนเองได้อีกต่อไป)
การเลือกเมือง Miryang เป็นสถานที่ถ่ายทำ เพราะมีความใกล้เคียงกับบ้านเกิดของผู้กำกับ Lee Chang-dong ที่สุดแล้ว สมัยวัยรุ่นคงเกิดความหลงใหลในชื่อ อยากที่จะออกเดินทางมาสำรวจค้นหาบางสิ่ง เติมเต็มฝันลับๆวัยเด็ก ที่เป็นประกายสดใสให้โลกภายในจิตใจของเขา
ข้อสรุปของผู้กำกับ Lee Chang-dong ต่อสถานการณ์ของประเทศเกาหลีใต้ขณะนั้น ย่อมคือสิ่งที่นางเอกตัดสินใจแสดงออกช่วงท้าย, อดีตบางอย่างอันชั่วร้ายลบเลือนไม่ได้ ก็มิมีความจำเป็นต้องยกโทษให้อภัยเสมอไป แต่จดจำมันไว้เป็นบทเรียน แล้วรู้จึกพึ่งพาอาศัยเอาตัวรอดด้วยตนเอง สังคมภายนอกจะเกิดอะไรก็ปล่อยตามวิถีของมัน
แนวคิดการปล่อยวางตอนจบ เหมือนจะอ้างอิงจากพุทธศาสนา แต่ก็ไม่เคยมีใครสัมภาษณ์ถามผู้กำกับว่านับถือศาสนาอะไร จึงยืนยันไม่ได้ว่ามาจากตรงนี้จริงหรือเปล่า แต่ก็อาจเป็นผลพลอยได้ของจิ๊กซอว์ที่ต่อไว้ เริ่มต้น-สิ้นสุด ต้องสะท้อนเติมเต็มกันและกัน เหมือนวัฎจักรชีวิต เกิด-ตาย สุข-ทุกข์ คำตอบตรงกลางย่อมไม่สร้างปัญหาวุ่นวายกับใคร และการจะไปถึงจุดนั้นได้ขึ้นอยู่กับตัวเราเองเพียงผู้เดียว
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Best Actress (Jeon Do-yeon) ถือว่าเป็นนางเอกคนแรกของประเทศเกาหลีใต้ที่คว้ารางวัลนี้ คนที่ 3 ของเอเชียถัดจาก Maggie Cheung เรื่อง Clean (2004) และ Hanna Laslo เรื่อง Free Zone (2005)
ด้วยทุนสร้าง $3.5 ล้านเหรียญ ทำเงินรวมทั่วโลก $11.6 ล้านเหรียญ, เข้าชิง 4 สาขา Asian Film Awards คว้ามา 3 รางวัล
– Best Film
– Best Director
– Best Actor (Song Kang-ho) [สาขาเดียวที่พลาดรางวัล]
– Best Actress (Jeon Do-yeon)
ขณะที่ในประเทศเหมือนจะไม่ค่อยได้รับการยกย่องสักเท่าไหร่ Blue Dragon Film Awards ได้เข้าชิงและคว้ามาเพียงรางวัลเดียว Best Actress (Jeon Do-yeon) ส่วน Grand Bell Awards ได้รางวัล Special Prize (Jeon Do-yeon)
ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ ในความคลุมเครือที่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของชาวเกาหลีใต้ขณะนั้น เพราะมันมีความสมจริงอย่างยิ่งจึงสามารถสร้างอาการม่วน ปั่นป่วนอึดอัดทุกข์ทรมาน หาได้น่าอภิรมย์เริงใจขณะรับชมสักเท่าไหร่
และผมรู้สึกว่า Lee Chang-dong ค่อนข้างจะประณีประณอมกับศาสนามากไปเสียหน่อย นี่ขัดแย้งกับตัวตนเองที่ถ้าใครเคยรับชมผลงานก่อนๆ จะพบเห็นทัศนะความรุนแรงสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งกว่านี้ (มันคงคือความจำเป็นต้องประณีประณอมกระมัง เพราะถ้าผู้ชม/ประชาชน หมดสิ้นสูญความเชื่อศรัทธาทางใจกับหนังเรื่องนี้ ประเทศเกาหลีใต้คงได้จบสิ้นล่มสลายอย่างแน่นอน)
แนะนำคอหนัง Drama แนวปวดตับโศกนาฎกรรม, ชาวคริสเตียน ครุ่นคิดค้นหาความผิดพลาดในศรัทธาของตัวละคร, แฟนๆผู้กำกับ Lee Chang-dong และนักแสดงนำ Jeon Do-yeon, Song Kang-ho ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับความสูญเสียทั้งกายและใจของตัวละคร
Leave a Reply