
Daisies (1966)
: Věra Chytilová ♥♥♥♥
เมื่อโลกมันฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ สองสาวดอก Daisies จะมีชีวิตเหมือนคนปกติได้อย่างไร ย่อมต้องถูกเชิดชัก กระทำสิ่งอัปลักษณ์ สะท้อนเสียดสีสภาพสังคมยุคสมัยหลังสงครามโลกได้อย่างโคตรๆเหนือจริง (Surrealist) ถึงระดับไร้เหตุผล (Absurdity)
ดอกเดซี่ (Daisies) มีใบสีขาวและเกสรสีเหลือง ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา พบเห็นอยู่บ่อยๆเวลาสาวๆกำลังมีความรัก มักนำดอกชนิดนี้มาเด็ดกลีบเพื่อทำนายทายทัก นัยยะแทนความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา เหมือนเด็กน้อยร่าเริงสดใส เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ชอบทำให้คนอื่นมีความสุข, นอกจากนี้ใบหลายแฉกยังเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ (ในที่นี้จึงเปรียบเทียบ ดอกเดซี่เหมือนดอกอาทิตย์ที่แผ่ความอบอุ่นให้กับผืนแผ่นดิน)
ฉากแรกของหนังระหว่างสองสาว Marie กำลังนั่งอาบแดด พูดคุยสนทนา มีคำแปลหนึ่งที่สร้างความโคตรๆสับสน “I am a virgin!” ผมครุ่นคิดว่าเธออาจเปรียบตนเองดั่งพระแม่มารี (แถมชื่อ Marie เหมือนกัน) แต่ในความเป็นจริงนั้นตัวละครเอ่ยคำว่า “panna” ภาษา Czech สามารถแปลว่า doll (หุ่น)หรือ virgin (ความบริสุทธิ์) … นี่เป็นความคลาดเคลื่อนที่อาจทำให้การตีความผิดเพี้ยนไปอย่างมากๆ
กล่าวคือถ้าเราสามารถทำความเข้าใจประโยคนี้ตั้งแต่ตอนแรกๆ “I am a doll!” มันจะมีความสมเหตุสมผลกับสิ่งต่างๆเกิดขึ้นมากมาย นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ท้าทายศีลธรรม พฤติกรรมหลงระเริงในเสรีภาพของสตรีเพศ แต่เป็นการเปรียบเทียบพวกเธอเหมือนหุ่นเชิดชัก ถูกควบคุมครอบงำโดยบางสิ่งอย่าง … จริงๆตั้งแต่ฉากแรกเวลาพวกเธอขยับเคลื่อนไหว ทำท่าทางแปลกๆประหลาด จะได้ยินเสียงอิดๆออดๆ เหมือนข้อต่อยังไม่ได้ลงน้ำมันหล่อลื่น, หรือซีเควนซ์ที่มีการตัดหัว-ตัดขา แยกร่างกายออกจากกัน แต่ไฉนกลับยังมีชีวิต? ก็เพราะพวกเธอคือหุ่นไงละ!
ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจพื้นฐานเริ่มต้นดังกล่าว การรับชม Daisies (1966) ก็อาจกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น เมื่อพวกเธอเป็นเพียงหุ่น ไร้สามัญสำนึก ความครุ่นคิด และจิตวิญญาณ พฤติกรรมแสดงออกเหล่านั้นจึงสะท้อนอิทธิพล ผลกระทบ บางสิ่งอย่างชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง หรือก็คือความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะของโลกใบนี้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (รวมถึงผู้นำคอมมิวนิสต์ประเทศ Czechoslovakian) … กลายเป็นอีกมาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์
Věra Chytilová (1929-2014) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Czech เกิดที่ Ostrava, Czechoslovakia ในครอบครัวคาทอลิกเคร่งครัด โตขึ้นร่ำเรียนปรัชญาและสถาปนิก แต่ลาออกมาเป็น Draftswoman, โมเดลลิ่ง, จับพลัดจับพลูกลายเป็นเด็กตอกสเลท Barrandov Film Studio พยายามขวนขวายจดหมายแนะนำสำหรับเข้าศึกษาด้านโปรดักชั่น แต่ถูกกีดกันเพราะเป็นเพศหญิง ถึงอย่างนั้นก็ยังสามารถสอบเข้า Film and TV School of the Academy of Performing Arts in Prague (FAMU) กลายเป็นผู้หญิงคนเดียวในรุ่นสาขาผู้กำกับ, จบออกมาสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Something Different (1963) บุกเบิกยุคสมัย Czechoslovak New Wave
สำหรับผลงานลำดับที่สอง Sedmikrásky หรือ Daisies (1966) มีจุดเริ่มต้นจากประสบการณ์ตรงของ Chytilová ผู้หญิงตัวคนเดียวในโรงเรียนภาพยนตร์ รู้สึกเหมือนถูกห้อมล้อม ติดกับดัก หงุดหงิดต่อความคาดหวังของสังคม บุรุษพยายามควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้สตรีต้องทำตามอย่างโน้นนี่นั้น
The idea for ‘Daisies’ came from my own experiences as a young woman, feeling trapped and frustrated by society’s expectations of me. I wanted to make a film that was playful and absurd, but that also had a serious message about the pressures that women face in society.
Věra Chytilová
ร่วมพัฒนาบทหนังกับ Ester Krumbachová (1923-96) นักเขียน/ออกแบบเสื้อผ้า ภรรยาของผู้กำกับ Jan Němec ก่อนหน้านี้เธอเคยร่วมพัฒนาบทหนัง The Fifth Horseman is Fear (1965) แต่ได้รับเครดิตเพียงออกแบบเสื้อผ้า
แนวคิดของ Daisies (1966) เกิดขึ้นระหว่างผกก. Chytilová พูดคุยถกเถียงเพื่อนนักเขียน Krumbachová วิพากย์ถึงบทบาทสตรีในประเทศ Czech ช่วงทศวรรษ 60s โดยเฉพาะค่านิยมทางสังคมของหญิงสาวสมัยใหม่ ผิดแผกแตกต่างจากคนรุ่นเก่า เต็มไปด้วยพละพลัง ความคิดสร้างสรรค์ พร้อมต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ไม่ยินยอมอ่อนข้อให้วิถีเผด็จการ
Ester Krumbachová and I were discussing women’s issues, and we both felt that the traditional roles for women were too limiting. We wanted to create a film that would challenge those limitations and push the boundaries of what was acceptable in cinema.
We were inspired by the energy and creativity of the young people in Czechoslovakia at that time. We wanted to create a film that would capture that spirit of rebellion and experimentation.
(มันค่อนข้างมีความชัดเจนทีเดียวว่า สองสาวดอก Daisies สามารถเปรียบเทียบตรงๆถึงผกก. Chytilová และนักเขียนบท Krumbachová ทั้งสองต่างเป็นเพื่อนสนิทสนม พานผ่านประสบการณ์ชีวิตคล้ายๆกัน ถูกสังคมคาดหวังโน่นนี่นั่น แต่ฉันอยากอิสระ เป็นตัวของตนเอง ไม่ถูกเชิดชักนำโดยใคร)
หนังนำเสนอเรื่องราวของ Marie I และ Marie II (ก็ไม่รู้เป็นพี่น้อง ฝาแฝด หรือแค่เพื่อนสนิท แต่รูปลักษณ์ภายนอกมีความแตกต่างตรงกันข้าม) ระหว่างกำลังนั่งอาบแดด พูดคุยแสดงความคิดเห็น โลกใบนี้ช่างมีความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ จึงตกลงกันว่าพวกเราก็จะแสดงพฤติกรรม กระทำสิ่งไม่ยี่หร่าต่ออะไรใครเช่นเดียวกัน
ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอพฤติกรรมต่อต้านสังคมของ Marie I & II ซึ่งมีความบ้าๆบอๆ ไร้เหตุผล สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความสุข เสียงหัวเราะ พึงพอใจส่วนตน อาทิ
- ล่อหลอกชายสูงวัยที่พยายามเกี้ยวพาราสี ให้จ่ายค่าอาหารราคาแพง ก่อนทอดทิ้งขว้างยังสถานีรถไฟ
- ไปดื่มกินยังผับบาร์แห่งหนึ่ง พอมึนเมาก็ลุกขึ้นมาโยกเต้น ระริกระรี้ โดดเด่นกว่านักแสดงบนเวที
- ล่อหลอกชายหนุ่มนักดนตรี ชื่นชอบสะสมผีเสื้อ แล้วพูดบอกเลิก ทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย
- เดินทางท่องเที่ยวชนบท ฟาร์มเกษตรกรรม ลักขโมยข้าวโพด พานผ่านโรงงาน แต่กลับไม่มีใครเหลียวแลมอง
- แอบเข้าไปในตึกหลังหนึ่ง ขึ้นลิฟท์ถึงห้องชั้นบน แล้วเหยียบย่ำ/รับประทานอาหาร ก่อนปีนป่ายขึ้นบนโคมระย้า
พฤติกรรมของสอง Marie แม้เป็นเพียงหุ่นเชิดชัก ชอบทำตาพองโต ขยับเคลื่อนไหวเก้งๆกังๆ น้ำเสียงพูดเหมือนเด็กๆ แต่การแสดงออกภาษากาย มีความระริกระรี้ ‘free-spirit’ สนุกสนานร่าเริง ไม่ยี่หร่าอะไรใคร ไร้จิตสามัญสำนึกใดๆ สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการของใจ, นักเขียน Krumbachová ให้คำนิยามว่า “a pair of silly young girls” รับบทโดยนักศึกษาสาว Jitka Cerhová (ผมน้ำตาลเข้ม/Brunette) และพนักงานขายของ Ivana Karbanová (ผมบลอนด์) ผ่านการออดิชั่นที่แสนยาวนาน ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีประสบการณ์การแสดงใดๆ
They were very talented girls, very playful and spontaneous. They really captured the spirit of the film and brought their own energy and personality to the roles. We had a lot of fun working together, and I think their performances are a big part of what makes the film so memorable.
ผู้กำกับ Věra Chytilová ให้อิสระนักแสดงในการ ‘Improvised’ ได้อย่างอิสระ
ปล. หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ นักแสดงนำทั้งสองต่างตัดสินใจก็เข้าสู่วงการ แต่ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงประสบความเสร็จไปกว่า Daisies (1966)
- Jitka Cerhová มีผลงานแสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง จนถึงช่วงกลางทศวรรษ 70s ผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง ออกแบบเสื้อผ้า และดูแลงานสร้าง (Production Design)
- Ivana Karbanová ย้ายไปทำงานฟากฝั่งโทรทัศน์ พอมีชื่อเสียงระดับ ก่อนเปลี่ยนมาเขียนบท และกลายเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์
ถ่ายภาพโดย Jaroslav Kučera (1929-91) สัญชาติ Czech, สำเร็จการศึกษา Film and TV School of the Academy of Performing Arts in Prague (FAMU), จากนั้นมีผลงานเด่นๆ อาทิ Desire (1958), The Cassandra Cat (1963), Diamonds of the Night (1963), Pearls of the Deep (1965), Daisies (1966), All My Compatriots (1968), Fruit of Paradise (1969) ฯลฯ
งานภาพของหนังจัดจ้านด้วยเทคนิค เต็มไปด้วยการทดลอง (Experimental) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความผิดแปลกประหลาด ให้ดูแตกต่าง เหนือจริง (Surrealist) จนบางครั้งถึงระดับไร้เหตุผล (Absurdity) อาทิ ทิศทางมุมกล้อง, เฉดสีสัน, ภาพซ้อนอนิเมชั่น, ตัดแปะติดปะต่อ, นี่ยังไม่รวมเทคนิคตัดต่ออย่าง Jump Cut, Rapid Cut, Montage, Repetition ฯ
สิ่งโดดเด่นที่สุดในส่วนของงานภาพคือบรรดาเฉดสีสัน เน้นความหลากหลาย แดง-น้ำเงิน-เขียว-เหลือง หรือตอนเบื่อหน่อยก็จะพบเห็นเทา ซีเปีย ภาพขาว-ดำ ฯ จุดประสงค์เพื่อสร้างสัมผัสทางอารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยนของตัวละคร และผู้ชมรู้สึกตื่นตาตื่นใจไปกับความคาดเดาอะไรไม่ได้สักสิ่งอย่าง
I wanted to make a film with a different style of camera work, with different frames, different perspectives, different styles of movement. I wanted to show a different way of thinking, to explore new ideas, to show things that were previously unseen. I was interested in the beauty of chaos, in the power of spontaneity.
Věra Chytilová
Opening Credit ทำการตัดสลับไปมาระหว่างภาพเครื่องจักรกล/ล้อตุนกำลังหมุน (flywheel) สลับภาพฟุตเทจการต่อสู้ยุทธนาวี เครื่องบินโจมตี ทิ้งระเบิดใส่เรือรบกลางมหาสมุทร (เป็นฟุตเทจที่คุณภาพต่ำมากๆ อาจถ่ายทำด้วยกล้อง 8mm แล้วนำมา ‘blow-out’ ฉบับบูรณะก็ยังแทบดูไม่รู้เรื่อง)
ในตอนแรกผมนึกว่าล้อตุนกำลัง คือปืนใหญ่พิสัยไกล หมุนเพื่อเตรียมพร้อมโจมตี ตัดสลับภาพ ‘Montage’ การสู้รบสงครามได้เป็นอย่างดี, แต่พอตระหนักว่ามันไม่ใช่ เพียงอุปกรณ์เชิงกลชนิดหนึ่ง สร้างพลังงานจากการหมุน ตีความได้ว่าคือสิ่งที่(เป็นพลังงาน)ทำให้หุ่นสองสาวดอก Daisies สามารถขยับเคลื่อนไหว ส่วนการตัดสลับภาพสู้รบสงคราม สามารถมองในแง่อิทธิพล ผลกระทบ จุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกสมัยใหม่ดำเนินไป (หรือจะมองว่า ฟุตเทจสงครามคือเชื้อเพลิงที่ทำให้ล้อตุนกำลัง สามารถเคลื่อนหมุนก็ได้เช่นกัน)


ฉากแรกของหนัง สองสาวนั่งอาบแดด พิงกำแพงไม้ แต่จะว่าไปดูเหมือนฉากหลังละครเวที สังเกตว่าการขยับเคลื่อนไหวของพวกเธอช่างมีความผิดแปลกประหลาด ราวกับถูกใครบางคนกำลังเชิดชัก ส่งเสียงอิดๆออดๆเหมือนข้อต่อไม่ได้หยอดน้ำมัน น้ำเสียงพูดคุยสนทนาก็ฟังเหมือนเด็กน้อย อ่อนเยาว์วัย ไร้ประสีประสาต่อโลกใบนี้ … และอย่างที่ผมอธิบายไปตอนต้น ตัวละครเอ่ยคำว่า “panna” ภาษา Czech สามารถแปลว่า doll (หุ่น)หรือ virgin (ความบริสุทธิ์) เป็นคำที่มีความสองแง่สองง่าม เลยไม่แปลกที่คนทำซับไตเติ้ลจะเข้าใจผิดพลาด
แต่ประโยคที่เป็นไฮไลท์จริงๆของซีเควนซ์นี้ “If everything’s going bad we’re going bad as well”. หลายคนก็อาจไม่ทันสังเกต เพราะตัวละครจงใจพูดเน้นๆ ทีละคำ ต้องมาแปะติดปะต่อกันเอง
Marie I: If everything’s going bad…
Marie II: so…
Marie I: we’re going…
Marie I: bad… as…
Marie I: well…
Marie II: Right!

แวบแรกผมนึกถึงต้นแอปเปิ้ล ณ สวนอีเดน สาวๆทั้งสองเปรียบดั่ง Adam & Eve เมื่อรับประทานผลไม้ต้องห้าม จักทำให้หุ่นเชิดชัก(ของพระเจ้า)มีความรู้สึกนึกคิด สติปัญญาอารมณ์ และถูกขับไล่ลงจากสรวงสวรรค์ (ห้องพักของพวกเธอเปรียบดั่งสรวงสวรรค์ และจะภาพการเดินขึ้น-ลงบันไดอีกด้วยนะ)
แต่ในความเป็นจริงแล้วนั่นคือต้นพีช (Peach Tree) เพราะ Marie II (ผมบลอนด์) ได้คายเมล็ดมันออกมา ถึงอย่างนั้นผมไม่ค่อยแน่ใจความหมายของผกก. Chytilová ที่บอกว่ามันคือ ‘perfect fruit’ แต่เราสามารถใช้แทนสัญลักษณ์ความเป็นเพศหญิง (Femininity) หรือสองสาวดอก Daisies ได้เช่นกัน
I chose a peach because it’s a perfect fruit, untouched by the blight and rottenness of the world. I wanted to use a perfect fruit to contrast with the imperfect world that we live in. In ‘Daisies,’ the peach symbolizes the unattainable ideal of a perfect life.
Věra Chytilová

สองสาวดอก Daisies เกี้ยวพาราสีชายผู้มีฐานะ ล่อหลอกให้มาเลี้ยงอาหาร รับประทานอย่างอิ่มหนำ (ร้อยเรียงชุดภาพที่เต็มไปด้วยเฉดสีสัน) จากนั้นก็ขับไล่ ผลักไส ให้อีกฝ่ายขึ้นรถไฟจากไป … ทั้งสามครั้งที่พวกเธอทำเช่นนี้ เพื่อเป็นการโต้ตอบบุรุษที่ชอบทำตัวป๊ะป๋า เกี้ยวพาราสี อวดร่ำอวดรวย เป้าหมายแท้จริงคือพาหญิงสาวขึ้นห้องหอ ร่วมรักหลับนอน พบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ก็หมดอารมณ์กันพอดี
ขณะเดียวกันการรับประทานอาหารยังภัตตาคารหรูหรา ยังสะท้อนแนวคิดบริโภคนิยม (Consumerism) กอบโกยจนอิ่มหนำ สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ห่าเหวอะไรอีกต่อไป






เวลารับชมภาพยนตร์จากประเทศฝั่ง Eastern Bloc (โดยเฉพาะ Poland, Czechoslovak) พบเห็นฉากเกี่ยวกับรถไฟ มักทำให้ผมระลึกถึงการเดินทางมุ่งสู่ Auschwitz แถมด้วย Visual Effect ซ้อนภาพสีรุ้งลักษณะนี้ มันราวกับตัวละครกำลังเดินทางสู่โลกใบใหม่ (หลังความตาย)
I wanted to create a sense of dislocation, of being lost in a dream or a nightmare. We used a lot of experimental techniques to achieve this, including optical printing and animation. The train sequence is one of the most memorable moments in the film, and I think it really captures the feeling of being adrift in an uncertain world.
Věra Chytilová
เท่าที่ผมพอจับใจความวิธีการของซีเควนซ์นี้ เริ่มต้นนำเอาฟีล์มที่ต้องการใช้มาพิมพ์ซ้ำหลายๆม้วน แล้วนำแต่ละม้วนมาย้อมสี ปรับเฉด ใส่ฟิลเตอร์ หรือทำอนิเมชั่น ให้มีความแตกต่างกันออกไป จากนั้นใช้อุปกรณ์ชื่อว่า ‘optical printing’ นำฟีล์มทั้งหมดมาซ้อนทับ (Overlap) เหลื่อมล้ำ ก็จะพบเห็นปรากฎการณ์ภาพเหมือนฝัน สัมผัสเหนือจริง

ซีเควนซ์ที่ถือว่ามีความน่าประทับใจที่สุดของหนัง ผมตั้งชื่อว่า ‘ชีวิตจริงยิ่งกว่าการแสดง!’ เริ่มต้นจากสองสาวดอก Daisies เดินเข้ามาในบาร์ทางฟากฝั่งเวที (แฝงนัยยะตรงๆเลยว่า พวกเธอเปรียบดั่งหุ่นเชิดชัก กำลังจะทำการแสดง) แต่นั่นเป็นการเข้าใจผิดอะไรบางอย่าง เพราะสองนักเต้นหนุ่ม-สาว ก็กำลังจะออกมาทำการแสดง Charleston Dance
เมื่อสองสาวเดินไปนั่งยังอีกฟากฝั่ง (น่าจะตรงกันข้ามกับเวที) สังเกตสถานที่มีกรอบห้อมล้อมรอบ ดูไม่ต่างจากเวทีการแสดงเช่นเดียวกัน! ซึ่งเมื่อสองนักเต้นเริงระบำ พวกเธอก็ดื่มด่ำ มึนเมามาย ลุกขึ้นโยกเต้น จนได้รับเสียงปรบมือ หวีดหวิวจากผู้ชม (ดังกว่าฟากฝั่งนักเต้นเสียอีก) จนถูกพนักงานลากพาตัวออกจากร้าน
ถ้ามองอย่างผิวเผิน ซีเควนซ์นี้นำเสนอเสรีภาพของสตรีในการดื่มด่ำ มึนเมามาย ลุกขึ้นมาโยกเต้นเริงระบำ ทำไมฉันต้องทำตัวเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้, แต่สิ่งที่เสียดสีสังคมอย่างเจ็บแสบก็คือเสียงปรบมือ หวีดหวิวจากผู้ชม แสดงให้เห็นถึงชีวิตจริงไม่ได้ต่างจากการแสดง แต่กลุ่มคนมีอำนาจ/ชนชั้นปกครอง กลับพยายามควบคุมครอบงำ ออกกฎหมาย บีบบังคับโน่นนี่นั่น แสร้งทำเป็นคนดี บอกว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่ตนเองกลับปากว่าตาขยิบ ใช้อภิสิทธิ์ชน ขวนขวายไขว่คว้า กอบโกยสิ่งเหล่านั้นให้ได้มาครอบครอง


สองสาวทำการเผากระดาษที่ห้อยลงมาจากเบื้องบน จนมอดไหม้กลายเป็นผุยผง … ผมมองนัยยะซีเควนซ์นี้คือการเผาทำลายกฎกรอบ (กฎหมาย=ข้อความในกระดาษ) สิ่งที่เบื้องบนพยายามออกระเบียบข้อบังคับ ให้คนอยู่เบื้องล่างต้องน้อมนำ ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ทำไมฉันต้องเห็นพ้องคล้อยตามสิ่งเหล่านั้น รกหูรกตาเสียจริง!
มีอยู่สิ่งหนึ่งหลงเหลือจากการถูกเผาทำลาย นั่นคือไส้กรอก (ลึงค์ สัญลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย) เพียงถูกรมควัน ห้อยต่องแต่งลงมาจากเบื้องบน นี่สามารถสื่อถึงบุคคลผู้ออกกฎกระดาษเหล่านั้นล้วนคือบุรุษ ครุ่นคิด(กฎระเบียบข้อบังคับ)ขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวตน ปิดบังสันดานธาตุแท้ หรือก็คือไอ้จ้อนของตนเอง … สองสาวเลยนำมา ใช้กรรไกรตัดแบ่ง ส้อมทิ่มแทง เข้าปากเคี้ยวหมุบหมับ

ทั้งสามครั้งของการเกี้ยวพา ล่อหลอกชายสูงวัยเลี้ยงรับประทานอาหารหรู จะมีความแตกต่างกันอยู่เล็กๆ
- ครั้งแรกหนึ่งใน Marie ต้องขึ้นบนรถไฟ แล้วหาจังหวะกระโดดลงมาเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายติดตามทัน
- ครั้งสองเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างร่ำไห้ ร่ำลาจากกันโดยดี
- ครั้งสุดท้ายชายหนวดครื้มสูงวัย พอพบเห็นพวกเธอลงรถไฟเขาก็ลงตาม สุดท้ายกลายเป็นสองสาวที่ต้องออกเดินทาง ทอดทิ้งเขาไว้ยังสถานี (กลับตารปัตรจากสองครั้งแรกโดยสิ้นเชิง)
นอกจากเหตุผลการเน้นย้ำ (Repetition) นำเสนอลักษณะของบุรุษที่ชอบล่อหลอกหญิงสาว ผมครุ่นคิดว่าหนังต้องการแสดงให้เห็นถึงผลกรรม สิ่งอาจเกิดขึ้นย้อนกลับ (จากผู้รับเป็นผู้ให้, เคยหลบหนีลงรถไฟ กลายเป็นผู้โดยสารออกเดินทาง) ซึ่งเป้าหมายปลายทาง พบเห็นสภาพเปลอะเปลื้อนเถ้าถ่าน ราวกับพวกเธอเพิ่งเอาตัวรอดจาก Auschwitz
แซว: ชุดของพวกเธอก็มีความแตกต่างตรงกันข้าม Marie I พื้นดำจุดขาว, Marie II พื้นขาวจุดดำ

กับแค่การต่อหลอดดูดน้ำ แต่เราสามารถครุ่นคิดนัยยะที่สะท้อนปรัชญาตะวันตก เกี่ยวกับความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง แข่งขันเพื่อเป็นผู้ชนะ อันดับหนึ่ง ยิ่งใหญ่เหนือใคร และสามารถครอบครอง เป็นเจ้าของ ควบคุมครอบงำทุกสิ่งอย่าง!

ผมมีความรู้สึกละม้ายคล้ายกันระหว่างที่สองสาวยกเก้าอี้ขึ้นมาโยกเต้น กับเมื่อพวกเธอกำลังเดินเล่นพานผ่านโรงงานอุตสาหกรรม
- Marie I ยกเก้าอี้ขึ้นเหนือศีรษะ ขณะเดียวกันก็สวมใส่หมวกขี้กลึง (เศษเหล็กที่เกิดจากกระบวนการกลึง ไส เจาะเหล็กหล่อ มีลักษณะเป็นเกล็ด) สื่อสัญลักษณ์ถึงการถูกควบคุมครอบงำจากเบื้องบน
- Marie II ยกเก้าอี้ลงมาครอบร่างกาย ขณะเดียวกันก็นำเอาตาข่ายเหล็กล้อมรอบตัว สามารถสื่อถึงกฎกรอบที่ห้อมล้อม รัดตัว ไม่ให้ดิ้นหลุดรอดพ้น



The milk bath is my idea of paradise. I had a vision of paradise, and it was white. People are afraid of white. It is death, not life. But paradise is white. And if the girls have to go to paradise, then they must go through the milk bath. It’s like baptism. They have to be purified before they can reach paradise.
Věra Chytilová
นอกจากสัญลักษณ์ของสรวงสวรรค์ ราวกับได้เข้าพิธีจุ่มศีล การอาบ(น้ำแร่แช่)น้ำนมยังแทนความฟุ่มเฟือย หมกมุ่นในความสวยความงาม (สมัยนี้ไม่ใช่แค่สตรี แต่ยังเหมารวมบุรุษและคนทุกเพศวัย) เชื่อกันว่าทำให้ผิวกายนุ่มนวล ขาวผ่อง เปร่งประกาย

การที่สองสาวดอก Daisies ถูกมองข้ามจากเกษตรกร คนสวน พนักงานโรงงานปั่นจักรยานผ่านหน้า ราวกับพวกเธอไม่มีตัวตนในสายตา … นี่น่าจะเหมารวมถึงชนชั้นทำงาน (Working Class) ที่มักไม่ค่อยมีสิทธิ์เสียง ทำได้เพียงก้มหน้าก้มตา เชื่อมั่นในสิ่งที่เบื้องบนกำหนดมา เลยไม่ยินยอมรับพฤติกรรมนอกรีต อุปนิสัยหัวขบถของสาวๆทั้งสอง
ผมมองพฤติกรรมเพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่ต่างจากการเป็นหุ่นเชิดชัก แต่ตรงกันข้ามกับสองสาวที่พยายามดิ้นหลุดพ้นจากการถูกควบคุมครอบงำ คนเหล่านี้เพียงก้มหน้าก้มตา ยินยอมรับโชคชะตา ปฏิบัติตามคำสั่งที่เบื้องบนกำหนดมา


ห้องพัก/สรวงสวรรค์ของสองสาว ช่วงต้นเรื่องจะดูโล่งๆ โปร่ง ผนังสีขาว ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า แต่จะค่อยๆแปะติดรูปภาพ ตัวเลข เบอร์โทรศัพท์ อะไรก็ไม่รู้รกรุงรัง เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ซึ่งสามารถสะท้อนวิวัฒนาการของโลกได้ด้วยกระมัง
- ช่วงต้นเรื่อง ห้องดูโล่งๆ โปร่ง ผนังสีขาว เพียงติดรูปภาพต้นไม้/ดอกไม้บนฝาผนัง แสดงถึงจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ยังไม่มีสิ่งชั่วร้ายแปดเปลื้อนมลทิน
- หลังจากรับประทานลูกพีช มีการนำเอาใบไม้มาแปะฝาผนัง สื่อถึงการยังต้องพึ่งพาธรรมชาติในการดำรงชีวิต
- แต่หลังจากเผากระดาษในห้อง เริ่มพบเห็นตัวเลข ภาพวาด ลวดเกะกะฝาผนัง แต่ก็ยังพอมีพื้นที่ว่างหลงเหลืออยู่บ้าง
- ภาพสุดท้าย ผนังกำแพงแทบไม่หลงเหลือพื้นที่ว่างเปล่า ต้องมีอะไรสักอย่างแปะติดเต็มผนัง สามารถสื่อถึงสิ่งภายนอกที่สร้างอิทธิพล ส่งผลกระทบเข้ามาภายใน จิตวิญญาณมืดดำ ปกคลุมด้วยมลทิน




นี่เป็นซีนเล็กๆที่ชวนให้ผมนึกถึงคำไทย ‘เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้’ คือให้หนึ่งใน Marie นอนอยู่บนเตียง แล้วอีก Marie ทำการม้วนพับผ้า … แต่จริงๆมันอาจเป็นแค่การละเล่นของสองสาว เพื่อม้วนพับ จัดเก็บ ทำเป็น ‘แคตตาล็อก’ ซึ่งหลังจากม้วนเสร็จครั้งหนึ่ง จะมีการร้อยเรียงชุดรูปภาพหญิงสาวแปะติดเต็มฝาผนัง



ซีเควนซ์ที่ผมถือเป็น ‘cinematic climax’ เทคนิคภาพยนตร์ดูยุ่งยาก สลับซับซ้อนที่สุด! คือการตัดภาพออกเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนจิ๊กซอว์ เศษกระดาษ เริ่มจากตัดหัว-ตัดขา (ที่สองสาวยังสามารถขยับเคลื่อนไหว เพราะพวกเธอเปรียบดั่งหุ่นเชิดชัก) แล้วตัดภาพออกเป็นส่วนๆ จากนั้นพบเห็นเศษกระดาษ และถึงระดับโมเลกุลแห่งความยุ่งเหยิง
“We were looking for a way to say that people are being cut up into pieces. We wanted to show that the world is fragmenting and falling apart.”
Věra Chytilová
ในอีกบทสัมภาษณ์ของผกก. Chytilová ได้กล่าวพาดพิงถึงการใช้ความรุนแรงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ด้วยการไล่ล่าแม่มด จับมาคุมขัง ทัณฑ์ทรมาน ตัดแขน-ตัดขา บีบบังคับให้ชี้นิ้วบุคคลบงการ … ล้อเลียนซีเควนซ์นี้อย่างตรงไปตรงมา
We were making fun of all these Czech movies that were full of violence, torture, and cruelty. So we decided to do a scene where we cut off our own legs and heads, but we made it funny instead of violent.




จากชั้นล่างขึ้นลิฟท์สู่เบื้องบน นี่เป็นการเปรียบเทียบตรงๆถึงสถานะทางสังคม ชนชั้นล่างไม่มีอะไรกิน แต่เมื่อถึงเบื้องบนกลับเต็มไปด้วยสิ่งหรูหรา สะดวกสบาย อาหารจัดวางเรียงราย ราวกับโลกคนละใบ … ต่อจากนี้สองสาวจึงตัดสินใจทำลายงานเลี้ยง เหมือนเป็นการชี้นำ ปลุกระดม ให้ผู้ชมเกิดอคติต่อต้านบุคคลที่อยู่เบื้องบน


จากภาพโทนเขียวตุ่นๆ แต่เมื่องานเลี้ยงเริ่มขึ้นก็กลับกลายเป็นสีสันปกติ และยังมีการไล่ระดับจากนั่งตรงเก้าอี้ เดินวนรอบ จากนั้นปีนป่ายขึ้นโต๊ะ แล้วตะเกียกตะกายสู่โคมระย้าเบื้องบน … สื่อถึงความมักมาก ทะเยอทะยาน ไม่รู้จักเพียงพอของบรรดาชนชั้นสูง (รวมถึงเสรีภาพไร้ขีดจำกัดของสองสาวด้วยนะ)
ส่วนเหตุผลการทำลายงานเลี้ยง คือการโต้ตอบกับวิถีทางสังคม สิ่งที่ผู้คนยึดถือปฏิบัติ กฎกรอบข้อบังคับ ความสมบูรณ์อิ่มหนำแห่งยุคสมัยบริโภคนิยม ขณะเดียวกันมันยังคือการเติมเต็มเสรีภาพของสองสาว เลือกใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ อนาคตจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากันอีกที
In the final scene of ‘Daisies,’ the two girls eat and drink with wild abandon, because they know that their time is limited and that their rebellion against the status quo will inevitably come to an end. By destroying the feast they have created, they are symbolically destroying the constraints that society has placed upon them, and embracing their freedom to live and eat as they please.
Věra Chytilová



สูงสุดกลับสู่สามัญ! หนังใช้การตัดภาพอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ระหว่างปีนป่ายขึ้นบนโคมระย้า ราวกับว่าโดนจับได้ เลยถูกโยนลงน้ำ แถมยังใช้ใบพายผลักไส ขับไล่ ไม่ให้หวนกลับขึ้นฝั่ง หรือคือสังคมยุคสมัยนั้นที่ไม่ให้การยินยอมรับพฤติกรรมหัวขบถ นอกรีตของสองสาว

หนังไม่ได้จะหนทางแก้เอาตัวรอดให้สองสาว เพราะถึงพวกเธอรับบทกลายเป็นแม่บ้าน สวมชุดทำจากเศษกระดาษ แต่ชีวิตที่จืดชืด ไร้สีสัน จานกระเบื้องแตกร้าวไม่มีทางประสานกันอีกครั้ง หรือก็คือโลกใบนี้ที่ฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ ไม่มีวันกลับมาขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง … เมื่อมนุษย์ได้ลิ้มรสชาติความสุขสบาย วิถีบริโภคนิยม ใครกันจะอยากทนอยู่อย่างทุกข์ทรมานอีกต่อไป


ช็อตสุดท้ายก่อนนำเข้า Closing Credit คือโคมระย้าตกหล่นลงมา สามารถตีความถึงการล่มสลาย/พังทลายของโลกใบนี้ ชนชั้นสูง ผู้นำประเทศ สังคมชายเป็นใหญ่ ฯ น่าจะทับสองสาวดอก Daisies ยังสื่อได้ถึงจุดสิ้นสุดจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ การเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ มนุษย์ต่อจากนี้จักกระทำสิ่งเลวร้ายเป็นกิจวัตร จำต้องแปดเปื้อนมลทินเพื่อการเอาตัวรอดปลอดภัย
The final scene of the film, the destruction of two dolls who were unable to grow up and become mature women, is not to be taken as a pessimistic conclusion. In the moment of destruction, it is evident that the girls, however naive and immature, can no longer accept the mendacious illusions of the world around them.
Věra Chytilová
การหล่นลงมาของโคมระย้า นำเข้าสู่ Closing Credit ภาพถ่ายทางอากาศ บนเครื่องบินต่อสู้ ได้ยินเสียงปืนกล พบเห็นตึกรามบ้านช่องในสภาพปรักหักพัง (เปรียบเทียบตรงๆถึงโคมระย้า = เครื่องบินรบ = การโจมตีจากบุคคลผู้อยู่เบื้องบน) พร้อมขึ้นข้อความอุทิศให้ผู้เสียสละจากความไม่ชอบธรรมทางสังคม (นี่ไม่ใช่แค่ประเด็นการเมืองนะครับ สามารถเหมารวมทุกสิ่งอย่างที่พยายามควบคุมครอบงำ ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง)
THIS FILM IS DEDICATED TO ALL THOSE
WHOSE SOLE SOURCE OF INDIGNATION
IS A TRAMPLED-ON TRIFLE.


ตัดต่อโดย Miroslav Hájek,
ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสองสาวดอก Daisies หลังจากเริ่มขยับเคลื่อนไหว ก็กระทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนห่าเหวอะไร พานผ่านสถานที่ที่ก็ไม่รู้มีอยู่จริง หรือเพียงแฟนตาซีเพ้อฝัน นั่นทำให้เราไม่สามารถแบ่งหนังออกเป็นองก์ๆ เพียงเหตุการณ์ผจญภัยของพวกเธอเท่านั้น
- อารัมบท, สองสาวดอก Daisies เริ่มขยับเคลื่อนไหว พูดคุยสนทนา ลุกขึ้นมาระเริงเต้น ก้าวลงจากสรวงสวรรค์
- ล่อหลอกชายสูงวัยที่พยายามเกี้ยวพาราสี ให้จ่ายค่าอาหารราคาแพง ก่อนทอดทิ้งขว้างยังสถานีรถไฟ
- ไปดื่มกินยังผับบาร์แห่งหนึ่ง พอมึนเมาก็ลุกขึ้นมาโยกเต้น ระริกระรี้ โดดเด่นกว่านักแสดงบนเวที
- สองสาวพูดคุยกันในห้องพัก จากนั้นออกไปเกี้ยวพาราสีชายฐานะมั่งมีอีกคน ก่อนทอดทิ้งร่ำลาจากยังสถานีรถไฟ
- ล่อหลอกชายหนุ่มนักดนตรี ชื่นชอบสะสมผีเสื้อ แล้วพูดบอกเลิกรา ทอดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย
- จากนั้นทำการลักขโมยเงินเก็บของพนักงานห้องน้ำ
- กลับมาห้องพัก ทำการเผากระดาษ ตัดแปะนิตยสาร แล้วออกมาเกี้ยวพาราสีชายสูงวัยคนที่สาม
- ชายคนหนึ่งพยายามเคาะประตู เรียกร้องขอความรัก แต่พวกเธอกลับเพิกเฉยเฉื่อยชา ดื่มด่ำอาบน้ำนม
- เดินทางท่องเที่ยวชนบท ฟาร์มเกษตรกรรม ลักขโมยข้าวโพด พานผ่านโรงงาน แต่กลับไม่มีใครเหลียวแลมอง
- ม้วนพับผ้าคลุมเตียง ตัวหัว-ตัดขา แยกออกจากกัน
- แอบเข้าไปในตึกหลังหนึ่ง ขึ้นลิฟท์ถึงห้องชั้นบน แล้วเหยียบย่ำ/รับประทานอาหาร ก่อนปีนป่ายขึ้นบนโคมระย้า
- ปัจฉิมบท, สองสาวทำความสะอาดห้องอาหาร แต่ไม่สามารถปะติดจากที่ตกแตก
ผกก. Chytilová ต้องการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘visual poem’ ด้วยการร้อยเรียงปะติดปะต่อภาพและเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่ได้มีความต่อเนื่อง เป็นเรื่องเป็นราว เพียงกระโดดไป-กระโดดมา (Non-Linear Narrative) ด้วยเทคนิคอย่าง Jump Cuts, Rapid Cut, Montage, Repetition, บางครั้งก็แทรกภาพอะไรก็ไม่รู้ (Non-sequiturs), เพื่อสร้างความสับสน สภาพแวดล้อมผิดปกติ (disorientation) และสอดคล้องอุปนิสัยขี้เล่นซุกซน ระริกระรี้เอาแต่ใจของสองสาวดอก Daisies
I wanted to create a kind of cinematic collage, a film that was constructed from a series of images and events that were seemingly unrelated but that together created a kind of visual poetry. The editing was key to achieving this effect. I wanted to break down traditional narrative structures and create a sense of disorientation and playfulness in the viewer. The film is intentionally fragmented and non-linear, and the editing was a crucial part of creating that effect.
Věra Chytilová
เทคนิคการตัดต่อที่หนังใช้ (อย่าง Jump Cut, Montage) ทำให้งานภาพมีลักษณะเหมือนเศษกระเบื้อง (fragment) สามารถสะท้อนความแตกแยกทางสังคม (แบบเดียวกับซีเควนซ์ตัดหัวตัดขา) ต่างคนต่างมีความครุ่นคิดเห็น เป็นตัวของตนเอง ปัจเจกบุคคล (Individualism)
เพลงประกอบโดย Jiří Šlitr (1924-69) และ Jiří Sust (1919-95) ทั้งสองต่างมีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์และละครเวที ร่วมกันบุกเบิก Semafor Theatre และทำเพลงด้วยกันมาหลายครั้ง
งานเพลงของหนังไม่ต่างจากถ่ายภาพ-ตัดต่อ เต็มไปด้วยความหลากหลาย คาดเดาอะไรไม่ได้ ด้วยการผสมผสานสไตล์ดนตรีที่แตกต่าง คลาสสิก, ป๊อป, แจ๊ส ฯ ท่วงทำนองมักมีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง แทนจิตวิญญาณสองสาวดอก Daisies ขัดย้อนแย้งภาพหายนะ ความวุ่นๆวายๆพบเห็น
We wanted the music to be playful and unpredictable, just like the film itself. We experimented with different styles and genres, incorporating elements of classical music, jazz, and pop. One of our goals was to create a sense of musical dialogue between the two main characters, and to use the music to highlight their irreverent and anarchic spirit.
Jiří Šlitr
ใครเคยรับชมภาพยนตร์ของผกก. Jean-Luc Godard น่าจะมักคุ้นสไตล์เพลงประกอบ เดี๋ยวดัง-เดี๋ยวหยุด แล้วแต่อารมณ์ฉัน -^- ช่วงระหว่าง Opening Credit บทเพลงจะมีท่วงทำนองสอดคล้องภาพล้อตุนกำลังหมุน (flywheel) แล้วหยุดบรรเลงระหว่างตัดภาพฟุตเทจเครื่องบินทิ้งระเบิด (จะมีแค่ภาพไม่ได้ยินเสียงใดๆ)
แม้พฤติกรรมของสองสาว(อี)ดอก Daisies จะดูโฉดชั่ว ต่ำทราม เลวร้ายสักเพียงไหน แต่บทเพลงอย่าง Three’s Crowd, The Juggler ที่มักบรรเลงคลอประกอบพื้นหลัง มอบสัมผัสที่สะท้อนจิตใจอันบริสุทธิ์ ผุดผ่องใส ไร้เดียงสา ใครกันจะโกรธรังเกียจ เกิดอคติต่อพวกเธอได้ลง … อย่างที่อธิบายตั้งแต่ต้นว่า ถ้าคุณสามารถเข้าใจคีย์เวิร์ด ‘doll’ มุมมอง/ทัศนคติต่อพวกเธอทั้งสอง จะมีความแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง!
บทเพลง Drunken Disorderlies ไม่เชิงคำร้องโดย Eva Pilerová, ผมรู้สึกว่ามีความละม้ายคล้ายท่วงทำนองสไตล์ The Charleston (ของท่วงท่าเต้น Charleston Dance) กลิ่นอาย Swing & Jazz ที่ได้รับความนิยมช่วงทศวรรษ 20s เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง ชักชวนทุกคนให้มาโยกเต้น เวลามึนเมาใครจักสามารถควบคุมตนเอง
อย่างที่ผมอธิบายไปแล้วว่า นี่คือซีเควนซ์น่าประทับใจที่สุดของหนัง ‘ชีวิตจริงยิ่งกว่าการแสดง’ ซึ่งในส่วนของบทเพลงยังมีการ ‘Improvised’ ช่วงท้ายมีการเล่นท่อนฮุก วนซ้ำแล้วซ้ำอีก (เรียกว่า Encore ก็ได้มั้ง) เพื่อตอบรับเสียงปรบมือ หวีดหวิวจากผู้ชม
The Butterfly Cabinet ใช้เพียงเสียงเปียโน พรรณาความรู้สึกนักดนตรีหนุ่ม ต่อหญิงสาวสุดสวย Marie เปรียบเธอดั่งผีเสื้อ มีความงดงาม เต็มไปด้วยลวดลายสีสัน หลากหลายสายพันธุ์ ดูเหมือนฝ่ายชายครุ่นคิดจะครอบครอง เป็นเจ้าของ สต๊าฟเก็บไว้เชยชมแต่เพียงผู้เดียว
บทเพลงที่ผมถือว่ามีความโคตรๆสร้างสรรค์ที่สุดของหนัง คือระหว่างสองสาวดอก Daisies กำลังละเล่นกับกรรไกร ตัดหัวไปทาง แขนไปทาง ขาไปทาง จะมีการรัวกลองคลอประกอบพื้นหลัง (สอดคล้อง ‘Sound Effect’ เสียงกรรไกรฉับๆ) เครื่องเป่ามอบสัมผัสอยากรู้อยากเห็น ละเล่น ต่อสู้ ตัดแปะทุกสิ่งอย่าง กลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นั่นคือโลกแห่งความแบ่งแยก แตกต่าง เต็มไปด้วยความสับสนอลม่าน
Food Fight เลือกใช้ท่วงทำนองมาร์ช (March) ซึ่งเหมาะสำหรับการสวนสนาม จัดกระบวนทัพ เตรียมตัวออกสู้รบสงคราม ฟังดูเหมือนไม่น่าเกี่ยวข้องอะไรกับดินเนอร์หรู แต่ให้ตายเถอะ! มันคือการเสียดสีแนวคิดระบบแบ่งปันอาหาร (food ration) ที่ทำให้ประชาชนชั้นรากหญ้าต้องต่อสู้ แก่งแย่งชิง เอาชนะการแข่งขัน เพื่อมื้อนี้จักได้คลายอาการหิวกระหาย ผิดกับชนชั้นผู้นำระดับสูง สามารถกินดื่มสังสรรค์อย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือย อิ่มอ้วนท้วนสมบูรณ์ถ้วนหน้า
สองสาวดอก Daisies คือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เมื่อพบเห็นโลกใบนี้ที่เต็มไปด้วยความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ จึงแสดงพฤติกรรมต่อต้าน ปฏิเสธคล้อยตามขนบกฎกรอบ วิถีทางสังคม โหยหาเสรีภาพชีวิต ต้องการกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ เลยสร้างโลกใบใหม่ของตนเองขึ้นมา
The Maries are not just two girls having fun. They are symbols of freedom and they have to be preserved as such. They are not destroyed but saved, saved by their own will and courage, saved by their own purity. They are not simply broken dolls, crushed by the rejection of their own world, they are rebellious and angry, they destroy what must be destroyed, they reject the old and go on to new things.
Věra Chytilová
การที่หนังให้สองสาวดอก Daisies มีลักษณะเหมือนหุ่นเชิดชัก (Marionette) เพื่อไม่ให้ผู้ชมมองพวกเธอเพียงสถานะเพศหญิง แต่ในเชิงสัญลักษณ์ถึงประชาชน บุคคลธรรมดาทั่วไป ต่างถูกควบคุมครอบงำ ใครบางคนชักใยบงการเบื้องหลัง ซึ่งสามารถสื่อถึงบุรุษเพศ กฎกรอบทางสังคม รวมถึงชนชั้นผู้นำประเทศ (รัฐบาลคอมมิวนิสต์ Czechoslovak และสหภาพโซเวียตที่อยู่เบื้องหลังอีกที)
ผู้กำกับ Chytilová และนักเขียนบท Krumbachová ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ ถูกปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน สตรีเพศต้องอยู่ภายใต้กฎกรอบทางสังคม ควบคุมปกครองโดยบุรุษ ไม่ต่างจากวัตถุทางเพศ เพียงของเล่น สิ่งสะสม เก็บไว้ชื่นเชยชม ไร้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม … แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จัดเป็น ‘Feminist Film’ สำแดงพลังหญิงเพื่อสร้างจุดยืนของสตรีเพศในสังคม
Czechoslovak คือหนึ่งในประเทศฟากฝั่ง Eastern Bloc หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์, ทศวรรษ 60s เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนตระหนักถึงความคอรัปชั่น โฉดชั่วร้ายของชนชั้นผู้นำ พยายามรวมกลุ่ม ชุมนุมประท้วง ลุกฮือขึ้นต่อต้านขับไล่รัฐบาลในช่วง Prague Spring (1968) แต่โชคร้ายถูกสหภาพโซเวียตส่งกำลังทหารเข้ามาแทรกแซง สร้างความท้อแท้หมดสิ้นหวัง สภาพของประเทศหลังจากนั้นไม่ต่างจากวันสิ้นโลกาวินาศ … โลกอันฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ มีต้นแบบมาจาก Czechoslovak
นอกจากนี้ทศวรรษ 60s ยังเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่วิถีทุนนิยม แนวคิดทำให้มนุษย์ลุ่มหลงเงินๆทองๆ สิ่งข้าวของหรูหราฟุ่มเฟือย อำนวยความสะดวกสบายในชีวิต หมกมุ่นยึดติดกับการบริโภค (Consumerism) ซึ่งจริงๆแล้วคือศัตรูของระบอบสังคมนิยม แต่บรรดาชนชั้นผู้นำ(ของ Czechoslovak)กลับปล่อยตัวปล่อยใจ หลงระเริงไปกับอภิสิทธิ์ชน สนองความสุขสบายส่วนตน ทอดทิ้งประชาชนให้ต่อสู้ดิ้นรน เข้าแถวรับบัตรคิวซื้ออาหาร ฟากฝั่งไหนกันแน่ที่โฉดชั่วร้ายกว่ากัน?
แนวคิดของผกก. Chytilová มีความน่าสนใจอย่างมากๆ ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถามว่า เมื่อโลกมันฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ ชนชั้นผู้นำเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น แล้วทำไมเราถึงยังก้มหัวให้เผด็จการ เลือกดำรงชีวิตตามกฎกรอบ ยินยอมรับกติกาที่ไม่ชอบธรรมเหล่านั้น? … นี่ไม่ได้พาดพิงถึงประเทศสารขัณฑ์ แต่มันก็อดระลึกถึงไม่ได้
จานที่แตกร้าว ต่อให้พยายามสักแค่ไหนก็ไม่สามารถแปะติดปะต่อให้กลับเหมือนเดิม ฉันท์ใดฉันท์นั้น โลกใบนี้ที่มีความฟ่อนเฟะ เน่าเละเทะ มันไม่มีทางที่อะไรๆจักหวนกลับมาบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพียงตัวเรายินยอมศิโรราบ ตอบรับความพ่ายแพ้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น หรือไม่ก็ช่างหัวแม้ง ปล่อยตามเวรตามกรรม ละทอดทิ้ง วางทุกสรรพสิ่งอย่าง
หนังเข้าฉายในประเทศ Czechoslovak ช่วงปลายปี ค.ศ. 1966 ได้เสียงตอบรับจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์เป็นอย่างดี (เหมือนว่าชาว Czech ยุคสมัยนั้นจะสามารถทำความเข้าใจหนัง) แต่หกเดือนหลังกลับถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์สั่งแบน เนื่องจากตัวละครมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม (Anti-Social) โดยเฉพาะฉากย่ำเหยียบอาหาร (เพราะสังคมนิยมยุคสมัยนั้นยังเป็นระบบแบ่งปันอาหาร (food ration) ความฟุ่มเฟือยบนโต๊ะอาหาร (food wasting) จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถยินยอมรับ)
They banned ‘Daisies’ because it was a critique of consumer society, and in those days that was seen as a capitalist phenomenon. The irony was that consumer society was the one thing we didn’t have. Everything was being rationed, so the idea that we were critiquing consumerism was absurd. But it was a way of silencing us. They wanted to show that they were still in control.
Věra Chytilová
ผลลัพท์ทำให้หนังถูกแบนยาวตั้งแต่ ค.ศ. 1967 ไปจนถึงการปลดแอก Czechoslovak ได้รับอิสรภาพจากสหภาพโซเวียต ค.ศ. 1989 แต่ก็มีการลักลอบแอบฉาย ส่งฟีล์มออกต่างประเทศ ขณะที่ชาวยุโรปให้การชื่นชมอย่างล้นหลาม นักวิจารณ์อเมริกันกลับบอกดูไม่รู้เรื่อง มองไม่เห็นเนื้อหาแท้จริงของหนัง
a grand celebration of absurdities with technical finesse and marvellous art direction so rarely achieved.
Pierre Billard นักวิจารณ์ฝรั่งเศส เปรียบเทียบ Daisies (1966) กับ Mack Sennett และ Marx Brothers
Pretentiously kookie and laboriously overblown mod farce about two playgirls who are thoroughly emptyheaded. Its stabs at humor and satire simply don’t cut.
Bosley Crowther นักวิจารณ์จาก The New York Times
สำหรับผู้ชม/นักวิจารณ์ร่วมสมัยใหม่ ต่างยกย่องสรรเสริญในความเหนือล้ำ เหนือกาลเวลา แถมแนวคิดยังสั่นพ้องเข้ากับโลกปัจจุบัน … แต่เอาจริงๆเลวร้ายยิ่งกว่าช่วงทศวรรษ 60s เสียด้วยซ้ำนะ!
A wild and brilliant piece of anarchy, a demonstration of what you can do with a camera and some talented actresses if you don’t let anyone stop you.
นักวิจารณ์ Roger Ebert
It’s easy to see why ‘Daisies’ has continued to resonate with audiences and filmmakers alike. It is as if the Maries have taken control of the film and are determined to do something that is completely their own.
นักวิจารณ์ Alex Heeney
ล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2022 หนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoraion’ คุณภาพ 4K นำฟีล์มต้นฉบับจาก Karlovy Vary International Film Festival ด้วยความร่วมมือระหว่าง Národní filmový archiv และ Prague and the Czech Film Fund สามารถหาซื้อ Blu-Ray หรือรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel
ถึงผมจะไม่ค่อยเข้าใจหนังระหว่างการรับชม แต่หลังจากค้นพบคีย์เวิร์ด ‘doll’ ก็บังเกิดความรู้แจ้ง เปิดผ่านๆดูอีกครั้ง แล้วได้ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ทำให้รู้สึกชื่นชอบประทับใจ แม้งเสียดายจริงๆถ้าได้ซับไตเติ้ลดีๆ อาจทำให้หลงใหลคลั่งไคล้ยิ่งๆขึ้นกว่านี้
การติดอันดับ 28 ชาร์ท “Greatest Movie of All-Times” ของนิตยสาร Sight & Sound: Critics’s Poll 2022 ถือว่าของจริง สมควรค่า แต่ลึกๆผมยังรู้สึกว่าสูงไปเกิดนิด (หนังไม่น่าจะอันดับสูงกว่า 8½ (1963), The Mirror (1975), หรืออย่าง Pather Panchali (1955), City Light (1931) ฯลฯ)
จัดเรต 18+ กับพฤติกรรมเหนือจริง ฟ่อนเฟะ เน่าเละของสังคม
Leave a Reply