Seemabaddha (1971) : Satyajit Ray ♥♥♥
เรื่องราวของผู้จัดการฝ่ายขาย (Sales Manager) กำลังจะได้เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการบริษัท (Company Director) แต่มีเหตุการณ์วุ่นๆบางอย่างเกิดขึ้น เขาจึงพยายามทำทุกวิถีทาง โดยไม่สนความถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพื่อความก้าวหน้าสูงสุดในอาชีพการงาน … นั่นเป็นสิ่งเหมาะสมควรแล้วหรือ?
ผู้กำกับ Satyajit Ray สรรค์สร้าง Calcutta Trilogy ประกอบด้วย
– Pratidwandi (The Adversary) (1970)
– Seemabaddha (Company Limited) (1971)
– Jana Aranya (The Middleman) (1976)
เพื่อนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต ความครุ่นคิด ทัศนคติผู้คนเมือง Calcutta อันเป็นผลกระทบหลังได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร แบ่งแยกดินแดนอินเดีย-ปากีสถาน การเข้ามาถึงของอิทธิพลต่างชาติ ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมตะวันตก (ทุนนิยม, แฟชั่น, ฮิปปี้) แต่ยังทัศนคติทางการเมืองแพร่ลงจากระบอบคอมมิวนิสต์ของจีน
และรวมไปถึงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองผู้บริโภค/ประชากรโลกมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจรูปแบบบริษัทจึงได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งความสำเร็จวัดกันที่ไต่เต้าสู่ระดับผู้จัดการ กรรมการบริหาร นำมาซึ่งความร่ำรวยเงินทอง ชีวิตสุขสบาย แต่นั่นย่อมต้องแลกมาด้วยบางสิ่งอย่าง การสูญเสียจิตสำนึก คุณธรรมมโนธรรมประจำใจ
ในแง่คุณภาพของหนัง ยังต้องชมว่าผู้กำกับ Ray รักษาระดับความยอดเยี่ยม เต็มไปด้วยแนวคิดสร้างสรรค์มากมาย แต่ผมรู้สึกว่าเรื่องราวมันออกแนว ‘ชวนเชื่อ’ มองโลกในแง่ร้ายไปสักหน่อย ซึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนมุมมองทัศนคติของผู้กำกับ ครุ่นคิดเห็นอย่างไรต่อการปรับเปลี่ยนแปลงไปของวิถีโลก
Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)
หลังเสร็จจาก Pratidwandi (1970) ผู้กำกับ Ray มีโอกาสเรื่องสั้น Seemabaddha รวมอยู่ในหนังสือ Swarga Martya Patal ของนักเขียนชาวเบงกาลี Mani Shankar Mukherjee (เกิดปี 1933) เกิดความสนใจในการกระทำของตัวละคร เต็มไปด้วยความโลภ ละโมบ เห็นแก่ตัว สะท้อนถึงอิทธิพลยุคสมัย ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ค่อยๆกัดกร่อนบ่อนทำลายจิตวิญญาณมนุษย์จากภายใน
เกร็ด: หนังสือ Swarga Martya Patal รวมรวม 3 เรื่องสั้น ประกอบด้วย
– Seemabaddha
– Asha Akangsha
– และ Jana Aranya กลายเป็นภาพยนตร์ปิดไตรภาค Calcutta Trilogy
Shyamal (รับบทโดย Barun Chanda) ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทผลิตพัดลม PETER สัญชาติอังกฤษ กำลังจะได้เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการบริษัทในอีกไม่ช้า แต่ขณะนั้นสินค้ากำลังส่งออกพบร่องรอยตำหนิ จะแก้ไขก็สายเกินกำหนดการ ถ้าถูกตรวจสอบพบจะทำให้บริษัทสูญเสียทุกสิ่งอย่าง หลงเหลือวิธีเดียวเท่านั้นคือสร้างสถานการณ์คาดไม่ถึงให้บังเกิดขึ้น
Barun Chanda นักแสดงชาวอินเดีย เกิดที่ Dhaka (ปัจจุบันอยู่ในประเทศ Bangladesh) เดินทางสู่ Kolkata เพื่อเรียนมหาวิทยาลัย บังเอิญพบเจอและได้กลายเป็นนักแสดงนำภาพยนตร์ Seemabaddha (1971) จากนั้นผันตัวไปทำงานเบื้องหลัง เขียนนิยาย ทำโฆษณา หวนกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้ง 20 ปีให้หลัง
รับบท Shyamalendu Chatterjee ชายยังหนุ่ม มากด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ค่อยๆไต่เต้าขึ้นสูงจนกลายเป็นผู้จัดการ แม้แต่งงานมีภรรยาและลูก ยังรู้สึกสูญเสียดายน้องสะใภ้ Tutul (รับบทโดย Sharmila Tagore) โหยหา คิดถึง แต่ยังไม่คิดล่วงเกินเลยเถิด ทำสิ่งผิดศีลธรรมมโนธรรม แต่เมื่อการงานประสบปัญหาครั้งใหญ่ ตัดสินใจสร้างเรื่องราว ทำสิ่งชั่วร้ายจนสามารถเอาตัวรอดมาได้ดิบได้ดี เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการบริษัท นั่นเลยทำให้เขาสูญเสียเธอไปชั่วนิรันดร์
น่าจะคือภาพลักษณ์ของ Chanda ที่ทำให้ผู้กำกับ Ray เลือกมาเป็นนักแสดงนำ (เห็นว่าทีแรกเล็ง Soumitra Chatterjee ก็เข้ากับบทอยู่นะ แต่คงต้องการใบหน้าสดใหม่ให้ตัวละคร) ดูมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน มี Passion ต่ออะไรบางอย่างรุนแรง พร้อมยอมสูญเสียสละทุกสิ่ง ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ
การเลือกใช้นักแสดงสมัครเล่นอย่าง Chanda ย่อมไม่สามารถคาดหวังความสมจริงได้สักเท่าไหร่ ซึ่งผู้กำกับ Ray คงรับรู้จุดนี้ดี จึงใช้การเล่าเรื่องแบบผ่านๆ มุ่งเน้นภาษาภาพยนตร์ถ่ายทอดความรู้สึกตัวละคร มากกว่าจะบีบบั้นคั้นทางสีหน้าอารมณ์ออกมา
Sharmila Tagore (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Hyderabad เป็นญาติห่างๆของนักเขียนชื่อดัง Rabindranath Tagore, บิดาเป็นผู้จัดการ British India Corporation มีพี่น้องสามคน เพราะความที่น้องสาวคนกลาง Oindrila Kunda ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง Kabuliwala (1957) ทำให้เธออยากเข้าวงการบ้าง เมื่อตอนอายุ 14 ปี ขณะกำลังแสดงการเต้นยัง Children’s Little Theatre ค้นพบโดยผู้กำกับ Satyajit Ray คัดเลือกมามาเป็นเจ้าสาวผู้อาภัพใน Apur Sansar (1959), ได้ร่วมงานกันอีกเรื่อง Devi (1960), Nayak (1966), Aranyer Din Ratri (1970) และ Seemabaddha (1971)
รับบท Sudarsana ชื่อเล่น Tutul น้องของ Dolan (รับบทโดย Paromita Chowdhury) อาศัยอยู่ Patna เดินทางมา Calcutta เพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน มองลึกๆเข้าไปในดวงตา ยังพบเห็นเยื่อใยกับพี่เขย Shyamal สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่องรวมไปถึงปัญหาที่โรงงาน นั่นทำให้เธอเกิดความครุ่นคิดเล่นๆ กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขากระทำจริงๆ นั่นสร้างความผิดหวังอย่างรุนแรง ไม่ครุ่นคิดว่าความก้าวหน้า ร่ำรวยเงินทอง จะทำให้มนุษย์สูญเสียจิตวิญญาณความเป็นคน
ตัวละครของ Tagore ในภาพยนตร์ของผู้กำกับ Ray มักเป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด หลักแหลม ชอบเล่นหูเล่นตา แต่จะไม่ทำสิ่งเกินเลย ผิดหลักศีลธรรมจรรยา และมักเป็นจิตสำนึก/เตือนสติผู้อื่น ให้ฉุกครุ่นคิดเวลาทำอะไรผิดพลาด … ราวกับอวตารของปู่ Rabindranath Tagore ถึงขนาดมีคำเรียกว่า ‘Tagorean Humanist Values’
เรื่องนี้ก็ถือว่าเข้าสูตรดังกล่าวเปะๆ เล่นหูเล่นตากับพี่เขย แสดงความเฉลียวฉลาดหลักแหลมให้เขาฉุดครุ่นคิดแก้ไขปัญหา แค่ว่าเมื่อรับทราบความจริงบางอย่างนั้น ไม่มีคำพูดปริปากใดๆออกมา แต่แสดงให้เห็นถึงสีหน้า การกระทำ และจู่ๆสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องลอย (นั่นคือจิตสำนึก/ความเป็นมนุษย์ ได้สูญหายไปโดยสิ้นเชิง)
ถ่ายภาพโดย Soumendu Roy เลื่อนตำแหน่งจากนักจัดแสง/ผู้ช่วย Subrata Mitra กลายมาเป็นขาประจำคนใหม่ของผู้กำกับ Ray,
งานภาพอาจดูไม่มีความหวือหวาสักเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับ Pratidwandi) แต่ถือว่าเต็มไปด้วยลูกเล่นลูกชน โดยเฉพาะช่วงอารัมบทแนะนำการไต่เต้าของตัวละคร พบเห็น Split Screen, หรือช็อตนี้แนะนำผู้บริหารบริษัท ซึ่งมีการใช้เทคนิค Photo-Negative เพื่อเน้นว่าชายบุคคลดังกล่าว กำลังใกล้หมดวาระทำงาน (ป่วยเป็นมะเร็ง) ใครสักคนกำลังจะได้ก้าวขึ้นมาแทน
Opening Credit ใช้เทคนิค Split Screen แบ่งครึ่งซ้าย ใบหน้าตัวละครขณะกำลังเดินทางไปทำงาน อีกครึ่งขวา ขึ้นตัวอักษรทีมงานสร้างภาพยนตร์
ผมครุ่นคิดว่านัยยะของ Opening Credit ต้องการสะท้อนให้เห็นถึง กว่าที่ใครคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ ไต่เต้าขึ้นสูง ย่อมต้องมีผู้เสียสละ ให้การช่วยเหลือผลักดัน หรือลูกน้องในสังกัดมากมาย ไม่มีทางที่ใครคนหนึ่งจะเป็นผู้จัดการ/กรรมการบริหาร โดยไม่มีใครอยู๋เบื้องหลัง
ขณะทำงานอยู่ในบริษัท ถ้าขณะนั้น Shyamal กำลังออกคำสั่งงานใคร มุมกล้องจะเงยขึ้นเห็นเพดาน แสดงถึงอำนาจ ตำแหน่งอันสูงส่งของเขา
ตรงกันข้ามถ้ากำลังพูดคุยกับผู้บริหาร/กรรมการบริษัท มุมกล้องจะล้มลงเห็นพื้น แสดงถึงความนอบน้อมถ่อมตนของ Shyamal ที่มีต่อหัวหน้า/นายจ้างตนเอง
หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ ยกเว้นเพียงสป็อตโฆษณาความยาว 1 นาที ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี ซึ่งดูมีชีวิตชีวากว่าหนังทั้งเรื่องอีกนะเนี่ย!
พัดลม ถือเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (ในยุคสมัยนั้น) ทำให้มนุษย์มีความร่มเย็น สุขสบายกว่าเก่าก่อน (แต่ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง และไม่จำเป็น) ผ่อนคลายความลุ่มร้อนทางกาย (แต่เห็นค่าไฟคงไม่เย็นใจอย่างแน่นอน!)
คู่แข่งของ Shyamal ถูกนำเสนอในเชิงศัตรู คู่อริ นั่งอยู่ทิศทางตั้งฉาก พ่นควันบุหรี่ใส่กัน เรียกได้ว่าไม่ถูกโฉลกโดยสิ้นเชิง … การนำเสนอในลักษณะนี้ เป็นการสร้างอคติ ความแตกแยก ให้ผู้ชมรับรู้สึกว่าพระเอกดูดีขึ้นมาในสายตา เห็นคู่แข่งคือผู้ร้ายที่ต้องเอาชนะ แม้จะไม่มีบทบาทสักเท่าไหร่ก็ตามเถอะ
การมาถึงของ Tutul (เรื่องนี้เธอไม่ใส่แว่นตาเลยนะ เรียกได้ว่าเปิดเผยตัวตน ธาตุแท้จริงออกมาทั้งหมด) มองออกไปนอกหน้าต่าง แปลกที่ไม่มีเหล็กที่เหมือนกรงขัง แต่เพราะอยู่สูงชั้นบน ก็ใช่ว่าจะได้รับอิสรภาพโบยบินเหมือนนก
หลายๆคนน่าจะรู้จักคำว่า ‘Rat Race’ ซึ่งสะท้อนชีวิตของมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องต่อสู้แข่งขันให้ได้รับชัยชนะ วิ่งเวียนวนรอบสนามไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งในบริบทนี้เปรียบเทียบกับการแข่งม้า ‘Horse Race’ ก็ถือว่าไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่
ความก้าวหน้าในอาชีพของ Shyamal ทำให้เขาไม่มีเวลาที่จะคอยดูแลพ่อ-แม่ ผู้แก่เฒ่า รวมไปถึงบุตรชายส่งไปโรงเรียนประจำ นั่นถือว่าตรงกันข้ามกับขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของชาวอินเดียโดยสิ้นเชิง
Tutul ตื่นเช้าขึ้นมาเพราะไม่มีนาฬิกาใส่ Shyamal จึงมอบเรือนที่ให้ภรรยาติดตัว จากนั้นเธอย้ายมานั่งอีกฝั่งตรงกันข้าม พบเห็นทั้งสองราวกับอยู่กันคนละมุมโลก
– ฝั่งของ Tutul ผู้ยึดมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี อยู่ฝั่งขวา (อนุรักษ์นิยม) บดบังด้วยชั้นวางของที่ดูเหมือนกรงขังคุก
– ฝั่งของ Shyamal อยู่ซ้ายสุด (หัวก้าวหน้า) แทบไม่มีอะไรปกปิดบัง ถือว่าเต็มไปด้วยอิสรภาพทางความครุ่นคิดกระทำ
นี่เป็นช็อตที่ Shyamal ได้ยินว่าเกิดหายบางอย่างขึ้น แสงสว่างจร้า (ช็อตถัดมาจะปกคลุมด้วยความมืดหมองหม่น) ซึ่งถือว่าเป็นงานภาพที่ดูผิดปกติ ผู้ชมสัมผัสได้โดยทันทีว่าไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ
นี่เป็นช็อตที่ Shyamal ทำการครุ่นคิดเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหา ใบหน้าบดบังแสงไฟอยู่ด้านหลัง ราวกับว่าสิ่งที่กำลังจะตัดสินใจนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมณ์ยินดีสักเท่าไหร่
แผนการของ Shyamal จำต้องขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าโรงงาน ทีแรกเขาสวมใส่แว่นตาปกปิดบังตัวตนไว้ จากนั้นถอดออกเพื่อแสดงถึงธาตุแท้ แถมยังจุดบุหรี่ให้ แสดงถึงการยินยอมทุกสิ่งอย่าง เพื่อแลกมากับการเอาตัวรอด และตนเองได้กลายเป็นผู้อำนวยการบริษัท
เมื่อเหตุการณ์วุ่นวายกำลังดำเนินไปด้วยดี Shyamal มีความใจชื้นขึ้นมา รับประทานอาหารกับภรรยาและน้องสะใภ้ กล้องกลิ้งไปกลิ้งมาซ้ายขวา สะท้อนถึงความกลับกลอก ปอกลอก เชื่อถือไม่ได้อีกต่อไป
ฉากที่ความจริงของ Shyamal ได้รับการเปิดเผยบอกกับ Tutul พวกเขากำลังรับประทานอาหารอยู่ร้านคาริบเบี้ยนแห่งหนึ่ง นักเต้นสาวเริงระบำฮาวาย แล้วนำสร้อยดอกไม้มาคล้องคอชายหนุ่ม ราวกับว่าเขาได้เป็นผู้ชนะ (ในการเอาตัวรอดจากหายนะครั้งนี้)
เมื่อ Shyamal ได้กลายเป็นผู้อำนวยการบริษัทสาสมใจ กลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์ลิฟท์เสีย จำต้องเดินขึ้นบันได้ 7-8 ชั้น ร้อยเรียงภาพทีละชั้น แรกๆวิ่งสบาย บนๆเริ่มเหนื่อยอ่อนล้า ถึงห้องก็หมดเรี่ยวแรง ถือเป็น Sequence สะท้อนถึงการไต่เต้าขึ้นสูง ความสำเร็จที่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย
แต่ที่สุดแล้วเมื่อ Shyamal พบเห็น Tutul ถอดนาฬิกาข้อมือคืนให้กับเขา ค่อยๆตระหนักตนเองขึ้นมาได้ ยกมือขึ้นกุมใบหน้า กล้องเคลื่อนขึ้นสูงเห็นไฟและพัดลม ก่อนที่เธอจะค่อยๆสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องลอย
นัยยะของฉากนี้สะท้อนกระทำของ Shyamal ที่เมื่อไต่เต้าขึ้นสู่ขุดสูงสุด (พบเห็นพัดลมติดเพดาน) สิ่งที่เขาแลกมาคือจิตสำนึก ความเป็นคน และสูญเสีย Tutul คงไม่มีวันหวนกลับคืนมา
ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Shyamal เริ่มจาก
– อารัมบท, ร้อยเรียงช่วงเวลาชีวิตสิบปีตั้งแต่เรียนจบ จนกลายมาเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย
– การมาถึงของ Tutul พาไปเปิดโลก ชมการแข่งม้า งานเลี้ยงสังสรรค์
– อุปสรรคถาโถมใส่ Shyamal ขณะกำลังสิ้นหวังก็พบเจอโอกาส
– ผลลัพท์แห่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ คือการพ่ายแพ้จิตใจตนเองที่ใหญ่ยิ่ง
แม้การตัดต่อจะไม่มีลูกเล่นลูกชนเท่าผลงานก่อนหน้า Jump Cut, ย้อนอดีต, ความเพ้อฝัน ฯ แต่หนังดำเนินเรื่องค่อนข้างรวดเร็วฉับไว มักสลับสับเปลี่ยนมุมกล้องไปมาอยู่เรื่อยๆ ค่าเฉลี่ย ASL (Average Shot Length) น่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภาพยนตร์ของผู้กำกับ Satyajit Ray คงต้องการสะท้อนความเร่งรีบร้อนของตัวละคร เพื่อให้ชีวิตไต่เต้าถึงตำแหน่งผู้บริหาร ประสบพบพานความสำเร็จสมหวังดั่งใจ
เพลงประกอบโดย Satyajit Ray, งานเพลงของหนังจะเน้นความตึงเครียด จริงจังเป็นหลัก อย่างช่วง Opening Credit เสียงหลักๆที่ได้ยินคือรัวกลอง ราวกับตัวละครกำลังออกเดินทางไปสู้รบจับศึก ตามด้วยเสียงขลุ่ยท่วงทำนองโหยหวนล่องลอย เต็มไปด้วยความเยือกเย็นชา เส้นทางปีนป่ายไปให้ถึงยอดเขา มันช่างหนาวเหน็บ อ้างว้าง เดียวดาย
Seemabaddha เป็นภาพยนตร์สะท้อนถึงความเป็นไปได้ในโลกยุคสมัยทุนนิยม เมื่อมนุษย์ละเลิกจะยึดถือมั่นคุณความดีงาม ศีลธรรมมโนธรรมประจำใจ หรือขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีที่เคยมั่งมีมาของบรรพชน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ตนเองได้รับชัยชนะ ก้าวหน้าในกิจการหน้าที่ ประสบความสำเร็จร่ำรวยเงิน นั่นเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมควรแล้วหรือ?
การกระทำของ Shyamal ถูกตีความผ่านหนัง/ผู้กำกับ Ray ว่าได้รับอิทธิพลทางสังคมเป็นหลัก เพราะความเจริญทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษ 60s ทำให้ชาวอินเดียรุ่นใหม่ทอดทิ้งวิถี ความเชื่อ ค่านิยมดั้งเดิมทางสังคม โอบรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติ ทัศนคติโหยหาความสุขสบายทางวัตถุ
แต่กาลเวลาและผู้ชมต่างชาติ เพราะมิได้พานผ่านหรือเข้าใจพื้นหลังยุคสมัย การกระทำของ Shyamal จึงสะท้อนเพียงความโลภละโมบ เห็นแก่ตัว มักใหญ่ใฝ่สูง ถูกระบอบทุนนิยม เงินทอง วัตถุสิ่งข้าวของ ความสะดวกสบาย ค่อยๆกัดกลืนกินจนกลายเป็นเดรัจฉานตนหนึ่ง มองเห็นเพียงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งเหนือสิ่งอื่นใด
สำหรับ Shyamal ตอนจบยกมือขึ้นมาปกปิดใบหน้า เป็นความพยายามแสดงออกให้ผู้ชมรู้ว่า ลึกๆเขายังคงมีจิตสำนึก มโนธรรมประจำใจ รู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่คงไม่ครุ่นคิดทำอะไรให้เกิดขึ้นแน่ … แต่สำหรับมนุษย์ยุคสมัยนี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันใช้ครีมอาบน้ำยี่ห้อไหน มันช่างด้านได้อายอด ไม่ล่วงรับรู้ตนเองบ้างเลยหรือไรว่ากระทำสิ่งชั่วช้าเลวทราม สันดานโจรห้าร้อย อยากรู้เหมือนกันว่าตายไปตกนรก มันจะมีจิตสำนึก/ความรู้สึกผิดเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า
หนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice ได้เสียงตอบรับดีเยี่ยมล้นหลาม คว้ารางวัลยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ FIPRESCI Award เคียงข้าง The Cruel Sea (1972) ภาพยนตร์สัญชาติ Kuwaiti ของผู้กำกับ Khaled El Seddiq
ส่วนตัวไม่ค่อยชอบความยัดเยียด ชวนเชื่อ มองโลกด้านเดียวของหนังสักเท่าไหร่ (ก่อนหน้านี้ก็มี Devi ที่ผมรู้สึกแบบเดียวกัน) แม้ไดเรคชั่นผู้กำกับ Satyajit Ray จะยังคงยอดเยี่ยม และ Sharmila Tagore น่ารักเหมือนเคย แต่ภาพรวมค่อนข้างน่าผิดหวัง และเหมือนว่า Ray ไม่รับล่วงรู้ตนเองว่ากำลังทำอะไรอยู่
ขอแนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Salary Man มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย การทุ่มเทตั้งใจทำงานเป็นสิ่งดี น่ายกย่อง แต่ถ้าต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างแบบภาพยนตร์เรื่องนี้ มันคุ้มแล้วหรือที่จิตวิญญาณความเป็นคนจักสูญเสียไป อย่าเอาข้อข้าง ‘ใครๆเขาก็ทำกัน’ ถ้าความแตก ถูกจับ ติดคุก ลงนรก มีใครจะยินยอมรับโทษทัณฑ์แทนคุณได้หรือเปล่าละ!
จัดเรต 13+ กับความโลภละโมบ คอรัปชั่น มืดบอดในการกระทำ
Leave a Reply