Séraphine

Séraphine (2008) French : Martin Provost ♥♥♥◊

ผมเรียกหนังเรื่องนี้ว่า ‘ซินเดอเรลล่าแห่งวงการศิลปะ’ กระนั้นมันก็ไม่มีรองเท้าแก้ว รถม้าฟักทองหรือนางฟ้าแม่ทูนหัว แถมตอนจบนางซินยังต้องผิดหวังเพราะเจ้าชาย แถมสติแตกเข้าโรงพยาบาลบ้า (มันเหมือนยังไงกัน!) Séraphine กวาด 7 รางวัล César Awards (เทียบเท่ากับ Oscar ของฝรั่งเศส) รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี นี่น่าจะเป็นหนังเกี่ยวกับ Painter & Artist ที่กวาดรางวัลมากที่สุด

Séraphine Louis (1864–1942) จิตรกรสาวใหญ่ สัญชาติฝรั่งเศส เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Séraphine de Senlis (Séraphine of Senlis) วาดภาพสไตล์ Naïve Art เรียนวาดรูปเป็นด้วยตัวเอง (Self-Taught) เธออ้างว่า มือของเธอวาดภาพตามเสียงพระเจ้าสั่ง อิทธิพลได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อทางศาสนา และจากงานศิลปะจากรูปภาพบนกระจก (stained-glass) ในหน้าต่างโบสถ์, เธอเป็นศิลปินที่ไม่มีใครรู้จัก จนกระทั่ง Wilhelm Uhde นักสะสมชาวเยอรมัน ได้มีโอกาสเห็นภาพวาดของเธอ ขณะ Séraphine เป็นแม่บ้าน ทำความสะอาดบ้านให้ ขณะลี้ภัยสงครามมาอยู่ฝรั่งเศส ไม่นานนักทหารเยอรมันก็ตามมาถึง Wilhelm Uhde จึงต้องหลบหนีต่อ ทิ้ง Séraphine และภาพวาดสะสมของเขาทั้งหมดที่นั่น แต่ก็สัญญาจะกลับมาทำให้โลกรู้จักผลงานของเธอ

คงมีคนสงสัยว่าหนังเรื่องนี้เหมือน Cinderella ยังไง, ตอนผมเห็น Séraphine กำลังถูขัดพื้นตอนต้นเรื่อง ก็เกิดแนวคิดนี้ขึ้นมาทันที นี่เป็นหนังเกี่ยวกับศิลปิน จิตรกร แต่ไฉนนางเอกกลับมาเป็นคนใช้ รับจ้างขัดพื้น ถูบ้าน ซักผ้า ทำอาหาร นี่แสดงว่าเธอต้องเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง แต่สิ่งที่ห่อซ่อนไว้ไม่ใช่ทอง เป็นพรสวรรค์และฝีมือการภาพวาดของเธอ, ครึ่งชั่วโมงแรกเราจะไม่เห็น Séraphine วาดรูปเลย เธอทำงานหัวงกๆ แล้วเอาเวลาที่ไหนไปวาดรูป เมื่อเจ้าชายก็ออกมาชื่อ Wilhelm Uhde ได้เป็นเห็นภาพวาดของเธอ และตกหลุมรัก (จะว่าภาพวาดคือรองเท้าแก้วก็ได้) สงครามทำให้ทั้งสองพลัดพรากจากกัน (คงเลยเวลาเที่ยงคืน) ผ่านไปหลายปี สงครามจบ Wilhelm Uhde กลับมาฝรั่งเศส และตามหา Séraphine จนพบ … พล็อตแบบนี้คล้าย Cinderella ไหมละครับ

ผมไม่ค่อยมีโอกาสดูหนังฝรั่งเศสยุคใหม่ๆ (หลังปี 2000 ขึ้นมา) มากนัก แต่รู้สึกว่าอะไรๆเปลี่ยนไปจากยุคก่อนมากๆเลย แม้จะยังมีลักษณะคล้ายๆเดิม คือ เน้นขายการแสดง เรื่องราวที่แฝงแนวคิดลึกซึ้ง และเทคนิคการเล่าเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้กำกับแต่ละคน หนังฝรั่งเศสยุคใหม่ดูเหมือนจะได้อิทธิพลจากอเมริกามากขึ้น ดูง่ายขึ้น เทคนิคแพรวพราวลดลง ทำให้ผมไม่มีปัญหาเรื่องการตีความหรือเข้าใจหนังเท่าไหร่นัก ซึ่งหนังฝรั่งเศสยุคเก่าต้องใช้ความอดทนอย่างมาก บางเรื่องซับซ้อนขนาดคิดจนปวดหัวก็คิดไม่ออก, Séraphine เป็นหนังที่ดูง่ายกินง่ายเหมือนเนื้อสไลด์เลย เมื่อเทียบกับหนังฝรั่งเศสยุคเก่าที่เป็น Raw Steak กระนั้นผมยังคิดว่ารสชาติคงยังไม่ถูกจริตคนไทยเท่าไหร่ เพราะตัวละครไม่ได้สวยหล่อ … ก็เขาขายการแสดงไม่ได้ขายหน้าตา! นี่เป็นทัศนคติที่แย่นะครับ ใครยังคิดแบบนี้จะทำให้คุณจะพลาดหนังดีๆไปเยอะเลย ตอนผมเห็นโปสเตอร์หนัง เห็นนักแสดงที่รับบท Séraphine เกิดความอยากดูมากๆ สันชาติญาณบอกเลยว่า หนังเรื่องนี้ต้องดีแน่ๆ หนังที่ไม่ขายหน้าตานักแสดง ร้อยทั้งร้อยขายการแสดง ถ้านักแสดงไม่ฝีมือจริงๆ คงไม่ถูกเลือกมาให้แสดง และถ่ายขึ้นโปสเตอร์แบบนี้หรอก

ผู้กำกับ Martin Provost เคยเป็นนักแสดงทั้งจากละครเวที โทรทัศน์และภาพยนตร์ หันมาทำเบื้องหลัง เริ่มต้นจากเป็นผู้กำกับสร้าง TV mini-Series ต่อมาก็ผันตัวเป็นผู้กำกับหนังใหญ่, หนังเรื่องโปรดของเขา คือ Edvard Munch (1974) และ Van Gogh (1991) ที่ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจต่อหนังเรื่องนี้ด้วย ทั้งสองเรื่องผมเขียนรีวิวไปแล้ว เป็นชีวประวัติจิตรกรเอกของโลกที่ยอดเยี่ยมมากๆ, Séraphine กลายเป็นผลงานที่ทำให้ Provost ได้รับการชื่นชมอย่างมากถึงเทคนิคและวิสัยทัศน์ (ทั้งๆทำงานในวงการมากว่า 20 ปีแล้ว แต่หนังเรื่องนี้ถือว่าสร้างชื่อและประสบความสำเร็จที่สุด) ฟังดูเหมือนตัวละคร Séraphine เลยนะครับ กว่าผลงานเธอจะได้ถูกพบเจอ ก็เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยกลางคนไปแล้ว (อายุ 40 เท่ากันด้วย), ถึงหนังจะกวาดรางวัลไปมากมาย แต่น่าเสียดายที่ Provost ได้แค่เข้าชิง Best Director จาก César Award เป็น 1 ในสองสาขาที่เข้าชิงแต่พลาดไป (อีกสาขาคือ Best Sound)

Séraphine Louis ชื่อนี้ไม่ได้โด่งดังนั้นในฝรั่งเศส น้อยคนจะรู้จักเธอ Provost ก็บอกว่า เพิ่งเคยได้รู้จักจากเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานสถานีวิทยุ ซึ่งเพื่อนก็ถือว่าได้รู้จักโดยบังเอิญเช่นกัน และเขารู้สึกว่าน่าสนใจจึงนำมาเล่าให้ฟัง, Provost ลองหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตสมัยนั้น พบว่าแทบไม่มีอะไรเลย ได้ประวัติคร่าวๆแค่ เป็นขณะทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาด Séraphine อ้างว่ามองเห็นเทวดา (guardian angle) และกลายเป็นจิตรกรเมื่อตอนอายุ 40, เมื่อเขาตัดสินใจสร้างหนัง ได้ค้นหารายละเอียดอย่างเจาะลึก จึงได้พบกว่า Wilhelm Uhde นักวิจารณ์ นักสะสมงานศิลปะคนสำคัญในยุคต้นศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 19xx) มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับ Séraphine เธอคือหนึ่งในเพชรแท้ที่ Uhde ค้นพบ แต่ผลงานเธอยังไม่ได้รับการจดจำเสียเท่าไหร่

Yolande Moreau นักแสดงสัญชาติ Belgian (Belgium) ที่ชอบรับงานการแสดงหนังของฝรั่งเศส เธอถือเป็นตัวเลือกแรกของ Provost สำหรับบท Séraphine, เธอใช้เวลาเตรียมตัวอยู่ 1 ปีในการรับบทนี้ ทั้งหัดวาดรูป เรียนร้องเพลงภาษาละติน แต่ขณะที่ถ่ายหนังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอลำบากใจ เพราะเธอไม่ได้มีความลึกลับต่อความเชื่อศรัทธาในศาสนามากเท่ากับ Séraphine ซึ่งในขณะที่ถ่ายหนัง เธอเดินไปที่มุมห้องแล้วกระซิบพูดกับตัวเองว่า “Séraphine, I’m with you, I’m with you.” พูดจบเดินกลับมาเข้าฉาก ขณะนั้นทีมงานออกอาการเหวอ ไม่รู้เธอทำอะไร และขณะนั้นการแสดงของเธอราวกับว่า Séraphine กลับมามีชีวิตต่อหน้ากล้อง “It was like this woman just came to life in front of the camera.”

แน่นอนว่าการแสดงของ Yolande Moreau ทำให้เธอกวาดรางวัลต่างๆไปมากมาย รวมทั้ง Best Actress จาก César Award, บ้างก็ว่านี่เป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอ, การแสดงของเธอถือว่าสุดยอดมากๆ โดยเฉพาะการเดินที่ทำให้เรารู้สึกว่า นี่แหละผู้หญิงวัยกลางคนที่ดูเหมือนมีอะไรบางอย่าง (เหมือนท่าเดินคนจิตไม่ปกติ) สายตาที่จิกมากๆ บางครั้งเหม่อลอย บางครั้งก็อ่อนไหว Moreau ทำให้ตัวละครนี้มีมิติมากๆ จับต้องสัมผัสได้เลย, Moreau ไม่ใช่แค่นักแสดงเท่านั้นนะครับ ยังเคยกำกับหนัง When the Sea Rises (2004) หนังในกำกับเรื่องแรก ที่ยอดเยี่ยมขนาดได้ César Award สาขา Best First Feature Film และ Best Actress ตัวแรกด้วย

Ulrich Tukur นักแสดงสัญชาติ German รับบท Wilhelm Uhde, มีหนังเจ๋งๆในเครดิตของ Tukur หลายเรื่อง Die Weiße Rose (1982), Solaris (2002) ของ Steven Soderbergh, The White Ribbon (2009) ของ Michael Haneke ฯ, ตัวละครนี้ทำให้ผมรู้จักศิลปิน จิตรกรเพิ่มขึ้นหลายคนเลย เขาเป็นนักสะสมงานศิลปะยุคแรกๆของ Picasso, Henri Rousseau ผมหารูปภาพที่ปรากฏอยู่ในหนังไม่พบนะครับ ถึงลายเซ็นต์ในภาพจะเห็นอยู่ว่าเป็น Henri Rousseau แต่ผมหาภาพจริงๆไม่ได้ ไม่รู้เป็นภาพวาดเลียนแบบสไตล์ที่ไม่ใช่ผลงานจริงๆหรือเปล่า, Wilhelm Uhde เผื่อคนไม่รู้ หมอนี่เป็นเกย์นะครับ ในหนังถึงจะบอกว่าไม่แต่งงานกับผู้หญิง แต่ชีวิตจริงเขาแต่งกับผู้หญิงนะครับ (เพื่อหลบข้อครหาว่าเป็นเกย์) แต่ก็เลิกกัน, Helmut Kolle ที่ปรากฏตัวในหนัง (เป็นจิตรกรชื่อดัง ที่วาดภาพ portrait, และป่วยหนักจนตาย) หมอนี่ก็เป็นเกย์ และคาดว่าน่าจะเป็นคู่ขากับ Uhde ด้วย

ถ่ายภาพโดย Laurent Brunet โดดเด่นมากๆ โดยเฉพาะการเล่นสีและแสง มีฉากหนึ่งที่ใช้แสงจากเทียนไข ในห้องที่มืดสนิท Séraphine โชว์ภาพวาดของเธอให้คนอื่นเห็น วิธีการคล้ายๆกับ Mr. Turner ขณะที่มีคนต้องการชมผลงานของเขา จะพาเข้าไปที่ห้องมืด ก่อนเดินทะลุเข้าห้องเก็บผลงาน, ผมคิดว่าการทำแบบนี้ เหมือนการล้างตาจากภาพรกๆภายนอก เมื่ออยู่ในห้องที่มืดสนิท ตาเราจะจับจ้องอยู่กับแสงเทียนที่มีอยู่ จะทำให้เห็นความสวยงามของภาพอย่างเต็มตา ไม่วอกแวกกับสิ่งอื่น, การันตีการถ่ายภาพด้วยรางวัล César Awards สาขา Best Cinematography

ตัดต่อโดย Ludo Troch นี่น่าจะเป็นส่วนด้อยที่สุดในหนังแล้ว ผมรู้สึกมันมีมั่วๆตรงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่าง 2 ยุค คืออยู่ดีๆหนังก็เปลี่ยนไปใช้มุมมองของ Wilhelm Uhde ทั้งๆที่ครึ่งแรกมันเป็นมุมมองของ Séraphine ซึ่งพอ Uhde ตามหา Séraphine จนเจอตัวแล้ว การเล่าเรื่องก็กลับมาที่มุมของ Séraphine อีกครั้ง, นี่เป็นวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลย แต่ผมพอเข้าใจเหตุผลนะครับ เพราะมันอาจไม่มีเนื้อเรื่องในส่วนของ Séraphine เหลืออยู่ให้เล่านะครับ จึงเปลี่ยนมุมมอง แต่การทำแบบนี้ถือว่าทำให้หนังขาดความสมดุลและเบี้ยว ไม่โอเคเท่าไหร่, การตัดต่อเป็นสาขาที่ไม่ได้เข้าชิง César Awards

เพลงประกอบโดย Michael Galasso เขาคนนี้คือคนทำเพลงให้ In the Mood for Love (2000), Chungking Express (1994) ของผู้กำกับ Wong Kar-Wai, รู้สึก Séraphine จะเป็นผลงานเรื่องท้ายๆก่อนเขาจะเสียชีวิตเมื่อปี 2009 และคว้า Best Music Written for a Film รางวัลแรกและรางวัลเดียวใจชีวิตของ Michael Galasso, เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ แบบว่าหลอนมากๆ มักได้ยินในช่วงที่ไม่มีบทสนทนา (สร้างบรรยากาศ ไม่สร้างอารมณ์) เน้นเสียงไวโอลินที่แหลมปี้ด บรรเลงพร้อมๆกันหลายตัว ช่วงท้ายๆได้ยินเสียงปี่สก็อต ที่คล้ายเสียงของงานศพ (เป็นตอนก่อนที่ Séraphine จะสติแตกเข้าโรงพยาบาลบ้า), เพลงเนื้อร้องภาษาละติน ฟังไม่ออกครับ (ซับแปลให้) เป็นเสียงร้องของ Moreau เองเลย ทุกครั้งขณะวาดภาพใกล้เสร็จ Séraphine จะร้องเพลงขึ้นมา เหมือนเพื่อประกาศให้เทวดารู้ว่า ภาพวาดของท่านกำลังจะเสร็จแล้ว, บรรยากาศของเพลงสื่อถึงความรู้สึกในใจของ Séraphine ณ ช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งทำออกมาได้เข้ากับเหตุการณ์แต่ละขณะนั้นมากๆ แม้แต่เพลงตอนเครดิตท้ายเรื่องขึ้น เป็นเสียงเชลโล่ เสียงบทสรุปความเศร้าสลดของชีวิต Séraphine มันทั้งเจ็บปวด น่าสงสาร โลกมันช่างโหดร้าย

เกิดอะไรขึ้นกับเธอ?, ช่วงเวลาในหนังเกี่ยวเนื่องกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตร (อังกฤษ, ฝรั่งเศสและรัสเซีย) สู้รบกับ มหาอำนาจกลาง (เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี และอิตาลี) สงครามทำให้ช่วงรอยต่อของวงการศิลปะหยุดชะงัก Gallery ต่างๆไม่สามารถจัดแสดงผลงานอะไรได้, คนรวยไม่กล้าซื้อภาพ เพราะกลัวถูกขโมยหรือเอาไปทำลาย แต่ไม่ใช่กับศิลปิน พวกเขาต้องสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ตลอดเวลา, Séraphine เป็นผู้หญิงที่โชคร้าย เพราะขณะที่เธอกำลังจะดัง กลับไม่มี Gallery ที่ไหนสามารถเปิดให้เธอนำผลงานไปแสดงได้, เหตุที่เธอกลายเป็นบ้า หมอวินิจฉัยว่าเป็น Great Depression โรคที่เกิดจากจิตใจไม่สามารถการปรับตัว รับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ทัน โรคนี้ถือว่าเป็นโรคระบาดทางจิตในช่วงหลังสงครามโลกทั้งสองครั้ง ไม่ว่าจะประเทศที่เป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้สงคราม เมื่อทหารกลับบ้านเกิด มีคนรอดชีวิตและมีคนเสียชีวิต ใครยังแขนขาอยู่ครบก็โชคดีไป ความทรงจำต่อภาพสงคราม ความตาย พ่อแม่ที่พลัดพรากจากลูก ภรรยาสูญเสียคนรัก นี่ไม่ใช่สิ่งใครๆจะสามารถปรับตัวยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ง่าย, Séraphine ถึงเธอจะไม่ได้เข้าร่วมทำสงคราม แต่ก็อยู่ในเหตุการณ์ อยู่ในเมืองที่มีการต่อสู้ ทิ้งระเบิด ได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, การรอดชีวิตจากสงครามทำให้เธอวาดฝัน Paradise สรวงสวรรค์ที่จะพาเธอออกไปจากโลกใบนี้ ส่วนหนึ่งคือความผิดของ Wilhelm Uhde ด้วย เพราะเขาเป็นคนที่ทำให้เธอวาดฝันสรวงสวรรค์แห่งนั้น ทั้งๆที่เขาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเธอได้ มันเลยเหมือนตกจากสรวงสวรรค์ลงสู่ขุมนรกอเวจี (จะไม่ให้กลายเป็นบ้าก็แปลกแล้ว), Séraphine ได้เตรียมชุดผ้าไหมสีขาว เป็นชุดแต่งงานที่ดูเหมือนชุดของเทวดา (guardian angle) ตอนเธอใส่เดินไปรอบๆ เคาะประตูบ้านเอาจานช้อน เครื่องเงินเครื่องทองไปทิ้งไว้หน้าบ้านทุกหลัง เพื่อเป็นการประกาศว่า เทวดากำลังจะมา และฉันกำลังจะเดินทางไปสวรรค์ ใครเห็นก็คิดว่าเธอบ้า นั่นทำให้เธอถูกส่งไปโรงพยาบาลโรคจิต ขณะนั่นจิตใจของเธอไปอยู่บนสวรรค์เรียบร้อยแล้ว ไม่กลับลงมาที่โลกมนุษย์อีก (ไม่กลับมาเป็นปกติได้อีก)

ความเชื่อ ศรัทธาในพระเจ้า หนังเรื่องนี้ตั้งคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คนที่มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้าเช่น Séraphine เธอได้ยินเสียงของพระเจ้าจริงๆหรือ? หรือว่าเรื่องทั้งหมดที่เธอพูดมานั้นไม่เป็นจริง กุขึ้นมาเองทุกอย่าง? คำถามประเภทนี้แรงมากๆนะครับ เพราะ เป็นคำถามเชิงศรัทธา ถ้าสิ่งที่ Séraphine พูดเป็นจริง … ไม่รู้สิครับ ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น เธออาจเป็นพระแม่มารีหรือนักบุญของโลกเลย, แต่ถ้าเธอกุเรื่องทุกอย่างขึ้นมา คำถามต่อไปคือ เพื่ออะไร? ฤาว่าความศรัทธาแปรสภาพกลายเป็นงมงาย หลงตัวเอง เกิดเป็นภาพหลอน จินตนาการ แล้วภาพวาดทั้งหมดของเธอ มันคืออะไรกัน ต้นไม้แห่งชีวิต สายตาของพระเจ้า คนส่งสาสน์?

ภาพวาดของ Séraphine สไตล์ของเธอคือ Naïve Art หรือภาพวาดที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆบีบบังคับ ไม่เข้ากับลัทธิหรือได้อิทธิพลมาจากภาพวาดของศิลปินในยุคต่างๆ ผลงานเกิดจากคนที่ไม่เคยศึกษาเรียนรู้งานศิลปะมาก่อน ผลงานจึงออกมาในลักษณะทางความชอบส่วนตัว ความคิด ความรู้สึก ประทับใจอยากวาดอะไรก็วาดออกมา, ภาพของ Séraphine มักจะเป็นดอกไม้ ใบไม้ พืชผล หรือต้นไม้ ที่ดูแล้วรู้สึกเหมือนเคลื่อนไหวได้ ราวกับภาพวาดนั้นมีชีวิต บ้างดูแล้วรู้สึกเหมือนเป็นลูกตานับสิบนับร้อยจับจ้องมาที่คนดู ภาพที่ดังที่สุด The tree of life (วาดปี 1928) ผมแนบภาพมาด้วย เห็นแล้วรู้สึกยังไงกันบ้างเอ่ย?

Seraphine Tree of Life

ผมมักจะมองเห็นภาพวาดของ Séraphine มีลักษณะเหมือนดวงตานับสิบนับร้อย ที่จับจ้องมองดูเราอยู่ นี่เป็นความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์เลย เหมือนเวลาถ้าเราต้องออกไปยืนข้างหน้าเสาธง แล้วมีคนนับร้อยนับพันจับจ้องมองเรา ความคาดหวัง ความสงสัย สับสนมันจะถาโถมเข้ามา, แล้วใครกันที่มองเราจากในภาพ? ถ้าผมไม่เคยดูหนังเรื่องนี้มาก่อนอาจคิดว่าศิลปินเปรียบใบไม้ ต้นไม้ ดอกไม้เหล่านี้ก็คือสิ่งมีชีวิต มนุษย์มักมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีชีวิตจึงกระทำต่อมันในฐานะสิ่งไม่มีชีวิต แต่ถ้าต้นไม้ ใบ้ไม้ ธรรมชาติกลับปรากฎตัวมีชีวิตขึ้นมาละ…, การได้ดูหนังเรื่อง Séraphine ทำให้ผมมองเห็นอีกอย่างนะครับ ดวงตาพวกนี้อาจจะคือ ดวงตาของพระเจ้าที่จับจ้องมองดูมนุษย์

ภาพ Tree of Life ต้นไม้แห่งชีวิต มันดูเหมือนต้นไม้ ต้นไม้ที่ดูแล้วเหมือนมีชีวิต โลกเรามีต้นไม้แบบนี้ด้วยเหรอ? แล้วใครกันสร้างต้นไม้นี้ขึ้นมา? ใครกันเป็นผู้สร้างชีวิต?, ภาพวาดของ Séraphine ถือว่าได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อ ศรัทธาในศาสนาอันแรงกล้า ผมลองคิดถ้าภาพนี้ถูกนำไปวาดในกระจกโบสถ์ มันคงสวยงามมากๆ คนที่เข้าโบสถ์วันอาทิตย์สายๆ คงรู้สึกนี่เป็นเหมือนต้นไม้ที่พระเจ้าสร้างให้อดัมกับอีฟวิ่งเล่นสนุกสนาน (ต้นแอปเปิ้ลก่อนที่อดัมจะเด็ดผลกิน), หรือไม่ก็มองต้นไม้แทนด้วยการมีชีวิต เกิด เติบโต ออกดอกออกผล และร่วงหล่นโรยรา, ใบไม้มี 3 สี แดง น้ำเงิน เหลือง ความหมายอาจเป็น โลภ โกรธ หลง หรือความดี ความชั่ว เป็นกลาง ฯ, พื้นหลังที่มี 3 สี อาจจะ นรก โลกมนุษย์ สวรรค์ รากหยั่งจากใต้พื้นดิน ลำต้นสูงสุดแค่บนพื้น ส่วนใบนั้นสูงถึงชั้นอากาศ

ผมเคยบอกแล้วนะครับ การคิดวิเคราะห์ตีความนี้ ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกันทั้งหมด ผมไม่ได้หาข้อมูลอ้างอิงจากที่ไหนเลย (ขี้เกียจหาอ่าน) วิเคราะห์สดๆ ล้วนๆ ใครเห็นเป็นยังไง อยากพูดคุยก็สนทนามาได้เลยนะครับ

สรุปแล้วหนังเรื่องนี้เป็นยังไง ?… ก็ดีนะครับ คือมันยอดเยี่ยมนะแหละ นักวิจารณ์ให้การยอมรับ ผู้ชมก็ชื่นชอบ หนังกวาดรางวัลสูงถึง 7 สาขา ขนาดหนังรางวัล Oscar มีไม่กี่เรื่องเองนะครับที่สามารถกวาดรางวัลได้เยอะขนาดนี้, แต่เพราะผมดูหนังแนว Painter & Artist มานับสิบๆเรื่องแล้ว จึงมองไม่เห็นว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรโดดเด่น แปลกใหม่ น่าสนใจ ที่หงุดหงิดสุดๆคือ Séraphine ภายหลังกลายเป็นคนบ้า … เข้าทฤษฎีที่ผมคิดขึ้นและไม่ชอบเลย จิตรกรเอกของโลกส่วนใหญ่มักจะสติไม่ดี หรือไม่ก็เป็นบ้า … การแสดงของ Yolande Moreau ช่วยหนังเรื่องนี้ไว้เยอะเลย แบกหนังไว้ผมว่ามากกว่า Ulrich Tukur เสียอีก นี่น่าจะเป็นความแตกต่างเดียว กับหนังคอลเลคชั่นนี้ ศิลปินเป็นผู้หญิง จึงมีประเด็นเรื่องทัศนคติ ชนชั้น และเรื่องเพศเข้ามาผสมด้วย สรุปอีกทีแล้วกัน Séraphine เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมากๆในระดับหนึ่ง ยอดเยี่ยมแห่งปี แค่ไม่ใช่ที่สุด

ข้อคิดของหนัง ผมมองได้ 2 อย่าง ครึ่งแรกคือการอย่าดูถูกคน ถึงจะเป็นคนใช้แต่ไม่แน่ว่าเขา/เธอ อาจมีอะไรพิเศษแฝงอยู่ เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง (ป้า Séraphine ทำให้ผมนึกถึงป้า Susan Boyle แห่ง Britains Got Talent เมื่อปี 2009 หุ่นแบบเดียวกับเปี้ยบ), อย่างที่ 2 คือ อย่าไปตีตนก่อนไข้ จนกลายเป็นกระดี่ได้น้ำ เพราะมันคือการสร้างวิมานในอากาศ ควรจะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ช้าๆได้พร้าเล่มงาม และอย่ายืมเอาจมูกคนอื่มมาหายใจ

แนะนำหนังเรื่องนี้กับเด็กสายศิลป์ ศิลปินที่ต้องการหาแรงบันดาลใจ แนะนำกับคอหนังฝรั่งเศส ชอบดูหนังดีๆ หายาก ขายการแสดง นักจิตวิทยาน่าจะดูสนุก จัดเรต 13+ สำหรับเด็กๆชาวพุทธ อาจเกิดความสับสนต่อศรัทธาที่แรงกล้าเกินไป จนทำให้ตัวละครในหนังกลายเป็นคนบ้า

TAGLINE | “Séraphine ศิลปินสาวใหญ่ผู้อาภัพ ขณะกำลังจะได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก พระเจ้าดันไม่ตอบกลับเธอ พบกับสุดยอดการแสดงของ Yolande Moreau ที่เกิดมาเพื่อรับบทนี้โดยเฉพาะ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Best of Painter & Artist Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…]  Séraphine (2008)  : Martin Provost ♥♥♥◊ Séraphine Louis ศิลปินสาวใหญ่ผู้อาภัพ ผมให้ฉายาเธอว่า ‘ซินเดอเรลล่าแห่งวงการศิลปะ’ กระนั้นมันก็ไม่มีรองเท้าแก้ว รถม้าฟักทองหรือนางฟ้าแม่ทูนหัว แถมตอนจบนางซินยังต้องผิดหวังเพราะเจ้าชาย แถมสติแตกเข้าโรงพยาบาลบ้า (มันเหมือนยังไงกัน!)  […]

%d bloggers like this: