sex, lies, and videotape

sex, lies, and videotape (1989) hollywood : Steven Soderbergh ♥♥♥♥♡

ความล้มเหลวในชีวิตคู่ของผู้กำกับ Steven Soderbergh ได้ถูกถ่ายทอดลงมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งสี่ตัวละครหลักต่างสะท้อนสถานะของตัวเขาเองในช่วงเวลาต่างๆ และตอนจบทำให้ค้นพบสิ่งสำคัญสุดในชีวิตคู่ไม่ใช่แค่ Sex แต่คือความสัมพันธ์ของคนสองคน, คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

กับคนที่รับชมหนังเรื่องนี้มาแล้วอาจรู้สึกไม่น่าเป็นไปได้สักเท่าไหร่ เพราะสี่ตัวละครหลักต่างมีนิสัยพฤติกรรมอยู่คนละมุมด้านของรูปสี่เหลี่ยม เป็นไปได้อย่างไรที่ใครคนหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะตนเองกระโดดไปมาได้ขนาดนั้น, ก็ลองอ่านจากคำให้สัมภาษณ์ของ Steven Soderbergh ดูแล้วกันนะครับ จะพบว่าเป็นไปได้จริง

“I drove the most important woman in my life to leave because I didn’t want to be in the relationship but couldn’t just say, ‘I don’t want to be in this,’ So I was very deceptive about how I got out of it. And then once I was out of it, I couldn’t even allow it the dignity to die properly. I kept stringing it out and not letting it go and then I got involved with some other people. We were able to be friends”.

สมัยวัยรุ่นผมเป็นพวกชอบเที่ยวเตร่ มองการมี Sex คือความบันเทิงผ่อนคลายรูปแบบหนึ่ง บางวันก็นุ่มนวล บางวันก็เร่าร้อน ส่วนใหญ่คือ Casual Sex ที่มิได้มีอะไรมากกว่าสองคนมองตา ตอบสนองตัณหาราคะของกันและกัน แต่เมื่อชีวิตเติบโตขึ้นถึงจุดๆหนึ่ง -น่าจะประมาณหลังเรียนจบกระมัง- เริ่มรู้สึกว่าการเที่ยวเตร่เหล่สาวชักชวนมาหลับนอนค้างคืนไม่ค่อยมีความสนุกสนานเหมือนแต่ก่อน นั่นคงเพราะความต้องการบางสิ่งที่มากกว่านั้น แต่มันคืออะไรละ??

sex, lies, and videotape เป็นภาพยนตร์ที่จะทำให้ผู้ชมเปิดโลกทัศน์ประการหนึ่งเกี่ยวกับ Sex เสพสมทางกาย ต่อให้บ้าคลั่งหลั่งค้างถึงใจสักเท่าไหร่ มันยังมีอีกระดับที่เร่าร้อนรุนแรงกว่านั้น อธิบายสรุปง่ายๆก็คือ การร่วมรักทางใจ

Steven Andrew Soderbergh (เกิดปี 1963) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Atlanta, Georgia ตั้งแต่วัยรุ่นมีความหลงใหลเล่นกล้อง Super 8 กำกับหนังสั้นด้วยตนเอง พอเรียนจบมัธยมไม่เลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย มุ่งสู่ Hollywood ทำงานแรกเป็นนักแต่งเพลงให้เกมโชว์รายการหนึ่ง ต่อมารับฟรีแลนซ์ตัดต่อภาพยนตร์ กำกับวีดิโอคอนเสิร์ตของวง Yes เรื่อง 9012Live (1985) เข้าชิง Grammy Award, สรรหาทุนสร้างด้วนตนเอง สร้างหนังเรื่องแรก Sex, Lies and Videotape (1989) กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการโดยทันที

สไตล์ของ Soderbergh จัดว่าเป็น Avant-Garde ที่มีความเป็น Stylish ค่อนข้างสูง (แต่หนังเรื่องแรกนี้จะยังไม่เห็นเด่นชัดเท่าไหร่) รับอิทธิพลอย่างเยอะจาก French New Wave ทุนสร้างต่ำ กองถ่ายขนาดเล็ก ชอบใช้แสงธรรมชาติ หลงใหลใน Close-Up, Tracking Shot, Jump Cut ประเด็นสนใจอาทิ ความจริงที่บิดเบือด, บุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป, คุณธรรมประจำใจ, เงิน/ทุนนิยม, Sex, เงื่อนไขของการใช้ชีวิต/ทำงาน ฯ

สำหรับ sex, lies, and videotape มีเรื่องราวที่ Soderbergh ครุ่นคิดมาเป็นปีๆจากชีวิตของตนเอง แต่ใช้เวลาเขียนเพียง 8 วัน ลงบนสมุดจดสีเหลือง (Yellow Legal Pad) ขณะอยู่บนรสโดยสารข้ามประเทศ (Cross Country Trip) รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Carnal Knowledge (1971), Five Easy Pieces (1970) และThe Last Picture Show (1971)

เรื่องราวมีพื้นหลังที่ Baton Rouge ประกอบด้วยตัวละคร
– Ann Bishop Mullany (รับบทโดย Andie MacDowell) ภรรยาสาวผู้หมดไฟราคะ เลิกร่วมรักกับสามี เพราะไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งสลักสำคัญใดๆเมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่กำลังล้นโลก แต่ส่วนหนึ่งอาจเพราะพี่สาวของตนที่มักมากในกามราคะ ไม่อยากกลายเป็นคนหมกมุ่นเช่นนั้น เลยมีทัศนคติแย่ๆต่อการมี Sex แต่หลังจากรับรู้ว่าคนรักของตนเองมีชู้ นั่นทำให้เธอมีโอกาสเปิดโลกทัศน์ใหม่ของตนเอง
– John Mullany (รับบทโดย Peter Gallagher) สามีหนุ่มผู้มีความต้องการทางเพศสูง ราวกับสัตว์ป่าเพื่อสนองตัณหาของตนเอง ทำงานเป็นทนายความไต่เต้าจนมีความน่าเชื่อถือพอสมควร แต่นิสัยสันดานคือโป้ปดหลอกลวง ลักลอบเป็นชู้กับพี่สาวของภรรยาแล้วยังตีหน้าเซ่อ แต่พอความจริงถูกเปิดเผยก็แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธ ทำตัวเองแท้ๆยังจะ…
– Cynthia Patrice Bishop (รับบทโดย Laura San Giacomo) พี่สาวของ Ann ทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ เป็นคนร่านราคะรุนแรงพอๆกับ John ทนไม่ค่อยได้เห็นน้องสาวทำตัวราวกับนางฟ้ามาโปรด จึงพยายามฉุดรั้งดึงลงมาให้ตกสวรรค์ แต่เมื่อได้พบกับ Graham โลกทัศน์เรื่อง Sex ของเธอก็กำลังค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป
– Graham Dalton (รับบทโดย James Spader) เพื่อนสมัยเรียนของ John คงเคยมีนิสัยใจคอไม่ต่างกันนัก แต่ปัจจุบันลึกลับสงบนิ่งอย่างมีลับลมคมใน เมื่ออยู่คนเดียวจะมีงานอดิเรกเปิดเทปที่เคยสัมภาษณ์สาวๆเกี่ยวกับเรื่อง Sex ดูแล้วไม่ต่างอะไรจากพวกโรคจิตถ้ำมอง กระนั้นนั่นกลับคือวิธีทรมานลงโทษตัวเอง จากการเลิกราแฟนสาวที่ตนรักยิ่งไป

Rosalie Anderson ‘Andie’ MacDowell (เกิดปี 1958) แฟชั่นโมเดลผันตัวมาเป็นนักแสดง หลังโด่งดังจาก in Sex, Lies, and Videotape (1989) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Green Card (1990), Short Cuts (1993), Groundhog Day (1993), Four Weddings and a Funeral (1994) ฯ

ใบหน้าของ MacDowell ดูมีความซื่อไร้เดียงสา (ราวกับสาวเวอร์จิ้น) เวลาพูดคุยเรื่อง Sex ก็มักหลบหน้าทำท่าเหนียงอาย อยากรู้ทีเดียวว่าทำอย่างไรถึงมัดใจได้แต่งงานกับพ่อเสือลายครามคนนี้ได้, ตอนที่ผมชอบสุดมีสองช่วง
– หลังจากการหาบ้านพักให้ Graham เสร็จสิ้น พวกเขานั่งพูดคุยสนทนากันในร้านแห่งหนึ่ง เธอเปิดเผยบางสิ่งกับเขา ขณะเดียวกันก็ใช้มือลูบไล้สัมผัสแก้วน้ำ ทำหน้าตาใคร่ฟังเรื่องส่วนตัวของชายหนุ่มโสดที่ไม่ค่อยอยากเชื่อสักเท่าไหร่ (มันเหมือนว่าตัวละครมีความอยาก ที่จะท้าพิสูจน์สิ่งที่เขาบอกมานั้นว่าเป็นจริงหรือเปล่า)
– ขณะตัวละครเริ่มเปิดใจยอมรับในช่วงท้าย มันจะมีวินาทีที่เธอหลับตาภาวนากำไม้กางเขน (เห็นแหวนแต่งงานสวมนิ้วนางซ้าย) จากนั้นสัมผัสลูบไล้เส้นผมของว่าที่ชู้รัก ก็หวังว่าเธอคงได้ถึง Orgasm สุขสมหวังในการร่วมรักครั้งนี้สักที

ถึงทรงผมจะยุ่งๆฟูๆ แต่จิตใจเรียบร้อยราวกับผ้าปูโต๊ะ (Tablecloth) รูปวาดตัวแทนของเธอปรากฎเป็นพื้นหลังช็อตนี้ (ก็ไม่รู้ดอกอะไรนะ) งดงาม ง่ายๆ เป็นธรรมชาติ

Peter Killian Gallagher (เกิดปี 1995) นักดนตรี นักแสดง ก่อนเข้าวงการโด่งดังกับละครเวที Broadway ผลงานเด่นอาทิ The Player (1992), Short Cuts (1993), American Beauty (1999), Mr. Deeds (2002) ฯ

หน้าตาของ Gallagher เต็มไปด้วยความกะล่อนปลิ้นปล้อน ราวกับสัตว์ป่าที่สนเพียงอย่างเดียวคือเรื่อง Sex, ตัวละครเวลาโกหกไม่ค่อยแนบเนียนเท่าไหร่ (คือถ้า Ann เข้าใจตัวตนของสามีจริงๆ ก็น่าจะสามารถจับโกหกได้ตั้งแต่ตอนถามว่ามีชู้หรือเปล่าแล้ว) พอหลายๆอย่างเริ่มไม่เป็นตามแผนก็แสดงความหงุดหงิดอันธพาล ขณะที่ความจริงถูกเปิดเผยเกรี้ยวกราดโกรธบ้าคลั่ง และพอเข้าใจทุกอย่าง ก้มหน้ารับชะตากรรมของตนเอง

รูปภาพวาดที่เป็นตัวแทนของตัวละครนี้ ปรากฎอยู่ในห้องทำงาน โคตรจะ Abstraction ดูมีความยุ่งเหยิงวุ่นวาย เกรี้ยวกราด และร่านรัก

Laura San Giacomo (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติอเมริกันเชื้อสายอิตาเลี่ยน หลังจากแจ้งเกิดจากหนังเรื่องนี้ บทเด่นๆอาทิ Pretty Woman (1990), ซิทคอม Just Shoot Me! (1997–2003) ฯ

คิ้วหนา ตาคม ผมยาว รูปลักษณ์ Giacomo ถือว่าคือ Sex Idol ที่ทำให้หนุ่มๆสมัยนั้นเคลิบเคลิ้มคลั่งไคล้ (แต่พออายุมากขาดเสน่ห์ ดูเป็นคนกร้านโลกไปเลย) ทำหน้ายั่วยวน ร่านรัก แม้ไม่มีฉากโป๊เปลือย แต่สีหน้าตอนขึ้นสวรรค์ชั้น 7 เป็นอะไรที่ฟืนสุดๆ

เกร็ด: นักแสดงคนแรกที่ผู้กำกับเล็งไว้คือ Jennifer Jason Leigh แต่เธอบอกปัดเพราะต้องการแสดงหนังอีกเรื่อง Miami Blues (1990) ภายหลังบอกเสียดายกับการตัดสินใจนั้น

ผมเพิ่งมาสังเกตตอนแคปรูป ว่ากระจกแต่งหน้าในห้องของ Cynthia สะท้อนตัวตนของเธอมากๆ ลองจับจ้องมองหาดีๆนะ จะมีรูปสามสาวเปลือยหันหลังติดอยู่, รู้สึกภาพวาดทั้งหลายที่ปรากฎในหนัง น่าจะเป็นผลงานของ Cynthia ทั้งหมดเลยนะ

James Todd Spader (เกิดปี 1960) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน โด่งดังจากหนังเรื่อง Pretty in Pink (1986), Sex, Lies, and Videotape (1989), Stargate (1994), Crash (1996), พากย์เสียงตัวร้าย Ultron เรื่อง Avengers: Age of Ultron (2015) ฯ แต่หลังๆได้ดิบได้ดีกับแสดงซีรีย์โทรทัศน์

Norman Bates คือฆาตกรโรคจิตใน Psycho (1960) ขณะที่ Graham ถือเป็นพวกโรคจิตถ้ำมอง เพราะสิ่งที่เขาบันทึกในวีดิโอเทปมันราวกับการข่มขืมทางใจ เพราะผู้ให้สัมภาษณ์ต้องเปิดเผยสิ่งที่คือเนื้อในของตนเองอย่างหมดเปลือก เปลือยเปล่าทั้งๆยังใส่เสื้อผ้าอยู่ เสร็จสิ้นแล้วบางคน (อย่าง Cynthia) คงสะสมความอัดอั้นอารมณ์ทางเพศรุนแรง จำต้องค้นหาบุคคลผู้มาระบายปลดปล่อย

ใบหน้าเหรอๆหราๆ สงบนิ่งเย็นชาของ Spader สะท้อนลับลมคมภายในของตัวละคร ที่ปั่นป่วนด้วยลมพายุคลื่นคลั่ง แต่ด้วยความหล่อเหลา ผมยาวมีเสน่ห์ และคารมคำพูดอันน่าหลงใหล สาวๆที่ไหนพบเจอก็อยากที่จะได้มาครอบครองเป็นเจ้าของอย่างแน่นอน

บ้านเช่าของ Graham มีความเป็น Minimalist แทบจะไม่มีอะไรนอกจากโทรทัศน์ เทป รูปภาพบุคคลสำคัญ แผนที่โลกและอเมริกา อย่างหลังนี่ราวกับจะสื่อว่าเขากำลังต้องการมองหาตำแหน่งของตนเองในแผนที่ (ค้นหาการมีตัวตนของตนเอง)

ไดเรคชั่นการกำกับของ Soderbergh ชอบที่จะพูดคุยสร้างความเชื่อมั่นใจให้นักแสดง ไม่ใช้คำรุนแรงตำหนิต่อว่าใคร มักให้อิสระในการสร้างสรรค์ แนะนำขัดเกลาเฉพาะถ้ามันมากหรือน้อยเกินไป ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายๆคนหวนกลับมาร่วมงานผู้กำกับอีก

“I try and make sure they’re OK, and when they’re in the zone, I leave them alone. I don’t get in their way.”

ถ่ายภาพโดย Walt Lloyd ที่มีผลงานเด่นกับซีรีย์โทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่, ปักหลักถ่ายทำอยู่ที่ Baton Rouge, Louisiana ใช้เวลา 30 วัน

ถึงส่วนใหญ่ของหนังจะคือฉากพูดคุยสนทนา ภาพจับจ้องใบหน้าตัวละครอยู่ตลอด กระนั้นก็ใช่ว่าจะคือภาพนิ่ง (Static Shot) สังเกตให้ดีจะพบการเคลื่อนไหว Tracking Shot แบบช้าเนิบ เคลื่อนเข้าบ้าง ไหลออกข้างๆบ้าง เพื่อเป็นการค่อยๆเข้าถึงตัวละคร ความเข้าใจสัมพันธ์กับผู้ชมที่ค่อยๆสนิทสนมลึกซึ้งมากขึ้น

“Without detracting from the performances, I wanted to keep things moving. I also wanted a very predatory feel, the idea of encircling a character and getting closer. It seemed to fit a sort of languid quality that I wanted to have and that Baton Rouge-my hometown and the location of the movie-seems to have.”

หลายครั้งทีเดียวที่หนังเลือกมุมกล้องในลักษณะ Isometric Shot ถ่ายเห็นมุมห้องอยู่กึ่งกลางภาพ ตัวละครหันเอียงประมาณ 30 องศาให้กับกล้อง หรือถ้าสองคนพูดคุยสนทนาก็มักนั่งตั้งฉากกัน, นี่คงเป็นการสะท้อนมุมมอง สี่เหลี่ยมสี่มุมมองของสี่ตัวละคร ที่แตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง (แต่จะไม่มีฉากที่ทั้ง 4 อยู่ร่วมช็อตกันนะครับ มากสุดคือ 3 คน)

ห้องทำงานของ John Mullany ถือเป็น Isometric Shot เช่นกัน หัวมุมตึกแต่คือกระจกสองด้านตั้งฉากกัน ฝั่งหนึ่งเห็นแม่น้ำ ฝั่งหนึ่งเป็นผืนแผ่นดิน ซึ่งนี่มีนัยยะถึงตัวตนของเขาที่มีสองด้าน ภรรยา-ชู้รัก

ต้นไม้ เป็นสิ่งสัญลักษณ์หนึ่งของหนัง น่าจะสะท้อนถึงระดับความสัมพันธ์ของผู้ให้กับผู้รับ ที่ค่อยๆเติบโตขึ้นทีละเล็กละน้อย
– John มอบให้กับ Cynthia ครั้งแรกเป็นต้นเล็กๆ ครั้งถัดมาก็ช็อตนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว
– ช่วงท้าย Ann มอบต้นไม้เล็กๆให้กับ Cynthia สะท้อนถึงความสัมพันธ์พี่น้องที่ก่อนหน้านี้มักขัดแย้งกัน แต่ปัจจุบันเพราะผ่านช่วงเวลานั้นกับ Graham จึงต่างเริ่มเข้าใจกันและกัน ต้นไม้เล็กๆแทนด้วยมิตรภาพของทั่งคู่ที่กำลังค่อยๆเติบใหญ่

บ้านของ Cynthia ห้องนอนของเธอทาผนังสีแดง แสดงถึงความเร่าร้อนรุนแรงร่านราคะ ภาพวาดก็ราวกับเปลวเพลิง แต่กับห้องโถงรับแขกทาสีขาว นั่นคงสะท้อนถึงตัวตนปกติ และต้นไม้เขียวชอุ่มเต็มไปหมด

รสนิยมในภาพวาดของผู้กำกับ Soderbergh ถือว่าไม่ธรรมดาเลยนะ มักมีลักษณะสะท้อนสภาพจิตวิทยาของตัวละครนั้นๆออกมา

Vertigo Shot หรือ Contra-Zoom หรือ Trombone Shot (Zoom out และ Track in ไปพร้อมๆกัน) แทนจังหวะถึงจุดไคลน์แม็กซ์ขึ้นสวรรค์ของ Cynthia อ้าปากค้างหลับตาเคลิ้ม เป็นอารมณ์ที่สมจริงมากๆ ฟินสุดๆเลยฉากนี้

ภาพต้นไม้ที่สะท้อนกระจกรถในช็อตนี้ เหมือนว่าเป็นการสะท้อนสภาวะทางจิตใจของ Ann ขณะนั้น ราวกับอาศัยอยู่ในป่ารกชัญ กำลังจะตัดสินใจหวนกลับเข้าหาธรรมชาติ สันชาติญาณความเป็นมนุษย์ (ผมค่อนข้างเชื่อว่า Ann ตั้งใจเดินทางถึงบ้าน Graham เพื่อหาทางร่วมรักกับเขาโดยเฉพาะ เพื่อย้อนแย้งกับสิ่งที่สามีทำกันตนเอง)

ไคลน์แม็กซ์ของหนัง มีความสมบูรณ์แบบด้านไดเรคชั่นอย่างยิ่ง สามารถแบ่งออกเป็น 3 เฟส
1) Ann ลุกล้ำเข้ามาในชีวิตของ Graham บีบบังคับให้เขาอัดวีดิโอเทปแบบไม่เต็มใจนัก ช็อตนี้ชายหนุ่มจะนั่งต่ำอยู่กับพื้น ขณะที่หญิงสาวนั่งบนเก้าอี้ หันหน้าเข้าหากัน แม้ตอนแรกจะเป็นคนถูกถาม แต่สักพักจะกลายเป็นคนถาม (เป้าลูกดอกอยู่ด้านหลัง สงสัยว่า Graham คงโยนไม่ถูกกึ่งกลางสักทีสินะ)

ว่าไปฉากนี้สะท้อนกับต้นเรื่องที่ Ann ปรึกษารับฟังคำแนะนำจากจิตแพทย์ นั่งตั้งฉากกัน (Isometric Shot) ขณะที่ช็อตนี้ Ann เป็นผู้ให้คำปรึกษา หันเผชิญหน้าเข้าหากัน

2) เมื่อ Ann ลุกล้ำถามเข้าไปในเขตหวงห้ามของ Graham ชายหนุ่มลุกขึ้นเดินไปที่โทรทัศน์ (เหมือนการหาตัวช่วย) สิ่งที่ทำให้เขาสามารถยังมีชีวิตอยู่ได้ถึงปัจจุบันนี้ จากความรู้สึกผิดบางอย่างฝังใขในอดีต

3) ถึงหนังจะไม่เปิดเผยอดีตของ Graham ทั้งหมด แต่เมื่อเขาพรั่งพรูบางสิ่งอย่างออกมา เดินไปนั่งริมหน้าต่างที่มีผ้าม่านปิดอยู่ (ปิดตัวเองจากโลกภายนอก) สิ่งที่ Ann แสดงออก ผมมองว่าคือการให้กำลังใจและมอบความหวัง วินาทีนี้เธอกำสร้อยกางเขน (ลึกๆคงรู้สึกผิดคำสาบานที่เคยให้ไว้กับสามี) จากนั้นสัมผัสผมลูบไล้เหมือนเด็กน้อยในอ้อมกอด กลายเป็นของกันและกัน ก่อนเทปหมดไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้อะไรเกิดขึ้นต่อจากนี้

หลังจาก John รับชมวิดีโอเทปม้วนนั้นจบสิ้น เดินออกจากบ้านเช่าของ Graham โทนสีน้ำเงินให้สัมผัสยะเยือกเย็นชา เสากึ่งกลางแบ่งพวกเขาออกเป็นคนละขั้ว
– แม้ John ยืนอยู่สูงกว่า แต่จิตใจและอนาคตของเขากลับตกต่ำลงเรื่อยๆ
– ขณะที่ Graham นั่งอยู่ตัวลีบเล็ก ทุกสิ่งสำหรับเขาจะค่อยๆหวนคืนกลับสู่สภาวะปกติ

ช็อตจบของหนัง ทิ้งท้ายให้ผู้ชมไปคาดเดากันต่อเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคู่นี้ คงได้เสพสมหวังพบเจอความสุขจริงๆในชีวิตกระมัง (ผิดกับ John เพราะความมักมากในกามคุณ คงทำให้เขาค่อยๆถดถอยหลังลงคลอง ตกต่ำลงเรื่อยๆแน่)

ตัดต่อโดย Steven Soderbergh, การเล่าเรื่องไม่ได้ใช้มุมมองของตัวละครไหนมากเป็นพิเศษ พยายามไกล่เกลี่ยให้เวลาทั้งสี่ตัวละครอย่างพอๆกัน แต่อาจถือว่า Graham คือจุดหมุนของหนัง เพราะคือบุคคลที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอีกสามตัวละครที่เหลือ ซึ่งต่างจะมีช่วงเวลาของตนเองเต็มๆที่เข้าไปหมกตัวยังบ้านเช่าของเขา

เริ่มต้นที่เสียงบรรยายของ Ann ขณะกำลังพูดคุยกับจิตแพทย์ แต่เป็นภาพของ Graham กำลังลงจากรถเดินเข้าห้องน้ำ นี่จะสะท้อนกับช็อตตอนจบที่พวกเขาทั้งสองได้นั่งลงอยู่ร่วมลงเอยกัน

ขณะที่ John กับ Cynthia เริ่มต้นพวกเขากำลังร่วมรักอยู่ฉากเดียวกัน ล้อรับตรงกันข้ามกับเสียงพูดคุยกับจิตแพทย์ของ Ann ซึ่งตอนจบชู้รักทั้งสองต่างแยกกันอยู่ ทางใครทางมัน

การดำเนินเรื่องคู่ขนาน มักเป็นขณะที่ John กับ Cynthia หมกตัวร่วมรักอยู่ด้วยกัน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องแอบๆทำไม่ให้ใครอื่นได้รับรู้ จึงถือว่าเป็นส่วนแทรก ให้ผู้ชมลุ้นระทึกว่าจะถูกจับได้หรือเปล่า

การดำเนินสู่ไคลน์แมกซ์ของหนัง เริ่มต้นจาก Ann เดินทางไปหา Graham ยั่วให้เขาถ่ายวีดิโอเทป แล้วตัดข้ามไปยามค่ำคืนภรรยาสาวขอหย่ากับสามี John ซึ่งพอรับทราบเหตุผลความแตกก็รีบทะยานตรงไปบ้านเช่าเพื่อนเก่าเปิดเทปดู แนะนำตัวผ่านจอโทรทัศน์เสร็จสิ้นนำเสนอภาพจริงๆเลยดีกว่า ย้อนกลับไปนำเสนอเติมเต็มช่วงเวลาที่ขาดหาย, เหตุที่ต้องทำให้ซับซ้อนขนาดนี้เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นบันทึกเป็นวีดิโอเทปถือเป็นไคลน์แม็กซ์ของหนัง จำควรรอคอยให้ผู้เล่น/ตัวละครอยู่ครบพร้อมหน้ากันก่อนค่อยนำเสนอ จะได้ไม่ต้องฉายซ้ำ และสร้าง impact ให้กับตัวละคร/ผู้ชม ไปพร้อมๆกัน

เพลงประกอบโดย Cliff Martinez มือกลองประจำวง Red Hot Chilli Peppers และ Captain Beefheart มีผลงานแต่งเพลงประกอบเด็ดๆกับหนังหลายเรื่องของ Soderbergh และ Nicolas Winding Refn อาทิ Traffic (2000), Drive (2011) ฯ

ด้วยความถนัดในแนว Punk, Funk, Rock, Ambient ถูกขอให้ทำเพลงออกมามีสไตล์คล้าย Brian Eno (ผู้บุกเบิกเพลงแนว Ambient) เน้นเรื่องของเสียงมากกว่าตัวโน้ต สร้างบรรยากาศประกอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง

Opening Song ค่อนข้างจะแตกต่างกับบทเพลงอื่นๆของหนัง กับภาพถนนเคลื่อนผ่านเร็วๆ (สื่อถึงการเดินทางของ Graham) ใช้เสียงรัวกีตาร์ ราวกับชักชวนให้ผู้ชมเตรียมตัวกายใจพร้อมรับมือความตื่นเต้นลุ้นระทึกที่กำลังมาเยือน

ด้วยสัมผัสที่ลุ่มลึกนุ่มนวลเบาบางของ Ambient น้อยคนนักจะทันสังเกตได้ยิน มอบสัมผัสบรรยากาศที่หลอนๆ หวิวๆ สั่นประสาท, Take my Skirt Off คือคำขอของ Cynthia ขณะกำลังอยู่ต่อหน้ากล้องบันทึกวีดิโอเทป มีความต้องการช่วยตนเองต่อหน้า Graham มันทำให้เธอราวกับได้เคลิบเคลิ้มล่องลอยขึ้นสรวงสวรรค์

You’ve Got A Problem ดังขึ้นในฉากไคลน์แม็กซ์ตอนเฟส 3) เพลงนี้ทำให้ผู้ฟังราวกับกำลังถูกสะกดจิตให้เคลิบเคลิ้ม ค่อยๆคล้อยตาม ยินยอมปล่อยตัวกายใจให้ล่องลอยไปกับบางสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในโลกที่ตัวละครทั้ง 4 มีความไม่สมประกอบทางอารมณ์ และทัศนคติทางเพศ
– Ann มองว่ามัน Overrated ไม่เคยถึงจุดไคลน์แม็กซ์ จนไม่คิดอยากมีเพศสัมพันธ์
– พี่สาว Cynthia มองว่ามัน Underrated อะไรเล็กๆน้อยๆก็สามารถสนอความต้องการ เกิดอารมณ์ทางเพศได้ตลอดเวลา
– John สัตว์ป่าที่โหยกระหายร่าน Sex ไม่สนอย่างอื่นนอกจากตอบสนองสันชาติญาณความต้องการของตนเอง
– Graham เก็บกดดันอารมณ์ความต้องการของตนเองไว้ มิให้แสดงออกจนกว่าจะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

sex ถือเป็นแรงผลักดันของมนุษย์ ปัจจัยสำคัญทำให้ชีวิตมีความสุขสมบูรณ์ รสชาติที่กร่อยทัศนคติมองเป็นของต่ำจึงเก็บกดมันไว้ จะทำให้บางสิ่งอย่างในตัวเราขาดสูญหายไม่ได้รับการเติมเต็ม หมกมุ่นมากๆก็อาจเข้าขั้นมีปัญหาทางจิต ปล่อยวางตัดไม่ได้ก็ต้องดิ้นรนหาทางระบายออก

ความมากไป น้อยเกิน ปฏิเสธเสียงแข็ง โหยหารุนแรง ต่างไม่ใช่วิถีทางเหมาะสมของชีวิตคู่แม้แต่น้อย, 4 มุมมองตัวละครได้ทำการชี้ชักนำผู้ชม ให้ครุ่นคิดค้นหาจุดสมดุลกึ่งกลาง ความเพียงพอดีที่จะทำให้ Sex ก่อประโยชน์มากกว่าโทษ ยินยอมรับได้ไม่เกิดอคติ นี่ต่างหาจะทำให้ความรักมั่นคงยั่งยืนยาวนาน สุขสำราญกาย-ใจ ชู้ไม่จำเป็น โกหกหลอกลวงไปเพื่ออะไร

lies การโกหกของมนุษย์ ส่วนใหญ่ล้วนเพื่อปกป้องตนเอง จักได้ไม่สูญเสียอะไรบางสิ่งบางอย่างไป แต่เมื่อใดที่คำพูดหลุดปากออกไปแล้วไม่ใช่ความจริง ก็เท่ากับได้ทำให้ ‘ความซื่อสัตย์’ ศูนย์หายไปจากตัวเราเอง

มนุษย์เรามีทัศนคติผิดๆประการหนึ่ง ‘บางครั้งจำเป็นต้องโกหก เพื่อมิให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนทุกข์ทรมานใจ’ การพูดเท็จยังไงก็คือหลอกลวงผิดศีล ต่อให้มิได้ตั้งใจก็ถือว่าเบาบางมีโอกาสขาดได้ง่าย ปราชญ์ผู้มีเชาว์ปัญญาจะสามารถหาทางหลีกเลี่ยง เบี่ยงเบน หรือนิ่งเฉย ไม่จำเป็นต้องโป้ปดก็สามารถทำให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดหรือสูญเสียได้

videotape ถือเป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่สื่อถึงระยะห่างระหว่าง มนุษย์กับความรู้สึก/ความทรงจำ, Graham ใช้สิ่งนี้สร้างโลกของตนเองขึ้นมา ที่จะสามารถเข้าไปหลบซ่อนลี้ภัย ปกปิดตัวตนความต้องการแท้จริง ลอกคราบกลายเป็นคนใหม่ แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

“We tend to think that we can experience things because we watched them on tape. For Graham, this was an aspect of myself taken to an extreme measure. He needs the distance to feel free to react without anybody watching, which, I guess, is the definition of voyeurism, even though I think voyeurism has mostly negative connotations.”

ผมมองวีดิโอเทปในอีกความหมายหนึ่ง คือ ‘จิตวิญญาณ’ ของผู้ถูกให้สัมภาษณ์ เพราะสิ่งที่หญิงสาวพูดกล่าวออกมาสู่เทปนั้น มันคือเนื้อในตัวตนของพวกเธอ รสนิยมทางเพศ ประสบการณ์ ความทรงจำ ฯ ถูกบันทึกถ่ายทอด คัทลอก

ผู้กำกับ Soderbergh หลังเสร็จจากสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ มองย้อนกลับไปถึงการกระทำต่างๆของตนเองในอดีต แม้มันดูเหมือนเขาได้ครุ่นคิดอย่างหนักหน่วง แต่แท้จริงแล้วมันช่างบ้องตื้นไร้สาระเสียเหลือเกิน

“When I look at it now, it looks like something made by someone who wants to think deep but really isn’t. To me the fact that it got the response it did was only indicative of the fact that there was so little else for people to latch onto out there.”

เส้นผมบังภูเขา สิ่งดีๆบางทีก็อยู่ตรงหน้าแต่กลับมองไม่เห็น จนเมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านหวนครุ่นคิดคำนึงถึง นี่ตอนนั้นฉันมัวทำบ้าอะไรอยู่! แต่นั้นก็เป็นสิ่งมิอาจแก้ไขปรับปรุงอะไรได้แล้ว ชีวิตจำต้องก้าวเดินหน้าต่อ นำอดีตความผิดพลาดสะสมเป็นประสบการณ์ฝังใจ มิให้ความโง่เขลาซื่อบื้อของตนย้อนกลับมาบังเกิดขึ้นอีกเป็นพอ

การที่ชื่อหนังเขียนเป็นตัวเล็กทั้งหมด sex, lies, and videotape คงเพราะผู้กำกับต้องการบอกว่า 2-3 สิ่งนี้หาได้มีความสลักสำคัญที่สุดไม่ ความสัมพันธ์ มิตรภาพ เข้าใจกันต่างหาก ทำให้ชีวิตมีความสุขกาย-ใจ ยิ่งกว่า

เกร็ด: Working Title ของหนังประกอบด้วย 46:02, Retinal Retention, Charged Coupling Device, Mode: Visual, Sex, Lies, and Videotape, และ Hidden Agendas ซึ่ง Soderbergh ต้องการ 46:02 (คือระยะเวลาในเทปของ Ann) แต่โปรดิวเซอร์เลือก Sex, Lies, and Videotape ที่เจ้าตัวบอกว่าแย่สุด

เพราะเป็นผลงานแรกของผู้กำกับ Soderbergh ตอนที่เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes วางไว้ในสาย Directors’ Fortnight แต่เพราะการประกวดหลักมีเรื่องหนึ่งที่ถอนตัวออกไป ก็ไม่รู้ทำไมผู้จัดถึงเลือกผลักดันหนังเรื่องนี้ ซึ่งผู้กำกับก็แสดงความหวาดหวั่นเล็กๆ

“I’m convinced a huge backlash is around the corner, and where better to have a backlash than in front of the international press?”

แต่ปรากฎว่าหลังจากออกฉาย คว้าถึง 3 รางวัล และทำให้ Soderbergh กลายเป็นผู้กำกับอายุน้อยสุด (26 ปี) ที่คว้ารางวัล Palme d’Or
– Palme d’Or
– FIPRESCI Prize (รางวัลของนักวิจารณ์)
– Best Actor (James Spader)

ด้วยทุนสร้าง $1.2 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $24.7 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $36.7 ล้านเหรียญ กำไรมหาศาล, เข้าชิง Oscar สาขา Best Original Screenplay พ่ายให้กับ Dead Poets Society (1989)

สิ่งที่ทำให้ผมหลงใหลคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้สุดๆเลย หลังจาก Cynthia กลายเป็นหนูทดลองของ Graham เธอโทรหาชู้รักด้วยความเร่าร้อนรอไม่ได้ นั่นคงเป็น Sex ที่รุนแรงลุกเป็นไฟเลยละ อยากจะได้แบบนั้นบ้าง สักครั้งในชีวิตก็ยังดีนะ

แนะนำคอหนัง Drama กลิ่นอาย Erotic เล็กๆ, ความสัมพันธ์ชู้สาวรักสามเศร้า, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ทำความเข้าใจปัญหาของตัวละคร, แฟนๆผู้กำกับ Steven Soderbergh และนักแสดงนำ James Spader ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสามี-ภรรยา ที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาสักพักหนึ่งแล้วเริ่มเกิดความเบื่อหน่าย ไม่แน่ว่าหนังเรื่องนี้อาจช่วยจุดไฟติด และเปิดโลกทัศน์การมี Sex ที่เร่าร้อนรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

จัดเรต 18+ ถึงไม่มีภาพโป๊เปลือย แต่แค่คำพูดก็ทำให้จินตนาการเพ้อไปไกล

TAGLINE | “sex, lies, and videotape ของผู้กำกับ Steven Soderbergh ได้เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของมนุษย์เกี่ยวกับ Sex ไปโดยสิ้นเชิง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: